วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
(เคยตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑ , มกราคม-มีนาคม ๒๕๔๐)
ข้อมูลทางโบราณคดีในราว ๒ -๓ ปี ที่ผ่านมากล่าวถึง บ้านวังหาด อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ว่าเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยทวารวดี อันเนื่องมาจากมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น เครื่องประดับสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดหินมีค่าต่างๆ ที่น่าจะแสดงถึงกลุ่มชุมชนที่มีอายุอยู่ในช่วงยุคเหล็กลงมา
แม้จะเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็มีประเด็นที่ทำให้แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาดน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับการพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บริเวณตอนเหนือของจังหวัดสุโขทัยและในปริมณฑลมาก่อน อีกทั้งเมื่อกล่าวถึงสุโขทัย ย่อมมีการติดเพดานความคิด เรื่องรัฐสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และแนวความคิดเรื่องการอพยพของชนชาติไทยเป็นหลัก เรื่องราวของผู้คนและชุมชนก่อนหน้านั้น แทบจะไม่ปรากฏร่องรอยอื่นใดเลย นอกจากในตำนานที่เขียนขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งมิได้ร่วมสมัยในเหตุการณ์โดยตรง
ด้วยเหตุดังกล่าว แหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญแห่งนี้จึงควรถูกพิจารณาเป็นพิเศษ
เด่นปางห้าง” “ห้วยแม่กองค่าย” “บ้านวังหาด” “บ้านตลิ่งชัน”: แหล่งโบราณคดีริมน้ำแม่ลำพัน
ต้นน้ำแม่ลำพันอยู่ในหุบเขาเขตอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ไหลลัดเลาะเป็นลำธารสายเล็กๆ น้ำมากไหลแรงในฤดูน้ำ และเกือบจะแห้งผากในช่วงแล้ง ลำน้ำแม่ลำพันไหลจากเทือกเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดสุโขทัย ในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย กลายเป็นเส้นน้ำสำคัญไหลอ้อมผ่านเมืองเก่าสุโขทัยแล้วไปรวมกับลำน้ำยมแถวตัวจังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน เป็นระยะทางกว่า กิโลเมตร
ในเขตที่สูงระดับ ๑๐๐-๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล จนถึงบริเวณเทือกเขาในระหว่างห้วยแม่กองค่าย, ห้วยแม่ลำพัน, ห้วยโด, ห้วยข้ามแดน เป็นเขตที่สูงที่อยู่ระหว่างหุบเขาไปจนถึงบ้านแม่แสลมในเขตอำเภอเถิน ซึ่งสามารถติดต่อกับเส้นทางที่ใช้กันมาแต่โบราณ อันเป็นเขตรอยต่อระหว่างเมืองเหนือกับเมืองใต้ (หมายถึงสุโขทัยกับล้านนา) ดังปรากฏหลักฐานสิ่งก่อสร้างลักษณะเป็นป้อม ที่บ้านหอรบ อยู่ห่างจากอำเภอทุ่งเสลี่ยมไปไม่ไกลนัก

บริเวณต้นน้ำแม่ลำพัน มีแหล่งโบราณคดีไล่เรียงจากที่สูงมาสู่ทุ่งราบ ดังนี้
เด่นปางห้าง
หากเริ่มต้นเดินทางกันที่บ้านวังหาด ต้องใช้ทางเดินเท้าข้ามลำห้วย ลำธาร ผ่านป่าเขาที่เพิ่มระดับความสูงขึ้นทีละน้อย เป็นระยะทาง ๕ -๖ กิโลเมตร จึงจะถึง เด่นปางห้าง ป่าบริเวณนี้เปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เพราะชาวบ้านใช้ประโยชนจากป่าขึ้นลงเขากันขวักไขว่ ทั้งเลี้ยงวัวยามหน้าแล้ง หาพืชผักต่างๆ ตามฤดูกาล ล่าสัตว์ขนาดเล็กใช้เป็นอาหาร และบางคนยังลักลอบตัดไม้ให้นายทุนด้วย เส้นทางนี้ใช้กันมานาน เพราะชาวบ้านดั้งเดิมของบ้านตลิ่งชันและบ้านวังหาด ใช้ทางเดินเท้าในป่าสายนี้พากันอพยพมาจากเมืองเถินเมื่อกว่า ๗๐-๘๐ ปีมาแล้ว
ลักษณะภูมิประเทศของเด่นปางห้างเป็นพื้นที่ราบแคบๆ ขนานกับแนวลำห้วย ที่ราบลุ่มในขอบเขตพื้นที่สูงล้อมรอบเช่นนี้ ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า เด่น ซึ่งหมายถึงที่ราบโล่ง เป็นลานกว้าง ลักษณะคือป่าแพระที่เป็นป่าโปร่งหรือป่าละเมาะ ที่ได้ชื่อว่า เด่นปางห้าง เพราะในยุคที่มีการทำสัมปทานป่าไม้ สถานที่ดังกล่าวเคยใช้เป็นปางหรือห้างซึ่งหมายถึงที่พักชั่วคราวในป่าสำหรับคนและช้างที่เข้ามาชักลากซุง เป็นที่หมายซึ่งชาวบ้านรู้จักกันเป็นอย่างดี
