วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
ภูมิประเทศบริเวณตะวันตกของประเทศไทยมีแนวเขาตะนาวศรีทอดยาวและใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตกับสหภาพเมียนมาร์โดยธรรมชาติ และมีแนวช่องเขาที่สามารถเดินทางข้ามไปมาได้ในอดีตของผู้คนทั้งสองฝั่ง เทือกเขาตะนาวศรีสืบมาจากเทือกเขาฉานหรือ ฉานโยมา ซึ่งถือว่าเป็นตีนเขาหรือช่วงปลาย [Foothill] ของเทือกเขาหิมาลัย
ตะนาวศรีเป็นแนวเทือกเขาสูง จุดที่สูงที่สุดอยู่ในเขตไทยที่ปิล็อคในอำเภอทองผาภูมิ แต่โดยเฉลี่ยทางฝั่งเมียนมาร์จะสูงกว่า เขาขนาบด้านข้างแคบทอดตัวลงใต้ตามคอคอดกระไปบรรจบกับปลายสุดด้านเหนือของคอคอดกระ จากนั้นจึงแยกออกเป็นเทือกเขาภูเก็ต และเทือกเขานครศรีธรรมราชไปจนจรดกับเทือกเขาสันกาลาคีรีและเทือกเขาตีตีวังซาต่อเนื่องไปสู่ปลายคาบสมุทรสยาม-มลายู
ในเทือกเขาตะนาวศรีนี้มีแนวหินอัคนีซึ่งเป็น หินแกรนิต [Granite] มีอายุต่างๆ ตามบริเวณทั้งฝั่งเมียนมาร์และไทย ตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรียาวลงมาจนถึงเกาะภูเก็ตและคาบสมุทรมลายู หินแกรนิตแนวตะวันตกนี้เป็นแนวหินแกรนิตที่ให้กำเนิดแร่ดีบุกมากที่สุดเป็นแหล่งแร่แบบปฐมภูมิ และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการผลิตดีบุกได้ทั่วโลกทีเดียวกล่าวได้ว่า การพบแนวหินแกรนิตก็คือแนวแร่ดีบุกนั่นเอง
และจากแผนที่ธรณีวิทยาระบุว่าบริเวณเทือกของอำเภอสวนผึ้งและบ้านคา เป็นแหล่งหินแกรนิตแนวตะวันออกประเภท S-Type อายุยุคครีเทเชียส ซึ่งมีหินชั้นดันแทรกทำให้เกิดหินอ่อน มีแร่ดีบุกปนซัลไฟด์บริเวณแนวสัมผัส ทำให้มี แร่ควอตซ์ [Quartz] หรือ หินเขี้ยวหนุมาน ที่ค่อนข้างบริสุทธิ์และมีขนาดกว้างใหญ่ เช่น สายแร่ควอตซ์ที่ใหญ่ที่สุดในเขตนี้ความกว้างราว ๔๐ เมตร และยาวกว่า ๔ กิโลเมตร (อ้างอิง) นอกจากควอตซ์ก็คือแร่หินฟันม้า หรือโพแทสเซียมเฟลด์สปา [Potassium Feldspar] เป็นโพแทสเซียมบริสุทธิ์ใช้ผสมในการทำเซรามิคเนื้อดีขั้นพอร์ซเลน [Porcelain] เป็นส่วนผสมของกระจก ขวด และแก้ว ซึ่งปัจจุบันยังเป็นการทำเหมืองเฟลด์สปานี้เป็นหลักอยู่ นอกจากนี้แร่สำคัญที่พบเป็นผลพลอยได้ก็มี ตะกั่ว ทังสเตนหรือวุลแฟรม ฟอสเฟต ฟลูออไรต์ แคลไซต์ พลวง แบไรต์ โคลัมไบต์-แทนทาไลต์ และทองคำ
เหมืองในอดีตรุ่นแรกนิยมทำกันด้วยวิธีเหมืองหาบมาก่อนคือใช้แรงงานคนเปิดหน้าดินจนถึงชั้นผิวแร่ แล้วเจาะระเบิดตามสายแร่ ขนแร่ไปแต่งที่โรงแต่ง พ.ศ. ๒๔๓๘ เอช.วาริงตัน สมิธ ชาวอังกฤษที่เข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตำแหน่งรองเจ้ากรมโลหะกิจและภูมิวิทยา เข้ามาสำรวจผ่านเข้าไปที่ตำบลสวนผึ้ง ทุ่งไม้แดง ไปถึงทุ่งเจดีย์ ช่วงต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๗๖ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่และให้สัมปทานบัตรการทำเหมืองแร่แบบเหมืองหาบที่สวนผึ้ง เมื่อหยุดไปจนมาฟื้นฟูอีกครั้งในการควบคุมของรัฐ พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งเปลี่ยนมาทำเหมืองแบบสูบ และรัฐต้องพัฒนาเส้นทางจากจอมบึงเข้าสวนผึ้งโดยผ่านอุปสรรคใหญ่คือลำน้ำภาชีซึ่งเคยจะผ่านได้เมื่อถึงหน้าแล้งเท่านั้นและยกเลิกการให้สัมปทานไปใน พ.ศ. ๒๕๓๔ (สุรินทร์ เหลือลมัย, ๒๕๔๘)
แหล่งทำเหมืองนั้นอยู่ในพื้นที่ ๓ กลุ่มใหญ่ โดยอยู่ทางตะวันออกแนวเขาหินแกรนิตที่เรียกว่าเทือกเขาแดน ซึ่งเป็นแนวสันปันน้ำระหว่างเมียนมาร์และไทย กลุ่มแรก เหมืองดีบุกยุคแรกแบบหาบล้วนอยู่ตามลำห้วย เช่น ห้วยบ้านบ่อ ห้วยผาก ฯลฯ ไปจนถึงห้วยสุด ซึ่งกล่าวกันว่ามีถึงห้าหรือหกสายและสิ้นสุดที่ห้วยสุด มีกลุ่มเหมือง เช่นเหมืองโลหะศิริ เหมืองตะโกปิดทอง เหมืองลุงสิงห์ เหมืองเริ่มชัย เหมืองทุ่งเจดีย์ เหมืองเขากระโจม เหมืองผาปก-ค้างค้าว ไปจนถึงบ้านบ่อซึ่งเป็นจุดไหลลงลำน้ำภาชี กลุ่มที่สอง ซึ่งอยู่ทางใต้ลงมาเป็นต้นน้ำภาชี มีเหมืองเช่นเหมืองห้วยม่วง เหมืองห้วยคอกหมู เหมืองบ่อคลึง เป็นต้น ทั้งสองกลุ่มอยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง กลุ่มที่สาม อยู่นอกแนวสันของสองกลุ่มแรกออกมาทางโป่งกระทิงและพุน้ำร้อนในพื้นที่อำเภอบ้านคาปัจจุบัน มีเหมืองพุน้ำร้อนที่อยู่ตอนในสุดหรือใต้สุด ต่อมาคือเหมืองจักรชัย และเหมืองลำบ่อทอง แถบนี้ปรากฎลำห้วยสายสั้นๆ ในแนวตะวันตก-ตะวันออกหลายสาย เช่น ห้วยเสือ ห้วยไทร ห้วยไผ่ ห้วยเรือ ห้วยไผ่ ห้วยลำบ่อทอง ห้วยสวนพลู ห้วยพุน้ำร้อน เป็นต้น ที่ไหลลงห้วยท่าเคยแล้วไปสบกับลำน้ำภาชีแถบสวนผึ้ง การทำเหมืองทั้งสามกลุ่มล้วนอยู่ในหุบเขาเลียบลำห้วยลำน้ำต่างๆ
นักสำรวจท้องถิ่นทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ผู้คร่ำหวอดกับพื้นที่ราชบุรีอย่างอาจารย์สุรินทร์ เหลือลมัย ยืนยันจากประสบการณ์การสำรวจและรับฟังจากคำบอกเล่าว่า บริเวณลานแร่หรือเหมืองแร่ทุกแห่งของสวนผึ้งและบ้านคาจะพบโบราณวัตถุทั้งหินและโลหะปะปนอยู่ในชั้นเดียวกัน

ชุมชนโบราณ : กลุ่มแหล่งโบราณคดีในเขตที่สูง-เหมืองแร่ดีบุก ชุมชนที่อยู่อาศัย และชุมชนในเส้นทางคมนาคม
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศสยามหรือเมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีสินค้าส่งออกที่สำคัญนอกเหนือไปจากสินค้าป่าและเครื่องเทศคือแร่ธาตุ โดยเฉพาะดีบุก ตะกั่ว ทองคำ และรัตนชาติ ซึ่งถูกกล่าวถึงว่าเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ นอกเหนือไปจากกรุงศรีอยุธยาที่เป็นแหล่งกลางซื้อขายแล้ว ก็ยังมีหัวเมืองสำคัญๆ ที่เป็นแหล่งแร่ดีบุกสามารถซื้อขายกันได้ในช่วงยุคแห่งการค้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [The Age of Commerce, 15-17 AD.] และมีการเข้าไปซื้อแร่ดีบุกด้วยระบบผูกขาดตามเมืองท่าต่างๆ ตามชายฝั่ง เช่น เมืองปตานี นครศรีธรรมราช และมะริด และขยายเป็นที่ชุมพร ไชยา บ้านดอน กาญจนดิษฐ์ทางอ่าวไทย และภูเก็ตทางฝั่งอันดามันเมื่อการค้ากับบริษัทของชาวตะวันตกชาติต่างๆ นับแต่โปรตุเกสที่เข้ามาชาติแรกในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จนถึงฮอลันดาและอังกฤษ และฝรั่งเศสรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๕๔-๒๒๓๑ ก่อนจะเกิดการปฏิรูปการติดต่อทางการค้ากับชาวตะวันตกในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาเป็นต้นมา
