วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ภาพถ่ายเมื่อกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

เมืองฮ่าเตียนอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในจังหวัดเกียนยาง [Kien Giang] ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ติดกับพรมแดนกัมพูชาที่อยู่ห่างไปราว ๗ กิโลเมตรและชายฝั่งทะเลที่ยังคงเรียกว่าอ่าวไทย และห่างจาก “เมืองเจ๊าดก” หรือที่คนไทยรู้จักในนาม “เมืองโชดก” ราว ๑๐๐ กิโลเมตร 

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ปากอ่าวเมืองฮ่าเตียน

แต่เดิมเป็นเขตเขมรนอกที่เรียกว่า “แขมร์กรอม” เป็นเมืองท่าที่อุดมสมบูรณ์และอยู่ในเส้นทางการค้าจากจีนมายังบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอนุทวีปอินเดีย ถือเป็นเส้นทางสำคัญในยุคการค้าและการเดินเรือทะเลเฟื่องฟู บ้านเมืองในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงนี้เป็นพื้นที่ของชุมชนเริ่มแรกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กับผู้คนและชุมชนที่มีการเดินเรือเลียบชายฝั่งของกลุ่มวัฒนธรรมแบบซ่าหวิ่งห์ [Sa Hyunh] ในยุคโลหะตอนปลาย ต่อเนื่องกับกลุ่มชนที่เริ่มรับวัฒนธรรมจากโพ้นทะเลโดยเฉพาะจากอินเดีย เพราะพื้นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ 

1-2

แผนที่แสดงบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และเส้นทางคลองขุดลัดโบราณที่ใช้สำหรับการเดินทางเลียบชายฝั่งตัดเข้าสู่แผ่นดินภายใน โดยไม่ต้องอ้อมแหลมญวน และเมืองสำคัญต่างๆ

บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงนี้แต่เดิมจึงเป็นเส้นทางเริ่มต้นเส้นสำคัญของวัฒนธรรมเขมรโบราณที่เปรียบได้ในยุคฟูนันและเจนละ ต่อมาเมื่อมีการขยายอำนาจทางการเมืองของราชวงศ์เหวียนในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ จึงมีการปรับปรุงสภาพหนองบึงตามธรรมชาติ  และสร้างเครือข่ายลำคลองเล็กๆ มากมาย และมีการตั้งถิ่นฐานของทั้งชาวจามที่ถอยร่นมาจากทางภาคกลางของเวียดนามในดินแดนจามปาแต่เดิมและชาวญวน

บรรยากาศบริเวณชายหาดและสะพานข้ามปากอ่าวและท่าเรือเมืองฮ่าเตียนในปัจจุบัน 

ต่อมามีการขุดคลองใหญ่ขึ้น ๒ สาย ซึ่งขุดในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๒-๒๓๖๗ คือ “คลองไทฮวา” [Thai Hoa] ซึ่งเชื่อมเมืองร้ากยา [Rach Gia] กับเมืองลองเสวียน [Long Xuyen] โดย “คลองวิงห์เต” [Vinh Te] ระยะทาง ๘๗ กิโลเมตรเชื่อมเมืองเจาด๊ก [Chau Doc] กับเมืองฮ่าเตียน [Ha tein] โดยตรง ผู้รับผิดชอบขุดคลองวิงห์เต คือ “ไทหง็อกเห่า” เป็นข้าราชการระดับสูง ตั้งชื่อคลองตามภรรยาของเขา ต่อมาคลองสายนี้กลายเป็นพรมแดนระหว่างประเทศกัมพูชาและเวียดนามในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ไทหง็อคเห่ายังสร้างถนนจากเมืองเจาด๊กราว ๕ กิโลเมตร ถึงภูเขา “หนุ่ยซาม” [Nui Sam] เพราะมองจากไกลๆ เหมือนแมงดาทะเลที่ตรงกับคำว่าซาม เขาหนุ่ยซามเป็นหนึ่งในเจ็ดแนวเขาในพื้นที่ราบที่ต่อเนื่องไปจนถึงบ้านเมืองในเขตเขมรตอนในและมีชุมชนโบราณสำคัญและศาสนสถานสำคัญตั้งอยู่ บนไหล่เขามีวัดไตอัน ที่มีศาสนสถานและโบราณวัตถุในศาสนาฮินดูทำจากหินแกรนิตที่เป็นส่วนหนึ่งของรูปเคารพแบบเขมรพนมดา ตำนานเล่าว่า ในช่วงที่กองทัพสยามบุกดินแดนเวียดนาม เมื่อกลุ่มนักรบสยามขึ้นไปบนยอดเขาจึงพบรูปปั้นเจ้าแม่ซื้อแล้วช่วยกันยกลงมา แต่พอเดินได้สักพักหนึ่ง รูปปั้นเจ้าแม่ซื้อเหมือนกับมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจนยกไปไม่ได้อีกจึงล้มเลิกไป ตอนหลังชาวบ้านคนเวียดนามพบรูปปั้นจึงช่วยกันยกลงจากภูเขา แต่ก็ไม่สามารถยกได้แม้จะมีคนร่วมมือกันเป็นร้อยๆ คน เผอิญมีผู้หญิงคนหนึ่งเรียกตนเองเป็นเจ้าแม่ซื้อมาให้คำแนะนำว่าต้องมีผู้หญิงบริสุทธิ์จำนวน ๙ คน อาบน้ำร่างกายให้สะอาดถึงจะยกรูปปั้นลงจากภูเขาได้ ชาวบ้านทำตามคำแนะนำดังกล่าว ปรากฏว่ายกได้จริงๆ พอมาถึงตีนเขาปรากฏว่ารูปปั้นมีน้ำหนักมากขึ้นจนยกไม่ได้อีก ชาวบ้านจึงคิดว่าเจ้าแม่ซื้อต้องการให้ตั้งรูปปั้นอยู่ตรงนั้น จึงสร้างสถานที่บูชา ซึ่งเป็นสถานที่ในปัจจุบัน จากตำนานนี้จึงเรียกรูปปั้นเป็นเจ้าแม่ซื้อ 