ที่ลุ่มของเด่นปางห้างมีพื้นที่ ๒ แห่งที่พบกิจกรรมการถลุงโลหะ ซึ่งน่าจะเป็นการถลุงเหล็ก จุดแรกอยู่ทางด้านตะวันออกเป็นเนินดินรูปยาวรี ขนาดประมาณ ๒๐ x ๑๐ เมตร จุดที่สูงที่สุดราว ๑ เมตร พบเศษตะกรันขี้แร่ [slag] เป็นจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วทั้งเนิน ทั้งแบบก้อนและแบบหยด ขนาดต่างๆ ไม่พบชิ้นส่วนท่อลมดินเผา แต่พบผนังเตาทำด้วยดินเผาเป็นส่วนขอบด้านบนความหนา ๗ เซนติเมตร ผิวด้านนอกมีคราบขี้ตะกรันแร่ติดอยู่ ก้อนผนังเตาเหล่านี้ ปรากฏบนผิวดินมีจำนวนมาก
ห่างจากจุดแรกไปทางตะวันตกราว ๒๐๐ -๓๐๐ เมตร มีเนินดินเตี้ยๆ พื้นที่กว้างขวางขนาดไม่ต่ำกว่า ๑๐ ไร่ มีการถลุงโลหะกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งบริเวณ เท่าที่สำรวจพบมีเศษตะกรันแร่หนาแน่นเป็นบางแห่ง บางจุดที่ห่างออกไปพบก้อนหินที่ถูกทุบละเอียดเกิดจากการเตรียมแต่งก้อนแร่ก่อนการถลุง ทำให้เห็นว่าบริเวณเนินดินดังกล่าว มีการแบ่งพื้นที่สำหรับกิจกรรมการถลุงโลหะ ซึ่งน่าจะเป็นการถลุงเหล็ก นับเป็นพื้นที่แหล่งผลิตขนาดใหญ่ทีเดียว
ขอบของเนินดินด้านตะวันตกมีหลุมลักลอบขุดที่ชาวบ้านขึ้นเขามาขุดหาของเก่ากันเมื่อสองสามปีที่ผ่านมาจนถึงเมื่อเร็วๆนี้ และทางด้านตะวันตกของเนินห่างไปราว ๕๐ เมตร มีหลุมลักลอบขุดอยู่ทั่วไป จากคำบอกเล่ากล่าวว่าพบโบราณวัตถุจำนวนมาก โบราณวัตถุที่พบคือ เครื่องประดับสำริด เช่น กำไลและกระพรวน, เครื่องมือเหล็กจำพวกขวานที่ใช้ไม้ต่อด้าม เครื่องมือจำพวกสิ่ว และหอก, ลูกปัดแก้วและลูกปัดหินจำพวกคาร์เนเลียนและอาเกต, เศษภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง ส่วนโครงกระดูกมนุษย์นั้นแทบไม่พบเลย แต่ก็มีการพบชิ้นส่วนกำไลสำริดสวมที่กระดูกแขนมนุษย์ชิ้นหนึ่ง รูปแบบของโบราณวัตถุเช่นนี้มีรูปแบบเดียวกับที่พบในแหล่งโบีราณคดีบ้านวังหาดและแหล่งโบราณคดีบ้านตลิ่งชัน
ความสัมพันธ์ของเนินดินที่มีกิจกรรมถลุงโลหะและโบราณวัตถุที่พบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกัน ในห้วงเวลาใกล้เคียงกันอย่างชัดเจน
ห้วยแม่กองค่าย
ตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันกับ เด่นปางห้าง ถัดมาทางตะวันตกราว ๒ กิโลเมตร เหนือลำห้วยแม่กองค่ายเล็กน้อย เป็นสถานที่ซึ่งชาวบ้านเข้ามาลักลอบขุดอีกเช่นกัน จุดที่พบโบราณวัตถุลักษณะเป็นที่ราบใกล้ลำห้วย อยู่ลึกจากผิวดินราว ๐.๕ – ๑.๐ เมตร พื้นที่โดยรอบเป็นป่าเต็ง-รัง พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไป โบราณวัตถุที่พบถูกจำหน่ายไปหมดแล้ว ส่วนใหญ่คือ จำพวกลูกปัดและเครื่องมือเหล็ก ลักษณะเช่นเดียวกับที่เด่นปางห้าง และไม่พบว่าเป็นแหล่งฝังศพ
บ้านวังหาด
บ้านวังหาด อยู่ปลายสุดของที่ราบลุ่มน้ำแม่ลำพัน ต่อจากเขตที่สูงและเทือกเขา ชุมชนบ้านวังหาดมีอาชีพทำนาและเลี้ยงสัตว์ และยังมีการปลูกพืชไร่บางชนิด ผู้คนส่วนมากมีบรรพบุรุษอพยพมาจากเขตเมืองเถิน ดังนั้นจึงพูดคำเมืองกันเป็นหลัก
โบราณวัตถุที่บ้านวังหาดพบเพียงเล็กน้อย เพราะอยู่ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม เชิงเขาที่พบโบราณวัตถุอยู่ท้ายหมู่บ้าน ห่างจากห้วยแม่ลำพันราว ๑ กิโลเมตร เมื่อราวสองปีที่แล้วชาวบ้านขุดหาของเก่าบริเวณเชิงเขาทางขึ้นสำนักงานฯ แต่เพราะเป็นสถานที่ราชการจึงสามารถระงับการขุดได้อย่างเด็ดขาด ทำให้แหล่งโบราณคดีไม่ถูกทำลายไปมากนัก
โบราณวัตถุที่พบเป็นประเภทเดียวกับที่พบในแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง ลักษณะเด่นน่าจะเป็นเครื่องมือเหล็กที่มีรูปแบบเดียวกัน
กลุ่มชุมชนโบราณบริเวณต้นน้ำแม่ลำพันรู้จักกันทั่วไปในนาม แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด แต่กลุ่มโบราณวัตถุจำนวนมากไม่ได้มาจากบ้านวังหาด หากแต่พบแถบชายทุ่งใกล้ลำน้ำแม่ลำพันในเขตบ้านตลิ่งชัน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ห่างจากบ้านวังหาดมาทางทิศใต้ราว ๖ กิโลเมตร
บ้านตลิ่งชัน
