วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

วัดในเวียงหรือวัดในหัวเมืองล้านนาโดยทั่วไปมักมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่ได้รับการเอาใจใส่ทะนุบำรุงทั้งวัดและพระสงฆ์โดยชาวเมืองหรือศรัทธาวัดในระบบสายตระกูล แต่ละแห่งมีขนาดใหญ่โตกว่าวัดประจำชุมชนนอกเมือง การก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุใช้ช่างชั้นสูงฝีมือดีและเก็บรักษาข้าวของมีค่าซึ่งมีการอุทิศถวายเพื่อสืบพระศาสนาเป็นพุทธบูชาโดยเจ้านายของเมืองนั้นๆ หรือคหบดีประจำชุมชน การอุปถัมภ์วัดในเวียงด้วยฝีมือช่างชั้นสูงดังกล่าวแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของศรัทธาวัดที่มีมากกว่าวัดของชาวบ้าน

รูปแบบความสัมพันธ์ของวัดในเวียงและชาวบ้านผู้อุปถัมภ์วัดจึงมีความแตกต่างไปจากวัดประจำชุมชนในท้องถิ่นนอกเมืองหรือในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแบบหมู่บ้านแห่งหนึ่งจะมีวัดประจำชุมชนหนึ่งแห่งหรืออาจจะสองแห่ง หากชุมชนนั้นมีขนาดใหญ่หรือขยายตัวมากกว่าเดิม วัดใหม่ก็จะถูกสร้างเพื่อเป็นศาสนสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำหรับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง และถือเป็นการขยายตัวของชุมชนไปด้วย

วัดในเวียงเกิดขึ้นจากศรัทธาของชาวเมืองหรือเจ้านายที่อาจจะเป็นวัดของตระกูลใหญ่ผู้สร้างให้เป็นวัดที่ตระกูลหนึ่งๆ หรือชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเป็นผู้อุปถัมภ์ ส่วนใหญ่จะสืบทอดเป็นศรัทธาวัดตามสายตระกูลและมีการจดบัญชีรายชื่อและจัดการดูแลโดยกรรมการหรือโยมอุปัฏฐากซึ่งเป็นผู้อาวุโสประจำชุมชน ซึ่งแม้แต่เจ้าอาวาสก็ยังต้องรับฟังกลุ่มกรรมการบริหารของชุมชน ศรัทธาวัดในระยะแรกๆ จะอยู่รายรอบวัดของสายตระกูลนั้นๆ หากเมื่อสภาพการอยู่อาศัยที่หนาแน่น มีการขยายตัวของชุมชนหรือโยกย้ายที่อยู่ แต่ก็ไปทำบุญที่วัดเดิมแม้ว่าบ้านเรือนจะแยกย้ายห่างไกลจากวัดก็ตาม

ในเวียงแพร่วัดและชุมชนรายรอบยังเป็นแบบโบราณ ศรัทธาวัดส่วนใหญ่จะทำบุญที่วัดเดิมสืบต่อกันทางสายตระกูล ชาวบ้านอยู่อาศัยอยู่ในเขตหรือใกล้วัดใดตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษก็จะเข้าไปเป็นศรัทธาวัดดังกล่าว ทำให้มีลูกหลานไปอุปถัมภ์วัดในชุมชนของตนเอง และยังเป็นวัดที่บรรพบุรุษเคยอุปถัมภ์ทำบุญมาแต่เดิม 

ทุกวันนี้วัดในเวียงแพร่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากทั้งทางกายภาพและความสำคัญต่อชุมชนและในระดับเมือง พระสงฆ์ที่เคยเป็นลูกหลานภายในชุมชนมีน้อย จนแต่ละวัดแทบจะไม่สามารถหาพระสงฆ์ที่เป็นภายในชุมชนหรือในท้องถิ่นเวียงแพร่ได้ ต้องนิมนต์พระสงฆ์ที่มีพื้นเพจากต่างถิ่นมาจำพรรษา อีกทั้งระบบการจัดการคณะสงฆ์อย่างเป็นทางการทำให้การดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดต่างๆ มีการแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดหรือองค์กรสงฆ์ซึ่งอยู่นอกเหนือความสัมพันธ์กับชาวบ้านภายในท้องถิ่น และเมื่อมีการกำหนดเป็นเขตเทศบาล ระบบศรัทธาวัดเปลี่ยนไปกลายมาเป็นชุมชนแทน เช่น ศรัทธาวัดหัวข่วงจึงเปลี่ยนไปเป็นชุมชนหัวข่วง รูปแบบความสัมพันธ์ของวัดในเวียงกับศรัทธาวัดในปัจจุบันจึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีรูปแบบความสัมพันธ์แบบโบราณกำกับอยู่ก็ตาม

วัดศรีชุม 

อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของคุ้มเจ้าหลวง บนถนนเจริญเมืองใกล้กับประตูศรีชุม อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ กล่าวว่า วัดศรีชุมเป็นวัดเก่า มีพระพุทธรูปยืนเป็นพระลักษณะสุโขทัย แต่การวางพระหัตถ์แนบกับลำตัวสองข้างซึ่งเป็นลักษณะแบบท้องถิ่นเมืองแพร่ พระพุทธรูปสุโขทัยยืนองค์นี้มีขนาดสูงใหญ่ ชวนให้จินตนาการไปถึงศิลปะแพร่ซึ่งรับอิทธิพลวัฒนธรรมมาจากสุโขทัย และต่อมาก็คือเชียงใหม่ซึ่งกลายเป็นลักษณะประจำท้องถิ่น

พระเจดีย์วัดศรีชุมเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดทรงระฆังแบบล้านนา มีผู้ทำการศึกษาและจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับพระเจดีย์วัดปู่เปี้ยในเวียงกุมกาม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และพระเจดีย์วัดผ้าขาวป้านหรือผ้าขาวพาน เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อาจารย์เสนอ นิลเดช อธิบายว่า ลักษณะของเจดีย์จัดได้ว่าเป็นเจดีย์ล้านนารูปแบบที่ ๓ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีอายุถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หลังรัชกาลพระเมืองแก้วแห่งเชียงใหม่ 

ในการขุดค้นศึกษาชั้นทับถมทางโบราณคดีพบว่า บริเวณวัดศรีชุมเริ่มมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยตั้งชุมชนตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ เป็นอย่างน้อย โดยพบหลักฐานเครื่องถ้วยแบบเชลียงที่ผลิตขึ้นจากแหล่งเตารุ่นเก่าเมืองศรีสัชนาลัยเป็นจำนวนมากในชั้นดินดังกล่าวนี้ ในชั้นดินบนถัดมาที่มีการสร้างเจดีย์นั้นก็ยังได้พบเครื่องถ้วยจากเชลียงร่วมกับเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาล้านนาซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ หลังจากนั้นบริเวณพื้นที่วัดศรีชุมก็ไม่เคยพบหลักฐานกิจกรรมมากนัก

1

พระยืนพระประธานในวิหาร พระธาตุ  หอพระไตรปิฏกมีภาพเขียนสีฝาผนัง และหอกลอง ภายในวัดศรีชุม วัดศรีชุมเป็นวัดแรกเมื่อมีพิธีถวายสลากภัตรในเวียงแพร่

