วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
“จันทบูร” เป็นคำดั้งเดิมที่พบในเอกสารเก่าและปรากฎในบันทึกของนักเดินทางชาวตะวันตกที่ใช้การเดินเรือเลียบชายฝั่งมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ผู้คนในท้องถิ่นดั้งเดิมเองก็เรียกพื้นที่เมืองบริเวณนี้ว่าจันทบูรด้วยเหมือนกัน
จันทบูรถือเป็นเมืองท่าภายในที่ส่งสินค้าของป่าชั้นดี เช่น หนังสัตว์และเขาสัตว์ ไม้ตะเคียน ไม้แดง ไม้ยาง จำพวกไม้หอม เช่น กฤษณา พืชสมุนไพรต่างๆ เช่น กระวาน และโดยเฉพาะพริกไทย ไปจนถึงไม้เนื้ออ่อนเช่น ไม้ระกำป่า ดังนั้นที่ตั้งอยู่อยู่ลึกเข้ามาภายในแผ่นดินค่อนข้างไกลจากปากน้ำและสามารถเดินทางเข้าถึงต้นน้ำที่ติดกับเทือกเขาอันเป็นแหล่งทรัพยากรได้สะดวก
แผนที่จากกรมแผนที่ทหารสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ แสดงตำแหน่งป้อมในเมืองจันทบูรอย่างชัดเจน ขณะนั้นใช้เป็นกรมทหารพรานบกที่ ๙
ต้นน้ำจันทบูรประกอบขึ้นจากลำน้ำหลากหลายสาย แต่ที่สำคัญคือมาจากทางเทือกเขาสอยดาวฝั่งตะวันตกและภูเขาในเขตนั้นอีกหลายแห่ง ผู้คนภายในที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พูดภาษาในตระกูลมอญ-แขมร์ เช่น กลุ่มชาวชอง ถือเป็นผู้ดำรงชีวิตและบุกเบิกการทำของป่าส่งส่วยแก่รัฐที่เข้ามาจัดการทรัพยากรแถบนี้ได้ตั้งแต่ครั้งโบราณ ที่อาจจะไกลไปถึงช่วงก่อนประวัติศาสตร์จนถึงการเข้ามาของอารยธรรมทางศานาฮินดูและพุทธในเวลาต่อมา
ชื่อเมือง “จันทบูร” นั้น น่าจะมีที่มาจากการเป็นพื้นที่ป่าเขาที่มีต้นไม้หอมอันเป็นต้นไม้เฉพาะถิ่นคือ “ต้นจันทน์” หรือ Sandal Wood ไม้จันทน์นี้นำไปใช้เป็นไม้หอมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในงานพระราชพิธีหลวงหรืองานมงคลต่างๆ และนำมาสกัดเป็น “น้ำมันจันทน์” น้ำมันหอมระเหยมูลค่าสูงและมีความต้องการมากมาโดยตลอด
ส่วนคำว่า “บูร” นั้นหมายถึงความเป็น “เมือง” หรือ “ปุระ” [City or City State] ซึ่งอาจจะมีกำแพงค่ายคูประตูหอรบด้วยก็ได้ ในแถบภาคตะวันออก บ้านเมืองที่เหลือร่องรอยคูคันดินของการเป็นเมืองแบบปุระนั้นมีน้อยแห่ง และที่เป็นเมืองในสมัยอยุธยานั้นน่าจะพบที่เมืองจันท์เพียงที่เดียว (ส่วนเมืองระยองที่บ้านค่ายนั้นร่องรอยสูญหายไปแทบหมดแล้ว)
บันทึกในสมัยอยุธยากล่าวถึงหัวเมืองทางแถบตะวันออกไม่มากนัก หากไม่เน้นเรื่องราวการสงครามในยุคสมัยต่างๆ นอกจากรัชกาลที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ที่มีพระยาละแวกเข้ามาโจมตีทางทะเลและกวาดต้อนผู้คนไปยังเขมรจนต้องมีการศึก ซึ่งก็ใช้ทั้งทัพบกและทัพเรือทางทะเลคราวหนึ่ง และเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่นักบวชชาวฝรั่งเศสต้องเดินทางไปยังตังเกี๋ย อันนัม และโคชินจีน