วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ตำแหน่งของเส้นทางข้ามคาบสมุทรสยามตอนบนสุดที่ผ่านมาจากเมืองท่าทางฝั่งอันดามันคือเมืองมะริดและตะนาวศรีนั้นมีความสำคัญทางเศรษฐกิจในยุคสมัยแห่งรัฐการค้าและสัมพันธ์โดยตรงกับราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา หากนับเนื่องการเริ่มต้นเป็นราชอาณาจักร [Kingdom] ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่จัดระบบการปกครองใหม่และควบคุมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างเป็นระบบ
แต่ช่วงก่อนหน้านั้นคือบ้านเมืองที่พัฒนาขึ้นมาจากเมืองท่าภายในตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เช่น กรุงสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย, ละโว้-แพรกศรีราชา, อโยธยา-สุพรรณภูมิ, ราชบุรี-เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช ที่ใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรเพื่อเดินทางไปนมัสการปูชนียสถานสำคัญทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะลังกา เช่น จากจารึกวัดเขากบพบที่จังหวัดนครสวรรค์ จาริกแสวงบุญไปถึงลังกาก็กลับสู่สยามประเทศด้วยเส้นทางข้ามคาบสมุทรตอนบน ผ่านทางตะนาวศรี (ที่อาจจะเป็นชื่อเมืองหรือเทือกเขาก็ได้) ผ่านเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี และเดินทางสู่อโยธยาศรีรามเทพนคร
ในขณะเดียวกันเส้นทางที่ตัดข้ามอ่าวเบงกอลหรือเลียบชายฝั่งสู่อินเดียไกลไปถึงดินแดนอาหรับและยุโรป และเมื่อข้ามฝั่งมาแล้วก็พร้อมจะเดินทางไปทางตะวันออกสู่จีน ญี่ปุ่น อันนัม ซึ่งเป็นเส้นทางค้าขายระหว่างภูมิภาคที่สำคัญมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มพุทธศาสนาทั้งสินค้าและนักเดินทางต่างใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรตอนบนสุดนี้เดินทางหลบโจรสลัดและคลื่นลมและการใช้เวลาอย่างยาวนานในการอ้อมแหลมมลายูผ่านช่องแคบมะละกา และหากไม่มีการอำนวยความสะดวกตั้งแต่เมืองเช่นมะริด เมืองระหว่างทางเช่นเพชรบุรี และนครศูนย์กลางเช่นกรุงศรีอยุธยาเส้นทางนี้ก็จะไม่น่าเดินทางผ่านได้สะดวก เพราะการโดยสารมาสู่เมืองท่าที่มะริดแล้วใช้เส้นทางข้ามเทือกเขาและแม่น้ำ แม้จะต้องใช้ทั้งเรือ ช้างหรือม้า เกวียนเทียมวัวควาย เพื่อเดินทางสู่บ้านเมืองริมทะเลฝั่งอ่าวไทยนั้นต้องมีการจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิดจากราชสำนักทีเดียว
หัวเมืองที่มะริดและตะนาวศรีจึงมีความสำคัญต่อรัฐสยามมาก แม้จะตกเป็นของพม่าเมื่อครั้งบุเรงนองโดยเมื่อยึดกรุงศรีอยุธยาได้ จนทวาย มะริด ตะนาวศรีก็ตกเป็นของพม่าโดยปริยาย แต่หลังจากนั้นก็มาตกอยู่การปกครองสิทธิ์ขาดที่ราชสำนักสยาม
บ้านเมืองรอบพระนครศรีอยุธยามีบันทึกไว้ว่าบ้านมีทั้งพวกตะนาวศรี บ้านทวายอยู่อาศัยเป็นชุมชนใหญ่เช่นเดียวกับกลุ่มชาวอื่นๆ ที่มาตั้งบ้านเรือนและสถานีการค้าในเมืองท่าแห่งนี้
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดูจะเห็นภาพชัดเจน เพราะมีเอกสารชาวตะวันตกทั้งคณะราชทูต นักเดินทางที่โดยสารเรือมาจากทางยุโรปผ่านทางมหาสมุทรอินเดียที่มีสถานีการค้าของหลายชาติเลือกที่จะเดินทางโดยใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรตอนบนสุดนี้ข้ามคาบสมุทรสยามมาสู่กรุงศรีอยุธยา ส่วนเรือสินค้าจากชาติที่มีสถานีการค้าที่อยู่ทางหมู่เกาะทั้งชวาและสุมาตราแล้ว หรือมาจากมหาสมุทรอินเดียจะเดินทางผ่านช่องแคบมะละกาแล้วเลียบชายฝั่งอ่าวสยามเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาก็ได้หรือใช้เส้นทางตัดข้ามอ่าวสยามไปทางปลายแหลมญวนแล้วเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออกเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาก็ได้ แต่ก็ต้องใช้เรือใหญ่และนักเดินเรือผู้เชี่ยวชาญทีเดียว

