วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

จากหนังสือ “ผู้นำทางวัฒนธรรม” จัดพิมพ์โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์,๒๕๕๖

ชื่อเสียงของ “หลวงพ่อทวด” ทุกวันนี้มักปรากฏคำต่อท้ายว่า “วัดช้างไห้” หรือต่อด้วยเหตุสร้างอภินิหารจากการ “เหยียบน้ำทะเลจืด” นิยมบูชาเป็นวัตถุมงคลรูปเหมือนท่านั่งสมาธิเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บูชา น้อยคนนักที่จะทราบถึงความสำคัญของท่านในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา และเรื่องราวที่บอกเล่าผ่านตำนานท้องถิ่นของบ้านเมืองแถบคาบสมุทรสทิงพระ

การ “กัลปนา” คือ วิธีการเพื่ออุทิศผู้คนเพื่อเป็นข้าพระโยมสงฆ์ ถวายที่ดินแก่พระและวัดต่างๆ และสำหรับท้องถิ่นแถบรอบทะเลสาบสงขลา ขนบนี้ถือเป็น “อัตลักษณ์” ของบ้านเมืองแถบคาบสมุทร 

หลวงพ่อทวดนั้น ได้รับสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จฯ จากราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเป็น”‘สมเด็จเจ้าพะโคะ” หัวหน้าคณะสงฆ์ลังกาชาดที่วัดพะโคะ โดยได้รับการกัลปนาที่ดินและผู้คนมาเป็นข้าพระโยมสงฆ์ปกครองท้องถิ่นและชุมชนในช่วงที่มีโจรสลัดจากปลายแหลมมลายูเข้าปล้นบ้านเมือง ถือเป็นพระสงฆ์ที่มีบทบาททางสังคมและความเชื่อในเขตปลายแดนรัฐสยามที่มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งปรากฏหลักฐานทั้งทางเอกสารและตำนานที่สัมพันธ์กับพิธีกรรมของผู้คนที่สืบเชื้อสายของผู้รักษาพระเพลา   หรือตำราพระกัลปนาจากพระเจ้าแผ่นดินสยามในสมัยนั้น

สำหรับชาวบ้านในท้องถิ่นทุกวันนี้ ยังคงจดจำและดูแลรักษาสถานที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทวด     ไว้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง เช่น “ทุ่งเปล” สถานที่เกิดเหตุมีงูใหญ่มาพันรอบเปลที่แม่ผูกไว้ใต้ร่มไม้เมื่อต้องออกไปเกี่ยวข้าวครั้งเมื่อท่านยังเป็นทารก ต้นไม้ใหญ่ที่เชื่อว่าใช้ฝังรกของท่านเมื่อแรกเกิด แม้แต่สถานที่ตั้งเรือนของตระกูลท่านที่ ‘บ้านดีหลวง’ ก็ยังเป็นพื้นที่โล่งไม่มีใครเข้าไปบุกรุกสร้างบ้านซ้อนทับ รวมทั้ง “วัดพะโคะ” หรือวัดราชประดิษฐาน ซึ่งเป็นวัดหลวงและคงความสำคัญอย่างสืบเนื่องมาโดยตลอด 

หลวงพ่อทวดสำหรับผู้คนในท้องถิ่น คือ ผู้นำทางวัฒนธรรม [Culture Hero] นอกเหนือจากที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณแล้ว ยังปรากฏแน่ชัดว่าท่านเป็นผู้นำทางการปกครอง ‘ผู้คนข้าพระ’ ที่มีบารมีเหนือผู้ปกครองฆราวาสในแถบคาบสมุทรสทิงพระและเรื่อยไปถึงอีกฟากฝั่งหนึ่งของทะเลสาบด้วย

