ที่ “วัดธาตุ” หรือ “วัดศรีธาตุประมัญชา กล่าวกันว่า เป็นบริเวณที่พบเสมารวมทั้งจารึกสำคัญที่บ้านจำปี ตำบลบ้านท่าไฮ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี แต่มีผู้เคลื่อนย้ายนำเสมาเหล่านั้นมาเก็บไว้ที่วัดศรีธาตุประมัญชา ซึ่งอยู่ห่างจากวัดราว ๑ กิโลเมตร ที่ได้รับการบูรณะเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยพระอาจารย์ตี้

พระธาตุและสิม
มีพระธาตุเป็นศาสนสถานสำคัญของวัด สร้างสิมขึ้นครอบฐานอาคารเดิมโดยช่างญวน สร้างศาลการเปรียญหลายหลัง รวมทั้งสะพานเชื่อมระหว่างวัดกับหมู่บ้าน เนื่องจากมีสระน้ำขนาดใหญ่ เช่น กุดยางทางทิศตะวันออก สระบัวใหญ่ทางทิศตะวันตก จึงตั้งชื่อวัดนี้ใหม่ว่า “วัดศรีธาตุประมัญชากุดสระยางคำ” เรียกสั้นๆ ว่า “วัดธาตุ” เมื่อมีการตั้งกิ่งอำเภอจึงตั้งชื่อเป็นกิ่งอำเภอศรีธาตุ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ และอำเภอศรีธาตุในเวลาต่อมา
กล่าวกันว่าพื้นเดิมคนแถบนี้เป็นลาวเวียง มีเรื่องเล่าตำนานพระธาตุที่สัมพันธ์กับการสร้างพระธาตุพนมเช่นเดียวกับในท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ที่กล่าวถึงการเดินทางเพื่อนำข้าวของมีค่าไปร่วมสร้างพระธาตุพนมที่ภูกำพร้า แต่ไปไม่ทัน พระธาตุพนมสร้างเสร็จแล้วบรรจุสิ่งของมีค่าที่พระธาตุที่สร้างไว้ด้านทิศเหนือวัดหนองแวงในปัจจุบัน
แต่ภายหลังวัดนี้รกร้างไป จน พ.ศ. ๒๕๑๑ วัดพระธาตุถูกประกาศว่าอยู่ในเขตน้ำท่วมจากการสร้าง “เขื่อนลำปาว” จังหวัดกาฬสินธ์ แต่ปรากฏว่าน้ำท่วมไม่ถึงเพราะเป็นปลายของแนวอ่างเก็บน้ำ จึงมีการขุดค้นและรื้อถอนขนสิ่งมีค่าต่างๆ รวมทั้งจารึกและเสมาต่างๆ ไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ขอนแก่น แต่สิ่งของที่นำไปและคำบอกเล่าจากคนในท้องถิ่นมีความขัดแย้งกัน วัดนี้ถูกบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ และสร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นแทนพระธาตุที่ยังไม่ได้รับการบูรณะแต่เดิม
การสำรวจในคราวนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ อาจารย์มานิต วัลลิโภดมบันทึกว่า พบหลักเสมาหินทรายปักรอบสิมในสภาพชำรุด แตกหัก เป็นรูปสี่เหลี่ยมหนาด้านละ ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๔ หลัก รูปแบบแผ่นแบน กว้าง ๕๐ เซนติเมตร หนา ๓๐ เซนติเมตร จำนวน ๔ หลัก ฐานจำหลักเป็นกลีบบัว บนใบเสมาจำหลักรูปสถูป เป็นลักษณะเสมาแบบทวารวดี พบเศียรพระพุทธรูปหินทราย หินบดยา
จารึกหลักนี้มีข้อความสำคัญที่ถูกอ้างอิงอยู่เสมอ เมื่อกล่าวถึงการกำหนดเขตสีมาในทางพุทธศาสนา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพราหมณ์หรือนักบวชในศาสนาฮินดู และถูกอ้างอิงเมื่อกล่าวถึงการกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาแบบเถรวาทในยุคสมัยทวารวดีในเขตอีสาน
จารึกอักษรแบบหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุคร่าวๆ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ อ่านโดยอาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ความว่า
. . . . . มาโยยติรฺวิปฺราทิปูชิตะ ศิลามิมามเสาไสมึ สฺถาปยามาส ภิกฺษุภิะ
. . . . . ศุจิสํวตฺสเร ศกาทศเม ไจตฺรศุเกฺลภูตฺสีเมยํ สํฆสนฺมตา
คำแปล
พระเถระรูปใด เป็นผู้อันพราหมณ์เป็นต้นบูชาแล้ว พระเถระรูปนั้นพร้อมด้วยพระภิกษุทั้งหลาย ได้สถาปนาศิลานี้ให้เป็นสีมา
สีมานี้ อันสงฆ์สมมติดีแล้ว ได้สำเร็จ (ได้มี) ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ แห่งวิศิษฏกาล (เวลาอันเป็นมงคล) ในปีแห่งความสดใส . . . .

‘จารึกสถาปนาสีมา’ ในสภาพที่ถูกปักใกล้กับพระธาตุที่วัดศรีธาตุประมัญชาในปัจจุบัน
แต่เว็บไซต์ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยของศูนย์มานุษยวิทยาสิริธรระบุแหล่งที่มาผิดไปมาก เพราะกล่าวว่า จารึกที่พบนี้ชื่อ “ศิลาจารึกปราสาทหินพิมาย” เนื่องจากเก็บอยู่ในบริเวณปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. ๒๕๑๘ เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติสำรวจพบศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ใช้ชื่อว่า “ศิลาจารึกขอนแก่น เลขที่ ขก. ๒” และเข้าใจว่าพบที่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ภายหลังเมื่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น จึงนำมาตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ หอสมุดแห่งชาติได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศิลาจารึกสถาปนาสีมา”
จารึกที่พบนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่พบการกำหนดหลักเขตสีมาหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในทางพุทธศาสนาในยุคทวารวดี และมีความสัมพันธ์กับความเชื่อที่มีอยู่ในศาสนาฮินดู ตำแหน่งที่พบนั้นอยู่ที่อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ไม่ใช่ในอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ที่อยู่ห่างออกไปกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรและมีความต่างทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นแต่ละแห่งอีกด้วย

ใบเสมาแบบทวารวดีในอีสาน