บันทึกข้อมูลเรื่องราวการเดินทางของบาทหลวงตาชาร์ดที่เรือล่มเมื่อไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองที่เมืองจันทบูร ก็พบว่าเจ้าเมืองนั้นเป็นชาวมุสลิม ส่วนจะเป็นชนชาติใดนั้นไม่ปรากฎ ซึ่งในเวลาเดียวกันเจ้าเมืองที่เป็นจุดค้าขายและส่งสินค้าสำคัญที่มะริดและตะนาวศรีนั้นก็เป็นชาวมุสลิม เชื้อสายเปอร์เซีย ซึ่งมีบทบาทต่อการค้าในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ฯ มาก่อนเจ้าพระยาวิชาเยนทร์และชาวฝรั่งเศส
หลักฐานทางกายภาพที่ปรากฏบริเวณเหนือเมืองจันทบูรนั่นคือ การมีอยู่ของ “สุสานแขก” ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคลองท่าช้างที่ไม่มีผู้ใดรับรู้ถึงที่มาของพื้นที่นี้ และไม่ใช่กุโบร์ร่วมสมัยที่ชาวมุสลิมยุคหลังใช้กันแต่อย่างใด แต่ทำให้เห็นว่า เมืองจันทบูรนั้นมีความสำคัญสำหรับการเป็นเมืองท่าค้าขายที่ทำรายได้ให้รัฐเป็นจำนวนมาก และรัฐสยามให้ความสำคัญมากพอที่จะส่งเจ้าเมืองเชื้อสายมุสลมผู้มีความชำนาญในการเดินเรือสินค้าและการค้าในเครือข่ายทางทะเลเข้ามาควบคุมดูแลบ้านเมืองในแถบนี้

ส่วนข้อมูลที่กล่าวว่า ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ นี้ได้สร้างเมืองที่มีคูคันดินล้อมรอบเนินสูงที่ริมคลองท่าช้าง และก่อคันดินที่กลายเป็นป้อมในเมือง [Citadel] อันเป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์จนกลายเป็นเมืองจันทบูรก็ยังไม่เห็นข้อมูลในเอกสารใด

เมืองจันทบูรเป็นเมืองมีคูน้ำคันดิน และอยู่ในชัยภูมิที่ได้เปรียบบนที่เนินสูงกว่าบริเวณโดยรอบ อยู่ริมลำน้ำท่าช้าง อันเป็นสาขาของลำน้ำจันทบูร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณค่ายตากสินในปัจจุบัน และน่าจะมีอาณาบริเวณนอกค่ายทหารมาทางฝั่งที่เป็นที่ตั้งของอาคารศาลากลางเก่า แถบอาคารศาลไปจนถึงแนวหลังวัดโบสถ์เมืองซึ่งพบเพียงเล็กน้อย แต่ทว่าสภาพของคูคันดินที่เป็นร่องรอยของเมืองจันทบูรเก่านั้นยังปรากฎอยู่มากเฉพาะบริเวณค่ายตากสินเท่านั้น พ้นเขตทหารออกมาก็แทบไม่พบเห็นร่องรอยเลย จนทำให้เกิดความสับสนและไม่แน่ใจว่าเมืองจันทบูรเก่าเคยมีอยู่ตรงบริเวณใด
นักโบราณคดี คุณพีรพงษ์ พิสณุพงศ์ ครั้งทำงานอยู่ที่หน่วยศิลปากรที่ ๔ ปราจีนบุรี สำรวจรูปแบบของเมืองโบราณแห่งนี้ว่า “…น่าจะเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างทางทิศเหนือและใต้ ๔๐๐-๔๕๐ เมตร ยาวทางทิศตะวันออกและตัวนตก ๕๕๐-๖๕๐ เมตร มีคันดินขนาดกว้างราว ๘-๑๐ เมตร ยกสูงประมาณ ๒-๓ เมตร และยังปรากฎคันดินขนาดเล็กทอดยาวตามแกนทิศเหนือใต้ขนาดกว้างประมาณ ๔ เมตร สูงประมาณ ๑.๕ เมตร บริเวณตอนกลางของแนวคันดินทิศตะวันออกทำเป็นรูปปีกกาคล้ายช่องประตูเปิดออก และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่ตั้งจวนเจ้าเมือง …และให้ข้อสังเกตว่าคันดินด้านตะวันออกนั้นไม่แน่ใจว่าจะมีด้านนี้ เพราะอาจใช้แนวปราการตามธรรมชาติซึ่งเป็นตะพักยกตัวสูงจากชายตลิ่งคลองท่าช้าง”

