วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
กว่า ๒๐ ปีผ่านไปหลังจากการสำรวจพื้นที่สูงเหนือบ้านวังหาดในอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำแม่ลำพัน ลำน้ำสำคัญของเมืองเก่าสุโขทัย และเป็นแหล่งสินแร่เหล็กและแหล่งถลุงเหล็กขนาดใหญ่ที่ถือว่ามีความสำคัญต่อการถือกำเนิดของรัฐสุโขทัยในเวลาต่อมา และผู้เขียนได้บันทึกการสำรวจนั้นไว้ในบทความที่เผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑ ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๔๐ ชื่อ “ชุมชนผู้ผลิตเหล็ก ต้นน้ำแม่ลำพัน” เมื่อมีการสำรวจและทบทวนข้อมูลใหม่ๆ ที่ปรากฎในปัจจุบันแล้วก็พบว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งควรนำมาบันทึกและวิเคราะห์ให้เกิดความต่อเนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมา
บริเวณต้นน้ำเหนือชุมชนบ้านวังหาดและบ้านตลิ่งชันในทุกวันนี้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำที่ห้วยแม่กองค่ายและห้วยแม่ลำพัน และพื้นที่การสำรวจในครั้งแรกนั้น บางแห่งอยู่ในอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งนี้แล้ว
การสำรวจในอดีตบ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณนี้อยู่ในเส้นทางติดต่อระหว่างบ้านเมืองในครั้งโบราณ “… ต้นน้ำแม่ลำพันอยู่ในหุบเขาเขตอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ไหลลัดเลาะเป็นลำธารสายเล็กๆ น้ำมากไหลแรงในฤดูน้ำ และเกือบจะแห้งผากในช่วงแล้ง ลำน้ำแม่ลำพันไหลจากเทือกเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดสุโขทัย ในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย กลายเป็นเส้นน้ำสำคัญไหลอ้อมผ่านเมืองเก่าสุโขทัยแล้วไปรวมกับลำน้ำยมแถวตัวจังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน ในเขตที่สูงระดับ ๑๐๐-๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล จนถึงบริเวณเทือกเขาในระหว่างห้วยแม่กองค่าย, ห้วยแม่ลำพัน, ห้วยโด, ห้วยข้ามแดน เป็นเขตที่สูงที่อยู่ระหว่างหุบเขาไปจนถึงบ้านแม่แสลมในเขตอำเภอเถิน ซึ่งสามารถติดต่อกับเส้นทางที่ใช้กันมาแต่โบราณ อันเป็นเขตรอยต่อระหว่างเมืองเหนือกับเมืองใต้…”
ในอ่างเก็บน้ำนั้นน่าจะมีแหล่งโบราณคดี “เด่นปางห้าง” ซึ่งเป็นแหล่งถลุงสินแร่เหล็กขนาดใหญ่อยู่ด้วย รวมทั้งบริเวณ “ริมห้วยแม่กองค่าย” ที่พบโบราณวัตถุหลายประเภท
และในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา มีการพบโบราณวัตถุโดยชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ และการทำงานศึกษาทางโบราณคดีบางแห่งทำให้เห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น เมื่อนำมาประมวลวิเคราะห์จากข้อมูลที่พบทำให้เห็นภาพดังนี้
ข้อมูลจากแหล่งโบราณคดีบ้านวังหาดและบริเวณใกล้เคียง
จากข้อมูลที่ปะติดปะต่อรวบรวมจากแหล่งต่างๆ พอประมวลได้ดังนี้
๑. บ้านวังหาด
ในช่วงที่กำลังก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ลำพันและห้วยแม่กองค่าย ชาวบ้านวังหาด ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ก็ร่วมกันจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด” ซึ่งตั้งอยู่ในวัดจอมศรีรัตนมงคล ที่เป็นวัดของชุมชน อาคารหลังเล็กๆ แห่งนี้รวบรวมโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีทั้ง “เด่นปางห้า” และห้วยแม่กองค่าย” ตลอดจนบริเวณในชุมชนและละแวกใกล้เคียงที่ชาวบ้านพบ จัดแสดงเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวและให้ความรู้แก่คนทั่วไป เป็นสำคัญ
บ้านวังหาดนั้นอยู่ประชิดเชิงเขาที่สูงและภูเขา ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรในป่าเขาที่สำคัญ ซึ่งในยุคที่ให้สัมปทานตัดป่าไม้ ชาวบ้านจากอำเภอเถิน ในจังหวัดลำปางก็ใช้เส้นทางเดินเท้าโบราณผ่านป่าเขามาทำงานปางไม้และเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตอาณาบริเวณตอนเหนือของสุโขทัยในที่สุด ดังนั้น ผู้คนในแถบนี้จึงมีรากเหง้าถิ่นฐานบ้านเดิมและวัฒนธรรมประเพณีแบบคนเมืองในล้านนา
มีการขุดค้นหลุมทดสอบทางโบราณคดีเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๙ บริเวณที่ราบเชิงเขาใกล้กับลำห้วยแม่กองค่าย ติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยแม่กองค่ายทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งห่างจากบ้านวังหาดราว ๓ กิโลเมตร และพบแหล่งฝังศพที่ความลึกจากผิวดินไม่เกิน ๑ เมตร หันศรีษะไปทางทิศตะวันออก สิ่งของที่อุทิศให้ศพซึ่งพบจากการขุดค้นนี้ได้แก่ ภาชนะดินเผา ใบหอก แวดินเผา สร้อยลูกปัดหินคาร์นีเลี่ยนและหินควอทซ์ รวมทั้งลูกปัดแก้วสีดำและสีน้ำตาม ข้อมือมีลูกปัดแก้วสีเขียวอมฟ้าจำนวนมาก สร้อยข้อเท้าเป็นลูกปัดแก้วสีแดงทึบจำนวนมากเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเหล็กรูปแบบต่างๆ วางไว้ที่ด้านบนและด้านข้าง บางโครงพบว่ามีการใส่เครื่องประดับต่างหู