แต่การค้าอันเนื่องมาจากแร่ธาตุบนแผ่นดินนี้ย้อนกลับไปได้ถึงราวครึ่งแรกของพุทธสหัสวรรษแรก ( ราวพุทธศตวรรษที่ ๑-๕ ) มีร่องรอยของพ่อค้าจากแดนไกลเดินทางเข้ามาสู่คาบสมุทรสยาม-มลายูเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าบางอย่าง ร่องรอยที่ปรากฎคือพบจำนวนลูกปัดมหาศาลและร่องรอยที่สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นแหล่งผลิตลูกปัดทั้งหินและแก้ว รวมทั้งเครื่องประดับทองคำที่ปรากฎชัดเจนว่าใช้เทคโนโลยีเดียวกับการผลิตทั้งลูกปัดและเครื่องทองในอินเดียในช่วงเวลาร่วมสมัย
ชุมชนเหล่านี้ตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั้งอันดามันและอ่าวไทยที่เรียกว่าคอคอดกระ จนเห็นว่ามีความสัมพันธ์เดินทางข้ามคาบสมุทรถึงกันในอาณาบริเวณนั้น และพบว่ามีความสัมพันธ์ที่น่าจะเป็นเรื่องของการค้าระยะทางไกลที่มีชุมชนการผลิตดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางและมีฐานทรัพยากรแร่ธาตุจากเทือกเขาที่สามารถค้าขายหรือแลกเปลี่ยนในระหว่างฝั่งตะวันตกคืออนุทวีปอินเดียและศรีลังกาซึ่งติดต่อทางการค้ากับเปอร์เซียโบราณและโรมัน กับชายฝั่งริมทะเลเวียดนาม จีนตอนใต้ เกาะไต้หวันและหมู่เกาะไปจนถึงฟิลิปปินส์ เพื่อนำวัตถุดิบอันเป็นหินรัตนชาติและกึ่งรัตนชาติ รวมทั้งแก้วดิบ แร่ธาตุเช่นดีบุก ตะกั่ว และทองคำที่นำมาผลิตเป็นเครื่องประดับสูงค่า ส่งออกแพร่กระจายไปตามเส้นทางการค้าต่างๆ ทั้งโพ้นทะเลและชุมชนในแผ่นดินภายใน
๑. กลุ่มทำเหมืองในหุบเขาที่สูง
นอกจากแหล่งแร่ดีบุกจะมีมากในเทือกเขาแถบคาบสมุทรสยาม-มลายูแล้ว ยังพบต่อเนื่องในแนวเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งพบมากในแถบราชบุรีและกาญจนบุรีดังที่กล่าวข้างต้น แหล่งโบราณคดีที่อยู่ในพื้นที่เหมืองที่อยู่ใกล้กับลำห้วยสายต่างๆ ซึ่งลำห้วยทั้งหลายไหลมารวมกับลำน้ำภาชีที่บ้านสวนผึ้งหรือที่เป็นตัวอำเภอสวนผึ้งในปัจจุบัน แล้วไหลขึ้นเหนือ เลียบแนวเขาตะนาวศรี ผ่านจอมบึง เข้าสู่เขตจังหวัดกาญจนบุรีไปสมทบกับแม่น้ำแควน้อยกลายเป็นแม่น้ำแม่กลองต่อมา
พื้นที่ซึ่งน่าจะเคยมีกิจกรรมในการทำเหมืองแร่โบราณ โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่จะเป็นขวานหินทั้งมีบ่าและไม่มีบ่า ทั้งแบบโกลนหินและหินขัด และทั้งแบบขนาดยาวไม่ได้ขัดและแบบขนาดยาวขัดมีคมที่ด้านเดียวแบบที่เรียกว่าขวานผึ่ง [Stone adze] ที่ใช้ขอบด้านกว้างต่อกับด้ามไม้ ถือเป็นวัตถุรูปแบบสำคัญในพื้นที่สูงเพื่อใช้ย่อยทุบหินในบริเวณแหล่งโบราณคดีที่อาจเรียกได้ว่าเป็นลานแต่งแร่ รวมทั้งยังพบขวานผึ่งหรือจอบขนาดเล็กหรือเสียมที่ทำจากเหล็ก น่าจะใช้เพื่อประโยชน์เดียวกัน การพบขวานหินผึ่งแบบนี้มักพบในแหล่งโบราณคดีในเขตที่สูง ในอดีตอาจสันนิษฐานว่าเป็นสิ่งของเนื่องในยุคหินใหม่ ซึ่งควรพิจารณาในแหล่งโบราณคดีต่างๆ อีกครั้ง เพราะมักพบขวานหินในเขตที่สูงตามถ้ำหรือเชิงเขาริมลำห้วยในเทือกเขาของคาบสมุทรภาคใต้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังภาชนะแบบหม้อสามขา เป็นหนึ่งในโบราณวัตถุที่มักพบตามเทือกเขาที่น่าจะมีการผลิตแร่ดีบุก ทั้งนี้ในเขตที่สูงของคาบสมุทรเช่นเดียวกัน
การพบภาชนะขนาดเล็กมีร่องรอยของแร่ดีบุกภายใน ก็สามารถกล่าวได้ว่าเหมืองบนที่สูงนี้ผลิตแร่ดีบุกเป็นสำคัญ และยังพบภาชนะขนาดเล็กตามชุมชนต่างๆหลายแห่งทั้งบนที่สูง ที่ราบขอบบึงและเขาลูกโดดรวมทั้งแถบริมน้ำที่น่าจะใช้เป็นมาตรฐานน้ำหนักของแร่ที่ยังไม่ได้ถลุงหรือถลุงแล้วลำเลียงออกนอกพื้นที่ก็น่าจะเป็นไปได้ จากการสำรวจและรายงานของกรมศิลปากร จัดกลุ่มแหล่งโบราณคดีที่พบได้ดังนี้
กลุ่มแรก ริมห้วยบ้านบ่อไปจนถึงเหมืองตะโกปิดทอง ถือว่าเป็นแอ่งร่องเขาที่ใช้ทำเหมืองแร่ดีบุกทั้งในอดีตและในเวลาต่อมาที่หนาแน่นกว่าแนวอื่นๆ
‘เหมืองตะโกปิดทอง’ พบเครื่องมือหินกระเทาะ ขวานหินขัดทำจากหินชนวน ใบหอกสำริดชนิดมีบ้อง และเครื่องประดับสำริด พวกแหวนและกำไล
‘เหมืองโลหะศิริเก่า’ บริเวณที่มีลานหินชนวน พบหินกะเทาะรอบก้อนจำนวนมาก นายแพทย์สุด แสงวิเชียรผู้เคยมาสำรวจบริเวณนี้กล่าวว่าน่าแหล่งนี้น่าจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทำโกลนขวานหิน เพื่อไปทำเป็นขวานหินขัดที่พบตามแหล่งโบราณรอบๆ และที่กลุ่มเขาลูกโดดบนพื้นที่ราบที่อยู่ห่างออกไป และยังพบชิ้นส่วนของภาชนะหม้อสามขา เครื่องมือปั้นหม้อ ขวานหินแบบยาว [Stone adze] ขวานสำริด เครื่องมือเหล็ก หม้อดินเผาที่มีเม็ดแร่ดีบุกอยู่ข้างใน ตุ๊กตาดินเผารูปคน ช้าง ม้า พบร่วมกับเครื่องมือหิน
‘เหมืองลุงสิงห์’ บ้านตะโกล่าง โบราณวัตถุสำคัญคือ ขวานหินและกำไลหินทำจากหินชนวนสีเทา หินลับทำจากหินทราย เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ และเครื่องมือหินกระเทาะทำจากหินกรวดแม่น้ำที่อาจใช้เป็นเครื่องมือขุดแร่
‘เหมืองเริ่มชัย’ ที่ห้วยสุด บ้านตะโกล่าง พบขวานหินขัดแบบมีบ่าและไม่มีบ่า กำไลหินชนวน เครื่องประดับทำจากหินกึ่งรัตนชาติคือควอร์ตซ์และแจสเปอร์ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ กระดูกสัตว์จำพวกวัวควาย และพบขวานสำริดที่มีส่วนผสมของทองแดงมากไม่มีสนิม
‘เหมืองบ้านห้วยน้ำใส’ เป็นเหมืองแร่ดีบุกบนที่ราบเชิงเขา พบเศษภาชนะดินเผา ขวานหินกะเทาะ ขวานหิน กำไลหิน ลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติสีต่างๆ หินลับ ขวานสำริด ภาชนะสำริด เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
‘เหมืองผาปก-ค้างคาว’ และ ‘เหมืองมโนราห์’ บ้านผาปก ตำบลตะนาวศรี ที่เหมืองผาปก-ค้างคาวพบขวานหินขัดชนิดมีบ่าและไม่มีบ่า เครื่องประดับสำริดคล้ายจี้ห้อยคอ ชิ้นส่วนภาชนะสำริด และเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
