วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
ถนนท้าวอู่ทอง คือแนวชายหาดเก่าทอดยาวต่อเนื่องมาจากเมืองราชบุรีและเมืองคูบัวในลุ่มน้ำแม่กลองมาสิ้นสุดบริเวณเขาบรรไดอิฐหน้าเมืองเพชรบุรี ระดับแนวสันทราย (๖-๑๐ ม.รทก) เป็นขอบซึ่งพื้นที่ด้านในสูงยกตัวเหนือกว่าพื้นที่ด้านนอก (๑-๖ ม.รทก.) อย่างเห็นได้ชัด ใช้เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชุมชนบ้านเมืองตั้งแต่สมัยทวารวดีลงมาจนถึงอยุธยา ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางบกในภูมิภาคตะวันตกและคาบสมุทรสยาม

ยุคสุวรรณภูมิ
ราวสามถึงสี่ร้อยปีหลังพุทธกาล จีนสมัยราชวงศ์ฮั่นขยายอำนาจเข้าครอบงำจีนตอนใต้และเวียดนามตอนเหนือ เห็นหลักฐานการติดต่อค้าขายทางทะเลกับทางอินเดียไปจนถึงตะวันออกกลางผ่านดินแดนสุวรรณภูมิหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะต่างๆ เราเรียกช่วงเวลานี้ได้ว่า “ยุคสุวรรณภูมิ” ปัจจุบันพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่ระบุได้ว่าบริเวณคอคอดกระ [Kra Isthmus] มีเมืองท่าและแหล่งผลิตทั้งลูกปัดแก้วและหินกึ่งรัตนชาติ ทองคำ ดีบุก และตะกั่ว อยู่ทั้งสองฝั่งคาบสมุทรโดยที่มีช่องทางผ่านหลายแห่ง เชื่อมฝั่งทะเลจากชายฝั่งอ่าวไทยในจังหวัดชุมพรข้ามที่สูงของปลายแนวเขาตะนาวศรีสู่ชายฝั่งอันดามันตั้งแต่จังหวัดเกาะสองในสหภาพเมียนร์มาร์ ชายฝั่งระนองจนถึงกระบี่ พบว่าน่าจะเป็นแหล่งผลิตสินค้างานช่างฝีมือโดยนำวัตถุดิบมาจากแดนไกลเพื่อผลิตและส่งต่อ
ในช่วงเวลานี้นักวิชาการส่วนใหญ่จำกัดความว่าเป็นยุค “ก่อนประวัติศาสตร์” นั้น มีทั้งระบบการค้าขายแลกเปลี่ยนและมีการตั้งสถานีการค้า การผลิตสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออก และแม้ว่าอาจจะยังไม่มีชุมชนขนาดใหญ่ระดับเมืองที่ถูกสถาปนาเป็นเมืองท่า [Port Polity] แต่ก็เห็นชัดเจนว่ามีการติดต่อระยะทางไกลมากกว่าครึ่งโลกเกิดขึ้นแล้ว
แผ่นดินต้นคาบสมุทรสยามบริเวณที่ราบเชิงเขาของจังหวัดเพชรบุรีปัจจุบัน มีหลักฐานการอยู่อาศัยช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ในยุคโลหะตอนปลายหรือยุคเหล็กที่กำหนดอายุคร่าวๆ ราวต้นพุทธกาลหรือ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้วจนถึงเกือบถึงพุทธศตวรรษที่ ๕ ประเมินได้ว่าควรมีอายุร่วมสมัยกับยุค “สุวรรณภูมิ” ข้างต้น พบหลักฐานประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทขวานหินขัด เครื่องประดับที่ทำจากหิน ขวานหินขัด กำไลเปลือกหอย ภาชนะดินเผาในเขตที่ราบเชิงเขาต่อกับที่สูงทางตะวันตกต้นแม่น้ำเพชรบุรี แถบถ้ำเขากระปุกและเขตบ้านกลัดหลวง ส่วนบริเวณบ้านหนองแฟบก็พบการฝังศพร่วมกับโบราณวัตถุ ได้แก่ ภาชนะดินเผา ลูกปัดหินอาเกต ลูกปัดหินคาร์นีเลียน ลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็ก โดยผู้คนเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นราบไม่ไกลจากแหล่งน้ำและยังไม่ไกลจากฝั่งทะเลในอำเภอท่ายาง นอกจากนี้ก็พบภาชนะดินเผา ลูกปัดทำจากหินคาร์นีเลียนจำนวนมากบริเวณบ้านดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ ซึ่งเป็นแนวเขาเชื่อมต่อกับที่ราบต่อเนื่องกัน ใช้เครื่องมือเหล็กและสำริด พบลูกปัดทั้งแก้วและหินเพื่อใช้ประดับร่างกายและเป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคม น่าจะได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับชุมชนผู้ผลิตทางคาบสมุทร เช่น เขาสามแก้วและชุมชนชายฝั่งหลายแห่งในจังหวัดชุมพร มีการสวมเครื่องประดับสำริด เช่น แหวน กำไล เป็นต้น มีการใช้ภาชนะดินเผาที่ทำแบบพิเศษเพื่อใช้ในพิธีกรรมความเชื่อ ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนขนาดเล็กที่ไม่แตกต่างไปจากชุมชนในยุคเหล็กตอนปลายโดยเฉพาะในแถบลุ่มเจ้าพระยา
ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีการเกิดขึ้นของสหพันธรัฐฟูนันในราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๑๐ (หรือช่วงครึ่งแรกของ First Millennium CE.) บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยมีศูนย์กลางน่าจะอยู่ที่อังกอร์เบอเรยและมีชุมชนในระดับเมืองหรือชุมชนใหญ่น้อยในปริมณฑลโดยรอบรวมทั้งออกแอวที่เป็นเมืองท่าภายใน และเป็นต้นทางตัดสู่ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทย แสดงให้เห็นถึงการมีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองระดับรัฐ ผู้ปกครอง ความซับซ้อนทางประเพณีและพิธีกรรม ที่ติดต่อทางการค้าทางทะเลกับจีนและอินเดียรวมทั้งผ่านไปถึงเปอร์เซียและโรมัน
ส่วนทางลุ่มเจ้าพระยาก็เห็นภาพของชุมชนภายในบริเวณภูมิภาคตะวันตกในเส้นทางติดต่อจากลำน้ำแม่กลองเข้าสู่เมืองอู่ทองที่ ดอนตาเพชร และยังมีความเกี่ยวเนื่องกับชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนมากในบริเวณที่ราบลุ่มลอนลูกคลื่น [Undulating Plain] ในลุ่มเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันตกและทางตะวันออก
ช่วงเวลานี้จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ เกิดการเติบใหญ่ของบ้านเมืองตลอดทั่วทุกภูมิภาค ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาและความเชื่อและศิลปวัฒนธรรมผ่านการเดินทางเพื่อการค้าจากอนุทวีปอินเดียชัดเจน
ซึ่งแน่นอนดินแดนคาบสมุทรและเพชรบุรีเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการติดต่อดังกล่าว
ทวารวดีที่เพชรบุรี
ริมเนินของชายหาดเก่าที่เรียกว่า ถนนท้าวอู่ทอง พบชุมชนที่ทำโกลนพระพุทธรูปแบบทวารวดีหลายแห่งมาจนถึงเมืองเพชรบุรีและที่บ้านลาด ไล่จากทางเหนือของแนวถนนท้าวอู่ทองคือ การพบธรรมจักรศิลาแบบทวารวดีที่ บ้านหนองปรง ในอำเภอเขาย้อย โดยในเขตบ้านหนองปรงนี้ก็พบเศษภาชนะดินเผาแบบทวารวดีและอิฐกระจัดกระจายบนเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บ้านท่าเรือในอำเภอเขาย้อย พื้นที่ต่อกับลำคลองและที่ราบลุ่มใกล้ชายฝั่งที่มีเขาขนาดย่อมสำคัญของเมืองเพชรบุรีคือ เขาสมอระบัง พบโกลนพระพุทธรูป ฐานหินรูปสี่เหลี่ยมและกลมขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นฐานประติมากรรมที่มักพบตามเมืองทวารวดี
บริเวณที่พบหลักฐานแบบทวารวดีที่ในแนวเส้นทางแนวชายหาดเดิมจากทางเหนือของเมืองคูบัว ผ่านเมืองคูบัว ปากท่อ หนองปรง เขาย้อยมาจนถึงบริเวณเขาบันไดอิฐ ที่นี่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม สำรวจพบอิฐแบบทวารวดีขนาดใหญ่ที่ศาสนสถานบนเขา และบอกกล่าวให้บันทึกไว้เมื่อไปสำรวจในช่วงปีนี้
บ้านโพธิ์ใหญ่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีฝั่งตะวันตกในอำเภอบ้านลาดมีเนินโบราณสถานแบบทวารวดี มีต้นโพธิ์ใหญ่บนเนินที่มีถนนตัดผ่าน พบเศียรพระพุทธรูปและอิฐแบบทวารดวี แต่ที่สำคัญคือห่างออกไปราว ๒๐๐ เมตร พบแนวอิฐและเศษอิฐกระจาย เรียกว่า เนินดินแดง เป็นซากโบราณสถานขนาดกว้างประมาณ ๒๕ เมตร สูงประมาณ ๔ เมตร และยังพบอิฐทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑๔ เซนติเมตรและศิลาแลง มีต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุม ที่สำคัญคือชิ้นส่วนพระพักตร์พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ชิ้นส่วนหินบดและเศษภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง น่าจะเป็นโบราณสถานสมัยทวารวดีขนาดใหญ่
วัดป่าแป้น ห่างจากเนินโบราณสถานบ้านต้นโพธิ์ใหญ่มาตามลำน้ำเพชรบุรีราว ๑ กิโลเมตร เก็บโกลนพระพุทธรูปหินทรายแบบประทับยืนหนึ่งองค์ พระหัตถ์น่าจะทำปางวิตรรกะซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงทวารวดี ชาวบ้านขุดพบไม่ไกลจากหน้าวัดนัก

