วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
(พิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๖๑)
ผู้คนในประเทศไทยส่วนใหญ่มักคิดว่า “ราชบุรี” เป็นแหล่งผลิตโอ่งโบราณเนื้อแกร่ง [Stoneware] ขนาดใหญ่ที่เขียนลวดลายมังกรแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย
แต่ในข้อเท็จจริงนั้นไม่ใช่
โอ่งมังกรนั้นมีต้นแบบจากเมืองจีน เมื่อนำมาเมืองไทยก็ปั้นโดยช่างจีนอพยพ แต่แหล่งปั้นโอ่งมังกรในประเทศไทยมีอยู่หลายแห่งในพื้นที่ซึ่งมีคนจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย ก่อนที่จะไปโด่งดังที่ราชบุรี
แหล่งผลิตโอ่งใส่น้ำเนื้อแกร่ง คุณภาพดี เป็นโอ่งที่เลียนแบบโอ่งมังกรจากเมืองจีนแห่งแรกอยู่ที่ “จันทบุรี”
เมืองชายฝั่งทะเลที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่อาศัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยและอยู่ในหัวเมืองตะวันออกซึ่งการเดินทางจากเมืองจีนในอดีตจะแวะแถบนี้ก่อนที่อื่นๆ เรื่องราวการปั้นโอ่งเนื้อแกร่งที่จันทบุรียังมีสายสัมพันธ์กับช่างปั้นโอ่งที่ราชบุรีตั้งแต่เริ่มแรกและสืบมาจนถึงปัจจุบัน
จันทบุรีเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาชั้นดี ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนทางแถบภาคตะวันออกที่มีอิทธิพลวัฒนธรรมจีนอยู่แทบทุกอณูของชีวิต

แผนที่แสดงตำแหน่งบ้านเตาหม้อ ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่ริมลำน้ำรำพัน สาขาหนึ่งของแม่น้ำยางโตนด ขนานไปกับแนวเทือกเขา ซึ่งคนเชื้อสายจีนถือว่าเป็นทำเลดีที่สุดในการตั้งถิ่นฐาน
คลองรำพัน บ้านเตาหม้อ และวัดคาทอลิกท่าศาลา
บริเวณภูมิภาคตะวันออกตั้งแต่จังหวัดตราด จังหวัดจันทบุรี ไปจนถึงจังหวัดระยองมีสภาพภูมิประเทศและรูปแบบการตั้งถิ่นฐานคล้ายคลึงกันนั่นคือมีลำน้ำสายต่างๆ ไหลจากแนวเทือกเขาภายในสู่ท้องทะเล และที่บริเวณใกล้ปากอ่าวต่อกับชายทะเลก็มักจะแตกแยกออกเป็นหลายสาขา ปากน้ำบางแห่งท้องน้ำแผ่กว้างขยายใหญ่เมื่อใกล้ทะเล บริเวณเหล่านี้เป็นพื้นที่น้ำกร่อยผสมผสานกับน้ำจืดในบางฤดู ทำให้มีการตั้งชุมชนอยู่อาศัยตามลำคลองสาขาจากลำน้ำสายใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก
รูปแบบลำน้ำเหล่านี้เช่น แม่น้ำตราดส่วนลำน้ำสาขาคือคลองบางพระซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมืองตราด แม่น้ำเวฬุ ที่ปลายสุดของลำคลองสายหนึ่งคือที่ตั้งของเมืองขลุง แม่น้ำจันทบุรีซึ่งนอกจากตัวเมืองจะตั้งอยู่ริมลำน้ำห่างเข้าไปในแผ่นดินแล้ว ยังมีชุมนสำคัญๆ หลายแห่งตามลำคลองสายต่างๆ ของแม่น้ำจันทบุรี เช่น บ้านพลิ้วริมคลองพลิ้ว บ้านหนองบัวริมคลองหนองบัว บ้านสองพี่น้องริมคลองสองพี่น้อง ท่าแฉลบตรงข้ามคลองท่าแฉลบ บ้านบางสระเก้าริมคลองบางสระเก้า ส่วนแม่น้ำวังโตนดนั้นปากน้ำประชิดกับแนวเทือกเขาแถบคลองขุดที่เรียกว่าปากน้ำแขมหนู แถวนี้มีลำคลองแยกทางฝั่งตะวันออกเช่น คลองรำพัน ทางฝั่งตะวันตก เช่น คลองตาสังข์ คลองตะเคียน คลองตะกาดเง้าและคลองท่าใหม่เป็นเป็นคลองเชื่อมกับแม่น้ำจันทบุรี จากแม่น้ำวังโตนดแล้วก็เป็นคลองวังกระแจะ แล้วจึงเข้าเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดจันทบุรีและระยอง มีแม่น้ำพังราด แม่น้ำประแส แม่น้ำระยอง เป็นต้น
ชุมชนริมน้ำและใกล้ลำน้ำเหล่านี้เป็นทั้งชาวประมงที่ออกทะเลไกลและชายฝั่ง ชาวประมงที่หากินตามลำน้ำลำคลองน้ำกร่อย ถัดไปก็เป็นชุมชนชาวนาที่ทั้งทำนาร่วมกับการหากินตามลำคลอง จนถือว่าเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมเฉพาะถิ่น การอยู่อาศัยอยู่ตามลำน้ำลำคลองไม่ห่างไกลชายฝั่งทะเลและไม่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินซึ่งเป็นพื้นที่สูงมากนัก ถือได้ว่าผู้คนในพื้นที่แถบนี้มีโอกาสอยู่อาศัยในสภาพนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
