วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

(เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “นครแพร่ จากอดีตมาปัจจุบัน : ภูมิวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น) สนใจสั่งซื้อหนังสือที่ ร้านหนังสือออนไลน์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

อุตสาหกรรมป่าไม้สร้างรายได้มหาศาลแก่รัฐบาลส่วนกลาง บริษัทข้ามชาติและนายทุนท้องถิ่นผู้รับสัมปทานผูกขาด ซึ่งไม่มีผลในทางบวกต่อชีวิตคนในเมืองแพร่เท่ากับผลกระทบในชีวิตการทำมาหากินต่อมาและสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลาย เมืองแพร่คือตัวอย่างของการนำ ทรัพย์ส่วนรวม [Common property] ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตจากสภาพแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของตนเองมาใช้ในระบบสัมปทานจนหมด ผลกระทบมากมายเกิดขึ้นอย่างเป็นลูกโซ่ในประวัติศาสตร์เมืองแพร่จนถึงปัจจุบัน 

การทำป่าไม้ในระยะเริ่มแรก คือ การทำ “ไม้สัก” ซึ่งพบมากที่สุดในเขตจังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และยังพบประปรายแถบจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชรลงมาถึงอุทัยธานี กาญจนบุรี ส่วนพม่านั้นเป็นประเทศที่มีไม้สักมากที่สุด การเริ่มต้นกิจการทำไม้สักในประเทศไทยเริ่มจากชาวจีนไหหลำที่ต้องการไม้สักมาต่อเรือส่งไปยังเมืองจีนตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งการเดินเรือสำเภาเลียบชายฝั่งเป็นกิจการที่เฟื่องฟูทั้งการค้าขายและการอพยพย้ายถิ่นในช่วงเวลานั้น และยังเป็นคนกลุ่มแรกที่ทำโรงเลื่อยเพื่อแปรรูปไม้สักที่นำมาจากแถบเมืองพิษณุโลกและสวรรคโลก และยังไม่ได้นำเอาขอนไม้มาจากทางเมืองเหนือแต่อย่างใด

ป่าไม้สักโดยทั่วไปเป็นป่าผสมผลัดใบหรือที่เรียกกันว่า ป่าเบญจพรรณ ผลัดใบในฤดูแล้งพันธุ์ไม้มีค่านอกเหนือจากไม้สักแล้วมีไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้มะค่า ไม้ตะแบก ไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ฯลฯ ไม้สักเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นสูง ดินลึก ระบายน้ำดี และมีสภาพที่เป็นกลางหรือด่างเล็กน้อย ปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพเนื้อไม้อยู่ระหว่าง ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ มิลลิเมตรต่อปี มีฤดูแล้งสลับกับฤดูฝนเพื่อที่เนื้อไม้จะได้มีลวดลายของวงปีชัดเจน ระดับความสูงของพื้นที่ไม่เกิน ๗๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล (๑)

เมื่ออังกฤษสามารถเข้ายึดพม่าเป็นอาณานิคมเริ่มแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ เป็นยุคอาณานิคมที่ทำให้กิจการการทำไม้สักเพื่อส่งออกเริ่มต้นขึ้น และกระทำอย่างจริงจังเมื่ออังกฤษยึดพม่าตอนล่างเพิ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งไม้สักที่สำคัญ ชาวอังกฤษตั้งบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา บริษัทบริดิช เบอร์เนียว เพื่อรองรับการค้าไม้ส่งออก ซึ่งตลาดไม้สักที่สำคัญนั้นอยู่ในยุโรปและอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หลังจากทำไม้เป็นระยะเวลาหนึ่งก็เริ่มขยายตัวมาทำไม้ในหัวเมืองทางเหนือของสยามเพราะเห็นว่ามีไม้สักมาก คุณภาพดีและราคาถูกกว่าของพม่า ทำให้คนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ เช่น เงี้ยวหรือไทใหญ่ กะเหรี่ยง พม่า เข้ามาขอเช่าทำป่าไม้กับเจ้าผู้ครองนครซึ่งอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๔ ต่อรัชกาลที่ ๕

ในสมัยก่อนเกิดการรวมศูนย์อำนาจและยกเลิกหัวเมืองประเทศราช ป่าไม้ในหัวเมืองเหนือถือเป็นทรัพย์สินมรดกจากบรรพบุรุษและทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้านายในหัวเมืองเหนือ ซึ่งแต่เดิมป่าไม้น่าจะเป็นทรัพย์สินโดยรวมที่มีผีอารักษ์คอยคุ้มครอง คอยรักษาสมดุลตามธรรมชาติและผู้คนเพียงใช้ประโยชน์จากการเก็บของป่า ดังนั้นผลผลิตจากป่าจึงกลายเป็นทรัพย์สิน ไม่ใช่บริเวณที่เป็นผืนป่าทั้งบริเวณดังที่เราสามารถพบร่องรอยของวิธีคิดในเรื่องทรัพยากรส่วนรวมที่ผู้คนยกให้เป็นของพระเจ้าหรือผีใหญ่อารักษ์คุ้มครอง และการอ้างอิงกับอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่พบได้ในบ้านเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจับจองอ้างเป็นทรัพย์สินส่วนตัวหรือทรัพย์สินเฉพาะกลุ่มจึงเกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อทรัพยากรเหล่านั้นเริ่มมีคุณค่าในทางเศรษฐกิจ การจับจองพื้นที่จึงกลายเป็นทรัพย์สินกรรมสิทธิ์ที่สำคัญกว่าผลผลิตเฉพาะบุคคลที่ได้จากพื้นที่โดยรวม

ใน พ.ศ. ๒๔๒๖ รัฐบาลไทยเริ่มอนุญาตให้ชาวยุโรปเข้ารับสัมปทานทำไม้สักในประเทศไทยได้ และในช่วงเวลาเดียวกันคือหลังจาก พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นต้นมา พม่าก็ได้ปิดป่าสักไม่ให้มีการทำไม้เนื่องจากสภาพป่าสักเสื่อมโทรมลงมากจากการทำไม้ของบริษัทต่างชาติ และความต้องการไม้สักในหมู่ประเทศยุโรปจึงมีมากขึ้น เมื่อมีความชำนาญในการทำไม้ในพม่า บริษัทของอังกฤษทราบถึงวิธีการที่จะได้ผลมากที่สุดทั้งเทคนิคการตัดไม้และลากจูง การลงทุนที่คุ้มค่าและมีกำไรสูงสุด และการบริหารงาน ความเชี่ยวชาญ และเหตุผลข้างต้นทำให้บริษัททำไม้ของยุโรปเข้ามาตั้งบริษัททำธุรกิจในประเทศไทย 

เริ่มจากบริษัทบริดิช เบอร์เนียว จำกัด มาตั้งที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ แต่เริ่มอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด [Bombay Burma Trading Corporation,Ltd.]ของอังกฤษ ซึ่งเป็นใหญ่และมีอิทธิพลมากในประเทศพม่าเข้ามาใน พ.ศ. ๒๔๓๒ ตั้งสาขาที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ บริษัทสยามฟอเรสต์ จำกัด [Siam Forest Company,Ltd.] ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแองโกลสยามและแองโกลไทย จำกัด เข้ามาทำป่าไม้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ บริษัทหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ [Louis t.Leonowens Ltd.] ซึ่งแยกมาจากบริษัทบริดิช บอร์เนียว ใน พ.ศ. ๒๔๓๙  และบริษัทของชาวเดนมาร์กอีกแห่งหนึ่งคือ บริษัทอิสต์ เอเชียติค จำกัด ตั้งขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นบริษัทที่นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาค้าขายด้วย สำนักงานเดิมตั้งอยู่ข้างโรงแรมโอเรียลเต็ล และบริษัทนี้ยังคงทำธุรกิจอยู่จนทุกวันนี้ และยังมีบริษัทของฝรั่งเศสอีกหนึ่งบริษัทคือ บริษัทเอชิอาติก   เออาฟริเกน ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ส่วนผู้ทำไม้รายย่อยซึ่งเริ่มเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นนายทุนของสยามได้แก่ บริษัทล่ำซำ จำกัด ของนายอึ้ง ล่ำซำ ซึ่งเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส บริษัทกิมเซ่งหลี จำกัด ก่อตั้งโดย นายอากรเต็งหรือหลวงอุดรภัณฑ์พานิช ซึ่งมีทุนน้อยกว่าชาวยุโรป นอกจากนี้ยังมีเจ้านายจากเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองแพร่และเมืองน่าน คนอเมริกันและฮอลันดา และคนท้องถิ่น (๒) 