เป็นชุมชนขนาดใหญ่ระดับตำบล ในเขตที่ราบลุ่มที่ใช้ทำนาและเลี้ยงสัตว์รวมทั้งปลูกพืชไร่บางชนิด ผู้คนที่นี่มีบรรพบุรุษเป็นคนเมืองเถินที่อพยพข้ามเทือกเขามาสร้างชุมชนเช่นเดียวกับที่บ้านวังหาด แต่บางส่วนเป็นคนจากภาคอีสานและจังหวัดอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงจังหวัดสุโขทัย หมู่บ้านอยู่ทั้งสองฝั่งลำน้ำแม่ลำพัน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชุมชน
นอกจากนี้ กลุ่มชาวบ้านจากบ้านตลิ่งชันหลายคนที่เคยขุดหาของเก่าทั้งบนภูเขาและบริเวณบ้านตลิ่งชัน กล่าวว่า มีการพบโบราณวัตถุลักษณะคล้ายคลึงกันที่บ้านโป่งแดง ตำบลโป่งแดง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ห่างจากบ้านตลิ่งชันไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว ๑๕ กิโลเมตร ใกล้ลำน้ำขะยาง โดยมเทือกเขาขวางกั้น และบ้านเด่นไม้ซุงในเขตอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ต้นน้ำขะยางเหนือบ้านโป่งแดงราว ๒๐ กิโลเมตร กลุ่มแหล่งโบราณคดีกลุ่มนี้ น่าจะเป็นชุมชนที่ร่วมสมัยกันที่อยู่ระหว่างลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำยม รอยต่อระหว่างภูเขาสูงทางภาคเหนือและที่ราบทางภาคกลางของประเทศไทย
โบราณวัตถุจากบ้านตลิ่งชัน
โบราณวัตถุจำนวนมากที่พบในแหล่งโบราณบ้านตลิ่งชัน สามารถบอกถึงความสำคัญของกลุ่มชุมชนโบราณต้นน้ำแม่ลำพันได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านที่ขุดหาของเก่าจำหน่ายให้ผู้รับซื้อที่มาจากที่ต่างๆไปไม่น้อย แต่ส่วนหนึ่ง คุณสมเดช พ่วงแผน เจ้าของกิจการอาณาจักรพ่อกู ที่เมืองเก่าสุโขทัยเก็บรักษาเอาไว้ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ศึกษา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
แหล่งโบราณคดีบ้านตลิ่งชัน มีความแตกต่างจากกลุ่มแหล่งโบราณคดีต้นน้ำแม่ลำพันอื่นๆ เพราะอยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งไม่ได้อยู่บนที่สูงหรือในหุบเขา เมื่อราวสองปีก่อนมีการขุดพบโบราณวัตถุจำนวนมากในที่ดินของผู้ใหญ่ล๋วน หนานกุล ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายห่างจากฝั่งน้ำแม่ลำพันไม่มากนัก เป็นที่นาและถนนทางเข้า มีการขุดหาของเก่ากันเป็นพื้นที่กว้าง และพบโบราณวัตถุสำคัญๆ เช่น เครื่องประดับสำริด, เครื่องมือเหล็ก, ลูกปัดหินและแก้ว, เหรียญเงินรูปศรีวัตสะและรูปพระอาทิตย์, เครื่องประดับทำจากเงินและทองเป็นรูปหน้าสัตว์คล้ายลิง, เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน ทั้งนี้พบว่าไม่ใช่แหล่งหลุมฝังศพ แต่ในพื้นที่บางแห่งอาจใช้ในการฝังศพครั้งที่สอง (หมายถึงการเผาศพแล้วนำเถ้าหรือกระดูกใส่ภาชนะแล้วฝังอีกครั้งหนึ่ง)
ลูกปัด
เป็นโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านขุดพบและพบโดยบังเอิญตามบริเวณผิวดิน ลูกปัดที่พบแยกประเภทออกได้เป็น ลูกปัดแก้ว, ลูกปัดหิน, และยังมีลูกปัดแบบพิเศษที่ทำจากทองคำซึ่งพบเป็นจำนวนน้อยมาก
ลูกปัดแก้ว มีสีต่างๆคือ เหลืองเข้ม เนื้อใส แดงขุ่นเข้ม น้ำเงินเข้ม น้ำเงินใส เขียวอ่อน ดำ ลูกปัดเหล่านี้พบได้ทั่วไปในแหล่งโบราณคดีที่เป็นชุมชนสมัยเหล็กลงมาจนถึงสมัยทวารวดี มีการกำหนดอายุลูกปัดเช่นนี้ไว้ประมาณ ๓๐๐ ปีก่อนค.ศ.-ค.ศ.๒๐๐ (300 BC.-200 AD.) (พรชัย สุจิตต์ ๒๕๒๘:๓๙) แก้วที่นำมาผลิตลูกปัดแก้ว ทำจากซิลิกาหรือทรายผสมฟลักซ์[flux] เพื่อลดอุณหภูมิการหลอมเหลวของทราย และธาตุประกอบต่างๆ เพื่อให้สี แล้วนำไปเผาไฟที่อุณหภูมิประมาณ ๑,๑๐๐ ํ C (ซึ่งเป็นอุณหภูมิใกล้เคียงกับที่ใช้ในการถลุงเหล็ก) นอกจากนี้ที่น่าใส่ใจอีกประการหนึ่งคือ พบลูกปัดแก้วสีน้ำเงินร้อยเป็นพวงเพียงสีเดียว อยู่ในสภาพที่มีเชือกหรือเส้นด้ายซึ่งยังคงสภาพอยู่ ถ้าหากศึกษาวิธีการปั่นด้าย วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งจะบ่งบอกถึงชีวิตผู้คนในชุมชนแห่งนี้ในอีกทางหนึ่ง (มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่น่าจะทำมาจากเส้นใยของป่านบางชนิด)

