วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศ เพชรบุรี คือเมืองในเขตลุ่มน้ำใกล้บริเวณชายฝั่ง ซึ่งอยู่ในจุดที่สามารถติดต่อกับชุมชนภายในและภายนอกฝ่ายโพ้นทะเลได้สะดวก โดยอาศัยเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ทางบก และการเดินเรือเลียบชายฝั่ง ดังนั้น ทิศทางของบ้านเมืองตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม จึงขึ้นอยู่กับสภาพการเป็นเมืองท่าภายในและศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่งของสยามประเทศ

มหาเภตรา / ตำนานการตั้งถิ่นฐานของคนเมืองเพชรบุรี

สำนึกทางชาติพันธุ์และความเป็นมาของผู้คนในท้องถิ่นเพชรบุรี สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากตำนานเกี่ยวกับเรือสำเภาใหญ่ หรือ มหาเภตรา เล่าสืบต่อกันมาว่า

ย้อนไปในอดีตอันไกลโพ้นเมืองเพชรบุรียังเป็นท้องทะเล มีเรือสำเภาใหญ่มหึมากว้างยาวเป็นโยชน์ๆ เนรมิตขึ้นจากฝาหอยกาบซีกหนึ่ง ตรงที่เรียกว่า บ้านพอหอย ทุกวันนี้ ในสำเภามีเรือกสวนไร่นารวมทั้งสัตว์ต่างๆ ด้วย สินค้าในเรือมีสารพัดจำหน่ายซื้อขายกันได้ทั้งพวกชาวเขาและชาวดอน

เมื่อสำเภาแล่นอยู่ในท้องทะเลที่เป็นเมืองเพชรปัจจุบัน คราวหนึ่งผ่านภูเขาที่เป็นเกาะแก่ง ท้องสำเภากระทบยอดเขากระดอนไป น้ำพัดยอดเขาไปตกที่ตำบลหนึ่งระหว่างเขามหาสวรรค์กับเขาหลวง เรียกว่า เขาพนมขวด ภูเขาเดิมเมื่อยอดเขาหลุดไปแล้วตรงกลางก็คอดยาวจึงเรียกว่า เขากิ่ว และเขากิ่วนี้คือท่าเรือสำเภา
ตั้งแต่กระแทกภูเขาสำเภาก็ชำรุด แล่นไปถึงทะเลแห่งหนึ่งต้องบัดพลีบวงสรวงกัน จึงเรียกสถานที่นั้นว่า บ้านสมอพลีหรือสมอพลือ เมื่อบัดพลีแล้วสายสมอเลื่อนลงน้ำถึงพื้นทะเล เรือลากสมอไปถึงย่านหนึ่งจึงชื่อ สมอหลุด คือที่บ้านหมอหลก น้ำพัดสมอไปกบดานอยู่ที่พื้นจะถอนก็ไม่ขึ้นจึงเรียกสถานที่นั้นว่า สมอดาน

IMG20160528152945

ส่วนสำเภาใหญ่ก็ถูกพายุพัดจนเรือทะลุ จึงเรียกว่า บางทะลุ สำเภาถูกพายุหมุนเคว้งคว้างจมลง ผู้คนในสำเภาบ้างล้มตาย บ้างเอาชีวิตรอดก็เริ่มตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนจนกลายเป็นบ้านเมืองต่อมา

เมื่อน้ำลดกลายเป็นแผ่นดิน เชื่อกันว่าเห็นเสากระโดงอยู่ในมหาบึงซึ่งเรียกกันว่าอู่ตะเภา ยังมียอดเขาใหญ่ทางตะวันตกเรียกกันว่า เขาแด่น เพราะมีเพชรพลอยส่องแสงในยามค่ำคืน เมืองจึงเรียกว่า เมืองเพชร แต่นั้นมา

ลักษณะตำนานกำเนิดมนุษย์แบบนี้มีอยู่ในเรื่องเล่าของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ ที่พยายามหาต้นกำเนิดของตนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร สะท้อนถึงความเชื่อ ความเข้าใจต่อโลก และสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ ตลอดจนถึงพยายามหาเหตุผลให้กับที่มาของชื่อสถานที่ในท้องถิ่นของตนเอง มีข้อสังเกตว่า

ในกลุ่มไต-ลาวที่อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดินเชื่อว่า มนุษย์กำเนิดมาจากน้ำเต้าปุง แล้วแบ่งออกเป็นชนกลุ่มต่างๆ ส่วนผู้คนที่อยู่ใกล้ทะเลมีโอกาสติดต่อกับชุมชนอื่นๆ ได้มากกว่า ดังนั้นตำนานท้องถิ่นก็จะเกี่ยวพันกับการค้า การเข้ามาของคนกลุ่มใหม่ และการเดินเรือสำเภา ตัวอย่างเช่น ตำนานมหาเภตราแห่งเมืองเพชรที่กล่าวถึงไว้ข้างต้นนั่นเอง

มหาเภตราสะท้อนให้เห็นรากฐานของกลุ่มคนที่มีพัฒนาการจนกลายเป็นเมืองเพชรบุรีว่า เดินทางมากับเรือสำเภา นั่นหมายถึง คนส่วนใหญ่ในบริเวณนี้ไม่ใช่คนในพื้นที่แต่เดิม แต่มีการอพยพโยกย้ายมาจากบ้านเมืองโพ้นทะเล มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆ ที่อยู่อาศัยในภูมิประเทศต่างๆ ทั้งที่ราบและที่สูง

ก่อนที่น้ำทะเลจะลดลง เชื่อกันว่าเขากิ่วในบริเวณตัวเมืองเป็นท่าจอดเรือสำเภา แม้เราจะทราบข้อเท็จจริงจากธรณีสัณฐานเรื่องการขึ้นลงของน้ำทะเลครั้งสุดท้ายนั้นเกิดขึ้นเมื่อไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณนี้ยังไม่มีร่องรอยของมนุษย์เลย แต่ความเชื่อดังกล่าว ทำให้เห็นโลกทรรศน์ในเป็นชุมชนเมืองท่าของเพชรบุรีได้เป็นอย่างดี

ตำนานมหาเภตราคือการอธิบายถึงกำเนิดและตัวตนของคนเมืองเพชรที่เล่าสืบต่อกันมา ได้สะท้อนให้เห็นว่ามีกลุ่มคนกลุ่มใหม่จากโพ้นทะเลได้เดินทางเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย ผสมผสานกับกลุ่มคนที่อยู่ทั้งที่สูงและที่ราบ ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนจนกลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในสยามประเทศ

นครประวัติศาสตร์

บริเวณภูมิภาคตะวันตกเป็นแหล่งลุ่มน้ำสำคัญ ซึ่งมีพัฒนาการของการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง จากหลักฐานโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า ชุมชนในภูมิภาคนี้ติดต่อกับศูนย์กลางวัฒนธรรมที่สำคัญทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ได้แก่ ทางจีนตอนใต้-เวียดนาม และทางอินเดีย

อินเดียสมัยต้นพุทธกาลเรียกดินแดนในแถบนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” อันเป็นที่หมายและศูนย์กลางการค้า ดังปรากฏในชาดกเรื่อง พระมหาชนก ที่ได้เสี่ยงภัยข้ามทะเลไปค้าขายยังสุวรรณภูมิ แต่ก็ไปไม่ถึงเพราะเรือล่มเสียก่อน

แม้การสันนิษฐานจากนักวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์จะมีความเห็นแตกต่างกันไปว่าสุวรรณภูมิควรอยู่ที่ใด แต่ในยุคต้นพุทธกาลซึ่งเทียบได้กับยุคเหล็กในภูมิภาคตะวันตก ถือว่าเหมาะสมกว่าที่อื่น เพราะมีการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ตามลุ่มน้ำหลายแห่ง และเมื่อพิจารณาสภาพที่ตั้งของภูมิภาคนี้ ก็สามารถติดต่อทางทะเลหรือใช้เส้นทางข้ามช่องเขาตะนาวศรีถึงกันได้ ที่สำคัญภูมิภาคนี้ยังอุดมด้วยแร่โลหะต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง และดีบุก

สุวรรณภูมิในยุคนั้น จึงไม่ใช่ดินแดนที่เต็มไปด้วยทองคำ หากแต่เป็นแร่ทองแดงและดีบุกที่นำมาทำสำริด โลหะผสมมีค่าที่อินเดียขาดแคลน

จากต้นพุทธกาล จีนสมัยราชวงศ์ฮั่นในอีกสองสามร้อยปีต่อมาได้ขยายอำนาจเข้าครอบงำจีนตอนใต้และเวียดนาม ทำให้เกิดการติดต่อค้าขายกับทางอินเดียไปจนถึงตะวันออกกลาง จากที่หมายทางการค้าดินแดนสุวรรณภูมิจึงก็เปลี่ยนมาเป็นทางผ่านระหว่าง ๒ ภูมิภาค และเมืองท่าแทน

การเกิดขึ้นของรัฐฟูนันในราวพุทธศตวรรษที่ ๘ สันนิษฐานว่าอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง แสดงให้เห็นถึงการมีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองระดับรัฐ มีผู้ปกครอง มีความซับซ้อนทางประเพณีและพิธีกรรมที่รับอิทธิพลจากอินเดียอย่างชัดเจน และแพร่อิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมแก่ชุมชนที่สามารถติดต่อถึงกันอื่นๆ

บ้านเมืองร่วมสมัยในบริเวณภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทยขณะนั้น มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ทอง ช่วงเวลานี้จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ เกิดการเติบใหญ่ของบ้านเมืองตลอดทั่วทุกภูมิภาคมากมาย ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาและความเชื่อและศิลปวัฒนธรรมต่างๆ จากอินเดียอย่างชัดเจน

จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ก็เกิดรัฐหรืออาณาจักรขนาดใหญ่ตลอดทั้งดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ศรีเกษตรในพม่า อีสานปุระหรือเจนละในภาคอีสานของไทยและในกัมพูชา มหาจามปาในเวียดนาม และทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย

ข้อสันนิษฐานที่ต่างจากเดิมเรื่องศูนย์กลางทางการเมืองของบ้านเมืองสมัยทวารวดีควรจะอยู่ที่ใด และมีอยู่หรือไม่ ในปัจจุบันยอมรับกันว่า ศูนย์กลางของบ้านเมืองสมัยทวารวดีนั้นไม่ได้มีอยู่เพียงแห่งเดียว แต่มีอยู่ที่นครปฐมในลุ่มท่าจีน-แม่กลอง ลพบุรีในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก ผ่านไปถึงศรีเทพ และลุ่มน้ำมูล-ชีในอีสาน เป็นต้น
ในช่วงเวลาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ มีการแพร่อิทธิพลรูปแบบศิลปะที่เกี่ยวเนื่องทางศาสนาที่เป็นศาสนถานและศาสนวัตถุโดยเฉพาะศาสนาพุทธแบบเถรวาท รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องประดับต่างๆ ให้กับชุมชนร่วมสมัยตลอดทั่วทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เห็นชัดเจนว่ามีการปรับรับให้มีรูปแบบของตนเอง จนเรียกว่าเป็นศิลปทวารวดีแบบท้องถิ่นก็ได้

ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ เกิดศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองขนาดใหญ่ที่เมืองพระนครในดินแดนกัมพูชา ความเชื่อทางศาสนาฮินดูและพุทธแบบมหายาน ได้ส่งอิทธิพลต่อรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมของบ้านเมืองต่างๆ รวมถึงในดินแดนประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะในภาคอีสานหรือเขมรสูงที่คั่นด้วยเทือกเขาพนมดงเร็กต่อกับเขมรต่ำซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนคร ดังปรากฏปราสาทหินแบบขอมจำนวนมาก

แม้ในภาคกลางของประเทศไทยก็ยังมีการตีความไปว่า ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของขอมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ดังที่อ้างจารึกสมัยนี้กล่าวถึงการสร้างอโรคยศาลตามหัวเมืองต่างๆ ว่าบางแห่งอยู่ในภูมิภาคตะวันตก เช่น ที่เมืองสิงห์ เมืองราชบุรี และเพชรบุรี เป็นต้น แต่การวิเคราะห์ดังกล่าวได้ตกไป เพราะไม่มีหลักฐานสนับสนุนทั้งในเรื่องรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอโรคยศาลที่มีแบบแผนแน่นอนตายตัว หรือหลักฐานอิทธิพลทางการเมืองที่น่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม การสร้างปราสาทแบบขอมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเนื่องในศาสนาพุทธแบบมหายานทั้งที่ปราสาทเมืองสิงห์ และที่วัดกำแพงแลง น่าจะรับผ่านมาจากเมืองลพบุรี เราจึงเรียกช่วงเวลาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ นี้ว่า สมัยลพบุรี

IMG20160528134606

วัดกำแพงแลง ศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายานจากเมืองพระนครในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙

ศิลปสถาปัตยกรรมเนื่องในศาสนาพุทธแบบมหายานที่วัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี แม้จะเห็นว่าได้รับอิทธิพลจากการสร้างปราสาทพระขรรค์ และเป็นอิทธิพลศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่พยานสำคัญในการยอมรับว่า ดินแดนในบริเวณนี้อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของขอมจากเมืองพระนครแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม กลับบอกให้เราทราบว่า

เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เพชรบุรีเริ่มมีพัฒนาการกลายเป็น “เมือง” ระดับ “นคร” ที่มีศูนย์กลางทางความเชื่อขนาดใหญ่อยู่ที่วัดกำแพงแลง และมีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่อยู่ภายใน เช่น สุโขทัย แพรกศรีราชา สุพรรณภูมิ ราชบุรี บ้านเมืองทางแถบคาบสมุทร ที่นครศรีธรรมราช ซึ่งปรากฏเนื้อความอยู่ในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ และติดต่อกับบ้านเมืองโพ้นทะเล ดังเราพบในเอกสารจดหมายเหตุจากราชสำนักจีน อีกทั้งในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชที่กล่าวถึงการติดต่อกับราชสำนักจีนไว้โดยสอดคล้องกัน

นครหมายถึงเมืองขนาดใหญ่ ที่มีการอยู่รวมกันของผู้คนมากมาย มีทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองอันแสดงถึงความแตกต่างทางชนชั้น ลักษณะของสังคมเมืองคือมีความซับซ้อนด้านโครงสร้างทางสังคมและลักษณะทางกายภาพ ซึ่งเพชรบุรีในยุคนั้นมีลักษณะดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ราชสำนักจีนได้กล่าวถึงบ้านเมืองขนาดใหญ่สองแห่งที่แยกกันส่งเครื่องราชบรรณาการตั้งแต่ราว พ.ศ.๑๘๓๕- พ.ศ.๑๘๖๕ นั่นคือ เสียน และ หลอหู ซึ่งเป็นรัฐอยู่ในเขตภาคกลางของดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หยวนก็กล่าวว่าสุโขทัยส่งเครื่องราชบรรณาการแก่ราชสำนักจีนในปี พ.ศ.๑๘๔๒ อีกแห่งหนึ่งเขียนถึงเพชรบุรี ว่ากัมรเตงเจ้าเมืองปี๋ฉาปู้หรี่ จัดส่งทูตถวายเครื่องราชบรรณาการในปี พ.ศ.๑๘๓๗

สำหรับหลอหูไม่มีปัญหาว่าคือ ละโว้ มีศูนย์กลางอยู่ที่ลพบุรี ส่วนเสียนนั้นมีความพยายามวินิจฉัยกันว่าศูนย์กลางอยู่ที่ใด เสียนเป็นคำเดียวกับคำว่า เสียมหรือสยาม นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า สุโขทัยคือศูนย์กลางของรัฐเสียน แต่บางท่านก็ให้ความเห็นว่าน่าจะอยู่ที่สุพรรณภูมิ เพราะในช่วงนั้นราว พ.ศ.๑๘๔๐ จดหมายเหตุของโจวต๋ากวาน กล่าวถึง เสียนหลอหู แสดงว่าบ้านเมืองทั้งสองแห่งที่แยกกันได้รวมเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ซึ่งพ้องกับตำนานและสภาพการของบ้านเมืองในภูมิภาคตะวันตกในลุ่มท่าจีน-แม่กลอง

ต้องกล่าวให้เข้าใจก่อนว่า ความเชื่อที่ว่าบันทึกจากเอกสารจีนมีความแม่นยำในเรื่องระยะเวลาอย่างยิ่ง ทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีความขัดแย้งกับบันทึกการเดินทางร่วมสมัยอื่นๆ รวมกับการมองภาพนิ่งว่า สุโขทัยเป็นเมืองที่เหมาะสมกับการเป็น “สยามประเทศ” มากกว่าที่อื่น ทั้งๆ ที่รากฐานในการเป็นเมืองขนาดใหญ่ของสุโขทัยมีน้อยกว่าบ้านเมืองในภูมิภาคตะวันตกมากมาย

เป็นที่น่าสนใจว่าในเวลาใกล้เคียงกัน ทางราชสำหนักหยวนยอมรับทูตจากกัมรเตงแห่งเพชรบุรี และจัดเพชรบุรีอยู่ในประเภท เฉิง หรือ นคร ไม่จัดเป็นประเภท กว๋อ หรือ รัฐ หรือ ประเทศ และยอมรับทูตจากสุโขทัย รวมถึงทูตจากเสียนและหลอหู ด้วย

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น นคร หรือ รัฐ ก็สามารถส่งทูตไปสู่ราชสำนักจีนได้ หากมีศักยภาพเพียงพอ เช่น มีเรือสำเภา มีความชำนาญ หรือมีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่เป็นเมืองท่า โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการบังคับบัญชาหรือมีอำนาจแบบรวมศูนย์เท่านั้น และทางการจีนก็ยอมรับสภาพของบ้านเมืองที่ประกอบไปด้วยบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆ กันของภูมิภาคนี้

ความสืบเนื่องของชุมชนในภูมิภาคตะวันตกมีต่อมาเป็นลำดับ นับตั้งแต่ชุมชนหมู่บ้านในยุคเหล็กหรืออาจเรียกว่าช่วงสุวรรณภูมิต่อเนื่องกับสมัยฟูนัน ต่อมาในสมัยทวารวดีศูนย์กลางขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองนครชัยศรี ในระยะต่อมาก็ได้เปลี่ยนขึ้นไปอยู่ที่สุพรรณภูมิ

พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ ช่วงเวลานี้ยังเป็นปัญหาของนักวิชาการส่วนใหญ่ ในอดีตจึงมักกล่าวอย่างสรุปๆ ว่าคนไทยที่อาณาจักรสุโขทัยถูกกลุ่มราชวงศ์อู่ทองเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจมาเป็นอาณาจักรอยุธยาแทนเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓-๙๔

ความจริงประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ต้องอาศัยตำนานต่างๆ ประกอบการอธิบายอย่างมาก และเพชรบุรีนับเป็นเมืองที่มีส่วนร่วมสำคัญแห่งหนึ่ง ในการวิเคราะห์สถานการณ์ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางของรัฐแห่งใหม่

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเรื่องเล่าที่มีผู้จดบันทึกไว้ภายหลัง กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีว่าเป็นเมืองร่วมสมัยกับเมืองนครศรีธรรมราชและมีกษัตริย์ปกครอง ทางฝ่ายเมืองนครฯ คือพญาศรีธรรมาโศกราช ฝ่ายเมืองเพชรบุรีคือพระเจ้าอู่ทอง ภายหลังมีปัญหาเรื่องเขตแดน รบกันไม่แพ้ไม่ชนะจึงตกลงทำสัญญาแบ่งเขตและเป็นไมตรีต่อกัน ทั้งฝากฝังเครือญาติและแลกเปลี่ยนทรัพยากร โดยเฉพาะฝ่ายเมืองนครฯ ขอเกลือจากเมืองเพชรบุรี หลังจากนั้นเมืองนครฯ จึงร้างเป็นป่าเป็นดง
ต่อมาพระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชกษัตริย์ เจ้านายซึ่งมีเชื้อสายกษัตริย์จาก
อโยธยามาตั้งบ้านเมืองริมสมุทรที่นครเพชรบุรี แล้วสร้างชุมชนทำนาเกลือ และทำนาอยู่ที่บางสะพาน ต่อมาได้ติดต่อค้าขายกับสำเภาจากราชสำนักจีนซึ่งซื้อไม้ฝางกลับไป

