วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 

มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

ภาชนะดินเผาแบบสีดำขัดมัน : ต้นทางจากอนุทวีปอินเดีย

ภาชนะสีดำขัดมันที่มีรูปแบบเฉพาะเรียกกันในการศึกษาทางโบราณคดีของอินเดียที่เกี่ยวกับ ‘การเกิดเมืองในยุคเหล็ก’ ซึ่งมีความสัมพันธ์สืบเนื่องกับ ‘การเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา’ ในอินเดียตอนเหนือซึ่งอยู่ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การมีประชากรที่เพิ่มขึ้นและรูปแบบชุมชนที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากชนบทเป็นนคร

การศึกษาภาชนะสีดำขัดมันในอินเดียเริ่มในราว พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๔๖๔  ภาชนะประเภทนี้เมื่อแรกพบมีเพียงสีดำ ขัดมันเงา และพบเพียงทางตอนเหนือของอินเดีย จึงเรียกว่า Northern Black Polished Ware [NBPW]  ต่อมาก็พบทั่วไปในอนุทวีปอินเดีย ช่วงนั้นนักโบราณคดีใช้หลักฐานจากเหรียญ [Panch marked coins] หรือหลักฐานพวกตัวอักษรพราหมีแบบเก่าเป็นตัวกำหนดอายุ โดยทั่วไปกำหนดอายุไว้ คือราว ๒,๖๐๐-๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว (๕๐๐-๖๐๐ BCE-๒๐๐ BCE) แต่ต่อมามีการเสนอข้อพิจารณาเสริมจากการกำหนดอายุจากคาร์บอน ๑๔  [Radio carbon dates] รวมทั้งหลักฐานอื่นๆ ประกอบร่วมกันจากหลายแหล่งโบราณคดีบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคาตอนกลางในรัฐอุตรประเทศและพิหารอยู่ที่ ระหว่างประมาณ ๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว ถึง ๒,๕๕๐ ปีมาแล้ว [๗๐๐ BCE- ๕๐ BCE]  และกรณีหลักฐานเก่าที่สุดพบจากการขุดค้นที่นาลันทา รัฐพิหาร ถึง ๑,๒๐๐ BCE และที่ อโยธยาที่อายุ ๑,๐๐๓ BCE ซึ่งกระโดดไปมากแต่มีหลักฐานรองรับก็ต้องทบทวนใหม่ต่อไป (Anand Shanker Singh. The Chronology of Northern Black Polished Ware : Recent Perspectives International Journal of Scientific Research in Science and Technology, 2017)

การพบภาชนะสีดำขัดมันเหล่านี้สะท้อนนัยะสำคัญว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการบังเกิดและงอกงามของพุทธศาสนาและเป็นช่วงที่สังคมในอนุทวีปอินเดียกำลังเปลี่ยนแปลงโดยมีการใช้เทคโนโลยีจากการถลุงเหล็กและการทำการเกษตรที่ได้ผลผลิตมากขึ้น จนเกิดสังคมที่มีชนชั้นและสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมสำคัญๆ หลากหลาย เกิดชุมชนเมืองขนาดใหญ่ขึ้นในทางตอนเหนือของอินเดียหลายแห่งและเห็นได้ชัดว่าขยายไปตามบ้านเมืองต่างๆ ในยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช 

ภาชนะแบบสีดำขัดมันที่เรียกว่า Northern Black Polished Ware [NBPW] เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในช่วงเวลานี้ 

ความโดดเด่นคือไม่ใช่ภาชนะขนาดใหญ่แบบโอ่งไหหรือหม้อทรงกลมที่สำหรับใช้บรรจุสิ่งของทั่วไป แต่เป็นจาน ชาม กลมปากว้าง ภาชนะขนาดเล็กอื่นๆ ถือเป็นภาชนะมีมูลค่าสูงของของชนชั้นนำ ที่ผลิตด้วยแป้นหมุน เนื้อดินละเอียด เนื้อภาชนะบาง เผาในอุณหภูมิสูง และมีส่วนผสมของตัวประสานเนื้อดินน้อย [Temper] มีความเงาของพื้นผิว มีสีดำสนิท สีดำอมน้ำตาล สีเทาและอาจจะมีร่องรอยของสีแดง สีน้ำตาลแดง สีเทาขี้เถ้า

การเคลือบที่ยังวิเคราะห์กันในหลายสมมติฐาน เป็นภาชนะที่พบได้น้อย เป็นสิ่งของสูงค่าทางวัฒนธรรมช่วงเวลานั้น และบางชิ้นที่เสียหายไปก็ถูกซ่อมด้วยหมุดเนื้อทองแดงเพื่อการใช้งานต่อ จนสันนิษฐานว่าเป็นของสูงค่าที่พบว่าใช้ในเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น พบร่องรอยหลักฐานในอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน เนปาล และศรีลังกา บันทึกไว้ว่าพบร่องรอยหลักฐานมากกว่า ๑,๕๐๐ แห่ง บริเวณที่พบทางตอนเหนือสุด คือชุมชนอูดีกราม [Udegram] กลางหุบเขาสวัต ในปากีสถาน ทางใต้สุดคือ เมืองอนุราธปุระในศรีลังกา ตะวันตกสุดคือ เมืองประภาส ปาตาน [Prabhas-Pathan] ริมชายฝั่งทะเลในคุชรัฏอินเดีย และตะวันออกสุดคือวารี-บาเตชวาร์ [Wari-Bateshwar] และ มหาสธานครา [Mahasthangarh] ในบังกลาเทศ การขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่บังคลาเทศทั้งสองแห่งนี้มีค่าอายุในราว ๔๐๐ BCE- ๑๐๐ CE (ราว ๒,๔๐๐-๑,๙๐๐ ปีมาแล้ว)  

