วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

พิมพ์ในวารสารเมืองโบราณปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๖๑) 

สหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ ต่อมาประธานาธิบดีแอนดรู แจคสัน [Andrew Jackson ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. ๒๓๗๒-๒๓๘๐] ส่งนายเอดมุน โรเบิร์ต [Edmund Roberts] เป็นเอกอัครราชทูตเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ [Treaty of Amity and Commerce] ใน พ.ศ. ๒๓๗๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษที่ได้ทำสนธิสัญญาเบอร์นี่กับสยามไปแล้วใน พ.ศ. ๒๓๖๙ 

และในช่วงเวลานี้ถือว่าคณะบาทหลวงจากสหรัฐอเมริกา เริ่มเผยแพร่ศาสนาศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนท์ คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนอย่างมั่นคงในสยาม และมีบทบาทสำคัญทั้งการจัดตั้งโรงเรียนต่างๆ การแพทย์ การสาธารณสุข และนำวิทยาการความรู้สมัยใหม่และการสอนภาษาอังกฤษเผยแพร่แก่กลุ่มผู้นำของบ้านเมือง 

หมอบรัดเลย์

Dr. Dan B. Bradley

บุคคลสำคัญในคณะเพรสไบทีเรียน จากสหรัฐอเมริกาท่านหนึ่งคือนายแพทย์บรัดเลย์ [Dr. Dan B. Bradley] เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ ที่นิวยอร์ก หลังจากจบการศึกษาปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กก็แต่งงานและเดินทางพร้อมภรรยาเข้ามาถึงบางกอกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ เมื่ออายุครบ ๓๑ ปีพอดี ด้วยทุนสนับสนุนจากคณะกรรมการพันธกิจคริสตจักรโพ้นทะเล [American Board of Commissioners for Foreign Missions] และต่อมากลายเป็นผู้บุกเบิกการรักษาไข้ทรพิษและอหิวาตกโรครวมทั้งจัดตั้งโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์แห่งแรกในไทย

เมื่อแรกเข้ามาถึงบางกอกในรัชกาลที่ ๓ นั้น ได้พักอาศัยอยู่แถววัดเกาะสำเพ็งหรือวัดสัมพันธวงศ์ฯ โดยอาศัยพักรวมกับครอบครัวของศาสนาจารย์สตีเฟน จอห์นสัน หมอบรัดเลย์เปิด “โอสถศาลา” ขึ้นเป็นที่แรกเพื่อทำการรักษา จ่ายยาและหนังสือเกี่ยวกับศาสนาให้กับคนไข้พร้อมกับแจกยาและหนังสือเผยแพร่ศาสนาไปด้วย ต่อมาเกิดปัญหาวิวาทระหว่างกัปตันเรือชาวอังกฤษกับพระวัดเกาะจนเป็นเหตุใหญ่โต มิชชันนารีเหล่านี้จึงจำเป็นต้องถูกย้ายที่อยู่   

พ.ศ. ๒๓๗๘ หมอบรัดเลย์ย้ายไปเช่าบ้านที่ปลูกให้ฝรั่งเช่าของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ข้างใต้คลองกุฎีจีน หน้าวัดประยุรวงศ์ ฝั่งธนบุรี และใช้บ้านเช่าที่พักแห่งใหม่นี้เป็น “โอสถศาลา” อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ จึงมาเช่าที่หลวงตั้งโรงพิมพ์อยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ข้างป้อมวิชัยประสิทธิ์ติดกับพระราชวังเดิมซึ่งพักอาศัยอยู่ที่นั่นจนเสียชีวิตเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๑๖ โดยใช้เวลาอยู่อาศัยในสยามเกือบ ๔๐ ปี  

บันทึกหมอบรัดเลเมื่อเดินทางไปจันทบูรกับหลวงนายสิทธิ์หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

“จดหมายเหตุหมอบรัดเลย์” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแปลจากส่วนหนึ่งของหนังสือบางกอกคาเลนดาร์ ซึ่งพิมพ์จำหน่ายปีละเล่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๒ จน พ.ศ. ๒๔๑๖ มีตอนหนึ่งเรียกว่าเหตุการณ์ที่ควรกำหนด คือในปีไหนเกิดเหตุการณ์อย่างไร เมื่อวันไร อันควรกำหนดจดจำไว้ ก็จดพิมพ์ลงไว้แทบทุกเล่ม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเลือกเฉพาะบางส่วนเรียบเรียง เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ จนรัชกาลที่ ๕

เหตุการณ์เมื่อหมอบรัดเลย์เดินทางไปจันทบูรถูกเรียบเรียงไว้ว่า 

“ปีมแม จุลศักราช ๑๑๙๗ พ.ศ. ๒๓๗๘ ๑๘ ตุลาคม ไทยแรกมีเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่ง เรือลำนี้ ๒ เสาครึ่ง ชื่อเอริล หลวงนายสิทธิ์ (คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์) ต่อถวาย พฤศจิกายน ที่ ๑๒ หลวงนายสิทธิ์ชวนหมอบรัดเลกับมิชชันนารี ชื่อ สตีฟินยอนสัน ลงเรือเอริล ไปเมืองจันทบุรี หลวงนายสิทธิ์เปนนายเรือไปเอง พฤศจิกายน ที่ ๒๑ หมอบรัดเล ฯลฯ ไปถึงจันทบุรี พบเจ้าพระยาพระคลัง (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์) กำลังสร้างเมืองใหม่ เตรียมรบกับญวน เห็นเรือกำปั่นใบหลวงนายสิทธิ์กำลังต่ออยู่ที่จันทบุรีอิก ๓ ลำ ชื่อคองเคอเรอลำ ๑ เซลีโดเนีย ลำ ๑ วิกตอรีลำ ๑ มิชชันนารียอนสันอยู่จันทบุรี ๖ เดือน แต่หมอบรัดเลอยู่เดือน ๑ กลับกรุงเทพ ฯ” 