เห็นได้ว่า โบราณวัตถุที่เป็นสิ่งของเพื่ออุทิศให้ศพนั้นมีรูปแบบของวัฒนธรรมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และรูปแบบของการใช้ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยนและควอทซ์รูปแปดเหลี่ยมทรงกระบอกนั้นนิยมใช้เป็นเครื่องประดับในวัฒนธรรมร่วมสมัยกับยุคเหล็กตอนปลาย ซึ่งร่วมสมัยกับโบราณวัตถุจำนวนมากที่ไม่ได้พบจากการขุดค้น
โบราณวัตถุจากบ้านวังหาดในช่วงยุคเหล็กตอนปลายนี้ แม้จะยังไม่มีการกำหนดอายุที่แน่นอนจากการขุดค้นก็ตาม แต่จากการประเมินอายุพบว่าอยู่ในช่วง ๒,๕๐๐ ปีลงมา โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่พบจากนักสะสมนอกพื้นที่ในอดีตนั้นในช่วงยุคเหล็กได้แก่ เครื่องประดับสำริดที่เป็นทั้งกำไลข้อมือแบบเรียบๆ และแบบกะพรวนรวมทั้งแหวนสำริดแบบกระพรวน เครื่องประดับต่างหูทำจากหินควอทซ์ ลูกปัดหินคาร์นีเลี่ยนทรงกระบอกแปดเหลี่ยม ลูกปัดหินอาเกตทรงกระบอก ลูกปัดแก้วขนาดเล็กสีต่างๆ ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก เครื่องมือเหล็กชนิดและรูปแบบต่างๆ เช่น เตาสามเส้า ดาบสองด้านแบบจีน ขวานเหล็กแบบคมสองด้าน เป็นต้น
ปลายหอกขนาดใหญ่ทำด้วยเหล็ก ลูกตุ้มเหล็ก เครื่องมือเหล็กที่อาจเป็นตะขอสำหรับควาญช้าง เครื่องมือเหล็กแบบขวานผึ่งขนาดใหญ่ ใบมีดต่างๆ และที่สำคัญคือ มีดจงอยปากนก [Billhook] ซึ่งใส่ด้ามแบบสวมข้อที่พบตามแหล่งโบราณคดียุคเหล็กในแถบลุ่มลพบุรี-ป่าสักเป็นจำนวนมากและทางฟากตะวันตกทางดอนตาเพชรและอู่ทอง
เครื่องประดับกำไลแบบกระพรวนสำริด และกำไลสำริดแบบที่ใส่ปล้องแขนเป็นแผ่นกว้าง และเป็นแผ่นย่อมๆ. ต่างหูหินควอทซ์ นอกจากลูกปัดหินคาร์นีเลียนซึ่งดูเหมือนจะพบเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีลูกปัดหินอาเกต และลูกปัดแก้วแบบมีตาสีดำคาดขาว เหรียญเงินรูปตราพระอาทิตย์และแบบเจาะรูและมีปุ่มล้อมรอบและรูปอื่นๆ ต่างหูทองคำแบบกลีบมะเฟือง
นอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยที่เป็นส่วนก้นภาชนะเขียนลายใต้เคลือบจากเตาทุเรียงที่เมืองเก่าสุโขทัยจำนวนไม่น้อยที่ถูกเก็บรักษาไว้ สอบถามได้ความว่าน่าจะนำมาจากบริเวณพื้นที่ทำเกษตรโดยรอบของบ้านวังหาด
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้คือการพบ “มโหระทึก” สำริด ในบริเวณเชิงเขาที่บ้านวังหาด โดยระบุว่าห่างจากตำแหน่งที่ตั้งของวัดวังหาดราวๆ ๓-๔ กิโลเมตร สภาพของวัตถุชิ้นนี้แตกหักเสียหายแยกออกเป็นชิ้นๆ พบว่าส่วนแผ่นหน้าและลำตัวส่วนหนึ่งเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ซึ่งยังคงมีกบติดอยู่กับพื้นแผ่นหน้าอยู่หนึ่งชิ้น ส่วนลวดลายนั้นเป็นลายรัศมีตรงกลางและลวดลายน่าจะเป็นแบบร่วมสมัยในยุคเหล็กตอนปลาย หรือเฮเกอร์ I อายุในราว ๒,๕๐๐-๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นการกำหนดอายุแบบกว้างๆ ส่วนที่พบในพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านวังหาด เป็นชิ้นส่วนของตัวมโหระทึกและตัวกบที่ถูกกะเทาะออกมา ซึ่งลำตัวของมโหระทึกนี้มีการเจาะรูสี่เหลี่ยมขนาดเล็กๆ ทั่วทั้งใบ จนดูเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ


ชิ้นส่วนมโหระทึกสำริดจากพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านวังหาด

อย่างไรก็ตาม ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหงยังจัดแสดงมโหระทึกจากอีก ๒ แหล่งคือ ชิ้นส่วนเฉพาะแผ่นหน้าของมโหระทึกจากตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งน่าจะอยู่ใกล้กับโซกพระแม่ย่าและบ้านโว้งบ่อ ซึ่งเป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญของเมืองสุโขทัยอีกแห่งหนึ่ง ส่วนมะโหระทึกอีกใบพบที่ตำบลเชียงทอง อำเภอวังก์เจ้า จังหวัดตาก ซึ่งเป็นบริเวณติดกับลำน้ำปิง ซึ่งน่าสนใจมากว่าพบทั้งแผ่นหน้าและลำตัว ซึ่งมีการเจาะรูรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็กๆ ตลอดทั้งลำตัวที่เป็นแผ่นเรียบ ซึ่งเป็นรูปแบบและขนาดการเจาะรูที่เหมือนกับมโหระทึกที่พบจากบ้านวังหาด ซึ่งแหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่งอยู่ห่างกันในระยะมากกว่าหนึ่งร้อยกิโลเมตร แต่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำปิงต่อกับที่สูงในเขตภูเขาของปลายเขตภาคเหนือตอนบน

