วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
(พิมพ์ในรวมบทความเรื่อง “เจ้าแม่ คุณปู่ ช่างซอ ช่างฟ้อน และเรื่องอื่นๆ ว่าด้วยพิธีกรรมและนาฎกรรม. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, กรุงเทพฯ ๒๕๔๖)
การศึกษาตำนานคุณปู่ศรีราชา ก็เพื่อทำความเข้าใจถึงพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมของหมู่บ้านยี่สารซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง นับเป็นเรื่องยากหากพิจารณาเพียงข้อมูลประกอบที่มีฐานการศึกษาจากศูนย์กลางเท่านั้น เพราะหมู่บ้านนับเป็นส่วนเล็กย่อยในการศึกษาประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจแบบรัฐชาติ ที่ไม่ได้ให้น้ำหนักหรือความสำคัญต่อชุมชนหรือท้องถิ่นต่างๆ แต่อย่างใด
ดังนั้น บทความต่อไปนี้จึงพยายามศึกษาชุมชนยี่สารในความเป็นท้องถิ่น และสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์จากภายในทั้งที่เป็นความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลง โดยพิจารณาจากเนื้อหาของตำนานหรือเรื่องเล่าภายในชุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งประเพณีบอกเล่าที่เป็นประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชุมชน ซึ่งถ่ายทอดด้วยการเล่าต่อสืบกันมาหรือถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง
และหากจะทำความเข้าใจลักษณะและความสำคัญของตำนานคุณปู่ศรีราชาที่มีต่อหมู่บ้านยี่สารแล้ว จำต้องศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนในแถบชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ซึ่งยี่สารเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นดังกล่าว รวมถึงข้อมูลทางชาติพันธุ์วรรณนา การแยกแยะเนื้อหาของตำนานกลุ่มต่างๆ เพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์และแบบเรื่องที่ปรากฏ และศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรมทั้งในอดีตและปัจจุบันของหมู่บ้านยี่สารว่ามีบทบาทและหน้าที่ต่อชุมชนอย่างไร เพื่อให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของตำนานคุณปู่ศรีราชาที่สะท้อนถึงความเข้าใจพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของหมู่บ้านแห่งนี้
ประวัติศาสตร์หมู่บ้านยี่สาร สภาพแวดล้อมสร้างเอกลักษณ์แก่ผู้คนและชุมชน
หมู่บ้านยี่สารตั้งอยู่ในเขตการปกครองหมู่ ๑ และหมู่ ๒ ของตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม อยู่ริมสองฝั่งคลองขุดยี่สารใกล้กับเขาขนาดเล็กๆ ซึ่งเป็นเขาหินปูนปนหินทรายขนาดย่อมๆ ชื่อเดียวกับหมู่บ้านเป็นศูนย์กลาง บ้านยี่สารอยู่ห่างจากชายฝั่งเข้ามาในแผ่นดินราว ๕ กิโลเมตร มีเส้นทางน้ำต่อกับอ่าวบางตะบูนซึ่งอยู่ระหว่างปากน้ำแม่กลองและปากน้ำเพชรบุรี ลำคลองบริเวณนี้ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลกระแสน้ำขึ้นลงวันละ ๒ ครั้ง และเป็นคลองน้ำกร่อย คลองสายต่างๆ คือหัวใจหลักในการคมนาคมยุคแรกเริ่ม จนกระทั่งถนนกลายมามีบทบาทแทนในปัจจุบัน
บนเขาและเชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขายี่สาร บ้านเรือนของคนยี่สารในปัจจุบันจะกระจุกตัวกันอย่างหนาแน่นบริเวณรอบเขายี่สารฝั่งเหนือ ส่วนมากเป็นเรือนไทยฝาไม้ประกนหลังใหญ่ บางหลังปลูกขึ้นใหม่ตามสมัยนิยม ผู้คนที่อาศัยในบ้านกลุ่มนี้จะมีที่พักอยู่ตามวังกุ้งหรือพื้นที่ทำมาหากินที่ไกลออกไปด้วย ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งตรงข้ามคลองขุดยี่สาร เรียกกันว่า บ้านคลองบ้านนอก ชาวบ้านกลุ่มนี้จะพายเรือข้ามฟากบ้างหรือข้ามสะพานบ้างมายังฝั่งวัดเขายี่สารเสมอ เนื่องจากศูนย์กลางของชุมชนคือ วัด ตลาดนัด ร้านค้า อนามัย และสิ่งอำนวยความสะดวกอันจำเป็นต่างๆ ตั้งอยู่ฝั่งนี้ทั้งสิ้น
พื้นที่โดยรอบหมู่บ้านเป็นป่าชายเลนซึ่งมีพรรณไม้น้ำกร่อยขึ้นหนาแน่น ยี่สารไม่สามารถทำนาหรือปลูกพืชผักผลไม้เพราะพื้นที่เป็นดินเค็มจึงมีแต่พืชพื้นถิ่นที่ทนเค็มบางชนิดเท่านั้น พื้นที่รอบๆเขา ซึ่งมีการอยู่อาศัยมานานมีสภาพเป็นเนินดินที่อุดมสมบูรณ์จึงจะมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นดงหนาทึบ บริเวณเชิงเขาจะพบว่ามีพืชที่จัดว่าเป็นสมุนไพร ทั้งพืชไม้ยืนต้นและไม้ล้มลุกอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านยี่สารในอดีตใช้การปรับตัวกับสภาพแวดล้อมเช่นนี้ผลิตยาสมุนไพรใช้กันโดยทั่วไป
สภาพแวดล้อมแบบป่าชายเลนทำให้การอยู่อาศัยที่ยี่สารดูเป็นเรื่องลำบาก แม้จะล้อมรอบด้วยลำน้ำแต่ก็เป็นน้ำกร่อยซึ่งใช้บริโภคไม่ได้ จึงใช้น้ำฝนสำหรับดื่มซึ่งต้องรองน้ำฝนเก็บไว้ใช้ให้ได้ตลอดทั้งปี และอาศัยการล่มน้ำหรือบรรทุกน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีโดยทางเรือเป็นน้ำใช้อุปโภค
บ้านยี่สารนับเป็นบริเวณที่ไกลศูนย์กลางจังหวัดสมุทรสงครามที่สุด แต่สามารถติดต่อกับจังหวัดเพชรบุรีได้สะดวกและใกล้กว่า ดังนั้น แม้จะอยู่ในเขตการปกครองของอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นส่วนที่ติดกับชายฝั่งทะเลไม่ใช่สวนผลไม้ ลักษณะทางวัฒนธรรมและการทำมาหากินของผู้คนในชุมชนยี่สารจึงมีความใกล้เคียงกับคนเพชรบุรี ในบริเวณอำเภอบ้านแหลมมากกว่าวัฒนธรรมแบบชาวสวนในแถบอัมพวา
แม้ผู้คนที่ยี่สารซึ่งหลายตระกูลมีบรรพบุรุษร่วมกันและเป็นคนจีน แต่ไม่สามารถสืบได้ว่าใช้แซ่อะไรและพูดภาษาจีนสืบต่อกันมาไม่ได้ นอกจากมีร่องรอยจากคำที่ใช้เรียกปู่หรือตา เช่น ก๋ง อย่างไรก็ตาม คนยี่สารกลุ่มใหญ่มีบรรพบุรุษอย่างน้อยหนึ่งคนที่เป็นคนจีนโพ้นทะเล ลักษณะทางกายภาพของคนยี่สารแม้จะมีบรรพบุรุษเป็นคนจีนตามที่เข้าใจกัน แต่รูปร่างหน้าตาและผิวพรรณไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นคนเชื้อสายจีนที่ลักษณะภายนอกที่มักจะมีผิวขาว ตาชั้นเดียว แต่คนยี่สารในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีผิวคล้ำเนื่องจากต้องทำงานกลางแจ้งกันอยู่เสมอ ส่วนลักษณะตาชั้นเดียวนั้นก็อาจจะมีบ้างแต่ไม่ถือว่าเป็นลักษณะเด่นแต่อย่างใด
อาจมีบางคนยี่สารที่มีผิวค่อนข้างขาว แต่เมื่อสอบถามถึงบรรพบุรุษก็ไม่มีเชื้อสายจีนแต่อาจมีบางคนที่มีเชื้อสายมอญอยู่บ้าง ทั้งนี้แม้ชุมชนยี่สารจะมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่หลงเหลืออยู่จนแสดงได้ว่าเป็นวัฒนธรรมจีนและมอญ อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางกายภาพ การแต่งกาย อาหารการกินของคนยี่สารก็ไม่สามารถบ่งบอกถึงลักษณะทางชาติพันธุ์ได้
ผู้คนในบ้านยี่สารจะมีการแบ่งกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการและกลุ่มอย่างเป็นทางการ กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ เช่น ในงานเทศกาลสำคัญๆ หากเป็นงานบุญทางพุทธศาสนา กลุ่มผู้ใหญ่ของชุมชนจะมีบทบาทอย่างมาก อีกทั้งจะเห็นการแบ่งกลุ่มหน้าที่ระหว่างชายหญิงกันอย่างชัดเจนในเวลามีงานกิจกรรมของชุมชน สำหรับการรวมกลุ่มระหว่างเครือญาติ แต่แม้จะเป็นเครือญาติกันทั้งชุมชน แต่ส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยวข้องรวมกลุ่มกันในเรื่องของการทำมาหากิน แต่จะช่วยกันในกลุ่มญาติที่สนิทจริงๆ เท่านั้น
ในระหว่างเครือญาติมีการแข่งขันกันเองในเรื่องของการเมืองท้องถิ่น เช่น การลงสมัครเป็นตัวแทนองค์การบริหารตำบล และตำแหน่งกำนัน ทั้งสองฝ่ายนี้แม้จะเป็นญาติกันแต่ก็มีการแบ่งพวกของกลุ่มตัวแทนออกเป็นฝ่ายๆ และเข้าแข่งขันกันอย่างจริงจังจนเกิดปัญหาขัดแย้งตามมา
ส่วนกลุ่มที่เป็นทางการของบ้านยี่สารนั้นจัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของชาวบ้านเองและการผลักดันจากหน่วยราชการ กลุ่มเหล่านี้มีฐานมาจากการสนิทสนมกันเป็นส่วนตัวหรือมีบุญคุณแก่กันจนทำให้เกิดความเกรงใจ อีกทั้งสามารถพูดคุยกันได้โดยไม่ขัดแย้ง
การแต่งงานของคนยี่สารนั้น โดยทั่วไปนิยมให้ฝ่ายชายแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิง คู่แต่งงานใหม่อาจอาศัยอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิงก่อนระยะหนึ่งแล้วจึงแยกออกมาตั้งบ้านเรือนของตัวเอง ปัจจุบันไม่จำเป็นว่าจะต้องแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิงอาจมีการกลับไปอยู่บ้านฝ่ายชายก็ได้ ขึ้นอยู่สถานการณ์ความพร้อมในการทำมาหากิน
นอกจากนี้ยังมีการแต่งงานข้ามชุมชน เช่น แต่งกับคนจากเขตอัมพวา แม่กลอง บางตะบูน และบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี แพรกหนามแดง ห้วยโรง และเขตอำเภอปากท่อ ราชบุรี ซึ่งเป็นชุมชนชาวนาและเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ จากการแต่งงานเช่นนี้ทำให้ชาวยี่สารบางคนกลายเป็นเจ้าของที่นาในบริเวณดังกล่าว และให้ผู้อื่นเช่าที่นาทำกินและมีการเก็บค่าเช่านาทดแทน
สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน กล่าวได้ว่า การทำมาหากินของชาวบ้านยี่สารสัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพของที่ตั้งชุมชน พัฒนาการของอาชีพที่สืบทอดกันมาแต่ดั้งเดิมจนปัจจุบัน คือ การจับสัตว์น้ำ ตัดฟืนไม้ต่างๆ เลี้ยงกุ้งและปูทะเล ทำกิจการเกี่ยวเนื่องกับการทำถ่านไม้โกงกาง รับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ส่วนผู้ที่มีการศึกษาสูงจะย้ายไปทำอาชีพต่างๆ ภายนอก







ชื่อ “ยี่สาร” กับความหมายที่เปลี่ยนแปลง
คำว่า “ยี่สาน” หรือ “ยี่ส่าน” ในบางที่ สันนิษฐานกันว่า “ยี่สาน” น่าจะมาจากคำว่า “ปสาน” ซึ่งแปลว่า “ตลาด” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเทียบว่ามาจากภาษาเปอร์เซีย คือ “บาซาร์” [bazaar] แปลว่าตลาดที่ขายของแห้ง คำว่าบาซาร์ ยังแพร่หลายไปใช้อยู่ในหลายแห่ง
ในภาษาเก่าซึ่งพบทั่วไปจากเอกสารและจดหมายเหตุความทรงจำต่างๆ มักใช้คำว่า “ตลาดปสาน” บ้าง “ตลาดยี่สาน” บ้าง หรือ “พะสาน”, ”ยิสาร”, “ยี่ส่าน” บ้าง อย่างไรก็ตาม มีการใช้คำว่า ปสานหรือยี่สานเป็นคำควบกันไปกับคำว่าตลาด ซึ่งแสดงถึงสถานที่ประชุมคนตั้งร้านหรือบ้านเรือนค้าขายกันอยู่เป็นจำนวนมาก
แต่สำหรับชุมชนยี่สารในปัจจุบัน คำว่า “ยี่สาน” ไม่ได้ใช้หรือรับรู้กันโดยทั่วไปในความหมายว่าตลาดเช่นในอดีต ทั้งชื่อบ้านยี่สารก็ใช้ตัวสะกด “ร” แทน “น” และกลายเป็นคำสะกดอย่างเป็นทางการ จนเป็นเหตุให้เกิดการตีความใหม่ และรับรู้ความหมายชื่อชุมชนผิดเพี้ยนไปอย่างมาก
ประวัติศาสตร์หมู่บ้านที่สร้างจากหลักฐานโบราณคดีและเอกสารทางประวัติศาสตร์
จากหลักฐานทางโบราณคดี สรุปได้ว่ามีการอยู่อาศัยของผู้คนโดยตลอดตั้งแต่เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงปัจจุบัน ในช่วงเวลาไม่ต่ำกว่า ๗๐๐-๘๐๐ ปี โดยไม่ขาดตอนหรือมีการทิ้งร้างแต่อย่างใด รูปแบบชีวิตแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากนัก นอกจากในระยะแรกและระยะท้ายสุด ( ประไพ วิริยะพันธุ์, มูลนิธิ. “รายงานการขุดค้นหลุมทดสอบแหล่งโบราณคดีอู่ตะเภา เชิงเขายี่สาร บ้านเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม.”มีนาคม ๒๕๔๒. (อัดสำเนา) )
บ้านยี่สารเป็นชุมชนที่กล่าวถึงในเอกสาร ( ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยาฉบับต่อจากที่เคยพิมพ์แล้ว โรงพิมพ์พระจันทร์, พระนคร, ๒๔๘๒. สันนิษฐานว่าเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นโดยคนในสมัยรัตนโกสินทร์ที่เกิดทันก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยา ) ว่า นำอาหารทะเลแปรรูปมาขายที่ท้ายวัดพนัญเชิงสนับสนุนข้อมูลทางโบราณคดีที่พบกระดูกสันหลังปลาทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งมีปริมาณมากเกินกว่าจะบริโภคภายในชุมชน ทั้งพบเปลือกหอยแครงปริมาณมากซึ่งเปลือกหอยสามารถนำมาแปรรูปทำปูนขาว ซึ่งเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งของชาวบ้านยี่สาร
ชุมชนยี่สารนอกจากมีของพื้นถิ่นที่นำไปแลกเปลี่ยนพวกข้าวปลาอาหารแล้ว ยังแสดงให้เห็นการเป็นชุมชนค้าขาย โดยเฉพาะอาหารทะเลที่แปรรูปหรืออาหารที่ไม่มีวัตถุดิบในชุมชน จึงต้องมีการใช้จ่ายเงินทองเป็นทุนทรัพย์หมุนเวียนแต่ไม่ใช่เป็นการใช้จ่ายเงินทองจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงพบปริมาณหอยเบี้ยจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ตามชั้นดินทุกระดับ เพราะหอยเบี้ยเป็นเงินตราที่ถูกอ้างถึงว่าเป็นเงินย่อยอัตราต่ำกว่าราคาเฟื้อง ซึ่งเป็นค่าเงินต่ำสุดและใช้กันทั่วไป
บ้านยี่สารน่าจะมีการค้ามาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก แม้คำบอกเล่าจากภูมิสถานกรุงศรีอยุธยาจะอยู่ในช่วงปลายสมัยอยุธยาก็ตาม จากข้อมูลทางโบราณคดียืนยันว่า หลังจากที่มีการอยู่อาศัยในระยะแรกแบบเบาบางแล้ว การอยู่อาศัยที่มีความหนาแน่น หลากหลาย และรุ่งเรืองสูงสุดน่าจะอยู่ในช่วงต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๒ ซึ่งมีการใช้โอ่งหรือตุ่มขนาดใหญ่ที่ผลิตจากเมืองสุพรรณบุรี เครื่องเคลือบที่เป็นโอ่ง ไหขนาดใหญ่ จากการนำเข้าจากจีนอาจจะนำมาพร้อมกับเรือสำเภา เครื่องถ้วยชามจากจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น จากสุโขทัยศรีสัชนาลัย จากเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งเป็นเรื่องแน่ชัดว่าจะต้องผ่านการค้าที่กรุงศรีอยุธยาอีกทีหนึ่ง จึงยืนยันได้แน่นอนว่ามีการค้าเกิดขึ้นแล้วระหว่างบ้านยี่สารหรือชุมชนใกล้เคียงกับเมืองหลวงที่กรุงศรีอยุธยา
เมื่อพิจารณาสินค้าที่ชาวยี่สาร บ้านแหลม และบางทะลุ เอามาขาย เปรียบเทียบกับสินค้าที่ชาวทะเลนำมาขายจะเห็นว่าต่างกัน เพราะสินค้าชาวทะเลคืออาหารทะเลสด เช่น หอยราก หอยกะพง ปูทะเล แมงดาทะเล ส่วนสินค้าของชาวยี่สารคือ กะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลากะพง ปลาคุเรา ปลาทู ปลากะเบนย่าง ซึ่งเป็นสินค้าแปรรูปและของแห้งเก็บไว้ได้นานกว่า และสัมพันธ์กับที่ตั้งของหมู่บ้าน เพราะยี่สารไม่ใช่ชุมชนชาวประมงชายฝั่ง แต่แปรรูปวัตถุดิบคือการรับซื้อสินค้าจากทะเลมาผลิตอีกต่อหนึ่ง และสินค้าพวกนี้อาจรับนำไปขายอีกทอดหนึ่งในพื้นที่ภายในไม่เพียงเฉพาะที่กรุงศรีอยุธยาเท่านั้น
ดังนั้น ธรรมชาติของอาชีพของคนยี่สารจึงเป็นคนกลางอย่างสมบูรณ์แบบ ซื้อวัตถุดิบจากชุมชนใกล้เคียงมาแปรรูปแล้วขายสินค้าที่แปรรูปนั้นออกไป ลักษณะดังกล่าวพ้องกับความหมายของคำว่า “ยี่สาน” นั่นคือ สถานที่ประชุมชนเพื่อค้าขายสิ่งของต่างๆ กิจการดังกล่าวยังคงสืบเนื่องมาโดยตลอดเพราะรูปแบบการอยู่อาศัยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