ข้อมูลนี้ตรงกับการบันทึกภาพผังเมืองและข้อมูลส่วนหนึ่งของกัปตันเจอร์ราร์ด ผู้บังคับบัญชากองทหารฝรั่งเศสที่เข้ายึดเมืองจันทบุรีในช่วงรัชกาลที่ ๕ อย่างสอดคล้องกัน


และตะพักคันดินโดยธรรมชาตินี้ชาวจีนรุ่นต่อมาถือเป็นฮวงจุ้ยชั้นดีสำหรับฝังศพบรรพบุรุษที่เคลื่อนย้ายอพยพมาจากทางโคชินจีนหรือเวียดนามตอนใต้แถบเมืองในสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง เพราะเป็นเนินดินคล้ายภูเขาในด้านหลังและลาดลงสู่ชายคลองท่าช้าง จึงทำฮวงซุ้ยตามแนวตะพักนี้ทั้งในเขตค่ายตากสินและยาวไปตลอดริมลำคลองท่าช้างจนถึงแถบบ้านเรือน “ชาวบ้านท่าช้าง” ริมคลองท่าช้างด้านเหนือ กล่าวกันว่าเคยมีอยู่หลายร้อยหลุม จนกระทั่งต้องทำค่ายทหารจึงเวนคืนที่ดินฮวงซุ้ยเหล่านั้นออกไป
บริเวณแนวตะพักที่เป็นสันเนินสูงขนานไปกับคลองท่าช้าง แม้จะถูกรื้อไปเป็นจำนวนมาก หลุมฝังศพนี้ยาวไปจนจรดบ้านท่าช้าง และพบจารึกที่หลุมซึ่งยังไม่ได้อ่าน บริเวณแนวตะพักที่เป็นสันเนินสูงขนานไปกับคลองท่าช้าง แม้จะถูกรื้อไปเป็นจำนวนมาก หลุมฝังศพนี้ยาวไปจนจรดบ้านท่าช้าง และพบจารึกที่หลุมซึ่งยังไม่ได้อ่าน
ปัจจุบันพบว่ายังมีฮวงซุ้ยของตระกูลสุนทรเวชอยู่หลังหนึ่งในเขตค่ายตากสิน ซึ่งอยู่แถบแนวตะพักเนินดินดังกล่าว จารกึบนป้ายหลุมศพ กล่าวถึงช่วงเวลาในการฝังที่หลุมนี้อยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๑๓ (ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีเกอิ๊น ฤดูเก็บเกี่ยว แผ่นดินไต้เช็ง ที่ฝังศพของภรรยาหลวงแซ่ลี้ ของตระกูลแซ่ตัน บุตรชายเซยฮุยกับเม่าเตี้ยน ร่วมกันสร้าง) นอกจากนี้ยังค้นพบอีกว่าบริเวณสวนแนวตะพักเดียวกันยังมีหลุมฝังศพที่น่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันอีก ๒-๓ หลุมหลงเหลืออยู่


บุตรชายสองท่านนาม “เซยฮุยกับเม่าเตี้ยน” ร่วมกันสร้างที่ฝังศพของภรรยาหลวงของบิดาที่แซ่ลี้ ในตระกูลแซ่ตัน ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีเกอิ้น ฤดูเก็บเกี่ยว (ที่คุณ นพพร ภาสพงษ์แปลว่าเป็นปี พ.ศ.๒๓๑๓ ) ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ความสำคัญของ “เมืองจันทบูร” จนกลายเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศสำหรับผู้สนใจทางประวัติศาสตร์คือ การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ครั้งมารวบรวมไพร่พลกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งกรุงฯ แตก เมื่อเจรจาต่อรองกับเจ้าเมืองจันทบูรไม่สำเร็จและถูกหลอกล่อถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ จึงปรารภเปรียบเปรยแก่ไพร่พลที่วัดแก้วริมเมืองจันทบูรว่า “ให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงเสียให้สิ้น ต้องเข้าตีให้สำเร็จสถานเดียว”