เหตุนี้ตำนานความอัศจรรย์ในชีวประวัติของหลวงพ่อทวด จึงมีอภินิหารปรากฏเป็นคำบอกเล่าในลักษณะของผู้มีบุญ มิใช่ผู้คนธรรมดา กลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ชื่อเสียงขจรไกลไปจนถึงบ้านเมืองของชาวมลายูที่ปาตานี เพราะมีคนพุทธที่ปัตตานีศรัทธาตำนานจากท้องถิ่น วัดช้างไห้ ในอำเภอโคกโพธิ์ เรื่องเล่าในท้องถิ่นก็สร้างสมมติฐานจนเชื่อกันภายหลังว่าท่านจำพรรษาเป็นวัดสุดท้ายในช่วงปลายชีวิต จึงยังปรากฏเป็นตำนานเล่าลือถึงการออกเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนมลายูและยังพบตำนานเรื่องราวของท่านจากท้องถิ่นบางแห่งแพร่กระจายไกลไปถึงแถบหัวเมืองมลายูทั้งฝั่งเคดาห์และกลันตันในดินแดนมาเลเซียปัจจุบัน เนื่องจากเชื่อว่าท่านไปสร้างวัดในหมู่ชาวพุทธไว้หลายแห่งหลังจากที่หายตัวตนไปจากคาบสมุทรสทิงพระแล้ว

ในบรรดาพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พุทธศาสนิกทั่วไปนั้น หลวงพ่อทวด แห่งคาบสมุทรสทิงพระ นับเป็นพระสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีความหมายอย่างยิ่งต่อสังคมและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น สร้างศรัทธาแก่ชาวพุทธศาสนิกที่นิยมเลื่อมใสกลายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว จรรโลงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่สังคมไทยนับวันแต่จะขาดที่พึ่งมากยิ่งขึ้นในทุกวันนี้

คาบสมุทรสทิงพระ / แผ่นดินบก 

แผ่นดินบริเวณทะเลสาบสงขลาทางฝั่งตะวันออกเคยเป็นทะเลมาก่อนที่จะเกิดกระแสน้ำและลมพัดพาตะกอนทรายทับถมบริเวณนอกชายฝั่งจนเกิดเป็นสันทรายสทิงพระ ทำให้กลายเป็น “ทะเลปิด” หรือ “ลากูน” เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีก่อน โดยการคำนวณจากการหาค่าอายุของเปลือกหอยที่พบบริเวณนั้น จากนั้นตะกอนภายในลากูน เกิดการถับถมขึ้นเรื่อยๆ แต่เดิมบริเวณทะเลสาบนี้มีช่องทางเข้าสู่ทะเลภายในได้ ๒ ทาง      คือ  ตอนเหนือบริเวณปากพนังซึ่งภายหลังน้ำในลำคลองชะอวดมีตะกอนทับถมมากขึ้น ทั้งน่าจะมีการลดลงของระดับน้ำทะเล  ทำให้ช่องทางน้ำหายไปกลายเป็นแผ่นดินในอำเภอเชียรใหญ่ปัจจุบัน กระบวนการนี้เพิ่งเกิดขึ้นราวร้อยกว่าปีที่ผ่านมา  อีกแห่งหนึ่งคือทางตอนใต้บริเวณหัวเขาแดงที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อจนปิดสนิทแต่อย่างใด ทั้งสองบริเวณนี้เคยมีบันทึกเอกสารบอกเล่าว่าเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถนำเรือขนาดใหญ่ผ่านเข้าออกได้

ทะเลสาบภายในของจังหวัดพัทลุงและสงขลาแบ่งออกเป็น “ทะเลน้อย” อยู่ทางตอนบนสุด พื้นที่ราว ๒๗ ตารางกิโลเมตร เป็นเขตน้ำจืดที่แยกออกจากทะเลสาบใหญ่ด้านใต้ บริเวณนี้มีป่าพรุขนาดใหญ่ พืชจำพวก กก จูด วัชพืชและเป็นที่หากินของนกนานาพันธุ์ โดยขุด คลองเรียม เชื่อมต่อกับ “ทะเลหลวง” ขนาดราว ๔๖๐ ตารางกิโลเมตร ซึ่งในท้องถิ่นเรียกกันต่างไปตามพื้นที่ เช่น ทะเลลำปำ ทะเลจงเก ทะเลปากพะยูน จนถึงฝั่งสทิงพระจรดเกาะใหญ่ ที่เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลสาบและเป็นพื้นที่มีภูเขาสูงใหญ่อันเป็นเขตน้ำจืด ในทะเลหลวงนี้หากบางปีน้ำน้อยก็จะมีน้ำกร่อยบ้าง 