การเป็นชุมชนที่ทำการค้านี่เอง ชาวยี่สารจึงมีเงินทองเพื่อใช้ในการทำบุญสร้างศาสนสถานและทะนุบำรุงอาคารสถานที่ได้อย่างเต็มที่ แลกเปลี่ยนสิ่งของที่ตนเองไม่สามารถผลิตได้จากชุมชนรอบๆ เช่น ข้าวจากแถบเพชรบุรี ผัก ผลไม้จากสวนแถบอัมพวา น้ำจากการล่มน้ำที่แม่น้ำเพชรหรือการรองน้ำฝนไว้ใช้ หมู่บ้านนี้จึงสามารถอยู่อาศัยในป่าชายเลนได้อย่างต่อเนื่องตลอดมา
ลักษณะการทำการค้าของชาวยี่สาร บ่งถึงกลุ่มคนที่ทำการค้าชนิดนี้ได้ว่าน่าจะเป็นชาวจีนหรือผู้คนที่มีเชื้อสายจีนที่ชำนาญในการทำประมงชายฝั่ง ทำปูนขาวจากเปลือกหอย และไม่ถือกังวลกับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทั้งอาจจะผสมผสานกับกลุ่มชาวมอญอาศัยความเก่งและชำนาญในการเดินเรือเส้นทางภายในเดินทางรอนแรมรู้จักธรรมชาติของแม่น้ำลำคลองในเขตชายทะเลและเข้ามาภายในเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยี่สารยังเป็นชุมชนที่อยู่ในเส้นทางการเดินทางข้ามคาบสมุทรตอนบน และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการเดินทางภายในระหว่างเมืองหลวงและเพชรบุรี อันเป็นเมืองสำคัญสำหรับการเดินทางและการค้าข้ามคาบสมุทร และสัมพันธ์กับการเดินเรือเลียบชายฝั่งโดยเฉพาะสำเภาจีนที่มีมานานนับพันปี
การเดินทางข้ามคาบสมุทรเป็นหนทางเพื่อย่นเวลาและระยะทางระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย โดยไม่ต้องรอลมมรสุมอ้อมลงไปเข้าช่องแคบมลายู เส้นทางข้ามคาบสมุทรของแหลมมลายูมีด้วยกันหลายเส้นทาง แต่ตอนบนสุดคือเส้นทางระหว่างเมืองมะริด-ตะนาวศรีและเมืองเพชรบุรี
ในยุคที่การพาณิชย์นาวีเฟื่องฟู มีการเดินทางเข้ามาของพ่อค้าและผู้เผยแพร่ศาสนาชาวตะวันตกจำนวนมาก ทำให้เส้นทางนี้เพิ่มความสำคัญมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ จนเกิดเมืองที่มีความสำคัญตามรายทางระหว่างมะริดและเพชรบุรี เช่น เมืองกุย เมืองปราณ เป็นต้น
การเดินเรือเลียบชายฝั่งของสำเภาจีนและตำแหน่งของลูกเรือ ที่มีตำราบันทึกส่งต่อกันมาว่า รู้จักเกาะแก่งและแนวหินตลอดจนลมฟ้าอากาศ เป็นสมบัติที่ส่งผ่านกันมาโดยไม่ต้องใช้เข็มทิศแบบฝรั่ง ต้นหนจะสังเกตฝั่งและแหลมเป็นจุดหมายจนแทบจะคาดการณ์ไม่ผิดเลย เพราะมีหนังสือนำทาง สามารถกระทั่งหลบหลีกแนวหินโสโครกทางเข้าท่าเรือได้ถูกต้องแม่นยำ
วิธีการของการเดินเรือเลียบชายฝั่งในบริเวณอ่าวไทยตอนใน ค่อนข้างมีแบบแผนลงตัว คือ หากไม่ใช่เรือท้องถิ่นหรือมีวัตถุประสงค์จะเดินทางสู่ปากน้ำแม่กลองหรือปากน้ำท่าจีนโดยตรงแล้ว ก็ไม่นิยมเลียบอ่าวโคลนด้านตะวันตกที่เป็นชะวากเว้าเข้าด้านใน เพราะพื้นน้ำเต็มไปด้วยโคลนตมจากการสะสมของตะกอนแม่น้ำจำนวนมากที่ไหลผ่านภูเขาและพื้นที่สูงของภูมิภาคตะวันตก
ดังนั้น เมื่อเดินทางจากปากน้ำเจ้าพระยาออกทะเลจะตัดตรงทางตะวันออกไปพักที่เกาะสีชัง เกาะส้ม เกาะคราม หรือเกาะไผ่ ทางฝั่งตะวันออก แล้วชักใบแล่นตัดข้ามอ่าวจุดหมายที่เขาเจ้าลายบริเวณชายฝั่งชะอำ หรือต่ำลงมาแถวเขาสามร้อยยอดแถบเมืองกุย ทั้งสองแห่งมีเทือกเขาโดดเด่นเป็นจุดสังเกตได้ง่าย หลังจากนั้นจึงเดินเรือเลียบชายฝั่งลงใต้ต่อไป
หรือหากต้องการไปทางอ่าวตังเกี๋ยเลียบชายฝั่งสู่เวียดนามและจีนตอนใต้ ก็จะเดินเรือสลับในอ่าว จากปากน้ำไปที่เกาะสีชังแล้วข้ามอ่าวมาที่สามร้อยยอดหรือเมืองกุยเช่นเดียวกัน แต่จากนั้นจึงชักใบเรือข้ามอ่าวมุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้มีที่หมายตรงเกาะลักษณะแคบยาวชื่อ Pulipanjung และเกาะ Puli ubi และ Puli Condor ชายฝั่งกัมพูชา
ในทางกลับกัน หากเดินเรือเลียบชายฝั่งมาจากทางคาบสมุทรมลายูจะแวะเติมน้ำจืดหรือหลบลมที่สามร้อยยอดปากน้ำกุยบุรีเลียบชายฝั่งผ่านเขาเจ้าลายจนถึงแหลมหลวงหรือแหลมผักเบี้ย จากบริเวณนี้จะแล่นห่างฝั่งโคลนตัดตรงไปปากน้ำเจ้าพระยา หรือหากไม่เข้ากรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพฯ เกาะสีชังเป็นจุดหมายซึ่งเรือสำเภาจีนลำใหญ่ขนาด ๔-๕ เสากระโดงจะขึงใบตึงแล่นตัดข้ามอ่าว หลังจากเติมน้ำจืดที่แถวสามร้อยยอด กุยบุรี ต่อจากนั้นจึงค่อยๆ เลียบฝั่ง มีที่หมายที่หมู่เกาะชายฝั่งกัมพูชาที่กล่าวถึงข้างต้น แล้วแล่นต่อไปยังชายฝั่งเวียดนามและจีนต่อไป
การเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรและการค้าสำเภาเลียบชายฝั่ง เกิดเมื่อหลังเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ทำให้ความสำคัญของเมืองเพชรบุรีลดลง เปลี่ยนเป็นสถานที่ตากอากาศของพระมหากษัตริย์ กฎุมพี และชาวต่างชาติ ทำให้ยี่สารที่อยู่ในเส้นทางระหว่างแม่กลองและเพชรบุรีลดความสำคัญลงไปด้วย
นอกจากนี้ การค้าภายในหลังต้นรัตนโกสินทร์มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด จนเห็นได้ชัดว่าเป็นการค้าเพื่อการผลิตแบบส่งออกหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ สินค้าเพื่อการส่งออกส่วนใหญ่ผลิตที่หัวเมืองแถบตะวันตก แถบเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี นั่นคือ อ้อยเพื่อทำน้ำตาลทราย ยาสูบ ข้าว เป็นต้น แม้จะมีการขุดคลองบางลี่และคลองลัดยี่สารเพื่อสะดวกแก่การคมนาคมขนส่งผลผลิตจากเพชรบุรีสู่ภายนอกก็ตาม แต่ก็เป็นไปในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะทางรถไฟกรุงเทพฯ-เพชรบุรีก็ได้ทำหน้าที่นี้แทนแม่น้ำลำคลองต่างๆ หลังจากการขุดคลองดังกล่าวในเวลาต่อมา (ขุดคลองบางลี่และคลองลัดยี่สารเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒ ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เพชรบุรีเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖)
บ้านยี่สารได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยตลอด จนเมื่อความเป็นชุมชนการค้าที่ถนัดในการแปรรูปและส่งขายสินค้าต่างๆ ไม่สามารถทำได้ดีเท่าในอดีต อาจเพราะการมีคู่แข่งสินค้าประเภทเดียวกันจากชุมชนอื่นที่อยู่ใกล้หรือสะดวกกว่า หรือไม่สามารถแข่งขันกับชุมชนที่อยู่รอบๆ เช่นศูนย์กลางการค้าที่แม่กลองได้ ทำให้อาชีพทางการค้าเปลี่ยนเป็นการหาอยู่หากิน ส่งฟืนเข้าเมืองหลวงเหมือนๆ กับชุมชนในเขตทะเลตมทำกันทั่วไป โดยทำประมงหากินตามลำน้ำลำคลองซึ่งเป็นเขตน้ำกร่อยที่อุดมสมบูรณ์แลกเปลี่ยนกับสิ่งของจำเป็นจากภายนอกโดยไม่สามารถเพาะปลูกพืชผักผลไม้อะไรได้ จนความรุ่งเรืองเนื่องมาจากการเป็นชุมชนการค้าค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนทั้งที่อยู่ในยี่สารและผู้คนทั่วไป จนไม่หลงเหลือแม้แต่ร่องรอยของคำบอกเล่าสืบต่อกันมา
จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๘๐ การปลูกป่าโกงกางเพื่อตัดทำถ่านที่บ้านยี่สาร โดยถือเป็นสวนป่าไม้ชายเลนเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งหลังการเผาจะได้ถ่านคุณภาพดี ราคาสูงกว่าถ่านทั่วไป โดยผลิตส่งทั้งในเขต จังหวัดสมุทรสงคราม และกรุงเทพฯ
เมื่อราว พ.ศ.๒๕๒๔-พ.ศ.๒๕๒๕ การหาอยู่หากินและอาชีพทำถ่านเริ่มสั่นคลอนอย่างหนัก เนื่องจากความต้องการพื้นที่ทะเลตมทำนากุ้งกุลาดำ เพื่อการส่งออกและให้ค่าตอบแทนมหาศาลในระยะแรก แต่ส่งผลเสียให้สภาพแวดล้อมและพื้นที่สวนป่าโกงกางถูกทำลายจนเหลือจำนวนไม่มากนัก ส่งผลให้เกิดการขายที่ดินออกไปสู่คนนอกชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยมีกลุ่มธุรกิจใหญ่รายหนึ่งอาศัยชาวท้องถิ่นเป็นคนกลางกว้านซื้อที่ดิน ทำให้บุคคลภายนอกเข้ามามีความสัมพันธ์และครอบครองสิทธิ์ในทรัพยากรของท้องถิ่นมากขึ้น คนยี่สารจึงออกไปหางานภายนอก เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานและมีอาชีพต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ได้
อีกทั้งความต้องการของการใช้ถ่านไม้คุณภาพดีมากแต่มีราคาแพงเริ่มลดความต้องการลงอย่างต่อเนื่อง เตาอบถ่านหลายแห่งเริ่มปิดตัวลง ปัจจุบันยังคงมีเตาเผาหรืออบถ่านอยู่เพียง ๓-๔ ราย เท่านั้น
การทำถ่านของชาวยี่สาร คือการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากสภาพป่าชายเลนทดแทนการเป็นชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าตั้งแต่สมัยโบราณ แต่สังคมที่เปลี่ยนไปกำลังบีบให้ชาวยี่สารคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถ่านไม้โกงกางไม่ใช่คำตอบที่ทำให้ชุมชนสามารถอยู่รอดได้








ท้องถิ่นชายฝั่งทะเลอ่าวไทยกับความสำคัญของชื่อ “ศรีราชา”
ชื่อ “ศรีราชา” มีร่องรอยของความเก่าแก่อย่างน่าสนใจ และควรพิเคราะห์ว่ากลายมาเป็นชื่อของวีรบุรุษทางวัฒนธรรมในตำนานของชุมชนยี่สารได้อย่างไร
จิตร ภูมิศักดิ์ ศึกษาและอธิบายความหมายของ “ศรีราชา” หรือ “ศรีมหาราชา” ว่ามีร่องรอยเก่าไปถึงสมัยศรีวิชัยที่อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ( จิตร ภูมิศักดิ์, “นครรัฐเพชรบุรี,” สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ( กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๒๗), ๒๓๐–๒๔๐. )
คำว่าศรีราชา เดิมเป็นพระปรมาภิไธยของกษัตริย์วงศ์ไศเลนทร์แห่งศรีวิชัยในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ จากศิลาจารึกวัดเสมาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาษาสันสกฤต พ.ศ.๑๓๑๘ ด้านหลัง ปรากฏความเป็นการเยินยอพระเกียรติของพระเจ้าศรีมหาราชในราชวงศ์ไศเลนทร์ความว่า “…ทรงเป็นหัวหน้าแห่งไศเลนทรวงศ ทรงพระนาม ศรีมหาราช…” ( ยอช เซเดซ์, ประชุมจารึกสายาม ภาคที่ ๒ จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ แลเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๒)) ภายหลังพวกปัทมวงศ์จากเขมรมาตั้งวงศ์ปัญจาณฑ์ขึ้นใหม่ และใช้คำว่า “ศรีธรรมราช” เป็นปรมาภิไธยแทน บ้านเมืองนั้นจึงได้ชื่อว่านครศรีธรรมราช
ต่อมา “ศรีราชา” หรือ “ศรีมหาราชา” กลายเป็นตำแหน่งทางการเมืองของบ้านเมืองในเขตเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งสัมพันธ์กับเมืองเพชรบุรี ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนสมัยการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึง พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชกษัตริย์พระบวรเชษฐาพระราชกุมาร เจ้านายซึ่งมีเชื้อสายของกษัตริย์จากอโยธยามาตั้งบ้านเมืองทางริมสมุทรที่นครเพชรบุรีและส่งทูตไปยังราชสำนักจีน ซึ่งพ้องกับบันทึกในเอกสารจีนที่ระบุเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๗ เมืองเพชรบุรีที่ทำนาเกลือได้ผลดี มีเรือสำเภาจากจีนมาค้าขายและซื้อไม้ฝางกลับไป
พระพนมทะเลฯ ได้ส่งพระพนมวังไปตั้งบ้านเมืองที่นครศรีธรรมราช หลังจากรัฐศรีธรรมราชถูกทำลายลง “เจ้าศรีราชา” เป็นบุตรของพระพนมวัง ได้ช่วยพ่อจัดการบ้านเมืองในแหลมมลายูจนถึงเมืองยะโฮร์ หลังจากพระพนมวังตาย เจ้าศรีราชาได้ไปเฝ้าพระพนมทะเลฯ พระพนมทะเล จึงตั้งเจ้าศรีราชาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช มีบรรดาศักดิ์เป็น “พญาศรีธรรมาโศกราช สุรินทรราชาสุรวงศ์ธิบดี ศรียุธิษเฐียรอภัยพิรียปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมหานคร”
ต่อมาเมื่อพญาศรีธรรมาโศกราชสิ้นลง ตำแหน่งศรีราชาหรือศรีมหาราชาไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าเมืองอีกต่อไป แต่เป็นตำแหน่งทางศาสนามีหน้าที่ดูแลจัดสรรที่ดินไร่นาของวัดและคุมบัญชีเลกวัดข้าพระโยมสงฆ์ ซึ่งเป็นกลอุบายในการประนีประนอมผลประโยชน์ของที่ดินและไพร่กับกลุ่มที่นับถือพราหมณ์-มหายานในตระกูลมลายูเดิม และฝ่ายหินยานที่เป็นกลุ่มใหม่เข้าไปปกครอง ตำแหน่งนี้สิ้นสุดที่นครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ.๑๘๖๑ แล้วจึงไปปรากฏที่อื่น
ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชบันทึกต่อไปว่า ในช่วงเวลาเดียวกับพระพนมทะเลฯ แห่งเมืองเพชรบุรีส่ง “เจ้าศรีราชา” ไปช่วยจัดการหัวเมืองในคาบสมุทรมลายู และได้ส่งเจ้าศรีพระพี่เลี้ยงไปกินเมืองแพรก (ตัวอำเภอสรรคบุรีในปัจจุบัน) และสมัยต่อมาก็มีประเพณีส่งเจ้านายในสมัยแรกๆ ของกรุงศรีอยุธยาในตำแหน่งสมเด็จพระศรีราชาธิราชไปครองเมืองแพรก จึงได้สร้อยเป็นเมืองแพรกศรีราชาไปด้วย และอยุธยาส่งเจ้านายไปครองเมืองแพรกครั้งสุดท้ายในสมัยพระอินทราชา ส่งเจ้ายี่ไปครองเมื่อ พ.ศ.๑๙๖๔
ในกฎหมายทำเนียบศักดินาทหารหัวเมือง เมื่อ พ.ศ.๑๙๙๗ ตำแหน่งศรีราชาถูกย้ายไปเป็น “หลวงศรีมหาราชา” เจ้ากรมอาษาจาม ซึ่งยังไม่ทิ้งร่องรอยเดิม เพราะกรมอาษาจามรวมเอาชาวจาม ชวา มลายู ซึ่งเป็นกลุ่มแขกมลายูไว้ด้วยกัน และส่วนใหญ่เป็นผู้คนที่มีเชื้อสายมาจกทางคาบสมุทรและชายฝั่งทะเลทางใต้
“ศรีราชา” จึงเป็นชื่อตำแหน่งเจ้านายเมืองนครศรีธรรมราชที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและขึ้นต่อเมืองเพชรบุรีในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นที่รู้จักดีในบ้านเมืองตลอดแหลมมลายู การจัดการการปกครองบ้านเมืองตลอดแหลมมลายูฝั่งอ่าวไทย ทั้งรวบรวมผู้คนสร้างป่าเป็นนา เกณฑ์คนตั้งแต่ยะโฮร์จนถึงบางสะพานมาร่วมกันบูรณะพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นการบูรณาการทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัดที่สุด
การติดต่อกับบ้านเมืองในเขตเพชรบุรีไปถึงอยุธยาและตลอดแหลมมลายู จนถึงการค้าขายทางทะเลที่ต้องเดินเรือเลียบชายฝั่ง น่าจะทำให้ชื่อเสียงของ “เจ้าศรีราชา” ที่อยู่ในตำนานเมืองนครฯ เป็นที่เล่าลือในชุมชนชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยทั้งสองฝั่งตลอดไปถึงกรุงศรีอยุธยา
และมีร่องรอยที่อาจเชื่อมโยง “ศรีราชา” ที่เป็นผู้รวบรวมและบูรณาการชุมชนในแถบชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทยในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และคุณปู่ศรีราชาวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของชาวยี่สารได้ คือ การพิจารณาความสำคัญของเกาะสีชังต่อการเดินเรือเลียบชายฝั่ง ซึ่งอยู่ตรงกันพอดีกับ “ศรีราชา” หรือในชื่อจากเอกสารเก่าว่า “ศรีมหาราชา” ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดชลบุรี
เกาะสีชัง ซึ่งอยู่ตรงกับอำเภอศรีราชาในปัจจุบัน เขาเจ้าลาย และเทือกเขาสามร้อยยอด จึงเป็นที่หมายสำคัญของการเดินเรือเลียบชายฝั่งไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด ปรากฏอยู่ในแผนที่โบราณทั้งของไทยและของชาวต่างชาติ และเมื่อพิจารณาภาพแผนที่โบราณของสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรี บริเวณอ่าวไทยจะเห็นตำแหน่งของเกาะสีชังและสามร้อยยอดตั้งอยู่เยื้องกันเป็นจุดสังเกต [Landmark] ที่เห็นชัดเจนบนแผนที่โบราณ โดยเฉพาะแผนที่การเดินทางแบบไทย
การเดินทางรูปแบบเหล่านี้เป็นสิ่งปกติธรรมดา ถูกกล่าวถึงไว้ในบันทึกการเดินทางและวรรณคดีประเภทนิราศหลายเรื่อง เช่น บันทึกการเดินทางของนายแพทย์อิงเกิลเบิตร์ แกมเฟอร์ บันทึกการเดินทางของคณะทูตจากอังกฤษ จอห์น ครอฟอร์ด โคลงกำศรวลสมุทรหรือกำศรวลศรีปราชญ์ โคลงนิราศพระยาตรัง โคลงนิราศชุมพรของพระพิพิธสาลี และ H. Warrington Smyth ที่บันทึกไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในการเดินทางโดยใช้เรือใบ
ดังนั้น “สีชัง” และ “ศรีราชา” จึงน่าจะเป็นสถานที่รู้จักกันดีของนักเดินทางที่ผ่านอ่าวไทยและบ้านเมืองแถบคาบสมุทรมาช้านานแล้ว
และในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีการเริ่มตั้งชุมชนอยู่อาศัยที่บ้านยี่สารแล้ว จากหลักฐานเศษเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หยวน พ.ศ.๑๘๑๙–พ.ศ.๑๙๑๐ ประกอบกับเรื่องเล่าของ “เจ้าศรีราชา” อันเปรียบเสมือนวีรบุรุษของชุมชนที่สัมพันธ์อยู่กับการเดินเรือเลียบชายฝั่งรอบอ่าวไทย และการรับรู้เรื่องราวของศรีราชาแบบมุขปาฐะ เพราะคุณปู่ศรีราชาเป็นที่นับถือร่วมกันของผู้คนในท้องถิ่นนี้จากหลักฐานที่รับทราบในปัจจุบัน
จึงมีทางเกี่ยวข้องกันอยู่ระหว่างตำนานวีรบุรุษท้องถิ่นและการเกิดขึ้นของชุมชนยี่สาร และการเปลี่ยนจาก “จีนขาน” มาเป็น “คุณปู่ศรีราชา” จึงมีร่องรอยที่มีเหตุผลรองรับ
ตำนานคุณปู่ศรีราชา
ลักษณะของตำนานในบริเวณประเทศไทยโดยสังเขป
ปรานี วงศ์เทศ แบ่ง “ตำนานหรือนิทานปรัมปรา” [Myth] และ “นิทานพื้นบ้าน” [Folktale] ในแถบภาคพื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( ปรานี วงษ์เทศ, สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์ (กรุงเทพฯ: บริษัทศิลปวัฒนธรรม จำกัด, พฤษภาคม ๒๕๔๓), ๒๘๔-๓๑๔.) โดยให้รายละเอียดว่าเป็นการแบ่งแยกประเภทของเนื้อหาและสะท้อนสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑.กลุ่มนิทานเกี่ยวกับน้ำเต้าปุงหรือตำนานกำเนิดมนุษย์ แพร่หลายในเขตล้านช้างและลุ่มน้ำโขง สะท้อนสำนึกของความต้องการสืบเผ่าพันธุ์ที่เป็นความคิดพื้นฐานของมนุษยชาติ ค่านิยมเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อสภาพแวดล้อม ผู้มีอำนาจ และอำนาจเหนือธรรมชาติ เน้นความสัมพันธ์ระหว่างเผ่าพันธุ์ต่างๆ ว่ามีความเป็นพี่น้องสืบเชื้อสายเดียวกัน ไม่รังเกียจชนต่างชาติและสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอื่นๆได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง
๒.ตำนานท้าวฮุ่ง ขุนเจือง เป็นเรื่องราวในเขตล้านนา และไปทางตะวันออกจนถึงหลวงพระบางและเวียดนาม สะท้อนความขัดแย้งของกลุ่มชนต่างๆ แต่ท้ายสุดสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมีความรู้สึกยกย่องผู้นำที่เป็นวีรบุรุษร่วมกันคือ ขุนเจือง
๓. กลุ่มคนที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นนิทานเกี่ยวกับพระเจ้าอู่ทองตาม่องล่ายและเรื่องราวเกี่ยวกับการค้าเรือสำเภาและการเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวต่างชาติ จากลุ่มเจ้าพระยาไปจนถึงทางคาบสมุทรภาคใต้
ตำนานทั้งสามจะมีโครงเรื่องคล้ายกัน เริ่มด้วยเกิดปัญหาและความขัดแย้งของกลุ่มคนแต่ละกลุ่มจบลงด้วยบูรณาการของผู้คนเหล่านั้น ซึ่งกลายมาเป็นประชากรพื้นฐานของสยามประเทศในปัจจุบัน จะเห็นว่ามีการแพร่กระจายความเชื่อเรื่องการยอมรับวีรบุรุษทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่ม ทั้งในปัจจุบันมีการศึกษาตำนานเหล่านี้ว่าสัมพันธ์กับการแพร่กระจายทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์และคนกลุ่มต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด การศึกษาดังกล่าวมีประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ถึงการตั้งถิ่นฐานและประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ
มีการศึกษาอย่างละเอียดถึงลักษณะของตำนานในสองกลุ่มแรกแต่ยังไม่มีผู้ใดทำการศึกษาตำนานในกลุ่มที่ ๓ จึงได้จำแนกเรื่องเล่าที่ปรากฏในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและชายฝั่งทะเล ซึ่งมีตำนานคุณปู่ศรีราชาของหมู่บ้านยี่สารรวมอยู่ด้วย
ตำนานการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มใหม่ที่มากับเรือสำเภา
กล่าวได้ว่ามีลักษณะเป็นตำนานการเริ่มต้นหรือกำเนิดการตั้งถิ่นฐานที่ใดที่หนึ่ง [Genesis myth] ก็ได้ ในภาคกลางของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างและภาคใต้แถบชายฝั่งมีนิทานที่แตกต่างไปจากกลุ่มคนทางตอนในของภูมิภาคดังที่กล่าวไปแล้ว ได้แก่เรื่องของพ่อค้าที่เรียกว่าเจ้าอู่หรือท้าวอู่ทอง การค้าขายของชาวจีนที่มากับเรือสำเภาและมีความสัมพันธ์กับชนพื้นเดิม โดยจะใช้คำว่า “ตำนาน” ในความหมายทั่วไปที่ใช้ในการเรียกเรื่องเล่าที่เป็นนิทานพื้นบ้าน โดยไม่ต้องคำนึงถึงความหมายของตำนาน หรือ Myth ที่มีลักษณะของความศักดิ์สิทธิ์และเกี่ยวข้องกับความเชื่อและพิธีกรรมดังที่ใช้ในขอบเขตของวิชามานุษยวิทยา ดังนี้
๑. พระเจ้าอู่ทอง จากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ.๒๑๘๒ เจ้าอู่เชื้อสายเจ้าเมืองจีนได้กลายมาเป็นพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑) กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์แรก
๒. เชื้อสายของพระเจ้าอู่ทอง จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช พระพนมทะเลฯ พระหลานพระเจ้าอู่ทองกษัตริย์กรุงเพชรบุรีพระราชทานฝางให้ขุนล่ามจีน พระเจ้าร่มฟ้ากรุงจีนให้นางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีศรีทองสมุทรเป็นมเหษี ซึ่งเป็นลูกนางจันทรเมาลีศรีบาทนารถสุรวงศ์ ซึ่งเกิดในดอกหมากและอยู่เมืองจำปาธิปบดี
๓. ตำนานคุณปู่ศรีราชา จากเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะในชุมชนบ้านยี่สาร จีนพี่น้องสามคนโดยสารเรือสำเภาเพื่อมาค้าขาย เรือชนเขายี่สารแตก จีนขานคนกลางกลายมาเป็นคุณปู่ศรีราชา ผู้นำทางจิตวิญญาณของคนยี่สารในปัจจุบันจีนพี่น้องสามคนโดยสารเรือสำเภาเพื่อมาค้าขาย เรือชนเขายี่สารแตก จีนขานคนกลางกลายเป็นคุณปู่ศรีราชา บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งชุมชนยี่สาร
๔. พระเจ้าสายน้ำผึ้ง เรื่องเล่าที่จดไว้ในพงศาวดารเหนือของพระวิเชียรปรีชา(น้อย) เรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งได้รับการสนับสนุนจากเจ้าจีนให้แต่งงานกับธิดาหรือนางสร้อยดอกหมาก ต่อมานางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายด้วยความน้อยใจที่เผาศพจึงสร้างวัดพระเจ้าพะแนงเชิงเป็นอนุสรณ์
๕. เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นเรื่องของการแต่งงานระหว่างลิ้มเต้าเคี่ยนและนางพญาปัตตานี โดยลิ้มเต้าเคี่ยนเปลี่ยนมานับถืออิสลามและอาสาทำการหล่อปืนใหญ่ เมื่อลิ้มกอเหนี่ยวน้องสาวมาตามให้กลับเมืองจีนแต่ไม่ยอมกลับจึงเสียใจผูกคอตาย ลิ้มกอเหนี่ยวกลายเป็นเจ้าแม่ที่ศักดิ์สิทธิ์ นักเดินทางทางเรือและชาวบ้านนับถือกันมาก และจาก “พงศาวดารเมืองปัตตานี” พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) เรียบเรียง จีนเคี่ยมหรือหลิมโต๊ะเคี่ยม ได้ภรรยาชาวมลายู เปลี่ยนมานับถืออิสลามและเป็นผู้หล่อปืนใหญ่ถวายนางพญาปัตตานี เกาเนียวผู้เป็นน้องสาวมาตามแต่ไม่ยอมกลับจึงผูกคอตาย และกลายเป็นเจ้าแม่ที่ชาวเรือและผู้คนนับถือกันทั่วไป และถือว่าหลิมโต๊ะเคี่ยมเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านกรือเซะ
๖. มหาเภตรา เรื่องเล่าที่ถูกบันทึกไว้ใน “สมุดราชบุรี” บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ เรือสำเภาบรรทุกผู้คนทั้งชาวพื้นราบและชาวเขามากับเรือสำเภา ภายหลังเรือสำเภาล่ม คนที่รอดตายกลายมาเป็นบรรพบุรุษตั้งถิ่นฐานที่เทือกเขาเจ้าลาย
๗. ตาม่องล่าย, เจ้ากงจีนและเจ้าลาย เป็นเรื่องเล่าที่แพร่หลายตามท้องถิ่นชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทย และบันทึกไว้ใน “สมุดราชบุรี” เรื่องการยกขันหมากแย่งชิงลูกสาวเจ้าเขาตาม่องล่ายระหว่างเจ้ากรุงจีนและเจ้าลาย ผลปรากฏว่าไม่มีใครได้ไปและต้องสูญเสียสินสอดทองหมั้น สิ่งของได้กลายเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ ในอ่าวไทยตอนใน เมื่อน้ำทะเลแห้งหายไปแผ่นดินเริ่มปรากฏ เจ้าเขาทั้งหลายก็สืบทอดวงศ์วานของตนเองสืบมา
นอกจากนี้ยังพบได้จาก “นิราศตังเกี๋ย” ของหลวงนรเนติบัญชากิจ, พ.ศ.๒๔๓๐ การแย่งชิงยางโดย ลูกสาวตาบ้องไล่และยายรำพึง โดยเจ้ากรุงจีนและเจ้าลาย จบลงที่นางโดยถูกฉีกตัวแบ่งครึ่งด้วยความโมโหของตาบ้องไล่ สินสอดต่างๆ และตัวนางโดย นางรำพึง เจ้าลาย กลายเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ ในอ่าวไทยทั้งสองฝั่ง
๘. นางรุมสายสก ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าราชกุลแห่งเขาดงเร็กยกขบวนขันหมากทางเรือสำเภามาสู่ขอนางผมหอมธิดาเจ้าเมืองจันทบุรีหรือนางรุมสายสก นางจำปาผู้เคยเป็นเมียเก่าใช้จระเข้ทำลายขบวนขันหมาก ภายหลังน้ำทะเลแห้งลง จบลงด้วยการตายกลายเป็นภูเขาและชื่อสถานที่ต่างๆ ในกัมพูชาและชายแดนที่ต่อกับไทย
๙. นิยายพื้นเมืองลพบุรี การแย่งยกขบวนขันหมากของเจ้ากรุงจีนมาสู่ขอนางนงประจันคนรักเดิมแปลงกายเป็นจระเข้ทำลายขบวนเรือขันหมาก และของหมั้น จระเข้ นางนงประจันและสำเภาจีนกลายเป็นชื่อสถานที่ต่างๆแถบนั้น
๑๐. นิยายแถบนครสวรรค์และสุพรรณบุรี ที่เล่าว่าหญิงสาวคนหนึ่งบ้านอยู่ดอนคา มีคนมาสู่ขอแก่พ่อคนหนึ่งและแม่คนหนึ่ง ที่เขาพนมเสพ พ่อแม่จึงวิวาทกันนางตัดนมทิ้งข้างหนึ่งและไปบวชที่เดิมบางในจังหวัดสุพรรณบุรีจึงกลายเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ ในนครสวรรค์และสุพรรณบุรี
จากเนื้อหาของตำนานและเรื่องเล่าในกลุ่มลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างและชายฝั่งทะเลมีข้อสังเกตที่ได้จากเนื้อหาดังกล่าว ดังต่อไปนี้
๑. ไม่มีความคิดหาเหตุผลเกี่ยวกับกำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานความคิดของกลุ่มคนในเขตผืนแผ่นดินภายใน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในเขตนี้มีคำตอบดังกล่าวอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว นอกจากเรื่อง “มหาเภตรา” ที่แสดงถึงบูรณาการกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเขตเพชรบุรีว่า ทั้งคนชาวเขาและชาวพื้นราบต่างอาศัยเรือสำเภาลำใหญ่มหึมาด้วยกันทั้งสิ้น เป็นการแสดงออกทางนัยะถึงคำถามและคำตอบเกี่ยวกับการหาแหล่งที่มาของผู้คนในท้องถิ่นที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยว่า บรรพบุรุษของตนเคลื่อนย้ายมากับเรือสำเภา
๒. ทั้งสามกลุ่มแบบเรื่องแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นเมืองที่มีอยู่เดิมกับคนกลุ่มใหม่ที่มาจาก “จีน” โดยใช้พาหนะติดต่อระหว่างภูมิภาค คือ “เรือสำเภา” กลุ่มคนจีนเหล่านี้ไม่ระบุว่ามาจากที่ใดของประเทศจีนแต่ควรจะเป็นบริเวณที่ติดทะเลซึ่งมีหลายแห่ง มักจะมีหัวหน้าหรือผู้นำที่มีเชื้อสาย “เจ้า” ที่มีความสามารถแต่ต้องพลัดบ้านพลัดเมืองมาหรือไม่ก็เป็นพ่อค้าสำเภาร่ำรวย เป็นเหตุผลที่ทำให้ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้นำชาวพื้นเมือง และในบางสำนวน เช่น พงศาวดารฉบับของวันวลิต ชาวจีนโพ้นทะเลนี้ได้กลายมาเป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรใหญ่ในเวลาต่อมา คือ กรุงศรีอยุธยา ความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่งคือ การแต่งงานระหว่างกษัตริย์พื้นเมืองและธิดากษัตริย์จีน ซึ่งเป็นลักษณะการผนวกความสัมพันธ์ระหว่างของบ้านเมืองต่างๆ ในแถบนี้ อันเป็นประเพณีที่ได้รับการยอมรับมานานแล้ว
๓. ความคิดที่ปรากฏในตำนานให้คุณค่าของมนุษย์ที่วัตถุอย่างมาก ลักษณะของผู้นำมีความเก่งกล้า แต่ฉลาดแกมโกง ไม่ยึดถือคุณธรรม ความซื่อสัตย์ อันเป็นลักษณะของวัฒนธรรมพ่อค้ามากกว่าที่จะเป็นผู้นำแบบนักรบหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ
๔. การกระจายของนิทานท้องถิ่นในโครงเรื่องแบบการแข่งขันยกขันหมากทางเรือสำเภาของเจ้ากงจีนและชายชาวพื้นเมือง จนเกิดรบกันจนขบวนขันหมากกลายเป็นเกาะและภูเขาต่างๆ ในท้องถิ่น นับเป็นเรื่องที่แพร่หลายที่สุด เกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นอ่าวไทยภายในซึ่งเป็นเขตชายฝั่งทะเลเป็นเรื่องที่พบว่าเล่ากันอย่างแพร่หลายที่สุดจนกระทั่งปัจจุบัน บริเวณภาคตะวันออกของไทยต่อกับเขตกัมพูชาใกล้เขตฝั่งทะเลเช่นกัน และภายในผืนแผ่นดิน ที่ท้องที่ในจังหวัดลพบุรี เขตนครสวรรค์ต่อกับชัยนาทและสุพรรณบุรี ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีภูเขาที่เหมาะในการเป็นจุดสังเกตในท้องถิ่นหลายแห่ง และเป็นบ้านเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี จนถึงสมัยอยุธยาในบริเวณจังหวัดลพบุรี
ส่วนเขตนครสวรรค์ต่อกับชัยนาท เป็นบริเวณที่มีชุมชนสมัยทวารวดีอยู่ในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนไม่น้อย มีข้อน่าสังเกตว่า โครงเรื่องแม้จะเกิดเหตุขึ้นในทะเล มีขบวนเรือสำเภาเป็นองค์ประกอบหลัก แต่การแพร่กระจายของเรื่องเล่าประเภทนี้ก็เกิดขึ้นในแผ่นดินภายในด้วย ทำให้ทราบว่ามีร่องรอยของการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในท้องถิ่นภายในกับนักเดินทางหรือชาวเรือในอ่าวไทยที่เดินเรือเลียบชายฝั่ง กล่าวได้ว่าย้อนกลับไปได้ถึงสมัยทวารวดีจนถึงสมัยลพบุรีทีเดียว