ตามลำคลองที่แยกย่อยเป็นสาขาของแม่น้ำใหญ่เหล่านี้ ล้วนเป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่ในท้องถิ่น เช่น ตามคลองสายต่างๆ ของแม่น้ำจันทบุรีและแม่น้ำวังโตนดมีทั้งวัดและโบสถ์คาทอลิก ส่วนใหญ่มีหลักฐานว่าตั้งขึ้นอย่างน้อยๆ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา เช่นที่ บ้านหนองบัว แหลมประดู่ วัดตะกาดเง้า วัดโขมง ท่าศาลา บ้านหม้อ ฯลฯ
ชุมชนเหล่านี้เคยคุ้นเคยกับการใช้พาหนะทางเรือมากกว่าการใช้เส้นทางถนนในปัจจุบัน เคยทำนาปลูกข้าวด้วยข้าวพันธ์ุพื้นเมืองที่ทนเค็ม เก็บต้นกกกลมไว้ทอเสื่อ ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เสริมบ้าง แต่ปัจจุบันก็กลายเป็นพื้นที่ทำนากุ้งจนนาข้าวแทบหายไปจนเกือบหมด มีการสร้างประตูระบายน้ำกั้นน้ำจืดและน้ำเค็มเพื่อใช้น้ำปลูกพืชเศรษฐกิจแต่ก็ยังทำให้น้ำจืดตลอดเวลาไม่ได้จึงต้องใช้แหล่งน้ำบาดาลเป็นส่วนใหญ่
แยกจากแม่น้ำวังโตนดทางฝั่งตะวันตกห่างจากปากน้ำแขมหนูไม่ไกลนัก มีลำคลองแยกเข้าไปในแผ่นดินขนานไปกับแนวเขาทางคลองขุดที่เป็นแนวยาวเรียกว่า “คลองรำพัน” มีชุมชนตั้งอยู่ริมคลองหลายแห่ง นอกจากมีอาชีพทางทำสวน ทำประมงแล้วก็ยังมีอาชีพเฉพาะกลุ่มคือเป็นช่างปั้นหม้อ จนเคยมีเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาอยู่เป็นจำนวนมาก คนทั่วไปเรียกว่า “บ้านเตาหม้อ” ดินเหนียวชายคลองแถบนี้ถือว่าเป็นแหล่งดินคุณภาพดี ดินเหนียวรำพันปนทรายหยาบในตัวจึงเป็นแหล่งดินคุณภาพดีที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา เช่น หม้อ โอ่ง กระถาง ภาชนะต่างๆ รวมทั้งอิฐดินเผาเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดจันทบุรี
เล่ากันว่ากลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเตาหม้อคือ “คนจีนแคะ” ที่เห็นชัยภูมิดีเพราะด้านหลังเป็นแนวเขา ด้านหน้าเป็นคลอง สามารถใช้เรือเดินทางติดต่อกับชุมชนอื่นๆ ได้สะดวก มีดินดีที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผาได้ นอกจากพื้นที่ด้านในที่ใช้ทำสวนทำไร่ได้ดี
แต่ในบริเวณเดียวกันริมลำน้ำรำพันนี้ก็เป็นพื้นที่ชุมชนคาธอลิกด้วย ถูกเรียกมาตั้งแต่เดิมว่า “วัดญวนเตาหม้อ” และมีชื่อคลองไร่ญวนปรากฎอยู่ไม่ไกล ซึ่งการคงอยู่และตั้งถิ่นฐานของคนญวนมีบันทึกไว้ว่า ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๒๕๔ ช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีชาวญวณกลุ่มหนึ่งราว ๑๓๐ คน อพยพมาทางเรือเพื่อตั้งรกรากอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจันทบูร เป็นชาวคาทอลิกที่ถูกกดขี่เบียดเบียนทางศาสนา และตั้งถิ่นฐานชาวญวนคริสต์เป็นครั้งแรกที่จันทบุรี

โบถส์ “วัดญวนเตาหม้อ” หรือ “วัดนักบุญยอแซฟกรรมกร ท่าศาลา” ซึ่งไม่มีคนญวนอยู่ที่นี่
สุสานวัดญวน เตาหม้อ ซึ่งเป็นที่ฝังศพของชาวคริสต์เชื้อสายจีนทั้งจากในชุมชนเตาหม้อและชุมชนแหลมประดู่และไม่มีคนเชื้อสายญวนอยู่ทั้งบ้านเตาหม้อและแหลมประดู่
ต่อมาราว พ.ศ. ๒๓๖๘ ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระจักรพรรดิมิญ หมั่ง [Minh Mạng] ซึ่งเป็นพระราชโอรสของจักรพรรดิ์พระจักรพรรดิซา ลอง [Gia Long] หรือองเชียงสือของเวียดนาม มีพระราชโองการห้ามมิให้มีการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในราชอาณาจักรทั้งห้ามไม่ให้มิชชันนารีชาวตะวันตกเดินทางเข้าประเทศ จนถึงพระจักรพรรดิเถี่ยว จิ [Thiệu Trị] พระราชโอรสก็ดำเนินนโยบายกำจัดมิชชันนารีในนิกายโรมันคาทอลิกออกไปเช่นกัน
การบีบบังคับนี้อยู่ในช่วงเวลาราว พ.ศ. ๒๓๖๘-๒๓๙๐ มีบันทึกไว้ว่าชาวญวนเข้ารีตลี้ภัยทางศาสนาส่วนมากอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามเดินทางโดยทางเรือเลียบมาทางชายฝั่งเขมรมายังบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือใต้ของสยามและได้กระจายกันอยู่เป็นกลุ่มตามเมืองสำคัญ เช่น จันทบุรี ขลุง ตราด ระยอง ชลบุรี สมุทรสงคราม ส่วนพวกที่เข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยาได้ขึ้นบกที่กรุงเทพฯ อยุธยา และนครสวรรค์ เป็นช่วงเวลาที่สยามทำสงครามเพื่อช่วยเขมรกับราชอาณาจักรอันนัมในสมัยราชวงศ์เหวงียน [Nguyễn] ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๐ (หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ประวัติศาสตร์การอพยพของชาวเวียดนาม. http://catholichaab.com/main/index.php/2015-09-22-02-53-59/2015-09-30-02-35-12/527-2015-10-19-04-34-47)
