เคยพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒ เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๘
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
แนวคิดเบื้องต้น รัฐโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข้อถกเถียงพื้นฐานในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เบื้องต้นที่นักศึกษาหรือผู้สนใจทุกคนควรรู้ว่ามีแนวคิดอยู่ ๒ กลุ่มในการ เห็น ภาพความสัมพันธ์ทางการเมืองของรัฐยุคโบราณในภูมิภาคนี้ นั่นคือ
๑. ราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อเจ้าหน้าที่อาณานิคมซึ่งเป็นทั้งนักสำรวจและนักภูมิศาสตร์ นำสิ่งที่เป็นแนวคิดทางภูมิศาสตร์แบบยุโรปซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ดัชต์หรือฮอลแลนด์ เข้ามาศึกษาพื้นที่และโลกทัศน์ของคนท้องถิ่น กล่าวโดยสรุปคือ
อำนาจทางการเมืองมีต้นทางจากจุดศูนย์กลาง ณ ที่ใดที่หนึ่ง และบ้านเมืองที่เหลือก็คือเมืองขึ้นซึ่งต้องอยู่ภายใต้การปกครองและรับอิทธิพลทั้งศาสนา ความเชื่อ การเมืองการปกครองแบบผู้รับหรือผู้ด้อยกว่าโดยระบบขุนนางตามลำดับ โดยไม่ให้ความสำคัญของพลวัตภายใน ซึ่งคล้ายคลึงกับระบบฟิวดัล [Feudal System] ในยุโรปที่มีรากเหง้ามาจากการปกครองเมืองขึ้นในจักรวรรดิ์ออตโตมัน-กรีกที่เรียกว่า Suzerainty
แบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองแบบมณฑลหรือ ‘มันดาลา’ [Mandala]
แนวคิดเหล่านี้ปรากฏชัดในงานของศาสตราจารย์เซเดส์ [George Coedès] ในเรื่อง ‘The Indianized State of South East Asia’ [พิมพ์ครั้งแรกที่ฮานอยในปี ค.ศ. ๑๙๔๔ ชื่อภาษาฝรั่งเศส Histoire ancienne des états hindouisés d’Extrême-Orient. ที่เสนอว่ารัฐโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากแนวคิดและโลกทัศน์ของศาสนาฮินดูและพุทธ ทั้งเรื่องของผู้ปกครองหรือระบบกษัตริย์ การใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทางการและในพิธีกรรม รวมทั้งศิลปะแบบอินเดีย เป็นต้น] ซึ่งแนวคิดเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเรียนการสอนประวัติศาสตร์โบราณคดีในประเทศไทยตลอดมา
๒. ต่อมามีการถกเถียงแนวคิดเรื่องการปกครองในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากแนวคิดเดิม ซึ่งใช้การมองความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองแบบมณฑลหรือ ‘มันดาลา’ [Mandala] หมายถึงการขยายอำนาจขอบเขตทางการเมืองเป็นแบบรัศมี นักวิชาการบางท่านเรียกว่า ‘รัฐแสงเทียน’ [Galactic Polity] ที่เสมือนอำนาจทางการเมืองจะอ่อนแสงลงไปเมื่ออยู่ไกลจากศูนย์กลางอำนาจที่เข้มแข็ง รัฐเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลหรือรัฐชายขอบมักสวามิภักดิ์ด้วยการส่งบุหงามาศหรือเครื่องบรรณาการต่างๆ แก่รัฐใหญ่และมักส่งให้กับหลายศูนย์กลางอำนาจเพื่อความสงบสุขแห่งบ้านเมืองตน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘บ้านเมืองสองหรือสามฝ่ายฟ้า’
โดยใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติด้วยการแต่งงานระหว่างผู้ปกครองด้วยกัน [Relationship Recognition] ความสัมพันธ์ทางการเมืองจึงถูกจัดเป็นความสัมพันธ์แบบส่วนบุคคลไปด้วย (แม้ในจารึกปราสาทพระขรรค์ก็กล่าวถึงการส่งพระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ไปเสกสมรสกับผู้ปกครองบ้านเมืองต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน) มีการศึกษาจำนวนมากที่แสดงถึงความสัมพันธ์ในการเมืองระหว่างรัฐโบราณทั่วทุกภูมิภาคทั้งเขตผืนแผ่นดินใหญ่ คาบสมุทร และหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งงานศึกษาที่มักถูกกล่าวอ้างอิงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ผู้บุกเบิกในแนวคิดดังกล่าวคือ ศาสตราจารย์โอ. ดับเบิ้ลยู. วอลเตอส์ [Prof. O.W Wolters] ในเรื่อง ‘History, culture, and region in Southeast Asian Perspectives’ ซึ่งพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๒ และมีการเขียนเพิ่มเติมต่อในภายหลัง
บทความนี้จะนำเสนอข้อสังเกตจากงานศึกษาต่างๆ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องอำนาจทางการเมืองแบบรวมศูนย์ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่มีอยู่เหนือบ้านเมืองในอีสานใต้หรือเขตเขมรสูงที่ผ่านงานศึกษาวิจัยเรื่อง ‘ถนนหลวงหรือราชมรรคา’ โดยเสนอว่ามีถนนสร้างจากเมืองพระนครลากเป็นเส้นตรงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านช่องเขาตาเมือนเข้าสู่เขาพนมรุ้งและเมืองพิมายเป็นลำดับ ถนนอันเป็นสาธารณูปโภคหรือเครื่องมือทางการเมืองในการแผ่อำนาจหรืออิทธิพลสู่บ้านเมืองในเขตดินแดนที่ราบสูงโคราชหรือดินแดนในประเทศไทยปัจจุบัน
แผนที่แสดงที่ราบสูงโคราชและที่ราบลุ่มรอบทะเลสาบเขมร
“เขมรสูงและเขมรต่ำ” การแบ่งแยกตามภูมิวัฒนธรรม [Cultural Landscape]
และการเกิดขึ้นของบ้านเมืองในที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมรโดยสังเขป
ลักษณะภูมิศาสตร์ที่เป็นหัวใจของประเทศกัมพูชาในปัจจุบันคือ ที่ราบลุ่มรอบทะเลสาบเขมร [Tonle Sap] และที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ราว ๗๕ % ของประเทศ นอกนั้นเป็นเขตเทือกเขาและที่สูงคือ ทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกคือพื้นที่สูงที่ต่อเนื่องมาจากพื้นที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนามที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินบะซอลต์ภูเขาไฟทางจังหวัดสตรึงเตรง กะแจะ รัตนคีรี และมณฑลคีรี มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่อาศัยในแถบนี้มาก ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้คือเทือกเขาขนาดใหญ่ คือ ‘เทือกเขากระวาน’ ที่ต่อเนื่องกับแถบเขาสอยดาวในจังหวัดจันทบุรีและต่อเนื่องสู่จังหวัดไพลิน โพธิสัตว์ สีหนุวิลล์ เกาะกง จนถึงกำปอต พื้นที่นี้มีผู้คนอยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมไม่มากนักเมื่อเทียบกับบริเวณอื่น ทิศเหนือมีแนว ‘เทือกเขาพนมดงเร็ก’ ซึ่งกำหนดใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนในช่วงที่กัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสระยะทางราว ๓๖๐ กิโลเมตร
ลำน้ำในเขตที่ราบลุ่มส่วนใหญ่ไหลลงทะเลสาบเขมร ซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีน้ำขึ้นลงตามฤดูกาล ปกติจะมีความลึกเฉลี่ยเพียง ๑ เมตร ขนาดพื้นที่ราวๆ ๒,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร เมื่อถึงหน้าน้ำพื้นที่ของทะเลสาบอาจขยายได้หลายเท่าตัว ทำให้เกิดพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง [Floodplain] ขยายเป็นรัศมีราว ๑๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และความลึกเกินกว่า ๙ เมตรทีเดียว [http://en.wikipedia.org/wiki/Tonlé_Sap]
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีเทือกเขาพนมดงเร็กกั้นเป็นพรมแดนตามธรรมชาติแบ่งกั้นพื้นที่ คือ บริเวณแอ่งที่ราบสูงโคราชความสูงโดยเฉลี่ยราว ๑๕๐-๒๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่ราบลุ่มแผ่นดินเขมรต่ำสูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยราว ๑๕-๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้เห็นว่าพรมแดนธรรมชาติแบ่งแยกสภาพแวดล้อมและรูปแบบการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมให้มีความต่างกันชัดเจน
คนเชื้อสายเขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยที่อยู่ติดกับแนวชายแดนและเทือกเขาพนมดงเร็กในจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์เรียกตนเองว่า ‘ขแมร์ลือ’ แปลว่าเขมรสูง และเรียกคนเขมรในกัมพูชาว่า ‘ขแมร์กรอม’ หรือ เขมรต่ำ ซึ่งแยกความแตกต่างตามภูมิศาสตร์ที่ตั้งถิ่นฐานและรวมไปถึงสำเนียงและภาษาพูด
อย่างไรก็ตาม ความลื่นไหลของคำนิยามตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่สัมพันธ์กับสำเนียงภาษา ความรู้สึกชาตินิยม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพลวัตรทางการเมือง ทำให้มีการนิยามความหมายที่ต่างออกไป เช่น การเรียกตนเองของคนกัมพูชาปัจจุบัน ซึ่งเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในเขตภูเขาสูงว่าขแมร์ลือหรือเขมรที่สูง เรียกคนกัมพูชาที่แถบพนมเปญซึ่งเป็นพื้นที่รวมศูนย์และเรียกคนกัมพูชาทั้งหมดว่า ‘ขแมร์กันดาล’ หรือเขมรกลาง และเรียกคนเชื้อสายเขมรในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงประเทศเวียดนามในปัจจุบันว่า ‘ขแมร์กรอม’ หรือเขมรลุ่ม
พัฒนาการของบ้านเมืองบริเวณที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมรและอาณาบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกลุ่มรัฐแรกเริ่มในดินแดนแถบนี้ ตั้งแต่กลุ่มรัฐ ‘ฟูนัน’ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ซึ่งอยู่บริเวณแนวภูเขาหินปูนในเขตที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนามตอนใต้ที่ต่อกับกัมพูชาในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังพบว่ามีบ้านเมืองขนาดใหญ่ขึ้นไปตามลำน้ำโขงตอนกลาง
เชื่อกันว่า ‘เศรษฐปุระ’ บริเวณแขวงจำปาสักในปัจจุบัน เป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองที่มีเครือข่ายกว้างขวางในเขตลุ่มน้ำโขงตอนกลางคือ ‘เจนละ’ บริเวณนี้เป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางคมนาคมทั้งจากบ้านเมืองบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญและยโสธร เพราะพบทั้งจารึกของพระเจ้าจิตรเสน ทับหลัง และทรากศาสนสถานแบบสมโบร์ไพรกุกและไพรกเมง ที่มีอิทธิพลวัฒนธรรมดั้งเดิมจากจามปา เพราะพบ ‘จารึกเทวนิกา’ [Devanika Stele] ซึ่งเซเดส์ เชื่อว่าเป็นกษัตริย์จากจามปาที่จดหมายเหตุจีนกล่าวถึงในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ (ธิดา สาระยา. อาณาจักรเจนละ: ประวัติศาสตร์อีสานโบราณ, ๒๕๔๖) พ้องกับการเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองตามชายฝั่งทะเลหลายแห่งในรัฐจามปาที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอินเดียในการนับถือศาสนาและสร้างศาสนสถานที่บูชาพระศิวะที่กลมกลืนกับการนับถือภูเขาศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกันกับทางวัดพูที่เมืองเศรษฐปุระ
ส่วนกลุ่มบ้านเมืองภายในที่ราบลุ่มด้านเหนือทะเลสาบเขมร เช่นที่สมโบร์ไพรกุกทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบเขมรในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำสตรึงเสน [Stung Sen] หรือที่เกาะแกร์ ตั้งบ้านเมืองที่มีการสร้างปราสาทเป็นศูนย์กลางความเชื่อขึ้นหลายแห่งเมื่อช่วงพุทธศตวรรษ ๑๒-๑๕ ซึ่งอาจจะเรียกรวมๆ ว่าเป็น ‘ยุคก่อนเมืองพระนคร’
จนราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ สมัยพระเจ้ายโสธรวรมันที่ ๑ จึงสร้างปราสาทพนมบางแค็งที่เมืองยโสธรปุระหรือเมืองพระนคร เหนือทะเลสาบเขมรในเขตเมืองเสียมเรียบปัจจุบัน นับจากนั้นจึงเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องในการใช้พื้นที่บริเวณเมืองพระนครสืบทอดความศูนย์กลางของรัฐอย่างมั่นคงมากกว่ายุคอื่นใด และเมื่อถึงรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เมืองพระนครระยะนี้กลายเป็นช่วงเวลาที่ถูกกล่าวถึงทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อ อิทธิพลค่านิยมในพุทธศาสนาแบบมหายานที่แพร่กว้างขจรไกล การสงครามกับจามปา และการสร้างปราสาทขนาดใหญ่น้อยจำนวนมาก โดยปรากฏปราสาทรูปแบบเดียวกันจำนวนไม่น้อยทั้งในเขตที่สูงและที่ราบลุ่ม อันเป็นช่วงที่ถูกเรียกว่า ‘ยุคเมืองพระนคร’