ในอดีตวัดศรีชุมเป็นวัดที่มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษาวิปัสสนาธุระ เนื่องจากมีอาจารย์ที่เป็นสงฆ์ผู้เป็นปราชญ์หลายท่าน มีการบันทึกว่าราว พ.ศ. ๒๓๐๒ เจ้ากาวิละจากลำปางได้หนีภัยมาบวชเรียนที่วัดศรีชุมเมืองแพร่ก่อนที่จะกลับไปครองเมืองลำปาง ครูบาอุตมา อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีชุมเป็นผู้เคร่งครัดในวินัยและมีความสามารถด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ครูบากัญจนาอรัญญวาสีมหาเถระ หรือ ครูบามหาเถร ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัยและมีชื่อเสียงไปถึงหลวงพระบางเป็นผู้ชำระพระไตรปิฏกจำนวนมากในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็อุปสมบทและศึกษาเล่าเรียนที่วัดนี้ ชาวบ้านในเมืองแพร่และท้องถิ่นใกล้เคียงจึงนำบุตรหลานมาบวชเรียนที่วัดศรีชุมเพราะเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงนั่นเอง 

การถวายสลากภัตของเมืองแพร่จนทุกวันนี้เริ่มที่วัดศรีชุมก่อนเป็นธรรมเนียม อันแสดงถึงความสำคัญของวัดที่เคยมีพระสงฆ์ผู้เป็นครูบาหรืออาจารย์สำคัญของเมืองแพร่

แต่ปัจจุบันวัดศรีชุมไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าใดนัก เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันกล่าวว่า กุฏิพระแยกกระจัดกระจาย วิหารก็เหม็นมูลค้างคาว ลวดลายวิหารที่เคยสวยงามก็หายไปหมดเนื่องจากศรัทธาวัดมีน้อย วัดศรีชุมมีปัญหาเรื่องสิทธิ์ที่ดินและศาสนวัตถุของวัดที่หายไปหรือไม่มีคนดูแลเอาใจใส่ คนรอบๆ วัดไม่มีใครรู้คุณค่าของศิลปกรรม ถูกทำลาย รื้อถอนรื้อปรับปรุงเหลือเพียงองค์เจดีย์ หลวงพ่อพระยืนและวิหารทรงล้านนา กรมศิลปากรบูรณะแล้วและคงรูปแบบเดิมของเจดีย์ไว้ พระพุทธรูปเก่าแก่ของวัดคือหลวงพ่อทองคำเคยถูกขโมยไปใน พ.ศ. ๒๕๒๔ และเพิ่งได้คืนใน พ.ศ. ๒๕๔๕ 

ผู้อุปถัมภ์วัดศรีชุมในเมืองแพร่เคยมีเจ้านายหลายเชื้อสาย เช่น เจ้าแม่บัวถา ซึ่งเป็นชายาองค์แรกของเจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ ผู้อุปถัมภ์อื่นๆ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากตระกูลแก่นหอม วังซ้าย บุตรรัตน์ แสนสิริพันธ์ และช่างทอง บริเวณด้านหลังกำแพงเมืองใกล้กับวัดศรีชุมจะมีคนเชื้อสายขมุซึ่งเคยมาเลี้ยงช้างให้เจ้าเมืองแพร่ก็เป็นศรัทธาของวัดศรีชุม บริเวณนี้เป็นที่ราชพัสดุ บางคนก็ย้ายออกไปแล้วหรือคนถิ่นอื่นย้ายเข้ามา มีชาวบ้านในชุมชนวัดหัวข่วงบางคนเป็นศรัทธา ๒ วัด คือ วัดหัวข่วงและวัดศรีชุม เนื่องจากบ้านอยู่ระหว่าง ๒ ชุมชน แต่ส่วนมากจะทำที่วัดศรีชุมเป็นหลัก ซึ่งถ้ามีลูกหลานผู้ชายก็ต้องบวชที่วัดศรีชุม

บ้านศรีชุมจะทำพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ย่าซึ่งเป็นการบูชาผีบรรพบุรุษของแต่ละครอบครัวในราวเดือน ๖ เหนือหรือช่วงวันสงกรานต์ ยังมีประเพณียี่เป็งและการเทศน์มหาชาติซึ่งจะทำในวันยี่เป็ง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ สถานที่ใช้ประกอบพิธีคือมณฑปซึ่งจะใช้เพื่อเทศน์มหาชาติโดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันการเข้าร่วมของชุมชนสำหรับงานประเพณีแทบจะไม่มีการมีส่วนร่วมเลย

บ้านศรีชุมกลายเป็นชุมชนขนาดเล็ก ไม่มีพื้นที่ที่จะขยายได้ต่อไปอีก ส่วนลูกหลานออกไปทำงานที่อื่น และมีศรัทธาวัดประมาณ ๒๕ หลังคาเรือน 

วัดหลวง 

เป็นวัดที่มีความสำคัญต่อเมืองแพร่ เพราะชื่อ “วัดหลวง” ซึ่งหมายถึงวัดใหญ่และเป็นวัดที่สัมพันธ์กับเจ้าผู้ครองนคร น่าจะมีความสำคัญเป็นวัดประจำเมืองแพร่ในยุคสมัยหนึ่ง เพราะสิ่งของเครื่องใช้ภายในวัดที่เก่าแก่ที่ปรากฏอยู่เป็นของอุทิศแก่วัดจากเจ้าผู้ปกครองและคหบดีในเมืองแพร่   

ประวัติกล่าวถึงการบูรณะในสมัยพญาเมืองชัยราว พ.ศ. ๒๓๖๙ ต่อมาเจ้าเทพวงศ์เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงได้มาเป็นเจ้าเมืองแพร่ นำช่างฝีมือจากเมืองหลวงพระบางมาทำการบูรณะพระวิหารและลงรักปิดทองพระเจ้าแสนหลวงร่วมกับชาวเมืองแพร่ ช่วงเกิดเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองเเพร่ พระธาตุไชยช้างค้ำ ทรุดโทรมพังทลายมาเป็นบางส่วน “ครูบาเจ้าธรรมชัย” ได้นำชาวบ้านช่วยกันเผาอิฐทำการบูรณะพระธาตุ และนับแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐–๒๕๑๐ มีคณะศรัทธามาร่วมกันบูรณะดูแลต่อกันมาเป็นรุ่นๆ 

ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๒๐ วัดหลวงขาดการดูแลเอาใจใส่จากศรัทธาวัดเพราะเจ้าอาวาสแก่ชราและอาพาธ หลังจากท่านมรณภาพก็ยิ่งทำให้วัดมีสภาพทรุดโทรมจนถึงกับไม่มีเจ้าอาวาสดูแลวัดถึงสามปี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ พระครูวิจิตรธรรมาภรณ์ร่วมกับคณะศรัทธาวัดและชักชวนบุคคลสำคัญในสาขาต่างๆ มาช่วยกันทำการฟื้นฟูบูรณะวัดหลวงให้กลับคืนสู่สภาพดีขึ้นอีกครั้ง หลังจากนั้นไม่นานนักเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างวัดและชาวบ้าน ทำให้พระครูวิจิตรธรรมาภรณ์ย้ายไปสร้างวัดใหม่ที่บ้านถิ่นแถนหลวง ส่วนเจ้าอาวาสองค์ที่เป็นพระนักวิชาการที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยไม่ใช่คนในท้องถิ่นซึ่งเจ้าคณะจังหวัดส่งมาปกครองวัดหลวง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวัดและชาวบ้านในชุมชนยังไม่มีความแน่นแฟ้นดังที่ผ่านมาในอดีตนัก

วัดหลวง มี“พระเจ้าแสนหลวง” ประดิษฐานภายในวิหาร และพระธาตุไชยช้างค้ำ พระธาตุสำคัญของวัดหลวง