การทำป่าไม้ในมณฑลพายัพดำเนินการโดยพ่อค้าอังกฤษและชาวพม่าในบังคับอังกฤษ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ ๒ บริษัทป่าไม้อังกฤษใหญ่ๆ คือ บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา และบริษัท บริดิช บอร์เนียว ซึ่งการดำเนินงานของทั้งสองบริษัทจะกระทำอย่างมีแบบเเผนและใช้วิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่ทำป่าไม้ก็มีความชำนาญในการทำป่าไม้มาจากพม่า เมื่อบริษัทได้มาตั้งสาขาขึ้นในมณฑลพายัพก็ดำเนินการทำป่าไม้ทุกอย่าง นับตั้งแต่การรับเช่าทำป่าไม้ การตัด แม้แต่การออกทุนในการรับซื้อไม้จากพ่อค้าไม้ชาวพื้นเมือง

การทำธุรกิจป่าไม้เป็นแบบการรับสัมปทานป่าเป็นผืนๆ ไป การลงทุน เทคโนโลยี การจ้างแรงงานเป็นของบริษัทรับทำทั้งหมด ส่วนการอนุญาตเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ เช่น เจ้าผู้ครองนครของหัวเมืองต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การขัดแย้งในทางธุรกิจที่อาจนำไปสู่ข้ออ้างทางการเมืองที่ฝ่ายเจ้าอาณานิคมที่เป็นคนดูแลทั้งบริษัทและคนในบังคับชาติต่างๆ สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการจุดประเด็นเพื่อเข้ายึดดินแดนต่างๆ ได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นในพม่าและที่อื่นๆ 

 

การนำซุงออกจากป่าต้องใช้แรงงานช้าง

การจัดการป่าไม้โดยรัฐบาลจากกรุงเทพฯ การฟ้องร้องจำนวนมากและหลายคดีที่ฝ่ายเจ้าของสัมปทานคือเจ้าผู้ครองนครเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้รัฐไทยตระหนักว่าความขัดแย้งเหล่านี้จะขยายเพิ่มมากขึ้นและคุกคามต่ออาณาเขตของรัฐที่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนั้น จนนำไปสู่ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์และยกเลิกหัวเมืองประเทศราช จัดระบบการปกครองที่ดูแลจากส่วนกลางอย่างเข้มข้นในระยะเวลาเดียวกัน

การแก้ไขปัญหาในเรื่องการทำสัมปทานป่าไม้ซึ่งมีการออกพระราชบัญญัติและประกาศต่างๆ เกี่ยวกับไม้สักเพื่อแก้ปัญหาการให้สัมปทานเช่าซ้ำซ้อน การจัดเก็บภาษีที่ดีขึ้น การลักขโมยตัดไม้ การฆาตกรรม การลอบตีตราเถื่อนและซ้ำซ้อน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๖ เจ้าผู้ครองนครต่างๆ ที่จะทำสัญญากับชาวต่างประเทศต้องได้รับความยินยอมจากกรุงเทพฯ ก่อน

 

การตัดไม้และ การขนย้ายไม้ซุงออกจากป่า

ในช่วง พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๒๗ รัฐบาลส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ไปเป็นข้าหลวงพิเศษแก้ไขปัญหาป่าไม้ และมีประกาศ พ.ศ. ๒๔๒๗ เรื่องซื้อขายไม้ขอนสักและประกาศเรื่องตัดไม้สัก พ.ศ. ๒๔๒๗ เพื่อควบคุมเรื่องการทำสัญญาเช่าป่าให้อยู่กับรัฐบาลและข้าหลวงจากกรุงเทพฯ เท่านั้น ห้ามเจ้านายเจ้าของป่าออกใบอนุญาตแก่ผู้ขอเช่าทำป่าไม้เอง เป็นการลดอำนาจเจ้าผู้ครองนครโดยตรง เพราะรายได้จำนวนมากเหล่านี้ตกอยู่กับเจ้านายในหัวเมืองต่างๆ ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มในการจัดระบบการปกครองแบบศูนย์รวมอำนาจที่จะเกิดขึ้น และห้ามไม่ให้ตัดฟันไม้สักในป่าเขตเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน นอกจากได้รับอนุญาตจากข้าหลวง นอกจากนี้ยังมีประกาศเรื่องการเก็บภาษีไม้ขอนสักให้ถูกต้องใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ห้ามไม่ให้ล่องไม้ในเวลากลางคืน ห้ามลักขโมยไม้ใน พ.ศ. ๒๔๓๙

14

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงพิเศษที่ขึ้นมาแก้ไขปัญหาเรื่องไม้ในหัวเมืองเหนือ ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๒๗

รัฐบาลได้โอน Mr. Castenjold ที่เดิมปฏิบัติราชการประจำกระทรวงการคลังมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยสำรวจสถานการณ์ป่าไม้สักทางมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ แต่ได้ล้มป่วยและถึงแก่กรรมอย่างกะทันหันที่จังหวัดตาก ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เจรจาขอยืมตัว Mr. H. A. Slade ข้าราชการอังกฤษที่รับราชการในกรมป่าไม้พม่าให้เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ คำปรึกษา ในกิจการป่าไม้ของไทย เช่นเดียวกับที่ Sir. Dietrich Brandis ได้เริ่มลงมือจัดการป่าไม้ในประเทศพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙

ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๘ Mr. Slade ขึ้นไปตรวจการทำป่าไม้ในหัวเมืองภาคเหนือ โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ พร้อมนักเรียนไทยฝึกหัดอีก ๕ คน ออกไปสำรวจและนำเสนอรายงานชี้แจงข้อบกพร่องต่างๆ ของการทำป่าไม้ในเวลานั้น และให้ข้อเสนอแนะต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลไทยเคยออกประกาศและพระราชบัญญัติต่างๆ โดยสรุปคือ

ข้อเสนอแนะต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยของ Mr. Slade 

ควรทำแผนที่แบ่งป่าไม้สักและไม้อื่นๆ ทางภาคเหนือเพื่อทราบความหนาแน่นของไม้และมูลค่าจริงของป่าแต่ละแห่งแล้วจัดวางโครงการทำป่าไม้ 

ควรสำรวจไม้อื่นที่ไม่ใช่ไม้สักเพื่อใช้ทดแทนไม้สัก เป็นการสงวนพันธุ์ไม้สักไว้ใช้ประโยชน์ในทางที่เหมาะสมต่อไป  

ควรดำเนินการให้ป่าไม้อยู่ในความดูแลของรัฐบาลและยกเลิกส่วนแบ่งค่าตอไม้ซึ่งเจ้านายต่างๆ ได้รับมาแต่เดิม โดยรัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้เป็นการทดแทน 

รวมทั้งควรจัดตั้งหน่วยงานควบคุมป่าไม้ขึ้นเป็นทบวงการเมืองของรัฐ  

ควรออกกฎหมายสำหรับควบคุมกิจการป่าไม้เพื่อป้องกันรักษาป่า การจัดวางโครงการป่าและการจัดเก็บผลประโยชน์จากป่า รวมทั้งการแก้ไขสัญญาอนุญาตทำไม้ให้มีความเป็นระเบียบ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ 

ควรจัดส่งนักเรียนไปศึกษาอบรมที่โรงเรียนการป่าไม้ในต่างประเทศ ๒-๓ คนทุกปี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการบริหารกิจการป่าไม้ไทยต่อไป 

ควรจัดตั้งด่านภาษีใหม่รวม ๖ แห่ง ที่เมืองพิชัย สวรรคโลก ปากน้ำโพ และกรุงเทพฯ ส่วนค่าตอไม้สำหรับไม้ที่ล่องลงแม่น้ำสาละวิน ควรตั้งด่านภาษีที่เมืองมะละเเหม่งหรือเมาะลำเลิงเพื่อควบคุมไม้ที่ล่องไปยังพม่า และควรปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามมาตรฐานการป่าไม้

27

Mr.H.A.Salade เจ้ากรมป่าไม้คนแรก พ.ศ.๒๔๓๙-๒๔๔๔ ภาพจากพิพิธภัณฑ์ไม้สัก จังหวัดแพร่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นชอบกับกระทรวงมหาดไทยและรายงานของ Mr. Slade ว่าถูกต้องสมควรทุกประการ โดยกล่าวถึงอำนาจรัฐบาลซึ่งถือว่าป่าไม้เป็นของหลวงมาแต่เดิมจะใช้สิทธิ์ตามอำนาจนั้น เจ้าผู้ครองนครผู้เป็นเจ้าของป่าเมื่อเป็นผู้อนุญาตแต่ผู้เดียวก็ไม่สามารถจัดการกับการสัมปทานค่าตอไม้ได้อย่างชัดเจน และการใช้จ่ายเงินทองรั่วไหลไปที่ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ถึงรัฐอย่างเต็มที่ หากจะสูญเสียรายได้ก็น่าจะเป็นการเสียรายได้จากการจ่ายเงินเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาคอรัปชั่นในการสัมปทานป่ามาตั้งแต่ช่วงแรกๆ 

จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปิดให้สัมปทานหรือทำสัญญาเช่าทำป่าไม้สัก กลายเป็นช่องทางให้ผู้รับเหมาตัดไม้สักอย่างเดียว ไม่จำกัดขนาดและปริมาณจนหมดป่า รัฐบาลกลางจึงจัดตั้ง กรมป่าไม้  ขึ้นในวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Royal Forest Department สังกัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากในเวลานั้นกระทรวงเกษตราธิการเพิ่งจะสถาปนาขึ้นใหม่ ยังไม่มีกำลังพอจะดำเนินการเองได้ และชื่อภาษาอังกฤษบ่งบอกเป็นนัยว่า ป่าไม้นั้นเป็นของหลวง

เมื่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ Mr. Slade เป็นเจ้ากรมป่าไม้คนแรกในอีกหนึ่งเดือนต่อมา สิ่งที่กรมป่าไม้จัดการก็คือ การแก้ปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ป่าไม้ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่พอใจจากเจ้านายจากหัวเมือง โดยเฉพาะที่เกิดเหตุการณ์จนถึงกับล้มเลิกระบบเจ้าหลวงปกครองเมืองเป็นแห่งแรกในหัวเมืองเหนือ เช่นที่เมืองแพร่

ต่อมารัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติและกฎหมายป่าไม้ต่าง ๆ เกี่ยวกับระเบียบการทำไม้ การป้องกันรักษาป่าไม้ การตั้งด่านภาษี เป็นต้น ได้มีการปรับปรุงแก้ไขสัญญาอนุญาตทำป่าไม้สักกับบริษัทต่าง ๆ ให้รัดกุม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและถูกต้องตามหลักวิชาการมากยิ่งขึ้น ทั้งให้ทำสัญญาอนุญาตทำไม้สัญญาละ ๖-๑๒ ปี ต่อมาได้ขยายเวลาสัญญาออกเป็นสัญญาละ ๑๕ ปี ตามหลักการจัดการป่าสักโดยวางโครงการตัดฟัน ๓๐ ปี เริ่มต้นใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้ย้ายที่ทำการกรมป่าไม้จากจังหวัดเชียงใหม่มาอยู่ที่กรุงเทพฯ และย้ายสังกัดจากกระทรวงมหาดไทยไปขึ้นกับกระทรวงเกษตราธิการหรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ในปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ทั้งหมดนี้คือนโยบายที่ต้องการรายได้ไปบำรุงการปรับเปลี่ยนสยามประเทศที่กำลังเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ ชาติสมัยใหม่ ในช่วงเวลานั้น

ในช่วงระยะแรกของการทำป่าไม้ บริษัทของอังกฤษได้รับสัมปทานมากที่สุดถึงร้อยละ ๘๐ เพราะมีเงินทุนมากพอที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหาในการจ่ายเงินค่าตอไม้หรือค่าสัมปทานแก่รัฐ ส่วนที่เหลือที่เป็นนายทุนชาวจีน พม่า เงี้ยวหรือไทใหญ่ กะเหรี่ยง หรือเจ้านายในท้องถิ่นมักจะไม่มีเงินทุนเพียงพอ หากได้รับสัมปทานไม่นานก็ต้องนำไปขาย โอน หรือให้บริษัทต่างชาติรับเหมาช่วงต่อ

ในระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนโยบายที่ต้องการให้การผูกขาดหรือรับสัมปทานป่าไม้ตกอยู่ในกลุ่มของคนไทยให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อรัฐบาลจะได้รับผลประโยชน์และผลกำไรมากกว่า จึงส่งเสริมให้บริษัทคนไทยรับสัมปทานมากขึ้น และจำกัดสิทธิ์และลดอิทธิพลของบริษัททำไม้ เช่น การให้กรมป่าไม้เป็นผู้รับสัมปทานป่าไม้สักเองในป่าที่เหลือ และพยายามให้สัมปทานแก่บริษัทคนไทยที่มีคุณสมบัติคือ มีเงินทุนในการทำป่าไม้ตลอดระยะเวลาที่รับสัมปทานและมีประสบการณ์ทำไม้ แต่นโยบายดังกล่าวก็ไม่ได้ผลนัก กิจการป่าไม้โดยบริษัทของชาวยุโรปก็ยังได้รับการต่อสัมปทานเพราะปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด

แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ ทุนและที่ดินยังเป็นของคนกลุ่มเดิม และบริษัททำไม้ชาวยุโรปก็ยังเป็นผู้รับสัมปทานรายใหญ่เช่นเดิม แต่เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำรัฐบาลในวาระแรก มีการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมที่ปลูกฝังเรื่องความเป็นคนไทยที่ยิ่งใหญ่ชาติหนึ่งและเจริญทัดเทียมอารยประเทศ โดยมีการนำเอาค่านิยมเรื่องชาตินิยมมาใช้ในทางเศรษฐกิจ โดยเน้นว่าไทยจะเป็นทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ไม่ใช่ต่างชาติเป็นผู้ขายและไทยเป็นผู้ซื้อ มีความคิดว่าต้องลดบทบาทของบริษัทต่างชาติในกิจการทำไม้ด้วย แต่ก็ไม่สามารถดำเนินนโยบายชาตินิยมดังกล่าวได้แต่อย่างใด เพราะบริษัทของชาวยุโรปที่รับสัมปทานสามารถขอต่อสัมปทานเป็นรอบที่ ๓ ได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลไทยเพิกถอนสัมปทานการทำไม้สักจากบริษัทอังกฤษทั้ง ๔ บริษัท สั่งยึดกิจการและทรัพย์สินต่างๆ ตาม “พระราชบัญญัติว่าด้วยการควบคุมและจัดการทรัพย์สินของบุคคลคนต่างด้าวบางจำพวกในภาวะคับขัน” และตั้ง บริษัทไม้ไทย จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจของรัฐขึ้น เพื่อรับช่วงการทำสัมปทานป่าไม้แทน 

หลังสงครามโลกใน พ.ศ. ๒๔๘๙ รัฐบาลต้องคืนสัมปทานป่าสักให้แก่บริษัททำไม้ต่างๆ ที่ยึดคืนมา และชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างสงครามและยุบบริษัทไม้ไทย จำกัด จึงตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจหนึ่งในจำนวนหลายแห่งที่ตั้งขึ้นในช่วงนี้ เพื่อดำเนินกิจการด้านป่าไม้ให้แก่รัฐบาล และเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจกลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง ก็ดำเนินนโยบายสนับสนุนให้คนไทยดำเนินการทำไม้แทนชาวยุโรปซึ่งมีการเตรียมตัวไว้ก่อนที่สัมปทานจะหมดอายุ

จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๘ สัมปทานป่าไม้สักของบริษัทต่าง ๆ ได้สิ้นสุดลงและไม่ได้รับการต่อสัญญาอีก มีการยกฐานะองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทนิติบุคคล เพื่อสามารถแข่งขันและมีความคล่องตัวในการดำเนินงานทัดเทียมบริษัทเอกชน และมีการตั้ง บริษัทป่าไม้ร่วมทุน ขึ้น โดยรวมทุนจากบริษัททำไม้ที่หมดสัมปทานทั้ง ๕ บริษัทเข้าด้วยกัน รัฐบาลไทยถือหุ้นร้อยละ ๒๐

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง บริษัทป่าไม้จังหวัด ขึ้น เพื่อรับทำไม้ในท้องที่จังหวัดนั้น ๆ ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ป่าสักได้ถูกแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือ ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ทำหนึ่งส่วน บริษัทป่าไม้ร่วมทุนหนึ่งส่วน และบริษัทป่าไม้จังหวัดอีกหนึ่งส่วน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๓ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อหมดสัมปทาน รัฐบาลจึงได้มอบให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ดำเนินกิจการทำไม้สักทั้งหมด ยกเว้นสัมปทานป่าสักของเอกชนที่อายุสัญญายังเหลืออยู่ และบริษัททำไม้ต่างชาติทั้ง ๕ บริษัทปิดกิจการลง (๓)  

ป่าไม้สักเมืองแพร่ จากลักษณะทางกายภาพ ทั้งดิน น้ำ และทรัพยากรอื่น ๆ ทำให้บริเวณป่าเมืองแพร่มีไม้สักดีที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะตามลำน้ำที่พบมีอยู่แถบทุกสาย ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวต่างชาติเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ในเมืองแพร่หลายบริษัท สัมปทานป่าไม้ที่เมืองแพร่ซึ่งรัฐให้กับบริษัทชาวยุโรปรอบละ ๑๕ ปี โดยให้ทั้งหมด ๓ รอบด้วยกัน 