1-2

แผนที่แสดงตำแหน่งสันนิษฐานอู่ต่อเรือสยามที่ท่าแฉลบและสถานที่ต่างๆ จากบันทึกของหมอบรัดเลย์ซึ่งเดินทางเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ , กรมแผนที่ทหาร มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕

ต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้มีพระดำริให้ “นายป่วน อินทุวงศ์” เปรียญ  แปลจากหนังสือบางกอกคาเลนดาร์ที่หมอบรัดเลย์และคนอื่นๆ บันทึกไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๘ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๙ ซึ่งเป็นเรื่องราวของมิชชันนารีตั้งแต่ชุดที่ ๑ ถึงชุดที่ ๓ ซึ่งรวมกันเรียกว่า The American board of commission for foreign missions [ABCFM] เพื่อเป็นที่ระลึกในงานศพพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สาระสิน พ.ศ. ๒๓๙๑-๒๔๖๘) ผู้ซึ่งเคยเป็นศิษย์ของหมอเฮาส์มิซชันนารีอเมริกัน แล้วออกไปเรียนวิชาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา จนได้ประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เป็นนายแพทย์ชาวสยามคนแรกที่ได้เรียนวิชาแพทย์แบบฝรั่ง

2-3

แผนที่แสดงร่องน้ำในแม่น้ำจันทบุรีบริเวณย่านบ้านท่าแฉลบในปัจจุบัน

แม้ผู้แปลจะขยายความจดหมายเหตุที่หมอบรัดเลย์บันทึกไว้แบบรายวันอย่างละเอียดขึ้น แต่เป็นการแปลแบบรวบรัดและขยายความขึ้นเองเป็นช่วงๆ และถูกใช้อ้างอิงต่อๆ มา แต่ก็พบว่ามีข้อมูลสำคัญที่ขาดไปอยู่มากเมื่อบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในจันทบูรเทียบกับเอกสาร The Missionary Herald containing The proceedings at large of the American board of commission for foreign missions, with a general view of other benevolent operations. For the year 1836, Volume 32. แล้วมีเนื้อความที่ควรนำมากล่าวไว้ในที่นี้ และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองจันทบุรีอยู่ไม่น้อย

เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีหลังจากกลุ่มมิชชันนารีย้ายที่พักอาศัยมาอยู่แถบกุฎีจีน หน้าวัดประยุรวงศ์แล้ว “หลวงนายสิทธิ์” ผู้เป็นบุตรชายคนโตของพระยาพระคลังหรือเป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๑ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกท่านบิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ เลื่อนนายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร (ช่วง บุนนาค) ขึ้นเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์ และมีความสัมพันธ์อันดีกับเหล่ามิชชันนารีชาวอเมริกันกลุ่มนี้ และต่างฝ่ายต่างยกย่องกันไม่น้อย และได้เลื่อนเป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก พ.ศ. ๒๓๘๔ เพิ่มสร้อยนามเป็นจมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์

หลวงนายสิทธิ์ในวัย ๒๖ ปี กำลังหนุ่มท่าทางบุคลิกดี พูดจาไพเราะ ได้แวะมาหามิชชันนารีที่ร้านขายยาเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ และชวนพวกมิชชันนารีไปที่บ้านท่านจนทำให้เกิดความชอบพอและรักใคร่ท่านมาก และเล่าว่าท่านต่อเรือกำปั่นเป็นเรือใบชื่อ “อาเรียล” ซึ่งต่อมาจากเมืองจันทบูรจะนำมาถวายให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร โดยกล่าวว่าเรืออาเรียลเป็นเรือลำแรกที่ทำเทียมเรือฝรั่งแบบ “เรือบริก” [Brig] เป็นเรือกำปั่นต่อด้วยไม้  ๒ เสากระโดง ขึงใบเรือทั้งสองเสากระโดง แม้หลวงนายสิทธิ์ไม่มีแบบแต่จำแบบจากเรือฝรั่งหลายๆ ลำแล้วมาทำขึ้นแต่พอใช้ทีเดียว นอกจากเรืออาเรียล ยังได้ต่อเรืออื่น ๆ ที่เมืองจันทบุรีนั้นอิกน้ำหนักตั้งแต่ ๓๐๐ ตัน ถึง ๔๐๐ ตัน

4

เรือกำปั่นใบแบบบริก [Brig] แบบที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ครั้งเป็นหลวงนายสิทธิ์ต่อขึ้นด้วยตนเอง (ภาพจากเวบไซต์   http://www.keyshistory.org/ASS-Amer-Sail-Ships.html Early American Sailing Ships)

หลวงนายสิทธิ์ชวนจอห์นสันไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับท่าน ภรรยาและลูกราว ๖ เดือนในระหว่างท่านอยู่ที่จันทบูร และจะได้แจกหนังสือและสอนศาสนาแก่พวกจีนด้วย ส่วนหมอบรัดเลย์กับมิชชันนารีเดินทางไปพักเปลี่ยนอากาศราว ๑ เดือน 

วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ ๒๓๗๘ หมอบรัดเลย์ออกจากบ้านไปลงเรืออาเรียล ซึ่งจะไปยังเมืองจันทบูร ผู้แปลจัดข้อความเป็นตอนๆ ในรายละเอียดการเดินทางต่อมาดังนี้คือ “หมอบรัดเลกับยอนสัน ลงเรือไปเมืองจันทบุรี, มารดาแลภรรยาของหลวงนายสิทธิ์, มารดาของหลวงนายสิทธิ์กลับเพียงสันดอน, ศรีมหาราชา, แหลมสิงห์, ท่าเรือเมืองจันทบุรี, อู่ต่อเรือไทยที่เมืองจันทบุรี, หมอบรัดเลไปถึงบางกะจะ, พวกมิซชันนารี ไปถึงบ้านหลวงนายสิทธิ์ที่เมืองจันทบุรี, หมอบรัดเลลงเรือเดินทางกลับมากรุงเทพ ฯ”  

เรือใบกำปั่นอาเรียลข้ามสันดอนสู่ท้องทะเลได้ในอีก ๒ วันต่อมา และมาถึงปากน้ำแหลมสิงห์ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน รุ่งขึ้นจึงเห็นท่าเรือจันทบูร โดยอธิบายว่า “ปากน้ำเมืองจันทบุรีมีท่าเรือซึ่งมีภูเขายื่นออกมาทางทะเลโค้งเป็นวงแขน เหมาะที่จะเปนท่าเรือมากทีเดียว” จากทะเลขึ้นไปประมาณ ๑๐ ไมล์แลเห็นเขาสระบาปแลต้นมะพร้าวขึ้นสะพรั่งไปหมด 

และคาดว่าเรือแอเรียลคงจอดทอดสมอที่ท่าเรือปากแม่น้ำก่อนจะลงเรือใบใช้แจวช่วยเข้าไปที่เรือนรับรองในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับ “อู่ต่อเรือสยาม” ที่เจ้าพระยาพระคลังกับหลวงนายสิทธิ์มาต่ออยู่นั้น ในเวลานั้นก็ยังมีเรือที่กำลังต่ออยู่อีกกว่า ๕๐ ลำ เพื่อเตรียมตัวไม่ให้พวกญวนมารบกวนทางเมืองแถบนี้ 

ข้อความแปลกล่าวถึงเพียงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน หมอบรัดเลและพวกมิชชันนารีเดินไปบางกะจะจนถึงบ้านหลวงนายสิทธิ์ รับประทานอาหารเย็นพร้อมกัน และตัดข้อมูลออกไป ๑๙ วัน จนถึงวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ ที่หมอบรัดเลย์เตรียมตัวเดินทางกลับ

ต่อไปนี้คือข้อความแบบย่อเฉพาะช่วงที่ไปจันทบูรในจดหมายเหตุหมอบรัดเลย์ฉบับ The Missionary Herald, ซึ่งทำให้มีข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจมากสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีมากทีเดียว

วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ พบหลวงนายสิทธิ์ บุตรชายคนแรกของพระยาพระคลัง (ดิศ) ท่านผู้หญิงจันทร์ ท่านพูดภาษาอังกฤษได้เล็กน้อยแต่เขียนได้ดีกว่า และเพิ่งกลับมาจากจันทบูรด้วยเรือลำใหม่ที่ต่อตามแบบเรือยุโรป ส่วนพระยาพระคลังบิดายังอยู่ที่นั่นเพื่อก่อสร้างอาคารและป้อมค่าย (ในช่วงนั้นเริ่มทำสงครามกับญวนระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๐)

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ไปหาหลวงนายสิทธิ์ที่บ้านที่อยู่ห่างไปไม่ไกลนัก บ้านซึ่งตกแต่งแบบยุโรป บนบานประตูเขียนด้วยอักษรโรมันอย่าชัดเจนว่า “This is Luang Nai Sit’s house – welcome friends.” หมอบรัดเลย์รู้สึกอบอุ่นและมีบรรยากาศละม้ายคล้ายสภาพแวดล้อมในอเมริกา

วันที่ ๒๖ ตุลาคม ได้เห็นเรือกำปั่นแบบ “บริก” [Brig] ที่หลวงนายสิทธิ์ต่อที่จันทบูรได้สำเร็จ และนำมากรุงเทพฯ เพื่อให้พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร เป็นเรื่องที่สยามเริ่มต่อเรือกำปั่นใบแบบนี้ได้ลำแรก ดูๆ แล้วก็เห็นว่าไม่มีแบบแปลน แต่นำเอาความรู้จากการสังเกตและเห็นพวกเรือยุโรปจากโน่นบ้างนี่บ้างมาดัดแปลง ในระหว่างนี้หลวงนายสิทธิ์ให้ต่อเรือ ๒ ลำ ระวางราว ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ ต้น อยู่ที่จันทบูร หมอบรัดเลย์เห็นว่าเป็นลักษณะเฉพาะแบบคนสยาม โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำที่ปรารถนาจะเลียนแบบขนบธรรมเนียมแบบตะวันตกมากขึ้นๆ

วันที่ ๖ พฤศจิกายน มิสเตอร์จอห์นสันบอกว่าหลวงนายสิทธิ์เชิญไปจันทบูรเพื่อสอนภาษาอังกฤษแก่ตัวเขารวมทั้งภรรยาและลูกๆ และจะได้สอนศาสนาแก่คนจีนที่นั่นด้วย ส่วนหมอบรัดเลย์จะไปสักเดือนหรือ ๖ อาทิตย์เพื่อเปลี่ยนอากาศ เริ่มเดินทางวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน โดยมีมารดาของหลวงนายสิทธิ์ ซึ่งเป็นหญิงสูงศักดิ์ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์และน้องสาวโดยสารไปส่งจนถึงปากน้ำ และมีวงมโหรีสำหรับขับกล่อมช้างเผือกที่พบใหม่ฝึกซ้อมไปตลอดการเดินทาง  วันต่อมาก็ถึงสันดอนปากน้ำกัปตันเรือบริกนี้ชื่อกัปตัน Leach พอถึงวันที่ ๑๔ ก็เห็นเขาเขียว ผ่านเกาะสีชังในวันที่ ๑๕ และแวะขึ้นบกไปที่ชุมชนศรีมหาราชาซึ่งมีประชากรราว ๓๐๐-๔๐๐ คน หัวหน้าชุมชนเป็นคนสยาม