เป็นที่ทราบกันว่าเมืองท่าชายฝั่งทะเลและภายในสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงที่สำคัญๆ หลายแห่ง เช่น เมืองกำปอต เมืองบันทายมาศ เมืองสักซ้า [Rạch Giá] เมืองจ่าเวิญ [Trà Vinh] ไปจนถึงไซ่งอนนั้นมีคนจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นจำนวนไม่น้อยมาตั้งแต่ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ จนเมืองบางแห่งเช่นเมืองเปียมหรือที่เรียกกันต่อมาว่าเมืองฮ่าเตียนที่อยู่ปากน้ำเมืองบันทายมาศก็มีผู้ปกครองในฐานะ “รัฐอิสระ” เป็นชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้งจนกระทั่งถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงเปลี่ยนแปลงหลังจากการปราบกบฎไต้เซินแล้วและราชวงศ์เหวงียนขึ้นปกครอง
และคงมีชาวจีนจำนวนไม่น้อยในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์และอพยพเข้ามาสู่หัวเมืองชายหลายแห่งในสยามช่วงรัชกาลที่ ๓ ดังปรากฎร่องรอยของผู้ที่ถูกเรียกว่าญวนเข้ารีตในจังหวัดจันทบุรีซึ่งมีวัดญวนหรือโบสถ์คริสต์นอกเหนือไปจากวัดญวนดั้งเดิมริมแม่น้ำจันทบูรที่มี “อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล” ต่อมาจึงมีการขยายไปยังเมืองขลุงคือ “วัดพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า” ซึ่งมีประวัติบันทึกไว้ว่าครอบครัวแรกคือนายเหงียนและภรรยาเชื้อสายญวนและครอบครัวนายเต๊าเป็นคนจีนส่วนภรรยาเป็นคนญวนย้ายจากในเมืองไปอยู่เป็นครอบครัวแรกๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ หลังจากนั้นมีคนเชื้อสายญวนติดตามมาอยู่อาศัยอยู่ด้วยกันเพราะความสะดวกแก่การทำอาชีพและอุดมสมบูรณ์และการเดินทางเข้าออกทั้งพื้นที่ภายในและชายฝั่งที่ดีและสะดวกกว่า
ทางชุมชนแหลมประดู่สร้าง “วัดอารักขเทวดา” แต่ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนซึ่งน่าจะเป็นจีนฮกเกี้ยนจากวัฒนธรรมการทำอาหารอย่าง “หมูฮ้อง” เพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาลฉลองวัด ปัจจุบันแหลมประดู่เหลือคนอยู่อาศัยเพียงไม่กี่ครัวเรือน บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งด่านศุลกากรและอยู่ตรงข้ามกับท่าแฉลบซึ่งเป็นที่จอดเรือโดยสารและเรือสินค้าของเมืองจันทบุรีแต่เดิม
ซึ่งคล้ายกับชาวบ้านที่ “วัดญวนเตาหม้อ” หรือ “วัดนักบุญยอแซฟกรรมกร ท่าศาลา” ในอำเภอท่าใหม่ ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนแคะและมีสุสานที่อยู่เชิงเขาอันเป็นลักษณะของสุสานในตำแหน่งที่ดีที่สุด ซึ่งชาวบ้านที่แหลมประดู่ก็มาใช้พื้นที่สุสานนี้ร่วมกัน และแม้จะเป็นชาวคริสต์แต่รูปแบบของหลุมฝังศพส่วนหนึ่งก็มีรูปแบบเดียวกับฮวงซุ้ยคนจีนทั่วไป
คนทั่วไปมักเข้าใจว่าผู้อพยพจากเวียดนามที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธอลิกในจันทบุรคือคนเชื้อสายเวียดนาม แต่ชุมชนที่แยกออกจากชุมชนใหญ่ที่ริมแม่น้ำจันทบุรีในเมือง เช่นที่แหลมประดู่และบ้านเตาหม้อล้วนเป็นคนจีนเท่าที่พบคือเชื้อสายฮกเกี้ยนและแคะที่นับถือคริสต์ศาสนา
ที่ชุมชนบ้านเตาหม้อก็ไม่มีการบันทึกข้อมูลที่มาที่ไปของผู้คนมากนักว่าเริ่มเข้ามาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อใด เพียงแต่เล่าต่อกันว่าคนจีนแคะเลือกตั้งชุมชนบริเวณนี้เพราะมีฮวงจุ้ยดีเพราะด้านหน้าติดลำน้ำด้านหลังติดภูเขา มีความอุดมสมบูรณ์และสามารถเดินทางติดต่อได้สะดวกโดยใช้เส้นทางน้ำ ต่อมาคนจีนเหล่านี้มีทั้งผู้ที่นับถือพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนาอยู่อาศัยปะปนกันไป บ้างก็แต่งงานกันโดยไม่มีกรอบเรื่องศาสนามากั้น และส่วนใหญ่เคยเป็นทั้งเจ้าของ ช่างปั้นและคนงานเตาปั้นหม้อ กระถาง ไห อิฐต่างๆ ที่เคยมีอยู่จำนวนมากบริเวณเชิงเขาขนานไปกับลำน้ำรำพันแทบทั้งนั้น