จนถึงปลายรัชกาลที่ ๒ อังกฤษเริ่มเข้ายึดหัวเมืองชายฝั่งทะเลของพม่ารวมทั้งตะนาวศรี มะริด และทวายและกำลังคืบคลานเข้าสู่แผ่นดินภายในเพื่อยึคครองพม่าอย่างเบ็ดเสร็จ ทางอังกฤษพยายามเจรจาทั้งการเมืองและการค้าไปด้วยกันโดยตลอดและเริ่มมีเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจทำแผนที่เพื่อจะได้รู้จักสภาพภูมิประเทศทรัพยากรและขอบเขตของเมืองที่ตนยึดได้ จนถึงในปี พ.ศ. ๒๔๐๘ จึงส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียมาติดต่อกับรัฐบาลไทยเพื่อขอให้มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษเป็นการถาวรในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อมามีการให้สัตยาบันที่ถือเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงระหว่างประเทศว่า เมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี เป็นดินแดนของประเทศพม่าที่อยู่ในบังคับของอังกฤษนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๑ ปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา

เส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่งทะเล จากกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ สู่หัวเมืองชายทะเลในอ่าวไทย
รูปแบบของเส้นทางการเดินเรือเลียบชายฝั่งในอ่าวไทยขึ้นอยู่กับลมมรสุมที่มักจะออกเดินทางกันในฤดูฝน
การเดินเรือเลียบชายฝั่งโดยเฉพาะสำเภาจีนมีมานานนับพันปีจนกลายเป็นเรือสินค้าของราชสำนัก ขุนนางพ่อค้าในท้องถิ่นย่านทะเลนี้ที่รับมาทำการค้าไปโดยปริยาย แม้จะมีเรือจากชาวบูกิสผู้ชำนาญการเดินปราหูหรือเรือแบบมลายูที่มีอิทธิพลต่อการค้าท้องถิ่นมาก่อนที่เรือสำเภาจีนจะเข้ามาคุมทั้งเส้นทางการค้าและการเข้าถึงแทนทรัพยากรในระดับราชสำนัก ทั้งเส้นทางและตำแหน่งของลูกเรือมีตำราบันทึกส่งต่อกันจนรู้จักเกาะแก่งและแนวหินทุกแห่งตลอดจนลมฟ้าอากาศในแต่ละเดือนอย่างละเอียด สามารถหลบหลีกแนวหินโสโครกทางเข้าท่าเรือได้ถูกต้องแม่นยำ

จากข้อมูลการเดินทางที่บันทึกไว้โดยผู้ประพันธ์วรรณคดีแบบ “นิราศ” ต่างๆ และบันทึกจากนักเดินทางชาวตะวันตกสามารถประมวลออกเป็นเส้นทางการเดินทางโดยใช้เส้นทางน้ำจากกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้
การเดินเรือเลียบชายฝั่งในบริเวณอ่าวไทยตอนใน
การเดินเรือค่อนข้างจะใช้เส้นทางที่มีแบบแผนลงตัวในกองเรือทุกสัญชาติ เรือสินค้าหรือเรือโดยสารเมื่อออกจากปากน้ำเจ้าพระยาในหน้ามรสุมเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม จะบังคับเรือหันออกไปทางชายฝั่งทะเลตะวันออกลมจะพาไปหมายคือ “เกาะสีชัง” (บางครั้งก็จะเลียบตั้งแต่เขาสามมุก) และพักหาเสบียงตามแถบหมู่เกาะนี้คือ เกาะส้ม เกาะล้าน เกาะคราม เกาะไผ่ และมักจะแล่นเรือจากเกาะไผ่ยามค่ำรุ่งเช้าก็จะถึงจุดหมายที่เป็นแนวเขารูปตะปุ่มตะป่ำ แห่งที่ “เขาเจ้าลาย” ปัจจุบันเรียกว่าเทือกเขานางพันธุรัตน์ที่เมืองชะอำในแผนที่ชาวตะวันตกเขียนว่า Chulai Point
หรือบางครั้งก็จะหมายไปถึงแนวเขาสามร้อยยอด ส่วนใหญ่ในแผนที่เขียนชื่อต่างๆ กันไป แต่บริเวณจุดหมายนั้นคือบริเวณแหลมศาลาที่มีเขาใหญ่และถ้ำพระยานครจะถูกเรียกว่า Kui Point ส่วนเมืองกุยในลำน้ำกุยที่อยู่ไม่ไกลก็เป็นเส้นทางผ่านเมื่อเดินทางข้ามคาบสมุทรมาทางฝั่งตะนาวศรีทางทะเลอันดามัน ทั้งสองแห่งมีเทือกเขาโดดเด่นเป็นจุดสังเกตได้ง่าย เรียกว่าภูมิประเทศแบบคาสต์ [Karst Topography] ที่เป็นจุดหมายตามชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยหลายๆ แห่ง คือ เขาเจ้าลาย สามร้อยยอด เกาะหลัก (อ่าวประจวบ) แหลมช่องพระ (ปะทิว ชุมพร) ซึ่งชาวเรือให้ความหมายเพื่อจดจำจุดสังเกตหรือ Landmark แต่ละแห่งด้วยการเล่านิทานเรื่องตาบ้องล่าย ยายรำพึง นางยมโดย เจ้าลาย และเจ้ากรุงจีน จากนั้นจึงเดินเรือเลียบชายฝั่งลงใต้ต่อไป

