วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และ พชรพงษ์ พุฒซ้อน
แนวกำแพงดินรูปมุมฉากริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกมีเพียง ๒ ด้าน คือ แนวกำแพงด้านทิศใต้ฝั่งหนึ่งตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาความยาวราว ๘๗๐ เมตร อีกฝั่งหนึ่งทำมุมฉากกับแนวกำแพงด้านตะวันออกความยาว ๑,๐๕๐ เมตร ฐานของแนวกำแพงขนาดราว ๑๒-๑๕ เมตร ความสูงโดยเฉลี่ยราว ๕-๗ เมตร ถือว่ามีขนาดใหญ่และใกล้เคียงกับกำแพงดินที่เป็นเมืองโบราณในละแวกลุ่มเจ้าพระยานี้หลายแห่ง แม้กำแพงดินบางส่วนถูกขุดเจาะเป็นร่องหรือเกลี่ยดินให้เตี้ยลง แต่แนวคันดินทางทิศตะวันออกที่ยังคงไม่ถูกรบกวนมากนัก ส่วนกำแพงทางทิศตะวันออกติดแม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะอาจจะพังลงน้ำดังเช่นวัดร้าง วัดเจดีย์หักที่เหลือร่องรอยไม่มากนัก ส่วนทางทิศเหนือไม่พบร่องรอยแต่อย่างใด แต่ก็อาจจะมีกำแพงเมืองเหนือวัดอัมพวัน จากคำบอกเล่าว่ามี “วัดกำแพง” เป็นวัดร้าง และหากมีกำแพงดินบริเวณนี้ก็จะตรงกับแนวสิ้นสุดของกำแพงดินด้านทิศตะวันออกได้น่าจะใกล้เคียงกัน




ในปัจจุบันนั้นเหลือแต่สภาพความเป็นกำแพงดิน แต่ในอดีตน่าจะมีคูน้ำด้านนอกอยู่ด้วย เพราะบริเวณใกล้เคียงจะมีชื่อสถานที่ติดที่อยู่หลายแห่งที่เกี่ยวกับคู เช่น “หนองคู” ที่อยู่ด้านในเกือบจะบริเวณกึ่งกลางของพื้นที่ภายในกำแพงดินทั้งสองด้านและมีขนาดค่อนข้างกว้างใหญ่ เมื่อพิจารณาจากแผนที่รุ่นแรกซึ่งผลิตขึ้นจากภาพถ่ายทางอากาศก็พบว่าส่วนหนึ่งของหนองน้ำประชิดกับแนวกำแพงด้านใน ทำให้เห็นว่าเป็นส่วนที่รับน้ำหลากมาจากคลองบางชันที่น่าจะหลากในช่วงหน้าน้ำมาจากทางทุ่งพรหมมาสตร์ แต่ปัจจุบันนี้หนองคูถูกปรับพื้นที่เพื่อใช้ทำนาจนเหลือพื้นที่หนองน้ำอยู่เล็กน้อย และ “วัดคู” ที่อยู่ริมกำแพงและแนวคูด้านนอกใต้แนวกำแพงติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

ใกล้กับแนวกำแพงดินด้านทิศตะวันออกระยะราว ๖๐๐ เมตร คือ “คลองบางชัน” ที่สภาพปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบคลองชลประทาน คลองนี้น่าจะเป็นเส้นทางน้ำดั้งเดิมและน่าจะเคยต่อกับลำน้ำลพบุรีที่บ้านปากน้ำได้มาก่อน ส่วนด้านใต้ของเส้นทางน้ำนี้ก็ต่อกับหนองน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น หนองห้วย หนองอ้ายด่าง บึงปากคลี ถือว่าเป็นบริเวณที่ลุ่มต่ำที่รับน้ำทุ่งน้ำหลากจากท้องทุ่งพรหมมาสตร์ในหน้าน้ำในอดีตที่หลากข้ามผ่านลำน้ำลพบุรีสู่พื้นที่บริเวณนี้
แนวกำแพงดินบริเวณนี้จึงเห็นได้ชัดว่าใช้สำหรับเป็นทำนบทดน้ำลงสระหรือบึงน้ำภายในยามหน้าแล้งและบีบแนวแผ่นผืนน้ำยามหน้าน้ำด้วย



แนวกำแพงดินด้านใต้นั้นถูกถนนสายเอเชียหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒ ตัดผ่าแนวกำแพงออกเป็น ๒ ฝั่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๑๖ และขยายให้กว้างขึ้นเป็น ๔ ช่องและ ๘ ช่องการจราจรตามลำดับ ซึ่งก้ทำให้แนวคันดินถูกลบหายไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณฝั่งตะวันตกของแนวถนนและอยู่ในชุมชนย่านเก่า กำแพงดินและคูน้ำถูกลบหายไปมากกว่าแนวกำแพงทางด้านทิศตะวันออกอย่างเห็นได้ชัด