บริษัทที่ได้รับสัมปทานมากที่สุดในเมืองแพร่ คือ บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา ของอังกฤษ ซึ่งได้รับสัมปทานทำไม้ในบริเวณป่าแม่น้ำยมตะวันตก คือ ป่าไม้ด้านทิศตะวันตกของฝั่งเเม่น้ำยม นับตั้งแต่ป่าตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จนถึงป่าแม่ต้า ในเขตอำเภอลอง แต่ป่าแม่ต้านี้เป็นพื้นที่ในกรรมสิทธิ์ของเจ้าผู้ครองนครลำปางในเวลานั้น ซึ่งเจ้าผู้ครองนครลำปางได้มอบสัมปทานให้กับบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา รับทำ เป็นอาณาเขตที่มีไม้สักอันมหาศาล แต่นับว่าบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เข้ามาทำไม้เมืองแพร่ในระยะสั้น เมื่อเทียบกับบริษัทอีสต์ เอเชียติค ของเดนมาร์ก เพราะเมื่อไม้สักหมดป่าแม่ต้าแล้ว บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา ก็ย้ายกิจการออกไปยังจังหวัดอื่นในภาคเหนือต่อไป

การทำไม้ทำให้พม่าเข้ามาในจังหวัดแพร่เพิ่มมากขึ้น เพราะการทำไม้ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากที่ชำนาญงาน และพม่าเป็นแหล่งทำไม้ใหญ่ของอังกฤษมาก่อน ทั้งนี้การชักลากไม้ออกจากป่าลำบากมากแล้ว การล่องซุงเพื่อนำไม้ไปแปรรูปและส่งขายต่างประเทศยังเป็นเรื่องยากลำบากและใช้เวลานานกว่า เพราะต้องใช้จำนวนคนที่เป็นแรงงานมาก ส่งต่อกันเป็นทอดๆ คนงานทำไม้ก็จะอาศัยแรงงานคนขมุ กะเหรี่ยง มากกว่าคนท้องถิ่นที่ไม่นิยมรับจ้างเป็นแรงงานในบริษัททำไม้ เพราะเป็นคนในพื้นที่ที่อาศัยการทำการเกษตรที่เพียงพออยู่แล้ว ส่วนคนงานในบริษัทของชาวยุโรปก็จะนิยมจ้างชาวพม่า เงี้ยวหรือไทใหญ่ที่เคยมีประสบการณ์ทำไม้กับบริษัทเหล่านี้มาในพม่า เป็นเสมียนผู้ดำเนินงานภายในบริษัท

ไม้ที่ล่องนั้นเมื่อออกจากป่าเมืองแพร่จะไปรวมกันที่ลำน้ำยมหน้าวัดเชตวัน ซึ่งเป็นท่าน้ำลงน้ำยม พวกฝรั่งจะอาศัยอยู่ทางบ้านเชตวัน อยู่แถวริมน้ำ ซึ่งปัจจุบันเป็นน้ำยมไปแล้ว เพราะน้ำเซาะจนตลิ่งพัง  ในอดีตเมื่อยังมีการทำไม้และล่องซุงไม้ในน้ำยมแต่มีการลักไม้เต็มไปหมด ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ก็ทำเองด้วย ทำให้มีการจับกุมกันบ่อย ต่อจากนั้นจะล่องผ่านแก่งน้ำในช่องเขาไปรวมกันที่หาดเสี้ยว ศรีสัชนาลัย แล้วล่องไปจนถึงสวรรคโลก ชาวบ้านที่หาดเสี้ยวจะมีอาชีพรับจ้างล่องแพผูกแพไปส่งที่ปากน้ำโพ คนที่รับจ้างทำไม้ส่วนใหญ่จะอยู่บ้านเวียงทอง อำเภอสูงเม่น ตระกูลใหญ่ในเมืองแพร่ก็มีชื่อเสียงในด้านการทำป่าไม้และการขายไม้แปรรูปและวัสดุก่อสร้าง  

ส่วนบริษัทอีสต์ เอเชียติค ได้รับสัมปทานทำไม้ขอนสักตลอดฝั่งแม่น้ำยมตะวันออก โดยมีการนำไม้ออกอย่างมากมายถึงขนาดทำทางรถไฟเข้าไปทำการชักลาก มีกำหนดอายุสัญญาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๑-๒๔๖๘ จำนวนไม้ที่ทำออกได้ในปีหนึ่งมีปริมาณกว่า ๖,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร

บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา มีที่ทำการอยู่หน้าที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ของกรมป่าไม้ที่บ้าน      เชตวัน ตำบลในเวียง ส่วนบริษัทอีสต์ เอเชียติค ที่ทำการบริษัทอยู่ที่บ้านสันกลาง ตำบลในเวียง ที่ทำการบริษัทอีสต์ เอเชียติค ปัจจุบันได้กลายเป็นโรงเรียนป่าไม้แพร่ 

ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๖ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในช่วงเวลานี้เองที่บริษัททำไม้ของอังกฤษซึ่งเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรถูกรัฐบาลไทยยึดสัมปทานและไม้ในครอบครองทั้งหมด ยกเว้นก็แต่บริษัทอีสต์ เอเชียติค ของเดนมาร์กที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นคู่กรณีในสงคราม  

ตระกูลใหญ่ในเมืองแพร่ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเหมาบริษัทฝรั่ง โดยเฉพาะการรับจ้างใช้ช้างลากไม้ในป่า เพราะการทำไม้จำเป็นต้องใช้แรงงานคนและช้างชักลากมากกว่าวิธีอื่น ดังนั้นผู้สืบเชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่และคหบดีชาวเงี้ยวหรือไทใหญ่และชาวพม่าก็จะรับจ้างเหมา โดยส่วนใหญ่จับช้างป่ามาหัดแล้วนำไปรับงานชักลากไม้ที่ต้องใช้แรงงานคนงาน โดยเฉพาะชาวขมุมาเลี้ยงช้างเป็นจำนวนมากและมีอยู่หลายตระกูลด้วยกัน เช่น เจ้าวงศ์หรือเจ้าโว้ง แสนศิริพันธุ์ บุตรพระวิชัยราชา หลวงพงษ์พิบูลย์หรือเจ้าน้อยพรหม วงศ์พระถาง สามีเจ้าสุนันตา พงษ์พิบูลย์ ผู้บูรณะวัดพงษ์สุนันทน์ นายแสน วงศ์วรรณ บิดานายณรงค์ วงศ์วรรณ เจ้าน้อยจู แก่นหอม เจ้าอ้น วังซ้าย เจ้าคำตัน วังซ้าย นายปัน ชมภูมิ่ง นายประพัฒน์ เมืองพระ เป็นต้น

การลากไม้ออกจากป่าต้องใช้ช้างลาก ในยุคหลังจากเงี้ยวปล้นเมืองแพร่และยกเลิกระบบเจ้าหลวงปกครองแล้ว เจ้าของช้างที่รับทำสัญญาต่อกับบริษัทของฝรั่งรายใหญ่ คือ เจ้าโว้ง (เจ้าวงศ์) แสนสิริพันธุ์ คหบดีเชื้อสายเจ้าเมืองแพร่ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดแพร่ใน ราว พ.ศ. ๒๔๘๐ และเมื่อมีการดำเนินการสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” โดยการผลักดันของนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นผู้รับผิดชอบ ได้มาถ่ายภาพยนตร์ที่บริเวณโรงเรียนบ้านในและใช้ช้างจากเจ้าวงศ์หรือเจ้าโว้ง แสนสิริพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในยุคนั้น ถือว่าเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ในท้องถิ่น และภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกก็กลายเป็นภาพยนตร์ที่มีความสำคัญของรัฐชาติไทยในเวลาต่อมาด้วย   

 

จุดล่องไม้ของเมืองแพร่ จะอยู่ที่ชุมชนเชตวัน นอกเขตเวียงแพร่ ใกล้กับประตูมาร

แต่การทำป่าไม้นี้ชาวบ้านจะไม่ได้มีส่วนร่วมเลย แต่จะมีบางคนขโมยไม้บ้าง ส่วนชาวบ้านในเวียงจะกลัว เพราะถ้าขโมยหรือตัดฟันจะถูกจับทันที ทั้งนี้เพราะบารมีของเจ้าวงศ์หรือเจ้าโว้ง แสนสิริพันธุ์ ซึ่งเป็นคนรับจ้างเหมากับบริษัทอีสต์ เอเชียติค (๔)  

การรับสัมปทานป่าไม้ของบริษัทอีสต์ เอเชียติค พนักงานส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่งและคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น พม่า ไทใหญ่ ที่เป็นเสมียน และกลุ่มขมุที่เป็นแรงงาน ส่วนคนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการไม้สักน้อยมาก เพราะเจ้าของสัมปทานเป็นบริษัทข้ามชาติ ส่วนผู้รับเหมาช่วงลากช้างก็เป็นคหบดีในเวียงแพร่ที่เป็นเชื้อสายของเจ้าหลวง ชาวบ้านทั่วไปจะเป็นคนงานหรือผู้รับจ้างทำงานในปางไม้แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะอาชีพหลักยังเป็นเรื่องของการทำเกษตรกรรมดังที่เคยทำมาแต่เดิม ชาวบ้านนิยมเข้ามารับจ้างตัดไม้โดยใช้ขวาน และแรงงานส่วนมากอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก 

