วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราว พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๑๘ เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “วิกฤตการณ์วังหน้า” ที่ทำให้ฝ่ายวังหลวงหรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา ทรงกระชับอำนาจและถือเป็นการปรามฝ่ายวังหน้าและขุนนางในตระกูลบุนนาค โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งมีอำนาจการปกครองและบารมีทั้งในราชสำนักและเหล่าบรรดาขุนนางด้วยกัน แต่วิกฤตการณ์วังหน้านี้ก็นำไปสู่การนำเอาต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวในกิจการภายในของบ้านเมืองสยาม เพราะกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปหลบที่สถานกงสุลของอังกฤษซึ่งมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จนวังหลวงไม่สามารถจัดการความวุ่นวายที่อาจจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวนี้ได้จึงต้องพึ่งบารมีของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งภายหลังทั้งฝ่ายรัฐบาลอังกฤษและอเมริกันไม่เข้ามาแทรกแซงกรณีนี้แต่อย่างใด

แต่ยังมีเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับวิกฤตการณ์วังหน้าในเวลาต่อมา และสร้างความแตกแยกทั้งในกลุ่มสภาที่ปรึกษาทั้งสองรูปแบบ ความขัดแย้งในกลุ่มตระกูลขุนนาง และเชื่อมโยงการมีอิทธิพลของอังกฤษที่สามารถคุมพม่าให้เป็นประเทศอาณานิคมของตนเองได้สักระยะหนึ่งแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่ในระดับสูงของอังกฤษที่อยู่ในสยามย่ามใจในอิทธิพลดังกล่าว และขุนนางของสยามเองก็เห็นช่องทางในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและอิทธิพลของประเทศเจ้าอาณานิคมเหล่านี้เพื่อรักษาสถานภาพและชีวิตในช่วงที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านนี้เช่นเดียวกัน

81

พ.ศ. ๒๔๒๒ เกิดคดีเหตุการณ์ “คดีพระปรีชากลการ” ซึ่งเริ่มต้นจากการถูกร้องเรียนในเรื่องการทำผิดจารีตประเพณีในระยะนั้น นำไปสู่การสอบสวนคดีทุจริตการทำเหมืองทอง ความแตกแยกในกลุ่มขุนนางข้าราชการที่มีช่องว่างระหว่างวัยและความคิดอยู่แล้วและการดึงอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ เช่น อังกฤษเข้ามาจัดการในกิจการภายใน ถือเป็นความซับซ้อนของปัญหาซึ่งยากแก้ไขสำหรับสยามประเทศและผู้นำในช่วงการก่อตัวใหม่ของประเทศและสังคมกำลังเปลี่ยนผ่าน

พระยากสาปนกิจโกศลและพระปรีชากลการ ขุนนางตระกูลอมาตยกุล : นักบุกเบิกนวัตกรรมในสยาม

แม้ประวัติศาสตร์ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จะปรากฏชื่อขุนนางชั้นสูงที่ได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” ถึง ๓ ท่านและอยู่ในตระกูล “บุนนาค” ทั้งสิ้น อันแสดงให้เห็นถึงอำนาจและบารมีของสามัญชนทั้งในบรรดาราชนิกูลในราชสำนักและหมู่ขุนนางด้วยกัน แต่ในกลุ่มอำนาจเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยตระกูลใดตระกูลหนึ่งอย่างถาวร แต่กลับมีขุนนางในตระกูลต่างๆ ที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาอีกไม่น้อยที่ทำคุณแก่ราชการงานบ้านเมืองในช่วงเริ่มต้นสร้างบ้านเมืองใหม่ที่ธนบุรีและกรุงเทพฯ ดังนั้น การบริหารกิจการในราชสำนักจึงไม่ได้เสียสมดุลย์ไปให้แก่ตระกูลใดตระกูลหนึ่งแต่อย่างใด แม้จะมีความขัดแย้งและระแวงสงสัยอย่างเห็นได้ชัดในระบบการบริหารบ้านเมืองแบบสยามที่รับสืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยาที่อาจจะไม่เหมาะสมแก่บ้านเมืองในเวลานั้นมากนัก เพราะเป็นการควบคุมอำนาจที่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาซึ่งอาจจะสูญเสียไปได้โดยง่ายแก่ขุนนางผู้มีอำนาจเช่นกัน อันได้เห็นจากประวัติศาสตร์การสืบราชสมบัติและเหตุการณ์วุ่นวายในราชสำนักในสมัยกรุงศรีอยุธยา

สำหรับขุนนางอีกตระกูลหนึ่งที่มีสร้างคุณแก่บ้านเมืองมาไม่น้อย และดูจะเทียบเคียงกับบารมีของขุนนางในตระกูลบุนนาคได้ คือ “ตระกูลอมาตยกุล” ซึ่งมีขุนนางคนสำคัญคือ “พระยากษาปนกิจโกศล” 

บันทึกของตระกูลอมาตยกุลกล่าวถึงสายตระกูลของตนว่า นับจากพระยาสมบัติยาธิบาล (บุญเกิด) ผู้เป็นบุตรพระเสนานนท์ซึ่งรับราชการอยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยากรุงศรีอยุธยา มีบุตรชาย ๒ คนคือ นายเอม ภายหลังเป็น หลวงพิพิธสมบัติ และนายคล้าย ภายหลังเป็น หลวงจบจักรวาลและเมื่อเสียกรุงฯ ได้หนีพม่าไปอยู่กับขุนชนะผู้เป็นอาที่เมืองนครราชสีมา เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีครองราชย์จึงได้กลับมารับราชการจนรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสมบัติยาธิบาล เจ้ากรมพระคลังในขวา บุตรคนที่สองของหลวงพิพิธสมบัติชื่อนายป้อม เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทําความดีความชอบในการศึกเจ้าอนุฯ เวียงจันทร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยามหาอํามาตย์” 

เมื่อมีการขอพระราชทานนามสกุลในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามสกุลว่า “อมาตยกุล” เพื่อให้สอดคล้องกับราชทินนามของพระยามหาอํามาตย์นั่นเอง

พระยากระสาปนกิจโกศลหรือนายโหมดเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นบุตรของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม) และคุณหญิงเย็น ท่านมีความรู้ในเชิงช่างสามารถซ่อมเครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า มีความสามารถในวิชาช่างชุบโลหะ เป็นผู้สร้างโรงเครื่องกลด้วยทักษะที่เรียนรู้จากมิชชั่นนารีชาวอเมริกันจนลงเป็นส่วนหนึ่งของบทความในวารสาร Scientific American เมื่อ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๓  และมีร้านเครื่องจักรกลแห่งแรกในประเทศไทย

77

ตระกูลขุนนางที่สร้างคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองไม่น้อย และดูจะเทียบเคียงกับบารมีของขุนนางในตระกูลบุนนาคได้ คือ “ตระกูลอมาตยกุล”ซึ่งมีขุนนางคนสำคัญ“พระยากษาปนกิจโกศล (โหมด บุนนาค)” บิดาของพระปรีชากลการ

ท่านเป็นผู้มีฐานะเพราะเป็นบุตรบุญธรรมได้รับมรดกจากน้าสาวน้าเขยมหาศาลจนญาติฝ่ายน้าเขย ๑๐๒ คนฟ้องแย่งมรดก นายโหมดต้องต่อสู้คดีโดยไปจ้างทนายคัดกฎหมายมาให้ แล้วจึงคิดลักลอบพิมพ์หนังสือกฎหมายไทยออกมาเผยแพร่ แม้แรกพิมพ์เผยแพร่ หนังสือเล่มนี้จะถูกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ “สั่งริบ” เพราะเป็น “เอากฎหมายบ้านเมืองไปพิมพ์โฆษณาเช่นนั้นจะทำให้พวกมดต่อหมอความทำให้ยุ่งยากแก่บ้านเมือง และนายโหมดบันทึกไว้ว่า “ข้าฯ จ้างเขาเขียนกฎหมายที่โรงอาลักษณ์เป็นเงิน ๑๐๐ บาท เอามาอ่านดูแล้วจึงคิดเห็นว่าคนที่เป็นความไม่รู้กฎหมายแล้วลำบากนัก ประการหนึ่งก็ทุนซื้อกฎหมายไว้ด้วย ถ้าตีพิมพ์ขายเห็นจะดีจะได้คืนทุนได้ด้วย” หนังสือกฎหมายไทยที่นายโหมดจ้างหมอบรัดเลย์พิมพ์มีเฉพาะเล่ม ๑ เพียง ๒๐๐ เล่มเท่านั้น ปัจจุบันหาต้นฉบับไม่ได้แล้ว แต่ต่อมาหมอบรัดเลย์ได้นำมาพิมพ์ซ้ำจนรู้จักกันในชื่อ “กฎหมายฉบับหมอบรัดเลย์”

และนับว่าเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ศึกษาวิทยาการการถ่ายภาพจาก “หลุยส์ ลาโนดี” [L’ abbe Larnaudie] บาทหลวงชาวฝรั่งเศสและสังฆราชปาเลอกัว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๘๘ ถือเป็นช่างภาพหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเก้าเจ้าอยู่หัว เพราะพบว่านายจิตร บ้านอยู่กฎีจีนลูกหลานในขุนนางวังหน้าได้หัดถ่ายรูปจนตั้งห้างถ่ายรูปคุณภาพดี โดยเป็นขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ในรัชกาลที่ ๕ แล้วเลื่อนเป็นหลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมหุงลมประทีปหรือกรมแก๊สหลวงและเป็นผู้ถ่ายภาพได้ดีในรุ่นใกล้เคียงกัน 

พระยากษาปนิจโกศลมีผลงานฉายพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ และเป็นช่างภาพชาวไทยคนแรกที่มีผลงานถ่ายภาพทิวทัศน์ ภาพวังและภาพวิถีชีวิตของชาวสยามให้กับหมอเฮาส์ [Samuel Reynolds House] ส่งไปสหรัฐอเมริกา หมอเฮาส์เป็นชาวอเมริกันที่เข้ามาสอนศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และเป็นผู้ถวายการสอนภาษาอังกฤษแก่รัชกาลที่ ๔ ต่อจากหมอแคสแวลส์ 

