เคยรวมพิมพ์อยู่ในเล่ม “สังคมและวัฒนธรรมชุมชนคนยี่สาร / จัดพิมพ์โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับพิพิธภัณฑ์วัดเขายี่สาร, ๒๕๔๕

วลัยลักษณ์  ทรงศิริ

ยี่สารในปัจจุบันเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆในป่าชายเลน ที่หลบจากฝั่งทะเลเข้ามาภายใน โดยมีเส้นทางน้ำเชื่อมติดต่อกับทะเลอ่าวไทยและชุมชนอื่นๆ จากสภาพแวดล้อมดังกล่าว ยี่สารจึงไม่ได้เพาะปลูกทำการเกษตรเป็นหลักทั้งไม่ใช่ชุมชนชาวประมงชายฝั่ง แต่เป็นเพียงชุมชนที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยโดยการขุดบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ปลูกพืชสวนเช่นไม้โกงกางเพื่อใช้ทำถ่าน เห็นได้ว่า ฐานอาชีพของชาวบ้านเป็นการปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยตามสภาพแวดล้อมเมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น

18

เขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

แต่การศึกษาทางโบราณคดีและศิลปกรรมภายในชุมชน บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาร่วมสมัยกับการเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการของกรุงศรีอยุธยาจนถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานเอกสารมากมายที่กล่าวถึงยี่สารในฐานะเป็นชุมชนเก่าที่เป็นทางผ่านเมื่อจะต้องเดินทางไปสู่เขตเพชรบุรีลงไป 

ดังนั้น จึงน่าพิจารณาลักษณะของชุมชนยี่สารในปัจจุบันเปรียบเทียบกับอดีต การตั้งหลักแหล่งอย่างถาวรมาเป็นเวลาหลายร้อยปีและมีการสร้างศาสนสถานที่มีความงามทางศิลปกรรมชั้นเยี่ยมนั้น นอกจากการหาอยู่หากินแล้วควรจะมีฐานการเลี้ยงชีพที่มีการสะสมทุนรองรับอย่างไร ในเมื่อยี่สารไม่สามารถผลิตอาหารเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าว” และที่สำคัญขาดแคลนน้ำจืดมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

ชื่อของชุมชน “ยี่สาร” น่าจะเป็นร่องรอยสำคัญที่บอกลักษณะการดำรงชีวิตของผู้คนที่เคยอยู่ที่นี่ในอดีตได้ เพราะ “ยี่สาร” เป็นการยืมภาษาอื่นมาใช้เรียก “ตลาด” ซึ่งเป็นที่ชุมนุมขายของหลากหลายประเภท เห็นได้ว่า ชุมชนยี่สารในอดีตเกี่ยวข้องกับการค้าอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน 

การพิจารณา “ยี่สาร” ในฐานะเป็นย่านตลาดที่อยู่กลางป่าชายเลน จึงเป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาชุมชนโบราณแห่งนี้

คำว่า “ยี่สาน” หรือ “ยี่ส่าน” ในบางที่สันนิษฐานกันว่า “ยี่สาน” น่าจะมาจากคำว่า “ปสาน” ซึ่งแปลว่า “ตลาด” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเทียบว่ามาจากภาษาเปอร์เซีย คือ “บาซาร์” [bazaar] แปลว่าตลาดที่ขายของแห้ง คำว่าบาซาร์ ยังแพร่หลายไปใช้อยู่ในหลายแห่ง ความหมายของบาซาร์ที่ใช้กันในภาษาอังกฤษหมายความถึงตลาดแบบตะวันออกกลางที่มีถนนผ่ากลางและมีร้านค้าที่ขายสินค้าแปลกๆ หลายๆ อย่างต่อเรียงกันเป็นแถวหลายๆ ร้านตั้งอยู่สองฝั่ง หรือตลาดนัดที่มีของขายหลายๆ อย่างรวมอยู่ด้วยกัน 

คำว่า “ปสาน” เป็นคำที่ปรากฏในศิลาจารึกสมัยกรุงสุโขทัยด้วย “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มี ตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาท  มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากกลาง มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านเล็กบ้านใหญ่” (จารึกสุโขทัยหลักที่ ๑   ด้านที่ ๓ บันทัดที่ ๑-๓ ใน ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๑ จารึกกรุงสุโขทัย , ๒๕๑๓) 

ส่วนคำว่า “ป่า” ในจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารสมัยอยุธยา ใช้เรียกย่านหนึ่งที่มีของขายอย่างเดียวกันมากๆ  

ในภาษาเก่าซึ่งพบทั่วไปจากเอกสารและจดหมายเหตุความทรงจำต่างๆ  มักใช้คำว่า “ตลาดปสาน” บ้าง “ตลาดยี่สาน” บ้าง หรือ “พะสาน” “ยิสาร” “ยี่ส่าน” อย่างไรก็ตาม มักใช้คำว่า ปสานหรือยี่สาน เป็นคำควบกันไปกับคำว่าตลาด แสดงถึงสถานที่ประชุมคนตั้งร้านหรือบ้านเรือนค้าขายกันอยู่เป็นจำนวนมาก ( เมื่อค้นเอกสารสมัยอยุธยาในกฎหมายตราสามดวง ปรากฏคำว่า ยี่สารหรือยิสาร เป็นตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับความหมายที่แปลว่า ตลาด อยู่หลายแห่ง เพราะขึ้นอยู่กับกรมกองต่างหน้าที่กันไป ในพระไอยการตำหน่งนาพลเรือน พบว่ามี ขุนยิสารบุรีย นา ๔๐๐ และหมื่นยิสารบุรีย นา ๓๐๐ อยู่กองกระเวนขวาในกรุง กรมพระนครบาล, ขุนยิสารทรัพยากรสมุบาญชีย นา ๖๐๐ ขึ้นกับออกพญาศรีธรรมราช ใช้ตราบัวแก้ว, นายยี่สาร นา ๔๐๐ ขึ้นกับออกพญาธารมาธิบดีฯ, หลวงยี่สารสรเดช นา ๘๐๐ จางวางกรมล้อมพระราชวัง, ขุนยิสาร นา ๖๐๐ พนักงานขอนทรุง ขึ้นกับเจ้ากรมพระคลังซ้าย ส่วนในพระไอยการตำแหน่งนาหัวเมือง มีหมื่นยิสารโยธาสมุบาญชีย นา ๔๐๐ ขึ้นกับพระรามกำแหง  และตำแหน่งเจ้าเมืองสิงคบุรี หัวเมืองชั้นตรี คือ ออกพระญี่สารสงคราม พระสิงคบุรีย  และในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระอัครชายาของเจ้าฟ้ากุ้งหรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ฯในตำแหน่งวังหน้า คือเจ้าฟ้าสุดาวดีได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น กรมขุนยิสารเสนี )

แต่สำหรับชุมชนยี่สารในปัจจุบัน คำว่า “ยี่สาน” ไม่ได้ใช้หรือรับรู้กันโดยทั่วไปในความหมายว่าตลาดเช่นในอดีต ทั้งชื่อบ้านยี่สาร ใช้ตัวสะกด “ร” แทน “น” ได้กลายเป็นคำสะกดอย่างเป็นทางการไป จนเป็นเหตุให้การรับรู้ความหมายชื่อชุมชนผิดเพี้ยนไปอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาครั้งนี้จะใช้ทั้งคำว่า “ยี่สาน” ตามคำสะกดที่มีมาแต่เดิมหรือเมื่ออ้างการกล่าวถึงในอดีต และจะใช้ “ยี่สาร” เมื่อกล่าวถึงชื่อของชุมชนนี้โดยทั่วไปหรือที่เป็นเหตุการณ์ในปัจจุบัน

๑. สภาพภูมิศาสตร์และลักษณะของชุมชนในปัจจุบัน

๑.๑ สภาพแวดล้อมทั่วไป

บ้านยี่สารตั้งอยู่เชิงเขายี่สาร เขาหินปูนปนหินทรายขนาดย่อมๆกลางป่าชายเลน และเป็นภูเขาแห่งเดียวของสมุทรสงคราม แม้จะอยู่ในเขตการปกครองของอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม แต่ก็เป็นส่วนที่ติดกับชายฝั่งทะเล ไม่ใช่สวนผลไม้เหมือนกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภออัมพวาดังที่คุ้นเคยกัน ทั้งยังเดินทางติดต่อกับอำเภอบ้านแหลมและจังหวัดเพชรบุรีได้สะดวกกว่า

27-2

แผนที่มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ แสดงสภาพภูมิประเทศบริเวณโดยรอบบ้านเขายี่สาร เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ และ พ.ศ.๒๕๓๘ ตามลำดับ แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าชายเลน เป็นที่ทำนากุ้งอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

เขายี่สารอยู่ห่างชายฝั่งบริเวณรอบอ่าวไทยฝั่งตะวันตกราว ๕ กิโลเมตร พื้นที่ของเขายี่สารล้อมรอบไปด้วยป่าชายเลนที่กลายเป็นสวนป่าและนากุ้ง มีลำคลองสายต่างๆ ทั้งคลองขุดและคลองธรรมชาติเชื่อมเส้นทางสู่ชุมชนภายนอก สู่พื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นที่ทำกิน และสู่ลำน้ำที่ใช้จับสัตว์น้ำ คลองสายต่างๆ คือหัวใจหลักในการคมนาคมยุคแรกเริ่มจนกระทั่งถนนกลายมามีบทบาทแทนในปัจจุบัน 

ยี่สารไม่สามารถทำนาหรือปลูกพืชผลไม้ต่างๆได้ พื้นที่โดยรอบเป็นดินเค็มมีแต่พืชพื้นถิ่นที่ทนเค็มบางชนิดเท่านั้น นอกจากพื้นที่รอบๆเขาที่มีการอยู่อาศัยมานานมีสภาพเป็นเนินดินที่อุดมสมบูรณ์จะมีต้นไม้ขนาดใหญ่สามารถขึ้นได้ 

ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก มีลำคลองที่ขุดลัดสามารถไปออกแม่น้ำแม่กลองที่อัมพวาและแม่กลองได้โดยไม่ต้องอ้อมออกทะเล เรียกว่าคลองขุดยี่สารหรือคลองหลวงไปออกคลองประชาชมชื่นหรือคลองบางลี่ บริเวณนี้ยังมีการขุดคลองตัดตรงขึ้นอีกมากมาย  แยกออกทางขวาไปทางทิศตะวันออกมีเส้นน้ำไปออกคลองช่องและคลองโคนได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีผู้นิยมใช้เดินทางแล้ว 

ทางด้านทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ป่าชายเลนติดต่อกับนาข้าวที่ติดต่อกับเขตหมู่บ้าน เช่น บ้านวังมะนาว บ้านบางเค็ม บ้านกล้วย บ้านหนองสิม และมีเส้นทางรถไฟวิ่งขนานไปสู่จังหวัดเพชรบุรี บริเวณนี้จะพบเขารูปร่างแปลกตา เช่น เขาอีโก้ เขาอีบิด และกลุ่มเขากลิ้ง เขาขนาด เขากระโดด บริเวณอำเภอเขาย้อย สลับกับพื้นที่ราบลุ่มใช้ปลูกข้าวที่อุดมสมบูรณ์

16

เขาอีโก้ ภูเขาในตำนานท้องถิ่นยี่สาร มองจากฝั่งทะเลเข้าสู่แผ่นดินภายใน สังเกตได้ว่าเขาทั้งสองเป็นจุดสำคัญเมื่ออยู่บริเวณทะเลอ่าวบางตะบูน

ด้านทิศใต้ของเขา มีทางน้ำอ้อมเขาแยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งคือคลองยี่สารเดิมพุ่งตรงไปยังเขาอีโก้ ซึ่งเห็นเป็นจุดสำคัญชัดเจน และอีกสายหนึ่งคือ แพรกบางอีทอนหรือแพรกเขมร เป็นลำคลองไปสู่บ้านต้นลำแพน เชื่อมต่อกับคลองไหหลำ ที่ไปออกคลองบางตะบูนได้ และหน้าวัดในปัจจุบันมีการขุดคลองยี่สาร ซึ่งขุดขึ้นเมื่อปลายรัชกาลที่ ๔ ตัดตรงไปเชื่อมต่อกับคลองบางตะบูนและออกปากอ่าวบางตะบูนได้สะดวก บริเวณใกล้ปากอ่าวบางตะบูนเสมือนเป็นทางแยกที่สามารถเดินทางแยกออกไปตามที่ต่างๆ ได้หลายทาง เช่น ผ่านบ้านปาดอ่าวออกปากอ่าวบางตะบูนข้ามทะเลไปแม่กลองหรือปากน้ำเพชรบุรี และแยกเข้าแถบวัดคุ้งตำหนักซึ่งมีทางน้ำติดต่อไปแถวเขาสมอระบังซึ่งเป็นจุดต่อระหว่างป่าโกงกางและนาข้าวได้ ทางแยกอีกทางหนึ่งบริเวณวัดคุ้งตำหนักคือ ทางเข้าคลองบางครกสู่วัดเขาตะเครา ซึ่งเป็นเขตรอยต่อเช่นเดียวกัน จากนั้นสามารถตัดตรงเข้าแม่น้ำเพชรแยกไปบ้านแหลมและเมืองเพชรบุรีได้

๑.๒ สภาพแวดล้อมกับการอยู่อาศัยในอดีตและปัจจุบัน

สภาพแวดล้อมแบบป่าชายเลน ทำให้การอยู่อาศัยที่ยี่สารดูเป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้คนที่ไม่คุ้นเคย แม้จะล้อมรอบด้วยลำน้ำแต่ก็เป็นน้ำกร่อย น้ำที่ใช้ส่วนหนึ่งต้องจ้างเรือไป “ล่มน้ำ” (หมายถึงเอียงเรือให้น้ำเข้าจนเต็ม ซึ่งเป็นวิธีบรรทุกน้ำในอดีต แม้ปัจจุบันใช้เครื่องสูบน้ำเข้าเรือ แต่ยังเรียกว่าการล่มน้ำอยู่) มาจากแม่น้ำเพชรบุรีบริเวณแพรกวัดปากคลองบางครก ซึ่งเชื่อว่าเป็นน้ำที่ใช้ได้และไม่กร่อย ยังมีการล่มน้ำมาใช้จนปัจจุบันแม้สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปมากก็ตาม เพราะน้ำประปาหมู่บ้านซึ่งใช้การขุดเจาะน้ำบาดาล บางครั้งก็ไม่มีน้ำหรือถ้ามีก็กลายเป็นน้ำกร่อย ส่วนน้ำดื่ม ต้องรองน้ำฝนเก็บไว้ใช้ให้ได้ตลอดทั้งปี ดังนั้น ภาชนะเก็บน้ำ เช่น ตุ่มขนาดใหญ่จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวบ้านตลอดมา 

สิ่งที่ทำให้ยี่สารเป็นชุมชนที่อยู่ยากอีกประการหนึ่งคือ “ยุง” ป่าชายเลนกับยุงเป็นของคู่กัน เมื่อถึงย่ำค่ำต้องสุมเปลือกมะพร้าวหรือไม้โกงกางไล่ยุงที่มีมากมายมหาศาลตลอดเวลาที่อยู่นอกห้องหรือนอกมุ้ง เพราะยุงชุมเหลือเกินสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย แต่สำหรับคนยี่สารคงเห็นเป็นเรื่องเฉยๆ และ “งูเห่า” ซึ่งในอดีตเคยมีมากกว่าปัจจุบันมาก ทั้งที่เขายี่สารและในป่าโกงกาง เขายี่สารมีงูเห่าอยู่ตามซอกหิน ไม่มีใครรู้ว่ามีมากเท่าไหร่ คนยี่สารรู้เวลาที่จะไม่ออกไปเจองูในช่วงพลบค่ำที่พวกมันออกหากินหรือหลังฝนตกใหม่ๆ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

สภาพความชุกชุมและหลากหลายของชนิดกุ้ง หอย ปู ปลา ตลอดจนพันธุ์ไม้ในระบบนิเวศน์ของป่าชายเลน หรือเมื่อเปิดบ่อกุ้ง จะทำให้ได้ปลาอื่นๆ ที่ปะปนเข้ามากับน้ำเลี้ยงกุ้ง เช่น ปลาหมอเทศ ปลากระบอก ปลากดทะเล เป็นต้น ดังนั้น อาหารแต่ละมื้อของชาวยี่สารมักประกอบด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา รวมอยู่ด้วยเสมอ

อาหารการกินของชาวยี่สารขึ้นกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติอยู่มาก ตัวอย่างคือ การนำเอาพืชท้องถิ่นที่ขึ้นอยู่ในเขตน้ำกร่อยหรือในป่าชายเลนมาดัดแปลงให้เป็นอาหารได้หลายชนิด โดยการกำจัดความเค็มออกไปเสียก่อน เช่น ต้นชะครามลักษณะคล้ายวัชพืชขึ้นตามป่าชายเลน นำยอดอ่อนมาแกงส้มหรือเป็นเครื่องเคียงผักจิ้มน้ำพริก ลูกแสมแก่ๆ นำมาทำขนมลูกแสม และฝักครุ่ยมาเชื่อมคล้ายฟักเชื่อม ส่วนต้นสามสิบเป็นไม้เถามีหนามรากกระจุกเป็นพุ่มขนาดใหญ่ รากที่คล้ายกระชายนำมาปอกเปลือกแล้วเชื่อม (อภิญญา ตันทวีวงศ์. แบบแผนและความเปลี่ยนแปลงของสำรับอาหารที่บ้านยี่สาร : รหัสแห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนกลางป่าชายเลน, ๒๕๔๐)

ชาวยี่สารไม่มีที่ทำนาปลูกข้าวแต่ก่อนมีโรงสีสำหรับสีข้าวที่ต้องไปแบกเอามาจากแถวบางเค็มซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกราวๆ ๗-๘ กิโลเมตร ส่วนของกินของใช้ที่จำเป็นต้องใช้เพราะภายในท้องถิ่นไม่มี ก็จะมีตลาดนัดทุกสัปดาห์ หรือมีเรือนำเข้ามาขายและในปัจจุบันก็ยังคงอยู่

จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเขายี่สาร ซึ่งทำการขุดในแหล่งที่อยู่อาศัย ทำให้ทราบว่ามีสัตว์ต่างๆ อยู่หลายประเภท เช่น ปลาชนิดและขนาดต่างๆ หมู วัว ควาย สัตว์ประเภทกวาง เก้ง ละมั่ง แมว หมา สัตว์จำพวกนก หนู กระรอก กระแต ซึ่งส่วนหนึ่งใช้สำหรับบริโภค แต่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนกระดูกแล้วก็พบว่า ชุมชนในอดีตแห่งนี้มีการบริโภคปลาในสัดส่วนที่มากกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด และพบกระดูกปลามากพอที่จะคิดว่ามากเกินกว่าการนำมารับประทานกันตามปกติ

อาชีพหลักของชาวยี่สารที่เคยทำกันเกือบทั้งชุมชน คือ การทำถ่าน มีการสร้างเตาขนาดใหญ่และปลูกสวนป่าโกงกางหมุนเวียน เพราะต้นโกงกางต้นหนึ่งกว่าจะนำมาเผาถ่านได้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๘-๑๐ ปี อาชีพนี้เริ่มทำกันในระดับอุตสาหกรรมในครัวเรือนเมื่อราว ๖๐-๗๐ ปีมาแล้ว โดยการเรียนรู้วิธีการอบถ่านโดยใช้เตาขนาดใหญ่จากการนำช่างชาวจีนจากอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มาสร้างเตาเผาให้ ทำให้เกิดการสร้างงานภายในชุมชน เช่นการเป็นเจ้าของเตาเผา รับจ้างตัดไม้โกงกาง รับจ้างปลูกฝักโกงกาง รับจ้างเรียงไม้ในเตา เป็นต้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐ มีอยู่ถึง ๗ แห่ง (วาสนา กุลประสูต. หมู่บ้านในป่าโกงกาง อนุสารอ.ส.ท. ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐) ) แต่ปัจจุบันยังคงมีเตาเผาหรืออบถ่านอยู่เพียง ๓-๔ ราย เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีอาชีพที่นิยมทำกันอีกคือ การขุดบ่อเลี้ยงกุ้ง ก่อนการเข้ามาของความนิยมในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำและนายทุนที่เข้ามากว้านซื้อที่ ชาวบ้านเลี้ยงกุ้งแชบ๊วยซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมมากนัก หลังจากนั้น ป่าชายเลนกลายเป็นนากุ้งกุลาดำ เมื่อกว่า ๑๐ ปีมานี้ ได้ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม การทำมาหากิน และการติดต่อกับชุมชนภายนอกแก่ชุมชนยี่สารอย่างมาก พื้นที่ป่าชายเลนหายไปอย่างรวดเร็วมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ ทั้งยังถูกทิ้งร้างในช่วงที่การทำนากุ้งตกต่ำ กลายเป็นปัญหาวิกฤตทางสภาพแวดล้อมอย่างยิ่ง ในปัจจุบันชาวยี่สารรุ่นหนุ่ทสาวเลือกอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่การทำถ่านหรือนากุ้ง ทำให้เกิดการโยกย้ายที่อยู่อาศัยหรือออกไปทำงานต่างพื้นที่มากกว่าเดิม

ในอดีตหากต้องการเดินทางออกนอกชุมชนจำเป็นต้องใช้ทางเรือเท่านั้น และต้องเป็นผู้รู้จักธรรมชาติของน้ำขึ้นน้ำลงวันละสองครั้งและเปลี่ยนเวลาตามฤดู ซึ่งเรียกกันว่า “หน้าน้ำเช้า” และ “หน้าน้ำเย็น” ให้ดีด้วย ไม่เช่นนั้นเรือจะติดเกยตื้น เหมือนที่ทั้งสุนทรภู่และก.ศ.ร.กุหลาบเคยพบมาแล้ว เช่นเดินทางไปบ้านแหลม เพชรบุรี จะไปทางคลองขุดยี่สาร ออกปากอ่าวบางตะบูน เข้าปากน้ำเพชรบุรี หรือหากต้องการไปเพชรบุรีหรือกรุงเทพฯ ต้องพายเรือเข้าคลองยี่สารไปจอดที่ใกล้ๆ สถานีรถไฟวัดกุฏิแล้วขึ้นรถไฟต่อไปอีกทอดหนึ่ง หากจะไปอัมพวาหรือแม่กลองต้องพายเรือไปออกที่คลองขุดดอนจั่นแล้วเข้าคลองบางลี่หรือคลองประชาชมชื่น 

15

ก่อนที่จะมีถนนการออกไปนอกชุมชนใกล้ๆ เพื่อแลกของกินของใช้แถวนัดคลองโคนหรือซื้อข้าวของต้องซื้อตุนไว้มากๆ เพราะไม่มีร้านค้า ต้องเดินเท้าผ่านป่าโกงกางถ้าเป็นหน้าแล้ง และพายเรือไปไม่ต่ำกว่าครึ่งวัน

เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ เพิ่งเริ่มเป็นปีแรกที่ชุมชนยี่สารสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ด้วยรถยนต์ หลังจากทำถนนเชื่อมต่อถนนสายธนบุรี-ปากท่อกับบ้านยี่สารเป็นระยะทางราว ๗-๘ กิโลเมตร ชาวยี่สารจึงอยู่ในชุมชนที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีการติดต่อกับภายนอกช้ากว่าและน้อยกว่าชุมชนอื่นๆ 

เหตุนี้ก็ว่าได้ จึงทำให้ยี่สารคงความเป็นหมู่บ้านย่านเก่าที่สงบเงียบ เปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมวัฒนธรรมและลักษณะทางกายภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อราวสิบปีที่ผ่านมาเริ่มเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เนื่องจากผลของการทำนากุ้งกุลาดำและกว้านซื้อที่ดินจากนายทุนภายนอก ซึ่งส่งผลถึงระบบทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

๑.๓ ศาสนา ลักษณะทางศิลปกรรมบริเวณวัดเขายี่สาร และความเชื่อเกี่ยวกับพ่อคุณปู่ศรีราชา 

เมื่อเดินทางเข้าสู่ชุมชนยี่สาร สิ่งที่เห็นเป็นเอกลักษณ์คือ เขายี่สารและวัดเขายี่สารซึ่งสร้างอยู่บนเขามีลักษณะทางศิลปกรรมที่งดงามเป็นที่เล่าลือ นับเป็นศูนย์รวมทั้งทางกายภาพและจิตใจของผู้คนตลอดมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ตามประวัติของวัดกล่าวว่าสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ราว พ.ศ. ๒๒๔๖ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่อย่างไรก็ตาม จากการขุดค้นหลุมทดสอบทางโบราณคดีเชิงเขายี่สารพบว่ามีเศษก้อนอิฐจากการก่อสร้างอาคารปะปนอยู่ในชั้นดินตั้งแต่ชั้นการอยู่อาศัยระดับแรกๆ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ แล้ว

ศาลคุณปู่ศรีราชาศูนย์กลางความเชื่อและจิตวิญญาณของคนยี่สาร

นอกจากนี้ บริเวณบ้านยี่สารยังมีวัดร้างอีกแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดน้อย อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเขายี่สารโดยมีคลองบางอีทอนคั่นในพื้นที่ลุ่ม มีน้ำขังบางส่วนใกล้กับที่ตั้งของศาลคุณปู่หัวละมาน ปัจจุบันยังคงเหลือซากฐานใบเสมา ใบเสมาทำจากหินทรายขนาดย่อมกว่าบนวัดเขายี่สาร ไม่มีลวดลายมากนัก เสาอาคารไม้ และแนวอิฐอยู่เล็กน้อย 