หรือหากต้องการไปทางชายฝั่งสู่เวียดนามจีนตอนใต้และญี่ปุ่นในช่วงมรสุมจะใช้ลมไปทางเกาะสีชัง แล้วตัดข้ามอ่าวจากนั้นแล่นใบมาที่แถบสามร้อยยอดหรือกุยพอยต์ เติมน้ำจืดจากคลองและบึงน้ำใหญ่ที่อยู่ด้านในเขาเพื่อเตรียมตัวชักใบเรือข้ามอ่าวมุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้มีที่หมายตรงเกาะลักษณะแคบยาวชื่อ Pulau Panjung และเกาะ Pulau Ubi และ Pulau Condor ที่อยู่บริเวณปลายแหลมญวนแล้วเดินทางเลียบชายฝั่งไปยังท่าเรือใหญ่ที่กวางตุ้ง ฯลฯ ต่อไป
ซึ่งคำว่าปูเลาหรือปูโล [Pulau, Pulo] ที่ปรากฏในแผนที่ชาวตะวันตกตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นคำในตระกูลภาษามาลาโย-โพลีเนเซีย แปลว่า “เกาะ” เป็นร่องรอยของชาวบูกิสผู้เป็นนักเดินทางทางทะเลในน่านน้ำนี้ก่อนกลุ่มอื่นใด ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นคำสัญลักษณ์ว่า Is หรือคำ Island จากนั้นก็เลียบชายฝั่งลงคาบสมุทรก็จะแล่นเรือห่างฝั่งพอประมาณด้วยลมมรสุม
บันทึกการเดินทางของ Herbert Warrington Smyth ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษด้านธรณีวิทยาและต่อมาเป็นเจ้ากรมเหมืองแร่คนแรกของสยาม สังเคราะห์ข้อมูล “เส้นทางการค้าสายเก่า” เมื่อเดินทางสำรวจแร่และข้อมูลทางธรณีวิทยาตามแนวพื้นที่คาบสมุทรทั้งทางฝั่งอันดามันและอ่าวสยาม ในช่วงฤดูฝน พ.ศ. ๒๔๓๙ เขากล่าวถึงช่วงฤดูมรสุมนี้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ทราบกันดีว่ากลางคืนจะมีลมพัดออกจากแผ่นดินทางทิศตะวันตกและทางใต้ของลมตะวัตตกเฉียงใต้จะพัดกลับช่วงเก้าโมงเช้า และเที่ยงจะพัดไปยังทิศใต้ ลมกลางคืนจะช่วยทำให้เรือออกจากฝั่งไปไกลๆ ได้ ชาวเรือจะหมุนเรือไปทางด้านซ้ายของใบเรือแล้วแล่นเลียบชายฝั่งออกไป วิธีนี้จะทำให้เรือแล่นเลียบชายฝั่งลงไปทางคาบสมุทรทางใต้ได้ดีในขณะที่ลมฝนมาจากยอดเขาจากแนวเขาสูงแล้วพัดลงสู่ทะเล ถ้ามีพายุพัดจัดเป็นเวลายาวนานการเดินทางก็จะเร็วขึ้น
เขายังบันทึกไปพร้อมกับการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจ และสังเคราะห์ข้อมูลจากนักเดินทางในอดีตว่าระหว่างแม่น้ำเพชรบุรีและสามร้อยยอดไม่มีบริเวณใดที่เป็นอ่าวจริงๆ นอกจากที่ “ปราน” อ่าวที่เมืองปรานหากเข้าไปทางปากน้ำเรือที่จะเข้ามาได้ต้องกินน้ำไม่เกิน ๖ ฟุต มีเขากะโหลกเป็นที่กำบังลมสำหรับเรือขนาดเล็ก ปรานมีคนอยู่ไม่มากและมีสินค้าที่ชาวบ้านค้าขายคือ หวาย ชันยาเรือ ไม้ฝาง ไม้ค้างที่ใช้ค้ำพริกไทย กะปิ ปลาทูตากแห้ง
จากปรานคือเทือกเขาสามร้อยยอดมีที่ทอดสมอเรือ เป็นจุดสังเกตสำหรับการเดินเรือออกทะเลของนักเดินเรือซึ่งมองเห็นสามร้อยยอดได้ทุกทิศทางในระยะห้าสิบไมล์ เหมือนหอคอยหรือมหาวิหารมหึมาตะหง่านน่าเกรงขาม
จากปรานจึงถึงเกาะหลักซึ่งเป็นอ่าวจอดเรือดีที่สุด เพราะปลอดภัยจากลมทุกทิศยกเว้นลมจากตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณนี้คือแนวอ่าวเมืองประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน

จากนั้นจึงถึงบางสะพาน ปะทิวและชุมพรตามลำดับ จากชุมพรจะตัดข้ามไปทางฝั่งอันดามันถึงปากจั่น เมืองกระบุรีก็เดินทางไปตามลำน้ำที่ชุมพรนี้ หรือจะเดินทางต่อไปก็ลงไปตามเส้นทางรายทางจนถึงปลายแหลมมลายู