ลูกปัดหิน พบจำนวนน้อยกว่ามาก มีขนาดใหญ่กว่าและรูปแบบที่แปลกไปกว่าลูกปัดแก้วสีต่างๆ ลูกปัดหินทำจากหินอาเกต[agate] และคาร์นีเลียน[carnelian] หินทั้งสองประเภทเป็นหินกึ่งรัตนชาติ[semi-precious stone] อยู่ในตระกูลชาลซิโดนี[chalcedony] ซึ่งเป็นหินเนื้อละเอียด และมีความแข็งมาก ค่าความแข็ง [moh number]อยู่ประมาณ ๖.๕ – ๗.๐ หินอาเกตลักษณะเป็นแนวเส้นคาบสองสีหรือมากกว่านั้น ค่อนข้างโปร่งใส ส่วนหินคาร์นีเลียนมีสีแดงซีดจนถึงสีแดงสดหรือสีน้ำตาลแดง

หินคาร์นีเลียนและอาเกต มีแหล่งกำเนิดตามที่ต่างๆทั่วโลกตามแหล่งกำเนิดที่เหมาะสมทางธรณีวิทยา แต่ส่วนใหญ่ที่ใช้กันในอุตสาหกรรมและเครื่องประดับในปัจจุบันนำมาจาก บราซิลทางตอนใต้ อุรุกวัย เยอรมันนีและอินเดีย
ในอินเดีย มีศูนย์กลางแหล่งผลิตลูกปัดโบราณจากหินคาร์นีเลียนและอาเกตในเขตแคว้นคุชราช [Gujerat] และทางตอนเหนือของอินเดียที่แคมเบย์ [Cambay] ริมอ่าว Khambat ซึ่งเป็นเหมืองที่รู้จักกันดี ส่วนแหล่งผลิตลูกปัดจากหินชนิดนี้ที่มีชื่อเสียงอยู่ในที่ราบลุ่มน้ำสินธุ และแหล่งที่อาริกันเมดุ[Arikanmedu] ใกล้กับเมืองปอนดิเชรี [Pondicherry] ชายฝั่งทางตอนใต้ เชื่อกันว่าเป็นแหล่งผลิตลูกปัดหินสำคัญที่มีการส่งลูกปัดหินคาร์นีเลียนและอาเกตมาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ในประเทศไทยจะมีการพบลูกปัดที่ทำจากหินคาร์นีเลียนและอาเกตในแหล่งโบราณคดีตั้งแต่ยุคเหล็กจนถึงทวารวดีอยู่ทั่วไป แต่ก็ไม่มีศูนย์กลางแหล่งกำเนิดหินขนาดใหญ่ และมีอุตสาหกรรมการทำลูกปัดขนาดย่อยๆอยู่รอบๆ ดังรูปแบบแหล่งโบราณคดีประเภทอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไป เพียงแต่พบรายงานการสำรวจว่ามีแหล่งหินคาร์นีเลียนแถบราชบุรีและมีการทำลูกปัดด้วย แต่ปัจจุบันนี้หลักฐานถูกทำลายไปหมดแล้ว รายงานอีกแห่งพบว่ามีเหมืองหินคาร์นีเลียนที่เขาโมกุล ใกล้เขาหางตลาด แถบลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นแหล่งที่ทำกันปัจจุบัน
ชุมชนในสมัยยุคเหล็กและทวารวดีบางแห่ง เช่นที่ อู่ทอง ดอนตาเพชร และศรีมหาโพธิ์ พบโกลนลูกปัดหินอาเกตที่ยังไม่ได้เจาะรูหรือบางชิ้นยังเจาะรูไม่เสร็จ
ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แม้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดยังไม่มีรายงานการทำอุตสาหกรรมลูกปัดจากหินทั้งสองชนิด นอกจากปรากฏลูกปัดเช่นนี้ที่มีวิธีการผลิต เช่นการหุงให้เกิดสีเข้มขึ้น เช่นเดียวกับที่ทำกันในอาริกันเมดุ (การหุงหินคือ การนำหินอาเกตมาต้มในน้ำมันและในกรดซัลฟุริค เพื่อเพิ่มแถบสีธรรมชาติ-Williams,Lucy: ๑๙๘๔)
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในประเทศไทยในแถบภาคกลางพบว่า ยุคสมัยที่ใช้สำริดเป็นเครื่องมือและเครื่องประดับอย่างแพร่หลายนั้น ราว ๑,๕๐๐ BC.- ๗๐๐ BC.(สุรพล นาถะพินธุ ๒๕๓๙: ๑๔๗) นิยมใช้เครื่องประดับ เช่นลูกปัด กำไล ต่างหู ทำจากหอยทะเล อย่างหอยเมือเสือ ไม่พบว่ามีการใช้ลูกปัดแก้วหรือลูกปัดหินแต่อย่างใด แต่ในช่วงที่มีการแทนที่ด้วยเครื่องมือเหล็ก ๗๐๐ BC.-๓๐๐ BC. (สุรพล นาถะพินธุ ๒๕๓๙ : ๑๔๗) มีความนิยมใช้ลูกปัดแก้วและหิน โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากยุคเหล็กตอนปลายจนถึงมีกระแสวัฒนธรรมจากอินเดียอันเป็นชุมชนสมัยทวารวดียุคเริ่มแรก ทั้งลูกปัดหินออนนิกซ์ อาเกต และคาร์นีเลียน
เครื่องประดับแผ่นเงินและทองดุน
เป็นแผ่นโลหะเงินและทอง ชิ้นบาง รูปลักษณ์เกือบเป็นวงกลม ส่วนขอบด้านบนม้วนพับเป็นรูทรงกระบอกสำหรับร้อยเชือก น่าจะใช้ประดับคล้องคอ ลวดลายดุนนูนโค้งเป็นรูปใบหน้าสัตว์ ตาโปน หูกลมตั้ง จมูกและปากยื่น มีขนแสกกลางที่ศรีษะ และขนที่แผงคอ ลักษณะเช่นนี้บางท่านอาจมองว่าเป็นรูปใบหน้าลิง ส่วนบางท่านเห็นว่าเป็นรูปสิงห์ ปัจจุบันยังไม่มีความเห็นเป็นข้อยุติแน่ชัดเสียทีเดียว