ภายในวัดหลวงมีโครงสร้างอาคารสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบสะท้อนให้เห็นว่าเป็นวัดสำคัญประจำเมืองพระธาตุเจดีย์ที่เรียกว่า พระธาตุไชยช้างค้ำ ซุ้มประตูโขง เป็นศิลปะแบบล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราชถึงสมัยพระเมืองแก้ว คำบอกเล่าของชาวบ้านกล่าวว่า เคยเป็นประตูที่ใช้เฉพาะเจ้านาย ภายหลังมีการย้ายประตูทางเข้าด้านหน้ามาไว้ทางด้านทิศตะวันตก ประตูโขงไม่ได้ใช้จึงปิดตายและกลายเป็นศาลผี วิหารของวัดหลวงก่อกำแพงทึบและมีเสาเพียง ๒ ต้นเท่านั้น มีพระประธานนั่งขนาดใหญ่ชื่อว่า พระเจ้าแสนหลวง 

ชาวบ้านวัดหลวงเคยมีอาชีพทอผ้า ทำตุง ทำล้อเกวียนเทียมวัว รับจ้างเลื่อยไม้ เพราะวัดหลวงอยู่ใกล้กับท่าน้ำแม่น้ำยมซึ่งมีการล่องแพซุง ชาวบ้านที่นี่เป็นผู้คุมช้าง มีหน้าที่ควบคุมดูแลทั้งควาญช้างและช้างให้กับพ่อเลี้ยงและเจ้าตามคุ้มต่างๆ ทุกวันนี้ชาวบ้านและหน่วยงานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นพยายามทำให้วัดหลวงเป็นศูนย์กลางรวบรวมโบราณวัตถุและโบราณสถานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองแพร่ที่ พิพิธภัณฑ์วัดหลวง เพราะมีเอกสารโบราณและศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหลวงเมืองแพร่เหลืออยู่จำนวนไม่น้อย โดยอาศัยอาคารภายในวัดเป็นพิพิธภัณฑ์ 

วัดพระนอน 

ประวัติวัดกล่าวว่า วัดพระนอนเคยเป็นวัดร้างมีต้นไม้ขึ้นรก มีผักหละหรือผักชะอมปกคลุมพระนอนเป็นเวลานานจนกลายเป็นป่า เมื่อพ่อค้าต่างเมืองเดินทางมาค้างแรมได้เอาผักหละไปเป็นอาหารและพบก้อนอิฐอยู่ทั่วไป สงสัยว่าเป็นวัดร้างจึงไปบอกชาวบ้านให้ช่วยกันหักร้างถางพง แล้วพบต้นมะม่วงปกคลุมพระนอนคล้ายร่ม ชาวบ้านเกิดศรัทธาจึงช่วยกันบูรณะซ่อมแซมและได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดม่วงคำ”  การบูรณะครั้งนั้นได้พบแผ่นทองจารึกจึงได้ทราบว่าแต่เดิมชื่อ “วัดพระนอน” สร้างเสร็จในเดือน ๙ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แล้วเปลี่ยนเป็นชื่อวัดพระนอนโดยถือเอาคำจารึกในแผ่นทองคำเป็นหลัก ส่วนพระประธานในวิหารใหญ่นั้นชื่อ “หลวงพ่อมงคลทิพณี” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง

วัดพระนอนมีศรัทธาวัดประมาณ ๑๘๘ หลังคาเรือน แต่ตอนนี้มี ๑๖๘ หลังคาเรือน เนื่องจากมีการแบ่งชุมชนแถบถนนสันกลางไปเป็นศรัทธาวัดพงษ์สุนันท์และวัดพระร่วงประมาณ ๕๐๐ กว่าคน คนในบ้านพระนอนเมื่อก่อนทำนา ทำไร่ ทำสวน โดยข้ามน้ำยมตรงไปที่บ้านป่าแมก ใช้เส้นทางติดต่อค้าขายกับทางบ้านอ้อย และแต่ก่อนเคยมีคนขมุที่มาเลี้ยงช้างและเป็นควาญช้างอาศัยอยู่ด้วย แต่ปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่แถวบ้านดงหมดแล้ว ตระกูลเก่าแก่ที่เป็นศรัทธาวัดพระนอนมีเจ้าด้วงที่บ้านวงศ์บุรี ศรัทธาวัดก็ลดลงเพราะคนเมืองแพร่ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นทำให้เกิดบ้านว่างขึ้นเป็นจำนวนมาก  

งานประเพณีของบ้านพระนอน คือ งานประเพณีประจำปีนมัสการพระเจ้านอน ทุกเดือน ๙ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จะมีงาน ๓ คืน และต้องจุดดอกไฟหรือสะโปกบอกเพื่อถวายพระนอนและเจ้าวัดเจ้าวา หรือศาลเจ้าพ่อพญาไชยชนะสงครามและพระนางพิมพาตามตำนานผู้สร้างวัด ชาวบ้านเชื่อว่าพญาไชยชนะสงครามและพระนางพิมพา ศรีบัวทอง เป็นผู้อพยพมาแล้วสร้างวัดนี้ ต่อมาเมื่อออกรบแล้วหายสาบสูญไป ส่วนนางพิมพาต่อมาเมื่อเมืองแพร่ถูกพม่ารุกรานจึงหลบหนีไป โดยจะมีการเชิญองค์พญาไชยชนะสงครามมาลงทรงด้วย นอกจากนี้ยังมีประเพณีท้าวทั้งสี่ถวายเจ้าที่ให้ปกปักรักษาคุ้มครอง นอกจากนี้ก็มีงานสงกรานต์ ยี่เป็ง กินสลากหรือตานก๋วยสลาก  ส่วนพิธีกรรมสำคัญของชุมชนพระนอนคือการไหว้ผีปู่ผีย่าหรือผีบรรพบุรุษ ซึ่งจะทำพิธีกันที่บ้านเค้าผี เหตุที่ทำก็เพื่อความสบายใจในการอยู่อาศัย ชาวบ้านจะทำอะไร จะเดินทางไปไหน มักจะนำสวยเทียนหรือกรวยดอกไม้ไปจุดบอกกล่าวผีบรรพบุรุษก่อนทุกครั้ง

4

ที่วัดพระนอนมีเทศกาลนมัสการพระนอน ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๙ เหนือ

5

และภาพการตีสลุงถือเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านวัดพระนอนในอดีต แม้มีการพยายามฟื้นอาชีพดังกล่าว แต่มักติดปัญหาค่าใช้จ่ายและตลาดรับซื้อ

วัดพระนอนเป็นแหล่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องตีสลุงหรือขันเงิน ในอดีตชาวบ้านยึดอาชีพตีสลุงเกือบทุกหลังคาเรือนมีการทำเครื่องเงินมาราวร้อยกว่าปี ชาวบ้านเชื่อว่าพวกตนมีเชื้อสายไทเขินอพยพมานานมากแล้ว จึงมีความชำนาญในการทำเครื่องเงินสืบทอดมา ชาวเมืองในเขตวัดพระนอน วัดหัวข่วง และวัดศรีชุม ถือว่าเป็นเขตบ้านเรือนของตระกูลช่าง ทั้งช่างไม้ ช่างฝีมือต่าง ๆ   

เมื่อก่อนตระกูล “ช่างทอง” เป็นตระกูลใหญ่และเก่าแก่ของเมืองแพร่ที่เป็นช่างฝีมือ เป็นช่างทำทองให้กับเจ้านาย เช่น สร้อยสังวาล กำไล แหวน รับทำทองเป็นเครื่องประดับต่างๆ แก่คนทั่วไป ส่วนเครื่องเงินจะจ้างชาวบ้านพระนอนสลักดอกสลัก คนในตระกูลที่เป็นผู้ชายเป็นผู้สืบทอดและไปเรียนวิชาทำแหวนลงยาที่กรุงเทพฯ มาเพิ่มเติม ส่วนมากรับทำแหวนกับสร้อยคอ โดยคนในเวียงจะทราบว่าตระกูลนี้รับทำทองก็จะซื้อทองรูปพรรณนำมาให้ทำเป็นเครื่องประดับ แต่ปัจจุบันไม่ได้รับทำแล้ว 