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายนก็เริ่มเข้าสู่ปากน้ำจันทบูร ซึ่งมีภูเขาโอบล้อมปกป้องไว้และขยายออกไปในทะเลสามารถป้องกันได้ทั้งสองด้าน ชายฝั่งเป็นแนวยาวไปทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ เขาสระบาปอยู่ภายในแผ่นดินขนานไปกับชายทะเลยอดเขามีกลุ่มเมฆลอยปกคลุม พืชพรรณดูแตกต่างไปจากในกรุงเทพฯ น้ำทะเลใสส่วนในแม่น้ำเป็นหาดโคลน 

5-3

ปากน้ำจันทบูร พ.ศ. ๒๔๗๘ ภาพถ่ายของ. Pendleton, Robert Larimore, 1890-1957 จาก http://collections.lib.uwm.edu/digital/collection/agsphoto/id/16120/rec/5

วันที่ ๒๑ พฤศจิกายนก็ออกจากเรือกำปั่นใบที่ทอดสมออยู่ปากอ่าวมาลงเรือเล็ก มาถึง “อู่ต่อเรือสยาม” ส่วนบ้านพักรับรองทำจากไม้ไผ่ซึ่งอยู่ติดกับอู่ต่อเรือนี้ตั้งอยู่ริมน้ำซึ่งมีลมเหนือพัดมาแรงทีเดียวจากฝั่งตรงกันข้าม ซึ่งกำลังจะต่อเรือ ๕๐ ลำประกอบไปด้วยเรือ ๒ ชนิด ระวาง ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ ตัน ยังมีเรือสำเภารบอีก ๓๐-๔๐ ลำและเรือเล็กๆ อีกจำนวนมาก ในพื้นที่ราว ๕๐-๖๐ เอเคอร์ เหนือจากบริเวณนี้ก็จะเป็นทางเดินที่ใช้สำหรับการเดินทางติดต่อกันได้ดี๖.

6-3

เรือกลไฟนิภา เข้าจอดบริเวณท่าเรือที่ท่าแฉลบ ภาพภูเขาด้านหลังคือแนวเขาสระบาป  พ.ศ. ๒๔๗๘ ภาพถ่ายของ. Pendleton, Robert Larimore, 1890-1957 จาก http://collections.lib.uwm.edu/digital/collection/agsphoto/id/16085/rec/2

ภาพซ้าย  บริเวณแหลมประดู่และชุมชนแหลมประดู่ ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธอลิค เห็นพื้นที่บริเวณทางตะวันตกของบ้านท่าแฉลบ

ภาพขวา. กลอนประตูจากอาคารศุลกากรแหลมประดู่เดิม ที่ชาวบ้านพบชายตลิ่ง

วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ได้เดินจากแนวแม่น้ำประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร ขึ้นไปยังที่ตั้งของพระยาพระคลัง (ทำเนียบหรือบริเวณบ้านทำเนียบในปัจจุบัน) ที่บางกะจะ ซึ่งบ้านพักของหลวงนายสิทธิ์ก็ตั้งอยู่บริเวณนี้ บริเวณแม่น้ำเหนือขึ้นไปจากอู่ต่อเรือนั้นคดเคี้ยวมากเกินไปและตลิ่งต่ำน้ำท่วมถึง เมื่อไปถึงใกล้กับก็เห็น “การสร้างป้อมค่าย” ขนาดใหญ่ด้วยอิฐศิลาแลงขนาด ๖x๙x๑๘ นิ้ว คนตัดศิลาแลงนี้คือคนงานชาวจีนและมาเลย์และเป็นคนก่ออิฐกำแพงป้อมนี้และทำงานด้วยความรวดเร็ว สถานที่ตั้งป้อมอยู่เหนือจากพื้นราบราว ๔๐ ฟุตหรือ ๑๒ เมตร กำแพงสูงราว ๖ ฟุต ระยะโดยรอบหากเสร็จแล้วไม่น่าจะเกินกว่า ๓ กิโลเมตร

3

บริเวณทำเนียบในปัจจุบันที่รื้อลงแล้วเจ้าของใหม่สร้างบ้านขึ้นในบริเวณเดิม ริมถนนสายท่าแฉลบ ๓๑๔๖ เชิงป้อมค่ายเนินวง ภาพดัดแปลงจากกูเกิ้ล เอริท์, ๑๐ เมษายน ๒๕๖๑

IMG20151016151808

แนวกำแพงดินและศิลาแลงของป้อมค่ายเนินวงที่ถูกบูรณะและสร้างขึ้นใหม่แล้ว

บางกะจะอยู่ห่างออกไปเล็กน้อย หนทางที่เดินผ่านมีสวนหมากและนาข้าวอุดมสมบูรณ์ในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวที่ผู้คนวัวควายกำลังทำงาน ที่บางกะจะประกอบด้วยคนจีนล้วนๆ ราว ๔,๐๐๐ คนหรือมากกว่านั้นและดูแข็งแรงและดูเหมือนว่าน่าจะเหมาะกับการเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารีชาวจีนในอนาคต และทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาคอยกวดขันด้วยซึ่งน่าจะดีกว่าในบางกอก บ้านเรือนทำจากอิฐตามแบบบ้านชาวจีน ถนนคดโค้ง แคบ และสกปรก

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ได้เดินทางไปยัง “เมืองจันทบูร” ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายใหญ่ ส่วนบางกะจะนั้นอยู่ริมสาขาของแม่น้ำสายย่อย ซึ่งต้องเดินผ่านทำเนียบของพระคลัง แม่น้ำนั้นกว้างราว ๖๐-๘๐ หลา ค่อนข้างลึกและคดเคี้ยวมาก เมื่อมาถึงใกล้เมืองจันทบูรก็พบว่ามีป่าไผ่และสวนได้ผ่านเชิงเขาสระบาป ใกล้กันนั้นมีโรงเก็บเรือสำเภารบอยู่หลายลำเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรุกรานของชาวโคชินจีนและป้องกันตนเอง เมืองจันทบูรตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำที่กว้างราวๆ ๘๐ หลา และมีโบสถ์โรมันคาอลิคตั้งอยู่ฝั่งหนึ่งซึ่งดูตั้งมั่นท่ามกลางผู้คนจนทำให้เกิดความรู้สึกกลัวสำหรับความมั่นคงของคาธอลิคที่นี่ เมื่อเดินสำรวจในเมืองพบว่าผู้คนเป็นคนญวน จีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน คนสยาม ประเมินว่าน่าจะมีประชากรราว ๘,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ คน เมื่อเดินทางกลับผ่านบ้านหลวงนายสิทธิ์ ท่านพระคลังก็กวักมือเรียกให้ไปชมช้างเผือกเชือกใหญ่นั้น

วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พบหญิงชาวฮกเกี้ยนที่สามารถใช้อักษรโรมันแทนการเขียนภาษาของตนเองแบบทันที สร้างความประหลาดใจให้มาก เธออ่านตัวหรือเขียนตัวอักษรจีนไม่ได้เลย แต่ใช้อักษรโรมัน คิดว่าบาทหลวงโรมันคาธอลิคสอนมา และคิดต่อไปว่ายังคงจะมีความเพียรพยายามประดิษฐ์อักษรจีนเป็นตัวโรมันกันอยู่

วันที่ ๓ ธันวาคม หลวงนายสิทธิ์เริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษ โดยมาสร้างที่พักใกล้ๆ กับที่พักใกล้อู่ต่อเรือเพื่อเรียนภาษาอังกฤษให้มากเท่าที่จะมีเวลาได้พร้อมๆ กับการดูแลการต่อเรือ เมื่อได้พูดคุยก็พบว่ามีเมืองจำนวนหนึ่งตั้งอยู่โดยรอบ ขนาดราวๆ บางกะจะ มีลำน้ำสามสาย และดินอุดมสมบูรณ์พอที่จะปลูกพริกไทยซึ่งมีจำนวนมากและกำลังขยายพื้นที่ มีภูเขาใกล้ๆ ซึ่งมีค้าขายพลอย ที่บางกะจะมีถ้ำในภูเขาที่น่าสนใจ มีคนราวๆ หนึ่งหมื่นที่ยากจนแร้นแค้นและน่าจะส่งมิชชันนารีมาสถานที่นี้มากกว่าที่บางกอก  

วันที่ ๕ ธันวาคม เดินเท้าไปบางกะจะและต่อไปยังท่าใหม่ เส้นทางจากบางกะจะไปท่าใหม่มีชาวจีนปลูกพืชสวนหนาแน่น เช่น พวกข้าว ยาสูบ พริกไทย ที่ “ท่าใหม่” ระยะทางไปกลับราว ๒๕-๒๖ กิโลเมตร มีผู้คนอยู่ราว ๔๐๐-๕๐๐ คน มีหัวหน้าชุมชนเป็นชาวจีน

วันที่ ๗ ธันวาคม เดินทางไปที่ “หนองบัว” อยู่ทางตะวันออกของฝั่งอู่ต่อเรือราว ๖-๗ กิโลเมตร ต้องข้ามแม่น้ำ มีชุมชนไม่หนาแน่น ปลูกบ้านและทำสวนอยู่ห่างๆ ราว ๓๐-๔๐ ครัวเรือนทุกๆ ตารางไมล์ ส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋ว มีบางคนที่มีภรรยาเป็นคนสยาม ปลูกพวกอ้อย พริกไทย และยาสูบ ดินอุดมสมบูรณ์ดีสำหรับปลูกพืชสวนต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากพอๆ กัน

วันที่ ๘ ธันวาคม ไปเที่ยวสำรวจที่ “พลิ้ว” ซึ่งดูจะเป็นที่มืดครึ้มด้วยป่าไม้ ตั้งอยู่ทางใต้ของหนองบัว โดยจอดเรือแล้วเดินไป  ที่พลิ้วเป็นชุมชนคนสยามราว ๖๐ ครอบครัว ปลูกข้าวและมีเกวียนเทียมควายกำลังเก็บมัดข้าวที่เกี่ยวแล้ว ที่หมู่บ้านพลิ้วมีร้านตีมีด ซึ่งมีคนจีนสี่คนเป็นลูกจ้าง มีคนจำนวนไม่กี่ร้อยคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแต้จิ๋วอ่านเขียนไม่ออกและมีภรรยาเป็นคนสยาม

