ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๒๙๒ (เดือนมิถุนายน ๒๕๕๒) และหนังสือ “เมืองหนองหารหลวงและภูพานมหาวนาสี” จัดพิมพ์โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
พุทธศาสนิกในสังคมไทยคุ้นเคยกับคำว่า “พระป่าสายอีสาน” มาเนิ่นนาน แต่คงไม่เคยนึกย้อนกลับไปว่าแหล่งบ่มเพาะอีกทั้งความสืบเนื่องในวัตรปฏิบัติของสำนักวัดป่าสายอีสานนั้น ดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่มีมาแล้วนับพันปี
หากเมื่อผ่านการปรับรับกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบคณะสงฆ์และการปฏิรูปคณะสงฆ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนทำให้บางคนเข้าใจกันไปว่าพระป่าในอีสานนั้นเกิดขึ้นและเป็นเนื้อแท้เดียวกันจากพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระในธรรมยุติกนิกายที่เพิ่งสถาปนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เท่านั้น (๑)
พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน มีหลักฐานโดยทั่วไปในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ที่เรียกว่าสมัยทวารวดี เมื่อผ่านไปสู่ดินแดนภายใน โดยเฉพาะในอีสานนั้น ช่วงเวลาอาจจะทิ้งห่างไปราวสองสามร้อยปี ในภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาและห่างไกลชุมชนหลายแห่งมีหลักฐานร่องรอยของคณะสงฆ์ที่ไม่ใช้พื้นที่ศาสนสถานในชุมชน แต่กลับปรับเอาเพิงผา ลานหินและแท่นหินธรรมชาติมาเป็นวัดในป่าแทน
“อรัญวาสี” จึงมีปรากฏมาให้เห็นนับแต่บ้านเมืองของเราเริ่มรับพุทธศาสนาทีเดียว
แต่ก่อนหน้านั้นนานมาแล้ว ก่อนที่จะมีเกิดขึ้นของศาสนาหลักใหญ่ๆ มนุษย์ในท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งในอีสานต่างก็ใช้ธรรมชาติเป็นองค์ประกอบของความเชื่อ ภูเขา เพิงผา สายน้ำ ต้นไม้ใหญ่ กลายเป็นหลักหมายอันสำคัญในพิธีกรรมและถือเป็นพื้นที่หรือแหล่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติก่อนที่มนุษย์จะมีพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานและทางการเมืองในรูปแบบของชุมชนขนาดใหญ่ เมือง และรัฐ ตามลำดับ
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมักถูกเชื่อมโยงและหล่อเลี้ยงโดยความเชื่อในสิ่งนอกเหนือธรรมชาติที่สามารถกำหนดและชี้นำความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณให้สยบยอมต่อธรรมชาติของสรรพสิ่งและเพื่อมุ่งค้นหาความสงบและความจริงอันเป็นปรมัตถ์
พระป่าสายอีสานจึงมิได้เริ่มต้นที่ธรรมยุติกนิกาย หากเกิดแต่รากเหง้าของความเป็นบ้านเมืองเก่าแก่สองฝั่งโขง
ภูผาศักดิ์สิทธิ์ (๒)
มีภูเขาหรือยอดเขามากมายที่ถือกันว่าเป็นหลักเมือง เพราะเป็นต้นน้ำ เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านมาชุมนุมทำพิธีกรรมร่วมกันทุกรอบปี ชุมชนโบราณหลายแห่งนับเอาขุนเขารูปร่างแปลกตา หน้าผา เพิงผาหรือถ้ำ และยอดเขาในจุดสูงที่สุดเป็นหมุดหมายซึ่งถือว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ ณ ที่นั้นเพื่อคุ้มครองชีวิตและสรรพสิ่งทั้งภายในโลกนี้และโลกหน้า เป็นจักรวาลทัศน์ของผู้คนและชุมชนตลอดจนบ้านเมืองที่อยู่ในบริเวณโดยรอบ
ความเชื่อเกี่ยวกับ “ภูผาศักดิ์สิทธิ์” ถือเป็นเรื่องสากลและสืบเนื่องตกทอดมาถึงทุกวันนี้
ย้อนกลับไปในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อย่างน้อยๆ ไม่ต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มนุษย์ใช้เพิงผา [Rock shelter] ลักษณะคล้ายถ้ำตื้นๆ สำหรับประกอบพิธีกรรมหรือพักค้างแรมชั่วคราวและบางแห่งก็ใช้อยู่อาศัย
ภาพเขียนสีและภาพสลักบนพื้นหินในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มักจะทำขึ้นบนเพิงหินหรือหน้าผาใหญ่มากกว่าที่จะทำขึ้นในถ้ำ พร้อมทั้งมีลานกว้างเพื่อทำพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องอยู่ใกล้เคียง พบทั้งที่เป็นเขาหินปูน เขาหินทราย และมีบ้างที่เป็นหินแกรนิต แต่ที่พบในอีสานเป็นเทือกเขาหินทรายมากกว่าเขาหินปูนแอ่งอีสานล้อมรอบด้วยภูเขาหินทรายคือเทือกเขาภูพานและพนมดงเร็ก ส่วนภูเขาทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศจะเป็นเทือกเขาหินปูนมากกว่า
เขาหินปูนส่วนใหญ่จะมีการกัดเซาะตามธรรมชาติจนเกิดเพิงผา [shelter] หน้าผา [cliff] และถ้ำ [cave] พบอยู่บริเวณไหล่เขาหรือเชิงเขาที่ไม่สูงจากพื้นราบมากนัก มีลานขนาดต่างๆ สำหรับทำพิธีกรรม บางแห่งเช่นที่ “ประตูผา” ในจังหวัดลำปาง พื้นที่ด้านล่างของภาพเขียนสีมีการฝังศพด้วยเพราะมีอากาศถ่ายเทดี ปลอดภัยจากแดดและฝนเพราะภาพเขียนหรือภาพที่แกะรอยลงบนพื้นหินจะบอบบางและลบเลือนได้ง่าย สถานที่บางแห่งไม่เคยถูกน้ำฝนแม้จะเป็นเพิงผาก็ตาม และอยู่ไม่ลึกจนเกินไปเพื่อให้แสงแดดส่องสว่างได้ทั่วถึง
หากเขาศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนอยู่ในเทือกเขาหินปูนก็ถูกเลือกเพราะมีลักษณะโดดเด่น แปลกตา และสวยงาม เป็นจุดสังเกตที่เห็นได้ชัดเจนแต่ไกล หรือมีลักษณะเป็นจุดหมาย [land mark] ของนักเดินทาง เช่น เขาปลาร้า ในจังหวัดอุทัยธานี นอกจากจะมีความโดดเด่นในพื้นที่ตั้งแล้ว หากอยู่ในป่าเขาก็จะอยู่ในบริเวณทางเดินเท้าอันเป็นสถานที่ซึ่งรู้จักกันดีสำหรับคนที่อยู่กับป่าและยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ บริเวณสถานที่ที่พบยังเป็นจุดรอยต่อทั้งเขตทางวัฒนธรรมอันหมายรวมถึงเขตทางการเมืองในท้องถิ่น และเขตตามธรรมชาติ บางแห่งเป็นสันปันน้ำหรือบางแห่งเป็นช่องเขา เช่นที่ ช่องประตูผา ซึ่งเป็นเขตต่อแดนระหว่างที่ราบในแอ่งลำปางต่อกับแอ่งเมืองงาว
ในวัฒนธรรมบางแห่งเชื่อว่า “ถ้ำ” คือทางเข้าของครรภ์แห่งโลก อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างสรรพชีวิตต่างๆ ถ้ำบางแห่งแถบเทือกเขาอัลไพน์ในยุโรปต่อมาก็เปลี่ยนหน้าที่เป็นวิหาร จนกลายมาเป็นอาคารศักดิ์สิทธิ์ทางคริสตศาสนาในที่สุด ซึ่งก็เหมือนกับการปรับเปลี่ยนความเชื่อจากการสลักเรื่องราวและวาดภาพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในถ้ำมาเป็นการเจาะถ้ำเข้าไปเป็นห้องตามภูเขา เช่น ถ้ำอชันตา ในอินเดีย อันนำไปสู่การสร้างรูปเคารพหรือสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ไว้ตามถ้ำสำคัญของบ้านเมืองหรือตามเส้นทางเดินทางตลอดทั่วเอเชีย ซึ่งในประเทศไทยก็มีหลายแห่ง เช่น ถ้ำบนเขาถมอรัตน์ แห่งเมืองศรีเทพ ถ้ำพระโพธิสัตว์ ที่ร้องกวาง ถ้ำคูหาภิมุข ที่ยะลา เป็นต้น
ภูเขาศักดิ์สิทธิของท้องถิ่นสำคัญต่างๆ ภาพซ้าย เขาพอพา ในพุกาม ประเทศพม่า ภาพขวาบน ภูเขาไฟมาลาปีในเกาะชวาตอนกลางของอินโดนีเซีย ภาพขวาล่าง เขารังแมวหรือฟันแมว ใกล้ศาสนสถานของชาวจามในตอนกลางของเวียดนาม ทั้งสามแห่งเป็นตัวอย่างของภูผาศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองยุคเก่าซึ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเทพรักษาเมืององค์สำคัญในท้องถิ่นนั้นๆ ประจำอยู่
ที่สุโขทัยก็ถือเอา เขาหลวง ซึ่งมี พระขพุงผี รักษาบ้านเมืองสุโขทัยอยู่ ที่เมืองแพร่ก็มี ดอยช้างผาด่าน ช้างผาแดง ที่สถิตของ เจ้าพ่อช้างผาด่าน เป็นผีต้นน้ำรักษาชุมชนโดยรอบ องค์ประกอบของเมืองสำคัญในอดีตจึงต้องมี “เขาศักดิ์สิทธิ์” หลักเมืองตามธรรมชาติเป็นพื้นฐานอยู่ทั่วไป
นอกจากถือว่าเป็นหลักเมืองของท้องถิ่นแล้ว การไปแสวงบุญนมัสการและเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาที่เชื่อโดยพื้นฐานว่าเป็นที่สถิตของเทพเจ้า ผีหลวงหรือผีใหญ่ ฯลฯ การประกอบกิจแสวงบุญเดินทางรอนแรมไปจนถึงยอดเขาหรือบริเวณอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คือการได้สัมผัสกับอำนาจเหนือธรรมชาติในช่วงเวลาหนึ่งอย่างใกล้ชิดที่สุด ต่อมาเมื่อระบบความเชื่อถูกสร้างให้ซับซ้อนขึ้นตามลำดับ การแสวงบุญที่เคยเดินทางไปสู่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ห่างไกลและยากลำบาก ได้ถูกจำลองมาอยู่ภายในเมืองที่กษัตริย์หรือผู้ปกครองสามารถเข้านมัสการได้อย่างสะดวก ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนแต่ดั้งเดิมได้ถูกผสมผสานทางความเชื่อจนกลายเป็นเขาพระสุเมรุ เปลี่ยนรูปแบบของภูเขาตามธรรมชาติมาเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา จำลองภูเขาศักดิ์สิทธิ์ให้อยู่ในศาสนสถานสำคัญในเมืองทดแทนโดยมีฐานความเชื่อแต่ดั้งเดิมส่งทอดสืบต่อมา
อรัญวาสีในพุทธศาสนา
ตำนานพุทธศาสนากล่าวว่า เขาคิชฌกูฎ ที่แปลว่า เขาแร้ง อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองได้อย่างชัดเจน มีคันธกุฎีอยู่บนยอดเขาซึ่งเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระอานนท์ และในพุทธประวัติยังกล่าวถึงว่า พระเจ้าพิมพิสาร ผู้ถูกราชโอรสคือ พระเจ้าอชาติศัตรู กระทำอนันตริยกรรมชิงราชย์และกักขังไว้ในคุกเมืองนั้นและพระเจ้าพิมพิสารสามารถมองเห็นเขาคิชกูฏ อันเป็นที่จำพรรษาของพระพุทธเจ้าได้ทุกวันจนสวรรคต (๓)
โดยทั่วไปมักเชื่อกันว่าการแยกฝ่ายคามวาสีหรือพระบ้านที่มีพระสายคันธธุระซึ่งเน้นการศึกษาพระไตรปิฎกและฝ่ายอรัญวาสีที่มีพระป่าหรือคณะสงฆ์ที่หลีกเร้นจำพรรษาในป่าเขาห่างไกลบ้านเมืองนั้นคืออิทธิพลของการเข้ามาของพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ที่มาจากลังกาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในสมัยสุโขทัย ดังพบวัดตามนอกเมืองที่เรียกว่าวัดในฝ่ายอรัญญิก และให้อิทธิพลต่อบ้านเมืองในเขตล้านนาในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ซึ่งมีการสร้างวัดนอกเมืองในชื่อวัดป่าแดงต่างๆ ลัทธิลังกาวงศ์ใหม่หรือนิกายป่าแดงนี้ผ่านทางพม่ามาจากลังกา
การได้เดินทางตามรอยบาทพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะการไปแสวงบุญที่เขาคิชกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ในอินเดีย ให้ข้อสังเกตแก่ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ว่า ในช่วงพุทธกาลนั้นคงไม่มีการแยกวัดบ้านออกจากวัดป่าอย่างชัดเจนดังเช่นในประเทศไทยทุกวันนี้ แต่กลับเป็นการเลือกปฏิบัติธรรมเพื่อการฝึกสมาธิจิตในสถานที่วิเวกและเป็นพุทธสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น
และสอดคล้องกับปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาของไทย คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ได้แสดงความคิดเห็นไว้ใน “บันทึกนึกได้เอง” แต่ปี พ.ศ.๒๔๙๕ ว่า วิถีแห่งพุทธที่มีมาแต่สมัยพุทธองค์นั้น ไม่มีการแยกพวกวิปัสสนาออกจากคันธธุระ แต่การปฏิบัติเป็นเรื่องของ “สูญญตา”
อาจารย์ศรีศักรเห็นว่า พุทธสถาน ณ เขาคิชกูฏ คือ สำนักวัดป่าสมัยพุทธกาล ที่ทำให้เห็นว่า ในพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์ ภายหลังจากการเสด็จไปเทศนาโปรดสัตว์ตามบ้านเมืองต่างๆ เมื่อทรงพำนักอยู่ตามวัดต่างๆ ในเมืองแล้ว ก็ทรงกลับมาสู่สถานที่ธรรมชาติเพื่อปฏิบัติในลักษณะที่เป็นพระป่าหรือพระวิปัสสนา
ท่านพุทธทาสก็มีวิถีธรรมที่เริ่มจากการเป็นพระบ้านในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส “วัดมหาธาตุ ไชยา” แต่ได้ไปสร้างสวนโมกข์เป็นวัดป่าและท่านเองก็ไปอยู่เป็นพระป่าที่นั้น ท่านพุทธทาสเล่าเรียนพระธรรมคำสอนและเทศนาสอนผู้คนเช่นพระบ้านทั่วไป แต่ก็ได้ปฏิบัติจิตในเรื่อง “สูญญตา”
ทุกวันนี้มีการแยกกลุ่มระหว่าง พระบ้านและพระป่า อย่างชัดเจน คือ ฝ่ายคามวาสีที่มีพระบ้าน เป็นคณะสงฆ์ที่มีวัดอยู่ในชุมชนทั้งบ้านและเมือง มีขอบเขต มีสิ่งก่อสร้างโบสถ์ วิหาร สถูปเจดีย์และกุฏิใหญ่โต พระสงฆ์ที่อยู่ในวัดก็ไม่เน้นการปฏิบัติวิปัสสนาแต่ให้ความสำคัญกับการศึกษาพระไตรปิฎกและพระธรรมคำสอนเพื่อสอนศาสนาแก่ผู้คนจึงมักเรียกว่าเป็น “พระฝ่ายคันธธุระ”
ฝ่ายอรัญวาสีที่มีพระป่าเป็นคณะสงฆ์มักจะอยู่ในที่ห่างไกลผู้คนและอยู่กับธรรมชาติโดยไม่มีการก่อสร้างศาสนสถานเป็นอาคารใหญ่โตโอ่อ่า พระสงฆ์ของวัดป่าก็ไม่เน้นการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกและพระธรรมคัมภีร์ต่างๆ หากให้ความสำคัญในการปฏิบัติกำหนดจิตในทางวิปัสสนา ปฏิบัติตามธุดงควัตร ๑๓ ข้อ อย่างเคร่งครัด เช่น ฉันอาหารมื้อเดียว บำเพ็ญสมณธรรมในป่าห่างไกลผู้คน ฯลฯ จึงเรียกว่า “พระฝ่ายวิปัสสนาธุระ”
พระฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่แยกกันโดยการตัดขาดทางระเบียบปฏิบัติหรือกลุ่มการปกครองของคณะสงฆ์ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปทั้งในทางประวัติศาสตร์ แต่การปฏิบัติเพื่อค้นหาความสงบและการหลุดพ้นนั้นเกิดขึ้นได้เมื่อต้องการปลีกวิเวกเข้าหาความสงบอย่างเรียบง่ายในป่าเขาไกลความวุ่นวายของมนุษย์ในเมือง
ภูพานมหาวนาสี
เทือกเขาหินทรายในเขตภูพาน ทั้งที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แถบอุบลราชธานีและมุกดาหาร มีกลุ่มก้อนหินโพล่ซ้อนกันคล้ายดอกเห็ดหรือตั้งพิงกันหลายแห่ง เรียกว่า เพิงหิน [Rock shelter] ส่วนพื้นที่รอบๆ เป็นลานหินกว้างน่าจะเหมาะสำหรับเป็นลานพื้นที่เพื่อทำพิธีกรรมร่วมกันของกลุ่มคนที่เดินทางมาจากท้องถิ่นต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
บริเวณเหล่านี้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อต่อเนื่องกันมานับจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏภาพเขียนสีลวดลายเรขาคณิต ภาพฝ่ามือ ภาพเลียนแบบคนและสัตว์ต่างๆ เขียนไว้ตามผนังหรือใต้เพิงหินหลายจุด และในกาลต่อมาบริเวณเพิงผาหินและลานหินเหล่านี้ถูกปรับเพื่อใช้เป็นสำนักสงฆ์หรือวัดที่แฝงเร้นตามป่าเขา อันเรียกได้ว่าเป็นอรัญวาสีทางพุทธศาสนา
พระบาทบัวบกและพระบาทบัวบานในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานคำ อยู่ทางทิศตะวันตกของอุดรธานี ประกอบด้วยทิวเขาขนาดใหญ่และภูเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่ในแนวเดียวกัน เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาภูพานที่กั้นขวางระหว่างแอ่งโคราชและแอ่งสกลนครบนที่ราบสูงของอีสาน ขอบของแอ่งนี้ยกตัวขึ้นเป็นแนวเขาเป็นหินทรายเป็นส่วนใหญ่ รอบๆ เขานี้มีป่าไม้ ๓ ชนิด คือ ป่าเต็งรัง พวกไม้ เต็ง รัง เหียง พลวง ป่าเบญจพรรณ ไม้ที่พบได้แก่ ประดู่ แดง เหียง เต็ง รัง ตะแบก ส้าน ซ้อ มะม่วงป่า กะบาก ยอป่า ป่าดิบแล้ง ไม้ที่พบได้แก่ มะค่าโมง ประดู่ ตะเคียนหิน ไทร เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นที่พบเป็นส่วนใหญ่ในภาคอีสานและยังคงมีสภาพสมบูรณ์อยู่มาก เป็นที่กำเนิดของลำน้ำโมงที่ไหลไปตกแม่น้ำโขง แนวเทือกเขาภูพานคำนี้ต่อเนื่องเป็นแนวเทือกเขาเดียวกับแนวเขาด้านในสุดด้านตะวันออกของที่ราบลุ่มน้ำงึมในประเทศลาว และถูกแม่น้ำโขงตัดผ่านแนวเทือกเขานี้จนแยกออกอยู่ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ
บริเวณเชิงเขาภูพาน ในเขตบ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน เป็นที่ตั้งของ พระพุทธบาทบัวบก และ พระพุทธบาทหลังเต่า ซึ่งมีร่องรอยพุทธสถานเป็นกลุ่มอารามที่มีการปักหินเสมาเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาเป็นกลุ่มๆ หลายแห่งและหลายช่วงเวลา กล่าวได้ว่าเป็นอารามแบบอรัญวาสีอย่างชัดเจน
ส่วน พระพุทธบาทบัวบาน อยู่ในเขตบ้านไผ่ล้อม ตำบลเมืองพานพบกลุ่มเสมาหินทราย จำหลักภาพบุคคลในตามเรื่องราวในพุทธประวัติและชาดก ปักเป็น ๘ ทิศ ซ้อนกัน ๓ หลัก บางหลักถูกทำให้ล้ม หลายหลักถูกดินทับถม มีจำนวนทั้งหมด ๓๑ หลัก นับเป็นบริเวณที่แสดงถึงรูปแบบคติการปักใบเสมาแปดทิศที่ชัดเจนและสมบูรณ์ที่สุด
ไม่ไกลจากพระบาทบัวบานคือบ้านหนองกะลึมที่มีตำนานเล่าว่าเป็นบ้านเกิดของ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า ยาคูขี้หอม ซึ่งเป็นผู้นำราษฎรข้ามโขงมาบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมและเป็นพระเถระผู้ใหญ่และผู้นำทางจิตวิญญาณและการเมือง นำผู้คนอพยพไปสร้างบ้านเมืองเป็นแคว้นจำปาสักสืบต่อมา

กลุ่มเสมาที่พบบริเวณบ้านหนองกะลึม ซึ่งเป็นชุมชนโบราณ และเป็นสถานที่เกิดของพระครูหลวงโพนสะเม็กหรือ “ยาคูขี้หอม” พระสงฆ์ผู้มีบทบาททางการเมืองสองฝั่งโขง ส่วนภาพชาดกที่ปรากฏบนในเสมามีอิทธิพลของศิลปะเขมรซึ่งทำขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูแบบเกาะแกร์ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖ แต่นำมาใช้สร้างภาพเล่าเรื่องในพุทธศาสนาแบบเถรวาท
หมู่บ้านนี้เป็นชุมชนเก่าเพราะมีเนินดินโบราณขนาดใหญ่ กลางชุมชนพบเสมาปักอยู่ในบริเวณที่เป็นวัดโนนศิลาอาสน์ในปัจจุบัน ใบเสมากลุ่มนี้แสดงเรื่องเล่าในพุทธประวัติและชาดกซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับเรื่องราวและลวดลายบนใบเสมาพบบนเขาที่พระบาทบัวบาน ทั้งสองแห่งนี้มีลักษณะเทียบเคียงกันได้ว่าเป็นงานช่างทำขึ้นในคราวเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน น่าจะอยู่ในช่วงทวารวดีตอนปลายและศิลปะร่วมแบบเขมรแบบเกาะแกร์ที่กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นต้นมา

เสมาที่ปักเป็นขอบเขตกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พบเห็นบนลานปฏิบัติธรรมบนลานหินที่เขาพระพุทธบาทบัวบก
ข้อสังเกตก็คือ แม้จะได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมแบบเขมรในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิพลในทางความเชื่อแบบฮินดูตามแบบเขมร เพียงแต่รับอิทธิพลงานช่างแบบเขมรมาเท่านั้น แต่เห็นได้ชัดว่าอยู่ในธรรมเนียมการนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่เน้นการปฏิบัติธรรมในพื้นที่ห่างไกลและป่าเขาแบบอรัญวาสี

บริเวณเพิงหินที่ดัดแปลงเป็นศาสนสถานการใช้หินทรายเรียงก่อเป็นกำแพงห้องที่วัดลูกเขย ซึ่งอยู่ในบริเวณลานหินใกล้เคียงกัน เป็นการรูปแบบการก่อสร้างเนื่องในวัฒนธรรมแบบเขมร คงมีอายุร่วมสมัยในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕และในห้องที่เคยเป็นเพิงหินธรรมชาติเหล่านี้มีการปักใบเสมาล้อมรอบมีธารน้ำใกล้เคียง ซึ่งเหมาะการเป็นสำนักวิปัสสนา (ภาพเก่าจากการสำรวจของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ราว พ.ศ.๒๕๑๒-๒๕๑๓)
หลังจากการเข้ามาใช้พื้นที่ของพระป่าบนลานหินใช้เพื่อทำพิธีกรรมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ แล้ว ก็มีการเข้ามาของพุทธศาสนาที่กำหนดเพิงหินรูปร่างแปลกตา เช่นคล้ายดอกเห็ดบ้าง คล้ายพานที่ตั้งอยู่บนแท่นบ้างเป็นเขตอรัญวาสีอย่างต่อเนื่อง เช่นที่บนเทือกเขาพระบาทบัวบก มีการปักเสมาล้อมรอบขอบเขตบนลานหินซึ่งกำหนดให้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์เป็นกลุ่มๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน จนดูคล้ายการแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นหลายคณะ แม้มีเพิงผาที่พักแบ่งแยกชัดเจนแต่ก็อยู่ในบริเวณเดียวกัน อาณาเขตของคณะต่างๆ กว้างขวาง มีการเจาะรูน้ำสำหรับดึงขึ้นมาใช้และบางแห่งก็เจาะพื้นเป็นบ่อน้ำเก็บน้ำไว้ได้บนลานหิน สมเป็นสถานที่พิเศษที่เงียบสงบเพื่อปฏิบัติธรรมสมาธิวิปัสสนาอย่างยิ่ง (๔)