การทำเครื่องเงินถือเป็นอาชีพประจำของชาวบ้าน แต่มาซบเซาเมื่อมีการทำภาชนะจากสแตนเลสเมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีก่อน เพราะมีราคาถูก ผลิตได้รวดเร็วกว่า ทำให้ช่างฝีมือชาวบ้านพระนอนต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก อาชีพตีสลุงของบ้านพระนอนกระทบกระเทือนอย่างหนักและทำให้อาชีพนี้หายไป 

ต่อมาบ้านวงศ์บุรีซึ่งเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ทำเครื่องเงินเช่นกันแต่แยกออกจากบ้านพระนอน เมื่อมีงานเข้ามาช่างจากวัดพระนอนก็จะไปช่วยกัน และมีโครงการจะทำสลุงเงินบ้านวงศ์บุรี โดยเอาช่างชุมชนวัดพระนอนเป็นผู้ทำแต่ใช้ชื่อ “สลุงเงินบ้านวงศ์บุรี” 

ชุมชนวัดพระนอนเริ่มของบประมาณสนับสนุนเพื่อทำเอง เมื่อมีงบพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนมาพัฒนา  พ.ศ. ๒๕๔๕ ประชาคมก่อตั้งกลุ่ม “หัตถกรรมเครื่องเงินชุมชนพระนอน” เมื่อขายได้ก็ซื้อเม็ดเงินมาให้คนแก่ทำต่อ แต่ทุนหมุนเวียนไม่มีมากทำให้คนไม่มาทำและไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเมื่อรายได้หมด คนที่ฝึกก็เลิกหันไปทำอาชีพอื่น จนเหลือเพียงผู้อาวุโสของกลุ่มเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยังทำอยู่ ส่วนรายได้ได้จากการลงทุนร่วมกันกับกลุ่มชุมชน เมื่อขายได้นำกำไรมาแบ่งกัน งานที่ทำจะเป็นเงินเม็ด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ โดยไปซื้อเงินเม็ดจาก “ร้านทองเจนถิ่น” ในจังหวัดแพร่ ซึ่งร้านนี้นำเงินมาจากกรุงเทพฯ มาหลอมแล้วทำเป็นเครื่องเงินสลักลายตามแบบโบราณที่สืบทอดกันมา และทำส่งขายตามจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เชียงของ ลำปาง น่าน เครื่องเงินจะขายดีช่วงสงกรานต์เพราะคนกลับบ้าน และคนซื้อจะเป็นพวกข้าราชการ นอกจากนี้สินค้าขึ้นชื่ออีกอย่างคือมะขามแก้วแม่ขันทอง 

วัดหัวข่วง 

อยู่ถนนคำแสนใกล้กับประตูยั้งม้า ข่วงหมายถึงลานกว้าง ๆ เอาไว้เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งในอดีตบริเวณนี้เคยใช้เป็นที่พักม้าของพวกพ่อค้าที่เดินทางเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าในเมืองแพร่ มีการบูรณะวัดหัวข่วงมาเป็นลำดับในสมัยเจ้าหลวงผู้ครองนครแพร่ ตั้งแต่เจ้าเทพวงศ์ เจ้าพิมพิสาร (เจ้าหลวงขาเค) และเจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ เจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้าย  

วัดหัวข่วงนี้ชาวเมืองแพร่ถือว่าเป็นหัววัด หรือวัดหัวเวียง เพราะเป็นวัดแรกที่อยู่ทางด้านเหนือ พระธาตุเจดีย์วัดหัวข่วงมีลักษณะแบบเจดีย์ล้านนา เป็นวัดที่มีพระธาตุใหญ่ที่สุดในเวียงแพร่ สมัยก่อนมีคนเห็นลูกพระธาตุสีเขียวจะออกมาในวันเดือนเพ็ญ พระธาตุวัดหัวข่วงเป็นหนึ่งในพระธาตุสำคัญสามแห่งของเมืองแพร่ คือ พระธาตุช่อแฮ พระธาตุเนิ้งที่วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง และพระธาตุวัดหัวข่วงซึ่งมีตำนานเรื่องพระธาตุวิ่ง เป็นลูกแก้วสีเขียววิ่งไปมาระหว่างพระธาตุทั้งสามวัด ชาวบ้านเชื่อกันว่าพระธาตุจะไปเที่ยวในที่ต่างๆ และระยะทางระหว่างพระธาตุทั้งสามเท่ากันคือ ๙ กิโลเมตร ถือเป็นสิ่งอัศจรรย์และเป็นมงคลแก่ผู้พบเห็น และมีงานนมัสการพระธาตุเป็นงานใหญ่ของเมืองเช่นเดียวกัน งานประเพณีประจำปีจัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ในงานจะมีการขึ้นพระธาตุเพื่อห่มผ้า 

พระธาตุช่อแฮ วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง อำเภอสูงเม่นและพระธาตุหัวข่วง มีเรื่องเล่าจากชาวบ้านว่าในวันเพ็ญจะเห็นพระธาตุจะวิ่งไปมาหากันระหว่างพระธาตุ ๓ แห่งนี้

ชาวบ้านวัดหัวข่วงส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ถ้ามีงานระหว่างวัดต่าง ๆ ทางบ้านหัวข่วงจะไม่ถวายสิ่งของเหมือนชุมชนอื่น ๆ แต่จะถวายเป็นผักแทน ศรัทธาวัดหัวข่วงมีประมาณ ๓๐๐ กว่าหลังคาเรือน ประชากรทั้งหมดประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ ตั้งแต่เขตกำแพงเมืองอ้อมไปถึงกรมราชทัณฑ์ เลาะมาทางบ้านคลังจังหวัด ออกมาถนนข้างเทศบาลและตรงมาถึงเขตกำแพงเมือง ชุมชนหัวข่วงถือว่าเป็นชุมชนใหญ่และเป็นคนดั้งเดิมเกือบทั้งหมด เวลาจัดงานต่าง ๆ เจ้าอาวาสจะประชุมกรรมการวัด จากนั้นก็เป็นการประชุมร่วมกับชาวบ้านหรือศรัทธา   เมื่อเป็นชุมชนขนาดใหญ่เวลาทำกิจกรรมทางเทศบาลก็จะเข้ามาช่วยบ้าง ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ มีการฟื้นฟูประเพณีท้องถิ่น เช่น การเล่นสะล้อ ซอ ซึง การตีกลองปูจา กลองสะบัดชัย เปิดสอนดนตรีไทยขึ้น โดยเรียนฟรี 

7

วัดหัวข่วงอยู่ใกล้ประตูยั้งม้า ชาวบ้านจัดงานนมัสการพระธาตุ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ

ในอดีตชุมชนวัดหัวข่วงมีคนติดยาเสพติดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเฮโรอีน แต่ไม่มีใครกล้าทำอะไรเพราะกลัวถูกทำร้าย หลังกำแพงเมืองเมื่อก่อนจะเป็นป่ารก ลงไปเป็นท่าน้ำ คนติดยาจะไปมั่วสุมกันที่นั่น แต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ตำรวจเข้ามาจับกุมกวาดล้างจนปัญหานี้ค่อย ๆ หมดไปในที่สุด 