ส่วนที่สำคัญคือวัดเดนแถงห์เหมาหรือวัดแห่งแม่พระ ชาวบ้านเรียก “เจ้าแม่ซื้อ” หรือ “Lady Sue” หรือ “Lady of the realm” ซึ่งมีการบูชารูปสลัก ในเดือน ๔ ของทุกปีจะมีการแห่ขบวนฉลองและเป็นเทศกาลเดินทางเพื่อแสวงบุญของชาวเวียดนาม

เขาหนุ่ยชามยามเช้าและประเพณีบูชาเจ้าแม่ซื้อหรือเจ้าแม่ดำ เทพองค์สำคัญของชาวบ้านในเขตตอนใต้ซึ่งมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวเนื่องกับกองทัพสยามครั้งรัชกาลที่ ๓

แนวเทือกเขานี้พบแหล่งโบราณคดีสำคัญในยุคฟูนัน-สุวรรณภูมิคือที่  “ออกแอว” [Oc Eo] เป็นเส้นทางบกที่ต่อเนื่องกับบ้านเมืองใกล้ชายฝั่งทะเลและเดินทางไปยังบันทายมาศหรือพุทไธมาศหรือเมืองเปียมที่เป็นเมืองท่าภายในก่อนที่จะมีการสร้างชุมชนบ้านเมืองชายฝั่งทะเลที่ฮ่าเตียน

2.JPG

แผนที่บริเวณเมืองออกแอว

ที่เมืองเจาด๊กทุกวันนี้ยังมีวัดและสุสานของไทหง็อกเห่าและภรรยาทั้งสองคนชาวเวียดนามนับถือเป็นผู้มีพระคุณจนกลายเป็นเทพสำหรับชาวบ้านในบริเวณนี้ เพราะเป็นคนบุกเบิกและรักษาดินแดนแถบฝั่งตะวันตก ไทหง็อกเห่าเคยติดตาม “เหงียนฟุคอัง” [Nguyen Phuc Anh] หรือ “องเชียงสือ” หลังปราบดาภิเษกเป็น “พระจักรพรรดิญา ล็อง” ในภายหลัง ไปขอความช่วยเหลือจากสยาม ๒ ครั้ง และตลอดชีวิตไทหง็อกเห่าเคยไปสยามถึง ๗ ครั้ง  