ทะลสาบตอนล่าง คือส่วนที่ถัดจากเกาะใหญ่ที่มี เกาะสี่เกาะห้า เกาะหมาก และเกาะนางคำ ต่อเนื่องจากเขตสทิงพระจนถึงทางฝั่งอำเภอปากพยูนทางทิศใต้และตะวันตก มีพื้นที่ราว ๓๗๐ ตารางกิโลเมตร สภาพนิเวศน์มีทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อยผสมกัน และส่วนที่อยู่ตอนนอกสุดเชื่อมกับทะเลนอกอ่าวไทย โดยมีเกาะยออยู่ภายใน สภาพนิเวศน์บริเวณนี้เป็นแบบน้ำกร่อยและป่าชายเลนซึ่งถูกยึดครองทำนากุ้งและตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยไปมากแล้ว

การทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำจากเทือกเขาบรรทัดทำให้เกิดชะล้างจากฝนโดยตรง การพังทลายของหน้าดินจากภูเขาส่งผลให้แม่น้ำลำคลองและทะเลสาบสงขลาเกิดการตื้นเขินจากการสะสมของตะกอน จนมีน้ำท่วมครั้งใหญ่หลายครั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ส่วนฤดูแล้งหลายพื้นที่พบปัญหาขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังมีการทำลายพื้นที่ป่าพรุและป่าชายเลนรอบๆ ทะเลสาบ เพราะป่าพรุเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี ป่าพรุเปรียบเหมือนพื้นที่ดูดซับน้ำในช่วงฝนตกหนักเพื่อป้องกันน้ำท่วมจึงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ต่างๆ มากมาย ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ ส่วนป่าชายเลนถูกทำลายอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

๑. ภาพทะเลสาบสงขลาเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ ไฟล์: Songkhla_Lake_from_Space.png
บริเวณทะเลน้อย เขตพัทลุง
ทะเลสาบสงขลาบริเวณเกาะสี่เกาะห้า จากบริเวณอำเภอปากพะยูน
ภาพทะเลสาบบริเวณเกาะยอ

แนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช, อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ ไปจนถึงเขาแดงในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นบริเวณปากน้ำสงขลาทางทิศใต้ ระยะทางกว่า ๑๓๐ กิโลเมตร เป็นบริเวณที่เรียกกันในท้องถิ่นมาแต่เดิมว่า “แผ่นดินบก” คนที่นี่ ถูกเรียกว่า “คนบก” หรือ “พวกบก” ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามาจากแถบอำเภอระโนด สทิงพระ ไปจนถึงสิงหนครที่หัวเขาแดง ซึ่งในอดีตถือเป็นพื้นที่ห่างไกลจากเมืองสงขลาปัจจุบันมาก

แนวสันทรายบริเวณคาบสมุทรสทิงพระนี้สูงกว่าที่ลุ่มโดยรอบและมีอยู่หลายแนว กลายเป็นที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองสืบต่อกันมาแต่โบราณ และนอกเหนือจากเขาเกาะใหญ่ในอำเภอกระแสสินธุ์ เคยเป็นเกาะมีภูเขาสูงใหญ่ที่กลายเป็นแผ่นดินเชื่อมติดกับแนวคาบสมุทรแล้ว นอกจากนี้ยังมีหย่อมมีเขาสำคัญอยู่อีกหลายแห่ง เช่น จากบริเวณส่วนที่ต่อกับปากน้ำสงขลาในเขตอำเภอสิงหนคร เช่น เขาแดง เขาค่ายม่วง เขาเขียว และเขาน้อย ซึ่งเป็นภูเขาหินดินดาน ตอนกลางมีเขาคูหา เป็นเนินเขาลูกโดดเตี้ย ๆ เป็นหินกรวดมนและหินทรายที่อยู่โดดๆ เป็นเนินเตี้ยๆ มีความสูงไม่เกิน ๒๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล พื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนาและป่าละเมาะอยู่ห่างจากแนวสันทรายประมาณ ๑ กิโลเมตร ได้แก่ เขาพะโคะ เขาผี และเขาน้อย อยู่ในพื้นที่ราว ๒ ตารางกิโลเมตร ส่วนเขารัดปูนเป็นเขาหินกรวดมนลักษณะเดียวกันแต่อยู่ในเขตกระแสสินธุ์  