ปูนปั้นในเพิงถ้ำขนาดเล็กที่ ถ้ำเขาน้อยอยู่ทางฝั่งตรงข้ามและอยู่ด้านหลังของเขาถ้ำรงค์ เป็นเขาหินปูนลูกโดดเล็กๆ ริมคลองยอ ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำยายจูงหลาน ห้องถ้ำมีขนาดไม่ใหญ่และต้องเดินขึ้นไปเล็กน้อย มีกลุ่มปูนปั้นพระพุทธรูปที่งามและโดดเด่นด้วยการจัดวาง โดยเลือกพระพุทธรูปนั่งที่หายไปแล้วและพระพุทธรูปยืนเป็นประธาน มีการทาสีขาวที่พระวรกายและรัศมี สีแดงที่จีวร ทั้งอยู่ในตำแหน่งที่แสงลอดจากโพรงถ้ำด้านหนึ่งเข้ามากระทบ ทำให้ดูสุกสว่างเมื่อแรกเดินเข้ามาพบ สภาพสีที่สดใส แม้เวลาจะผ่านมานับพันปี ทำให้ดูชัดเจนโดดเด่นแม้จะอยู่ภายในถ้ำที่แสงน้อย
ขวา: พระพุทธรูปนั่งที่หายไปแล้วและพระพุทธรูปยืนเป็นประธานมีการทางสีขาวที่พระวรกายและรัศมีและสีแดงที่จีวร ทั้งอยู่ในตำแหน่งที่แสงลอดจากโพรงถ้ำด้านหนึ่งเข้ามากระทบ สภาพสีที่สดใส แม้เวลาจะผ่านมานับพันปี
พระพุทธรูปยืนที่เหลือสภาพสมบูรณ์ที่สุดนั้น พระพักตร์ลักษณะดวงตาเล็กและเฉียงขึ้นดูเป็นสัญลักษณ์ของชาวตะวันออกแบบชาวจีน พระหัตถ์ขวาถือหรือกำสิ่งที่น่าจะเป็นก้านดอกบัวลักษณะยาวเป็นเส้นจรดพื้น ส่วนดอกบัวอาจจะทับกับรูปกนกเปลวที่เป็นประภามณฑล พระหัตถ์ซ้ายวางลงด้านล่างหันฝ่าพระหัตถ์เข้าด้านใน มีประภามณฑลรอบพระวรกายตั้งแต่ข้อพระบาทจนโอบล้อมพระเศียรแสดงขอบเป็นริ้วเปลว ครองจีวรห่มเฉียง
ส่วนด้านซ้ายปรากฎภาพบุคคลสองคน คนหนึ่งด้านซ้ายรูปร่างเตี้ยกว่าจนสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเด็กและอีกบุคคลด้านขวาสูงกว่าและน่าจะเป็นเพศชาย แต่ส่วนลำตัวจนถึงเท้าถูกกะเทาะหักหายไป บุคคลทั้งสองจูงมือกัน จึงกลายเป็นชื่อถ้ำที่เรียกกันอย่างลำลองว่า ยายจูงหลาน นั่นเอง
ภาพระหว่างกลางเหลือเพียงประภามณฑล ร่องรอยมีการกะเทาะออกชัดเจน ด้วยตำแหน่งและขนาดรูปสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิและควรจะเป็นประธานของภาพปูนปั้นในถ้ำนี้
นอกจากพระพุทธรูปยืนแล้วยังมีภาพปูนปั้นเป็นบุคคลเหาะและพนมมือเหนือศรีษะ ส่วนเท้าหักหายไป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเทวดาแสดงความเคารพสูงสุด
สำหรับพระพุทธรูปประทับยืนซึ่งเส้นยาวที่ดูเหมือนน่าจะถือดอกบัวนี้ มีผู้วิเคราะห์จนแพร่หลายทั่วไปว่าเป็นไม้เท้าหัววงแหวนหรือ ขักขระ ซึ่งตีความไปว่าเป็นพระโพธิสัตว์กษิติครรภ์ เป็นพระโพธิสัตว์ในนิกายวัชรยานตันตระ มีหน้าที่โปรดสรรพสัตว์ในนรกภูมิ ปกติจะทรงถือไข่มุกเรืองแสงที่ใช้ขจัดความมืดของนรกในพระหัตถ์ซ้ายและถือไม้เท้าขักขระ ใช้สั่นให้เกิดเสียงดังเพื่อเปิดประตูนรกในพระหัตถ์ขวา แต่เท่าที่พิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้วก็ยังไม่สามารถให้ความสำคัญในข้อสันนิษฐานดังกล่าว แม้จะมีอิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายานในชุมชนโบราณย่านเมืองคูบัว แต่ก็ไม่เคยเห็นหรือจะมีข้อมูลอื่นใดที่แสดงถึงอิทธิพลของพระโพธิสัตว์อย่างแผ่นดินใหญ่จีนจะเข้ามามีบทบาทต่อพุทธศาสนาในแถบนี้
การวางภาพเช่นนี้น่าจะแสดงถึงเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในชาดก โดยมีภาพพระพุทธรูปประทับนั่งตรงกลางที่เหลือแต่เพียงร่องรอยประภามณฑลที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ส่วนพระพุทธรูปประทับยืนนั้นอยู่เบื้องขวาของพระประธาน ส่วนภาพบุคคลที่จูงมือหรือจับมือกันอยู่ทางเบื้องซ้าย บุคคลที่สูงกว่านุ่งผ้าที่ทาสีแดงชาดและสียังคงสดใส มีสายคล้องไหล่เฉวียงบ่าที่ไหล่ซ้าย มีปุ่มปมที่หัวไหล่ชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นสายธุรำหรือสายยัชโญปวีตที่แสดงความเป็นพราหมณ์ ใส่ต่างหูยาว ผมมุ่นมวยไว้ด้านบน ส่วนบุคคลที่ถูกจูงมือนั้นส่วนลำตัวสูญหายไปเสียหมดแล้ว
เนื้อเรื่องจึงน่าจะประมาณว่าเป็นเรื่องการตรัสรู้เป็นพระโพธิสัตว์ที่มีพราหมณ์และเทวดามาแสดงตนในห้องถ้ำแห่งนี้ ไม่ควรจะเป็นจุดหมายในระยะทางการเดินทางแสวงบุญมาเพื่อพบกับพระโพธิสัตว์กษิติครรภ์ที่มีหน้าที่โปรดสรรพสัตว์ในนรกภูมิ ส่วนอายุสมัยของถ้ำแห่งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบลายปูนปั้นก็น่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับการสร้างศาสนสถานที่เมืองคูบัวในจังหวัดราชบุรีที่ห่างไปราว ๕๐ กิโลเมตร และปูนปั้นจากมหาสถูปที่เชิงเขาเจ้าลายใหญ่ที่ชะอำที่ห่างออกไปราวๆ ๒๐ กิโลเมตร ถ้ำเขาน้อยจึงอยู่ในเส้นทางเดินทางและการแสวงบุญในระหว่างเมืองศูนย์กลางที่คูบัวและเมืองท่าทวารวดีที่เขาเจ้าลาย