18

กัปตัน W. Guldberg เดินทางเข้ามาสยามตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๕  เมื่อบริษัทอีสต์เอเชียติก ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทอีสต์เอเชียติก ในภาคเหนือของสยาม  ภาพจากพิพิธภัณฑ์ไม้สัก จังหวัดแพร่

15

กัปตัน W.Guldberg ในค่ายพักริมแม่น้ำยมใกล้กับจังหวัดแพร่ ภาพจากพิพิธภัณฑ์ไม้สัก จังหวัดแพร่

24

เจ้าชาย Alex (พ.ศ.๒๔๓๑-๒๕๐๗) ทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากิจการขอบริษัทอีสต์เอเชียติก ภาพในปี พ.ศ.๒๔๗๓ เจ้าชาย Alex พร้อมด้วยเจ้าหญิง Margaretha พระชายา เสด็จทอดพระเนตรกิจการป่าไม้ของบริษัทอีสต์เอเชียติก จังหวัดแพร่

ในยุคที่บริษัทอีสต์ เอเชียติค เข้ามาทำสัมปทานชักลากไม้ลงแม่น้ำยมเพื่อขนส่ง จึงทำรถรางจากในเมืองเข้ามาถึงจุดที่เป็นที่ทำการเทศบาลช่อแฮในปัจจุบัน สำหรับชักลากไม้จากป่าแดง-ช่อแฮ โดยมีท่าซุงแถบวัดเชตวันและโรงเลื่อยในเมืองแพร่ที่ตลาดแพร่ปรีดา ใกล้กับตลาดชมพูมิ่งบริเวณหน้าวัดชัยมงคลในปัจจุบัน  โรงเลื่อยดังกล่าวจะเป็นที่รวมหมอนไม้ต่างๆ ส่วนโรงเลื่อยขนาดใหญ่จะอยู่ที่เด่นชัย  

หากกลุ่มที่ได้ทำงานกับบริษัทต่างชาตินี้เป็นกลุ่มคนที่มีฐานะและได้รับการศึกษาขั้นสูงกว่าชาวบ้านทั่วไป ลูกจ้างที่ทำงานกับนายฝรั่งถึงจะเป็นคนท้องถิ่นก็ต้องมีความรู้พูดภาษาอังกฤษได้ ส่วนคนที่มีฐานะดี มีความรู้ดี ไปเรียนที่กรุงเทพฯ จบแล้วหากกลับบ้านก็เข้าทำงานกับบริษัทฝรั่ง ฝรั่งที่เข้ามาทำงานบางคนก็แต่งงานกับสาวท้องถิ่น สาวๆ ที่แต่งงานกับฝรั่งชาวบ้านจะเรียกว่า แม่เลี้ยง เพราะจะมีฐานะดี และคนที่มีช้างสำหรับรับจ้างลากไม้ในป่าจำนวนมากในช่วงนั้นชาวบ้านจะเรียกกันว่า พ่อเลี้ยงช้าง 

วิธีการทำไม้ 

การค้าไม้สักส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของบริษัทป่าไม้อังกฤษตั้งแต่การเริ่มรับเช่าทำป่าไม้ ตลอดจนวิธีการจนถึงการส่งไม้ออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีบริษัทอีสต์ เอเชียติค ของเดนมาร์กเข้ามาเป็นคู่แข่งในภายหลัง และได้ตั้งโรงเลื่อยไม้ของบริษัทขึ้นเองอีกหลายแห่ง ทั้งยังเป็นผู้นำในการใช้เรือกลไฟเพื่อบรรทุกไม้สักด้วยก็ตาม การส่งไม้สักออกจำหน่ายยังต่างประเทศนั้น แต่ละปีจะมีปริมาณการส่งออกแตกต่างกันไป เพราะปริมาณการส่งไม้ออกจำหน่ายในแต่ละปีมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำในแม่น้ำแต่ละปีด้วย กล่าวคือหากปีใดมีน้ำมาก การส่งไม้สักออกก็ทำได้มากด้วย เพราะน้ำในแม่น้ำสามารถพาไม้สักล่องลงมาถึงกรุงเทพฯ ได้สะดวก แต่หากปีใดมีน้ำน้อยก็ส่งผลให้การล่องไม้ติดขัด จนไม้ที่ล่องมาขายที่กรุงเทพฯ มีปริมาณน้อยตามไปด้วย

วิธีการนำไม้สักออกจากป่าโดยทั่วไปของผู้เช่าทำป่าไม้ในจังหวัดแพร่นั้น ส่วนมากจะใช้คนงานเข้าไปตัดฟันโค่นล้มไม้จากบนภูเขา ต้นไหนที่ทางการให้ตัดฟันชักลากออกจะต้องมีดวงตราประจำต้นตีกำกับพร้อมเลขเรียงลำดับเบอร์จากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และได้ทำการสับกานเพื่อทำให้ไม้ยืนต้นแห้งตายก่อน ผู้ได้รับสัมปทานจะไปตัดโค่นนอกเหนือจากไม้ที่กำหนดไว้ไม่ได้ การตัดฟันโค่นล้มไม้นี้ผู้เช่าทำป่าไม้จะนิยมตัดตอให้สูง เพื่อความสะดวกไม่ต้องทอนหัวไม้ทิ้ง แต่ภายหลังรัฐบาลได้ออกกฎข้อห้ามไม่ให้ตัดตอสูงเกิน ๕๐ เซนติเมตร

เมื่อได้โค่นล้มและตัดทอนเป็นท่อนซุงแล้วจะใช้ช้างชักลากจากบนภูเขาลงมาเรียงรวมหมอนไว้ตามเชิงเขาเป็นแห่งๆ จากนั้นจะใช้ล้อหรือเกวียนที่ส่วนมากเทียมด้วยควายบรรทุกไม้เหล่านั้นลากขนลงไปถึงฝั่งแม่น้ำ ดังนั้นจะใช้ช้างชักลากไม้จากบนภูเขาเท่านั้น เมื่อลงมาถึงทางราบแล้ว หากหนทางห่างไกลก็จะทำทางล้อเทียมควายเข้าไปชักลากไม้มาจนถึงฝั่งน้ำ เพราะวิธีนี้จะช่วยให้ชักลากไม้ได้รวดเร็วกว่าการใช้ช้าง 

ในส่วนของการชักลากโดยใช้รถบรรทุกไม้เริ่มมีแพร่หลายที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน ต่อมาจึงมีการนำวิธีนี้มาใช้ในเมืองแพร่ ในระยะแรกนั้นการนำไม้ขึ้นบรรทุกบนรถจะใช้รอกแบบธรรมดา ซึ่งมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “กว้าน” อาศัยแรงงานทำไม้ช่วยกันกว้านหรือหมุนเพื่อยกไม้ขึ้นบนคาน แล้วนำรถมารองรับไม้ข้างล่าง ทว่าภายหลังรอกแบบที่มีฟันเฟืองสำหรับทดกำลังเริ่มแพร่หลายเข้ามาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงไม่ต้องอาศัยแรงงานคนอีกต่อไป

เมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็จะคัดไล่ล่องซุงตามแม่น้ำโดยไปจัดตั้งอู่เก็บไม้ไว้ที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นชุมทางขนส่งไม้สำคัญที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งด่านเก็บค่าภาคหลวงอยู่ที่นั่น การคัดไล่ล่องซุงจากทางภาคเหนือลงไปนั้นจะยังไม่มัดซุงรวมกันเป็นแพ เพราะสภาพของแม่น้ำในภาคเหนือมีเกาะแก่งมาก ขั้นตอนดังกล่าวจึงไปเริ่มต้นที่สวรรคโลกซึ่งเเม่น้ำเริ่มเป็นสายเรียบไม่มีเกาะแก่ง จึงสามารถผูกซุงรวมกันเป็นแพล่องไปถึงปากน้ำโพ สมัยนั้นปัญหาการขโมยไม้ซุงที่ล่องลงแม่น้ำแทบจะไม่มี เพราะชาวบ้านเกรงกลัวความผิดกันมาก

โรงเรียนป่าไม้ 

การก่อตั้งโรงเรียนป่าไม้นั้นมีอยู่ ๒ ยุค ยุคแรกยังไม่เรียกว่าโรงเรียนป่าไม้ แต่เรียกว่า โรงเรียนวนศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ หลักสูตรการเรียน ๒ หลวงวิลาสวนวิทย์ (เมธ รัตนประสิทธิ์) ซึ่งดำรงตำแหน่งป่าไม้ภาคในเวลานั้นเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนป่าไม้ขึ้น จากนั้นก็ได้ระดมนักเรียนที่มีฐานะดี มีความรู้มาเรียน (๕)  ในสถานที่ของบริษัทอีสต์เอเชียติค ที่หมดสัมปทานการทำไม้และมอบตึกที่ทำการให้ 