บนลานหินที่พบโขดหินรูปทรงแปลกตาและถูกปรับให้เป็น “หอพระ” ชาวบ้านในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ลงมาสร้างตำนานนิทานพื้นบ้านที่นำมาจากตำนานพระธาตุต่างๆ เช่น ตำนานอุรังคธาตุ แล้วนำนิทานเหล่านั้นมาผูกเรื่องราวไว้ที่ลานหินนี้ หอพระในภาพจึงเป็นหอนางอุสาในเรื่อง อุสา-บารส
ร่องรอยของฐานแท่นหินประดิษฐานพระพุทธรูปและมีการใช้หินทรายเรียงก่อเป็นกำแพงที่วัดลูกเขย บ่งบอกอิทธิพลการใช้วัตถุเนื่องในวัฒนธรรมแบบเขมร ซึ่งก็คงมีอายุร่วมสมัยในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ต่อมาก็เห็นอิทธิพลของตำนานเรื่องอุสา-บารส เรื่องพญานาคในการเสริมเพิ่มเติมตกแต่งเพิงหินตามธรรมชาติให้มีรูปร่างเป็นอาคาร เป็นห้องในระยะต่อมาอย่างชัดเจน และที่เห็นอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบลาวล้านช้างก็คือ พระพุทธรูปแบบประทับยืนปางเปิดโลกที่อยู่เหนือพระพุทธรูปนั่งบริเวณถ้ำพระซึ่งเป็นคตินิยมเดียวกันกับการสร้างพระพุทธรูปประทับยืนโดยทั่วไปในวัฒนธรรมลาวล้านช้าง
อีกฝั่งหนึ่งในเทือกเขาหินทรายที่ต่อเนื่องถึงกันทางฝั่งลาวอันเป็นแนวเขาเดียวกันกับภูพาน ห่างจากเวียงจันทน์ไปราว ๗๐ กิโลเมตรบนเส้นทางที่จะเดินทางไปสู่เขตเทือกเขาภายใน ตรงจุดที่เป็นช่องเขาจากที่ราบลุ่มน้ำงึมเริ่มต้นเข้าเขตที่สูง พบอรัญวาสีที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง บนเพิงผาที่ถูกปรับให้เป็นลานกว้างร่มรื่น มีพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่พระพักตร์แสดงออกแบบฝีมือช่างลาวท้องถิ่น และมีการจีบพระหัตถ์ที่เป็นเอกลักษณ์ชองพระพุทธรูปในบริเวณลุ่มน้ำงึม ซึ่งพบพระพุทธรูปที่จีบพระหัตถ์แบบนี้องค์หนึ่งเก็บรักษาไว้ที่พระธาตุหลวงในเมืองเวียงจันทน์ ประเมินอายุได้ว่าอยู่ในกลุ่มทวารวดีตอนปลายเพราะบริเวณนี้มีรายงานว่าพบชุมชนโบราณที่มีการปักใบเสมาและรูปแบบศิลปะและการอยู่อาศัยอยู่ในสมัยทวารวดีตอนปลายหลายแห่ง

พระนั่งที่ไม่ใช่ทั้งปางสมาธิและมารวิชัย แต่เป็นปางเทศนาคล้ายๆ กับปฐมเทศนา เพราะพระหัตถ์หนึ่งจีบเป็นวงเหนือพระหัตถ์ที่วางอยู่เหนือตัก
ปางเทศนาที่จีบพระหัตถ์นี้เป็นอัตลักษณ์สำคัญของพุทธศิลปะแบบทวารวดี
บ้านเมืองพานเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีชื่ออยู่ใน ตำนานอุรังคธาตุ และตามตำนานท้องถิ่นเรื่องอุสา-บารส ใน ตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงบริเวณ ภูกูเวียน ในเทือกเขาภูพานนี้ว่าเป็นที่อยู่ของพญานาคชื่อสุวรรณนาคและพุทโธปาปนาค ซึ่งแต่เดิมหนีจากหนองแสมาตามลำน้ำโขง แล้วมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้มาโปรดสัตว์ที่แคว้นศรีโคตรบูรได้แวะมาประทับที่ภูกูเวียน ทรงทรมานจนพญานาคยอมแพ้จึงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้นาคได้สักการบูชา
นอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแล้ว ตำนานยังกล่าวว่าพญานาคเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับเมืองพาน ซึ่งเป็นเมืองที่พระอิศวรสร้างไว้ในเขตเทือกเขาภูพาน ครั้งแรกพญานาครบกับพระอิศวร ในที่สุดก็ยอมแพ้และกลายเป็นผู้ดูแลเมืองพานช่วยเหลือกษัตริย์ผู้ครองเมือง ตอนมาเมื่อพระบารสมายุ่งเกี่ยวกับนางอุสาซึ่งเป็นธิดาของเจ้าเมืองพาน พญานาคก็ช่วยเจ้าเมืองพานจับพระบารสมัดไว้ ร้อนถึงพระกิดนารายณ์ (พระกฤษณะ) ตำนานนี้จึงเรียกกันอีกว่าเรื่อง พระกิดพระพาน แล้วต้องมารบกับเจ้าเมืองพานและพญานาค แล้วจึงช่วยพระบารสไปได้ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกบริเวณตอนหนึ่งของเทือกเขานี้ว่าเมืองพาน ผู้คนในท้องถิ่นได้นำเอาตำนานพื้นบ้าน นิทานพื้นเมืองเรื่อง “อุสา-บารส” มาตั้งชื่อและเล่าถึงสถานที่ต่างๆ สถานที่ต่างๆ ที่เป็นอารามบนภูพระบาทจึงมีชื่อเรียกตามจินตนาการจากนิทานเรื่องอุสา-บารสเป็นส่วนใหญ่ เช่น หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย วัดพ่อตา คอกม้า ท้าวบารส เป็นต้น
เนื้อเรื่องในตำนานอุสา-บารสอ้างอิงสถานที่ตั้งแต่บ้านเมืองพานในเขตภูพานต้นน้ำโมง กล่าวถึงเมืองพาน เมืองปะโคเวียงงัว ภูกูเวียน ฯลฯ เป็นชาดกนอกพระสูตรที่ใช้สถานที่ตามท้องถิ่นต่างๆ อ้างอิงถึง ซึ่งเป็นอิทธิพลการเล่าเรื่องตามขนบในพุทธศาสนาเถรวาทในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ลงมา หลังรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นช่วงที่บ้านเมืองทางฝั่งลาวมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผู้คนโยกย้ายเข้ามาทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในดินแดนอีสานจำนวนมากเป็นระลอกๆ บ้านเมืองทางฝั่งซ้ายแยกออกเป็นสามแคว้นคือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก ผู้คนที่ข้ามมาอยู่ทางนี้ผสมผสานกับผู้คนแต่เดิมและมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาค ตำนานพระเจ้าเลียบโลก (๕) ที่เป็นตำนานพระธาตุต่างๆ และตำนานชาดกที่ผูกพันกับชื่อสถานที่ในท้องถิ่นต่างๆ ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมความเชื่อและประเพณีแบบลาวล้านช้างที่แพร่หลายอยู่ทั้งสองฝั่งโขงจนถึงปัจจุบัน