เมื่อสำรวจข้อมูลในขณะนี้ ยังไม่พบโบราณวัตถุจากชุมชนโบราณอื่นๆ (อินเดีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่คล้ายคลึงจนสามารถศึกษาเปรียบเทียบได้ แต่สามารถกล่าวได้ว่าเครื่องประดับที่ทำจากแผ่นเงินและทองดังกล่าว แสดงถึงลักษณะทางความเชื่อที่มิใช่ความเชื่อพื้นฐานดั้งเดิม แต่รับผ่านมาทางวัฒนธรรมทวารวดี ดังเราจะเห็นได้จากตุ๊กตารูปสัตว์ชนิดต่าง รวมทั้งลิงและสิงห์ เช่นตุ๊กตาที่พบที่เมืองจันเสน มีชิ้นส่วนตุ๊กตาหัวลิง ลิงที่เป็นสัตว์เลี้ยงตุ๊กตาคนจูงลิง และลิงกำลังร่ายรำที่อยู่บนตราประทับดินเผา ส่วนรูปสิงห์นั้น มีอยู่มากมาย เป็นตุ๊กตาขนาดเล็กลอยตัวรูปสิงห์นั่งแยกเขี้ยวและมีแผงคอ หน้าตาแตกต่างกันไป บางรูปเป็นตราประทับที่ประดับลวดลายภาชนะ สัดส่วนที่พบนั้น รูปสิงห์จะพบมากกว่ารูปลิงอย่างเห็นได้ชัด
วัสดุที่นำมาใช้คือแผ่นเงินและแผ่นทอง ความนิยมเรื่องโลหะมีค่าเช่นนี้ เฟื่องฟูขึ้นในยุคต้นของสมัยทวารวดี แต่ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นมีรายงานการพบโลหะทองในหลุมฝังศพของกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงยุคเหล็กตอนปลาย ที่โนนหินกลิ้ง บ้านหนองสระปลา ตำบลบ้านยา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นต่างหูทำด้วยทองคำ พบรวมอยู่กับลูกปัดหินอาเกต และภาชนะเขียนสีแดงบนผิวสีนวล (อำพัน กิจงาม , สุรพล นาถะพินธุ ๒๕๓๑:๕๖) ส่วนงานฝีมือมักจะใช้วัสดุเช่น การขัดฝนหินจำพวกหินปูน หินอ่อน หินในตระกูลเดียวกับหยกเนื้อบางละเอียด (สุรพล นาถะพินธุ ๒๕๓๙:๑๔๖) การนำเปลือกหอยทะเลขัดฝนทำกำไล ต่างหู หรือลูกปัด การหล่อ [casting] แบบแทนที่ขี้ผึ้ง [lost wax] และแบบใช้แม่พิมพ์ [mould] ทั้งแบบแม่พิมพ์เปิดและแม่พิมพ์ประกบ มาทำกระพรวน กำไล แหวน ภาชนะ ที่ทำจากโลหะสำริด เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในดินแดนแถบนี้
จึงอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์ โลหะทองคำและเงิน ซึ่งแม้จะหาได้ไม่ยากนักและมีวิธีนำมาใช้ได้ง่ายกว่าการถลุงโลหะทองแดง ดีบุก ตะกั่ว แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมจนล่วงเข้าสู่ยุคต้นสมัยประวัติศาสตร์ ที่อาจเรียกว่า ช่วงฟูนัน-สุวรรณภูมิ(เป็นชื่อที่รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ใช้เรียกยุคเริ่มแรกของสมัยทวารวดี – ข้อมูลจากการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์) เครื่องประดับทองคำจากอู่ทองและออกแก้วมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน พบเป็นจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีดังกล่าว อีกทั้งเหรียญรูปศรีวัตสะและพระอาทิตย์จากนครปฐม อู่ทอง ดงคอน(สรรค์บุรี) มีเป็นจำนวนมากทีเดียวที่ไม่ใช้โลหะผสมแต่ทำจากเงินบริสุทธิ์ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทองคำและเงินเป็นโลหะมีค่ากันในช่วงยุคเริ่มแรกของประวัติศาสตร์เป็นต้นมา
แผ่นดุนลวดลายทำจากเงินและทองนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปสัญลักษณ์ของสิ่งใด สิ่งนี้เป็นความเชื่อเนื่องในวัฒนธรรมแบบทวารวดียุคแรกๆ สัตว์ที่เป็นมงคลสัญลักษณ์เช่นสิงห์หรือลิงนี้ อาจนำไปสู่การแปลความหมายที่รัดกุมและรอบคอบได้ต่อไปในอนาคต
เหรียญรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะ
เป็นโลหะผสมแผ่นบางรูปกลม ที่พบมี ๔ ขนาดแตกต่างกันไปอาจจะหมายถึงตามค่าของสิ่งของแลกเปลี่ยน ด้านหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์ครึ่งดวงแผ่รัศมี มีจุดไข่ปลาเรียงรอบขอบเหรียญ อีกด้านหนึ่งเป็นสัญลักษณ์รูปศรีวัตสะ (ขนที่อกพระนารายณ์) พบที่อู่ทอง ออกแอว (เวียดนาม) เบคถะโน (พม่า) ศรีมหาโพธิ์ นครปฐม อู่ตะเภา (มโนรมย์) สวรรคโลก ตะพานหิน และที่เมืองพระรถ จังหวัดชลบุรี

มีการให้น้ำหนักความเชื่อถือว่า เหรียญรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะ ใช้กันในช่วงฟูนัน-สุวรรณภูมิ หรือช่วงยุคต้นของสมัยทวารวดี ก่อนการใช้เหรียญรูปพรอาทิตย์และหอยสังข์ เพราะพบเหรียญรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะในชุมชนยุคแรกเริ่มเช่น อู่ทอง ออกแก้ว เบคถะโน ซึ่งเป็นชุมชนยุคแรกเริ่มรับวัฒนธรรมอินเดีย อันเป็นสมมุติฐานที่น่าเชื่อถือประการหนึ่ง
เครื่องประดับสำริด