 

โรงเรียนป่าไม้ เดิมคือที่ทำการของบริษัทอีสเอเชียติก เมื่อโรงเรียนป่าไม้ปิด จึงจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ไม้สักแทน

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้ยุบโรงเรียนวนศาสตร์ให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โรงเรียนป่าไม้ยุคที่สองเปิดขึ้นที่แพร่ช่วง พ.ศ.  ๒๔๙๙  หลักสูตร ๒ ปี และผลิตบุคลากรแก่กรมป่าไม้ ๓๒ รุ่น ก่อนที่จะปิดอย่างถาวรใน พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยมีนายรัตน์ พนมขวัญ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนป่าไม้คนแรก ซึ่งตระกูลของนายรัตน์ พนมขวัญ ถือว่าเป็นที่นับถือของคนเมืองแพร่มาจนถึงปัจจุบัน (๖) 

คนเมืองแพร่เห็นว่าการเรียนที่โรงเรียนป่าไม้ถือว่าโก้มาก เพราะหากเรียนจบแล้วจะได้บรรจุเป็นข้าราชการทันที ซึ่งภายหลังยกเลิกไป มีคนในเมืองแพร่เรียนประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์  ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวและการเรียกรับเงินแรกเข้าซึ่งมีมูลค่าสูงมากกว่าลูกชาวบ้านทั่วไปจะมีได้ ดังนั้นชาวบ้านจึงเห็นว่าผู้ที่ได้เข้าเรียนส่วนใหญ่จะเป็นลูกพ่อเลี้ยง

2

คุณหลวงวิลาสวนวิทย์ (เมธ รัตนประสิทธิ์) เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนป่าไม้

ปัจจุบันได้ยกเลิกการเรียนการสอนแล้ว และปรับปรุงกลายเป็นสถานที่อบรมสัมมนาของข้าราชการกรมป่าไม้ ภายในบริเวณโรงเรียนป่าไม้นี้มี สถานที่สำคัญที่น่าสนใจอยู่ ๒ แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์ไม้สัก และอาคารที่ทำการของบริษัทอีสต์ เอเชียติค ซึ่งตั้งอยู่บนแนวกำแพงเมืองเก่า และปัจจุบันก็ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เรื่องราวการทำไม้ของเมืองแพร่ในสมัยนั้น 

ในระยะเวลาที่โรงเรียนป่าไม้ยังทำการเรียนการสอนอยู่  เศรษฐกิจภายในเมืองแพร่ค่อนข้างดี   เพราะมีคนเข้ามาเรียนมากทำให้คนท้องถิ่นมีรายได้ ทำอาหารขาย รับซักผ้า ทำหอพัก เป็นต้น แต่พอโรงเรียนถูกยุบเศรษฐกิจก็เงียบเหงาลงอย่างมาก

สัมปทานป่า โรงบ่มใบยา ฐานเศรษฐกิจของชนชั้นนำ / สวนเมี่ยงในป่าร้างคือการปรับตัวของชาวบ้านกับทรัพยากรที่หลงเหลือ 

คนเมืองแพร่ต้องพบกับปัญหาการทำลายสภาพป่าไม้ต่อมาอีกนาน เพราะบางส่วนชาวบ้านแอบขโมยเอาไปขาย เนื่องจากการดูแลหมอนไม้ของเจ้าหน้าที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีเจ้าหน้าที่ไม่มากนัก เมื่อชาวบ้านเห็นตัวอย่างการตัดไม้สวมตอของเจ้าหน้าที่บางส่วนเพื่อนำไปขายให้นายทุนที่อำเภอสูงเม่น โดยคัดไม้ที่ดีไว้ขาย เหลือไม้ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพไว้ให้กับทางองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้แพร่ เมื่อเห็นตัวอย่างเช่นนี้ชาวบ้านหลายคนจึงร่วมมือกันขโมยหมอนไม้ที่รอการจำหน่ายไปขายเป็นประจำ

สำหรับตระกูลเก่าแก่ผู้รับสัมปทานจ้างเหมาในเมืองแพร่แทบทุกตระกูล เมื่อหมดสิ้นระยะเวลาสัมปทานป่าไม้กับบริษัทของชาวยุโรปเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๘ ก็เกิดปัญหาใหญ่เพราะกิจการทำไม้ทุกอย่างนั้นองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ดูแลและกำหนดหลักเกณฑ์แทนที่ หลังจากเลิกรับเหมากับบริษัทที่ทำสัมปทานไม้ คนในสายตระกูลดังกล่าวส่วนใหญ่ก็กินสมบัติเก่าหรือขายสมบัติเก่าที่เคยสะสมไว้จนหมดสิ้น ทรัพย์สมบัติที่เคยมีก็ไม่ได้ตกอยู่แก่ลูกหลานในปัจจุบัน ดังจะเห็นว่าบ้านเก่าแก่ของตระกูลต่างๆ ถูกรื้อ บ้างก็เสียหายทรุดโทรมหรือตกไปอยู่ในกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น 

ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๑๓ มีการทำลายป่าไม้อย่างต่อเนื่องจากการให้สัมปทานของรัฐเพื่อชักลากไม้ที่อยู่ตกค้างในป่าออกมา โดยไม่ได้ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นฝ่ายจัดการ รัฐบาลเปิดสัมปทานให้แก่คนไทยโดยอ้างว่าต้องการนำเงินมาช่วยเหลือทหารกองหนุน บริษัทที่ได้สัมปทานป่าไม้ต่อมาคือ บริษัทชาติไพบูลย์ บริษัทแพร่ทำไม้ ซึ่งเป็นของนักการเมืองใหญ่คนหนึ่งของแพร่ในเวลาต่อมา ชาวบ้านเรียกกันว่า “สัมปทานไม้ล้างป่า” เพราะไม่ตัดเฉพาะเพียงไม้สักแต่ตัดไม้อื่นๆ ทุกอย่าง เมื่อระยะสัมปทานหมดลง ป่าไม้เมืองแพร่ก็ไม่เหลืออะไรเลย (๗)

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๙ มีการสร้างโรงบ่มใบยาราว ๓๐๐  เตา จากนายทุนที่เป็นคนลาวเริ่มทำโรงบ่มก่อน ต่อจากนั้นผู้ที่เป็นนายทุนท้องถิ่นที่มีเชื้อสายจีนและคนท้องถิ่นก็เริ่มทำตามบริเวณป่าแดง-ช่อแฮ จนทำให้เกิดกระแสการปลูกใบยาเพื่อส่งขายให้กับโรงบ่มใบยาในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดแพร่ และขยายตัวไปจนถึงจังหวัดเชียงราย ฟืนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักของเตาบ่มใบยาก็ตัดเอาจากในป่าเพื่อเข้าเตาบ่มอย่างมากมาย จนทำให้ป่าถูกทำลายเนื่องจากการใช้ฟืนที่ไม่จำกัดขนาด ช่วงเวลาที่มีการตัดไม้ฟืนส่งเตาบ่มเป็นการตัดไม้ทำลายป่าครั้งสำคัญของบริเวณป่าแดง-ช่อแฮ เพราะไม้ใหญ่จะคัดขายให้นายทุนทางอำเภอสูงเม่น ส่วนไม้เล็กขายให้เตาบ่มใบยาในพื้นที่ สามารถสร้างรายได้ให้กับนายทุนในพื้นที่เป็นกอบเป็นกำจนมีฐานะร่ำรวยและกลายเป็นฐานรองรับฐานะทางการเงินเพื่อนำไปสู่อำนาจในการเป็นนักการเมืองในระดับชาติและระดับท้องถิ่นจนถึงทุกวันนี้

ต่อมาป่าไม้ของจังหวัดแพร่ถูกทำลายไปมากโดยชาวบ้านและนายทุนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙–๒๕๒๕ บริเวณป่าที่ถูกทำลายมากที่สุดอยู่ที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ในปัจจุบันได้ประกาศพื้นที่ป่าหลายแห่งให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติจำนวน ๒๕ ป่า และยังอนุญาตเปิดสัมปทานทำไม้อยู่อีก ๘ ป่า 

คนจีนในเมืองแพร่รุ่นใหม่ที่ไม่ได้เดินทางมาตั้งแต่เมื่อสมัยทำทางรถไฟมาถึงเมืองแพร่ แต่เป็นคนจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่เป็นกลุ่มไหหลำบ้าง แต้จิ๋วบ้าง เข้ามาทำการค้า รับจ้าง และทำสวนผักแบบภาคกลางในสมัยเริ่มต้น และค่อยๆ ขยับขยายไปสู่การค้าอื่นๆ เช่น โรงบ่มใบยาที่กระจายไปทั่วทั้งภาคเหนือหรือรับสัมปทานป่าหน้าเขื่อนสิริกิติ์ เมื่อทำไปสักพักก็กลายเป็นผู้สนับสนุนนักการเมืองและกลายเป็นตระกูลนักการเมืองในเวลาต่อมา (๘) 