เมื่อกรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะ กรมศาสนาก็ให้งบมาปรับภูมิทัศน์บริเวณวัด และยังมีงบพัฒนาหมู่บ้านมาดูแล วัดหัวข่วงก็มีโครงการฟื้นฟูบริเวณวัดให้เป็นลานวัฒนธรรม จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้าน การแสดงต่าง ๆ ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็จะจัดแสดงให้ชม ดังนั้นพื้นที่ของวัดหัวข่วงจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างถิ่นที่มาเมืองแพร่จำนวนมาก 

วัดพงษ์สุนันท์ 

ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง ที่บ้านพงษ์สุนันท์ ตำบลในเวียง ได้รับวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ แต่เดิมชื่อว่าวัดปงสนุกในพื้นที่บ้านสันกลาง (ชื่อหมู่บ้านเก่า) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าโปร่ง วัดปงสนุกเคยเป็นวัดร้าง ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่นั้นว่า “พงสนุก” แทน ทางทิศใต้ของวัดมีสระน้ำลึก และในสระมีเต่าน้อย ตามตำนานเล่ากันว่า นางคำพวนเป็นคนพม่าหงสาวดีที่มาอยู่ในชุมชน อยากได้เต่า จึงลงไปในสระและจมน้ำตาย เพื่อนนางคำพวนชื่อ สางตาด จึงสร้างเจดีย์ขนาดเล็ก และสร้างรูปเต่า ๔ ตัววางไว้รอบฐานเจดีย์เพื่อระลึกถึงเพื่อน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ พ่อเจ้าบุรี ศรีปัญญา ได้บูรณะวิหาร นำหญ้าคามามุง ไฟจึงไหม้และเวลาต่อมาเกิดเหตุน้ำท่วมซ้ำ พญาบุรีรัตน์ บุตรชายพ่อเจ้าบุรีจึงบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ โดยมีหลวงพงษ์พิบูลย์ (วงษ์พระถาง) และภรรยา (เจ้าสุนันตา) เป็นศรัทธาหลัก และสร้างวิหารใหม่ขึ้น กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๗ วัดจึงได้ชื่อว่า “วัดพงษ์สุนันท์”  ที่มาของคำว่าพงษ์สุนันท์มาจากคำว่า พงษ์พิบูล กับ สุนันตา โดยแบ่งที่ของบ้านวงษ์บุรีครึ่งหนึ่งเป็นวัด ภายในวัดมีพระนอนกลางแจ้งริมกำแพงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัด 

วัดพระร่วง 

วัดพระร่วงและวัดพระบาทมิ่งเมืองเป็นเหมือนวัดพี่วัดน้องกัน เจ้าหลวงบุรีรัตน์ต้นสกุลมหายศปัญญาเป็นผู้สร้าง ในอดีตเรียกวัดพระบาทมิ่งเมืองว่า “วัดเหนือ” ต่อมาสร้างวัดพระร่วงและเรียกว่า “วัดใต้” ชุมชนวัดพระร่วงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบ้านสีลอหรือวัดศรีบุญเรือง ปัจจุบันคณะศรัทธาวัดพระร่วงมีอยู่ประมาณ ๒๐๐ กว่าหลังคาเรือน ประชากรทั้งหมดราว ๖๐๐ คน ที่โรงเรียนนารีรัตน์ก็เป็นศรัทธาของวัดพระร่วงด้วยเช่นกัน ศรัทธาของวัดพระร่วงและวัดพระบาทมิ่งเมืองจะไปทำบุญทั้งสองแห่ง ลักษณะรูปแบบศรัทธาวัดดูเหมือนจะไม่เคร่งครัดเท่ากับวัดเก่าแก่ทางแถบด้านตะวันตกของเมืองเพราะมีความเป็นเมืองสมัยใหม่มากกว่า สำหรับความเชื่อเรื่องผีปู่ย่า ผีบ้านผีเรือน ในปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้ว

11

วัดพระร่วง ในอดีตมาปัจจุบัน

บริเวณวัดพระร่วงเป็นแหล่งปรุงอาหารพื้นเมืองที่ทำจากเนื้อสัตว์ มีการเลี้ยงและฆ่าหมู วัว  ควาย และนำมาแปรรูปขายเป็นหมูแดดเดียว แหนม ไส้อั่ว แคบหมู แอบหมู หนังดิบ เพื่อส่งขายทั้งภายในเมืองแพร่และนอกเมือง โดยเฉพาะไส้อั่วของบ้านพระร่วงจะมีชื่อเสียงมาก ตระกูลใหญ่ที่มีบทบาทในการทำธุรกิจนี้คือตระกูลศรีสะอาด ในปัจจุบันก็ยังมีขายอยู่ แต่จะเหลือเพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น กรรมวิธีก็เปลี่ยนไป อาจเพราะเป็นการรบกวนผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในชุมชน เพราะวิธีการทำไส้กรอกในอดีตใช้กากมะพร้าวเผารมควัน จึงทำให้เกิดควันเยอะรบกวนผู้อื่น   อีกอาชีพหนึ่งคือการทำนา แต่ที่นาก็อยู่ด้านนอกเมืองออกไป บริเวณกรมป่าไม้เรื่อยมาจนถึงวิทยาลัยเทคนิคแพร่เคยเป็นที่นาของตระกูลบำบัด ส่วนที่เจริญที่สุดน่าจะเป็นถนนเจริญเมือง ซึ่งในอดีตเป็นถนนย่านการค้าขายซึ่งมีอยู่เส้นเดียว แต่ในปัจจุบันย่านการค้าได้ขยายออกมาหลายท้องที่ เช่น ถนนราษฎร์ดำเนิน ยันตรกิจโกศล กาดน้ำทอง เป็นต้น 

ภาพกิจกรรมของชาวบ้านที่วัดพระร่วงในอดีต

วัดศรีบุญเรืองหรือวัดสีลอ  

ศรัทธาวัดมีการปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะพิธีปฏิบัติเป็นแบบพระสายวิปัสสนาจากส่วนกลาง สภาพแวดล้อมและกิจกรรมของวัดจึงแตกต่างจากวัดอื่นๆ ในเวียง อีกทั้งกิจกรรมของกลุ่มเสขิยธรรมซึ่งเป็นกลุ่มพระและฆราวาสที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ  

การสร้างวัดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด  แต่เมื่อราว ๒๐๐ ปีที่ผ่านมามีพญาแสนศรีขวาเป็นผู้บูรณะและพระยาประเสริฐชนะสงครามราชภักดีผู้บุตร ซึ่งต่อมาเป็นพระวิชัยราชาหรือเจ้าหนานขัติ แสนศิริพันธ์บุตรชาย ตำแหน่งคลังจังหวัดแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ และแม่เจ้าคำป้อซึ่งเป็นภรรยา เป็นกำลังสำคัญในการบูรณะซ่อมแซม และอุปการะวัดนี้มาตลอดอายุขัย เชื้อสายของพระวิชัยราชาเป็นเชื้อสายของเจ้าหลวงเทพวงศ์ลิ้นตองหรือลิ้นทอง ซึ่งเป็นเจ้าหลวงเมืองแพร่ในปี พ.ศ. ๒๓๑๖–๒๓๗๓  