๕. เรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าสายน้ำผึ้งและนางสร้อยดอกหมาก กับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและลิ้มเต้าเคี่ยน เรื่องแรกแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดพนัญเชิง หรือที่ชาวจีนผู้นับถือผูกเรื่องเล่าและเรียกหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงกันว่า “ซำปอกง” หรือ “ซำปอฮุดกง” อันเป็นเทพเจ้าที่นับถือกันมากของชาวจีนอพยพที่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงนางสร้อยดอกหมากธิดาเจ้าจีน แม้เรื่องหลังคือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจะสามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในราวสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯและสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่ก็ได้กลายเป็นตำนานที่มีความศักดิ์สิทธิ์ แสดงถึงหน้าที่ทางสังคมซึ่งแสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวมุสลิมพื้นเมืองและชาวจีนผู้เข้ามาใหม่ ทั้งสองเรื่องได้กลายเป็นตำนานที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้าของคนในท้องถิ่นและของชาวจีนผู้อพยพจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่ตอบสนองผู้คนในบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล
๖. ตำนานเกี่ยวกับวีรบุรุษทางวัฒนธรรม (culture hero) จัดเอากลุ่มเรื่องเจ้าอู่หรือท้าวอู่ทองเป็นผู้นำคนสำคัญ ส่วนผู้นำทางวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่นหรือชุมชนได้แก่ ตำนานคุณปู่ศรีราชา และทั้งสองเรื่องเริ่มต้นจากเป็นพ่อค้าจีนหรือนักผจญภัยที่มากับเรือสำเภา จากเนื้อเรื่องของตำนานพระเจ้าอู่ทองหรือท้าวอู่ทอง ก็จะกำหนดเวลาได้กว้างๆ ว่า อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ อันเป็นช่วงเวลาของการรวบรวมแว่นแคว้นในเขตลุ่มเจ้าพระยาก่อนเกิดศูนย์กลางการปกครองที่กรุงศรีอยุธยา และภายหลังจากความรุ่งเรืองของการค้าทางทะเลของจีนถึงขีดสุดในช่วงสมัยราชวงศ์ซุ้งในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘–๑๙
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท้าวอู่ทองที่เป็นพ่อค้าเดินทางรอนแรมไปยังสถานที่ต่างๆ ภายในแผ่นดินอีกมากมายหลายท้องถิ่น
และเพื่อจะให้เห็นความสัมพันธ์และรูปแบบของตำนานและเรื่องเล่าในกลุ่มภาคกลางและชายฝั่งรอบอ่าวไทยที่คล้ายคลึงกันให้ชัดเจนขึ้น จึงจะจำแนกเนื้อหาออกเป็นแบบเรื่อง (tale type) ดังตารางต่อไปนี้
จากเนื้อหาของตำนานและเรื่องเล่าในกลุ่มต่างๆ สามารถสรุปแบบเรื่องได้ ๔ ประเภท คือ
๑. บุคคลเชื้อสายเจ้าจีนหรือพ่อค้าเรือสำเภา ได้กลายมาเป็นผู้นำของบ้านเมืองในเขตคาบสมุทรชายฝั่งและลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
๒. การแต่งงานระหว่างผู้นำชาวพื้นเมืองและธิดาเจ้าจีน หรือการแต่งงานระหว่างชายจีนผู้มีความสามารถและหญิงชาวพื้นเมือง
๓. เจ้าจีน (ผู้มีสัมพันธ์กับกษัตริย์จีน) หรือพ่อค้าสำเภาชาวจีนผู้ร่ำรวยต้องการสู่ขอหญิงพื้นเมืองโดยการยกขันหมากมาแข่งขันกับชายคนรักชาวพื้นเมือง และขอผ่านฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่อย่างละคน
๔. สำเภาชนเขาเรือแตกคนรอดตายกลายเป็นบรรพบุรุษของคนที่อาศัยในปัจจุบัน
จากแบบเรื่องของตำนานในกลุ่มตำนานการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มใหม่ที่มากับเรือสำเภา ในภาคกลางของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างและภาคใต้แถบชายฝั่ง ตำนานหรือนิทานพื้นบ้านดังกล่าว กลายเป็นเรื่องเล่าประจำท้องถิ่นที่สืบเนื่องแพร่หลายมาเป็นเวลานาน บางเรื่องยังคงหน้าที่ของความศักดิ์สิทธิ์และบทบาททางพิธีกรรมต่อชุมชนบางแห่ง แต่ส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนจากการบอกเล่าแบบมุขปาฐะกลายเป็นการจดบันทึกในลักษณะตำนาน พงศาวดาร ดังที่พบในพงศาวดารเหนือ หรือตำนานพระบรมธาตุและตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเอกสารแพร่หลายที่รัฐรับรองโดยการพิมพ์เผยแพร่
แบบเรื่องในตำนานที่สะท้อนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนจีนการค้าขายกับคนพื้นเมือง การผสมผสานทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น การแต่งงาน โดยมีพาหนะสำคัญในการเดินทาง คือ เรือสำเภา ชุมชนในแถบนี้เกิดขึ้นจากการเข้ามาเผชิญโชคของชาวจีนชายฝั่งทางตอนใต้หลายยุคหลายสมัยซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พ้องกับทำเลที่ตั้งบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย บริเวณที่มีกลุ่มคนจีนจำนวนมากอยู่อาศัยบริเวณปากแม่น้ำทั้งแม่กลองและท่าจีน
ซึ่งแสดงให้เห็นความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนชายฝั่งทะเล ที่ประกอบไปด้วยผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างวัฒนธรรมแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้อย่างสอดรับ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจการค้าโพ้นทะเลในระยะแรกเริ่มกรุงศรีอยุธยา
ตำนานคุณปู่ศรีราชา
ตำนานคุณปู่ศรีราชา เป็นตำนานของชุมชนบ้านเขายี่สารที่ยังคงศักดิ์สิทธิ์และมีหน้าที่ทางสังคมอยู่ ซึ่งยังคงมีความหมายของตำนานอย่างแท้จริง ตำนานคุณปู่ศรีราชาจัดอยู่ในประเภทที่มีเนื้อหาเป็นตำนานวีรบุรุษทางวัฒนธรรม (culture hero) ของชุมชนเล็กๆ ชุมชนหนึ่ง ที่ยังไม่กลายมาเป็นนิทานพื้นบ้าน (folktale) หรือผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตำนานแบบพงศาวดารดังเรื่องอื่นๆ
จึงนับว่าเหมาะที่จะนำมาเป็นแบบจำลอง (model) ในการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนแห่งหนึ่งในเชิงประวัติศาสตร์และบทบาทหน้าที่ของตำนาน (myth) ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมนั้นๆ ในขณะที่ชุมชนอื่นในท้องถิ่นแถบภาคกลางและชายฝั่งทะเลมีโอกาสน้อยมากที่ยังคงรักษาคุณค่าของตำนาน (myth) ในฐานะเรื่องเล่าที่มีความศักดิ์สิทธิ์ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นได้อย่างครบถ้วน
เล่ากันว่าคุณปู่ศรีราชาคือคนจีนที่ล่องเรือสำเภามาค้าขาย โดยมากันสามคนพี่น้อง พี่คนโตชื่อว่า จีนข้าว คนรองชื่อว่า จีนขาน ส่วนคนสุดท้องชื่อว่า จีนกู่ เมื่อสามพี่น้องแล่นเรือมาจนถึงบริเวณเขายี่สารซึ่งในอดีตติดกับทะเล เรือสำเภาได้พุ่งชนเขาจนเรือแตก พี่น้องสามคนพลัดพรากจากกัน พี่คนโตที่ชื่อจีนข้าวหรือจีนเคราไปอยู่ที่ เขาตะเครา คนรองคือจีนขานอยู่ที่ เขายี่สาร ส่วนน้องคนเล็กหรือจีนกู่ได้ไปอยู่ที่ เขาอีโก้ ทั้งสามพี่น้องได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ต่างๆ ทำให้เกิดเป็นหมู่บ้านอยู่สืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ ( เรื่องเล่าคุณปู่ศรีราชา ประมวลจากผู้อาวุโสในหมู่บ้านยี่สารหลายๆ ท่าน ตลอดจนการรับรู้ของเด็กๆ ที่มักจะมีคนสูงอายุในครอบครัวเล่าให้ฟัง )
ในอดีตในสังคมยี่สารเป็นสังคมปิด เพราะไม่สามารถติดต่อกับชุมชนภายนอกได้สะดวกนักชาวบ้านเชื่อว่าตำนานนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และคุณปู่ศรีราชาคือบรรพบุรุษของพวกตนนั่นเอง เมื่อถึงวาระครบรอบก็จะทำพิธีกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ อันแสดงให้เห็นว่าตำนานนี้ยังดำรงความศักดิ์สิทธิ์ภายในชุมชนอยู่ตลอดมา
จากเนื้อหาของตำนานที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของจีนเรือแตก ๓ พี่น้อง ที่กลายเป็นบรรพบุรุษของผู้คน ๓ พื้นที่ ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างละเอียด จะเห็นว่าทั้ง ๓ แห่ง คือ เขาอีโก้ที่อยู่ภายในแผ่นดิน เขาตะเคราซึ่งเป็นเขตต่อระหว่างน้ำกร่อยและน้ำจืด และ เขายี่สารที่อยู่ในน้ำกร่อย ภูมิประเทศ ๓ ลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยในส่วนที่ขาดและแบ่งปันในส่วนที่เหลือ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของผู้คนทั้ง ๓ เขตที่แสดงออกในตำนานจึงเป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกันของผู้คนในแถบชายฝั่ง ทุ่งนา และป่าเขาในบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี
เนื้อหาในตำนานจึงแสดงโลกทัศน์ของผู้คนในยุคสมัยหนึ่งว่า ชุมชนต่างๆ ในบริเวณนี้จำเป็นต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันละกัน จนชาวยี่สารถือว่าเสมือนเป็นบ้านพี่บ้านน้องที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน
จีนขานที่กลายมาเป็นคุณปู่ศรีราชา แสดงถึงความคิดในการผสมกลมกลืนของกลุ่มชาติพันธุ์ของผู้คนบริเวณชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทย เพราะหากเชื่อว่าศรีราชาเป็นพระนามของกษัตริย์แห่งนครศรีธรรมราช และกลายเป็นราชทินนามของเชื้อสายกษัตริย์องค์หนึ่งที่มีความสามารถอย่างมากในช่วงที่ร่วมสมัยกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนยี่สาร ต่อมาได้กลายเป็นตำแหน่งขุนนางในสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นการผสมผสานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ระหว่างผู้เข้ามาใหม่และผู้ที่อยู่มาแต่เดิม ซึ่งเป็นภาพของการสร้างบ้านแปลงเมืองที่มีผสมผสานของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในเขตภาคกลางและรอบอ่าวไทย ก่อนที่จะมาเป็นราชอาณาจักรที่กรุงศรีอยุธยา
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ชาวบ้านในหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุด มีกระบวนการทางความคิดและโลกทัศน์ที่มองเห็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์เป็นทางรอดทางหนึ่งในการดำรงชุมชนให้คงอยู่ และเห็นความสำคัญของการพึ่งพาอาศัยของชุมชนในสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่จำเป็นต้องเกื้อกูลกัน และเป็นการแสดงออกถึงความเป็นท้องถิ่นเดียวกันนั้นเอง เป็นภาพสะท้อนทางสังคมและวัฒนธรรมที่แสดงถึงลักษณะของผู้คนทั้งหลายในภูมิภาคดังกล่าวที่มีความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม อันเกิดจากการผสมผสานตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของคนต่างกลุ่มต่างชาติพันธุ์มาโดยตลอด
ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับคุณปู่ศรีราชา
คุณปู่ศรีราชาหรือหลวงพ่อปู่ศรีราชา
ในท้องถิ่นแถบนี้จะใช้สรรพนามนำหน้าว่า “คุณ” สำหรับผู้ที่เป็นที่เคารพนับถือ เช่น ใช้เรียกสรรพนามของพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาส หรืออาจจะอ่อนอาวุโสกว่าแต่ให้ความเคารพในวัตรปฏิบัติว่า คุณตามด้วยชื่อ เช่น คุณผิน คุณคม เป็นต้น เรียกยายว่า “แม่คุณ” เรียกเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาล เช่นที่บางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีว่า “คุณพ่อฮุดโจ้ว” เรียกพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของเมืองแม่กลอง หลวงพ่อวัดบ้านแหลม ว่า “คุณพ่อวัดบ้านแหลม” รวมทั้งที่ยี่สารก็เรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชนด้วยความเคารพว่า “คุณปู่ศรีราชา”
ในอดีต เนื่องจากยี่สารอยู่ในเขตห่างไกลจึงเป็นแหล่งหลบซ่อนของพวกชุมโจรดังๆ หลายก๊ก เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งโจรกลุ่มหนึ่งจะเข้าปล้นบ้านยี่สาร ชาวบ้านเตรียมตัวพร้อมกับบนบานให้คุณปู่ช่วยเหลือ ทำให้โจรไม่สามารถเข้าปล้นได้ แม้บริเวณนี้จะเป็นแหล่งกบดานของชุมโจร แต่บ้านยี่สารไม่เคยถูกเข้าปล้นแม้สักครั้งเดียว หรือเป็นกำลังใจเมื่อเดินทางออกไปนอกชุมชน หรือการออกไปทำมาหากินต่างถิ่น ช่วยในการลดความกังวลในการบนบานซึ่งเชื่อถือกันว่าแม่นยำและศักดิ์สิทธิ์ เสี่ยงทายเหตุการณ์ในชีวิตต่างๆ เมื่อจัดงานมงคล เช่น งานบวช งานแต่งงานก็ต้องจุดธูปบอกคุณปู่
ภาพลักษณ์ของคุณปู่ศรีราชาเริ่มมีตัวตนในรูปแบบของคนแก่ลักษณะเป็นคนจีน แต่นุ่งขาวห่มขาว หมายถึงความบริสุทธิ์ แต่ก็เป็นภาพลักษณ์ที่คนภายนอกเข้ามาสร้างให้ เมื่อราว ๕๐ ปีมาแล้ว มีพระสงฆ์ธุดงค์มาจากสุพรรณบุรีมาจำวัดที่วัดเขายี่สาร หลับฝันเห็นคนจีนแก่ๆ นุ่งขาวห่มขาว ถักผมเปียยาวไว้หนวดไว้เครายาวมาหา จึงได้จ้างช่างเข้ามาเขียนรูปคุณปู่ที่เห็นในฝันนำไปเก็บไว้ในศาล ในปัจจุบันมีผู้นำทองมาปิดจนมองไม่เห็นรูปวาดเลย พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นปีที่คิดทำเหรียญคุณปู่ไว้ห้อยคอ ครั้งแรกทำเป็นรูปไม้เจว็ดมีเทวดายืนอยู่ด้านใน ต่อมาเป็นเหรียญรุ่น พ.ศ.๒๕๒๓ ในระยะปีหลังๆ ก็มีการจัดทำขึ้นแทบทุกปีเพื่อแจกผู้บริจาคเงินสมโภชน์หรือผู้ที่เข้ามาขอทั่วไปโดยไม่เกี่ยงว่าจะทำบุญเท่าใด กล่าวได้ว่าคนทุกคนที่บ้านยี่สารมีเหรียญคุณปู่ ส่วนใหญ่จะห้อย ส่วนเด็กวัยรุ่นที่นิยมการแต่งตัวก็จะเก็บเหรียญรักษาไว้เฉยๆ
เล่ากันว่าในสมัยหลวงพ่อกลอยซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเขายี่สารองค์ก่อนดำริไว้ก่อนจะมรณภาพ (ก่อน พ.ศ.๒๕๐๓) ว่าอยากเปลี่ยนคุณปู่ศรีราชาให้เป็นพระ มีเหตุผลที่ชาวบ้านเล่าลือกันปากต่อปากว่า หากคุณปู่เป็น “ผี” พระก็ไม่สามารถไหว้ได้ แต่ถ้าเป็น “หลวงพ่อปู่” พระจะได้ไหว้และมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
ราว พ.ศ. ๒๕๑๗ พระครูสมุทรวิสุทธิคุณหรือหลวงพ่อผินเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เป็นผู้เปลี่ยนแปลงและคัดเลือกรูปแบบของพระพุทธรูป โดยไปซื้อพระพุทธรูปปางประทานพรแถวๆ เสาชิงช้าแทนการหล่อที่คิดว่าคงสิ้นเปลืองเงินทองมากเกินไป เหตุที่เลือกพระพุทธรูปปางประทานพรแทนไม้เจว็ด เพราะเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงคุณปู่ที่ผู้คนนิยมมาขอพรหรือบนบานกันอยู่เสมอ ( สัมภาษณ์ เหิน อ่อนอุระ, ชาวบ้านยี่สาร , ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓. ) ชาวบ้านจึงพูดกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อผินบวชคุณปู่ให้เป็นพระ” แม้จะมีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมากแต่ก็ไม่มีกระบวนการขัดขวางแต่อย่างใด เพราะความเกรงใจพระสงฆ์ผู้เป็นเจ้าอาวาสรวมถึงผู้ใหญ่ในชุมชนเองก็เห็นชอบด้วย แม้ในใจของทุกคนจะคิดถึงคุณปู่ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปเลยก็ตาม ( สัมภาษณ์ ไพรัช แก้วกาม, ชาวบ้านยี่สาร, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓.) ในปัจจุบัน คุณปู่ศรีราชาจึงมีสถานภาพอย่างเป็นทางการ ด้วยการยอมรับของวัดเขายี่สารโดยเฉพาะในการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานสมโภชน์ประจำปี เป็น “หลวงพ่อปู่ศรีราชา”