ท่านเป็นบุคคลที่ถือว่าเป็นหนึ่งในห้าท่านคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และท่าน ที่เรียนรู้วิชาการจากชาวตะวันตก โดยเฉพาะมิชชั่นนารีชาวอเมริกันได้เป็นอย่างดี 

การเริ่มใช้เหรียญกษาปณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแต่เดิมมีการใช้หอยเบี้ยและเงินพดด้วงในการชำระเงิน การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศ มีการใช้เบี้ยทองแดงในต่างประเทศ จึงมีพระราชดำริให้ทำเบี้ยทองแดงจากประเทศอังกฤษมาเป็นตัวอย่าง ๓ ชนิด เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ เมื่อทอดพระเนตรแล้วไม่โปรดในลายตราจึงมิได้นำออกใช้ แต่ก็ทรงพระราชประสงค์ที่จะทำเหรียญรูปกลมแบนอย่างสากล แต่ยังไม่สำเร็จ

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ได้จัดส่งเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กเข้ามาถวาย ทำงานด้วยแรงงานคนโดยใช้วิธีแรงอัด เป็นราชบรรณาการ ในขณะเดียวกันคณะทูตสยามก็ได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเงินชนิดแรงดันไอน้ำจากบริษัทเทเลอร์ เข้ามาในปลายปี พ.ศ. ๒๔๐๑  โปรดเกล้าให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง ติดตั้งเครื่องใช้งานได้เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๐๓ พระราชทานนามว่า “โรงกระสาปณ์สิทธิการ” เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๐๕ ได้มีประกาศให้ใช้กะแปะอัฐ และโสฬสขึ้นใหม่ เพราะเคยใช้เรียกว่าเบี้ย ใช้แทนเงินปลีก ชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาติดตั้งเครื่องจักรที่โรงกระสาปน์สิทธิการเพื่อผลิตเงินเหรียญใช้แทนเงินพดด้วง ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหัน นายโหมดสามารถติดตั้งเครื่องจักรจนใช้งานได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระวิสูตรโยธามาตย์”  ดูแลกำกับการผลิตเหรียญเงิน

ถือได้ว่าท่านเป็นขุนนางซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและกว้างขวางในหมู่สังคมชาวตะวันตกในสยาม และยอมรับความสามารถด้านช่างชั้นสูงของท่านเป็นอย่างมาก ด้วยชื่อเสียงและความสามารถที่มีโดดเด่นมาตลอดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ และต้องการปรับเปลี่ยนแนวทางการปกครองประเทศและดึงอำนาจในการบริหารและจัดการมายังพระองค์เองจากกลุ่มตระกูลขุนนางเก่าคือ สมเด็จเจ้าพระบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็น พระยากระสาปนกิจโกศล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ดำรงตำแหน่งจางวางกรมกระสาปน์สิทธิการ ตำแหน่งผู้บังคับการโรงหล่อเหล็กของกรมทหารเรือ และตำแหน่งผู้บังคับการโรงแก๊สหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในปรีวีเคาท์ซิลหรือสภาที่ปรึกษาในพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗

พระยากษาปนกิจโกศลมีบทบาทสำคัญร่วมกับพระยาเจริญราชไมตรี (ตาด) ผู้เป็นน้องชายในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเมื่อแรกตั้ง มี ๑๒ ท่าน จัดระบบแก้ไขภาษีและจัดระบบศาลให้ขึ้นตรงต่อพระเจ้าอยู่หัว และเป็นประธานชำระคดีฉ้อโกงพระราชทรัพย์และไม่ร่วมมือกับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เสนาบดีกรมนา (พระยาอาหารบริรักษ์ (นุช) บุตรเขตของสมเด็จเจ้าพระยาฯ) ซึ่งก็เป็นหนึ่งในสภาที่ปรึกษาในพระองค์ด้วยและมีการพาดพิงไปถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วย จนพระยาอาหารบริรักษ์ต้องถูกออกจากราชการ ถูกริบราชบาทว์ ถูกเฆี่ยนและจำคุก นักประวัติศาสตร์หลายท่านเห็นว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการท้าทายและสร้างให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มตระกูลขุนนางด้วยกัน แม้จะเป็นที่แน่ชัดว่าการตรวจสอบกรณีทุจริตดังกล่าว เป็นการทำหน้าที่ในช่วงการกระชับอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ในวัยเยาว์และผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ และกำลังอยู่ในช่วงสร้างอำนาจบารมีเพื่อปกครองบ้านเมือง

แต่ชะตากรรมของพระยากระสาปนกิจโกศลในช่วงบั้นปลายชีวิตไม่ราบรื่นนัก อันเนื่องมาจากการเกี่ยวข้องกับคดีความพระปรีชากลการ บุตรชายที่ถูกข้อหาทุจริตการทำทองที่บ่อทอง กบินทร์บุรีและมีความผิดอีกหลายข้อหาและพัวพันกับความเสี่ยงที่จะนำอำนาจจากภายนอกเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของสยาม ต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถอดบรรดาศักดิ์และจำคุกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ ท่านพ้นโทษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๙  อายุ ๗๘  ปี  

พระปรีชากลการ 

ส่วนพระปรีชากลการ (สําอาง) บุตรของพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ และถวายตัวเป็นมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ เมื่ออายุ ๑๗ ปี กล่าวกันว่าพระปรีชากลการเดินทางไปศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์จากสก๊อตแลนด์ ประเทศอังกฤษ แต่เมื่อใดไม่ปรากฏและยังสืบหาไม่ได้ว่าเดินทางไปศึกษาที่ใด ในขณะที่มีบันทึกถึงกลุ่มนักเรียนที่ออกไปศึกษายังประเทศอังกฤษครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ ซึ่งหากมีการเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศในสาขาวิศวกรรมศาสตร์แล้วก็น่าจะไปเดินทางไปก่อนหน้านั้นในเวลาพอสมควร และควรจะกลายเป็นที่โจษขานกันในราชสำนักและถูกบันทึกในรายละเอียดได้มากกว่าที่ปรากฏ

พระปรีชากลการ (สําอาง อมาตยกุล)

ด้วยพระปรีขากลการเป็นบุตรชายของพระยากษาปนกิจโกศล ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการช่างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสืบทอดความรู้จากบิดาที่มีทั้งร้านขายเครื่องจักรกล มีความรู้ในเรื่องการถลุงแร่ และรับราชการมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวนวัตกรรมใหม่ๆ ในสยาม เช่น เป็นเจ้ากรมหุงลมประทีปกรือกรมแก๊สหลวง และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปช่วยพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด) บิดาทํางานที่โรงกระสาปน์  

ราว พ.ศ. ๒๔๑๑ โปรดเกล้าฯ ให้พระปรีชากลการทําแท่นเคลื่อนที่ได้สําหรับตั้งกล้องที่จะทอดพระเนตรสุริยุปราคาหมดดวงที่เกาะจาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

ในปีต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระปรีชากลการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้ากรมกระสาปน์สิทธิการแทนบิดาพระยากระสาปนกิจโกศลและเมื่อคราวงานเฉลิมพระชนมพรรษาโปรดเกล้าฯ ให้ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทจัดทําซุ้มประทีปโคมไฟประกวด พระปรีชากลการจัดทําซุ้มจุดด้วยไฟแก๊สประกวดได้รับรางวัลที่ ๑ ต่อมาได้ทําตึกแถวถนนบํารุงเมืองและได้รับพระราชทานหีบหมากทองคําเป็นบําเหน็จความชอบ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระชนมายุ ๑๘ พรรษา เสด็จพระราชดําเนินประพาส สิงคโปร์ ปีนัง มะละกา เกาะชวา และมรแหม่ง ย่างกุ้ง กัลกัตตา อัครา มันดาริด บอมเบย์ในประเทศอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ โดยเรือพระทั่งชื่อ “บางกอก” โปรดเกล้าฯ ให้พระปรีชากลการตามเสด็จเป็นสุปรินเทนเด็นอินยิเนียหรือเป็นนายช่างผู้ควบคุมเครื่องยนต์ และต่อมาได้รับพระราชทานเครื่องยศ เสื้อปัก กระบี่ หมวกยอด พระเกี้ยวตอบแทน และพระปรีชากลการได้เป็นหนึ่งในคณะสภาที่ปรึกษาในพระองค์ [Privy Council] ซึ่งประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวน ๔๙ คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาส่วนพระองค์ สืบสวนข้อเท็จจริงในราชการต่างๆ เพื่อกราบบังคมทูลและถวายความเห็นให้ทรงทราบ สอดส่องเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมือง รวมไปถึงการชำระความฎีกาที่มีผู้นำมาถวาย 

พระปรีชากลการจึงถือว่าเป็นข้าราชการที่พระองค์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมากคนหนึ่ง

เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทําเหมืองทองคำที่บ่อทองเมืองกบินทร์บุรี  ได้จัดตั้งเครื่องจักรทําทองที่เมืองกบินทร์บุรีและสร้างตึกที่จะจัดตั้งเครื่องจักรที่เมืองปราจีนบุรีอีกแห่งหนึ่งและพระปรีชากลการได้ทําสําเร็จ ต่อมาเมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๑๙ พระยาอุไทยมนตรี (ขริบ) ผู้ว่าราชการเมืองปราจีนบุรีถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระปรีชากลการว่าราชการเมืองปราจีนบุรีแทนต่อไป

rama5-1

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๔๑๖

พระปรีชากลการสมรสครั้งแรกกับคุณพลับ ธิดาพระครูมหิธรผู้เป็นพราหมณ์หลวงผู้ทำพิธีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ มีบุตรกับคุณพลับ ๑ คน เป็นชายชื่อประเสริฐแต่ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์ เมื่อคุณพลับถึงแก่กรรมจึงสมรสกับคุณลม้ายธิดาพระอินทราธิบาล (สุ่น) ซึ่งได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการมาอยู่บ้านเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ณ บ้านพระยากระสาปนกิจโกศลหน้าวัดราชบูรณะ มีบุตรกับคุณลม้าย ๒ คนคือ คุณหญิงตระกูลสามารถพูดได้หลายภาษา กลับมาเมืองไทยได้ทําหน้าที่เป็นล่ามสตรีคนแรกของกรุงสยาม คนที่ ๒ คือ พระยาพิศาลสารเกษตร (อรุณ) ต่อมามีบุตรกับคุณเหลี่ยม๓ คน มีบุตรกับคุณสินเป็นชาย ๑ คน  มีบุตรกับคุณจีนเป็นหญิง ๑ คน และมีบุตรกับคุณหลีเป็นชาย ๑ คน

