วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

(เผยแพร่ครั้งแรกในงานเสวนาสาธารณะที่ป้อมมหากาฬ เรื่อง “ชีพจรยังสั่นไหว ที่ตรอกละครฯ วัดแคนางเลิ้ง” วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๘) และสามารถอ่านในรูปแบบเอกสารออนไลน์)

ด้านตะวันออกของพระนครเมื่อต้นกรุงฯ ที่ทิศใต้ติดกับคลองขุดมหานาคคงมีสภาพเป็นทุ่งนาเป็นหล่มที่ลุ่ม และเป็นย่านที่ยังไม่มีผู้คนอาศัยอยู่มากนัก บริเวณนี้คงสภาพแบบชนบทที่ยังคงมีการเลี้ยงควายและการเลี้ยงหมูจนกลายเป็นย่านชุมชนที่สร้างวัดแล้วตั้งชื่อตามภูมินาม เช่น บ้านสนามควายมีวัดสนามควายหรือแค บ้านคอกหมูมีวัดคอกหมูหรือวัดมหายิ้ม มีชุมชนหมู่บ้านของชาวนครฯ พัทลุงและสงขลาเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมเมื่อสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

6004151

แผนที่ราว พ.ศ. ๒๔๔๐

ต่อมาเมื่อมีการขุดคลองผดุงกรุงเกษม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔-๕ เมื่อต้องการขยายเมืองออกไป บริเวณชุมชนที่ทุ่งสนามควายที่เคยอยู่นอกเมืองจึงกลายเป็นชุมชนภายในพระนครที่ขยายครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และกลายเป็นย่านการค้าใหม่สำหรับตลาดค้าขายทางฝากตะวันออกเมื่อครั้งปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยที่มีกลุ่มบ้านละคร ลิเก โขน และมหรสพพื้นบ้านอยู่ในบริเวณที่เรียกบ้านสนามควายเสียใหม่ว่า ‘ย่านนางเลิ้ง’

มูลเหตุของการโยกย้ายถิ่นฐาน
ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อกองทัพครั้งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ภายหลังเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์ ในครั้งรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นที่สมุหพระกลาโหมและกรมท่าเป็นแม่ทัพราว พ.ศ. ๒๓๗๕ กองทัพนำเจ้าเมืองมลายูที่ไม่สวามิภักดิ์เข้ามาจำไว้พร้อมกวาดต้อนครัวจำนวนหนึ่งมาอยู่ ณ กรุงเทพฯ

เจ้าเมืองดังกล่าวนั้นไม่ระบุแต่น่าจะเป็นเจ้าเมืองปาตานีเพียงเมืองเดียวจาก ๗ หัวเมือง ทายาททางฝ่ายลูกหลานเจ้าเมืองปัตตานีที่นำมาอยู่ ณ กรุงเทพฯ ครั้งต้นกรุงฯ จัดทำเอกสารระบุว่าทางตระกูลเชื้อสายเจ้าเมืองปาตานีมีถิ่นฐานแต่แรกอยู่บริเวณบ้านแขก แขวงสมเด็จเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน ส่วนชาวมลายูอื่นๆ ที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งรัชกาลที่ ๓ ครั้งนั้นให้เข้าสังกัดที่อาสาจาม, โรงไหม และบางส่วนไปสังกัดฝ่ายสังฆทาน ทำงานบุญให้กับเจ้าคุณตานี (เจ้าจอมมารดากรมหมื่นสุรินทรรักษ์, เป็นพี่สาวต่างมารดากับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะบิดาท่านยกทัพกลับมาจากราชการที่เมืองตานีครั้งรัชกาลที่ ๑, เหตุนี้อาจจะทำให้ชาวเมืองระแงะทั้ง ๑๗ คนนี้อาจจะเปลี่ยนเป็นชาวพุทธไปในที่สุด-ผู้เขียน, จดหมายหลวงอุดมสมบัติ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๔๕๘) และคงให้รวมกลุ่มอยู่อาศัยกับชาวมลายูในกรุงฯ แถบใกล้โรงไหมหลวงที่ติดกับวัดชนะสงครามซึ่งในเวลาต่อมาจึงแยกออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตรอกศิลป์บ้าง ขยายมาเป็นทางมัสยิดตึกดิน และขยายแยกออกไปนอกเมืองแถบริมคลองสี่แยกมหานาค ซึ่งมีกูโบร์สำหรับฝังศพ ซึ่งชุมชนมุสลิมภายในเมืองชั้นในต้องนำศพออกมาฝังที่นี่ตั้งแต่เริ่มต้นตั้งถิ่นฐานจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์เดียวกันในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ปีนั้นฝนแล้งข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านจากนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลาหาเลี้ยงชีพยากลำบากจึงมายอมตัวเข้าเป็นข้าในกองทัพจากพระนคร แล้วขอตามเข้ามายังกรุงเทพฯ จำนวนมาก มาพร้อมกับชาวมลายูเชลยซึ่งไม่ได้นำเข้ามามากนักเนื่องจากอยู่ในภาวะข้าวแพง ต่อมาเมื่อข้าวถูกลงแล้ว จึงโปรดให้ช่วยชาวบ้านที่กองทัพพาเข้ามาโดยชำระเงินค่าข้าวและค่าตัวแก่มูลนายเดิมเพื่อเป็นไพร่หลวงแทน แล้วให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านสนามกระบือเรียกว่า “ไพร่หลวงเกณฑ์บุญ” หัดให้เป็นช่างปูนศิลาเป็นอาชีพสืบไป (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ)

แสดงว่านอกจากการทัพที่กวาดต้อนเอาครัวเชลยมาไว้ที่กรุงฯ เป็นแรงงานไพร่ตามมูลนายต่างๆ แล้ว ก็ยังมีครัวชาวบ้านที่ติดทัพมาด้วยจากหัวเมือง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นับเป็นช่วงรัชกาลที่มีศึกสงครามมากและมีการเกณฑ์ครัวเข้ามาไว้เป็นแรงงานในกรุงฯ พร้อมทัพที่ยกกลับมามากเช่นกันในตลอดรัชกาล

ชาวบ้านที่กลายเป็นไพร่หลวง ทำงานให้กับพระมหากษัตริย์โดยตรงเมื่อเวลามีงานบำเพ็ญพระราชกุศล มีนิวาสถานเดิมอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง และเมืองสงขลาไปตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณทุ่งกว้างด้านตะวันออกของพระนคร ซึ่งน่าจะมีกลุ่มบ้านเชื้อสายพระยาพัทลุงอยู่แล้วในบริเวณที่เคยเป็นวังอีกด้านหนึ่งของถนนหลานหลวง (ตระกูลวัลลิโภดม โดยคุณปู่ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ก็ถูกเวนคืนที่ดินในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อใช้เป็นพื้นที่เพิ่มเติมของวังวรดิศเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๔)

บ้านสนามควายหรือบ้านสนามกระบือ ย่านละครดั้งเดิม
ด้านตะวันออกของพระนครเมื่อยังไม่ได้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม ก่อนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มไพร่หลวงเกณฑ์บุญในสมัยรัชกาลที่ ๓ พื้นที่บริเวณนี้ด้านทิศใต้ติดกับคลองขุดมหานาค ทางตะวันออกเป็นที่นากว้างสภาพพื้นที่เป็นทุ่งนาที่ลุ่ม ย่านที่อยู่อาศัยมีสองกลุ่มคือ ใกล้กับริมคลองมหานาคมีผู้คนอยู่อาศัยอยู่ตามริมคลอง ศูนย์กลางของชุมชนอยู่ที่ “วัดมหายิ้ม” หรือวัดสิตารามหรือวัดคอกหมูตามที่ชาวบ้านรอบๆ เรียกขานกันอย่างลำลอง ซึ่งวัดนี้เป็นพื้นที่ซึ่งเคยมีจีนเลี้ยงหมูอยู่มาก่อน และต่อมาพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชในรัชกาลที่ ๕ ทรงเปลี่ยนนามเป็น “วัดสิตาราม” ที่แปลโดยรวมว่า วัดมหายิ้มสร้าง

60041514

แผนที่ราว พ.ศ. ๒๔๗๔

ย่านสนามควายน่าจะอยู่ที่ “วัดแค” หรือวัดสุนทรธรรมทานในปัจจุบัน ซึ่งบริเวณฝั่งตะวันออกเป็นท้องทุ่งกว้างใหญ่ มีชุมชนอยู่ห่างๆ ต่อเนื่องไปจนถึงวัดโสมนัสวิหาร ทั้งวัดสิตารามและวัดแคมีเส้นทางน้ำขนาดเล็กที่ไม่มีชื่อเรียกเป็นแพรกแยกออกจากคลองมหานาคและขนานไปกับคลองจุลนาคที่อยู่ทางตะวันตะวันตก เชื่อมกับ “ตึกดิน” อีกแห่งหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าตึกดินภายในเมืองชั้นใน และต่อกับเส้นทางน้ำที่ไปยังวัดแค และเมื่อมีการขุดคลองผดุงกรุงเกษมก็มีเส้นทางน้ำออกเชื่อมต้อไปยังคลองรอบกรุงชั้นนอก ปัจจุบันยังพอเห็นร่องรอยทางน้ำนี้อยู่

ตามเอกสารสารบาญชีของกรมไปรษณีย์ยุคแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ เรียกถนนนครสวรรค์ว่าถนนสนามควาย แผนที่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เรียกว่าถนนนครสวรรค์แล้ว และในแผนที่นี้ยังไม่มีการสร้างถนนราชดำเนินที่สร้างใน พ.ศ. ๒๔๔๒ ส่วนถนนหลานหลวง ถนนจักรพรรดิพงษ์ตัดขึ้นในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕

ก่อนตัดถนนราชดำเนินจะเห็นว่าพื้นที่ของวัดปรินายก ที่เดิมชื่อวัดพรหมสุรินทร์ตามบรรดาศักดิ์ของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๒ และได้รับการทะนุบำรุงเรื่อยมาจนช่วงรัชกาลที่ ๓ ก่อนจะปล่อยทิ้งไปกว่า ๕๐ ปีจึงถูกเวนที่ดินเพื่อสร้างถนนราชดำเนิน มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก กินพื้นที่ตึกที่ทำการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นถนนราชดำเนินนอกจนจรดสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งจนถึงริมถนนนครสวรรค์ในปัจจุบันทีเดียว และเป็นถนนจากประตูพฤฒิบาศไปจรดยังสะพานเทวกรรมรังรักษ์ที่ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้วัดโสมนัสวิหารที่สร้างเสร็จในคราวเดียวกับการขุดคลองราว พ.ศ. ๒๓๙๕