พื้นที่ของวัดเขายี่สารเป็นจุดศูนย์กลางทางความเชื่อและสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา รวมทั้งเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งชาวบ้านจะมาพบปะและทำบุญร่วมกันในวันพระและงานประเพณีสำคัญในรอบปี มีการตั้งบ้านเรือนอยู่รอบๆ ศาสนสถานสร้างลดหลั่นเป็นลำดับตามความสำคัญและหน้าที่การใช้งาน ซึ่งมีจังหวะของความงามที่เห็นชัดว่า มีการวางแผนการใช้พื้นที่ในการสร้างศาสนสถานบนเขาไว้อย่างลงตัวและน่าจะเป็นการวางแผนในคราวเดียวกัน เพราะมีการกำหนดตำแหน่งของศาสนสถานตามแนวยาวของเขา ตามลักษณะหน้าที่และความสำคัญของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีทางขึ้นเขาที่สะดวกแก่ชาวบ้านรอบๆ เขาที่จะขึ้นได้ถึงสามทาง

พระวิหารเป็นประธานบนจุดสูงสุด ต่ำลงมาคือกลุ่มเจดีย์และลานที่ปรับเรียบเพื่อสร้างศาลาพระฉันหรือศาลาทำบุญ ในอดีตผู้คนต้องขึ้นเขาไปนั่งรอทำบุญเลี้ยงพระที่ศาลาบนเขาทุกครั้ง   จะใช้พื้นที่บริเวณลานทำบุญซึ่งอยู่ในระดับระหว่างทางขึ้นไปสู่พระวิหารและทางเดินลงไปสู่โบสถ์เป็นที่ชุมนุม ลานทำบุญเคยมีศาลาทรงไทยที่เป็นอาคารเปิดโล่ง ตั้งอยู่ ๓ หลัง สำหรับชาวบ้านในจะใช้ทางขึ้นและศาลาทางทิศตะวันตก ส่วนชาวบ้านนอกจะใช้ทางขึ้นและศาลาทางทิศเหนือ ตรงกลางมีแท่นเป็นแนวยาว ๓ แท่น สำหรับวางบาตรและสำรับกับข้าวของผู้ที่มาทำบุญ การทำบุญบนเขามายกเลิกภายหลังที่ไม่มีลูกศิษย์วัดช่วยยกสำรับกับข้าวขึ้นลงเขาแล้ว ลำดับต่อมาคือโบสถ์ ต่ำจากโบสถ์คือ หอไตรซึ่งอยู่ในเขตของสงฆ์ 

บริเวณวัดมีศาสนสถานและศาสนวัตถุที่มีความงดงามและมีคุณค่าทางศิลปกรรมจำนวนมาก  ได้แก่

พระวิหาร เป็นประธานของวัด ภายในพระวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอย มีศาลาเครื่องไม้ขนาดเล็กที่มีหน้าบันงดงามมากครอบอยู่ ด้านในสุดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่สำคัญคือ แม้ว่ามีการบูรณะอาคารวิหารมาหลายครั้งแต่ยังคงรักษาบานประตูไม้แกะสลัก ๒ บาน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย บานหนึ่งแกะตัวลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นแกนกลางขมวดลายเป็นช่อหางโตแบบเดียวกับที่บานประตูวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ อีกบานหนึ่งทำเป็นลายสานแบบตะแกรง มีลายสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองอยู่ตรงกลาง และใส่ลายดอกจันทน์ไว้กลางลายสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองอีกทีหนึ่ง 

บานประตูสลักไม้ที่วิหาร ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ทำเป็นลายสานแบบตะแกรงมีลายสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสองอยู่ตรงกลาง และบานประตูที่ทำตัวลายเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่แกนกลาง ขมวดลายตรงกลางเป็นช่อหางโต ถือเป็นงานศิลปกรรมชั้นครูในสมัยอยุธยาและเป็นแม่แบบของช่างรุ่นต่อมา

พระอุโบสถ อาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีการซ่อมแซมอาคารเมื่อไม่นานมานี้ ภายในเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเขียนขึ้นใหม่แต่ยังไม่เสร็จ ที่บานช่องหน้าต่างซึ่งมีด้านละ ๕ ช่อง ด้านนอกเขียนลายลงรักปิดทองเป็นของซ่อมแซมใหม่ ส่วนด้านในเขียนภาพจิตรกรรมเป็นรูปแบบตัวนิยายในพงศาวดารจีนซึ่งมีชื่อเขียนกำกับเป็นภาษาไทยอยู่ทั้งสองบาน เพิ่งสืบค้นได้เพียงสองตัวว่ามาจากวรรณคดีเรื่องห้องสิน ส่วนภาพอื่นๆ น่าจะมีความสัมพันธ์กับพงศาวดารจีนที่แปลออกมามากในราวสมัยกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองอำนวยการแปลและหมอบรัดเลเป็นผู้พิมพ์เผยแพร่ (พงศาวดารจีนหลายเรื่องแปลเป็นร้อยแก้วตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯให้แปล สามก๊ก และ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมพระราชวังหลังโปรดฯให้แปล ไซฮั่น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯโปรดเกล้าฯ ให้แปลเรื่อง เลียดก๊ก พงศาวดารจีนส่วนใหญ่แปลในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยมีเสนาบดีตระกูลบุนนาคเป็นแม่กองอำนวยการแปล โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) ได้แก่ ไซจิ้น ตั้งจิ้น น่ำซ้อง หงอโต้ บ้วนฮวยเหลา โหงวโฮ้วเพงไซ โหงวโฮ้วเพงหนำ ซวยงัก ซ้องกั๋ง เม่งเฉียว (แปลในรัชกาลที่ ๔) เสาปัก ซิยินกุ้ยเจงเตง ซิเตงซันเจงไซ เองเลียดต้วน อิวกังหนำ ไต้อั้งเผ่า เซียวอั้งเผ่า เนียหนำอิดซือ เม่งมวดเชงฌ้อ (แปลในรัชกาลที่ ๕) สมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังจัดพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนด้วย บทบาททางการเมืองการปกครองของเสนาบดีตระกูลบุนนาค”ปิยนาถ บุนนาค (หน้า ๒๔๘), ความนิยมเรื่องจีนในสมัยนี้และในเขตนี้น่าจะสัมพันธ์กับการมีอิทธิพลของเสนาบดีตระกูลบุนนาคต่อบ้านเมืองในเขตตะวันตก เช่น การบริจาคเงินขุดคลองต่างๆ เช่น คลองดำเนินสะดวก คลองบางลี่ คลองขุดยี่สาน การมีที่ดินจำนวนมหาศาลในเขตนี้ เป็นต้น) ที่รอบนอกพระอุโบสถ มีเสมาหินทรายแดงปักคู่อยู่โดยรอบ เป็นเสมาในศิลปะแบบอยุธยา 

27

ศาลาพระปาเลไลยก์ กล่าวว่าสร้างสมัยหลวงพ่อเชยเมื่อราวปลายรัชกาลที่ ๕ ตั้งอยู่บริเวณด้านล่างติดกับท่าน้ำของวัด ศาลาหลังเก่าเคยมีแผ่นไม้ที่คอสองเขียนภาพจิตรกรรมเรื่อง “ปฐมสมโพธิ” และมีรายชื่อผู้บริจาคเพื่อเขียนภาพนี้ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านยี่สารเป็นหลักฐานไว้ด้วย น่าจะเขียนขึ้นเมื่อ ศก ๑๒๙ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๕๔ ซึ่งเป็นปีที่สองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันเก็บรักษาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านยี่สาร บริเวณรอบๆศาลา ชาวบ้านเล่าว่า เคยมีชิ้นส่วนของพระพุทธรูปหินทรายตกเกลื่อนตามพื้นมากมาย ทั้งน้ำเซาะตลิ่งและมีคนหยิบไปบ้าง หลักฐานสำคัญจึงคงเหลืออยู่ส่วนของเศียรพระพุทธรูปหินทรายขนาดเล็ก มีเรียวพระมัสสุเหนือริมฝีปาก ซึ่งน่าจะเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น

เจดีย์ราย ตั้งอยู่หลายแห่ง เช่น ด้านหน้าและหลังพระวิหาร เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังย่อมุม ฐานเจดีย์ซ้อนกันหลายชั้น และยังมีเจดีย์รูปทรงปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ กล่าวว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ ซึ่งพ้องกับการบูรณะครั้งใหญ่ของวัดเขายี่สาร ตามประวัติของวัด (ศาสตราจารย์ ดร. สันติ เล็กสุขุม นำชมโบราณสถานในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการภูมิภาคสัญจรครั้งที่ ๑ เรื่อง “ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนยี่สาร” ที่วัดเขายี่สาร ๒๔ กันยายน ๒๕๔๑ )

ศาลาพระฉัน เป็นอาคารเปิดโล่ง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง พื้นไม้ที่ยกสูงขึ้นพอประมาณ สำหรับเป็นที่สำหรับพระสงฆ์นั่งฉันภัตตาหารในงานทำบุญ ซึ่งผู้คนจะขึ้นมาทำบุญบนเขาตามศาลานี้ ศาลาพระฉันเป็นรูปแบบวิธีการทำบุญที่ใช้ศาลาโล่งลานด้านหน้ามีแถวยาวก่ออิฐฉาบปูนที่วางสำรับอาหาร อันเป็นที่นิยมกันทั่วไปในบริเวณชุมชนใกล้เคียงแถบเพชรบุรีและสมุทรสงคราม ในอดีตเคยมีศาลานั่งฉันอยู่ถึง ๓ หลัง ปัจจุบันเหลือเพียงหลังเดียว

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ศาลาตั้งศพ เป็นอาคารไม้ทรงไทยขนาดใหญ่ ผนังเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องกาบกล้วย บริเวณคอสองเขียนภาพจิตรกรรมบนพื้นไม้เรื่องพระมาลัยตอนเสด็จเมืองสวรรค์และนรก มีตัวหนังสือระบุชื่อขุมนรกต่างๆ  มีการเขียนเพิ่มเติมจนทำให้ภาพเลอะเทอะเมื่อราว พ.ศ.๒๕๐๐ ศาลาธรรมสังเวชใช้เป็นที่ตั้งศพก่อนทำพิธีเผา เคลื่อนย้ายมาจากที่ตั้งเดิมซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าวัดทางขึ้นเขา สภาพในปัจจุบันค่อนข้างชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากไม่มีการใช้งานแล้ว

ศาลาการเปรียญ อาคารทรงไทยขนาดใหญ่สองชั้น ปัจจุบันได้ดัดแปลงเพื่อใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชน  

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ “คุณปู่ศรีราชา หรือที่ชาวบ้านยี่สารเรียกกันว่า คุณปู่”เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น มีผลต่อการยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนได้มากพอๆกับความเชื่อมั่นทางพุทธศาสนา คุณปู่ศรีราชาคือผู้ที่คอยปกป้องคุ้มครองหมู่บ้านให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่างๆ ยี่สารเป็นแหล่งหลบซ่อนของพวกชุมโจรดังๆ หลายก๊ก ที่ชาวบ้านจดจำได้ คือ ชุมโจรบ้านกอไผ่  โจรเหล่านี้มักขึ้นล่องเที่ยวปล้นชาวบ้านตามลำน้ำสายเล็กสายใหญ่ราวๆ ก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ โดยเฉพาะเรือเมล์จากแม่กลองไปราชบุรี และชุมชนที่อยู่ตามทางน้ำสายต่างๆ โจรเหล่านี้เข้ามาหลบซ่อน ใกล้ๆกับบ้านยี่สารเพราะเป็นบริเวณห่างไกล ภายหลังถูกตำรวจปราบปรามจนหมด นอกจากนี้ยังมีบันทึกไว้ใน “เมืองที่เสือยังไม่กล้าอยู่” ชาวกรุง ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๕ ว่า ตำบลยี่สารเป็นถิ่นของเสือแสวง คุ้มสินธุ์ และต่อมาก็ถิ่นของโจรบ้านกอไผ่ ที่ถูกตำรวจ ๓-๔ จังหวัดที่เป็นเขตติดต่อปราบปรามเรียบร้อยไป ๔-๕ ปีแล้ว เหตุที่ตำบลนั้นเป็นถิ่นโจรก็เพราะมีแต่ป่าจากและทุ่งนา อยู่ห่างไกลจากความเจริญเพราะอยู่ปลายคลองวัดประดู่ ซึ่งไหลจากริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองไปออกทะเลที่เขตตำบลยี่สาร (หน้า ๒๕–๒๖))

ชาวบ้านจะไปบนบานให้คุณปู่ช่วยเหลือเมื่อได้ข่าวว่าจะมีโจรมาปล้นหมู่บ้านและบ้านยี่สารไม่เคยถูกเข้าปล้นเลย หรือการเดินทางออกไปนอกชุมชน การออกไปทำมาหากินต่างถิ่น ช่วยระงับความขัดแย้งเมื่อต้องมีการสาบานในกรณีพิพาท การเสี่ยงทาย หรือการจัดงานมงคลต่าง ๆ ก็ต้องจุดธูปบอกคุณปู่กันเสมอ 

เชื่อกันว่าคุณปู่ศรีราชาเป็นคนจีน เมื่อจะติดต่อสื่อสารกับคุณปู่ต้องพูดผ่านคนกลาง ซึ่งเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่พูดภาษาจีนได้ เป็นคนกลางทำพิธีกรรมต่างๆ แต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว  

คุณปู่ศรีราชาเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเมื่อมีการบวชคุณปู่เป็นพระ รูปแบบจากการนับถือจากไม้เจว็ดซึ่งทำจากไม้ตะเคียนและถือเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนคุณปู่ก็กลายเป็นพระพุทธรูป มีการทำพระเครื่องเป็นเหรียญคุณปู่เป็นที่นิยมห้อยคอกันมาก เปลี่ยนศาลเดิมซึ่งตั้งอยู่บริเวณอู่ตะเภาลักษณะเป็นศาลไม้ยกพื้น ย้ายมาสร้างไว้ริมคลองยี่สารด้านหน้าวัด และสร้างศาลใหม่ในปัจจุบันที่อยู่ใกล้สถานีอนามัยเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๖ มีงานประจำปีซึ่งเป็นงานที่มีคนเข้ามาเที่ยวและไหว้คุณปู่ศรีราชาจากชุมชนใกล้เคียงและผู้เคยได้ยินกิตติศัพท์ ซึ่งจัดขึ้นกลางเดือนอ้ายหรือเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีการนำสิ่งของไปเซ่นไหว้ แล้วยังมีการไหว้คุณปู่อีกครั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในช่วงมีการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับคุณปู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะพากันหยุดงานเพื่อเตรียมข้าวของสำหรับเซ่นไหว้ โดยคนยี่สารเกือบทุกคนจะไปร่วมในพิธีกันไม่ได้ขาด ( เบญจรัชต์ เมืองไทย. พ่อปู่ศรีราชา : บทบาทของความเชื่อกับการบูรณาการทางสังคมในชุมชนยี่สาร, ๒๕๔๐)

๒. กำเนิดยี่สาร

๒.๑ ยี่สารจากประเพณีบอกเล่า

ตำนานที่เป็นเรื่องเล่ากันในท้องถิ่นผูกพันอยู่กับความเชื่อเรื่อง “คุณปู่ศรีราชา” ซึ่งนับว่าเป็นวีรบุรุษประจำท้องถิ่นได้เหมือนกัน เพราะเรื่องเล่าเช่นนี้แพร่หลายในเขตเพชรบุรี บ้านแหลม บางตะบูน เขาย้อย ปากท่อ มีการรับรู้เรื่องคนจีนมากับเรือสำเภาชนเขาเรือแตกในเขตนี้หลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดว่ามีชุมชนใดบ้าง และมีความสัมพันธ์อย่างไรกับชุมชนยี่สาร

31-2

ตำนานคุณปู่ศรีราชา แสดงให้เห็นภาพการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนจีนที่แล่นเรือสำเภาเข้ามาในแถบนี้อย่างชัดเจน  เล่ากันว่าพ่อปู่ศรีราชาอยู่ในกลุ่มคนจีนที่ล่องเรือสำเภามาค้าขาย โดยมากันสามคนพี่น้อง พี่คนโตชื่อว่า จีนเครา คนรองชื่อว่า จีนขาน ส่วนคนสุดท้องชื่อว่า จีนกู่ เมื่อสามพี่น้องแล่นเรือมาจนถึงบริเวณเขายี่สารซึ่งในอดีตติดกับทะเล เรือสำเภาได้พุ่งชนเขาจนเรือแตกพี่น้องสามคนพลัดพรากจากกัน พี่คนโตที่ชื่อจีนเคราไปอยู่ที่เขาตะเครา คนรองคือจีนขานอยู่ที่ เขายี่สาร ส่วนน้องคนเล็กหรือจีนกู่ได้ไปอยู่ที่ เขาอีโก้ ทั้งสามพี่น้องได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นหมู่บ้านอยู่สืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ พื้นที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏในตำนานอยู่ใกล้กันมาก ขนาดที่สามารถกู่ร้องถึงกันได้ ชาวบ้านเชื่อว่าตำนานนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง พี่น้องทั้งสามคนก็ยังติดต่อถึงกันและพ่อปู่ศรีราชาคือบรรพบุรุษของพวกตนนั่นเอง 

เห็นได้ว่าตำนานเกี่ยวกับคุณปู่ศรีราชาสะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มคนจีนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณชุมชนชายฝั่งทะเล สัมพันธ์กับการเดินทางทางทะเลด้วยเรือสำเภา สถานที่ซึ่งปรากฏในตำนานเป็นสถานที่มีอยู่จริง เขาตะเครา อยู่ในเขตอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ห่างจากบ้านยี่สารไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว ๑๐ กิโลเมตร ส่วนเขาอีโก้เป็นภูเขาที่อยู่ในเขตอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ห่างจากบ้านยี่สารไปทางตะวันตกราว ๑๓ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ติดต่ออำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรีและเขตอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นเขตที่มีกลุ่มลาวโซ่งอาศัยอยู่มาก 

เมื่อพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ที่อ้างถึงในตำนาน จะเห็นภาพของภูเขาที่กล่าวถึงชัดเจนที่สุดก็ต่อเมื่อลอยเรืออยู่แถบอ่าวบางตะบูนในวันที่อากาศดี ทัศนวิสัยแจ่มใสเห็นเขาตะเครา เขาอีโก้ และแนวเทือกเขาตะนาวศรีที่อยู่ถัดออกไปอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังเห็นเขาอีก ๒-๓ แห่งในตัวจังหวัดเพชรบุรี ส่วนเขายี่สารนั้น ต้องล่องเรือเข้ามาภายในลำคลองจึงจะเห็นยอดเขาโพล่พ้นยอดไม้เล็กน้อยเพราะเป็นเขาที่ไม่สูงนัก

อนึ่ง การที่คุณปู่ซึ่งในตำนานอ้างว่าเป็นคนจีนมีชื่อเรียกว่า “คุณปู่ศรีราชา” น่าจะมีความหมายบางประการถึงการปรับเปลี่ยนชื่อจาก “จีนขาน” เป็น “คุณปู่ศรีราชา” ซึ่งจะไม่วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนในที่นี้ แต่จะกล่าวถึงร่องรอยของคำว่า “ศรีราชา”

จิตร ภูมิศักดิ์ ศึกษาและอธิบายความหมายของ “ศรีราชา” หรือ “ศรีมหาราชา” ว่า แต่เดิมเป็นปรมาภิไธยของกษัตริย์วงศ์ไศเลนทร์แห่งศรีวิชัย ภายหลังพวกปัทมวงศ์จากเขมรมาตั้งวงศ์ปัญจาณฑ์ขึ้นใหม่ และใช้คำว่า “ศรีธรรมราช” เป็นปรมาภิไธยแทน 

“ศรีราชา” หรือ “ศรีมหาราชา” กลายเป็นตำแหน่งทางการเมืองของบ้านเมืองในเขตเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งสัมพันธ์กับเมืองเพชรบุรี ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนสมัยการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ 

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่า พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชกษัตริย์พระบวรเชษฐาพระราชกุมาร เจ้านายซึ่งมีเชื้อสายของกษัตริย์จากอโยธยามาตั้งบ้านเมืองทางริมสมุทรที่นครเพชรบุรี และส่งฑูตไปยังราชสำนักจีน ซึ่งมีบันทึกไว้เป็นทางการเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๗ ในเอกสารจีนและพ้องกับตำนานเมืองนครฯ ในช่วงเวลานี้ เมืองเพชรบุรีที่ทำนาเกลือได้ผลดี มีเรือสำเภาจากจีนมาค้าขายและซื้อไม้ฝางกลับไป (ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช น่าจะเป็นเรื่องเล่าที่มีผู้จดบันทึกไว้ภายหลัง จิตร ภูมิศักดิ์สันนิษฐานว่า ทั้งตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานเมืองนครศรีธรรมราช มีลักษณะส่วนใหญ่เป็นทำนองจดหมายเหตุที่จดเรียงลำดับศักราชลงมา เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ จนมาถึงกลางสมัยอยุธยา สำนวนภาษา ถ้อยคำ และความเชื่อถือบางอย่าง มีลักษณะคล้ายคลึงกับของพวกไตลื้อ ซึ่งแสดงว่าผู้จดน่าจะเป็นคนรุ่นหลังจากพระราเมศวรกวาดต้อนครัวล้านนาลงมาไว้ที่ภาคใต้เมื่อระหว่าง พ.ศ.๑๙๓๑–พ.ศ.๑๙๓๘, จิตร ภูมิศักดิ์. สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา (หน้า ๑๔๗))

พระพนมทะเลฯ ได้ส่งพระพนมวังไปตั้งบ้านเมืองที่นครศรีธรรมราชหลังจากรัฐศรีธรรมราชถูกทำลายลง “เจ้าศรีราชา” เป็นบุตรของพระพนมวัง ได้ช่วยพ่อจัดการบ้านเมืองในแหลมมลายูจนถึงเมืองยะโฮร์ หลังจากพระพนมวังตาย เจ้าศรีราชาได้ไปเฝ้าพระพนมทะเลฯ จึงตั้งเจ้าศรีราชาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช มีบรรดาศักดิ์เป็น พญาศรีธรรมาโศกราช สุรินทรราชาสุรวงศ์ธิบดี ศรียุธิษเฐียรอภัยพิรียปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมหานคร 

ต่อมาเมื่อพญาศรีธรรมาโศกราชสิ้นอายุลง ตำแหน่งศรีราชาหรือศรีมหาราชาไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าเมืองอีกต่อไป แต่เป็นตำแหน่งทางศาสนา ดูแลจัดสรรที่ดินไร่นาของวัดและคุมบัญชีเลกวัดข้าพระโยมสงฆ์ ซึ่งเป็นกลอุบายในการประนีประนอมผลประโยชน์ของที่ดินและไพร่กับกลุ่มที่นับถือพราหมณ์-มหายานในตระกูลมลายูเดิม และฝ่ายหินยานที่เป็นกลุ่มใหม่เข้าไปปกครอง ตำแหน่งนี้สิ้นสุดที่นครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ.๑๘๖๑ แล้วจึงไปปรากฏที่อื่น

ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ในช่วงเวลาเดียวกับพระพนมทะเลฯ แห่งเมืองเพชรบุรีส่งเจ้าศรีราชาไปช่วยจัดการหัวเมืองในคาบสมุทรมลายู ได้ส่งเจ้าศรีพระพี่เลี้ยงไปกินเมืองแพรก (สรรคบุรีในปัจจุบัน) และสมัยต่อมาก็มีประเพณีส่งเจ้านายในสมัยแรกๆ ของกรุงศรีอยุธยาในตำแหน่งสมเด็จพระศรีราชาธิราช ไปครองเมืองแพรก จึงได้สร้อยเป็นเมืองแพรกศรีราชาไปด้วย อยุธยาส่งเจ้านายไปครองเมืองแพรกครั้งสุดท้ายในสมัยพระอินทราชาส่งเจ้ายี่ไปครองเมื่อ พ.ศ.๑๙๖๔ 

ในกฎหมายทำเนียบศักดินาทหารหัวเมือง เมื่อ พ.ศ.๑๙๙๗ ตำแหน่งศรีราชา ถูกย้ายไปเป็น “หลวงศรีมหาราชา” เจ้ากรมอาษาจาม ซึ่งยังไม่ทิ้งร่องรอยเดิม เพราะรวมเอาชาวจาม ชวา มลายู ไว้ด้วยกัน (จิตร ภูมิศักดิ์  นครรัฐเพชรบุรี,  สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา )

แม้เป็นเรื่องที่อยู่ในตำนานและมีการจดบันทึกในภายหลัง แต่หลักฐานโดยเฉพาะชื่อเฉพาะหรือชื่อตำแหน่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้น้อยกว่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์

“ศรีราชา” จึงเป็นชื่อตำแหน่งเจ้านายเมืองนครศรีธรรมราชที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและขึ้นต่อเมืองเพชรบุรี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นที่รู้จักดีในบ้านเมืองตลอดแหลมมลายู การจัดการการปกครองบ้านเมืองตลอดแหลมมลายูฝั่งอ่าวไทย ทั้งรวบรวมผู้คนสร้างป่าเป็นนา เกณฑ์คนตั้งแต่ยะโฮร์จนถึงบางสะพานมาร่วมกันบูรณะพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นการบูรณาการทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัดที่สุด การกระทำทั้งหลายต้องอาศัยการเดินทางโดยการเดินเรือเลียบชายฝั่ง ติดต่อกับบ้านเมืองในเขตเพชรบุรีไปจนถึงอยุธยา ตลอดถึงแหลมมลายู ชื่อเสียงของ“เจ้าศรีราชา”ในช่วงเวลานั้นอาจเป็นที่เล่าลือในชุมชนชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยทั้งสองฝั่งไปจนตลอดแหลมมลายู ( ชื่ออำเภอศรีราชา ในจังหวัดชลบุรี ยังไม่มีการค้นหาความหมายที่อาจสัมพันธ์กับ เจ้าศรีราชา ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ดังที่จิตร ภูมิศักดิ์กล่าวไว้ อย่างไรก็ตาม มีร่องรอยที่อาจเชื่อมโยงได้คือ ความสำคัญของเกาะสีชังต่อการเดินเรือเลียบชายฝั่ง ซึ่งอยู่ตรงพอดีกับศรีราชา มีบันทึกการเดินเรือที่ใช้เส้นทางจากปากน้ำเจ้าพระยาไปพักที่เกาะสีชังก่อนจะแล่นตัดข้ามอ่าวโดยใช้ลมมรสุมไปที่แถวเขาสามร้อยยอดซึ่งเป็นยอดเขาที่มองเห็นได้ไกลแถบกุยบุรี และเขาเจ้าลายชายหาดชะอำ H. Warrington Smyth บันทึกเรื่องเล่าของชาวเรือในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อกันมาว่าเกาะสีชังเป็นจุดหมายซึ่งเรือสำเภาจีนลำใหญ่ขนาด ๔-๕ เสากระโดงจะขึงใบตึงแล่นตัดข้ามอ่าว หลังจากเติมน้ำจืดที่แถวสามร้อยยอด กุยบุรี และเมื่อพิจารณาภาพแผนที่โบราณของสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรี บริเวณอ่าวไทย จะเห็นตำแหน่งของเกาะสีชังและสามร้อยยอดตั้งอยู่เยื้องกัน เป็นจุดสังเกต [landmark]ที่เห็นชัดเจนบนแผนที่ นอกจากนี้ ยังมีร่องรอยของนิทานเรื่องตาม่องล่ายรับขันหมากเจ้ากรุงจีนและเจ้าลาย ปรากฏเป็นเขาและเกาะต่างๆ ในแถบชะอำ สามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์ ข้ามอ่าวไปที่เกาะช้าง เกาะสาก เกาะกง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสองฟากฝั่งของอ่าวไทย ดังนั้น สีชังและศรีราชา จึงเป็นสถานที่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักเดินทางที่ผ่านอ่าวไทยชั้นใน) 

ในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่ามีการเริ่มตั้งชุมชนอยู่อาศัยที่บ้านยี่สารแล้ว (พบเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หยวน พ.ศ.๑๘๑๙–พ.ศ.๑๙๑๐) ประกอบกับเรื่องเล่าของ “เจ้าศรีราชา” อันเปรียบเสมือนวีรบุรุษของชุมชนที่สัมพันธ์อยู่กับการเดินเรือเลียบชายฝั่งรอบอ่าวไทยและรับรู้เรื่องราวของศรีราชาแบบมุขปาฐะ เพราะพ่อปู่ศรีราชาเป็นที่นับถือร่วมกันของผู้คนตั้งแต่ยี่สาร ราชบุรี เพชรบุรี ไปจนถึงประจวบคีรีขันธ์ ดังนั้น จึงมีทางเกี่ยวข้องกันอยู่ระหว่างตำนานวีรบุรุษท้องถิ่นและการเกิดขึ้นของชุมชนยี่สาร การเปลี่ยนจาก “จีนขาน” มาเป็น “คุณปู่ศรีราชา” จึงมีร่องรอยที่มีเหตุผลรองรับ

สำหรับสถานที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่ซึ่งเรือสำเภาแล่นเข้ามาชนเขา คือบริเวณที่เรียกว่า “อู่ตะเภา” คนเฒ่าคนแก่ในบ้านยี่สารเชื่อว่า ตรงอู่ตะเภาเคยมีเสากระโดงเรือขนาดใหญ่อยู่และมีคนเคยเห็นและเล่าสืบต่อกันมาแต่ภายหลังสูญหายจมดินไป ความเชื่อมั่นนี้ชาวบ้านเชื่อถึงขนาดอยากจะให้ขุดค้นพิสูจน์กันทีเดียว 

อู่ตะเภา อยู่ด้านหลังเขายี่สาร บริเวณเดียวกับที่เป็นเนินพื้นที่การอยู่อาศัยของผู้คนในอดีต ซึ่งเป็นเนินขนาดใหญ่ราว ๑๐ ไร่ บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งศาลเดิมของคุณปู่ศรีราชาก่อนย้ายมาสร้างใหม่บริเวณหน้าหมู่บ้านในปัจจุบัน และปากแพรกคลองบางอีทอนอีกฝั่งคลองหนึ่งมีศาลคุณปู่หัวละมาน ซึ่งเป็นศาลอีกหลังที่เล่ากันว่าเกี่ยวพันเป็นพี่น้องกับคุณปู่ศรีราชา ถัดออกมาจึงเป็นวัดน้อยที่ยังคงเหลือซากเสาไม้ ฐานอาคาร และฐานใบเสมาอยู่ไม่มากนัก  บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่ซึ่งมีการใช้งานมากและสำคัญต่อชุมชนดั้งเดิมที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในยี่สารตั้งแต่แรกเริ่ม

41

ร่องรอยจากตำนานคุณปู่ศรีราชาดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในระยะแรกของการเกิดชุมชนอย่างชัดเจนกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่น ใช้การเดินทางโดยสารมากับเรือสำเภาซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกล่าวได้ว่าชุมชนในแถบนี้เกิดขึ้นจากการเข้ามาเผชิญโชคของชาวจีนชายฝั่งทางตอนใต้หลายยุคหลายสมัย พ้องกับทำเลที่ตั้งบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย บริเวณที่มีกลุ่มคนจีนจำนวนมากอยู่อาศัยบริเวณปากแม่น้ำทั้งแม่กลองและท่าจีน อันเป็นชุมทางการคมนาคมภายในท้องถิ่นกับชุมชนโพ้นทะเล 

จากตำนานวีรบุรุษท้องถิ่นหรือตำนานการเกิดขึ้นของชุมชน เรื่องของคุณปู่ศรีราชายังคงมีอิทธิพลต่อชีวิตชาวยี่สารทั้งในระบบความเชื่อ รวมถึงการแสดงออกถึงตัวตนและรากเหง้าของชาวยี่สาร นับเป็นตำนานที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างเด่นชัด แม้เรื่องเล่าสำหรับเด็กๆ เกี่ยวกับคุณปู่ศรีราชา จะเป็นเพียงนิทานที่ขาดรายละเอียด แต่ตัวตนของคุณปู่ศรีราชายังเป็นที่รับรู้โดยผ่านพิธีกรรมอย่างเหนียวแน่น ยากอย่างยิ่งที่จะมีผู้ใดในชุมชนแห่งนี้ไม่รู้จัก “คุณปู่” (คนท้องถิ่นในปัจจุบันใช้ทั้งสองคำเรียกคุณปู่ศรีราชาและพ่อปู่ศรีราชา, แต่คำว่า “คุณ” เป็นคำดั้งเดิมที่ใช้เรียกผู้มีคุณวุฒิ เช่นพระสงฆ์ หรือแม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ)

ตราบใดที่พิธีกรรมยังคงดำเนินต่อไป จิตสำนึกในการมีบรรพบุรุษเป็นคนจีนโพ้นทะเลก็จะตกตะกอนอยู่ภายในใจของคนยี่สารอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

๒.๒ หลักฐานทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีที่ทำการขุดค้นเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวยี่สารมาแต่เดิม เป็นเนินดินขนาดใหญ่สูงกว่าพื้นที่รอบๆ ราว ๒-๓ เมตร ขนาดราวๆ ๓๐ ไร่ เริ่มจากเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาโอบล้อมไปจนถึงโรงเรียนประถมจนจรดคลองยี่สารตรงข้ามปากคลองหลวงหรือบริเวณศาลาพระปาลิไลยก์ รวมเอาบริเวณที่เรียกว่า “อู่ตะเภา” หลังวัดเขายี่สารในปัจจุบันไว้ด้วย เห็นได้ชัดว่าเนินดินเกิดจากการกระทำของมนุษย์เพราะเนื้อดินประกอบขึ้นจากอินทรีย์วัตถุที่เกิดจากการอยู่อาศัย ดังนั้น บริเวณนี้จึงมีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นอยู่มากมาย ต่างจากพื้นที่อื่นๆในบ้านยี่สารที่ปลูกอะไรก็ไม่งอกงามดี เนื่องจากดินเค็ม ผิวดินพบเศษภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ มีอยู่กระจัดกระจายค่อนข้างหนาแน่นทั่วทั้งเนินจนถึงริมน้ำ (ทำการขุดค้นโดยมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านยี่สาร, พฤษภาคม ๒๕๔๑ )

เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมและลักษณะทางกายภาพ ชุมชนยี่สารในสมัยแรกเริ่มควรจะมีพื้นที่กิจกรรมการอยู่อาศัยและ “หน้าวัด” ในบริเวณนี้ ต่างจากการใช้พื้นที่ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นจุดที่มีลำคลอง ๒ สายมาสบกัน คือ แพรกบางอีทอนที่ไปออกอ่าวบางตะบูนและแม่น้ำเพชรบุรี กับคลองยี่สารที่ไปบางเค็มต่อกับคลองวัดประดู่เห็นเขาอีโก้เป็นจุดสังเกตได้ชัดเจน มีศาลคุณปู่ศรีราชาเดิมตั้งอยู่ ฝั่งคลองตรงข้ามก็มีศาลคุณปู่หัวละมานและวัดน้อย ทั้งพื้นที่หน้าวัดในปัจจุบันยังเป็นที่สำหรับฌาปนกิจศพมาตั้งแต่สมัยโบราณและมีศาลาตั้งศพขนาดใหญ่ เคยเป็นที่เปลี่ยวเพราะไม่มีบ้านเรือนตั้งอยู่มากแต่อย่างใด 

เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินประทับลวดลายแปลกตา ไม่ค่อยมีการพบลายเช่นนี้เท่าใดนัก จากชั้นดินสุดท้ายของการขุดค้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐, เครื่องถ้วยคารัตสึ จากญี่ปุ่น อายุราวพุทธวรษที่ ๒๑–๒๒, หอยเบี้ยจำนวนมากที่พบในหลุมขุดค้น หอยเบี้ยเหล่านี้ใช้แทนเงินปลีกในการซื้อขายสินค้า, เครื่องถ้วยขนาดเล็กเครื่องถ้วยสุโขทัยเตาเมืองเก่า อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐–๒๑

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้งานรอบๆ เขายี่สารน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความสำคัญของเส้นทางคมนาคมในช่วงที่มีการขุดคลองลัดยี่สารไปออกบางตะบูนเมื่อราวต้นรัชกาลที่ ๕ 

หลุมทดสอบขนาด ๓ x ๓ เมตร ทำการขุดในบริเวณที่เกือบจะเป็นจุดสูงสุดของเนิน เนื้อดินลักษณะเป็นฝุ่นแป้งปนกับรากไม้, ก้อนหิน, เปลือกหอยแครง และเศษภาชนะดินเผาประเภทต่างๆ ชั้นดินแต่ละชั้น แสดงถึงการอยู่อาศัยอย่างชัดเจน เพราะพบภาชนะต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบอาหาร เช่น หม้อก้นกลมประดับลวดลายโดยใช้ไม้ตบประทับขนาดต่างๆ หรือหม้อทะนน ชิ้นส่วนของเตาเชิงกราน ภาชนะจำพวกถ้วยชามทั้งเครื่องกระเบื้องและเซลาดอนโดยเฉพาะจากจีนเป็นจำนวนมากที่สุด ไหเนื้อแกร่งขนาดต่างๆ ที่ใช้ใส่น้ำดื่มน้ำใช้ เศษภาชนะดินเผาที่พบมีความหนาแน่นมาก น้ำหนักของเศษภาชนะดินเผาทุกชั้นดินรวมกันราว ๘๐๐ กิโลกรัม 

นอกจากนี้ อิฐจากโบราณสถาน กระเบื้องมุงหลังคา ตุ๊กตาดินเผา เศษโลหะ เศษทองคำ เหรียญอีแปะจีน หอยเบี้ยหลายพันตัวที่ใช้แทนเงินตรา กองขี้เถ้า เศษฟืน และกองถ่าน ตลอดจนหลุมดินที่ใช้ทำเตาไฟ กระดูกสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น สัตว์ประเภทวัว-ควาย นก-หนู เสือ-แมว หมา เก้ง-กวาง-ละมั่ง กระดูกปลาโดยเฉพาะกระดูกสันหลังของปลาทะเลขนาดใหญ่จำนวนมาก ปริมาณมากกว่าชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ประเภทอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด หลุมเสาจำนวนหนึ่งซึ่งมีอยู่หลายช่วงเวลา 

ยี่สาร นับเป็นชุมชนที่นิยมการใช้เครื่องถ้วยชามที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าทางทะเล ไม่ว่าจะมาจากเตาเมืองเก่าที่สุโขทัย เตาเกาะน้อยที่ศรีสัชนาลัย เตาบางปูนที่สุพรรณบุรี เตาริมแม่น้ำน้อยที่สิงห์บุรี แหล่งเตาจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี แหล่งเตาหลงฉวนจากมณฑลกวางตุ้ง เครื่องถ้วยคุณภาพต่ำจากมณฑลซัวเถา ซึ่งอยู่ในเขตจีนตอนใต้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวนจนถึงราชวงศ์เช็ง เครื่องถ้วยอันนัมจากเวียดนาม เครื่องถ้วยคารัตสึและเครื่องถ้วยอิเซนจากญี่ปุ่น กล่าวได้ว่าทุกแห่งที่มีการทำเครื่องถ้วยและนำออกขายโดยใช้เส้นทางทางทะเล นอกจากนี้ยังมีเครื่องถ้วยที่มาจากเหนือด้วย คือ ชามสันกำแพงจากเชียงใหม่ และคอน้ำต้นจากลำพูน 

รวมไปถึงหม้อก้นกลมประดับลวดลายที่รู้จักกันว่า “หม้อทะนน” คือภาชนะเนื้อดินที่ใช้ไม้ตีลายประทับรอบภาชนะ เราไม่พบภาชนะประเภทนี้ในแหล่งการอยู่อาศัยที่มีอายุเก่ากว่าสมัยอยุธยามากๆ รูปแบบของหม้อทะนนน่าจะมีรากฐานความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับการค้าทางทะเล เพราะมีการใช้แพร่หลายในเขตหมู่เกาะหลายแห่ง ตั้งแต่ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาจนถึงสุมาตรา ในเขตคาบสมุทรมลายูและชายฝั่งของพม่า ผลิตใช้กันทั่วไปในชุมชนภายในจนกลายเป็นรูปแบบภาชนะที่เป็นเอกลักษณ์ในสมัยอยุธยา มีแหล่งผลิตขนาดใหญ่เช่นที่คลองสระบัว นอกเกาะเมืองอยุธยา และบ้านสทิงหม้อที่จังหวัดสงขลา และมีใช้กันมาจนเกือบถึงกระทั่งปัจจุบัน (หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นนิยมใช้หม้อดินเนื้อบางไม่มีลวดลายที่ชาวมอญนำใส่เรือและเป็นผู้ค้าสำคัญก่อนเปลี่ยนมาใช้หม้ออลูมิเนียม  ดูภาคผนวกใน รายงานการขุดค้นหลุมทดสอบแหล่งโบราณคดีอู่ตะเภา เชิงเขายี่สาร บ้านยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม  มูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์, ๒๕๔๒)

รูปแบบชีวิตประจำวันของชาวยี่สารโบราณใช้ภาชนะในสำรับกับข้าว คือ ใช้เครื่องถ้วยที่เป็นเครื่องเคลือบทั้งแบบเซลาดอน, พอซเลนเขียนสีและลายคราม ซึ่งมีปริมาณการใช้เป็นจำนวนมาก ส่วนภาชนะหุงต้มใช้หม้อดินเผา หม้อทะนน ขนาดที่เหมาะแก่การใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีเศษภาชนะเนื้อแกร่งขนาดใหญ่จำนวนมากทั้งที่เคลือบและไม่เคลือบ ทั้งที่นำเข้ามาจากโพ้นทะเลและทำจากแหล่งเตาภายใน พบอยู่ตลอดทุกระยะของการอยู่อาศัยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เพราะภาชนะขนาดใหญ่จำนวนมากคือความต้องการพื้นฐานของชุมชนแห่งนี้ ภาชนะใส่น้ำขนาดใหญ่จากแหล่งเตาบ้านบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี ชาวบ้านยังเคยใช้งานก่อนจะเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของชุมชนในปัจจุบัน (พบว่ามีการใช้ตุ่มขนาดใหญ่จากเตาบางปูน ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี บ้านบางปูนห่างจากเมืองสุพรรณบุรีราว ๖ กิโลเมตร ซึ่งสันนิษฐานไว้ว่าเริ่มผลิตกันในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐  ในเขตบ้านเมืองชายฝั่งทะเลและในเรือสำเภาที่จม บริเวณที่พบเต็มใบ นอกจากที่ยี่สารแล้วก็พบที่วัดท่าสำเภาร้าง ในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเรือจมที่ เรือพัทยา และที่เกาะรางเกวียน)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ตุ่มขนาดใหญ่ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกว่า โพล่” พบในเขตบ้านยี่สารและตามบริเวณที่อยู่ในละแวกแม่น้ำลำคลองใกล้กับทะเล  โพล่ ที่จัดแสดงนี้ผลิตจาก แหล่งเตาบ้านบางปูน ตั้งอยู่ที่บ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีริมฝั่งแม่น้ำแม่น้ำท่าจีนและอยู่ห่างจากเมืองสุพรรณราว ๗ กิโลเมตร สันนิษฐานว่าน่าจะผลิตขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐ ในช่วงก่อนหรือร่วมสมัยกับการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งอยู่ในพื้นที่ของเมืองสุพรรณหรือสุพรรณภูมิ อันเป็นบ้านเมืองซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในช่วงแรกเริ่มสร้างราชธานีใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา  

พบเปลือกหอยปริมาณมาก มากที่สุดคือเปลือกหอยแครง ส่วนหอยประเภทเดียวกันที่พบจำนวนไม่น้อยเช่นกัน คือ เปลือกหอยครางซึ่งมีขนาดใหญ่มาก รวมถึงเปลือกหอยสองฝาอีกหลายชนิดปะปนอยู่ไม่มากนัก ปริมาณของเปลือกหอยทุกระดับชั้นดินรวมกันได้ราว ๑,๖๐๐ กิโลกรัม การใช้เปลือกหอยในการทำกิจกรรมของมนุษย์นี้ตั้งข้อสังเกตได้หลายประการ เนื่องจากเปลือกหอยดังกล่าวอยู่ปะปนกับสิ่งของเครื่องใช้ในการทำกิจกรรมประจำวันของมนุษย์ อีกทั้งระดับชั้นดินล่างสุดก็ไม่ใช่ลักษณะการถับถมของเปลือกหอยตามธรรมชาติ เพราะเป็นเนื้อดินที่เกิดจากการทับถมของเปลือกหอยป่นจนคล้ายเนื้อทราย มีเปลือกหอยแครงปะปนบ้างเล็กน้อย ดังนั้น ข้อสันนิษฐานสำหรับการพบเปลือกหอยแครงเป็นจำนวนมากเช่นนี้เกิดจาก การรวบรวมนำมาจากชายฝั่งที่เป็นเขตโคลนตม น่าจะเกิดจาก “การเพาะเลี้ยง” มากกว่าเก็บเอาจากธรรมชาติ

เปลือกหอยแครง คือแหล่งแคลเซียมคาร์บอเนตที่นำมาทำปูนขาวได้ดี พบภาชนะที่เป็นหม้อก้นกลมขนาดเล็กใส่ปูนขาวจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีเศษภาชนะจำนวนหนึ่งที่มีปูนขาวติดอยู่ แม้จะไม่พบเปลือกหอยแครงที่มีร่องรอยของการเผาไหม้เลยก็ตาม นอกจากนี้ ในชั้นดินบางส่วนพบชั้นของเปลือกหอยแครงจับตัวกับเนื้อดินและขี้เถ้าอย่างหนาแน่นเป็นแผ่นแข็งทั่วทั้งหลุม 

จากเหตุผลเหล่านี้ นำไปสู่การสันนิษฐานว่าเปลือกหอยแครงคือวัตถุดิบในการใช้ทำปูนขาว บริเวณเมืองชายทะเล วัตถุดิบที่ใช้ในการทำปูนขาวได้ดีคือ เปลือกหอย

ซึ่งพ้องกับการแบ่งประเภทปูนต่างๆ ในอักขราภิทานศรับท์ของหมอบรัดเล แบรดเลย์,แดนบีช.ดร. อักขราภิธานศรับท์. โรงพิมพ์คุรุสภา กรุงเทพฯ ๒๕๑๔ (หน้า ๔๐๑)  )   

กล่าวถึงคำว่า “ปูนขาว” ว่าคือ ปูนผงศรีขาวเขาทำด้วยหินบ้างเปลือกหอยบ้าง, สำหรับก่อกำแพงนั้น ส่วนคำว่า “ปูนหอย” คือปูนที่จีนเผาด้วยเปลือกหอย  ดังนั้น เทคนิคการทำปูนจากเปลือกหอย จึงเป็นที่รู้กันว่า “กลุ่มชาวจีน” เป็นผู้ผลิต

กล่าวกันว่า “ปูนเพชร” คือปูนคุณภาพดี แข็งแกร่ง ปูนเพชรนั้นน่าจะมีแหล่งทำจากเมืองเพชรบุรี (ในนิราศสุพรรณและนิราศวัดเจ้าฟ้า ของสุนทรภู่ กล่าวถึงปูนเพชรหลายแห่ง คือ  “มาพบปะจะได้ขุดก็สุดแรง ด้วยดินแข็งเขาประมูลด้วยปูนเพชร” (นิราศวัดเจ้าฟ้า) และ  “พระเจดีที่ค่างถ้ำ  บุรำบุราน  สูงสักหกสอกประมาณ ลม่อมป้อม   ปตูมีที่ช่องดาน  ดันปิด สนิทแฮ   ปูนเพชรเขตเขาล้อม แล่งไว้ใบลาน” (โคลงนิราศสุพรรณ) ) คุณสมบัติของปูนเพชรแข็งแกร่งทนทาน แม้จะเป็นโบราณสถานที่ปรักหักพังไปบ้างแล้ว ปูนจากเมืองเพชรซึ่งเป็นเมืองในเขตชายทะเลวัตถุดิบในการทำปูนขาวน่าจะทำจากเปลือกหอย ดังที่เราพบหลักฐานจากการขุดค้นในเขตบ้านยี่สาร การทำปูนขาวที่นี่ส่วนใหญ่คงหลิตส่งไปที่เมืองเพชร หลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกถึงการผลิตจำนวนมากในช่วงกลางถึงปลายอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ปูนเพชรมีเคล็ดลับในการตำปูน มีส่วนผสมเช่น ทรายละเอียด น้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลอ้อย กาวหนังหรือทำจากเปลือกประดู่เคี่ยวกับหนังวัว ฟางข้าวแห้ง เพื่อเพิ่มความเหนียวและหยุ่นตัว

พบ “หอยเบี้ย”  จำนวนกว่า ๒,๓๕๖ ตัว ในหลุมขุดค้นขนาด ๓x๓ เมตร ลึก ๒ เมตร ซึ่งน่าจะมีมากกว่านี้อีกหลายร้อยตัว นับเป็นปริมาณมากกว่าที่พบในแหล่งที่อยู่อาศัย เช่นจากการขุดค้นบริเวณย่านต่างๆ ที่เคยเป็นตลาดในเกาะเมืองอยุธยาก็ไม่มีรายงานว่าพบหอยเบี้ยจำนวนมากเลย 

หอยเบี้ยหรือ cowry เป็นหอยทะเลอยู่ในวงศ์ Cypraeidae พบเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลน้ำอุ่นในส่วนต่างๆ ของโลก  มีมากในหมู่เกาะมัลดีฟ และมหาสมุทรแปซิฟิคตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ หอยเบี้ยใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ใช้อย่างกว้างขวางในสังคมดั้งเดิมทั่วโลก ก่อนที่จะมีการนำเอาโลหะเช่นเงิน ทอง หรือ โลหะผสมอื่นๆ แทนที่ในฐานะเงินตรา

หมู่เกาะมัลดีฟในมหาสมุทรอินเดียเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของการเก็บหอยเบี้ย โดยมีศูนย์กลางการจำหน่ายอยู่ที่แคว้นเบงกอล จากการเดินเรือของกษัตริย์สุไลมานชาวอาหรับตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๙ กล่าวถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้คนและความร่ำรวยของราชินีแห่งมัลดีฟไว้ว่า