ต่อมาสมรสกับ แฟนนี นอกซ์ บุตรีกงสุลอังกฤษชื่อ โธมัส จอร์จ นอกซ์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๑ มีบุตร ๑ คน เป็นชายชื่อสเปนเซอร์ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นจํารัส โดยพบรักกันเมื่อพระปรีชากลการติดตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปขี่ม้าและได้พบนางสาวแฟนนี่บ่อยครั้งจึงเกิดความรักต่อกัน แม้พระปรีชากลการจะมีบุตรธิดาและภรรยาอยู่แล้ว การแต่่งานนี้ไม่เป็นที่ยอมรับทั้งฝ่ายกงสุลนอกซ์ผู้เป็นบิดาและในพระราชหัตถเลขาฯของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงติฉินบุตรสาวของกงสุลผู้นี้ค่อนข้างมากและถือว่าเป็นพวกฝ่าย “วังหน้า” และ “สมเด็จเจ้าพระยาฯ” ที่ไม่ทรงโปรดแต่อย่างใด 

ภาพซ้าย กงสุลน็อกซ์ หรือ โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ บิดาของแฟนนี่ น็อกซ์  ภาพขวา แฟนนี่ น็อกซ์ภรรยาคนสุดท้ายของพระปรีชากลการและเป็นเหตุให้เกิดคดีความซับซ้อนตั้งแต่การผิดประเพณีไปจนถึงนำไปสู่การแทรกแซงกิจการภายในของสยาม

กงสุลนอกซ์ผู้นี้เดิมมียศเป็นร้อยเอกในกองทัพบกอังกฤษประจำประเทศอินเดีย และเข้าสู่สยามในสมัยรัชกาลที่ ๔ และเข้ามาฝึกทหารตามแบบอังกฤษให้กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้แต่งงานกับผู้หญิงชื่อปรางจากวังหน้าผู้หนึ่งมีบุตร ๓ คน คนโตชื่อ แฟนนี นอกซ์ คนที่ ๒ ชื่อคาโรลีนแต่งงานกับนายหลุยส์ ที.เลียวโนเวนส์ ส่วนบุตรชายอีกคนหนึ่งชื่อโทมัสเช่นเดียวกัน ต่อมาได้ไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ นายนอกซ์นั้นน่าจะเป็นที่รู้จักของหมู่คนสยามที่นิยมคบค้าสมาคมกับชาวต่างชาติโดยเฉพาะวังหน้าและทางฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ และสังคมของชาวต่างประเทศเป็นอย่างดี ต่อมาสถานกงสุลอังกฤษเห็นว่านายนอกซ์อยู่เมืองไทยมานานและสามารถพูดภาษาไทยได้ดี จึงจ้างทำหน้าที่ล่ามเพื่อติดต่อกับราชการไทยจึงทำงานเป็นผู้ช่วยกงสุล แล้วได้เลื่อนตำแหน่งจนได้เป็นกงสุลเยเนอราลมีบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์และเป็นกงสุลใหญ่อังกฤษ

82

พระปรีชากลการถือว่าเป็นผู้มีฐานะดีเพราะบ้านที่พักอาศัยเป็นอาคารตึกสูงราว ๓ ชั้น ขนาดใหญ่โตสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๔ ต่อมาเมื่อถูกยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกิจการไปรษณีย์ไทยเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้สำเร็จราชการไปรษณีย์และโทรเลขพระองค์แรก และใช้บ้านของพระปรีชากลการเป็นที่ทำการเรียกว่า “ไปรสะนียาคาร” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาปากคลองโอ่งอ่างฝั่งพระนคร อยู่ทางทิศใต้ของสะพานพุทธ อาคารไปรษณียาคาร ถูกทุบทิ้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อสร้างสะพานพระปกเกล้า ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานอยู่ทางทิศใต้ของสะพานพุทธ แต่ปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิมในตำแหน่งใกล้เคียงกับที่ตั้งเดิม เพื่อใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์กิจการไปรษณีย์ไทย

บ้านของพระปรีชากลการเป็นที่ทำการเรียกว่า “ไปรสะนียาคาร” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาปากคลองโอ่งอ่างฝั่งพระนคร

กรณีคดีพระปรีชากลการเกิดขึ้นเพราะเมื่อพระปรีชากลการผู้เป็นขุนนางทรงโปรดฯ ท่านหนึ่งรักใคร่กับธิดากงสุลโดยไม่กราบทูลให้ทรงทราบ พยายามเข้าหาและทำความสนิทสนมกับกงสุลนอกซ์แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาจึงแก้ปัญหาโดยพาแฟนนี่นั่งเรือยอชต์ส่วนตัวชื่อ “อัษฎางค์” ไปในงานฉลองพระราชวังบางปะอินด้วยกันและยังค้างแรมบนเรือ 

ทรงกริ้วมากจากการกระทำที่ผิดประเพณีดังกล่าว และยิ่งทรงกริ้วหนักขึ้นเมื่อพระปรีชากลการนำแฟนนี่กลับจากบางปะอินแม้พระราชพิธียังไม่เสร็จลงก็ตาม ทรงถือว่าเป็นการกระทำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างยิ่งเพราะมีข่าวเล่าลือในทางเสียหายเกิดขึ้น (พระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์, จ.ศ. ๑๒๔๑ (พ.ศ. ๒๔๒๒)ต่อมาเพียง ๑๐ วัน กงสุลนอกซ์จึงยื่นคำขาดให้มีการแต่งงาน โดยเรียกค่าสินสอดเป็นเงินที่ฝากธนาคารแห่งชาติอังกฤษไว้ ๕,๐๐๐ ปอนด์ และต้องให้แฟนนี่เป็นภรรยาเอก ในการจัดการสมรส นายนอกซ์และภรรยาจะไม่ไปร่วมงาน และถ้าพระปรีชากลการเดือดร้อนจะไม่ให้ความช่วยเหลือเด็ดขาด

ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยิ่งทรงกริ้วโดยมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์และเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี กรมท่า เรื่องการแต่งงานเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนขอทราบความเห็นของขุนนางทั้งสองว่าควรทำประการใด “เพื่อรักษาเกียรติยศและอำนาจแผ่นดินไว้อย่าให้เสื่อมทรามได้”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กราบบังคมทูลแนะนำซึ่งแสดงให้ถึงความคิดเห็นต่อขุนนางในตระกูลอมาตยกุลนี้ว่า “แต่ยังมีความสงสัยอยู่ด้วยคนตระกูลนี้ ทรงพระกรุณาเชื่อถือให้ใช้สอยเงินทองของหลวงมากจนฟุ่มเฟือยยิ่งกว่าขุนนางทั้งปวง ถ้ายังทรงพระอาลัยอยู่จะคิดให้เต็มสติปัญญาก็ยาก ด้วยกำลังทัพย์สมบัติก็มาก กำลังสติปัญญาก็ฉลาดนัก กลัวจะเป็นการตีงูให้หลังหักไป”

โดยทูลต่อมาว่าเอาเรื่องที่พระปรีชากลการละเมิดอำนาจแผ่นดินเป็นหลัก ส่วนเรื่องการทุจริตให้เป็นประเด็นรอง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ก่อนที่จะมีเหตุการณ์แต่งงานกับแฟนนี่นอกซ์นั้น พระปรีชากลการกำลังจะถูกสอบสวนเรื่องการทำเหมืองทองที่บ่อทองกบินทร์บุรีอยู่แล้ว แต่เมื่อกลายเป็นเขยกงสุลนอกซ์ กงสุลใหญ่ประจำประเทศสยามก็จะกลายเป็นเรื่องกลั่นแกล้ง จึงแนะนำให้เป็นเรื่องการละเมิดอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลัก 

เพราะในเวลาเดียวกันมีการนำคดีทุจริตและฎีกาที่ชาวปราจีนบุรีทูลเกล้าฯ ต่อองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๒๗ ฎีกาด้วยกัน รวมทั้งข้อหาเบิกเงินหลวงไปลงทุนทำบ่อทองถึง ๑๕,๕๐๐ ชั่งเศษ แต่ส่งทองมาเพียง ๑๑๑ ชั่งเท่านั้น อันเป็นจำนวนทองคำที่ต่ำกว่าการคาดหมายมากนัก 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานฎีกาทั้งหลายไปยังที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินพิจารณาแล้วจึงเชิญตัวพระยาปรีชากลการมาสอบสวนความผิด แต่เนื่องจากพระยาปรีชากลการเป็นลูกเขยของกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทยในขณะนั้น กงสุลนอกซ์จึงบีบบังคับให้ทางการไทยปล่อยตัวถึงกับเรียกเรือปืนอังกฤษจากสิงคโปร์มาข่มขู่จะยิงพระนคร 

การควบคุมตัวและดำเนินกระบวนการสอบสวนเอาผิดกับพระยาปรีชากลการ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีผลกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้กระบวนการพิจารณาคดีของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินดำเนินการไต่สวนความผิดของพระยาปรีชากลการต่อไป ขณะเดียวกันทรงโปรดให้พระยาภาสกรวงศ์ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็นราชทูตพิเศษไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียเพื่อป้องกันมิให้กรณีดังกล่าวที่ลุกลามอาจบานปลายเป็นวิกฤติการณ์ระหว่างประเทศไปได้