ตำนานดังกล่าวมีข้ออ่อนด้อยที่นักประวัติศาสตร์ไม่ยอมรับ ตรงที่ไม่มีระยะเวลาระบุไว้แน่นอน แต่เหตุการณ์จากในตำนานพ้องกับจดหมายเหตุจีนที่เมืองเพชรบุรีส่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักหยวน เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๗

จะเห็นว่าทรัพยากรที่สำคัญของเมืองเพชรบุรีนั้นคือ เกลือ รวมไปถึง ไม้ฝาง ทั้งมีพื้นที่ทำนาปลูกข้าว และเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลที่เป็นศูนย์กลางทั้งการเดินเรือเลียบชายฝั่งและเส้นทางข้ามคาบสมุทร พื้นฐานเหล่านี้เพียงพอจะทำให้เพชรบุรีเป็นนครสำคัญแห่งหนึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙

นอกเหนือจากจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ และตำนานเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว พงศาวดารเหนือ คำให้การชาวกรุงเก่าฯ พงศาวดารฉบับวันวลิต จดหมายเหตุลาลูแบร์ จนถึงจุลยุทธการวงศ์ ยังมีเนื้อหาที่สันนิษฐานได้ว่าบันทึกจากคำบอกเล่าแบบตำนานที่กล่าวถึงเรื่องของท้าวอู่ทองและเมืองเพชรบุรีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ทำให้เห็นภาพว่า เมืองเพชรบุรีอยู่ในเส้นทางการติดต่อและการค้าระยะทางไกล ทางบก คือ ราชบุรี สุพรรณบุรี แพรกศรีราชา กำแพงเพชร พิษณุโลก นครไทย ไปยังลุ่มน้ำโขงเวียงจันทน์และเวียงคำ ส่วนทางทะเล ผ่านนครศรีธรรมราช ปัตตานี บ้านเมืองในคาบสมุทรมลายู

ความสัมพันธ์เหล่านี้ ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างกลุ่มคนหลายกลุ่ม โดยสร้างความสัมพันธ์ผ่านการแต่งงานโดยเฉพาะกษัตริย์และชนชั้นนำ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมหลักๆ ในช่วงเวลานั้น

การสังสรรค์ทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม ผ่านการผสมผสานจากกลุ่มคนหลากหลายกลุ่มนี้เอง แสดงออกอย่างชัดเจนในการใช้ภาษาและตัวอักษร นั่นคือ เลือกที่จะใช้ ภาษาไทยและอักษรไทย
กล่าวได้ว่าวัฒนธรรมผสมผสานเหล่านี้ คือรากฐานของวัฒนธรรม สยามประเทศ ในกาลต่อมา

ลักษณะของความเป็นเมืองระดับนครสืบต่อตั้งแต่เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ จนมีการสถาปนาราชธานีที่กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นอาณาจักรรวมศูนย์แห่งแรกของสยามประเทศอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.๑๘๙๓ เมืองเพชรบุรีได้กลายเป็นหนึ่งในหัวเมืองปากใต้สำคัญที่มีขุนนางปกครองขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันไม่ได้ร้างลงแต่อย่างใด
ดังนั้น จึงเรียกเมืองเพชรบุรีได้ว่าเป็น นครประวัติศาสตร์ ที่มีชีวิตเช่นเดียวกับที่เชียงใหม่ อยุธยา และสุพรรณบุรี ต่างสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่แรกเริ่มไม่มีว่างเว้นเช่นกัน

เพชรบุรีในฐานะเมืองท่าภายใน

หากเปรียบเทียบกับตำนานมหาเภตรา การเข้ามาของคนกลุ่มใหม่จากโพ้นทะเลรวมกับผู้คนดั้งเดิม น่าจะอยู่ในช่วงเดียวกับการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมืองระดับ นคร โดยการสร้างคูและกำแพงเมืองรูปสี่เหลี่ยม มีศูนย์กลางทางศาสนาพุทธมหายานประจำท้องถิ่นโดยสร้างเป็นปราสาทแบบขอมไว้นอกเมือง มีแม่น้ำเพชรบุรีที่ติดต่อกับฝั่งทะเลได้ไหลผ่านเป็นคูเมืองด้านตะวันตก อันเป็นลักษณะของเมืองสมัยลพบุรีและเป็นเมืองท่าภายในอย่างสมบูรณ์

ก่อนหน้าการปรากฏเป็นเมืองท่าภายในระดับนครในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ บริเวณจังหวัดเพชรบุรีมีพัฒนาการที่ไม่แตกต่างไปจากพัฒนาการในลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองแต่อย่างใด เพราะพบว่ามีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ช่วงยุคเหล็กตอนปลาย ในบริเวณเขตแนวเขาต่อกับที่ราบตอนต้นของลำน้ำเพชรบุรี

เพราะพบแหล่งฝังศพบริเวณรอบๆ เขากระจิว อำเภอท่ายาง โบราณวัตถุหลายชนิด เช่น ภาชนะแบบมีสัน ลูกปัดหินคาร์นีเลียนและอาเกต เครื่องมือเหล็ก ขวานหินขัด บ่งบอกได้อย่างชัดแจ้งว่า เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการปรับรับอิทธิพลทางศาสนาและความเชื่อจากอินเดีย ซึ่งมีชุมชนในช่วงเวลานี้อยู่มากมายในภูมิภาคตะวันตกและภาคกลางของประเทศไทย และพื้นที่ดังกล่าวมีการอยู่อาศัยสืบต่อมาในสมัยทวารวดีด้วย

บริเวณลุ่มน้ำแม่กลองมีเมืองท่าสมัยทวารวดีแห่งสำคัญอยู่ที่เมืองคูบัว และมีชุมชนร่วมสมัยในเขตเพชรบุรีหลายแห่ง แม้ในบริเวณตัวเมืองจะไม่ปรากฏหลักฐานว่าเคยมีชุมชนสมัยทวารวดีอยู่อาศัยก็ตาม

การสำรวจทางโบราณคดีพบว่า มีชุมชนสมัยทวารวดีเล็กๆ ที่น่าจะเป็นชุมชนระดับหมู่บ้าน โดยมากอยู่ใกล้แนวสันทรายเดิมที่เรียกว่า ถนนท้าวอู่ทอง ที่เริ่มจากเมืองคูบัวตรงมาจนเกือบถึงเมืองเพชรบุรี และพบต่อเนื่องมาเป็นระยะ จนมีปลายทางใต้สุดที่พบอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีแบบภาคกลาง ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่บริเวณเทือกเขาเจ้าลายใกล้ชายฝั่งทะเลในเขตอำเภอชะอำ

ชุมชนทวารวดีบริเวณจังหวัดเพชรบุรีเหล่านี้ ไม่ได้มีการรวมตัวจนกลายเป็นเมืองแต่อย่างใด เพราะหลายแห่งเป็นเพียงแหล่งผลิตประติมากรรมรูปเคารพ และสิ่งของต่างๆ ที่ทำจากหิน เช่น เสมาธรรมจักร กวางหมอบ พระพุทธรูป แท่นหิน ที่บด เนื่องจากมีแหล่งทรัพยากรที่เหมาะสมและน่าจะผลิตส่งต่อให้เมืองทวารวดีอื่นๆ โดยเฉพาะที่เมืองคูบัว และบางที่ก็มีเพียงศาสนสถานขนาดเล็กๆ

IMG20150421163928เขางู

ศาสนสถานแบบทวารวดีที่เชิงเขาเจ้าลาย ชะอำ เพชรบุรี

แต่มีเพียงแห่งเดียวที่กล่าวได้ว่า เป็นชุมชนหมู่บ้านขนาดใหญ่ในระดับสถานีการค้า ซึ่งมีความสำคัญต่อการเดินเรือเลียบชายฝั่งและการเดินทางข้ามคาบสมุทร อันเป็นพยานอย่างแน่ชัดว่า ความรู้เกี่ยวกับการเดินเรือเลียบชายฝั่งหรือการเดินทางข้ามคาบสมุทรมีอยู่เป็นอย่างดีตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว

เชิงเขาเจ้าลายบริเวณที่เรียกกันว่าทุ่งเศรษฐี ปรากฏศาสนสถานเป็นเจดีย์รูปแบบเดียวกับที่พบในเมืองคูบัวและเมืองทวารวดีร่วมสมัยหลายแห่งในภาคกลาง หลังการขุดแต่งทางโบราณคดีแล้วพบว่ามีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านราว ๒๐ เมตร ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่และประดับลายปูนปั้นมีทั้งที่เป็นลวดลาย และพระพุทธรูป เทวดา สัตว์ในคติจักรวาล เช่นเดียวกับความนิยมสร้างรูปแบบเจดีย์ในสมัยนี้

นอกจากนี้ ยังพบศาสนสถานบริเวณยอดเขาเทือกเดียวกับเขาเจ้าลาย และภายในถ้ำของภูเขาที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนพื้นที่การอยู่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับเจดีย์ใหญ่ มีเนินดินที่เป็นร่องรอยของการอยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า ๘-๑๐ ไร่ แต่ส่วนใหญ่ถูกไถทำลายไปจนเกือบหมด

น่าสังเกตว่า ศาสนสถานขนาดใหญ่มักจะก่อสร้างอยู่ในปริมณฑลของเมืองที่เป็นศูนย์กลาง แต่การมีเจดีย์รูปแบบมาตรฐานเดียวกับเจดีย์ที่สร้างกันอยู่ในบริเวณเมืองคูบัวและมีขนาดใหญ่เทียบได้กับเจดีย์สำคัญของเมือง รวมทั้งมีการอยู่อาศัยอย่างถาวร ก็อาจกล่าวได้ว่า

แม้ชุมชนนี้จะไม่มีการสร้างคูน้ำคันดินและมีองค์ประกอบของการเป็นเมืองขนาดใหญ่ แต่สถานที่นี้มีความสำคัญต่อเมืองคูบัว ในฐานะเป็นสถานีการค้าอันเป็นจุดสังเกตของการเดินเรือเลียบชายฝั่งอันมีรูปแบบที่แน่นอน ในฐานะเป็นจุดพักของการเดินทางบกข้ามคาบสมุทรจากเมืองคูบัวผ่านเทือกเขาตะนาวศรีสู่เมืองท่าทางฝั่งอ่าวเบงกอล