‘เหมืองทุ่งเจดีย์’ อาจารย์สุรินทร์ เหลือลมัย บันทึกไว้ว่าเคยพบกองหินสามกองจึงกลายเป็นเจดีย์สามองค์ตามแบบเรียนแผนที่เมื่อราว พ.ศ.๒๔๙๕ มีชื่อพระเจดีย์สามองค์ใต้ ชายแดนราชบุรี คู่กับพระเจดีย์สามองค์เหนือที่สังขละบุรี และเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๘ เอช.วาริงตัน สมิธ รองเจ้ากรมโลหะกิจและภูมิวิทยา ได้มาสำรวจทางธรณีวิทยาและหาสายแร่ดีบุกเข้าไปที่ตำบลสวนผึ้งไปถึงเหมืองทุ่งเจดีย์ แล้วเขียนว่า “…พระเจดีย์เป็นพื้นที่ผืนเล็กๆ อยู่ตรงพื้นที่โล่งระหว่างหุบเขา ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านห้วยบ่อ เหมือนกับชื่อสถานที่ เจดีย์เล็กๆ หนึ่งหรือสององค์ตั้งอยู่ที่นั่นตรงตามนัยของชื่อ เจดีย์เป็นกองหินเหลืออยู่ คนยากจนบางคนซึ่งออกจากป่าแถวๆ นั้นต้องเป็นคนสร้างมันอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะดีใจอย่างเหลือล้นที่ได้เห็นท้องฟ้าที่อยู่เหนือศีรษะและพื้นที่อันกว้างใหญ่ใต้เท้าของเขาและได้ตั้งสัตย์อธิษฐานและสร้างของถวายไว้ตรงจุดนี้ …” บริเวณนี้ถือว่าเป็นแอ่งที่ราบกว้างกว่าแห่งอื่นในหุบเขา ก่อนที่เดินตามแนวลำน้ำลงสู่ที่ราบอีกชั้นหนึ่งของสวนผึ้งต่อไปแสดงถึงการเป็นจุดผ่านจากเขตป่าเขาเข้าสู่พื้นที่ซึ่งตนคุ้นเคย



ภาพซ้ายบน ตัวอย่างขวานหินที่พบจากแหล่งโบราณคดีแบบเหมือง มีทั้งที่เป็นแบบขวานหินผึ่ง [Stone adz] ขนาดใหญ่ด้วย ขวานเช่นนี้น่าจะใช้สำหรับกิจกรรมการย่อยก้อนหินและแยกแร่ ถ่ายจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ภาพซ้ายล่าง พบแท่นหินสำหรับลับอุปกรณ์ต่างๆ ให้เกิดความคม ถ่ายจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ภาพขวา ภาชนะก้นกลมเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำที่พบทั่วไปโดยมากในแหล่งโบราณคดีของราชบุรี อาจจะใช้ใส่แร่เพื่อลำเลียงขนส่ง ถ่ายจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
กลุ่มที่สอง ห้วยต้นน้ำภาชี สาขาคือริมห้วยม่วงและห้วยบ่อคลึง
‘เหมืองห้วยม่วง’ พบเครื่องมือหินกะเทาะแบบสองหน้า ขวานหินขัดแบบมีบ่าและไม่มีบ่า กำไลหินขัด กำไลหิน หินงบน้ำอ้อย หินลับเครื่องมือสำหรับขวานสำริด ใบหอกสำริด และกระพรวนสำริด เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
‘เหมืองห้วยผาก’ พบขวานหินยาว [Stone adze] ทั้งแบบมีบ่าและไม่มีบ่า
‘เหมืองบ่อคลึง’ พบขวานหินยาว [Stone adze] ทั้งแบบมีบ่าและไม่มีบ่า
กลุ่มที่สาม ลำน้ำสาขาของห้วยท่าเคยที่อยู่ในหุบพุน้ำร้อน-โป่งกระทิง
ที่ริมห้วยสวนพลู เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ ชาวบ้านโป่งกระทิงล่าง ในอำเภอบ้านคา ร่อนหาแร่ดีบุกที่เหลือจากการทำเหมืองริมห้วยสวนพลู พบชิ้นส่วนภาชนะสำริดผิวบางแบบสัดส่วนดีบุกสูง [High tin bronze] แบบเดียวกับที่พบในหลุมขุดค้นบ้านดอนตาเพชร ใกล้กับเมืองโบราณอู่ทองและพบในลำน้ำท่าตะเภา เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ขวานหินขัด ขวานหินแบบผึ่ง [Stone adze] ลูกปัดหินอะเกต เครื่องประดับสำริด ก้อนตะกรันเหล็ก
๒. ชุมชนโบราณใกล้ลำห้วยในที่ราบลุ่มเชิงเขา รอบบึง และรอบเขาลูกโดด ห่างจากแนวเขาตะนาวศรี โดยเฉลี่ยราว ๒๐-๔๐ กิโลเมตร
ชุมชนในกลุ่มนี้อยู่ในแถบที่ราบลอนลูกคลื่นในแถบอำเภอสวนผึ้ง อำเภอจอมบึง อำเภอเมือง และอำเภอโพธาราม สภาพแวดล้อมมักเลือกอยู่บนเนินดินใกล้แหล่งน้ำและน้ำท่วมไม่ถึง เช่นตามขอบแองที่ลุ่มที่เรียกว่าจอมบึงและใกล้กับเผิงผาหินปูนที่เป็นเขาลูกโดดที่เรียกว่าถ้ำด้วย ชุมชนเหล่านี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่ทำเกษตรกรรม มีพิธีกรรมเพื่อการฝังศพและอุทิศสิ่งของเพื่อผู้เสียชีวิตที่มีทั้งการใช้โลหะสำริดและเหล็ก ซึ่งพบทั้งเครื่องประดับสำริด เช่นกำไล กระพรวน ลูกปัดทำจากหินกึ่งรัตนชาติและเปลือกหอย รวมทั้งแวดินเผาที่ใช้ปั่นด้ายเพื่อทอเป็นผืนผ้า ซึ่งไม่ปรากฎร่องรอยเช่นนี้ที่กลุ่มเหมืองบนที่สูง อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มน่าจะมีความสัมพันธ์และร่วมสมัยกัน ร่องรอยเหล่านี้อยู่ในช่วงยุคเหล็กตอนปลายในราวครึ่งแรกของพุทธสหัสวรรษแรก
‘บ้านนาขุนแสน’ อยู่บนที่ราบใกล้กับห้วยคลุมที่ไหลลงแม่น้ำภาชี ตำบลสวนผึ้ง พบหลักฐานการหลอมโลหะ พบขวานหินขัดชนิดมีบ่า ทำจากหินควอร์ซ และแบบไม่มีบ่าขนาดใหญ่แบบที่เรียกว่าขวานผึ่ง [Stone adze] แผ่นหินกลมแบนขอบหนามีร่องคล้ายกับรอกที่ใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงคล้ายกับที่พบในจังหวัดกาญจนบุรี เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เครื่องมือเหล็ก และก้อนแร่ดีบุก ขี้แร่ดีบุก มีด เสียม และตุ๊กตาเนื้อดินรูปสัตว์ เศษภาชนะดินเผาทั้งเนื้อดินและเนื้อแกร่ง รวมทั้งเศษภาชนะแบบเตาชิงไป๋ในราชวงศ์ซ่งอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙
‘บ้านหัวทะเล’ พบภาชนะและชิ้นส่วนภาชนะดินเผา แวดินเผา เครื่องมือโลหะ ชิ้นส่วนภาชนะสำริด แหวนสำริด กำไลสำริด ลูกกระพรวนสำริด ลูกปัดสำริด ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน ชิ้นส่วนกระดูกและฟันกรามมนุษย์
‘ถ้ำหนองศาลเจ้า’ เขาคันหอก บ้านหนองศาลเจ้า พบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ เศษภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว และเครื่องมือเหล็ก
‘บ้านหนองบัว’ อยู่ในขอบจอมบึงด้านเหนือ ใกล้กับเขาจอมพล เป็นเนินดินบนที่ราบลอนลาด พบขวานหินกระเทาะ ขวานหินขัดแบบมีบ่าและไม่มีบ่า ลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็กที่รวมอยู่กับกระดูกมนุษย์ในภาชนะดินเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ก้อนตะกรันเหล็กจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วไป และท่อสูบลมดินเผา เป็นไปได้ว่าเป็นแหล่งถลุงเหล็กด้วย
‘ไร่ชัฏหนองคา’ บ้านหนองบัว เป็นเนินดินตั้งอยู่บนริมแอ่งที่ลุ่มจอมบึง พบลูกปัดแก้วทึบแสง เถ้ากระดูกมนุษย์ เปลือกหอยแครงในภาชนะดินเผา พบหลักฐานการอยู่อาศัยสืบเนื่องถึงสมัยทวาวดีและลพบุรี
‘บ้านปากบึง’ อบู่บนพื้นที่ลาดเอียงลงสู่ที่ลุ่มจอมบึง พบขวานสำริด กำไลสำริด ลูกกระพวนสำริด ลูกปัดแก้วและหินกึ่งรัตนชาติ และพบว่าลูกปัดนั้นทำเป็นรูปร่างต่างๆ ในธรรมชาติ เช่นรูปสัตว์และรูปสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา เช่น ตรีรัตนะ เช่นที่พบในแถบเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร และชุมชนชายฝั่งที่ผลิตลูกปัดทางแถบคาบสมุทร ลูกปัดจากอินเดียและพบที่ดอนตาเพชรในอำเภอพนมทวน และเมืองอู่ทอง ในจังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งอยู่ไม่ห่างจากดอนตาเพชรนัก นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือเหล็ก เศษภาชนะดินเผา เศษภาชนะสำริด


ลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติรูปร่างต่างๆ พบที่บ้านปากบึงและบ้านหัวทะเล อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ภาพจากหนังสือ “อู่ทองที่รอการฟื้นคืนฯ” น.พ. บัญชา พงษ์พานิช


ลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติรูปร่างต่างๆ พบที่บ้านปากบึงและบ้านหัวทะเล อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ภาพจากหนังสือ “อู่ทองที่รอการฟื้นคืนฯ” น.พ. บัญชา พงษ์พานิช
‘ถ้ำน้ำมนต์’ และ ‘ถ้ำเขารังเสือ’ เขารังเสือเป็นเนินเขาเตี้ยๆ สูงกว่าพื้นที่โดยรอบราว ๔-๒๐ เมตร พบเศษภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และแม่พิมพ์ดินเผาสำหรับหล่อขวานสำริด พบเครื่องปั้นดินเผา ลูกปัดหิน และแม่พิมพ์ขวานสำริดดินเผาคล้ายกับที่พบที่ถ้ำน้ำมนต์
‘กลุ่มชุมชนโบราณถ้ำเขาขวากและโดยรอบ’ บ้านหนองกวาง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม เขาหินปูนลูกโดดที่ภายในถ้ำแบ่งเป็น ๓ คูหา น่าจะใช้สำหรับทำพิธีกรรมและเป็นสถานที่ฝังศพ พบกระดูกบรรจุภาชนะดินเผาแล้วนำมาฝัง กับเครื่องประดับ ลูกปัดหินคาร์เนเลียน และหินอะเกต ลูกปัดกระดูก กำไลหิน กำไลหิน แหวน และกำไลสำริด เครื่องมือปลายแหลมทำด้วยกระดูก แหวนและกำไลสำริด มโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ หน้ากลองมีรูปดาว ๑๒ แฉกและล้อมรอบด้วยนกบินและวงกลมไข่ปลา ขนาดกว้างราว ๖๕ เซนติเมตรและเหลือเฉพาะส่วนหน้า ไม่มีกบที่บนหน้ากลองแต่อย่างใด
ส่วนพื้นที่ราบเชิงเขาและที่ราบระหว่างหุบเขาน่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย สำรวจพบชุมชนโบราณมากกว่า ๒๐ แห่งโดยรอบ เช่น ‘เขาปะฏัก’ (ไร่นายกุ่ย) พบกำไลหิน ภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ แวดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก ลูกปัดสำริด และกระดูกมนุษย์ ‘บ้านหนองกวาง’ (ไร่นายเชษฐ์ และไร่นายชมพู) พบแวดินเผา เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ กำไลหิน ลูกปัดแก้ว ลูกกระพวนสำริด ก้อนตะกรันเหล็ก เศษเตาเผาโลหะ กระดูกมนุษย์ และเปลือกหอย ‘ถ้ำแรด’ พบลูกปัดหินกระเทาะ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณภูมิต่ำ กระดูกสัตว์ และเปลือกหอย ‘ถ้ำเขาช่องลม’ พบลูกปัดหินอะเกต ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ลูกปัดแก้ว และเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ‘ถ้ำเขากระโจม’ พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ กระดูกมนุษย์และสัตว์ และเศษภาชนะสำริด ‘ถ้ำสิงห์โตแก้ว’ พบภาชนะดินเผาและเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เครื่องมือเหล็กคล้ายเสียม และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ ‘บ้านพุน้ำค้าง’ พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ขวานหินขัดชนิดมีบ่าและไม่มีบ่า ลูกปัดแก้วและหินสี กำไลหิน กำไลกระดูก เครื่องมือเหล็ก ตะกรันเหล็กและชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ‘ถ้ำหนองหญ้าปล้อง’ พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์และเปลือกหอย ‘พุน้ำค้าง’ เป็นเนินดิน พบขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด กำไลหิน ก้อนขี้แร่เหล็ก เครื่องมือเหล็ก เศษภาชนะดินเผา เป็นต้น
‘เขาเขียว’ มีร่องรอยการทำเหมืองแร่เหล็ก โดยการขุดอุโมงค์
‘บ้านน้ำพุ’ ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านหนองแช่เสาที่เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดี น่าจะเป็นแหล่งผลิตขวานหินัดแหล่งใหญ่ พบขวานหินขัด หินลับ แกนหิน กำไลหิน หินทุบผ้าเปลือกไม้ ใบหยก เศษภาชนะดินเผา และกระดูกสัตว์ มีขวานหินขัดที่ทำยังไม่เสร็จอยู่เป็นจำนวนมาก
‘ถ้ำเขาซุ่มดง’ อยู่ที่บ้านเขาซุ่มดงในตำบลน้ำพถ พบขวานหินขัดชนิดมีบ่า แท่งลูกแก้วที่น่าจะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต แวดินเผา แหวนสำริด ภาชนะดินเผาและเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เครื่องมือเหล็ก กำไลทำด้วยกระดูกและฟันมนุษย์ และชิ้นส่วนกระโหลกช้าง
‘บ้านหนองวัวดำ’ ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ อยู่ด้านหน้าของเขาพุทองและห่างจากเมืองโบราณคูบัวราว ๒๐ กิโลเมตร พบมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ สภาพชำรุดเหลือเฉพาะส่วนหน้ากลองถึงหู ลวดลายที่หน้ากลองเป็นรูปดาว ๑๒ แฉก มีนกบินล้อมรอบ และลายเลขาคณิตต่างๆ เป็นวงรอบอีกหลายวง ไม่มีกบที่บนหน้ากลอง บริเวณที่พบมีร่องรอยของการฝังศพ และพบเครื่องประดับประเภทลูกปัดหินอาเกตและคาร์นีเลียนทรงกระบอก ลูกปัดแก้ว และเปลือกหอย กำไลและแหวนสำริด
๓. ในเส้นทางคมนาคมสายหลัก ลุ่มน้ำแม่กลอง
‘โคกพริก’ เป็นเนินไม่สูงมากจากพื้นดินโดยรอบ อยู่ริมคลองแม่น้ำอ้อมทางฝั่งตะวันออกในตำบลคุ้งกระถิน ในอำเภอเมือง ซึ่งเยื้องและอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองโบราณคูบัวที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของคลองแม่น้ำอ้อมในระนาบใกล้เคียงกันราว ๒.๕ กิโลเมตร และห่างจากปากคลองแม่น้ำอ้อมสบกับแม่น้ำแม่กลองราว ๔ กิโลเมตร คลองแม่น้ำอ้อม น่าจะเป็นเส้นทางแม่น้ำเดิมที่ใช้ในช่วงนุคเหล็กตอนปลายต่อเนื่องจนถึงสมัยทวารวดี ก่อนที่สายน้ำจะเปลี่ยนแปลงไปและเลี่ยงไปใช้แม่น้ำแม่กลองสายใหญ่ตั้งแต่ช่วงตั้งเมืองราชบุรีมาจนทุกวันนี้

เทือกเขาจากมุมมองจากปากคลองแม่น้ำอ้อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง บริเวณวัดศาลเจ้า ถือเป็นภูมิทัศน์สำคัญของเมืองโบราณและชุมชนโบราณในเขตราชบุรี เป็นสัญลักษณ์ว่าใกล้ถึงชุมชนเมืองท่านี้แล้ว
ชาวบ้านในอดีตต่างทราบว่าเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีผู้ใดเข้ามาทำกิจกรรม นอกจากแข่งวัวลานตามวาระ ปัจจุบันโคกพริกกลายเป็นพื้นที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งกระถินและมีการทำอาคารเพื่อจัดแสดงสิ่งที่พบจากบริเวณหลุมขุดค้นที่อยู่ด้านล่างอาคาร
จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบโครงกระดูกจำนวน ๔ โครง อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โครงกระดูกเพศชาย ๒ โครง อายุประมาณ ๓๐-๓๕ และ ๒๕-๓๐ ปีตามลำดับ เพศหญิงอายุราว ๒๐-๒๕ ปี และไม่ระบุ ๑ โครง ระดับชั้นดินลึกจากพื้นไม่ถึง ๑ เมตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างตื้น มีการอุทิศภาชนะดินเผา แบบเนื้อดิน (Earthenware) ขนาดค่อนข้างใหญ่ พบทั้งแบบผิวเรียบและแบบมีการตกแต่งผิว ส่วนใหญ่เป็นลายกดประทับ ลายเชือกทาบ และลายขูดขีด นอกจากนี้ชาวบ้านยังเคยขุดพบหม้อก้นกลม หม้อมีสัน และภาชนะทรงกลมขนาดเล็กคล้ายที่พบในแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในจังหวัดราชบุรี เช่น โคกพลับ แวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา กระดูกสัตว์ ชิ้นส่วนกระดูกข้อต่อ กระดูกสันหลัง และฟันสัตว์ ประเภท วัว ควาย หมู ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบเปลือกหอยแครงรวมอยู่ด้วย ส่วนเครื่องประดับเป็นประเภทกำไลเปลือกหอย ลูกปัดทำจากหินสี ลูกปัดแก้วสีต่างๆ และลูกปัดทำจากกระดูกสันหลังปลา
นอกจากนี้ยังพบการฝังไหบรรจุกระดูกที่เผาแล้วพร้อมทั้งโบราณวัตถุที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และจากการพบของชาวบ้านยังมีลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติรูปร่างต่างๆ เช่น ช้างและสัตว์อื่นๆและเคยมีการสำรวจพบอิฐแบบทวารวดีในบริเวณนี้ด้วย
และที่บริเวณ ‘เมืองโบราณคูบัว’ พบกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ ภายในเมือง ขนาดความกว้างของหน้ากลองราว ๔๕ เซนติเมตร มีรูปดาวสิบแฉกอยู่กลางหน้ากลอง ประดับลวดลายวงกลมไข่ปลา ลายนกบิน และลายเชือกที่หูกลอง และไม่มีกบที่บนหน้ากลอง ถือว่าเป็นใบย่อมกว่ามโหระทึกพบที่ถ้ำเขาขวากและบ้านหนองวัวดำ

ลูกปัดควอทซ์ พบในเขตราชบุรีจำนวนมาก ชุดนี้พบจากเมืองคูบัว

ม้วนแผ่นแร่ดีบุก ซึ่งเป็นรูปแบบของแร่ดิบประเภทหนึ่งในการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ชิ้นนี้พบที่หน้าวัดโขลง เมืองคูบัว ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญในการเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่ต่อเนื่องมาจนสมัยทวารวดีและน่าจะหลังจากนั้นด้วย
‘โคกพลับ’ อาจเป็นแหล่งโบราณคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมืองแร่ของชุมชนที่กล่าวมาทั้งหมด แต่น่าจะมีอายุร่วมสมัยกันคือยุคเหล็กตอนปลายและมีร่องรอยการใช้เครื่องประดับมีค่าจากแดนไกลเช่นกัน โคกพลับตั้งอยู่ในตำบลโพหัก อำเภอบางแพ ห่างจากแหล่งโคกพริกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๒๖ กิโลเมตร ถือว่าอยู่ในเขตภูมิศาสตร์แบบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ [Young Delta] ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลากหล่ยเดือนต่อปี ลักษณะเป็นเนินดินอยู่อาศัยขนาดใหญ่ราว ๙ ไร่ พบเพราะการขุดคลองชลประทานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๑ พบโครงกระดูก ๔๘ โครงในหลุมขุดตรว ๒ หลุมขนาด ๔x๔ เมตร ถือว่าเป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นฝังนอนหงายส่วนใหญ่หันศีรษะไปทางทิศเหนือ อุทิศสิ่งของเครื่องประดับ กำไล ซึ่งทำด้วยวัสดุหลากหลาย ได้แก่ หินสีต่างๆ สำริด กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และกระดองเต่า ที่โดดเด่นคือกำไลสำริด ต่างหูที่ทำจากหินเซอร์เพนทิไนต์ [Serpentinite] เป็นหินเนื้อละเอียดมักมีสีเขียวคล้ายหยก เรียกว่า New Jade และชื่อหยกอื่นๆ ด้วย บางกลุ่มก็มีสีดำหรือแดง และหินคาร์นีเลียน ลูกปัดซึ่งทำจากกระดูกและเปลือกหอยหอยกาบและหอยมือเสือ เครื่องใช้นั้นพบภาชนะดินเผาเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ หลายขนาดและหลากหลายรูปแบบและมีเอกลักษณ์เด่นคือภาชนะดินเผาที่พบส่วนใหญ่มีขนาดเล็กทรงก้นกลมและทรงคล้ายพานมีเชิง ซึ่งพบว่าคล้ายกับที่พบบริเวณเหมืองและแหล่งชุมชนโบราณหลายแห่งในจังหวัดราชบุรี นักโบราณคดีผู้เขียนรายงานคือสมชาย ณ นครพนม สันนิษฐานว่าอาจเป็นภาชนะที่ใช้บรรจุแร่ สำหรับการขายหรือชั่งตวงวัด ส่วนการอยู่อาศัยน่าจะเป็นชุมชนทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ (เช่น วัว ควาย หมู สุนัข) ล่าสัตว์ (เช่น หมูป่า กวาง เก้ง สมัน หอย ปู ปลา เต่า)
อย่างไรก็ตามการทำงานโดยการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ยังไม่มีการศึกษาค่าอายุที่นำวัตถุไปทดสอบหาค่าครึ่งอายุของรังสีแต่อย่างใด ใช้แต่เพียงวิธีการเปรียบเทียบรูปแบบของโบราณวัตถุที่พบเป็นหลัก
ความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีในเส้นทางข้ามคาบสมุทรคอคอดกระ-ที่เขาสามแก้ว
จากข้อมูลทางโบราณคดีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาโบราณวัตถุโดยเฉพาะเครื่องประดับจำพวกลูกปัด เครื่องทองและภาชนะสำริดทางคาบสมุทรที่มีการสะสมโดยนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้เริ่มชักชวนนักวิชาการทั้งจากในประเทศและนานาชาติเข้าร่วมศึกษาตรวจสอบรายละเอียดเชิงลึก จนดูจะก้าวหน้าไปจนพบความสำคัญของเครื่องประดับจำนวนมากเหล่านี้ว่ามีแหล่งผลิตและความสำคัญอย่างไร
จุดหมายที่เป็นท่าเรือชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทยที่เรือชักใบจากอินเดียในช่วงต้นพุทธกาลเคยเดินทางเข้ามาถึง และวาณิชเหล่านี้นำพาวัตถุดิบพวกหินกึ่งรัตนชาติและก้อนแก้วพร้อมช่างฝีมือ มาผลิตอยู่ตามแหล่งเมืองท่าแถบชายฝั่งคลองบางกล้วยและภูเขาทอง ชายฝั่งอันดามันในจังหวัดระนอง คลองท่าตะเภา เขาสามแก้วในจังหวัดชุมพร ไปจนถึงเขาเสกในอำเภอหลังสวน และท่าชนะในจังหวัดเดียวกัน เป็นต้น
นอกจากจะเป็นการค้าและการผลิตเพื่อส่งขายไปสู่หมู่เกาะหรือบ้านเมืองชายฝั่งและในแผ่นดินต่างๆ ยังพบได้ชัดเจนว่า พ่อค้าวาณิชเหล่านี้นำพาเอาความเชื่อทางพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองอยู่ตามเมืองท่าต่างๆ ชายฝั่งเบงกอลในระยะนั้นนำเข้ามาด้วย ช่วงเวลาดังกล่าวประเมินจากการศึกษาที่เขาสามแก้วและอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เรียกขานว่าเป็นยุคสมัยว่า ‘ยุคสุวรรณภูมิ’ อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๘ (โดยมีการค้าทางทะเลแล้วตั้งแต่ในช่วงพุทธกาล แต่ช่วงการค้าไปสู่ต่างแดนรุ่งเรืองสูงสุดอยู่ระหว่างราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะ ในแถบแคว้นโอริสสาราวพุทธศตวรรษที่ ๔-๗ )
การสำรวจทางโบราณคดีก่อนหน้านั้นก็ปรากฎร่องรอยหลักฐานในแถบบ้านดอนตาเพชร ต่อเนื่องในลุ่มน้ำจรเข้สามพันไปยังเมืองอู่ทองและชุมชนโบราณใกล้เคียง
ลูกปัดจากชุมชนโบราณในแถบเหมืองบนที่สูงในเขตสวนผึ้ง ชุมชนเกษตรกรรมที่เขาขวากและชุมชนโดยรอบรวมถึงที่ขอบจอมบึง น่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่เข้าไปทำเหมืองแร่ โดยเป็นแรงงานผู้ผลิตเองหรือผู้รวบรวมและกำหนดการผลิต ซึ่งอยู่ในชุมชนระดับหมู่บ้านหรือเมืองขนาดเล็กๆและชุมชนที่อยู่ริมเส้นทางในคมนาคมทางน้ำสำคัญ ถือว่าเป็นชุมชนเมืองท่าขนาดเล็กในช่วงเวลานี้คือที่ ‘โคกพริก’ ซึ่งสามารถเดินทางออกทะเลสู่อ่าวไทยและเลียบชายฝั่งไปยังคาบสมุทร หมู่เกาะต่างๆ หรือแผ่นดินใหญ่ทางสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่มีชุมชนใหญ่ๆ ในระดับเมืองหลายแห่ง และกำลังจะกลายเป็นกลุ่มรัฐแรกเริ่มปรากฎขึ้นซึ่งเรียกว่ารัฐฟูนันทางสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวลาต่อมา
ในพื้นที่เหล่านี้ล้วนพบร่องรอยของเครื่องประดับจำพวกลูกปัดซึ่งหากสืบที่มาแล้วน่าสนใจ โดยจะยกเป็นตัวอย่างให้เห็นความสำคัญของกลุ่มลูกปัดและเครื่องสำริดดังกล่าว ดังนี้
๑. ชิ้นส่วนขันสำริดแบบสัดส่วนดีบุกสูง [High tin bronze] ชาวบ้านโป่งกระทิงล่างพบริมห้วยสวนพลู แนวร่องเขาจมูกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ มีภาพลวดลายหญิงสาวที่มีสะโพกผายและรูปช้าง ก่อนหน้านั้นช่วง พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ ดร.เอียน โกลฟเวอร์ [Ian Glover] ผู้ขุดค้นร่วมกับกรมศิลปากรก็พบภาชนะสำริดแบบสัดส่วนดีบุกสูง มีลวดลายรูปผู้หญิงใส่ต่างหูสวมเครื่องประดับที่ศีรษะในหลุมขุดค้นบ้านดอนตาเพชร ไม่ไกลจากเมืองโบราณอู่ทอง ต่อมาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เองจึงได้พบขันสำริดแบบสัดส่วนดีบุกสูงแบบเต็มใบในลำน้ำท่าตะเภา เขาสามแก้วในอำเภอเมือง ๔ ใบ และชิ้นส่วนภาชนะที่เขาเสก ในอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ภาชนะสำริดที่มีสัดส่วนผสมของดีบุกสูงเช่นนี้ทำให้มีผิวมันวาวคล้ายสีทอง และกล่าวว่าผลิตขึ้นในอินเดียมากกว่าจะผลิตในแถบนี้หรือท้องถิ่นที่พบแม้ว่าจะเป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกที่ไม่มีในอินเดียก็ตาม กำหนดอายุกันว่าอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๔

ภาพลายเส้นบนเศษภาชนะสำริดที่ห้วยสวนพลู แนวหุบเขาจมูก ปัจจุบันที่ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี เทียบได้กับเศษภาชนะสำริด พบที่ดอนตาเพชรและในลำน้ำท่าตะเภา เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร
๒. มโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ พบที่เขาขวาก ๑ ใบ ที่บ้านหนองวัวดำ ๑ ใบและเมืองคูบัวอีก ๑ ใบ ทั้งหมดน่าจะผลิตขึ้นในวัฒนธรรมดองเซิน ถังสำริดมีฝาปิดดุนลายเส้นหยาบๆ เป็นกิจกรรมการล่าสัตว์และอื่นๆ ของมนุษย์พร้อมกับลวดลายเรขาคณิตคล้ายกับที่พบประดับบนผิวหน้ามโหระทึก พระมหาผ่อง ผลิตฺตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดเกาะนัมมทาฯ กล่าวว่าพบในลำน้ำแม่กลองช่วงวัดเกาะนัมมทาฯ จำนวนหลายใบ น่าจะอยู่ในช่วงวัฒนธรรมดองเซินและซ่าหวิงก์ [Sa hyunh] ทางเวียดนามตอนกลางและตอนใต้ที่อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกัน ซึ่งพบต่างหูแบบลิง-ลิง-โอที่หลุมขุดค้นเดียวกับที่พบภาชนะสำริดแบบสัดส่วนดีบุกสูงที่บ้านดอนตาเพชรด้วย มโหระทึกและภาชนะสำริดเหล่านี้มีต้นทางจากเวียดนามเหนือและตอนกลาง อายุโดยประมาณในราวพุทธศตวรรษที่ ๑-๗

มโหระทึกพบที่บ้านหนองบัวดำ ในอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากห้วยสวนพลูที่พบเศษภาชนะสำริดแบบสัดส่วนดีบุกสูง เพียงข้ามเขาไม่สูงชันนักก็เดินทางถึงในระยะใกล้และอยู่ในแนวเดียวกับที่ตั้งของโคกพริก ริมคลองแม่น้ำอ้อม ภาพถ่ายจากพิพิะภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

มโหระทึกพบที่เมืองคูบัว ภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
๓. ลูกปัดรูปสัตว์สัญลักษณ์มงคล การพบลูกปัดหรือเครื่องประดับที่เกี่ยวเนื่องกับระบบสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาที่พบเป็นจำนวนมากที่เขาสามแก้ว ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ปรากฎที่สถูปทางพุทธศาสนา เช่น ที่สาญจี ปารหุต อมราวดี และรอยพระพุทธบาทสัญลักษณ์เหล่านี้โดยพื้นฐานคือมงคล ๘ ประการที่พัฒนามาเป็นมงคล ๑๐๘ ประการ เช่น ตรีรัตนะ ศรีวัตสะ สวัสติกะ พระจันทร์เสี้ยว กลีบดอกไม้ ดอกบัว สิงห์โต ปลาคู่ สังข์ อังกุศ จามร คทา ดาบวัชระ ตรีศูล ฯลฯ และตามที่เราคุ้นเคยจากรอยพระพุทธบาทต่อมา
อย่างไรก็ตาม ลูกปัดรูปร่างต่างๆ ทำจากหินสีต่างๆ ที่เป็นหินกึ่งรัตนชาติพบที่ท้องถิ่นดั้งเดิมที่เป็นเมืองทางพุทธศานาเมื่อต้นพุทธกาลในอินเดียโดยกล่าวกว้างๆ ว่าได้จากพื้นที่ตอนกลางของประเทศคือลุ่มน้ำคงคาในรัฐอุตตรและมัธยประเทศในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพระพุทธศาสนาและได้กำหนดอายุอย่างกว้างๆ ว่าอยู่ในช่วงราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๔) จากการเปรียบเทียบแคตตาลอคของผู้สะสมลูกปัดรูปแบบเดียวกันในอินเดีย ก็เห็นว่าต่างเป็นสัตว์ต่างๆ เช่น นกหัวขวาน นกคุ่ม เป็ด กบ วัวหมอบ ปลา ตรีรัตนะ และคน สัญลักษณ์ต่างๆ คล้ายกับที่พบที่เขาสามแก้วและบริเวณใกล้เคียงรวมทั้งจากการสะสมที่ได้มาจากบ้านปากบึงและบ้านหัวทะเลในอำเภอจอมบึง และโคกพริกริมคลองแม่น้ำอ้อม (ซึ่งไม่นับลูกปัดแบบดวงตา [Eye beads] และลูกปัดแบบฝังเส้นสีขาวลงในเนื้อ [Etched Beads] ซึ่งพบอยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนลูกปัดแบบรูปร่างที่กล่าวข้างต้น)