ชาวบ้านในท้องถิ่นเมืองพานแม้ไม่สามารถสืบต่อถึงความหมายและความสำคัญของอรัญวาสีสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในสองฝั่งโขงตกทอดต่อเนื่องมาได้ แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญแก่รอยพระพุทธบาทบนภูเขาและตำนานเรื่องรูนาคตามธรรมเนียมการเล่าเรื่องพระเจ้าเลียบโลก และถือเอางานนมัสการรอยพระพุทธบาทสามสี่แห่งในเทือกเขาภูพานในละแวกเมืองพาน ให้เป็นงานประจำปีประจำท้องถิ่นที่สำคัญ เริ่มที่พระบาทบัวบานก่อน เพราะถือว่าเป็นพระบาทพี่ในเดือนสามแล้วจึงมีงานนมัสการพระบาทบัวบกและพระบาทหลังเต่าที่อยู่ใกล้เคียงกันในเดือนสี่
เมื่อกรมศิลปากรเข้ามากำหนดพื้นที่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ทำให้คนทั่วไปไม่ทราบถึงความหมายของพระบาททั้งสองแห่งที่เรียกชื่อคู่กันมา คือ พระบาทบัวบาน พระบาทบัวบก รวมถึงพระบาทอีกสองสามแห่งในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ไปกำหนดเอาบริเวณพระบาทบัวบกที่มีกลุ่มอาคารศาสนสถานตามธรรมชาติที่สัมพันธ์กับตำนานเรื่องอุสา-บารส แล้วตั้งชื่อว่า “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ทั้งชื่อและความหมายจึงปรับเปลี่ยนไปตามการท่องเที่ยวที่เห็นบางจุดและเน้นบางแห่งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเห็นเรื่องราวและความสำคัญของศาสนสถานจากภาพรวมทั้งหมดในท้องถิ่น
พระพุทธรูปปางสมาธิที่บริเวณพระบาทบัวบก
และคงไม่ต้องคิดไปไกลถึงเรื่องอารามในป่าอันเป็นมหาวนาสีบนภูพานที่คนรุ่นปัจจุบันหมดความเข้าใจและทิ้งการสืบต่อไปเพื่อค้นหาความหมายไปเนิ่นนานแล้ว
การสืบเนื่องของพระป่าสายอีสาน
แม้ภูพานมหาวนาสีจะหมดหน้าที่ของการเป็นอารามหลวงในป่าเขาซึ่งใช้สำหรับปฏิบัติวิปัสสนาและกลายเป็นแหล่งโบราณสถานเพื่อการท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่พระป่าสายอีสานก็ยังคงใช้ป่าเขาโดยเฉพาะท้องถิ่นริมฝั่งโขงสร้าง มหาวนาสี ในที่อื่นๆ ต่อมาอีกมากมาย
พระอริยสงฆ์สายอีสานหลายรูป เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และรุ่นศิษย์ต่อมา พระอาจารย์ฝั่น อาจาโร แม้ท่านเหล่านั้นจะเป็นศิษย์พระอริยสงฆ์สายอีสานผู้ตั้งฝ่ายธรรมยุติกนิกายในอีสานในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่ง แต่ก็มีฐานการปฏิบัติธรรมการออกธุดงค์อยู่รุกขมูลวิปัสสนากรรมฐานตามแบบพระป่าในท้องถิ่นอีสานมาก่อนที่จะบวชอีกครั้งเพื่อเข้าสู่ธรรมยุตินิกายในภายหลัง

เพิงผาที่ภูถ้ำพระนาใน อำเภอกุดบาก เป็นพุทธสถานฝ่ายเถรวาทที่มีการใช้เพิงผาถ้ำประดิษฐานพระและเป็นการบำเพ็ญภาวนา ที่พบจารึกภาษาสันสกฤตอักษรขอมโบราณที่กล่าวถึงพระครูโสมังคลาจารย์ ลงศักราชราว พ.ศ.๑๖๐๙ ซึ่งคล้ายคลึงกับศาสนสถานในเขตเทือกเขาของฝ่ายพุทธศาสนา เช่นที่ภูพานคำหรือภูพระบาทในเขตจังหวัดอุดรธานีหรือถ้ำพระวังช้างในเขตต้นน้ำงึมทางตอนเหนือของเมืองเวียงจันทน์
อรัญวาสีในท้องถิ่นอีสานที่สำคัญอยู่ตามป่าเขาใกล้ลำน้ำโขงหลายแห่งสร้างโดยพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตโต เช่น วัดป่าอรัญวาสี ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี วัดเจตยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก) อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย และวัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
การเกิดขึ้นของธรรมยุติกนิกายซึ่งถือว่าสืบพระศาสนาจากรามัญวงศ์ ถือว่ามาจากต้นเค้าเดิมคือลังกาวงศ์ในยุคต้นๆ พระวชิรญาณเถระหรือเจ้าฟ้ามงกุฎ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะผนวชอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญจึงทรงอุปสมบทใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๒ ได้ตั้งคณะธรรมยุติขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๗๖ แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหารตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติ ส่วนการเข้ามาของธรรมยุติกนิกายเกิดจากพระอริยสงฆ์ซึ่งเป็นสหธรรมิกของรัชกาลที่ ๔ สร้างวัดสุปัฏนารามเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในอีสาน ในพ.ศ.๒๓๙๙