วันที่ ๙ ธันวาคม กล่าวถึงการไปสำรวจเมืองจันทบูรและนำหนังสือไปแจกจ่าย โดยแบ่งหน้าที่กันคนละฝั่งแม่น้ำ หมอบรัดเลย์ไปทางฝั่งขวาของแม่น้ำ ซึ่งมีโบสถ์คาธอลิคตั้งอยู่ และพบว่ามีผู้คนตั้งบ้านเรือนที่ทำจากไม้ไผ่อย่างหนาแน่น ไม่มีถนนมีเพียงทางเดินเชื่อมต่อกัน ส่วนใหญ่ทำสวนอยู่ทางหลังหมู่บ้าน  พบว่ามีบางคนที่อ่านภาษาจีนออก และส่วนใหญ่พูดภาษาฮกเกี้ยน คนส่วนใหญ่ฝั่งนี้เป็นคนจีนจากอันนัมโคชินจีน [Annum-Cochin Chinese-หมายถึงเวียดนามทางใต้] ไม่มีสักคนที่พบสามารถอ่านตัวอักษรจีนออก มีคนสยามหลายร้อยคน คนญวนซึ่งคาดว่าอยู่ใต้การปกครองของโบสถ์โรมันคาธอลิค เมื่อประเมินจากโบสถ์และสุสานที่อยู่ใกล้กันก็เห็นว่าพวกโรมันคาธอลิคพวกนี้อยู่มานานแล้ว เพราะสุสานใหญ่และหนาแน่น ได้พบพระคาธอลิคซึ่งไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้และพูดภาษาฝรั่งเศสและญวนได้บ้าง แต่พูดผ่านภาษาสยามและเห็นว่าไม่เข้าใจข้อความในหนังสือและไม่มีความรู้ ส่วนนายจอน์หสันซึ่งไปแจกหนังสือทางฝั่งซ้าย พบว่ามีจำนวนคนจีนมากกว่าที่คาดไว้

7-3

ชุมชนชาวอันนัมหรือชาวญวนและโบสถ์แคธอลิค แม่น้ำจันทบูร พ.ศ. ๒๔๗๘ ภาพถ่ายของ. Pendleton, Robert Larimore, 1890-1957 จาก http://collections.lib.uwm.edu/digital/collection/agsphoto/id/16099/rec/3

ตอนเย็นได้ไปเยี่ยมพระคลังตามคำเชิญ ซึ่งท่านรับรองในสวนซึ่งมีประตูทางเข้าปูเสื่อไปจนถึงกลางลานใหญ่ ซึ่งจุดตะเกียงลานหลายดวง ท่านพระคลังนั่งอยู่ตรงกลางและเชื้อเชิญคณะมิชชันนารีให้นั่งใกล้ๆ มีคนรับใช้คลานเข่าอยู่ด้านหลัง ด้านหน้ามีวงมโหรีหญิงราวๆ ๑๕ คนเล่นดนตรีจนดึงความสนใจ เล่นอย่างไพเราะ มีนางรำแต่งกายงดงาม หมอบรัดเลย์บันทึกว่าหญิเหล่านี้มีการปลูกฝังวัฒนธรรมอย่างดี หลังจากพูดคุยก็ได้รับประทานน้ำอ้อย ส้มโอ เนื้อหวานและอาหารอื่นๆ ที่เสริฟมาแบบยุโรป จานชามเครื่องใช้ผลิตจากยุโรป มีการนำเอามะพร้าวขนาดใหญ่กว่าปกติถึงสามเท่าและหายากมาแสดง ก่อนจะลากลับ

วันที่ ๑๒ ธันวาคม หมอบรัดเลย์ก็เตรียมตัวกลับบางกอก

ข้อสังเกตเรื่องเมืองจันทบูรและอู่ต่อเรือจากข้อมูลที่หายไป

จากการอ่านบันทึกจดหมายเหตุรายวันของหมอบรัดเลย์ฉบับเต็มทำให้ได้รับรู้ข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นอย่างชัดเจนหลายประการจากเอกสารเดิมที่ข้อความขาดไป ทำให้การสันนิษฐานถึงสถานที่ต่างๆ ในเมืองจันทบูรทำได้ไม่แน่ชัดนัก มีข้อสังเกตต่างๆ ดังนี้ 

๑. “อู่ต่อเรือสยาม” ที่จันทบูร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ หมอบรัดเลย์ไปเยี่ยมเมืองนี้กับหลวงนายสิทธิ์และพบบิดาของท่านคือ “พระคลัง” หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ผู้เป็นทั้งสมุหพระกลาโหมและพระคลังหรือกรมท่าดูแลการค้าและการต่างประเทศในตำแหน่ง “เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม” และเมื่อมีปัญหารบกับญวนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๗๖ โดยเป็นแม่ทัพเรือและกำลังบัญชาการก่อสร้างป้อมค่ายไว้รับศึกและป้องกันเมืองจันทบูร ส่วนเจ้าพระยาบดินทร์เดชาเป็นแม่ทัพบก เมื่อไปตีเมืองไซ่ง่อนก็ยังไม่สำเร็จต้องถอนทัพกลับ และมาเริ่มสร้างป้อมค่ายและต่อเรือกำปั่นเสริมทัพที่จันทบูร น่าสังเกตว่าหมอบรัดเลย์กล่าวถึงว่าเป็น “ป้อม” สูงใหญ่ที่จ้างแรงงานชาวจีนและมลายูโดยไม่ได้เกณฑ์แรงงานแต่อย่างใด และป้อมค่ายแห่งนี้ ปัจจุบันคือ “ค่ายเนินวง” อยู่ห่างจากเมืองจันทบูรที่อยู่ด้านใน ๕-๖ กิโลเมตร ซึ่งยังมีผู้คนทำมาหากินกันปกติโดยไม่ได้มีโครงการอพยพโยกย้ายผู้คนมาอยู่บริเวณป้อมค่ายหรือมีการย้ายกลับในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังที่เข้าใจโดยมาก และบริเวณนี้ถือเป็นเมืองป้อม [Citadel] ที่ไม่ใช่การสร้างเมืองใหม่ โดยศูนย์กลางการบัญชาการในยามนั้นอยู่ในบริเวณใกล้กันคือบริเวณที่เรียกว่า “ทำเนียบ” ซึ่งมีอาคารจวนที่พักของพระยาพระคลังและบ้านพักขุนนางอื่นๆ ปัจจุบันอยู่บริเวณเชิงเนินป้อมค่ายเนินวง เรียกกันว่าบ้านทำเนียบ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ตึงเครียดที่ต้องมีศูนย์บัญชาการต่อเรือรบและการสร้างป้อมค่ายเสร็จสิ้นลงแล้ว จวนเจ้าเมืองจึงย้ายไปอยู่บริเวณชุมชนริมแม่น้ำในเมืองจันทบูร 