วัดญวนเตาหม้อก่อสร้างในและมีพระมาอยู่ประจำระหว่างช่วง พ.ศ. ๒๔๗๔-๒๔๗๙ อาคารผนังทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะพอกดินและตั้งอยู่หน้าสุสานในปัจจุบันที่อยู่ลึกเข้าไปใกล้เชิงเขา ส่วนวัดปัจจุบันนั้นอยู่ริมถนน การสร้างโบสถ์สำหรับปฏิบัติศาสนกิจอาจเกิดขึ้นภายหลังการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเป็นระยะเวลานาน หากประเมินว่ามีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๘-๒๓๙๐
คนจีนแคะกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านเตาหม้อน่าจะมีอาชีพปั้นหม้อ กระถาง โอ่งใส่น้ำ เป็นหลัก จากข้อมูลสัมภาษณ์ในงานวิจัยของ “ภรดี พันธภากร” เรื่อง “การศึกษาเทคโนโลยีเครื่องปั้นดินเผาแหล่งจันทบุรี” กล่าวถึงช่างปั้นชาวจีนแคะชื่อ “แปะสุน แซ่โค้ว” เป็นคนในพื้นที่บ้านเตาหม้อที่ทำโอ่งและกระถางดินเผาขายแต่ไม่ใหญ่โตนัก ปั้นโอ่งเคลือบด้วยน้ำขี้เถ้าและน้ำดินเลน ทำอยู่ราว ๓๐ ปี จนอายุมากขึ้นและอาจจะอยากพัฒนาเทคนิคการปั้นและเผาโอ่งน้ำเคลือบที่ดูจะได้รับความนิยมใช้กันมากในท้องถิ่น จึงพยายามหาช่างฝีมือมารับช่วงทำต่อ
เนื่องจากเมืองจันทบุรีถือเป็นชุมทางแหล่งรวมคนจีนอพยพเป็นจุดแรก ก่อนที่จะขยับขยายออกไปทางกรุงเทพฯ หรือภูมิภาคอื่นๆ เวลานั้นคนจีนแคะมักไปรวมตัวพบปะพูดคุยถามข่าวให้ความช่วยเหลือเครือญาติที่เป็นชาวจีนแคะด้วยกันที่เพิ่งอพยพมาที่ “ร้านจังกวงอัน” ซึ่งตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำจันทบุรี ถนนเทศบาลหรือถนนสุขาภิบาลในปัจจุบัน จนความต้องการช่างปั้นโอ่งของนายแปะสุนเล่าลือไปถึงเมืองจีน “นายก้วน แซ่ตั้ง” หรือที่เรียกันว่า “เจ๊กฝั้น” ช่างปั้นจีนแต้จิ๋วจากตำบลปังโคย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง [ปังโคยเป็นชื่อเมืองภาษาแต้จิ๋วหรือเขตเฟิงซีในภาษากลาง มีชื่อเสียงในการทำเครื่องดินเผาและเครื่องกระเบื้องมาแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน] รวบรวมเงินมาเมืองไทยด้วยเงิน ๑๘ หยวน เดินทางด้วยเรือโดยสารมาลงที่ท่าแฉลบในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ มาอยู่กับแปะสุนเพียง ๔ เดือนก็รวบรวมเงินได้ ๖๐๐ บาทแล้วจึงเดินทางไปรับภรรยาและญาติพี่น้องที่เมืองจีนมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งแสดงถึงแหล่งผลิตนี้ต้องการช่างปั้นที่เป็นช่างมีฝีมือดีและทำให้มีค่าแรงแพงมาก (หากเทียบกับอัตรามูลค่าทองคำเมื่อราวๆ ๑๐๐ ปีก่อน ๖๐๐ บาทก็อาจมีค่าเทียบเท่าในปัจจุบันเกือบๆ ๓๘๐,๐๐๐ บาททีเดียว) และสามารถสร้างเตาเผาของตนเองได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทถ้วยรองน้ำยาง โอ่ง อ่าง กระถาง และอิฐ โดยนายก้วน แซ่ตั้งเป็นพ่อของนายวิจิตร หัตถวิจิตรกุล เจ้าของโรงงาน “กระเบื้องดินเผาเด่นจันทร์” ที่สร้างใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาและชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมจนปัจจุบันกลายเป็นโรงงานกึ่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว และเป็นพี่ชายนายฉึ่น เซบาน ซึ่งเป็นช่างปั้นที่เคยเดินทางไปทำงานในโรงงานปั้นโอ่งที่ราชบุรี และทำให้โอ่งราชบุรีและจันทบุรีมีความสัมพันธ์ระหว่างช่างปั้นในยุคแรกๆ จนสืบเนื่องในทุกวันนี้ ต่อมาลูกหลานจึงสร้างโรงงานโอ่ง อ่าง กระถาง ถ้วยรองน้ำยาง คือ “ตั้งเจริญเครื่องปั้นดินเผา” และ “สมบัติดินเผา” ในปัจจุบัน
หากแต่กลุ่มจีนแคะนอกจาก “แปะสุน แซ่โคว้” แล้ว ยังมี “นายเปี้ยง แซ่ตัน” ที่เป็นช่างปั้นในโรงงานที่บ้านเตาหม้อช่วงนั้นเล่าว่ามีโรงงานใหญ่ดั้งเดิมอยู่ถึง ๖ โรง และน่าจะเป็นคนรุ่นเดียวกับ “นายก้วน แซ่ตั้ง” ต่อมาลูกหลานเครือญาติทำกลุ่มโรงงานเจริญชัยดินเผาและชูชัย ดินทอง และโอ่งเคลือบรุ่นแรกของโรงงานนี้เป็นรูปปูมีชื่อกำกับว่า “อันฮวดเส็ง” และกลุ่มจีนแคะนี้ส่วนใหญ่นับถือคริสต์สาสนานิกายโรมันแคธอลิค ต่างจากกลุ่มจีนแต้จิ๋วที่เดินทางเข้ามาทำอาชีพปั้นโอ่งในระยะหลังที่ปรับมารับนับถือพุทธสาสนาแบบเดียวกับคนไทยทั่วไป