พื้นที่ของบ้านวังหาดซึ่งเคยวิเคราะห์แล้วว่า เป็นทั้งแหล่งผลิตก้อนเหล็ก [Iron bloom] จากสินแร่ [Ore] ที่พบชิ้นส่วนของเตาถลุงโลหะที่มีขนาดใหญ่และมีช่องระบายอากาศที่น่าสนใจซึ่งเพิ่มจำนวนชิ้นส่วนขึ้นจากเดิมอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งมีรูปลักษณ์ที่น่าศึกษาการถลุงโลหะให้มากขึ้นต่อไป นอกจากนี้ก็ยังยืนยันว่า มนุษย์ในช่วงเวลานั้นน่าจะมีการผลิตเครื่องมือเหล็กจำนวนมากอีกด้วย เนื่องจากพบการใช้เครื่องมือเหล็กเพื่อการเกษตรกรรมเพาะปลูก ใช้เป็นเครื่องมือในการตัดและขึ้นรูปเครื่องไม้ต่างๆ ใช้ในการจับสัตว์น้ำหรือเลี้ยงสัตว์ใหญ่พวกช้างม้าก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีเครื่องมือเหล็กที่เป็นรูปแบบที่ใช้กันในพื้นที่ห่างไกล เช่นมีดจงอยปากนก ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พบมากในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็กตอนปลายในลุ่มลพบุรี-ป่าสักแถบที่ราบลอนลูกคลื่นทางฝั่งตะวันออกและทางฝั่งตะวันตกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาคือแถบบ้านดอนตาเพชร
ส่วนลูกปัดทั้งที่ทำจากหินอาเกตและคาร์นีเลี่ยน และลูกปัดหลากสีที่ทำจากแก้วเหล่านี้อาจเป็นสินค้าสำคัญจากแดนไกลทางคาบสมุทร เพราะพบทั้งก้อนวัตถุดิบและลูกปัดที่ผลิตแล้วเป็นจำนวนมากจากแหล่งโบราณคดีแถบเขาศรีวิชัย, รอบอ่าวบ้านดอน, แหลมโพธิ์ อำเภอไชยา, ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และพบในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายและสมัยทวารวดีในภาคกลางทั่วไป
และรวมถึงการพบ “มโหระทึก” ที่อาจจะร่วมสมัยกับแบบเฮเกอร์ ๑ ซึ่งในปัจจุบันใหม่ๆ ขึ้นอีกหลายพื้นที่ เช่น ที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร และในแถบอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญในพื้นที่การติดต่อกับบ้านเมืองโพ้นทะเลอย่างเวียดนามตอนกลางและทางหมู่เกาะฟากตะวันออกของคาบสมุทรมลายู และค่อนข้างแน่ชัดว่า มโหระทึกที่พบจากบ้านวังหาด ต้นน้ำแม่ลำพันนี้น่าจะหล่อและใช้แม่พิมพ์ตลอดจนการตกแต่งลวดลายเป็นวิธีเดียวกันกับที่พบจากบ้านเชียงทองในอำเภอวังก์เจ้า ริมแม่น้ำปิงในจังหวัดตาก
ซึ่งในพื้นที่บ้านวังหาดนี้ไม่พบหลักฐานเก่าไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคสำริดหรือเก่ากว่า ดังนั้นจึงอาจสันนิษฐานได้ว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคเหล็กและยุคเหล็กตอนปลายตั้งแต่ราวๆ ๒,๐๐๐-๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว แหล่งทรัพยากรแร่ธาตุ โดยเฉพาะก้อนเหล็กและเครื่องมือเหล็กนั้นเป็นสิ่งของมีค่า จึงมีการผลิตเป็นจำนวนมากใกล้ๆ กับแหล่งทรัพยากร เช่น ที่ราบลุ่มลอนลูกคลื่นแถบจังหวัดลพบุรีและนครสวรรค์ จึงเกิดชุมชนบ้านในยุคเหล็กที่ประเมินจากแหล่งฝังศพพบเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนหน้านั้น ชุมชนบ้านเหล่านี้มีความร่ำรวยโดยดูจากสถานภาพของผู้วายชนม์ที่มีสิ่งของอุทิศให้แก่ศพจำนวนมากและหลายสิ่งมาจากแดนไกล เช่น เครื่องประดับและเครื่องใช้ทำจากสำริด ลูกปัดที่น่าจะนำเข้าเทคโนโลยีและวัตถุดิบจากทางฝั่งอนุทวีปอินเดีย โดยผ่านบริเวณชุมชนในเขตคาบสมุทรแล้วแพร่กระจายตามเส้นทางติดต่อเข้าสู่พื้นที่ชายขอบที่สูงของเขตภาคเหนือตอนบนในบริเวณบ้านวังหาดนี้ ซึ่งก็เป็นแหล่งผลิตก้อนเหล็กและเครื่องมือเหล็กที่เห็นการติดต่อกับชุมชนในเขตที่ราบลอนลูกคลื่นในลุ่มลพบุรี-ป่าสักนี้โดยชัดแจ้ง
แม้จะไม่พบหลักฐานข้อมูลของโบราณวัตถุในสมัยทวารวดีจากหลุมฝังศพที่บ้านวังหาดในการขุดหลุมทดสอบของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรแต่อย่างใด แต่โบราณวัตถุที่พบอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าชุมชนที่บ้านวังหาดนั้นรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมทั้งเรื่องเครื่องประดับที่ใช้โลหะเช่นเงินและทองนอกเหนือไปจากลูกปัดและเครื่องประดับจากเปลือกหอยจากทะเลลึกในช่วงยุคเหล็กตอนปลาย มาเป็นการใช้เหรียญเงินเนื่องในวัฒนธรรมแบบทวารวดีในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งยังไม่เห็นการสร้างศาสนสถานและรูปเคารพนอกเหนือจากนี้
สิ่งที่น่าสนใจคืออายุสมัยของการกำหนดอายุในช่วงยุคเหล็กตอนปลายที่ต่อเนื่องกับสมัยทวารวดี ซึ่งแม้แต่ในเมืองโบราณสมัยทวารวดีในแถบลุ่มลพบุรี-ป่าสักก็มักจะพบว่ามีการอยู่อาศัยที่ต่อเนื่องกันระหว่างการค้นพบการใช้เครื่องมือเหล็กเหล่านี้กับการอยู่อาศัยสมัยทวารวดี ในบางแห่งเห็นจากการขุดค้นและชั้นดิน เพียงแต่ไม่มีการกำหนดอายุชัดเจน หากอายุของมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ ซึ่งมีการผลิตต่อเนื่องต่อมา กำหนดได้ว่ามีความนิยมมาถึงในแถบบ้านเมืองไกลล่าช้ากว่าพื้นที่ซึ่งอยู่ในบริเวณเมืองท่าภายในหรือบริเวณชายฝั่งก็น่าจะอยู่ในขอบข่ายเวลาที่ล่าช้ากว่าปัจจุบันราว ๑,๗๐๐-๑,๖๐๐ ปีมาแล้วหรืออยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ยุคสมัยวัฒนธรรมทวารวดีแบบที่กำหนดจากศาสนสถานและรูปเคารพติดเพดานอยู่ที่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ เท่านั้น จึงยังคงมีช่องว่างในระยะเวลาที่ห่างกันราว ๒๐๐-๓๐๐ ปี ซึ่งในปัจจุบันการศึกษาทางโบราณคดีจากลูกปัดที่แสดงถึงระบบสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนานั้นกินเวลาไปไกลกว่าเพดานอายุจากโบราณวัตถุสถานที่นิยมเชื่อถือกันอย่างเด่นชัด อันแสดงว่ายุคเหล็กตอนปลายและยุคสมัยทวารวดีนั้นน่าจะมีความต่่อเนื่องกันอย่างต่อเนื่อง เป็นการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิตและรูปแบบทางการเมืองที่น่าปรับเปลี่ยนจากชุมชนหมู่บ้านขนาดใหญ่และมีศูนย์กลางในระดับเมืองและนครรัฐจากช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน
การพบลูกปัดที่ยังคงนิยมใช้สืบเนื่องทั้งสองช่วงเวลาในพื้นที่ชุมชนต่างๆ โดยทั่วไปนั้น ชุมชนบ้านวังหาดดูจะเป็นชุมชนบ้านที่ยังคงเป็นแหล่งผลิตเพื่อส่งทรัพยากรนี้ไปยังชุมชนในบริเวณใกล้เคียง ที่น่าจะมีนครหรือรัฐที่เป็นพัฒนาการของสังคมในบริเวณนี้เข้ามากำกับดูแลแหล่งทรัพยากรสำคัญนี้แล้ว แต่พื้นที่ต้นน้ำแม่ลำพันนี้ไม่ใช่พื้นที่ของความเป็นเมืองทวารวดีอย่างชัดเจน นอกเหนือไปจากโบราณวัตถุแบบทวารวดีที่พบไม่มากนักทั้งที่เมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย อันเป็นจุดตัดการเดินทางสมัยโบราณสำคัญในบริเวณภาคกลางตอนบน
ยุคก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดีต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง : ภาพรวมก่อนเกิดเป็นรัฐสุโขทัย
เมื่อประมวลจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าสามารถแบ่งกลุ่มแหล่งโบราณคดีที่พบตามอายุสมัยและขอบเขตพื้นที่ทางภูมิวัฒนธรรมในเขตภาคเหนือตอนล่างได้ ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

๑. นอกจากชุมชนผู้ผลิตเหล็กแหล่งทรัพยากรสำคัญที่ต้นน้ำแม่ลำพันที่บ้านวังหาดแล้ว ในเวลาที่ผ่านมายังพบว่ามีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์และทวารวดีในชั้นดินจากการขุดค้นที่ “วัดชมชื่น” เมืองศรีสัชนาลัย ริมฝั่งแม่น้ำยม ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองอุตรดิตถ์ที่พบมโหระทึกถึง ๓ ใบ ในเขตบ้านท่าอิฐในอำเภอเมืองใกล้กับแม่น้ำน่าน ซึ่งห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยไม่ถึง ๔๐ กิโลเมตร อันแสดงให้เห็นว่ามีชุมชนในยุคเหล็กตอนปลายที่มีการทำพิธีศพแบบฝังศพและอุทิศสิ่งของให้ผู้ตาย ต่อมาเป็นชุมชนในสมัยทวารวดี ซึ่งในพื้นที่ขุดค้นเพียงจุดเดียวและไม่พบร่องรอยมากนักหรือพบในบริเวณอื่นๆ
นอกจากนี้ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยไปทางตะวันออกราว ๒๒-๒๓ กิโลเมตร หรือในระหว่างลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มมีห้วยคลองหนองบึง พบเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัสที่ “บ้านหนองบัว” ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร เขตติดต่อกับจังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่าเป็นเมืองมีคูคันดินรูปสี่เหลี่ยมขนาดราว ๙๐๐x๙๐๐ เมตร น่าจะเป็นเมืองร่วมสมัยยุคลพบุรีและสุโขทัยในเอกสารเก่าเคยเรียกว่าเมืองนครเดิฐ แต่คนรุ่นปัจจุบันเรียกว่าเมืองกะเหรี่ยงสวนแตง และพบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่ง และบริเวณไม่ไกลกันนั้นพบแหล่งฝังศพของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านบึงลับแล ห่างจากบ้านหนองบัวที่มีคูคันดินราว ๒ กิโลเมตร และในบริเวณเขาเขนเขากา ที่กล่าวว่าพบลูกปัดหินอาเกตและคาร์นีเลี่ยนพร้อมขวานหินขัดด้วย ถือเป็นชุมชนในช่วงยุคเหล็กตอนปลายที่ต่อเนื่องมาจนถึงบ้านเมืองที่ร่วมสมัยกับยุคลพบุรีและสุโขทัย
สำหรับบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยนั้น แม้จะไม่มีรายงานว่าพบโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายและมักจะถือกันมานานมากว่าเมืองสุโขทัยมีอายุเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา กรุงสุโขทัยคือเมืองหลวงแห่งแรกของอาณาจักรสยามประมาณนั้น แต่บริเวณโว้งบ่อที่โซกพระแม่ย่า ซึ่งห่างจากตัวเมืองเก่าราว ๑๐ กิโลเมตร มีการพบมโหระทึกซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาส่วนแผ่นหน้าไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง และในบริเวณที่เป็นถ้ำพระแม่ย่านั้น สันนิษฐานจากสภาพแวดล้อมน่าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่ดั้งเดิม เพราะอยู่ในบริเวณที่มีโซกหรือลำน้ำลำธารจากเทือกเขาหลวงไหลผ่านลงสู่พื้นราบ พร้อมทั้งมี “ถ้ำ” หรือเพิงผา [Shelter] ซึ่งชะโงกเพิงผาในเขาหินปูนในลักษณะนี้นิยมให้เป็นสถานที่ทำพิธีกรรมของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในหลายๆ แห่งมักจะมีการประทับฝ่ามือแดงหรือวาดลายเส้นต่างๆ ไว้ด้วย และบางแห่งมีการฝังศพไว้ใต้เพิงผา