“ในมัลดีฟ หอยเบี้ยใช้เป็นเงินตราชนิดเดียวเท่านั้น และเมื่อสมบัติของราชวงศ์หมดลง ราชินีแห่งมัลดีฟสั่งให้ผู้หญิงตัดเอาทางมะพร้าวมาขว้างไปในทะเล สัตว์ต่างๆ ก็จะเกาะตามมาและกระจัดกระจายอยู่ตามชายฝั่ง พวกเธอจะเก็บเปลือกหอยจนหมด เพื่อมาใส่คลังของราชินี”

ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ นักเดินทางชื่อ Pyrard de Laval ได้มาอยู่ที่มัลดีฟเป็นเวลา ๒ ปีบันทึกไว้ว่า 

“พวกเขาเรียก หอยเบี้ย ว่า boly และส่งออกไปยังที่ต่างๆ อย่างไม่มีจำกัด ในปีหนึ่ง มีเรือ ๓๐-๔๐ ลำ มาบรรทุกเอาหอยเบี้ยเหล่านี้โดยไม่เอาสินค้าอื่นใดไปส่งที่เบงกอล และกลายเป็นสินค้ามูลค่าสูงมาก ผู้คนที่เบงกอลจะใช้เป็นเงินตราแม้ว่าจะมีเงินและทองหรือโลหะต่างๆ มากมาย ที่น่าสนใจก็คือ กษัตริย์และขุนนางผู้ใหญ่จะมีคลังที่สร้างขึ้นไว้เป็นพิเศษสำหรับเก็บหอยเบี้ยเสมือนเป็นสมบัติมีค่าอื่นๆ เรือสินค้าของโปรตุเกสจะบรรทุกข้าวจากโคชิน เพื่อมาแลกกับหอยเบี้ยที่ตลาดเบงกอล ใส่ตระกร้าที่ทำจากทางมะพร้าวใบละ ๑๒,๐๐๐ ตัว เป็นการค้าที่ทำกำไรมหาศาลเพราะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง ๓ หรือ ๔ เท่า” ( วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. หอยเบี้ย เงินตราจากท้องทะเล เมืองโบราณ ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๔ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๑) (หน้า ๑๐๔–๑๑๐) )

จดหมายเหตุลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ อธิบายเกี่ยวกับการใช้เงินตราของชาวสยาม รวมทั้งวาดภาพประกอบเงินตราที่เป็นเงินพดด้วงและหอยเบี้ย กล่าวว่า 

เงินย่อยที่ใช้กันทั่วไปคือ “หอยเบี้ย” ฝรั่งที่อยู่ในสยามเรียกว่าเคารี แต่ชาวสยามเรียก เบี้ย นำมาจากหมู่เกาะมัลดีฟ มีส่วนน้อยที่นำมาจากฟิลิปปินส์ อ้างว่าหอยเบี้ยใช้กันทั่วไปในเมืองต่างๆ ของอินเดีย และเกือบจะทั้งหมดในเขตแอฟริกา มีการนำหอยเบี้ยบรรทุกใส่เรือเข้ามาทีละมากๆ เหมือนเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ราคาตามธรรมดาในตลาด ๑ เฟื้องจะเท่ากับ ๗๐๐-๘๐๐ เบี้ย หากเบี้ยราคาถูกหรือมีจำนวนมาก นั่นคือเครื่องหมายแสดงว่าสินค้าต่างๆ ในตลาดมีราคาถูกลง ส่วนของที่ใช้ตวงข้าวหรือเหล้า เรียกว่าทนาน ทำจากกะลามะพร้าว การวัดขนาดปริมาตรของทนาน ใช้หอยเบี้ยตัวเท่าๆ กัน ตวงความจุ ขนาดของความจุไม่เท่ากัน แต่ที่นิยมเรียกว่า “ทนาน ๘๓๐” นั่นหมายถึงจุหอยเบี้ยได้ ๘๓๐ ตัว” ( La Loubere , Simon de The Kingdom of Siam (หน้า๗๓) )

จากสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึงสมเด็จพระนารายณ์ฯ จนถึงราวสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  อัตราการแลกเปลี่ยน ๑ เฟื้อง ยังคงอยู่ที่ราว ๘๐๐ เบี้ย อย่างไรก็ตาม อัตราการแลกเปลี่ยนก็ไม่ได้กำหนดตายตัวแต่เป็นความเข้าใจร่วมกันและปริมาณมากน้อยของหอยเบี้ยที่มีอยู่ในตลาดเท่านั้น หอยเบี้ยเป็นเพียงเงินปลีกที่ไพร่หรือคนทั่วไปใช้ซื้อหาอาหารหรือใช้ในชีวิตประจำวัน 

เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ประกาศเลิกใช้หอยเบี้ยอย่างเป็นทางการ ให้เปลี่ยนมาใช้เงินเหรียญโลหะมูลค่าน้อยทำจากทองแดง ทองเหลือง และดีบุก ทำด้วยเครื่องจักรแทน เพราะเงินพดด้วงอย่างเก่าทำได้ช้ามาก ทั้งหอยเบี้ยที่ใช้เป็นเงินปลีกซื้อของกินมาแต่ก่อนไม่สมควรใช้ต่อไป เพราะบ้านเมืองพัฒนาขึ้นแล้วและหอยเบี้ยไม่ใช่สิ่งที่หายากอีกแล้ว ( อัตราเมื่อ พ.ศ.๒๐๐๐ อ้างถึงราคาข้าวแพงทะนานละ ๘๐๐ เบี้ย  จาก พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ และสมัยพระจอมเกล้าฯ จาก อักขราภิทานศรับท์ของหมอบรัดเล,  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔)

จากหลักฐานทางโบราณคดีทั้งหมด สรุปได้ว่ามีการอยู่อาศัยของผู้คนโดยตลอดตั้งแต่เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงปัจจุบัน ในช่วงเวลาไม่ต่ำกว่า ๗๐๐-๘๐๐ ปี โดยไม่ขาดตอนหรือมีการทิ้งร้างแต่อย่างใด รูปแบบชีวิตแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก นอกจากในระยะแรกและระยะท้ายสุด เป็นชุมชนที่กล่าวถึงในเอกสารว่าคนยี่สารนำอาหารทะเลแปรรูปมาขายที่ท้ายวัดพนัญเชิงสนับสนุนข้อมูลทางโบราณคดีที่พบว่ามีกระดูกสันหลังปลาทะเลขนาดใหญ่ปริมาณมากเกินกว่าจะบริโภคภายในชุมชน เพราะสภาพแวดล้อมแบบป่าชายเลนตามคลองน้ำกร่อยมีอาหารกุ้งหอยปูปลาบริบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องกินปลาทะเลตัวใหญ่ๆเท่านั้น ทั้งพบเปลือกหอยแครงปริมาณที่น่าจะมาจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง นอกจากเนื้อหอยแครงส่วนที่เหลือคือเปลือกหอยนำมาแปรรูปทำปูนขาว พบว่ามีการใช้ภาชนะที่นำเข้ามาจากที่ต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน ภาชนะจากจีน ญี่ปุ่น และเวียดนามบรรทุกใส่เรือสำเภาเข้ามาขาย โดยตรงเข้ามาจอดที่กรุงศรีอยุธยาก่อนจะกระจายสินค้าไปสู่ที่ต่างๆ ชาวยี่สารน่าจะซื้อหาเครื่องถ้วยเหล่านี้จากศูนย์กลางการค้าในพระนคร นอกจากนี้ โอ่งและไหขนาดใหญ่ที่มักบรรทุกมากับเรือสำเภาหรือที่ผลิตจากภายในก็เป็นสิ่งที่ชาวยี่สารต้องหาซื้อเก็บไว้ใช้ นับว่าเป็นภาชนะที่ต้องแสวงหาทีเดียว

จึงเห็นได้ว่า ชุมชนยี่สารนอกจากมีของพื้นถิ่นที่นำไปแลกเปลี่ยนพวกข้าวปลาอาหารแล้ว ยังแสดงให้เห็นการเป็นชุมชนค้าขายโดยเฉพาะอาหารทะเลที่แปรรูปหรืออาหารที่ไม่มีวัตถุดิบในชุมชน จึงต้องมีการใช้จ่ายเงินทองเป็นทุนทรัพย์หมุนเวียนแต่ไม่ใช่เป็นการใช้จ่ายเงินทองจำนวนมาก เพราะข้าวปลาอาหารเป็นเรื่องของการค้าปลีกและไม่ใช่สินค้ามีราคาหรือสินค้าหายาก ดังนั้นเราจึงพบปริมาณหอยเบี้ยจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ตามชั้นดินทุกระดับ เพราะหอยเบี้ยเป็นเงินตราที่ถูกอ้างถึงว่าเป็นเงินย่อยอัตราต่ำกว่าราคาเฟื้องซึ่งเป็นค่าเงินต่ำสุดและใช้กันในหมู่คนทั่วไป (จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น ผู้เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาสมัยพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าปราสาททองกล่าวว่า การค้าต่างๆ ใช้เงินตราชำระกัน แต่เพื่อความสะดวกสำหรับประชาชนคนสามัญจะใช้หอยเบี้ยซื้ออาหารและสิ่งจำเป็นอื่นๆ และผู้คนไปจ่ายตลาดโดยพกเบี้ยไปเพียง ๒๐ หรือ ๑๐ หรือ เพียง ๕ เบี้ยก็จะพอเพียงในการซื้อหาอาหารหรือของจำเป็นไปวันหนึ่งๆ ทั้งในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ก็อ้างถึงราษฎรใช้หอยเบี้ยจ่ายของกินกันมาแต่โบราณแล้ว )

จากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้การอยู่อาศัยเป็นไปอย่างสะดวกสบาย ไม่สามารถผลิตอาหารสำคัญ เช่น ข้าว ได้ด้วยตนเอง ไม่มีน้ำจืดใช้ แต่มีการปรับตัวกับเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ใช้ภาชนะขนาดใหญ่และจำนวนมากในการเก็บรักษาน้ำจืด ใช้การแลกเปลี่ยนวัตถุดิบเพื่อนำมาแปรรูปแล้วขายออกไปอีกต่อหนึ่ง จนสามารถตั้งหลักแหล่งอย่างถาวรอย่างต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า ๗๐๐–๘๐๐ ปี และยังเป็นชุมชนที่ร่ำรวยเมื่อพิจารณาจากของเครื่องใช้และศาสนสถานประจำชุมชน เหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ยี่สารในอดีตคือชุมชนที่เติบโตและดำรงอยู่มาด้วยการค้าอย่างแท้จริง

๓. ยี่สารในฐานะชุมชนการค้า

๓.๑ สภาพการค้าโดยทั่วไปสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์  

เนื่องจากการค้าโพ้นทะเลช่วงกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ติดต่อกับชาวต่างชาติหลายกลุ่ม ทั้งชาวตะวันตก แขกต่างๆ ญี่ปุ่น จีน จนกลายเป็นศูนย์กลางที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติรวมอยู่ในพระราชอาณาจักร ด้วยเหตุผลที่มาแตกต่างกันไป กลุ่มชาวจีนดูเหมือนจะมีบทบาททางการค้าโพ้นทะเลหรือการค้าสำเภาและอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยจนกลายเป็นพลเมืองต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในสายตาพ่อค้าชาวตะวันตกสมัยอยุธยา 

ดังนั้น การกล่าวถึงสภาพการค้าในหัวข้อซึ่งมีเนื้อหามากมหาศาลจนไม่อาจสรุปได้อย่างรวบรัด จึงจำเป็นต้องจำกัดความสนใจต่อสภาพการค้าที่เป็นผลเนื่องมาจากการค้าทางทะเลโดยเฉพาะจากจีนมากกว่ากรณีอื่น เพราะมีความใกล้ชิดกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนโพ้นทะเลในท้องถิ่นต่างๆ และที่ยี่สารด้วย

ลักษณะที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาซึ่งแวดล้อมไปด้วยแม่น้ำลำคลอง เชื่อมต่อกับเส้นทางน้ำหลักออกสู่ทะเลได้อย่างสะดวกและติดต่อกับบ้านเมืองภายในได้อย่างง่ายดาย แตกต่างไปจากลักษณะการตั้งถิ่นฐานของศูนย์กลางอำนาจขนาดใหญ่แต่เดิม ด้วยการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งภายในและภายนอกนี่เอง การสถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ ทำให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นเมืองท่าภายในที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การค้าทางทะเลมีมานานโดยพ่อค้าชาวอาหรับและมุสลิม ก่อนการค้าเรือสำเภาของชาวจีน แม้จะมีหลักฐานเป็นสิ่งของและเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ซุ้งและหยวน (ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐) จำนวนมากในแถบเมืองท่าของคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะ และยุคสมัยนี้เป็นยุคที่รุ่งเรืองทางการค้าทางทะเลของจีนอย่างยิ่ง (A Ceramic Legacy of Asia’s Maritime Trade : Song Dynasty Guangdong Wares and other 11th –19 Century Trade Ceramics found on Tioman Island, Malaysia. Oxford University Press, 1985) แต่หลักฐานของการเป็นเมืองท่าสำคัญในสมัยดังกล่าวบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและรอบอ่าวไทยมีอยู่น้อยมาก (นอกจากบริเวณเมืองคูบัวในลุ่มน้ำแม่กลอง) จนมาเห็นได้ชัดเจนเมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการและจัดการแก้ปัญหาการเมืองภายในเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จนเป็นรัฐที่มีเอกภาพทางการเมืองในระดับหนึ่ง 

จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางของการค้าที่มีสินค้าทั้งภายในและภานนอก เช่น สินค้าของป่าพวกไม้ฝาง ไม้หอม หนังกวาง เขาสัตว์ ช้าง แร่ธาตุ เช่น ดีบุก ตะกั่ว  ทองแดง ทองเหลือง ทองขาว เครื่องเคลือบและเครื่องถ้วยชามไปขายกับอินเดียแถวเมืองสุรัต และคอร์แมนเดล  ข้าว น้ำตาล เป็นต้น นำเข้าจากทางโพ้นทะเล คือ ไหมดิบ แพรไหม เครื่องถ้วย (นอกจากเครื่องถ้วยจีนแล้วยังมีเครื่องถ้วยจากญี่ปุ่นและเวียดนามมีเป็นจำนวนมากและราคาถูก) ปรอท ทองแดงแท่ง เครื่องเหล็กพวกกะทะและอื่นๆ นำมาจากเมืองมาเก๊าและกึงตั๋ง  ทองคำจากญวน ผ้าจากเมืองสุรัต และสินค้าแล้วแต่ที่สำเภาจากต่างชาติจะเข้ามา นอกจากนี้ยังมีฐานะที่เป็นศูนย์กลางการค้าส่งผ่าน โดยการป้อนสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องเทศ กำยานแท้ ผ้าเนื้อดี อัญมณี การบูร ไม้จันทน์ น้ำหอมกุหลาบ จากเมืองท่าในมหาสมุทรอินเดียและตะวันออกกลางให้กับจีนด้วย ( นิธิ เอียวศรีวงศ์. ศรีรามเทพนคร รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น (หน้า๙๘) และจดหมายเหตุของโยส เซาเต็น ประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๔๗ ภาคที่ ๗๖) 

ชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้ามาค้าขายกับเมืองท่าแถบหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนั้น การค้าทางทะเลก็เพิ่มบทบาทของชาวตะวันตกตั้งแต่เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จนถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๔  ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพบ้านเมืองและการค้าของกรุงศรีอยุธยาในช่วงนี้จึงมีมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

การค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยากับจีนมีบทบาทมากจนกระทั่งพบว่า พ่อค้าและชาวต่างชาติที่อาศัยในอยุธยาส่วนใหญ่เป็นชาวจีน พ่อค้าชาวจีนที่เมืองปัตตานีช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีมากกว่าคนพื้นเมืองเสียอีก ชีวิตการอยู่อาศัยในพระนคร นอกจากทำการค้าแล้ว ย่านชาวจีนในกรุงศรีอยุธยายังมีอาชีพ เลี้ยงหมู เป็นช่างฝีมือในตลาด เล่นงิ้ว เป็นแพทย์ เป็นต้น ( คุรุสภา, องค์การค้า ประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๔๗ ภาคที่ ๗๖ จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น )

ความรู้เกี่ยวกับบริหาร ควบคุมคลังและการภาษี การต่อเรือสำเภา การบังคับเรือและการเดินเรือเลียบชายฝั่ง เป็นผลงานของชาวจีนที่ส่งผ่านให้พระคลังสินค้าและกองเรือสำเภาหลวงทั้งสิ้น จนปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ประกาศใช้มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นอย่างน้อยว่าตำแหน่งพนักงานบนเรือสำเภาเป็นภาษาจีน ( นิธิ เอียวศรีวงศ์. ศรีรามเทพนคร รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น (หน้า๙๘) ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กล่าวถึงตำแหน่งต่างๆในเรือสำเภาหลวงว่า “จุ่นจู๊ นายสำเภา นา ๔๐๐ ต้นหน ดูทาง ล้าต้า บาญชียใหญ่ เรือสำเภาใหญ่น้อย นา ๒๐๐และ ๑๐๐ ปั๋นจู ซ่อมแปลงเรือสำเภา ใต้ก๋ง ซ้ายขวา นายท้าย นา ๘๐ ชินเตงเถา ซ้ายขวา บาญชียกลาง อาปั๋น กระโดงกลาง จงกว้า ใช้คนทั้งนั้น เต๊กข้อ ได้ว่าระวางบันทุก อากึ่ง ช่างไม้สำเภา นา ๕๐ เฮียวก๋ง บูชาพระ ตั้งเจียว ว่าสายเลียวกับสายท้าย สำปั้น กับเสาหน้า นา ๓๐ ชมพู่ เท่าเต้ง ว่าสมอ ฮู้เตี้ยว ทอดดิ่ง นา ๓๐ อิดเซี่ยว ยี่เซี่ยร สามเซี่ยร ลด นา ๒๕ จับกะเถา กวาดสำเภา เบ๊ยปั้น จ่ายกับข้าว ชินเต๋ง ๑๘ คน ทนายจุ่นจู๊ ทนายล้าต้า ทนายปั้นจู๊ นา ๒๕ นายรอง ๗ คน ได้รวางคนละ ๑๖ นา ๒๕  กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑, ๒๕๑๕. เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยศาสนาจารย์คาร์ล ออกัสตัส ฟรีดริค กุตสลาฟฟ์  ที่บันทึกไว้เมื่อราว พ.ศ.๒๓๗๑ กล่าวถึงลูกเรือและการเดินเรือเลียบชายฝั่งที่มีตำราจนรู้จักเกาะแก่งและแนวหินตลอดจนลมฟ้าอากาศ เป็นสมบัติที่ส่งผ่านกันมาโดยไม่ต้องใช้เข็มทิศแบบฝรั่ง ตำแหน่งของลูกเรือสำเภาชาวจีน ต้นหนจะสังเกตฝั่งและแหลมเป็นจุดหมาย จึงพบเส้นทางต่างๆมากมาย และแทบจะคาดการณ์ไม่ผิดเลย เพราะมีหนังสือนำทางสามารถแม้กระทั่งหลบหลีกหินโสโครก ทางเข้าท่าเรือและแนวหินได้ถูกต้อง ชาวเรือจะทำพิธีบูชารูปปั้นเจ้าแม่แห่งทะเล มาเจียวโปหรือเทียนเฮา  เรือสำเภาทุกลำจะมีรูปปั้นเจ้าแม่องค์นี้ ข้างหน้ารูปปั้นจะมีตะเกียงจุดไว้ตลอดเวลา สำเภาจีนจะมีกัปตัน ซึ่งเป็นตัวแทนเจ้าของเรือไปกับเรือเพื่อดูแลสินค้า ฮ่อจางหรือต้นหน ควบคุมการเดินเรือ สังเกตชายทะเลและแหลมต่างๆ ทั้งวันทั้งคืน ไต้ก๋ง คือคนถือท้ายเรือจัดการเกี่ยวกับการเดินเรือ เสมียน ๒ คน ดูแลบัญชี และดูแลความเรียบร้อยของสินค้า ตัวแทนชาวพื้นเมืองเที่ยวหาสินค้า เฮียกง คอยดูแลรับผิดชอบเทวรูป จุดธูปเผากระดาษเงินกระดาษทอง ส่วนพวกลูกเรือ แบ่งเป็น เท่ามัก เป็นลูกเรือระดับหัวหน้า ดูแลสมอเรือและใบเรือ โฮกิ เป็นพวกลูกเรือชั้นต่ำ ศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์ รวมเรื่องแปลและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ ๑ ส่วนตำราในการเดินเรือของชาวจีนปรากฏเป็นเอกสารจำนวนมาก โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์หมิงมีตำราการเดินเรือถึง ๙ เล่ม โดยใช้ประสบการณ์จากการทดลองสังเกตการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ กระแสน้ำขึ้นน้ำลง เส้นทางเดินเรือทุกแห่ง หินโสโครกใต้น้ำ ระดับความลึกของน้ำ ซึ่งเป็นการบันทึกอย่างละเอียดทีเดียว รายงานการวิจัยสนองพระราชประสงค์ เรื่องนครศรีธรรมราช กรรณิการ์ ตันประเสริฐ, บรรณาธิการ (หน้า ๑๓๕–๑๔๔) )

การค้าสำเภากับจีนส่วนใหญ่เป็นการค้าในระบบบรรณาการเพราะเรือสำเภาที่มากับคณะทูตได้รับการยกเว้นภาษี สินค้าผูกขาดหลายอย่าง เช่น เนื้อไม้หอม หมาก ดีบุก ไม้ฝาง ข้าว เกลือสินเธาว์ ตะกั่ว งาช้าง ถือเป็นการค้าของหลวง ส่วนสินค้าที่คนทั่วไปค้าได้ คือ พวก เหล็ก น้ำตาล ไม้ซุง เกลือ น้ำมันมะพร้าว เขาสัตว์ ( การค้าที่กล่าวถึงนี้สะท้อนภาพความเคลื่อนไหวทางการค้าสมัยพระนารายณ์ฯ การค้าเนื้อไม้หอม ซึ่งส่งไปขายถึงเมืองเมดีนาและเมกกะ เมืองโมกาในทะเลแดง เพื่อจุดบูชาพะมะหะมัดของกษัตริย์ดำเนินการค้าโดยขุนนางเชื้อสายเปอร์เซีย ซึ่งมีอิทธิพลในการควบคุมหัวเมืองข้ามคาบสมุทรตอนบน เป็นผู้สำเร็จราชการ เมืองมะริด ตะนาวศรี ปราณบุรี กุยบุรี และเพชรบุรี  หมาก ปลูกกันมากแถวสวนเมืองนนทบุรีและเมืองบางกอก ส่วนไม้ฝางมีชุกชุมและเป็นสินค้าที่ส่งออกไปขายแก่จีนและญี่ปุ่นจำนวนมากๆ ทุกปี นำไปใช้เพื่อทำสีย้อม ตะกั่วเป็นสินค้าที่มีไม่มากนัก เหล็กมีมากแถบหัวเมืองฝ่ายเหนือ ที่สุโขทัยและพิษณุโลก มีเพียงพอใช้ในบ้านเมืองเท่านั้น น้ำตาลทรายในช่วงนี้ทำกันมากที่พิษณุโลก กำแพง และสุโขทัย นำไปขายที่ญี่ปุ่นและมะละกา (เห็นได้ว่ายังไม่ได้เป็นการผลิตน้ำตาลทรายเพื่อการค้าอย่างจริงจังโดยชาวจีน) ไม้ซุงชาวดัชท์นำไปขายที่มะละกา รายงานการค้าในกรุงสยามปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์)

สินค้าของหลวงราษฎรห้ามค้า ล้วนเป็นสินค้าที่ได้มาจากการส่งส่วยจากไพร่ในพื้นที่ภายในเขตภูเขาเทือกเขาหรือที่เรียกว่าของป่าบางชนิด เช่น ข้าวและเกลือ เป็นสินค้าพื้นฐานที่ต้องควบคุมไม่ให้ภายในพระราชอาณาจักรขาดแคลน อย่างไรก็ดี การผูกขาดสินค้าต่างๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกในช่วงเวลานั้นด้วย  การรับซื้อนอกจากการส่งส่วยแล้ว พระคลังจะเป็นตัวแทนรับซื้อในราคาต่ำ และจะเลือกขายแก่เรือสำเภาต่างๆ เอง เห็นได้ว่าโดยทางการไพร่หรือราษฎรทั่วไปไม่มีโอกาสค้าโดยตรงกับพ่อค้าสำเภา 

เมื่อเปลี่ยนศูนย์กลางทางการเมืองมาเป็นกรุงเทพมหานครฯ ซึ่งอยู่ใกล้กับปากน้ำยิ่งขึ้น การค้าต่างประเทศในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลวง เมื่อการสลายตัวของราชอาณาจักรที่กรุงศรีอยุธยาทำให้ระบบราชการเสื่อมสลายไปด้วย ดังนั้น การค้าที่ต้องพึ่งสินค้าภายในที่ได้จากการส่งส่วยจึงไม่มีประสิทธิภาพมากนัก การสะสมทุนเพื่อแจกเบี้ยหวัดแก่ขุนนางและจัดจ้างแรงงานจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ( นิธิ เอียวศรีวงศ์. ปากไก่และใบเรือ   รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ, อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๗ (หน้า ๗๕–๗๘))

การค้าส่วนใหญ่คือการค้าสำเภาจีนกับชุมชนเมืองท่าในเขตจีนตอนใต้ ทวีปริมาณสูงกว่าแต่เดิมและทำรายได้ให้ราชสำนักมากขึ้นเช่นกัน สินค้าที่ส่งผ่านและส่งออกจากศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ เพิ่มจำนวนชนิดมากขึ้น  ผลผลิตบางอย่างไม่ใช่เป็นสินค้าจากการส่งส่วย แต่เป็นสินค้าที่ตลาดภายนอกต้องการ เช่น ข้าว น้ำตาลทราย ยาสูบ การต่อเรือ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการผลิตที่แตกต่างจากสินค้าจากส่วย สภาพเสรีที่ปล่อยให้เกิดการค้ากับต่างประเทศโดยไม่ผ่านพระคลังสินค้าเพิ่มมากขึ้น แต่สามารถติดต่อกับราษฎรได้โดยตรง 

บันทึกของศาสนาจารย์คาร์ล ออกัสตัส ฟรีดริค กุตสลาฟฟ์  เมื่อราว พ.ศ.๒๓๗๑ ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ กล่าวถึงความคึกคักและรุ่งเรืองของการค้าสำเภาจีน ซึ่งส่งสินค้า เช่น น้ำตาล ไม้ฝาง ปลิงทะเล รังนก หูฉลาม รง คราม ฝ้าย งาช้าง และสินค้าอื่นๆ  ส่วนสินค้าที่บรรทุกเข้ามาขายได้แก่ โภคภัณฑ์ต่างๆ ของชาวชาวจีน ทองแท่ง และเงินแท่ง  และจะเลือกสินค้ากลับไป โดยคำนึงถึงปลายทางที่ไป พวกไปทางทะเลเหลืองจะบรรทุกน้ำตาล ไม้ฝาง และหมากไปเป็นส่วนมาก เรือพวกนี้เรียกว่าเรือหัวขาว ส่วนใหญ่จะต่อในสยาม มีขนาดระวาง ๒๙๐ -๓๐๐ ตัน เรือสำเภาเหล่านี้ส่วนมากเป็นของคนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศหรือไม่ก็เป็นของขุนนางสยาม จะเข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน และออกไปราวปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม แม้การค้ากับอินเดียจะไม่สำคัญ แต่ก็มีเรือสยามราว ๓๐–๔๐ ลำต่อปีไปค้าขายเสมอ การเดินเรือเป็นการเดินเรือเลียบชายฝั่งโดยใช้เรือสำเภาและจำเป็นต้องใช้ลูกเรือจำนวนมาก  ( ศาสนาจารย์คาร์ล ออกัสตัส ฟรีดริค กุตสลาฟฟ์  จาก Journal of A Residence in Siam & c. ศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์ รวมเรื่องแปลและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ ๑ ศิลปากร,กรม ๒๕๓๙ (หน้า ๙๑–๙๘))

การค้าทางเรือในกรุงเทพฯ มีหลักฐานกล่าวถึงเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๑ ว่าเรือต่างๆ ที่กำลังขนถ่ายสินค้าในแม่น้ำเจ้าพระยามีอยู่ถึง ๗๐๐ ลำ และ พ.ศ.๒๓๗๘ เรือสำเภาจีนระวาง ๒๐๐–๖๐๐ ตัน ทอดสมอเรียงรายกันอยู่ตามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแถวยาวถึง ๒ ไมล์. ( นิธิ เอียวศรีวงศ์. ปากไก่และใบเรือ   รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ, อมรินทร์การพิมพ์,  ๒๕๒๗ (หน้า ๘๐) )

นอกจากกษัตริย์และพระราชวงศ์แล้ว ขุนนางผู้ใหญ่ในทุกรัชกาลก็จะมีการค้าสำเภาส่วนตัวทั้งสิ้นและยังมีขุนนางเชื้อสายจีนที่ทำการค้าสำเภาด้วย ทั้งในช่วงเวลานี้เกิดการอพยพเข้ามาของชาวจีนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถานการณ์ความต้องการสินค้าของตลาดโลก ทำให้เกิดเศรษฐกิจเพื่อการคาส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องการการเพาะปลูกขนาดใหญ่ เช่น  อ้อย ข้าว และยาสูบ  

“การกระทำสนธิสัญญาเบาริ่งใน พ.ศ.๒๓๙๘ สมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น เป็นเพียงการเพิ่มความชัดเจนของภาพระบบการผลิตเพื่อการค้าที่แพร่เข้าสู่ชีวิตของราษฎรไทยมากขึ้นเท่านั้น”

ในระหว่างนี้ ภาพของการค้าส่งออกที่สัมพันธ์กับการค้าภายใน สมัยต้นรัตนโกสินทร์มีความเด่นชัด ส่วนหนึ่งสะท้อนจากวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะของสุนทรภู่ ซึ่งมีการวิเคราะห์ไว้อย่างรัดกุม ในฐานะและบทบาทของชาวจีนที่ไปตั้งหลักฐานตามแหล่งการผลิตเพื่อการค้าทั้งชุมชนการเกษตรขนาดใหญ่และการอุตสาหกรรม เที่ยวจัดซื้อและแลกเปลี่ยนผลผลิตตามชุมชนภายใน โดยการอาศัยไม่ต้องเกณฑ์เข้าเวร แต่อยู่ในระบบเจ้าภาษีนายอากรซึ่งเป็นแขนขาให้กับรัฐโดยการประมูล เป็นแรงผลักดันสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจเพื่อการค้าไปทั่วทุกแห่งที่ชาวจีนสามารถเข้าไปถึง และพัฒนากลายเป็นกลุ่มนายทุนในระยะต่อมา

รวมถึงการขุดคลอง แก้คลองที่ตื้นเขิน ในบริเวณปริมณฑลรอบๆ พระนคร กับแหล่งที่ทำการเกษตรเพื่อการค้า ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้จ้างแรงงานจีนขุดคลอง ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และตอนต้นของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งคลองบางสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) และเจ้าภาษีนายอากรมีกำลังทรัพย์ถึงขั้นช่วยออกเงินจ้างจีนขุดและถือครองที่ดินทั้งสองฝั่งคลอง เช่น คลองดำเนินสะดวก ( คลองผดุงกรุงเกษม  คลองถนนตรง คลองสีลม เพื่อการเดินทางในพระนคร คลองภาษีเจริญ คลองเจดีย์บูชา คลองมหาสวัสดิ์ คลองดำเนินสะดวก เพื่อสะดวกแก่การขนส่งข้าว ยาสูบ น้ำตาลทรายและอ้อยในแถบหัวเมือง ขุด ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ คลองบางลี่ คลองลัดเมืองสมุทรสาคร และคลองลัดยี่สาน ขุดเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ)

หลังจากนี้ไป สภาพการค้าโดยทั่วไปมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เนื่องจากการค้าเสรีที่เพิ่มมากขึ้น การปรับปรุงระบบราชการในสมัยต่อมา การคมนาคมขนส่งที่เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม  จนไม่อาจ นำกรอบการมองแบบเดิมในช่วงสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์มาอธิบายอย่างต่อเนื่องได้ 

 ๓.๒  เส้นทางโบราณไปปากใต้ 

ปากใต้คือหัวเมืองฝ่ายตะวันตกที่อยู่ใต้กรุงศรีอยุธยาลงไป เป็นต้นทางไปสู่บ้านเมืองชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายูและหัวเมืองทางฝั่งตะวันตกของเทือกเขาตะนาวศรี ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงหัวเมืองปากใต้เมื่อคราวเกณฑ์ไพร่มาขุดคลองมหาชัยต่อจากรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ( พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติรชมิวเซียมกรุงลอนดอน (หน้า ๓๑๑–๓๑๒) ) ได้แก่ เมืองนนทบุรี เมืองธนบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองสาครบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี และเมืองสมุทรปราการ ( หัวเมืองปากใต้เหล่านี้ มีตำแหน่งเป็นหัวเมืองตรี ในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตำแหน่งเจ้าเมืองคือ ออกพระศรีสุรินทรฤาไชย เมืองเพชรบุรี ออกพระสุนธรบุรียศรีพิไชยสงคราม เมืองนครไชยศรี พระนนทบุรีศรีมหาสมุท เมืองนนทบุรี พระสมุทสาคร เมืองท่าจีน พระสมุทสงคราม เมืองแม่กลอง พระสมุทรปราการ เมืองปากน้ำ ยกเว้นเมืองธนบุรีเพียงเมืองเดียว)

หัวเมืองปากใต้มีความสำคัญต่อกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพมหานครฯ เพราะตำแหน่งที่ตั้งซึ่งเป็นปากประตูไปสู่บ้านเมืองโพ้นทะเลและสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นดินตะกอนปลายลุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ติดกับชายฝั่งทะเล เป็นฐานสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการค้าของราชอาณาจักรทั้งสองแห่ง

การติดต่อระหว่างชุมชนที่อยู่ทางด้านทิศใต้ใช้การเดินทางทางน้ำเป็นหลัก แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทคือ 

๑. การเดินทางผ่านไปสู่หัวเมืองปากใต้ทั้งเจ็ดเมืองและหัวเมืองทางชายฝั่งเทือกเขาตะนาวศรีที่ต้องข้ามช่องเขา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “เส้นทางข้ามคาบสมุทร” ช่วงบนสุดที่ต่อกับผืนแผ่นดินภายใน ใช้เส้นทางน้ำภายในสายต่างๆ ได้รับการปรับเปลี่ยนและบำรุงรักษาเพื่อให้เดินทางอย่างสะดวกสบายตลอดเวลาหลายร้อยปีที่พาหนะทางน้ำยังมีความจำเป็นต่อผู้คน แล้วเปลี่ยนมาเดินทางบกที่เพชรบุรี ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีสู่เส้นทางน้ำสายในจนถึงชายฝั่งเมืองท่ามะริด แล้วข้ามช่องเขาเพื่อจะต่อเรือไปชายฝั่งเบงกอลหรือเมืองท่าในมหาสมุทรอินเดียก็จะใช้เส้นทางข้างต้น ตัวอย่าง คือ การเดินทางของสังฆราชแห่งเบริท มองซิเออร์เซเบเรต์ที่เข้ามาพร้อมกับคณะของลาลูแบร์ และการเดินทางของนายไวท์ ( เช่นการเดินทางของสังฆราชแห่งเบริท ที่เดินทางจากเมืองท่ามะสุลีปาตันในอินเดียแล้วไม่รอจนฤดูถึงมรสุมที่สามารถเดินทางอ้อมผ่านแหลมมะละกาหรือต้องการหลีกเลี่ยงโจรสลัดบริเวณเกาะต่างๆ ในทะเลอันดามัน ใช้การเดินทางไปยัง มะริดและตะนาวศรี ข้ามช่องเขาสู่เมืองกุย เมืองปราณ และเพชรบุรีตามลำดับ ต่อจากนั้นจึงนั่งเรือผ่านเส้นทางภายในเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา เพื่อจะไปเผยแพร่ศาสนาที่โคจินจีน(เวียดนาม)และประเทศจีน โดยเดินทางผ่านสยาม ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ และการเดินทางของนายจอร์จ ไวท์ พ่อค้าชาวอังกฤษ ใน Siamese White : Collis, Maurice. [1965] การเดินทางจากกรุงเทพฯของนายนริทรธิเบศ(อิน) จากทางน้ำผ่านท่าจีน แม่กลอง เปลี่ยนมาเดินทางบกที่เพชรบุรี ข้ามช่องเขาที่เมืองบางสะพานไปเมืองตะนาวศรี เป็นต้น) การเดินทางของนายนรินทร์ธิเบศ (อิน) จากนิราศนรินทร์ เป็นต้น 

7-2

๒. การเดินทางสู่หัวเมืองทางใต้บริเวณคาบสมุทรหรือบ้านเมืองโพ้นทะเล ใช้การเดินเรือเลียบชายฝั่ง โดยชาวเรือท้องถิ่นและชาวเรือมุสลิมที่ใช้เรือใบขนาดเล็กเรียกว่า ปราหู หรือ ปะราหู ท่องทะเลเลียบชายฝั่งแถบคาบสมุทรและหมู่เกาะ  ส่วนการเดินทางของชาวต่างประเทศที่เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้เป็นเส้นทางการค้าโดยใช้เรือสำเภาและเรือกำปั่น จะเป็นฤดูกาลเข้าและออกให้ทันฤดูมรสุม เช่น เรือสำเภาจากจีนจะต้องมาให้ทันลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนตุลาคมถึงมีนาคม และกลับให้ทันลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในเดือนเมษายนถึงกันยายน หากมาโดยเรือกำปั่นที่กินน้ำลึกและติดสันดอนจะจอดไว้ที่ปากน้ำเจ้าพระยา แล้วนั่งเรือใบที่กินน้ำตื้นหรือเรือเล็กใช้ฝีพายต่อมายังกรุงศรีอยุธยา ปากน้ำเจ้าพระยาจึงเป็นบริเวณสำคัญสำหรับพระนคร จึงต้องมีป้อมที่ปากน้ำพระประแดง และเมืองธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันกำลังจากภายนอก 

และหากไม่ต้องการเดินเรือเลียบชายฝั่งด้านตะวันตกเลียบอ่าวโคลนที่เป็นชะวากเว้าเข้าด้านใน เพราะเป็นเรือใบขนาดใหญ่ (เช่น เรือสำเภาชนิด ๔-๕ เสากระโดง) ก็จะใช้ใบแล่นจากปากน้ำเจ้าพระยาไปพักที่เกาะสีชัง เกาะคราม หรือเกาะไผ่ แล้วชักใบแล่นตัดผ่านข้ามอ่าวไปที่แถวเขาสามร้อยยอด แถบกุยบุรีซึ่งมีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกมากเล็กน้อย ในแผนที่ของครอฟอร์ด เรียกว่า Cui Point หรือเหนือขึ้นไปที่เขาเจ้าลายบริเวณชายฝั่งชะอำ หลังจากนั้นก็จะเดินเรือเลียบชายฝั่งลงใต้ต่อไป ส่วนอีกทางหนึ่งหากเดินเรือเลียบชายฝั่งมาจากทางคาบสมุทรมลายูแล้วก็จะแวะเติมน้ำจืดหรือหลบลมที่สามร้อยยอดเมืองกุยบุรี แล้วชักใบใช้ลมมรสุมตัดข้ามผ่านอ่าว เลียบชายฝั่งไปสู่กัมพูชาและเวียดนาม ( บันทึกอ้างถึงลักษณะการเดินทางเรือในอดีตและในช่วงระหว่างการเดินทางนั้น (พ.ศ.๒๔๓๔–พ.ศ.๒๔๓๙) ใน Five Years in Siam from 1891-1896 Vol.1-2,  Smyth Warrington, Herbert. ในบทที่ ๑๖ (หน้า ๓๔–๔๖) )

เส้นทางตัดข้ามอ่าวปรากฏในวรรณคดีนิราศหลายเรื่องที่ต้องอาศัยการเดินทางโดยเรือใบขนาดใหญ่หรือไปเป็นกองเรือในขบวนทัพ เช่น กำศรวลสมุทร สันนิษฐานว่าแต่ขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นก่อนรัชกาลพระชัยราชาธิราช ( จากการศึกษาของ พ.ณ ประมวญมารค และ มานิต วัลลิโภดม กำสรวลศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์ และ แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์ สุจิตต์ วงษ์เทศ )

ใช้เส้นทางผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม ออกคลองด่านผ่านคุ้งเผาถ่านแถบวัดหนัง อาจจะผ่านคลองดาวคนอง ผ่านบางผึ้งแล้วออกสู่ทะเลที่ “ปากพระวาล” ซึ่งก็น่าจะเป็นปากน้ำเจ้าพระยา แล้วผ่านเขาสามมุกมุ่งไปที่เกาะสีชังและเกาะไผ่ ตัดข้ามอ่าวไปแถวๆสามร้อยยอด และนิราศพระยาตรังแต่งเมื่อคราวไปทัพเมืองถลาง เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ ก็เดินเรือออกทางปากน้ำเจ้าพระยา ตรงไปที่เกาะสีชัง เกาะคราม เกาะไผ่ เกาะส้ม ตัดผ่านข้ามอ่าว ถึงเขาเจ้าลายที่ชะอำ ผ่านปราณบุรี เขากะโหลก เกาะนมสาว สามร้อยยอด แล้วเลียบชายฝั่งลงใต้ต่อไป ( สำนักพิมพ์ศิลปบรรณาคาร, วรรณกรรมพระยาตรัง, ๒๕๑๕)  เส้นทางดังกล่าวต้องอาศัยลมมรสุมช่วยอย่างแน่นอน

ดังนั้น เส้นทางในข้อนี้จึงเป็นเส้นทางสู่บ้านเมืองที่อยู่ไกลออกไปและใช้พาหนะที่เป็นเรือขนาดใหญ่สามารถใช้ใบเรือแล่นตัดข้ามอ่าวได้  ในขณะที่เส้นทางสายแรกคือเส้นทางภายใน ซึ่งเป็นความจำเป็นของผู้คนจากเมืองหลวงและหัวเมือง โดยเฉพาะหัวเมืองปากใต้ที่ไม่นิยมการเดินทางออกทะเลที่ปากน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้เพราะไม่มีความชำนาญการเดินเรือทะเลและไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

เราจะพิจารณากรณีที่ ๑ ซึ่งใช้เส้นทางภายในแม่น้ำลำคลองสายต่างๆ สู่หัวเมืองปากใต้ เมืองฝั่งตะวันตกของเทือกเขาตะนาวศรี คือ มะริด ตะนาวศรี และทวาย ทั้งนี้ ยี่สารเป็นชุมชนที่ถูกอ้างถึงเมื่อมีการเดินทางในเส้นทางระหว่างเมืองแม่กลองและเพชรบุรี 

ความสำคัญของเมืองเพชรบุรีปรากฏนอกเหนือจากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ที่กล่าวถึงวงศ์กษัตริย์จากอโยธยามาปกครองเมืองเพชรบุรี และมีอำนาจเหนือหัวเมืองทางคาบสมุทรมลายูเมื่อครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ แล้ว ก็ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ( พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ประชุมพงศาวดารเล่ม ๑ (ภาค ๑ ตอนต้น) คุรุสภา, องค์การค้า, ๒๕๐๖) สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปตีเมืองทวายเมื่อ พ.ศ.๒๐๓๑ และ พ.ศ. ๒๑๒๑

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ครองเมืองพิษณุโลกและกรุงศรีอยุธยายังขึ้นต่อพม่านั้น พญาละแวกกษัตริย์กัมพูชาแต่งทัพเรือมารบกวาดต้อนผู้คนหัวเมืองปากใต้ไปจำนวนมาก จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๑๒๔ ก็เสียเมืองเพชรบุรีแก่พญาละแวก ภายหลัง พ.ศ.๒๑๓๖ พระองค์เสด็จไปตีเมืองละแวก (อุดงหรือพนมเปญ) ภายหลังเมื่อครองราชย์อย่างเป็นทางการแล้ว ( เหตุการณ์ตอนสมเด็จพระนเรศวรฯไล่ตามสำเภาของพญาจีนจันตุ ซึ่งเป็นขุนนางจีนและกลุ่มชาวจีนที่ชำนาญทางเรือของพญาละแวก ทำให้รู้สึกได้ถึงสภาพความชำนาญในการเดินเรือที่ต่างกันอย่างมากระหว่างทัพไทยและกองเรือชาวจีน เพราะไม่สามารถไล่ตามเรือสำเภาพญาจีนจันตุได้ทัน และเมื่อถึงปากน้ำพระประแดงก็หยุดไม่ไล่ตามไปจนถึงทะเล)

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงนั้น พญาละแวกมุ่งกวาดต้อนผู้คนหัวเมืองปากใต้ และให้ทัพเรือมุ่งเข้าตีพระนครและเมืองเพชรบุรีหลายครั้งในช่วงเวลาสามปีติดต่อกัน ในขณะที่กรุงศรีอยุธยาอยู่ในภาวะสูญเสียความเป็นศูนย์กลางทางการเมืองแก่พม่า อาจเพราะต้องการคุมอำนาจศูนย์กลางการค้าทางทะเลที่กรุงศรีอยุธยาซึ่งสะดวกกว่าที่ตั้งของพนมเปญ อันเป็นเมืองท่าภายในเช่นเดียวกัน เพราะพนมเปญจะต้องออกทะเลที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเขตทางใต้ของเวียดนาม ซึ่งขณะนั้นราชสำนักของเวียดนามเริ่มมีการให้ความสำคัญในการสร้างเมืองที่ไซ่ง่อนแล้ว ( การเกิดขึ้นของกรุงพนมเปญที่ใกล้ปากแม่น้ำโขง หลังสมัยเมืองพระนคร ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘–๑๙ นักวิชาการหลายท่านว่าเกิดขึ้นจากอิทธิพลของการค้าทางทะเลที่มีการเคลื่อนไหวในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัยกับการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะแบบเมืองท่าภายในเช่นเดียวกัน เดวิด แชนด์เลอร์ ประวัติศาสตร์กัมพูชา,  มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, ๒๕๔๐ (หน้า ๑๗๒–๑๗๘)) 

ส่วนการตีเมืองเพชรบุรีก็น่าจะเป็นเพราะ เมื่อราชสำนักอยุธยาไม่มีอำนาจทางการเมือง การยึดกุมเมืองเพชรบุรีซึ่งเป็นหัวเมืองต้นทางสู่เมือง มะริด และตะนาวศรี จะเป็นทางสะดวกสำหรับการทำการค้าในการข้ามไปออกอ่าวเบงกอลโดยไม่ผ่านช่องแคบมะละกา 

ช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ พระองค์และสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี ไปจนถึงสามร้อยยอด ตั้งพระตำหนักแทบฝั่งมหาสมุทรเที่ยวทรงเบ็ดในทะเลลึก แล้วไปสร้างพระตำหนักที่ตำบลโตนดหลวงที่อยู่ระหว่างแหลมผักเบี้ยอำเภอบ้านแหลมและชายหาดชะอำ เหนือแหลมผักเบี้ยขึ้นไปในเขตอำเภอบ้านแหลมจะเป็นชายฝั่งแบบทะเลตม และใต้แหลมผักเบี้ยลงมาจะเริ่มเป็นชายหาดทรายเพื่อประพาสทะเลต่อรวมเวลาทั้งสิ้นกว่า ๑ เดือน จึงเสด็จเข้าเมืองเพชรบุรี ( พระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ว่าเป็นทางสถลมารค ส่วนฉบับพันจันทนุมาศ ว่าชลมารค แต่หนทางที่สะดวกน่าจะเสด็จโดยทางชลมารคต่อด้วยสถลมารคจนถึงสามร้อยยอด ตามเส้นทางแม่น้ำลำคลองต่างๆ มากกว่า)

นับเป็นการบันทึกถึงพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาพระองค์แรกว่าเสด็จประพาสทางทะเลออกไปเที่ยวทรงเบ็ดกลางทะเลลึก ซึ่งเป็นสิ่งที่แหวกธรรมเนียมและผจญภัยกว่าการท่องเที่ยวในสมัยนั้น

จึงเห็นได้ว่าเมืองเพชรบุรีและหัวเมืองปากใต้ทั้งหลายมีความสำคัญต่อกรุงศรีอยุธยาในฐานะเป็นประตูไปสู่บ้านเมืองที่ห่างไกลและเป็นแหล่งทรัพยากรของป่าที่สำคัญของพระราชอาณาจักร 

มีจดหมายเหตุของชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขายและเผยแพร่ศาสนาในยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของการค้าทางทะเล โดยเฉพาะในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้บันทึกรายละเอียดของการเดินทางระหว่างกรุงศรีอยุธยาและเมืองเพชรบุรีที่ใช้การเดินทางทางเรือ ตามเส้นทางซึ่งแสดงไว้ในแผนที่โบราณที่พวกเขาสร้างขึ้นหลายฉบับ แล้วเดินทางบกผ่านเมืองปราณ เมืองกุย ข้ามช่องเขาสู่ลำน้ำตะนาวศรี เมืองตะนาวศรีต่อไปที่เมืองมะริด ซึ่งเป็นเมืองท่าชั้นดี ทั้งนี้โดยไม่ต้องรอลมมรสุมเพื่อเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ( ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ต่อเนื่องกับรัชกาลของสมเด็จพระเพทราชา บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการเมืองตะนาวศรีและมะริดก็เป็นแขกมัวร์ (แขกเปอร์เซีย) หัวเมืองที่แถบนี้ที่เป็นทางผ่านมาอยุธยาก็เป็นแขกเปอร์เซีย เช่น เพชรบุรี ปราณบุรี กุยบุรี นายเรือของกษัตริย์ที่ใช้ใบจากตะนาวศรีไปยังมะเกาและเบงกอลก็เป็นแขกเปอร์เซีย นายห้างดูแลธุระค้าขายก็เป็นแขกเปอร์เซีย จากเมืองเบงกอลและมาสุลีปาตัมมายังตะนาวศรีแล้วขึ้นบกเดินทางบกมายังอยุธยาตกในมือขุนนางเปอร์เซีย )