พ.ศ. ๒๔๔๒ พระวิชัยราชาและแม่เจ้าคำป้อได้เริ่มบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ใหม่ โดยรื้อฝาใบตองตึงออกแล้วก่ออิฐขึ้นทั้งสี่ด้าน เปลี่ยนหลังคามุงหญ้าคาเป็นไม้สัก พื้นที่ปูด้วยฟากไม้ไผ่เป็นอิฐและปูน ตกแต่งพระประธานใหม่ แต่เมื่อโบสถ์สร้างเสร็จสมบูรณ์เหลือเวลาอีก ๑ เดือนจะทำการฉลอง ท่านก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน บริเวณ

โดยรอบภายในวัดศรีบุญเรืองหรือวัดสีลอ

เมื่อเกิดเหตุเงี้ยวปล้นเมืองแพร่และฆ่าคนไทยกลางที่เป็นข้าราชการเกือบหมด พระวิชัยราชานำคนไทยบางส่วนขึ้นไปหลบซ่อนอยู่บนเพดานบ้านของท่านจนปลอดภัย จึงได้รับการปูนบำเหน็จจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็น “พระวิชัยราชา” ความดีของท่านที่มีสืบมาทำให้ชาวบ้านสีลอเรียกว่า พ่อเจ้าพระ จนติดปาก บ้านของพระวิชัยราชาคือบ้านเลขที่ ๘ ถนนวิชัยราชาในปัจจุบัน เป็นบ้านเก่าที่มีความพยายามจะอนุรักษ์แต่ไม่ประสบผลสำเร็จนัก เมื่อพระวิชัยราชาถึงแก่อสัญกรรมแล้ว แม่เจ้าคำป้อยังคงดำเนินการบูรณะซ่อมแซมวัดศรีบุญเรืองต่อและฉลองโบสถ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ 

บุตรชายของแม่เจ้าคำป้อ คือ เจ้าวงศ์หรือเจ้าโว้ง และภรรยาคือเจ้าน้อย ได้อุปการะวัดต่อมา แต่ไม่ได้มีการก่อสร้างใด ๆ เมื่อสิ้นบุญพระวิชัยราชาและแม่เจ้าคำป้อแล้วก็ขาดผู้อุปการะ ถาวรวัตถุต่าง ๆ ก็เสื่อมลงไปตามกาลเวลา เมื่อพระอธิการเติ๋นได้มรณภาพลง พระภิกษุสามเณรก็น้อยลง บางครั้งต้องไปนิมนต์พระวัดอื่นมาเป็นเจ้าอาวาส แต่ละรูปก็อยู่ได้ไม่นาน  ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ น้ำท่วมใหญ่กัดเซาะผนังโบสถ์ด้านทิศตะวันตกพังลงมาทั้งหมดพร้อมกับฐานพระพุทธรูปเป็นบางส่วน เสาโบสถ์ที่เป็นไม้สักล้มไป ๑ ต้น สภาพของวัดทรุดโทรมมาก ชาวบ้านระดมทุนจัดผ้าป่าเพื่อบูรณะแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเงินที่ได้มาไม่เพียงพอและเกือบจะเป็นวัดร้างเลยทีเดียว

ต่อมามีพระอธิการจำลอง รกฺขิตสีโล และ อุบาสิกาทวียศ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ได้เข้ามาอยู่วัดศรีบุญเรืองพร้อมกับพระอาจารย์ศรีสุข ปัญญาทีโป ทั้งสองท่านเป็นพระปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสายหลวงพ่อโอภาสีพร้อมทั้งคณะสัมมาปฏิบัติ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๒๐ เป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่สุด เพราะมีพุทธศาสนิกชนหลั่งไหลกันมาปฏิบัติธรรมทุกสารทิศ แม้แต่คนที่กรุงเทพฯ ก็มาหาเป็นประจำ สมัยนั้นวัดศรีบุญเรืองเป็นวัดใหญ่ มีพระสงฆ์อยู่มากกว่า ๒๐ รูปขึ้นไป มีแม่ชีประมาณ ๒๐ คน เด็กวัด ๑๐ คน ต่อมามีพระสงฆ์จากกรุงเทพฯ และพระสงฆ์มาสอนการปฏิบัติธรรมแก่ชาวบ้าน และทำงานต่อเนื่องกับกลุ่มเสขิยธรรม

ที่วัดศรีบุญเรืองมีอนุสาวรีย์ของกวีชาวบ้านสีลอหรือศรีบุญเรือง คือ ศรีไจยโข้ หรือ ศรีวิไจย โข้ (ศรีวิไชย โข้) ผู้แต่งค่าวสำคัญๆ หลายสำนวน เป็นกวีผู้มีชื่อเสียงของล้านนาและเมืองแพร่ เนื้อหาจากค่าวของศรีไจยโข้ผู้ร่วมสมัยกับเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่จึงเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญจากผลงานของกวีตาบอดผู้นี้

19

กวีชาวบ้าน ศรีวิไจย โข้

กวีชาวบ้าน ศรีไจยโข้ หรือ ศรีวิไจย โข้ (ศรีวิไชย โข้) ล้านนายุคเจ้าเจ็ดตนเป็นต้นมาจนถึงช่วงกรุงเทพฯ ขึ้นมามีอิทธิพลและเริ่มจัดการปกครองแล้ว กวีล้านนาที่ได้รับการยอมรับมีหลายท่าน  เช่น พญาโลมาวิสัย อาลักษณ์ในคุ้มเจ้าหลวงลำปางในช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๐-๒๓๙๕ แต่งโคลงและค่าวซอ เช่น หงส์ผาดำ พญาปัญญาพิทธาจารย์ ไม่ทราบประวัติที่แน่นอน กล่าวกันว่าท่านเป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด แต่จะต้องเคยบวชเรียน จนมีความรู้เชี่ยวชาญทางอรรถบาลีเป็นอย่างดี เพราะเนื้อความที่ท่านแต่งเกือบจะทุกเรื่องเต็มไปด้วยศัพท์ภาษาบาลีที่นำมาใช้ติดต่อเชื่อมกันได้อย่างเหมาะสม

พญาพรหมโวหาร นับเป็นกวีที่เป็นเลิศในทางการประพันธ์ค่าว เป็นศิษย์พญาโลมาวิสัย ทำงานด้านอาลักษณ์ในคุ้มเจ้าหลวงลำปางในเบื้องต้น และยังรับจ้างเขียนเพลงยาวที่เรียกว่า ค่าวใช้ ให้หนุ่มสาวที่มาจ้างเขียน  ครั้งเมื่ออกหักเสียใจในความรักที่ไม่สมหวัง ได้แต่งเพลงยาวขึ้นเพื่อให้ศรีชม ภรรยาที่หนีไปอ่าน เรียกกันว่า ค่าวสี่บท หรือ ค่าวร่ำนางชม ซึ่งเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุด เป็นบทที่ถูกจดจำแพร่หลายต่อมาอย่างติดปาก ชีวิตพญาพรหมโวหารโลดโผนเสี่ยงคุกตาราง การหลบหนี เช่นเดียวกับชีวิตของกวีหรือศิลปินอีกหลายท่านและได้อยู่ในความอุปถัมภ์เป็นอาลักษณ์ของคุ้มเจ้าหลวงตั้งแต่เมืองลำปาง เมืองแพร่ และเชียงใหม่   

ต่อมาพญาพรหมโวหารขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ เพราะเจ้าแม่ทิพเกสรโปรดละครแบบกรุงเทพฯ จึงให้แปลงความเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่จากภาษาไทยกลางมาเป็นคำค่าวภาษาล้านนา และได้เข้ารับราชการอยู่กับพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔  และถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ อายุ ๘๔ ปี