ส่วนในทางกลับกัน จากบันทึกต่างๆ พอประมวลได้ว่า หากเดินเรือเลียบชายฝั่งมาจากทางคาบสมุทรมลายูจะแวะเติมน้ำจืดหรือหลบลมที่สามร้อยยอด กุยพอยต์ เลียบชายฝั่งผ่านเขาเจ้าลายจนถึงแหลมหลวงหรือแหลมผักเบี้ย จากบริเวณนี้จะแล่นห่างฝั่งโคลนตัดตรงไปปากน้ำเจ้าพระยาหรือหากไม่เข้ากรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพฯ เกาะสีชังคือเป็นจุดหมาย เรือสำเภาจีนลำใหญ่ขนาด ๔-๕ เสากระโดงจะขึงใบตึงแล่นตัดข้ามอ่าว หลังจากเติมน้ำจืดที่แถวสามร้อยยอด กุยบุรี ต่อจากนั้นจึงค่อยๆ เลียบฝั่ง มีที่หมายที่หมู่เกาะชายฝั่งกัมพูชาที่กล่าวถึงข้างต้น แล้วแล่นต่อไปยังชายฝั่งเวียดนามและจีนต่อไป

บริเวณปากน้ำท่าจีนและแม่กลองพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นอ่าวโคลนเพราะพื้นน้ำเต็มไปด้วยโคลนตมจากการสะสมของตะกอนแม่น้ำจำนวนมากที่ไหลผ่านภูเขาและพื้นที่สูงของภูมิภาคตะวันตก หากไม่ใช่เรือท้องถิ่นหรือมีมุ่งหมายจะเดินทางสู่ปากน้ำแม่กลองหรือปากน้ำท่าจีนโดยตรง แต่จะมีเส้นทางน้ำซึ่งเป็นลำคลองสายเล็กๆ ภายในที่เป็นทั้งคลองขุดและคลองธรรมชาติใช้เป็นเส้นทางเดินทางของคนท้องถิ่นเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ หรือกรุงศรีอยุธยา
อนึ่ง เกาะสีชัง เขาเจ้าลาย และเทือกเขาสามร้อยยอด เป็นที่หมายสำคัญของการเดินเรือเลียบชายฝั่งไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด ปรากฏอยู่ในแผนที่โบราณทั้งของไทยและของชาวต่างชาติ และเมื่อพิจารณาภาพแผนที่โบราณของสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรี บริเวณอ่าวไทยจะเห็นตำแหน่งของเกาะสีชังและสามร้อยยอดตั้งอยู่เยื้องกันเป็นจุดสังเกต [Landmark] ที่เห็นชัดเจนบนแผนที่การเดินทางแบบไทย ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากแผนที่ของชาวตะวันตก

จากกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพฯ เดินทางสู่ปากน้ำเจ้าพระยาและเพชรบุรี
เมื่อยังไม่มีการขุดคลองลัดเกร็ดใหญ่เกร็ดน้อยและคลองลัดหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยอยุธยาตอนต้นการเดินทางลงสู่เมืองนครศรีธรรมราชในกำศรวลสมุทร เรือขทิงทองเดินทางผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม แล้วเลี้ยวเข้า “คลองด่าน” ผ่าน “คลองดาวคนอง” สู่แม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ผ่าน “บางผึ้ง” ก่อนถึงราษฎร์บูรณะ แล้วออกสู่ทะเลที่ “ปากพระวาล” ซึ่งก็น่าจะเป็นปากน้ำเจ้าพระยา แล้วมุ่งหน้าไปทางชายฝั่งทะเลตะวันออก
โคลงนิราศชุมพรของพระพิพิธสาลีเขียนเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน และโคลงนิราศพระยาตรัง แต่งเมื่อคราวไปทัพรบพม่าที่ถลางเมื่อต้นกรุงเทพฯ ก็บรรยายถึงการเดินทางมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านสถานที่ต่างๆ รวมทั้งบางผึ้งที่มีชื่ออยู่ในโคลงกำศรวล ออกปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังเกาะสีชัง
อย่างไรก็ตาม การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองชายฝั่งทะเลปากใต้ หากไม่ออกทางปากน้ำเจ้าพระยาก็มีเส้นทางภายใน เช่นในโคลงนิราศนรินทร์ สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นโดยนายนรินทร์ธิเบศร์ชื่ออิน ตำแหน่งข้าราชการวังหน้า เมื่อคราวไปทัพรบพม่าที่ชุมพรและถลางเช่นกัน เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่เมืองกำเนิดนพคุณหรือบางสะพานและเมืองตะนาวศรี
โดยใช้เส้นทางเข้าคลองบางกอกใหญ่ คลองด่าน ผ่านบางขุนเทียน บางบอน โคกขาม มหาชัย ท่าจีน นาขวาง สามสิบสองคุ้ง ย่านซื่อ ปากน้ำแม่กลอง ตัดทะเลเข้าบ้านแหลม ใช้แม่น้ำเพชรสู่เมืองเพชรบุรี จากที่นี่เปลี่ยนเป็นเดินทางบกผ่านปราน สามร้อยยอด อ่าวบางนางรม บางสะพาน ข้ามช่องเขา (ซึ่งไม่ใช่ช่องทางด่านสิงขร) แล้วใช้เรือเข้าแม่น้ำตะนาวศรีน้อยไปที่เมืองตะนาวศรี
การเดินทางภายในจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบุรี เห็นได้จากนิราศคำกลอนต่างๆ เช่น นิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ สุนทรภู่บรรยายการเดินทางอย่างละเอียดจากเมืองหลวงลัดเลาะเข้าลำคลองสายต่างๆ ไปสู่เมืองเพชรบุรี และนิราศเกาะจาน บรรยายถึงการเดินทางตามเสด็จเจ้านายเป็นขบวนใหญ่ไปที่เกาะจานเพื่อเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ การเดินทางต้องใช้เส้นทางเดียวกันกับสุนทรภู่ไปเมืองเพชร แต่ออกจากปากน้ำแม่กลองก็ลัดเลาะชายฝั่งไปจนถึงเกาะจาน
การเดินทางผ่านชุมชนในป่าชายเลนที่สำคัญชุมชนหนึ่ง และปรากฎอยู่ในแผนที่เก่าของชาวตะวันตกหลายชุดคือ บ้านยี่สาร ซึ่งเมื่อผ่านบ้านแหลมและบางตะบูนบางครกแล้วก็จะวกเข้าคลองยี่สารเก่าต่อไปคลองบางลี่ ไปปากคลองแม่กลองแล้วตัดเข้าคลองสุนัขหอนได้ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่ามีการเริ่มตั้งชุมชนอยู่อาศัยที่บ้านยี่สารจากหลักฐานเศษเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หยวนในช่วง พ.ศ.๑๘๑๙–พ.ศ.๑๙๑๐ และโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องถ้วยจำนวนมากรวมทั้งวัตถุที่เนื่องในการเป็นชุมชนเพื่อการค้าขนาดใหญ่ในระดับเมืองเล็กๆ ทีเดียว
ดังนั้นเส้นทางเดินทางภายในจากเพชรบุรีสู่บางกอก โดยผ่าน “บ้านยี่สาร” จึงเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่ต่อเนื่องไปยังพระนครทั้งสองแห่งตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเส้นทางข้ามคาบสมุทรตอนบนสุดเริ่มสำคัญมาตั้งแต่ยุคนั้นเช่นกัน
บันทึกการเดินทางของนายแพทย์อิงเกิลเบิตร์ แกมเฟอร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๓ ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา เดินทางจากเมืองปัตตาเวียไปสยามที่กรุงศรีอยุธยา ตอนหนึ่งกล่าวถึงการเดินทางโดยพ่อค้าคนไทยเป็นผู้บอกระยะทางจากเมืองนครศรีธรรมราชต้องผ่านสามร้อยยอด เมืองปราน ชะอำ เหนือขึ้นไปคือเมืองเพชรบุรี ผ่านยี่สาร

แม่กลอง ท่าจีน จากนั้นจึงถึงปากน้ำเจ้าพระยา ส่วนขากลับก็ออกเดินทางในช่วงฤดูฝน จากปากน้ำเจ้าพระยาไปที่เกาะสีชังทางตะวันออก แล่นเรือตัดข้ามอ่าวไปแถวๆ สามร้อยยอดทางฝั่งตะวันตก เรือสำเภาหรือกำปั่นใหญ่ๆ มักใช้วิธีนี้คือข้ามอ่าวไปมาโดยไม่ต้องเลียบชายฝั่งไปทางแสมสารหรือในแผนที่ของชาวตะวันตกมักเรียกว่า แหลมหรือ Cape de Liant ซึ่งเป็นการทับศัพท์คำว่า “แหลม” และแหลมแสมสารมีคลื่นลมแรง จุดหมายคือเกาะต่างๆ ที่ปลายแหลมญวนต่อจากนั้นจึงเลียบชายฝั่งญวนไปจนถึงกวางตุ้งในเมืองจีน
ในบันทึกการเดินทางของคณะทูตจากอังกฤษ จอห์น ครอเฝิร์ด เข้ามาสยามเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๖๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ แม้เวลาผ่านไปถึงกว่า ๑๓๐ ปี การเดินทางทั้งขาเข้าและขาออกก็ยังใช้เส้นทางเดียวกับหมอแกมเฟอร์
เมื่อถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งมีการลงทุนขุดคลองลัดเลียบคลองเดิมคือคลองภาษีเจริญและคลองดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นคลองขุดตรงกว่าคลองด่านและคลองสุนัขหอนที่มีแต่เดิม แต่กาลเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงทำให้เมืองมะริดและตะนาวศรีกลายเป็นสิทธิขาดของอังกฤษโดยสมบูรณ์ รวมทั้งทางรถไฟกรุงเทพฯ-เพชรบุรีก็ได้ทำหน้าที่นี้แทนแม่น้ำลำคลองต่างๆ เส้นทางเดินทางและเส้นทางการค้าเก่าเหล่านี้จึงเหลือแต่ร่องรอยบางๆและความทรงจำแต่เพียงเล็กน้อย