นอกจากนี้ยังมีชุมชนใกล้พื้นที่สูงทางต้นน้ำเพชรแถบ บ้านหนองพระ ตำบลบ้านทวน อำเภอบ้านลาด เชิงเขาแด่น พบแนวโบราณสถานก่ออิฐและเศษอิฐรูปแบบทวารวดีจำนวนมาก
และกลุ่มชุมชนทวารวดีที่ เขากระจิวและรอบเขา ในอำเภอท่ายาง ส่วนใหญ่ถูกไถปรับพื้นที่ไปแล้ว พบแหล่งฝังศพในยุคเหล็กที่มีความต่อเนื่องกับชุมชนแบบทวารวดีและพบแผ่นอิฐขนาดใหญ่และภาชนะสมัยทวารวดี ซึ่งสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีที่ บ้านใหม่และบ้านมาบปลาเค้า ซึ่งห่างไปราว ๒ กิโลเมตร พบทั้งร่องรอยโบราณสถานที่มีอิฐแบบทวารวดีและบางแห่งเป็นเนินดินขนาดใหญ่ที่มีการฝังภาชนะใส่กระดูกเผาไฟไว้กว่า ๑๐๐ ใบ ส่วนที่มาบปลาเค้าพบชิ้นส่วนที่น่าจะเป็นส่วนประดับยอดเจดีย์ในสมัยทวารวดีทำจากศิลาแลง
นอกจากนี้บริเวณ บ้านดอนเตาอิฐ ที่ปึกเตียน ซึ่งห่างชายฝั่งทะเลราว ๒ กิโลเมตรและห่างจากเขากระจิวราว ๑๐ กิโลเมตรก็พบเศษภาชนะแบบทวารวดี เศษอิฐแบบทวารวดี ลูกปัดและโบราณวัตถุเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา
มหาสถูปที่ชะอำ บ้านโคกเศรษฐี เขาตาจีน และฐานเจดีย์สมัยทวารวดีบนยอดจอมปราสาทเขาเจ้าลายใหญ่ แนวเทือกเขาแบบคราสต์ [Karst] ด้านประชันกับชายหาดชะอำที่รู้จักกันในนาม เขาเจ้าลาย มาหลายศตวรรษ และเป็นจุดสังเกต [Landmark] สำหรับการเดินเรือเลียบชายฝั่ง ปัจจุบันเรียกว่า เขานางพันธุรัต ที่เป็นตำนานซ้อนตำนานดั้งเดิม มีร่องรอยการทำปูนเพื่อทำโรงงานซีเมนต์จนแนวเขาขาดแหว่งไปส่วนหนึ่ง เมื่อมีการขุดค้นทางโบราณคดีแล้วได้หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นพระสถูปในพุทธที่มีอิทธิพลศาสนาพุทธมหายานเช่นเดียวกันกับศาสนสถานที่เมืองคูบัวและมีความสัมพันธ์กับเมืองคูบัวที่พัฒนาขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมา
หลังการขุดแต่งทางโบราณคดีแล้วพบว่า ฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง ๒๕ เมตร ยาว ๒๕ เมตร ส่วนสูงที่เหลือคือ ๕ เมตร ก่ออิฐขนาดใหญ่แบบอิฐทวารวดีสอดินฉาบปูนเหลือเพียงส่วนฐาน มีบันไดขึ้นสู่ฐานประทักษิณที่ตรงกึ่งกลางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก พื้นด้านบนปูด้วยแผ่นอิฐ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสรองรับองค์สถูป ส่วนบนของสถูปชำรุดพังทลายเกือบหมด ผังเจดีย์นี้มีความคล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลย ๘ และ ๓๑ ที่เมืองโบราณคูบัว ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕
พบปูนปั้นตกอยู่จำนวนมาก กล่าวกันว่าเมื่อมีการขุดหาของเก่านั้น ปูนปั้นมีจำนวนมากจนต้องใช้รถบรรทุกขนจำนวนหลายคัน แต่การขุดแต่งโบราณสถานพบปูนปั้นส่วนใหญ่ติดอยู่กับฐานสถูปอยู่ในสภาพชำรุดแตกหักเป็นชิ้นๆ เช่น พระพุทธรูป เน้นที่พระพักตร์รูปไข่ พระอังสากว้าง พระวรกายยืดยาว บั้นพระเอวเล็ก ชิ้นส่วนพระหัตถ์ที่พบสันนิษฐานว่าแสดงปางประทานอภัยและแสดงธรรมเทศนา พบทั้งแบบยืนตรงและตริภังค์ พระพักตร์และพระชงฆ์มีร่องรอยการทาด้วยสีแดงเพื่อตกแต่ง ซึ่งรูปแบบและเอกลักษณ์นั้นคล้ายคลึงกับปูนปั้นพระโพธิสัตว์และพระพุทธรูปที่พบจากคูบัวและถ้ำเขาน้อยที่บ้านลาด
นอกจากนี้ยังพบปูนปั้นรูปพระโพธิสัตว์ เทวดา หรือบุคคลชั้นสูง รูปคนแคระ เศียรยักษ์ สิงห์ ซึ่งคล้ายกับปูนปั้นพบที่คูบัว โบราณวัตถุที่พบ เช่น พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทรงยืนตริภังค์ ครองจีวรห่มคลุม พระหัตถ์ซ้ายทรงถือชายจีวร สภาพชำรุดพระเศียร พระกร และพระบาทหัก ตลับรูปแตงเคลือบขาวและกระปุกดินเผาทรงกลมเคลือบเขียวอมฟ้าภายในบรรจุอัฐิเป็นเครื่องถ้วยจีนจากเตาหนานอัน มณฑลฝูเจี้ยน สมัยราชวงศ์ซุ้งอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