เครื่องประดับสำริดเท่าที่พบ ทำเป็นกำไลข้อมือเนื้อบางไม่มีการตกแต่ง ซึ่งอาจจะใช้เทคนิควิธีรีด ตี เชื่อมประสาน เนื้อโลหะสำริด กำไลข้อมือขนาดต่างๆ มีลวดลายประดับรูปครึ่งวงกลมขนาดเล็กๆ เรียงต่อกันเป็นแถวที่วงรอบนอก บางชิ้นมีลูกกระพรวนห้อยประดับอยู่ ๒-๓ ลูก แหวนขนาดต่างๆใช้ลูกกระพรวน ๒ ลูกประดับทำเป็นหัวแหวน เทคนิคการผลิตเครื่องประดับสำริดเช่นนี้ นับว่าซับซ้อนอยู่ไม่น้อย ลูกกระพรวนนั้นเป็นเทคนิควิธีการทำแบบแทนที่ขี้ผึ้ง ที่ใช้กันมาตั้งแต่ในยุคสำริดและพบอยู่ทั่วไปในแหล่งโบราณคดีประเภทนี้ และสืบทอดต่อมายังแหล่งโบราณคดีในสมัยทวารวดีหลายแห่ง ที่มีการทำลูกกระพรวนลักษณะเช่นเดียวกัน


กำไลข้อมือที่มีการประดับลวดลาย เป็นเรื่องแน่ว่าจะต้องใช้การเชื่อมประสานต่อโลหะทีละชิ้น และใช้กระบวนการผลิตหลายขั้นตอน แม้ไม่ใช่งานฝีมือที่น่าทึ่งเช่นในช่วงที่มีการใช้สำริดกันอย่างสูงสุด แต่ก็พอมองเห็นกระบวนการผลิตหลายขั้นตอนที่สืบเนื่องถ่ายทอดเทคนิควิทยาการที่ไม่ได้สูญหายไปแต่อย่างใด
ภาชนะดินเผา
ไม่พบลักษณะเด่นพิเศษแต่ประการใด พบเพียงเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินคุณภาพไม่ดีนัก ลายขุด ลายเชือกทาบ และผิวเรียบ รูปทรงภาชนะเท่าที่พบเป็นรูปหม้อก้นกลม ภาชนะคล้ายชามขนาดต่างๆ

เครื่องมือเหล็ก
ในแหล่งโบราณคดีกลุ่มต้นน้ำแม่ลำพัน พบเครื่องมือที่ทำจากเหล็กเป็นจำนวนมากในทุกแห่ง ในหุบเขาต้นน้ำบริเวณที่ราบลุ่มเล็กๆ ที่เรียกว่า เด่นปางห้าง เป็นจุดที่ทำการถลุงเหล็กโดยใช้พื้นที่กว้างขวาง พบตะกรันแร่ [slag] ขนาดต่างๆ ทั้งแบบเป็นก้อนที่มีรูพรุนและก้อนที่มีผิวแบบหยดไหล นอกจากตะกรันแร่เหล็กแล้ว ยังพบชิ้นส่วนของเตาถลุงจำนวนหนึ่ง ส่วนท่อลมดินเผา [clay nozzels] ที่มักพบในแหล่งถลุงเหล็กสมัยทวารวดียุคหลังๆ เช่นที่บ้านดีลัง อายุราวคริสตศตวรรษที่ ๙ – สมัยอยุธยาตอนปลาย ราวคริสตศตวรรษที่ ๑๗ (พรชัย สุจจิต์ ๒๕๒๘ : ๒๕) และสมัยอยุธยา เช่นที่ใกล้เมืองอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ ซึ่งเป็นท่อลมดินเผาใช้ต่อระหว่างเตาและท่ออัดลม เพื่อเพิ่มแรงดันอากาศ อันจะทำให้อุณหภูมิภายในเตาสูงขึ้น ในกรณีแหล่งถลุงแร่เหล็กที่เด่นปางห้าง อาจจะไม่ได้ใช้ท่อลมดินเผารูปแบบดังกล่าว แต่อาจใช้ท่อไม่ไผ่หรือการอัดลมลงเตาโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป
เนินโล่ง พื้นที่กว่า ๑๐ ไร่ พบเศษตะกรันแร่เหล็กกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ บางแห่งเห็นได้ชัดว่า เป็นพื้นที่ของการเตรียมย่อยหิน เตรียมแร่ เพื่อใช้ในการถลุง พื้นที่บริเวณนี้นับว่าเป็นแหล่งถลุงโลหะขนาดใหญ่ที่ถูกรบกวนจากมนุษย์น้อยมาก นอกจากชายเนินบางแห่งที่ถูกลักลอบขุด ซึ่งพบโบราณวัตถุมากมาย สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การพบเครื่องมือเหล็กอยู่ในพื้นที่เดียวกับการถลุงเหล็ก ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ที่ เด่นปางห้าง น่าจะใช้เป็นทั้งพื้นที่ในการถลุงเหล็กโดยใช้วัตถุดิบซึ่งได้จากสายแร่ในภูเขาที่โอบล้อมรอบ เมื่อได้ก้อนแร่ เหล็ก [iron bloom] มาแล้ว คงมีการนำมาผลิตเป็นเครื่องมือโดยผ่านขั้นตอนการตีไล่คาร์บอนออกอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำมาตีขึ้นรูปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้รูปแบบต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ ที่พื้นที่แห่งนี้ อาจไม่ได้ใช้ผลิตโลหะเพียงแค่เหล็กอย่างเดียว เพราะพบก้อนแร่ตะกั่วรวมอยู่ด้วย
ผลิตภัณฑ์จากชุมชนต้นน้ำแม่ลำพันเท่าที่พบ มีดังนี้
– ใบหอก ขนาดต่างๆ
– แท่งฉมวก
-ขวานต่อด้ามแบบสั้นและยาว ขวานแบบยาวนั้นอาจเปรียบเทียบรูปทรงของขวานในปัจจุบันที่ใช้กันถิ่นภาคใต้ เรียกว่า ขวานปลี ซึ่งใช้สำหรับขุดเนื้อไม้ โดยใช้ทางหน้าตัด(วิบูลย์ ลี้สุวรรณ:๒๕๓๒)
– แท่งเหล็กกลมตันหน้าตัด คล้ายแท่งชะแลง
– แท่งเหล็กกลมเรียวปลายแหลม
– ดาบยาว ปลายด้ามทำเป็นรูปกลมเจาะรู ด้ามจับคงจะใช้แบบหุ้มพันด้าม
– ขวานแบบมีคมสองด้าน ตรงกลางมีรูปสำหรับสอดด้าม