เส้นทางข้ามคาบสมุทรตอนบนสุด
การเดินทางข้ามคาบสมุทรเป็นหนทางเพื่อย่นเวลาและระยะทางระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย โดยไม่ต้องรอลมมรสุมอ้อมลงไปเข้าช่องแคบมลายู เส้นทางข้ามคาบสมุทรสยามมีหลายเส้นทาง แต่ตอนบนสุดคือเส้นทางระหว่างเมืองท่ามะริดที่ฝั่งอันดามันและเมืองชายฝั่งไปจนถึงหัวเมืองใหญ่ที่เพชรบุรีทางอ่าวไทย
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ต่อเนื่องกับรัชกาลของสมเด็จพระเพทราชา บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการเมืองตะนาวศรีและมะริดเป็นแขกมัวร์ (แขกเปอร์เซีย) หัวเมืองที่แถบนี้ที่เป็นทางผ่านมาอยุธยาก็เป็นแขกเปอร์เซีย เช่น เพชรบุรี ปรานบุรี กุยบุรี นายเรือของกษัตริย์ที่ใช้ใบจากตะนาวศรีไปยังมะเกาและเบงกอลก็เป็นแขกเปอร์เซีย ขุนนางนายห้างดูแลธุระค้าขายก็เป็นแขกเปอร์เซีย จากเมืองเบงกอลและมาสุลีปาตัมมายังตะนาวศรีแล้วขึ้นบกเดินทางบกมายังอยุธยาตกในมือขุนนางเปอร์เซียทั้งสิ้น แสดงถึงการให้ความสำคัญกับหัวเมืองดังกล่าวในฐานะเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยขุนนางผู้ชำนาญการ เช่น สินค้าจำพวกเนื้อไม้หอม ซึ่งส่งไปขายถึงเมืองเมดีนา เมืองเมกกะ เมืองโมกาในทะเลแดงเพื่อจุดบูชาก็ดำเนินการค้าโดยขุนนางเชื้อสายเปอร์เซีย ส่วนไม้ฝางซึ่งนำไปใช้ทำสีย้อมผ้า มีชุกชุมและเป็นสินค้าที่ส่งออกไปขายแก่จีนและญี่ปุ่นจำนวนมากทุกปี ไม้เนื้อหอมและไม้ฝางมีมากในเขตป่าเขาของเทือกเขาตะนาวศรี
ในยุคที่การพาณิชย์นาวีเฟื่องฟู อันเป็นนิยามจากนักวิชาการผู้ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคโบราณ แอนโทนี รีด กล่าวว่า ..ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๗ อันเป็นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการและลัทธิทุนนิยมตอนต้นกำลังเปลี่ยนแปลงยุโรป บ้านเมืองในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ถูกรวมเข้ากับระบบการค้าโลก การปกครองของบ้านเมืองแถบนี้เน้นที่การค้าและมีบทบาทเหนือกว่าระบบการเมืองการปกครองประเทศ..[Anthony Reid. Southeast Asia in the Age of Commerce, 1450-1680, Vol 1, 2] นอกจากจะมีพ่อค้าชาวอินเดีย เปอร์เซียแล้วยังมีการเดินทางเข้ามาของพ่อค้าและผู้เผยแพร่ศาสนาชาวตะวันตกอีกจำนวนมาก จนทำให้เส้นทางนี้เพิ่มความสำคัญมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่แอนโทนี รีด กล่าวว่าเป็น The Age of Commerce จนเกิดเมืองที่มีความสำคัญตามรายทางระหว่างมะริดและเพชรบุรี เช่น เมืองกุย เมืองปราน เป็นต้น

แวริงตัน สมิท บันทึกในช่วงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งการเดินทางตามเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางการค้าเก่าไปแล้วว่า การเดินทางบกผ่านเทือกเขาตะนาวศรีจากเมืองท่ามะริดได้รับความนิยมอย่างสูงสำหรับการขนส่งสินค้าและนักเดินทาง แม้จะมีสัตว์ร้าย แต่ใช้เวลาน้อยกว่าและปลอดภัยจากพวกโจรสลัดตามช่องแคบมะละกา โดยสังเคราะห์จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์และสันนิษฐานเส้นทางออกมาเป็น ๔ สายสำคัญคือ