พบศาสนสถานบริเวณยอดเขาจอมปราสาทและภายในถ้ำของเขาตาจีน ส่วนพื้นที่การอยู่อาศัยบริเวณบ้านโคกเศรษฐีมีเนินดินที่เป็นร่องรอยของการอยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า ๘-๑๐ ไร่ แต่ส่วนใหญ่ถูกไถทำลายไปจนหมด
มหาสถูปที่ชะอำนี้มีรูปแบบมาตรฐานเดียวกับเจดีย์ที่สร้างกันอยู่ในบริเวณเมืองคูบัวและมีขนาดใหญ่เทียบได้กับเจดีย์สำคัญของเมือง รวมทั้งมีการอยู่อาศัยอย่างถาวรตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
แม้ชุมชนนี้จะไม่มีการสร้างคูน้ำคันดินและมีองค์ประกอบของการเป็นเมืองขนาดใหญ่ แต่มีความสำคัญต่อเมืองคูบัวในฐานะเป็นสถานีการค้าอันเป็นจุดสังเกตของการเดินเรือเลียบชายฝั่งอันมีรูปแบบที่แน่นอนมาแต่ครั้งโบราณ และอยู่ในจุดพักของการเดินทางบกข้ามคาบสมุทรจากเมืองคูบัวผ่านเทือกเขาตะนาวศรีสู่เมืองท่าทางฝั่งอ่าวเบงกอล ชุมชนสมัยทวารวดีที่เชิงเขาเจ้าลายจึงเพิ่มมิติของเครือข่ายสนับสนุนต่อการเป็นเมืองท่าสำคัญของเมืองคูบัวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในบรรดาชุมชนสมัยทวารวดีต่างๆ มีเพียงแห่งเดียวที่กล่าวได้ว่าเป็นเมืองสถานีการค้าริมชายฝั่งทะเล ซึ่งมีพระมหาสถูปเป็นศูนย์กลางและสัญลักษณ์ของเมืองทางศาสนาพุทธ มีความสำคัญต่อการเดินเรือเลียบชายฝั่งและการเดินทางข้ามคาบสมุทรและสามารถติดต่อโดยเดินทางบกสู่เมืองคูบัวที่อยู่ด้านใน อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางข้ามคาบสมุทรโดยเดินทางสู่ต้นน้ำเพชรและข้ามสันเขาตะนาวศรีสู่ชายฝั่งอันดามันได้ (และช่องทางนี้ใช้เดินทางข้ามคาบสมุทรกันเป็นปกติจากเมืองท่าที่มะริดสู่กรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ ในช่วงต้นกรุงฯ) เป็นพยานอย่างแน่ชัดว่า ความรู้เกี่ยวกับการเดินเรือเลียบชายฝั่งหรือการเดินทางข้ามคาบสมุทรตอนบนสุดนี้มีอยู่เป็นอย่างดีตั้งแต่สมัยทวารวดีหรือก่อนหน้านั้นแล้ว
เมืองเพชรบุรีในพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙
ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ฐานะการเป็นเมืองท่าภายในของเมืองคูบัวได้เปลี่ยนศูนย์กลางไปอยู่ที่เมืองราชบุรี เพราะเมืองคูบัวที่ติดต่อกับคลองแม่น้ำอ้อมคงเริ่มเล็กแคบทั้งคดโค้งกว่าแม่น้ำแม่กลอง ดังพบหลักฐานทั้งหางเสือเรือสินค้าขนาดใหญ่ร่วมกับเครื่องถ้วยด้วยเฉพาะสมัยราชวงศ์ถังในลำน้ำแม่กลองจำนวนไม่น้อย เมืองท่าริมฝั่งทะเลที่ชะอำก็ยังทำหน้าที่เป็นชุมชนสำคัญในการเดินเรือเลียบชายฝั่งมาจนถึงระยะนี้ จากหลักฐานโบราณวัตถุที่พบรวมทั้งความสำคัญของเขาเจ้าลายในแผนที่โบราณของชาวตะวันตกยุคเริ่มแรกของยุครุ่งเรืองจากการค้าทางทะเลในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา ก็จะลงจุดสังเกตที่เขาเจ้าลาย [Chao Lai Peak] ว่าเป็นเมืองขนาดเล็กหรือจุดสังเกตในการเดินเรือตัดผ่านข้ามอ่าวไทยสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือตัดข้ามอ่าวเพื่อเดินทางไปยังชายฝั่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมาโดยตลอด
มีสัญญาณให้เห็นชัดเจนจากทั้งตำนานเรื่องเล่า จารึกที่มีการกำหนดอายุ และจดหมายเหตุการส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังจีนซึ่งล้วนอยู่ในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ว่าเกิดการรวมบ้านเมืองซึ่งเคยเป็นอิสระต่อกันและตั้งอยู่ชิดริมแม่น้ำสายหลักต่างๆ ในแอ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา [Chao Phraya Delta] และเมืองแต่ละแห่งนั้นมีความสัมพันธ์กันจากการเป็นเครือญาติในระดับของผู้ปกครอง