ในบริเวณนี้ถือว่าเป็นแหล่งพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่นาไร่สวนติดต่อกับเขตที่สูงของเทือกเขาหลวงอันเป็นแหล่งทรัพยากรของป่า ดังนั้นแม้จะไม่พบชุมชนโบราณในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังเช่นพื้นที่อื่นๆ แต่การพบมโหระทึกสำริด เครื่องมือหินขัด เครื่องประดับสำริดในบริเวณนี้ก็คงพออนุมานได้ว่า เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนผู้ควบคุมแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของชุมชนก่อนสร้างเมืองสุโขทัย ซึ่งต่อเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี ที่มีการสร้างปราสาทบนเนินเขาขนาดเตี้ยๆ ที่เขาปู่จ่า ซึ่งเป็นปราสาทอิฐที่สร้างโดยใช้เทคนิคเนื่องในวัฒนธรรมแบบเขมรที่เรียกว่าแบบบาปวน อายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ซึ่งเป็นช่วงก่อนกรุงสุโขทัยและอาจร่วมสมัยกับยุคสมัยทวารวดีตอนปลาย ซึ่งพบหลักฐานในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยเช่นกัน
และมีการประดิษฐานรูปเคารพที่เป็นสตรีเพศไว้ที่เผิงผาในรูปแบบคล้ายคลึงการแต่งกายคล้ายกับรูปเคารพทางศาสนาในสมัยสุโขทัยและชาวบ้านในบริเวณนั้นและยุคต่อมาเรียกขานกันว่า “พระแม่ย่า” ซึ่งไม่ใช่ทั้งเทวรูปเนื่องในศาสนาฮินดูและรูปเคารพในพุทธศาสนา ซึ่งน่าจะทำหน้าที่ตามแบบธรรมเนียมประเพณีแบบดั้งเดิมคือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องพิทักษ์พื้นที่ของแหล่งทรัพยากรทั้งต้นน้ำและทรัพยากรของป่า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของชุมชนและบ้านเมือง
จากบริเวณบ้านวังหาดและบ้านเชียงทองซึ่งห่างกันมากกว่าหนึ่งร้อยกิโลเมตร แต่พบมโหระทึกรูปแบบเดียวกันและมีอัตลักษณ์ในการเจาะรูรอบใบเหมือนกันจนอาจจะมีแหล่งผลิตและรูปแบบทางวัฒนธรรมของผู้ใช้แบบเดียวกัน และอาจใกล้เคียงกับมโหระทึกที่พบที่นาเชิงคีรี

๒. ในแถบลุ่มน้ำปิงนอกจากพบมโหระทึกที่อยู่ในช่วงยุคเหล็กตอนปลายที่บ้านเชียงทองแล้ว พื้นที่ขอบชายที่ราบต่อกับเขตภูเขาที่สูงฟากตะวันตกของรอยต่อระหว่างที่ราบลุ่มของภาคเหนือตอนล่างและเขตที่สูงของภาคเหนือตอนบนและทางชายขอบเทือกเขาภาคตะวันตกเป็นแหล่งต้นน้ำหลายสาย แหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจอีกแห่งคือที่ “บ้านวังประจบ” ที่ตั้งอยู่บริเวณ “ห้วยแม่ระกา” เป็นหนึ่งในสายน้ำเหล่านั้น ต้นน้ำไหลมาจากทางเขตที่สูงของบ้านโป่งแดง อำเภอเมือง จังหวัดตากและไหลลงสู่ลำน้ำปิงที่อำเภอโกสัมพี จังหวัดกำแพงเพชรอยู่ในเขตลุ่มน้ำปิง และอยู่ด้านตะวันตกของแนวเทือกเขาหลวงของเมืองสุโขทัย ห่างจากทั้งบ้านวังหาดต้นน้ำแม่ลำพัน และแนวเทือกเขาหลวงใระยะใกล้เคียงกันคือราวๆ ๓๐ กิโลเมตร
ผู้ศึกษาการขุดค้นและวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี เสนอข้อมูลจากการขุดค้นและศึกษาว่า ได้พบการนำเอาแผ่นหิน [Slab] มาใช้เรียงเป็นแนวยาวนี้ เป็นหินหลายประเภทนำมาจากที่อื่น เช่นหินเชล (shale) หินแกรนิต (granite) หินชนวน (slate) เป็นต้น พบการเรียงแผ่นหินต่อกันเป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีพื้นด้านล่างและด้านบนมีแผ่นหินคลุมเป็นชิ้นๆ เช่นกัน แนวหินตั้งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีการตั้งแผ่นหินเป็นกลุ่มคล้ายกับการตั้งหินในการพิธีกรรมซึ่งคาดว่าน่าจะมีอายุอยู่ร่วมสมัย ส่วนแผ่นหินรูปกล่องมักวางกันเป็นคู่ใกล้ๆ กันขนาดประมาณ ๑๙๐-๒๔๐ เซนติเมตรในด้านยาว และ ๔๖-๘๔ เซนติเมตรในด้านกว้าง การขุดตรวจภายในพบภาชนะดินเผาและกำไลหินในสภาพที่ค่อนข้างชำรุด ไม่พบโบราณวัตถุที่ทำจากโลหะ แต่พบว่ามีลูกปัดหินควอทซ์ ขวานหินขัดร่วมอยู่ด้วย และไม่พบโครงกระดูกที่บ่งบอกว่าสร้างขึ้นเนื่องในพิธีกรรมการฝังศพแต่อย่างใด เมื่อนำตัวอย่างวัตถุไปกำหนดค่าอายุอยู่ที่ประมาณ ๒,๕๐๐-๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งจากค่าอายุที่ได้นี้อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการมีอยู่ของชุมชนที่บ้านวังหาดซึ่งผลิตโลหะจากสินแร่เหล็กและเครื่องมือเหล็กต่างๆ หลากชนิดในยุคเหล็กตอนปลาย ทั้งยังพบโบราณวัตถุที่นำเจ้ามาจากแดนไกลทั้งภายในภูมิภาคและข้ามภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะอยู่ในระยะไม่ไกลกันเกิน ๓๐ กิโลเมตร ดูจะมีรูปแบบการดำเนินชีวิตวัฒนธรรม รวมถึงการติดต่อกับกลุ่มคนภายนอกที่แตกต่างกันมาก

ข้อมูลจากแหล่งโบราณคดีวังประจบนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการวิเคราะห์ชุมชนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากโบราณวัตถุที่เป็นสิ่งของทางวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียวว่า มีโอกาสที่ชุมชนซึ่งดูเสมือนว่าจะมีรูปแบบการดำรงชีวิตแบบยุคหินใหม่ซึ่งดูจะมีความล้าทางเทคโนโลยีและมีรูปแบบพิธีกรรมการดำเนินชีวิตแบบอิงกับธรรมชาติ ทำพิธีกรรมในพื้นที่เนินเขาเช่นในวัฒนธรรมหินตั้ง ซึ่งก็พบในเขตที่สูงแถบอำเภอเทิง จังหวัดเชียงรายต่อเนื่องกับจังหวัดพะเยา และอีกหลายแห่งในภาคเหนือ แต่อายุโดยการกำหนดจากค่าทางวิทยาศาสตร์ก็พบว่าอยู่ในยุคร่วมสมัยกับชุมชนในวัฒนธรรมยุคเหล็กจนถึงยุคเหล็กตอนปลายที่บางแห่งกลายเป็นกลุ่มที่มีศูนย์กลางในระดับเมืองไปแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่สามารถรวบรวมข้อมูลที่มีจำนวนมากมาย จัดรูปแบบของชุมชนต่างๆ และโครงสร้างทางสังคมแต่ละลำดับขั้นตามพัฒนาการของมนุษย์ แต่ทำให้เห็นว่าชุมชนในช่วงเวลาเดียวกันไม่จำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอนในพัฒนาการทางสังคมเช่นเดียวกันไปหมด ในบางแห่งก็ยังคงมีความล้าทางเทคโนโลยีและความต่างทางพิธีกรรมความเชื่อแม้จะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันและสภาพแวดล้อมไม่แตกต่างกันมากนักก็ตาม