เมืองฮ่าเตียนก่อตั้งโดยพ่อค้าจีนชาวกวางตุ้งชื่อ “ม่อจิว” หรือ “มักกู๋ว” [Mac Cuu] ในปี พ.ศ. ๒๒๕๑ กล่าวกันว่าเคยเป็นขุนนางและพ่อค้าที่หนีอำนาจทางการเมืองเมื่อเปลี่ยนราชวงศ์ฮั่นมาเป็นราชวงศ์ชิง ม่อจิวออกเดินทางแสวงโชคไปในหลายประเทศในภูมิภาคนี้และต่อมาตั้งตัวได้ที่เขมรสร้างชุมชนเมืองท่าที่ปากน้ำเมืองเปียมหรือเมืองบันทายมาศซึ่งเป็นเมืองท่าภายในที่อยู่ห่างจากปากน้ำเข้าไปราวๆ ๒๐ กิโลเมตร มักกู๋วสามารถปกครองได้จนอาจจะเรียกว่าเป็นเมืองอิสระที่ขึ้นต่อเขมร สยาม และเมืองอื่นๆ ตามสถานการณ์ที่จำเป็น จุดนี้ทำให้เมืองฮ่าเตียนเป็นเมืองท่าปลอดภาษี เปิดบ่อนการพนัน ผลิตเหรียญกษาปณ์และมีเหมืองแร่ดีบุกเป็นของตนเอง จนรุ่งเรืองและเป็นเมืองมั่งคั่งอย่างรวดเร็วเนื่องจากที่ตั้งอยู่ในเส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่งที่สำคัญ เมืองฮ่าเตียนกลายเป็นเมืองท่าค้าขายของคนจีนโพ้นทะเลที่ค่อนข้างมีอิสระในตัวเองในช่วงที่อาณาจักรไดเวียดจากทางภาคกลางขยายอำนาจและอิทธิพลมาทางดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ฮ่าเตียนสวามิภักดิ์ทุกราชวงศ์ในเขตแดนใกล้เคียงทั้งไดเวียด เขมรและสยาม จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ   

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

แผนผังบริเวณเนินเขาที่ตั้งของศาลเจ้า “ม่อจิว” หรือ “มักกู๋ว” และลูกหลาน

“มักเทียนตื๊อ”มีชื่อเป็นทางการตามภาษาจีนกลางว่า “ม่อซื่อหลิน”  แต่มีชื่อตัวว่า “ม่อเทียนชื่อ” ครองเมืองฮ่าเตียนต่อจากบิดามักกู๊วด้วยการปรับปรุงระบบบริหาร มีกองทัพที่เข้มแข็ง สร้างสถาบันศิลปะ ในพระราชพงศาวดารเขมรเรียกว่า “สมเด็จพระโสทัต” ส่วนสยามเรียกว่า “พระยาราชาเศรษฐีญวน” มีบทบาทเกือบตลอดสมัยกรุงธนบุรี  

จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๐ เกิดการชิงอำนาจในเขมร “นักองค์ตน” หรือ “สมเด็จพระอุไทยราชา” หนีไปพึ่งสมเด็จพระโสทัตหมักเทียนตื๊อและยกให้หมักเทียนตื๊อเป็นพระบิดา หมักเทียนตื๊อจึงประสานกับญวนสนับสนุนนักองค์ตนขึ้นเป็น “สมเด็จพระนารายณ์ราชา” ครองแผ่นดินเขมร และช่วงนี้ถือได้ว่าญวนมีสิทธิ์ขาดในการปกครองดินแดนแขมร์กรอมหรือบริเวณดินแดนปลายสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เป็นดินแดนในประเทศเวียดนามปัจจุบัน 

แต่เมืองบันทายมาศหรือพุทไธมาศเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของเขมรด้านอ่าวไทย หากจะโจมตีหรือป้องกันแผ่นดินเขมรโดยใช้กำลังทางเรือ จะใช้เมืองบันทายมาศเป็นจุดสำคัญในการเคลื่อนพลเข้าออก แต่กรุงศรีอยุธยาถือว่าเมืองบันทายมาศอยู่ในฐานะหัวเมืองในอารักขาจนเมื่อกรุงศรีอยุธยาสูญสิ้นไป ในช่วงสงครามกู้กรุงฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ พยายามจะขอความช่วยเหลือจากเมืองฮ่าเตียนหรือบันทายมาศก็ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด จนเมื่อหลังจากปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ที่กรุงธนบุรีแล้ว ปลายปี พ.ศ. ๒๓๑๔ จึงยกทัพไปตีเมืองพุทไธมาศและเมืองเขมร โดยยกทั้งทัพบกและทัพเรือ บันทึกตระกูลมักกล่าวว่า มักเทียนตื๊อส่งข่าวด่วนไปยังราชสำนักญวนเพื่อขอกองทัพมาเสริม แต่เพราะมีสถานการณ์เช่นนี้หลายปีแล้วทางราชสำนักจึงขอให้รอทัพสยามมาจริงก่อน  แต่ครั้งนี้ทัพจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทางเรือ คุมทัพโดยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เองเสด็จพระราชดำเนินประทับยืนอยู่ฟากตะวันออกตรงป้อมหน้าเมืองและใช้กำลังกองทัพเข้าตีเมืองรวมเวลาราว ๒ เดือน ก็ยึดเมืองฮ่าเตียนได้ และพระยาราชาเศรษฐีญวนหรือมักเทียนตื๊อหนีออกไปทางคลองวิ่นเตมุ่งสู่เจาด๊กที่กองทัพญวนตั้งอยู่ เมื่อตีเมืองฮ่าเตียนสำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงตั้ง “พระยาพิพิธโภคากร” หรือพระยาราชาเศรษฐีจีนผู้เคยปกครองเมืองตราดขึ้นปกครองเมืองบันทายมาศแทน ต่อมาพระยาพิพิธมารับราชการอยู่ ณ กรุงธนบุรีพร้อมด้วยจีนจากหัวเมืองตะวันออกซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งที่เป็นพระบรมมหาราชวังของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันนี้ เมืองบันทายมาศและฮ่าเตียนก็กลับมาเป็นของสยามในช่วงเวลานั้น ครั้งนั้นนำชาวญวนเข้ารีตที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธอลิคกลับมาด้วย