๑. แผนที่ของชาวตะวันตกทั้งในสมัยอยุธยาและกรุงเทพฯ บันทึกไว้เช่นเดียวกับคณะราชทูตชาวเปอร์เซีย คณะราชทูตจากฝรั่งเศสและคณะราชทูตของครอเฝิร์ดจากอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยคณะราชทูตจากเปอร์เซียบันทึกว่า เส้นจากมะริดที่อยู่ชายฝั่งทะเลเดินทางไปทางตะวันออกหรือแล้วข้ามแม่น้ำตะนาวศรีไปยังเมืองที่ชื่อ Jelinga หรือ Jalinguer ที่อยู่บนคลองสะรอหรือซาระวะ [Tsa-raw, Sarawa] ซึ่งปรากฎในแผนที่สมัยอยุธยาอีกหลายชุด ส่วนคณะของคณะราชทูตจากเปอร์เซีย จากเอกสาร “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” อิบนี มูฮัมหมัด อิบรอฮิม ล่ามใน คณะราชทูตเดินทางมาเยือนเป็นการตอบแทนคณะทูตของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ในช่วง พ.ศ. ๒๒๒๘ เดินทางเมืองมัทราส (เจนไน) เดินทางผ่านหมู่เกาะอันดามันไปขึ้นท่าที่เมืองมะริด กล่าวว่ามีพ่อค้าชาวเปอร์เซียที่ไปตั้งถิ่นฐานและร่ำรวยในเมืองมะริด เมื่อพักที่มะริดได้สองสามวันก็เดินทางข้ามลำน้ำตะนาวศรี เมืองตะนาวศรีเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์มีคนราวห้าหกพันครัวเรือน มีชาวสยาม มุสลิมอินเดีย ฮินดูและฝรั่ง เป็นเมืองตั้งในหุบเขา จากนั้นลงเรือในแม่น้ำตะนาวศรีมาถึง เมืองจะลัง [Jalang – ซึ่งน่าจะเป็นชื่อเดียวกับ Jalinga ในแผนที่ของชาวตะวันตก] พระเจ้ากรุงสยามให้ช้างพลายมาหลายเชือกเพื่อเดินทางข้ามเทือกเขาตะนาวศรี จาก Jalang ใช้เวลา ๑๘ วันจึงถึงเมืองเพชรบุรีซึ่งมีข้าหลวงมุสลิมออกมาคอยต้อนรับ
คณะราชทูต จอห์น ครอเฝิร์ด บันทึกว่าจาก Jalinga จะข้ามเส้นทางน้ำและลงไปตามหุบเขาที่มีกระแสน้ำแรงไปสู่เมืองสำคัญซึ่งสังฆราชปัลเลอกัวซ์เรียกว่า “พริบพลี” หรือเพชรบุรี
๒. เมื่อเดินทางจากมะริดไปสู่ Jalinga แล้วข้ามเขาตะนาวศรีเพื่อเข้าสู่เมือง “ปราน” ซึ่งนักเดินทางจะลงเรือจากปากน้ำปรานไปยังกรุงศรีอยุธยา ปรานอยู่บนเส้นทางบกระหว่างเมืองกุยและเพชรบุรี
๓. เส้นทางสายที่สามคือจาก Jalinga ไปสิ้นสุดที่ “เมืองกุย” เป็นเมืองที่ติดกับบริเวณเขาสามร้อยยอดด้านที่ติดกับทะเลและมีเกาะหินน้อยใหญ่จำนวนมาก Kui Point ดูเหมือนจะเป็นสถานที่สุดท้ายที่เรือเดินทะเลเข้ามาแวะจอดเช่นที่ทำกันในสมัยโบราณก่อนจะใช้เรือจากจุดนี้เดินทางไปสู่แหลมญวนหรือจะเดินทางเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา
ซึ่งมีช่องเขาที่นักเดินทางสมัยอยุธยาเรียกว่า “เส้นทางสายกุย” โดยใช้เวลา ๑๔ วันเดินทางจาก Jalinga ถึงเมืองกุย และใช้เวลาเดินทางบกจากกุยถึงปรานใช้เวลา ๑๐ วัน จากปรานถึงเพชรใช้เวลา ๕ วัน ส่วนสังฆราชแบริทใช้เวลา ๒ วันถึงปากน้ำเจ้าพระยา จากปากน้ำเจ้าพระยาใช้เวลา ๕-๖ วันถึงอยุธยา [Relation du Voyage de Monseigneur de Berythe&C, 1683]
๔. จากเมืองมะริดถึง Jalinga จากนั้นตัดข้ามเขาเข้าไปยัง “ชะอำ” บริเวณชะอำนี่เองที่ปรากฎในแผนที่ของชาวตะวันตก โดยระบุเป็นตำแหน่งสำคัญอย่างเห็นได้ชัดคือตำแหน่งของเขาเจ้าลายหรือ Cholai Point บริเวณนี้น่าจะเป็น Landmark สำคัญของการเดินเรือเลียบชายฝั่งข้ามอ่าวที่สำคัญของบ้านเมืองในยุคทวารวดีหรือก่อนหน้ามาแล้ว เพราะพบโบราณสถานขนาดใหญ่สมัยทวารวดีที่บริเวณเชิงเขาเจ้าลายอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ และน่าจะร่วมสมัยกับเมืองคูบัวที่ราชบุรี ซึ่งอยู่ในเส้นทางการติดต่อโบราณที่ใช้สันทรายเก่าที่เรียกกันในอดีตว่า “ถนนท้าวอู่ทอง” ซึ่งผ่านชุมชนทวารวดีหลายแห่งทั้งที่บ้านลาด เมืองเพชรบุรี เขาย้อย
จาก Jalinga ข้ามสันปันน้ำของเทือกเขาตะนาวศรีแล้ว น่าจะข้ามไปในบริเวณที่เรียกกันในปัจจุบันว่าแถบต้นน้ำเพชร สู่พื้นที่สูงเชิงเขาที่เรียกกันในปัจจุบันว่าป่าละอู แล้วจะเดินทางตามลำน้ำเพชรบุรีสายบนเข้าสู่เมืองเพชรบุรีหรือตามเส้นทางลำน้ำเพชรสายล่างสู่เมืองชะอำแถบเขาเจ้าลายได้ หรือหากต้องการต่อเรือเดินทะเลข้ามอ่าวไปทางฝั่งปลายแหลมญวนหรือเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาโดยตรงโดยทางปากน้ำเจ้าพระยา ก็จะเลือกลงทางบ้านไร่เก่า เขาเจ้า สู่บ้านศาลาลัยเข้าสู่ลำน้ำปราน หรือต้นน้ำกุยสู่เมืองกุยและสามร้อยยอด ซึ่งมักมีเรือเข้าจอดแวะพักได้ทั้งสองแห่ง โดยที่สามร้อยยอดมีที่กำบังลมและเรือกินน้ำลึกจอดเพื่อหาเสบียงและเติมน้ำจืดกันเป็นประจำและดีกว่าปากน้ำปรานที่มีเพียงเรือเล็กกินน้ำตื้นกว่าเข้าจอดกำบังลมได้