ประเมินอย่างคร่าวๆ ได้ว่าคนในรุ่น “แปะสุน แซ่โค้ว” และ “เปี้ยง แซ่ตัน” น่าจะทำอาชีพปั้นโอ่ง อ่าง ไห ฯลฯ ขายที่ “บ้านเตาหม้อ” มาตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๒๐ หรืออาจจะมีการตั้งชุมชนปั้นเครื่องปั้นดินเผาขึ้นไปจนถึงยุคที่ชาวคริสต์ญวน-จีนที่ถูกผลักไสออกจากเวียดนามราว ๓๐ ปีก่อนหน้านั้นทีเดียว เพราะมีการผลิตโอ่ง อ่าง กระถาง ถ้วยจำนวนไม่น้อยจนมีโรงงานที่บ้านเตาหม้อถึง ๖ โรงแล้ว และด้วยลักษณะที่ตั้ง ภูมิประเทศ และการมีแหล่งดินคุณภาพดี จนทำให้ “หมู่บ้านเตาหม้อ” กลายเป็นชุมชนชาวจีนที่ทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่กันเป็นจำนวนมากในเวลานั้น จนถึงกับเคยเรียกกันว่า “เมืองจีนน้อย” และเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการก่อร่างชุมชนชาวคริสต์ที่เมืองขลุง
โอ่งจันทบูรบ้านเตาหม้อ
คุณพวรรณ ตันเจริญชัย สะใภ้ผู้ดูแลกิจการต่อจากครอบครัวสามีโรงงานเจริญชัยดินเผาเล่าว่า โอ่งเคลือบสีเหลืองอมเขียวพื้นเรียบๆ ที่มี “ตราปู” เป็นสัญลักษณ์และมีชื่อภาษาจีนกำกับประทับบริเวณบ่าว่า “อันฮวดเส็ง” โอ่งรุ่นแรกๆ เป็นโอ่งสูงราว ๗๐-๘๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของก้นและปากโอ่งขนาดเล็กราว ๕๘-๖๔ เซนติเมตร และขนาดเท่ากันจึงมองเห็นว่าสวยงามกว่ารูปทรงโอ่งรุ่นหลังแบบที่ทางราชบุรีนิยมกันซึ่งมีปากกว้างกว่าแบบดั้งเดิม ในระยะหลังจึงทำพิมพ์ทับและแบบลายนูนเป็นลายมังกรและสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นมงคลตามความเชื่อแบบจีน และไม่ได้เขียนแต่ลวดลายมังกรขนาดใหญ่แบบโอ่งจากราชบุรีในปัจจุบัน
โอ่งเนื้อแกร่งมาก เคลือบผิวด้านนอกเช่นนี้นิยมใช้เป็นภาชนะใส่น้ำของผู้คนในเขตพื้นที่น้ำกร่อย โอ่งเนื้อแกร่งเคลือบผิวเหมาะสำหรับการใช้งานไม่ถูกกัดกร่อนจากลมและความเค็มมากนักนัก ตามบ้านเรือนดั้งเดิมส่วนใหญ่พบว่ามีการใช้โอ่งเช่นนี้บ้านละหลายๆ ใบ ซึ่งในภาพเก่าราว พ.ศ. ๒๔๗๙ ก็เห็นโอ่งมังกรสำหรับใช้เป็นภาชนะใส่น้ำดื่มตั้งไว้บนบ้านหลายแห่ง
โอ่งจันทบูรรุ่นแรกๆ เนื้อแกร่งเคลือบสีเหลืองอมเขียว มีรูปสัญลักษณ์ตราปูและตรากระต่ายพร้อมชื่อ “อันฮวดเส็ง” ปัจจุบันเจ้าของเตามีเพียงโอ่งชำรุดอยู่ในบ้านเพียงสองสามใบเท่านั้น ส่วนเตาเผานั้นเลิกผลิตและรื้ออกไปหมดแล้ว
นอกจากนี้ยังเล่าอีกว่าตนเองเป็นคนจีนที่นับถือศาสนาคริสต์และแต่งงานกับสามีซึ่งเป็นคนจีนที่นับถือศาสนาพุทธ บ้านตั้งอยู่ห่างกันไม่ไกลกัน สมัยพ่อแม่ก็มีโรงปั้นโอ่งเช่นกันใช้ “ตราปู” และ “ตรากระต่าย” กำกับด้วยภาษาไทย “อันฮวดเส็ง” ประทับที่ขอบโอ่ง แต่ปัจจุบันเลิกกิจการไปนานแล้ว ทั้งสองแห่งเป็นโรงงานยุคแรกเริ่มสองแห่งใน ๖ แห่งของบ้านเตาหม้อที่เล่าต่อกันมา
จากการศึกษาของ “ภรดี พันธภากร” เรื่อง “การศึกษาเทคโนโลยีเครื่องปั้นดินเผาแหล่งจันทบุรี” สรุปได้ว่า โอ่งเคลือบรุ่นแรกของบ้านเตาหม้อ เรียบๆ ไม่มีลวดลายเคลือบสีเหลืองแกมเขียวอ่อนจนถึงสีเหลืองทอง สีเขียวอมฟ้า สีน้ำเงิน สีน้ำตาลเข้ม สีดำ เทคนิคการเคลือบใช้น้ำขี้เถ้าไม้เงาะและขี้เถ้าไม้เบญจพรรณผสมกับดินเลนจากแอ่งน้ำซึ่งใช้แต่ที่วัดลาดซึ่งจะให้สีอมเหลืองอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ส่วนผสมของสูตรที่แต่ละโรงงานจะไม่เหมือนกันและเป็นความชำนาญเฉพาะเตา ใช้ราดภาชนะก่อนเข้าเผา

โอ่งเคลือบสีเขียวไข่กาที่ผลิตจากบ้านเตาหม้อ
ดินที่ใช้ผลิตนำมาจากแหล่งต่างๆ เช่น ดินบ้านสิ้ว, ดินลำพัน, ดินท่าใต้, ดินสำหนาด, ดินหนองคล้า, ดินหนองสีงา และดินหนองแหวนที่ใช้เขียนลาย ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอท่าใหม่และอำเภอนายายอามที่ติดต่อกัน การเลือกใช้ดินขึ้นอยู่กับแต่ละเตาแต่ละโรงงาน ซึ่งต้องนำไปกองตาก ร่อนและผสมกับทรายและดินต่างๆ ในสูตรผสมของแต่ละเตา