นักวิชาการนานาชาติวิเคราะห์เทคนิคการผลิตภาชนะสีดำขัดมันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยเฉพาะการทำสีเคลือบดำขึ้นเงานี้ทำอย่างไร โดยมีสมมติฐาน ๒ ประการว่า สีดำนั้นเกิดจากสารประกอบที่เป็น ‘เหล็ก’ และ ‘คาร์บอน’ ในองค์ประกอบหลักตามลำดับ ต่อมามีความวิเคราะห์ทางเคมีและเสนอว่าน้ำสลิปน่าจะทำจากส่วนผสมของเหลวสองชนิดคือดินเหนียวเหลวและน้ำมันพืช เมื่อตากแห้งน้ำมันพืชกลายเป็นคาร์บอนโดยไม่ต้องเผาไหม้ ทำให้พื้นผิวเป็นสีดำเงาและสม่ำเสมอ  ส่วนนักวิชาการอื่นๆ ก็สันนิษฐานเสนอว่าเป็นการชุบน้ำสลิปบ้าง ขัดด้วยผ้าบ้าง เผาภาชนะด้วยฟืนไม้สนที่มีน้ำมันเรซินในถังเหล็กแบบปิดและลดอุณหภูมิในพื้นที่ปิดมีผลทำให้เกิดความมันวาวบ้าง ส่วนบางท่านทดลองเอา Kabiz ซึ่งมีส่วนผสมของดินที่มีแร่เหล็กปน เปลือกของต้นมะม่วง เปลือกของต้นบาบูล (ต้นไม้ในตระกูลอคาเซียหรืออาราบิกา) ใบไผ่ (ถ้าให้ได้สีเขียว) ใบอาราซา [Arasa] โซดาไฟ และน้ำผลไม้ ผสมแล้วน้ำมาเคลือบแล้วไปตากแดด ต่อไปก็นำเอาน้ำมันมัสตาร์ดแล้วขัดด้วยผ้าแห้ง นำไปเผาแบบคว่ำหม้อ ใช้ขี้แพะและวัวปิดทับเพื่อให้ได้อุณหภูมิที่ต้องการ เทคนิคนี้ทำให้เกิดสีดำเงาคล้ายภาชนะแบบ NBPW เป็นต้น

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกียวโต [Dilruba Sharmin and Fumio Okada, 2011] ทดลองศึกษาเศษภาชนะแบบ NBPW ทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของบังคลาเทศ ที่เมืองวารี-บาติชวา [Wari-Bateshwar] และมหาสธานครา [Mahasthangarh] โดยการนำเนื้อภาชนะไปตัดบางใส่แผ่นไสลด์ [Thin section] สังเกตโดยใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังสูง พบว่ามีการเคลือบสองชั้นโดยวัสดุสองชนิดที่แตกต่างกัน ชั้นล่างคือ “ดินเหนียว” ที่มีส่วนผสมของ “เหล็ก” เป็น ‘น้ำสลิปหรือน้ำเคลือบ’ เมื่อส่องกล้องดูจะพบว่าเป็นผิวราบเรียบเป็นพื้น ส่วนชั้นบน พื้นผิวแข็งและมีรอยแตกมากแแต่มีความมันวาว ได้มาจากการเคลือบด้านบนอีกครั้งหนึ่งด้วยการชุบ ซึ่งไม่ใช่การใช้น้ำสลิปแบบดินเหนียว แต่ใช้การเคลือบด้วยสารอินทรีย์บางชนิดที่สันนิษฐานได้คือเปลือกหรือใบไม้ (เช่นใบเมเปิล) ที่ให้สารเคลือบเงาใส [Resins] โดยสรุป วิธีการทำให้เกิดความเงามันนี้คือ นำภาชนะที่ชุบน้ำสลิปดินแล้วตากไว้จนแห้งตามธรรมชาติ แล้วนำมาขัด (โดยปกติของการทำภาชนะดินเผาในหลายแห่งมักใช้หินกรวดแม่น้ำนำมาขัดถูที่ผิวภาชนะ)  เมื่อแห้งแล้วจึงนำไปเผา จากนั้นจึงนำไป ‘ชุบ’ สารเรซินจากต้นไม้ที่เป็นอินทรีย์วัตถุ ซึ่งจะทำให้พื้นผิวชั้นเคลือบชั้นบนนี้บางมากและเกิดความใสมันวาว

สำหรับข้อหลังนี่คือสมมติฐานที่อาจเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการผลิตภาชนะแบบสีดำขัดมันที่มีต้นกำเนิดจากอนุทวีปอินเดีย แต่ก็อาจจะมีการทดลองสมมติฐานอื่นๆ ในอนาคตได้อีกเช่นกัน เพราะวิธีการผลิตภาชนะเช่นนี้ไม่มีตัวอย่างเหลือให้เปรียบเทียบแบบ Ethnoarcheological studies ในทางเทคนิคที่สูญหายไปแล้วนี้

อย่างไรก็ตาม ความยากของเทคนิคการผลิต ความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เห็นการเป็นสินค้าที่มีคุณค่าสูง [Prestige goods] ที่แสดงถึงความแตกต่างของผู้ใช้งานหรือการมีชนชั้นได้ชัดเจน 

สันนิษฐานกันว่ายุคเหล็กในอินเดียที่เริ่มเกิดชุมชนเมืองแล้วนี้ ใช้ภาชนะสีดำขัดมันเป็นรูปแบบเด่นทางวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นรูปแบบโครงสร้างทางสังคมเริ่มแรกในระดับรัฐแรกเริ่มในอนุทวีปอินเดีย ซึ่งทางอินเดียใต้ทางฝั่งเบงกอลตะวันตกปรากฎความนิยมใช้งานล่ากว่าบริเวณทางเหนือของอินเดียคืออยู่ระหว่างราว ๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว ถึง ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว [๓๐๐ BCE.- ๒๐๐ CE] ในช่วงยุคหลังนี้เริ่มปรับเป็นภาชนะเนื้อสีแดงและสีเทาเนื้อละเอียด มีการกดประทับและลายขูดขีดเพิ่มขึ้นด้วย  

จากชายฝั่งอ่าวเบงกอลที่เป็นชุมชนภายในและเมืองท่าในบริเวณบังคลาเทศ จนถึงชายฝั่งทางอานธรประเทศและอินเดียใต้ พบว่ามีรูปแบบการผลิตเครื่องปั้นดินเผาลักษณะโดดเด่นหลายประเภทและส่งเป็นสินค้าและมีการผลิตเลียนแบบแผ่กระจายไปยังบ้านเมืองต่างๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผาแบบแดงและดำ [Black-and-Red Ware], เครื่องปั้นดินเผาแบบสีดำขัดมัน [Northern Black Polished Ware], ภาชนะแบบกดประทับเป็นรู [Rouletted Ware], ภาชนะแบบไหก้นแหลม [Amphorae], ภาชนะแบบเคลือบน้ำดินสีดำ [Black-slipped Ware], ภาชนะแบบมีปุ่มแหลมด้านในภาชนะ [Knobbed Ware] 