แต่หลังจากมักเทียนตื๊อหนีไปก็สามารถกลับมาครองเมืองฮ่าเตียนได้อีกครั้ง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าอยู่ไกลจึงปล่อยมือจากเมืองนี้ ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ไตเซินในปลายรัชกาล จนทำให้มักเทียนตื๊อต้องหนีมาพึ่งสยาม อยู่อาศัยแถบตลาดน้อย แต่แล้วก็ถูกประหารพร้อมกับองเชียงชุนในปลายแผ่นดินธนบุรี

ตลาดฮ่าเตียนในปัจจุบันมีการขยายตัวจากตัวเมืองเดิมมายังริมแม่น้ำส่วนผลไม้ส่วนใหญ่นำข้ามาจากประเทศไทย

ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามทำสงครามกับเวียดนามยืดเยื้อถึง ๑๕ ปี เนื่องจากต้องการควบคุมหัวเมืองบริเวณนี้ อันมีผลมาจากนักองค์จันหรือสมเด็จพระอุทัยราชาที่ประสูติ ณ กรุงเทพฯ ครองราชสมบัติเสด็จขึ้นครองราชย์แทนสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีหรือนักองค์เองพระราชบิดาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๙  โดยได้รับการสนับสนุนจากสยาม ทรงเป็นกษัตริย์กัมพูชาระหว่างที่ประเทศชาติกำลังวุ่นวายด้วยความขัดแย้งระหว่างสยามและเวียดนาม

คนเวียดนามเชื้อสายจีนที่ฮ่าเตียน 

แต่หลังจากความวุ่นวายทางการเมืองทรงฝักใฝ่เวียดนามจนกลายเป็นสงครามอันยืดเยื้อยาวนานในระหว่างสยามและญวนรวมทั้งเขมรในยุคนั้น หลังจากสยามถอนทัพออกไป ทางราชสำนักญวนจึงควบคุมราชสำนักเขมรผ่านทางนักองจันอย่างเข้มงวดมากขึ้น พร้อมกับนโยบายกลืนชาติและควบคุมดินแดนแขมร์กรอมอย่างเด็ดขาดรวมทั้งใช้แรงงานชาวเขมรขุดคลองวิงห์เต ผู้คนล้มตายมากมาย ส่วนฝ่ายสยามก็ให้นักองด้วงขึ้นครองเมืองพระตะบอง และเสียมราฐและเป็นกษัตริย์เขมรต่อมาทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระนโรดม หริรักษ์รามาธิบดีเป็นพระราชบิดาของกษัตริย์เขมรต่อมาจนถึงช่วงที่ถูกฝรั่งเศสปกครอง

ย่านที่อยู่อาศัยเก่ายังคงพบตึกแบบอาณานิคมอยู่เป็นจำนวนมาก

ทุกวันนี้ที่เมืองฮ่าเตียนเป็นเมืองชายฝั่งทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของเวียดนาม มีการทำธุรกิจจากกระดองเต่าทะเลหรือ “กระ” พริกไทยดำ และอาหารทะเล มีหาดทรายสีขาวสวยงามที่หาดไบโน หาดมุยใน มีถ้ำที่งดงามหลายแห่ง ยังคงเป็นเมืองท่าที่มีคนเชื้อสายจีนตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก และสุสานของมักกู๋วและเครือญาติสร้างในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ อยู่บนไหล่เขาทางตะวันออกของภูเขาบิงห์ ซาน มีทะเลสาบตะวันออกภูเขาปากแม่น้ำยาง แถงห์และยังคงรักษาไว้อย่างสวยงามจนถึงปัจจุบัน

อาคารศาลเจ้ามักกู๋วในมุมต่างๆ ซึ่งเป็นชาวจีนจากกวางตุ้ง สร้างใน พ.ศ. ๒๓๕๒ ที่ยังรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์