ส่วนเตาเผาที่ใช้สามารถเผาในอุณหภูมิสูงราว ๑,๑๐๐-๑,๒๐๐ องศาเซลเซียส จนได้เครื่องดินเผาเนื้อแกร่ง [Stonware] เรียกว่า “เตาจีน” หรือ “เตามังกร” ซึ่งใช้รูปแบบเตาแบบเดียวกับเตาเผาที่เมืองจีนและใช้มาแต่เดิมแล้ว ขนาดราว ๔๐-๖๐ เมตร มีช่องใส่ไฟ ๔๐-๖๐ ช่อง มีประตูทางเข้าสำหรับใส่เครื่องปั้นดินเผา ๔ ช่องประตู ด้านหน้าเป็นห้องสำหรับใส่ฟืน ด้านในใส่ภาชนะที่จะเผา การเผารอบหนึ่งรวมการนำเข้ารอให้เย็นและนำออกราว ๕ วัน เผาแต่ละครั้งสามารถเผาชิ้นงานพวก อ่าง กระถาง ถ้วยรองน้ำยางได้มากกว่า ๑๔,๐๐๐ ชิ้น ซึ่งในอดีตใช้พื้นที่ราบเชิงเขาตั้งแต่ตีนเขาที่เป็นที่สูงลาดลงมาจนถึงชายริมน้ำรำพัน เพราะเหตุผลในการสุมไฟให้ความร้อนอย่างทั่วถึงมากกว่าเตาในพื้นราบและจุดฟืนน้อยครั้งกว่า ซึ่งทำให้เผาโอ่งขนาดใหญ่จำนวนมากๆ ได้เช่นกัน และต่างจากเตามังกรในปัจจุบันที่ต้องจุดเชื้อเพลิงไปทีละระยะช่องใส่ไฟที่สามารถกำหนดอุณหภูมิสูงๆ ได้แบบจำกัดพื้นที่
และจากการขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำแหล่งเรือจมที่หน้าเกาะทะลุซึ่งอยู่ระหว่างหมู่เกาะมันและเกาะเสม็ดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ พบเรือฉลอมขนาด ๑๐-๑๒ เมตร กว้าง ๔.๐-๔.๕ เมตร มีเครื่องปั้นดินเผาที่พบอยู่ในเรือ ได้แก่ “โอ่ง” ซึ่งมีอยู่จำนวนมากเนื้อดินสีเหลืองนวล เคลือบสีเหลืองแกมเขียวอ่อนขนาดปากเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๘-๖๔ เซนติเมตร ประทับตรา ๓ แบบคือ “ลายมังกรอยู่ในกรอบลูกฟัก” มีอักษรไทยกำกับว่า “มุ่งฮวด”, “ลายม้าบิน” มีอักษรไทยกำกับว่า “ตราม้าบิน” และ “ลายกวางเหลียวหลังอยู่ภายในวงกลม” ไม่มีตัวอักษรกำกับ
นอกจากนี้ยังพบไหปากแคบขนาดกลางและขนาดเล็กดินสีเหลืองแกมเทาเข้ม เผาไฟแกร่งมาก ตรงคอประทับอักษรไทยและจีนว่า “มุ่งฮวด”, อ่างขนาดเล็ก เนื้อดินแกร่ง สีเหลืองนวล ไม่มีลวดลายตกแต่ง, ภาชนะรองขาตู้กับข้าวเนื้อดินแกร่งมาก สีเหลืองนวล เคลือบสีเหลืองแกมเขียวอ่อน ไม่มีลวดลายประดับ ซึ่งตรา “มุ่งฮวด” หรือตราม้าบิน เป็นหนึ่งในเตาเผาดั้งเดิมของบ้านเตาหม้อ

คุณพวรรณ ตันเจริญชัย เจ้าของโรงงานโอ่งตราปูและตรากระต่าย ปัจจุบันเป็นผู้ดูแลโรงงานเจริญชัยดินเผา
จากคำบอกเล่าของคุณพวรรณ ตันเจริญชัย เล่าถึงการใช้เรือฉลอมแล่นใบขนส่ง แต่ละเตาแต่ละโรงจะมีเรือเป็นของตนเองตั้งแต่การใช้แจว ใช้ใบจนมาเป็นการติดเครื่องไปขายตามปากน้ำและหัวเมืองแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉพาะพื้นที่ตั้งแต่ตราด จันทบุรี ประแส แกลง บ้านเพ ระยอง แต่ไม่เคยไปไกลถึงบางปะกงหรือกรุงเทพฯ เพราะน่าจะมีเรือมอญนำสินค้ามาขายในเส้นทางน้ำภายในอยู่แล้ว
และจากการสัมภาษณ์คุณตาหยิม เพชรแก้ว อายุ ๘๓ ปี อดีตเจ้าของเรือฉลอมขนส่งสินค้าและเดินเรือโดยสารคลองโขมง ซึ่งเป็นสาขาลำน้ำย่อยของแม่น้ำจันทบุรีกล่าวถึงการบรรทุกสินค้าใส่เรือฉลอมแล่นใบและใช้เครื่องในเวลาต่อมาไปส่งและรับสินค้าที่ตลาดน้อยในกรุงเทพฯ โดยเล่าว่า เมื่อบรรทุกของกลับมาจากตลาดน้อยมีสินค้าพวกเกลือ ปูนซีเมนต์ ของที่จำเป็นสำหรับชาวสวนคือพวกปุ๋ยกากปลาซึ่งจะรับแถวบางปะกง บางคนก็เอาตู้ไม้จากกรุงเทพฯ หม้อดิน เตาดินมาขาย ส่วนโอ่งนั้นไม่ได้นำมาเพราะแถวเตาหม้อมีโรงปั้นโอ่งกันมานานแล้ว เป็นคนจีนมีโรงปั้นใหญ่ๆ ของพวกคริสต์ท่าศาลาซึ่งมีเรือของตนเองออกมาส่งขายทั่วไป
ปัจจุบันคลองรำพันที่เคยเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญสร้างประตูน้ำจนทำให้กระแสน้ำนิ่ง และบริเวณหน้าบ้านท่าศาลาไม่มีการใช้เรือเป็นพาหนะแม้แต่สักลำเดียว
โอ่งมังกร
ความแตกต่างของโอ่งแบบเดิมที่ควรจะเรียกว่า “โอ่งจันทบูร” ซึ่งมีสีเคลือบเป็นสีเหลืองอมเขียวลายเรียบๆ อาจจะมีการประทับลายที่บ่าภาชนะโดยใช้ไม้แกะลายประทับและมีลวดลายไม่มากนัก รูปทรงปากเล็กก้นเล็กและมีขนาดเท่ากัน ต่างจากโอ่งมังกรในรุ่นหลังๆ ที่รูปร่างอ้วนป่องตรงกลาง ก้นกว้างกว่าปาก ซึ่งน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในสมัยที่มีช่างรุ่นใหม่จาก “ปังโคย” ที่นำเทคนิควิธีรูปแบบการทำโอ่งมังกรเข้ามาเป็นช่างปั้นที่บ้านเตาหม้อในยุคของนายก้วน แซ่ตั้ง ตั้งแต่เมื่อหลังปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ไปแล้ว แต่โอ่งจันทบูรแบบเดิมก็ไม่ได้เลิกผลิตไปแต่อย่างใด เพราะพบว่ามีการเขียนปีที่ผลิตจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๗ จากโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑ์บ้านทะเลน้อย วัดราชบัลลังก์ฯ