และจากช่วงนี้จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ จึงเป็นยุคหลังเมืองพระนคร และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเริ่มมีรัฐใหม่ๆ เกิดขึ้นโดยเฉพาะในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้การขยายอิทธิพลความเชื่อในคติการนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทเริ่มชัดเจนและเข้มข้นขึ้น การขยายขอบเขตทางการค้าสู่การเป็นเมืองท่าภายในที่แตกต่างไปจากรัฐภายในแผ่นดินแบบเดิมๆ เริ่มเปลี่ยนแปลง
การยกทัพไปยังเมืองพระนครในรัชกาลของเจ้าสามพระยา (พ.ศ. ๑๙๗๔) ทั้ง ๓ ครั้ง อาจถือว่าเป็นยุคแห่งการสิ้นสุดเมืองพระนคร โดยย้ายไปมาทั้งเมืองพระนครและเมืองต่างๆ ทางใต้ของทะเลสาบอีกหลายครั้ง จนกลายเป็นบ้านเมืองที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาท เกิดเมืองใหม่ที่จตุมุข ละแวก และอุดงฦาชัย ในเวลาต่อมา (ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังเมืองพระนคร, ๒๕๕๖)
วัฒนธรรมทางความเชื่อและศาสนาจากเมืองพระนครส่งผลต่อสังคมและวัฒนธรรมของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ๆ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่น้อยในหลายแห่งในช่วงรุ่งเรืองของเมืองพระนครที่ปรากฏในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งพบเห็นหลักฐานได้ชัดเจน
แต่ในทางกลับกันอิทธิพลพุทธศาสนาแบบเถรวาทแพร่เข้าสู่เมืองพระนครจนภายหลังที่พบพระพุทธรูปจำนวนมากในปราสาทนครวัดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ และมีการเรียกชื่อเป็น ‘นครวัด’ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นต้นมา (อ้างแล้ว)
และจนถึงการปรับเปลี่ยนศาสนาสถานแบบฮินดูและมหายานให้กลายเป็นวัดต่างๆ ที่พบมากในแถบศรีษะเกษและตามช่องเขาต่างๆ ที่ผูกติดไว้กับตำนานพระเจ้าเลียบโลก ดังพบรอยพระพุทธบาทอยู่ทั่วไปในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ผู้คนทั้งสองฝั่งนั้นไม่ได้หายไปไหนและยังคงเดินทางค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าติดต่อกันโดยใช้เส้นทางผ่านช่องเขาต่างๆ ในเทือกพนมดงเร็กที่เคยใช้มาแต่เดิม เพียงแต่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนักเมื่อเทียบกับการเขียนประวัติศาสตร์ในยุคสมัยที่เมืองพระนครยังรุ่งเรือง
กลุ่มบ้านเมืองนอกกัมพุเทศะที่ปรากฏชุดของศาสนสถานสำคัญในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
ในดินแดนที่ราบสูงโคราชซึ่งเป็นที่ราบยกตัวนับจากเทือกเขาพนมดงเร็กที่ทำให้มีความแตกต่างจากที่ราบลุ่มรอบทะเลสาบเขมรโดยเฉลี่ย ๑๐๐-๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล จากประวัติศาสตร์ในดินแดนแถบนี้มีชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งทวีจำนวนผู้คนและชุมชนเป็นจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัดในสมัยยุคเหล็กในช่วงต้นพุทธกาลหรือราวๆ เมื่อ ๕๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล [BC.] ที่ต่อนื่องกับยุคสำริดซึ่งพบหลักฐานการอยู่อาศัยทับซ้อนกันในหลายแห่ง
รากฐานของบ้านเมืองในเขตลุ่มน้ำมูลทั้งฝั่งเหนือและฝั่งใต้ถือว่าอุดมสมบูรณ์ แม้บางพื้นที่จะแห้งแล้งในฤดูแล้งแต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ พื้นที่ใช้ทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าว จับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำหลายรูปแบบทั้งแม่น้ำ ลำน้ำสายเล็กๆ หนองและบึง ผลิตเกลือได้ในแหล่งดินเค็มที่มีอยู่มากมาย และพบแร่เหล็กในชั้นหินบะซอลล์เพื่อถลุงเหล็กได้ทั่วไป
พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในรูปแบบเมืองรูปกลมซึ่งมีการขุดคูน้ำคันดินและมีการสร้างแนวบังคับลำน้ำตามธรรมชาติหรือ ‘ทำนบ’ [Weir] ให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้น้ำกินน้ำใช้ โดยมีการถ่ายเทระดับสูงต่ำเพื่อให้น้ำไหลและยังใช้ประโยชน์ในการปกป้องชุมชนได้อีกด้วย ผลจากการขุดค้นศึกษาหลายแห่งพบว่า ชุมชนที่มีคูน้ำคันดินจำนวนมากมีการอยู่อาศัยอย่างสืบเนื่องตั้งแต่การเป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนเข้าสู่ยุคทวารวดีแบบอีสานที่มีเอกลักษณ์เด่นคือการปักใบเสมาในคติทางพุทธศาสนาแบบเถรวาทและปะปนไปด้วยการนับถือพระพุทธเจ้าแบบคติมหายานที่ผ่านเครือข่ายการค้าทางทะเลเนื่องในคติความเชื่อแบบศรีวิชัยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ล่วงแล้ว
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบ้านเมืองที่เรียกว่า ‘เจนละ’ ซึ่งมีหลักฐานศาสนสถานในคติความเชื่อแบบฮินดู มีบ้านเมืองใหญ่น้อยอยู่ทางปากน้ำมูลแถบอำนาจเจริญ อุบลราชธานี และกระจายมาทางเขตสมโบร์ไพรกุกในเขตที่ราบลุ่มลำน้ำสตรึงเสน [Stung Sen] เส้นทางเดินทางลงสู่ฝั่งทะเลของบ้านเมืองทางตะวันตกของที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมรทางด่านปะคำ ตาพระยา อรัญประเทศ สู่จันทบุรี ตั้งแต่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ และยังพบหลักฐานเป็นทับหลัแบบสมโบร์ไพรกุก ที่เมืองพระตะบองด้วย
ต่อยังมีชุมชนและบ้านเมืองทั้งที่เป็นรัฐขนาดเล็กและใหญ่ในแผ่นดินที่ราบสูงโคราชอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับอิทธิพลการสร้างศาสนสถานและนับถือศาสนาฮินดูหรือพุทธแบบมหายาน อายุร่วมสมัยกับรัฐที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมรและลุ่มน้ำโขง ตลอดจนเมืองพระนครในภายหลัง ปรากฏหลักฐานจากศาสนสถาน การจัดการพื้นที่ชุมชนหรือผังเมืองหรือเทคโนโลยีการชลประทาน ตลอดจนรูปเคารพที่เหลืออยู่
บ้านเมืองต่างๆ ที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมความเชื่อ ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และความสัมพันธ์ทางการเมืองและการค้ากับศูนย์กลางอำนาจรัฐที่บริเวณที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมรและศูนย์กลางที่เมืองพระนครในเวลาต่อมา อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้ศึกษาชุมชนโบราณในอีสานมาอย่างยาวนานสรุปว่า
‘การเติบโตของบรรดาเมืองตั้งแต่สมัยทวารวดี เจนละ และเขมร ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่สัมพันธ์กับการผลิตเกลือและเหล็กอย่างชัดเจน’
การสำรวจโดยย่อสามารถกล่าวถึงกลุ่มบ้านเมืองในเขตที่ราบสูงโคราชและบริเวณใต้แนวเทือกเขาบรรทัดที่ต่อเนื่องจากพนมดงเร็กในส่วนที่ต่อกับที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมรในเบื้องต้น (เขตอำเภอตาพระยา, อรัญประเทศ, วัฒนานคร และกบินทร์บุรี) ซึ่งเป็นบ้านเมืองที่มีการสร้างอาคารศาสนสถานในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในท้องถิ่นด้วย โดยใช้ข้อสังเกตุอันเนื่องจากรูปแบบการก่อสร้างปราสาทหินในยุคสมัยนี้ที่นิยมนำศิลาแลงมาใช้ทั้งหลังหรือเฉพาะฐาน บางแห่งให้หินทรายที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้บางส่วนของงานสถาปัตยกรรม เช่นที่ปราสาทเมืองเก่าใกล้กับเมืองเสมา รวมทั้งรูปเคารพหรือโบราณวัตถุที่พบซึ่งสัมพันธ์กับคติความเชื่อทางพุทธศาสนาแบบมหายานในรูปแบบอาคารศาสนสถานแบบ ‘อโรคยศาล’ และ ‘ธรรมศาลา’ ซึ่งต่างไปจากคติการสร้างปราสาทและรูปเคารพแบบฮินดูในยุคก่อนหน้า
ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (ราว พ.ศ. ๑๖๖๓ หรือ ๑๖๖๘- พ.ศ. ๑๗๕๘ หรือ ๑๗๖๒-การสันนิษฐานจากเรื่องราวในจารึก) เชื่อกันว่าพระองค์น่าจะอายุยืนกว่า ๙๐ ปี หลังจากศึกกับจามปาที่ปรากฏเป็นเรื่องหลักบนภาพจำหลักผนังเล่าเรื่องบริเวณปราสาทบายนและบันทายฉมาร์ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ย้ายศูนย์กลางความเชื่อจากปราสาทบาปวนซึ่งเป็นฮินดูที่บูชาพระศิวะมายังปราสาทบายนที่สร้างขึ้นใหม่เป็นศาสนสถานในลัทธิมหายานแทน ทรงสร้างพุทธสถานไว้มากมาย เช่น ปราสาทบันทายคดี ปราสาทตาพรมที่สร้างถวายพระมารดา ปราสาทพระขรรค์ที่สร้างถวายพระบิดา ปราสาทตาโสม ปราสาทนาคพัน ปราสาทบันทายฉมาร์ และปราสาทพระขรรค์ที่กำปงสวาย เป็นต้น
จารึกปราสาทตาพรหมที่ทำขึ้นในราว พ.ศ. ๑๗๒๙ กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดให้สร้างอโรคยศาลจำนวน ๑๐๒ แห่งในทุกเมือง ส่วนจารึกปราสาทพระขรรค์ ที่พบในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งมีรูปแบบและข้อความคล้ายคลึงกับจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ปราสาทตาพรหมมีส่วนที่กล่าวถึงการสร้างที่พักคนเดินทางและมอบไฟไว้ให้แก่สถานที่นั้นในเส้นทางต่างๆ
แสดงกลุ่มเมืองที่มีการสร้างอโรคยศาลและธรรมศาลา กระจายอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะบ้านเมืองใกล้เขตแนวเขาพนมดงเร็ก
อโรคยศาล มีรูปแบบการวางผังและก่อสร้างได้เหมือนกันหรือคล้ายคลึงจนเป็นรูปแบบเดียวกันทุกแห่ง อาจจะรวมทั้งรูปเคารพ ข้อความในจารึก ซึ่ีงพบถึง ๖ หลักในเขตที่ราบสูงโคราชไปจนถึงการพบที่เวียงจันทน์ (จารึกปราสาทจอมพระ-สุรินทร์, จารึกตาเมือนโตจ-สุรินทร์, จารึกสุรินทร์ ๒-น่าจะนำมาจากอโรคยศาลที่ห้วยเสนง , จารึกพิมาย-นครราชสีมา, จารึกด่านปะคำ-บุรีรัมย์, จารึกกู่บ้านหนองบัว-ชัยภูมิ และจารึกซายฟองซึ่งพบที่เวียงจันทน์) และสิ่งของที่อุทิศให้กับสถานที่เหล่านี้
อโรคยศาลปราสาทครบุรี บุรีรัมย์, อโรคยศาลปราสาทโคกงิ้ว ด่านปะคำ บุรีรัมย์, อโรคยศาลที่บ้านเมืองเก่า ใกล้เมืองเสมา ที่ตัวอาคารทำจากหินทรายบนฐานศิลาแลงต่างจากที่อื่นๆซึ่งทำด้วยศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่, อโรคยศาลที่กุฎิฤาษี เมืองต่ำ บุรีรัมย์, อโรคยศาลปรางค์กู่สันตรัตน์ นาดูน มหาสารคาม
ผังของอโรคยศาลประกอบด้วยปรางค์ประธาน ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูทางเข้าที่เรียกว่าโคปุระด้านหน้าเพียงแห่งเดียว มุมซ้ายมีอาคารที่เรียกว่าบรรณาลัยหันหน้าสู่ตัวปราสาทประธาน ด้านนอกกำแพงแก้วด้านขวามีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกรุด้วยแลงเรียกว่าบาราย เป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ของอโรคยศาล จารึกอโรคยศาลกล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ ๓ ส่วน คือ เทพประจำโรงพยาบาล ผู้คนที่อุทิศเพื่อดูแล และเครื่องใช้ประกอบการรักษา
แผนผังอโรคยศาลที่มีรูปแบบเช่นเดียวกันทุกแห่ง หมายเลข ๑ คือ ปราสาทประธาน, ๒ บรรณาลัย, ๓ โคปุระหรือซุ้มทางเข้า ๔ กำแพงแก้ว และ ๕ สระน้ำ
ส่วนที่พักคนเดินทางหรือ ธรรมศาลา ศาสนสถานที่เป็นปราสาทรูปเรือนคูหายาว ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ซึ่ง หลุยส์ ฟิโนต์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น ‘ธรรมศาลา’ ที่พักของผู้แสวงบุญเดินทางตามเส้นทางไปสู่บ้านเมืองต่างๆ
เอกสารทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทยก็มักอ้างอิงถึงบทความของ ศาสตราจารย์ มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ที่วิเคราะห์ข้อมูลจากจารึกปราสาทพระขรรค์ สรุปดังนี้
‘จารึกที่ปราสาทพระขรรค์กล่าวถึงที่พักคนเดินทางว่ามีจำนวน ๑๒๑ แห่ง อยู่ตามทางเดินทั่วราชอาณาจักร และตามทางเดินไปเมืองต่างๆ ในจำนวนนั้น มี ๑๗ แห่งอยู่ระหว่างการเดินจากเมืองพระนครไปยังเมืองพิมาย พบว่าที่พักคนเดินทางเท่าที่ค้นพบแล้วมี ๗ แห่ง แต่ละแห่งห่างกันประมาณ ๑๒-๑๕ กิโลเมตร .. จารึกปราสาทพระขรรค์ระบุอีกว่า มีการสร้างโรงพยาบาล หรือที่จารึกเรียกว่า “อโรคยาศาลา” จำนวน ๑๐๒ แห่ง กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีส่วนหนึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย’ (ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุลศิลา. จารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ วารสารศิลปากร, ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๐๙ หน้า ๕๒-๖๒.)
จารึกอโรคยศาล ชิ้นที่ค่อนข้างสมบูรณ์พบที่เมืองเวียงจันทน์ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสมมติฐานเรื่องเมืองซายฟองที่เป็นเมืองในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่อยู่เหนือสุด แม้จะไม่พบหลักฐานของอาคารศาสนสถานหรือร่องรอยจากสภาพแวดล้อมที่มีอายุเก่าไปกว่าบ้านเมืองในสมัยล้านช้างราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลงมา
และการแปลบทความของยอร์ช เซเดส์ [George Coedes] จาก Articles sur le Pays Khmer. Ecole francaise d’Extreme-Orient (1989) หรือ ‘ที่พักคนเดินทางของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗’ (สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ ๑๖ เล่ม ๒ ธันวาคม ๒๕๓๗, หน้า ๑๐๔-๑๐๖)
โดยกล่าวว่าอาคารที่พักคนเดินทางเหล่านี้ตรงกับบัญชีโบราณสถานที่บันทึกไว้โดย ‘ลูเน เดอ ลาจองกิเย’ ที่เรียกว่า ‘แบบปราสาททัพเจย’ ซึ่งต่อมา หลุยส์ ฟิโนต์ ศึกษาไว้อย่างสั้นๆ และได้เรียกชื่ออาคารรูปแบบนี้ว่า ‘ธรรมศาลา’ (พร้อมแผนที่ซึ่งมีการลากเส้นเชื่อมเส้นทางระหว่างที่พักคนเดินทางจากเมืองพระนครผ่านช่องเขาไปยังปราสาทหินพิมายและถือว่าเป็นแผนที่ซึ่งแพร่หลายในการนำมาใช้ทำงานเพื่อศึกษาเรื่อง ‘ถนนโบราณ’ หรือราชมรรคาของนักวิชาการไทยในปัจจุบัน) [Finot, Louis. Dharmaçâlâs au CambodgeBulletin de l’École française d’Extrême-Orient, Tome 25, 1925. pp. 417-422.]
เอกสารทั้งสองชิ้นคือที่มาหลักของการศึกษาเรื่องอโรคยศาลและธรรมศาลา รวมทั้งถนนโบราณราชมรรคา อันเป็นที่กล่าวถึงกันในปัจจุบัน
หินทรายแกะสลักรูปบุคคลที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กล่าวกันว่าพบที่เวียงจันทน์ มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในบรรดารูปแกะสลักจากหินทรายที่ส่วนใหญ่มักพบเพียงแค่ชิ้นส่วนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อาคารศาสนสถานทั้งสองชุดรูปแบบมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องการวางผัง รูปแบบอาคาร แต่อาจจะต่างไปบ้างเรื่องขนาดที่คงไม่มีพิมพ์เขียวจนสำเนาได้เท่ากันหมดทุกแห่ง
กลุ่มชุมชนนอกกัมพุเทศะเหล่านี้น่าจะมีพัฒนาการอยู่ในระดับทั้งเมืองขนาดเล็กและรัฐที่มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเป็นระยะเวลานาน ศาสนสถานที่น่าจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนในลักษณะเป็น ‘มันดาลา’ [Mandala] หรือในรัศมีใหญ่น้อยที่กระจายตัวกันออกไป ซึ่งจัดเป็นกลุ่มคร่าวๆ เบื้องต้น ได้ดังนี้
กลุ่มแรกอยู่ในเขตพรมแดนเชื่อมต่อเขตเทือกเขาพนมดงเร็กจากแถบลำตะคองจนถึงแนวข่องเขาที่จันทบเพชรซึ่งมีลำจังหันและลำปะเทียเป็นแนว ช่องเขาด้านนี้จะมีผู้คนใช้เดินทางไปทางทิศเหนือและทางตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงโคราช
กลุ่มเมืองเสมา เมืองเสมาตั้งอยู่ใกล้ลำตะคองและห้วยไผ่ เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๒ ชั้นมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็กตอนปลายในวัฒนธรรมแบบลุ่มน้ำมูลตอนบนและตอนกลาง ต่อเนื่องมาจนร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕ พบว่าสัมพันธ์กับวัฒนธรรมแบบเขมร พบจารึกที่เรียกกันว่า ‘จารึกศรีจนาศะ’ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ และมีการอยู่อาศัยจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘
จากเมืองเสมาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว ๔.๓ กิโลเมตรมีกลุ่มชุมชนที่ ‘ปราสาทเมืองแขก’ และปราสาทโนนกู่ซึ่งน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ระยะห่างกันเพียง ๕๐๐ เมตร ส่วนอโรคยศาลที่ ‘ปราสาทเมืองเก่า’ ซึ่งห่างจากเมืองเสมาในทิศทางเดียวกันราว ๗ กิโลเมตร และห่างจากกลุ่มปราสาทเมืองแขกราว ๓ กิโลเมตร กลุ่มปราสาททั้ง ๓ แห่ง อยู่ริมฝั่งลำตะคองทางด้านใต้ และชุมชนที่กลุ่มเมืองเสมาสามารถเดินทางผ่านดงพญาเย็นที่สีคิ้วสู่ที่ราบภาคกลางหรือไปยังเมืองศรีเทพในลุ่มน้ำป่าสักได้
แผนที่แสดงโบราณสถานสำคัญบริเวณเมืองเสมา
กลุ่มเมืองที่ครบุรี-ปักธงชัย อโรคยศาลที่ครบุรีเป็นเนินดินอยู่อาศัยขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีชุมชนหนาแน่น และมีบารายขนาดใหญ่ดึงน้ำจากลำน้ำมูลมาเก็บไว้ การสำรวจบริเวณโดยรอบพบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ช่วงยุคเหล็กตอนปลายและแบบเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘
บริเวณอโรคยศาลที่ครบุรีห่างจากเมืองปักธงชัยราว ๒๐ กิโลเมตร อยู่ในเขตลุ่มน้ำลำพระเพลิง มีเมืองปักฯ เป็นเมืองใหญ่และเป็นจุดหมายในการเดินทางผ่านช่องเขาทางเมืองพรานและสะแกราช ชุมชนโบราณที่มีปราสาทหิน เช่นที่บ้านตะคุ กู่สระพัง ปราสาทบ้านนาแค ปราสาทบ้านปรางค์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ส่วนบริเวณเชิงเขาที่ลงมาจากช่องเขาผ่านไปยังต้นน้ำบางปะกงทางกบินทร์บุรี บริเวณบ้านสะแกราชระยะทางห่างจากปราสาทครบุรีราว ๑๕ กิโลเมตร มีปราสาทกู่เกษมหรือปราสาทบึงคำและปราสาทจำปาทอง ส่วนใหญ่อยู่ที่เชิงเขา บริเวณนี้พบจารึกที่สัมพันธ์กับปราสาทพนมรุ้งเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (จารึกสะแกราช)
นอกจากนี้ในลุ่มลำพระเพลิงยังมีปราสาทพะโค เป็นปราสาทขนาดเล็กสวยงามและมีจารึกที่ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๑๔ กิโลเมตร สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ นอกจากนี้ยังปราสาทสระเพลงที่อายุอาจจะอยู่ในรุ่นหลังลงมา และถ้ำวัวเพิงพาหินแกะรูปสลักพระอิศวรทรงตรีศูลอุ้มนางอุมาบนโคนนทิแบบนูนต่ำที่เขาลูกช้างห่างจากครบุรีราว ๑๓ กิโลเมตร
กลุ่มเมืองที่ปะคำ เมืองปะคำอยู่ระหว่างต้นน้ำลำมาศหรือลำปลายมาศและต้นน้ำลำนางรอง ใกล้เชิงเขาพนมดงเร็กเช่นเดียวกับครบุรีและเป็นจุดชุมชนใหญ่ที่อยู่ในบริเวณทางลงจาก ‘ช่องตะโก’ บริเวณเมืองปะคำคือ ‘ด่านปะคำ’ ที่นักเดินทางในอดีตกล่าวว่าเป็นจุดพักที่แยกออกไปได้สามทิศทางคือ เดินทางต่อไปยังเมืองปักธงชัยทางตะวันตก เมืองนางรองทางเหนือ และเมืองสุรินทร์ทางตะวันออก ดังนั้นบริเวณนี้จึงมีการตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนมาตลอดช่วงในประวัติศาสตร์
บริเวณเมืองปะคำมีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงยุคเหล็กตอนปลาย และพบใบเสมาแบบทวารวดีที่ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิ์ย้อย อโรคยศาลโคกงิ้ว พบจารึกอโรคยศาลที่เรียกว่า ‘จารึกด่านปะคำ’ ถือเป็นจารึกที่สมบูรณ์หลักหนึ่ง
บริเวณวัดโพธิ์ย้อย วัดประจำเมืองปะคำ น่าจะมีการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุมาจากที่ต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง พบใบเสมาที่สลักรูปธรรมจักร ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้น้อยเพราะมักจะทำรูปสถูปจำลองมากกว่า ทับหลังจำนวนหลายชิ้น และหลักเสาหินที่มักพบทั่วไปในเส้นทางการเดินทางหลายๆ แห่งทั้งในที่ราบสูงโคราชและที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมร
ที่ต้นน้ำลำปลายมาศพบแหล่งจารึกสำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ที่ ‘ถ้ำเป็ดทอง’ ที่ห่างจากอโรคยศาลโคกงิ้วในรัศมีราว ๑๕ กิโลเมตร และโบราณสถานขนาดเล็ก ๕-๖ ที่ชุมชนบ้านโคกปราสาทหรือใหม่ไทยเจริญที่อยู่ห่างจากอโรคยศาลโคกงิ้วราว ๗-๘ กิโลเมตร ใกล้กับอโรคยศาลที่โคกงิ้วพบปราสาท ๓-๔ แห่งและหลักหินอีก ๕ แห่ง
กลุ่มเมืองรอบพนมรุ้ง บริเวณรอบพนมรุ้งมีชุมชนโบราณมากมาย ด้วยลักษณะที่เป็นยอดภูเขาไฟเก่า ลำน้ำขนาดเล็กหลายสายจึงไหลลงจากยอดเขาหลายทิศทาง มีการขุดบารายเพื่อรองรับและเก็บน้ำหลายแห่ง ยอดพนมรุ้งเป็นที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้ง ศาสนสถานสำคัญของบ้านเมืองที่ราบสูงเหนือเทือกเขาพนมดงเร็กที่เรียกว่าเขมรสูง และน่าจะเป็นศูนย์กลางของความเชื่อและการปกครองของกษัตริย์ในราชวงศ์มหิธรปุระที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับกษัตริย์ที่เมืองพระนคร โดยรอบมีภูเขาสำคัญๆ เช่น เขาปลายบัตทางด้านใต้ ภูอังคารทางตะวันตก
ชุมชนกลุ่มเมืองพนมรุ้งน่าจะตั้งถิ่นฐานอยู่กันหนาแน่นบริเวณทิศตะวันออกและทิศใต้ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกเป็นท้องทุ่งกว้างใหญ่มาแต่สมัยโบราณ ปรากฏ ‘อโรคยศาลกุฎิฤาษีที่หนองบัวราย’ บริเวณเชิงเขาใกล้กับบารายใหญ่ที่กักเก็บน้ำจากเขาพนมรุ้ง และห่างไปราว ๒ กิโลเมตรทางตะวันออกปรากฏ ‘ธรรมศาลา’ ที่ปราสาทบ้านบุตั้งอยู่
ปราสาทเมืองต่ำและชุมชนโดยรอบทางตะวันออกเฉียงใต้อยู่ห่างไปราว ๓-๔ กิโลเมตร มีบารายขนาดใหญ่ที่เรียกว่าทะเลเมืองต่ำและมี ‘อโรคยศาลกุฎิฤาษีบ้านโคกเมือง’ อีกหลังหนึ่ง นอกจากนี้กลุ่มเมืองที่พนมรุ้งยังมีชุมชนร่วมสมัยในวัฒนธรรมเขมรอีกมากมาย ทั้งที่เขาปลายบัต ภูอังคารที่เห็นความสืบเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีบนใบเสมาที่สลักภาพบุคคลคล้ายกับที่พบบนใบเสมาที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม เมืองฟ้าแดดสงยางในลุ่มน้ำชี ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราวๆ ๑๕ กิโลเมตร มีเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองภายในรุ่นหลังคือ ‘เมืองตะลุง’ ซึ่งมีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคเหล็กตอนปลายและระบบการจัดการน้ำอย่างเยี่ยมยอดและมีรากเหง้าจากการเป็นชุมชนใหญ่ในพื้นที่ราบจนกลายเป็นเมืองใหญ่และเป็นที่มาของชื่อเมืองประโคนชัยในภายหลัง
แผนที่แสดงโบราณสถานสำคัญบริเวณเมืองพนมรุ้ง