แหล่งโบราณคดีแทบทั้งหมดโดยเฉพาะที่พบ ‘ภาชนะสีดำขัดมัน’ คือศูนย์กลางทางพุทธศาสนา ตามบริเวณที่มีการนับถือพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางในช่วงราชวงศ์ศุงคะ-เมารยะทางตอนเหนือและราชวงศ์สาสตวาหนะทางใต้ [Sunga-Maurya & Satavahana ; ๒-๓ BCE] นักวิชาการอินเดียบางท่าน [Shahnaj Husne JAHAN, ๒๕๕๕] ให้ข้อสังเกตว่า เป็นแหล่งที่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาทั้งสิ้น และเสนอว่าภาชนะเหล่านี้คือ Precious deluxe wares เป็นของมีค่าร่ำรวยสำหรับคนสถานภาพสูงและเชื่อมโยงกับการนับถือศาสนาพุทธ 

บางท่านสันนิษฐานไปว่าเป็น ‘บาตร’ [Alms-bowl] สำหรับสงฆ์ในยุคแรกๆ ไปจนถึงภาชนะสำหรับใส่น้ำมนต์หรือใช้เพื่อพิธีกรรม ซึ่งในกรณีนี้พ่อค้าที่เดินเรือระยะไกลจากเมืองท่า เช่น การพบภาชนะสีดำขัดมันที่เมืองวารี-บาเตชวาร์ [Wari-Bateshwar] ในบังคลาเทศหรือเบงกอลตะวันออก เมืองตามรลิปติ [Tamralipti] หรือเมืองตามลุกในปัจจุบัน (ที่พระภิกษุเสวียนจั้งหรือพระถังซัมจั๋งมาถึงเพื่อเรียนภาษาสันสกฤษเป็นที่แรกเมื่อ พ.ศ. ๑๒๑๖ เมืองคงคาบันดา Ganga bandar ซึ่งเป็นเมืองเก่าที่จันทรเกตุกาห์ [Chandraketugarh] ไม่ไกลจากกัลกัตตาในปัจจุบันทางฝั่งเบงกอลตะวันตก มาพร้อมกับสิ่งของสูงค่ารวมทั้งการแพร่พุทธศาสนาสู่ดินแดนอีกฝั่งทางตะวันออกของอ่าวเบงกอล นั่นคือ ‘สุวรรณภูมิ’

เพราะพบหลักฐานร่องรอยของการค้าทางคาบสมุทรสยาม-มลายูทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยที่เรียกบริเวณโดยรวมว่า ‘คอคอดกระ’ ภาคพื้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชายฝั่งของเวียดนามจนถึงจีนตอนใต้ด้วย รวมทั้งบริเวณที่มีการผลิตสินค้าหายาก เช่นพวกลูกปัดที่ทำจากหินกึ่งรัตนชาติต่างๆ [Semi-precious stones] แก้ว และทองคำ เป็นต้น 

ภาชนะดินเผาแบบชามปากกว้างสีเทาขี้เถ้า แบบสีมันขัดดำ [NBPW] จากแหล่งโบราณคดีเขาเสก อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบภาชนะอื่นๆ ร่วมสมัย เช่น ภาชนะที่มีการตกแต่งลวดลายแบบกดประทับเป็นรู [Rouletted Ware] พบจากการขุดค้นที่ชายหาดบางกล้วย ใกล้กับภูเขาทอง ในจังหวัดระนอง เบกถะโนในพม่า [Beikthano] ในมาเลเซียทางชายฝั่งอ่าวไทย ปาเลมบังในเกาะสุมาตรา ที่ชวาและบาหลี ตลอดจนชายฝั่งเวียดนามตอนกลาง อีกทั้งภาพชนะแบบมีปุ่มแหลม [Knobbed Ware] ในประเทศไทย ภาคกลางที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี ที่ภาคใต้พบในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นสถานีการค้าและผลิตในระดับเมืองท่าภายในขนาดเล็กที่เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓-๙ (ราว ๒,๒๐๐-๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว) นอกจากนี้ยังพบที่แหล่งถ้ำเสือในอำเภอละอุ่นและหาดปากคลองกล้วย ในจังหวัดระนอง และแหล่งโบราณคดีในทัญฮว้า [Than Hoa] ไม่ไกลจากเมืองท่าไฮฟอง เวียดนามตอนเหนือ เป็นต้น 

ในเขตเมืองท่าของอาณาบริเวณคอคอดกระพบ ภาชนะแบบสีดำขัดมัน [Black polished wares] และภาชนะแบบเนื้อดินดีสีเทาและสีแดง เช่น ภาชนะเต็มใบเกือบสมบูรณ์มีลายเชือกทาบประดับผิวและอาจมีรูปทรงเป็นหม้อก้นกลม ปากแคบ พบที่เขาสามแก้ว ส่วนภาชนะทรงชามปากกว้างสีเทาขี้เถ้าเต็มใบที่เป็นแบบ NBPW โดยแท้นั้นพบที่เขาเสก อำเภอหลังสวน และมีรายงานพบในอำเภอทุ่งตะโก ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันในจังหวัดชุมพรด้วย

ภาชนะก้นกลม ลายเชือกทาบ แบบสีดำขัดมัน พบที่เขาสามแก้ว อำเภอเมืองจังหวัดชุมพร

การนำสินค้าเช่นนี้เข้าสู่ดินแดนภายในผ่านทางคาบสมุทร ซึ่งน่าจะกระจายเข้ามาพร้อมการนำลูกปัดที่ทำจากหินกึ่งมีค่าและแก้วมาผลิตที่ผลิตคาบสมุทรบริเวณที่เรียกว่า ‘คอคอดกระ’ ดังกล่าว ซึ่งนอกจากรูปแบบภาชนะที่กล่าวมาแล้ว ยังมีร่องรอยทั้งรูปรอยสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาร่วมสมัยเป็นส่วนใหญ่และอักษรพราหมีแบบเก่าที่กำหนดอายุได้ในช่วงเดียวกัน สิ่งที่ชัดเจนก็คือ สิ่งของเครื่องใช้อันหรูหราเป็นของชนชั้นสูงทางสังคมที่นับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย [Prestige goods] เหล่านี้ นำเข้ามาโดยพ่อค้านักเดินเรือกลุ่มใหญ่ที่น่าจะนับถือพุทธศาสนามากกว่าศาสนาพราหมณ์ในช่วงเวลานั้น แม้จะไม่แน่ใจว่าความเชื่อทางพุทธศาสนาได้เริ่มเข้ามาเผยแพร่และฝังตัวอยู่ในความเชื่อของผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมินี้ตั้งแต่บัดนั้นหรือไม่ แต่ร่องรอยของสิ่งของเหล่านี้ก็ได้แพร่กระจายไปตามชุมชนต่างๆ ในภาคพื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั่วทุกแห่งในช่วงยุคเหล็กในช่วงหลังพุทธกาลนี้เอง