จากสุโขทัยที่เป็นเมืองใหญ่สำหรับการค้าทางไกลข้ามภูมิภาค ติดต่อลงมาถึงบ้านเมืองทางคาบสมุทร ผ่านการเดินทางในเส้นทางของบ้านเมืองต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตก ซึ่งมีหลักฐานของสัมพันธ์ของบ้านเมืองต่างๆ ในยุคนี้ เช่น จดหมายเหตุของโจวต้ากวานกล่าวถึง เสียนหลอหู ซึ่งมีนัยว่า บ้านเมืองสองแห่งที่แยกกันคือ เสียน ซึ่งน่าจะเป็นเมืองสุพรรณภูมิที่มีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัย อโยธยาและเพชรบุรี และ หลอหู คือ ละโว้ ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวแล้ว และมีความหมายถึงการเริ่มต้นสถาปนาการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่อโยธยา เมืองเก่าทางฝั่งขวาของแม่น้ำป่าสัก จนกลายมาเป็นกรุงศรีอยุธยา เมืองท่าสำคัญในบริเวณที่สามารถเชื่อมต่อได้ทุกลุ่มน้ำ
ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ตำนานเมืองและตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีว่าเป็นเมืองร่วมสมัยกับเมืองนครศรีธรรมราชและมีกษัตริย์ปกครอง ทางฝ่ายเมืองนครฯ คือ พญาศรีธรรมาโศกราช ฝ่ายเมืองเพชรบุรีคือ พระเจ้าอู่ทอง ทั้งสองพระนามนี้เป็นกษัตริย์ที่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรม [Culture Hero] ของบ้านเมืองแถบคาบสมุทรและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามลำดับ ภายหลังมีปัญหาเรื่องเขตแดนรบกันไม่แพ้ไม่ชนะจึงตกลงทำสัญญาแบ่งเขตและเป็นไมตรีต่อกัน ทั้งฝากฝังเครือญาติและแลกเปลี่ยนทรัพยากร ฝ่ายเมืองนครฯ มาขอเกลือจากเมืองเพชรบุรี หลังจากนั้นเมืองนครฯ ร้างเป็นป่าดง ต่อมา พระพนมทะเลฯ เจ้านายซึ่งมีเชื้อสายอโยธยามาตั้งบ้านเมืองริมสมุทรที่เพชรบุรี สร้างชุมชนทำนาเกลือ อีกทั้งยังทำนาอยู่ที่บางสะพาน ต่อมาได้ติดต่อค้าขายกับสำเภาจากราชสำนักจีนซึ่งซื้อไม้ฝางกลับไป มีโอรสคือ พระพนมวัง และ เจ้าศรีราชา ที่ไปสร้างเมืองนครดอนพระ ซึ่งสัมพันธ์กับเมืองนครศรีธรรมราช เหตุการณ์ในตำนานน่าจะเทียบได้กับจดหมายเหตุจีนที่เมืองกมรเตงเจ้าเมืองเพชรบุรีเพชรบุรีส่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักหยวน เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๗

จะเห็นว่าทรัพยากรที่สำคัญของเมืองเพชรบุรีนั้นคือ เกลือสมุทร (ที่บ้านแหลมรวมทั้งนาเกลือเก่าแก่แถบบางเก่าและบ้านโตนดหลวง) รวมไปถึง ไม้ฝางจากป่าเขาตะนาวศรี ทั้งมีพื้นที่ทำนาปลูกข้าว และเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลที่เป็นศูนย์กลางทั้งการเดินเรือเลียบชายฝั่งและเส้นทางข้ามคาบสมุทร ความสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่อยู่ภายใน เช่น สุโขทัย แพรกศรีราชา สุพรรณภูมิ ราชบุรี และบ้านเมืองทางแถบคาบสมุทรที่นครศรีธรรมราช ซึ่งปรากฏเนื้อความอยู่ในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ และจารึกวัดเขากบ
เมืองเพชรบุรีจึงเป็นเมืองท่าภายในศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ ทั้งเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรที่สำคัญ ตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมาแล้ว
เมืองเพชรบุรีตั้งอยู่ใกล้กับแนวชายหาดทะเลเดิมที่มาสิ้นสุดตรงเขาบันไดอิฐ และเลือกที่จะตั้งอยู่ริมลำน้ำเพชร น่าจะมีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ รูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัสด้านประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร และ ๑,๓๐๐ เมตรปัจจุบันไม่คงเหลือสภาพแต่อย่างใด
ตำแหน่งของเมืองเพชรบุรีอาศัยลำน้ำเพชรบุรีเป็นคูเมืองและเป็นบริเวณหน้าเมืองที่มีประตูออกสู่ท้องน้ำ ทำให้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผู้คนสัญจรไปมาตามลำน้ำจากอำเภอบ้านลาดผ่านเมืองไปทางเหนือเพื่อออกทะเลที่ปากทะเลแถบคลองบางจานและคลองบางแก้วที่บ้านทำเนียบ ตลอดจนติดต่อกับชุมชนนาเกลือและการประมงที่อ่าวบ้านแหลมและอ่าวบางตะบูนผ่านทางเขายี่สารซึ่งเป็นต้นทางที่จะเดินทางโดยใช้เส้นทางน้ำภายในเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องใช้เส้นทางบกหรือทางทะเลเข้าทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ภายในเมืองก็มีศาสนสถานสำคัญของบ้านเมืองอยู่ที่วัดกำแพงแลง และ บริเวณวัดพลิบพลี