หลังจากยุคสัมปทานป่าไม้แล้ว สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงเป็นเศรษฐกิจที่ใช้ทุนมากขึ้น ใช้อิทธิพลมากขึ้น ทำให้ผู้มีฐานะหรือพ่อเลี้ยงในเมืองแพร่ทำอาชีพอยู่ ๓ อย่าง คือ ทำไม้ โรงบ่มใบยา และลักลอบขายยาเสพติดที่เป็นฝิ่นดิบโดยรับมาจากน่าน ผู้มีอิทธิพลต่างๆ ก็มีพัฒนาการไปเป็นนักการเมือง 

การตัดไม้มีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของคนเมืองแพร่ส่วนใหญ่ จากการทำไม้มาเป็นเวลานานทำให้คนแพร่ยึดอาชีพตัดไม้ขายเป็นหลัก และอาชีพพื้นฐานคือรับจ้างที่ทำมานานหลังจากช่วงสัมปทานป่าไม้กับบริษัทชาวไทยทำรายได้ดีกว่าอาชีพเกษตรกรรม อีกเหตุหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว คือ การลักลอบตัดไม้เพื่อการค้า โดยมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลและเจ้าของโรงเลื่อยสนับสนุน 

หลังจากการทำป่าไม้แล้ว เศรษฐกิจเมืองแพร่ที่ผูกติดอยู่กับอุตสาหกรรมป่าไม้ทั้งหมดก็ถดถอยลงตามลำดับ เมื่อป่าไม้หมด รัฐบาลห้ามตัดไม้ทำลายป่า ชาวบ้านในเมืองแพร่จำนวนมาก โดยเฉพาะจากอำเภอสูงเม่นไม่รู้ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ดังที่มีการประท้วงที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตลอดมา 

ในขณะที่ชาวบ้านซึ่งปรับตัวได้ในแถบป่าแดง-ช่อแฮ ก็เปลี่ยนสภาพพื้นที่ซึ่งถูกสัมปทานป่าและตัดไม้สัก และสัมปทานของบริษัทคนไทยที่ล้างป่าจนหมดให้เป็นพื้นที่ทำสวนเมี่ยงและปลูกพืชสวนริมน้ำตามเชิงเขา แม้จะมีปัญหาในเรื่องเอกสารที่ทำกินของชาวบ้านที่เข้าไปใช้พื้นที่ป่ามาตั้งแต่ป่าไม้เมืองแพร่เริ่มหมดไปนานแล้วก็ตาม ชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่ได้มีผลพลอยได้กับการรับสัมปทานของบริษัทชาวยุโรปมากว่า ๔๕ ปี และบริษัทสัมปทานป่าของคนไทยในระยะหลัง นอกจากการขโมยไม้ขอนบ้าง ต้องแลกเปลี่ยนกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องน้ำและป่าในปัจจุบันที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และโคลนดินถล่มที่เริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายๆ ปีหลังมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากป่าไม้เมืองแพร่ที่หมดสิ้นลงเพราะการเข้ามารับสัมปทานของคนภายนอกที่ทำให้ชาวบ้านยุคนี้ต้องปรับตัวในการอยู่อาศัยกับป่าร้างที่เหลือนี้อยู่เพียงเท่านั้น

การตัดไม้ ชาวบ้านธรรมดาไม่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากไม้สักอันเป็นทรัพยากรสำคัญในป่าไม้เมืองแพร่ เพราะธรรมเนียมดั้งเดิมชาวบ้านก็ไม่นิยมตัดไม้ใหญ่ไปทำบ้านเรือนเพราะถือว่าเป็น ขึด หรือข้อห้ามที่เป็นจารีตถือปฏิบัติสืบมา จะมีข้อแม้ก็คงเป็นการใช้ไม้ใหญ่เพื่อนำไปสร้างคุ้มเจ้าหลวงและบ้านเรือนของเจ้านายเท่านั้น

ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ที่ปรากฏโดยเฉพาะสมัยเจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย คือ เจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ ที่เกิดเหตุเงี้ยวเข้าปล้นเมืองแพร่ล้วนสัมพันธ์กับการทำสัมปทานไม้สัก ป่าไม้สักเมืองแพร่ที่สำคัญอยู่ในเขตป่าแดง-ช่อแฮในระดับความสูงหนึ่ง หากสูงเกินกว่าบ้านปางม่วงคำก็ไม่มีป่าไม้สักแล้ว  

สิ่งที่เหลืออยู่สำหรับชาวบ้านเมืองแพร่

เมื่อสิ้นยุคสัมปทานป่าไม้ของบริษัทอีสต์ เอเชียติค และบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา ก็ยังมีไม้บางส่วนที่ตัดล้มแล้วแต่ยังไม่ได้ชักลากออกมา กรมป่าไม้ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ชักลากไม้ที่เหลืออยู่ในป่าในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๑๓ โดยมีการรวมไม้ทั้งหมดไว้บริเวณห้วยกวางเน่าเหนือฝายแม่ก๋อน  ไม้บางส่วนก็ถูกชาวบ้านแอบขโมยไปขายเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ดูแลไม่กี่คน และชาวบ้านเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตัดไม้สวมตอเพื่อนำไปจำหน่ายให้นายทุนที่อำเภอสูงเม่น โดยคัดไม้ที่ดีไว้ขาย เหลือไม้ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพไว้ให้กับทางองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้แพร่ จึงทำให้ชาวบ้านบางคนร่วมกันขโมยหมอนไม้ที่รอการจำหน่ายไปขายอยู่เป็นประจำ

ต่อมารัฐบาลจึงเปิดสัมปทานให้แก่คนไทยเนื่องจากอ้างว่าต้องการนำเงินมาช่วยเหลือทหารกองหนุน บริษัทที่ได้สัมปทานป่าไม้ต่อมาคือ บริษัทชาติไพบูลย์ บริษัทแพร่ทำไม้ ซึ่งเป็นของนักการเมืองใหญ่คนหนึ่งของแพร่ในเวลาต่อมา การสัมปทานไม้ของคนไทยชาวบ้านจะเรียกว่า “สัมปทานไม้ล้างป่า” เพราะหลังจากสัมปทานไม้ล้างป่าหมดลงแล้ว ป่าจะโล่ง ไม่เหลืออะไรอีกเลย

ในช่วงเวลาสัมปทานป่าไม้ของบริษัทเอกชนนั้นเองที่ชาวบ้านเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยและบุกเบิกพื้นที่ป่าสัมปทานเพื่อเป็นที่ทำกินบางส่วน และปี พ.ศ. ๒๔๙๘ กรมที่ดินได้ออกเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่สูงแห่งแรกที่บ้านสันกลาง แต่เดิมบริเวณบ้านสันกลางเป็นที่ตั้งหมอนไม้ในสมัยที่มีการทำสัมปทาน ชาวบ้านมาสร้างที่พักที่นี่เพื่อรองรับงานตัดไม้ จนกลายเป็นปางไม้ใหญ่บนภูเขาแล้วจึงเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ต่อมา  

สรุปคือเหตุที่ป่าเมืองแพร่หมดเพราะมีการสัมปทานป่าไม้มาตั้งแต่สมัยเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย มาจนถึงการปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลแล้วให้แก่บริษัทของชาวตะวันตก ต่อมาคนแพร่ตั้งบริษัทขึ้นมาเองประมาณ ๒-๓ แห่งเป็นการสัมปทานไม้ล้างป่า ชักลากไม้ทุกชนิดออกจากป่าแม้ไม่ใช่ไม้สักและรัฐเป็นฝ่ายยินยอม และเหตุที่ป่าหมดจริงๆ เพราะการมีโรงบ่มซึ่งใช้ไม้ฟืนมาก 

ธุรกิจโรงบ่มเริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องจากท้าวรำพรรณซึ่งเป็นคนลาวได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงบ่มใบยาขึ้นใน บ้านใน ประมาณ ๓๐๐  เตา จนทำให้เกิดกระแสการปลูกใบยาเพื่อส่งขายให้กับโรงบ่มใบยาในพื้นที่ คนแพร่เริ่มเปลี่ยนพืชในการเพาะปลูกมาเป็นปลูกใบยามากขึ้น ต่อมาแพร่เป็นต้นทางของโรงบ่มที่ขยับขยายไปสู่เมืองสอง เชียงราย และเชียงแสน  

ฟืนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของเตาบ่มใบยาก็ตัดมาจากป่าบริเวณใกล้เคียงจนทำให้ป่าถูกทำลายอีกครั้งเนื่องจากการใช้ฟืนที่ไม่จำกัดขนาดและแหล่งที่มา คราวนี้นับว่าเป็นการตัดไม้ที่ทำลายป่าครั้งสำคัญของป่าชุมชนช่อแฮ-ป่าแดง ไม้ใหญ่จะคัดขายให้นายทุนทางอำเภอสูงเม่น ส่วนไม้เล็กขายให้เตาบ่มใบยาในพื้นที่ พ่อเลี้ยงโรงบ่มซึ่งเป็นคนแพร่สามารถทำเงินจากธุรกิจนี้ได้มาก และกลายเป็นตระกูลนักการเมืองในเมืองแพร่และจังหวัดอื่นๆ มาจนทุกวันนี้ 

ปัญหาที่ทำกินทับเขตอุทยานและเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าสงวนแห่งชาติ ประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ ส่วนอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านเพิ่งประกาศเขตอุทยานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ บริเวณที่ดินป่าแม่แคม ป่าแม่ก๋อน และป่าแม่สาย ตำบลสวนเขื่อน ตำบลป่าแดง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ และป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา ป่าแม่จริม และป่าน้ำปาด ตำบลท่าแฝก ตำบลนางพญา ตำบลน้ำหมัน ตำบลจริม ตำบลท่าปลา ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา และตำบลแสนตอ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษามีเนื้อที่ประมาณ ๙๙๙.๑๕ ตารางกิโลเมตร

เขตอุทยานแห่งชาติกับเขตป่าสงวนต่างกันที่เขตอุทยานฯ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาป่าควบคุมดูแลทั้งหมด และขึ้นกับกรมป่าไม้ แต่พื้นที่ป่าสงวนไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลรักษาในพื้นที่ ในปัจจุบันทั้งเขตอุทยานฯ และเขตป่าสงวนต่างก็มีผู้เข้ามาลักลอบตัดไม้เป็นประจำ การมีเขตอุทยานแห่งชาติทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบในเรื่องของที่ดินทำกินและอยู่อาศัย เนื่องจากการเป็นเขตอุทยานแห่งชาติมีกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ที่รุนแรงกว่าเขตป่าสงวน รวมถึงผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลป่าไม้อีกด้วย  

เมื่อเริ่มแรกที่ชาวบ้านบุกเบิกพื้นที่บนเขาหรือบริเวณเขตป่าสงวนในปัจจุบัน เอกสารสิทธิ์หรือโฉนดนั้นไม่มี แต่รัฐออกให้เพียงใบ ภท. ๖ หมายถึงใบภาษีบำรุงท้องที่ หรือชาวบ้านเรียกทั่วไปว่า ภาษีดอกหญ้า ใช้ถือครองที่ดินเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๐๘ โดยให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ประเมิน พื้นที่บนภูเขาและพื้นราบเสียภาษีเท่าเทียมกัน

เมื่อทำการสำรวจเพื่อเก็บภาษีในช่วงเวลานั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่จะบอกจำนวนที่ดินของตัวเองไม่ครบ เช่นมี ๑๕ ไร่ แต่บอกทางการเพียง ๕ ไร่ เพราะกลัวเสียภาษีเยอะจนมีผลกระทบภายหลังเมื่อสามารถออกโฉนดได้แต่การถือครองอย่างเป็นทางการกับจำนวนที่ดินจริงไม่ตรงกัน ยังมีเอกสารอีกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านมีครอบครองก่อนการประกาศเขตป่าสงวน คือ สค. ๑ ซึ่งออกมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เพียงปีเดียว เอกสารดังกล่าวชาวบ้านไม่ได้รับทุกหลังคาเรือน จะได้เฉพาะบ้านที่ให้ผู้ใหญ่บ้านเซ็นอนุมัติเท่านั้น

บ้านที่อยู่บนภูเขาก็มี สค. ๑ เช่นกัน เช่น บ้านนาตอง พื้นที่ซึ่งเป็นนาก็ยังเป็นเอกสาร สค. ๑ อยู่ ส่วนพื้นที่เชิงดอยใช้เอกสารใบประเมิน ภท.๖ ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๔ จะมีการออกใบจองหรือเอกสาร นส. ๒ ปัจจุบันชาวบ้านบนดอยที่ได้เอกสารเป็นโฉนดเกือบหมดแล้วคือบ้านแม่ลัว ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เซ็นโฉนดให้ แต่ทว่าโฉนดที่ชาวบ้านมีไว้เป็นกรรมสิทธิ์ต่างเอาไปจำนองกับ ธกส. แล้วทั้งสิ้น เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการทำมาหากินและเพาะปลูก โดยเฉพาะการทำเมี่ยง ภายหลังเมื่อเปลี่ยนให้พนักงานที่ดินเซ็นแทน หมู่บ้านอื่นๆ จึงยังไม่ได้โฉนด เพราะพื้นที่อยู่อาศัยบนดอยมีความลาดเอียงกว่า ๓๐ องศา พนักงานจึงไม่กล้าเซ็น เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมา 

อย่างไรก็ตามเคยมีการออกเอกสารสิทธิ์ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในสมัยพ่อแม่ ปู่ย่าตายายแล้ว แต่มีเหตุการณ์ไฟไหม้อำเภอในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เอกสารต่างๆ ของชาวบ้านจึงสูญหายไปจนหมด และยังไม่สามารถอ้างอิงสิทธิ์นั้นกลับคืนได้  

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินที่บ้านสันกลาง อีกเรื่องหนึ่ง คือเมื่อประมาณ ๔๐ ปีที่แล้ว มีเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นสัสดีต้องการบริจาคที่ให้ทหารเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จึงหลอกชาวบ้านที่มี สค. ๑ ว่าโดยจะไปของบจากทหารมาออกโฉนดให้ ชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านเชื่อจึงมอบเอกสารไป แต่ก็ไม่ได้ไปขอออกโฉนดแต่กลับเอาเอกสารไปประทับตราข้างหลังว่า “มอบให้ทหาร” ชาวบ้านจึงเดือนร้อน ภายหลังเมื่อที่ดินของบ้านสันกลางเป็นของทหาร และโอนไปให้ราชพัสดุดูแล วันหนึ่งราชพัสดุก็มาขอให้ชาวบ้านที่แต่เดิมเป็นเจ้าของให้เช่าที่ดินเหล่านั้นแทนเป็นรายปี ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านยังคงดำเนินเรื่องเพื่อขอทวงคืนที่ดินอยู่  

พื้นที่การเกษตรริมน้ำส่วนใหญ่จะเป็นเอกสาร สค. ๑ และใบจับจอง นส.  ๒ ชาวบ้านหลายครัวเรือนยื่นขอไปแล้วแต่ยังไม่ได้ แม้จะจับจองพื้นที่มาเป็นเวลานานก่อนที่รัฐจะประกาศเขตสงวนใน พ.ศ.๒๕๐๗ ก็ตาม เพราะพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนในปัจจุบัน ชาวบ้านไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว จึงอยู่อาศัยและเพาะปลูกเพื่อทำกินต่อไป อย่างไรก็ตามชาวบ้านใช้วิธีตกลงกันด้วยวาจาหากจะซื้อขายที่ดินสวนริมน้ำ ซึ่งทำให้เรื่องการซื้อขายง่ายกว่า 

อ้างอิง

๑. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราช ประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๑๕, กรุงเทพฯ, ๒๕๑๖-๒๕๔๑.
๒. ไศลรัตน์ ดลอารมณ์,  พัฒนาการของการทำป่าไม้สักในประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๓๙- ๒๕๐๕, วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๘.
๓. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราช ประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๑๕, กรุงเทพฯ, ๒๕๑๖-๒๕๔๑. และ  ไศลรัตน์ ดลอารมณ์, “พัฒนาการของการทำป่าไม้สักในประเทศไทย พ.ศ.๒๔๓๙-๒๕๐๕,  วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้    มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๘.
๔. สัมภาษณ์ พ่อใหญ่ยอด สุภารส, ๑๕  ตุลาคม  ๒๕๔๘.
๕.สัมภาษณ์ อุทัย สำราญคง, ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๘. 
๖.รัตน์ พนมขวัญ เรื่องราวของอาจารย์รัตน์ พนมขวัญ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายรัตน์ พนมขวัญ  ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๖ หจก. แพร่ไทยอุตสาหการพิมพ์
๗.รายงานความก้าวหน้า “โครงการวิจัยความสัมพันธ์ชุมชนต่อการจัดการน้ำและทรัพยากรของ ชุมชนป่าแดง-ช่อแฮ จังหวัดแพร่” เครือข่ายลูกพ่อขุนลัวะอ้ายก้อม, นายพัฒนา แสงเรียง,    ธันวาคม ๒๕๔๙. ในโครงการการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นโดยกระบวนการเรียนรู้ จากภายใน ระยะที่ ๒
๘.สัมภาษณ์ อำพร ปัญญาพยัคฆ์.