เพราะนอกจากจะพบเครื่องประดับที่ทำจากหินกึ่งมีค่า แก้ว ทองคำแล้ว ยังมีลูกปัดจากเปลือกหอยทะเลลึกเช่น หอยมือเสือ รวมทั้งการใช้หอยเบี้ย และเทคโนโลยีการถลุงเหล็กที่ดูจะมาถึงก่อนหน้านี้ไม่นานนัก และการถลุงโลหะต่างๆ ในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีแหล่งแร่โดยเฉพาะดีบุกและทองแดง  

ในเมืองไทยพบว่ามีการใช้ภาชนะสีดำขัดมัน แต่ถูกเรียกว่าภาชนะแบบ ‘พิมายดำ’ [Phimai Black Ware] พบในชุมชนโบราณหลายแห่งบริเวณลุ่มน้ำมูนตอนบน ในแถบเมืองพิมายและโดยรอบ ในอำเภอโนนสูงจนถึงอำเภอสูงเนิน ในจังหวัดนครราชสีมารวมถึงชุมชนยุคเหล็กในภาคกลางแถบลุ่มน้ำลพบุรีและป่าสักด้วย   

แอ่งโคราชในลุ่มมูนบน กลุ่มชุมชนบ้านโนนวัด บ้านปราสาท ทุ่งสัมฤทธิ์ บ้านตำแย เมืองพิมาย : ภาชนะแบบพิมายดำ

ชุมชนโบราณเหล่านี้พบการใช้ภาชนะรูปแบบแบบพิมายดำอย่างชัดเจน ในชั้นดินที่เข้าสู่ยุคเหล็กภายหลังจากการตั้งถิ่นฐานมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ระยะเวลาก่อนช่วงยุคเหล็ก นักวิชาการชาวตะวันตกถือเอาแม่แบบจากการกำหนดอายุจากภูมิภาคอื่นๆ มาใช้หรือ โดยกำหนดเป็น ยุคสำริด [Bronze Age] ที่ไม่พบการใช้โลหะที่ทำจากการถลุงแร่เหล็กมาใช้เป็นเครื่องมือ และยุคก่อนหน้านั้นอีกให้ชื่อว่า ยุคหินใหม่ [Neolithic] ที่ใช้การไม่พบโลหะเป็นเกณฑ์ และหลังจากยุคเหล็กไปแล้วจนถึงเมื่อมีการก่อสร้างปราสาทหินจากวัฒนธรรมขอมที่พิมายก็เรียกช่วงเวลานี้ว่า ก่อนสมัยเมืองพระนคร [Pre-Angkorian period] ซึ่งควรใช้กับการแบ่งยุคบ้านเมืองโดยรอบทะเลสาบเขมรมากกว่าการจัดแบ่งยุคเช่นนี้กับชุมชนในแถบลุ่มน้ำมูนตอนบน เพราะในช่วงหลัง ๑,๕๐๐ ปีมาแล้วนั้น พัฒนาการเกิดเมืองพิมายมีความซับซ้อนและต่อเนื่องอย่างเป็นปึกแผ่นมาก่อนการเกิดเมืองพระนครเมื่อ ๑,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา

บ้านเมืองในยุคเหล็ก ที่มีการถลุงแร่เหล็กมาใช้เป็นเครื่องมือหรือการทำพื้นที่อยู่อาศัยในรูปแบบมีคูน้ำคันดินรูปกลมล้อมรอบ การเพาะปลูกที่อาจเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร และการแรกเริ่มเข้าสู่ระยะที่มีการตั้งถิ่นฐานในระดับชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางโดยมีชุมชนรอบๆ เป็นบริวาร แต่ก่อนหน้านั้น ช่วงเวลานี้คาบเกี่ยวกับการใช้ภาชนะดินเผาแบบท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นแบบปากแต่ที่บ้านปราสาท แบบเนื้อดีที่บ้านตำแย แบบเขียนสีลวดลายเราขาคณิตที่งดงามแบบบ้านโนนวัด เมื่อมีการเริ่มใช้ภาชนะแบบพิมายดำ ก็พบว่ามีการใช้เครื่องมือเหล็กมาในระยะหนึ่งแล้ว และภาชนะที่เคยใช้มานั้นก็มีคุณภาพดีพอสมควร แม้จะใช้อุณหภูมิน้อยกว่า

เป็นที่แน่ชัดว่า ภาชนะดินเผาแบบพิมายดำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกนำเข้ามาจากแดนไกล โดยที่ยุคคลาสสิคของภาชนะแบบพิมายดำ ซึ่งเป็นภาชนะสีดำขัดมันเป็นหลักนั้นมีความคล้ายคลึงกับภาชนะที่พบในชุมชนรอบอ่าวเบงกอลซึ่งเป็นต้นทางที่ชัดเจน และทางคาบสมุทรภาคใต้แบถคอคอดกระ [Kra Isthmus] ซึ่งเป็นสถานีการค้าและการผลิตหลายแห่ง เช่น ที่เขาเสก ก่อนจะกลายมาเป็นภาชนะแบบใช้สอยในรูปทรงอื่นๆ ในภายหลังแต่ยังคงรูปแบบเทคนิคการผลิตที่คงเดิม เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นสิ่งของสูงค่าเพื่ออุทิศให้กับผู้วายชนม์และอาจจะเคยถูกนำไปใช้สำหรับเป็นสิ่งของที่บ่งบอกสถานภาพผู้คนที่มีช่วงชั้นทางสังคม [Social Stratification]

การศึกษาภาชนะแบบพิมายดำตั้งแต่เริ่มต้น จัดแบ่งออกเป็นกลุ่มการศึกษาตามช่วงเวลาและความต่อเนื่อง ตลอดจนเมื่อกลายเป็นโครงการศึกษาขนาดใหญ่ เห็นว่าแบ่งได้ดังนี้

แหล่งโบราณคดีที่พบภาชนะแบบพิมายดำในแถบลุ่มน้ำมูนตอนบนและข้ามลงมาในพื้นที่ติดต่อของที่รายลุ่มภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก

๑. การค้นพบและการทำงานต่อเนื่องของนักวิชาการชาวอเมริกันและการทบทวนแหล่งโบราณคดีของนักโบราณคดีไทย การศึกษาทางโบราณคดีในประเทศไทย เริ่มให้ความสนใจเศษภาชนะดินเผาแบบสีดำขัดมัน ซึ่งพบครั้งแรกในการขุดตรวจชั้นดินใต้ปราสาทประธานเมื่อมีการบูรณะปราสาทหินพิมายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๘ เจ้าหน้าที่ทางโบราณคดีไทยก็พบว่ามีเศษภาชนะสีดำจำนวนมาก สันนิษฐานว่าบริเวณนั้นน่าจะเป็นบริเวณ ‘บ้านส่วย’ ซึ่งอยู่บริเวณมุมเมืองพิมายด้านตะวันออกเฉียงใต้ นักโบราณคดี โซลไฮลม์ [Solheim, Wilhelm G II, 1966, 1979, อ้างใน Welch & McNeil, 1989] ซึ่งทำงานแบบโบราณคดีกู้ภัย [Salvage Archaeology] ในช่วงปลายทศวรรษที่ ๑๙๖๐ แล้วนำเสนออีกครั้งราว ๑๐ ปีต่อมา ศึกษาและเรียกภาชนะแบบนี้ว่า ‘ภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ’ [Phimai black] โดยน่าจะมีการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านส่วยในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ 

ต่อมาที่ ‘บ้านส่วย’มีการขุดค้นทบทวนอีกครั้งโดยนักโบราณคดีจากกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓–๒๕๔๔ พบภาชนะแบบพิมายดำจำนวนมาก รูปแบบภาชนะแบบพิมายดำที่พบคือ แบบทรงชามก้นกลมสีดำสนิท ด้านนอกผิวเรียบ ส่วนปากทำเป็นร่องหยัก ๓ ชั้น ผิวด้านในตกแต่งลายเส้นและขัดมัน แบบชามปากกว้างก้นตัดใบย่อมกว่า การพบว่ามีกองกันอยู่หลายกลุ่ม กลุ่มละหลายใบ ทำให้ผู้ศึกษาคาดว่าน่าจะมีการผลิตขึ้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านส่วยนี้เองโบราณวัตถุที่พบร่วมกันอื่นๆ นอกจากกระดูกสัตว์ต่างๆ ที่น่าจะนำมาใช้รับประทานเป็นอาหารและสัตว์เลี้ยง พบโบราณวัตถุพวก แวดินเผา เบี้ยดินเผา ตะคันดินเผา ลูกกระสุนดินเผา ชิ้นส่วนของพวยกาจากภาชนะที่เรียกว่า กุณฑี หูภาชนะ หินดุ แม่พิมพ์ดินเผา เพื่อทำห่วงหรือวงแหวน แต่อาจจะมีความหมายอื่นใดอีก แท่งดินเผา ส่วนของฝาภาชนะที่เป็นจุกหรือส่วนภาชนะที่เป็นตุ่มแหลม วัตถุที่ทำจากดินเผาหลากหลายและไม่สามารถสันนิษฐานการใช้งานได้ กำไลดินเผา แหวน กำไลและกระพรวนสำริด ลูกปัดแก้วสีต่างๆ ลูกปัดหินคาร์นีเลียนพบเพียงชิ้นเดียว กำไลและลูกปัดเปลือกหอย ค่าอายุที่ได้คือ ๒,๐๓๐ +/- ๒๑๐ ปีมาแล้ว หรือเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖-๘ (รัชนี ทศรัตน์ และอำพัน กิจงาม, ๒๕๔๗)  

เศษภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ พบบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย / ภาพจาก Facebookอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

๒. การสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่บ้านปราสาท อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า ‘ลุ่มน้ำมูนตอนบน’ [Upper Mun Valley] การขุดค้นที่บ้านปราสาทโดยนักโบราณคดีไทยเริ่มศึกษาใน พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ การฝังศพมีของอุทิศให้กับศพคือเครื่องประดับทำจากเปลือกหอย เครื่องประดับสำริด ลูกปัดหินกึ่งมีค่า ภาชนะซึ่งมีการพบการถลุงเหล็กในชั้นดินนี้ เครื่องปั้นดินเผาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์คือภาชนะ คอแคบ ปากบานแบบปากแตร บางใบทรงสูงเหมือนคนโท เคลือบน้ำดินสีแดง ชั้นดินในระยะต่อมาคือชั้นดินที่พบภาชนะแบบสีดำขัดมันคือแบบพิมายดำ

ข้อมูลที่น่าสนใจ ใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบรูปแบบภาชนะในกลุ่มลุ่มน้ำมูนตอนบนได้ดี คือการขุดค้นของนักโบราณคดีอเมริกัน เดวิด เวลช์ [David J. Welch] ในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๓ [Welck & McNeil, 1989] ทำงานศึกษาโดยการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีที่บ้านตำแยและโนนบ้านขาม ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่มาจากบ้านตำแยที่ตั้งอยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพิมายราว ๕ กิโลเมตร ทางเหนือของลำน้ำมูนราว ๒ กิโลเมตร การขุดค้นได้ค่าอายุอยู่ที่ ๓๖๐ BCE, ๓๙๐ BCE-๒๕ BCE, ๔๕ CE หรือในระหว่างประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒-พุทธศตวรรษที่ ๖ 

รูปแบบภาชนะแบ่งกลุ่มได้คือ แบบบ้านตำแย แบบพิมาย แบบประวัติศาสตร์ตอนต้น และแบบประวัติศาสตร์ไม่นานมานี้ เวลช์และคณะ ทำงานอย่างละเอียดในการวิเคราะห์ภาชนะดินเผา แยกแยะความหลากหลายในการใส่ไฟ วัตถุที่ใช้เป็นตัวประสานเนื้อดิน [Temper] ผิวภาชนะหลังเผาเสร็จ การตกแต่งลวดลาย ซึ่งภาชนะแบบบ้านตำแยใช้ทรายและเนื้อดินเผาแตกหักในการเป็นส่วนผสมประสานเนื้อดิน ได้ภาชนะเนื้อดีเนื้อบางเพราะใช้การเผาที่อุณหภูมิสูง  