พื้นที่ต่ำลงมาที่พบแหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจอีกกลุ่มใหญ่คือแถบ “บ้านคลองเมือง” ในอำเภอโกสัมพี จังหวัดกำแพงเพชร บริเวณ “มอเสือตบ” ซึ่งมีการทำคูคันดินรูปร่างไม่สม่ำเสมอเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๓๕๐-๔๐๐ เมตรโดยพบโบราณวัตถุพวกเครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผา ผนังเตาถลุงโลหะ (ซึ่งน่าจะเป็นเหล็ก) เครื่องมือเหล็ก และลูกปัดทำจากหินคาร์นีเลี่ยน และมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องจนถึงสมัยสุโขทัยและอยุธยา และอยู่ห่างจากลำน้ำปิงเพียง ๔-๕ กิโลเมตร ห่างจากบ้านเชียงทองราวๆ ๑๕-๑๖ กิโลเมตร เห็นได้ว่าน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับแหล่งถลุงโลหะที่พบในยุคเหล็กตอนปลายในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและต่อเนื่องมาจนสมัยทวารวดีและสุโขทัยที่ยังคงเป็นแหล่งถลุงเหล็กเป็นสินค้าของชุมชน
ต่อมาคือแหล่งโบราณคดี “บ้านหนองกอง”ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ห่างจากริมแม่น้ำปิงที่เมืองกำแพงเพชรราว ๒๐ กิโลเมตร พบภาชนะดินเผาเนื้อดิน ลูกปัดหินคาร์เนเลียนและอาเกต หินควอทซ์ ลูกปัดแก้วหลากสี และเครื่องมือเหล็ก


การรวบรวมหลักฐานข้อมูลต่างๆ ในจังหวัดกำแพงเพชรบริเวณลุ่มน้ำปิงนี้ยังพบว่า มีการอยู่อาศัยของผู้คนในสมัยทวารวดีที่ “เมืองไตรตรึงษ์” บ้านวังธาตุ อำเภอเมือง ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง เพราะพบโบราณวัตถุจากการขุดค้นภายในเมืองรูปเกือบจะเป็นสี่เหลี่ยน สามชั้น ขนาดกว้างราว ๘๐๐ เมตร ยาว ๘๔๐ เมตร วัตถุจากชั้นดินได้แก่ลูกปัดแก้ว และตะเกียงดินเผาเลียนแบบตะเกียงโรมันที่มักพบในแหล่งวัฒนธรรมแบบทวารวดี และตะกรันจากการถลุงเหล็ก รวมทั้งแท่นหินบดที่นิยมใช้กันในสมัยทวารวดี เมืองไตรตรึงษ์นี้น่าจะเป็นเมืองตั้งแต่สมัยทวารวดีเมืองหนึ่งในเขตลุ่มน้ำปิง
ในกลุ่มโบราณคดีใกล้เคียงกับ “เมืองดงแม่นางเมือง” ซึ่งอยู่ในเขตลุ่มน้ำปิงทางฝั่งตะวันออก ห่างจากแม่น้ำปิงราว ๑๐ กิโลเมตร และมีลำคลองติดต่อกับชุมชนอื่นๆ และเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของคูเมืองด้วย เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมมุมมนขนาดราว ๕๕๐-๖๐๐ เมตร พบอาคารศาสนสถานสถานแบบทวารวดี โบราณวัตถุแบบทวารวดีรุ่นหลังและแบบลพบุรีรวมทั้งเครื่องถ้วยจีนแบบราชวงศ์ซุ้งและแบบสุโขทัย และพบจารึกดงแม่นางเมืองซึ่งต่อมาเรียกว่าจารึกหลักที่ ๓๕ กล่าวถึงเมืองธานยปุระ และระบุมหาศักราช ๑๐๘๙ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๗๑๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการจารึกสุโขทัยด้วยอักษรและภาษาไทย จารึกเป็นภาษาบาลีและภาษาเขมร จึงเป็นเมืองที่อยู่ในช่วงทวารวดีตอนกลางและปลายต่อเนื่องมาจนถึงยุคลพบุรีและสุโขทัยในเวลาต่อมา ซึ่งคล้ายคลึงกับเมืองที่มีรูปแบบเดียวกันนี้ในกลุ่มลุ่มเจ้าพระยาตอนบน ตั้งแต่เมืองลพบุรีขึ้นมาตามลำน้ำเก่าก่อนที่จะมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นลำน้ำสายหลัก รวมทั้งเมืองโบราณในยุคนี้ที่อยู่ตามลำน้ำทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน เช่น ลำคลองสีบัวทองและแม่น้ำน้อย จนเมื่อถึงแถบบหางน้ำสาครซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก็ตัดตรงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ติดกับเมืองบนที่โคกไม้เดน ก่อนจะเข้าสู่ลำน้ำปิงแถบเมืองปากน้ำโพ เส้นทางเหล่านี้ใช้เดินทางทั้งแบบเหนือใต้และตะวันออกตะวันตก
ในกลุ่มนี้พบหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญแถบ “เขากะล่อน” อำเภอขาณุวรลักษบุรี ซึ่งห่างจากดงแม่นางเมืองราว ๑๒ กิโลเมตร พบโบราณวัตถุจำนวนมากเนื่องจากการทำถนนจนมีผู้รวบรวมเก็บโบราณวัตถุมากมาย ที่น่าสนใจคือภาชนะดินเผาที่มีปุ่มแหลมบริเวณไหล่ภาชนะสี่ปุ่ม ซึ่งคล้ายคลึงกับภาชนะที่พบในเขตลพบุรี-ป่าสักตอนบน ขวานหินทั้งแบบโกลนหินและหินขัดจำนวนมาก แหล่งฝังศพ และลูกปัดจำนวนมากเช่นกัน