ส่วนไม้เจว็ดที่เคยเป็นสัญลักษณ์แทนตัวคุณปู่ศรีราชา เป็นแผ่นไม้ยาวปลายรูปเหลี่ยมข้าวหลามตัดที่ด้านบน ขนาดของไม้ที่ตั้งอยู่ในศาลยาวประมาณ ๑๕๐ ซม. เล่ากันว่ามีช่างไม้จากที่อื่นเข้ามาซ่อมหลังคาพระอุโบสถนานกว่า ๘๐ ปีมาแล้ว ( สัมภาษณ์ ศิริอาภา รัชตะหิรัญ, ชาวบ้านยี่สาร, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓.) ได้แกะสลักไม้เจว็ดให้มีสัญลักษณ์เป็นรูปเทวดายืนถือพระขรรค์อยู่ด้านใน สัญลักษณ์ไม้เจว็ดที่มีรูปเทวดานี้ กลายเป็นรูปแบบของเหรียญห้อยคอที่ชาวบ้านนิยมกันมากกว่ารูปแบบอื่นๆ เช่น สัญลักษณ์รูปพระพุทธรูปปางประทานพร
มีงานประจำปีซึ่งเป็นงานที่มีคนเข้ามาเที่ยวและไหว้คุณปู่ศรีราชาจากชุมชนใกล้เคียง ซึ่งจัดขึ้นกลางเดือนอ้ายหรือเดือนธันวาคมของทุกปีคือ “งานปิดทองสมโภชน์หรืองานปี” ซึ่งวัดเขายี่สารจัดเป็นงานวัดใหญ่โต และยังมี “พิธีเวียนเทียนคุณปู่” ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ในอดีตไม่ว่าจะเป็นงานพิธีกรรมหรืองานสมโภชน์มีมหรสพต่างๆ ก็เป็นการจัดขึ้นเพื่อคนในชุมชนเท่านั้น จนกลายเป็นวาระพิเศษครั้งเดียวในรอบปีที่ชาวบ้านยี่สารรอคอย ( สัมภาษณ์ ไพรัช แก้วกาม, ชาวบ้านยี่สาร, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓. ) แต่ปัจจุบัน ประเพณี พิธีกรรม โดยเฉพาะงานสมโภชน์คุณปู่ศรีราชาจัดเป็นงานใหญ่ในท้องถิ่น จะเป็นรองก็เห็นจะเป็นแต่งานวัดหลวงพ่อเขาตะเคราเท่านั้น ผู้คนมากมายจากบริเวณใกล้เคียงและต่างจังหวัดไกลๆ ส่วนหนึ่งเป็นคนยี่สารที่ย้ายออกไปจากการแต่งงานกับคนภายนอกเดินทางมาไหว้คุณปู่และเที่ยวงาน รูปแบบการจัดงานสมโภชน์คุณปู่ศรีราชาในกลางเดือนอ้ายของทุกปี ได้ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานวัดเขายี่สารและเข้ากันได้อย่างแนบสนิทกลมกลืน ตั้งแต่เมื่อมีการใช้สัญลักษณ์เป็นพระพุทธรูป เมื่อราว พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นต้นมา



งานพิธีเวียนเทียนคุณปู่ศรีราชา
ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นเวลานานกว่า ๕ วัน ชาวบ้านจะมีการทำบุญ ตักบาตร รวมทั้งมีการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ และในวันสุดท้ายของงานสงกรานต์ซึ่งถือเอาวันที่ ๑๗ เมษายนของทุกปี ถือเป็นพิธีเวียนเทียนคุณปู่
การเวียนเทียนคุณปู่ศรีราชาของชาวบ้านยี่สาร ก็เหมือนกับการบวงสรวงขอพรในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ทั่วไป เพราะหลังจากที่พิธีเสร็จสิ้นลงชาวบ้านก็จะกลับไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอพรในบ้านของตน อันเป็นรูปแบบเช่นเดียวกับพิธีกรรมเวียนเทียนคุณปู่ในช่วงเช้า
ในอดีตงานเวียนเทียนจะมีการเชิญคุณปู่ซึ่งใช้ไม้เจว็ดเป็นสัญลักษณ์ลงเรือรวมถึงไม้เจว็ดสัญลักษณ์ของคุณปู่หัวละมานแห่ไปยังปากลัดและบางตะบูน เพื่อให้ชาวบ้านละแวกนี้ร่วมทำบุญ หลังจากนั้นจึงแห่คุณปู่กลับมาประกอบพิธีเวียนเทียนที่บ้านยี่สาร เมื่อมีการย้ายไปทำมาหากินนอกชุมชนหรือแต่งงานออกไป คนที่เกิดในยี่สารจะกลับมาในงานพิธีนี้แทบทุกคน ซึ่งเป็นธรรมเนียมเช่นเดียวกับงานสมโภชน์ประจำปี
ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการเวียนเทียนคุณปู่ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนที่ประกอบพิธีใน จะแต่งกายด้วยเสื้อและกางเกงสีขาวทั้งชุด ยกเครื่องเซ่นไปบอกกล่าวที่ศาล บอกต่อคุณปู่ทั้งภาษาไทยและภาษาจีน แต่ไม่มีใครจำได้ว่ากล่าวอะไรบ้าง เป็นการเริ่มพิธีเวียนเทียน ในสมัยที่ศาลยังเป็นอาคารเรือนไทยขนาดย่อมอยู่ติดกับคลองยี่สาร ชาวบ้านจะนั่งล้อมวงกันบริเวณคันดินรอบโรงพิธีแล้วใช้แว่นเทียนที่ปักเทียนไว้ จุดเทียนของตนที่นำมาปักบนแว่นเทียน ถือทั้งสองมือหมุนบนและล่างหรือซ้ายไปขวาก็ได้ เมื่อเสร็จแล้วจึงปัดควันออก แล้วส่งต่อๆ กันไปจนเวียนเทียนด้วยแว่นเทียนครบทั้ง ๓ อัน จำนวน ๓ รอบ ส่วนธูปจำนวนไม่กำหนดถือไว้กับตัว
แต่ในปัจจุบัน จะเริ่มพิธีด้วยการสวดอัญเชิญเทวดาและคุณพระศรีรัตนตรัย ใช้การบวงสรวงแบบพราหมณ์ตามที่เข้าใจด้วย ผู้ทำพิธีจะใส่เสื้อผ้าขาวโปร่ง ซึ่งเป็นเสื้อเช่นเดียวกับที่นาคใส่ก่อนบวช ท่องนะโม ๓ จบ กล่าวอัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัย อัญเชิญคุณปู่ศรีราชาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของยี่สารมาร่วมในพิธีและรับเครื่องเซ่นต่างๆ ( สัมภาษณ์ ฉลอง หิรัญวงศ์, ชาวบ้านยี่สาร, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓.) ชาวบ้านยกมือขึ้นพนมด้วยความศรัทธาและเริ่มเปิดฝามะพร้าวอ่อนในสำรับของตน ขณะเดียวกันละครชาตรีที่จ้างมารำถวายมือบนศาล
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีในพื้นที่หน้าศาล ผู้นำในการทำพิธีจะพรมน้ำมนต์ที่เตรียมไว้ที่โต๊ะเครื่องเซ่นของชาวบ้านที่จัดไว้เป็นแถวยาว ๓-๔ แถว ชาวบ้านก็เริ่มจุดธูปเทียนเดินวนรอบศาล ๓ รอบ มีการนำขบวนแห่กลองยาวและต่างรำเทิดเถิงในขบวนด้วยความสนุกสนาน เมื่อครบ ๓ รอบ แล้ว ต่างคนจะต่างไปหาที่ปักธูปกันตามสะดวก ส่วนใหญ่จะปักธูปที่แถวต้นไม้ใกล้ๆ นั่นเอง หลังจากนั้น ชาวบ้านก็จะนำถาดเครื่องเซ่นของตนกลับบ้าน
งานสมโภชน์ปิดทองประจำปีหลวงพ่อปู่หรืองานปี
แต่เดิมบ้านยี่สารจัดงานประจำปีกันภายในเป็นงานเล็กๆ ก่อนจะมีงานประมาณหนึ่งเดือน ชาวบ้านส่วนหนึ่งจะออกไปบอกบุญเรี่ยไรเงินทอง และสิ่งของที่จะนำมาใช้ในงานโดยจะเดินทางไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงและตามบ้านญาติพี่น้องในที่ต่างๆ แต่ทุกวันนี้ จะมีผู้รับผิดชอบการแห่โดยนำรถยนต์บรรทุกไม้เจว็ดออกไปบอกตามชุมชนต่างๆ เขียนป้ายประกาศตามริมถนนใหญ่และเตรียมงานอย่างเต็มที่ให้พร้อมสำหรับงานใหญ่ประจำท้องถิ่นที่ใช้เวลา กว่า ๕ วัน ๕ คืนและจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคก็มากขึ้นด้วย
เมื่อถึงวันงาน เดิมจะมีการปลูกสร้างโรงพิธีขึ้นมาต่างหาก แต่ในปัจจุบันจะประกอบพิธีที่ศาลคุณปู่โดยตรง เมื่อมีการปลูกสร้างโรงพิธีแล้วจะไปอัญเชิญคุณปู่ที่เป็นไม้เจว็ดมาประทับ รวมถึงการไปเชิญคุณปู่หัวละมานเชื่อกันว่าเป็นพี่น้องกับคุณปู่ศรีราชา โดยข้ามลำคลองไปนำไม้เจว็ดที่ศาลซึ่งอยู่อีกฝั่งคลองหนึ่ง รวมทั้งไม้เจว็ดที่ศาลเจ้าจีนที่อยู่เชิงเขาภายในโรงเรียนวัดเขายี่สารมาร่วมพิธีด้วย และกว่าจะนำป้ายเจว็ดกลับไปเก็บรักษาที่ศาลเช่นเดิมก็เลยพิธีเวียนเทียนหลังสงกรานต์ไปแล้ว
ในอดีตจะมีการแห่คุณปู่ศรีราชาและเจ้าพ่อหัวละมานลงเรือไปยังบ้านปากปากลัดและบ้านปากอ่าวบางตะบูน ตีม้าล่อและการจุดประทัดไประหว่างทาง เมื่อถึงบางตะบูน ผู้คนจะตั้งเครื่องเซ่นไหว้ไว้หน้าบ้าน บ้างก็มีการนำลิเก ลำตัด หรือการแสดงประเภทต่าง ๆ มาเล่นเพื่อรับคุณปู่ตามที่ได้บนเอาไว้ หลังจากค้างหนึ่งคืนจึงแห่คุณปู่ลงเรือกลับมายังบ้านยี่สาร วันต่อมาจึงจะเป็นวันประกอบพิธี โดยผู้คนในชุมชนใกล้เคียงก็จะเดินทางมาร่วมในพิธีด้วย
สำหรับการเตรียมงานในปัจจุบัน เริ่มจากกำนันซึ่งเป็นประธานฝ่ายฆารวาสและเจ้าอาวาสวัดเขายี่สารเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมประชุมกับคณะกรรมการจัดงานก่อนราว ๘ ค่ำหรือ ๙ ค่ำ หรือ ๕-๖ วันก่อนมีงาน ซึ่งรู้กันว่าจะต้องอยู่ในช่วง ๑๔-๑๕ ค่ำ ในเดือนอ้ายของทุกปี (ประมาณเดือนธันวาคม)
อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อผินเจ้าอาวาสในปัจจุบันจะไม่ลงมาเกี่ยวข้องเท่าใดนัก นอกจากสั่งการให้พระสงฆ์ในวัดจัดเตรียมสถานที่ เขียนป้ายและปักธงตามทางเข้าเป็นหน้าที่หลักก่อนที่งานจะเริ่มขึ้น หลังจากนั้นเมื่องานเริ่มแล้ว พระสงฆ์จะไม่เข้ามาร่วมในงานพิธีอีกและหลวงพ่อผินเจ้าอาวาสจะเป็นผู้ถือรายได้ที่เก็บรวบรวมจากเงินรายได้และเงินบริจาคที่ได้ประจำวัน หรือจ่ายเงินทดลองสำหรับค่าใช้จ่ายประจำวันที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น
ชาวบ้านจะรู้หน้าที่ของตนเป็นอย่างดี หัวหน้าของแต่ละฝ่ายจะจัดหาผู้ช่วยที่คิดเห็นว่าช่วยงานได้อย่างไม่น่ามีปัญหา อาจจะเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติพี่น้องที่รู้ใจ คนหนุ่มสาวหรือเด็กวัยรุ่นนั้นเลือกงานหรือฝ่ายที่เห็นว่าเหมาะสมกับตน เช่น การหาดนตรีมาแสดง การขายดอกไม้ ธูป เทียน การขายบัตรชิงโชค ส่วนผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์จะรู้หน้าที่อยู่ในฝ่ายที่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก ซึ่งเมื่อต่างสูงวัยขึ้นก็จะรู้กันว่าต้องปรับเปลี่ยนหน้าที่ไปตามความเหมาะสมแก่อาวุโสและกำลังกาย
เครื่องเซ่นในปัจจุบัน ประกอบด้วย หัวหมูคู่ ไก่คู่ เป็ดคู่ ผลไม้ต่างๆ จำนวนมาก ขนมจันอับ และน้ำชา เป็นเครื่องเซ่นที่ทางคณะจัดงานเตรียมไว้รวมกับที่ชาวบ้านนำมาร่วมด้วย
ปะรำพิธีในปัจจุบัน จัดบริเวณด้านหน้าของศาลคุณปู่มีโต๊ะวางเครื่องเซ่น โต๊ะวางบายศรีใหญ่และพวงดอกไม้ อ่างน้ำมนต์ ราวเทียนและกระถางธูป ด้านหน้าปูเสื่อขนาดใหญ่สำหรับรับคนจำนวน ที่มุมของบริเวณพิธีทั้งสี่ด้าน ปักด้วยธงผ้าขาว ๕ ชั้น ๓ ยอด ด้านข้างของปรัมพิธีด้านหนึ่งตั้งศาลผี ๒ ชั้น มีร่มกางที่พนัก ชั้นต่อมาวางหมอนอิง และชั้นที่ลดระดับด้านล่างนำก้านกล้วยและไม้ไผ่ทำเป็นรูปสามเหลี่ยมสำหรับปักเทียนยอดประดับด้วยกรวยใบตองหรือที่เรียกกันว่าปราสาทผึ้งซึ่งทำกันมากในแถบภาคอีสาน ด้านหน้าจัดวางรูปปั้นจำลองทำด้วยโลหะของเจ้าอาวาสเท่าที่ชาวบ้านรู้จักกันดีและอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์สำคัญของวัดเขายี่สาร ได้แก่ หลวงพ่อล้าย หลวงพ่อกลอย และหลวงพ่อน้อม ด้านข้างของปะรำพิธี ทางขวาจะเป็นกลุ่มของกรรมการจัดเก็บรายได้ที่รับบริจาคจากชาวบ้านที่เข้ามาเที่ยวงานหรือมาแก้บนคุณปู่ คืนหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า ๔-๕ หมื่นบาท และเป็นกลุ่มผู้อาวุโสของชุมชน ส่วนด้านซ้ายเป็นโต๊ะขายดอกไม้ธูปเทียนที่ครูและเด็กจากโรงเรียนวัดเขายี่สารเป็นผู้ขาย
เมื่อชุมชนก้าวเข้าสู่ความเฟื่องฟูของธุรกิจการทำนากุ้ง หรือการลงทุนทำประมงของคนปากอ่าว ทำให้งานประจำปีคุณปู่กลายเป็นงานยิ่งใหญ่ เนื่องจากผู้คนที่ลงทุนทำธุรกิจที่นับว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่ง ได้พากันมาบนบานต่อคุณปู่ให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ มีการมาจองมหรสพต่างๆ เพื่อถวายคุณปู่เป็นการแก้บนในงานประจำปี ซึ่งบางช่วงการจองคิวมหรสพแก้บน มีผู้มาจองแน่นมาก จนต้องรอกันข้ามปีเลยทีเดียว
การแสดงที่จัดในงานคุณปู่ เดิมมีเพียงสองคืนก็เลิก แต่ในปัจจุบันมีมหรสพที่รวมถึงการว่าจ้างวงดนตรีทั้งวงลูกทุ่งและวงสตริง เข้ามาแสดงถึง ๕ วัน ๕ คืน มีพ่อค้าแม่ค้าขายของเร่ตระเวณขายมาจากภาคต่างๆ ทั้งไกลและใกล้
เมื่อถึงวันพิธี ชาวบ้านในอดีตจะถือเอาเป็นช่วงเวลาที่ต้องหยุดงานกันทุกคนไม่ว่าจะทำอะไร แต่ปัจจุบันก็อนุโลมตามความสมัครใจและความสะดวก แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะต้องหยุดงานเพราะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนประถมในหมู่บ้านที่ต้องหยุดเรียนไปด้วย



ความหมายของสัญลักษณ์ในองค์ประกอบต่างๆ ที่ใช้ในงานพิธีกรรมงานเวียนเทียนและงานสมโภชน์ประจำปี
ระบบสัญลักษณ์ทางศาสนาของแต่ละศาสนาจะมีความหมายแตกต่างกันไป แต่ก็มีลักษณะร่วมกันอยู่ด้วย ความหมายของการศึกษาแบบ “สัญลักษณ์นิยม” (symbolism) สัญลักษณ์เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในโครงสร้างของพิธีกรรม สัญลักษณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ อาจเป็นกิริยาอาการ กิจกรรมที่ทำร่วมกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือการใช้พื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการวิเคราะห์สัญลักษณ์ทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่พบจากงานประเพณีพิธีกรรมคุณปู่ศรีราชา ซึ่งสัญลักษณ์ที่พบเห็นมีดังนี้
ป้ายไม้เจว็ด เจว็ด หรือเรียกว่า ตระเว็ด หรือ เตว็ด ในบางแห่ง ความหมายตามพจนานุกรมหมายถึง “รูปเทพารักษ์ที่ประดิษฐานไว้ในศาลเจ้าหรือศาลพระภูมิ” ( มานิต มานิตเจริญ, พจนานุกรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ ๑๓ (กรุงเทพฯ: อักษรพิทยา, ๒๕๓๗), ๒๖๘.) เป็นแผ่นป้ายที่ทำจากไม้เรียบๆ ส่วนใหญ่ทาสีแดงแต่ก็ถูกปิดทองจนไม่เห็นสีที่ทาอยู่ ลักษณะเป็นยอดแหลมหรือป้านด้านปลายเรียวกว่า ขนาดและความยาวของแผ่นป้ายขึ้นอยู่กับขนาดของศาลด้วย เจว็ดหลายๆ แห่งแกะลงในเนื้อไม้หรือเขียนเป็นรูปเทวดาก็มี แต่ก็มักสืบทราบได้ว่าเป็นการทำขึ้นในภายหลังทั้งนั้น
หากเป็นศาลผีหรือศาลเจ้าในชุมชน ลักษณะเป็นศาลาขนาดเล็กๆ สี่เสา ส่วนใหญ่ทาสีแดง แผ่นป้ายไม้เจว็ดมักมีขนาดใหญ่ตามขนาดศาลและวางไว้ที่มุมๆ หนึ่ง เพราะไม่มีแท่นรองรับ หากอยู่ในศาลพระภูมิเจ้าที่ซึ่งเป็นศาลเสาเดียวขนาดเล็ก แผ่นป้ายไม้เจว็ดก็จะมีขนาดเล็กลงไปด้วย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “เจว็ด” เป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของ “ผี” หรือ “เจ้า” ที่สถิตอยู่ในศาลนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ป้ายไม้เจว็ดมีลักษณะเช่นเดียวกับองค์ประกอบในศาลเจ้าจีน ที่มีป้ายสถิตวิญญาณตั้งไว้บนแท่นบูชา เช่นเดียวกับศาลเจ้าประจำบ้านที่มักตั้งไว้บนพื้น ก็มีป้ายวิญญาณเช่นเดียวกัน ซึ่งมักเป็นวิญญาณบรรพบุรุษ ดังนั้น สิ่งที่เรียกกันว่า “เจว็ด” ในวัฒนธรรมไทยแถบภาคกลางจึงน่าจะสืบเนื่องมาจากแผ่นป้ายวิญญาณในศาลเจ้าของวัฒนธรรมจีน
พระพุทธรูปปางประทานพร พระพุทธรูปปางประทานพร เพิ่งนำมาประดิษฐานในศาลคุณปู่ไม่นานนัก เป็นความคิดของพระสงฆ์เจ้าอาวาสวัดเขายี่สารและได้รับความเห็นชอบจากกรรมการผู้อาวุโสในชุมชน สาเหตุที่พระอธิการผิน เจ้าอาวาสวัดเขายี่สารเลือกพระพุทธรูปปางประทานพรเป็นสัญลักษณ์ของหลวงพ่อปู่ศรีราชา (ภายหลังที่ทำพิธีสมมติบวชคุณปู่เป็นพระแล้ว) ก็เพราะเห็นว่า คุณปู่ศรีราชาเป็นที่พึ่งทางใจของคนยี่สารมาโดยตลอด ชาวบ้านมักจะมาขอพรคุณปู่อยู่เสมอ ตลอดจนเรื่องทุกข์ร้อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ต้องมาพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ ( สัมภาษณ์ เหิน อ่อนอุระ, ชาวบ้านยี่สาร, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓.)