ศรีวิไจย เดิมมีชื่อว่า โข้ เป็นบุตรนายน้อยเทพ นางแก้ว เทพยศ ชาวบ้านศรีลอ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ได้บวชเรียนเป็นสามเณรอยู่ที่วัดศรีบุญเรือง จนอายุได้ ๑๘ ปีจึงลาสิกขาบท มีความถนัดเป็นพิเศษในการแต่งค่าวใช้หรือเพลงยาว เมื่ออายุประมาณ ๒๐ ปี ได้สมัครเป็นลูกจ้างพ่อค้าช้างเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ต่อมาเป็นกามโรคจนตาบอดทั้งสองข้างที่เมืองน่าน จึงกลับมาอยู่บ้านข้างวัดสีลอหรือศรีบุญเรือง เมื่อภรรยาคนแรกถึงแก่กรรมจึงไถ่ซื้อนางสมมาเป็นภรรยาคนที่ ๒ นางสมสามารถเป็นเสมียนเขียนคำประพันธ์ตามคำบอกของศรีวิไจยได้เป็นอย่างดี ศรีวิไจยมีชื่อเสียงด้านปฏิภาณกวี  สามารถแต่งค่าวโดยฉับไวและไพเราะ มักแต่งเป็นภาษาบาลีและภาษาพม่ามาใช้ปนกับภาษาเมือง เล่ากันว่าเมื่อจะแต่งค่าวก็จะนอนสูบบุหรี่ ดังที่นำไปใช้เป็นรูปปั้นอนุสาวรีย์ที่วัดศรีบุญเรือง เมื่อคิดค่าวได้แล้วก็บอกภรรยาของท่านเป็นคนจดและอ่านทวนให้ฟังจนเป็นที่พอใจ  

เมื่อความนิยมของค่าวลดลงไป เพราะช่วงนั้นวรรณคดีทางกรุงเทพฯ ได้เริ่มเข้าสู่เมืองแพร่และเป็นที่นิยมมาก ทำให้รายได้ลดลงไป แต่ท่านก็มีพื้นที่นาเล็ก ๆ พอที่จะผลิตข้าวให้เจ้าของได้ ท่านก็ไม่เดือดร้อนอะไรถ้าท่านขาดแคลนขัดสนเงินทองมาก ท่านก็จะเขียนบทกวีไปมอบให้แก่เจ้าน้อยอินทวงศ์วราช ซึ่งรับราชการในกรมป่าไม้และได้มาทำงานที่เมืองแพร่ ก็มาสนทนากับศรีวิไจยอยู่เป็นประจำ และอนุเคราะห์เงินทองตอบแทนบ้าง ชีวิตกวีของศรีไจยแตกต่างจากพญาพรหมวิหารหรือกวีในล้านนายุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากยุคเจ้าผู้ครองนครเพราะไม่มีคุ้มเจ้าหลวงหรือราชสำนักจ้างอาลักษณ์เพื่อทำงานเฉพาะ และเจ้านายหมดอำนาจและฐานะจนไม่สามารถอุปถัมภ์เพื่อชื่นชมผลงานของกวีหรือรักษาค่านิยมในการอุปถัมภ์ศิลปินในราชสำนักได้ดังก่อน เมื่ออายุเกือบ ๗๐ ปี นางสมภรรยาของท่านได้ถึงแก่กรรม ท่านศรีวิไจยก็ได้อาศัยอยู่กับลูกหลาน และไม่ได้แต่งค่าวอะไร หลังจากนั้นไม่นานก็ล้มป่วยและถึงแก่กรรมด้วยโรคชราประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๐   

ผลงานของศรีวิไจยโข้ เช่น  ค่าวซอสุวัณณเมฆะหมาขน คำค่าวซอสมภมิตร ค่าวซอจันทกุมาร ค่าวเจ้าสังคะนะ ค่าวหงสา ค่าวฮ่ำคุ้มหลวง ค่าวเงี้ยวปล้นคุ้มหลวง ค่าวการก่อสร้างของครูบาศรีวิชัย ค่าวสั้นเรื่องเจ้าดำหนีตามชู้ ค่าวซอบัวรวงศ์หงส์อามาตย์  ค่าวฮ่ำดอกเอื้อง 

วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร 

ถือเป็นวัดหลวงของทางราชการโดยพฤตินัย เพราะเป็นทั้งวัดชั้นวรวิหารและวัดที่เจ้าคณะจังหวัดจำพรรษา เดิมแยกเป็น ๒ วัด คือ “วัดไชยอารามพระบาท” ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ เป็นวัดของเจ้าผู้ครองนคร และ “วัดมิ่งเมือง” อยู่ห่างกันเพียงตรอกคั่น ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองและระบบเจ้าผู้ครองนครไม่มีแล้ว ทั้งชาวบ้านในเวียงก็อพยพไปทำมาหากินในที่อื่นๆ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒  ทางราชการจึงรวมวัดทั้งสองเข้าด้วยกันเป็นวัดพระบาทมิ่งเมือง และมีการบูรณะวัดใหม่เพราะอุโบสถหลังเก่าถูกไฟไหม้จนหมด เล่ากันว่ากลุ่มตระกูลเก่าแก่ผู้อุปถัมภ์วัดพระบาทไม่ค่อยพอใจนัก เพราะวัดดังกล่าวเป็นวัดของกลุ่มตระกูลเจ้านาย ส่วนวัดมิ่งเมืองถือว่าเป็นวัดของคนสามัญทั่วไป 

วัดพระบาทมีเจ้าอาวาสคือ พระอุบาลีคุณูอุปราจารย์ ส่วนวัดมิ่งเมืองมีเจ้าอาวาส คือ พระครูสิทธิญาณ  เมื่อรวมกันเป็นวัดพระบาทมิ่งเมืองใน พ.ศ. ๒๔๙๒ จึงยกเอาเจ้าอาวาสวัดพระบาทมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมือง พระครูอุบาลีฯ เป็นพระที่ถือเป็นปูชนียบุคคลทีสำคัญของจังหวัดแพร่ ภายหลังย้ายไปจำพรรษาที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหารและพระเจดีย์มิ่งเมือง เจดีย์เก่าแก่ที่มีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่ภายในและ“พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี” หรือ “หลวงพ่อพุทธโกศัยฯ” สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระพุทธรูปประจำจังหวัดแพร่ในปัจจุบัน

วัดพระบาทมิ่งเมืองมีการหล่อพระพุทธรูปองค์ใหม่ให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวแพร่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕  คือ “พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี” หรือ “หลวงพ่อพุทธโกศัยฯ” จน พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้ยกระดับเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร ส่วนพระเจดีย์หรือพระมิ่งเมืองเป็นเจดีย์ก่อบุทองเหลืองจังโก เป็นพระเจดีย์โบราณ เสมือนเป็นเครื่องหมายใจกลางเมือง และพระพุทธบาทเป็นโบราณสถานของเมือง อีกทั้งเป็นศูนย์กลางของระบบการศึกษาของสงฆ์แบบสมัยใหม่ 

ศรัทธาวัดพระบาทมิ่งเมืองส่วนใหญ่ ก็คือข้าราชการที่มาทำงานในจังวัดแพร่ และชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ถือว่าตัวเองเป็นศรัทธาของวัดใดวัดหนึ่งในเวียงแพร่นั่นเอง

เจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองรูปปัจจุบัน คือ พระมหาโพธิวงศาจารย์ ปัจจุบันอายุ ๙๐ กว่าปี เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดเจ้าคุณพระอุบาลีแห่งเชียงใหม่ และเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ ก่อตั้งมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นประธานมหาจุฬาลงกรณ์ จังหวัดแพร่ ถือเป็นผู้ที่ทำให้วัดนี้เจริญและเกิดมหาวิทยาลัยนี้