ส่วนที่แหล่งโบราณคดี “บ้านคอปล้อง” และ “บ้านชายเคือง” ตำบลละหาน อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของดงแม่นางเมืองในระยะราว ๒๐ กิโลเมตร พบโบราณวัตถุ เช่น หินดุ แวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน เครื่องมือสำริดและเหล็ก ฯลฯ รวมทั้ง “บ้านห้วยแก้ว” อำเภอบึงนาราง ในจังหวัดพิจิตร ห่างจากกลุ่มบ้านทั้งสองมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราวๆ ๑๓-๑๖ กิโลเมตร ไม่พบเครื่องมือโลหะหรือเครื่องประดับใดๆ แต่พบภาชนะแบบมีเชิงและแบบพานและลายขูดขีดและเชือกทาบ ซึ่งมีรูปแบบคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุในแถบลุ่มลพบุรี-ป่าสัก

ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในรัศมีไม่ห่างไกลดงแม่นางเมือง แม้จะไม่มีโบราณวัตถุใดที่อาจจะนับได้ว่าร่วมสมัยกับดงแม่นางเมือง แต่ก็ถือเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อาจจะเป็นพื้นฐานของผู้คนในชุมชนแถบลุ่มน้ำปิง
๓. ส่วนในบริเวณที่ราบลุ่มตอนกลางในเขตลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านพบแหล่งโบราณคดีที่ใช้เครื่องมือหินแบบพิเศษแตกต่างจากที่พบที่อื่นๆ และไม่พบว่ามีการใช้เครื่องมือหรือเครื่องประดับที่ทำจากโลหะแต่อย่างใด ได้แก่ แหล่งโบราณคดีที่ “บ้านบึงหญ้า” อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งพบว่ามีการฝังศพแบบนอนเหยียดยาวและมีแผ่นหินลักษณะคล้ายใบมีดขนาดต่างๆ หรือจะเรียกว่าเคียวสำหรับเกี่ยวรวงข้าวหรือจะเป็นพืชชนิดอื่นๆ ก็ได้อุทิศให้ผู้ตาย มีการกำหนดอายุไว้คร่าวๆ ที่ประมาณ ๒,๐๐๐-๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว
นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุที่มีอัตลักษณ์พิเศษแบบนี้ในพื้นที่ไม่ห่างไกลกันนักที่ “บ้านปรักทอง” และ “บ้านหนองตะเคียน” ในอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งห่างจากบ้านบึงหญ้าราว ๒๐-๓๐ กิโลเมตรเป็นแหล่งฝังศพที่พบภาชนะดินเผาเนื้อดินลายเชือกทาบ ขูดขีด แวดินเผา กำไลหิน ขวานหินขัด หินบด ลูกปัดทำจากหินคาร์นีเลียน และพบว่ามีการใช้เครื่องหินแบบใบมีดที่เรียกกันทั่วไปว่า “เคียวหิน” เช่นเดียวกัน

ข้อสังเกต
หลังจากเวลาผ่านไปกว่า ๒๐ ปีที่พบแหล่งผลิตเหล็กบริเวณต้นน้ำแม่ลำพันและห้วยแม่กองค่ายทางตอนเหนือของเมืองเก่าสุโขทัยที่บ้านวังหาด อำเภอบ้านด่านลานหอย ในช่วงเวลานี้มีหลักฐานจำนวนมากปรากฎในพื้นที่แถบพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนับแต่บริเวณที่ราบตอนบนประชิดพื้นที่สูงของเขตภาคเหนือของประเทศไทย
ตามหลักฐานที่คุ้นมาแต่เดิมนั้นมักจะพบเห็นเพียงเมืองโบราณในสมัยสุโขทัยลงมาเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่เห็นร่องรอยของชุมชนที่มีมาก่อนยุคสมัยกรุงสุโขทัยมากนัก จากข้อมูลที่ปรากฎทำให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้ถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญคือ “สินเแร่เหล็ก” และการผลิตโดยการตี “เครื่องมือเหล็ก” อายุสมัยเห็นได้ชัดว่าไม่น่าจะเก่าเกินช่วงเวลาในยุคเหล็ก และยุคเหล็กตอนปลายต่อเนื่องจนถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสงัคมวัฒนธรรมขนานใหญ่ โดยการเข้ามาของการเดินทางค้าทางไกลโพ้นทะเลทั้งทางฟากฝั่งตะวันตกคือทางอินเดียและฟากฝั่งตะวันออกคือทางตอนกลางและเหนือของเวียดนามและจีนตอนใต้ ซึ่งพบหลักฐานเป็นวัตถุเนื่องในวัฒนธรรมเหล่านั้นเดินทางเข้ามาไกลจนถึงแหล่งทรัพยากรภายในแถบนี้ ซึ่งต่อมาคลื่นวัฒนธรรมและความเชื่อที่เปลี่ยนไปเมื่อเริ่มมีศาสนาหลักๆ เผยแพร่เข้ามาด้วยในสมัยทวารวดี
แม้แหล่งโบราณคดีบริเวณบ้านวังหาดจะเป็นแหล่งใหญ่ในการผลิตเหล็กอย่างสำคัญในภูมิภาคนี้ แต่การผลิตโลหะอย่างเป็นอุตสาหกรรมทั้งเหล็กและทองแดง โดยเฉพาะเหล็กนั้นก็เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของชุมชนในแถบลุ่มลพบุรี-ป่าสักในช่วงเวลาเดียวกันคือยุคเหล็กตอนปลายต่อเข้ากับช่วงสมัยทวารวดี ซึ่งพบหลักฐานจากการขุดค้นภายในเมืองทวารวดีเก่าในเขตนี้หลายแห่ง ที่โดดเด่นเช่นที่เมืองจันเสนที่พบการอยู่อาศัยสืบเนื่องตลอดมาและพบชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็กอยู่โดยรอบอาณาบริเวณเมืองโบราณ ก็มีการผลิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้และแน่นอนมีการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างแน่ชัด
สิ่งของควรค่าเมืองจากแดนไกลที่เป็นสมบัติส่วนรวมในการพิธีกรรม เช่น “มโหระทึก” นั้นก็พบหลายแห่งในรูปแบบเดียวกันและอยู่ในพื้นที่เป็นแหล่งทรัพยากรผลิตเหล็กแทบทั้งสิ้น เส้นทางการนำมาซึ่งมโหระทึกนั้นน่าจะนำเข้าผ่านชุมชนในลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านมาจากทางอุตรดิตถ์ผ่านทางลุ่มน้ำน่านและเขตเทือกเขาห่างไกล เช่น แหล่งผลิตทรัพยากรสำคัญสำหรับมนุษย์ในเขตภายใน เช่นการทำเกลือจากบ่อ ที่บ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ก็พบมโหระทึกเช่นกัน