แหล่งชุมชนสมัยทวารวดีที่เชิงเขาเจ้าลาย จึงเพิ่มมิติของเครือข่ายสนับสนุนต่อการเป็นเมืองท่าสำคัญของเมืองคูบัวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หลังจากสมัยทวารวดีผ่านไป ฐานะการเป็นเมืองท่าภายในของเมืองคูบัวก็เปลี่ยนศูนย์กลางไปอยู่ที่เมืองราชบุรี ในระยะเดียวกันก็เกิดเมืองเพชรบุรีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นเมืองท่าภายในศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ ทั้งเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรที่สำคัญ เช่น เกลือ ไม้หอม ไม้ฝาง สะดวกและเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นกว่าชุมชนสถานีการค้าที่ชะอำ

การจะเข้าใจว่า บริเวณเทือกเขาเจ้าลายที่ชะอำมีความสำคัญต่อการเดินเรือเลียบชายฝั่ง และนครเพชรบุรีคือศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำมีความสำคัญต่อการเดินทางข้ามคาบสมุทรได้อย่างไร จึงต้องพิจารณารายละเอียดดังนี้

อ่าวไทยตอนในและการเดินเรือเลียบชายฝั่ง

การเดินเรือเลียบชายฝั่งคงพัฒนามาพร้อมกับจิตใจที่ต้องการสำรวจและผจญภัยของมนุษย์ แม้ว่าจะไม่ทราบรายละเอียดของการเดินทาง แต่ก็พบว่ามีการติดต่อระหว่างชุมชนโพ้นทะเลกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว

การค้าทางทะเลมีมานานโดยพ่อค้าชาวอาหรับและมุสลิมก่อนการค้าโดยเรือสำเภาของชาวจีน ยุคการค้าทางทะเลที่รุ่งเรืองของจีนคือช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐ สมัยราชวงศ์ซุ้งและหยวน พบหลักฐานจำนวนมากในแถบเมืองท่าของคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะ แต่ร่องรอยของการเป็นเมืองท่าสำคัญบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและรอบอ่าวไทยมีอยู่น้อยมาก นอกจากบริเวณคูบัวและท้องน้ำแม่กลองหน้าเมืองราชบุรี
จนมาเห็นชัดเมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าสำคัญของอ่าวไทยรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วิชาการเดินเรือเลียบชายฝั่งคงต้องยกให้จีน ศาสนาจารย์คาร์ล ออกัสตัส ฟรีดริค กุตสลาฟฟ์ บันทึกไว้เมื่อราว พ.ศ.๒๓๗๑ กล่าวถึงลูกเรือและการเดินเรือเลียบชายฝั่งของสำเภาจีนที่มีตำราบันทึกส่งต่อกันมาว่า รู้จักเกาะแก่งและแนวหินตลอดจนลมฟ้าอากาศ เป็นสมบัติที่ส่งผ่านกันมาโดยไม่ต้องใช้เข็มทิศแบบฝรั่ง ต้นหนจะสังเกตฝั่งและแหลมเป็นจุดหมาย จึงพบเส้นทางต่างๆ มากมาย และแทบจะคาดการณ์ไม่ผิดเลย เพราะมีหนังสือนำทาง สามารถกระทั่งหลบหลีกหินโสโครก ทางเข้าท่าเรือและแนวหินได้ถูกต้อง

การค้าต่างประเทศในสมัยกรุงศรีอยุธยาใช้เรือสำเภาเป็นหลัก พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กล่าวถึงตำแหน่งต่างๆ ในเรือสำเภาหลวงเป็นชื่อภาษาจีนและมีศักดินาประจำตำแหน่งด้วย

ในอดีตจะทำค้าขายกันเป็นฤดูกาล เข้าและออกให้ทันฤดูมรสุม เช่น จะต้องมาให้ทันลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนตุลาคมถึงมีนาคม(ลมสินค้า-ขาเข้า) และกลับให้ทันลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในเดือนเมษายนถึงกันยายน(ลมตะเภา-ขาออก)

วิธีการของการเดินเรือเลียบชายฝั่งในอ่าวไทยตอนใน ค่อนข้างมีแบบแผนลงตัว คือ หากไม่ใช่เรือท้องถิ่นหรือมีวัตถุประสงค์จะเดินทางสู่ปากน้ำแม่กลองหรือปากน้ำท่าจีนโดยตรงแล้ว ก็ไม่นิยมเลียบอ่าวโคลนด้านตะวันตกที่เป็นชะวากเว้าเข้าด้านใน เพราะพื้นน้ำเต็มไปด้วยโคลนตมต้องอาศัยความชำนาญร่องน้ำ

เมื่อเดินทางจากปากน้ำเจ้าพระยาออกทะเลจะตัดตรงไปพักที่เกาะสีชัง เกาะส้ม เกาะคราม หรือเกาะไผ่ ทางฝั่งตะวันออก แล้วชักใบแล่นตัดข้ามอ่าวจุดหมายที่เขาเจ้าลายบริเวณชายฝั่งชะอำ หรือต่ำลงมาแถวเขาสามร้อยยอดแถบเมืองกุย ทั้งสองแห่งมีเทือกเขาโดดเด่นเป็นจุดสังเกตได้ง่าย หลังจากนั้นจึงเดินเรือเลียบชายฝั่งลงใต้ต่อไป

หรือหากต้องการไปทางอ่าวตังเกี๋ยเลียบชายฝั่งสู่เวียดนามและจีนตอนใต้ ก็จะเดินเรือสลับในอ่าว จากปากน้ำไปที่เกาะสีชังแล้วข้ามอ่าวมาที่สามร้อยยอดหรือเมืองกุยเช่นเดียวกัน แต่จากนั้นจึงข้ามอ่าวมุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้มีที่หมายตรงเกาะลักษณะแคบยาวชื่อ Pulipanjung และเกาะ Puli ubi และ Puli Condor ชายฝั่งกัมพูชา

ในทางกลับกัน หากเดินเรือเลียบชายฝั่งจากทางคาบสมุทรมลายูจะแวะเติมน้ำจืดหรือหลบลมที่สามร้อยยอดปากน้ำกุยบุรี เลียบชายฝั่งผ่านเขาเจ้าลายจนถึงแหลมหลวงหรือแหลมผักเบี้ย จากบริเวณนี้จะแล่นห่างฝั่งโคลนตัดตรงไปปากน้ำเจ้าพระยา หรือหากไม่เข้ากรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพฯ ก็แล่นตัดข้ามอ่าว มีที่หมายที่หมู่เกาะชายฝั่งกัมพูชาที่กล่าวถึงข้างต้น แล้วแล่นต่อไปยังชายฝั่งเวียดนาม และจีนต่อไป

map3@0

แผนที่แสดงเส้นทางเดินทางข้ามคาบสมุทรตอนบน มะริด-ตะนาวศรี-เพชรบุรี และการเดินเรือเลียบชายฝั่ง

เทือกเขาเจ้าลายและเทือกเขาสามร้อยยอด จึงเป็นที่หมายสำคัญของการเดินเรือเลียบชายฝั่งไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด ปรากฏอยู่ในแผนที่โบราณทั้งของไทยและของชาวต่างชาติ และถูกกล่าวถึงไว้ในบันทึกการเดินทางและวรรณคดีประเภทนิราศหลายเรื่อง เช่น บันทึกการเดินทางของนายแพทย์อิงเกิลเบิตร์ แกมเฟอร์ บันทึกการเดินทางของคณะทูตจากอังกฤษ จอห์น ครอฟอร์ด โคลงนิราศพระยาตรัง โคลงนิราศชุมพรของพระพิพิธสาลี เป็นต้น

การเดินทางข้ามอ่าวไทยหรืออ่าวสยามตอนในนี้เอง ทำให้เกิดนิทานชาวเรือหรือนิทานท้องถิ่นซึ่งรู้จักกันดีของนักเดินทางยุคก่อนและผู้คนพื้นถิ่น นั่นคือ นิทานเรื่องตาม่องล่าย ยายรำพึง และนางยมโดย มีเกาะต่างๆ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอ่าวเป็นชื่อสถานที่ที่อ้างถึงในนิทาน เป็นเรื่องของเจ้าลายที่หลงรักนางยมโดยและมาสู่ขอกับยายรำพึงผู้เป็นแม่ ส่วนตาม่องล่ายพึงใจเจ้ากรุงจีนมากกว่า เมื่อถึงเวลายกขันหมากมาทางเรือทั้งสองฝ่ายก็มาพร้อมในเวลาเดียวกัน จึงเกิดโกลาหล ดังหลวงนรเนติบัญชากิจ แต่งเป็นกลอนนิราศตังเกี๋ยว่า

“…ตาบ้องล่ายให้ขยั้นเข้ากั้นกาง     พูดเป็นกลางว่าอย่าแย่งจะแบ่งปัน
ฉวยลูกสาวฉีกกลางขว้างให้เขย     มันตกเลยอยู่เป็นเกาะจำเพาะขัน
เรียกว่าเกาะนมสาวเท่าทุกวัน     อยู่ฟากจันทบุรีมีพยาน
อีกซีกหนึ่งไปถึงตะวันตก      อดห่อหมกบ่าวสาวทั้งคาวหวาน
เจ้าลายเห็นศพโศกโรคบันดาล      ไม่กลับบ้านเลยตายในสายชล
เดี๋ยวนี้ยังเป็นเขานอนยาวเหยียด      ไม่น่าเกลียดเหมือนมนุษย์สุดฉงน
โต๊ะฝาชีพานกระจับกลับวิกล      ตั้งอยู่จนทุกวันไม่อันตราย
เขาเรียกสามร้อยยอดตลอดหมด      ฉันไม่ปดพูดเพ้อละเมอหมาย
แต่ทองหมั้นนั้นถมลงจมทราย      ตกอยู่ฝ่ายนครังบางตะพาน
เป็นกำเนิดเกิดประจำธรรมชาติ      สุกสอาดสืบมาอาวสาน
เป็นทองของเจ้าลายที่วายปราณ      อยู่นมนานตั้งกัปไม่นับปี
ฝ่ายเจ้าจีนสิ้นอาลัยก็ไห้โหย      เห็นนางโดยซีกเดียวเขียวเป็นผี
ก็ทำศพกว่าจะเสร็จเจ็ดราตรี      กับสิ่งที่เป็นขันหมากไม่อยากเอา
ทั้งโรงโขนโรงหนังคลังใส่ของ      ก็เลยกองอยู่เหมาะเป็นเกาะเขา
สารพัดสัตว์สิงห์กลิ้งเป็นเลา      เรื่องตาเถ้าบ้องไล่ยายรำพึง…”