ส่วนที่สองเป็นภาชนะแบบพิมายคลาสสิค [Classic Phimai Black] ที่ใช้ ‘แกลบ’ เป็นตัวประสานเนื้อดิน การใช้อุณหภูมิไม่สูงเท่าชั้นดินบ้านตำแยที่อยู่ลึกกว่า มีการสลิปน้ำดินสีแดงและสีน้ำตาลแดง ภาชนะแบบจานชามปากกว้างและมีการขูดลวดลายด้านในภาชนะ มีการขัดมันจนเห็นเป็นริ้วลาย ซึ่งโซลไฮลม์รายงานจากการขุดค้นที่บ้านส่วยทั้งสองครั้ง [Solheim, 1965, 1979 อ้างใน Welch & McNeil, 1989] ภาชนะแบบคลาสสิคพิมายดำนี้พบที่บ้านสัมฤทธิ์ และบ้านปราสาท ซึ่งเห็นชัดเจนว่าอยู่ในชั้นดินที่อยู่เหนือชั้นดินแบบปากแตร สันนิษฐานเพียงน่าจะมีการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง แต่พัฒนาการของการเกิดขึ้นอย่างไรนั้นไม่ได้กล่าวถึง  

แบบที่สามจากการขุดค้นที่บ้านตำแย พบภาชนะแบบพิมายดำที่มีรูปทรงภาชนะการใช้งานในครัวเรือนเรียกว่าภาชนะแบบพิมายดำตอนปลาย อายุที่โนนบ้านขามอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕ เป็นภาชนะแบบมีสัน ปากกว้าง และแบบไหก้นกลม ผิวเรียบ ค่อนข้างหนา และการเคลือบสลิปบางชิ้นใช้สีแดงเหลือง ใช้แกลบข้าวเป็น Temper และมีการขัดเงา มีความแตกต่างในรูปทรงภาชนะแบบช่วงคลาสสิคพิมายดำอย่างชัดเจน

จากการทดลองหาอุณหภูมิจากการเผาไหม้ภาชนะแบบพิมายดำอยู่ที่ ๘๐๐-๑๒๐๐ °C เป็นการเผาภาชนะที่อุณหภูมิสูงกว่าภาชนะที่นำไปเปรียบเทียบยุคก่อนหน้าคือที่โนนนกทา ซึ่งอยู่ในลุ่มชีตอนบน [Meacham and Solheim, 1980] การขุดค้นของโซลไฮลม์ แม้ไม่พบร่องรอยของเตาเผาภาชนะแบบพิมายดำเพราะขุดค้นในพื้นที่เล็กมาก แต่คุณภาพของเนื้อภาชนะทำให้เขาตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะผลิตในเตาปิดมากกว่าการเผากลางแจ้ง ตามแบบการเผาภาชนะเนื้อดินแบบเปิดโล่งที่พบได้ทั่วไปในอีสานและลาวในยุคนั้นและในปัจจุบัน 

นอกจากพบภาชนะแบบพิมายดำในแถบบ้านปราสาท ทุ่งสัมฤทธิ์ เมืองพิมายและโดยรอบเมืองพิมาย เช่น  ทุ่งผีโพน ทางด้านเหนือของเมืองพิมายที่ค่อนข้างไกลระยะทางราว กิโลเมตร ๓๖ กิโลเมตร เป็นแหล่งผลิตเกลือยุคโบราณขนาดใหญ่ขุดค้นโดย อิจิ นิตต้า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ค่าอายุที่ ๑๗๙๐+/๑๙๐ ปีมาแล้ว หรือเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๙ โนนสลักได บ้านพุทรา ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพิมายราว ๗ กิโลเมตรแล้ว ยังพบว่ามีอยู่ตามชุมชนโบราณที่ต่อมาตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองแถบต้นน้ำลำตะคอง เช่น ที่บ้านโตนด ปราสาทพนมวัน ต่อเนื่องจนถึงเมืองเสมา และกลุ่มบ้านโนนทองหลาง ในอำเภอเทพารักษ์ ซึ่งอยู่ในเส้นทางตัดลงสู่ที่ราบลุ่มภาคกลาง

การขุดค้นที่ซับจำปา โดย สว่างเลิศฤทธิ์ กล่าวถึงภาชนะแบบสีดำขัดมัน ซึ่งเป็นเทคนิคที่เรียกว่า พิมายดำ ความแตกต่างอย่างชัดเจนคือการใช้ตัวประสานเนื้อดิน [Temper] ที่ต่างกัน ในขณะที่แบบพิมายดำจะใช้ตัวประสานคือ ‘แกลบข้าว’ แต่ที่ซับจำปาใช้ ‘ทราย’ ทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นแบบพิมายดำ ส่วนที่บ้านโป่งมะนาว พบภาชนะแบบพิมายดำแบบเต็มใบและมีรูปแบบเช่นเดียวกับแถบลุ่มน้ำมูนตอนบน  

ส่วนการขุดค้นที่บ้านจันเสน ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยเบรนเน็ท บรอนสัน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งพบโบราณวัตถุสำคัญในระยะที่ ๒ คือ ภาชนะแบบที่พบแถบเมืองท่าชายฝั่งรัฐโอริสสาซึ่งอาจจะเป็นภาชนะแบบสีดำขัดมันและหวีงารูปราชมงคลศิลปะแบบอมราวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๘ ค่าอายุที่ได้จากคาร์บอน ๑๔ อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๖-๙ รูปแบบภาชนะนั้นอาจจะไม่ใช่ภาชนะสีดำขัดมันซึ่งมีลักษณะเฉพาะก็ได้ ส่วนรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีที่หอเอก เมืองนครปฐมโบราณ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ นั้นยังไม่แน่ใจในรูปแบบภาชนะเช่นกัน  

๓. การศึกษาทางโบราณคดีขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนวัด ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และกระบวนการศึกษางานโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง ขุดในพื้นที่ขนาดใหญ่โครงการศึกษาวิจัย ‘The Development of An Iron Age Chiefdom’ โดย ชาร์ล ไฮแอม [Charles Higham] เป็นความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยโอทาโก นิวซีแลนด์ ดำเนินการระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๘ ถึง ๒๕๔๒ และโครงการต่อมา ‘Environment Change and Society before Angkor: Ban Non Wat and the upper Mun River Catchment in Prehistory’ โดย ไนเจล ชาง มหาวิทยาลัยเจมส์คุก ออสเตรเลีย ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔ โดยทำงานสำรวจในเขตอำเภอเมือง โนนสูง ขามทะเลสอ สีคิ้ว ปากช่อง ด่านขุนทด เทพารักษ์ โนนไทยและสูงเนิน ซึ่งเรียกโดยรวมว่าเป็นบริเวณลุ่มน้ำมูนตอนบน รวมทั้งขุดค้นที่บ้านโนนวัดในหลุมขุดค้นใหม่ โดยการศึกษาทั้งสองโครงการประกาศว่า เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมที่ยาวนานที่สุดและเป็นหลุมขุดค้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยแบ่งอย่างคร่าวๆ เป็นยุคหินใหม่ อยู่ในช่วงอายุประมาณ ๓,๐๐๐-๓,๗๐๐ ปีมาแล้ว, ยุคสำริดอายุระหว่าง ๒,๕๐๐–๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว และยุคเหล็กอายุประมาณ ๑,๕๐๐–๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ต่อเนื่องจนถึงสมัย ทวารวดี เขมร อยุธยา รัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน

โบราณวัตถุที่พบก็น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะเครื่องประดับจากสำริด ลูกปัดทำจากหินมีค่า แก้ว เป็นตุ้มหู เครื่องประดับศีรษะ ห่วงเอวสำริด กำไลข้อมือ ข้อเท้า แหวนนิ้วมือ นิ้วเท้า ฯลฯ ภาพรวมคือพบภาชนะดินเผาแบบโนนวัดในระยะก่อนภาชนะแบบพิมายดำ ซึ่งเป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายคลึงกับแหล่งโบราณคดีกลุ่มลุ่มน้ำมูนตอนบนที่อื่นๆ ซึ่งควรต้องกล่าวถึงอย่างละเอียดต่อไป

มีงานศึกษาที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มงานศึกษาในโครงการนี้ที่เกี่ยวกับภาชนะแบบพิมายดำของนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโอทาโก นิวซีแลนด์ เรื่อง ‘Phimai is the New Black: Assessing the Standardisation of Kiln Fired Phimai Black Ceramics from the Iron Age Site of Non Ban Jak, Northeast Thailand’ [Helen Rosemarie Heath, 2016] โดยศึกษาในแหล่งโบราณคดีโนนบ้านจักร ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านโนนวัดราว ๑๐ กิโลเมตร สรุปคือ พิมายดำเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงผู้เสียชีวิตเข้ากับอัตลักษณ์ของคนยุคเหล็กลุ่มน้ำมูนตอนบน ทำจากดินเหนียวแบบเฉพาะ แสดงให้เห็นว่า แต่เดิมเคยมีอุดมคติที่เกี่ยวข้องกับภาชนะแบบนี้ต่อมาจึงมีการเลียนแบบ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนแปลง จากภาชนะสำหรับคนชั้นสูงก็ปรับมาเป็นเพื่อคนทั่วไป  

ภาพจาก Phimai is the new black: Assessing the standardization of kiln fired Phimai black ceramics from the Iron Age site of Non Ban Jak, Northeast Thailand, 2016 โดย Helen Rosemarie Heath.

ผลจากการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมยุคเหล็กในอนุทวีปอินเดียสู่การรับ ปรับ และส่งต่อสืบทอดในท้องถิ่นอันห่างไกล

ภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ [Phimai Black ware] ถือว่าได้รับอิทธิพลโดยตรงจากภาชนะแบบสีดำขัดมัน [Northen Black Polished ware] ในชุมชนบ้านเมืองทางอ่าวเบงกอลตะวันตกและตะวันออก ซึ่งพบมากตามเมืองท่าชายฝั่งที่ส่วนใหญ่เป็นเมืองสำคัญทางพุทธศาสนาด้วยในช่วงก่อนพุทธกาล อายุอยู่ในระหว่าง[๗๐๐ BCE-๕๐ BCE]  ส่วนที่พบตามเมืองท่าทางตอนทใต้ลงมาอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๗ 

แม้การศึกษาที่ผ่านมาจะไม่มีการลงความเห็นอย่างชัดเจนนักว่า ภาชนะเหล่านี้มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกัน แต่ในห้วงเวลาไม่นานนี้ พบโบราณวัตถุทั้งภาชนะแบบสีดำขัดมัน และโบราณวัตถุอื่นๆ บริเวณคอคอดกระ ซึ่งกำหนดอายุได้โดยประมาณระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๓-๘ (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, ๒๕๖๓)

ภาชนะแบบพิมายดำแบบคลาสสิค ซึ่งกำหนดอายุโดย เดวิด เวลช์ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๖, รัชนี ทศรัตน์และคณะราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๘ และคณะทำงานโครงการโดยมหาวิทยาลัยโอทาโกกำหนดอายุว่าภาชนะแบบพิมายดำเริ่มต้นที่ยุคเหล็กระยะที่ ๓ ประมาณราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๑๐ ซึ่งอายุแตกต่างไปจากการศึกษาของกลุ่มอื่นๆ และการพบภาชนะแบบพิมายดำในระยะต่อมานั้นเดวิด เวลช์ ให้อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕ ส่วนการศึกษาโดยโครงการจากมหาวิทยาลัยโอทาโกเป็นยุคเหล็กระยะที่ ๔ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๒  

รูปแบบภาชนะแบบพิมายดำแบ่งออกเป็นสองระยะ คือระยะแรกที่ปรากฎ มีรูปแบบคลาสสิคเป็นรูปทรงชามและจาน ด้านในภาชนะมีการขูดขีดลวดลาย ซึ่งพบรูปแบบเช่นนี้แถบคอคอดกระ รวมทั้งต้นทางอนุทวีปในอินเดีย ส่วนในระยะต่อมา เริ่มเป็นภาชนะหม้อกลมแบบมีสัน ตกแต่งผิวภาชนะ และเป็นแบบไหก้นรูปตัววี รูปตัวยู ชามมีก้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นภาชนะที่ใช้งานในการเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนและเนื่องในพิธีกรรมการฝังศพทั้งที่สำหรับใส่กระดูกเด็กสำหรับการฝังศพครั้งที่สอง ซึ่งก็เป็นเช่นนี้เช่นกันในเรื่องระยะเวลาการผลิตและรูปแบบภาชนะแบบสีดำขัดมัน [NBPW] และการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอทาโกระบุว่าภาชนะแบบพิมายดำนั้นเผาในเตาเผาภาชนะ ใช้การผสมเนื้อดิน [Temper] ที่เป็น ‘แกลบข้าว’ และมีการผสมเนื้อดินที่มีลักษณะเฉพาะ จากเครื่องใช้ของชนชั้นสูงในระยะแรกก็ปรับเปลี่ยนเป็นของใช้ทั่วไปของผู้คนทุกระดับ โดยมีผู้ชำนาญในการผลิตและนำออกไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบด้วย