ส่วนทางทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่มีลำปะเทีย ลำนางรอง และลำปลายมาศ มีชุมชนโบราณกลางทุ่งที่เป็นโคกเนินหลายแห่ง และปรากฏ ‘ธรรมศาลาปราสาทหนองกุง’ ตั้งอยู่กลางทุ่งห่างจากธรรมศาลาที่บ้านบุราวๆ ๑๕ กิโลเมตร แต่แวดล้อมด้วยเนินดินของการอยู่อาศัย นอกจากนั้นยังพบร่องรอยของธรรมศาลาอีกแห่งที่ ‘ปราสาทหนองตาโปร่ง’ ใกล้กับปราสาทปาจิตต์ ปราสาทนางพิม ซึ่งในแถบลุ่มน้ำมาศในเส้นทางชุมชนโบราณแถบเมืองพิมายและพนมรุ้งมีตำนานนิทานจากชาดกนอกพระสูตรเรื่องท้าวปาจิตต์และนางอรพิมพปรากฏอยู่ในชื่อบ้านนามเมืองโดยทั่วไป และสามารถตรวจสอบเส้นทางการติดต่อและเส้นทางตำนานความเชื่อของกลุ่มคนในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ที่พุทธศาสนาเถรวาทในอีสานเป็นที่แพร่หลาย อันเป็นยุคหลังที่ผู้คนผ่านการนับถือศาสนาแบบฮินดูและพุทธมหายานเนื่องในสังคมวัฒนธรรมแบบเขมรมาแล้ว
กลุ่มเมืองที่ห้วยแถลง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพนมรุ้งมีชุมชนโบราณบริเวณลุ่มลำปลายมาศต่อห้วยแถลงลำน้ำของลำปลายมาศค่อนข้างหนาแน่น มีลำน้ำบ้านฝ้ายหรือเมืองฝ้ายที่เป็นเมืองโบราณมีคูน้ำคันดินรูปกลมและมีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดีแบบภาคกลางและต่อมามีการสร้างปราสาทเนื่องในวัฒนธรรมเขมรหลายหลังในบริเวณตัวเมือง จากโบราณวัตถุที่พบทั้งศาสนสถานและรูปเคารพตลอดจนการสืบเนื่องในบ้านเมืองที่ค่อนข้างเก่าแก่กว่าเมืองโบราณพื้นที่อื่นๆ ถือได้ว่า ‘เมืองฝ้าย’ เป็นเมืองสำคัญทีเดียวในย่านเส้นทางเดินทางระหว่างเมืองพนมรุ้งและเมืองพิมาย นอกจากนี้ยังมีเมืองโบราณอื่นๆ เช่น ไผทรินทร์, บ้านกงรถ ฯลฯ บริเวณนี้มี ‘ธรรมศาลาปราสาทหนองตาเปล่ง’ ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว ๙ กิโลเมตร และ ‘อโรคยศาลปราสาทบ้านปรางค์’ ที่ห่างจากธรรมศาลาหนองตาเปล่ง, บ้านไผทรินทร์และเมืองฝ้ายในระยะทาง ๑๑-๑๕ กิโลเมตร
แผนที่แสดงโบราณสถานสำคัญบริเวณห้วยแถลง
นอกจากนี้ยังมีเมืองพลับพลาตั้งอยู่บนขอบชายเนินของพื้นที่ราบลุ่มต่อกับที่ดอนที่เป็นดงใหญ่และไม่น่าจะร่องรอยการอยู่อาศัยในอดีตมากนัก มีปรางค์กู่ศิลาที่เป็นธรรมศาลาอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว ๔ กิโลเมตร การเดินทางไปยังเมืองพิมายไม่น่าจะเป็นเส้นตรงเช่นแนวถนนราชมรรคาที่มีการสันนิษฐานและเป็นที่รู้จักทั่วไป เพราะต่อจากเมืองพลับพลาเป็นพื้นที่ดอนสลับหนองบึงและเป็นดินแดงที่เหมาะแก่การทำไร่มากกว่าการทำนาปลูกข้าว แทบจะไม่พบการตั้งชุมชนอยู่อาศัยในสมัยโบราณและถูกจัดสรรเป็นนิคมสร้างตนเองปรับพื้นที่ทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ เมืองพิมายที่เป็นชุมทางลำน้ำหลายสายและบริเวณทางทิศใต้และตะวันออกเฉียงใต้ไม่น่าจะมีแนวถนนใดๆ หรือเหมาะแก่การอยู่อาศัย จนเมื่อไม่นานมานี้
กลุ่มเมืองที่พิมาย เมืองพิมายเป็นชุมชนขนาดใหญ่และน่าจะเป็นศูนย์กลางอำนาจทางความเชื่อและทางการเมืองของชุมชนในเขตลุ่มน้ำมูลตอนบน ซึ่งมีลำน้ำหลายสายไหลผ่านเช่น ลำน้ำเค็ม ลำเชิงไกร ฯลฯ การตั้งถิ่นฐานที่พิมายและบริเวณโดยรอบมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะยุคเหล็กที่มีกลุ่มภาชนะแบบพิมายดำ [Black Phimai] เป็นเอกลักษณ์ ปราสาทหินพิมายเป็นปราสาทที่มีขนาดใหญ่และมีผังเมืองสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในดินแดนที่ราบสูงโคราช สร้างเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เนื่องในพุทธศาสนาแบบมหายานและฮินดูปะปนกัน เป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจทางความเชื่อและการเมืองในเครือข่ายกษัตริย์ในราชวงศ์มหิธรปุระ และมีชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
นอกเมืองทางทิศใต้ที่มีลำน้ำเค็มมีท่านางสระผมและใกล้กันปรากฏการสร้าง ‘อโรคยศาลกุฎิฤาษี’ ซึ่งอยู่ในทิศทางด้านหน้าของเมืองพิมาย ลำน้ำเค็มมาจากลำละหลอดและลำจักรราชไหลลงแม่น้ำมูลทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพิมายแถบชุมพวง อย่างไรก็ตาม การติดต่อเดินทางจากเมืองพลับพลามายังพิมายน่าจะอ้อมวกลงทางทิศใต้สู่ห้วยจักรราช โดยไม่เดินทางผ่านดงที่เป็นเนินใหญ่กว้างกว่า ๑๐ กิโลเมตร และเดินทางไปในทิศทางที่ปรากฏในตำนานท้าวปาจิตต์-นางอรพิมมีทั้งทิศทางที่อ้อมลงไปยังเส้นทางเมืองปักธงชัย ครบุรี และเสิงสา ปะทาย นางรอง และพนมรุ้ง แล้ววกอ้อมเข้ามายังชุมชนแถบลำปลายมาศและแม่น้ำมูล จะเดินทางไปพิมายหรือบ้านเมืองภายในอื่นๆ ก็ได้หลายเส้นทาง
กลุ่มเมืองที่ปะทาย บริเวณอโรคยศาลปราสาทนางรำเป็นชุมชนอยู่ใกล้ห้วยแยะซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำมูล ซึ่งบริเวณนี้มีชุมชนก่อนหน้าการสร้างอโรคยศาลก่อนแล้วคือ ‘กู่พราหมณ์จำศีล’ เป็นปราสาทอิฐ ๓ หลังบนฐานศิลาแลง ด้านหน้ามีบรรณาลัย ๒ หลัง มีกำแพงแก้วและโคปุระด้านหน้าและมีสระน้ำล้อมรอบ ที่ตั้งอยู่คู่ขนานในบริเวณเดียวกัน กำหนดอายุสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ทับหลังแบบบาปวน และยังมีเนินดินที่อยู่อาศัย แนวทำนบหรือแนวคันดินเพื่อกักเก็บน้ำ รวมทั้งเมืองโบราณรูปกลมที่มีคูน้ำคันดินในบริเวณใกล้เคียง
จากปราสาทนางรำไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว ๒๐ กิโลเมตร มี ‘อโรคยศาลปรางค์กู่ฤาษี’ อีกหลังหนึ่งที่บ้านใหม่ชัยพจน์ ซึ่งมีปราสาทในรุ่นก่อนหน้านั้นอยู่แล้วที่ปรางค์กู่สวนแตงเป็นปราสาทอิฐ ๓ หลังบนฐานศิลาแลง อยู่ในกลุ่มของปราสาทระยะห่างจากอโรคยศาลราว ๔ กิโลเมตร และเนินดินการอยู่อาศัยที่มีเศษภาชนะแบบเขมร รวมทั้งเมืองที่มีคูคันดินที่บ้านหนองกก โนนตะคร้อ และบ้านหนองเรือซึ่งมีคูและคันดิน ๒ ชั้น เป็นรูปกลมและสี่เหลี่ยมชั้นนอก ในรัศมีใกล้เคียง
กลุ่มเมืองที่ลำเชิงไกร-ธารปราสาท บริเวณปราสาทพลสงครามในอำเภอโนนสูงเป็นอโรคยศาลและตั้งอยู่บนเนินดินรูปกลมที่มีบารายขนาดใหญ่ พื้นที่ใกล้เคียงในระยะราว ๑ กิโลเมตร พบว่ามีชุมชนที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบที่บ้านเสมาและบ้านพลจลก พบทั้งใบเสมาหินทราย พระพุทธรูปทองคำ เทวรูปสำริดสี่กร เครื่องถ้วยแบบเขมร อโรคยศาลแห่งนี้มีการขุดค้นพบรูปพระวัชธรซึ่งมีรูปแบบเดียวกับที่พบจากการขุดค้นที่อโรคยศาลปรางค์กู่ฤาษีที่บ้านใหม่ชัยพจน์ นอกจากนี้ยังพบเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระวัชรปานี รูปนางปรัชญาปารมิตา เศียรพระยม และพระพิมพ์ตรีกาย ซึ่งถือว่าได้ค้นพบเทวรูปประจำอโรคยศาลที่อุทิศไว้ได้มากกว่าที่อื่นๆ และคล้ายคลึงกับการอุทิศรูปเคารพต่างๆ จากข้อความในจารึกอโรคยศาล
‘อโรคยศาลบ้านปราสาท’ อยู่ใกล้ลำเชิงไกรและห่างจากอโรคยศาลปราสาทพลสงครามราว ๑๓ กิโลเมตร บริเวณนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยมากมายและอยู่เขตชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่พบภาชนะดินเผาแบบพิมายดำหลายแห่ง รวมทั้งเนินดินการอยู่อาศัยในวัฒนธรรมเขมร มีกู่บ้านปราสาทซึ่งเป็นปราสาทอิฐ ๓ หลังบนฐานศิลาแลงเดียวกัน ด้านหน้าเป็นบรรณาลัยสองหลังและมีกำแพงล้อมรอบและโคปุระด้านหน้า เหมือนกับรูปแบบที่พบในกลุ่มปราสาทปราสาทนางรำและปราสาทพลสงคราม
จากแนวช่องเขาจันทบเพชร ซึ่งเป็นช่องเขาทางแถบตาเมือนจนถึงช่องจอมหรือช่องโอเสม็ดไปทางตะวันออก กลุ่มชุมชนที่มีอโรคยศาลเริ่มเปลี่ยนทิศไปทางตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณจังหวัดสุรินทร์และยังไม่พบร่องรอยของอาคารแบบธรรมศาลา
กลุ่มเมืองที่ตาเมือน ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยที่ละหานทรายและบ้านกรวด ซึ่งมีเตาเผาภาชนะแบบเขมรอยู่เป็นจำนวนมาก และพบว่ามีการ ‘ธรรมศาลาปราสาทถมอ’ บริเวณบ้านละหานทรายเก่าแห่งหนึ่ง โดยรอบๆ ในรัศมีใกล้เคียงพบว่ามีปราสาทขนาดเล็กอยู่อีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทบ้านหนองตะโก ปราสาทโคกกะนัง ปราสาททองอิน ส่วนบริเวณกลุ่มปราสาทตาเมือนซึ่งอยู่บริเวณช่องตาเมือน ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนน่าจะเป็นบริเวณพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยได้รับแนวคิดเรื่องสวยัมภูลึงค์ ซึ่งเป็นการสร้างรูปเคารพจากหินธรรมชาติที่ปราสาทตาเมือนธมซึ่งมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ และยังพบธรรมศาลา ตลอดจนอโรคยศาลในบริเวณเดียวกัน ซึ่งสร้างในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบรายงานว่ามีชุมชนโบราณที่อยู่ใกล้เคียงทางฝั่งเหนือแนวเทือกเขาพนมดงเร็กใกล้กับกลุ่มปราสาทตาเมือน
การสร้างศาสนสถานบริเวณช่องเขาทางผ่านนั้นเป็นธรรมเนียมที่พบกันได้หลายแห่ง แม้แต่ช่องตาควายที่อยู่ถัดไปจากช่องตาเมือนก็ยังมีปราสาทตาควายอีกหลังหนึ่งตั้งอยู่ การสร้างศาสนสถานหรือรูปเคารพบริเวณจุดผ่านแดนนั้นเป็นความเชื่อในเรื่อง ‘การเปลี่ยนผ่าน’ และทำให้เป็นพื้นที่ศึกดิ์สิทธิ์ถือเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เสมอแม้กระท่ังทุกวันนี้ กลุ่มเมืองที่สังขะ พบการสร้างอโรคยศาลในบริเวณที่มีชุมชนและมีปราสาทอยู่หลายแห่ง เช่น ปราสาทภูมิโปน ปราสาทยายเหงา ปราสาทสังข์ศิลป์ชัย ปราสาทมีชัยหรือหมื่นชัย ซึ่งมีการสร้าง ‘อโรคยศาลปราสาทกังแอนหรือปราสาทบ้านปราสาท’
กลุ่มเมืองที่ห้วยเสนง ‘อโรคยศาลปราสาทบ้านเฉนียง’ ห่างจากเมืองสุรินทร์ราว ๑๐ กิโลเมตร อยู่ในบริเวณลำน้ำห้วยเสนงซึ่งปัจจุบันเป็นอ่างเก็บน้ำ มีร่องรอยของชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบ และน่าจะอยู่ในอ่างเก็บห้วยเสนงส่วนหนึ่ง
กลุ่มเมืองที่บ้านช่างปี่ มีการสร้าง ‘อโรคยศาลปราสาทช่างปี่’ ในชุมชนที่มีการอยู่อาศัยมาโดยตลอด และอยู่ห่างจากเมืองศรีขรภูมิซึ่งเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือราว ๑๐ กิโลเมตร และห่างจากเมืองทีทางตะวันตกเฉียงใต้ราว ๗ กิโลเมตร จากการขุดค้นพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๔ กร พระโพธิสัตว์ ๔ กร แบบประทับนั่งแกะสลักบนแผ่นหินและมีเดือยสำหรับแท่นฐาน พระวัชรธรและรูปเคารพคล้ายพระวัชรธรแต่กุมวัตถุบางอย่างไว้