นอกจากนี้ น่าจะมีเส้นทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่เส้นทางหลักข้างต้นใช้เดินทางข้ามเทือกเขาตะนาวศรีตามช่องต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ปรากฎในบันทึกการเดินทางของคณะราชทูตหรือคณะนักเดินทาง เช่น เมื่อไปสำรวจบริเวณใกล้กับต้นน้ำเพชรที่บ้านป่าหมาก ใกล้ต้นน้ำตะลุยแพรกซ้าย ซึ่งเป็นหมู่บ้านกะหร่างดั้งเดิมในแนวเทือกเขาตะนาวศรี ปัจจุบันอยู่ในอำเภอสามร้อยยอด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็มีการเดินทางข้ามไปมาหาสู่กับเครือญาติที่อยู่ทางฝั่งเมียนมาร์และกล่าวว่าเมื่อข้ามไปแล้วก็จะเดินทางไปที่ลำน้ำตะนาวศรีแล้วใช้เรือล่องลงไปยังเมืองตะนาวศรีได้
เมื่อแวริงตัน สมิทอยู่ที่นอกเกาะหลัก มองเห็นทางลาดต่ำในช่องเขาและยังคงเป็นเส้นทางที่ใช้อยู่มาก เป็นเส้นทางไปสู่ “เมืองตะนาวศรี” ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำตะนาวศรี (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นช่องสิงขร ด่านสิงขรในปัจจุบัน) ตรงนี้ต่อไปยังบางนางรมที่กล่าว่าหาเรือเพื่อเดินทางต่อไปได้ง่าย หรือไม่ก็เดินทางจากบางนางรมไปยังเมืองกุยก็สะดวก ยังมีบันทึกอีกว่ายังมีเส้นทางเก่าจากเมืองตะนาวศรีไปทางตอนใต้อีก ๒ สายบนแนวเทือกเขาตะนาวศรี เส้นหนึ่งข้ามไปยังบ้านกรูด อีกเส้นหนึ่งจะตัดลงไปสู่บางสะพาน นอกจากนี้ยังเดินทางไปยังชุมพรได้ และจากชุมพรถึงกระบุรี็เป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรได้จากเมืองตะนาวศรีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อน่าสังเกตคือทั้ง ๔ เส้นทางสำคัญที่นักเดินทาง คณะราชทูตหรือพ่อค้าใช้เดินทางแบบผสมผสานคือการใช้การเดินทางทางทะเล ใช้ลำน้ำลำคลองภายในแผ่นดิน ใช้การเดินทางทางบกโดยใช้วัวควายเทียมเกวียน ม้าและช้างเพื่อมุ่งสู่บ้านเมืองทางตอนเหนือขึ้นไปคือเมืองเพชรบุรี กรุงศรีอยุธยา หรือกรุงเทพมหานคร การบรรยายถึงเส้นทางที่ตัดลงทางใต้สู่ “เมืองตะนาวศรี” จึงไม่ปรากฏ นอกเสียจากจะเดินทางบกข้ามไปยังปะทิวหรือชุมพรหรือนครศรีธรรมราชและบ้านเมืองทางฝั่งกระบุรีลงไปจนถึงภูเก็ต
ดังนั้น “เมืองตะนาวศรี” จึงเป็นหัวเมืองภายในที่รัฐสยามจากกรุงศรีอยุธยาตั้งขึ้นเพื่อมีหน้าที่ควบคุมเมืองท่าภายนอกคือเมืองมะริดและเป็นเมืองด่านแรกที่จะรับศึกหากทางพม่าจะมีการทัพเข้ามายังราชอาณาจักรทางคาบสมุทรและใช้ทัพเรือยกเข้าประชิดเมืองเพื่อเดินทัพมายังกรุงศรีอยุธยามากกว่าจะเป็นเมืองการค้าหรือศูนย์กลางการคมนาคม ดังที่ปรากฎบทบาทของเมืองมะริด และ Jalinga ซึ่งยังเดินทางเข้าไปสำรวจไม่ถึงในเขตประเทศเมียนมาร์ปัจจุบัน
บรรณานุกรม
ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. ฉบับย่อ สำเภากษัตริย์สุไลมาน. The Ship of Sulaiman. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ (เอกสารทางวิชาการหมายเลข ๒/๐๑๘) มีนาคม ๒๕๒๗. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ความสำคัญของตำนานคุณปู่ศรีราชา : ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อชุมชนยี่สาร ใน เจ้าแม่ คุณปู่ ช่างซอ ช่างฟ้อน และเรื่องอื่นๆ ว่าด้วยพิธีกรรมและนาฎกรรม. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๖ เสาวลักษณ์ กีชานนท์ (แปลและเรียบเรียง), H. Warrington Smyth, ห้าปีในสยาม (เล่ม ๒) จาก พ.ศ. ๒๔๓๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๙. กรมศิลปากร, ๒๕๕๙.