โบราณวัตถุพวกเครื่องประดับสำริด และลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติ จากบ้านปากบึง จังหวัดราชบุรี ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
วิเคราะห์ได้ว่าวัฒนธรรมทางพุทธศานสนาที่แสดงออกจากระบบสัญลักษณ์ในเครื่องประดับจำพวกลูกปัดแก้วและหินรวมถึงทองคำนี้ เดินทางมาพร้อมกับพ่อค้าและนักเดินทางจากศูนย์กลางทางความเชื่อในเมืองท่าทางพุทธศาสนาอย่างสำคัญ และสามารถยืนยันมากไปกว่านี้คือ ลูกปัดระบบสัญลักษณ์เหล่านี้พบเป็นจำนวนมาก และใช้วัตถุจำพวกหินกึ่งรัตนชาติหลากหลายชนิดน่าจะถูกผลิตขึ้นที่คาบสมุทรสยามเพื่อส่งออกเป็นสินค้าในดินแดนที่รับพุทธศาสนา มากกว่าจะเป็นการนำเข้าตรีรัตนะจากหินกึ่งรัตนชาติจากอินเดียเพียงฝ่ายเดียว
‘ตรีรัตนะ’ เป็นรูปสัญลักษณ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช บนซุ้มประตูด้านทิศเหนือของมหาสถูปสาญจี ภาพสลักนูนต่ำที่มหาสถูปภารหุตและอมราวดี รูปลักษณ์ของตรีรัตนะสันนิษฐานกันว่าหมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์และธรรมจักร ซึ่งก็อาจจะมีความหมายอื่นๆ อีกได้ ในขณะเดียวกันก็พบว่าใช้แพร่หลายอยู่ในศาสนฮินดูและเชน ไม่มีใครทราบว่าระบบความเชื่อใดเริ่มนำสัญลักษณ์นี้มาใช้ก่อนและมีความหมายอย่างไร แต่สามารถสรุปได้ว่า ‘เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาที่มีมาก่อนการสร้างรูปเคารพแบบพระพุทธรูปเป็นเวลานาน’
ตรีรัตนะถือเป็นลูกปัดแบบรูปร่างสัญลักษณ์ที่พบในแหล่งโบราณคดีทางคาบสมุทรเป็นจำนวนมาก นอกเหนือไปจากการบอกสถานภาพและฐานะของผู้เป็นเจ้าของ การเจาะรูร้อยเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับอาจจะใช้ห้อยคอ แน่นอนว่าจะต้องผูกอยู่กับความเชื่อการเป็นที่พึ่งทางจิตใจ
บริเวณจอมบึงชาวบ้านมักพบลูกปัดและโบราณวัตถุต่างๆ มานานแล้ว สอบถามจากพระครูผ่อง เจ้าอาวาสวัดเกาะนัมทาราม กล่าวว่ามีผู้รับซื้อลูกปัดจากชาวบ้านมาเก็บไว้จำนวนมากมานานมากแล้ว และสันนิษฐานว่่าลูกปัดจาก บ้านปากบึงและหัวทะเลมาถึงนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช แบบร้อยลูกปัดที่ดูน่าแปลก และถูกนำไปเขียนถึงว่าเป็น ‘สร้อยลูกปัดปริศนาแห่งจอมบึง’ ในหนังสือ ‘อู่ทองที่รอการฟื้นคืนฯ’ เพราะคล้ายคลึงกับทางคาบสมุทรแถบเขาสามแก้ว
ลูกปัดประเภทรูปร่างต่างๆ จากจอมบึง เช่น ตรีรัตนะ รูปนกรูปร่างเหมือนพวกนกกระปูด นกคุ่ม วัว ช้าง (พบที่โคกพริกด้วย) เป็ด-ไก่? เต่า สิงห์ (หางยาว) สัตว์ตระกูลเลื้อยคลาน [Reptile] ปลาคู่ สังข์ หม้อน้ำ ลูกปัดที่มี ๖ กลีบแบบที่นิยมเรียกกันว่าเม็ดมะยม พระจันทร์เสี้ยว วัชระ คทา และตรีรัตนะซึ่งพบ ๒ ชิ้นจากที่นี่
นอกจากพบตรีรัตนะที่จอมบึงแล้ว ยังพบที่โคกพริกอีก ๑ ชิ้น ทำจากหินแกรนิตซึ่งไม่ใช่หินกึ่งรัตนชาติจึงเป็นสิ่งที่แปลก แต่อาจไม่แปลกในพื้นที่เพราะหินแกรนิตจากชุมชนเหมืองบนที่สูงพบอยู่ทั่วไป
นอกจากนี้ที่จอมบึงยังพบลูกปัดรูปบุคคลยืน ประสานมือทั้งสองข้างในด้านหน้าหรืออาจอุ้มสิ่งใด ไว้ผมมวยมุ่นไว้บนศรีษะและอ้าปากคล้ายนักบวชผู้กำลังเปล่งเสียงอำนวยพรแก่ผู้มอบสิ่งของให้หรืออาจจะเป็นนักบวชหรือภิกษุรูปแบบแรกที่เข้ามาในดินแดนนี้ ซึ่งดูจะเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นเดียวกับสัตว์และสัญลักษณ์มงคลที่กล่าวมาแล้วสำหรับการตีความเช่นนี้ต่อประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทย
ความสัมพันธ์อย่างชัดเจนของลูกปัดรูปร่างต่างๆ ที่เป็นระบบสัญลักษณ์ของสิ่งมงคลทางพุทธศาสนาที่ปรากฎที่ชุมชนในจอมบึงและโคกพริกเท่าที่พบนี้ ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกับวิธีคิดทางวัฒนธรรมจากแดนไกลคือต้นทางจากอินเดีย เข้าสู่ดินแดนแห่งนี้โดยผ่านชุมชนชายฝั่งทางอันดามันและอ่าวไทยที่คอคอดกระ ซึ่งมีความชัดเจนว่าน่าจะเป็นแหล่งผลิตลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติเหล่านี้ด้วย ส่วนลูกปัดหินควอทซ์แบบทั้งขุ่นและใส ซึ่งมีแร่ปริมาณมากจากเหมืองบนที่สูงแถบนี้ ก็พบตามแหล่งต่างๆ เรื่อยมาจนถึงในช่วงทวารวดีที่คูบัว
อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของแหล่งเหมืองและแหล่งโบราณคดีที่จอมบึงนี้ สามารถเดินทางตามลำน้ำภาชีขึ้นเหนือไปออกทางด่านบ้องตี้เพื่อเดินทางเข้าสู่เมืองทวายทางชายฝั่งอันดามันได้ไม่ยากนัก และเป็นช่องทางที่น่าจะติดต่อกับบ้านเมืองทางฝั่งอ่าวเบงกอลของอนุทวีปอินเดียได้สะดวก แต่จากการสำรวจทั่วไปนั้นยังไม่พบโบราณวัตถุประเภทนี้นอกจากลูกปัดกึ่งรัตนชาติต่างๆ หรือหลักฐานที่อาจจะพ้องกับข้อมูลทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาตะนาวศรีเช่นที่สวนผึ้งและจอมบึง อีกทั้งยังพบแหล่งโบราณคดีที่โคกพริกซึ่งมีอายุใกล้เคียงและน่าจะมีความสัมพันธ์กับการค้าและการทำเหมืองแร่ดีบุกบนที่สูงทั้งหลายนี้
จึงเป็นข้อสันนิษฐานไว้ ณ ขณะนี้ว่า จากร่องรอยหลายประการที่กล่าวมาข้างต้น ชุมชนโบราณในเขตราชบุรีล้วนมีความสัมพันธ์กับการทำเหมืองแร่ดีบุก ที่ไม่เฉพาะเพียงแร่ดีบุก แต่จะได้แร่ควอทซ์ซึ่งเป็นหินกึ่งรัตนชาติซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงเวลาต้นพุทธกาลนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้เช่น แร่ทองคำ ตะกั่ว สังกะสี ซึ่งผู้คนในยุคนี้รู้จักนำมาถลุงใช้งานเพื่อประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ แล้ว และร่องรอยเหล่านี้สัมพันธ์กับทางชุมชนที่เป็นท่าเรือและแหล่งผลิต รวมทั้งเป็นที่รวบรวมทรัพยากรจากป่าเขาและเขตแดนไกลต่างๆ ซึ่งเหมืองแร่ดีบุกก็เป็นหนึ่งในการผลิตดีบุกเพื่อการส่งออกและนายวาณิชทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นพ่อค้านักบวชจากอนุทวีป คนท้องถิ่น หรือพ่อค้าจากทางตะวันออก ล้วนนำพาวัตถุสิ่งของทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันจากคาบสมุทรมายังชาวเหมืองและผู้ทำกิจกรรมต่อเนื่องจากการทำเหมืองแร่ที่ราชบุรีนี้อย่างชัดเจน