โอ่งมังกรที่มีชื่อโรงงานเจริญชัยดินเผาติดอยู่
โอ่งมังกรเนื้อแกร่งรุ่นหลังนี้ใช้ดินเขียนสีเป็นรูปลวดลายต่างๆ เมื่อเผาแล้วจะมีสีเหลืองอมน้ำตาลบนพื้นผิวที่เคลือบสีน้ำตาลส้ม ที่พบมากคือลายมงคลของจีน เช่น มังกร นกกระเรียน นก ดอกไม้ และช้าง เป็นต้น ต้นแบบน่าจะมาจากเมืองปังโคยที่ช่างเหล่านี้เดินทางอพยพจากมา
มีข้อมูลบันทึกอย่างแพร่หลายว่า “นายจือเหม็ง แซ่อึ้ง” เคยเป็นช่างปั้นอยู่ที่ปังโคย เมื่ออายุ ๒๓ ปี ราว พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็มาทำงานที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาเฮ็งเล็งเส็ง เชิงสะพานซังฮี้ ถนนสามเสน เมื่อเดินทางมาจังหวัดราชบุรี พบว่าดินที่จังหวัดนี้เหมาะที่จะทำเครื่องปั้นดินเผา จึงลาออกจากโรงงานที่กรุงเทพฯ แล้วเข้าหุ้นกับเพื่อนเปิดโรงงานเครื่องปั้นดินเผาโดยเฉพาะโรงงานปั้นโอ่งที่จังหวัดราชบุรี ราว พ.ศ. ๒๔๗๙

โอ่งจันทบูร พบที่วัดราชบัลลังก์ฯ บ้านทะเลน้อย อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตราสัญลักษณ์และปีที่ผลิตน่าจะเป็น พ.ศ.๒๔๙๓
คนส่วนใหญ่รู้จักแต่ “โอ่งมังกรราชบุรี” แต่อาจไม่ทราบว่าที่จันทบุรีและที่กรุงเทพฯ ก็เคยมีโรงงานปั้นโอ่งมังกรเนื้อแกร่งอยู่ก่อนแล้ว เพราะข้อมูลจากบ้านศาลาแดงเหนือซึ่งเป็นหมู่บ้านคนเชื้อสายมอญที่เคยเป็นพ่อค้าแม่ค้าทางเรือขนโอ่งและภาชนะดินเผารวมทั้งโอ่งมังกรไปตระเวณขายตามแม่น้ำลำคลองสายต่างๆ ทำให้ทราบว่านอกจากจะมีโรงงานทำโอ่งที่เชิงสะพานซังฮี้แล้วน่าจะมีการผลิตโอ่งเนื้อแกร่งเช่นนี้แถบริมคลองผดุงกรุงเกษม โอ่งรุ่นแรกจะเป็นแบบเรียบๆ ไม่มีลวดลาย ต่อมาจึงใส่ลายมังกรและลายสัตว์อื่นๆ เข้าไป ที่วัดศาลาแดงเหนือมีโอ่งเขียนลายหมูป่าฝีมือดีอยู่ใบหนึ่งเขียนข้อความเป็นภาษาไทยตัวใหญ่ว่า “อยู่เย็นเป็นสุข” เขียนแหล่งผลิตเป็นภาษาไทยว่า “คลองขุดใหม่” และยี่ห้อเป็นภาษาจีน แต่ไม่ได้บอกปีที่ผลิต ซึ่ง “คลองขุดใหม่” เป็นชื่อทั่วไปใช้เรียก “คลองผดุงกรุงเกษม”

โอ่งเคลือบสีน้ำตาลอมเหลืองรุ่นแรกๆ น่าจะผลิตที่บ้านเตาหม้อ เก็บรักษาไว้ที่วัดราชบัลลังกฯ บ้านทะเลน้อย อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ดังนั้นจึงน่าจะพออนุมานได้ว่า โอ่งเนื้อแกร่งขนาดใหญ่สำหรับใส่น้ำตามบ้านนั้นน่าจะนำแบบอย่างมาจากเมืองจีน โดยช่างชาวปังโคยจากเมืองแต้จิ๋ว ในระยะแรกๆ เขียนลวดลายสัตว์มงคลต่างๆ และลายดอกไม้ ใบไม้แบบจีน ตลอดจนสัตว์ที่พบเห็นในท้องถิ่นขณะนั้น เช่น ช้าง หมูป่า เป็นต้น น่าจะเริ่มมีการผลิตทั้งที่จันทบุรีและกรุงเทพฯ มาแล้วตั้งแต่ทศวรรษที่ ๒๔๕๐ ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ต่อกับรัชกาลที่ ๖
ลวดลายจากโอ่งเคลือบสีน้ำตาลอมเหลืองหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โอ่งมังกร ลวดลายต่างๆ เช่น ลายมังกร ลายนกกระเรียน ลายช้าง เป็นต้น
ต่อมาเมื่อมีการเร่ิมต้นผลิตที่โรงงานในจังหวัดราชบุรีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๙ เป็นต้นมาและขายจนได้รับความนิยมไปทั่วประเทศในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้มีโรงงานเกิดขึ้นมากกว่า ๔๐ โรง ซึ่งช่างจากบ้านเตาหม้อที่จังหวัดจันทบุรีก็เดินทางไปทำงานที่ราชบุรีอยู่พักใหญ่ และต่อมาเมื่อนิยมเขียนแต่ลายมังกรแบบเดียวจนกลายเป็นมีชื่อเรียกภาชนะเนื้อแกร่งที่เป็นโอ่งขนาดใหญ่เขียนลายและเคลือบนี้ว่า “โอ่งมังกร” ไปในที่สุด


เตามังกร ซึ่งเป็นเตาเรียวยาว มีช่องใส่ไฟจำนวนมากและต้องตั้งจากแนวเชิงเขาลาดลงสู่ที่ต่ำกว่า ยังเหลืออยู่ที่โรงงานเจริญชัยดินเผา บ้านเตาหม้อ ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