พระเจ้าตากสินฯ พร้อมกองกำลังพลพรรคทั้งมวลบุกเข้าโจมตีเมืองจันทบูรทุกด้านในดึกคืนนั้นแล้วยึดเมืองจันทบูรได้ ส่วนพระยาจันทบูรพาลูกเมียหนีลงเรือเดินทะเลเลียบชายฝั่งไปยังเมืองพุทไธมาศหรือบันทายมาศหรือเมืองฮ่าเตียนในประเทศเวียดนามปัจจุบัน

ทุกวันนี้แม้จะมีเอกสารบันทึกเรื่องเล่าโดยหลวงสาครคชเขตต์ในตำแหน่งวัดแก้วว่า “วัดแก้วหรือวัดป่าแก้ว ตั้งอยู่ภายนอกกำแพงเมืองทางด้านหลังของค่ายทหารที่ตั้งเป็นกองร้อยทหาร ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในภายหลังเดี๋ยวนี้แห่งหนึ่ง และวัดป่าแก้วนี้เองปรากฎว่า เคยเป็นที่ชุมชนของพลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน (พระเจ้ากรุงธนบุรี) ก่อนที่ทรงยกกำลังเข้าตีเมืองจันทบุรีในเวลานี้ ซากของวัดแห่งนี้พอที่จะเห็นได้ก็คือ ยังมีฐานแท่นพระอุโบสถเป็นสำคัญอยู่บ้าง”
เศษภาชนะดินเผาแบบไหเคลือบแบบจีนและเซลาดอนเขียว จากบริเวณวัดแก้วที่ถูกรื้อและเป็นอาคารเรือนยาวในค่ายตากสิน เศษภาชนะดินเผาแบบไหเคลือบแบบจีนและเซลาดอนเขียว จากบริเวณวัดแก้วที่ถูกรื้อและเป็นอาคารเรือนยาวในค่ายตากสิน
สอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวบ้านท่าช้างคือ คุณยายเนียม รัตนไพร สิ้นเคราะห์ อายุ ๙๑ ปี (บ้านเลขที่ ๔ หมู่ ๓ ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี สัมภาษณ์กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๒) ซึ่งเป็นชาวบ้านท่าช้างมาแต่ดั้งเดิม และมีสามีเป็นทหารม้าในสมัยนั้น เล่าว่าเมื่อตนยังเป็นเด็กพ่อแม่พากันมาทำบุญส่งทุ่งที่ “วัดแก้ว” ซึ่งชี้จุดได้ตรงกันกับที่หลวงสาครคชเขตต์ระบุไว้ คืออยู่นอกเมืองทางด้านเหนือของแนวกำแพงเมืองที่ห่างออกไปราว ๒๐๐ เมตร ทุกวันนี้ทรากอาคารของวัดแก้วนั้นไม่หลงเหลืออยู่ เพราะสร้างอาคารเรือนแถวยาว และเหลือเพียงฐานศิลาแลงเป็นแนวตัวอาคาร หินทรายหินปูนถูกลำน้ำพัดพาจนมนไม่มีเหลี่ยมน่าจะลอกมาจากลำน้ำท่าช้างนี้ที่ชาวบ้านแถบนี้เคยย่อยหินขาย ใช้เป็นพื้นฐานอาคารเพื่อสร้างความแข็งแรงและชิ้นส่วนอิฐดินเผาและชิ้นส่วนกระเบื้องดินเผาสำหรับเป็นอาคารโบราณสถาน เศษภาชนะเนื้อแกร่งจำนวนมากเคลือบสีดำหรือน้ำเงินดำแบบไหหรือตุ่มใส่น้ำขนาดย่อมๆ เป็นของเตาจีนเคลือบเซลาดินจากเตาจีน ฝาภาพชนะแบบหม้อทะนน ไหเนื้อแกร่งจีนอายุรุ่นอยุธยา
ดังนั้น ที่มีความพยายามตีความในสมัยหลังเรื่องการเข้าตีเมืองจันท์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ว่าจะต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างยิ่งหรือค้นหาว่าที่ตั้งของวัดแก้วนั้นอยู่ในจุดใด ก็จะเห็นว่า ตัวเมืองจันทบูรเก่าและวัดแก้วริมเมืองนั้นห่างกันเพียง ๒๐๐ เมตร และพระเจ้าตากฯ ในช่วงเวลานั้นต้องการเจรจากับเจ้าเมืองรุ่นน้องมากกว่าการบุกเข้ายึดครองเมืองด้วยการใช้กำลัง แต่คนรุ่นปัจจุบันอาจใช้จินตนาการสร้างภาพวีรกรรมอันเลื่องลือครั้งนั้นจนอาจจะเหนือข้อเท็จจริงกันไปบ้าง

เมืองป้อมที่เนินวง
จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ สถานที่ว่าราชการเมืองน่าจะย้ายพื้นที่อยู่บริเวณเมืองป้อมที่เนินวง จากข้อมูลจากพระราชพงศาวดารเขียนไว้ไม่มากนัก บันทึกอย่างย่อๆ ว่า…เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งได้ตำแหน่งเป็นสมุหพระกลาโหมด้วย สยามมีศึกปัญหากับญวนอย่างต่อเนื่อง กลัวฝ่ายญวนจะยกทัพเรือเข้ามาโจมตีจึงให้พระยาพระคลังเป็นแม่กองระดมต่อเรือป้อมอย่างญวนขึ้น ๘๐ ลำเอาไว้ที่กรุง ๔๐ ลำ จ่ายไปรักษาหัวเมืองชายทะเล ๔๐ ลำจากนั้นจึงให้เป็นแม่กองสร้างเมืองจันทบุรี ให้รื้อกำแพงเมืองเก่าเสียเพราะที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปไม่น่าจะรับศึกได้ดี แล้วจึงสร้างเมืองใหม่ที่เนินวงเพราะบ้านเรือนราษฎรอยู่ลึกเข้าไปข้างหลังเมืองเมืองป้อมที่เนินวงจึงเป็นที่ป้องกันครอบครัวพลเมืองได้ สร้างวัดขึ้น ๑ วัด ชื่อวัดโยธานิมิต ให้เจ้าหมื่นราชามาตย์ชื่อขำไปทำป้อมที่แหลมด่านปากน้ำป้อม ๑ ชื่อป้อมภัยพินาศ ที่เขาแหลมสิงห์ป้อมเก่าทำเสียใหม่ป้อม ๑ ชื่อป้อมพิฆาตปัจจามิตร แล้วโปรดให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ชื่อ “ช่วง” ต่อกำปั่นขึ้นลำ หนึ่ง ปากกวาง ๑๐ ศอกเป็นตัวอย่าง เมื่อนำเข้ามาถวาย พระราชทานชื่อว่า “แกล้วกลางสมุทร” แล้วโปรดให้กลับไปต่อใหม่อีกลำหนึ่ง ปากกว้าง ๔ วา พระราชทานชื่อว่า “ระบิลบัวแก้ว”
จากบันทึกหมอบรัดเลย์ที่เดินทางไปจันทบูรเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ กล่าวว่า……วันที่ ๑๙ พฤศจิกายนก็เริ่มเข้าสู่ปากน้ำจันทบูร ซึ่งมีภูเขาโอบล้อมปกป้องไว้และขยายออกไปในทะเลสามารถป้องกันได้ทั้งสองด้าน ชายฝั่งเป็นแนวยาวไปทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ เขาสระบาปอยู่ภายในแผ่นดินขนานไปกับชายทะเลยอดเขามีกลุ่มเมฆลอยปกคลุม พืชพรรณดูแตกต่างไปจากในกรุงเทพฯ น้ำทะเลใสส่วนในแม่น้ำเป็นหาดโคลน
วันที่ ๒๑ พฤศจิกายนก็ออกจากเรือกำปั่นใบที่ทอดสมออยู่ปากอ่าวมาลงเรือเล็ก มาถึง “อู่ต่อเรือสยาม” ส่วนบ้านพักรับรองทำจากไม้ไผ่ซึ่งอยู่ติดกับอู่ต่อเรือนี้ตั้งอยู่ริมน้ำซึ่งมีลมเหนือพัดมาแรงทีเดียวจากฝั่งตรงกันข้าม ซึ่งกำลังจะต่อเรือ ๕๐ ลำประกอบไปด้วยเรือ ๒ ชนิด ระวาง ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ ตัน ยังมีเรือสำเภารบอีก ๓๐-๔๐ ลำและเรือเล็กๆ อีกจำนวนมาก ในพื้นที่ราว ๕๐-๖๐ เอเคอร์ เหนือจากบริเวณนี้ก็จะเป็นทางเดินที่ใช้สำหรับการเดินทางติดต่อกันได้ดี…..