แถบถนนสนามควายของตามเอกสารกรมไปรษณีย์ บันทึกว่ามีผู้คนอยู่อาศัยจำนวนไม่น้อย คงเป็นถนนลำลองที่ออกไปทางนอกเมืองทิศตะวันออกที่ยังเป็นทุ่งนาและสวน ต่อมาคงสร้างเพิ่มเติมเป็นถนนพฤฒิบาศเพราะออกจากประตูพฤฒิบาศที่รื้อไปเมื่อสร้างถนนราชดำเนินนอกและรื้อพระอุโบสถของวัดปรินายกเดิมไปด้วยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ และบริเวณนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของถนนนครสวรรค์หรือถนนพฤฒิบาศหรือ ‘ถนนสนามควาย’ ตามที่เคยเรียกในเอกสารของกรมไปรษณีย์

ถนนสนามควายสายนี้มีบ้าน “คนละคร” แจ้งไว้อยู่หลายบ้าน เช่น อำแดงปาน บุตรนายบาน ขึ้นสมเด็จเจ้าพระยา เป็นคนละคร เรือนเครื่องผูก, อำแดงอิน บุตรนายอิน ขึ้นจะหมื่นอินประภาษในพระราชวังบวร เป็นคนละคร โรงแตะ, นายพ่วง บุตรขุนรัก ขึ้นกรมพระบำราบปรปัก เป็นคนละคร โรงแตะ เป็นต้น
ส่วนบ้านที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นคนละคร ก็มีอาชีพช่างปูน เป็นไพร่หลวงเกณฑ์บุญที่สืบมาแต่รัชกาลที่ ๓ บ้าง ทอผ้าขายบ้าง เป็นช่างเขียน ช่างสลัก ช่างไม้บ้าง เป็นจีนขายเหล้าแทรกอยู่บ้าง เป็นข้าราชการทำตำแหน่งสมุหบัญชีบ้าง เป็นขุนนางพวก หลวง, ขุน, หมื่น หลายท่าน เป็นหม่อมเจ้าในพระราชวังบวรฯ บ้าง หม่อมราชวงศ์บ้าง ส่วนชื่อที่ดูจะเป็นชื่อของผู้คนที่มีพื้นเพมาจากทางใต้ก็พบมาก เช่น เอียด, นุ้ย, น้อย, หนู เป็นต้น

แผนที่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ดังกล่าวยังไม่มีการสร้างตลาดนางเลิ้ง ที่เปิดเป็นทางการ พ.ศ. ๒๔๔๓ แต่พบว่าแนวพื้นที่ของวัดแคหรือวัดสนามควายหรือวัดสนามคอกกระบือหรือคอกควาย มุมส่วนหนึ่งเกือบจะประชิดแนวถนนที่ตัดใหม่คือถนนนครสวรรค์ ภายหลังมีการก่อสร้างเป็นอาคารเรือนแถวตึกและตลาดแบบฝรั่งที่มีหลังคาคลุมกลายเป็นตลาดนางเลิ้งย่านเศรษฐกิจทางฝั่งตะวันออกอีกแห่งหนึ่งของพระนคร เป็นการขยายเมืองออกไปให้ชนกับแนวคลองเมืองชั้นนอกที่ในยุคนั้นก็กลายเป็นเขตทุ่งนา เรือกสวนและคูคลองแบบชนบท และยังคงเป็นอยู่ต่อมาอีกระยะหนึ่ง

ตลาดและตึกแถวน่าจะกินพื้นที่ของวัดแคส่วนหนึ่ง คั่นด้วยถนนที่เรียกกันต่อมาว่า “ถนนพะเนียง” เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ คนในแถบนี้ยังบอกว่าเป็นถนนโคลนแคบๆ น้ำท่วมเสมอๆ และมีย่านโคมเขียวที่เรียกว่าตรอกสะพานยาวซึ่งต่อกับทางเข้าโรงภาพยนต์เฉลิมธานีที่สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ จนถึงราว พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงเริ่มลาดยาง ถนนพะเนียงตัดผ่านถนนนครสวรรค์ซึ่งฝั่งหนึ่งคือถนนหลานหลวงและยาวไปจรดถนนราชดำเนินที่หัวมุมมีร้านลิขิตไก่ย่างและสนามมวยราชดำเนิน

วัดแคเป็นวัดของชาวบ้านในละแวกนี้ คนในตลาดนางเลิ้งไม่น้อยที่มีเชื้อจีนก็ทำบุญและเก็บอัฐิไว้ที่วัดแค นอกจากนั้นก็เป็นชาวบ้านที่เคยอยู่อาศัยหรือยังอยู่อาศัยอยู่รอบๆ

ฝั่งด้านใต้ของวัดแคมีกลุ่มชุมชนบ้านเก่า ประชิดจนถึงแนวริมถนนหลานหลวง กลุ่มบ้านนี้คือตรอกละครที่สืบเชื้อสายไปถึงกลุ่มชาวบ้านจากเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลาที่อพยพมาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ และยังมีคนสืบทอดคณะละครชาตรี วงปี่พาทย์ รำละคร ลิเก รวมถึงบ้านที่เป็นคณะละคร ซึ่งยังคงมีอยู่และมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน

ทำความรู้จักละครชาตรี
ละครชาตรีโดยนิยามของราชบัณฑิตกล่าวว่า เป็นละครต้นแบบของละครรำ เล่นกันเป็นพื้นบ้านทั่วไป มีตัวละครน้อย เดิมเป็นชายล้วน ตัวละครที่ไม่สำคัญมักไม่แต่งตัวยืนเครื่อง กระบวนรำไม่สู้งดงามประณีตนัก
ทุกวันนี้ผู้คนคงไม่คุ้นเคย บางคนรู้จักเพียงการแสดงเป็นละครแก้บนที่ศาลหลักเมืองหรือศาลพระพรหมเอราวัณ เป็นตอนสั้นๆ หรือการรำเป็นชุดๆ ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ ศาลพระพรหมเอราวัณ กรุงเทพฯ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา และวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี

ผู้รู้ทางด้านนาฎศิลป์และดนตรีหลายท่านให้ความเห็นไว้ว่า ละครชาตรีและละครแก้บนคือละครนอกแบบดั้งเดิม (สุจิตต์ วงษ์เทศ. มติชนรายวัน ฉบับประจำวันพุธที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๕.) ส่วนการแสดงละครชาตรีแบบเดิมที่พัฒนามาจากการแสดงโนราแบบทางใต้ยังคงมีสืบทอดที่ลูกหลานบางท่านของคณะครูพูน เรืองนนท์ที่ย่านตรอกละครและละครชาตรีเมืองเพชรหลายคณะ (สุรพล วิรัฬห์รักษ์, ละครชาตรี, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เรื่องที่ ๖ เล่มที่ ๓๒.)

มหรสพในยุคต้นกรุงฯ ถือว่าในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยถือว่าเป็นยุคฟื้นฟูทั้งละครในและละครนอกที่สืบมาแต่กรุงศรีอยุธยา พระองค์ท่านทรงเลือกเรื่องละครนอกเฉพาะตอนที่น่าเล่นละคร ซึ่งมักเป็นเรื่องการพลัดพราก ชิงรักหักสวาทอันเป็นการสอนธรรมะไปในตัว นำมาจากชาดกนอกนิบาต ๕๕๐ เรื่องหรือในปัญญาสชาดกหรือชาดก ๕๐ เรื่องที่ถูกนำมาประพันธุ์อย่างแพร่หลายไปทั่วภูมิภาคในอดีต มาทรงพระราชนิพนธ์บทใหม่ให้ละครหลวงเล่น ๕ เรื่อง คือเรื่อง สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ มณีพิไชย ไกรทอง และคาวี ต่อมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แม้ไม่โปรดเรื่องละคร ละครหลวงจึงเลิกราไปตลอดรัชกาล แต่กลับออกมาเฟื่องฟูตามวังเจ้านายตลอดจนขุนนางคหบดี แต่ก็มิได้ทรงหวงห้ามผู้อื่นมิให้มีละคร บางพระองค์บางท่านจึงแอบมีละครผู้หญิงตามแบบอย่างละครหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็คงจะทรงทราบ แต่มิได้ห้ามปรามแต่อย่างใด

เช่น กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ก็ทรงมีละครของท่านในช่วงรัชกาลที่นี้ ละครของท่านหัดรำตามแบบอย่างละครหลวงเช่นท่านผู้อื่น แต่โปรดเรื่องละครนอก จึงทรงแต่งบทละครนอกขึ้นอีก ๓ เรื่องคือ สุวรรณหงส์ ๑ นางแก้วหน้าม้า ๑ และนางกุลา ๑ ปรากฏว่า บทละครนอกของ พระองค์เจ้าทินกร หรือกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ เป็นที่แพร่หลายมากจนถึงบัดนี้ ไม่ว่าเรื่องนางแก้วหน้าม้า มณีพิไชย (นางยอพระกลิ่น) สุวรรณหงส์ นางกุลา ซึ่งพวกละครนอกหรือที่เรียกกันว่าละครชาตรีนิยมเล่นกันมากไม่แพ้เรื่องสังข์ทอง ไชยเชษฐ์ หลวิชัยคาวี และไกรทอง มีบทด่าว่ากันอย่างถึงอกถึงใจชาวบ้าน (จุลลดา ภักดีภูมินทร์. การละครในรัชกาลที่ ๒, เวียงวัง, ๒๕๔๕.)