ก่อนที่วัดพระบาทมิ่งเมืองจะเปิดสอนมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มีโรงเรียนปริยัติธรรมอยู่แล้ว เปิดสอนนักธรรมบาลี ต่อมาก็มีโรงเรียนระดับมัธยม คือ โรงเรียนพุทธโกศัยวิทยา เรียนธรรมบาลีผสมสามัญ เดิมมีเพียงแต่ ม.๑-ม.๓ ปัจจุบันมีถึง ม.๖ สถานศึกษาทั้ง ๓ อยู่ในบริเวณวัดพระบาทมิ่งเมือง และพระเณรที่จบโรงเรียนพุทธโกศัยวิทยาสามารถสอบเข้าต่อมหาจุฬาฯ ได้  พ.ศ. ๒๕๓๐ ขณะนั้นท่านพระมหาโพธิวงศาจารย์เป็นพระเทพศิริยาพรได้ดำริขอสร้างวิทยาเขตของมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ครูผู้สอนส่วนใหญ่เป็นพระที่จบปริญญาโท เพราะต้องสอนในระดับปริญญาตรี และจบจากมหาวิทยาลัยนเรศวรและรามคำแหงเป็นส่วนใหญ่ ท่านพระมหาโพธิวงศาจารย์เป็นนายกสภามหาจุฬาฯ วิทยาเขตแพร่ ส่วนรองอธิการมหาจุฬาฯ วิทยาเขตแพร่ คือ พระครูโสภณพัฒนานุยุต ซึ่งเป็นทั้งเจ้าอาวาสวัดหลวง เจ้าคณะตำบลในเวียง  

สิ่งสำคัญในวัดพระบาทมิ่งเมืองที่แสดงถึงการอุปถัมภ์พระศาสนาของเจ้าหลวงเมืองแพร่ต่อวัดพระบาทก็คือ พระคัมภีร์โบราณที่ปักด้วยไหมเป็นภาษาล้านนา ปักโดยเจ้าแม่บัวไหล ภรรยาของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เมื่อ จ.ศ. ๑๒๓๕ (พ.ศ. ๒๔๑๖) มีอายุได้ ๑๓๑ ปี  ซึ่งจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์พระวิหารมิ่งเมือง 

ส่วนวัดที่อยู่ทางนอกเวียงซึ่งเป็นชุมชนที่ขยายตัวจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ของกลุ่มคหบดีชาวพม่าและไทใหญ่หรือเงี้ยว และชุมชนที่ขยายตัวออกนอกเวียงเนื่องจากการขยายตัวของเมืองไปตามถนนที่ตัดขึ้นใหม่ ตัวอย่างของวัดที่สำคัญ คือ วัดเมธังกราวาส ที่เดิมชื่อวัดนางเหลียว เป็นวัดร้างมาก่อนที่จะได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ สถานที่อยู่ติดกับคูเมืองหรือน้ำคือ ชาวบ้านแต่เดิมจึงเรียกว่า วัดน้ำคือ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามสมณศักดิ์ของพระราชาคณะคือ พระมหาเมธังกร อดีตเจ้าคณะจังหวัดแพร่และเจ้าอาวาสวัดน้ำคือ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ พระมหาเมธังกรเป็นภิกษุรูปแรกที่นำเอาระบบการศึกษาแบบสงฆ์และระบบการปกครองคณะสงฆ์มาใช้ในเมืองแพร่ ได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นแห่งแรกในภาคเหนือ และส่งสามเณรและพระภิกษุไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ ต่อมาได้สร้างโรงเรียนประชาบาลวัดน้ำคือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาลแห่งแรกในจังหวัดแพร่ ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดเมธังกราวาส (เทศรัฐราษฎร์นุกูล) ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าแก่ของจังหวัดแพร่ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

24

วัดเมธังกราวาสหรือวัดน้ำคือ เดิมชื่อวัดนางเหลียว เป็นวัดที่อยู่นอกเขตกำแพงเมือง

วัดนอกเมืองที่เป็นวัดของชาวไทใหญ่และพม่าที่ยังคงมีอาคารศาสนสถานสำคัญอยู่หลายแห่ง เมื่อมีการทำไม้สักโดยบริษัททำไม้ของอังกฤษและเดนมาร์กทำให้คนพม่า ไทใหญ่หรือเงี้ยว และต่อสู้ เดินทางเข้ามาทำงานในฐานะผู้ช่วยและเสมียนซึ่งสามารถติดต่อสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษ หรือเป็นแรงงานผู้ชำนาญการในการทำไม้ บ้างเข้ามาค้าขายและขุดหาพลอยที่ได้รับสัมปทานบ้าง ต่อมาก็ได้ภรรยาเป็นคนไทยและปรับตัวเป็นคนเมืองแพร่ไปในที่สุด 

คนพม่าและไทใหญ่หรือเงี้ยวได้สร้างวัดไว้ที่เมืองแพร่ ๓ วัด ซึ่งอยู่นอกเวียงแพร่ คือ วัดจองใต้หรือวัดต้นธง วัดจองกลางหรือวัดสระบ่อแก้ว วัดจองเหนือหรือวัดจอมสวรรค์

25

ที่ตั้งชุมชนและวัดของชาวไทใหญ่ อยู่นอกเขตเวียงแพร่

วัดจอมสวรรค์เป็นวัดโบราณ น่าจะเป็นของพวกม่านหรือไทใหญ่สร้างมาก่อน เดิมเป็นวัดที่อยู่ในป่ารกครึ้มน่ากลัว มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาทึบและมีลำคลองตัดผ่าน ขณะนั้นยังไม่มีหมู่บ้านและคนอาศัยอยู่ จนกระทั่งพ่อเฒ่ากันตีและนายฮ้อยคำมาก สองพ่อค้าไทใหญ่หรือเงี้ยวอพยพครอบครัวมาอยู่ที่ป่าทึบใกล้บริเวณที่ตั้งของวัดจอมสวรรค์ เห็นสภาพวัดซึ่งเป็นศิลปะแบบของตนจึงเกิดความเลื่อมใสทำการบูรณะซ่อมแซมและต่อเติมตกแต่งลวดลายต่าง ๆ ให้สวยงาม ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากพรรคพวกที่อพยพติดตามมา นับแต่นั้นชาวเงี้ยวได้อพยพมาสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณรอบวัดจอมสวรรค์กันมากมายจนกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกว่า หมู่บ้านใหม่ ตรงกับสมัยของเจ้าพิมพิสาร (เจ้าหลวงขาเค) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕

วัดจอมสวรรค์ หรือวัดจองเหนือ เป็นวัดรูปแบบศิลปะไทยใหญ่หรือเงี้ยว

วัดสระบ่อแก้วหรือวัดจองกลาง และวัดต้นธงหรือวัดจองใต้ ล้วนเป็นวัดที่มีศิลปะของไทใหญ่หรือเงี้ยวทั้งสิ้น

ต่อมาคุณพ่อของแม่เตียว อักษรมินทร์ ชื่อ นายจองนั่นตา (เฮดแมนอังกฤษ) จองนั่นตามีภูมิลำเนาเดิมอยู่ทางเหนือของพม่า เคยคลุกคลีกับชาวอังกฤษมาก่อน ต่อมาได้ย้ายเข้ามาค้าขายที่เมืองแพร่จนร่ำรวยเป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้านแถบนั้น และแม่กุยได้เป็นผู้ก่อสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จ และสร้างเจดีย์ทรงแบบพม่าไว้ ซึ่งเกิดขึ้นจากฝีมือของช่างพม่าเมื่อประมาณกว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้ว