แต่ท้ายสุดเมื่อความผิดเป็นที่ปรากฏว่าพระยาปรีชากลการได้กระทำผิดหลายกระทง ด้วยข้อหาอย่างเป็นทางการคือ ได้ทองมาไม่มากเมื่อเทียบกับเงินทุนที่ใช้ไปในการทำงานหลวง, ทำการทารุณเลขหัวเมืองที่เกณฑ์ให้ตัดฟันตอในน้ำซึ่งกีดขวางทางเดินเรือบรรทุกแร่ โดยใช้ง่ามถ่อค้ำคอคนที่ดำลงไปตัดตอจนขาดใจตาย และทำการทารุณกรรมแก่ราษฎรอย่างร้ายแรงหลายประการ

อีกเหตุหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นประการสำคัญคือเรือแล่นตัดหน้าฉาน ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน และแต่งงานกับคนต่างประเทศโดยไม่ขอพระบรมราชานุญาต จนกลายเป็นความผิดอุกอาจถึงขั้นต้องโทษประหารชีวิตในท้ายสุด และการพิจารณาโทษพระยาปรีชากลการดังกล่าวประเทศไทยก็มิได้กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหญ่โตอย่างที่คาดหมายไว้แต่ประการใด 

เมื่อพระปรีชากลการถูกประหารชีวิตรวมอายุได้ ๓๙ ปี มีข้อความที่มักถูกนำมาอ้างอิงในคราวพระปรีชากลการเมื่อจะถูกประหารที่ลานวัดหลวงปรีชากูล เมืองปราจีนบุรี ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ “ประวัติการและความทรงจำของรองอำมาตย์โท หลวงบำรุงรัฐนิกร (บุศย์ เอนกบุศย์)” ซึ่งเป็นข้าราชการที่เมืองปราจีนบุรีในช่วงเวลานั้นว่า 

“พระปรีชาฯ เอาผ้าขึ้นเช็ดหน้าแล้วทิ้งลงดิน พูดออกมาอย่างน่าสงสารว่า …โบสถ์สร้างขึ้นยังไม่ทันแล้ว เพราะได้เมียฝรั่งตัวจึงตาย แดดร้อนดังนี้ ทําไมจะได้สติ เมื่อ ตายแล้วเราจะไปอยู่ที่หลังคาแดง โน้น…”

ภาพซ้าย เมื่อถูกนำไปประหารชีวิตที่หน้าโบสถ์วัดหลวง เมืองปราจีนบุรี จึงมีการสร้างศาลไว้ที่ “วัดหลวงปรีชากูล” สถานที่ประหารชีวิต  ภาพขวา ศาลที่วัดหลวงปรีชากูลในปัจจุบัน

การทำเหมืองแร่ทองคำและคดีความ

นอกจากแหล่งทองที่บางสะพานซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มีการบันทึกถึงเรื่องการทำทองที่เมืองกบินทร์บุรีครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ม.จ. พิริยดิศ ดิสกุล โอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกไว้ว่า 

“ในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้พบทองคำในเขตเมืองกบินทร์บุรีหลายแห่ง จึงได้เกณฑ์แรงงานที่นั่นและในหัวเมืองใกล้เคียงให้มาทำการขุดหาแร่งทองคำส่งกรุงเทพฯ โดยมอบหมายให้เจ้าเมืองปราจีนบุรีเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการปฏิบัติการเหมืองแร่ครั้งแรกของรัฐ แต่การก็มิได้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะว่ามีการกล่าวโทษเรื่องการใช้แรงงานที่ไม่ชอบ จนเป็นเหตุให้ผู้คนอพยพหลบหนีราชการกันมาก และที่สำคัญผลผลิตทองคำที่ได้ดูไม่เหมาะสมกับแรงงานที่นำไปใช้ จนเป็นเหตุให้มีการสอบสวนถึงกับลงโทษตั้งแต่ตัวเจ้าเมืองลงไป แต่ก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงโดยมีการนำวิศวกรฝรั่งไปช่วย และบุคคลที่ออกไปกับกับการขุดแร่ทองคำที่กบินทร์บุรีในตอนหลังนี้จำเป็นจะต้องเอ่ยนามให้ปรากฏไว้อีกคือ คุณพระปรีชากลการ ซึ่งเป็นผู้มีการศึกษาอย่างดีจากต่างประเทศและเข้าใจว่ามีความรู้ด้านช่างดี จึงได้ราชทินนามเช่นนั้น การดำเนินงานครั้งนี้ได้มีการเปิดบ่อขุดเอาหินติดทองล่องลงตามลำน้ำพระปรง มาตำและแยกที่ตัวจังหวัดปราจีนเลยทีเดียว”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริโปรดเกล้าให้พระปรีชากลการไปทำเหมืองทองคำที่บ่อทองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ การทำทองที่บ่อทอง เมืองกบินทร์บุรี แตกต่างไปจากการทำเหมืองแบบร่อนแร่แบบโบราณตามสายน้ำต่างๆ ไม่ใช่เป็นทองคำแบบก้อนหรือแบบผงทองคำเช่นที่บางสะพาน เพราะต้องระเบิดหินที่มีสายแร่ทองคำติดอยู่แล้วจึงนำมาถลุง

โรงตำใหญ่อยู่ใกล้กับบ่อสำอาง

21

แผนผังแสดงบ่อทองและการขุดเจาะสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓

22

ชาวบ้านร่อนหาผงแร่ทองคำที่บ่อทอง โดยใช้ ภาชนะไม้ที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า“เรียง”

94
92

แผนที่แสดงบริเวณเหมืองทองคำครั้งที่กรมโลหกิจเข้ามาทำเหมืองครั้งสุดท้ายราว พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๐๐

ลักษณะทางธรณีวิทยาของบริเวณบ่อทองอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม สูงกว่าระดับน้ำทะเลราว ๑๗ เมตร บางส่วนเป็นเนินเขาย่อมๆ สูงราว ๒๐ เมตร พื้นผิวปกคลุมด้วยชั้นศิลาแลง เป็นดินทรายและดินลูกรังหนาวราว ๑๐-๕๐ ฟุต มีพวกหินควอร์ตไซต์และหินปูนและแทรกด้วยหินอัคนีเป็นผลทำให้เกิดการแปรสภาพอย่างรุนแรง หินปูนบางส่วนแปรเป็นหินอ่อน ส่วนสายแร่ควอทซ์ [Quartz vain] มีสายแร่เล็กๆ แทรกอยู่ในหินทั่วไป สายแร่ควอทซ์เหล่านี้บางแห่งให้แร่ทองคำ [Gold baring quartz vain] ทองคำที่พบมีขนาดเล็กเห็นด้วยตาเปล่าได้ยากและมีแร่เงินและไพไรต์เปิดร่วมด้วยในปริมาณน้อย คาดว่าสายแร่น่าจะมีทางยาวประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร (สมัคร บุราวาส, ๒๔๘๗) และจากการเจาะสำรวจของสมศักดิ์ โพธิสัตย์ เมื่อ พ.ศ.​๒๕๑๗ จากตัวอย่างการเจาะหลุม ๑๗ หลุม พบทองเพียงหลุมเดียว

มีบันทึกถึงการทำเหมืองทองของพระปรีชากลในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากเอกสาร “เศรษฐกิจธรณีวิทยาเล่มที่ ๒๔” ของกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า เป็นการขุดหลุมตามสายแร่ไปทั้งตามความลึกและตามความยาวของสายแร่ ซึ่งต่อมากลายเป็นบ่อน้ำใหญ่ กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร และต่อมาเรียกชื่อว่า “บ่อสำอาง”

การขุดเหมืองทองคำซึ่งเป็นสายแร่ทองคำในหินใต้พื้นดิน นอกจาการสำรวจเพื่อหาสายแร่ทองคำแล้วต้องมีการขุดเป็นหลุ่มทั้งแนวดิ่งและแนวราบ แล้วใช้วิธีการระเบิดหินแล้วบดแร่ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อเตรียมลำเลียงไปจัดการถลุงที่เมืองปราจีนบุรีซึ่งน่าจะสะดวกและเจริญกว่าบริเวณตำบลบ่อทองและบริเวณเมืองกบินทร์บุรี การสำรวจและการทำเหมืองต้องใช้ความรู้ความชำนาญในทางธรณีวิทยาและความรู้ในการสำรวจและคัดเลือกขุมเหมืองเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้น และที่สำคัญคือต้องใช้แรงงานซึ่งเข้าสู่ระบบการจ้างงานแล้วจึงต้องใช้เงินทุนมากมายแต่ผลตอบแทนอาจจะได้น้อยไปก็เป็นได้ 

บันทึกไว้ว่าพระปรีชากลการใช้เงินไปราว ๑๕,๕๐๐ ชั่งเศษหรือราว ๑,๒๔๐,๐๐๐ บาท (มีการบันทึกไว้ว่างบประมาณแผ่นดินใช้ราว ๖๘ ล้านบาทต่อปีในราว พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๕๗) แต่ส่งทองมานำหักเพียง ๑๑๑ ชั่งหรือราว ๑๓๓,๒๐๐ กรัม ซึ่งถ้าคิดราคาทองคำ ๑ ทรอยออนส์ (น้ำหนัก ๓๑.๑ กรัม) ในปีนั้นราคาทองคำในตลาดโลกประมาณ ๑๘.๙๔ ปอนด์ต่อ ๑ ทรอยออนส์ มาตราค่าเงินในช่วงนั้น ๑ ปอนด์เท่ากับประมาณ ๑๓.๑๒ บาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ดังนั้นราคาทองคำ ๑๓๓,๒๐๐ กรัมจึงมีมูลค่าประมาณ ๑,๐๖๔,๒๘๔ บาท ซึ่งน่าจะมีมูลค่าน้อยกว่านี้เมื่อ ๓๐ ปีก่อนหน้านั้น จึงเป็นการขาดทุนแน่นอน แต่เมื่อพิจารณาบันทึกเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๙ มีการกลับมาทำเหมืองทองคำอีกครั้งหนึ่งโดยกรมทรัพยากรธรณีได้ปริมาณทองคำน้ำหนักราว ๕๔,๖๗๕.๕๖ กรัม ซึ่งจะเห็นได้ว่า การทำเหมืองทองคำที่กบินทร์บุรีไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากนัก

พระปรีชากลการคงทําการขุดแร่ทองคําที่บ่อทอง แล้วบรรทุกเรือล่องมาตามลําน้ําปราจีนบุรี ขนขึ้นทําการถลุงที่โรงจักร ซึ่งพระปรีชากลการให้สร้างโรงจักรถลุงแร่ทองคําที่ฝั่งแม่น้ําปราจีนบุรีริมวัดหลวงปรีชากูลด้านทิศตะวันออกอยู่ใกล้กับกําแพงเรือนจําปัจจุบัน ส่วนสถานที่ถลุงและเตาหลอมขณะนี้ยังปรากฏอยู่ที่บริเวณบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี

ส่วนเส้นทางบ้านหนองสังข์เข้าไปตําบลวังตะเคียนมีถนนที่ทำขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางลําเลียงแร่ทองคําเพื่อลงเรือที่ท่าน้ำแล้วล่องเรือขนแร่ไปตามลำน้ำปราจีนบุรี ซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำบางปะกงนั่นเองเรียกว่า “ถนนทอง” จนถึงทุกวันนี้ 

โรงถลุงทองที่เมืองปราจีนบุรี

โรงทำทองที่เมืองปราจีนบุรีเปิดเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรณรัศมี เสด็จไปเปิดโรงงานทำเหมืองแห่งนี้ มีพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จคือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์ตโสภาคย์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ และพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ เสด็จลงเรือโบตออกจากท่าอ่างศิลาไปประทับเรือประพาสอุดรสยาม พระปรีชากลการไปรับเสด็จที่ฉะเชิงเทรา ได้เสด็จทอดพระเนตรเมืองฉะเชิงเทราแล้วเสด็จไปปราจีนบุรี โดยจอดเรือพักที่ “ทงเตย” หนึ่งคืนแล้วเสด็จปราจีนบุรี  เมื่อถึงเมืองปราจีนแล้ว เสด็จเปิดโรงทำทอง ตามข่าวที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพทรงพระนิพนธ์ว่า

“…แล้วเสด็จขึ้นพลับพลาประทับตรัสกับพระยาอุไทยมนตรี ผู้ว่าราชการเมืองปราจิณบุรีอยู่สักครู่ จึงเสด็จเข้าไปในโรงจักร พระปรีชากลการจึงจัดแร่ทองคำซึ่งสำหรับจะได้ใส่ในครกเป็นที่แรกนั้นมาถวาย  เวลา ๓ โมง กับ ๓๕ นาที สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนรัศมี จึงทรงหยิบแร่ซึ่งประปรีชากลการจัดมาถวายนั้นใส่ลงในครกที่สำหรับตำแร่ พระปรีชากลการก็บอกกับมิสเตอร์ปิเตอร์ ซึ่งเป็นอิยิเนียในโรงนั้น ครูหนึ่งจึงเสด็จพระราชดำเนิรไปทอดพระเนตรเครื่องจักรสำหรับเลื่อยไม้…”

90

ภาพถ่ายโรงถลุงทองคำที่ริมฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรี ริมวัดหลวงปรีชากูล ด้านทิศตะวันออก

ลักษณะโรงหล่อหรือโรงจักรและขั้นตอนการตำแร่นั้น รองอำมาตย์โทหลวงบำรุงรัฐนิกร (บุศย์ อเนกบุณย์) บันทึกไว้ว่า

“…รอบบริเวณโรงจักร์ก่อกำแพง แต่ก่อเป็น ๒ แถวเหมือนผนังตึกห่างกันราว ๗ ศอก สูง ๕ ศอกเศษ กั้นเป็นห้องๆ ส่วนบนวางไม้เหลี่ยมเป็นระยะๆ แล้วปูพื้นกระดาน โบกปูนทับอิฐฝนตกไม่รั่วไหล เป็นหลังคากันแดดกันฝนได้หรืออาจจะเดินเล่นก็ได้ ส่วนบนของด้านหน้าทำเป็นใบเสมา ด้านหลังก่ออิฐถือปูนสูงจากพื้นหลังคาราว ๑ ศอกเศษ ทำเกลี้ยงๆ แต่ทึบ ไม่เป็นใบเสมา กำแพงนี้ยาวประมาณ ๘ เส้น ภายในกำแพงปลูกโรงถลุงแร่ ๒ หลังแฝด แล้วทำหลังคาลดต่อออกมากทั้งข้างหน้าข้างหลัง ทำด้วยไม้มุงสังกะสี กั้นฝากระดาน ภายในตั้งเครื่องจักร์และตั้งครก ๒๐ ครก หน้าครกทุกใบเจาะรูปรุเหมือนหน้าแว่นมีสากเหล็กครกละ ๒ อัน มีเหล็กติดที่สากเหล็กเรียกว่า เหล็กเขาควาย แล้วมีเหล็กเพลาทอดออกมา เมื่อใช้เครื่องมือเหล็กเพลาจะหมุนกระทบเหล็กเขาควาย กระทำให้สากเหล็กยกขึ้นและตกลงมาตำแร่ในครกให้ละเอียด ในขณะตำแร่จะมีน้ำไหลออกมาตามท่อเหล็กตกลงมาตามท่อเหล็กตกลงในครกนั้นเสมอ แร่ถูกตำป่นเหมือนแป้ง แล้วไหลจากครกไปตกลงที่ผ้าปะเล็งเก็ตซึ่งปูไว้รับหน้าครก แร่ที่ถูกตำป่นเบากว่าทองไกลเลยไป ส่วนทองหนักกว่าคงติดอยู่ที่ผ้า เมื่อหยุดเครื่องจักร์จึงเอาผ้าไปแช่น้ำในถังใหญ่ คะเณว่าทองนอนก้นถังแล้วจึงสูบน้ำออกเก็บเอาเนื้อทองคำไป โรงถลุงแร่นี้ตั้งอยู่ที่สนามหญ้าใกล้กับกำแพงเรืือนจำเดี๋ยวนี้ ส่วนปล่องไฟเครื่องจักร์ตั้งอยู่ริมกำแพงเรือนจำ นอกจากโรงถลุงแร่ ก่อสร้างตึกยาวขวางตะวัน ๑ หลัง เรียกในสมัยนั้นว่า ตึกปรอท กับก่อสร้างตึก ๒ หลังสำหรับแขกอยู่ใกล้กับตึกยาวขวางตะวัน ๑ หลัง ทางด้านตะวันตกของโรงจักร์สร้างตึก ๔ ชั้น สำหรับนายช่างชาวต่างประเทศอยู่ ๑ หลัง

นอกบริเวณกำแพงด้านตะวันตกสร้างโรงหล่อ ๑ หลังต่อจากโรงหล่อมาทางริมน้ำ สร้างโรงเลื่อยไม้ ๑ หลัง ส่วนด้านหลังกำแพงปลูกเรือนมุงแฝก กั้นฝาปรือ เรียงรายตลอดไปอีกหลายหลังสำหรับคนงานพักอาศัย..”

Prince_Bhanurangsi_Savangwongse

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรณรัศมี

การทำเหมืองทองคำที่บ่อทอง เมืองกบินทร์บุรีหยุดไปเพราะเกิดเหตุการณ์คดีพระปรีชากลการดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นคดีโด่งดังแห่งยุคที่ทำให้เกิดการเล่าลือไปต่างๆ นานาสืบต่อมาทั้งในพระนครและหัวเมืองที่ปราจีนบุรีและเมืองกบินทร์บุรี 

หลังจากนั้นเมื่อช่วงปลายทศวรรษที่ ๑๘๘๐ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๘-๒๔๓๒) แม้จะมีการปิดเหมืองไปเมื่อเกิดคดีพระปรีชากลการในช่วง พ.ศ. ๒๔๒๒ มีบันทึกว่า บริษัทการค้าแห่งตะวันออกไกล “Jardine Mathieson” ได้เข้ามาทำสัปทานการทำเหมืองโดยการรับรองจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมามีบริษัทต่างประเทศคือ “The Kabin Syndicate of Siam” และ “Societa des Mines de Kabin” เข้ามาดำเนินทำเหมืองด้วยวิธีการทำเหมืองแบบสวีเดนแบบเก่า [Skarn] คือการระเบิดหินแข็งที่เป็นแหล่งแร่ที่มีการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินต่างๆ เช่น หินอัคนี หินชั้น และหินแปร แล้วนำหินแร่เหล่านั้นมาย่อยและดึงเอาแร่ทองคำแยกตัวออกมา การทำเหมืองของบริษัทดังกล่าวมีรายงานว่าหยุดไปเมื่อเริ่มเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๖๑ โดยไม่มีรายงานยืนยันถึงปิมาณทองคำที่พบ หลงเหลือเพียงฐานอาคารโรงเรือนที่ย่อยและแต่งแร่ รวมทั้งน่าจะมีอาคารสำหรับการถลุงแร่ทองคำรวมทั้งมีบ่อแร่จำนวนหนึ่ง กับคำร่ำลือเมื่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการทำเหมืองแร่เข้าไปสำรวจสายแร่เพื่อทำเหมืองทองคำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ว่า “บริษัททองคำในสมัยนั้นสามารถขุดทองได้ขนาดเท่าผลมะพร้าวห้าวทั้งเปลือกทุกวัน” (ชาวบ่อทอง, ๒๔๙๖) 

ราว พ.ศ. ๒๔๙๓ กรมโลหกิจหรือกรมทรัพยากรธรณีในภายหลังเริ่มดำเนินการสำรวจแร่ทองคำแหล่งนี้ จนกระทั่งปี ๒๔๙๘ ต่อมาได้โอนกิจกรรมการทำเหมืองแร่ให้กับ “ศูนย์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ องค์การเหมืองแร่ และได้เปิดทำเหมืองแบบชั่วคราว จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงหยุดการสำรวจและพัฒนาการทำเหมืองในเชิงพานิชย์ โดยให้เหตุผลต่อคนงานเหมืองในยุคนั้นว่าเพราะขาดทุน (จูมกีบแก้ว, กันยายน ๒๕๕๖) และไม่ปรากฏว่ามีการทำเหมืองอีก ผลผลิตทองคำจากช่วงนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๙ ได้ปริมาณทองคำน้ำหนัก ๕๔,๖๗๕.๕๖ กรัม