บริเวณอู่ต่อเรือในการบัญชาการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ โดยมีหลวงนายสิทธิ์บุตรชายเป็นผู้อำนวยการต่อเรือนั้น หากสันนิษฐานจากจดหมายเหตุรายวันของหมอบรัดเลย์แล้ว ก็เห็นว่าอยู่ริมน้ำที่ห่างจากทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาฯ ในระยะทางเดิน ๔-๕ กิโลเมตร และห่างจากปากน้ำในระยะเวลาแจวเรือเล็กเข้ามาราวคืนหนึ่ง ส่วนเรือใบกำปั่นนั้นไม่ได้แล่นเข้ามายังอู่ต่อเรือ คงทอดสมออยู่ปากอ่าวจันทบูร

ตำแหน่งที่ตั้งของอู่ต่อเรือสยามที่เหมาะสมกับระยะทางดังกล่าวและเป็นท่าเรือของเมืองจันทบูรต่อมาอีกกว่าศตวรรษก็คือบริเวณ “ท่าแฉลบ” ซึ่งมีเรือเข้ามาจอดจากเมืองท่านานาชาติทางฝั่งทะเลจีนใต้ ที่ทำการศุลกากรเก่าแต่เดิมนั้นอยู่ที่แหลมประดู่ ฝั่งตรงข้ามซึ่งมีชุมชนจีนฮกเกี้ยนนับถือคริสต์โรมันคาธอลิค ส่วนชุมชนหนองบัวที่หมอบรัดเลย์ไปสำรวจเยี่ยมชมก็ต้องนั่งเรือข้ามแม่น้ำและเข้าไปตามลำน้ำ รวมทั้งชุมชนที่พลิ้วเชิงเขาสระบาป    

๒. เรือกำปั่นใบลำแรกของสยามที่หลวงนายสิทธิ์ต่อด้วยตนเอง กล่าวกันว่าท่านไปดูแบบเรือต่างๆ ที่สิงคโปร์แล้วมาออกแบบด้วยตนเอง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ พระราชทานชื่อว่า “เรือเทพโกสินทร์” หรือ “เรืออาเรียล” ลำที่ ๒ พระราชทานชื่อว่า “ระบิลบัวแก้ว” ซึ่งใหญ่กว่าเรือลำแรก (ตำนานเรือรบไทย, สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง) 

ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอู่ต่อเรือขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ แทนการต่อเรือที่จันทบูร เรือกำปั่นลำแรกที่ต่อเสร็จในอู่กรุงเทพฯ เป็นเรือที่ต่อค้างจากจันทบูร และแต่งตั้งให้หลวงนายสิทธิ์เป็นช่างต่อเรือหลวงและเป็นผู้บัญชาการอู่หลวง ต่อเรือกำปั่นหลวงอีก ๑๐ ลำ คือ เรือแกล้วกลางสมุทร เรือพุทธอำนาจ เรือราชฤทธิ์ เรือวิทยาคม เรืออุดมเดช เรือเวทชะงัด เรือวัฒนานาม เรือสยามภพ เรือจบสมุทร เรือสุดสาคร

และใน พ.ศ. ๒๓๘๐ โปรดเกล้าฯ ให้จ้างชาวอังกฤษชื่อ กัปตันทริกซ์ มาสอนวิชาเดินเรือทั้งเรือรบและเรือเดินสินค้า พ.ศ. ๒๓๘๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดกองทัพเรือกำปั่นที่ต่อใหม่มีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่ทัพหลวง และจมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์) เป็นทัพหน้า ยกไปตีเมืองบันทายมาศหรือฮ่าเตียนและเจาดกเพื่อป้องกันการรุกเข้ามาทางเส้นทางน้ำจากเขมรต่ำสู่ทะเลสาบเขมรของญวน การสงครามกับญวนรบต่อเนื่องมาจนถึงราว พ.ศ. ๒๓๙๐ ก็เจรจาสงบศึก

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้อำนวยการต่อเรือกำปั่นขึ้นอีกหลายลำ รวมทั้งเรือปืนหรือกันโบต จากนั้นจึงเลิกต่อเรือกำปั่นเปลี่ยนมาเป็นการต่อเรือกลไฟแทน เช่น เรือสยามอรสุมพล ซึ่งเป็นเรือกลไฟลำแรกของสยามและใช้เป็นเรือพระที่นั่งในรัชกาลที่ ๔