กลุ่มเมืองที่จอมพระ การขุดค้นที่ ‘อโรคยศาลปราสาทจอมพระ’ พบเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์ ๔ กร แกะบนแผ่นหินและมีเดือยสำหรับใส่บนแท่น พระวัชรปาณีทรงครุฑ และชิ้นส่วนจารึกอโรคยศาล บริเวณใกล้เคียงมีเนินดินและทรากโบราณสถาน เศษภาชนะและบาราย
กลุ่มเมืองที่ปรางค์กู่ ‘อโรคยศาลที่บ้านสมอ’ หรือปราสาททะมอหรือปราสาทามจานทางตะวันตกของห้วยสำราญ และอยู่่ห่างจากปราสาทตาเล็งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว ๑๓ กิโลเมตร อยู่ห่างจากปราสาทปรางค์กู่ซึ่งเป็นปราสาทอิฐ ๓ หลัง บนฐานศิลาแลง ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ราว ๑๔ กิโลเมตร
กลุ่มเมืองที่สระกำแพงน้อย ‘อโรคยศาลสระกำแพงน้อยอยู่ห่างเมืองศรีษะเกษทางตะวันตกราว ๑๐ กิโลเมตร ถือเป็นอโรคยศาลที่อยู่ห่างไปทางตะวันออกมากที่สุดในเขตที่ราบสูงโคราช
กลุ่มต่อมาเป็นกลุ่มที่มีการสร้างอโรคยศาลอยู่ร่วมกับบ้านเมืองขนาดใหญ่ในเขตภายใน รวมทั้งที่ผ่านไปยังเขตอีสานเหนือ แม้จะมีศาสนสถานเนื่องในวัฒนธรรมแบบเขมรอยู่หลายแห่ง แต่ก็พบว่ามีการสร้างศาสนสถานเนื่องในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ไม่มากนัก
กลุ่มเมืองนครจำปาขัน เมืองนครจำปาขันเป็นเมืองขนาดใหญ่และค้นพบศาสนสถานแบบฮินดูรวมทั้งจารึกจิตรเสนที่มีอายุเก่าไปถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ตั้งอยู่ในที่อำเภอสุวรรณภูมิ ท่ามกลางแหล่งผลิตเกลือสำคัญในเขตที่ราบสูงโคราช ซึ่งมีการบอกเล่าในท้องถิ่นว่าคาราวานค้าเกลือเส้นทางหนึ่งนั้นเดินทางผ่านกู่พระโกนาและทุ่งกุลาร้องไห้ เข้าสู่แถบจังหวัดสุรินทร์ และขนส่งผ่านช่องเขาไปเขตเขมรต่ำด้วยทางหนึ่ง ส่วนเส้นทางอื่นๆ สามารถเดินทางไปยังชุมชนที่ ‘กู่คันธนาม’ ซึ่งเป็นอโรคยศาลที่อยู่ห่างไปราว ๑๒ กิโลเมตร
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มปราสาทที่บ้านกู่กาสิงห์ซึ่งมีขนาดใหญ่ห่างจากบ่อพันขันราวๆ ๒๘ กิโลเมตร โดยกู่กาสิงห์เป็นปราสาทแบบบาปวนอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ปราสาทกู่โพนวิทรวมทั้ง ‘อโรคยศาลกู่โพนระฆัง’ ในบริเวณเดียวกัน แถบนี้ยังมีชุมชนโบราณที่เมืองบัวซึ่งมีปราสาทสร้างในเมืองที่มีคูคันดินตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์รวมทั้งปราสาทขนาดเล็กที่ตัวอำเภอเกษตรวิสัยในระยะราว ๗-๑๐ กิโลเมตร
กลุ่มเมืองที่นครจำปาศรีนาดูน เมืองนครจำปาศรีที่อำเภอนาดูนตั้งอยู่บนเส้นทางที่แยกจากกู่พระโกนาไปทางตะวันตกตามลำเตา เป็นชุมชนที่มีคูน้ำคันดินและเป็นเมืองขนาดใหญ่ตั้งแต่ยุคทวารวดีแบบอีสานซึ่งนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทปนกับมหายานอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ พบพระบรมสารีริกธาตุและพระพิมพ์แบบนาดูนเป็นของสำคัญ นอกจากนี้ยังมีกู่น้อยและ ‘อโรคยศาลกู่สันตรัตน์’ ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ จากนครจำปาศรีมีเส้นทางการติดต่อกับชุมชนในลุ่มน้ำชีทางมหาสารคาม ขอนแก่น และอุดรธานีได้
กลุ่มเมืองที่ร้อยเอ็ด ‘อโรคยศาลปราสาทหนองกู่’ ห่างจากเมืองร้อยเอ็ดไปทางตะวันออกราว ๘ กิโลเมตร ซึ่งเป็นเมืองที่มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์รวมทั้งในยุคสมัยแบบเขมรและมีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น และ
กลุ่มเมืองที่บ้านเชียงเหียน เมืองที่มีคูน้ำคันดินรูปกลมขนาดใหญ่และมีการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งพบการฝังศพที่มีการใช้งานทั้งสำริดและเหล็ก ขนาดของชุมชนเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๙๕๐-๗๓๐ เมตร ห่างไปทางตะวันออกราว ๔ กิโลเมตร ปรากฏ ‘อโรคยศาลกู่บ้านเขว้า’
กลุ่มเมืองที่ชัยภูมิ พบการสร้าง ‘อโรคยศาลปรางค์กู่’ ในเขตเมืองชัยภูมิ
กลุ่มเมืองที่ขอนแก่น พบการสร้างอโรคยศาลในระยะทางห่างกันราว ๓๐-๓๓ กิโลเมตร ได้แก่ ‘อโรคยศาลปรางกู่บ้านแท่น’ ในจังหวัดชัยภูมิ ‘อโรคยศาลกู่แก้ว’ ที่บ้านหัวสระทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองขอนแก่น ห่างจากตัวเมืองราว ๑๐ กิโลเมตร และ ‘อโรคยศาลกู่ประภาชัย’ หรือกู่บ้านนาคำน้อยที่อยู่เหนือตัวจังหวัดไปราว ๒๐ กิโลเมตร กลุ่มเมืองที่หนองหานกุมภวาปี พบว่ามีการสร้าง ‘อโรคยศาลกู่แก้วบ้านจีต’ ห่างจากบริเวณหนองหานกุมภวาปีราว ๑๐ กิโลเมตร
กลุ่มเมืองที่บ้านพันนา ‘อโรคยศาลที่บ้านพันนา’ ซึ่งเป็นชุมชนตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ในยุคสำริดและเหล็กในวัมนธรรมบ้านเชียงมาจนถึงสมัยทวารวดี ซึ่งในเขตอีสานเหนือหรือแอ่งสกลนครนี้ ไม่พบว่ามีการสร้างอโรคยศาลมากมายเช่นเดียวกับในเขตทางใต้ของเอกเขาภูพาน แต่สำหรับตัวเมืองสกลนครที่มีการทำผังเมือง ศาสนสถานสำคัญหลายแห่งทั้งในเมืองและบนภูเขาล้วนได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทางศาสนาในยุคสมัยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖
และยังไม่อาจกล่าวถึงว่ามีอโรคยศาลที่เมืองซายฟองในเขตเมืองเวียงจันทน์ ทางฝั่งของสาธารณรัฐประชาธิปไยประชาชนลาวหรือไม่ แม้จะพบรูปสลักหินที่สันนิษฐานว่าเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และจารึกอโรคยศาลที่น่าจะเป็นของจริงก็ตาม เพราะไม่พบร่องรอยของอาคารศาสนสถานหลงเหลืออยู่แต่อย่างใด
นอกเหนือจากกลุ่มเมืองที่ปรากฏศาสนสถานเนื่องในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่กล่าวถึงทั้งสามกลุ่มแล้ว ยังพบปราสาทชุดอโรคยศาลที่ ‘ปราสาทน้อยห้วยพะใย’ ในอำเภออรัญประเทศจังหวัดสระแก้ว
อนึ่ง ปัจจุบันนี้พบการสร้างอาคารยาวที่มีปราสาทแบบเดียวกับ ‘ธรรมศาลา’ ทั้งที่ด้านหน้าของ ‘ปราสาทบันทายฉมาร์’ ซึ่งอยู่นอกแนวที่ถูกขีดเพื่อเชื่อมต่อช่องเขาตาเมือน เพราะปราสาทบันทายฉมาร์ตั้งอยู่ในทิศตะวันออกของแนวเส้นทางที่กล่าวว่าเป็นถนน แต่อยู่ในเส้นทางเดินทัพแบบเก่าและเส้นทางของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสแบบเก่า อีกที่หนึ่งที่ปรากฏธรรมศาลาคือบริเวณเชิงเขาด้านหน้าของ ‘ปราสาทบานัน’ ในจังหวัดพระตะบอง ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของทะเลสาบเขมรและไม่ได้อยู่ในเส้นทาง ๕ เส้นทางจากพระนครธมที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์แต่อย่างใด
เรียงจากบนลงล่างและซ้ายไปขวา
*ธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทาง ‘ปราสาทตาเมือนโตจที่ช่องตาเมือน สุรินทร์
*ธรรมศาลาที่ด้านหน้าของปราสาทบันทายฉมาร์ บันทายเมียนเจย กัมพูชา ซึ่งอยู่นอกเส้นทางราชมรรคา
*ธรรมศาลาที่ด้านหน้าทางขึ้นปราสาทบานัน เมืองพระตะบอง กัมพูชา ซึ่งอยู่นอกเส้นทางราชมรรคา
*อโรคยศาลปราสาทน้อยห้วยพะใย อรัญประเทศ สระแก้ว อยู่ในบริเวณฝั่งใต้ของเทือกเขาพนมดงเร็ก แต่อยู่ในกลุ่มบ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกของที่ราบลุ่มรอบทะเลสาบเขมร
ความสัมพันธ์กับเส้นทางเดินทางสมัยโบราณตามช่องเขาพนมดงเร็ก
การแบ่งเขตภูมิวัฒนธรรมโดยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ราบลุ่มทะเลสาบและแม่น้ำขนาดใหญ่ออกจากที่ราบสูงยกตัวโดยมีแนวเทือกเขาขวางกั้นตามธรรมชาติตลอดแนวระยะทางไม่ต่ำกว่า ๓๖๐ กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย และมีความสูงแตกต่างกันมากกว่า ๑๐๐ เมตรขึ้นไปเป็นที่ประจักษ์ถึงความแตกต่างทางภูมิศาสตร์อย่างชัดเจน การติดต่อผ่านระหว่างชุมชนสมัยโบราณทั้งสองเขตต้องเดินทางผ่านช่องเขาโดยเลือกพื้นที่ตามธรรมชาติที่สามารถเดินทางได้สะดวกเพราะไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้มากนัก มีทั้งที่ใช้การเดินทางด้วยเท้าและแบบคาราวานกองเกวียน วัวต่าง และช้างที่สามารถไต่ระดับความสูงของเทือกเขาพนมดงรักตามบริเวณที่เหมาะสม
จากการสำรวจแผนที่เก่าและเดินทางสำรวจชุมชนโบราณในเขตอีสานพบว่า เส้นทางติดต่อผ่านไปสู่ดินแดนในที่ราบสูงโคราชหรืออีสานนั้นเดินทางผ่านช่องเขาซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่โบราณ ในเขตประเทศไทยการสร้างถนนในปัจจุบันแทบทุกแห่งก็ใช้เส้นทางทางดั้งเดิมนั้นผ่านไปสู่ที่ราบสูงโคราช และมักมีชุมชนแต่ดั้งเดิมทั้งสองฝั่งแนวเทือกเขาเป็นที่พักหรือเพื่อเช่าเกวียนและวัวต่าง เพื่อจะเดินทางต่อไปยังชุมชนอื่นๆ ในเส้นทางที่ถูกกำหนดมาโดยลักษณะภูมิประเทศตามธรรมชาติ เช่น พื้นที่ราบโล่งหรือเดินทางตามแนวลำน้ำ
การเดินทางไปมาทั้งสองฝั่งเทือกเขาพนมดงเร็กต้องเลือกบริเวณที่เดินทางด้วยเท้าได้สะดวก หรือเป็นช่องเขาขนาดใหญ่ที่ช้างหรือกองคาราวานเกวียน หรือวัวต่าง หรือเป็นช่องเขาที่ต้อนฝูงสัตว์พวกวัวและควายข้ามเขตไปมาเพื่อค้าขาย หรือเพื่อกองทัพในการสงครามได้ ซึ่งโดยมากมักเป็นช่องทางผ่านตามธรรมชาติ มีทั้งที่ใช้ติดต่อกันในท้องถิ่นหรือเป็นที่รู้จักสำหรับคนเดินทางและผู้คนที่อยู่ห่างไกล
แม้ว่าจะทราบกันว่ามีช่องเขาติดต่อกับชุมชนทางฝั่งเขมรในท้องถิ่นใดบ้าง แต่ร่องรอยสำคัญเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์แผนที่ของสยามควรแก่การนำมาใช้ตรวจสอบเส้นทางติดต่อในอดีตก็คือ Royal Siamese Maps. War and Trade in Nineteenth Century Thailand. [2004] งานศึกษาวิเคราะห์แผนที่ภาพวาดสีขนาดใหญ่บนผืนผ้าฝ้าย ๑๗ แผ่นที่พบในพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ มีการบอกตำแหน่งชุมชนทางผ่าน จุดสังเกตในท้องถิ่น วัดสำคัญ ด่าน เมือง หนองบึง แม่น้ำ ภูเขา ระบุแนวเส้นทางรวมทั้งระยะทางไว้ด้วย วัตถุประสงค์ของการทำแผนที่เหล่านี้ก็คงเกี่ยวข้องกับการทำสงครามหรือการค้าในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เฉพาะแผนที่ในเขตอีสานใต้และเขมรส่วนในที่เขียนกำกับเป็นชื่อเรียกว่า ‘เขมรในนี้’ ทางตะวันตกรวมเอาบริเวณฉะเชิงเทรา จันทบุรี และบริเวณทางฝั่งอีสานใต้ เทือกเขาพนมดงเร็ก และรอบทะเลสาบเขมรจนถึงพนมเปญ และแม่น้ำโขงขึ้นไปจนถึงจำปาสัก ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของสยามในช่วงนั้น แผนที่นี้เน้นให้เห็นว่ามีการสร้างป้อมค่ายหรือด่านจำนวนมากทางฝั่งใต้ของทะเลสาบเขมร จึงน่าจะเป็นช่วงศึกในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่รบกับญวนและเขมร