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ทรงออกประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ มีพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนฝึกหัดละคอนผู้หญิงกันได้อย่างเปิดเผย และมีความนิยมเฟื่องฟูจนเกิดคณะละครมากมาย ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เก็บอากรมหรสพซึ่งเป็นการเก็บภาษีแบบใหม่หนึ่งใน ๑๔ ประเภท เป็นอากรผูกขาดที่ให้นายอากรประมูลขอรับผูกขาดจัดแสดงและนำส่งรายได้ให้กับหลวง

ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงละครเฟื่องฟู เริ่มมีการสร้างโรงละครเก็บค่าชมเป็นครั้งแรก จนเกิดศัพท์คำว่า “วิก” แต่เดิมมีแต่ละครนอกให้ชาวบ้านดู ส่วนละครในสำหรับเจ้านายและชาววัง ต่อมามีการนำแบบอย่างตะวันตกมาพัฒนาการละครไทย เกิดเป็นละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ ละครร้องหรือละครปรีดาลัย มีคณะละครทั้งของเจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ คณะละครจากต่างประเทศหรือชาวต่างประเทศในไทย และคณะละครชาวบ้านเกิดใหม่อีกหลายคณะ และคณะลิเกก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างละครนอกผสมกับการเริ่มต้นบทสวดสรรเสริญพระเจ้าของชาวมลายู
ความหมายโดยย่อของละครประเภทต่างๆ ดังเช่น

ละครใน เป็นละครที่เกิดขึ้นในพระราชฐานจึงมีระเบียบแบบแผนและสุภาพ เพลงร้อง เพลงดนตรี ดำเนินจังหวะค่อนข้างช้าอ่อนช้อยสวยงาม ดนตรีใช้วงปี่พาทย์จะเป็นวงเครื่องห้าเครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่ก็ได้ การแสดงมีคนบอกบท ต้นเสียง ลูกคู่ การเล่นตลกจึงเกือบจะไม่มีเลย

ละครนอก  ตัวละคร มีตัวละครมาก ใช้วงปี่พาทย์จะเป็นเครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ได้ทั้งสิ้น โรงละครสร้างง่ายๆ มีฉากเป็นผ้าม่าน มีประตูเข้าออกหลังฉากเป็นที่แต่งตัว และสำหรับให้ตัวละครพัก หน้าฉากเป็นที่แสดงตั้งเตียงตรงกลางหน้าฉาก การแต่งกายเลียนแบบเครื่องต้นของกษัตริย์ การแสดง มีคนบอกบท มีต้นเสียงและลูกคู่สำหรับร้อง จังหวะของการร้องและการบรรเลงดนตรีค่อนข้างเร็ว ไม่มีการไหว้ครู เรื่องที่ละครนอกแสดงได้สนุกสนานเป็นที่นิยมแพร่หลาย ละครนอกรำเอง ร้องเอง ง่ายๆ สั้นๆ เน้นบทพูดเจรจาตลกคะนอง

6004152

การแสดงละครนอกที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๓

ต่อมามีละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ ไปจนถึงละครปรีดาลัยซึ่งเป็นคณะละครของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ที่นำเอาแบบอย่างละครแบบตะวันตกเข้ามาปรับการแสดง ใช้เนื้อเรื่องสนุกสนานเข้าใจง่าย ดำเนินเรื่องรวดเร็ว ไม่มีท่ารำมาก การแต่งกายและฉากเน้นสมจริงตามเรื่อง เริ่มด้วยแนะนำตัวละครสำคัญ บอกอายุ ตำแหน่ง อุปนิสัย ความสามารถ บอกชื่อชุด บรรยายฉาก แล้วเข้าเรื่อง บอกบทพูดสลับร้องโดยลูกคู่ ตอนจบให้ข้อคิด ตัวแสดงเป็นหญิงล้วนถือว่าได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงและผู้มีฐานะดี เมื่องทรงเลิกทำละครนั้นได้ประพันธ์ละครร้องเหล่านี้กว่า ๗๐๐ เรื่อง และแพร่หลายไปตามคณะละครร้องที่ไปเปิดการแสดงตามหัวเมืองจำนวนมากจนกลายเป็นงานธุรกิจที่สำคัญและต่อเนื่องจนถึงการเกิดธุรกิจภาพยนตร์และโรงหนังในเวลาต่อมา

จนกระทั่งความนิยมในละครซบเซาลงในช่วงรัชกาลที่ ๗ ที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ถือว่ามีผลกระทบต่ออาชีพละครมาก เมื่อสมัยช่วงนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการแสดง ละคร พุทธศักราช ๒๔๘๕ เพื่อจัดระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน ทำให้ผู้จัดแสดงละคร การละเล่นต่างๆ ต้องขออนุญาตจากพนักงานของกรมศิลปากรก่อนการแสดงทุกครั้ง ผู้แสดงและผู้จัดต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขของระเบียบการกรมศิลปากรว่าด้วยการขออนุญาตและการควบคมุการแสดงละครต้องยื่นใบคำร้องของอนุญาตแสดงพร้อมด้วยบทประพันธ์และชื่อนามสกุลของผู้แสดงต่อกรมศิลปากรก่อนการแสดงครั้งแรกไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน และสถานที่ทำการแสดงละครต้องเป็นที่เหมาะสมไม่เสื่อมเสียต่อวัฒนธรรมหรือขัดต่อสุขภาพสุขภาพของผู้ชม

และผู้แสดงละครอาชีพทุกประเภทจะต้องมีใบประกาศนียบัตรหรือใบสำคัญที่กรมศิลปากรออกให้ว่าเทียบเท่าศิลปิน โดยกรมศิลปากรทำหน้าที่อบรมให้ความรู้แก่ศิลปินเพื่อให้ผ้แูสดงละครทุกประเภทสามารถแสดงละครของตนได้อย่างเป็นมาตรฐานไม่ผิดเพี้ยนหรือแสดงความไร้อารยะ ผู้ที่จะเข้ารับอบรบควรมีความรู้พื้นฐานมาบ้าง หากไม่มีกรศิลปากรจะให้ทดลองแสดงละครให้ดูก่อนแล้วจึงพิจารณาว่าสมควรรับเข้าอบรมหรือไม่ วิชาที่เปิดอบรมศลิปินในการอบรบใช้เวลาไม่ต่ากว่า ๔๘ ชั่วโมง และอบรมไม่เกิน ๙๐ วัน ผู้ที่ได้รับอบรมตามกำหนดแล้ว กรมศิลปากรจะจดั สอบความรู้ หากผู้ใดได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของวิชาทั้งหมด กรมศิลปากรจะออกใบประกาศนียบัตรหรือใบเทียบเท่าศิลปินให้

เหตุนี้ทำให้เกิดผลกระทบไปทั่วทุกสาขาการแสดงพื้นบ้าน และมีผู้เลิกทำอาชีพแสดงละคร โนรา ลิเกไปมากเช่นกัน และพระราชกฤษฎีกานี้ยกเลิกไปเมื่ออีก ราว ๔ ปี่ผ่านไป

แหล่งเริ่มแรก ละครชาตรีกลุ่มบ้านย่านสนามควาย
มีคณะละครชาตรีพัฒนามาจากคณะโนราชาตรีจากนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลาที่ติดตามทัพครั้งรัชกาลที่ ๓ เข้ามายังกรุงเทพฯ ตั้งเป็นคณะละครรับจ้างแสดงซึ่งใช้คนในครอบครัวเป็นหลักจนเป็นที่นิยม โดยปรับรูปแบบการแสดงให้เข้ากับรสนิยมของผู้ชมในกรุงเทพฯ แม้ในรัชกาลนั้นจะไม่ส่งเสริมการเล่นละครนักแต่ก็ไม่ได้ห้ามปรามและยังคงมีการแต่งละครเพื่อเล่นกับละครนอกหลายเรื่อง เผยแพร่ไปสู่ชาวบ้านในพระนคร จนเมื่อราว ๒๐ ปีต่อมาในรัชกาลที่ ๔ หลังจากชาวใต้เข้ามาอยู่อาศัยที่ย่านสนามควาย ละครนอก ละครพื้นบ้านต่างๆ จึงได้รับความนิยมมากจนถึงขั้นต้องมีการเก็บอากรมหรสพคณะละครต่างๆ ทีเดียว
การแสดงของละครนอกจึงนำมาผสมผสาน เช่น ดนตรี ปี่พาทย์ ทำนองเพลง การร้อง การรำ การแต่งกาย นักแสดงโนราที่เป็นผู้ชายเปลี่ยนมานุ่งผ้าเหมือนอย่างละครนอก แต่ยังคงรักษาแบบแผนของโนราคือ สวมเทริด สวมกำไลมือข้างละหลายอันและสวมเล็บแต่ไม่สวมเสื้อ และการสวมเล็บก็ค่อยๆ หมดไป

บ้านละครในย่านถนนสนามควายก่อนครูพูนเกิดมี ๒-๓ บ้านที่บันทึกไว้ เช่น อำแดงปาน อำแดงอิน นายพ่วง เป็นต้น คงเป็นบ้านเล่นละครชาตรีที่รู้จักกันในราว พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นหลักฐานว่ากลุ่มบ้านละครนั้นมีอยู่หลายครอบครัว หลายบ้าน และเป็นย่านเล่นละครชาตรีสืบมา

คณะละครชาตรีสายบ้านเรืองนนท์เป็นที่รู้จักกว้างขวางในสมัยครูพูน เรืองนนท์ ที่สืบเชื้อสายมาจากพระศรีชุมพล (ฉิม) ข้าราชการในเมืองนครศรีธรรมราช มีลูกชายมาเป็นไพร่หลวงเกณฑ์บุญย้ายมาอยู่ที่บ้านสนามควายครั้งรัชกาลที่ ๓ และรวมกับนายขำ นายจัน นายธูป ตั้งคณะละครชาตรีตามแบบเมืองนครฯ รับเหมาแสดงละครต่างๆ จนเป็นที่นิยม มีลูกชายคือนายนนท์ และหลานชายคือครูพูน เรืองนนท์เกิดเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๓๔ ที่นครศรีธรรมราช ซึ่งแสดงว่ากลุ่มผู้ที่ถูกกวาดต้อนบางกลุ่มสามารถเดินทางติดต่อกับภูมิลำเนาเดิมได้โดยไม่ได้จากลาเด็ดขาด แต่สามารถเชื่อมร้อยถิ่นฐานเดิมกับการตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ และน่าจะมีกรณีคล้ายกันนี้อีกหลายกรณี