บันทึกการเดินทางของนายแพทย์อิงเกิลเบิตร์ แกมเฟอร์ เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๓ ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา เดินทางด้วยเรือกำปั่นจากเมืองปัตตาเวียไปสยามที่กรุงศรีอยุธยา และบรรยายสิ่งต่างๆที่พบเห็น ตอนหนึ่งกล่าวถึงการเดินทางโดยพ่อค้าคนไทยเป็นผู้บอกระยะทางช่วงจากเมืองนครศรีธรรมราช  ต้องผ่านชายฝั่งเมืองกุยแถบสามร้อยยอด ผ่านเมืองปราณ ต่อจากนั้น คือ ชะอำ เหนือเข้าไปคือเมืองเพชรบุรี ผ่านยี่สาน (แต่เขียนไว้ว่า Isan) แม่กลอง ท่าจีน จากนั้นจึงถึงปากน้ำเจ้าพระยา ( Kaempfer, Engelbert. A Description of the Kingdom of Siam 1690 [pl.73])

23-2

สมเด็จพระเจ้าเสือและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ นิยมการพักผ่อนโดยเสด็จประพาสทรงเบ็ดบริเวณปากน้ำต่อกับทะเลหรือเรียกว่าในเขตทะเลตมก็ได้ การท่องเที่ยวทะเลตมไม่มีอันตรายจากคลื่นลม ไม่ต้องใช้เรือสำหรับออกทะเลและสภาพแวดล้อมของป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว ( บทพรรณนาถึงสภาพแวดล้อมแบบป่าชายเลนที่น่าท่องเที่ยวที่สุด คือ นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ ทำให้เห็นภาพความงามที่น่าหลงไหลของเขตทะเลตมอย่างชัดเจน)

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหาชัยแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ( พระเจ้าเสือเสด็จประพาสทรงเบ็ดที่ปากน้ำเมืองสาครบุรี เรือพระที่นั่งมาทางคลองโคกขาม ซึ่งคดเคี้ยว หัวเรือชนกิ่งไม้หัก พระราชพงศาวดารกล่าวว่าเป็นเหตุให้ทรงตัดคลองลัดมหาไชยไปออกปากน้ำเมืองสาครบุรี) 

มาแล้วเสร็จในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โดยการเกณฑ์ไพร่จากหัวเมืองปากใต้มาขุดคลองลัดจากคลองด่านไปออกแม่น้ำท่าจีน และหนึ่งในทั้งสองพระองค์นั้นน่าจะเป็นผู้สร้างพระตำหนักไว้ที่วัดคุ้งตำหนัก ใกล้ปากอ่าวบางตะบูน ( สันนิษฐานว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าเสือหรือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ กล่าวถึงตอนนี้ไว้ว่า  “ถึงที่วังตั้งประทับรับเสด็จ มาทรงเบ็ดปลากะโห้ไม่สังหาร ให้ปล่อยไปในทะเลเอาเพดาน แต่โบราณเรียกองค์พระทรงปลา” )

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชายทะเลแถบเพชรบุรีที่ติดต่อกับเขตทะเลตมแถวบ้านแหลมยังเป็นที่นิยมเสด็จประพาสตากอากาศของพระมหากษัตริย์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ ทรงประชวร จึงเสด็จมาพักผ่อนที่ชายหาดบ้านบางทะลุ เหนือตำบลโตนดหลวงราว ๑๕ กิโลเมตร ภายหลังพระองค์พระราชทานนามใหม่เป็น “หาดเจ้าสำราญ”

โคลงนิราศนรินทร์ของนายอินนั้น แต่งขึ้นเมื่อรัชกาลเดียวกัน ราว พ.ศ.๒๓๕๒ พรรณนาถึงการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่เมืองกำเนิดนพคุณหรือบางสะพานและเมืองตะนาวศรี (สันนิษฐานกันว่าเป็นการเดินทัพไปรบพม่าที่ชุมพรและถลาง โดยสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์) ก็ใช้เส้นทางโบราณนี้ นั่นคือ ลัดเข้าคลองจากบางกอกสู่ท่าจีน แม่กลอง และเพชรบุรี ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเดินทางบก ผ่านบางสะพานข้ามช่องเขาไปที่เมืองตะนาวศรี

ในบันทึกการเดินทางของคณะทูตจากอังกฤษ จอห์น ครอฟอร์ด เข้ามาสยามและเขียนบันทึกพร้อมแผนที่เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๖๕ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ ได้ลงตำแหน่งของยี่สาร ซึ่งอยู่ระหว่างทางจากแม่กลองหรือสมุทรสงครามและเพชรบุรีไว้ด้วย ทั้งได้กล่าวถึงชุมชนแห่งนี้ว่า 

ถัดจากแม่น้ำแม่กลองซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาคือ ยี่สาน บริเวณชายฝั่งมีเพียงป่าไม้ ซึ่งไม่มีคุณค่าอะไรนอกจากใช้เป็นไม้ฟืนสำหรับส่งไปเมืองหลวง อนึ่ง ภูมิประเทศบริเวณยี่สานนี้ปลูกข้าวได้ดีและมีผู้คนอยู่พอสมควร ลำน้ำสามสาย คือ บางตะบูนน้อย, บางตะบูนใหญ่ และ บ้านแหลม คือสาขาของแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองเพชรบุรี ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากทะเลเข้ามาสิบชั่วโมง ( ในบทที่ ๑๕ กล่าวถึงสภาพภูมิศาสตร์และลักษณะของประชากร  Journal of an Embassy to the courts of the Kingdom of Siam and Cochin China (หน้า ๔๔๒) )

22-3

Journal of an Embassy to the courts of the Kingdom of Siam and Cochin China

นิราศเมืองเพชร สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นเมื่อระหว่าง พ.ศ.๒๓๘๘–พ.ศ.๒๓๙๒ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ สุนทรภู่บรรยายการเดินทางจากเมืองหลวงลัดเลาะเข้าลำคลองไปสู่เมืองเพชรบุรี ท่านกล่าวถึงสิ่งที่พบเห็นรวมทั้งสภาพนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ของเขตป่าชายเลนและชีวิตของผู้คนไว้ได้อย่างถี่ถ้วน รวมทั้งเสียงชะนีที่เขายี่สารด้วย ( นิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ บรรยายถึงยี่สารไว้ว่า “เขาหลับเรื่อยเหนื่อยอ่อนนอนสนิท  พี่นี้คิดใคร่ครวญจนจวนสว่าง เสียงนกร้องซ้องแซ่ครอแครคราง ทั้งลิงค่างครอกโครกละโอกโอย เสียงชะนีที่เหล่าเขายี่สาน วิเวกหวานหวัวหวัวผัวผัวโหวย หวิวหวิวไหวได้ยินยิ่งดิ้นโดย ชะนีโหยหาคู่ไม่รู้วาย”หลังจากเรือติดเพราะน้ำลดต้องรอจนน้ำขึ้นจึง“แล้วเคลื่อนคลาลาจากปากคลองช่อง ไปตามร่องน้ำหลักปักเป็นแถว ข้ามยี่สานบ้านสองพี่น้องแล้ว ค่อยคล่องแคล่วเข้าชะวากปากตะบูน”)

นิราศเกาะจานรวมพิมพ์อยู่ในวรรณกรรมของสุนทรภู่ แต่ยังไม่มีการลงความเห็นแน่ชัดว่าสุนทรภู่เป็นผู้แต่งหรือไม่ บรรยายถึงการเดินทางตามเสด็จเจ้านายเป็นขบวนใหญ่ไปที่เกาะจาน เพื่อเตรียมสร้างพลับพลาที่ประทับบริเวณคลองวาฬ ตรงข้ามเกาะจานพอดี น่าจะเพื่อเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ การเดินทางต้องใช้เส้นทางเดียวกันกับไปเมืองเพชรแต่ออกจากปากน้ำแม่กลองก็ลัดเลาะชายฝั่งไปจนถึงเกาะจาน กล่าวถึงถิ่นฐานบริเวณยี่สารไว้เช่นกัน ( นิราศเกาะจาน รวมพิมพ์อยู่ใน รวมวรรณกรรมของสุนทรภู่, พระนคร ศิลปบรรณาคาร, ๒๕๑๓ แต่ไม่น่าจะใช่สุนทรภู่เป็นผู้แต่ง เพราะเหตุการณ์น่าจะนี้เกิดขึ้นในช่วงปีสุดท้ายของรัชกาลที่ ๔ เพื่อเตรียมการไปรับเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ ช่วงที่ผ่านอ่าวยี่สาร(น่าจะเป็นปากคลองช่อง)บรรยายไว้ว่า “เห็นชะวากปากช่องเป็นคลองโว่ง แลดูโล่งยินดีจะมีไหน ถามเรือปลาว่าอ่าวที่เข้าไป เขาเรียกนามอย่างไรไฉนนาย เขาบอกเล่าอ่าวนี้ชื่อยี่สาน แต่กันดารเดินลำบากยากใจหาย ทั้งขาดน้ำคลองขอดล้วนโขดทราย ต่อเที่ยงสายน้ำมากไม่ยากใจ ได้ยินคำร่ำบอกกลอกศีรษะ เสียงเอะอะโอ้ผิดจะคิดไฉน เดือนก็ดับลับเลี้ยวเมรุไกร จะสำคัญฉันใดก็ใช่ที ฟ้าก็มัวมืดอับพะยับฝน จะดั้นด้นไปข้างไหนไม่รู้ที่ ปรึกษาพร้อมยอมกันลงทันที เข้าแอบอ่าววารีค่อยสำราญ มีเรือเรียงเคียงจอดตลอดแถว แต่ล้วนแล้วหลงอ่าวเข้ายี่สาน  บ้างไต่ถามตามข้อราชการ ถึงเกาะจานยากเย็นเป็นเช่นไร” เห็นชัดว่าผู้เดินทางไม่รู้เวลาน้ำขึ้นน้ำลงในบริเวณนี้ เป็นเหตุให้ไม่สะดวกแก่การเดินทางนัก)

19

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานเงินร่วมกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อเป็นสมุหพระกลาโหม ขุดคลองดำเนินสะดวกแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯก็ร่วมเข้าทุนกันขุดคลองบางลี่จากเมืองสมุทรสงครามไปตกคลองยี่สาน และแก้คลองลัดยี่สานบางตะบูนอีกหนึ่งคลอง เมื่อราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ( สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ร่วมออกเงินกับเจ้าคุณตำหนักใหม่ ขุดคลองบางลี่หรือคลองประชาชมชื่น  ยาว ๓๔๑ เส้น ๓ วา ๒ ศอก กว้าง ๖ วา ลึก ๔ ศอก ค่าจ้างขุดเส้นละ ๑ ชั่ง ๑๒ ตำลึง ๒ บาท เป็นเงิน ๕๕๔ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ค่าขุดตอไม้เงิน ๕๔ ชั่ง ๑๙ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึงเฟื้อง ค่าโสหุ้ยในการขุดคลอง ค่าไม้ ค่าจ้าง ๒๔ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง รวมเป็นเงิน ๖๓๔ชั่ง ๙ ตำลึง ๓ สลึงเฟื้อง แก้คลองลัดยี่สานออกบางตะบูน ยาว ๖๐ เส้น ๑๓ วา กว้าง ๖ วา ลึก ๔ ศอก ราคาเส้นละ ๑ ชั่ง ๒ ตำลึง ๒ บาท เป็นเงิน ๖๘ ชั่ง ๔ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง ค่าขุดตอไม้ ค่าโสหุ้ยใช้สอยเงิน ๘ ชั่ง ๖ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง รวมเป็นเงิน ๗๖ชั่ง ๑๑ ตำลึง พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (หน้า ๓๗๗–๓๗๘) แต่ต่างไปจากเรื่องเล่าของชาวบ้านยี่สารที่เล่ากันว่า คลองขุดยี่สารที่ไปออกบางตะบูนในปัจจุบัน หลวงพ่อร้ายเจ้าอาวาสวัดยี่สารในอดีตเป็นผู้นำชาวบ้านร่วมขุด โดยใช้วิธีให้ควายย่ำจนเป็นร่องน้ำ และเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จผ่านก็กล่าวว่าคลองขุดยี่สารนี้พระขุดคลองลัดจากยี่สารไปออกบางตะบูน) 

บันทึกไว้ว่าเปิดคลองเมื่อ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๑๒ “เปิดคลองยี่สาน (แต่สมุทรสงครามไปเพชรบุรี)(ใช้เวลาขุดทั้งสิ้นราว ๘ เดือน เสร็จในปีแรกในการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จดหมายเหตุหมอบรัดเล)

25-2

ราว พ.ศ.๒๔๑๔–พ.ศ.๒๔๑๕ เมืองเพชรบุรีเป็นที่นิยมสำหรับชาวยุโรปซึ่งอาศัยอยู่ในบางกอก เป็นสถานที่สำหรับเปลี่ยนอากาศหรือตากอากาศยามหน้าร้อน ก็จะใช้เส้นทางจากกรุงเทพฯไปสู่ท่าจีนและแม่กลอง จากนั้นเดินทางผ่านคลองและคลองขุดสายต่างๆ เข้าๆ ออกๆ อยู่ ๖ ครั้ง จึงจะถึงเมืองเพชรบุรี ( Veincent, Frank. The Land of the white elephant sights and scenes in South-East Asia 1871-1872 [pl.137] )

ในนิราศยี่สารของ ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ นายกุหลาบคิดจะไปท่องเที่ยวตากอากาศและไหว้พระที่เขายี่สารพร้อมบุตรสาว ( แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวในอดีตนิยมไปไหว้พระเสมือนการเที่ยวจาริกแสวงบุญและตากอากาศไปในคราวเดียวกัน น่าสังเกตเรื่องการตากอากาศบริเวณทะเลตมมักเป็น8;k,obp,ของพระมหากษัตริย์ในอดีตและการmjv’gmujp;ตากอากาศในแถบเพชรบุรีเป็นที่นิยมของฝรั่งชาวตะวันตกในเมืองหลวง การที่ ก.ศ.ร.กุหลาบเลือกจะมาเที่ยวไหว้พระที่เขายี่สารแทนไปจาริกแสวงบุญเช่นการไปไหว้พระบาทดังที่คนทั่วไปนิยมกัน น่าจะเป็นค่านิยมทั้งเลียนแบบธรรมเนียมเดิมของเจ้านายและแสดงถึงความทันสมัยของชนชั้นกฎุมพี  ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ต่างไปจากเดิม เมื่อถึงวัดเขายี่สารก็ขึ้นสำรวจและบรรยายสภาพศาสนสถานต่างๆ ไว้อย่างละเอียดลออ ข้อน่าสังเกตอีกข้อหนึ่งคือ เรียกวัดเขายี่สารในปัจจุบันว่า “วัดแก้วฟ้า” ซึ่งในปัจจุบันไม่มีใครรับรู้เรื่อง วัดเขายี่สารเรียกว่าวัดแก้วฟ้าแต่อย่างใด)

โดยใช้เส้นทางเดิม เพียงแต่ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ มีการขุดคลองลัด เช่นคลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก และคลองลัดประชาชมชื่นหรือคลองบางลี่ รวมถึงคลองลัดยี่สารด้วย ทำให้การเดินทางของ ก.ศ.ร.กุหลาบต่างไปจากผู้อื่นที่กล่าวมาแล้วบ้างเล็กน้อย เส้นทางที่ ก.ศ.ร.กุหลาบใช้นี้ เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านยี่สารต่อมาใช้ติดต่อกับทางอัมพวาหรือแม่กลองจนกระทั่งเลิกไปเมื่อมีการเดินทางบกที่สะดวกกว่า

ในจดหมายเหตุบันทึกเรื่องราวต่างๆ ขณะเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อ ร.ศ.๑๑๗, ๑๑๙ (พ.ศ.๒๔๔๒, พ.ศ.๒๔๔๔) ทรงบรรยายกล่าวถึงการเดินทางจากราชบุรี ล่องลงมาถึงอัมพวาตามลำน้ำแม่กลอง เข้าเพชรบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ ครั้งแรกจะเสด็จจากราชบุรีไปเพชรบุรี ซึ่งเรียกว่า “ทางใน” คือไปทางลำน้ำวัดประดู่ (คลองวัดประดู่น่าจะเป็นคลองลัดที่ตัดขึ้นเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และไม่มีบันทึกว่าตัดขึ้นเมื่อใด เป็นคลองลัดระหว่างแม่น้ำอ้อมตรงอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ตัดขนานกับแนวสันถนนท้าวอู่ทองผ่านคลองยี่สานลัดเลาะเข้าคลองสายเล็กๆต่างๆ หรือลัดเข้าสู่แม่น้ำเพชรได้) โดยจะเข้าเมืองสมุทรสงครามภายหลัง แต่ภายหลังเปลี่ยนใจเพราะน้ำในคลองต่อแดนเพชรบุรีน้อยอาจไปได้ลำบาก 

ดังนั้น พระองค์จึงเสด็จจากราชบุรีออกปากน้ำแม่กลองที่สมุทรสงคราม ข้ามอ่าวเลียบชายฝั่งไปสู่เมืองเพชรบุรี (ในช่วงที่มีเรือกลไฟลากจูงแล้ว) ว่า 

“วันที่ ๒๒ สิงหาคม เวลาสว่างก่อนย่ำรุ่งออกเรือจากสมุทสงคราม ออกทะเลเลียบไปในอ่าว ไปสักชั่วโมงหนึ่งถึงปากน้ำยี่สาน เห็นทิวไม้ขาดเป็นรอย แต่ได้ความว่าปากน้ำยี่สานนี้ ไม่ใคร่มีเรือจะเดินไปมาแล้ว และบ้านเรือนก็ย้ายไปอยู่บางตะบูนโดยมากเพราะเดิมพระขุดคลองลัดแต่ลำน้ำยี่สานไปออกบางตะบูน น้ำเดินทางนั้นแรงกัดกว้างลึกเปนน้ำใหญ่จึงทำปากน้ำยี่สานตื้นไป พ้นยี่สานไปประมาณครึ่งชั่วโมงเข้าอ่าวบางตะบูน

ไปทะเลทางนี้ออกรู้สึกว่าไปอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ท่านไปกันแต่ก่อนดังถ้อยคำที่กล่าวในนิราศ นรินทรอินทรแลนิราศสุนทรภู่ไปเมืองเพ็ชรเปนต้น ดูเปนการใหญ่การยากต้องจอดรอให้คลื่นลมสงบต่อเช้ามืดจึงออกทะเลแลเวิ้งว้างน่ากลัวเพราะเรือเล็ก ถ้าคลื่นลมมีจริงก็เห็นจะต้องขึ้นป่าแสมแต่ระดูนี้ไม่มีคลื่นลมในเวลาเช้า เรือน้อยเรือใหญ่ไปมาในระหว่างเมืองเพ็ชรบุรีกับสมุทสงคราม ข้ามอ่าวในเวลานี้ทุกๆวัน วันละหลายๆ สิบลำ เปนเรือทุกขนาดแลชนิด ตั้งแต่เรือสำปั้นพายเดียวไปจนเรือพลู ซึ่งค้าขายของสวนแจวพายตามกันเรื่อยไปเปนแถว มาเห็นเรือเหล่านั้นที่ในทะเลน่าดูยิ่งนัก( ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยาฯ จดหมายเหตุระยะทางเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ร.ศ.๑๑๗, ๑๑๙)

ข้อมูลที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีการบันทึกถึงการเดินทางไปสู่หัวเมืองปากใต้ ชายฝั่งตะนาวศรีและเมืองท่ามะริดทางฝั่งตะวันตก และหัวเมืองชายฝั่งในคาบสมุทรมลายู เห็นได้ว่าหัวเมืองทางฝั่งตะวันตกมีความสำคัญต่อบ้านเมืองทางกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์อย่างมาก 

เส้นทางภายใน ต้นทางสำคัญที่กรุงศรีอยุธยาจะติดต่อบ้านเมืองทางใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางโบราณระหว่างทางจากกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพฯ สู่เมืองเพชรบุรี สรุปได้ดังนี้

จากเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพมหานครฯ ใช้เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาตามเส้นทางเดิมหรือที่มีการขุดลัด แยกเข้าคลองด่านช่วงแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าหรือคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ที่ฝั่งธนบุรี ผ่านบางขุนเทียน จอมทอง ท่าข้าม แสมดำ แยกเข้าคลองโคกขามก่อนมีการขุดคลองมหาชัย ต่อกับคลองมหาชัยไปออกที่มหาชัยหรือเมืองท่าจีน แล้วข้ามแม่น้ำขึ้นเหนือ เข้าคลองสามสิบสองคุ้ง ต่อคลองสุนัขหอน ออกแม่น้ำแม่กลองขึ้นไปทางขวาแยกไปบางช้าง ราชบุรี กาญจนบุรีตามลำน้ำแม่กลอง ส่วนแยกทางซ้ายออกทะเล ตัดออกปากอ่าวข้ามทะเลเข้าคลองช่อง ลัดตามคลองเส้นสายใน ผ่านคลองยี่สาร เข้าคลองบางตะบูน ผ่านวัดคุ้งตำหนัก เข้าคลองบางครกผ่านเขาตะเครา แล้วเข้าแม่น้ำเพชรบุรีสู่เมืองเพชรบุรี (เส้นทางสายนี้สุนทรภู่บรรยายไว้ในนิราศเมืองเพชร น่าจะเป็นเส้นทางหลักที่ใช้กันในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาและอยู่ไม่ไกลจากเมืองแม่กลองและท่าจีนนัก เป็นเส้นทางที่พุ่งตรงไปสู่หัวเมืองหลักๆ ที่ท่าจีน แม่กลอง และเพชรบุรีทีเดียว) 

ภายหลังเมื่อขุดคลองภาษีเจริญและคลองดำเนินสะดวกแล้ว มีเส้นทางสำหรับการเดินทางภายในที่สืบเนื่องมาจากความต้องการส่งผลผลิตเพื่อการส่งออก จากแม่น้ำเจ้าพระยาตัดเข้าคลองภาษีเจริญแถบคลองบางกอกใหญ่มาออกแม่น้ำท่าจีนแถบอำเภอกระทุ่มแบน ตัดผ่านเข้าคลองดำเนินสะดวก แล้วเลือกเข้าคลองวัดประดู่ ผ่านไปสู่คลองสายในเพื่อเข้าแม่น้ำเพชรบุรี หรือคลองบางลี่หรือที่เรียกภายหลังว่าคลองประชาชมชื่น ต่อกับคลองขุดยี่สาน ผ่านยี่สาน ออกบางตะบูน แล้วลัดเลาะเข้าสู่แม่น้ำเพชรบุรีอีกทีหนึ่ง (เส้นทางนี้เกิดขึ้นภายหลังการขุดคลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวกและคลองบางลี่หรือคลองประชาชามชื่นและแต่งคลองลัดยี่สานแล้ว ก.ศ.ร.กุหลาบ เดินทางส่วนใหญ่ในเส้นทางนี้)

อย่างไรก็ตาม นักเดินทางจะเลือกเดินทางเส้นใดก็แล้วแต่ความถนัดของผู้นำทาง ความชำนาญ รู้จักธรรมชาติน้ำขึ้นน้ำลง และขนาดของเรือที่โดยสารว่าเหมาะสมกับเส้นทางเช่นไร

เส้นทางข้ามช่องเขาไปสู่เมืองท่ามะริดและเมืองตะนาวศรี การข้ามช่องเขาเหล่านี้ใช้เกวียนเทียมวัวและมักเดินทางกันในฤดูแล้ง การเดินทางข้ามคาบสมุทรนี้มีทั้งที่ขึ้นเหนือไปกรุงศรีอยุธยาและลงใต้ข้ามไปสู่แถบเมืองกระและเมืองชุมพร ส่วนการเดินทางปกติจากตะนาวศรีไปอยุธยาจะใช้เวลาประมาณ ๑๐–๑๖ วัน มีการบันทึกไว้ว่า มีอยู่ด้วยกัน สี่ทาง ( Smyth Warrington, Herbert. Five Years in Siam from 1891-1896 Vol.1-2, White Lotus, 1994 (pl.47-52))

คือ

๑. จากเมืองมะริดเข้าแม่น้ำตะนาวศรีทางเรือ ไปที่เมืองกะลิงคะ[Jalinga] แล้วข้ามเทือกเขาลงสู่ที่ราบของเมืองเพชร

๒. เดินทางจากมะริดไปกะลิงคะ แล้วข้ามเขาไปที่ชะอำ 

๓. จากกะลิงคะข้ามไปที่เมืองปราณ ซึ่งเป็นเมืองท่าจอดเรือได้แห่งเดียวก่อนถึงแม่น้ำเพชรบุรี หรือจะลงเรือไปสู่อยุธยาที่นี่ก็ได้

๔. จากกะลิงคะข้ามไปที่กุยบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขาสามร้อยยอด ซึ่งธรรมเนียมการเดินเรือโบราณจะเป็นที่สุดท้ายซึ่งแวะเติมน้ำจืด ก่อนข้ามตัดอ่าวไปสู่การเดินทางเลียบชายฝั่งแถบตะวันออกต่อไป

พ.ณ ประมวญมารค อธิบายไว้ว่า “ตอนต้นระหว่างมะริดกับตะนาวศรีนั้น แม่น้ำกว้างใหญ่ลึก ใช้เรือแจวและเรือพายขนาดใหญ่ได้สะดวก ต่อจากตะนาวศรีต้องใช้เรือและเรือเล็กไปตามลำแม่น้ำตะนาวศรีน้อย ตอนนี้แม่น้ำตื้นเต็มไปด้วยแก่งหิน ต้องใช้เรือเล็กถ่อหรือเข็ยผ่านสิงขรขึ้นไปตามลำน้ำสิงขร [Theinkun Chuang] ขึ้นไปหาช่องเขาด่านสิงขรได้ถึงท่าพริก [Talinga] ต่อจากนี้ตัดเดินทางด้วยการหาบหามหรือช้าง ท่าพริกถึงด่านสิงขรระยะทาง ๔๐๐ เส้น จากนั้นเมื่อข้ามเขาแล้ว แนวทางตัดไปหากุยและปราณ จากปราณใช้เรือทะเลแล่นตัดข้ามอ่าว เข้ามาทางปากน้ำไปอยุธยา” ใน กำสรวลศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์, ๒๕๑๕)

อย่างไรก็ตาม เมืองตะนาวศรีและเมืองท่ามะริดในปี พ.ศ.๒๔๓๘ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้หมดความสำคัญลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว เจ้ากรมโลหะกิจซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ( อ้างจาก Smyth Warrington, H. Notes on a journey to some of the South-Western Provinces of Siam ,ธนัญญา ทองซ้อนกลีบ แปล รวมเรื่องแปลและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ ๑ ศิลปากร,กรม ๒๕๓๙ (หน้า๑๖๕) ) ให้ข้อคิดเห็นว่า เกิดจากเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาของพม่า มะริดและตะนาวศรีคือเมืองต้นทางการข้ามช่องเขามาสู่อยุธยา หลังจากนั้นก็ไม่สามารถฟื้นตัวและกอบกู้บ้านเมืองได้อีกเลย อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการเติบโตของอังกฤษในช่องแคบมะละกาได้ปราบพวกโจรสลัดซึ่งเคยมีชุกชุม การทำการค้ากับสิงคโปร์และปีนังทำให้มีความสะดวกสำหรับการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา อีกส่วนหนึ่งมาจากพัฒนาการการเดินเรือกลไฟ ซึ่งสามารถเดินเรือตลอดชายฝั่งได้โดยไม่ต้องรอลมมรสุม เส้นทางเหล่านี้จึงถูกละเลยจนแทบไม่มีใครรู้จักนอกจากพวกที่อยู่บนเทือกเขาแถบชายแดน 

(การค้าสำเภาหลวงเริ่มเปลี่ยนมาใช้เป็นเรือกำปั่นแบบตะวันตกเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๘ และเปลี่ยนมาเป็นเรือกลไฟซึ่งสามารถสร้างได้ในสยามเอง เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๘ ทำให้การใช้สำเภาเดินเรือเลียบชายฝั่งแบบเดิมในแถบคาบสมุทรค่อยๆ หมดไป รวมถึงนักเดินทางทะเลพื้นถิ่นหรือชาวมุสลิมที่ใช้เรือปราหูด้วย) 

ทั้งนี้ หัวเมืองทางกุยบุรี ปราณบุรี และโดยเฉพาะเพชรบุรีซึ่งเป็นชุมทางเดินทางบกและทางน้ำ จึงหมดความสำคัญในฐานะเป็นหัวเมืองที่ควบคุมการเดินทางของผู้คนและสินค้าตามเส้นทางดังกล่าว

๓.๒ ยี่สารและการค้าภายใน

จากการอธิบายข้างต้นจะเห็นได้ว่า ยี่สาร เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการเดินทางภายในระหว่างเมืองหลวงและเพชรบุรี ซึ่งเป็นเมืองสำคัญสำหรับการเดินทางและการค้าข้ามคาบสมุทรตอนบน และสัมพันธ์กับการเดินเรือเลียบชายฝั่งโดยเฉพาะสำเภาจีน ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจการค้าโพ้นทะเลของกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์

ในขณะที่ชุมชนยี่สารเป็นส่วนหนึ่งของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบทะเลตมในเวลาใกล้เคียงกับเมืองท่าบริเวณปากแม่น้ำ เช่น ที่ท่าจีนและแม่กลอง (แม้จะยังไม่มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่ามีการเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่เมื่อใด อย่างน้อยคงเป็นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็ปรากฏเป็นหัวเมืองชั้นตรีที่มีเจ้าเมืองปกครองแล้ว-ในที่นี้คาดว่าน่าจะเริ่มเมื่อมีการค้าโพ้นทะเลกับเรือสำเภาจีนในช่วงเวลาร่วมสมัยกับการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยา) กลุ่มคนที่การเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลและลูกหลานที่สืบเนื่องต่อมา รวมกับกลุ่มคนจีนนักแสวงโชคที่เข้ามาเป็นระยะๆ ตลอดเวลาจนถึงเมื่อมีการปิดกั้นการอพยพของชาวจีนอย่างเด็ดขาด ในขณะที่เราเห็นชุมชนชาวมอญซึ่งอพยพจากเขตชนแดนของสยามกับพม่า เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตหัวเมืองปากใต้หลายแห่งหลายช่วงเวลา ทั้งราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงครามและสมุทรปราการ เรื่อยมาจนถึงปทุมธานี จนชาวมอญเป็นที่รับรู้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการค้าขายทางน้ำสืบเนื่องกันมาไม่ขาดสาย (จนเมื่อมีการเกณฑ์ไพร่เข้าประจำการกองทหารในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ คนเชื้อสายมอญจะถูกเกณฑ์ไปประจำทัพเรือเสมอ) 

ความต่อเนื่องเหล่านี้ทำให้ผู้คนทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ในแถบทะเลตมเกิดการผสมผสานตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนจนเป็นพลเมืองของสยามทั้งสิ้น และกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทต่อการค้าภายในสำหรับหัวเมืองปากใต้ ซึ่งเป็นเขตที่มีความอุดมสมบูรณ์และติดต่อกับชายฝั่ง จึงได้รับผลสืบเนื่องจากการค้าโพ้นทะเลหรือการค้าภายนอกมากกว่าหัวเมืองภายในอื่นๆ

 แม้จะไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองในราชอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาช่วงต้นจนกระทั่งเมื่อมีการจดบันทึกจดหมายเหตุโดยชาวตะวันตกในระยะต่อมา แต่เราพอจะเห็นการควบคุมและข้อจำกัดความเป็นอยู่ของไพร่หรือคนทั่วไปได้ว่า ผู้ชายจะต้องถูกเกณฑ์แรงงานปีละ ๖ เดือน ด้วยการเข้าเดือนออกเดือนสลับกันไป หรือส่งผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นส่วยหรือเป็นเงินปีแทน ผู้หญิงจะมีบทบาทในครอบครัวและจัดการทางเศรษฐกิจแทนฝ่ายชายทำให้มีอิสระและเสรีภาพมากกว่าอย่างยิ่ง ซึ่งชีวิตแบบนี้มีชาวต่างชาติบันทึกถึงไว้ด้วยความประหลาดใจหลายแห่ง ( ตัวอย่างเช่นเมื่อ พ.ศ.๑๙๔๖ ในสมัยอยุธยาตอนต้น Fei Hsin ซึ่งน่าจะเป็นผู้ร่วมเดินทางด้วยบรรยายสภาพทั่วๆ ไปของเสียน-หลอส่วนหนึ่งคือ All day long men sit at ease. While their women decide all matters,  Su Chung-jen. Places in South-East Asia, the Middle East, and Africa visited by Cheng Ho and his companions, A.D.1405-1433 )

การค้าสำเภาหลวงแทบจะไม่มีผลประโยชน์ต่อชีวิตทางเศรษฐกิจของพลเมืองแต่อย่างใด เพราะจะตกอยู่ที่พระมหากษัตริย์และขุนนางที่เข้าถึงแหล่งผลประโยชน์นี้เท่านั้น สินค้าจากต่างประเทศที่เห็นว่าตกถึงมือไพร่ก็เห็นจะมีเพียงเครื่องถ้วยต่างๆเป็นสิ่งที่เด่นชัดที่สุด ส่วนเสื้อผ้าแพรพรรณ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจำนวนมากหากไม่ใช่ไพร่ที่อยู่ในเมืองหรือพวกกฎุมพีแล้ว ก็คงจะทอใช้กันเองโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่ชำนาญในการทอผ้าตามแบบลักษณะกลุ่มของตน

ในสมัยอยุธยามีการลงความเห็นกันว่า แม้จะมีการค้าต่างประเทศคึกคัก แต่ก็ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ ยังไม่มีการผลิตเพื่อส่งออกหรือผลิตเพื่อขายมากเท่ากับช่วงต้นรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ตาม การค้าภายในมิได้เป็นภาพหยุดนิ่งหรือไม่มีการผลิตส่วนเกินหรือการผลิตเพื่อขายแต่อย่างใด แต่กลับมีเสรีภาพในการค้าขายอยู่ตามสมควร เนื่องจากสถานที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาที่สามารถรวบรวมเส้นทางคมนาคมทุกสายภายในแผ่นดินเข้ามาสู่เมืองหลวงได้สะดวกกว่าที่ตั้งแห่งอื่นๆ การนำสินค้าจากท้องถิ่นต่างบ้านต่างเมืองมาขายในระยะทางไกลๆ จึงสามารถพบได้ ทั้งนี้ยังไม่นับว่ามีการขายระหว่างหัวเมืองด้วยหรือการขายตามชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ตามระยะทางการเดินทาง

ความคึกคักของการค้าภายในนี้ ยืนยันได้จากจดหมายเหตุของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยพระเจ้าปราสาททอง กล่าวถึงการค้าของชาวสยามด้วยความอุดมสมบูรณ์ จึงมีการทำนา ทำสวน ทำประมง ขายสินค้าพวกผลไม้และของป่า แม้จะมีผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ เมื่อเทียบกับการค้าของหลวง แต่ก็มีการค้าขายกันอย่างมากมาย ( คุรุสภา, องค์การค้า ประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๔๗ ภาคที่ ๗๖ จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น ,พระนคร, ๒๕๑๓) และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ กล่าวถึงประชากรส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการค้า บางคนใช้เวลาแทบทั้งหมดเดินทางไปตามแม่น้ำลำคลองด้วยเรือบรรทุกสินค้า นำเอาลูกเมียไปด้วยจนแทบไม่ต้องขึ้นบกเลย ส่วนพ่อค้าที่อยู่ในเมืองจะมีร้านของตนเอง ขายของปลีกที่ตนซื้อมาหรือผลิตขึ้นเอง                ( Gervaise, Nicolas. The Natural and Political History of the Kingdom of Siam White Lotus CO.,LTD. 1989 )

ที่ชัดเจนที่สุดคือการความทรงจำของผู้ที่เคยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เมื่อกล่าวถึงสภาพการค้าขายและสินค้าที่คนหัวเมืองนำมาขายที่กรุงศรีอยุธยา ในภูมิสถานกรุงศรีอยุธยาจะเห็นภาพของความคึกคักของการค้าภายในได้ดีที่สุด

“อนึ่ง เรือใหญ่ท้ายแกว่งชาวเมืองพิศณุโลกบรรทุกน้ำอ้อยยาสูบสรรพเครื่องฝ่ายเหนือมาจอดขายแต่หน้าวัดกล้วยลงมาจนถึงปากคลองกอแก้ว ๆ นั้น เรือใหญ่ปากกว้างหกศอกเจ็ดศอก มอญบรรทุกมะพร้าวห้าวไม้แสมเกลือมาจอดขาย ๑ 

อนึ่ง ศาลาเกวียนนั้นเทศกาลเดือนสามเดือนสี่ ต่างและเกวียนเมืองโคราชสีมา บรรทุกรักขิผึ้งปีกนกผ้าตะรางลายบัวสี่คืบหน้าเกบ และหนังเนื้อเอนเนื้อแผ่นมาตั้งตลาดขายที่ศาลาเกวียน ๑ 

บ้านวัดสมอวัดขนุนวัดขนานนั้น ชาวบ้านแขวงเมืองวิเศศไชยชาญล่องเรือ บรรทุกเข้าเปลือกมาจอดขายและชาวบ้านนั้นตั้งโรงสีโรงกระเดื่องซ้อมเข้าขายสำเภาแลโรงเล่า ๑ บ้านปากเข้าศาลจีนตั้งโรงต้มเล่าขาย 

อนึ่งเรือระแหงแขวงเมืองตาก แลเรือหางเหยี่ยวเพชรบูณ์นายม บรรทุกครั่งกำยานเหลกหางกุ้งไต้หวายชันน้ำมันยางยาสูบ สรรพสินค้าตามแขวงตามย่านมาจอดเรือขาย ๑ 

บ้านขนมตานรับเรือเภาเรือพ่วงขาย ๑ บ้านสกัดน้ำมันหุงขิผึ้งแดงขิผึ้งขาวแลเชยน้ำมันงาขาย ๑ บ้านคลองสวนพลูจีนต้มเล่าเลี้ยงหมูขาย บ้านคลองเกลือตั้งโรงสีโรงกระเดื่องสีเข้าซ้อมเข้าขายโรงเล่าแลสำเภา ๑ บ้านยี่ปุ่นรับกงสำเภากงเรือน้อยใหญ่ไว้ขาย ๑ บ้านข้างกำแพงหัวเลี้ยวสาระภา ตั้งโรงย้อมครามขาย ๑ 

บ้านน้ำวนบางกะจะเรือปากไต้ปากกว้างสามวาสิบเอดศอก ลูกค้าจีนแขกทอดสมอขายน้ำตานกรวดน้ำตานทราย สาคู กำมะถันจันแดงหวายตะค้ากะแชงตานีสรรพเครื่องปากไต้ แลลูกค้าไทจินนั่งร้านแพขายสรรพสิ่งของต่างๆ กัน ๑ 

ครั้นถึงมระสุมเทศการลูกค้าสำเภาจีน แลลูกค้ากำปั่นสุรัดอังกฤษฝรั่งโลสงแลฝรั่งหมากเกาะมาทอดกำปั่นสำเภาอยู่ท้ายคู ขนสินค้าขึ้นมาอยู่ตึกในกำแพงกรุงฯ ตามอย่างตามภาษาขายของ ๑ 

หน้าถ้าปตูถ้าหอยนั้นเรือลูกค้าชาวชะเลมาจอดเรือขายหอยรากหอยตะพงปูชะเลแมงดา ๑ ย่านป่าจากขายเรือกะแชงหวายชันน้ำมันยาง อนึ่งเรือจากปากเก้าศอกสิบศอกมาจอดขายจาก ๑ 

ย่านบ้านวัดขุนพรหมเขียนผ้าภิมแลทำโลงขาย ๑ ย่านบ้านท่ากายีนอกกำแพงกรุงฯ แขกฟั่นเชือกเปลือกมะพร้าว ตีสายสมอยาวเส้นหนึ่งสามสิบวาขายนายกำปั่นสุรัดอังกฤษ ๑ ย่านบ้านท้ายคูแขกจามทำเสื่อลันไตน้อยใหญ่ขาย ๑ 

อนึ่ง เรือแขกชะวามลายูปากเก้าศอกสิบศอกบรรทุกหมากเกาะหวายตะค้ากะแชงตานีสรรพสินค้ามาทอดขายของอยู่ที่คลองคูจาม ๑ บ้านถ้าราบรับพะเนียงหูไว้ขาย จีนแขกฝรั่งวิลันดาซื้อไว้ใส่ครามใส่ปูน ๑ บ้านสกัดน้ำมันหลังวัดพุไทสวรรค์ตีสกัดน้ำมันงาขาย ๑ บ้านอกกำแพงชะไกรขายเสารอดพรึงแลแพไม้ไผ่ 

อนึ่ง เรือปากหกศอกเจ็ดศอกชาวบ้านญี่สานบ้านแหลมบางทะลุ บรรทุกกะปิน้ำปลาปูเคมกะพงคุเราปลาทูกะเบนย่างมาจอดเรือขาย ๑ 

บ้านปูนวัดเขียนทำปูนขาย ๑ บ้านพระกรานจับปลาหมอเกราะหามมาเร่ขาย ชาวกรุงซื้อปล่อยเทศกาลกรุดสงกรานต์ บ้านวัดลอดฉองแขกจามทอผ้าไหมผ้าด้ายขาย ๑ บ้านหน้าวัดลาดพรีวัดธระมา ขายโลงแลเครื่องสำหรับศพ ๑ บ้านป้อมหัวพวนขายนกอังชันนกกะจาบตาย แลเร่ขายนกศรีชมภูนกปากตะกั่วนกกะจาบให้ซื้อปล่อยเทศกาลกรุดสงกรานต์ แม่น้ำหัวแหลมหน้าวัดภูเขาทองไต้สารเจ้านางหีนลอย จีนตั้งโรงสุราแลเลี้ยงหมูขาย ๑ 

อนึ่งเรือใหญ่ท้ายแกว่งชาวเมืองสวรรคโลกบรรทุกสินค้าฝ่ายเหนือมาจอดตามริมแม่น้ำแลในคลองวัดมหาธาตุตามเทศกาลหน้าน้ำ”  (ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยาฉบับต่อจากที่เคยพิมพ์แล้ว โรงพิมพ์พระจันทร์, พระนคร, ๒๔๘๒ สันนิษฐานว่าเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นโดยคนในสมัยรัตนโกสินทร์ที่เกิดทันก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยา )

เห็นได้ว่า สินค้าจากหัวเมืองในเขตพิษณุโลก สวรรคโลก หัวเมืองปากใต้ ก็นำสินค้าใส่เรือมาขาย ยกเว้นพ่อค้าเกวียนจากโคราชเท่านั้น คนต่างชาติหลายกลุ่มเข้ามาทำมาหากินตามความถนัดของตน เช่น ชาวจีน เลี้ยงหมูและต้มเหล้า ชาวจามทอผ้าไหม ทอเสื่อลันไต บ้านยี่ปุ่นทำกงเรือ ชาวมอญขายสินค้าจากสวน เรือชาวชวามลายูบรรทุกหมากเกาะหวายตะค้าชะแลงตานีมาขายถึงกรุงศรีอยุธยาซึ่งคงเดินทางมากับเรือใบท้องถิ่นหรือเรือปราหู และชาวบ้านรอบๆ พระนครก็ยังผลิตสินค้าของตนเองขายแก่ชาวเมือง เช่น บ้านปูนทำปูน บ้านสกัดน้ำมันงา บ้านนอกกำแพงชะไกรขายเสารอดพรึงแพไม้ไผ่ เป็นต้น

ภาพที่เห็นคือการผลิตเพื่อการขายภายใน และแทบไม่ต้องการสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศเลย มีการกล่าวถึงสินค้าจากหัวเมืองปากใต้นำนำใส่เรือมาขายหลายประเภท ที่น่าสนใจเพราะบ่งบอกถึงกลุ่มคนที่ขายด้วยคือ ชาวจีนแขกทอดสมอเรือขนาดใหญ่แถบบ้านน้ำวนบางกะจะขายน้ำตาลกรวดน้ำตาลทราย สาคู กำมะถัน จันแดง หวายตะค้า กะแชงตานี ซึ่งเป็นสินค้าป่าหรือสินค้าที่มาจากแถบหัวเมืองทางคาบสมุทร ชาวมอญบรรทุกมะพร้าวห้าว ไม้แสม เกลือมาขาย สินค้าเหล่านี้คือสินค้าจากสวนและในบริเวณทะเลตม

ที่สำคัญสำหรับการศึกษาในครั้งนี้คือ เรือปากหกศอกเจ็ดศอกชาวบ้านญี่สานบ้านแหลมบางทะลุล่องเรือปากหกศอกเจ็ดศอก บรรทุก กะปิ น้ำปลา ปูเคม กะพง คุเรา ปลาทู กะเบนย่าง มาจอดเรือขาย  ส่วนพวกที่มีอาชีพประมงทะเลก็นำสินค้าทะเลสดมาจอดเรือขายหอยราก หอยตะพง ปูทะเล แมงดา

สินค้าที่เข้ามาขายแก่พระนครที่มาจากหัวเมืองปากใต้คือ ผลไม้จากสวน ของป่า อาหารทะเล อาหารทะเลแห้งหรือแปรรูป เกลือ ตับจาก ไม้ฟืน ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น พ่อค้าแม่ค้าทางเรือเหล่านี้ใช้เส้นทางขึ้นล่องตามเส้นทางภายในที่รู้จักกันดีระหว่างเมืองหลวง-ท่าจีน-แม่กลอง-เพชรบุรี และต่างอยู่ในระบบไพร่แต่ก็มีเสรีในการค้า การใช้ชีวิตที่ไม่ติดที่ และมีผลประโยชน์เป็นตัวเงินพอที่จะจ่ายค่าภาษีหรือเงินส่วยรายปีให้แก่รัฐได้ 

เมื่อย้อนกลับไปดูที่แหล่งที่มาของการผลิต เช่น ที่บ้านยี่สาร เห็นได้ว่าการค้าขายเหล่านี้น่าจะทำให้ชุมชนมีการสะสมทุนที่ผลส่วนหนึ่งอยู่ในรูปของการสร้างศาสนสถานบนเขาที่โออ่าด้วยฝีมือช่างชั้นครู และความเป็นอยู่ที่อยู่ได้อย่างสบายในสภาพแวดล้อมที่กันดารเช่นนั้น เช่น การแสวงหาโอ่งขนาดใหญ่จากภายในและภายนอก การใช้ภาชนะรูปแบบต่างๆ จากต่างประเทศ การมีเงินย่อย(หอยเบี้ย) จำนวนมาก เป็นต้น

บ้านยี่สารน่าจะมีการค้ามาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก แม้คำบอกเล่าจากภูมิสถานกรุงศรีอยุธยาจะอยู่ในช่วงปลายสมัยอยุธยาก็ตาม จากข้อมูลทางโบราณคดียืนยันได้ว่า หลังจากที่มีการอยู่อาศัยในระยะแรกแบบเบาบางแล้ว การอยู่อาศัยที่มีความหนาแน่น หลากหลาย และรุ่งเรืองสูงสุดน่าจะอยู่ในช่วงต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๒ มีการใช้โอ่งหรือตุ่มขนาดใหญ่ที่นำมาจากเมืองสุพรรณบุรี อาจจะผ่านตลาดที่กรุงศรีอยุธยามากกว่าส่งผ่านมาโดยตรง เครื่องเคลือบที่เป็นโอ่ง ไหขนาดใหญ่ จากการนำเข้าจากจีนอาจจะนำมาพร้อมกับเรือสำเภา เครื่องถ้วยชามจากจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น จากสุโขทัยศรีสัชนาลัย จากเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งเป็นเรื่องแน่ชัดว่าจะต้องผ่านการค้าที่กรุงศรีอยุธยาอีกทีหนึ่ง จึงยืนยันได้แน่นอนว่ามีการค้าเกิดขึ้นแล้วระหว่างบ้านยี่สารหรือชุมชนใกล้เคียงกับเมืองหลวงที่กรุงศรีอยุธยา

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าที่ชาวยี่สาร บ้านแหลม และบางทะลุ เอามาขาย เปรียบเทียบกับสินค้าที่ชาวทะเลนำมาขายจะเห็นว่าต่างกัน เพราะสินค้าชาวทะเลคืออาหารทะเลสด(ที่อาจจะไม่สดมาก) คือ หอยราก หอยกะพง ปูทะเล แมงดาทะเล ส่วนสินค้าของชาวยี่สารคือ กะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลากะพง ปลาคุเรา ปลาทู ปลากะเบนย่าง ซึ่งเป็นสินค้าแปรรูปและของแห้งเก็บไว้ได้นานกว่า และสัมพันธ์กับที่ตั้งของหมู่บ้าน เพราะยี่สารไม่ใช่ชุมชนชาวประมงชายฝั่ง การแปรรูปวัตถุดิบคือการรับซื้อสินค้าจากทะเลมาผลิตอีกต่อหนึ่ง สินค้าพวกนี้อาจรับนำไปขายอีกทอดหนึ่งในพื้นที่ภายในไม่เพียงเฉพาะที่กรุงศรีอยุธยาเท่านั้น

การทำกะปิ น้ำปลา ต้องใช้วัตถุดิบจากชายฝั่งและอาศัยเวลานาน ปูเค็ม เป็นอาหารที่หาได้ตามป่าชายเลน ปลากะพง ปลากุเลา ปลาทู ปลากระเบน ต้องไปรับซื้อมาจากชาวประมงที่รู้จักธรรมชาติการจับปลาพวกนี้เป็นอย่างดี แล้วจึงนำมาทำเค็มหรือตากแห้ง มีหลักฐานจากการพบกระดูกสันหลังปลาขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งมากเกินพอสำหรับการบริโภคในชุมชนแต่เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ยังมีการพบเปลือกหอยแครงจำนวนมาก มากเกินกว่าการบริโภคอีกเช่นกัน หอยแครงเหล่านี้น่าจะมีการรวบรวมจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่งหรือรวบรวมเฉพาะเปลือกหอยจากที่ต่างๆ เพราะมีจำนวนมากเหลือเกิน นำมาเผาเพื่อทำปูนขาวเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งของชาวบ้านยี่สาร

ดังนั้น ธรรมชาติของอาชีพของคนยี่สารจึงเป็นคนกลางอย่างสมบูรณ์แบบ ซื้อวัตถุดิบจากชุมชนใกล้เคียงมาแปรรูปแล้วขายสินค้าที่แปรรูปนั้นออกไป ลักษณะดังกล่าวพ้องกับความหมายของคำว่า “ยี่สาน” นั่นคือ สถานที่ประชุมชนเพื่อค้าขายสิ่งของต่างๆ กิจการดังกล่าวยังคงสืบเนื่องมาโดยตลอดเพราะรูปแบบการอยู่อาศัยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินทางเมื่อต้นรัตนโกสินทร์