ขณะที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นวัดศูนย์กลางของพิธีกรรมของบ้านเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ชุมชนที่เพชรบุรีอาจจะเกิดร่วมสมัยหรือหลังจากยุคสมัยของกษัตริย์ผู้ใหญ่แห่งเมืองพระนคร พระเจ้าชัย วรมันที่ ๗ บารมีของพระองค์แผ่กว้างไกลจนบ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยาจำนวนหนึ่งนิยมสร้างศาสนสถานแบบพุทธมหายานในรูปแบบเดียวทั้งที่ปราสาทเมืองสิงห์ วัดกำแพงแลง เพชรบุรี วัดมหาธาตุ ราชบุรี รวมทั้งที่สระโกสินารายณ์ หนองแจงและเนินทางพระที่สามชุก สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นการรับผ่านมาจากวัฒนธรรมเขมรแบบบายนจากเมืองลพบุรีอีกทอดหนึ่ง ช่วงเวลานี้ร่วมสมัยกับการเคลื่อนไหวเพื่อการค้ารวมทั้งเกิดความสัมพันธ์ทางการเมืองผ่านระบบเครือญาติจากนครศรีธรรมราชขึ้นมาต่อกับเมืองเพชรบุรีและบ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ต่อกับต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙
โดยมีศาสนสถานที่ปราสาทกำแพงแลง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากฝั่งน้ำเพชรราว ๑ กิโลเมตร ก่อด้วยศิลาแลงและทำกำแพงศิลาแลงล้อมรอบมีปูนปั้นประดับ ผังของปราสาทรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงมีปราสาท ๔ องค์ ปราสาท ๓ องค์ทางด้านหน้าเรียงกันในแนวเหนือใต้คล้ายการเรียงตัวของพระปรางค์สามยอด ลพบุรี ปราสาทประธานมีขนาดสูงใหญ่กว่าอีก ๒ องค์ ส่วนปราสาทองค์ที่ ๔ อยู่ด้านหลังของปราสาทประธานทางทิศตะวันออก มีโคปุระ ๑ หลัง กล่าวกันว่าเคยมีสระน้ำกรุขอบอยู่ชิดแนวกำแพงทิศตะวันออก และพบชิ้นส่วนประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมี พระโพธิสัตว์โลเกศวรสี่กร พระวัชรสัตว์นาคปรก นางปรัชญาปารมิตา ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสภาพชำรุดและอยู่ในการครอบครองของเอกชนแต่ไม่มีภาพหลักฐานแต่อย่างใด
ส่วนบริเวณวัดเพชรพลีหรือวัดพริบพรีอยู่ในพื้นที่เมืองเก่าเช่นเดียวกับวัดกำแพงแลง ไม่พบโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าคราววัดกำแพงแลงหรือต่อเนื่องมา เพียงแต่พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่ทำจากศิลาแลง ระฆังหิน ใบเสมาหินทรายแบบอยุธยาตอนต้น และกล่าวกันว่าบริเวณใกล้เคียงและภายในพื้นที่วัดพริบพรีหรือเพชรพรีนี้เป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ที่ประดิษฐานพระอิศวรที่อาจจะนำต้นแบบมาจากเมืองนครฯ
การมีโบสถ์พราหมณ์เมืองเพชรถือว่าสำคัญเพราะทำให้เห็นความเชื่อมโยงกับพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีพราหมณ์หรือนักบวชและเทวสถานรวมตัวอยู่อย่างหนาแน่นในช่วงสมัยแห่งรัฐตามพรลิงค์ตั้งแต่สมัยศรีวิชัย โดยที่เมืองเพชรบุรีพบพระวิษณุสององค์ที่สำคัญ และเป็นเทวรูปรุ่นเก่าเปรียบเทียบได้กับเทวรูปพระวิษณุที่พบจากตะกั่วป่า เวียงสระ นครศรีธรรมราช และทางเมืองศรีมโหสถที่ปราจีนบุรี ตลอดจนเมืองศรีเทพที่เพชรบูรณ์ โดยการเปรียบเทียบอายุ เป็นพระวิษณุนุ่งผ้านุ่งยาวอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ได้รับอิทธิพลแบบคุปตะและหลังคุปตะเรียกว่าพระวิษณุสวมหมวกแขก สันนิษฐานว่าน่าจะนำมาจากบริเวณใกล้เคียงกับวัดเพชรพลี และเป็นไปได้ที่เหล่าพราหมณ์จะนำมาจากทางเมืองนครศรีธรรมราชในช่วงที่เมืองเพชรบุรีนั้นเริ่มมั่นคงแล้วในพุทธศตวรรษที่ ๑๙

นอกจากนี้ที่เมืองเพชรบุรียังมีศาสนสถานที่คงเหลือหลักฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์แบบอโยธยา เรียกันว่า เจดีย์แดง ที่อยู่นอกเมืองเก่าเพชรบุรีไปทางใต้ราว ๒ กิโลเมตร ทางแม่น้ำเพชรทางฝั่งตะวันตกในตำบลบ้านหม้อ เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่ยังคงเห็นรูปทรงที่ถูกบูรณะเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ก่ออิฐไม่สอปูน สภาพพุกร่อนจนเห็นเนื้ออิฐสีแดงจัด ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดราว ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๒๐ เมตร เหนือเรือนธาตุมีคูหาทางทิศตะวันออก ทำเป็นซุ้มประตู ในคูหาเป็นห้องสี่เหลี่ยม ส่วนด้านอื่นๆอีก ๓ ด้านทำเป็นประตูหลอก