– เตาสามขา เป็นเตาเหล็กที่คงสภาพสมบูรณ์มาก และให้ภาพความชำนาญของผู้ผลิตได้เป็นอย่างดี ประกอบขึ้นจากเส้นเหล็กวงกลม ส่วนขาใช้แท่งเหล็กเชื่อมต่อกับเส้นเหล็กวงกลม ดัดปลายให้โค้งพอรับกับก้นภาชนะ ส่วนปลายของแท่งเหล็กตีแผ่ให้บานออกเพื่อรองรับก้นภาชนะให้ดียิ่งขึ้น
เครื่องมือเหล็กที่พบนี้จะเห็นได้ว่า เป็นเครื่องมือที่เป็นอาวุธใช้สำหรับป้องกันตัวและล่าสัตว์ บางชนิดน่าจะใช้กับงานฟันไม้ ขุดไม้ เจาะไม้ ซึ่งคงใช้ได้ดีกับการสร้างอาคารบ้านเรือน และใช้ทรัพยากรจากป่า เครื่องมือแท่งเหล็กปลายตัดและปลายเรียวแหลมนำไปใช้สกัดหินเพื่อหาสายแร่ต่างๆในหุบเขา ก็สามารถทำได้อย่างเหมาะสม และเป็นเครื่องมือเหล็กลักษณะเด่นที่พบในกลุ่มแหล่งโบราณคดีต้นน้ำแม่ลำพัน
ชุมชนโบราณต้นน้ำแม่ลำพัน : ชุมชนผลิตเหล็กผู้ร่ำรวย
บริเวณที่สูงทางตอนเหนือของจังหวัดสุโขทัยต่อแดนกับตากและลำปาง ยังไม่มีการพบแหล่งโบราณคดีในช่วงยุคเหล็กและทวารวดีมาก่อน อาจเรียกได้ว่า เป็นรอยต่อของห้วงเวลาระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้ การค้นพบแหล่งโบราณคดีในกลุ่มต้นน้ำแม่ลำพัน จึงเป็นภาพต่อที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในการสร้างภาพอดีตของดินแดนในประเทศไทย
ชุมชนกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นพิเศษ คือเป็นชุมชนผลิตเหล็กและเป็นช่างฝีมือผู้ชำนาญในการผลิตเครื่องมือที่มีความปราณีตรูปแบบต่างๆ จนเห็นได้ชัดว่า เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของท้องถิ่น นอกจากนี้ โบราณวัตถุที่พบร่วมกันแสดงถึงการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่ห่างไกล ซึ่งอาจใช้ระบบการแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งที่แน่ว่า ทรัพยากรในท้องถิ่นคือ เหล็กและเครื่องมือเหล็ก ต้องเป็นสินค้าสำคัญของชุมชน ลูกปัดแก้วลูกปัดหิน ที่นำมาจากแดนไกล เครื่องประดับที่เป็นรูปสัญลักษณ์และเหรียญเงินรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะคือสิ่งแลกเปลี่ยน เป็นประจักษ์พยานได้ดีถึงการติดต่อดังกล่าว
ในภาคกลาง ตั้งแต่ขอบบึงบรเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ลงมาจนถึงลพบุรี เป็นพื้นที่ของชุมชนในช่วงสำริด-เหล็ก และชุมชนในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนก่อเกิดเป็นบ้านเมืองสมัยทวารวดีที่เห็นได้ชัดที่สุด
ปลายยุคเหล็ก ประชากรน่าจะเพิ่มจำนวนขึ้น กลุ่มชุมชนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงกันหลายๆกลุ่ม พัฒนาไปสู่การมีศูนย์กลางชุมชนและจัดระเบียบทางสังคมที่ซับซ้อนมากกว่าก่อน พร้อมๆกับประบรับกระแสวัฒนธรรมจากอินเดียที่เข้ามาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งทางด้านศาสนาความเชื่อและสินค้ารูปแบบต่างๆ ช่วงเวลาแห่งพัฒนาการนี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดบ้านเมืองทีเห็นชัดเจน เช่นที่ ออกแก้ว เบคถะโน หรือ อู่ทอง บางท่านเรียกช่วงนี้ว่า สมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ ยุคที่ยังไม่ปรากฏรูปเคารพ ระยะเวลาราว ๑๐๐ AD. – ๓๐๐ AD. (พิริยะ ไกรฤกษ์ ๒๕๓๓:๑๗๒) บางท่านเรียกช่วงนี้ว่า ฟูนัน-สุวรรณภูมิ ราว ๓๐๐ AD.- ๖๐๐ AD. (ศรีศักร วัลลิโภดม ข้อมูลการจัดพิพิธภัณฑ์จันเสน ๒๕๓๙) เป็นห้วงเวลาก่อนจะเกิดเป็นรัฐทวารวดี (ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๗ -๑๑) อย่างแท้จริง
ชุมชนน้อยใหญ่ เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้มากมาย ดังที่เคยเห็นว่าเป็นพัฒนาการเฉพาะในเขตภาคกลาง ส่วนพื้นที่เหนือขึ้นไปนั้นมองไม่เห็นสภาพการณ์อย่างนี้แน่ชัด กลุ่มชุมชนต้นน้ำแม่ลำพันนี้ คือข้อมูลซึ่งเป็นหลักฐานกลุ่มแรกที่แสดงให้เห็นขอบข่ายของสังคมที่มีรูปแบบใกล้เคียงกัน มีความสัมพันธ์กัน กินบริเวณลึกเข้าสู่ดินแดนภายในบริเวณลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำปิง มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า ขณะเดียวกันนั้น ผู้คนที่ต้นน้ำวังใกล้พระธาตุจอมปิง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชุมชนโบราณต้นน้ำแม่ลำพันอีกด้วย (โดยดูจากรูปแบบของโบราณวัตถุและเครื่องมือเหล็ก) ย่อมแสดงให้เห็นถึงอาณาเขตของการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชุมชนในพื้นที่ห่างไกลผ่านที่สูงและเทือกเขาทางตอนเหนือสู่ที่ราบลุ่มในแอ่งลุ่มน้ำวัง