เมื่อลองเปรียบเทียบกับผลของการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบภาชนะจากแหล่งโบราณคดีอังกอร์เบอเรย จังหวัดตาแก้วในกัมพูชา ศึกษาระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๓ โดยโครงการโบราณคดีลุ่มน้ำโขงตอนล่าง [Stark & Fehrenbach, 2019] โดยจัดทำลำดับเวลาของเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตในท้องถิ่นซึ่งอยู่ในช่วง ๕๐๐ BCE- ๒๐๐ CE หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑-๓ ว่า เครื่องปั้นดินเผาที่อังกอร์เบอเรยในระยะแรกและต่อมาในระยะที่ ๒ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในเขตลุ่มน้ำมูนตอนบน มีส่วนร่วมในการค้าทางทะเลจีนใต้อย่างชัดเจน โดยมีเทคโนโลยีการผลิตแบบอินเดียใต้เข้ามา แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบพื้นฐานของการผลิตในท้องถิ่นที่เป็นชนะเด่นประเภท Fine Orange wares ส่วนระยะที่ ๓ มีการผลิตกุณฑีเนื้อบางมีคุณภาพดี ทำให้เห็นร่องรอยของการสัมพันธ์กับทางชายฝั่งอ่าวเบงกอลที่เชื่อมโยงกับชุมชนส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งพิจารณาแล้วก็คล้ายคลึงกับการก่อตัวของบ้านเมืองและรัฐเริ่มแรกทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งบริเวณชุมชนในลุ่มน้ำมูนตอนบนในแอ่งโคราช เกี่ยวข้องกับพัฒนาการในยุคเหล็กของบ้านเมืองที่เริ่มมั่นคงและเริ่มมีการติดต่อการค้าทางทะเลกับทางอนุทวีปอินเดียและทะเลจีนใต้ในฐานะที่เป็นดินแดนสุวรรณภูมิ   

ความซับซ้อนทางสังคมและการเมืองเกี่ยวข้องกับการพัฒนาของรัฐดังกล่าวนี้ ภาชนะดินเผาแบบพิมายดำอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในหลักฐานที่ชี้ว่า มีความคงอยู่ในสิ่งของหรือสินค้าที่เป็นของสูงค่า [Prestige goods] จากต้นทางในช่วงหลังพุทธกาลพร้อมกับสินค้าต่างๆ ที่มาพร้อมกับพ่อค้าหรือนักบวชทางพุทธศาสนา แม้ว่าสังคมที่ผลิตภาชนะแบบพิมายดำจะมีความชัดเจนในพิธีกรรมทำศพแบบเดิม คือการฝังไม่ใช่การเผาแล้วเก็บเถ้าหรือกระดูก แต่ก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มมีการเผยแพร่ความเชื่อแบบใหม่คือพุทธศาสนาที่อาจเข้ามาพร้อมกันกับภาชนะสีดำขัดมันนี้รวมทั้งเครื่องประดับต่างๆ ที่มาจากดินแดนห่างไกลเช่นกัน ก่อนที่จะก่อตัวเป็นอาคารศาสนสถานต่างๆ อีกหลายร้อยปีต่อมา เพราะการศึกษาเรื่องการใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น การปักเสมาด้วยหินก้อนใหญ่ๆแบบธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับระบบหินตั้ง [Megalith] ในยุคเหล็กนั้นก็เริ่มปรากฎชัดเจนแล้วเช่นกัน

บรรณานุกรม

รัชนี ทศรัตน์ และ อำพัน กิจงาม. รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านส่วย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๔๗. http://www.digitalcenter.finearts.go.th/book/show-product/2859

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, คอคอดกระ-Kra Isthmus ในจุดที่โลกจากอ่าวเบงกอลและทะเลจีนใต้พบกัน, วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ฉบับที่ ๒๕๖๓

สว่าง เลิศฤทธิ์. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ พัฒนาการของความซับซ้อนทางเศรษฐกิจและสังคมจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลายถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตที่สูงทางตะวันออกของภาคกลางของประเทศไทย. สำนักกองทุนสนับสนุน การวิจัย, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๗.

Anand Shanker Singh. The Chronology of Northern Black Polished Ware : Recent Perspectives International , Journal of Scientific Research in Science and Technology [JSRST] Principal, Iswar Saran Post Graduade College, University of Allahabad, Allahabad, India,  Vol. 3, Issue 8, 2017

Bennet Bronson and George F. Dales. Excavations at Chansen, Thailand, 1968 and 1969: A Preliminary Report. Asian Perspectives, xv, 1972.

David J. Welch and J.R. Mcneill. Excavations at Ban Tanyae and Non Ban Kham, Phimai region, Northeast Thailand. Asian Perspectives. Vole 28.No.2, University of Hawaii Press. 1990.

Dilruba Sharmin and Fumio Okada.  Surface Coating Technique of Northern Black Polished Ware by the Microscopic Analysis, Ancient Asia. vol. 3 , 2011Department of Historical Heritage, Kyoto University of Art and Design Kyoto, Japan. http://dx.doi.org/10.5334/aa.12305

Helen Rosemarie  Heath. Phimai is the New Black: Assessing the Standardisation of Kiln Fired Phimai Black Ceramics from the Iron Age Site of Non Ban Jak, Northeast Thailand,  Master of Arts (Archaeology) at the University of Otago, Dunedin, New Zealand , 2016

Miriam T. Stark & Shawn Fehrenbach. Earthenware ceramic technologies of Angkor Borei Cambodia. UDAYA, Journal of Khmer Studies, No. 14,,  University of Hawai’i at Manoa, Paleo West Consulting, 2019. 

https://www.researchgate.net/publication/334281841_Earthenware_Ceramic_Technologies_of_Angkor_Borei_Cambodia

Shahnaj Husne JAHAN (ศาห์นาจ ฮุสเน จาฮัน) . Maritime Trade between Thailand and Bengal, เส้นทางการค้าทางทะเล ระหว่างไทยและเบงกอล. วารสารวิจิตรศิลป์ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม-ธันวาคม, ๒๕๕๕. 

https://www.tci-thaijo.org/index.php/fineartsJournal/article/download/77665/62288

William Meacham and Wilhelm G. Solheim II. Ceramics from Non Non The and Phimai. Journal of the Siam Society. Vol68 No. 2 (July 1980).  https://thesiamsociety.org/wp-content/uploads/1980/03/JSS_068_2c_MeachamSolheim_OriginalFiringTemperatureOfCeramics.pdf