๓. หมอบัดเลย์บรรยายสถานที่สำคัญหลายแห่งในจันทบูร เช่น บางกะจะและท่าใหม่ที่เป็นชุมชนจีนทั้งหมด รวมทั้งหัวหน้าชุมชนด้วย และมีอาคารบ้านเรือนที่สร้างเป็นตึกแบบจีน และพื้นที่การปลูกพริกไทยกำลังขยายตัว แสดงให้เห็นว่าโรคพริกไทยที่ร้ายกาจยังไม่มี ชุมชนที่หนองบัวและพลิ้วซึ่งจีนส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋วที่บางคนมีภรรยาเป็นคนสยาม ส่วนในเมืองจันทบูรกล่าวถึงชาวจีนส่วนใหญ่พูดภาษาฮกเกี้ยนและไม่สามารถอ่านภาษาจีนด้วยตัวอักษรจีนออก อพยพมาจากอันนัมหรือดินแดนทางใต้ของประเทศเวียดนามปัจจุบันตั้งแต่ภาคกลางลงมาถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงหรือแขมร์กรอมหรือเขมรต่ำ คนสยามทั่วไป และคนญวนซึ่งอยู่ในกำกับของโบสถ์ของชาวคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคที่พิจารณาจากสุสานและชุมชนก็เห็นว่าตั้งมั่นที่จันทบูรมานานแล้วอย่างมั่นคง สุสานและโบสถ์นี้ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำจันทบูรหรือทางฝั่งตะวันออก ในบันทึกส่วนใหญ่ว่าย้ายไปตั้งทางฝั่งขวาหรือทางฝั่งตะวันตกที่เป็นสถานที่ตั้งปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗   

ข้อน่าสังเกตที่คิดว่าสำคัญในที่นี้คือ การกล่าวถึงหญิงชาวจีนฮกเกี้ยนบางคนที่เขียนและอ่านอักษรจีนไม่ได้เลย แต่ใช้ตัวอักษรโรมันในการสื่อสารเช่นเดียวกับการแทนอักษรจีนในภาษาญวน ของคณะบาทหลวงคณะเยสุอิตชาวฝรั่งเศสที่ใช้ตัวอักษรโรมันมาแทน โดยเครื่องหมายเสริมสัทอักษรเป็นวรรณยุกต์ เรียกว่า “จื๋อโกว๊กหงือ” เริ่มตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๒๐๐ นำไปใช้แพร่หลายในการเรียนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๐๐ จนกลายเป็นภาษาเขียนเวียดนามในปัจจุบัน

คนจีนฮกเกี้ยนในเมืองจันทบูรไม่ถูกระบุอย่างแน่ชัดว่านับถือศาสนาใด ซึ่งน่าจะนับถือทั้งคริสต์และพุทธแบบคนสยามในเวลาต่อมา ปรากฎว่าจีนฮกเกี้ยนที่แหลมประดู่นั้นนับถือศาสนาคริสต์เช่นเดียวกับชาวญวน ส่วนจีนแคะที่ท่าศาลาบ้านเตาหม้อนั้นนับถือคริสต์ศาสนาเช่นเดียวกันรวมทั้งพุทธศาสนาด้วย แต่เป็นจีนที่หมอบรัดเลย์ให้ข้อมูลแหล่งที่มาว่ามาจากอันนัม [Annam Cochin Chinese] ไม่ได้มาจากเมืองจีนโดยตรง โดยแยกกลุ่มจีนแต้จิ๋วออกจากกลุ่มจีนอันนัมอย่างชัดเจน 

กลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนจากอันนัมนี้มีบทบาทต่อมาในสังคมสยามในยุคต่อมาอย่างเด่นชัด เช่น พ่อค้า ขุนนาง ข้าราชการระดับสูงโดยเฉพาะในสายตุลาการและแพทย์จำนวนมาก ที่มีรกรากมาจากเมืองจันทบูรหรือจังหวัดจันทบุรี  

ขอบคุณกัลยาณมิตรในจังหวัดจันทบุรี

คุณนฤมล กองแก้ว และคุณสุริยา ชมศาสตร์ ที่ช่วยชี้แนะข้อมูลต่างๆ

อ้างอิง

ดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานเรือรบไทย, ต้นฉบับจากกรมศิลปากร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนาวาอากาศเอก พระประพิณพนยุทธ์ (พิณ พลชาติ), พิมพ์ครั้งที่ ๑,  พระนคร, ๒๔๙๖ สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๑ จาก http://www.finearts.go.th/nakhonsithammaratlibrary/component/smilebook/book/75-2014-04-09-04-29-53/2-2013-01-26-21-11-08.html

ดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๒ เรื่องจดหมายเหตุของราชทูตฝรั่งเศส เข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ แล จดหมายเหตุของหมอบรัดเล ในรัชกาลที่ ๔ ที่  ๕ พิมพ์แจกในงานศพ หม่อมเจ้าชายสง่างาม ต,ช. ต,ม. ฯลฯ ปีมะแม พ.ศ.๒๔๖๒, พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร} สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๑ จาก https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๑๒  

หมอ ดี บี บรัดเล แต่ง, นายป่วน อินทุวงศ เปรียญ แปลเปนภาษาไทย. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๑ จดหมายเหตุเรื่องมิซชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม พิมพ์ในงารศพพระยาสารสินสวามิภักดิ ( เทียนฮี้ สารสิน ) บ ช, ร จ ม, ร ป ฮ, ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๑ จาก https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๓๑

ชมรมสายสกุลบุนนาค. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๑ จาก http://www.bunnag.in.th/prarajpannuang001.html

Bradley, Dan B. The Missionary Herald containing The proceedings at large of the  American board of commission for foreign missions, with a general view of other benevolent operations. For the year 1836, Volume 32. Boston. [eBook], สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๑ จาก  https://books.google.co.th/books?id=jskWAQAAIAAJ&lpg=PA326&dq=brig%20chantabun&hl=th&pg=PA326#v=onepage&q=brig%20chantabun&f=false