ทุกวันนี้โรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่จันทบุรีนั้นเลิกผลิตโอ่งมังกรไปนานแล้ว แต่รับโอ่งมังกรจากราชบุรีที่ยังมีการผลิตอยู่มาขายแทน ส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่ยังคงผลิตอยู่เป็นจำนวนมากในทุกวันนี้คือ “ถ้วยรองน้ำยาง” กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดของโรงงานทุกแห่งในจังหวัดจันทบุรีในเวลานี้ ซึ่งสามารถทำคนเดียวสามารถผลิตได้เฉลี่ย ๓๐๐ ใบต่อวัน และยังใช้เตามังกรเป็นเตาเผาอยู่แบบเดิม ซึ่งทำให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพดี เนื้อแกร่งและเป็นที่ต้องการของชาวสวนยางทั่วประเทศทีเดียว

เรือฉลอมใช้ใบในแม่น้ำประแสระหว่างบ้านสามย่านและบ้านประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ภาพจาก Robert L. Pendleton Collection. University of Wisconsin-Milwaukee Libraries. http://collections.lib.uwm.edu/digital/ (โรเบริต์ แอล. เพนเดิลตัน เป็นนักปฐพีวิทยาและนักวิชาการเกษตรชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ที่ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงเกษตราธิการในปี พ.ศ.๒๔๘๙ และ FAO ในช่วงเวลาต่อมา ถ่ายรูปและเขียนบทความสำคัญๆ ไว้มากในแง่มุมเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรและการดำเนินชีวิตในช่วงก่อนสงครามเย็น หนังสือที่สำคัญ เช่น Thailand; Aspects of Landscape and Life (1962)

“โอ่งมังกร” ภาชนะใส่น้ำสำหรับใช้ดื่มและใช้บนเรือน เกาะกูด จังหวัดตราด วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ภาพจาก Robert L. Pendleton Collection. University of Wisconsin-Milwaukee Libraries. http://collections.lib.uwm.edu/digital/“โอ่งมังกร”
ภาชนะใส่น้ำบนเรือน ใกล้วัดหัวจันท์ ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๐ และบ้านเรือนใกล้สถานีทดลองพริกไทย เขาวัว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๙ ภาพจาก Robert L. Pendleton Collection. University of Wisconsin-Milwaukee Libraries. http://collections.lib.uwm.edu/digital/
อนึ่ง การรองน้ำยางในอดีตนั้นพบภาพเก่าราว พ.ศ. ๒๔๗๙ ใช้ถ้วยตราไก่เป็นภาชนะรองน้ำยางมาก่อนการผลิตถ้วยรองน้ำยางเช่นในปัจจุบัน
บรรณานุกรม
ภรดี พันธภากร. การศึกษาเทคโนโลยีเครื่องปั้นดินเผาแหล่งจันทบุรี. คณะศิลปรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. ๒๕๕๒
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ความสับสนในที่มาของชื่อ “นางเลิ้ง” จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๑๐๗ (ก.ค.- ก.ย.๒๕๕๘). http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5071, ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. พ่อค้าโอ่งแห่งบ้านศาลาแดงเหนือ. จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๒๔ (พ.ค.-มิ.ย. ๒๕๕๓) http://lek-prapai.org/home/view.php?id=764, ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐.
สายัญ ไพรชาญจิตร์ และบุรณี บุรณศิริ. โบราณคดีสีคราม ๔ : รายงานเบื้องต้นการสำรวจและขุดค้นแหล่งเรือเกาะ ทะลุ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และ การจัดการอบรมหลักสูตรโบราณคดีใต้น้ำระดับกลาง กุมภาพันธ์ – เมษายน ๒๕๓๔. กรมศิลปากร.
หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. ประวัติศาสตร์การอพยพของชาวเวียดนาม. http://catholichaab.com/main/index.php/2015-09-22-02-53-59/2015-09-30-02-35-12/527-2015-10-19-04-34-47, ๑๒พฤศจิกายน ๒๕๖๐
สัมภาษณ์
นายหยิม เพชรแก้ว, อายุ ๘๓ ปี ตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี, ๑๙ กันยายน ๒๕๖๐.
นางพวรรณ ตันเจริญชัย, อายุ ๗๐ ปี ร้านเจริญชัยดินเผา ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี, ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๐.