6004154

ครูพูน เรืองนนท์

ครูพูน เรืองนนท์ มีโอกาสกลับไปยังนครศรีธรรมราชเมื่ออายุราว ๘ ขวบ แล้วไปฝึกหัดเชิดหนังตะลุง โนรา ใช้การเชิดหนังเป็นภาษาใต้แต่บทพูดเป็นภาษากลาง เป็นคณะหนังตะลุงแบบทางใต้ในกรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ขณะเดียวกันก็รับเล่นละครชาตรีทุกวันเพราะเป็นที่นิยมและแสดงในงานแก้บนเป็นหลัก บางครั้งก็แสดงที่บ้านตนเองเพราะไม่ใช่มหรสพเพื่อคนดู แต่เพื่อการทำพิธีกรรมแก้สินบน คณะครูพูน เรืองนนท์ถือว่ามีค่าตัวทั้งละครชาตรีแพงมากกว่าคณะอื่นๆ ราว ๓ เท่า เพราะถือว่าเป็นคนมีฝีมือ รับการสืบทอดมาจากคณะโนราทางใต้ในรุ่นใหม่ๆ กว่าคณะละครอื่นๆ ที่ถูกปรับให้เป็นการแสดงกึ่งละครนอกไปแล้ว เนื่องจากครูพูน เรืองนนท์ มีภรรยาและบุตรหลานจำนวนมาก จึงแตกสายเป็นคณะละครอีกหลายคณะในเวลาต่อมา เช่น คณะครูทองใบ เรืองนนท์ รุ่นหลานบัวสาย เรืองนนท์ คณะกนกพร ทิพโยสถ

ครูมนตรี ตราโมทบันทึกไว้ว่า ราวสมัยรัชกาลที่ ๖ มีผู้นำเอาละครชาตรีกับละครนอกมาผสมกัน เรียกว่าละครชาตรีเข้าเครื่องหรือละครชาตรีเครื่องใหญ่ ใช้ดนตรีของละครชาตรีผสมกับวงปี่พาทย์ของละครนอก คือ ใช้ปี่ในโทน กลองตุ๊ก ฉิ่งและกรับ ต่อมามีการใช้ระนาดมาเดินทำนองแทนปี่ เพราะหาคนเป่าปี่ได้ยาก จนกลายเป็นวงปี่พาทย์ชาตรีที่มีการใช้ฆ้องวงและตะโพนเข้ามาเสริมอยู่บ้าง

ในขณะเดียวกันก็มีการสืบสายละครในครอบครัวอื่นๆ เช่น คณะจงกล โปร่งน้ำใจ ที่เกิดในตรอกละครนี้แต

สืบเชื้อสายละครชาตรีมาจากตระกูลอากาศโปร่ง ที่อพยพมาจากพัทลุงในช่วงรัชกาลที่ ๓ และจากย่าทางอำเภอท่าเรือ พระนครศรีอยุธยา และรับงานประจำเป็นละครรำแก้บนที่ศาลพระพรหมเอราวัณ
นอกจากนี้ยังมีละครทางบ้านฝั่งถนนดำรงรักษ์ที่เป็นคณะโขน ละครรำ ลิเกจากสายฝ่ายหญิงที่เคยอยู่ทางตรอกละคร หลานหลวงอย่างน้อยก็น่าจะมีถึงสองคณะ

ละครชาตรีเมืองเพชร
คณะละครชาตรีที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดเพชรบุรีคือ คณะนายสุข จันทร์สุข หรือ คณะหลวงอภัยพลรักษ์ ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ. ๒๓๗๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ นายสุข จันทร์สุข เกิดในช่วงราวรัชกาลที่ ๓ เคยติดตามคณะละครเมืองเพชรไปแสดงหลายคณะ และได้ไปฝึกแสดงละครชาตรีที่หลานหลวง ซึ่งทางลูกหลานของครูพูน เรืองนนท์กล่าวว่ามาหัดที่บ้านครูพูน ที่ตรอกละคร แล้วจึงกลับไปถ่ายทอดต่อๆ กัน ดังนั้น ละครชาตรีเมืองเพชรจึงได้แบบแผนการแสดงละครชาตรีแบบดั้งเดิมที่เป็นมหรสพกึ่งพิธีกรรมแก้บนไปจากคณะครูพูน เรืองนนท์ มากกว่าที่จะเป็นการแสดงละครชาตรีเครื่องใหญ่แบบละครนอก

ครั้งรัชกาลที่ ๔ เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระนครคีรี ละครของนายสุขได้มีโอกาสแสดงถวาย โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอภัยพลรักษ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเสด็จไปประทับที่เมืองเพชรบุรี ทรงสนับสนุนการแสดงละครชาตรี ทรงมอบหมายเจ้าคุณจอมมารดาเอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จากวังหน้าเป็นผู้ถ่ายทอดท่ารำให้คณะละครเมืองเพชรบุรี จึงเกิดการผสมผสานกับละครของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เจ้าเมืองเพชรบุรีที่มอบหมายให้หม่อมเมืองบุตรีของหลวงอภัยพลรักษ์เป็นผู้ได้รับการฝึกหัดละครแบบละครหลวงในครั้งนั้น และแบบแผนของหม่อมเมืองที่สืบมาจากละครหลวงอภัยพลรักษ์และละครนอกจากวังหน้านี้เป็นรากฐานการรำของละครชาตรีเพชรบุรีทุกคณะ

6004155

ละครชาตรีเมืองเพชรบุรี รุ่งเรืองจนมีหลายคณะ เช่น คณะหลวงอภัยพลรักษ์ คณะหลวงทิพย์อาชญา คณะตาไปล่ คณะยายปุ้ย และคณะบางแก้วซึ่งคณะนี้ได้รับอิทธิพลโนราของจังหวัดชุมพร ทำให้ได้รับความนิยมมาก
หม่อมเมืองจึงได้ย้ายไปอยู่กับบุตรชายซึ่งเป็นนายอำเภออยู่ที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด และอาจเป็นไปได้ที่นำเอาการแสดงละครชาตรีไปเผยแพร่ทางภาคตะวันออกด้วย เพราะมีการเล่นรำแก้บนและเล่นละครชาตรีในพื้นที่ ๓ จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด ซึ่งในจังหวัดจันทบุรีเรียกกันว่าละครเท่งตุ๊ก
การถ่ายทอดละครชาตรีสายหม่อมเมืองยังคงสืบสานต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายหม่อมเมืองโดยตรงที่ยังคงใช้นามสกุลจันทร์สุข ที่ยังคงดำเนินรอยตามบรรพบุรุษ ทั้งที่เป็นลูกหลานโดยตรงและเป็นเขย สะใภ้

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจในงานวิจัยเรื่องละครชาตรีว่ามีคณะละครชาตรีและคณะรำแก้บนแพร่ไปทั่วในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออกและตะวันตก นอกเหนือไปจากกรุงเทพมหานครและเพชรบุรีคือจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งลิเก ปีพาทย์และละครมาแต่เดิมด้วย ได้แก่ อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ตราด และราชบุรี

ละครชาตรี กรมศิลปากร
ราว พ.ศ. ๒๔๙๘ กองการสังคีต กรมศิลปากร โดยอาจารย์มนตรี ตราโมท นำเอาแบบแผนจากการแสดงละครชาตรีจากครูพูน เรืองนนท์มาปรับเป็นละครชาตรีของกรมศิลปากร (สัมภาษณ์ บุญสร้าง เรืองนนท์, ๒๔/๐๗/๕๘) ต่อมาจึงจัดให้มีการแสดงละครชาตรีที่โรงละคอนศิลปากรแบบปรับปรุงใหม่ทั้งหมดแบบงดงามตระการตา ๒ เรื่อง คือ มโนราห์ และรถเสน

ละครชาตรีที่กรมศิลปากรจัดแสดงอาจเรียกว่า ละครชาตรีเครื่องใหญ่ เนื่องจากมีครบเครื่อง ทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี เพลง การฟ้อนรำ และระบำต่างๆ นอกจากนี้ยังมีฉาก การชักรอก แสงสี นำมาใช้แสดงในหลายๆ โอกาสจนถึงปัจจุบัน

พิธีกรรมกึ่งมหรสพ : การแสดงละครชาตรีแก้บน
ปัจจุบันการแก้บนแถบจังหวัดภาคกลางส่วนใหญ่มักเปลี่ยนไปใช้ลิเกแทน เพราะติดต่อได้ง่ายกว่าและมีจำนวนคณะมากกว่า แต่ยังมีเจ้าภาพที่จัดหาละครชาตรีไปแสดงแก้บนอยู่บ้าง การแสดงกลายเป็นละครนอกเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ละครชาตรีแบบดั้งเดิมยังคงมีการแสดงอยู่บ้างที่จังหวัดเพชรบุรี

การแสดงละครชาตรีแก้บนมีธรรมเนียมการแสดงแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ พิธีกรรมโหมโรงบูชาครูเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแสดงละคร และพิธีลาโรง มีราละเอียดแต่ละขั้นตอนคือ

เช้า  ทำพิธีทำโรง, บูชาครู, โหมโรง, ร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์, รำถวายมือ, ประกาศโรง, รำซัดชาตรี, แสดงละคร, ลาเครื่องสังเวย

บ่าย ทำพิธีโหมโรง, ประกาศโรง, แสดงละคร และปิดการแสดง, พิธีลาโรง

ขั้นตอนการแสดงมักขึ้นอยู่กับสถานที่ที่จัดแสดง หากเป็นการแสดงแก้บนที่บ้านของเจ้าภาพซึ่งปลูกโรงสำหรับทำการแสดงก็มักมีขั้นตอนเต็มรูปแบบ แต่จะตัดบางขั้นตอนออกไป เช่น พิธีทำโรง รำถวายมือ หากเป็นการแสดงแก้บนตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี จะรำกันภายในวิหารหรือหน้าประตูวิหาร ส่วนการแสดงละครจะแสดงในศาลาหน้าวิหาร

ต้นบทจะอ่านบทจากสมุดจดบทละครด้วยเสียงดัง แต่บางครั้งก็ตะโกนบอกได้โดยไม่ต้องอ่าน เพราะจำบทได้ เมื่อต้นบทตะโกนบอกบทในวรรคแรก ก็จะบอกทำนองเพลงที่จะใช้ร้องตามแบบแผนของละครนอก ระนาดเอกจะขึ้นต้นเป็นทำนองหรือที่เรียกว่าขึ้นเท่า จากนั้นผู้แสดงจะร้องตามบท การร้องเพลงทำนองชาตรีก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการร้องเพลง ๒ ชั้น แต่ช่วงท้ายวรรคมีการร้องรับ ๒-๓ ครั้งตามทำนองชาตรี ต้นบทและผู้แสดงที่พักอยู่ทำหน้าที่ลูกคู่ร้องรับจนจบเพลง วงดนตรีหรือวงปี่พาทย์สำหรับละครชาตรี ประกอบด้วย ปี่ ระนาดเอก ตะโพน กลองตุ๊ก โทนชาตรี ๑ คู่ กรับไม้ไผ่ ๓-๔ คู่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก

เพลงที่ใช้ร้องเป็นเพลงสองชั้นตามธรรมเนียมของละครนอก ผู้แสดงมีวิธีการเจรจา ๒ แบบ แบบแรกเป็นการเจรจาซ้ำคำร้อง เมื่อตัวละครร้องเพลง ๑ รอบ แล้วปี่พาทย์บรรเลงรับ ระหว่างนั้นก็เจรจาเป็นร้อยแก้วซ้ำคำร้องที่เป็นบทกลอนเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจมากยิ่งขึ้น อีกแบบหนึ่งเป็นการเจรจาสด ด้วยคำพูดธรรมดาอย่างละครพูด ซึ่งมักใช้ในฉากอิจฉาริษยา โดยผู้แสดงจะร้องตามบท ๑ เพลงก่อน จากนั้นก็เจรจาสด

การรำแบบละครชาตรีเป็นการรำทำบทอย่างละครนอก แต่อาจเรียกว่า รำเป็นทีไม่ใช่รำเป็นท่า กล่าวคือ เมื่อผู้แสดงร้องบทด้วยตนเองแล้วก็จะรำพอเป็นที โดยกรายมือและแขนไปมาระหว่างร้อง และออกท่ารำทำบทเป็นบางคำ หรือบางวรรค จุดเด่นของการรำแบบละครชาตรีคือ การทรงตัวแบบแอ่นอกตึง ก้นงอน ยืนย่อเข่าเล็กน้อย และวงแขนเปิดกว้าง การกระทบจังหวะในเวลาย้ายน้ำหนักจากขาข้างหนึ่งไปยังขาอีกข้างหนึ่ง และการก้าวเดิน จะใช้การย่ำเท้า ไม่ใช้การข่มเข่าเหมือนอย่างละครนอก สำหรับตัวนางอิจฉามีการร่ายรำออกจริตดีดดิ้น ยักเอว ยักไหล่ และสะบัดหน้าตา นอกจากนี้ยังมีวิธีรำอีกคือ การจีบมือ การนั่ง และการเวียนโรง
การจีบมือของละครชาตรีมีลักษณะพิเศษคือ เริ่มด้วยการตั้งมือ แล้วม้วนมือพร้อมจีบไปจบที่ท่าตั้งมืออีกครั้ง ในขณะที่จีบนั้น เอานิ้วโป้งแนบกับด้านข้างของนิ้วชี้ และเลื่อนนิ้วโป้งมาจรดปลายนิ้วชี้ แล้วคลายนิ้วทั้งสองออกเป็นท่าตั้งมือ สำหรับการนั่งบนตั่งของตัวละคร ๒ ตัว จะนั่งหันหน้าเข้าหากันแบบละครรำดั้งเดิม แต่ปัจจุบันหันหน้ามาทางผู้ชมทั้งคู่ การเวียนโรง คือ การเปลี่ยนฉาก หรือสถานที่ ซึ่งละครชาตรียังคงรักษาธรรมเนียมเดิมไว้คือ ตัวละครร้องบอกสถานที่ที่จะไป ส่วนปี่พาทย์ทำเพลงเชิด สำหรับการเดินทางอย่างเร่งรีบ ตัวละครก็เดินเวียนซ้ายรอบโรงมาหยุดตรงหน้าตั่ง แล้วยกมือขวาขึ้นทำท่าป้องคือ จีบขวาเสมอหน้าผากเป็นสัญญาณให้ปี่พาทย์หยุดบรรเลง จากนั้นก็ร้องบอกผู้ชมว่า ตนได้มาถึงยังที่ซึ่งได้ร้องบอกไว้ในฉากที่ผ่านมา ธรรมเนียมนี้ทำให้ดำเนินเรื่องไปได้อย่างรวดเร็ว

การแสดงแก้บน ไม่คำนึงถึงจำนวนของผู้ชมนัก โรงละครชาตรีจะมีเสื่อปูกับพื้นดินขนาดประมาณ ๔x๔ เมตร ด้านหนึ่งเป็นตั่งที่นั่งแสดงได้ ๓-๔ คน หันหน้าไปในทิศทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะแสดงแก้บนถวาย ด้านซ้ายมือของผู้แสดงวางตั่งไว้ บนตั่งหรือข้างตั่งเป็นที่ตั้งศีรษะฤษีภรตมุนี ครูละคร ที่เรียกว่า “พ่อแก่” ส่วนด้านขวามือของผู้แสดงเป็นที่ตั้งลุ้ง คือ ภาชนะโลหะสำหรับใส่ชฎากับหัวโขน และถังคลีที่ใส่อาวุธต่างๆ อันเป็นธรรมเนียมที่หลงเหลือมาแต่เดิมของการแสดงโนรา

ตัวละครชาตรีแบ่งเป็น ๔ กลุ่มคือ ตัวพระ ตัวนาง ตัวอิจฉา และตัวตลก ส่วนตัวโกงนั้นใช้ตัวตลกแสดง ทั้งตัวพระและตัวนางแต่งกายรัดเครื่องแบบละครนอก ตัวตลกแต่งแบบพื้นบ้าน ส่วนตัวละครที่เป็นอมนุษย์ เช่น ยักษ์ ม้า จะสวมหัวโขนบนศีรษะ แต่เปิดหน้าให้ร้องและเจรจาเองได้ การแต่งหน้าทารองพื้น เขียนคิ้ว เขียนขอบตา ทาเปลือกตา ผัดแป้งที่ใบหน้าและลำคอ ทาแก้มสีอมชมพู ทาปากสีแดงสด ตัวนางอิจฉาจะแต่งหน้าเข้มกว่าตัวอื่นๆ ส่วนตัวตลกซึ่งเป็นผู้ชายหรือบางครั้งก็เป็นสตรีสูงวัยใช้แป้งประบนใบหน้า อาจเขียนคิ้วและหนวดให้ดูตลกขบขัน

คณะละครชาตรีไม่ใช่คณะละครเต็มรูปแบบ แต่เป็นกลุ่มเครือญาติ ละครชาตรีคณะหนึ่งจะมีหัวหน้าคณะ หรือโต้โผที่เป็นต้นบท และเป็นเจ้าของเครื่องละคร รวมทั้งอุปกรณ์การแสดง ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการรับงานแสดง และการรวบรวมผู้แสดงที่เป็นเครือญาติ หรือเรียกมาจากคณะอื่น หรือจัดหาผู้แสดงอิสระมาร่วมแสดง

คนตรอกละคร
ทุกวันนี้ในตรอกละคร นอกจากบ้านลูกหลานของครูพูนแล้ว คนในตรอกกล่าวว่ามีบ้านคณะละครอยู่อีกเพียง ๓ หลังที่ไม่ใช่ญาติกัน หากพิจารณาในแผนที่ครั้ง พ.ศ. ๒๔๗๔ จะเห็นว่าบริเวณที่เป็นตรอกละครทางด้านใต้ของวัดแคหรือวัดสุนทรธรรมทานมีบ้านไม้อยู่เป็นกลุ่มๆ หลายหลังมากกว่านี้ ย่านละครสืบทอดมาจากคนละครในสมัยรัชกาลที่ ๓ แล้วเติบโตงอกเงยไปตามยุคสมัย เมื่อยุคที่ลิเกได้รับความนิยมก็มีบ้านคนดนตรีและลิเก เช่น ดอกดิน เสือสง่า, เต็ก เสือสง่า และอีกหลายท่านเวียนมาอยู่อาศัยแถบถนนพะเนียง มีบ้านคนลำตัดในแถบเดียวกันด้วย คนละคร คนลิเก คนดนตรีแม้เป็นคนจากต่างจังหวัดไม่น้อย แต่ก็ทำให้ย่านละครแถบวัดแค นางเลิ้ง เป็นที่รู้กันในพระนครว่า เป็นย่านบ้านเก่าที่คนรู้ว่าจะมาหาคณะละครไปเล่นแก้บนหรือหาคนตัวแสดงไปเสริมในคณะที่เปิดแสดงตามวิกต่างๆ

หลายครอบครัวและหลายคนย้ายออกจากตรอกละคร เพราะแต่งงานออกไปบ้าง ลูกหลานที่มีครอบครัวใหม่ก็ย้ายออกเพราะมีอาชีพเดิมแต่ทำงานในระบบราชการหรือไปเป็นครูบาอาจารย์ และมีอีกมากที่เปลี่ยนอาชีพไปเลยแม้จะมีพื้นฐานของดนตรีและละครมาจากครอบครัวก็ตาม

ลูกหลานครูพูน เรืองนนท์
ริมถนนหลานหลวงในตรอกละครที่ติดกับวัดแค นางเลิ้งหรือวัดสุนทรธรรมทาน มีกลุ่มบ้านของเครือญาติในตระกูล “เรืองนนท์” อยู่หลายบ้าน กลุ่มบ้านเหล่านี้ยาวจรดกำแพงวัดทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของวัดแค และเพราะเคยเกิดเพลิงไหม้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สภาพอาคารบ้านเก่าแบบเดิมๆ ก็สลายไปกับกองเพลิงรวมทั้งเครื่องแต่งกายโขนละครของคณะครูพูน เรืองนนท์ก็หมดไปคราวนั้นเอง

ครูพูน เรืองนนท์ อายุได้ ๑ เดือน พ่อแม่กับคณะละครก็อพยพโยกย้ายมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ครูพูนสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ อายุได้ ๘๗ ปี ก็เกิดราวๆ พ.ศ. ๒๔๓๔ ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อครูพูนเกิด กลุ่มบ้านละครแถบนี้ก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไปแล้ว และได้รับเป็นนายโรงแทนพ่อนายนนท์ เมื่อเข้าวัยหนุ่มอายุเพียงยี่สิบกว่าๆ และมีพลังในการแสดงล้นเหลือ

ครูพูนกับคณะเปิดการแสดงหนังตะลุงในพระนครและมีชื่อเสียงมากเป็นคณะแรก ในเวลาเดียวกัน ละครชาตรีที่มีเครื่องดนตรีแบบทางใต้ คือ ฉิ่ง กรับ กลองตุ๊ก โทน ปี่ใน ที่คุณกัญญาและลูกหลานครูพูนมักพูดเสมอว่า ละครชาตรีไม่มีปี่พาทย์ หากเล่นแบบดั้งเดิม ละครหรือหนังตะลุงคณะตาพูน หรือคณะครูพูน เรืองนนท์รับเล่นในพระนครทั่วไปในราคาสูงกว่าคณะอื่นๆ เนื่องจากได้แบบละครชาตรีแบบทางใต้มาเพรียบพร้อม

ตามที่รู้กันทั่วไป ครูพูนมีภรรยาถึง ๕ คน ทั้ง ๔ คนแรกไม่เป็นละครเลย จนถึงเมียท่านสุดท้ายที่อายุอ่อนว่าลูกครูพูนเสียอีก ครูพูนจึงมีลูก ๑๗ คน มีการฝึกให้เล่นละครและเล่นดนตรีกันได้ทุกคน ทั้งรุ่นเล็กและรุ่นโต ก็ช่วยกันเล่นละคร ทำปี่พาทย์ โดยเฉพาะมี ๒-๓ ท่านที่น่าจะต้องกล่าวถึงมากหน่อยคือ

ทองใบ เรืองนนท์ บุตรชายกับภรรยาคนที่ ๓ ของครูพูน เรืองนนท์ เป็นศิลปินแห่งชาติด้านการเล่นละครชาตรี เล่นละครในกับครูพูนมาตั้งแต่ยังเล็กจนเชี่ยวชาญชำนาญ ลูกหลานยังคงทำคณะปี่พาทย์และดูแลละครมาจนถึงปัจจุบันคือคุณบัวสาย เรืองนนท์ ไปทำงานที่กองการสังคีตกรมศิลปากร เช่น คุณบุญสร้าง เรืองนนท์

พิณ เรืองนนท์ บุตรชายกับภรรยาคนที่ ๔ ของครูพูน เรืองนนท์ ครูเครื่องหนังที่เคยอยู่วงฟองน้ำกับอาจารย์บรูซ แกสตัน และเป็นครูดนตรีวงดุริยางค์กองทัพอากาศในยุคบุกเบิก เป็นบุตรชายที่ยังมีชีวิตอยู่ของครูพูน
แพน เรืองนนท์ บุตรสาวครูพูนและภรรยาคนแรก เคยเป็นข่าวดังในยุครัชกาลที่ ๗ เพราะเมื่ออายุราว ๑๘ ปี ได้ไปเล่นละครที่พระตะบองซึ่งขณะนั้นอยู่ในปกครองของกัมพูชาแล้ว คุณกัญญาลูกสาวแม่แพนเล่าว่า

แพน เรืองนนท์

พระบาทสมเด็จพระสีสุวัติถิ์ มุนีวงศ์ โปรดฯ ให้ไปแสดงที่พนมเปญ มีผู้มาอุ้มเข้าไปในวังแล้วกลายเป็นเจ้าจอม ซึ่งเป็นเรื่องบอกเล่าจากภรรยาของครูพูนแก่นักข่าวในเวลานั้น จนกลายเป็นข่าวอื้ออลไปทั่วพระนคร 

แต่เรื่องราวดังเทพนิยายเรื่องเจ้าชายกับสาวชาวบ้านครั้งนั้นกลายเป็นข่าวครึกโครมทั่วพระนคร ครูพูนและภรรยากลายเป็นผู้มีชื่อเสียงถูกห้อมล้อมด้วยผู้คน เมื่อข่าวมาถึงหนังสือพิมพ์ในสยาม แต่ไม่เป็นสบใจของกงสุลฝรั่งเศส เกือบหนึ่งปีต่อมา แม่แพนก็ถูกส่งตัวกลับบ้านและไม่เคยมีการยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในฝ่ายกัมพูชาและทางฝรั่างเศส แม่แพนไม่เคยกลับไปกัมพูชาอีกเลย

ในรัชกาลนั้นโปรดการละครและมีเจ้าจอมและสนมเป็นนางละครมากมาย ครูละครจากราชสำนักวังหน้าหลายท่านก็ไปอยู่ที่พนมเปญ และหลายท่านเป็นเจ้าจอมในรัชกาลพระเจ้านโรดมพรหมบริรักษ์ จึงไม่เป็นการแปลกอันใดที่จะเรียกนางเอกจากคณะละครครูพูนในวัยสวยสดใสเข้าไปในวัง

แน่นอนย่อมมีเรื่องเล่าในครอบครัวที่แตกต่างไปจากข้อมูลตามสื่ออยู่บ้าง หลายเรื่องก็อาจจะเป็นเรื่องราวที่ถูกมองว่าพูดเพียงฝ่ายเดียวได้

กัญญา ทิพโยสถ วัย ๖๘ ปี ลูกสาวแม่แพนเล่าให้ฟังว่า แม่แพนได้ชื่อใหม่จากการเป็นเจ้าจอมครั้งนี้คือ

“บุปผาสวรรค์ ศรีสวัสดิ์อำไพวงศ์” ซึ่งในบางบทความชื่อคงตกหล่นไป อีก ๑๑ ปีต่อมาก็แต่งงานกับหนุ่มชาวลิเกคุณพ่อของคุณกัญญา และเล่นละครร่วมกับบิดาคือครูพูนเรื่อยมา ซึ่งคุณกัญญาก็เจริญรอยตามเพราะเติบโตในโรงละครก็ออกแสดงได้ตั้งแต่ยังเล็กๆ เช่นกัน ทุกวันนี้แทบจะเหลือเพียงคนเดียวในรุ่นที่ยังร้องและรำละครชาตรีในแบบฉบับดั้งเดิมที่ยังไม่มีทางปี่พาทย์รับ เป็นละครชาตรีแบบครูพูน เรืองนนท์ที่ยังไม่ได้ปรับจนเป็นละครนอกแบบกรุงเทพฯ

ในยุคเฟื่องฟู นอกจากการเข้าไปรำเล่นละครชาตรีแก้บนโรงหนังเฉลิมเขตร บริเวณสี่แยกกษัตริ์ศึก ที่แต่เดิมเคยเป็นสถานที่ตั้งวังละโว้ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ และในราชสกุลนี้ยังคงใช้ละครคณะเรืองนนท์ต่อมาตามประเพณีเพื่อแก้บนคือท่านมุ้ย มจ. ชาตรีเฉลิม ยุคล หลังจากภาพยนต์เรื่อง “สุริโยทัย” ออกฉายแล้ว ซึ่งนับเป็นโอกาสในการเล่นละครแบบดั้งเดิมเต็มเครื่องครั้งสุดท้ายของคุณกัญญา
บุตรหลานของคณะครูพูน เรืองนนท์ ยังคงสืบทอดคณะละครและยังแสดงตามสถานที่ต่างๆ เช่น คณะวันดีนาฏศิลป์ เป็นคณะละครและระบำแก้บน ซึ่งแสดงประจำที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ คณะละม่อม ทิพโยสถ แสดงที่ศาลพระพรหมเอราวัณ ฯลฯ แต่แสดงเฉพาะรำชุดแก้บนเท่านั้น ส่วนการแสดงละครชาตรีก็เป็นแบบละครนอกแทบทั้งสิ้น

คณะจงกล โปร่งน้ำใจ
จารุวรรณ สุดสาคร เป็นคนจัดการดูแลคณะละคร “จงกล โปร่งน้ำใจ” ในปัจจุบัน และยังมีพี่น้องทั้งหญิงชายมาร่วมกันทำงานอีกจำนวนหนึ่ง แทนคุณป้าจงกล โปร่งน้ำใจที่เสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีบรรพบุรุษล้วนมาจากชาวละครที่ย่านสนามควายและมีรกร้างเดิมจากเมืองพัทลุง ก่อนที่จะอพยพโยกย้ายมากับกองทัพหลวงครั้งรัชกาลที่ ๓

คณะละครจงกล โปร่งน้ำใจนั้น ญาติผู้ใหญ่ทางฝ่ายหญิงของครูจงกล โปร่งน้ำใจก็เคยเป็นเจ้าของคณะละครชาตรีมาก่อน แต่คนละครแถบนี้ผันตัวเองไปเป็นนักดนตรีปี่พาทย์ก็มากและกระจายไปตามสาขาต่างๆ ในการแสดงมหรสพหลากหลายในพระนคร บ้างก็แต่งงานกับคนดนตรี คนละครจากต่างจังหวัดที่ได้รู้จักกันบ้าง และมักจะคุ้นเคยกันอยู่ในสำนักบ้านหรือครูต่างๆ ญาติท่านหนึ่งของคณะละครนี้คือครูดนตรีไทย ครูเครื่องหนังของวงพาทยโกศลคือครูยรรยง โปร่งน้ำใจ หรือยรรยง จมูกแดง ซึ่งเป็นดาวตลกรุ่นเก่าในคณะของล้อต๊อกด้วย อยู่ในตรอกละครเช่นเดียวกับทางบ้านตระกูลเรืองนนท์

6004159

จงกล โปร่งน้ำใจ

การรำละครชาตรีของคณะจงกล โปร่งน้ำใจ มีทั้งทางฝ่ายดั้งเดิมแบบทางใต้และทางฝ่ายที่ปรับเป็นแบบละครนอกของภาคกลางแล้วแบบพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้เมื่อมาตั้งเป็นคณะละครของตนเองเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ และเริ่มรับงานรำละครแก้บนที่ศาลพระพรหมเอราวัณแล้วก็ปรับการรำละครชาตรีเครื่องใหญ่ให้เป็นแบบแผนตามแบบกรมศิลปากรด้วย

การบนละครชาตรี เป็นเรื่องปกติของผู้คนในสังคมไทยมาโดยตลอด พอสภาพสังคมเปลี่ยนมาเป็นการแข่งขัน และมีความเสี่ยงมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็เริ่มคึกคักและส่งสืบทอดกันมา ในแถบหลานหลวงที่ใกล้วังหลายแห่ง วังบางแห่งตัดพื้นที่ริมถนนแบ่งขายและเดี๋ยวนี้เป็นตึกแถวไปหมดแล้ว ท่านหญิงบางท่านก็มาว่าคณะละครอีกฝั่งถนนไปแก้บนกันเรื่อยๆ

การรำที่ศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ แรกๆ ก็เป็นละครพร้อมคณะปี่พาทย์ แต่หลังๆ คนเริ่มมากขึ้น ก็กลายเป็นรำกันอย่างเดียว จนกระทั่งมีชื่อมากขึ้น คนจีนสารพัดในเขต SEA นี่เองที่กลายมาเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่มาก ต้องมีการจัดเป็นมูลนิธิฯ คณะหลายคณะหมุนเวียน เพราะบางวันต้องรำกันเป็นร้อยๆ รอบขึ้นไป แม้สัญญาปีต่อปี แต่ก็สร้างหลักประกันเรื่องรายได้ให้บ้านพี่หมูซึ่งมีพี่น้อง จัดการเป็นผู้จัดคณะละคร ทั้งทำเครื่องละคร ทำดนตรีปี่พาทย์ จัดหาคนมารำ หมุนเวียนอยู่แบบนี้ จนบัดนี้ก็ราว ๓๙ ปีแล้ว

บ้านที่ตรอกละครจึงกลายเป็นสำนักงานกลายๆ เป็นพื้นที่เก็บเครื่องดนตรี พื้นที่ปักเครื่องละคร สถานที่แต่งกายก่อนออกไปรำที่ศาลพระพรหม พี่ๆ น้องๆ หมุนเวียนกันมาทุกวัน แม้ส่วนใหญ่ออกไปมีบ้านพักกับครอบครัวตนเองข้างนอก แล้วใช้บ้านเก่าเป็นสำนักงาน

ทุกวันนี้ จารุวรรณ สุดสาคร เดินตามฝันที่อยากสืบทอดและแบ่งปันการรำละครชาตรี หลังจากสร้างคณะละครรำแก้บนหลายสิบปีแล้ว บัดนี้เริ่มผ่อนคลายก็อยากอุทิศตนอุทิศเวลาทำละครชาตรีขึ้นมาอีกครั้ง โดยการสนับสนุนของ สมชาย ธนกุสุมาลย์ ประธานสภาวัฒนธรรมเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เสนอให้โอกาสเรียนรำละครกับเด็กตามสถานศึกษาต่างๆ และเป็นครูละครชาตรีให้กับเด็กที่ชมรมนาฎศิลป์ที่โรงเรียนวัดสิตาราม เมื่อฝึกสอนกันมาได้ระยะหนึ่งเด็กๆ เริ่มแสดงละครเป็นเรื่องได้แล้ว

บ้านนราศิลป์ผู้จัดคณะละคร
หน้าบ้านนราศิลป์ ริมถนนหลานหลวงมักเป็นที่พักสายตาของนักขับรถ เพราะมีซุ้มต้นไม้สวยๆ อยู่หน้าบ้าน ดูร่มรื่นร่มเย็น โดยเฉพาะซุ้มดอกพุด

พินิจ สุทธิเนตร และ ภุมรี ปานสมุทร์ ลูกพี่ลูกน้องกัน เล่าให้ฟังว่า บ้านนราศิลป์ กำเนิดจาก “นายแม่” คุณละม่อม สุสังกรกาญจน์ ที่เป็นนายห้างเจ้าของแป้งตราสโนว์ ใกล้ไปรษณียฺสำเหร่และมีเชื้อสายจีน โดยมาซื้อบ้านแถบย่านตรอกละคร จัดสร้างคณะละครขึ้นมาในช่วงราวรัชกาลที่ ๖ ที่ละครกำลังเฟื่องฟู เล่ากันว่าท่านเป็นคนแปลกแต่เป็นลักษณะผู้หญิงเก่งในยุคนั้น ชอบผจญภัย ขี่ม้า ยิงปืน ถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์ มีไร่องุ่นที่ปากช่องและบ้านแบบชนบทฝัร่ง เลี้ยงสัตว์ต่างๆ เช่น หมีควาย นางอาย และอื่นๆ

บ้านคุณละม่อมอยู่ที่สำเหร่ ทางฝั่งธนฯ มาทำบ้านนราศิลป์ทางนี้แล้วมีผู้ดูแลคู่ใจคือคุณป้าของพี่ปู และคุณแม่ของพี่อ๋อย คือคุณจินดา ปานสมุทร์ ที่เป็นคนทำงานในโรงงานแป้งมาช่วยดูแลอีกแรง คุณแม่และคุณป้าของพี่ทั้งสองคนเป็นคนทางตรอกทำพาย ซึ่งน่าจะอยู่ใกล้ๆ ตรอกละคร ทั้งคู่ไม่เป็นวิชาละครหรือโขนแต่อย่างใด เพียงแต่รักและชอบการแสดงเท่านั้น

60041510

ละม่อม สุสังกรกาญจน์

บ้านนราศิลป์รับจัดงานแสดงโขนกลางแปลง โขนชักรอก โขนหน้าจอ ละครชาตรี ละครพันทาง และดนตรีไทย เป็นคณะนาฎศิลป์คณะใหญ่มาก รวมถึงได้ก่อตั้งบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในยุคแรกๆ ชื่อนราศิลป์ภาพยนตร์ ทำเรื่องนางลอย ที่ว่ามี ครูอาคม สายาคม เป็นพระเอก แต่ก็ไม่ได้มาทางสายนี้มากนัก แสดงทางโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ ต่อมาก็ช่วยงานโขนธรรมศาสตร์ตั้งแต่แรกเริ่มราว พ.ศ. ๒๕๑๑ รวมทั้งงานองค์พระปฐมเจดีย์ที่เคยเป็นประจำปี จัดกันกว่า ๗ วัน ๗ คืน รุ่นนี้คุณจินดาก็เป็นคนคุมงานแทนแล้ว

การเป็นโต้โผหรือผู้จัดการแสดงลักษณะนี้ ทำให้ต้องมีการสร้างเครื่องละครและเครื่องแต่งกายโขนและศรีษะโขนจำนวนมาก บ้านนราศิลป์จึงเป็นแหล่งขึ้นชื่อในการให้เช่าชุดรำ ชุดละคร โขนต่างๆ สำหรับเด็กนาฎศิลป์หรือเด็กๆ ที่เรียนนาฎศิลป์ตามโรงเรียนต่างๆ มาโดยตลอด วันนี้เรายังเห็นคนในบ้านนั่งปักงานดิ้นต่างๆ ในบ้านอยู่ ชุดเหล่านี้ลงทุนสูง ใช้เวลามาก ใช้เพียงสองสามครั้งและเริ่มหมองแล้ว แม้จะซักได้ก็เพียงไม่กี่ครั้งและราคาให้เช่าก็ถูกเสียเหลือเกิน ครั้งที่ยังมีคนในบ้านไม่น้อย การเช่าชุดหรือแต่งเครื่องละครต่างๆ ก็มักมีคนช่วยแต่ง ช่วยจัดการดูครบวงจรไปหมด

60041511

จินดา ปานสมุทร์และภุมรี ปานสมุทร์ บุตรสาว หน้าบ้านนราศิลป์

นักแสดงเก่งๆ ทั้งจากนอกระบบและในระบบกรมศิลปากรล้วนผ่านบ้านนราศิลป์มาแทบทั้งนั้น และคุ้นเคยกันดีกับคุณจินดาที่สามารถคุมคนโขน ละครทั้งคณะในช่วงที่งานชุกและเฟื่องฟู

พินิจ สุทธิเนตร ใช้วิชาในการเป็นผู้จัดสืบทอดมาเป็น ผู้กำกับศิลป์ฝ่ายละครทีวี รับตัดต่อ จัดให้เช่าเครื่องเสียง จอภาพ ฯลฯ ส่วนน้องชายคนอื่นๆ ก็เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ เช่นทำเอฟเฟคของภาพยนต์ แต่งหน้าเอฟเฟคต่างๆ ที่สำคัญ พี่ปูและเครือญาติจัดการตนเองทุ่มเทค้นคว้าข้อมูลประวัติความเป็นมาของบ้านนราศิลป์ จัดเป็นพื้นที่เปิดศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม จัดทำฐานข้อมูลเป็นซีดีทั้งเรื่องทั้งรูป มอบให้กับผู้สนใจเด็กๆ นักศึกษาที่มาข้อสอบถามกันเป็นประจำ

ทุกวันนี้บ้านนราศิลป์ยังเปิดให้เช่าชุดโขน ละครอยู่ ส่วนการเป็นผู้จัดงานโขนหรือละครมีบ้างเป็นครั้งคราว

คณะโขนละครย่านวัดสิตาราม
และการสร้างอนาคตของย่านละคร กรุงเทพฯ
ในย่านรอบวัดแค นอกจากจะมีคณะละครชาตรีที่มีประวัติศาสตร์ว่ามาจากทางนครฯ พัทลุงและสงขลา พร้อมกับชาวมุสลิมจากไทรบุรีในช่วงรัชกาลที่ ๓ แล้วมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณบ้านสนามกระบือหรือบ้านสนามควาย มีวัดแคคู่กับวัดมหายิ้มหรือวัดสิตาราม ริมคลองมหานาคและทั้งสองวัดเคยมีเส้นทางน้ำต่อถึงกัน

ในยุคที่มหรสพละคร ลิเก ลำตัดเฟื่องฟู ย่านนี้ก็กลายเป็นที่พักแหล่งอยู่อาศัยของทั้งคณะละครในบ้าน ตัวละครจากต่างจังหวัดหรือต่างพื้นที่ที่รับแสดงแล้วแต่ว่าจะมีโต้โผคณะไหนจะจ้างไป รวมทั้งบ้านโต้โผจัดงานแสดงที่รับงานสารพัดให้นักแสดงตามบ้านต่างๆ นักแสดงทั่วๆ ไป จนถึงเด็กๆ นักเรียนนาฎศิลป์ของกรมศิลปากรรุ่นแรกๆ และครูดนตรีชื่อดังในละแวกเดียวกัน

คณะทองหล่อ จูวงษ์ มีจินตนา จูวงษ์ ที่อายุวันนี้เข้า ๗๐ ปีแล้ว อาศัยอยู่ที่บ้านใกล้วัดสิตาราม ในอดีตก็เคยเป็นผู้นำชุมชนสิตารามและทำกิจกรรมร่วมกับหน่วยราชการต่างๆ อยู่เสมอเป็นหลักของบ้านในปัจจุบัน ครูทองหล่อเคยเป็นมหาเปรียญ ๙ ที่วัดสามปลื้ม เมื่อสึกออกมาได้ภรรยาที่เป็นคนละครแถบตรอกละครวัดแค นางเลิ้ง แต่งงานแล้วก็มาซื้อบ้านจากชาวมุสลิมซึ่งคือบ้านที่อยู่มาจนทุกวันนี้ เปิดเป็นคณะละครชาตรีแก้บน เมืื่อละครซบเซาจึงเปลี่ยนมาเป็นการทำขวัญนาคผู้หญิง เพราะความเป็นมหาเปรียญครูทองหล่อจึงแต่งกลอนคล่อง กลอนทำขวัญนาคจนถึงกลอนลิเกและดนตรีกลองยาวหัวโต ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นข้อดีจึงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ลูกหลานของครูทองหล่อ จูวงษ์ยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้โดยมาก นอกจากผู้ที่ออกไปทำงานอื่นๆ บ้าง แต่ก็เป็นลิเกดนตรีปี่พาทย์ทุกคน

60041512

ลิเกคณะทองหล่อ จูวงษ์

คณะละครดำรงศิลป์ เป็นคณะละครที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งก่อตั้งโดยนายฮวด ชูประเสริฐซึ่งเคยเป็นคนขับรถราง พื้นเพเดิมเป็นคนเชื้อจีนทางบ้านสาขลา ปากน้ำสมุทรปราการ เวลาขับรถก็จะร้องเพลงไปด้วยจึงมีคนเป็นแฟนเพลงกันมาก และต่อมาเมื่อได้ภรรยาเป็นคนละครในแถบตรอกละครวัดแค แล้วจึงตั้งคณะละคร ต่อมามีพี่เขยที่เป็นโขนหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็มาช่วยทำให้เกิดคณะโขนชาวบ้านขึ้นมาอีกด้วย เมื่อสร้างบ้านเรือนหลังใหญ่ในช่วงที่มีคนมาขอหัดโขน ละคร รำกันมากที่สุดมีถึงกว่าร้อยคน และดาวตลกที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา เช่น สีหมึก เทพ เทียนชัยก็เกิดมาจากการหัดวิชาในบ้านหลังนี้ ต่อมาลูกหลานครูฮวดมีทั้งที่เข้าเรียนในระบบของวิทยาลัยนาฎศิลป์และทำงานอยู่ในกองการสังคีตก็ไม่น้อย เป็นครูอาจารย์สอนในโรงเรียนก็หลายท่าน และที่ยังคงทำงานรำตามที่มีคนว่าจ้างไปรำแก้บนทั้งตามบ้านเอกชนและที่ศาลพระพรหมเอราวัณ

อีกฝั่งของถนนหลานหลวงติดกับถนนดำรงรักษ์ริมคลองมหานาค ซึ่งเป็นชุมชนวัดสิตาราม ซึ่งมีโรงเรียนจนถึงชั้นประถม ๖ ในขณะที่วัดแคไม่มีโรงเรียน เด็กๆ จากชุมชนใกล้เคียงรวมทั้งวัดแคจึงเรียนจบขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนวัดสิตารามหรือเรียกกันแบบคุ้นหูว่่าวัดคอกหมู ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันกันเป็นส่วนใหญ่

ชมรมนาฎศิลป์ที่มีครูประทับใจ สุนทรวิภาต คนสุพรรณ จบจากคณะคุรุศาสตร์สาขานาฎศิลป์โดยตรง ก็มาทำชมรมให้เด็กๆ ได้แสดงทั้งร้องทั้งรำและดนตรี มีลูกศิษย์ไป ๒๐ กว่ารุ่น ทุกวันนี้ซ้อมให้เด็กเล่นละครชาตรีโดยมีครูจากคณะจงกล โปร่งน้ำใจคือคุณจารุวรรณ สุดสาครเป็นผู้ฝึกสอน เล่นละครชาตรีเรื่องแก้วหน้าม้าได้สนุก เด็กๆ กลุ่มนี้ทำทั้งกิจกรรมและการเรียนไปด้วยกันได้ดีกว่าเรียนกันเพียงอย่างเดียว บางคนได้ทุนด้วยการใช้วิชานาฎศิลป์ไปแสดงที่ต่างประเทศก็มี ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเด็กย่านนี้

วัดราษฎร์ที่ใกล้วัดหลวงทั้งสองแห่งนี้ยังมีเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวบ้านแบบเป็นหลักและเป็นที่พึ่งได้จนน่าแปลกใจจริงๆ แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเมืองก็ตาม

รถไฟฟ้าจะมาไหม
ข่าวว่ารถไฟฟ้าใต้ดินจะผ่านย่านหลานหลวงมานานหลายปีแล้ว เป็นโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี รถไฟฟ้าแบบยกระดับระยะทาง ๙ กิโลเมตร สถานียกระดับ ๗ สถานี และโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบใต้ดินระยะทาง ๓๐.๖ กิโลเมตร สถานีใต้ดิน ๒๓ สถานี ที่สถานีหลานหลวง จะตั้งอยู่ใต้ถนนหลานหลวง บริเวณแยกหลานหลวงถึงสามแยกถนนพะเนียง ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีทางขึ้นและลงที่ใด

แต่ถึงปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่งมีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินมากเหลือเกิน โดยเฉพาะในบริเวณสถานีประชาสงเคราะห์ที่ผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรม เพราะกลับไปใช้แนวเส้นทางเดิม และมีทีท่าว่าจะสะดุดอีกครั้งแม้จะอยู่ในสมันรัฐบาลปัจจุบัน

ย่านบ้านนราศิลป์และตรอกละครซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สถานีขึ้นลงของรถไฟฟ้าใต้ดิน คนหลานหลวงยังไม่ได้รับคำตอบเบ็ดเสร็จแน่นอนสำหรับเรื่องการเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างสถานีขึ้นหรือลงรถไฟใต้ดิน ถ้าจะทำตามแบบแผนเดิม ย่านละครแถบบถนนสนามควายที่บอกเล่าประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นพระนครมาแต่ยุคต้นกรุงฯ คงหายไปได้ในพริบตาเดียว ขึ้นอยู่กับว่าจะทำหรือไม่เท่านั้นเอง

แม้จะมีการพูดคุยและขอร้องกันมาหลายยกหลายพัก แต่ความไม่ชัดเจนของโครงการก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนต่อไป แม้ข่าวจะเงียบๆ แต่ยังไม่มีอะไรรับรองว่าบ้านช่องของพวกเขาจะมีชะตากรรมเช่นไร

บางทีร่องรอยของผู้คนในอดีตที่ยังมีลมหายใจอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้อาจจะดูไม่มี “มูลค่า” ให้กับสังคมในอีกยุคหนึ่งก็ได้ แม้จะโหยหามูลค่าจากการท่องเที่ยวแบบได้ง่ายๆ กันไปทั้งสังคมก็ตาม

อย่างที่คนในสถาบันการศึกษาอาจเข้าไม่ถึง คนจัดผังเมืองอาจไม่เคยเข้าใจ คนที่จะพัฒนาเมืองอาจมองว่าเป็นแค่กลุ่มบ้านรกรุงรัง และคนที่รู้จักนาฎศิลป์อาจมองว่าเป็นแค่ละครชาวบ้าน

ในแวดวงตรอกละครมีเรื่องราวมากมาย มีความขัดแย้ง มีรอยยิ้มและความเศร้า มีเรื่องที่ไม่มั่นคงในการอยู่อาศัย การถูกมองว่าเป็นนาฎศิลป์ชั้นสองชั้นสาม มีภาพตัวแทนที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงถูกเผยแพร่ออกไปโดยการจัดกิจกรรมผักชีโรยหน้าและการสื่อที่ไม่เข้าใจ ยิ่งทำให้คนในตรอกละครไม่มั่นคงในจิตใจ และยังต้องแสวงหาแนวร่วมหรือหนทางเพื่อสู้ในการต่อลมหายใจพื้นที่ย่านเก่าที่เป็นส่วนหนึ่งของนางเลิ้ง และเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนที่ร่วมสร้างเมืองมาด้วยกัน

จะเคารพคนที่มีสิทธิ์เสียงเท่ากันก็ควรมองเห็นที่มาที่ไป จะไปเที่ยวตามย่านเก่าก็ต้องเข้าใจคนเจ้าของพื้นที่และวัฒนธรรมบ้างว่าสุขทุกข์หนาวร้อนเช่นใด เพราะถ้าสร้างความเข้าใจคนในพื้นที่อีกนิด สังคมในย่านเก่าของกรุงเทพฯ คงมีหนทางที่จะปรับตัวและพัฒนาไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอีกมาก

อ้างอิง

กรมไปรษณีย์และโทรเลข. สารบาญชี ส่วนที่ ๒ คือราษฎรในจังหวัด ถนน แลตรอก จ.ศ. ๑๒๔๕ เล่มที่ ๒. สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๑. กรมศิลปากร. ละครนอกละครใน http://www.finearts.go.th/ nakhonphanomlibrary/parameters/km/item/ละครนอก-ละครใน 2/08/15

โกเมศ จงเจริญ. ดนตรีประกอบการแสดง “ละครชาตรี” กรณีศึกษาคณะครูทองใบ เรืองนนท์ บัณฑิตวิทยาลัย สาขาวิชามานุษย- ดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ๒๕๕๕.

จุลลดา ภักดีภูมินทร์. ตอนที่ ๔๐ : การละครในรัชกาลที่ ๒, เวียงวัง สำนักพิมพ์เพื่อนดี, ๒๕๒๕.

ณิชชา ชันแสง ละครชาตรีเมืองเพชรบุรี. กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การ ศึกษาเพชรบุรี เขต ๑ สำนักงานคณะกรรมการการ. ศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ http://www.lakornchatree.com 2/08/15

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓. กรมศิปลปากร, พิมพ์ครั้งที่ ๖, ๒๕๓๘

สุจิตต์ วงษ์ เทศ. ละครนอก ชายจริงหญิงแท้ คือละครชาตรี-แก้บน http://www.sujitwongthes.com/2012/12/siam26122555/ 2/08/15

สุภัตรา ภูมิประภาส. กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๒

สุรพล วิรุฬห์รักษ์. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ละครชาตรี. เรื่องที่ ๖ เล่มที่ ๓๒ สารานุกรม ไทยสำหรับเยาวชน http://kanchanapisek.or.th/kp6/Ebook/BOOK36/book36_2/Default.html / 26/07/15

อมรา กล่ำเจริญ, รศ., และคณะ. สถานภาพการคงอยู่ของละครชาตรีในประเทศไทย. กรม ส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๕.