การเป็นชุมชนที่ทำการค้านี่เอง ชาวยี่สารจึงมีเงินทองเพื่อใช้ในการทำบุญสร้างศาสนสถานและทะนุบำรุงอาคารสถานที่ได้อย่างเต็มที่ แลกเปลี่ยนสิ่งของที่ตนเองไม่สามารถผลิตได้จากชุมชนรอบๆ เช่น ข้าวจากแถบเพชรบุรี ผัก ผลไม้จากสวนแถบอัมพวา น้ำจากการล่มน้ำที่แม่น้ำเพชรหรือการรองน้ำฝนไว้ใช้ หมู่บ้านนี้จึงสามารถอยู่ได้อย่างต่อเนื่องตลอดมา ( ตัวอย่างจากนิราศยิสารของ ก.ศ.ร.กุหลาบที่บรรยายตอนหนึ่งว่า “เขายิสารโบราณใหญ่ถนัด เปนจังหวัดโบถวิหารนานหนักหนา นามอาวาศราษฎร์เรียกกันเพรียกมา วัดแก้วฟ้ามาจนนานทุกวันนี้ เขานั้นมีห้าชั้นช่างสรรค์จัด จังหวัดวัดดูสนุกนิ์น่าศุกขี” ต่อจากนั้นก็บรรยายถึงอาคารสถานที่ต่างๆ ภายในวัด ซึ่งมีจำนวนมากและมีชาวบ้านศรัทธาสร้างและซ่อมแซมอยู่ตลอด )

ลักษณะการทำการค้าของชาวยี่สาร บ่งถึงกลุ่มคนที่ทำการค้าชนิดนี้ได้ว่าน่าจะเป็นชาวจีนหรือผู้คนที่มีเชื้อสายจีนที่ชำนาญในการทำประมงชายฝั่ง ทำปูนขาวจากเปลือกหอย และไม่ถือกังวลกับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต (คนชั้นนำในสังคมไทยไม่นิยมการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นค่านิยมของกฎุมพีในเมืองหลวงก็ว่าได้ เห็นได้จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ เมื่อบรรยายถึงพระเจ้าเสือ ก็จะขยายความไปว่า “สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นพอพระทัยทำปาณาติบาต ฆ่ามัจฉาปลาชาติน้อยใหญ่ต่างๆเป็นอันมาก ด้วยตกเบ็ดทอดแหแทงฉมวก ทำลี่กันเฝือกดักลอบดักไซ กระทำการต่างๆ ฆ่าสัตว์ต่างๆ…” หรือเมื่อสุนทรภู่เดินทางผ่านหมู่บ้านชาวประมงในนิราศเมืองเพชร ก็พรรณนาว่า “เป็นประมงหลงละโมบด้วยโลภลาภ ไม่กลัวบาปเลยช่างนับแต่ทรัพย์สิน” และเมื่อกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าเสือในความเป็นพระมหากษัตริย์คงขัดกับการล่าสัตว์ตกปลาอย่างมาก จึงเขียนไว้ว่า “ถึงที่วังตั้งประทับรับเสด็จ มาทรงเบ็ดปลากะโห้ไม่สังหาร ให้ปล่อยไปในทะเลเอาเพดาน แต่โบราณเรียกว่าองค์พระทรงปลา” และในนิราศยี่สาร ก.ศ.ร.กุหลาบ เห็นพวกประมงว่า “เหนคนขี่เรือน้อยเที่ยวลอยเบ็จ ช่างไม่เขดคิดไปน่าใจหาย แม้เรือจมล่มลงแทบคงตาย อุส่าห์ภายเรือมาเที่ยวหากิน ชาวประมงพวกนี้ที่เขาว่า ทำปาณาติบาทติดเป็นนิจสิน จึงชำนาญหาญกล้าทางวาริน ต้องหากินตามกันทุกวันไป”)

ทั้งอาจจะผสมผสานกับกลุ่มชาวมอญอาศัยความเก่งและชำนาญในการเดินเรือเส้นทางภายในเดินทางรอนแรมรู้จักธรรมชาติของแม่น้ำลำคลองในเขตชายทะเลและเข้ามาภายในเป็นอย่างดี ( โบราณวัตถุทางศาสนาหลายอย่างบ่งถึงความเป็นมอญอยู่ในที เช่น การมีเสาหงส์หน้าวัด การทำลวดลายหงส์ประดับที่หีบพระมาลัย เป็นต้น)

การเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรและการค้าสำเภาเลียบชายฝั่งเมื่อหลังเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ทำให้ความสำคัญของเมืองเพชรบุรีหมดไป และกลายเป็นสถานที่ตากอากาศของพระมหากษัตริย์ กฎุมพี และชาวต่างชาติ ทำให้ยี่สารที่อยู่ในเส้นทางระหว่างแม่กลองและเพชรบุรีหมดความสำคัญลงไปด้วย นอกจากนี้ การค้าภายในหลังต้นรัตนโกสินทร์มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด จนเห็นได้ชัดว่าเป็นการค้าเพื่อการผลิตแบบส่งออกหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ สินค้าเพื่อการส่งออกส่วนใหญ่ผลิตที่หัวเมืองแถบตะวันตก แถบเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี นั่นคือ อ้อยเพื่อทำน้ำตาลทราย ( การผลิตอ้อยเพื่อทำน้ำตาล โดยความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ชาวจีนโดยเฉพาะแต้จิ๋ว(ชาวแต้จิ๋วในเมืองจีนเองก็เป็นผู้ชำนาญในการผลิตน้ำตาล-เครื่องมือหีบอ้อยก็นำเข้ามาโดยชาวจีนแต้จิ๋ว) ได้น้ำอ้อยมาปลูกแบบผลิตเพื่อการส่งออก เมื่อราว พ.ศ.๒๓๕๓ ซึ่งมีการนำอ้อยเข้ามาก่อนหน้านี้ ๒-๓ ปีก็กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ดร. บรรณาธิการ. สังคมจีนในประเทศไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์  มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, ๒๕๒๙)  ข้าว ยาสูบ  เป็นต้น แม้จะมีการขุดคลองบางลี่และคลองลัดยี่สารเพื่อสะดวกแก่การคมนาคมขนส่งผลผลิตจากเพชรบุรีสู่ภายนอกก็ตาม แต่ก็เป็นไปในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะทางรถไฟกรุงเทพฯ-เพชรบุรีก็ได้ทำหน้าที่นี้แทนแม่น้ำลำคลองต่างๆ หลังจากการขุดคลองดังกล่าวในเวลาต่อมา (ขุดคลองบางลี่และคลองลัดยี่สารเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒ ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เพชรบุรีเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖)

บ้านยี่สารได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยตลอด จนเมื่อความเป็นชุมชนการค้าที่ถนัดในการแปรรูปและส่งขายสินค้าต่างๆ ไม่สามารถทำได้อย่างดีเท่าในอดีต อาจเพราะการมีคู่แข่งสินค้าประเภทเดียวกันจากชุมชนอื่นที่อยู่ใกล้หรือสะดวกกว่า ไม่สามารถแข่งขันกับชุมชนที่อยู่รอบๆ เช่นศูนย์กลางการค้าที่แม่กลองได้ ( ในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ กล่าวถึงแม่กลองว่าเป็นสถานที่ชุมนุมค้าขายของแปรรูปจากทะเลที่ใหญ่มากดังความว่า “ถึงแม่กลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน น่าสำราญเรือนเรือดูเหลือหลาย บ้างย่างปลาค่าเคียงเรียงเรียงราย ดูวุ่นวายวิ่งไขว่กันใหญ่น้อย ขายสำเร็จเป็ดไก่ทั้งไข่พอก กระเบนกระบอกปลาทูทั้งปูหอย ลูกค้ารับนับกันเป็นพันร้อย ปลาเล็กน้อยขมงโกรยโกยกระบุง นางแม่ค้าปลาเค็มก็เต็มสวย กำไรรวยรวมประจบจนครบถุง บ้างเหน็บท้องป่องปุ่ยตุ่ยตุ่ยตุง ต่างบำรุงรูปร่างสำอางตา”) ทำให้อาชีพทางการค้าเปลี่ยนเป็นการหาอยู่หากิน ส่งฟืนเข้าเมืองหลวงเหมือนๆ กับชุมชนในเขตทะเลตมทำกันทั่วไป ( เช่นที่บันทึกไว้ในเอกสารของครอฟอร์ด ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ ว่าบ้านยี่สารส่งฟืนเข้าไปที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก และในนิราศต่างๆ ก็กล่าวถึงหมู่บ้านในเขตทะเลมหลายแห่งมีอาชีพทางทำฟืน เช่นในนิราศพระแท่นดงรัง “แสมดำตำบลที่คนอยู่ สังเกตดูฟืนตองเขากองหลาม ดูรุงรังฝั่งน้ำล้วนรำราม ถึงโคกขามบ้านขอมล้วนลอมฟืน” นิราศเมืองเพชร “ถึงศรีษะละหานเป็นย่านร้าย ข้างฝั่งซ้ายแสมดำเขาทำฟืน” และ “ถึงบ้านขอมลอมฟืนดูดื่นดาษ มีอาวาสวัดวาที่อาศัย” และ “ที่ปากคลองกองฟืนไว้ดื่นดาษ ดูเกลื่อนกลาดเรียงรายทั้งซ้ายขวา”) ประมงหากินตามลำน้ำลำคลองซึ่งเป็นเขตน้ำกร่อยที่อุดมสมบูรณ์แลกเปลี่ยนกับสิ่งของจำเป็นจากภายนอก โดยไม่สามารถเพาะปลูกพืชผักผลไม้อะไรได้ จนความรุ่งเรืองเนื่องมาจากการเป็นชุมชนการค้าค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนทั้งที่อยู่ในยี่สารและผู้คนทั่วไป จนไม่หลงเหลือแม้แต่ร่องรอยของคำบอกเล่าสืบต่อกันมา  

๔. การเปลี่ยนแปลง, การปรับตัว และการต่อสู้ของชุมชน

จากสภาพที่ตั้งของชุมชนยี่สาร ซึ่งเป็นที่กันดารยากแก่การอยู่อาศัย แต่มีหลักฐานถึงการตั้งหลักแหล่งตั้งแต่เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐ และมีการอยู่อาศัยมาโดยตลอด ทั้งนี้สรุปได้ว่า ปัจจัยสำคัญก็เนื่องมาจากการเป็นชุมชนที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาดมาแต่โบราณ รับวัตถุดิบจากชุมชนชาวประมงผลิตสินค้าแปรรูปในเขตชายฝั่งทะเลแล้วนำไปขาย ในขณะเดียวกันก็รับสินค้าจากเมืองหลวงมากระจายสินค้าอีกต่อหนึ่ง (ดังเห็นตัวอย่างจากเครื่องถ้วยหลากแหล่งที่มา) แตกต่างไปจากชุมชนที่มีการผลิตเพื่อยังชีพเพียงอย่างเดียว ทั้งยังอยู่ในเส้นทางการเดินทางจากเมืองหลวงสู่หัวเมืองสำคัญที่เพชรบุรี ในฐานะเป็นเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรสู่ชายฝั่งในมหาสมุทรอินเดีย

สภาพการณ์เช่นนี้ ดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ทำลายเมืองตะนาวศรีและมะริดในฐานะเมืองท่าสำคัญลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้เส้นทางสายข้ามคาบสมุทรโดยมีเมืองเพชรบุรีเป็นศูนย์กลางค่อยๆหมดความสำคัญลง ประกอบกับพัฒนาการของการเดินเรือเลียบชายฝั่งเปลี่ยนไปเป็นการใช้เรือกำปั่นและเรือกลไฟทำให้ไม่ต้องรอลมมรสุมหรือเดินเรือเป็นฤดูกาลแต่อย่างใด ความสำคัญของเมืองชายฝั่งตะวันตกรวมถึงเมืองท่าภายในอย่างเมืองเพชรบุรีจึงหมดความหมายลงอย่างสิ้นเชิง 

แม้จะมีการขยายตัวของเส้นทางน้ำ โดยการขุดคลองสายต่างๆ ในปลายสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เพื่อสะดวกแก่การคมนาคมแต่ก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่การขนส่งสินค้าเกษตรจำนวนมากจากแถบเพชรบุรีสู่แม่กลองและเมืองหลวงมากกว่า ทั้งภายหลังไม่นานก็มีการสร้างทางรถไฟที่ขนส่งสินค้าได้คราวละมากๆ ส่งตรงสู่เมืองหลวงได้สะดวกกว่าเดิม การค้าของยี่สารที่ชำนาญการแปรรูปสินค้าทะเลนำไปขายที่เมืองหลวงไม่น่าจะเป็นกิจการที่รุ่งเรืองอีกต่อไป เพราะการคมนาคมขนส่งที่สะดวกขึ้นทำให้การติดต่อระหว่างชุมชนชายทะเลที่แปรรูปอาหารทะเลแห้งแห่งอื่น อยู่ในระยะทางใกล้เมืองหลวงกว่ายี่สารเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากการหลั่งไหลเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเลหลังรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ( ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ดร. บรรณาธิการ. สังคมจีนในประเทศไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ กรุงเทพฯ, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, ๒๕๒๙) ซึ่งชุมนุมตั้งหลักแหล่งอยู่ตามบริเวณเมืองท่าต่างๆ ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าอาหารทะเลแห้งและส่งจำหน่ายได้ดีกว่า

ชุมชนยี่สารในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แม้ยังเป็นที่รู้จักของนักเดินทาง แต่ก็เป็นเพียงสถานที่ที่เป็นชุมชนเก่า มีวัดโบราณขนาดใหญ่ และส่งฟืนไม้แสมเป็นส่วยหรือนำไปขายที่เมืองหลวงเท่านั้น ซึ่งชุมชนที่อยู่ในเขตทะเลตมหลายแห่งก็กระทำกันอยู่

เมื่อหมดความสำคัญในฐานะเป็นชุมชนส่งผ่านสินค้าและผลิตอาหารแห้งแปรรูปแล้ว ทั้งความสำคัญในฐานะเป็นทางผ่านระหว่างการเดินทางจากเมืองหลวงสู่เมืองเพชรบุรีก็เริ่มถูกลืมเลือนไป การคงอยู่ของชุมชนยี่สารจึงอาศัยการหาอยู่หากินเลี้ยงชีพแบบพอเพียง จนกระทั่งคนยี่สารเก่าๆ ยังจำคำของบรรพบุรุษของตนได้ว่า “คนที่มีหนทางก็ขยับขยายออกไปอยู่ที่อื่น ส่วนคนที่ยังอยู่ก็คือคนไม่มีที่ไป” จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านยี่สารก็ยังไม่เข้าใจว่า ชุมชนของตนเคยมีความรุ่งเรืองดังที่คนภายนอกอ้างถึงได้อย่างไร

พ.ศ.๒๔๘๐ พื้นที่รกร้างและไม่ได้ทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจในบริเวณป่าชายเลนนอกจากตัดฟืนจากป่าธรรมชาติ เริ่มใช้เป็นพื้นที่ปลูกป่าไม้โกงกางเพื่อเตรียมการอบหรือเผาถ่าน โดยนำเทคนิคการสร้างเตาและการอบไม้โกงกางมาจากจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นเทคนิคการอบไม้ที่ใช้กันในแถบจีนและญี่ปุ่น กลายเป็นอาชีพสำคัญของชาวยี่สารตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน การทำถ่านแม้จะเป็นงานหนักใช้เวลาเตรียมการนานแต่ก็ทำรายได้สม่ำเสมอ และตลาดที่สำคัญก็ยังคงเป็นเมืองหลวง นอกจากนั้นชาวบ้านบางรายก็ยังทำบ่อกุ้งบ่อปลาแบบธรรมชาติ ซึ่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางและคนในชุมชน

การทำถ่านไม้โกงกาง

แต่เมื่อราวสิบปีที่ผ่านมา การหาอยู่หากินและอาชีพทำถ่านเริ่มสั่นคลอน เนื่องจากความต้องการพื้นที่ทะเลตมทำนากุ้งกุลาดำ เพื่อการส่งออกและให้ค่าตอบแทนมหาศาลในระยะแรก แต่ส่งผลเสียให้สภาพแวดล้อมและพื้นที่สวนป่าโกงกางถูกทำลายจนเหลือจำนวนไม่มากนัก อีกทั้งความต้องการของการใช้ถ่านไม้คุณภาพดีมากแต่มีราคาแพงเริ่มลดความต้องการลงอย่างต่อเนื่อง เตาอบถ่านหลายแห่งเริ่มปิดตัวลง คนยี่สารออกไปหางานภายนอก เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานและมีอาชีพต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การทำถ่านไม้โกงกางยังไม่ถึงขั้นเลิกทำ แต่อาจจะเป็นเพราะความเคยชินต่อการส่งสินค้าให้กับพ่อค้าคนกลางที่เมืองหลวงมาตลอด โดยไม่ต้องหาตลาดเองทำให้ไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มผู้ใช้ ทั้งที่ ถ่านไม้โกงกางคุณภาพดีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในตัวเองอยู่แล้ว เพราะการใช้ก๊าซธรรมชาตินับวันมีแต่จะหมดไป แต่การใช้พลังงานจากถ่านและปลูกสวนป่าไม้โกงกางเป็นเรื่องที่ยั่งยืนและไม่มีวันหมดสิ้นตราบใดที่ยังมีพื้นที่ปลูกป่าอยู่

13

การทำถ่านของชาวยี่สารคือการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากสภาพป่าชายเลนทดแทนการเป็นชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าตั้งแต่สมัยโบราณ แต่สังคมที่เปลี่ยนไปกำลังบีบให้ชาวยี่สารคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถ่านไม้โกงกางอาจไม่ใช่คำตอบที่ทำให้ชุมชนสามารถอยู่รอดได้

7

ศาลาการเปรียญ ชั้นบนใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมรักษาศีลในวันพระวันโกน เดิมใต้ถุนเปิดโล่งแล้วจึงดัดแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภายหลัง

การปรับตัวและการต่อสู้อย่างต่อเนื่องยาวนานมาหลายศตวรรษเพื่ออยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ลำบากอย่างยิ่งกลับไม่เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงของชาวบ้านในป่าชายเลนแห่งนี้อีกต่อไป แต่การต่อสู้เพื่อดำรงอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงและมีการเอาเปรียบจากอำนาจทุนที่ไม่เคยเห็นตัวตนที่แท้จริงต่างหาก คือสิ่งที่ชาวบ้านยี่สารกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และการต่อสู้นี้ยังไม่เห็นคำตอบที่ชัดเจนเลย

บรรณานุกรม 
ก.ศ.ร.กุหลาบ. นิราศยี่สาร. เอกสารประกอบการเดินทางท่องเที่ยวโครงการรักเมืองไทยกับยางสยาม, ๒๕๔๐ กุศล เอี่ยมอรุณ. เพชรบุรี สำนักพิมพ์สารคดี, กรุงเทพฯ, ๒๕๓๖
คุรุสภา, องค์การค้า. ประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๔๗ ภาคที่ ๗๖ จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น ,พระนคร, ๒๕๑๓ 
คุรุสภา, องค์การค้า. กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๒ ,๒๕๑๕ จิตร ภูมิศักดิ์. สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๒๗
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ดร. บรรณาธิการ. สังคมจีนในประเทศไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ กรุงเทพฯ, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชย์จำกัด, ๒๕๒๙
เดวิด แชนด์เลอร์.(แต่ง) พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ(แปล) ประวัติศาสตร์กัมพูชา,มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, กรุงเทพฯ ๒๕๔๐
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. จดหมายเหตุระยะทางเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสด็จตรวจราชการหัวเมืองใน ร.ศ.๑๑๗, ๑๑๙, พระนคร, พิมพ์ครั้งที่ ๒ ในงานทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี ของพระเทพสุเมธี, ๒๕๑๕ ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ กรุงเทพฯ,  กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๒๑
แบรดเลย์,แดนบีช.ดร. อักขราภิธานศรับท์. โรงพิมพ์คุรุสภา กรุงเทพฯ ๒๕๑๔     เบญจรัชต์ เมืองไทย. พ่อปู่ศรีราชา : บทบาทของความเชื่อกับการบูรณาการทางสังคมในชุมชนยี่สาร, เอกสารสำเนาประกอบการสัมมนาเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ๒๕๔๐
ปทุมรัตน์  วงศ์ดนตรี, ผศ. จดหมายเหตุการเดินทางของพระสังฆราชแห่งเบริท ประมุขมิสซัง สู่อาณาจักรโคจินจีน กรุงเทพฯ, กรมศิลปากร, ๒๕๓๐.
ปิยนาถ บุนนาค. บทบาททางการเมืองการปกครองของเสนาบดีตระกูลบุนนาค กรุงเทพฯโรงพิมพ์พิฆเนศ, ๒๕๒๐
พ.ณ ประมวญมารค. กำสรวลศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์ แพร่พิทยา กรุงเทพฯ,๒๕๑๕ พลับพลึง คงชนะ. พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชุมชนเปอร์เซียนอยุธยา เมืองโบราณ ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๓ (กรกฏาคม-กันยายน ๒๕๓๗) กรุงเทพฯ,  
ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ แปล. เอกสารของครอฟอร์ด  พระนคร,   กรมศิลปากร, ๒๕๑๕
มูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์. รายงานการขุดค้นหลุมทดสอบแหล่งโบราณคดีอู่ตะเภา เชิงเขายี่สาร บ้านเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม, มีนาคม ๒๕๔๒
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๒๕
วาสนา กุลประสูต. หมู่บ้านในป่าโกงกาง อนุสารอ.ส.ท. ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐)
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปะและวัฒนธรรมจากดินแดนอาหรับเมื่อแรกเข้าสู่สยามประเทศ กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๓๔
นิธิ เอียวศรีวงศ์, อาคม พัฒิยะ. ศรีรามเทพนคร รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม ๒๕๒๗ นิธิ เอียวศรีวงศ์. ปากไก่และใบเรือ รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ, อมรินทร์การพิมพ์, กรกฎาคม ๒๕๒๗ นันทนา ตันติเวสส และคณะ. รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ ๑, กรุงเทพฯ, กรมศิลปากร, ๒๕๓๙. 
ศรีศักร วัลลิโภดม. พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  เอกสารสำเนาประกอบการสัมมนาเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ๒๕๔๐ ศิลปากร,กรม. เรื่องเมืองนครศรีธรรมราช    พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางตลับจันทราทิพย์, พระนคร โรงพิมพ์กรมการทหารสื่อสาร, ๒๕๑๐
ศิลปากร, กรม. ชีวิตและงานของสุนทรภู่ กรุงเทพฯ, องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๒๐
ศิลปากร, กรม. โคลงนิราศนรินทร์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเพ็ญแข พิทักษ์มนูศาสตร์, พระนคร, ๒๕๑๒
ศิลปากร,กรม. รวมเรื่องแปลและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ ๑, กรุงเทพฯ ๒๕๓๙ ศิลปบรรณาคาร. รวมวรรณกรรมของสุนทรภู่, พระนคร, ๒๕๑๓ ศิลปบรรณาคาร. วรรณกรรมพระยาตรัง, พระนคร, ๒๕๑๕
สุภางค์ จันทวานิช และคณะ. บรรณาธิการ ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยและในภูมิลำเนาเดิมที่เฉาซัน สมัยที่ ๑ ท่าเรือจางหลิน (๒๓๑๐–๒๓๙๓) กรุงเทพฯ, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, โรงพิมพ์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ๒๕๓๔ สุจิตต์ วงษ์เทศ. แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มติชน อภิญญา ตันทวีวงศ์. แบบแผนและความเปลี่ยนแปลงของสำรับอาหารที่บ้านยี่สาร : รหัสแห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนกลางป่าชายเลน เอกสารสำเนาประกอบการสัมมนาเมธีวิจัยอาวุโส สกว., ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ๒๕๔๐
องค์การค้าของคุรุสภา.ประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๑๐ (ภาคที่ ๑๒) จดหมายเหตุของหมอบรัดเล, พระนคร, ๒๕๐๗
Crawfurd, John, Dr. Journal of an embassy to the courts of Siam and Cochin China Oxford University Press, 1967
Gervaise, Nicolas. The Natural and Political History of the Kingdom of Siam White Lotus CO.,LTD. 1989
Kaempfer, Engelbert. A Description of the Kingdom of Siam 1690 White Lotus Press, 1987 
La Loubere, Simon de. The Kingdom of Siam, KL, Oxford U. Press, 1969 
Mills, J.V.G. Ma Huan Ying-yai Sheng-lan The overall survey of the ocean's shores [1433] Cambridge University Press , 1970. Smyth Warrington, Herbert. Five Years in Siam from 1891-1896 Vol.1-2, White Lotus, 1994 Su Chung-jen. Places in South-East Asia, the Middle East, and Africa visitrd by Cheng Ho and his companions, A.D.1405-1433.
Hong Kong University Press,1967. A Ceramic Legacy of Asia’s Maritime Trade : Song Dynasty Guangdong Wares and other 11th –19 Century Trade Ceramics found on Tioman Island, Malaysia. Oxford University Press, 1985
Veincent, Frank. The Land of the white elephant sights and scenes in South-East Asia 1871-1872 Oxford University Press, Bangkok 1988