อย่างไรก็ตาม ในงานเทศกาลทั้งงานเวียนเทียนและงานสมโภชน์ ชาวบ้านจะปิดทองคุณปู่ศรีราชาทั้งที่เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรซึ่งอยู่ด้านหน้า และแผ่นป้ายไม้เจว็ดที่วางผิงผนังไว้ทางด้านหลังซึ่งเป็นสิ่งคุ้นเคยกันมาแต่เดิม
ฟันปลาฉนากและหัวจระเข้ ทั้งฟันปลาฉนากและหัวจรเข้เป็นสิ่งที่พบอยู่ตามศาลหลายๆ แห่งในชุมชนแถบคลองช่อง คลองโคน ไปถึงบ้านแหลม ซึ่งเป็นชุมชนชายทะเลในบริเวณใกล้เคียง น่าสังเกตว่าทำไมจึงมีการเก็บรักษา “ฟันปลาฉนาก” และ “หัวจระเข้” ไว้ในศาล สัญลักษณ์ของทั้งสองสิ่งนี้มีความหมายอย่างไร
ปลาฉนาก [Sawfish] เป็นปลาซึ่งอยู่ในกลุ่มของปลาฉลามขนาดใหญ่ที่คล้ายกับปลากระเบนแต่มีฟันคมซึ่งยื่นไปด้านหน้าคล้ายเลื่อย [Snout] ชอบหากินอยู่ตามพื้นโคลนในเขตน้ำตื้นของอ่าวต่างๆ ในภูมิภาคเขตร้อน [Tropical] รวมไปถึงแม่น้ำหรือทะเลสาบที่ติดต่อกัน จึงทำให้สับสนในการศึกษาว่าปลาฉนากนั้นอยู่อาศัยในเขตทะเล ในน้ำกร่อยหรือน้ำจืดกันแน่ ( Sawfish [online], 10th December 2000. Available from http :// members.aol.com/_ht_a /nokogiri/index.html. )
ฟันปลาฉนากที่พบในศาลคุณปู่ศรีราชาและอีกบางแห่งแถบคลองโคน อยู่ในกลุ่ม Knifetooth group ซึ่งตัวฟันคล้ายเลื่อยนี้มีความแคบ ที่ปลายโคนราว ๑ ส่วน ๔ ไม่มีฟัน ส่วนฟันจะมีลักษณะแบนรูปสามเหลี่ยมไม่มีร่อง
ชนเผ่าในเขต Tropical ทั่วไป มักใช้สัญลักษณ์ปลาฉนากในงานพิธีกรรมของตนเองเสมอ ในประเทศไทย เราพบภาพปลาฉนากในจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งที่มีภาพเกี่ยวกับทะเล เช่นที่ วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา วัดราชสิทธาราม กรุงเทพมหานคร วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี เป็นต้น มักจะพบว่าภาพของปลาฉนากจะโพล่ส่วนที่เป็นฟันคล้ายใบเลื่อยขึ้นมาจากท้องน้ำ จากภาพที่วาดดูให้น่ากลัวอยู่บ้างคล้ายจะเป็นสัตว์ร้ายในทะเลซึ่งมักจะมีสัตว์แปลกๆ เช่น สัตว์ที่มีหัวเป็นช้างมีเขี้ยวและตัวเป็นปลา ปลาที่หน้าตาน่ากลัว เป็นส่วนประกอบของภาพที่มักวาดอยู่ร่วมกับปลาฉนาก
อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจลงความเห็นอย่างชัดเจนว่า “ปลาฉนาก” นั้นเป็นสัญลักษณ์ในด้านดีหรือร้ายได้อย่างแน่นอน แต่อาจสันนิษฐานบางอย่างได้ว่า ด้วยลักษณะการอยู่อาศัยของปลาฉนากที่อยู่ในทะเลตมของเขตร้อน [Tropical] ปลาฉนากจึงเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในท้องทะเลของอ่าวไทยหรืออาจะพบไปจนถึงชายฝั่งทะเลจีนทางตอนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมของคนจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณอ่าวต่างๆ ของภูมิภาคในเขตร้อนนี้ทั้งสิ้น
ส่วนหัวจระเข้นั้น เข้าใจว่าเป็นจระเข้ในเขตน้ำกร่อย ซึ่งในปัจจุบันแทบจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว จระเข้น้ำกร่อยได้ชื่อว่าเป็นจระเข้พันธุ์ดุกว่าจระเข้ภายในแผ่นดิน และมีมากในแถบป่าชายเลน แม้ปัจจุบันจะไม่พบตามธรรมชาติ แต่ก็มีกะโหลกจระเข้อยู่ตามศาลต่างๆ ของชุมชนในป่าชายเลนชายฝั่งทั้งสมุทรสงครามและเพชรบุรี
เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์ที่ดุร้ายในสายตาของคนทั่วไปทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างแน่นอน ส่วนฟันปลาฉนากก็น่าจะเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดเพราะไม่เหมือนกับสัตว์น้ำอื่นๆ และพบเห็นได้ค่อนข้างยากเนื่องจากเป็นสัตว์ที่ไม่ได้หากินอยู่ตามผิวน้ำ ดังนั้น ความหมายในสัญลักษณ์ของฟันปลาฉนากและหัวจระเข้ก็น่าจะแทน “ความน่าเกรงขามหรือสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้” ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นเพของผู้พบเห็นซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ทะเลตมในเขตชายฝั่งน้ำกร่อยนั่นเอง
แท่นวางเครื่องเซ่น อ่างน้ำมนต์ ราวเทียน และกระถางธูป แท่นวางเครื่องเซ่นซึ่งเป็นแท่นสูงระดับอกผู้ใหญ่ มีพื้นที่ส่วนที่วางของไม่มากนัก ด้านหน้าแกะสลักอักษรจีนซึ่งมีการประดิษฐ์คล้ายลายสัญลักษณ์ สามารถเป็นเครื่องชี้บอกได้ว่าศาลคุณปู่แต่เดิมนั้น คือศาลเจ้าจีนนั่นเอง
ส่วนราวเทียนของเก่า ฐานแท่นไม้ด้านล่างแกะสลักอย่างสวยงามและประณีตคล้ายลายก้ามปู ราวที่วางเทียนทำจากเหล็ก อ่างน้ำมนต์ของเดิมเป็นขันลงหินสำริดใบใหญ่มากมีหูจับสองข้าง น้ำมนต์ในอ่างนี้จะมีชาวบ้านนำไปใช้ลักษณะต่างๆ เพื่อเป็นสิริมงคลตลอดทั้งปี กระถางธูปนั้น นำโถเคลือบเขียวใบใหญ่ซึ่งเป็นภาชนะชนิดเดียวกับภาชนะใส่น้ำทั่วไป ที่พบมากในบ้านยี่สารและเป็นภาชนะนำเข้ามาจากเมืองจีน ใส่ทรายสำหรับปักธูปของผู้ที่มาไหว้
แม้ในปัจจุบัน ศาลคุณปู่จะเป็นศาลาทรงไทย คุณปู่กลายเป็นพระพุทธรูปแทนไม้เจว็ด แท่นเครื่องเซ่นกลายเป็นโต๊ะไม้เพื่อการวางของเครื่องเซ่นที่มากขึ้น ราวเทียนสามารถวางเทียนได้สะดวกขึ้นและมีลายหงส์ อ่างน้ำมนต์ยังคงใช้คล้ายของเดิม ส่วนกระถางธูปก็ใหญ่ขึ้น แต่ยังคงเห็นว่า รูปแบบการวางตำแหน่งนั้นคล้ายคลึงกับของเดิมทุกอย่าง แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบในศาลเจ้าจีนที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นศาลแบบไทยร่วมสมัยอย่างไร และสิ่งของประกอบในศาลเหล่านี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งซึ่งไม่ผิดเพี้ยนไปเท่าไหร่นัก
สำรับประกอบพิธีในงานเวียนเทียนและงานปี เครื่องเซ่นในงานปีหรืองานสมโภชน์คุณปู่ศรีราชาได้แก่ หัวหมูคู่ ไก่คู่ เป็ดคู่ ผลไม้ต่างๆ ขนมจันอับและน้ำชา เห็นได้ชัดเจนว่างานปีเป็นงานเซ่นไหว้วิญญาณคุณปู่ตามแบบจีน ซึ่งมีหัวหมู เป็ด ไก่ ผลไม้ รวมไปถึงขนมจันอับและที่ขาดไม่ได้คือ น้ำชา ไม่ต่างไปจากของเซ่นไหว้บรรพบุรุษของคนจีนแต่อย่างใด
ส่วนในงานเวียนเทียนหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีการเตรียมสำรับ ได้แก่ บายศรีปากชามใช้ข้าวสวยวางไข่ต้มบางรายวางหมากพลูด้วย, กล้วยน้ำว้าที่เป็นกล้วยสุก ๑ หวี, มะพร้าวอ่อนเปิดฝา ๑ ลูก ขนมต้มแดง ๑ ถ้วย ขนมต้มขาวใส่ไส้ ๑ ถ้วย ขนมเล็บมือหรือขนมคันหลาวที่เป็นแป้งต้ม ๑ ถ้วย น้ำเปล่า ๑ แก้ว ธูปและเทียน ซึ่งจะนำมาเหมือนๆ กันทุกบ้าน ซึ่งผู้นำมาจะเป็นฝ่ายหญิงที่แยกครอบครัวไปแล้ว ทั้งสำรับที่เป็นบายศรี กล้วย มะพร้าว ขนมต้มแดงต้มขาว และตัวแทนของครอบครัวที่เป็นฝ่ายหญิงซึ่งแยกครอบครัวเป็นของตนเองแล้ว ล้วนเป็นรูปแบบเดียวกับงานไหว้ผีของหมู่บ้านหรือของสายตระกูลในชุมชนดั้งเดิมทั่วไปในแถบภาคกลาง
ทั้งสองพิธีกรรม สามารถแยกแยะได้เด่นชัดจากเครื่องประกอบพิธีในงานพิธีกรรมว่า รูปแบบของพิธีและสำรับประกอบพิธีสืบทอดมาจากทั้งพิธีกรรมดั้งเดิมของผู้คนในดินแดนประเทศไทยและพิธีกรรมที่ปรับรับมาจากวัฒนธรรมจีน
การเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความเชื่อและพิธีกรรม
จากตำนานคุณปู่ศรีราชา เรื่องคนจีนสามพี่น้องเรือสำเภาชนเขาจนเรือแตก และจีนคนหนึ่งได้กลายมาเป็นบรรพบุรุษของชาวยี่สารผู้ก่อตั้งชุมชน และที่มาของชื่อศรีราชาตามสันนิษฐาน ซึ่งรองรับความเชื่อในตำนานนี้ด้วยพิธีกรรมเซ่นไหว้แบบจีน รวมถึงการสร้างศาลเจ้าจีน ทำให้ทราบว่า เคยมีกระบวนการปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นท้องถิ่นในช่วงหนึ่งแล้ว แต่ไม่ปรากฏเวลาที่ชัดเจน แสดงให้เห็น เกิดการผสมผสานทางสังคมวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มที่เข้ามาใหม่คือคนจีน และกลุ่มที่อยู่แต่เดิมและนับถือวีรบุรุษทางวัฒนธรรมที่ชื่อศรีราชา
อย่างไรก็ตาม การสร้างศาล, วัตถุสัญลักษณ์ และกระบวนการในพิธีกรรมต่างๆ ก็ยังคงมีลักษณะแบบจีนอยู่ จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปการเมื่อราว ๓๐ ปีที่ผ่านมา การใช้ระบบสัญลักษณ์ในงานพิธีกรรมเกี่ยวกับคุณปู่ศรีราชาจึงเปลี่ยนแปลงตามไปอย่างรวดเร็ว เช่น
การเปลี่ยนแปลงคุณปู่ศรีราชาเป็นพระ การเลือกพระพุทธรูปปางประทานพร เพราะสัมพันธ์กับสิ่งที่ชาวบ้านเชื่อถือ คือ มีความศักดิ์สิทธิ์ในการดลบรรดาลตามคำขอ ชาวบ้านที่เข้ามานมัสการในที่ศาลและเมื่อมีงานก็นิยมปิดทองที่ไม้เจว็ดพอๆ กับพระพุทธรูปที่เป็นสัญลักษณ์ใหม่ แต่เมื่อตรวจสอบความนิยมที่ชาวบ้านมีให้กับสัญลักษณ์ใหม่ของคุณปู่ศรีราชา เช่น การทำเหรียญห้อยคอ คนยี่สารจะนิยมเหรียญคุณปู่ซึ่งมีรูปไม้เจว็ดมากกว่าเหรียญที่มีรูปแบบเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร หรือเวลาตกใจ ชาวบ้านจะพูดคำว่า “คุณปู่ช่วยด้วย” มากกว่า “คุณพระช่วย”
การปรับเปลี่ยนรูปสัญลักษณ์ของคุณปู่ศรีราชาจากไม้เจว็ด เมื่อ ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๓ ในขณะนั้น ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพการณ์ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ทางตะวันตกซึ่งกำลังไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว แต่ทางวัดเขายี่สารสามารถเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ อันเป็นช่วงที่ชุมชนยี่สารสามารถติดต่อกับสังคมภายนอกได้สะดวกขึ้น มีผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวในงานปีหรืองานสมโภชน์มากขึ้น กล่าวได้ว่า เป็น “ความทันสมัย” ที่สังคมยี่สารเริ่มเปิดประตูรับจากการมีถนนเข้าถึงหมู่บ้าน โดยไม่ต้องพายเรือแรมคืนเป็นหลายวัน และสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้สะดวก(ในการไปซื้อพระพุทธรูปที่หล่อเสร็จแล้วจากโรงงานแถวเสาชิงช้า)
การสื่อสารที่มีมากขึ้นทำให้ค่านิยม “ทำให้ทันสมัย” [Modernization] ที่รับมาจากภายนอกทำให้ปฏิเสธสิ่งที่เคยมีอยู่เดิม เช่น ในอดีตที่เจ้าอาวาสวัดเขายี่สารแต่เดิมเป็นพระที่มีชื่อเสียงทางด้านไสยคุณ การรักษาโรคและการมีวิชาอาคมในการปลุกเสกเครื่องรางของขลังต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในอดีตที่ห่างไกลศูนย์กลางรัฐและทุรกันดาร เป็นถิ่นของโจรผู้ร้าย จึงมีบทบาทต่อชุมชนและได้รับการเคารพยกย่องอย่างสูง สามารถตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันก็ยังมีชาวบ้านที่ยังกล่าวถึงท่านอยู่มาก แต่เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันไม่สนับสนุนในเรื่องเหล่านี้ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งงมงายไร้สาระสำหรับชาวบ้าน เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันปฏิเสธความเชื่อในเรื่อง “ผี” จึงแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการที่พระต้องนับถือผี และไม่อยากให้คนภายนอกกล่าวว่านับถือความเชื่อที่ไร้เหตุผล ดังนั้น ในช่วงที่มีพิธีกรรมจึงไม่เคยลงจากวัด รวมไปถึงพระสงฆ์อีกหลายรูปที่จะมีส่วนเฉพาะช่วงเตรียมงานร่วมกับชาวบ้านเท่านั้น
ความคิดเรื่องการปรับให้ทันสมัยเหล่านี้ ผลักดันให้วัดสามารถเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ของคุณปู่ให้เป็นรูปธรรมได้ง่ายขึ้น และสามารถทำให้คุณปู่ศรีราชากลายเป็นความเชื่อส่วนหนึ่งในพระพุทธศาสนา ในขณะที่เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชน พุทธศาสนาที่นี่ซึ่งเห็นได้ชัดว่าลงรากลึกและในยุคสมัยหนึ่งมีความโดดเด่นภูมิฐานและมีความสำคัญในระดับภูมิภาค จึงไม่เอื้อมมือเข้าไปแตะต้องความเชื่อเรื่องคุณปู่ศรีราชาของคนในชุมชน แต่ใช้วิธีการอยู่ร่วมกันโดยแบ่งแยกกิจกรรมที่ต่างกันอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์ของคุณปู่ศรีราชา โดยสถาบันที่สำคัญที่สุดในชุมชน แต่ความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อคุณปู่ของชาวยี่สารก็ยังคงเดิมสำหรับคนที่อายุมากกว่า ๓๐ ปีขึ้นไป และปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยสำหรับคนที่เกิดมาก็เห็นคุณปู่ในรูปสัญลักษณ์แบบพระพุทธรูปแล้ว ความหมายของการเปลี่ยนแปลงรูปสัญลักษณ์นี้ก็คือ การผนวกความเชื่อเรื่องผีให้เป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ อันเป็นการผลักดันจากความคิดแบบทันสมัยที่ต้องการแบ่งแยกพุทธศาสนาแบบบริสุทธิ์และไสยศาสตร์อันเป็นมลทินออกจากกันอย่างชัดเจน
จึงเห็นได้ว่า ตัวแทนทางพุทธศาสนาในปัจจุบันปฏิเสธพิธีกรรมการนับถือผีและพิธีกรรมแบบจีนโดยสิ้นเชิง และพยายามปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์ต่างๆ เกี่ยวกับพิธีกรรมคุณปู่ศรีราชาเสียใหม่ให้เป็นแบบพุทธหรือพราหมณ์
ดังนั้น ความคิดที่ถูกมองว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือหาเหตุผลรองรับไม่ได้ก็จะเป็นที่เชื่อกันว่า แสดงถึงความไม่เจริญ ความงมงาย ความเชื่อแบบเดิมจึงถูกปฏิเสธ และเหตุผลจากภายในชุมชนเนื่องจากการที่ยี่สารเป็นชุมชนเปิดมากขึ้น จึงรับข้อมูลข่าวสารและใกล้ชิดกับความคิดตามอุดมคติของคนในสังคมไทยส่วนใหญ่ที่คิดว่า พิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องเป็นพิธีหลวงหรือพิธีพราหมณ์เท่านั้น จึงรับมาปรับใช้อย่างเต็มที่
คนยี่สารส่วนใหญ่มักจะสืบได้ว่าบรรพบุรุษเป็นคนจีนไม่คนใดก็คนหนึ่ง แต่ลักษณะความเป็นคนจีนนั้นแทบไม่หลงเหลืออยู่ แม้จะมีสำนึกทางชาติพันธุ์ว่าบรรพบุรุษแต่โบราณสืบทอดมาจากคุณปู่ศรีราชา ซึ่งเป็นจีนเรือแตกและเป็นผู้เริ่มตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพิธีกรรมจากแบบจีนมาเป็นพุทธหรือพราหมณ์ก็ไม่มีปัญหาหรือเป็นข้อสงสัยขัดแย้งแต่อย่างใด
แต่การปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์จากคุณปู่ซึ่งเป็นผีหรือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มาเป็นพระนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ แม้จะนิ่งเฉยกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่เมื่อสอบถามทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า คุณปู่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นวิญญาณคุ้มครองคนยี่สารมาตลอด และมักจะเรียกว่า “คุณปู่” เหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงสถานภาพของคุณปู่โดยวัดเขายี่สารไม่มีผลต่อความเชื่อเดิมที่มีต่อคุณปู่ศรีราชาของชาวบ้านส่วนใหญ่แต่อย่างใด แม้เวลาจะผ่านมากว่า ๓๐ ปีก็ตาม
บทบาทและความสำคัญของตำนานและพิธีกรรมคุณปู่ศรีราชาต่อชุมชนยี่สาร
การสร้างความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิต
ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา สภาพสังคมของภาคกลางโดยทั่วไปเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมมาก ดังปรากฏเรื่องของเสือชื่อดังหลายคน บริเวณที่ห่างไกลจากอำนาจรัฐจึงเป็นที่ส่องสุมของโจรก๊กต่างๆ อันตรายที่อาจเกิดจากโจรผู้ร้าย ความเจ็บไข้ได้ป่วยการรักษาโรคจึงต้องพึ่งของขลังและความรู้จากพระอยู่เสมอ ดังนั้น หลวงพ่อล้ายและหลวงพ่อกลอย อดีตเจ้าอาวาสวัดเขายี่สารจึงมีชื่อในเรื่องไสยศาสตร์และยาสมุนไพร ซึ่งสนองตอบได้อย่างดีกับสภาพสังคมของบ้านยี่สารในสมัยนั้น การไม่ปฏิเสธไสยศาสตร์หรือความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี่เอง ที่ทำให้วัดเขายี่สารในอดีตไม่แตะต้องพิธีกรรมความเชื่อของชาวบ้านที่เกี่ยวกับคุณปู่ศรีราชาแต่อย่างใด
ในปัจจุบันการคมนาคมที่สะดวกขึ้นทำให้ชุมชนยี่สารติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น และด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ความจำเป็นในเรื่องการมีของขลังไว้ป้องกันตัวและการรักษาโรคด้วยสมุนไพรลดลงจนสูญหายไปหมด แต่ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจของชุมชนซึ่งมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการทำมาหากินและดำรงชีวิต กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือควบคุมด้วยตนเองเพียงฝ่ายเดียว จำเป็นต้องมีที่พึ่งทางใจ การบวงสรวงอ้อนวอน การแก้บน ต่อคุณปู่ศรีราชจึงเป็นที่นิยมอย่างมาก ไม่แต่เฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น แต่คนในชุมชนใกล้เคียงหรือจากที่ไกลๆ ก็ศรัทธาและพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วย
พิธีกรรมที่เกี่ยวกับคุณปู่ศรีราชานับเป็นงานสำคัญของชุมชน ส่วนเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิตคุณปู่ศรีราชาจะมีส่วนในชีวิตของชาวบ้านแทบทุกระยะตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งในช่วงวิกฤตของชีวิตระยะต่างๆ ก็จะขอพรให้คุณปู่ช่วย
เห็นได้ว่า ประเพณีพิธีกรรมทางพุทธศาสนาในปัจจุบันลดบทบาทลงตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับคุณปู่ศรีราชากลับเพิ่มบทบาทมากขึ้น งานพิธีใหญ่ขึ้น คนเข้าร่วมงานมากขึ้น เพราะตอบสนองความต้องการที่พึ่งทางใจของกลุ่มคนที่มีอาชีพที่ค่อนข้างเสี่ยง มีการทำลายสภาพแวดล้อมอย่างและลงทุนสูง เช่น การทำวังกุ้ง การทำประมง การค้าขาย ซึ่งเป็นอาชีพชายฝั่งทะเลในยุคที่รัฐเร่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบส่งออก
ด้วยสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างห่างไกลจากเมืองหรือศูนย์กลางของท้องถิ่น ทำให้ยี่สารเป็นชุมชนที่ปิดยิ่งขึ้นหลังจากความสำคัญในการเป็นชุมชนการค้าและทางผ่านในการเดินทางระหว่างภูมิภาคหมดไป ผู้สูงอายุในชุมชนหลายท่านมักจะเล่าถึงวัยเด็กที่ขาดแคลน ทำมาหากินยากลำบาก โจรผู้ร้ายชุกชุม การอยู่อาศัยที่ไม่สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน นับเป็นการอยู่อาศัยที่อาจสั่นคลอนความมั่นคงทางใจได้อย่างมาก
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าความเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับคุณปู่ศรีราชาที่เล่าสืบต่อกันมา มีความสัมพันธ์กับเกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิต การทำมาหากิน และสภาพสังคมในยุคสมัยต่างๆ เช่น
เมื่อชาวบ้านจำเป็นต้องเดินทางออกนอกหมู่บ้าน เพื่อไปแลกสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ตลอดจนการออกไปทำมาหากินทั้งการทำประมงพื้นบ้าน และการออกไปหาปลาในทะเล หรือต่อมาเมื่อชาวบ้านเริ่มประกอบอาชีพเผาถ่านและต้องล่องเรือถ่านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็จะต้องขอให้คุณปู่ช่วยปกป้องคุ้มครองในการเดินทาง โดยการยกมือไหว้และอธิษฐานภายในใจ
คุณปู่ศรีราชาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจและช่วยลดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด ในกรณีเมื่อชาวบ้านเกิดความเดือดร้อนใจเรื่องต่างๆ ก็จะไปเสี่ยงทายเพื่อถามปัญหาจากคุณปู่ โดยใช้วิธีโยนไม้เสี่ยงทาย ถ้าไม้คว่ำอันหนึ่ง หงายอันหนึ่ง ถือว่าคุณปู่รับที่จะช่วยเหลือให้ปัญหาลุล่วงไปได้ แต่ถ้าไม้คว่ำทั้งสองอันแสดงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นหนักหนาเกิดกว่าที่คุณปู่จะช่วยเหลือได้และถ้ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นก็ต้องเป็นไปตามนั้นเพราะเป็นเวรกรรมที่ผู้นั้นต้องประสบ แต่ถ้าไม้เสี่ยงทายหงายทั้งสองอัน ว่ากันว่าคุณปู่กำลังหัวเราะและไม่ตอบปัญหา และผู้ถามปัญหาสามารถเสี่ยงทายใหม่ได้
ปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านไปเสี่ยงทายถามปัญหากับคุณปู่ศรีราชานั้น เป็นปัญหาทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น ความฝืดเคืองในการทำมาหากิน สิ่งของสูญหาย การเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ การขอให้ปกป้องคุ้มครองลูกหลานที่ต้องเดินทางไปต่างถิ่นไกลๆ การสอบ การเกณฑ์ทหาร เป็นต้น ส่วนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชุมชนนั้น เมื่อมีการขัดแย้งหรือทะเลาะอย่างรุนแรง จะมีการนำคู่กรณีมาสาบานกับคุณปู่ เมื่อสาบานต่อหน้าคุณปู่ก็ถือว่าให้เลิกแล้วต่อกัน โดยชาวบ้านเชื่อว่าถ้าใครโกหกหรือผิดคำสาบาน จะถูกลงโทษจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของคุณปู่ศรีราชา ( เบญจรัชต์ เมืองไทย, “พ่อปู่ศรีราชา: บทบาทของความเชื่อกับการบูรณาการทางสังคมในชุมชนยี่สาร,”เอกสารประกอบการสัมมนาเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐. (อัดสำเนา) )
สำหรับในประเพณีเกี่ยวกับชีวิต หรือถ้ามีกิจกรรมพิเศษ เช่น ไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาหรือไม่ เช่น การจัดงานมงคลต่างๆ จะต้องไปจุดธูปบอกกล่าวกับคุณปู่บนศาล หากไม่ทำอาจมีอันเป็นไปในทางที่ไม่ดีจนไม่สามารถจัดงานให้ลุล่วงได้
เมื่อชุมชนก้าวเข้าสู่ความเฟื่องฟูของธุรกิจการทำวังกุ้ง ซึ่งเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนยี่สารไปมากพอสมควร เป็นการเปิดรับเศรษฐกิจแบบฟองสบู่อย่างเต็มที่ทำให้งานประจำปีคุณปู่กลายเป็นงานยิ่งใหญ่ เนื่องจากผู้คนที่ลงทุนทำธุรกิจทั้งเรื่องกุ้ง การขายที่ดิน จนกระทั่งชาวประมงในละแวกใกล้เคียง ได้พากันมาบนบานต่อคุณปู่ให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ และมีการจองมหรสพต่างๆ เพื่อถวายคุณปู่เป็นการแก้บนในงานประจำปี บางช่วงมีผู้มาจองแน่นมาก จนต้องรอคิวกันข้ามปีเลยทีเดียว จนทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในช่วงงานปีสมโภชน์เป็นจำนวนมาก และวัดเขายี่สารได้ผนวกเอางานปีสมโภชน์คุณปู่ ที่เปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ใหม่เป็น หลวงพ่อปู่ศรีราชา เป็นงานของวัดด้วย
ภายหลังเมื่อเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ธุรกิจการทำวังกุ้งเสียหายย่อยยับ แต่งานประจำปีและการบนบานคุณปู่ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย กลับยังมีผู้ศรัทธามากเท่าเดิม แต่การใช้จ่ายเงินบริจาคและการจองมหรสพแก้บนอาจลดลงไปบ้าง งานปีของคุณปู่ก็ยังคงจัดอย่างใหญ่โตติดต่อกันหลายวัน มีผู้เฒ่าผู้แก่เหมารถมาปิดทองและเที่ยวงานจากชุมชนที่อยู่ในละแวกสมุทรสงครามและเพชรบุรีกันอยู่สม่ำเสมอ
ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าสภาพสังคมจะเป็นอย่างไร เมื่อเกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจซึ่งอาจจะเกิดจากสภาพสังคม สภาพแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างยากลำบากในการดำเนินชีวิต สิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นคุณปู่ศรีราชาเป็นที่พึ่งทางใจสนองตอบให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตได้ทั้งในระดับส่วนรวมและระดับปัจเจกบุคคล
ซึ่งคำสอนในพระพุทธศาสนาไม่สามารถตอบสนองสิ่งที่เป็นเรื่องทางโลกย์ที่ชาวบ้านยี่สารเผชิญอยู่ได้เท่ากับความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของคุณปู่ศรีราชา
ความขัดแย้งภายในชุมชนเฉพาะที่สะท้อนจากพิธีกรรมเกี่ยวกับคุณปู่ศรีราชา
ชุมชนยี่สารเป็นชุมชนที่มีความขัดแย้งสูงชุมชนหนึ่ง แม้จะมีความเป็นเครือญาติที่ค่อนข้างสนิทแต่ก็มีการแข่งขันกันอยู่ในที ทั้งอาชีพการทำถ่านจากไม้โกงกาง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถรวมจัดตั้งเป็นกลุ่มได้แม้จะประสบภาวะยากลำบากในการหาตลาดก็ตาม, การแข่งขันทางการเมืองระหว่างกลุ่มที่ต้องการตำแหน่งขององค์การบริหารส่วนตำบลและกำนันประจำตำบลซึ่งผู้สมัครส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครือญาติกันทั้งสิ้น แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ ตามรูปแบบผลประโยชน์และมูลค่าการตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจซึ่งฝังรากลึกในระบบสังคมแบบการค้าของยี่สารมาแต่เดิม ตลอดจนความทันสมัยที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ชุมชนอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนมีปัญหาด้านการปรับตัว เช่น ปัญหาระหว่างชายหญิง เรื่องการยอมรับบทบาทหน้าที่ระหว่างหญิงชายที่เปลี่ยนไป บทบาทนำที่เกี่ยวกับการทำมาหากินของผู้หญิงและการตัดสินใจที่เด็ดขาดมักจะถูกนินทาและไม่ยอมรับจากฝ่ายชายอยู่เสมอ จนกระทั่งแนวคิดระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ที่ต่างกันมาก จนกลายเป็นช่องว่างที่มักจะเห็นความขัดแย้งทางความคิดในชุมชนระหว่างคนต่างรุ่นต่างอายุกัน ปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้จะถูกละเลยเป็นการชั่วคราวเมื่อชุมชนจำเป็นต้องใช้แรงงานเพื่อร่วมกันจัดงานประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับคุณปู่ศรีราชา
แม้จะเห็นอย่างชัดเจนว่าประเพณีและพิธีกรรมคุณปู่ศรีราชาได้สะท้อนบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมมาตั้งแต่อดีต ทั้งยังสามารถขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนปัจจุบันได้ด้วยการเป็นศูนย์รวมศรัทธาความเชื่อที่คนยี่สารนับถืออย่างที่สุด แต่กระนั้น ก็ยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดของคนในชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีและพิธีกรรมนี้เช่นกัน แม้ความขัดแย้งนี้เป็นเพียงความคิดเห็นไม่ตรงกันและไม่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงที่มากขึ้น แต่ก็ถือว่ามีการนินทา มีความคิดที่ไม่เห็นด้วยปรากฏอยู่เป็นระยะๆ ความขัดแย้งทางความคิดที่สะท้อนให้เห็นในปัจจุบัน ได้แก่
การช่วงชิงความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณระหว่างพระกับผี จากคำบอกเล่าที่ว่าหลวงพ่อกลอย เจ้าอาวาสองค์ก่อนเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เคยดำริไว้ว่าอยากจะปรับเปลี่ยนคุณปู่ศรีราชาให้เป็นพระก่อนที่ท่าจะมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ความคิดของพระสงฆ์องค์ต่อมาคือ ต้องการแบ่งแยกระหว่าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (sacred) และความเลวร้าย [Profane] ออกจากกันอย่างชัดเจน โดยมองในเชิงเหตุผลที่นิยมกันในยุคนั้น (modernism) ว่า ความเชื่อเรื่องผี การนิยมเสื้อยันต์ป้องกันภัย หรือการรักษาโรคด้วยคาถาอาคมหรือสมุนไพรจากตำรายาโบราณ เป็นสิ่งเลวร้ายและไม่สมเหตุสมผล
เมื่อความทันสมัยเข้าสู่ชุมชน ผลกระทบที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ ผู้คนออกไปศึกษานอกชุมชนมากขึ้น ไปทำงานต่างถิ่นมากขึ้น ชาวบ้านเข้าวัดน้อยลง เป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งให้พระสงฆ์มีบทบาทในการดึงอำนาจความเชื่อที่ชาวบ้านศรัทธากันมากเข้ามาสู่วัดเพื่อทดแทนศรัทธา ความเชื่อ และกิจกรรมที่ชาวบ้านมีต่อวัดซึ่งกำลังสูญเสียไป จนในปัจจุบัน ดูเหมือนว่า วัดเขายี่สารสามารถผนวกเอาความเชื่อเรื่องคุณปู่ศรีราชาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาอย่างหมดจด
ดังนั้น ผลจากที่วัดเขายี่สารได้ผนวกคุณปู่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา มีผลให้วัดมีรายจำนวนมากจากการจัดงานปีสมโภชน์ สามารถตอบสนองความรู้สึกผิดซึ่งเป็นเรื่องของความทันสมัยของความคิดจากภายนอกที่เข้ามา เนื่องจากไม่จำเป็นต้องตะขิดตะขวงใจในการติดต่อกับ “ผี” ซึ่งบุคลากรในพุทธศาสนาย่อมไม่สมควรเชื่อในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล เช่น ผีหรือวิญญาณ และไม่สนใจในความคิดหรืออุดมการณ์ของชาวบ้านที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนตามที่วัดเข้าใจ เนื่องจากไม่มีผลต่อวัดเขายี่สารแต่อย่างใด
ในอนาคต คนรุ่นใหม่ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงแนวความคิดต่างไปจากความเชื่อและความรู้สึกศรัทธาตามแบบเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงนี้คงทำได้ช้า เพราะวัดเขายี่สารก็ไม่ได้จัดกิจกรรมอื่นๆ นอกจากงานสมโภชน์ประจำปี เพื่อที่จะตอกย้ำให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องความเป็น “ผี” ของคุณปู่ เพื่อให้เป็น “หลวงพ่อปู่” แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่สืบเนื่องจากตำนานและพิธีกรรมคุณปู่ศรีราชา ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนยี่สาร แต่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ในการช่วงชิงการนับถือของชาวบ้านซึ่งแฝงผลประโยชน์ของวัดเขายี่สาร และความขัดแย้งของบุคคลในระดับผู้นำทางความคิดและผู้นำทางศรัทธาของชุมชนในการที่จะสร้างสังคมที่มีอัตลักษณ์ความเป็น “ยี่สาร” ต่อไปในอนาคต
ตำนานจีนเรือแตกสร้างสำนึกทางชาติพันธุ์ [Ethnicity]
การจัดงานประจำปีคุณปู่ศรีราชาและการจัดพิธีเวียนเทียนคุณปู่เป็นการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในชุมชนแทบจะทั้งหมู่บ้าน ตัดปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่มและพรรคพวกออกไปชั่วคราว หรือแก้ปัญหาด้วยการรวมกลุ่มที่มีหน้าที่ร่วมกันเฉพาะกลุ่มของตนเอง และยกผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสในชุมชนเป็นผู้นำในการจัดเตรียมพิธีและแบ่งหน้าที่การทำงาน ด้วยความที่ชาวบ้านมีความเชื่อและความศรัทธาต่อคุณปู่ศรีราชาอย่างมาก ดังกำนันตำบลยี่สารกล่าวว่า “คุณปู่สร้างความเป็นปึกแผ่น เป็นสิ่งสำคัญและยึดเหนี่ยวชุมชนเอาไว้ คุณปู่ไม่ใช่บุคคล แต่ผู้คนก็ศรัทธาในสิ่งนี้มากกว่าวัดเสียอีก …” (สัมภาษณ์ พิศาล พยนต์ยิ้ม, อ้างใน อภิญญา ตันทวีวงศ์. “ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน: กรณีศึกษาการทำถ่านไม้โกงกางที่หมู่บ้านยี่สาร” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๓), ๖๑.)