แนวกำแพงด้านใต้ส่วนทางทิศตะวันออกเคยมีผู้นำป้ายไปปักไว้ว่าเป็น “แนวค่ายพม่า” เมื่อนานมาแล้วก่อนที่จะขยายถนนเป็น ๔ ช่องทาง ต่อมาน่าจะมีการเชื่อถือกันมากขึ้นว่า แนวกำแพงดินนี้คือกำแพงค่ายพม่าจริงๆ จึงมีงบประมาณจากรัฐและผู้ศรัทธาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตามสมัยนิยมร่วมกันสร้างศาลและประตูค่ายประดิษฐ์ให้ดูเสมือนเป็นค่ายโบราณทำจากไม้ปรับปรุงให้กลายเป็นสถานที่สาธารณะ สามารถมาพักผ่อนหย่อนใจได้ เมื่อมองเข้ามาด้านหน้าจะเป็นลักษณะของกำแพงค่ายสีแดงอิฐ มีธงปักอยู่ด้านบนพลิ้วไสว ที่นิยมสร้างกันที่อำเภอบางระจันหรืออาจจะเห็นตัวอย่างจากสื่อ เช่น ละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ และศาลาโปร่งที่มีรูปปั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยืนถือดาบและพระพุทธรูปองค์หนึ่งให้สักการะ ชาวบ้านจากที่ต่างๆ แวะเวียนเข้ามาถวายน้ำแดงและรูปปั้นไก่เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ผู้คนส่วนใหญ่จะเห็นเพียงคันดินใหญ่ส่วนนี้เท่านั้น ไม่ได้เห็นภาพของแนวกำแพงดินทุกส่วนที่มีอยู่ แม้ต่อมาจะมีการนำภาพผังแนวกำแพงเดิมมาขึ้นป้ายก่อนทางขึ้นศาลที่สร้างไว้สักการะรูปปั้นสมเด็จพระนเรศวรฯ ก็ตาม


บริเวณนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ใต้ตัวจังหวัดสิงห์บุรีที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกมาตามลำน้ำเจ้าพระยาราวๆ ๑๒ กิโลเมตร ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำราวๆ ๗ กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองละโว้หรือเมืองลพบุรีเดิมราวๆ ๑๗ กิโลเมตร ถือว่าเป็นชุมชนบ้านเมืองเก่าที่อยู่ในระหว่างพื้นที่เมืองโบราณและชุมชนโบราณตั้งแต่ช่วงปลายยุคลพบุรีหรืออโยธยาต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชอาณาจักร และอยู่ในพื้นที่ลำน้ำเก่าที่มีผลต่อการตั้งถิ่นฐาน เช่นเดียวกับชุมชนเก่าแก่แถบนี้อีกหลายแห่ง
หลังสงครามเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๒ แล้วมีการกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองลาวหลายแห่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในแถบบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ริมแม่น้ำ ท้องทุ่งไปจนที่ราบลุ่มลอนลูกคลื่นของจังหวัดลพบุรี ซึ่งก็รวมทั้งชุมชนในแถบเมืองพรหมบุรีนี้ด้วย
เมื่อเริ่มมีการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยผู้สนใจหรือนักการศึกษาที่โดยมากมักใช้เอกสารจากตำนานพงศาวดารเป็นหลัก ซึ่งนิยมใช้วิธีการตีความจาก “ชื่อสถานที่” [Place-name] สำคัญในท้องถิ่นให้เชื่อมโยงหรือเปรียบเทียบหาความใกล้เคียง โดยใช้ข้อมูลที่บันทึกจากพงศาวดารเหนือเป็นหลักอ้างอิง และคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปมาก จึงนำเอาเนื้อเรื่องในพงศาวาดารเหนือ (๑) ตอนที่มีเนื้อหากล่าวถึงพระเจ้าพรหมซึ่งตีความว่าเป็นพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โปรดให้พระเจ้าไกรสรราช โอรสไปครองเมืองละโว้และสร้างเมืองเสนาราชนครในละแวกใกล้กัน (ระยะ ๕๐๐ เส้นประมาณได้ราวๆ ๒๐ กิโลเมตร ซึ่งทำให้นักศึกษาท้องถิ่นสันนิษฐานว่าเป็นเมืองสิงห์บุรีตามชื่อพระเจ้าไกรสรราชที่มีความหมายเกี่ยวกับสิงห์เช่นกัน)
แล้วนำมาผูกโยงเข้ากับชื่อ “เมืองพรหมและเมืองสิงห์” ที่โยงให้สืบเนื่องมาจาก “พระเจ้าพรหม” และพระเจ้าไกรสรราชที่แปลว่าสิงห์ก็โยงมาให้พ้องกับ “เมืองสิงห์” ในรัศมีราว ๕๐๐ เส้น แม้เมืองสิงห์บุรีที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นประวัติศาสตร์แบบตำนานช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยา ที่ถูกนำมาอ้างอิงเผยแพร่อย่างเป็นทางการในเอกสารของราชการและเวบไซต์ต่างๆ อยู่ในขณะนี้ รวมถึงข้อมูลประวัติศาสร์ของเมืองพรหมบุรียุคแรกเริ่มถูกนำมาเล่าต่อและบันทึกไว้โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนและสังคมในวงกว้างแห่งวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ในเทศนาเรื่อง“พรหมนคร เมืองแห่งความหลัง” ท่านเล่าไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔(๒) เริ่มต้นว่า
เมืองพรหมนครเป็นเมืองมาแต่สมัยโบราณ พระเจ้าพรหมมหาราช พระราชบิดาพระเจ้าไกรสรราช ผู้ทรงสร้างเมืองสิงห์บุรี เป็นผู้สร้าง เพราะชื่อเมืองตรงกับพระนามของพระองค์ ว่า “สิงห์บุรี”
เมืองสิงห์ไม่ใช่อยู่ตรงปัจจุบันนี้ เป็นเมืองสิงห์อยู่ที่แม่น้ำน้อยที่เรียกว่าเมืองสิงห์ เมืองสรรค์ เมืองสุพรรณบุรี บ้านช้าง บ้านตาล บ้านพรานแสวงหา บ้านกุ่ม บางบาล อำเภอวิเศษไชยชาญ หัวตะพาน กบเจา อยู่แม่น้ำสายโน้น (แม่น้ำน้อย-ผู้เขียน)
ข้อมูลประวัติศาสตร์แบบตำนาน ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ในข้อเท็จจริง ไม่สามารถนำอธิบายช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ด้วยการตีความจากการพ้องเสียงและเรื่องราว โดยเฉพาะการอ้างอิงจากข้อมูลคำบอกเล่าการบันทึกของการเขียนตำนานหรืออดีตในขนบแบบโบราณ ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากเอกสารบันทึกข้อเท็จจริง
กล่าวได้ว่าก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทองที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่พระเจ้าอู่ทองบุคคลในตำนานที่เป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นั้น บ้านเมืองบริเวณตอนกลางของลุ่มเจ้าพระยานี้มีอยู่หลายแห่ง ทั้งที่เป็นนครขนาดใหญ่ เช่นที่ลพบุรีทางฝั่งตะวันออก และสุพรรณภูมิทางฝั่งตะวันตก เมืองอโยธยาที่อยู่บริเวณต่ำลงมาและอยู่ปลายสุดของพื้นที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่าและอยู่กึ่งกลางของนครทั้งสองแห่ง เมืองแพรกศรีราชาซึ่งเป็นเมืองกึ่งกลางริมแม่น้ำน้อย รวมทั้งชุมชนบ้านเมืองขนาดเล็กในบริเวณท้องทุ่งและริมแม่น้ำต่างๆ
เมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีใหม่ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่าได้จัดตั้งเมืองสิงห์บุรีเป็นเมืองลูกหลวง เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรีเป็นเมืองหลานหลวง เมืองทั้งสามนั้นยังเป็นหัวเมืองชั้นในและหัวเมืองหน้าด่านรายทางของด้านทิศเหนือ โดยมีเมืองลพบุรีเป็นเมืองด่านหลัก ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นปกครองกรุงศรีอยุธยา มีการจัดระเบียบการปกครองใหม่ เป็นระบบที่สร้างอำนาจรวมศูนย์มากกว่าที่เคยและกรุงศรีอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรอย่างแท้จริงในยุคนี้
มีการปฏิรูปการปกครองโดยมีการแบ่งเป็นฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนออกจากกันอย่างชัดเจน ให้ทหารเป็นสมุหพระกลาโหมดูแลฝ่ายทหาร และให้พลเรือนเป็นสมุหนายกดูแลฝ่ายพลเรือน รวมทั้งจตุสดมภ์ในราชธานี กำหนดให้หัวเมืองที่อยู่ใกล้ราชธานีหรือหัวเมืองชั้นในเป็นเมืองจัตวา หัวเมืองที่อยู่นอกราชธานีไกลออกไปกำหนดฐานะเป็นหัวเมืองเอก โท ตรี โดยลำดับตามขนาด
ความสำคัญของเมือง เมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหัวเมืองชั้นในจึงเปลี่ยนเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า “ผู้รั้ง” ไม่เรียก “เจ้าเมือง” เพราะไม่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างเจ้าเมือง ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้ากระทรวงในราชธานี และพระมหากษัตริย์มักจะทรงแต่งตั้งขุนนางในกรุงศรีอยุธยาออกไปทำหน้าที่ดังกล่าว จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของราชธานีอย่างใกล้ชิด เมืองสิงห์ เมืองอินทร์ เมืองพรหมจึงเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรอยุธยาเรื่อยมา (๓)
การชำระ “กฎหมายตราสามดวง” ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ซึ่งเป็นการชำระกฎหมายเก่า ที่มีมาแต่ครั้งโบราณ แล้วรวบรวมเป็นประมวลกฎหมายขึ้นเมื่อ จุลศักราช ๑๑๖๖ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๗ ที่กล่าวถึงใน “พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง” ใจความว่า “ออกเมืองพรหมบุรีย เมืองพรหม ขึ้นประแดงจุลาเทพซ้าย” (๔)
การปกครองแบบโบราณนับจากสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบ้าง แต่ยังคงโครงสร้างตามเดิม ตำแหน่งเจ้าเมืองพรหมซึ่งตำแหน่งเดิมก่อนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ คือ “พระพรหมบุรินทร์” แปลงเป็น “พระพรหมประสาทศิลป์” ซึ่งยังใช้เป็นตำแหน่งในราชทินนามเจ้าเมืองพรหมต่อมาจนเมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพ.ศ. ๒๔๓๘ โปรดเกล้าฯ ให้จัดการปฎิรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ครั้งแรกได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๔ มณฑล คือ มณฑลนครไชยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยาในรัชกาลที่ ๖) เมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรี ถูกจัดรวมเข้าอยู่ในมณฑลกรุงเก่า (มณฑลอยุธยา) ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้กำหนดฐานะเมืองอินทร์บุรีและเมืองพรหมบุรีให้เป็น “อำเภอ” ขึ้นตรงกับเมืองสิงห์บุรี ยกฐานะของผู้ครองเมืองเป็นผู้ว่าราชการอำเภอ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ จึงเปลี่ยนเป็นชั้นนายอำเภอสามัญ
พระครูภาวนาวิสุทธิคุณหรือหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม แห่งวัดอัมพวัน ผู้ล่วงลับไปแล้ว กล่าวว่าได้สอบประวัติบริเวณสถานที่ตั้งของเมืองพรหมบุรีไว้อย่างละเอียด(๕) จนกลายเป็นข้อมูลค่อนข้างแน่ชัดถึงการมีอยู่ของเมืองพรหมบุรีตั้งแต่สมัยอยุธยาในบริเวณริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาภายในแนวกำแพงดินที่ปัจจุบันถูกเรียกว่าคูค่ายพม่าในทุกวันนี้
“เมืองพรหมนครตั้งอยู่ใต้วัดอัมพวัน เหนือวัดประสาทหรือวัดเจดีย์หัก ตำบลพรหมบุรี ปัจจุบันคือบ้านนาง เฮี๊ยะ พรหมายน อาศัยอยู่ขณะนี้ นางเฮี๊ยะนั้นเป็นแม่ยายช่างปุ่น เชยโฉม มัคทายกวัดอัมพวันและเป็นผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองพรหมนคร ตัวเมืองเก่ามีกำแพงเมืองถึงเหนือวัดอัมพวันที่เรียกว่า “วัดกำแพงเมือง” ยังมีซากอยู่ขณะนี้ เหนือขึ้นไปเรียกว่า “วัดพระแก้ว” มีเนื้อที่มาก บริเวณด้านตะวันออกยังมี “วัดสมิด วัดช่างเหล็ก วัดช่างทอง” ขณะนี้ไม่มีซากเหลืออยู่ เพราะถูกขุดถูกทำลายไปหมด
เมื่อเข้าไปสำรวจบริเวณใกล้กับวัดอัมพวันก็พบว่ามีวัดกำแพงเมืองและวัดพระแก้วซึ่งอยู่บริเวณใกล้กับแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่ไม่ไกลจากวัดอัมพวัน ภายในแนวขอบของกำแพงเมืองหากจะมีจากด้านทิศเหนือต่อกับทิศตะวันออกซึ่งไม่พบร่องรอยแล้ว วัดร้างทั้งสองแห่งได้รับการดูแลและบูรณะพระพุทธรูปโดยหลวงพ่อจรัญ แห่งวัดอัมพวันผู้ล่วงลับไปแล้วจนดูสภาพของโบราณวัตถุสถานต่างๆ จะไม่เห็นความเป็นดั้งเดิมไปแล้ว
…สมัยนั้นเจ้าคณะเมืองสงฆ์คือ พระครูญาณสังวร วัดอัมพวัน ต่อมาสมัยหลังคือ พระครูพรหมนครบวรราชมุนี วัดอัมพวัน เป็นเจ้าคณะเมือง
ต่อมาสมัยหลังอีก เจ้าคณะเมืองย้ายไปอยู่ “วัดคงคาเดือด” ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “วัดป่าหวาย” ต่อมาเมืองพรหมบุรีย้ายตั้งที่ทำการใหม่ ไปตั้งที่ “ปากบางหมื่นหาญ” ตำบลบ้านหมื่นหาญ ปัจจุบันคือร้านดาวทองที่ตลาดปากบาง และย้ายไปตั้งที่ทำการ “จวนหัวป่า” เหนือ “วัดพรหมเทพาวาส” แล้วย้ายข้ามไปฝั่งตะวันออกที่โรงเรียนพรหมวิทยาคาร สมัยต่อมานายอนันต์ โพธิ์พันธ์ นายอำเภอพรหมบุรีได้ย้ายที่ว่าการอำเภอ ล่องไปตั้งอยู่ที่เหนือวัดกุฎีทองในปัจจุบันนี้…..”
นอกจากนี้ยังกล่าวถึง “วัดประสาท” หรือ “วัดเจดีย์หัก” เคยเป็นวัดโบราณใหญ่โตมีเนื้อที่ถึง ๑๘๐ ไร่ เจดีย์วัดประสาทชำรุดโดยภัยธรรมชาติ เจดีย์ก็หักลงแม่น้ำเจ้าพระยามากว่า ๔๐ กว่าปีแล้ว (บรรยายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔) พระเครื่องจากเจดีย์นั้นมากมาย เรียกว่า “เสมาชัย-เสมาขอ” พระเครื่องเหล่านี้ถือว่าเป็น “พระเครื่องเมืองพรหมบุรี” ซึ่งทางวัดจัดจำลองให้เช่าบูชาเผยแพร่





เมื่อสำรวจบริเวณวัดร้างที่ “วัดเจดีย์หัก” พบว่าบางแห่งมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ที่วัดเจดีย์หักมีการสร้างอาคารคลุมเป็นศาลาย่อมๆ โบราณวัตถุที่พบระบุได้จากรูปแบบ เช่น ใบเสมาทำจากหินทราย เป็นใบเสมาที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยา ชิ้นส่วนพระพุทธรูปทำจากหินทรายแดงและชิ้นส่วนของพระพุทธรูปปูนปั้น อิฐจากโบราณสถาน ส่วนหนึ่งในพังลงไปแม่น้ำเจ้าพระยาไป และมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมโดยมาก
เมื่อหลวงพ่อจรัญรับหน้าที่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวันนั้น แม้จะเป็นวัดเก่าแก่แต่ก็ค่อนข้างทรุดโทรม เพราะมีการย้ายที่ตั้งเมืองพรหมบุรีไปอยู่ทางตลาดปากบาง เจ้าคณะเมืองพรหมบุรีก็ย้ายจากที่วัดอัมพวันไปอยู่วัดป่าหวายฝั่งตรงข้าม ต่อมาจึงย้ายตัวเมืองพรหมไปอยู่ ณ บ้านของเจ้าเมืองพรหมที่ “บ้านหัวป่า” ซึ่งเรียกว่า “จวนหัวป่า” อยู่เหนือวัดพรหมเทพาวาสที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดชลอน” ซึ่งเป็นวัดสำคัญของชุมชนที่กรมการเมืองใช้ทำพิธีถือน้ำและอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บุตรหลานของท่านเจ้าเมือง ได้รับพระราชทานนามสกุล “พรหมายน”
อนึ่ง บ้านหัวป่าอันเป็นที่ตั้งเมืองพรหมบุรีในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ ทั้งชาวบ้านและบันทึกของหลวงพ่อจรัญได้ยืนยันว่าเป็นที่มาของคำว่า “แม่ครัวหัวป่า” ที่แพร่หลายในราชสำนักเปรียบเปรยผู้ที่ทำอาหารอร่อยว่าเป็นแม่ครัวหัวป่า อันสืบเนื่องมาจากการเตรียมอาหารรับเสด็จของชาวเมืองพรหมที่วัดชลอนบ้านหัวป่าใน พ.ศ. ๒๔๒๑ จังหวัดสิงห์บุรีได้เปิดอนุสาวรีย์เจ้าเมืองพรหมบุรีและเปิดป้ายอาคารพิพิธภัณฑ์ เมืองพรหมบุรี บุตรหลานสายสกุลเจ้าเมืองพรหมบุรีและประชาชนได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์พระพรหมประสาทศิลป์ (ฟัก) เจ้าเมืองพรหมบุรี ฉลอง ๑๐๐ ปี เสด็จประพาสต้น ไว้ที่วัดพรหมเทพาวาส (ชลอน) เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๑ นี้เอง
มีรายละเอียดในบันทึกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกไว้ใน “ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา เมื่อ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑” (๖) เมื่อเสด็จมานมัสการพระนอนจักรสีห์ว่า
บริเวณเมืองลพบุรีหากไม่ใช่หน้าน้ำการเดินทางด้วยเรือเป็นเรื่องไม่สะดวกและยากมาก เพราะน้ำแห้งตั้งแต่เดือนยี่จนถึงเดือนหก ชาวบ้านทางลพบุรีต้องบรรทุกสินค้าใส่เกวียนเดินทางบกไปลงเรือที่บ้านแป้ง แขวงเมืองพรหมบุรีแล้วใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเดินทางเรือต่อไป
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินจากเมืองลพบุรีในช่วงหน้าน้ำเดือนสิบสอง ทรงพระราชดำเนินออกมาทางท้องทุ่งพรหมมาสตร์แล้วมาออก “ปากน้ำบางพุทรา” ปากน้ำตรงบ้านบางพุทรานี้น่าจะคือปากน้ำลำน้ำลพบุรีต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ-ผู้เขียน แล้วล่องมาจนถึงพลับพลาที่คลองกทุงแขวงเมืองพรหมบุรี แต่เนื่องจากพลับพลายังไม่เรียบร้อยจึงเสด็จพระราชดำเนินต่อไปที่วัดบ้านแป้ง ที่บ้านแป้งเป็นท่าขึ้นเรือแล้วเดินเท้าหรือทางเกวียนเข้าสู่เมืองลพบุรีเวลาหน้าแล้ง แล้วเข้า “คลองกทุง” ใกล้ออกแม่น้ำเมืองสิงห์ที่เป็นช่องแคบพอเรือกลไฟแล่นเข้าไปได้เมื่อออกสู่แม่น้ำน้อยแล้วน้ำเชี่ยวจัด แล้วแล่นทวนเข้า “คลองจักรสีห์” ขึ้นไปจนถึงท่าวัดพระนอนจักรสีห์ ทรงมีพระราชดำริว่าในอดีตลำน้ำคงเคยเป็นลำน้ำใหญ่ที่มีชุมชนเดิมตั้งอยู่ และพระนอนจักรสีห์น่าจะสร้างมาตั้งแต่ก่อนตั้งกรุงทวารวดีศรีอยุธยา โดยราษฎรเคารพบูชามาก มีบายศรีบูชาไม่ขาด โดยกำหนดวันแรมแปดค่ำ เดือนสิบเอ็ด ราษฎร เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองชัยนาท เมืองสิงห์ เมืองอ่างทอง เมืองลพบุรี กรุงเก่า นัดกันมาไหว้มาเล่นการนักขัตฤกษ์ทุกปี
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับก็ใช้เส้นทางคลองกทุงล่องมาตามลำน้ำถึงวัดชลอน เดิมชื่อว่าวัดพรหมเทพาวาส ซึ่งเป็นวัดที่กรมการเมืองพรหมใช้ถือน้ำ แล้วจึงล่องลงมาจนถึงวัดไชโย…
ปัจจุบันอำเภอพรหมบุรีตั้งอยู่เหนือ วัดกุฎีทอง ตำบลบางน้ำเชี่ยวตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๖ ในยุค นายอนันต์ โพธ์พันธ์ เป็นนายอำเภอ
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมได้เสนอไว้ในหนังสือสร้างบ้านแปงเมือง (๗) ว่าเมืองพรหมบุรี บริเวณที่ตั้งเดิมอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามเขตบ้านแป้ง จากภาพถ่ายทางอากาศที่พบร่องรอยของเขตคันดินและคูน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ (ปัจจุบันคันดินเหลือเพียงให้เห็นเป็นรูปตัว L ) ปัจจุบันคนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคูค่ายพม่า
เมื่อเข้าไปสอบถามผู้คนในท้องถิิ่นนี้แถบวัดคูซึ่งอยู่ปลายสุดของแนวกำแพงเมืองฟากตะวันตกของถนนสายเอเชีย ไม่ห่างจากวัดเจดีย์หักนักก็มีความเชื่อที่ว่าบริเวณแห่งนี้เป็นคูค่ายพม่าไปเสียหมดแล้ว เช่น ประวัติของวัดคู สอดคล้องกับเรื่องราวของคูเมืองพม่า โดยเล่ากันว่า มีพระรูปหนึ่งชื่อ “หลวงตาคู” จำวัดอยู่ที่วัดเจดีย์หัก ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี แล้วไปนำเอาข้อมูลในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ มาอธิบายว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๗ พระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพลงมาที่เมืองชัยนาทและให้ทัพหน้าตั้งค่ายที่ปากน้ำบางพุทรา หวังจะมาสมทพกับเจ้าเมืองพสิมเพื่อรวมกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าเดินทัพพม่าเดินทัพผ่านวัดเจดีย์หักได้พบ “พระธรรมคง” เป็นพระที่อยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้า จึงได้ลากร่างทั้งทุบตีท่าออกไปที่แนวค่ายและขาดใจตรงบริเวณหัวคูค่ายพม่า ชาวบ้านร่วมกันศาลสร้างไว้บริเวณหน้าแนวกำแพงดินจากการเข้าฝันของหลวงตาคู ศาลนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์บอกเล่าของคนในท้องถิ่นที่เชื่อว่าบริเวณนี้เป็นคูค่ายพม่าสอดคล้องกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ในพงศาวดาร ผู้คนต่างเชื่อว่าที่แห่งนี้เป็นคูค่ายพม่า (๘)
ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารเรียกศึกครั้งนี้ว่า “ศึกหงสาวดีครั้งที่ ๑” พ.ศ. ๒๑๑๘ พระเจ้าหงสาวดีให้พระเจ้าเชียงใหม่ ยกทัพมาทางเมืองกำแพงเพ็ชร ให้พระยาพะสิมยกทัพมาทางสุพรรณบุรี ซึ่งทัพพระยาพะสิมถูกตีแตกพ่ายไปก่อนที่ทัพพระเจ้าเชียงใหม่จะเคลื่อนทัพลงมาทันสมทบใช้เวลาราว ๒ เดือน เมื่อทัพพระเจ้าเชียงใหม่ถึงเมืองชัยนาท บุรี ให้ทัพหน้ามาตั้งที่ “บางพุทรา” และ “บางเกี่ยวหญ้า” ทัพสมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระมหาอุปราชถึง “บ้านชะไว เมืองไชโย แขวงวิเศษไชยชาญ” ซึ่งสถานที่นี้ในสงครามกับพระเจ้าเชียงใหม่ในปีถัดมาถือว่าเป็นฐานกำลังพลตั้งรับศึกที่สำคัญทั้งทัพพระเจ้าเชียงใหม่และทัพของกรุงศรีอยุธยา โปรดให้พระราชมนูเป็นนายทัพ คุมทัพหน้าไปตีข้าศึกที่บางพุทราโดยใช้ยุทธวิธีแบบซุ่มโจมตี ทัพหน้าพม่าจึงถอยกลับไปเมืองชัยนาทบุรีและทัพพระเจ้าเชียงใหม่เห็นทัพพระยาพะสิมแตกพ่ายไปแล้วจึงถอยทัพกลับไป (๙)
อย่างไรก็ตาม ตามคำบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องพรหมบุรีในอดีตจากหลวงพ่อจรัญแห่งวัดอัมพวันนั้น ไม่ได้ระบุถึงคูค่ายพม่าซึ่งมีที่มาจากการตีความเนินดินเป็นพิเศษแต่อย่างใด ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าข้อมูลว่าแนวกำแพงดินนี้คือคูค่ายพม่าน่าจะถูกสร้างขึ้นมาในระหว่างช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่มีการสร้างศาลหลวงตาคูเป็นหมุดหมายของการสร้างความเชื่อว่าแนวกำแพงดินที่ปรากฎนี้คือคูค่ายพม่า โดยนำข้อมูลมาจากพระราชพงศาวดารในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งบริเวณที่ปรากฎชื่อ “ปากน้ำบางพุทรา” อยู่ห่างจากกำแพงดินโบราณที่เมืองพรหมบุรีขึ้นไปทางเหนือตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาราวๆ ๑๐ กิโลเมตรส่วนบ้านชะไวที่ตั้งทัพอีกแห่งในบริเวณนี้นั้นอยู่ห่างจากเมืองพรหมบุรีตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาราว ๒๐ กิโลเมตร และเมืองพรหมนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าป็นเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ไม่มีบันทึกถึงเมืองพรหมไว้ในการเป็นเมืองรับศึกหรือตั้งคูค่าย ณ บริเวณกำแพงดินนั้นแต่อย่างใด
และเหตุผลประการสำคัญก็คือไม่มีแนวค่ายพม่าที่ใดสร้างด้วยกำแพงดินขนาดใหญ่แข็งแรงแนวกำแพงที่เหลืออยู่วัดได้เกือบๆ ๒ กิโลเมตร ฐานของแนวกำแพงขนาดราว ๑๒-๑๕ เมตร ความสูงโดยเฉลี่ยราว ๕-๗ เมตร ต้องใช้เวลาในการสร้างและใช้กำลังพลเป็นจำนวนมาก จนสามารถสันนิษฐานไปจนถึงสรุปได้ว่าไม่น่าจะมีการทำงานเพื่อสร้างป้อมค่ายเช่นนี้ไม่ว่าจากทั้งฝั่งพม่าหรือทางฝั่งไทย
แต่หากสันนิษฐานเมืองพรหมบุรีอยู่ในตำแหน่งของเมืองเก่าที่อาจจะมีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และต่อมาอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญสำหรับการตั้งรับศึกพม่าทั้งจากทางเหนือและทางตะวันตก รวมทั้งเป็นเมืองที่มีชุมชนและวัดวาอารามอยู่ไม่น้อยเช่นนี้ จึงต้องสร้างเมืองที่มีแนวกำแพงดินแข็งแรงและมีขนาดใหญ่ก็น่าจะเป็นไปได้มากกว่าความเป็นคูค่ายพม่าดังที่ตีความกันมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ ๒๕๑๐ จนถึงทุกวันนี้
เชิงอรรถ
(๑) พงศาวดารเหนือเรียบเรียงโดยพระยาวิเชียรปรีชา (น้อย) เจ้ากรมราชบัณฑิตย์ขวาใน พ.ศ. ๒๓๕๐ ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ครั้งยังดำรงพระเกียรติยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีรับสั่งให้นำเรื่องราวครั้งกรุงเก่ามาเรียบเรียงให้เป็นเรื่องเดียวกัน ...เรื่องสยามราชพงษาวดารเมืองเหนือ ตั้งแต่บาธรรมราช สร้างเมืองสัชชนาไลยเมืองสวรรคโลก ได้เสวยราชสมบัติ ทรงพระนามพระเจ้าธรรมราชาธิราช เปนลำดับลงมาจนถึงพระเจ้าอู่ทอง สร้างกรุงศรีอยุทธยา...
(๒) พระครูภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมฺโม). พรหมนคร เมืองแห่งความหลัง. บันทึกธรรมกถาเมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๔ https://th.wikibooks.org/wiki/พรหมนคร_เมืองแห่งความหลัง , สืบค้นเมื่อ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๑.
ประวัติหลวงพ่อจรัญชื่อเดิมคือ นายจรัญ จรรยารักษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ บิดามารดาเป็นชาวนาที่ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านได้รับฉายาว่า “ฐิตธมฺโม” ทางคณะสงฆ์ก็ได้ให้หลวงพ่อจรัญไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดโบราณ ทรุดโทรม มีเพียงพระบวชจำพรรษาเพียง ๒ รูป โดยหลวงพ่อได้เข้าไปพัฒนาและได้สอนกรรมฐานคติธรรมจนเป็นประโยชน์แก่คนมากมายท่านมีชื่อเสียงในระดับประเทศจากการเป็นพระนักพัฒนา พระนักเทศน์ และพระวิปัสสนาจารย์ เน้นหนักที่การสั่งสอนเรื่องกฎแห่งกรรม พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ ในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
(๓) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน, กรุงเทพ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๔.
(๔) เรื่องกฎหมายตราสามดวง ฉบับกรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่, ๒๕๒๑ หน้า ๑๗๗
(๕) พระครูภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมฺโม). พรหมนคร เมืองแห่งความหลัง. บันทึกธรรมกถาเมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๔ https://th.wikibooks.org/wiki/พรหมนคร_เมืองแห่งความหลัง, อ้างแล้ว
(๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา เมื่อ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑. พิมพ์เนื่องในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลศตมาห พระศพสมเด็จพระปิตุฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ . โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
(๗) ศรีศักร วัลลิโภดม “สร้างบ้านแปงเมือง” ,กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๖๐. หน้า ๑๗๙
(๘) สัมภาษณ มงคล พ่วงโพธิ์, อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑, ประยงค์ ศรีพันธุ์, อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี, สุรีลา สุขมูล, ครูชำนาญการพิเศษข้าราชการบำนาญ, เอกชัย ศรีพันธุ์ ทั้ง ๓ ท่านสัมภาษณ์เมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๑, บุคคลในหมู่บ้านหมู่ ๑ บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี, ๒ ตุลาคม ๒๕๖๑. มีข้อสังเกตว่าข้อมูลเหล่านี้ล้วนแพร่หลายอยู่ในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองพรหมบุรีอยู่แล้ว
(๙) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)