แผนที่ขนาด ๑๓๓x๒๐๑ เซนติเมตร ส่วนหนึ่งของแผนที่ ‘เขมรในนี้’
น่าจะทำขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
แผนที่ซึ่งถูกปรับจากแผนที่ภาพวาด ‘เขมรในนี้’ แสดงตำแหน่งของชุมชน เมืองด่าน และเส้นทางเดินรวมทั้งเส้นทางน้ำต่างๆ แสดงการจัดแนวเส้นทางการเดินทาง อธิบายจากตะวันตกไปตะวันออก ช่องแรกเป็นแนวทางการเดินทางผ่านช่องทับลานเข้าสู่เมืองปักธงชัยสู่โคราช แนวที่สอง เป็นช่องตะโก ช่องสระแจง ช่องบาระแนะ สู่เมืองนางรอง บริเวณนี้จะมีชุมชนหลายแห่งที่เป็นเมืองด่านตั้งรับ ส่วนทางเขมรต่ำใช้แนวเส้นทางน้ำสะโตนที่มีต้นทางฝั่งไทยและลำน้ำสวายจิก ซึ่งมีเมืองบันทายฉมาร์เป็นเมืองป้อม [Citadel] ทางฝั่งตะวันตก (โดยมีเมืองป้อมขนาดใหญ่มากทางฝั่งตะวันออกคือปราสาทพระขรรค์ที่กำปงสวาย) ทั้งสองสายไหลลงสู่ทะเลสาบเขมร แนวที่สาม เป็นเขตลุ่มน้ำเสน ซึ่งใช้เป็นแนวเส้นทางเดินทางจากบริเวณทะเลสาบเขมรไปยังทางแถบจังหวัดสุรินทร์ ขุขันธ์ และศรีษะเกษ ผ่านปราสาทศรี ซึ่งอาจจะหมายถึงกลุ่มปราสาทตาเมือนก็ได้ แนวนี้เป็นบริเวณที่มีเส้นทางหลายสายลงสู่เมืองพระนครหรือเสียมเรียบโดยตรง
และอ่านแผนที่ได้ความดังนี้
การเดินทางเข้าสู่แปดริ้วหรือฉะเชิงเทราเลียบแม่น้ำบางปะกงฝั่งซ้ายขึ้นไปตามแม่น้ำนครนายก ส่วนฝั่งขวาแยกมาทางเมืองปราจีน ถึงบ้านปากน้ำแยกไปด่านกบแจะหรือเมืองประจันตคาม ซึ่งเส้นนี้เดินข้ามช่องเขาลงลำนางแก้ว เข้าเมืองปักธงชัยและโคราชได้ตามลำดับ และทางต้นน้ำบางปะกง ผ่านด่านหนุมาณที่เมืองกบินทร์บุรีและด่านพระปรงต่อชายเขตสระแก้ว ระหว่างเส้นทางนี้มีทางแยกเพื่อข้ามเขาเข้าไปทางเมืองพรานหรือบ้านบุพรามหณ์ในปัจจุบัน ข้ามเขาเข้าสู่บ้านสะแกราบหรือสะแกราช เลียบลำพระเพลิงเข้าสู่เมืองปักธงชัย
ต่ำลงมาทางบ้านปากแพรกสามารถเดินทางเลียบแควพระปรงตัดออกไปทางตะเคียนทองทิศทางที่จะไปทางวังน้ำเย็นและจันทบุรีได้
จากด่านพระปรงข้ามห้วยโสมงตัดขึ้นทางเหนือเพราะบริเวณนี้เป็นที่ดอนเหมาะแก่การเดินทัพ ผ่านพระบึง ตะลุมพุก ท่าแยก ระหัดสูง บ้านกุ่ม แซร์ออ ซึ่งบริเวณนี้สามารถเดินทางข้ามเทือกเขาที่ ‘ช่องตะโก’ ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่ผ่านอำเภอโนนดินแดง ปะคำ และไปออกที่เมืองนางรอง บริเวณบ้านแซร์ออนี้ หากแยกไปทางตะวันออกก็จะถึงบ้านละลม บ้านสิง บ้านจังหัน ซึ่งเป็นทิศทางที่ข้ามลำน้ำสะโตนและลำน้ำตะเคียนที่มีต้นน้ำจากเทือกเขาบรรทัด เขาโล้น เขาอีด่าง ทางตาพระยาไหลไปยังเมืองสวายจิกและเป็นเส้นทางน้ำที่ลงสู่ทะเลสาบเขมร
ต่ำลงมาจากด่านพระปรงข้ามลำน้ำพระปรงและลำน้ำสทึงไปที่พระบึง ซึ่งสามารถเดินทางขึ้นเหนือไปที่หนองสาลิกาแล้วกกลับมาที่บ้านพระจาฤก แล้วเดินทางขึ้นเหนือไปที่บ้านกุ่มได้อีกเช่นกัน
ไม่ไกลจากบ้านพระกฤต มีจุดสังเกตสำคัญคืออ่างศิลา สามารถเดินทางแยกเลียบลำน้ำลงใต้ไปยังทุ่งพระที่จะเดินทางไปยังบ้านตะเคียนทองได้ อีกสายหนึ่งจากอ่างศิลาข้ามลำน้ำพรหมโหด มายังด่านทุ่ง บ้านโคก เมืองหินแร่ซึ่งน่าจะอยู่ในเขตเมืองศรีโสภณในปัจจุบัน ข้ามลำน้ำมาที่เมืองตะโหนดเดินทางเข้าสู่เมืองพระตะบองได้
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางที่ใช้เดินทางเข้าสู่พระตะบองทางเมืองจันทบุรีขึ้นมาทางตะวันออกเฉียงเหนือและมีด่านจำนวนมากทางฝั่งใต้ของทะเลสาบ ทำให้เห็นว่าเป็นทิศทางการทำสงครามรับศึกใหญ่ทางฝ่ายญวนที่ใช้เวลาในการทำสงครามสยามและญวนกับเขมรนานกว่า ๑๔ ปี (พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๐)
จากบ้านกุ่ม แซร์ออ ละลม ซึ่งมีเส้นไปยังเมืองสวายจิกได้ ก็จะเข้าสู่บ้านสมอพวก พุไธสมันหรือปราสาทบันทายฉมาร์ซึ่งอยู่กึ่งทางระหว่าง ‘ลำน้ำสวายจิก’ ที่ไหลลงสู่ทะเลสาบเขมรและมีบ้านพะเนียดใกล้กับปากน้ำ และ ‘ลำน้ำเสน’ [Stung Sen] ที่ไหลลงสู่ทะเลสาบเขมรเช่นเดียวกัน
จากปราสาทบันทายฉมาร์ มีทางแยกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือไปยังบ้านตาอิ่มแล้วเข้าช่อง ‘กระแนะ’ หรือบาระแนะลงสู่ที่ราบไปยังเมืองนางรองได้เช่นกัน
ส่วนอีกฝากหนึ่ง หากเดินทางเลียบลำน้ำกำปงหรือลำน้ำเสนจากบ้านพะเนียดขึ้นเหนือไปทางตะวันออกเลียบลำน้ำนี้ไป จะผ่านสะพานหินสองสามแห่ง ผ่านบ้านจาระดาด พุไธ สู่ ‘ปราสาทศรี’ ซึ่งจากบริเวณนี้เดินทางผ่านช่องเขาไปยังเมืองตะลุงหรือจะแยกไปทางตะวันออกสู่เมืองสุรินทร์ก็ได้ แม้จะไม่ได้ระบุว่าเป็นช่องเขาใด แต่อาจคาดเดาได้ว่าอาจจะเป็นช่องที่ตาเมือน เพราะมีปราสาทอยู่หลายแห่งอาจจะเป็นที่เรียกว่าปราสาทศรีก็ได้ หรือช่องโอเสม็ดหรือทางฝั่งไทยเรียกว่าช่องจอม ที่เป็นช่องทางใหญ่เพื่อการเดินทางได้ทั้งแบบขบวนคาราวานและการทัพ
บริเวณลำน้ำสาขาของลำน้ำเสน มีทางน้ำที่เป็นต้นน้ำอีกสายหนึ่ง มาจากทางทิศตวะนออกเฉียงเหนือ ซึ่งสามารถเดินทางข้ามช่องเขาเข้าสู่เมืองสังขะทางหนึ่ง หรือเดินทางไปสู่เมืองซำแระที่น่าจะเป็นที่ตั้งของเมืองอัลลองเวงในปัจจุบันเพื่อข้ามเทือกเขาทางช่องสะงำ เข้าสู่เมืองขุขันธ์ทางศรีษะเกษ เส้นทางนี้จะใช้กันในกลุ่มการเดินทางจากเมืองเสียมเรียบอันเป็นที่ตั้งของเมืองพระนครในอดีต ผ่านปราสาทสำคัญหลายแห่ง สู่ปราสาทที่เกาะแกร์และเดินทางไปทางตะวันออกได้อีก
ข้อมูลจากการอ่านแผนที่แผ่นนี้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า
๑. การเดินทางผ่านช่องเขาที่มีทิศทางไปยังเมืองปักธงชัย โคราช พิมาย ใช้การข้ามเทือกเขาบริเวณวังน้ำเขียว ซึ่งมีถนนหลวงติดต่อเชื่อมผ่านทับเส้นทางนี้ในปัจจุบัน และเป็นจุดที่ใช้เดินทางผ่านไปสู่บ้านเมืองเลียบชายเขาในแถบปักธงชัย-โคราช หรือปักธงชัย-ครบุรี-เสิงสา-ปะคำ-ละหานทราย ซึ่งเดินทางไปยังเมืองนางรองได้เช่นกัน
๒. จากบ้านช่องกุ่ม แซร์ออ สามารถเดินทางผ่านเทือกเขาพนมดงเร็กบริเวณ ‘ช่องกุ่ม’ ผ่านโนนดินแดง-ปะคำ-ละหานทรายสู่เมืองนางรอง และจากบ้านละลมหรือละลมทิมเดินทางสู่เมืองเมืองสวายจิกและปราสาทบันทายฉมาร์ในจังหวัดอุดรเมียนชัยปัจจุบันในแนวตะวันออก-ตะวันตก ก่อนเดินทางขึ้นเหนือและข้ามช่องเขาได้ทั้งบ้านบาระแนะหรือช่องเขาอื่นๆ จนถึงช่องจันทบเพชร แล้วเดินทางขึ้นเหนือสู่เมืองนางรองได้เช่นกัน
บริเวณถนนทางขึ้นช่องกุ่มในปัจจุบัน มีการสร้างศาลบริเวณจุดผ่านทางที่ข้ามเขต ซึ่งบริเวณช่องเขาในจุดเปลี่ยนผ่านมักจะเป็นเช่นนี้
ช่องบาระแนะ ในจังหวัดบุรีรัมย์ มีการสร้างรอยพระพุทธบาทคู่ไว้บูชาสำหรับผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงยังพบศาสนสถานขนาดเล็กๆ ด้วย การสร้างทั้งสองสิ่งนี้น่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒
๓. หากจะเดินทางไปทางตะวันออก เช่นที่เมืองตะลุงหรือประโคนชัย ซึ่งอยู่ไม่ไกล ‘เขาพนมรุ้ง’ นัก หรือเดินทางไปเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ จะใช้เส้นทางที่เลียบลำน้ำสายหลักคือ ลำน้ำเสน [Stung Sen] ไปยังปราสาทศรี ซึ่งอาจจะใช้ทั้งช่องตาเมือนหรือช่องโอเสม็ดก็ได้ แต่ทิศทางของเส้นทางการติดต่อในบริเวณนี้จะมีแนวโน้มไปยังบ้านเมืองทางตะวันออกที่อยู่ก่อนถึงแนวเมืองขุขันธ์ ซึ่งเดินทางผ่านเมืองสุรินทร์ไปยังชุมชนเหนือลำน้ำมูล แถบนครจำปาศรีนาดูน นครจำปาขันได้
๔. ผู้คนในอดีตที่จำเป็นต้องเดินทางผ่านเทือกเขาพนมดงเร็ก จึงเลือกช่องเขาที่เหมาะสมและใกล้บริเวณชุมชนที่ต้องการเดินทางไป และเราเห็นแนวโน้มของการแบ่งเขตเป็นกลุ่มในแผนที่การเดินทางดังกล่าว คือ กลุ่มที่เดินทางไปยังปักธงชัย โคราช พิมายกลุ่มหนึ่ง และกลุ่มที่เดินทางไปยังนางรอง เมืองตะลุงหรือประโคนชัย ผ่านเมืองต่ำหรือเขาพนมรุ้ง เมืองสุรินทร์ และบ้านเมืองภายในใกล้ทุ่งกุลาฯ อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นธรรมชาติของการเดินทางเช่นนี้ การเดินทางจากแผ่นดินที่ราบลุ่มรอบทะเลสาบเขมรสู่แผ่นดินที่ราบสูงโคราช จึงแบ่งชุดแนวทางการเดินทางเป็นสองกลุ่มดังกล่าว และไม่เห็นจุดหมายของการเดินทางแบบเมืองพระนครไปพนมรุ้ง เพราะจากเมืองพระนครหรือเสียมเรียบมีแนวโน้มที่จะเดินทางผ่านช่องเขาทางตะวันออกไปทางลำน้ำเสนไปทางเมืองขุขันธ์หรือช่องสะงำหรือช่องเขาใกล้ๆเขาพระวิหารมากกว่าช่องอื่นๆ และจากเมืองพระนครเพื่อจะไปพิมายก็อาจจะต้องใช้เส้นทางในเขตบ้านเมืองภายในที่เดินทางเลียบแนวเขาพนมดงเร็ก ตัดขึ้นไปเมืองปักธงชัยแล้วเดินทางต่อไปยังพิมาย ซึ่งยังเป็นข้อสังเกตเท่านั้น
๕. พบว่ามีการวาดสัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็น ‘สะพานหิน’ หลายแห่งในแผนที่ดังกล่าว ซึ่งสัมพันธ์กับการสำรวจพบสะพานทำด้วยศิลาแลงจำนวนหนึ่งทอดข้ามผ่านลำน้ำที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันหรือลำน้ำที่แห้งไปแล้ว และมีความเข้าใจว่า การสร้างสะพานก็เนื่องด้วยมีถนนจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน แม้ว่าสิ่งก่อสร้างทั้งสองประเภทนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ตาม แต่การสร้างสะพานหินย่อมเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเดินทางในอดีตที่เป็นเส้นทางำลอง [Trail] โดยไม่จำเป็นต้องสร้างคันดินขนาดใหญ่ให้เป็นถนนเช่นในปัจจุบันเลยก็ตาม
เอกสารการบันทึกการเดินทางที่น่าสนใจอีกชุดหนึ่งคือ รายงานการสำรวจ ‘บันทึกการเดินทางในลาว ภาคสอง พ.ศ. ๒๔๔๐’ [Voyage Dans IeLaos : tome premier 1897] โดย เอเตียน แอมอนิเย
ราวปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ [ค.ศ. ๑๘๙๗] ก่อนการลงนามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๒๒ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖ [ค.ศ.๑๙๐๔] โดยมีข้อหนึ่งเพื่อการกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศกัมพูชาซึ่งสมัยนั้นเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส โดยให้ใช้สันปันน้ำ [Watershed] ชองเทือกเขาพนมดงเร็กและกำหนดรายละเอียดได้ตามที่เคยมีการสำรวจไว้ โดยกำหนดให้มีการปักปันหลักเขตแดนด้วย ทำให้บริเวณเมืองเสียมราฐ ศรีโสภณและพระตะบองหรือเขมรส่วนใน ดินแดนในอารักขาของสยามถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมของฝรั่งเศส
แอมอนิเยน่าจะมีความชำนาญทั้งในทางภูมิศาสตร์ การอ่านภาษาจารึกโบราณและพื้นฐานทางสังคมและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพราะสามารถจดบันทึกรายละเอียดของภูมิประเทศระหว่างการเดินทางสำรวจได้ดี รวมทั้งการทำแผนที่และกำหนดตำแหน่งไปด้วยกัน ข้อสังเกตของการเดินทางข้ามช่องเขาต่างๆ ของเขาทำให้ทราบการใช้งานพื้นที่และลักษณะของช่องทางผ่านที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างละเอียด
เดอลาจองกิเยบันทึกภาพวาดจาก ‘ถ้ำวัวแดง’ เส้นทางจากด่านปะคำไปยังครบุรี ปัจจุบันอยู่ในแถบอำเภอเสิงสา นครราชสีมา
คณะสำรวจชุดใหญ่ชาวฝรั่งเศสที่มีเอเตียน แอมอนิเย เป็นผู้บันทึก ก็พรรณนาถึงการเดินทางจากสุรินทร์สู่ช่องเขาที่พนมดงเร็ก เพื่อสำรวจปราสาทและค้นหาศิลาจารึก (แต่ในขณะเดียวกันก็น่าสงสัยว่าจะขออนุญาตเช่นนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ สังคมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บภาษีหรือส่วยต่างๆ ในท้องถิ่น ชาติพันธุ์และตำนานท้องถิ่นของพื้นที่ที่ตนเข้าไปถึงไปด้วย) โดยใช้ช่องทางผ่านที่ใช้เกวียนบรรทุกเดินทางได้ที่ “ด่านช่องจอม-โอเสม็ด” อันเป็นช่องทางที่คนค้าขายเช่นคนจีนจากสุรินทร์ใช้เดินทาง แต่ก็มีโจรชุกชุม
เขาก็ได้กล่าวพรรณนาถึงช่องทางผ่านของเทือกเขาพนมดงเร็กหรือที่แปลว่า ‘เขาไม้คาน’ ซึ่งเป็นที่รู้จักดี โดยเรียงจากทางตะวันตกไปตะวันออก คือ
แผนที่สมัยอาณานิคม สร้างโดย Lunet de La Jonquière จากหนังสือบันทึกการสำรวจในสยามก่อนสนธิสัญญา ๑๙๐๙ Inventaire descriptif des monuments du Cambodge แสดงเขตแดนของเวียดนาม กัมพูชาและสยาม
แสดงช่องเขาที่สำคัญในบริเวณเทือกเขาพนมดงเร็ก เน้นบริเวณทางทิศตะวันออก
‘ช่องตะโก’ (Phlau Dangkor) ลงจากเขาจึงถึงบ้านพะเกียน [Pkeaun] ซึ่งอาจจะเป็นบ้าน ‘ปะคำ’ ซึ่งเป็นจุดแยกออกไปทางเมือง ๓ แห่งได้คือ ปักธงชัย นางรอง และสุรินทร์ ส่วนทางฝั่งด้านใต้ของเทือกเขาคือบ้านละลมทิม ช่องเขานี้เขากล่าวว่าเดินทางค่อนข้างลำบากและเปลี่ยว มีหล่ม โคลนตมมากมายและน้ำขังตลอดปี แต่จะมีคนนำเกวียนข้ามอยู่มากในฤดูแล้งที่สามรรถข้ามได้ภายในหนึ่งวัน
‘ช่องสระแจง’ (Phlau Srah Cheng) ห่างจากช่องตะโกไปทางตะวันออกในระยะทางเดินเท้าราว ๑ วัน ใช้สำหรับผู้คนผ่านด้วยการเดินเท้า
‘ช่องจันทบเพชร’ (Phlau Cham Tup Pech) อยู่ห่างจากช่องสระแจงไปทางตะวันออกในระยะทางเดินเท้าราว ๒ วัน เป็นเส้นทางสำหรับคนเดินเท้าที่ติดต่อกับเมืองสวายจิกในเขตศรีโสภณ ปักธงชัย และโคราชได้
หลังจากนี้ ทางตะวันออกของช่องจันทบเพชร ซึ่งติดกับช่องโอบก ช่องเมฆา ช่องไบแบก ช่องบาระแนะ ฯลฯ เขาแยกภูมิประเทศของเทือกเขาพนมดงเร็กออกไปจากภูเขาสูงทางฝั่งตะวันออกเป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งลาดต่ำที่ราบมากกว่าทางตะวันออก เป็นป่าไม้ดงใหญ่แน่นหนา ร่มครึ้มอยู่ตลอดเวลา
ต่อจากเขตเทือกเขาที่ต่ำ ‘ช่องตาเมือน’ (Phlou Ta Mean) ห่างจากช่องโอเสม็ดที่ทางตะวันตกไปราว ๙ ไมล์ (ระยะประเมินราว ๖.๕ กิโลเมตร) เป็นเส้นทางจากสุรินทร์ที่เดินทางไปสวายจิก แต่เป็นช่องผ่านทางที่มีผู้ร้ายพวกโจรขโมยวัวควายชุกชุม
‘ช่องโอเสม็ด’ (Phlou Smach) คนลาวเรียกว่าช่องเม็ก เป็นช่องทางสำคัญสำหรับกองคาราวานเกวียนและฝูงวัวควายที่ต้อนไปมาเพื่อค้าขายกับทางเมืองลาวตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ และมีการเก็บส่วยตามเส้นทางนี้ด้วย
จากนั้นทางทิศตะวันออก จะมี ‘ช่องตุกโจล’ (Phlou Tuk Chol) ห่างจากไปทางตะวันออกของช่องจอมเดินราว ๑ วัน ‘ช่องดวนแก้ว’ [Phlua Daun Keo) เป็นช่องผ่านทางที่เดินทางได้ลำบากมาก ‘ช่องจาม’ [Phlua Cham] ห่างจากเมืองสังขะโดยการเดินทางราว ๑ วัน ซึ่งสามารถเดินทางไปยังลำน้ำสตรึงเสน [Strung Sen] ซึ่งเป็นลำน้ำใหญ่เหนือทะเลสาบและไปออกที่เสียมเรียบได้ ต่อจากนั้นแนวเทือกเขาก็เริ่มราบเรียบเมื่อเข้าสู่เขตเมืองขุขันธ์ ‘ช่องพระพาไล’, ‘ช่องดวนออ’ สามารถเดินทางผ่านไปยังเมืองของในจังหวัดกำปงสวายได้ แล้วจึงถึงยอดเขาพระวิหารที่เขากล่าวว่าเป็นยอดเขาที่สวยงามบนที่ราบสูงของเมืองขุขันธ์
‘ช่องพระจไร’ อยู่ทางตะวันออกของยอดเขาพระวิหาร ผ่านลงทางบ้านบึงมลู, ‘ช่องดัมพกา’ เป็นช่องเดินเท้า, ‘ด่านตาปุย’ เกวียนสามารถเดินทางผ่านได้แต่ด้วยความลำบาก ความสูงต่ำของพื้นที่ทั้งสองฝั่งต่างกันราว ๒๐๐ เมตร ‘ช่องอันเส’ เป็นช่องทางคนเดิน ซึ่งมีสองช่องคือ ‘ชองจามบัก’และ ‘ช่องโป่งแดง’ จากช่องอันเสก็จะตัดเป็นมุมฉากหักขึ้นไปในเหนือใต้ เป็นบริเวณของเมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดมและเมืองอุบลที่กั้นเขตกับเมืองลาวจำปาสัก
อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ทำขึ้นก่อนที่จะมีรายงานการสำรวจของ Étienne Edmond Lunet de Lajonquière ในการสำรวจโบราณสถานเรื่อง Inventaire descriptif des monuments du Cambodge ทั้ง ๓ เล่มที่พิมพ์ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๑๑ ก่อนและระหว่างที่จะมีการลงนามสัญญายกดินแดนพระตะบอง เสียมเรียบและศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๐๔ นักสำรวจทั้งสองท่านคือ แอมอนิเย (ค.ศ. ๑๘๙๗) และลูเน เดอ ลาจองกิเย (ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๑๑) แม้การทำแผนที่ในบางแผ่นบางชิ้นจะระบุว่าน่าจะมีแนวถนนโบราณอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่พบการกล่าวถึงเส้นทางแบบถนนโบราณจากเมืองพระนครมายังพิมาย
โดยเอกสารหลักที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการกำหนดเส้นที่ลากจากขอบด้านบนจากปราสาทบายนลากตรงผ่านเข้าช่องตาเมือน ผ่านแนวปราสาทพนมรุ้งและมีปลายทางที่พิมาย และระบุว่าทำขึ้นในปี ๑๙๐๔ (พ.อ. ผศ. ดร. สุรัตน์ เลิศล้ำ, ผศ.ดร. ปานใจ ธารทัศนวงศ์ และคณะ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการค้นหาและพัฒนาสารสนเทศของถนนโบราณ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ระยะที่ ๑ และระยะที่ ๒, พ.ศ.๒๕๕๐ และ ๒๕๕๑, อ้างใน สุภัทรดิศ ดิศกุล. ศ.มจ. ‘ที่พักคนเดินทางของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗’. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๒. ๒๕๓๗. หน้า ๑๐๔-๑๐๖. ซึ่งอ้างใน Finot Louis. Dharmaçâlâs au Cambodge. Bulletin de l’Ecole française d’Extrême-Orient. Tome 25, 1925. pp. 417-422.] ฟิโนต์อธิบายภาพประกอบว่า ‘ธรรมศาลาบนถนนสองสายหลักของกัมพูชาโบราณ ทำขึ้นจาก แผนที่สถานที่โบราณในกัมพูชาของ ลูเน เดอ ลาจองกิเย’ แต่ในแผนที่นี้แสดงตำแหน่งช่องจอมหรือช่องเสม็ดเป็นที่เดียวกับปราสาทตาเมือน ซึ่งเป็นข้อผิดพลาด จากบทความ Dharmaçâlâs au Cambodge
การอ้างอิงสืบทอดกันมาสู่งานวิจัยสารสนเทศของถนนโบราณดังกล่าว จึงมีที่มาที่ต้นทางจากบทความของหลุยส์ ฟิโนต์ เรื่อง ‘ธรรมศาลาแห่งกัมพูชา’ ซึ่งกล่าวอ้างถึงแผนที่ของนักสำรวจรุ่นก่อนหน้าคือ ‘ลูเนต์ เดอ ลาจองกิเย’ ที่ถูกนำมาปรับใหม่ แต่ที่น่าแปลกคือการลากเส้นทางให้ข้ามช่องเขาทางช่องเสม็ดของเขาอยู่ในตำแหน่งเดียวกับช่องตาเมือนที่มีธรรมศาลาตั้งอยู่ซึ่งเป็นข้อผิดพลาด และในข้อเท็จจริงนั้นเป็นดังที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสทั้งสองท่านบันทึกไว้อย่างชัดเจนก่อนหน้าหลายสิบแล้วว่า ช่องตาเมือนอยู่ห่างจากช่องโอเสม็ดหรือช่องเสม็ดหรือช่องจอมชื่อที่เราคุ้นเคยกว่า ๕๐ กิโลเมตร
ข้อสรุปจากงานวิจัยฯ ยืนยันว่ามี ‘ถนน’ [Road] เลียบธรรมศาลาจากเมืองพระนครเข้าช่องเขาสู่เมืองพิมายบางประการ และพบว่า มีศาสนสถานที่เรียกว่าอโรคยศาล ๑ แห่งจากการศึกษาครั้งนี้คือปราสาทไพรนคร [Prasat Prey Nokor] และพบธรรมศาลาตามแนวถนนโบราณในกัมพูชาจากรายการรายชื่อของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสคือปราสาทอัมเปิล [Prasat Ampel] และปราสาทโคกพเนา [Prasat Kok Phnov] นอกจากนี้ยังพบปราสาทหินอีกหนึ่งหลังคือ ปราสาทจานที่อาจจะเป็นธรรมศาลาที่ไม่เคยถูกบันทึกไว้ในเอกสารใดๆ
อย่างไรก็ตามในงานวิจัยเรื่องสารสนเทศฉบับนี้ก็ไม่ได้ลงตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ของสิ่งที่ค้นพบ ส่วนการสำรวจแนวถนนทั้งสองฝั่งสรุปว่าทางฝั่งไทยน่าจะถูกทำลายจนสูญหายไปจากการทำการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ส่วนในกัมพูชานักสำรวจทางฝั่งนั้นพบว่าแนวถนนนั้นไม่ได้ต่อเนื่องยาวเป็นเส้นตรงแต่เบี่ยงตามสภาพขอชุมชนที่สำรวจ แม้บางแห่งจะมีการขุดค้นชั้นดิน แต่ก็ไม่มีรายละเอียดข้อมูลที่พบเพื่อเปรียบเทียบเรื่องแนวถนนตามแบบสมมติฐานที่ตั้งขึ้นอย่างชัดเจนแต่อย่างใด
แผนที่แสดงการพบหลักฐานต่างๆ ของงานวิจัย โครงการค้นหาและพัฒนาสารสนเทศของถนนโบราณ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