ทำให้เห็นว่า ผู้คนในช่วงเวลานี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ มิใช่เป็นเพียงผู้คนในตำนานที่อยู่บนที่สูง (มิลักขุ) ที่เรามักใช้อธิบายถึงกลุ่มคนก่อนการสร้างบ้านแปงเมือง โดยเฉพาะในภาคเหนือกันโดยมาก
กลุ่มชุมชนโบราณต้นน้ำแม่ลำพันเห็นได้ว่าเป็นกลุ่มวัฒนธรรมยุคเหล็กต่อเนื่องกับยุคแรกเริ่มรับวัฒนธรรมอินเดียที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เป็นผู้ชำนาญการทางการผลิตโลหะและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ปราณีต ประโยชน์ใช้สอยสูง และทันสมัย นิยมใช้สิ่งของจากต่างถิ่น ซึ่งคงผ่านระบบการแลกเปลี่ยนผ่านคนกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนโบราณอื่นๆแล้วนับว่าเป็นกลุ่มผู้ผลิตผู้ร่ำรวย และไม่ใช่เป็นชุมชนที่ผลิตโลหะและเครื่องมือเครื่องใช้เพียงอย่างเดียว แต่มีการทำเกษตรกรรมด้วย ดังเราจะเห็นว่า มีพื้นที่การผลิตในหุบเขาสำหรับถลุงเหล็ก มีแหล่งชุมชนใกล้ลำน้ำแม่ลำพันบนพื้นราบสำหรับอยู่อาศัยและทำการเกษตร อันเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่น่าจะเรียกว่า ชุมชนโบราณ กลุ่มต้นน้ำแม่ลำพัน
ชุมชนกลุ่มต้นน้ำแม่ลำพันร่วมสมัยกับชุมชนโบราณมากมายในเขตภาคกลาง ซึ่งมีพัฒนาการของชุมชนชัดเจน หากจะมองให้กว้างขึ้นไปอีก ความสัมพันธ์เหล่านี้แสดงออกถึงสังคมที่ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ไม่ว่าจะภายในเขตประเทศไทยหรือดินแดนต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับแต่จีนตอนใต้ลงมา จนถึงชายฝั่งเวียดนาม และภาคกลางของไทย พลวัตรแห่งความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเหล่านี้ ก่อให้เกิดรัฐและบ้านเมืองต่างๆในภายหลัง
บรรณานุกรม
เฉลิม ยงบุญเกิด กระษาปณ์ไทย พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.อ บริบูรณ์ จุละจารัตถ์ ธนาคารทหารไทยสนับสนุน ๒๕๐๙
พรชัย สุจิตต์. แก้วโบราณในเอเชีย เมืองโบราณ ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มีนาคม ๒๕๒๘
พรชัย สุจิตต์. "เทคโนโลยีและความสำคัญของการถลุงเหล็กในสมัยแรกเริ่มของประเทศไทย" ปัจจุบันของ โบราณคดีไทย พิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองวาระ ๓๐ ปี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๒๘
พิริยะ ไกรฤกษ์ ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๓ อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด
ศรีศักร วัลลิโภดม. "จันเสนเมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี - ป่าสัก" สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก เรือนแก้วการพิมพ์ ๒๕๓๙
สุรพล นาถะพินธุ และอำพัน กิจงาม บรรณาธิการ. อดีตอีสาน เอกสารวิชาการกองโบราณคดีหมายเลข ๑๑/๒๕๓๑ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ๒๕๓๑
สุรพล นาถะพินธุ. "วัฒนธรรมสมัยโบราณที่บ้านใหม่ชัยมงคง และข้อคิดเห็นเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในภาคกลางของประเทศไทย" สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก เรือนแก้วการพิมพ์ ๒๕๓๙
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมหัตถกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้าน บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมพื้นบ้านจัดพิมพ์ พฤศจิกายน ๒๕๓๒
Lucy Williams. New approch to the study of beadmaking workshop practices with special refference to carnelian and agate beads from BAN DON TA PHET Thailand Thesis [B.A] Institute of Archaeology , University of London 1984