แผนที่แสดงตำแหน่งสันนิษฐานอู่ต่อเรือสยามที่ท่าแฉลบและสถานที่ต่างๆ จากบันทึกของหมอบรัดเลย์ซึ่งเดินทางเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ , กรมแผนที่ทหาร มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ เห็นแนวขอบเขตของเมืองป้อมที่เนินวงอย่างชัดเจน
ช่วงเวลาเดียวกันก็สร้างป้อมที่เมืองฉะเชิงเทราและป้อมคงกระพันที่คลองบางปลากดที่สมุทรปราการ จากนั้นสงครามระหว่างสยามและญวนในความขัดแย้งเรื่องดินแดนทั้งทางตอนเหนือฝ่ายหัวพัน ลาว และเขมรจึงดำเนินไปเป็นเวลากว่า ๑๔ ปี (ราว พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๐)
จารึกวัดโยธานิมิต พ.ศ. ๒๓๗๗ ระบุโดยละเอียดขึ้นว่า ..เจ้าพระยาพระคลังว่าที่พระสมุหกลาโหม ยกกองทัพออกมารักษาเมืองจันทบุรี ให้ทำป้อมที่ปากน้ำแหลมสิงห์ทั้งสองฝั่ง แล้วดูที่เมืองเก่าไม่เหมาะจะรักษาเมืองไว้จึงเที่ยวหาดูไชยภูมิที่เหมาะสม ให้วัดที่ถางเข้าเป็นเมืองขุดดินพูนเชิงเทินแล้วตั้งปืนใหญ่รายรอบตามช่องกำแพงเมือง สร้างหนึ่งปีจึงสำเร็จ แล้วจึงฝังอาถรรพ์หลักเมือง ในวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๙๗ ปีมะแมศก (ตรงกับวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๗๘) ตำแหน่งหลักเมืองนั้นมีการสร้างอาคารแบบจีนคลุมอยู่ แล้วจึงชักชวนนายกองผู้ใหญ่สร้างวัดและเสนาสนะต่างๆ อุทิศถวายแด่พระศาสนา ซึ่งกล่าวเป็นธรรมเนียมในการทำบุญกุศลที่มีรูปแบบคล้ายคลึงและใกล้เคียงกับการถวายหรืออุทิศสิ่งของในทางพระศาสนาตามวัดในแถบบางกะจะ เขาพลอยแหวน ซึ่งมีชุมชนและวัดเป็นจำนวนมากที่น่าจะสร้างขึ้นในคราวการตื่นตัวเพื่อรับศึกครั้งนี้ สร้างวัดอยู่ ๔ เดือนจึงแล้วเสร็จ
หมอบรัดเลย์ยังบันทึกอีกว่า….วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ได้เดินจากแนวแม่น้ำประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร ขึ้นไปยังที่ตั้งของพระยาพระคลัง (ทำเนียบหรือบริเวณบ้านทำเนียบในปัจจุบัน) ที่บางกะจะ ซึ่งบ้านพักของหลวงนายสิทธิ์ก็ตั้งอยู่บริเวณนี้ บริเวณแม่น้ำเหนือขึ้นไปจากอู่ต่อเรือนั้นคดเคี้ยวมากเกินไปและตลิ่งต่ำน้ำท่วมถึง เมื่อไปถึงใกล้กับก็เห็น “การสร้างป้อมค่าย” ขนาดใหญ่ด้วยอิฐศิลาแลงขนาด ๖x๙x๑๘ นิ้ว คนตัดศิลาแลงนี้คือคนงานชาวจีนและมาเลย์และเป็นคนก่ออิฐกำแพงป้อมนี้และทำงานด้วยความรวดเร็ว สถานที่ตั้งป้อมอยู่เหนือจากพื้นราบราว ๔๐ ฟุตหรือ ๑๒ เมตร กำแพงสูงราว ๖ ฟุต ระยะโดยรอบหากเสร็จแล้วไม่น่าจะเกินกว่า ๓ กิโลเมตร..

พระยาพระคลังว่าที่พระสมุหกลาโหม คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่แห่งตระกูล “บุนนาค” ที่นำกองทัพออกมารักษาเมืองจันทบุรี สร้าง “ทำเนียบ” หรือที่ว่าราชการและเป็นที่พำนักด้วยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ปัจจุบันตำแหน่งที่เคยเป็นทำเนียบก็ถือว่ายังมีผู้รู้จัก แต่ไม่มีหลักฐานภาพถ่ายอาคารเดิม แถบนั้นเรียกต่อมาว่า “บ้านทำเนียบ” เป็นที่อยู่อาศัยของตระกูลขุนนางและบุตรหลานผู้รับราชการต่อมาเป็นกลุ่มใหญ่ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และย่านนี้ยังพบว่าวัดวาอารามต่างๆ ล้วนถูกสร้างขึ้นในคราวครั้งรัชกาลที่ ๓ เสียเป็นส่วนใหญ่
การยึดครองป้อมค่ายในเมืองเก่าจันทบูร
เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรี ข้อมูลจากรายงานของกัปตันผู้บังคับบัญชาการยึดครองนี้ (Extract of the report of the Captain commanding the occupation detachment in Chanthaburi, 29 August 1893 (SHD, Guerre, 10 H 11).The French Army and Siam, 1893–1914) มีรายละเอียดว่า
หลังจากฝ่ายสยามยอมรับข้อตกลงในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ แล้ว การยึดครองเมืองจันทบุรีเริ่มในวันที่ ๙ สิงหาคม ปีเดียวกัน กองทหารราบจากอันนัมโดยการควบคุมของกัปตันเจอร์ราร์ด [Captain Gerard] จำนวน ๑๙๖ คน เป็นชาวยุโรป ๕๔ คน นอกจากนั้นเป็นชาวญวน กัปตันพยายามให้เจ้าเมืองอพยพออกจากเมือง และทหารสยามยังคงมีอยู่ราว ๖๐๐-๘๐๐ คน และเช้าของวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ก็เข้าครอบครองป้อม [Citadel] ที่เมืองจันทบุรีโดยการส่งมอบจากเจ้าเมืองขณะนั้น ซึ่งน่าจะเป็นพระยาราชนารถภักดี (หวาด บุนนาค) พวกเขาพบปืน Broadwell ๘๐ มม. แปดตัวสมบูรณ์แบบ ปืนไรเฟิลล้าสมัยอีก ๑,๐๐๐ กระบอก
ป้อมในเมืองนี้อยู่เหนือกว่าที่ตั้งเมืองจันทบุรีราว ๒๐ เมตร ซึ่งพื้นที่นั้นน้ำท่วมตลอดเวลาในช่วงหน้าฝน น่าจะเป็นที่ตั้งจวนเจ้าเมืองริมคลองท่าสิงห์ที่บ้านลุ่ม ป้อมนี้พื้นที่ราวๆ ๔๕๐ เมตรในแต่ละด้าน (ข้อเท็จจริงคือพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ขนาดประมาณ ๒๐๐ และ ๑๕๐ เมตร) และล้อมรอบด้วยกำแพงดินที่มีคูน้ำขนาดระหว่าง ๖-๑๐ เมตร บริเวณคูน้ำเต็มไปด้วยหญ้าพงหนา ทางทิศเหนือของบริเวณนี้เป็นเหมือนป่าเล็กๆ ส่วนมุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายทหารอยู่ในสภาพดีและเป็นจุดที่สูงที่สุด
กองทหารชาวฝรั่งเศสใช้พื้นที่ภายในป้อมทางตะวันตกเฉียงเหนือนั้นเป็นค่ายทหารเล็กๆ บริเวณใจกลางของป้อมเป็นที่อยู่ของจวนเจ้าเมืองแต่เดิม ตัวจวนที่พักรอบด้วยสวนไสตล์ฝรั่งเศสที่ดูแลรักษาเป็นอย่างดี พวกทหารฝรั่งเศสตัดสินใจว่าจะไม่ทำลายสวนนี้ และกัปตันรายงานภายหลังว่ากองกำลังคงปลอดภัยดีในที่นี้แต่ต้องการกองทหารดูแลสัก ๕๐๐ หรือ ๓๕๐ คน ปืนแบบเสือภูเขาสัก ๓ กระบอก…
ทหารฝรั่งเศสใช้เงินจากรัฐบาลกลางของตนสร้างอาคารถาวรหลายหลังที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถกเถียงโจษจรรย์กันมากในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสยุคนั้น และมีบทความจำนวนมากของชาวฝรั่งเศสที่พยายามโน้มน้าวให้ยึดสยามทั้งประเทศเสียเพื่อไม่ให้งบประมาณในการก่อสร้างต่างๆ ในเมืองจันทบูรนี้สูญเสียไปเปล่าๆ จากการบันทึกของพระยามหาอำมาตยธิบดี (เส็ง วิริยะสิริ) คือ
๑. ตึกรูปสี่เหลี่ยมชั้นเดียว หลังคาตัด ใช้เป็นตึกกองบัญชาการและเป็นที่พักอาศัยของผู้บังคับการทหาร (ตึกกอมมันดัง) เมื่อจัดตั้งกองทหารเรือประจำจังหวัดจันทบุรีใน พ.ศ. ๒๔๔๙ แล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสีหวิกรมเกรียงไกร ซึ่งดำรงพระยศเป็นผู้บัญชาการทหารเรือชายทะเลได้ปรับเปลี่ยนโดยก่อสร้างหลังคาซ้อนอีกชั้น ไว้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จมา ต่อมาเมื่อกลายเป็น “กองทหารม้า” ตึกกอมมันดังก็ถูกรื้อหลังคาออก
๒. ตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ ใช้เป็นสถานที่สำหรับไว้เครื่องยุทธภัณฑ์
๓. ตึกชั้นเดียว ใช้เป็นที่อยู่ของพนักงานคลัง (กอมมิแซ)
๔. ตึกขนาดยาวชั้นเดียว ใช้เป็นโรงพยาบาลทหาร
๕. ตึกขนาดใหญ่ชั้นเดียว ใช้เป็นที่อยู่ของนายทหาร (ชั้นออฟฟิศเซอร์) ๒ หลัง
๖. ตึกขนาดใหญ่หน้าประตูค่ายทหาร ใช้เป็นที่อยู่ของกองรักษาการณ์ และตอนด้านหลังใช้เป็นที่คุมขังนักโทษทหาร

ส่วนพลทหารฝรั่งเศสพักอาศัยตามโรงเรือนของฝ่ายไทยที่มีอยู่ในค่ายอีกหลายหลัง ส่วนทหารญวนสร้างโรงทหารขึ้นบริเวณหร้าค่าย บริเวณที่ตั้งศาลและศาลากลางอีก ๗-๘ หลัง (บริเวณที่เป็นหอจดหมายเหตุแห่งชาติปัจจุบัน) นอกจากนี้ทหารฝรั่งเศสยังทำถนนหน้าค่ายทหารลงมาจนถึงท่าน้ำหน้าวัดโบสถ์ ในช่วงกว่า ๑๑ ปี เมื่อมีผู้เสียชีวิตก็ฝังที่ชาวยุโรปและญวนบนป้อมในเมืองจันทบุรียาวประมาณ ๔๒ เมตร กว้าง ๙ เมตร ต่อมาเมื่อจะสร้างศาลากลางจังหวัด และที่ดินจังหวัดก็ขอให้เปลี่ยนสถานที่ไปฝังรวมกับสุสานชาวคาทอลิกที่อยู่ทางวัดคาธอลิกอีกฝั่งหนึ่ง
หลังจากกองทหารฝรั่งเศสย้ายออกไปแล้วก็จัดให้มีการฉลองเมืองถึง ๓ วัน ยกปรำที่หน้าโรงทหารญวนเป็นโรงมหรสพมีทั้งลิเก เพลงหุ่นและหนัง ประดับประดาด้วยเฟื่องใบไม้และธงช้าง โคมไฟ เลี้ยงเกาเหลารวมคนประมาณมากกว่าสองพันคนอาราธนาพระสงฆ์มาสวดชัยมงคลคาถาต่างๆ มากกว่า ๕๐ รูป แล้วย้ายสถานที่ทำการของรัฐบาลริมน้ำไปอยู่ในค่ายกองทหารฝรั่งเศส ให้ข้าราชการเข้าไปพักอาศัย หลังจากนั้นสองปีเมื่อจัดตั้งกองทหารเรือก็ให้ไปอยู่ในค่ายแทน และย้ายสถานที่ราชการมาอยู่ที่เดิมอีก

กล่าวได้ว่าเมืองจันทบูรเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี มาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นใช้ป้อมในเมืองที่มีคูคันดินล้อมรอบเป็นที่ทำการทั้งจวนเจ้าเมืองและสถานที่ทำงานแบบธรรมเนียมเก่า เมื่อผ่านช่วงรัชกาลที่ ๓ หลังจากผ่านศึกญวนแล้ว น่าจะเริ่มมีการใช้พื้นที่บริเวณเมืองจันทบูรเก่าอีกครั้ง ช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองก็ยังมีที่ทำการหรือจวนเจ้าเมืองทำสวนดอกไม้แบบฝรั่งเศส ในช่วงพระยาวิชชยาธิบดี (ราชทินนามในตำแหน่งเจ้าเมืองจันทบุรี) (หวาด บุนนาค เป็นเจ้าเมืองจันทบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๔ หลานปู่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ผู้ถือเป็นนักเรียนนอกรุ่นแรกๆ ของสยาม ไปเรียนวิชาทหารเรือที่สิงคโปร์ สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีและกลับมารัชราชการในกรมท่าสมัยรัชกาลที่ ๔) และมีจวนที่ทำการอยู่ริมคลองท่าสิงห์แถบบ้านลุ่ม เมื่อรับเมืองจันทบุรีคืนจากฝรั่งเศสก็ได้คืนกลับไปใช้ที่ทำการในเมืองจันทบูรเก่าสักพักหนึ่ง เมื่อมีการตั้งมณฑลเทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ จึงมีการสร้างจวนเทศาฯ หรือบ้านเทศาที่ทำการมณฑลบนเนินถนนตัดใหม่โดยพระยาตรังคภูมาภิบาล (ถนอม บุณยะเกตุ) และสร้างศาลากลาง ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๙