ลุ่มน้ำแม่กลองและความเป็นไปได้ในการกระจายวัตถุมีค่าจากโพ้นทะเลในเขตแผ่นดินภายใน
จากรูปแบบของแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในพื้นที่ราชบุรีที่กล่าวถึงข้างต้น ถูกสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อพบแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ต่างๆ และโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นความสัมพันธุ์กับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ แล้วก็ต้องคิดทบทวนใหม่ว่า แหล่งโบราณคดีเหล่านี้เป็นแหล่งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่บนที่สูงหรืออาจจะอยู่ในยุคหินใหม่หรือยุคโลหะเพียงเท่านั้นหรือ
เมื่อเห็นภาพการไล่เรียงจากที่สูงในหุบของเทือกเขาตะนาวศรี ในบริเวณที่เป็นแนวหินแกรนิตและเป็นแหล่งที่มีแร่ดีบุกและเฟลด์สปาคุณภาพดีรวมทั้งมีแร่ควอทซ์ในปริมาณมาก เรียงรายอยู่ริมลำน้ำในบริเวณที่อาจเรียกได้ว่าเป็นลานแต่งแร่ ซึ่งมีอยู่ทั่วทั้งหุบเขา ที่นี่มีแร่ดีบุกไม่ต่างจากแนวเทือกเขาหินแกรนิตในแถบคาบสมุทรสยาม-มลายู และพบหลักฐานในช่วงต้นพุทธกาล เช่นเดียวกับที่พบจากบ้านดอนตาเพชรและเขาสามแก้วในร่องน้ำที่เคยใช้ทำเหมือง
ส่วนที่ราบรอบเขาลูกโดดและขอบบึง ก็พบชุมชนเพื่อการอยู่อาศัย บางแห่งยังใช้ถ้ำและเพิงผาสำหรับการจัดพิธีกรรม และการฝังศพ ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์โดยยังไม่พบร่องรอยของอาครบ้านเรือนหรือศาสนสถานแต่อย่างใด และบางแห่งก็พบการฝังศพครั้งที่สอง เป็นหม้อบรรจุภาชนะแล้ว โบราณวัตถุที่พบอนุมานได้ว่าเป็นยุคเหล็กตอนปลาย และที่มีความชัดเจนว่าอยู่ในช่วงร่วมสมัยกับการทำเหมืองแรดีบุกในหุบเขาก็เพราะพบลูกปัดที่มีความสัมพันธ์กับแถบคาบสมุทรเช่นเขาสามแก้วในจังหวัดชุมพร และลูกปัดเหล่านี้มีอายุอยู่ในช่วงต้นพุทธกาลราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ เพราะลูกปัดที่เป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ นั้นล้วนเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์มงคลทางพุทธศาสนา โดยที่คณะนายวาณิชต่างๆ จากชายฝั่งเบงกอลกำลังรุ่งเรืองจากการค้าทางทะเลและการเดินทางข้ามมหาสมุทรอินเดียเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าที่อาจเป็นแร่ธาตุและของป่ารวมถึงไข่มุกจากท้องทะเลก็รุ่งเรืองอยู่ในช่วงเดียวกันกับอายุของภาชนะข้างต้น
และเส้นทางริมคลองแม่น้ำอ้อม ซึ่งเป็นแม่น้ำแม่กลองเดิมก็พบแหล่งชุมชนที่น่าจะเป็นชุมชนเพื่อการแลกเปลี่ยนขนถ่ายสินค้าขนาดไม่ใหญ่โตนัก อยู่ไม่ไกลจากริมลำน้ำ พบทั้งลูกปัดทั้งตรีรัตนะ เต่า ช้าง ในรูปแบบสัญลักษณ์เช่นเดียวกันกับชุมชนที่ขอบบึง ซึ่งต่อมาฝั่งตรงข้ามที่อยู่ห่างไปเพียง ๔ กิโลเมตร และมีความสัมพันธ์กับห้วยชินสีห์จากแนวเทือกเขาตะนาวศรีด้านนอก และมีร่องน้ำไหลลงสู่คลองแม่น้ำอ้อมด้วยก็ยังพบทั้งลูกปัด เช่นลูกปัดทำจากหินควอทซ์ที่น่าจะทำจากแหล่งผลิตในพื้นที่ พบมโหระทึกภายในเมืองคูบัวซึ่งควรจะมีการนำมาใช้อย่างต่อเนื่องกับชุมชนในอดีตที่อยู่โดยรอบ เมืองคูบัวนี้สันนิษฐานอย่างคร่าวๆ ว่าน่าจะเกิดขึ้นหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เล็กน้อย แต่ที่แน่นอนคือชุมชนที่คูบัวเป็นเมืองท่าภายในที่ตั้งขึ้นอย่างสืบเนื่องในการเป็นจุดขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเล เพราะมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ชัดเจน รวมทั้งเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างบ้านเมืองโพ้นทะเลทั้งทางตะวันตกและตะวันออก
บริเวณคูบัวและลำแม่น้ำอ้อมของแม่กลองนี้คือเมืองท่านานาชาติสำคัญที่สืบเนื่องมาจากการเดินเรือเลียบชายฝั่งตั้งแต่ต้นพุทธกาลหรือก่อนหน้านั้นเพื่อมานำเอาแร่ธาตุสำคัญคือดีบุก เพื่อนำไปใช้ในโลหะผสม [Alloy] ในช่วงโลกรู้จักการทำโลหะผสมแล้ว นอกจากแนวหินแกรนิตจะมีดีบุกก็ยังมีทองคำปะปนอยู่ด้วย ดังนั้นแนวเทือกเขาตะนาวศรีทางราชบุรีไปจนถึงกาญจนบุรี จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่ง ‘สุวรรณภูมิ’ หรือ ‘สุวรรณทวีป’ ดินแดนในคำบอกเล่าของผู้บันทึกคัมภีร์ต่างๆ ในยุคต่อมา
สิ่งที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องต่อไปก็คือ ศึกษาช่วงเวลารอยต่อนี้เพื่อทำความเข้าใจการเข้ามาถึงของวัฒนธรรมพุทธศาสนาจากอนุทวีป มีร่องรอยรายละเอียดที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบของชุมชนต่างๆ ในแผ่นดินที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงเขตภายในอื่นๆ จนมีพัฒนาการกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่จนถึงขั้นตอนการเป็นรัฐแรกเริ่มอย่างไร
บรรณานุกรม
ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีภูมิภาคตะวันตก .เว็บไซต์เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม ระดับปริญญาโท คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเรื่องการพัฒนาเว็บไซต์ฐานข้อมูลระบบสารสนเทศประเภทแหล่งโบราณคดี กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย[ระบบออนไลน์, ที่มา, http://www.thaitouch.info/map/site-all.php , เข้าถึง (25/jun/2020)].
นิภา จุละจาริตต์ และ ชาญ จรรยาวนิชย์. รายงานผลการวิจัยและพัฒนา เรื่อง แร่อุตสาหกรรมจากแหล่งตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี, กรมทรัพยากรธรณี, ตุลาคม ๒๕๓๑
สุรินทร์ เหลือลมัย. ปิดตำนานเหมืองแร่ที่สวนผึ้ง. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๔, ๒๕๔๘
มานัส วีรบุรุษ. ศักย์ทางดีบุกจังหวัดราชบุรี ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์,[ระบบออนไลน์, ที่มา, http://library.dmr.go.th/Document/J-Index/2510/895.pdf, เข้าถึง (25/jun/2020)].
ภูธร ภูมะธร และ บัญชา พงษ์พานิช. อู่ทองที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัดและพระพุทธศาสนาแรกเริ่มในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ, ๒๕๕๘.