การทำเหมืองแร่ทองคำ : คำบอกเล่าจากคนทำเหมืองคนสุดท้ายแห่งบ่อทอง

ก่อนหน้าที่จะมีการทำเหมืองแร่อีกครั้งโดยรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ชาวบ้านบริเวณนี้นอกจากทำนาตามฤดูกาลแล้ว หมดหน้านาผู้ใดที่ขยันก็จะมาขุดเอาดินและหินในบริเวณบ่อทองคำเก่าที่เคยเปิดไว้ นำไปร่อนหาแร่ทองคำกันที่บ้านของตนหรือไม่ก็ร่อนทองกันในบริเวณที่สะดวกและไม่ห่างไกลจากบริเวณบ้านหรือไร่นา โดยเฉพาะในเขตบ้านบ่อทองที่ใกล้กับขุมเหมืองที่เคยทำแร่ในสมัยพระปรีชากลการนี้ 

มีการสำรวจและบันทึกว่าปัจจุบันมีชาวบ้านทำอยู่บ้างที่บ้านบุเสี้ยว ตำบลบ้านนา ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งทำทองบ้านบ่อทองประมาณ ๑๐ กิโลเมตร พื้นที่เป็นที่ราบแคบๆ ระหว่างเนินเขา มีห้วยทรายและคลองตาหนูไหลผ่าน วิธีการขุดทองทำง่ายๆ คือขุดหลุมกว้างยาว ๑-๕ เมตร ชาวบ้านกล่าวว่าทองคำมักจะอยู่ที่ชั้น ๕๐ เซนติเมตรจากผิวดิน ทองคำที่ขุดได้มี ๒ ชนิดคือ ชนิดแรกเป็นก้อนคล้ายหยดเทียนแสดงว่าผ่านการหลอมมาแล้ว อีกชนิดหนึ่งเป็นเกล็ดเล็กๆ หรือเป็นแผ่นบางๆ ลักษณะเป็นแร่ที่เกิดตามธรรมชาติ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเศษแร่ที่ตกหล่นตั้งแต่ในสมัยพระปรีชากลการและการทำเหมืองทองในระยะต่อมา

ทุกวันนี้ร่องรอยของการทำเหมืองทองในอดีตที่ใช้วิธีการทำเหมืองอุโมงค์ตามสายแร่ โดยบริษัทของต่างประเทศและองค์กรของรัฐ มีการเจาะปล่องลงไปใต้ดินเพื่อหาสายแร่ ปล่องหรือขุมแร่เหล่านี้มีชื่อ เช่น บ่อมะเดื่อ บ่อขี้เหล็ก บ่อพอก เป็นต้น คือทรากฐานอาคารที่ใช้ในการแต่งแร่และฐานอาคารที่กล่าวกันว่าเป็นเป็นสถานที่แยกแร่ทองคำออกจากสินแร่ที่บดแต่งแล้ว ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตําบลบ่อทอง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จึงร่วมกับจังหวัดปราจีนบุรี โดยองค์การบริหารส่วน ตําบลบ่อทอง ฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทําเหมืองแร่ในบริเวณนี้ขึ้น โดยจัดทําเป็นพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ทองคํา ซึ่งเปิดเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม  พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นการมอบพิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำให้องค์การบริหารส่วนตําบลบ่อทองเป็นผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ต่อไป 

เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดให้มีการประทานบัตรจึงมีบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยและออสเตรเลีย “ไทย โกลด์ฟิลด์ส” [Thai Goldfields] และบริษัทที่เคยทำการสำรวจไว้ก่อนหน้านี้คือ บริษัทไอแวนโฮ มายส์ [Ivanhoe Mines] ซึ่งมีความชำนาญในการสำรวจแหล่งแร่ทองคำและแร่โลหะมีคุณค่าในเชิงพานิชย์และอุตสาหกรรม [www.thaigoldfields.com] โดยสำรวจศึกษาศักยภาพแหล่งแร่ทองคำในประเทศไทย ๕ แห่งตามปรากฏข้อมูล และมีรายละเอียดการสำรวจที่บริเวณอำเภอกบินทร์บุรีในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๕๐ ซึ่งมีศักยภาพในการทำเหมืองทองด้วยระบบระบายความร้อนขนาดใหญ่ [Larger-scale hydrothermal system] แต่ถึงปัจจุบันแม้พื้นที่จังหวัดปราีนบุรีและอำเภอกบินทร์บุรีจะเปิดเป็นเขตอุตสหากรรมแทบทั้งสิ้นแล้ว ก็ยังไม่มีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนทำเหมืองทองคำเช่นดียวกับที่เปิดเหมืองทองคำที่จังหวัดพิจิตรและจังหวัดเลยแต่อย่างใด

นายจูม กลีบแก้ว หรือลุงแขกเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕  พ่อของลุงแขกนั้นแต่เดิมเป็นคนโคราชทำอาชีพตำรวจ เมื่อย้ายมาอยู่ที่กบินทร์บุรีได้มาพบกับแม่ของลุงแขกซึ่งเป็นคนบ่อทองไม่ไกลจากแหล่งทำทองเท่าใดนัก หลังจากประกอบอาชีพขายแรงงานมาสารพัดตั้งแต่หนุ่มจนแก่เฒ่า ปัจจุบันลุงแขกเป็นพนักงานกวาดถนนของโรงแรมเปี่ยมสุข ตำบลกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่อยู่ด้านหน้าถนนทองที่ตัดเข้ามาสู่บริเวณเหมืองทองคำเก่านั่นเอง

ลุงจูม กลีบแก้ว

ก่อนที่ลุงแขกจะมาเป็นกรรมกรเหมืองแร่ทองคำนั้นมีอาชีพทำนาทำไร่ และร่อนทองคำเมื่อว่างจากงานในนาจากดินในหลุมเหมืองที่มีอยู่ตามบ่อต่างๆ แต่ด้วยปัญหาเรื่องหนี้สินจากการ “ตกข้าว” และ “ตกหนี้” ทำให้ต้องขายดินทำกินและต้องเช่าที่ดินของตนเองเพื่อทำนาและมีแต่หนี้สินมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องหางานอื่นรองรับ 

บ่อที่ขุดหาทองที่ลุงแขกเล่าให้ฟังนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่ และเกิดมานั้นก็เห็นสิ่งก่อสร้างเหล่านี้แล้ว จึงเป็นเหมืองที่น่าจะเป็นการสัมปทานจากบริษัทชาวต่างชาติในช่วงที่พระปรีชากลการไม่ได้รับผิดชอบการทำเหมืองแล้วมีทั้งหมด ๗ บ่อ ไล่จากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกคือ บ่อเจ๊ก บ่อกว้าน บ่อหมาก บ่อมะเดื่อ บ่อขี้เหล็ก และบ่อสำอาง ซึ่งในบริเวณนี้มีฐานอาคารหรือร่องรอยของ โรงตำ โรงหลอม แล้วบริเวณเตาหลอมด้วย 

ความชำนาญในการร่อนทองดูเหมือนจะติดตัวอยู่กับชาวบ้านบริเวณนี้ และเป็นการร่อนทองแบบโบราณเช่นเดียวกับการร่อนทองในสายน้ำโขงหรือลำน้ำสาขาที่คนลาวซึ่งถูกอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้น่าจะมีความชำนาญสืบวิชาความรู้ติดมาด้วย  ลุงแขกเล่าว่าใช้วิธีไปขุดเอาดินมาร่อนจนได้แร่ทองคำสีคล้ำเรียกว่า “ทองทราย” โดยใช้นำทองทรายวางบนผ้าใส่สารปรอทแบบบีบให้ปรอทนั้นแยกตัวหลุดออกมาจากผ้าด้านนอก ส่วนด้านในจะได้เนื้อทองคำสีเหลืองๆ ติดผ้าอยู่  เวลาเราได้ทองมานั้นก็จะได้เป็นเม็ด การขุดของชาวบ้านส่วนใหญ่จะได้ “ทองทราย” ก็เอาปรอทใส่ลงในผ้าลงไปในภาชนะแล้วจับทองก็จะเห็นเป็นสีเหลืองๆ ติดผ้า  เมื่อเผาแล้วจะเป็นเกล็ดหรือเม็ดทองคำ แล้วเก็บใส่ถุงไปขายที่ตลาดกบินทร์บุรี ช่วงที่ลุงแขกทำเช่นนี้ก่อนมาเป็นกรรมกรเหมืองทองราคาทองบาทละ ๔๐๐ บาท บางครั้งชาวบ้านเคยร่อนแร่หาทางคำเช่นนี้ทำรายได้ถึงครั้งละ ๑,๐๐๐ บาทก็มี แต่เมื่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการทำเหมืองแร่เข้ามาทำเหมืองในพื้นที่ก็สั่งชาวบ้านห้ามทำ และจ้างแรงงานจำนวนมากให้เข้าไปทำงานในเหมืองแร่ 

พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่มีการสำรวจและการทำเหมืองทองคำอย่างจริงจังในอีกสองสามปีต่อมาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการทำเหมืองแร่ ลุงแขกจึงไปสมัครเป็นคนงานเหมืองที่ต้องการคนงานจำนวนมาก ลุงแขกจำไม่ได้แน่นอนว่าเป็นคนงานเหมืองอยู่กี่ปี แต่ทำงานตั้งแต่อายุ ๓๐ กว่าๆ จนถึง ๔๐ กว่าปี จนเหมืองแร่ทองคำปิดเลิกทำก็ใช้วิชาความรู้และความชำนาญแบบเสี่ยงตายในการเป็นคนฝังไดนาไมท์ในเหมืองหินที่อยู่ลึกลงไปหลายสิบเมตรไปรับจ้างใช้แรงงานระเบิดหินภูเขาที่เขางู จังหวัดราชบุรี และเป็นแรงงานกลุ่มแรกๆ ที่ระเบิดหินปูนที่เขางูจนยุติไปเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ลุงแขกใช้เวลาทำงานอยู่ที่ราชบุรีนานมากจนกระทั่งเสียลูกชายไปที่เขางู จึงบวชให้ลูกชายและอยู่ที่ราชบุรีระยะหนึ่ง จนกลับมาทำงานรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ ที่บ่อทองบ้านเกิด จนถึงปัจจุบันโรงแรมเปี่ยมสุขยังรับลุงแขกและภรรยาเป็นคนงานรายวันทำงานดูแลความสะอาดที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากนัก

หน้าที่ของลุงแขกแต่แรกคือกรรมการใช้แรงงานสารพัด เป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้ทำหน้าที่พิเศษเพราะใช้แต่แรงงาน เหมืองหินเช่นนี้เป็นการจุดเจาะตามสายแร่ที่ต้องมีนักธรณีวิทยาวิเคราะห์หาสายแร่ แล้วให้คนงานระเบิดหินที่มีสายแร่ทองคำปนอยู่เพื่อนำขึ้นมาย่อยแร่และแยกแร่อีกครั้งหนึ่ง ปากปล่องหรือปากบ่อแต่ละแห่งจะมีการทำโครงคอนกรีตเสริมเหล็กที่แข็งแกร่งมาก ลุงแขกบอกว่าพอเหมืองร้างก็จะมีพวกโขมยเข้าไปดึงเอาเหล็กไปขายจนทำให้ปากบ่อพังไปตามๆ กัน จนมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ดินถล่มลงมาทับเอาคนที่ไปโขมยเหล็กตาย และถือเป้นอุบัติเหตุภายหลังที่เหมืองร้างไปแล้วครั้งเดียวที่เกิดขึ้น โดยในช่วงที่ทำเหมืองไม่มีอุบัติเหตุอื่นใดแม้จะเป็นการทำเหมืองที่ดูจะอันตรายมากก็ตาม

จากปากบ่อที่ต้องมีการขุดเจาะพื้นดินลงไปให้ลึกเมื่อผ่านชั้นดินที่ลุงแขกกล่าวว่าความลึกนี้ประมาณบันได ๑๓๐-๑๔๐ ขั้น ซึ่งอาจประมาณได้ว่าลึกราว ๒๘-๓๐ เมตรก็ถึงชั้นหินที่ต้องใช้การขุดเจาะด้วยสว่านไฟฟ้าและฝังระเบิดไดนาไมท์ในการระเบิดชิ้นหินใต้ดิน โดยระเบิดทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ซึ่งปากปล่องแต่ละแห่งขนาดกว้างใหญ่จนลุงแขกคาดว่าหากนำรถยนต์ลงไปก็สามารถขับรถผ่านเข้าไปได้อย่างสบาย ปากปล่องแต่ละแห่งอยู่ห่างกันประมาณ ๕๐๐ เมตรก็ทำเช่นเดียวกัน และระเบิดหินไปในทิศทางที่วิศวกรกำหนด

ลุงแขกมีความกล้าและความชำนาญจนเป็นคนทำหน้าที่ระเบิดหินใต้ดิน และได้รับค่าแรงงานมากกว่าคนงานใช้แรงงานคนอื่นๆ อยู่บ้าง ลุงแขกได้ค่าแรงวันละ ๖ บาทและขึ้นมาเรื่อยๆ ตามเวลาและหน้าที่ ในขณะที่ข้าวสารถังละ ๒๕ บาท และค่าแรงคนงานอยู่ระหว่างวันละ ๔ บาท จนถึง ๑๒.๒๕ บาท ในช่วงเวลานั้นซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกันออกไปตั้งแต่ระเบิดแร่ เข็นหิน ตำหิน จนถึงหลอมทอง แต่หน้าที่หลอมทองนั้นคนงานทั่วไปไม่ได้ทำ เพราะมีเจ้าหน้าที่หลอมทองมาจากกรุงเทพฯ โดยตรง ซึ่งใช้คนประมาณ ๓-๔ คน

แต่ในสมัยก่อนนั้นบริเวณปากบ่อที่ลงไปข้างล้างมีความกว้างมากพอที่เอารถยนต์เข้าไปขับได้  ความสูงที่ลงไปจากข้างบนลงไปพื้นที่ขุดบ่อใต้อุโมงค์  

คนระเบิดอุโมงค์หลังจากใช้ลิฟต์เพื่อลงไปยังพื้นหินที่เตรียมขุดเจาะไว้แล้ว คนงานจะเข้าไปใช้ต่อสายระเบิดและอัดไดนาไมท์ ซึ่งต้องระมัดระวังในการต่อสายระเบิดสายเมนหลักโยงออกมาด้านนอก และเมื่อจะกดระเบิดทุกคนต้องออกมาที่ปากบ่อ ระเบิดเสียงดังมาก ปล่อยไว้สักพักแล้วก็จึงนำเครื่องอัดลมไปดูดอากาศในอุโมงค์ให้หายเหม็นควันระเบิด ช่วงนี้วิศวกรจะลงไปดูว่ามีแร่ทองติดหินมากหรือไม่และมีแนวอยู่บริเวณใดเพื่อหาทิศทางสำหรับขุดเจาะต่อไป และอาจจะแก้ไขหากการระเบิดมีความบกพร่องหรือไม่ระเบิด  

จากนั้นจึงถึงหน้าที่ของผู้ที่จะไปนำเอาก้อนหินที่ติดแร่ทองคำนั้นขึ้นมาย่อยแร่ ซึ่งต้องใช้รางในการขนส่ง  ขนงานจะลงไปช่วยกันเข็นรถรางที่นำหินและแร่ที่ถูกระเบิดแล้วขึ้นไปยังปากปล่อง และจะมีคนงานนำหินแร่เหล่านี้ไปยังโรงตำแร่ที่อยู่ไม่ไกลมากนัก คนงานแต่ละฝ่ายจะแยกกันทำหน้าที่ชัดเจน

คนงานผู้หญิงมักจะเป็นฝ่ายนำแร่ไปตกแต่างหรือตำแร่ ก้อนหินก้อนที่ใหญ่เกินไปจะถูกคัดเลือกเพื่อนำไปบดเสียก่อน เพื่อที่เวลาตำจะได้ง่ายขึ้น โรงตำแร่ใช้คนประมาณ ๕ คน คนย่อยหินอีก ๕ คน และคนเข็นหินอีก ๕ คน บริเวณโรงตำซึ่งอยู่บริเวณสนามกีฬาขององค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทองและใกล้กับบ่อสำอางจะมีครกตำแร่ทำด้วยเหล็กประมาณ ๔ ครก ซึ่งใช้ไฟฟ้าและแรงงานในการตำ เพื่อให้หินและแร่นั้นละเอียดเนื้อร่วนไม่เป็นก้อนกิน

จากนั้นจึงเป็นแผนกร่อนแร่ซึ่งจะนำหินแร่ที่ตำแล้วและค่อนข้างละเอียดมาร่อนนำเศษหินออก และจะมีคนคอยฉีดน้ำเพื่อแยกทองกับเศษดินหินอื่นออกจากกันอีกขั้นตอนหนึ่ง ต่อจากนั้นจึงมีพนักงานของกรมฯ นำเอาแผ่นทองแดงมาวางแล้วทาฉาบด้วยไซยาไนด์และปรอทลงไปบนแผ่นทองแดงเพื่อแยกทองคำออกจากแร่ที่ไม่ใช่ทอง และเมื่อได้แล้วคนระดับหัวหน้างานจะนำแผ่นยางขนาดใหญ่รวบรวมทองเหล่านี้ไว้ด้วยกัน จากนั้นจึงนำไปที่โรงหลอมทอง ซึ่งเป็นทั้งอาคารสำนักงานด้วย ปัจจุบันอยู่ด้านข้างของอาคารพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำผงทองเหล่านี้ไปทำความสะอากและอัดเป็นก้อนได้น้ำหนักเท่าไหร่ก็จะเขียนเป็นรายงานประกาศที่ด้านหน้าสำนักงานทุกเดือน  ก่อนจะนำไปหลอมเป็นทองคำแท่งและส่งมอบไปยังกรุงเทพฯ ต่อไป

ทุกเดือนเมื่อหลอมทองเสร็จหัวหน้าก็จะนัดเรียกประชุมคนงานเหมืองทองที่บ่อทอง เพื่อจะบอกว่าเดือนนี้หลอมทองคำได้น้ำหนักเท่าไหร่ และเมื่อหักค่าใช้จ่าย ค่าเครื่องมือ ค่าสึกหรอ ค่าแรง เดือนนี้ได้ทองหนักแค่นี้มันจะคุ้มหรือไม่ในการขุดก็จะบอกคนงานรับรู้ตลอดเวลาจนกระทั่งสุดท้าย การทำเหมืองทองที่ได้นั้นรัฐบาลเห็นว่าไม่คุ้มทุนจึงเลิกทำเหมืองทองนับแต่นั้นมา

การทำงานในเหมืองแร่ทองคำที่บ่อทอง กบินทร์บุรีทำงานทั้งวันทั้งคืน โดยแบ่งงานออกเป็น ๓ กะ ช่วงแรกแรกเริ่มงาน ๘ โมงเช้าถึง ๔ โมงเย็น ช่วงที่ ๒ เริ่มเวลา ๔ โมงเย็นถึงเที่ยงคืน และช่วงที่สามเริ่มเที่ยงคืนจนถึง ๘ โมงเช้า และการทำเหมืองแร่ทั้งวันทั้งคืนเช่นนี้ทำให้มีแม่ค้าขายของกินของใช้ อยู่ขายของบริเวณบ่อทองกันทั้งวันทั้งคืนเช่นกัน บ่อทองจึงคึกคัก กลายเป็นเมืองที่ไม่หลับและมีตลาดค้าขายเช่นนี้เป็นเวลาหลายปีทีเดียว     

ลุงแขกกล่าวว่า ทุกวันนี้คนบ่อทองไม่ร่อนทองอีกแล้ว เพราะไม่คุ้มค่าแรงงาน ด้วยส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้ามาจัดการพื้นที่สาธารณะของภาครัฐทำให้ชาวบ้านไม่สามารถมาขุดได้อีกต่อไปและถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายเและสาเหตุที่ไม่มีผู้ใดสนใจเรื่องเหมืองทองคำอีกแล้วก็เพราะคนหนุ่มสาวเลือกที่จะไปทำงานในโรงงานที่มีอยู่มากมายและยังขาดแคลนแรงงาน การทำงานเป็นลูกจ้างเช่นนี้ได้ค่าแรงประจำวันโดยที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการร่อนทองหรือแสวงหาทองคำดังเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยรุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นพ่อแม่แล้ว

กรณีทุจริตในสังคมสยามยุคเปลี่ยนผ่าน

เหมืองทองคําในสยามเมื่อแรกสํารวจพบ อาจจะสืบเนื่องมาจาก ความชํานาญของผู้คนที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากหัวเมืองลาวหลายกลุ่ม โดยเฉพาะลาวเวียงซึ่งเป็นประชากรพื้นฐานของเมืองด่านกบินทร์บุรีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะมีการบันทึกในท้องถิ่นอื่นๆ ให้ได้รับรู้ว่า ชาวบ้านที่มีเชื้อสายลาวมักจะมีความสามารถทางร่อนทองในลําน้ํา แม้แต่ในลําน้ําเจ้าพระยา เช่นที่สิงห์บุรีก็ตาม 

ความชํานาญเหล่านี้นับเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงแบบโบราณที่สั่งสมมาโดยผู้คนที่เคยอยู่ในสภาพแวดล้อมซ่ึงเป็นที่สูง มีสายน้ําไหลชะพาตะกอนของแร่ทองคํามากับท้องน้ํา การค้นพบแหล่งทองคําที่กบินทร์บุรีก่อนช่วงพระปรีชากลการมาทําเหมืองอย่างจริงจังนั้น ก็อาจเกิดข้ึนมาด้วยสาเหตุดังกล่าว

การทําเหมืองทองคําของพระปรีชากลการในช่วงต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเพราะเป็นขุนนางท่ีมี ความรู้และเป็นผู้คุ้นเคยกับโรงงานและการทําโลหกรรมและสิ่ง ประดิษฐ์ที่ทันสมัยในยุคนั้น อีกทั้งเป็นขุนนางที่ค่อนข้างมีฐานะดี มากและถือว่าร่ํารวยมากกว่าขุนนางในตระกูลอื่นๆ ด้วยการ สืบทอดการเป็นเจ้ากรมโรงกษาปน์หลวงที่พระยากษาปนกิจโกศล เป็นผู้รับผิดชอบทํามาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว 

การทําเหมืองแร่ทองคําที่ยากลําบากในท้องถิ่น เช่น บ่อทองเมืองกบินทร์บุรีนี้ จึงไม่ใช่ส่ิงท่ียากเกินความสามารถและสติปัญญา ของขุนนางเช่นพระปรีชากลการในช่วงเวลานั้น

แต่อาจจะเป็นเพราะการเป็นผู้ทันสมัยในสังคมสยามที่มีความรู้ จากต่างประเทศ สามารถพูดและสื่อสารติดต่อกับชาวต่างประเทศได้ อย่างสะดวกสบายรวมทั้งการเป็นผู้มีฐานะและอํานาจในการเป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี อีกทั้งความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้อย่างสมัยใหม่และทันสมัยที่สุดในยุคนั้น จึงถือว่าน่าจะเป็นกําลังสําคัญของบ้านเมืองได้มาก และท่านยังเป็นสมาชิกในสภาที่ปรึกษาในพระองค์อีกด้วย

Untitled-1

ภาพถ่ายพระปรีชากลการที่กลายเป็น “เจ้าพ่อสําอาง” ผู้คนนับถือกราบไหว้ โดยเหตุการทุจริตเรื่องการทําเหมืองทองที่บ่อทอง กบินทร์บุรี  ดูเหมือนจะลางเลือนไป โดยบางท่านก็เน้นให้เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องความรักของชายหนุ่ม-หญิงสาว หรือบางส่วนก็เน้นไปที่เหตุการณ์การเมืองภายในราชสํานักและเกี่ยวข้องกับการเมืองภายนอกในยุคอาณานิคม แต่คงมีไม่มากนักที่นําเอาเหตุการณ์ทุจริตในหน้าที่นี้ขึ้นมาเป็นบทเรียนสําหรับผู้คนที่ต้องทําหน้าที่ให้เคร่งครัด                       

อาจทําให้พระปรีชากลการย่ามใจในฐานะและอยู่กับความทันสมัยในวัฒนธรรมชาวตะวันตก โดยถือเอาเรื่องส่วนตัวในการ ตัดสินใจแต่งงานกับลูกสาวกงสุลน็อกซ์จนสร้างเหตุการณ์ให้ลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสาเหตุสําคัญที่ต้องถูกประหารชีวิต ถือเป็นคดีที่สับสนและเต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองภายในเหล่าบรรดาขุนนาง ความแตกต่างทางความคิดของกลุ่มคนหนุ่มและคนสูงอายุในราชสํานัก และการปกครองที่นําโดยพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ปัญหาความมั่นคงของรัฐที่อาจเกิดจากปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมสยามที่กําลังเปลี่ยนแปลงจากการปกครองของรัฐแบบโบราณ มาสู่การปกครองแบบสมัยใหม่ที่นิยมความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ จากต่างประเทศ รวมทั้งการจัดระบบการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ที่มีการกระชับอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลางเช่นเดียวกับประเทศเจ้าอาณานิคมในยุคสมัยนั้น จัดการปกครองเช่นเดียวกันกับอาณานิคมของตน

ปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมาตั้งแต่ยุคสมัยการปกครองในรูปแบบรัฐโบราณก็คือ “ปัญหาการคอร์รัปชั่น” ดังเช่นพบว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในแทบทุกขั้นตอนที่มีการดูแลโดยขุนนางและผู้ได้รับมอบอํานาจในการจัดการ ในกรณีสภาที่ปรึกษาในพระองค์และสภาที่ปรึกษาการปกครองเมื่อจะมีการออกกฎหมายในเรื่องการคลังท่ีต้องมีการปรับปรุงก็พบว่ากลุ่มขุนนางผู้ใหญ่ไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในกรณีต่างๆ การสืบสวนถึงเรื่องความขัดแย้งในกลุ่มตระกูลขุนนางเองก็มีความชัดเจนว่า ฟ้องร้องและกล่าวหากันในกรณีทุจริตต่างๆ นี้ ส่วนโทษที่ได้รับนั้นส่วนใหญ่เป็นการริบราชบาทว์และยึดเข้าเป็นของหลวงและไม่ได้มีการลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตแต่อย่างใด

กรณีคดีของพระปรีชากลการที่ถูกประหารชีวิต ในระยะแรกๆ นั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีคําแนะนําต่อพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เน้นในกรณีที่ไม่เคารพพระเจ้าแผ่นดินและกฎเกณฑ์ประเพณีของฝ่ายข้าราชบริพารในราชสํานัก ไม่ได้เน้นไปที่กรณีการทุจริตและประพฤติผิดสร้างความไม่ชอบธรรมในการปกครองราษฎรหรือกระทําทุจริตในการทําเหมืองทองแต่ประการใด การถูกประหารชีวิตในภายหลังนั้นน่าจะเป็นการตัดสินใจรักษาพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านของสังคมที่กําลังปรับตัวจากสยามแบบรัฐโบราณมาสู่สยามแบบสมัยใหม่มากกว่าอื่นใด เพราะแม้แต่พระปรีชากลการเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะต้องถูกประหารชีวิตในคราวน้ัน

อย่างไรก็ตามการทําเหมืองทองคําที่กบินทร์บุรีก็ยังทําต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเวลาผ่าน ไปราว ๒๐ กว่าปี หลังจากสภาที่ปรึกษาฯ ทั้งสองรูปแบบปรับ เปลี่ยนและยกเลิกไปแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯ และกลุ่มตระกูล ขุนนางต่างๆ ไม่ได้มีบทบาทหรืออิทธิพลสูงครอบงำพระราชวงศ์และการปกครองของสยามเช่นที่ผ่านมาและสามารถตั้งกระทรวงต่างๆ เพื่อรับผิดชอบงานด้านต่างๆ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งพระเจ้าน้องยาเธอและพระเจ้าลูกเธอเข้ามามีบทบาทในการบริหารบ้านเมืองทดแทนเหล่าบรรดาลูกหลานในตระกูลขุนนางต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัด ตั้งชั้นเรียนภาษาอังกฤษและจัดครูฝรั่งมาถวายพระอักษรบรรดา พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้านายที่ได้รับราชการเป็นเสนาบดีแทบทุกพระองค์ ต่อมายังโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกลูกหลานขุนนางรวมเชื้อพระวงศ์ประมาณ ๒๐ คน ส่งไปเรียนภาษาอังกฤษท่ีสิงคโปร์อีก ชุดหน่ึง 

ความสําคัญของภาษาและวิทยาการตะวันตกมีความสําคัญมากในรัชกาลของพระองค์ จนกลายเป็นความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ขุนนางข้าราชการในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัชกาลพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวท่ีจะส่งบุตรหลานของตนไปศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรป

การเรียนรู้วิทยาการในประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวางในหมู่นักเรียนไทยดังกล่าว มีส่วนกระตุ้นให้เกิดความคิดที่จะมีส่วนในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยที่บรรดานักเรียนไทยเหล่านั้นไปเห็นมาในหลายประเทศในยุโรป

จนกระทั่งนําไปสู่การแสวงหาเสรีภาพทางหนังสือพิมพ์ การเรียกร้องสิทธิ์ในการมีส่วนปกครองประเทศ จนถึงการ เปลี่ยนแปลงของสังคมสยามอย่างใหญ่หลวงในช่วงเวลาต่อมาอีก ครั้งหนึ่งเมื่อมีการยึดอํานาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๔๗๕