มีผู้ศึกษาเรื่องพระป่าสายอีสานหลายท่านในทางวิชาการและมักถูกอ้างอิงต่อๆ กันอยู่ทั่วโลกเพราะเป็นงานศึกษาทางมานุษยวิทยาแบบสากล แต่บางแห่งยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนบางอย่าง เช่น งานชิ้นสำคัญของ Stanley J. Tambiah เรื่อง The Buddhist Saints of the Forest and the Cult of Amulets [Cambridge University Press, 1984] ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดในเรื่องอรหันต์ การปฏิบัติบำเพ็ญเพียร การทำสมาธิวิปัสสนาธุระหรือสายปฏิบัติ และธรรมเนียมเรื่องพระป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเชิงประวัติความเป็นมา ซึ่งกล่าวถึงภายในองค์กรสงฆ์ที่แบ่งเป็นอรัญวาสีและคามวาสีและกล่าวถึงการเข้ามาของอรัญวาสีในสายลังกาวงศ์ที่ทำให้เข้าใจว่า พระป่าสายอีสานนั้นรับแนวคิดมาจากอรัญวาสีที่สุโขทัย แต่หลักฐานในปัจจุบันก็ทำให้ทราบแล้วว่า อรัญวาสีในท้องถิ่นอีสานนั้นเก่าแก่ก่อนลังกาวงศ์ที่สุโขทัยกว่าสามสี่ร้อยปี
งานของ Tambiah นับเป็นต้นแบบที่ใช้อ้างอิงในกรณีการกล่าวถึงพระป่าหรือพระธุดงค์โดยเฉพาะในเรื่องประวัติความเป็นมาที่อ้างอิงถึงชุมชนพระป่าในยุคต้นพุทธกาลในศรีลังกา พระป่าที่พม่าและไทย โดยโยงถึงนิกายสิงหลในศรีลังกาที่มีอิทธิพลต่อพระฝ่ายอรัญวาสีในแต่ละแห่ง

ภายในเทือกเขาภูพาน
การศึกษาการเกิดขึ้นของสายทางศาสนาและประวัติศาสตร์ของศาสนาและการเมืองในท้องถิ่นภาคอีสานทุกวันนี้ ปรากฏในหนังสือเรื่อง Forest Monks and the Nation-State: An Anthropological and Historical Study in Northeastern Thailand [1993, Singapore: Institute of Southeast Asian Studies] งานเรื่องพระป่าและรัฐชาติ เป็นรายละเอียดในการศึกษาประเพณีของพระป่าในภาคอีสานในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ ในช่วงของการปฏิรูปทางศาสนาและการเมือง การบรรยายเลือกเอาในช่วงระหว่างการเป็นชายขอบของเมืองกับการเปลี่ยนรูปทางประวัติศาสตร์และการคงอยู่ในพื้นที่ทางสังคมของพระป่า และเรื่องที่เป็นผลกระทบร่วมสมัยของประเพณีทางศาสนาในสังคมวงกว้างและในพื้นที่ทางการเมือง
ส่วนงานของกมลา ติยะวนิช เรื่อง Forest Recollections Wandering Monks in Twentieth-Century Thailand [1997, Honolulu, University of Hawai’I Press.] เป็นการเล่าเรื่องพระธุดงค์ซึ่งเน้นการวิปัสสนาในสายพระอาจารย์มั่น ซึ่งมีผู้ติดตามที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จำนวนมาก และสร้างวัดป่าขึ้นมากในพื้นที่อีสานตามธรรมเนียมแบบท้องถิ่น ก่อนจะมีกฎหมายของมหาเถรสมาคมขึ้นมาควบคุมสงฆ์ทั่วประเทศในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พระธุดงค์และพระป่าก็อยู่ภายใต้สังฆมณฑลและกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวกับการจัดการป่าไม้ โดยแบ่งออกเป็นช่วงๆ คือ ชุมชนที่อยู่ในป่าได้ช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ช่วงการบุกรุกป่าปี พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๓๒ ทำให้วัดป่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายโดยเฉพาะกรณีของพระประจักษ์ (๖) และช่วงปิดป่าในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นต้นมา
การเปลี่ยนแปลงและปฎิรูปภายในคณะสงฆ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ต่อเนื่องรัชกาลที่ ๕ ที่มีการจัดระเบียบพระบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นใหม่พร้อมๆ ไปกับการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองบ้านเมืองแบบรัฐสมัยใหม่ ลดอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครองท้องถิ่น เน้นการรวมศูนย์กลางทางอำนาจทางการเมืองอยู่ที่ส่วนกลางซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงและใหญ่หลวงแก่องค์กรคณะสงฆ์รวมถึงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในท้องถิ่นอย่างมากด้วย
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือการกลืนกลายพระป่าสายอีสานให้ถูกเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมยุติกนิกายจากรุงเทพฯ มาจนถึงปัจจุบัน
ข้อขัดแย้งเมื่อมีการขยายบทบาทของพระสงฆ์แบบธรรมยุติกนิกายมาสู่พื้นที่ทั้งในภาคอีสาน มีรายละเอียดที่เล็กน้อยแต่แตกต่างกันอย่างคลุมเครือ เช่น กลุ่มพระสงฆ์จากส่วนกลางเน้นวิธีปฎิบัติสมาธิวิปัสสนาอย่างเป็นแบบแผนแตกต่างจากพระสงฆ์ในอีสานที่ยืดหยุ่นและอิสระกว่า การถูกรวบอำนาจการปกครองคณะสงฆ์อยู่ที่มหาเถรสมาคมกลายเป็นสังฆมณฑลเดี่ยวขาดความหลากหลายจากท้องถิ่นคือปัญหาใหญ่ของคณะสงฆ์ทั่วประเทศในทุกวันนี้
เชิงอรรถ
๑ ธรรมยุติกนิกายตั้งขึ้นโดยวชิรญาณเถระ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระยศเป็น
เจ้าฟ้ามงกุฎ) ได้ตั้งคณะธรรมยุตโดยแยกออกมาจากมหานิกายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ ทั้งมหานิกาย และธรรมยุ