เหนือซุ้มคูหาขึ้นไปด้านบนเห็นชัดว่าเคยเป็นเจดีย์ฐานทรงสี่เหลี่ยมแล้วก่อขึ้นมาเป็นแปดเหลี่ยมรองรับด้านบนที่หักหายไปน่าจะเป็นองค์ระฆัง แบบที่อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะเรียกว่า เจดีย์แบบอโยธยา-สุพรรณภูมิ แต่มีการซ่อมที่ฐานด้านล่างให้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมแล้วใส่แข้งสิงห์เข้าไป ซึ่งเป็นรูปแบบเจดีย์ย่อมุมในสมัยอยุธยาตอนปลายได้ น่าจะเป็นเจดีย์องค์สำคัญองค์หนึ่งที่สร้างขึ้นในช่วงอโยธยา-สุพรรณภูมิ ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ซึ่งคล้ายคลึงกับเจดีย์หักที่นอกเมืองราชบุรีที่มีรูปแบบและอายุน่าจะใกล้เคียงกัน

พระพุทธรูปปูนปั้นที่ถ้ำรงค์ในอำเภอบ้านลาด เป็นเขาหินปูนลูกโดดไม่สูงนักอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเพชร ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรีมาทางใต้ราว ๘-๙ กิโลเมตร ภายในถ้ำคูหาเดียวขนาดใหญ่มีพระพุทธรูปประทับยืน ปางประทานอภัย บนฐานสี่เหลี่ยมสูงและมีฐานบัวรองรับ ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อดำเพราะส่วนด้านบนนั้นคงเหลือรักสีดำปรากฎอยู่ คงมีชาดสีแดงทาทับและคงมีการปิดทองมาก่อน มีร่องรอยของปูนปั้นรูปนาคแบบท้องถิ่นเป็นกรอบซุ้มเรือนแก้วและมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัยรูปแบบเดียวกันแต่ขนาดเล็กกว่าขนาบทั้งสองด้านเรูปแบบเดียวกัน รูปแบบอาจจะย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยาตอนต้นและสืบเนื่องกับรูปแบบพระพุทธรูปยืนที่นครศรีธรรมราช การรับอิทธิพลงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาทั้งแบบนครศรีธรรมราชและแบบไชยาในเมืองเพชรบุรีไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ พระพุทธรูปหินทรายบางองค์ที่เก็บรักษาไว้ที่ระเบียงวัดมหาธาตุ เพชรบุรี ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มพระพุทธรูปหินทรายที่ระเบียงรอบพระบรมธาตุไชยา เช่นมีอุษณีษะเป็นรูปใบเสมาด้านหน้า พระพุทธรูปปูนปั้นรูปแบบนี้ที่เรียกว่าแบบอู่ทองหรือแบบอยุธยาตอนต้นหรือจะเรียกว่าแบบอโยธยาก็ได้ ทั้งยังพบที่ถ้ำเขาหลวงในเมืองเพชรเช่นกัน
บรรณานุกรม
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑ ราชบุรี. “ทุ่งเศรษฐี” โบราณสถานทวาราวดีชายฝั่งทะเลเพชรบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด, ๒๕๔๓
สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี. ข้อมูลแหล่งโบราณคดีบ้านหนองพระ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี. http://www.finearts.go.th/fad1/parameters/km/item/แหล่งโบราณคดีบ้านหนองพระ.html เข้าถึง ๑๖ เมษายน ๒๕๖๓
สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี. แหล่งที่พบโบราณวัตถุในวัฒนธรรมทวารวดีที่บ้านท่าเรือ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี. http://www.finearts.go.th/fad1/parameters/km/item/แหล่งโบราณวัตถุบ้านท่าเรือ.html. เข้าถึง ๑๖ เมษายน ๒๕๖๓
ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยา (องค์การมหาชน). บ้านมาบปลาเค้า. https://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/บ้านมาบปลาเค้า. เข้าถึง ๑๖ เมษายน ๒๕๖๓
ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยา (องค์การมหาชน). บ้านดอนเตาอิฐ. https://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/บ้านดอนเตาอิฐ.เข้าถึง ๑๖ เมษายน ๒๕๖๓
ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยา (องค์การมหาชน). บ้านเขากระจิว. https://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/บ้านเขากระจิว.เข้าถึง ๑๖ เมษายน ๒๕๖๓