ความศรัทธาที่มีต่อตำนานทำให้ชาวบ้านยี่สารบางคนเชื่อว่าเรื่องคุณปู่ศรีราชาหรือจีนขานเรือแตกเป็นเรื่องจริง และคุณปู่ก็เคยมีตัวตนอยู่จริง ดังคำบอกเล่าต่อๆ กันมาเรื่องการได้เห็นเสากระโดงของเรือสำเภาหลังวัดเขายี่สารบริเวณแพรกอู่ตะเภา (ใกล้สถานที่ขุดค้นทางโบราณคดี) ที่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปของตนเคยเห็นและเคยเล่าให้ฟัง
การสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คน จากการผูกเรื่องราวในตำนานให้สอดคล้องกับสถานที่ซึ่งมีอยู่จริงและเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรในการดำรงชีพของชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่นนี้ ยังพบในขั้นตอนการแห่คุณปู่ไปตามชุมชนรอบๆ เพื่อให้ทราบว่าจะมีพิธีบูชาคุณปู่แล้ว สร้างการรับรู้ความเกี่ยวกันทั้งที่เป็นเครือญาติและความเป็นท้องถิ่นเดียวกันให้ฝังแน่นอยู่ในการรับรู้และอุดมการณ์ของคนในละแวกนี้
จากความเชื่อในตำนานเป็นการสร้างเอกลักษณ์ร่วมของคนในชุมชน การนับถือและศรัทธาคุณปู่ศรีราชานับได้ว่าเป็นระบบความเชื่ออย่างหนึ่ง ที่คู่ขนานไปกับระบบความเชื่อทางพุทธศาสนา มีหน้าที่ในการลดความวิตกกังวลที่เกิดจากความรู้สึกไม่แน่นอนในชีวิต ความกลัวอันเป็นความรู้กดดันในชีวิตของมนุษย์ ซึ่งชุมชนบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเลมักมีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมชาวนาทั่วไป เพราะมีความเสี่ยงกับอาชีพที่เป็นเรื่องของการค้า การผลิตสินค้าเพื่อขาย และความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมมากกว่า พิธีกรรมและคุณปู่ศรีราชาเป็นหลักในการทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของผู้คนในชุมชนตลอดมา
ความเชื่อและตำนานเกี่ยวกับคุณปู่เป็นสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์ที่ทำให้รู้สึกว่า เป็นคนกลุ่มเดียวกัน นับถือและศรัทธาในสิ่งเดียวกัน เป็นที่มาของกลไกในการควบคุมรักษากติกาความเรียบร้อยในสังคม เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในถิ่นฐานของตนเอง อันทำให้ชุมชนมีสำนึกร่วมกัน และมีความเป็นเอกภาพ สามารถสืบทอดส่งต่อความเป็นชุมชนยี่สารได้ตลอดมา
จากคำถามสำคัญที่ชาวบ้านถามจนทำให้เกิดการศึกษานี้ที่เกิดจากการผลการขุดค้นทางโบราณคดี คือ “ทำไมชุมชนที่แทบไม่มีใครอยากอยู่ในระยะ ๕๐ ปีที่ผ่านมา จึงมีสิ่งของมากมายที่บ่งชี้ว่า มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องยาวนานและเป็นชุมชนที่เคยมั่งคั่งทางการค้ามาก่อน ทั้งที่ชาวบ้านรู้สึกว่าพวกเขา “ยากจน” และต้องทนอยู่อาศัยในพื้นที่ทุรกันดาร”
คนในชุมชนยี่สารปัจจุบัน ไม่เข้าใจคำว่า “ยี่สาน” ว่าหมายความว่าอย่างไร ทั้งไม่เคยรับรู้ว่าหมายถึงตลาด และข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็ยืนยันว่าชุมชนยี่สารสมัยโบราณเป็นตลาดหรือชุมชนค้าขายที่สำคัญมาก่อน
สิ่งเหล่านี้ได้แสดงถึงความต้องการอยากรู้ที่มาและอดีตของตนเอง ด้วยการตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบดังกล่าว จนกระทั่งมีคงวามพยายามจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนไว้ที่วัดเขายี่สาร ซึ่งในระยะแรกคือความพยายามที่จะรวบรวมสิ่งของที่แสดงถึงตนเองในเองเอาไว้ เช่น โบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ในอดีตและที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน จนกระทั่งสามารถจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นได้สำเร็จ และมีการศึกษาอดีตและประวัติศาสตร์ของบ้านยี่สารอย่างเป็นระบบ ความต้องการที่จะรวมตัวเพื่อประกาศให้คนภายนอกและคนในยี่สารเองได้รับรู้ว่าคนยี่สารเป็นใครมาจากไหน และนี่คือความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของคนในชุมชน ในกรณีนี้ ผู้นำชาวบ้านยี่สารเห็นว่าการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองและของชุมชน เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ชุมชนยี่สารสามารถก้าวไปข้างหน้าและเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น ( สัมภาษณ์ ศิริอาภา รัชตะหิรัญ, ชาวบ้านยี่สาร, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๔. )
เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นจาก การพยายามหาคำตอบเหล่านี้ คือ “การพยายามเปลี่ยนชื่อคุณปู่ศรีราชาเป็นคุณปู่เขายี่สาร” กลุ่มที่คิดเรื่องนี้ก็คือผู้อาวุโสในชุมชน ก่อนหน้าที่จะเกิดความคิดอยากให้เปลี่ยนชื่อคุณปู่ศรีราชานี้ มีการเปลี่ยนชื่อ “คุณปู่หัวละมาน” ซึ่งเชื่อว่าเป็นพี่น้องกับคุณปู่ศรีราชาและมีศาลบริเวณใกล้กับวัดน้อย ซึ่งเป็นวัดโบราณมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยมีคลองเล็กๆ คั่นไม่ไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัยโบราณเท่าใดนัก เป็นชื่อ “คุณปู่หนุมาน” เพราะสามารถสื่อถึงความหมายซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักได้ และผู้อาวุโสกลุ่มเดียวกันนี้ที่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมคุณปู่ให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น โดยการใช้ตามแบบพราหมณ์ที่เห็นในพิธีหลวงจากโทรทัศน์ และสนับสนุนเจ้าอาวาสวัดเขายี่สารองค์ปัจจุบันในการเช่าพระพุทธรูปปางประทานพรเปลี่ยนแทนไม้เจว็ด
ความคิดจากการคิดเปลี่ยนชื่อ “คุณปู่ศรีราชา” ให้เป็น “คุณปู่เขายี่สาร” นั้น เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง ในช่วงที่มีการดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและมีการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนยี่สารจากนักวิชาการภายนอก ซึ่งส่งผลมาถึงคนในชุมชนด้วย เพราะมีการเสนอข้อมูลวิชาการเมื่อมีการประชุมเรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ในอดีตคนในชุมชนไม่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมักจะเรียกว่า “คุณปู่” มากกว่าที่จะเรียกชื่อร่วมไปด้วย คำถามจึงยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่สามารถเข้าใจถึงที่มาของคำว่า “ศรีราชา” ว่าหมายความว่าอย่างไร โดยคิดว่า น่าจะเป็นคำที่ลิเกสมัยก่อนๆ ซึ่งมาเล่นในงานปีสมโภชน์คุณปู่ใช้เรียกมากกว่า และศรีราชาน่าจะอยู่ที่อำเภอศรีราชาไม่เกี่ยวกับยี่สารแต่อย่างใด และเหตุผลที่น่าจะใช้ชื่อ คุณปู่เขายี่สาร ก็เพราะท่านอยู่ที่บ้านยี่สาร และชื่อนี้ก็จะได้สื่อความหมายได้มากกว่า
ในปัจจุบัน ตำนาน พิธีกรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในชุมชนยี่สาร ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างสำนึกของชุมชน ผ่านการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การจัดท่องเที่ยวในชุมชน การนำชมของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น และงานเทศกาลและพิธีกรรมในชุมชน การสร้างสำนึกเช่นนี้ได้แสดงถึงความต้องการอยากรู้ที่มาและอดีตของชุมชน ด้วยการตั้งคำถามและพยายามแสวงหาคำตอบ อันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการแสวงหาคำตอบว่าตนคือใครและมีที่มาอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิต สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสภาพความล้มเหลวเชิงเศรษฐกิจ และความไม่มั่นใจของชาวบ้านจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ความไม่มั่นคงในการทำมาหากิน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมของชุมชน
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
กรมศิลปากร. ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๑ จารึกกรุงสุโขทัย. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภาถนนพระสุเมรุ, ๒๕๑๕. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระราชประสิทธิคุณ จังหวัดสุโขทัย).
________, ชำระ. ชีวิตและงานของสุนทรภู่. พิมพ์ครั้งที่ ๙. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๓.
ก.ศ.ร.กุหลาบ. “นิราศยี่สาร.” เอกสารประกอบการเดินทางท่องเที่ยวโครงการรักเมืองไทยกับยางสยาม, ๒๕๔๐. (อัดสำเนา)
จิตร ภูมิศักดิ์. สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๒๗.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ. สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชย์จำกัด, ๒๕๒๙.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. จดหมายเหตุระยะทางเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสด็จตรวจราชการหัวเมืองใน ร.ศ.๑๑๗, ๑๑๙. พระนคร: ม.ป.ท, ๒๕๑๕.
ตำนานพระบรมธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑. นครศรีธรรมราช: โรงพิมพ์ศิษย์เพาะช่าง, ๒๕๑๘.
นรเนติบัญชากิจ, หลวง. นิราศตังเกี๋ย. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๔.
“เมืองที่เสือยังไม่กล้าอยู่.” ชาวกรุง. ๑, ๑๐ (กรกฎาคม ๒๔๙๕) : ๓–๑๐.
มานิต มานิตเจริญ. พจนานุกรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ: อักษรพิทยา, ๒๕๓๗.
ยศ สันตสมบัติ.มนุษย์กับวัฒนธรรม.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๐.
ยอช เซเดซ์. ประชุมจารึกสายาม ภาคที่ ๒ จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ แลเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๒.
วาสนา กุลประสูต. “หมู่บ้านในป่าโกงกาง.” อนุสารอ.ส.ท. ๑๗, ๗ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐): ๒๓–๒๙.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. “ยี่สาร: ย่านตลาดกลางป่าชายเลน.” ใน ข้อคิดใหม่ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี. เอกสารสำเนาประกอบการสัมมนาเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ๒๕๔๒. (อัดสำเนา)
ศรีศักร วัลลิโภดม. “เพชรบุรีกับความเป็นนครประวัติศาสตร์.” เมืองโบราณ ๑๗, ๔ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๓๔): ๓–๒๓.
ศิราพร ฐิติฐาน ณ ถลาง. ในท้องถิ่นมีนิทานและการละเล่น การศึกษาคติชนในบริบททางสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๗.
ศิราพร ณ ถลาง. “ตำนานการสร้างโลกของชนชาติไท: ตัวอย่างการศึกษาวัฒนธรรมจากตำนาน.” สังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๔๒.
ศิลปบรรณาคาร. รวมวรรณกรรมของสุนทรภู่. พระนคร: ม.ป.ท., ๒๕๑๓.
สมุดราชบุรี, ๒๔๖๙. (อัดสำเนา)
สุเทพ สุนทรเภสัช. มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๔๐.
สุกัญญา ภัทราชัย, บรรณาธิการ. คติชนกับคนไทย-ไท รวมบทความทางด้านคติชนวิทยาในบริบททางสังคม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒.
นาฏวิภา ชลิตานนท์. ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๔.
เบญจรัชต์ เมืองไทย. “พ่อปู่ศรีราชา: บทบาทของความเชื่อกับการบูรณาการทางสังคมในชุมชนยี่สาร.”เอกสารประกอบการสัมมนาเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐. (อัดสำเนา)
ประไพ วิริยะพันธุ์, มูลนิธิ. “รายงานการขุดค้นหลุมทดสอบแหล่งโบราณคดีอู่ตะเภา เชิงเขายี่สาร บ้านเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม.”มีนาคม ๒๕๔๒. (อัดสำเนา)
ปรานี วงษ์เทศ. สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: บริษัทศิลปวัฒนธรรม จำกัด, พฤษภาคม ๒๕๔๓.
ธิดา สาระยา. ตำนานและตำนานประวัติศาสตร์กับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: พิทักษ์อักษรการพิมพ์, ๒๕๒๕.
องค์การบริหารส่วนตำบลยี่สาร. “แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลยี่สาร ประจำปี ๒๕๔๔.” ธันวาคม ๒๕๔๓. (อัดสำเนา)
องค์การค้าของคุรุสภา.ประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๑๐ (ภาคที่ ๑๒) จดหมายเหตุของหมอบรัดเล, พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๐๗.
อภิญญา ตันทวีวงศ์. “แบบแผนและความเปลี่ยนแปลงของสำรับอาหารที่บ้านยี่สาร: รหัสแห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนกลางป่าชายเลน.” เอกสารประกอบการสัมมนาเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมเสนอที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐. (อัดสำเนา)
________. “ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน : กรณีศึกษาการทำถ่านไม้โกงกางที่หมู่บ้านยี่สาร.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาศิลปากร, ๒๕๔๓.
อานันท์ กาญจนพันธุ์. “พิธีไหว้ผีเมืองและอำนาจรัฐในล้านนา.” สังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๔๒.
________. ความคิดทางประวัติศาสตร์และศาสตร์ของวิธีคิด. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์, ๒๕๔๓.
อัมพวัน สองสมุทร. “ความเชื่อและพิธีกรรมกับความสัมพันธ์ของคนในชุมชน: กรณีศึกษา พิธีกินเจที่ศาลเจ้าไต้เซี้ยและโรงเจฮกเฮงตั๊ว ตำบลบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๓.
ภาษาต่างประเทศ
Alexander, Bobby C. “Ritual and Current Studies of Ritual: Overview.” Anthropology of Religion: A handbook. USA: An Imprint of Greenwood publishing Group, Inc., 1997.
Crawfurd, John. Journal of an embassy to the courts of Siam and Cochin China. London: Oxford University Press, 1967.
Gervaise, Nicolas. The Natural and Political History of the Kingdom of Siam. Bangkok: White Lotus Press, 1989.
Grimes, Ronald L. Beginnings in Ritual Studies. Revised Edition. Columbia: University of South Carolina Press, 1995.
Jean-Baptiste Pallegoix. Description du royaume Thai ou Siam; presente et adapte par M. Dasse. Bangkok: D.K. Book House, 1976.
Kaempfer, Engelbert. A Description of the Kingdom of Siam 1690. Bangkok: White Lotus Press, 1987.
Krohn, Kaarle, Welsh, Roger L. [Translated]. Folklore Methodology. USA: The American folklore Society Press, 1971.
Sawfish-Shark with swords. [Online]. Accessed 16 December 2000. Available from http://members.aol.com/_ht_a/nokogirl/index.html.
Smyth Warrington, Herbert.Five Years in Siam from 1891-1896 Vol.1-2. Bangkok: White Lotus, 1994.
Vansina, Jan, Wright, H.M [Translated]. Oral Tradition : A study in Historical Methodology. London: Routjedge & Kegan Paul, 1965.
สัมภาษณ์
เขียน ปรารถนาดี. ชาวบ้านยี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. สัมภาษณ์, ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๓.
เหิน อ่อนอุระ. ชาวบ้านยี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. สัมภาษณ์, ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๓.
ชอ้อน ดรุณศรี. ชาวบ้านยี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. สัมภาษณ์, ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๓.
ศิริอาภา รัชตะหิรัญ. ชาวบ้านยี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. สัมภาษณ์, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓.
ไสว พุ่มพร. ชาวบ้านยี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. สัมภาษณ์, ๑๐ เมษายน ๒๕๔๓.
ไพรัช แก้วกาม. ชาวบ้านยี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. สัมภาษณ์, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓.
เฉลิม อ่อนอุระ. ชาวบ้านยี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. สัมภาษณ์, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓.
ฉลอง หิรัญวงศ์. ชาวบ้านยี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. สัมภาษณ์, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓.