วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ริมน้ำหนุมานใกล้กับบริเวณตลาดใหม่ซึ่งเป็นชุมชนที่ขยายต่อเนื่องมาจากทางตลาดเก่าเมื่อเมืองกบินทร์บุรีเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีท่าเรือแห่งหนึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “ท่าเรือเจริญสุข” เดิมเป็นท่าเรือสินค้ามีเรือข้าวเปลือกและเรือสินค้ามาจอดบริเวณนี้ ตลาดแถบนี้เคยมีโรงแรมที่เป็นเรือนแถวไม้เพราะมีลูกค้าที่เป็นคนเดินทางและพนักงานขายและเป็นตลาดที่คึกคักอยู่ในระยะหนึ่ง ต่อเนื่องด้วยพื้นที่ว่างซึ่งมียุ้งฉางขนาดใหญ่สำหรับเก็บข้าวอยู่หลายหลังและโรงสีไฟอยู่แห่งหนึ่ง

ศาลเจ้าพ่อสำอางตั้งอยู่ริมลำน้ำหนุมานใกล้กับอดีตท่าเรือดังกล่าว ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า เป็นสถานที่ท่าเรือซึ่งส่งเจ้าพ่อสำอางไปประหารที่เมืองปราจีนบุรี ซึ่งเป็นความเชื่อที่แตกต่างจากข้อเท็จจริง แต่ก่อนเคยเป็นเพียงศาลไม้ขนาดเล็กๆ ต่อมามีผู้ที่ได้โชคลาภจากการบนและงบประมาณจากรัฐส่วนหนึ่งจึงร่วมกันสร้างศาลใหม่ขนาดใหญ่ขึ้นก่ออิฐถือปูนพอให้คนขึ้นไปได้หลายคน ภายในศาลมีรูปถ่ายของพระปรีชากลการหรือเจ้าพ่อสำอางรวมทั้งแผ่นป้ายติดประวัติของพระปรีชากลการและคดีเรื่องเหมืองทองคำในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนศาลมีคนนำสิ่งของมาถวายตามแต่จะเชื่อถือกัน เช่น งาช้างที่หญิงผู้หนึ่งศรัทธาและชายที่บ้านอยู่ใกล้เคียงนำน้ำชาไปไหว้ที่ศาลเจ้าพ่อสำอางทุกวันและคอยทำความสะอาดบริเวณศาล เพราะเคยไปขอพรให้มีโชคลาภจนถูกล๊อตเตอรี่จึงศรัทธาและปวารณาตนเป็นผู้ดูแลและเป็นผู้นำทำพิธีแก่ชาวบ้านที่ต้องการมาแก้บนมาโดยตลอด
เป็นธรรมเนียมที่ชาวบ้านบริเวณใกล้กับตลาดกบินทร์หรือลูกหลานคนในตลาดกบินทร์บุรีที่จะบวชจะต้องมาลาที่ศาลเจ้าพ่อสำอาง สิ่งที่บอกเล่าสืบต่อกันมานี้เป็นธรรมเนียมดั้งเดิมของคนไทย-ลาวที่กระทำต่อสิ่งศักดิ์ในชุมชนของตนก็คือการมาลาบวชเพราะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือผีบรรพบุรุษและผีเมืองที่คุ้มครองตน ครอบครัวและชุมชน การเตรียมตัวมาลาและไหว้ศาลเจ้าพ่อสำอางก็เตรียมข้าวปากหม้อหรือข้าวที่หุงใหม่ยังไม่เคยตักมาก่อน ๑ ทัพพี ไข่ดาวหรือไข่ต้ม หัวหมู ไก่ และเหล้าขาว ๑ ขวด ซึ่งก็คล้ายคลึงกับธรรมเนียมในการไหว้ศาลของผู้คนในวัฒนธรรมไทย-ลาวทั่วไป
ในศาลเจ้าพ่อสำอางมีผู้นำเอาข้อมูลจากเอกสารฉบับหนึ่งบรรยายถึงความเป็นของของเจ้าพ่อสำอางในนาม “พระปรีชากลการ” หรือ “สำอาง อมาตยกุล” เขียนไว้ดังนี้
ประวัติเจ้าพ่อสำอางที่ติดไว้บริเวณศาลเจ้าพ่อสำอาง
นามพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) พระปรีชากลการหรือนายสำอาง อมาตยกุล บุตรของพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีฉลู ตรีศก จุลศักราช ๑๒๐๓ (พ.ศ. ๒๓๘๔) บิดาได้นำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บิดาตั้งโรงกษาปณ์ผลิตเงินเหรียญขึ้นแทนเงินพดด้วง จึงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าให้พระปรีชากลการไปช่วยงานบิดาที่กรมกษาปน์สิทธิการพระปรีชากลการเป็นผู้มีหัวคิดทันสมัยชอบประดิษฐ์ ค้นคว้า ชอบคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศคล้ายบิดา จึงเป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้เป็นเจ้ากรมกษาปณ์สิทธิแทนบิดาตามคาดหมาย พระยาปรีชากลการมีผลงานอย่าง เช่น ประดิษฐ์ซุ้มจุดด้วยไฟแก๊สถวายในงานเฉลิมพระชนมพรรษา และเป็นนายงานสร้างตึกแถวบนถนนบำรุงเมือง



พ.ศ. ๒๔๑๔ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสุปรินเทนเด็นอินปิเนีย [Superintendent Engineer – หัวหน้าช่างเครื่อง] ควบคุมเรือพระที่นั่งบางกอก เสด็จประพาสต่างประเทศตั้งแต่รัชกาลนำเรือไป สิงคโปร์ ปีนัง มะละกา มะละแหม่ง ย่างกุ้ง กัลกัตตา อัครา มันดาริด และบอมเบย์ในอินเดีย จนเป็นข้าราชบริพารที่โปรดปรานในรัชกาลที่ 5 ถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯ ให้ทำบ่อทองที่เมืองกบินทร์บุรี จนได้เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๑๙
จากการที่พระปรีชากลการมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์ และความรู้ความชำนาญ ภาษาอังกฤษจึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำงานได้รับบำเหน็จ ความชอบต่อมาได้เป็นแม่กอง มาทำเหมืองทองคำที่ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อนำเอาทองคำไปให้รัฐบาลไทยนำมาเจือโลหะทำเหรียญกษาปน์ มีร่องรอยการขุดเจาะทำเหมือง เห็นได้ชัดที่ริมถนนเส้นทางบ้านหนองสังข์ เข้าไปตำบลวังตะเคียน มีถนนเจ้าพ่อสำอางซึ่งเป็นถนนที่ท่านสร้างขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงแร่ทองคำ พระปรีชากลการคงทำการขุดแร่ทองคำที่บ่อนางชิง แล้วบรรทุกเรือล่องมาตามลำน้ำปราจีนบุรีขนขึ้นทำการถลุงที่โรงจักร ซึ่งพระปรีชากลการให้สร้างโรงจักรถลุงแร่ทองคำที่ฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรีริมวัดหลวงปรีชากูลด้านทิศตะวันออก อยู่ใกล้กับกำแพงเรือนจำปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งสนามเทนนิสของอำเภอเมืองปราจีนบุรี สถานที่ถลุงและเตาหลอมขณะนี้ยังปรากฏอยู่ที่บริเวณบ้านพักผุ้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี
ปัจจุบันสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของพระปรีชากลการ เช่น บ่อทองนางเชิง ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี และศาลเจ้าพ่อสำอาง อำเภอเมืองปราจีนบุรี เป็นสถานที่สำคัญที่พิสูจน์ว่า เจ้าพ่อสำอางยังคงเป็นที่เคารพบูชาของชาวเมืองปราจีนบุรีจนถึงปัจจุบัน
พระปรีชากลการ (สำอาง) ถึงแก่กรรมเมื่อปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ (พ.ศ. ๒๔๒๒) รวมอายุได้ ๓๙ ปี พระปรีชากลการเป็นบุคคลเดียวกับที่ชาวเมืองปราจีน เรียกว่า “เจ้าพ่อสำอาง”
แต่ชาวบ้านที่ตลาดกบินทร์บุรีก็แทบไม่มีผู้ใดสนใจหรือรับรู้เรื่องราวของเจ้าพ่อสำอางเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่แต่อย่างใด รู้แต่เพียงว่า “เจ้าพ่อสำอางถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ” เพราะมีข่าวว่าจะลอบปลงพระชนม์ด้วยการยิงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงแม้แต่น้อยทีเดียว
บริเวณรอบๆ ศาลมีหุ่นตุ๊กตาทหารและตำรวจถูกนำมาถวายแก้บนมากมาย ส่วนใหญ่จะบนขอไม่ให้โดนเกณฑ์ทหารหรือบนขอตำแหน่งและการเลื่อนตำแหน่งบ้าง ความเชื่อที่เข้าใจกันในหมู่ชาวบ้านก็คือ ท่านถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฎ” จึงไม่ชอบทหารและต้องช่วยลูกหลานไม่ให้ไปเป็นทหารได้แน่นอน
ส่วนศาลเจ้าพ่อสำอางที่เมืองปราจีนบุรีที่รู้จักกันทั่วไปนั้นตั้งอยู่ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรประจำจังหวัด เป็นศาลขนาดย่อมๆ หลังหนึ่งภายในมีรูปถ่ายของพระปรีชากลการที่แต่งตัวแบบชาวตะวันตกรวมทั้งรูป นางแฟนนี่ นอกซ์ [Mrs.Fanny Knox] ภรรยาที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตและกรณีขัดแย้งในเรื่องการทุจริตครั้งนั้นที่เชื่อมโยงไปถึงบิดานายโทมัส ยอร์ช นอกซ์ [Thomas George Knox] ผู้เป็นกงสุลอังกฤษประจำประเทศสยาม เห็นได้ชัดว่า นอกจากคนในท้องถิ่นแล้วยังมีการดูแลโดยตระกูล “อมาตยกุล” ที่ไม่ได้ทอดทิ้งศาลแห่งนี้แต่อย่างใด


พระปรีชากลการถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต โดยถูกนำตัวออกจากกรุงเทพฯ แต่เช้า ลงเรือล่องไปจนถึงปราจีนบุรีในเวลาบ่ายแก่ๆ และจัดการประหารในเย็นวันนั้น ซึ่งน่าจะเป็นที่บริเวณฝั่งตรงข้ามกับวัดหลวงปรีชากูล ใกล้สถานีตำรวจภูธรในปัจจุบัน ชาวบ้านตั้งศาลให้ท่านและมีการบูรณะเรื่อยมาอยู่ที่วัดหลวงปรีชากูล ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักกันมากเท่ากับศาลที่อยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจ ซึ่งจะมีคนในจังหวัดปราจีนบุรีไปกราบไหว้บูชากันเสมอ และในช่วงเข้าพรรษาเข้าพรรษา ก่อนที่จะนําเจ้านาคไปอุปสมบทที่วัด จะนําเจ้านาคไปกราบลาเจ้าพ่อสําอางก่อน
เล่าสืบทอดกันเรื่อยมาว่าบริเวณสระน้ําหน้าสถานีตํารวจภูธรอําเภอเมืองนั้น ถ้าใครจับปลาในสระไปโดยพลการจะเกิดเหตุอัปมงคลวิบัติต่าง ๆ จนหวาดกลัวไปตาม ๆ กัน
และศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรมของปราจีนบุรีบันทึกไว้โดยสะท้อนความคิดเห็นของคนท้องถิ่นที่มีต่อพระปรีชากลการไว้ว่า
“เจ้าพ่อสำอางคือพระปรีชากลการ เดิมชื่อสำอาง อมาตยกุล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ได้เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี ได้ทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดิน จังหวัดปราจีนบุรี เช่น การสร้างถนน สถานที่ราชการ อาคารต่างๆ โรงงานเครื่องจักรสำหรับทำทอง บูรณะและสร้างอุโบสถวัดหลวงปรีชากูล และถึงแม้ว่าดวงชะตากรรมของท่าน จะต้องโทษทัณฑ์ด้วยการถูกประหารชีวิต แต่ประชาชนชาวจังหวัดปราจีนบุรีก็ยังเคารพบูชาจนถึงทุกวันนี้”
คนที่กบินทร์บุรีที่มีอายุมากหน่อย จะทราบถึงภาพพจน์ที่สังคมมองคนที่เมืองแห่งนี้ว่า “เป็นเมืองกบฎ” บ้าง “คนกบินทร์หรือคนเมืองลิงคบไม่ได้” บ้าง คนที่เข้าไปหางานทำในเมืองหลวงระยะแรกๆ มักจะเล่าถึงความรังเกียจถึงนิสัยไม่ซื่อตรง ความคดโกงที่เกิดขึ้นที่กบินทร์บุรีจนไม่ไว้วางใจอยู่ในจิตใต้สำนึก จนพอจะสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมาจากเหตุการณ์ทุจริตที่เกิดขึ้นในกรณีเหมืองทองคำที่บ่อทอง เมืองกบินทร์บุรี และการประหารชีวิตผู้รับผิดชอบในครั้งนั้นคือ “พระปรีชากลการ” จนกลายเป็นเรื่องเล่าที่โด่งดังและทัศนคติซึ่งเกิดขึ้นแก่คนที่กรุงเทพฯ สืบต่อกันมาและเป็นไปในทางลบแก่ผู้คนและเมืองกบินทร์บุรีที่ติดอยู่นานนับร้อยปี จนถึงปัจจุบันความทรงจำนี้ลดน้อยจนแทบจะหายไปและเกือบจะไม่มีผู้ใดรับรู้เรื่องนี้อีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตามความรู้สึกของการถูกต่อว่าในเรื่องของการเป็น “กบฎ” และความนับถือที่มีต่อเจ้าพ่อสำอางที่มีอยู่โดยถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของท้องถิ่นและของเมืองปราจีนบุรีดูจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน ความเชื่อความศรัทธาของผู้คนในท้องถิ่นไม่ได้มีความสงสัยไปถึงสาเหตุที่ท่านเสียชีวิตด้วยข้อหาการทุจริตครั้งใหญ่เป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด แต่ความนับถือของคนท้องถิ่นยึดถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ [Spirit] ที่คอยปกป้องคุ้มกันภัยอันตรายต่างๆ แก่ตนและครอบครัวตลอดจนชุมชนได้ กระบวนการถูกทำให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ [Deified] เช่นนี้ไม่ต่างไปจากกระบวนการกลายเป็นผีบ้านผีเมืองต่างๆ ในท้องถิ่นที่ไม่ว่าจะตายด้วยสาเหตุใดทั้งร้ายหรือดีก็จะถูกยกขึ้นเป็นผีบ้านผีเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของท้องถิ่นนั้นๆ ได้ ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการนับถือ “นัต” [Nat] ในพม่านั้น ถือเอาเฉพาะนัตที่เสียชีวิตด้วยความผิดปกติเท่านั้นทีเดียว
ถูกใจถูกใจ