พบว่ามีชุมชนในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องมาจากผู้ผลิตโลหะเหล็กเป็นพื้นฐานในละแวกใกล้เคียง ส่งต่อมายังชุมชนบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย และเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในสมัยทวารวดี ซึ่งในบริเวณเมืองเก่าเราพบพระพุทธรูปแบบทวารวดีเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดสูงใหญ่ที่สุดที่พบในดินแดนประเทศไทย น่าจะมาจากวัดสะพานหิน หากแต่คำบรรยายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวว่ามาจากวัดมหาธาตุ และขนาดย่อมกว่า เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง บรรยายว่ามาจากบริเวณวัดสะพานหิน แต่อย่างไรก็ตาม ทำให้เห็นว่าชุมชนก่อนการสถาปนาเมืองสุโขทัยน่าจะเป็นชุมชนสมัยทวารวดีที่สำคัญแห่งหนึ่งในช่วงเวลาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ซึ่งในช่วงที่คาบเกี่ยวต่อเนื่องต่อมาก็อยู่ในวัฒนธรรมแบบลพบุรี ซึ่งมีการสร้างปราสาทบนเนินเขา เช่นที่เขาปู่จ่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งมีการสร้างปราสาทที่ศาลตาผาแดง เป็นต้น
กลุ่มที่ผลิตเหล็กเป็นจากสินแร่และผลิตเป็นเครื่องมือนี้ติดต่อผ่านเส้นทางคมนาคมทางแถบฝั่งตะวันตกคือ ทางลุ่มน้ำปิงเป็นสำคัญ เพราะพบแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตเหล็กทั้งที่บ้านคลองเมืองที่อาจสัมพันธ์กับการพบกลองมโหระทึกที่บ้านเชียงทอง ตลอดจนชุมชนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ใกล้กับลำน้ำปิงในจังหวัดกำแพงเพชร และต่อเนื่องมาถึงสมัยทวารวดี เช่นบริเวณเมืองไตรตรังษ์ที่พบว่าน่าจะเป็นเมืองตั้งแต่สมัยทวารวดีมาก่อน
ต่อมาในบริเวณลุ่มน้ำปิงฝั่งตะวันออกก็พบว่ามีแหล่งโบราณคดีสำคัญคือทางดงแม่นางเมือง ซึ่งอยู่อยู่ในยุคทวารวดีตอนปลายต่อกับสมัยลพบุรีและสุโขทัย ทั้งยังพบจารึกลงมหาศักราชเป็นหมุดหมายที่สำคัญอีกด้วย นอกจากนั้นเป็นกลุ่มชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบโบราณวัตถุจำนวนไม่น้อยในอาณาบริเวณใกล้เคียง
ชุมชนแบบดงแม่นางเมืองนั้นพัฒนาขึ้นในยุคทวารวดีตอนกลางและปลายต่อเนื่องกับยุคลพบุรี ซึ่งมีเมืองโบราณเช่นนี้ในเส้นทางน้ำโบราณสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ก่อนที่จะเป็นลำน้ำใหญ่และสำคัญเช่นทุกวันนี้ตั้งอยู่ โดยสามารถติดต่อได้ทั้งสองฝั่งชุมชนในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเก่าหรือเขตที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนบน ทั้งทางฝั่งเมืองละโว้หรือลพบุรีผ่านทางตะวันตก-ตะวันออกทางเมืองดงคอนและเมืองแพรกศรีราชา ไปทางเมืองสุพรรณภูมิ และสามารถตัดลงไปทางที่ราบลุ่มทางใต้ต่อกับเมืองโบราณที่อำเภอเดิมบางและอำเภอแสวงหาลงไปยังเมืองอโยธยาได้เช่นกัน ส่วนทางเหนือใต้โดยใช้เส้นทางน้ำเก่าเช่นแม่น้ำบางขามผ่านทางมหาสอน ขึ้นมาจนถึงลำน้ำที่ต่อกับเมืองจันเสนและตัดเฉียงไปสู่บ้านตลุกและหางน้ำสาคร ผ่านทางเมืองอู่ตะเภา เมืองบนที่เขาไม้เดนสู่ลุ่มน้ำปิง เส้นทางนี้หลงเหลือหลักฐานเพียงร่องน้ำและบึงน้ำไม่สามารถต่อกันจนเป็นเส้นทางน้ำที่สมบูรณ์ได้แล้ว และเป็นเส้นทางที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเส้นทางน้ำสำคัญที่พระนางจามเทวีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการติดต่อสัมพันธ์กันในสมัยทวารวดีต่อเนื่องกับสมัยลพบุรีใช้เดินทางขึ้นสู่เมืองลำพูนทางเส้นทางนี้ จากที่บรรยายมาทั้งหมดก็ืถือว่ามีโอกาสเป็นไปได้มาก
มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า แม้ในช่วงเวลาเดียวกัน เช่นในช่วงยุคเหล็กตอนกลาง จากการกำหนดอายุจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านวังประจบ ซึ่งมีค่าอายุอยู่ในช่วงเวลา ๒,๕๐๐-๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว หรือที่บ้านบึงหญ้าซึ่งเป็นการประมาณค่าอายุที่ ๒,๐๐๐-๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่มีการผลิตและใช้เหล็กและเครื่องมือกเหล็กแล้ว และในบางแห่งก็เริ่มย่างเข้าสู่การมีศูนย์กลางแบบเมืองหรือนครรัฐในยุคแรกเริ่ม แต่ก็ยังพบว่ามีชุมชนที่ไม่มีเครื่องมือเครื่องประดับทำจากโลหะแต่อย่างใด รวมทั้งใช้รูปแบบพิธีกรรมมีมีการตั้งแผ่นหินเป็นกลุ่มหรือทำเป็นกล่องรูปสี่เหลี่ยมเพื่อการอะไรบางสิ่ง หรือมีการใช้เครื่องมือทางการเกษตรที่ยังใช้หินแผ่นบางๆ สำหรับใช้งานเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งที่มีเครื่องมือที่ทำจากเหล็กใช้ได้ทนทานกว่ามีประสิทธิภาพกว่ามากในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
อันแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชุมชนแม้จะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันก็ตาม อันจะวิเคราะห์ได้ถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเทคโนโลยีและการพัฒนาทางสังคมที่ต้องระมัดระวังไม่พิจารณาดูแต่รูปแบบวัตถุแต่เพียงเท่านั้น