การเดินทางข้ามคาบสมุทรตอนบนระหว่างฝั่งอ่าวเบงกอลและอ่าวไทย

การเดินทางข้ามคาบสมุทรเป็นหนทางเพื่อย่นระยะเวลาและระยะทางระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย โดยไม่ต้องรอลมมรสุมอ้อมลงไปเข้าช่องแคบมลายู เส้นทางข้ามคาบสมุทรของแหลมมลายูมีด้วยกันหลายเส้นทาง แต่ตอนบนสุดคือเส้นทางระหว่างเมืองมะริด-ตะนาวศรีและเมืองเพชรบุรี

การเดินทางข้ามคาบสมุทรตอนบนนี้ น่าจะมีบทบาทมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิหรือช่วงยุคเหล็ก ซึ่งมีการผลิตสำริดคุณภาพดี [High tin bronze-หมายถึงสำริดที่มีแร่ดีบุกเป็นส่วนผสมในปริมาณสูง ทำให้เนื้อโลหะเป็นมันวาวสีทอง] ร่องรอยของการติดต่อจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า คือบริเวณช่องเขาตะนาวศรีแถบสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

ความสำคัญของเมืองเพชรบุรีต่อการเป็นจุดหมายหนึ่งในเส้นทางข้ามคาบสมุทร ปรากฏในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ จากจารึกหลักที่ ๒ หรือจารึกวัดศรีชุม พบที่จังหวัดสุโขทัย และจารึกวัดเขากบพบที่จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวถึงมหาเถรศรีศรัทธาพระญาติของกษัตริย์สุโขทัย ผู้จาริกแสวงบุญไปถึงลังกา ก็กลับสู่สยามประเทศด้วยเส้นทางข้ามคาบสมุทรตอนบน จากตะนาวศรี ผ่านเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี และอโยธยาศรีรามเทพนคร ในช่วงที่ยังไม่ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ

ดังข้อความจารึกวัดเขากบตอนหนึ่ง กล่าวว่า

“ข้ามมาลุตะนาวศรีเพื่อเลือกเอาฝูงคนดี….สิงหลทีปรอด พระพุทธศรีอารยไมตรี เพชรบุรี ราชบุรี น…ส อโยธยาศรีรามเทพนคร”

ในยุคที่การพาณิชย์นาวีเฟื่องฟู มีการเดินทางเข้ามาของพ่อค้าและผู้เผยแพร่ศาสนาชาวตะวันตกจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เส้นทางนี้เพิ่มความสำคัญมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ จนเกิดเมืองที่มีความสำคัญตามรายทางระหว่างมะริดและเพชรบุรี เช่น เมืองกุย เมืองปราณ
บันทึกของนักเดินทางกล่าวว่า ปกติการเดินทางจากมะริดไปยังกรุงศรีอยุธยาจะใช้เวลาประมาณ ๑๐–๑๖ วัน เส้นทางดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้

*จากมะริดเดินทางบกข้ามแม่น้ำตะนาวศรี ผ่านคลองสาราวะ [sarawa] ข้ามเทือกเขาสู่ชะอำ ซึ่งมีเขาเจ้าลายเป็นจุดสังเกต แล้วเดินทางบกสู่ที่ราบของเมืองเพชร ลัดเลาะเข้าเส้นทางน้ำภายในสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

*จากมะริดผ่านแม่น้ำตะนาวศรี ล่องเข้าคลองสาราวะซึ่งแยกเป็นสองทาง คือ สู่ลำน้ำปราณที่เมืองปราณซึ่งเป็นเมืองท่าจอดเรือได้แห่งเดียวก่อนที่จะถึงลำน้ำเพชร จะเลือกลงเรือไปสู่กรุงศรีอยุธยาที่นี่ก็ได้ หรือแยกเข้าลำน้ำกุยสู่เมืองกุยซึ่งเป็นที่ตั้งของเขาสามร้อยยอด จากเมืองกุยเดินบกถึงปราณแล้วจึงเข้าเมืองเพชรบุรี

*จากมะริดเข้าแม่น้ำใหญ่สู่เมืองตะนาวศรีใช้เส้นทางคลองตะนาวศรีน้อย แล้วเข้าคลองสิงขรผ่านเมืองเก่าจะลิงคะหรือท่าพริก เข้าด่านสิงขรไปที่บางนางรมหรือประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน แล้วเดินทางบกผ่านเมืองปราณ เมืองกุย สู่เมืองเพชรบุรี

Microsoft Word - 39.doc

จดหมายเหตุชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขายและเผยแพร่ศาสนา ช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ต่อเนื่องกับรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา กล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการเมืองตะนาวศรีและมะริดเป็นแขกมัวร์หรือบ้างเรียกแขกเปอร์เซีย หัวเมืองที่เป็นทางผ่านไปอยุธยาเจ้าเมืองก็เป็นแขกเปอร์เซีย เช่น เพชรบุรี ปราณบุรี กุยบุรี นายเรือของกษัตริย์ที่ใช้ใบจากตะนาวศรีไปยังมะเกาและเบงกอลก็เป็นแขกเปอร์เซีย นายห้างดูแลธุระค้าขายก็เป็นแขกเปอร์เซีย

ดังนั้น เส้นทางจากเมืองเบงกอลและมาสุลีปาตัม มายังเมืองท่ามะริดและตะนาวศรี แล้วขึ้นบกเดินทางมายังอยุธยาตกในมือขุนนางเปอร์เซียทั้งสิ้น แสดงถึงการให้ความสำคัญกับหัวเมืองดังกล่าวในฐานะเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยขุนนางผู้ชำนาญการ เช่น สินค้าจำพวกเนื้อไม้หอม ซึ่งส่งไปขายถึงเมืองเมดีนา เมืองเมกกะ เมืองโมกาในทะเลแดงเพื่อจุดบูชาพระมะหะมัด ดำเนินการค้าโดยขุนนางเชื้อสายเปอร์เซีย ส่วนไม้ฝางซึ่งนำไปใช้ทำสีย้อมผ้า มีชุกชุมและเป็นสินค้าที่ส่งออกไปขายแก่จีนและญี่ปุ่นจำนวนมากทุกปี ไม้เนื้อหอมและไม้ฝางมีมากในเขตป่าเขาเขาในภูมิภาคตะวันตก

การค้าที่ติดต่อไปถึงตะวันออกกลาง ตอกย้ำด้วยเรื่องการแสวงหาม้าคู่ใจของขุนแผน ในวรรณคดีเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ตอน กำเนิดกุมารทองบุตรนางบัวคลี่ ตอนที่

“จะกล่าวถึงหลวงทรงพลกับพันภาณ      พระโองการตรัสใช้ไปตะนาวศรี
ไปตั้งอยู่มะริดเป็นครึ่งปี      กับไพร่สามสิบสี่ที่ตามไป
ด้วยหลวงศรีวรข่านไปซื้อม้า      ถึงเมืองเทศยังช้าหามาไม่
ต้องรออยู่จนฤดูลมแล่นใบ      เรือที่ไปเมืองเทศจึงกลับมา
หลวงศรีได้ม้ามามอบให้      ทั้งม้าเทศม้าไทยหกสิบห้า
อีเหลืองเมืองมะริดพลอยติดมา      ผัวมันทั่นว่าเป็นม้าน้ำ
มีลูกตัวหนึ่งชื่อสีหมอก      มันออกวันเสาร์ขึ้นเก้าค่ำ
ร้ายกาจหนักหนานัยน์ตาดำ      เห็นม้าหลวงข้ามน้ำก็ตามมา
มาถึงสิงขรผ่อนพักหยุด      ปล่อยม้าอุตลุดให้กินหญ้า
กรมการกุยปราณส่งเนื่องมา      ผ่านชะอำถึงท่าเพชรบุรี
เลี้ยงม้าอยู่ศาลาบ้านแตงแง     บันไดอิฐติดแค่คิรีศรี
สีหมอกลองเชิงเริงฤทธี…….”

ขุนช้าง-ขุนแผน วรรณคดีที่มีรากฐานมาแต่สมัยอยุธยานี้ ก็บรรยายได้ชัดถึงการเดินทางติดต่อค้าขายจนถึงตะวันออกกลางนับเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะการนำเข้าม้าเทศหรือม้าอาหรับที่มีรูปร่างสูงใหญ่ต่างจากม้าไทยทั่วไป จากมะริดใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรที่ด่านสิงขรผ่านเมืองกุยและเมืองปราณ มีเพชรบุรีเป็นจุดหมายสุดท้าย พักเลี้ยงม้าที่บริเวณศาลาแตงแง เชิงเขาบันไดอิฐ ก่อนจะส่งให้หลวงที่กรุงศรีอยุธยาต่อไป

สภาพดังกล่าวดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สงครามทำลายเมืองมะริดและตะนาวศรีในฐานะเมืองท่าสำคัญลงอย่างสิ้นเชิง ประกอบกับการเดินเรือเลียบชายฝั่งสมัยต้นรัตนโกสินทร์เปลี่ยนไปเป็นการใช้เรือกำปั่นและเรือกลไฟ ทำให้ไม่ต้องรอลมมรสุมหรือเดินเรือเป็นฤดูกาลแต่อย่างใด ศูนย์กลางของเมืองท่าเปลี่ยนมาเป็นเกาะปลายแหลมมลายู เช่น สิงคโปร์แทน ทำให้เส้นทางสายข้ามคาบสมุทรโดยมีเมืองเพชรบุรีเป็นศูนย์กลางค่อยๆ หมดความสำคัญลง

เส้นทางโบราณระหว่างกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพฯ สู่เมืองเพชรบุรี

Untitled-31@0

เมืองเพชรบุรีคือเมืองท่าศูนย์กลางการคมนาคม ที่เป็นจุดเปลี่ยนจากการเดินทางโดยใช้แม่น้ำลำคลองเป็นการเดินทางบก จากบ้านเมืองภายในสู่เมืองท่าชายฝั่งทางอ่าวเบงกอลที่เมืองมะริดหรือตะนาวศรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยอยุธยาตอนปลาย

ความสำคัญของเมืองเพชรบุรีในฐานะเป็นศูนย์กลางของคมนาคมระหว่างทางน้ำและทางบกมีตัวอย่างสะท้อนให้เห็นจาก โคลงนิราศนรินทร์ สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นโดยนายนรินทร์ธิเบศร์ชื่ออิน ตำแหน่งข้าราชการวังหน้า เมื่อคราวไปทัพรบพม่าที่ชุมพรและถลาง โดยสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พรรณนาถึงการเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยทางเรือ เมื่อถึงเมืองเพชรเปลี่ยนเป็นเดินทางบกสู่เมืองกำเนิดนพคุณหรือบางสะพาน ข้ามช่องเขาแล้วใช้เรือเข้าแม่น้ำตะนาวศรีน้อยต่อไปที่เมืองตะนาวศรี

ในบันทึกการเดินทางของคณะทูตจอห์น ครอฟอร์ด จากอังกฤษ เข้ามายังสยามและเขียนบันทึกพร้อมแผนที่ไว้เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๖๕ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ ได้กล่าวถึงสภาพปากแม่น้ำเพชรที่ไม่ได้มีปากน้ำเพียงแห่งเดียวว่า

“ลำน้ำสามสาย คือ บางตะบูนน้อย, บางตะบูนใหญ่ และ บ้านแหลม คือสาขาของแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองเพชรบุรี ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากทะเลเข้ามาสิบชั่วโมง”

เมืองเพชรบุรีจึงเป็นเมืองท่ารุ่นเก่าที่ไม่ได้ตั้งอยู่ตรงปากแม่น้ำเหมือนเมืองสาครบุรีหรือท่าจีนและเมืองสมุทรสงครามหรือแม่กลองที่ตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา อีกประการหนึ่งคือ ปากน้ำเพชรบุรีที่เราเข้าใจว่าอยู่ที่บ้านแหลมในปัจจุบันนั้น เป็นเพียงปากน้ำสาขาของลำน้ำเพชรบุรีที่มีการทำประมงเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ส่วนปากน้ำสำคัญอีกแห่งหนึ่งมีการคมนาคมทางน้ำสะดวกกว่าและติดต่อกับชุมชนอื่นๆ ได้ดีกว่า คือ ปากน้ำบางตะบูน นักเดินทางในอดีตจะใช้เส้นทางนี้มากกว่าปากน้ำบ้านแหลม

ดังนั้น หากมีการเดินทางจากบ้านเมืองภายในสู่เมืองเพชรบุรี ถ้าเป็นเรือที่มีขนาดไม่ใหญ่โตนักก็มักจะลัดเข้าลำคลองสายเล็กๆ ไม่ออกปากอ่าวหรือไม่นิยมออกทะเล เช่น การเดินทางในนิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ เป็นต้น

จากกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพฯ ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะติดต่อหัวเมืองฝั่งตะวันตก จะใช้เส้นทางตามแม่น้ำเจ้าพระยา แยกเข้าคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวงที่ฝั่งธนบุรี เลี้ยวเข้าคลองด่านผ่านบางขุนเทียน จอมทอง ท่าข้าม แสมดำ

แยกเข้าคลองโคกขามก่อนมีการขุดคลองลัดมหาชัย เข้าใจว่าก่อนหน้านั้นคงมีเส้นทางน้ำสายเดิมที่ต่อกันเป็นระยะสั้นๆ และคดเคี้ยว ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหาชัยแต่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะพระองค์เสด็จประพาสทรงเบ็ดที่ปากน้ำเมืองสาครบุรี เรือพระที่นั่งมาทางคลองโคกขามซึ่งคดเคี้ยว หัวเรือชนกิ่งไม้หัก พระราชพงศาวดารกล่าวว่าเป็นเหตุให้ทรงตัดคลองลัดมหาไชยไปออกปากน้ำเมืองสาครบุรี มาเสร็จในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โดยการเกณฑ์ไพร่จากหัวเมืองปากใต้มาขุดคลองไปออกที่เมืองมหาชัยหรือเมืองสาครบุรี

ข้ามแม่น้ำท่าจีนแล้วขึ้นเหนือเล็กน้อย เข้าคลองสามสิบสองคุ้ง ต่อคลองสุนัขหอน ออกแม่น้ำแม่กลองแยกขึ้นทางขวาหากต้องการไปบางช้าง ราชบุรี กาญจนบุรีตามลำน้ำแม่กลอง

ส่วนแยกทางซ้ายออกทะเล ตัดออกปากอ่าวข้ามทะเลเข้าคลองช่อง ลัดตามคลองเล็กๆ สายใน ผ่านคลองยี่สารเดิม เข้าคลองบางตะบูน ผ่านวัดคุ้งตำหนัก เข้าคลองบางครกผ่านเขาตะเครา ผ่านวัดปากคลองบางครกที่ต่อกับแม่น้ำเพชรบุรี สู่เมืองเพชรบุรี เป็นเส้นทางที่บรรยายไว้ในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่

ภายหลังเมื่อขุดคลองภาษีเจริญและคลองดำเนินสะดวกเมื่อปลายรัชกาลที่ ๔ ต่อรัชกาลที่ ๕ แล้ว มีเส้นทางสำหรับการเดินทางภายในที่สืบเนื่องมาจากความต้องการส่งผลผลิตจากภูมิภาคตะวันตกเพื่อการส่งออก ก็จะใช้เส้นทางคลองขุดตรง คือ

จากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลองบางกอกใหญ่ เลยปากคลองด่านไม่มากนัก แยกเข้าคลองภาษีเจริญมาออกแม่น้ำท่าจีนแถบอำเภอกระทุ่มแบน แล้วต่อเข้าคลองดำเนินสะดวกออกแม่น้ำแม่กลองแถวๆ บางนกแขวก แล้วจะเลือกเข้าคลองวัดประดู่ผ่านไปสู่คลองสายในเพื่อเข้าแม่น้ำเพชรบุรีก็ได้แต่ไม่นิยมนัก หรือแยกคลองบางลี่ที่อยู่ต่ำลงมาทางปากน้ำแม่กลองเรียกภายหลังว่าคลองประชาชมชื่นหรือคลองพระยาชมชื่น ต่อกับคลองขุดยี่สาร ทั้งสองคลองนี้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อำนวยการขุด ผ่านบ้านยี่สาร ออกบางตะบูน แยกเข้าคลองบางตะบูนแล้วลัดเลาะเข้าสู่แม่น้ำเพชรบุรีเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม นักเดินทางจะเลือกเดินทางเส้นใดก็แล้วขนาดของเรือที่โดยสารว่าเหมาะสมกับเส้นทางเช่นไร ความถนัดของผู้นำทาง ความชำนาญ รู้จักธรรมชาติน้ำขึ้นน้ำลงหรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่าช่วงน้ำเกิดและน้ำตาย แต่พบว่าบ้างก็ติดตื้น บ้างเรือเกยตอทะลุ เพราะส่วนใหญ่มักคาดผิดเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงที่มีวันละสองครั้งแต่ละครั้งช้ากว่าเดิมวันละชั่วโมง ไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ก็มักคาดผิดได้ง่ายๆ

นักเดินทางในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นต่างใช้เส้นทางตามที่กล่าวนี้ตลอดมา จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการเดินทางไปสู่เมืองเพชรบุรี เนื่องจากสร้างทางรถไฟเสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕

จดหมายเหตุบันทึกเรื่องราวต่างๆ ขณะเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อ ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๒) นับเป็นการเดินทางยุคสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ทรงบรรยายถึงการเดินทางจากราชบุรี ล่องลงมาถึงอัมพวาตามลำน้ำแม่กลอง เข้าเพชรบุรี ครั้งแรกจะเสด็จจากราชบุรีไปเพชรบุรี ซึ่งเรียกว่า “ทางใน” คือไปทางลำน้ำวัดประดู่ เป็นคลองที่ขนานกับแนวสันถนนท้าวอู่ทองผ่านคลองยี่สานลัดเลาะเข้าสู่แม่น้ำเพชรได้ แต่ก็เปลี่ยนใจเพราะน้ำในคลองต่อแดนเพชรบุรีน้อยอาจไปได้ลำบาก

ดังนั้น พระองค์จึงเสด็จจากราชบุรีออกปากน้ำแม่กลองที่สมุทรสงคราม ข้ามอ่าวเลียบชายฝั่งเข้าคลองบางตะบูนไปออกปากน้ำบางครกและแม่น้ำเพชรสู่เมืองเพชรบุรีว่า

ไปทะเลทางนี้ออกรู้สึกว่าไปอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ท่านไปกันแต่ก่อนดังถ้อยคำที่กล่าวในนิราศ นรินทรอินทรแลนิราศสุนทรภู่ไปเมืองเพ็ชร เปนต้น ดูเปนการใหญ่การยากต้องจอดรอให้คลื่นลมสงบต่อเช้ามืดจึงออกทะเลแลเวิ้งว้างน่ากลัวเพราะเรือเล็ก ถ้าคลื่นลมมีจริงก็เห็นจะต้องขึ้นป่าแสม แต่ระดูนี้ไม่มีคลื่นลมในเวลาเช้า เรือน้อยเรือใหญ่ไปมาในระหว่างเมืองเพ็ชรบุรีกับสมุทสงคราม ข้ามอ่าวในเวลานี้ทุกๆวัน วันละหลายๆ สิบลำ เปนเรือทุกขนาดแลชนิด ตั้งแต่เรือสำปั้นพายเดียวไปจนเรือพลู ซึ่งค้าขายของสวนแจวพายตามกันเรื่อยไปเปนแถว มาเห็นเรือเหล่านั้นที่ในทะเลน่าดูยิ่งนัก

แต่คนเมืองเพชรและปริมณฑลก็ยังเคยชินกับการเดินทางขนส่งสินค้าไปขายที่กรุงเทพฯ ตามเส้นทางน้ำอย่างเดิมหรือปรับเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย และคงใช้ต่อเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังเคยพบเห็น

เมืองตากอากาศ
ประเพณีการท่องเที่ยวของไทยสมัยโบราณ ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า ผู้คนต้องการเดินทางไปเปลี่ยนสถานที่หรือเปลี่ยนอากาศ เพราะสภาพแวดล้อมแบบเขตมรสุมใกล้ศูนย์สูตรไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมากนัก ฤดูกาลทั้งสามฤดูก็ไม่ได้แตกต่างอย่างชัดเจน การเดินทางไปพักผ่อนยังสถานที่อื่นเพื่อการท่องเที่ยวจึงไม่ใช่วิสัยของคนไทย

การจาริกแสวงบุญตามวาระโอกาสในประเพณีสิบสองเดือน กลับเป็นสาเหตุสำคัญของการท่องเที่ยว เทศกาลไหว้พระบาท งานนมัสการพระบรมธาตุ เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้พระมหากษัตริย์เสด็จออกนอกพระนครซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งพระราชอำนาจ อันเป็นโอกาสที่มีไม่บ่อยนัก

แต่ในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ พระองค์และสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีไปจนถึงสามร้อยยอด ตั้งพระตำหนักแทบฝั่งมหาสมุทรเที่ยวทรงเบ็ดในทะเลลึก แล้วไปสร้างพระตำหนักที่ตำบลโตนดหลวงเพื่อประพาสทะเลต่อรวมเวลาทั้งสิ้นกว่า ๑ เดือน จึงเสด็จเข้าเมืองเพชรบุรี นับเป็นการบันทึกถึงพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาพระองค์แรกที่เสด็จประพาสทางทะเลออกไปเที่ยวตกปลากลางทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่แหวกธรรมเนียมและดูจะผจญภัยใช้ชีวิตกลางแจ้งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนักหากตระหนักถึงพระราชจริยวัตที่ผ่านมาของพระองค์

สมเด็จพระเจ้าเสือและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ นิยมการพักผ่อนโดยเสด็จประพาสทรงเบ็ดบริเวณปากน้ำต่อกับทะเลหรือเรียกว่าในเขตทะเลตมก็ได้ ที่บันทึกไว้คือปากน้ำท่าจีน การท่องเที่ยวทะเลตมมีสภาพแวดล้อมของป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ พระราชพงศาวดารกล่าวว่ารัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหาชัยแต่ยังไม่แล้วเสร็จ มาเสร็จในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโดยการเกณฑ์ไพร่จากหัวเมืองปากใต้มาขุดคลองลัดจากคลองด่านไปออกแม่น้ำท่าจีน

และหนึ่งในสองพระองค์นั้นน่าจะเป็นผู้สร้างพระตำหนักไว้ที่วัดคุ้งตำหนัก ใกล้ปากอ่าวบางตะบูน ในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ กล่าวถึงตอนนี้ไว้ว่า

“ถึงที่วังตั้งประทับรับเสด็จ      มาทรงเบ็ดปลากะโห้ไม่สังหาร
ให้ปล่อยไปในทะเลเอาเพดาน      แต่โบราณเรียกองค์พระทรงปลา”

ค่านิยมของคนชั้นนำอย่างหนึ่งที่ปรากฏในการเขียนประวัติศาสตร์สมัยต้นรัตนโกสินทร์คือ มองการตกปลาล่าสัตว์ว่าเป็นเรื่องของการทำบาป และแฝงไว้ด้วยการดูถูก โดยเฉพาะอาชีพประมง ดังเช่นเมื่อสุนทรภู่เดินทางผ่านหมู่บ้านชาวประมงก็กล่าวว่า

“เป็นประมงหลงละโมบด้วยโลภลาภ ไม่กลัวบาปเลยช่างนับแต่ทรัพย์สิน”

และในพระราชพงศาวดารเมื่อกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าเสือ ก็ขยายความไปว่า

“สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นพอพระทัยทำปาณาติบาต ฆ่ามัจฉาปลาชาติน้อยใหญ่ต่างๆ เป็นอันมาก ด้วยตกเบ็ดทอดแหแทงฉมวก ทำลี่กันเฝือกดักลอบดักไซ กระทำการต่างๆ ฆ่าสัตว์ต่างๆ”

การตกปลาล่าสัตว์ จึงไม่ใช่ธรรมเนียมของการพักผ่อนในโลกทรรศน์และค่านิยมของคนชั้นสูงในสังคมไทยแต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ภารกิจของสุนทรภู่ครั้งที่ไปเมืองเพชรบุรีราวสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ แม้ไม่ใช่เพื่อการพักผ่อนท่องเที่ยวโดยตรง แต่ท่านก็ได้บรรยายถึงสิ่งที่พบเห็น รวมทั้งสภาพนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ของเขตป่าชายเลนและชีวิตของผู้คนไว้ได้อย่างถี่ถ้วน การเดินทางเช่นนี้นับเป็นการท่องเที่ยวได้รูปแบบหนึ่ง

เมืองเพชรบุรี นอกจากจะมีชายหาดที่เป็นโคลนตม ยังมีชายหาดทราย มีพื้นที่ทำนาปลูกข้าว ปลูกตาล รวมไปถึงมีแหล่งต้นน้ำที่เป็นเทือกเขาและภูเขา สภาพภูมิประเทศของเพชรบุรีซึ่งมีแนวเทือกเขาทางด้านตะวันตก นับเป็นแนวกันฝนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ได้ดี และได้รับลมเหนือซึ่งเป็นลมหนาวภายในแผ่นดินและลมทะเลจากทางใต้ สร้างเมืองเพชรบุรีให้เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีลักษณะแห้ง ไม่อับชื้น โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่ใช่หน้าฝน

ฝนในบริเวณนี้จึงตกเฉพาะช่วงฤดู เพียงสี่หรือห้าเดือน ทำให้เหมาะแก่การทำนาเกลือกว่าชายฝั่งทะเลบริเวณคาบสมุทรที่ได้รับลมมรสุมทั้งสองฝ่าย ทำให้ช่วงฤดูฝนยาวนานกว่าแปดเดือน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ ทรงประชวร ได้เสด็จมาพักผ่อนที่ชายหาดบ้านบางทะลุ จุดที่เป็นเขตหาดทรายต่อกับหาดโคลน เหนือตำบลโตนดหลวงราว ๑๕ กิโลเมตร ภายหลังพระองค์พระราชทานนามใหม่เป็น หาดเจ้าสำราญ

การเปลี่ยนสถานที่และอากาศหลังจากการประชวรในช่วงรัชกาลที่ ๒ แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตก และน่าจะเป็นจุดเริ่มสำหรับเมืองเพชรบุรีในฐานะเป็นเมืองตากอากาศ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ ทรงสร้างพระราชวังพระนครคีรี ขึ้นที่เขามหาสวรรค์ และมักเสด็จประพาสเมืองเพชรในราวเดือนสี่เดือนห้า หรือเดือนสิบสองเดือนอ้าย อันเป็นช่วงแล้งไม่มีเหตุให้เกิดเจ็บไข้แต่อย่างใด

ราว พ.ศ.๒๔๑๔–พ.ศ.๒๔๑๕ เมืองเพชรบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมืองตากอากาศอย่างสมบูรณ์แล้ว เพราะได้รับความนิยมจากชาวยุโรปซึ่งอาศัยอยู่ในบางกอก เป็นสถานที่สำหรับเปลี่ยนอากาศหรือตากอากาศยามหน้าร้อน แม้แต่ทูตชาวอเมริกันชื่อมิสเตอร์กิงและภรรยาเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ก็ออกมาอยู่ที่เพชรบุรีเป็นเวลานานเพื่อรักษาตัว

พระราชหัตถเลขาของพระยาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ เมื่อเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๕๓ สรุปถึงอากาศที่เมืองเพชรบุรีว่า

“อากาศที่เมืองเพชรบุรี เวลากลางวันอยู่ข้างจะร้อน แต่ถ้าหากว่าฝนจะตกยิ่งร้อนจัด แต่พอฝนตกแล้วเป็นหายร้อนทันที เวลากลางคืนเย็น จนรุ่งหนาวต้องห่มผ้า หมอเบอรเคอ (นายแพทย์ประจำพระองค์ชาวเยอรมัน) ชอบว่าสบายดีกว่าที่ไหนๆ ในเมืองไทย ยุงไม่มีเลย”

ในช่วงปลายของรัชกาลจึงซื้อที่ดินจากชาวบ้านไม่ไกลจากพระนครคีรีนัก เพื่อสร้างพระราชวังบ้านปืนสำหรับแปรพระราชฐานในช่วงฝนตกชื้นจัดในกรุงเทพฯ หลังจากเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งหลัง เพราะแพทย์ประจำพระองค์ทูลว่าเพื่อไม่ให้มีไข้ไม่เช่นนั้นพระโรคประจำพระองค์จะกำเริบ ไม่ทันที่พระราชวังจะเสร็จก็ทรงสวรรคตเสียก่อน

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เพชรบุรี ทำให้สามัญชนสามารถเดินทางได้โดยสะดวกยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ค่านิยมเรื่องการพักผ่อนตากอากาศกระจายลงสู่ขุนนางและคนชั้นนำในสังคมอย่างกว้างขวาง เกิดความนิยมท่องเที่ยวพักผ่อนที่ชายทะเลเมืองเพชรกันมาก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสด็จพักผ่อนที่เมืองเพชรบุรีเช่นกัน พระองค์โปรดประทับแรมที่ค่ายหลวงบางทะลุ ภายหลังพระราชทานนามใหม่ว่า ค่ายหลวงเจ้าสำราญ ต่อมาเปลี่ยนมาสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเลยหาดชะอำไปไม่ไกลนัก

ในเวลาเดียวกัน การเติบโตของเส้นทางคมนาคมที่เป็นทางรถไฟสายใต้ต่อเชื่อมกับมลายูของอังกฤษ การเดินเรือสินค้าและเรือโดยสารชายฝั่ง จากชะอำถึงหัวหินเริ่มมีการจับจองพื้นที่ชายหาดสร้างเป็นบ้านพักตากอากาศ ที่หัวหินซึ่งเป็นสถานตากอากาศแห่งแรกที่มีความหรูหราต้อนรับนักท่องเที่ยวชั้นสูงทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีทั้งสนามกอลฟ์และโรงแรมรถไฟ ต่อมาก็มีการบุกเบิกขึ้นที่เกาะหลัก อ่าวประจวบตีรีขันธ์ และมาถึงยุคของ สหคามชะอำ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ เป็นหัวหน้าคณะไปบุกเบิกสร้างพื้นที่ป่าชายทะเล เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ บริเวณชายหาดเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านแต่อย่างใด เพราะไม่สะดวกทั้งการคมนาคมและปัจจัยเรื่องน้ำ พื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตพัฒนา มีระยะ ๗ กิโลเมตรเลียบชายฝั่งทะเล มีการประชุมและวางแผนผังของเมืองอย่างสมบูรณ์ แต่น่าเสียดายที่ไม่อาจทำได้ตามที่ท่านผู้วางแผนต้องการ หลังจากการสะดุดลงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สหคามชะอำ ก็เสื่อมโทรมลงตามลำดับ

วันนี้ของเมืองตากอากาศ เช่นเพชรบุรี เผชิญกับปัญหาสารพัด ชายหาดที่เคยพักผ่อนตากอากาศกันอย่างสำราญ ก็เปลี่ยนมือเป็นของมีค่ามีราคาสูงลิ่วสำหรับการสร้างโรงแรมและคอนโดมิเนียม สถานที่ท่องเที่ยวชายหาดหลายแห่งอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมอย่างที่สุด ตั้งแต่หาดเจ้าสำราญบ้านบางทะลุ หาดชะอำ จนไปถึงหัวหิน

แม้เมืองตากอากาศสำหรับเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ผู้มีฐานะ จะเปลี่ยนมือมาเป็นเมืองตากอากาศสำหรับผู้คนทุกชนชั้น ความเปลี่ยนแปลงต่อมาคือความแออัดยัดเยียด สภาพแวดล้อมที่สกปรกขาดการเอาใจใส่ เมืองตากอากาศชั้นนำเช่นเพชรบุรีจึงได้พบความเสื่อมถอยมานานแล้ว

เพชรบุรีและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสถึงเมืองเพชรบุรี ครั้งที่ไปตรวจราชการใน พ.ศ.๒๔๔๒ ว่า

“….เห็นว่าจะหาเมืองใดในพระราชอาณาเขตรที่ดีกว่าเมืองเพ็ชรบุรีนี้ จะหาได้ด้วยยาก เปนเมืองที่ภูมลำเนาดี ที่น้ำที่ดินอุดมด้วยทรัพย์ ซึ่งจะเกิดสิ่งสินค้าต่างๆ แลผู้คนก็บริบูรณ์…..”

นครเพชรบุรีเมื่อแรกสร้างก็คงด้วยพินิจทรัพยากรและที่ตั้งอันเหมาะสมคล้ายดังคำกล่าวของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เช่นเดียวกัน ในฐานะเมืองท่าภายในที่มีการติดต่อกับราชสำนักจีน มีการค้าโพ้นทะเลอยู่เป็นนิจ เพชรบุรีในตำนานจึงเต็มไปด้วยร่องรอยของชาวจีนและวัฒนธรรมจีน ซึ่งยังคงสืบต่อมาบริเวณชุมชนประมงชายฝั่งทะเล

ในสมัยอยุธยา เพชรบุรีอยู่ในกลุ่มหัวเมืองปากใต้ คือกลุ่มเมืองที่อยู่ทางฝ่ายตะวันตกใต้กรุงศรีอยุธยาลงไป เป็นต้นทางไปสู่บ้านเมืองในคาบสมุทรมลายู อันได้แก่ เมืองนนทบุรี เมืองธนบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองสาครบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี และเมืองสมุทรปราการ ได้รบทัพจับศึกกับพม่าก็ต่อเมื่อ ทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านสิงขรโดยเฉพาะสงครามต่อเนื่องในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ แต่ไม่ปรากฏว่าการเสียกรุงศรีอยุธยาได้ทำให้เมืองเพชรบุรีถูกเผาทำลายแต่อย่างใด

ภาพจากซ้ายไปขวาและบนลงล่าง วัดกุฎิ บางเค็ม พระอุโบสถไม้ในย่านน้ำกร่อย, พระปรางค์วัดมหาธาตุ เพชรบุรี, ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม, ใบเสมาหินทรายแดงสมัยอยุธยาที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม, งานช่างฝีมือปูนปั้นที่ฐานใบเสมาวัดสระบัว

แต่กลับพบว่า มีวัดวาอารามและบ้านเรือนจำนวนหนึ่งสืบทอดต่อมาโดยไม่ได้ทิ้งร้าง และยังคงเก็บรักษาทั้งอาคาร ภาพจิตรกรรม ลายแกะสลัก พระพุทธรูป และเฉพาะอย่างยิ่ง สมุดไทย ใบลาน คัมภีร์ บันทึกต่างๆ ถูกเก็บรักษาไว้ได้มากกว่าเมืองอื่น การตั้งหอพระสมุดวชิรญาณในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ได้เอกสารมากมายไปจากเมืองเพชรบุรี

พระอุโบสถวัดสระบุวและวัดเกาะแก้วสุทธาราม

การดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องนี่เอง ทำให้เกิดช่างฝีมือชั้นเยี่ยมถ่ายทอดฝีมือสืบกันมาไม่ขาดสาย เพราะมีพร้อมงานฝีมือโบราณให้ศึกษาอยู่ทั่วไป และคนเมืองเพชรมิใช่ไร้ฐานะ แต่นิยมสืบทอดทำบุญแก่พระศาสนาด้วยการบริจาคเงินซ่อมแซมตามวัดวาอารามต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ช่างพระเมืองเพชรจึงมีมากและฝึกปรือฝีมือจนกลายเป็นกลุ่มสกุลช่างเมืองเพชร ไม่ว่าผู้ใดก็เห็นในฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์นี้

ผู้คนในหัวเมืองปากใต้ชายทะเลสมัยอยุธยา มีสินค้าพื้นถิ่นที่ส่งเข้ามาขาย เช่น ผลไม้จากสวน ของป่า อาหารทะเล อาหารทะเลแห้งหรือแปรรูป เกลือ ตับจาก ไม้ฟืน ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น
แต่สินค้าสำคัญของเมืองเพชรในสมัยรัตนโกสินทร์ คือ ข้าว เกลือ น้ำตาลโตนด และปลาแห้ง ข้าวและน้ำตาลถูกส่งเสริมให้ผลิตกันมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลิตเพื่อส่งออกตั้งแต่มีการพัฒนาการคมนาคมให้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขุดคลองดำเนินสะดวกและคลองภาษีเจริญ หรือการสร้างทางรถไฟในเวลาต่อมา

ลำน้ำเพชรบุรีและทิวดงตาล ภูมิทัศน์สัญลักษณ์ของเมืองเพชรฯ

การสร้างพระนครคีรีพระราชวังบนเขา ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเกณฑ์กลุ่มลาวทรงดำหรือลาวโซ่งมาสร้างพระนครคีรี โดยให้ตราภูมิคุ้มห้ามค่านาเป็นบำเหน็จตอบแทนตลอดชีวิต สะท้อนให้เห็นกลุ่มคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาเพราะการกวาดต้อนจากการศึกสงคราม ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ก็มีกลุ่มคนมอญที่เข้ามาจากชายแดนฝั่งตะวันตก ชาวมุสลิมจากทางใต้ เป็นต้น
ทำให้เพชรบุรีมีความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์อย่างยิ่ง ไม่เฉพาะแต่กลุ่มชาวจีน ไท-ลาว มอญ มุสลิม เท่านั้น แต่ยังมีคนกะเหรี่ยงจากดงดอย ผสมผสานกลายเป็นประชากรของเพชรบุรี

IMG20160528153507

พระนครคีรี

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเพชรบุรี ยังคงอธิบายได้ด้วยตำนานมหาเภตรา ที่บรรทุกผู้คนมากมายในเรือลำใหญ่ลำนั้น
เพียงแต่วันนี้ เรือสำเภาลำมหึมาคงไม่แตกและล่มสลายลง ดังเช่นในตำนาน

บรรณานุกรม
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอม
เกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี พ.ศ.๒๔๕๒ และ เสด็จประพาสต้นใน
รัชกาลที่ ๕ พิมพ์ครั้งที่ ๒๒ ในงานฌาปนกิจอุบาสิกาทรัพย์ เอลกวัฒน์, ๒๕๑๖

ตำนานพระบรมธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช, โรงพิมพ์ศิษย์เพาะช่าง, พิมพ์ครั้งที่ ๑๑, ๒๕๑๘
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. จดหมายเหตุระยะทางเสนาบดี
กระทรวงมหาดไทยเสด็จตรวจราชการหัวเมืองใน ร.ศ.๑๑๗, ๑๑๙, พระนคร, พิมพ์ครั้งที่ ๒ ในงานทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี ของพระเทพสุเมธี, ๒๕๑๕

นรเนติบัญชากิจ, หลวง. นิราศตังเกี๋ย ,องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๔
ศรีศักร วัลลิโภดม. เพชรบุรีกับความเป็นนครประวัติศาสตร์ เมืองโบราณ ปีที่๑๗ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๓๔

ศิลปบรรณาคาร. รวมวรรณกรรมของสุนทรภู่, พระนคร, ๒๕๑๓
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน. ประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรี เอกสารอัดสำเนา, วิทยาลัยครูเพชรบุรี, ๒๕๒๐
สรศัลย์ แพ่งสภา. ชะอำ ฟองคลื่นศักดินา สำนักพิมพ์ บริษัท พี.วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด
สุจิตต์ วงษ์เทศ. ศรีศรัทธา ขุนทัพกรุงสุโขทัยผู้ทิ้งอาวุธมุ่งพุทธภูมิ ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด, ๒๕๓๓
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑ ราชบุรี. คูบัว ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียง : กรมศิลปากร, ๒๕๔๑
Gervaise, Nicolas. The Natural and Political History of the Kingdom of Siam White Lotus CO.,LTD. 1989
Crawfurd, John, Dr. Journal of an embassy to the courts of Siam and Cochin China Oxford University Press, 1967
Veincent, Frank. The Land of the white elephant sights and scenes in South-East Asia 1871-1872
Smyth Warrington, Herbert. Five Years in Siam from 1891-1896 Vol.1-2, White Lotus, 1994