ติกนิกายมีพระสงฆ์ทั้งคามวาสีและอรัญวาสี ต่อมาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นต้นแบบสายพระป่าใน
เมืองไทย ท่านเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกายเพราะเป็นศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ผู้เป็นศิษย์ของสมเด็จ
พระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ซึ่งเป็นพระสายวิปัสสนาธุระในธรรมยุติกนิกายรุ่นที่ ๔ นับจาก เริ่มนำมา
เผยแผ่ในอีสานครั้งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี ท่านได้นำการธุดงค์และอยู่ป่าเป็นวัตรมาเผยแพร่ จนเป็นที่
ยอมรับ จนผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าพระป่าสายที่ปฏิบัติเคร่งครัดเป็นพระสายธรรมยุติก นิกายไปด้วย
๒ ในที่นี้หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำท้องถิ่นที่ผู้คนไม่เฉพาะในชุมชน ใดชุมชนหนึ่ง กราบไหว้บูชา แต่
เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ประจำถิ่นที่คนหลายๆ ชุมชนนับถือร่วมกัน โดยใช้ภูมิทัศน์แปลกตาในท้องถิ่นนั้น
เช่น ยอดเขาสูงใหญ่ ต้นน้ำบนภูเขา โขดเขาหรือก้อนหินที่มีรูปร่างแปลกๆ สัญลักษณ์เหล่านี้ ชาวบ้านชาว
เมืองมักจะสร้างอาคารจำลอง ที่เรียกว่า หอผี หลายรูปแบบ เช่น หอผีบ้าน หอผีเมือง เป็นต้น
๓ ตำนานพุทธศาสนากล่าวว่า เขาคิชฌกูฏ ที่แปลว่า เขาแร้ง อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองได้อย่างชัดเจน บนยอดเขามีคันธกุฎีซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระอานนท์ ในพุทธประวัติยังกล่าวถึงว่า พระเจ้าพิมพิสาร ผู้ถูกพระราชโอรสคือพระเจ้าอชาตศัตรู กระทำอนันตริยกรรมชิงราชย์และกักขัง พระองค์ไว้ในคุกเมืองนั้น ระหว่างอยู่ในคุก พระเจ้าพิมพิสารทอด พระเนตรเขาคิชฌกูฏอันเป็นที่จำพรรษาของพระพุทธเจ้าได้ทุก วันจนสวรรคต
๔ ศรีศักร วัลลิโภดม, “ภูพานมหาวนาสี”, ศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๒) ให้ความ คิดหลักในการตั้งข้อสังเกตกลุ่มโบราณสถานบนเทือกเขาภูพานว่าเป็นต้น เค้ากำเนิดของพระป่าในอีสานที่มี ความสืบเนื่องมาจากการเข้ามาของพุทธศาสนาแบบเถรวาทในยุคเริ่มแรก มากกว่าช่วงที่พุทธศาสนาแบบ ลังกาวงศ์เข้ามาประดิษฐานในแคว้นสุโขทัยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อันเป็นแนวคิดเบื้องต้นของ บทความนี้
๕ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก หมายถึง การเขียนประวัติพุทธศาสนาที่เป็นจารีตนิยมในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ลงมา ปรากฏพบในหลายท้องถิ่น เช่นภาคเหนือและอีสาน กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับ ณ ท้องถิ่นต่างๆ แล้วทำนายว่าบริเวณนั้นจะกลายเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา หลังจากพระองค์ดับขันธ ปรินิพพานก็จะนำพระธาตุมาประดิษฐานไว้ จนกลายเป็นพระธาตุสำคัญของบ้านเมืองนั้นๆ
๖ กรณีที่ดูจะสั่นสะเทือนความรู้สึกศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมากที่สุดคือกรณีของ พระประจักษ์ พระสาย ธุดงควัตรแห่ง “ป่าดงใหญ่” ซึ่งเป็นผืนป่ารอยต่อ ๓ จังหวัด คือ อำเภอปะคำ โนนดินแดง ละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว อันเป็นส่วนหนึ่ง ของต้นกำเนิดลำนางรองและลำมาศ ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูน บริเวณดังกล่าวเป็นเขต “ผู้ร่วมพัฒนาชาติ ไทย” ตั้งถิ่นฐานในปัจจุบัน ชาวบ้านแถวนั้นมอบป่าเขาหัวผุดที่พวกเขาได้เข้าไปจับจองให้พระประจักษ์ช่วย ดูแล เพราะหวังว่าจะหยุดยั้งหน่วยราชการและนายทุนไม่ให้นำป่าไปปลูกสวนป่า ยูคาลิปตัส สุดท้ายท่านถูก แจ้งจับข้อหาบุกรุกป่าสงวนฯ ถูกส่งเข้าเรือนจำเพื่อหวังกดดันให้ต้องสึก เมื่อออกจากคุกได้ไม่นาน ท่าน พยายามยืนหยัดรักษาป่าต่อไป แต่ก็ยังถูกฟ้องข้อหาบุกรุกป่าอีก ในที่สุดถูกกดดันให้ต้องหนีออกจากพื้นที่ และลาสิกขาที่บ้านเกิดเพื่อต่อสู้ คดีถึง ๗ คดี ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปี ท่านต้องขึ้นศาลราว ๕๐-๖๐ ครั้ง ในที่สุดบางคดียกฟ้อง บางคดีถูกปรับ และบางคดีรอลงอาญา จนปัจจุบันพ้นมลทินหมดแล้วทุกคดี สุดท้าย ท่านกลับมาบวชใหม่ เป็นหลวงพ่อประจักษ์ ธัมมปทีโป ในวัยกว่า ๗๐ ปี จำพรรษาอยู่ที่วัดเชรษฐพลภู ลังกา ในอำเภอบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย
อ้างอิง ศรีศักร วัลลิโภดม. "ภูพานมหาวนาสี".ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๒. Tambiah, Stanley J. THE BUDDHIST SAINTS OF THE FOREST AND THE CULT OFAMULETS. Cambridge University Press, 1984. Tiyavanich Kamala. FOREST RECOLLECTIONS WANDERING MONKS IN TWENTIETHCENTURY THAILAND. Honolulu,University of Hawaii Press, 1997.