แนวคันดินโบราณที่พบตามชุมชนโบราณต่างๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่ราบสูงโคราชนั้นพบว่ามีหลายแห่งที่สร้างเป็นคันดินสูงตัดขวางแนวทางน้ำธรรมชาติ เพื่อชะลอและทำให้เป็น ‘ทำนบดิน’ [Weir] แบบปีกกา บางแห่งระยะทั้งสองด้านรวมแล้วกว่า ๒-๓ กิโลเมตร บางแห่งสร้างเป็นมุมฉากที่ชาวบ้านท้องถิ่นมักเรียกว่า ‘ ถนนหัก’ เพื่อกักเก็บน้ำในบริเวณกว้างโดยไม่ต้องสร้างบารายขนาดใหญ่ทั้งสี่ด้าน
และการสร้างทำนบนั้นเป็นงานส่วนรวมที่ต้องมีระบบการช่วยเกณฑ์แรงงานเพื่อทำงานสำหรับชุมชนพบทั้งแบบโบราณและในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่นาน จนกระทั่งปัจจุบันระบบการจัดการทำทำนบและทำนบที่ยังคงใช้อยู่ได้สูญหายไปเพราะระบบการจัดการน้ำแบบราชการของกรมชลประทานไปแล้ว โดยมีการศึกษาข้อมูลการสร้างทำนบในเขตอีสานที่น่าสนใจจากงานบทความของอาจารย์ฟูกุย ฮายาโอะและชุมพล แนวจำปา ตลอดจนงานของวิชัย ภาสภรณ์ [Fukui Hayao and Chumphon Naewchampa. Weir irrigation in the upper Mun river basin : A field trip in March, 1998 with some preliminary discussions. Southeast Asian Studies, 36(3), 1998. pp 427-434. และ Vichai Passaporn. ‘Thamnop’ Traditional irrigation system of the Northern Thailand, Past and present. The collage of Asia pacific studies, Ritsumeikan Asia Pacific University, 2007]
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงตัวอย่างแนวทำนบที่เป็นระบบการจัดการน้ำแบบโบราณในพื้นที่ทั้งเหนือและใต้แนวเทือกเขาพนมดงเร็ก ภาพแรกเป็นแนวทำนบที่กั้นขวางห้วยละเวีย บ้านจันดำ ประโคนชัย ภาพลำดับถัดไปคือ แนวทำนบที่คนในท้องถิ่นเรียกว่า ‘ถนนหัก’ บริเวณปราสาทนางรำ นครราชสีมา ส่วนภาพต่อมาคือการสร้างคันดินขนาดราว ๑.๕-๒.๕ กิโลเมตร เป็นุมมฉากที่ปราสาทบันทายต๊วบ ใกล้กับปราสาทบันทายฉมาร์ การสร้างคันดินแบบถนนหักทำเป็นแนวมุมฉากเพื่อรับน้ำในพื้นที่กว้างไม่เฉพาะลำน้ำสายเดียวจนเป็นอ่างเก็บน้ำแบบเปิด
สรุป
ดูเหมือนชาวกัมพูชาในปัจจุบันเลือกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรม [Culture Hero] ของชาติกัมพูชา มีข้อสังเกตจากการสร้างรูปสลักในท่านั่งทำสมาธิอันลุ่มลึกตามสถานที่สำคัญหลายแห่งในบ้านเมืองในฐานะ ‘พุทธราชา’ ของประเทศที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นหลักใหญ่ และการบอกเล่าถึงเรื่องราวของความเป็นกษัตริย์นักรบที่แผ่อำนาจไพศาลไปในทิศทางต่างๆ ที่สำคัญคือในไทย เวียดนามและลาว เราจึงเริ่มพบข้อมูลจากชาวกัมพูชาจำนวนไม่น้อยที่มักล่าวถึงการเป็นเจ้าเมืองขึ้นของตนในสมัยประวัติศาสตร์ช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกชาตินิยมเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ในบริบททางการเมืองและสังคมที่แตกต่างไปตามช่วงเวลา ซึ่งต้องอภิปรายกันอีกมาก
การสร้างธรรมศาลาและอโรคยศาลที่กระจายไปทั่วบ้านเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หากวิเคราะห์ตีความโดยใช้กรอบแนวคิดแบบการเมืองการปกครองของชาวยุโรปในยุคอาณานิคม [Colonialism] ที่มีการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจและมีบ้านเมืองในปกครองที่อำนาจจากศูนย์กลางเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงฝ่ายเดียวมาเป็นแนวทาง ก็จะมองจากปัจจุบันได้ว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้โดยอาศัย ‘ถนน’ เชื่อมต่อราชอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
แต่จากการศึกษาสำรวจชุมชนโบราณในเขตที่ราบสูงโคราชโดยเฉพาะทางฝั่งเหนือของเทือกเขาพนมดงเร็กพบว่า การเสนอเรื่องอำนาจทางการเมืองที่มีอยู่เหนือบ้านเมืองในเขตนี้โดยผ่านการสร้างอโรคยศาล, ธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทางซึ่งอยู่เรียงรายตามถนนที่มักเรียกกันว่าราชมรรคาไม่มีอยู่ในข้อเท็จจริงทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์จนสมารถสรุปเรื่องราวได้เช่นนั้น
ภาพสลักนูนต่ำพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหลายพระกรที่ปราสาทบันทายฉมาร์
เพราะการสร้างที่พักคนเดินทางและสถานที่รักษาพยาบาลตามจารึกที่ปรากฏนั้น อยู่บน ‘เส้นทาง’ [Route] ดั้งเดิมที่ใช้เดินทางติดต่อระหว่างบ้านเมืองทั้งสองฝั่งเทือกเขาพนมดงเร็ก การอุทิศสร้างสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนและตามกลุ่มบ้านเมืองต่างๆ (ข้อสังเกตคือมีการสร้างอโรคยศาลอยู่นอกเขตเมืองขนาดใหญ่แทบทุกแห่งในระยะราว ๘-๑๐ กิโลเมตร) ไม่ได้หมายความว่าอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นั้นควบคุมบ้านเมืองเหล่านั้นไว้แบบรวมศูนย์แต่อย่างใด ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือการทำบุญอุทิศรูปเคารพต่างๆ แก่อโรคยศาล เปรียบพระองค์เองเช่นพระโพธิสัตว์หรือพระผู้ทัศนาโลกเพื่อดูแลสรรพสัตว์ทั้งปวงและความปล่อยวางอันเป็นยอดแห่งสติปัญญาอันสูงสุด เท่าที่พบมีไม่กี่แห่งที่อยู่ในแผ่นดินเขมรต่ำหรือที่ราบลุ่มรอบทะเลสาบ แต่ปรากฏอยู่ตามบ้านเมืองต่างๆ ในเขตที่ราบสูงโคราชอันเป็นนครนอกกัมพุชเทศะเป็นจำนวนมาก
ภาพสลักนูนต่ำเล่าเรื่องพิธีพุทธาภิเษกโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ปราสาทบันทายฉมาร์
และอาคารที่พักคนเดินทางหรือธรรมศาลานั้น ก็น่าจะมีอยู่อีกมากทั้งสองฝั่งของเทือกเขาพนมดงเร็กและในหลายเส้นทาง ที่ยังไม่มีการเรายงานหรือข้อสันนิษฐานว่าเป็นอาคารธรรมศาลาอย่างชัดเจน
ส่วนถนนหรือคันดินที่อาจจะมี ซึ่งในบริเวณเมืองพระนครไปยังปราสาทที่ไม่ไกลักและมีการให้ความสำคัญเช่นในการรับศึก เช่นปราสาทเบิงมาเลีย [Beng Mealea] สำหรับเส้นทางเดินทางไปยังตะวันออกในระยะทางสั้นก็อาจเป็นได้
ส่วนถนนหลวงที่กล่าวถึงในระยะกว่า ๒๕๐ กิโลเมตรนั้น น่าจะเป็นคันดินช่วงสั้นๆ ในเขตชุมชนเก่าและคันดินนั้นคงทำหน้าที่เป็นทำนบเพื่อใช้ในการจัดการน้ำหรือการชลประทานสมัยโบราณเป็นหลักนั่นเอง
บรรณานุกรม
ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์. การศึกษาร่องรอยของบ้านเมืองโบราณบริเวณใกล้เคียงศาสนสถานประจาโรงพยาบาลสมัยพระเจ้า ชัยวรมันที่ ๗ ในเขตจังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัย ประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ธิดา สาระยา. อาณาจักรเจนละ : ประวัติศาสตร์อีสานโบราณ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.
ศานติ ภักดีคำ. รศ.ดร., เขมรสมัยหลังเมืองพระนคร. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ.สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๖
ศานติ ภักดีคำ, รศ.ดร., ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทย-เขมร. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ.สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๗.
ศรีศักร วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน. สำนักพิมพ์มติชน. กรุงเทพฯ ๒๕๓๓.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗. ศิลปากร. ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๐๙.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ ๑๖ เล่ม ๒ ธันวาคม ๒๕๓๗.
สุรัตน์ เลิศล้ำ, พ.อ.ผศ.ดร., ปานใจ ธารทัศนวงศ์, ผศ.ดร. และคณะ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการค้นหาและพัฒนา สารสนเทศของถนนโบราณ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ระยะที่ ๑ และระยะที่ ๒, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๕๐ และ ๒๕๕๑
เอเจียน แอมอนนิเย เขียน, ทองสมุทร โดเร และ สมหมาย เปรมจิตต์ แปล. บันทึกการเดินทางในลาว ภาคสอง พ.ศ. ๒๔๔๐. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๑
Fukui Hayao and Chumphon Naewchampa. Weir irrigation in the upper Mun river basin : A field trip in March, 1998 with some preliminary discussions. Southeast Asian Studies, 36(3), 1998.
Santanee and Stott, Philip Phasuk. ROYAL SIAMESE MAPS. War and Trade in Nineteenth Century Thailand. With a Foreword by HRH Princess Maha Chakri Sirindhorn of Thailand. River books, 2004.
Vichai Passaporn. ‘Thamnop’ Traditional irrigation system of the Northern Thailand, Past and present. The collage of Asia pacific studies, Ritsumeikan Asia Pacific University, 2007
เอกสารออนไลน์
Aymonier, Etienne. Le Cambodge. Les provinces siamoises. Paris : E. Leroux, 1900-1904. 3 vol. Bibliothèque nationale de France gallica.bnf.fr. http://catalogue.bnf.fr/ark:/12148/cb341373901 2 Date de mise en ligne : 15/10/2007
Finot, Louis. Dharmaçâlâs au Cambodge. Bulletin de l’École française d’Extrême-Orient, Tome 25, 1925. pp. 417-422. http://www.persee.fr/web/revues/home/prescript/article/befeo_0336-1519_1925_num_25_1_3060
Lunet de La Jonquière, Étienne. Inventaire descriptif des monuments du Cambodge. Tome 1, 2,3. Bibliothèque nationale de Francegallica.bnf.fr. http://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k98802n.r=Lunet+de+Lajonquière%2C+Etienne.langEN, http://gallicalabs.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k98802n/f3.image, http://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k988030.r=Lunet+de+Lajonquière%2C+Etienne.langEN Date de mise en ligne : 15/10/2007
Tonlé Sap. http://en.wikipedia.org/wiki/Tonlé_Sap
เป็นข้อเขียนที่น่าสนใจมาก
ไม่ทราบมีไฟล์pdf ไหมครับ
ถูกใจถูกใจ
หาอ่านได้อีกรูปแบบจากวารสารเมืองโบราณที่อ้างไว้ค่ะ หรือสามารถcopy ออกมาเป็นpdf ไฟล์ก็ได้เองนี่คะ ไม่ยากอะไร ลองทำดูค่ะ
ถูกใจถูกใจ