ภูเขาสำคัญในท้องถิ่นนี้คือ เขาพะโคะ และ เขาคูหา ซึ่งเป็นแนวเขาที่แยกออกจากกัน วัดพะโคะหรือวัดหลวงหรือวัดราชประดิษฐาน บนเขาพะโคะอยู่ห่างจากเขาคูหาทางใต้ราว ๕๐๐ เมตร ทางด้านตะวันออกของเขาคูหา มีถ้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ๒ แห่ง ขนาดกว้างประมาณ ๓.๕ เมตร ลึกประมาณ ๔.๕ เมตร ภายในถ้ำมีร่องรอยของการสกัดหินให้เป็นห้องโถงโล่งรูปลักษณ์ค่อนข้างกลม ผิวของผนังถูกขัดจนเรียบ และมีฐานแท่นโยนีสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ ซึ่งเคยประดิษฐานศิวลึงค์อยู่กึ่งกลาง ไม่ห่างไปนัก บริเวณด้านตะวันออกของเขาคูหามีสระน้ำที่ถูกขุดโดยมนุษย์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเรียกว่า “พังตระ” ขนาดราว ๓๐๐x๓๐๐ เมตร เป็นตระพังหรือสระน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนตระพังจำนวนมากเท่าที่พบในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระนี้ 

โบราณสถานที่ถ้ำคูหาถือว่าเป็นศาสนาสถานเนื่องในศาสนาฮินดูยุคแรกเริ่ม ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ซึ่งก่อนและร่วมสมัยกับยุคสหพันธรัฐศรีวิชัย และเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการมีอยู่ของชุมชนแรกเริ่มในเขตแผ่นดินบกมีมาก่อนการเกิดขึ้นของบ้านเมืองทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบ

หลักฐานเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าฝั่งคาบสมุทรเป็นบริเวณสำคัญในการการค้าขายติดต่อกับพ่อค้าทางทะเล โดยมีท่าเรือและแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรจากทางฝั่งติดกับเทือกเขาบรรทัด เช่น รังนก น้ำตาลโตนด สินค้าป่า แร่ธาตุ รวมทั้งช้าง ทำให้มีผู้คนจากถิ่นอื่นเคลื่อนย้ายเข้ามาจนเกิดความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมความเชื่อ ในระยะต่อมามีทั้งพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามเข้ามามีอิทธิพลในบ้านเมืองแถบชายฝั่งอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ จาก “เพลานางเลือดขาว” เอกสารโบราณของท้องถิ่นนี้กล่าวถึงบ้านเมืองที่มีมาก่อนแถบ วัดเขียนบางแก้วคือ “เมืองสทิงพาราณสี” ซึ่งอาจจะมีมาก่อนกรุงศรีอยุธยาและร่วมสมัยกับนครศรีธรรมราช โดยมีความสำคัญอยู่ที่พระบรมธาตุเจดีย์ของวัดสทิงพระหรือวัดจะทิ้งพระในตัวอำเภอนั่นเอง

ต่อมาเมื่อศูนย์กลางของเมืองรอบทะเลสาบสงขลาย้ายไปอยู่ที่ฝั่งพัทลุงแล้ว ทางฝั่งสทิงพระบริเวณวัดพะโคะก็กลายเป็นชุมชนเมืองสำคัญขึ้นมาอีกครั้งในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำที่สำคัญในการนำชาวบ้านต่อสู้กลุ่มโจรสลัดซึ่งเป็นชาวมุสลิมที่มาจากปลายแหลมมลายูและเข้าปล้นสะดมเผาวัดวาอารามเสียหาย จนเกิดการกัลปนาจากพระมหากษัตริย์ให้ผู้คนและที่ดินขึ้นแก่วัดต่างๆ แถบสทิงพระมีอำนาจในการเกณฑ์ข้าพระโยมสงฆ์เป็นกำลังและการสร้างชุมชนเพื่อปกป้องตนเอง   โดยที่บทบาทของผู้นำฝ่ายฆราวาสนั้นแทบไม่ปรากฏ ส่วนคณะสงฆ์ก็ตั้งขึ้นในรูปแบบเดียวกับการปกครองของคณะสงฆ์เฝ้าพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช คือตั้ง “คณะกาชาด” คู่กับวัดเขียนที่อยู่ทางฝั่งพัทลุงที่เป็น “คณะกาแก้ว” 

หลักฐานในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ระบุว่าวัดพะโคะเป็นศูนย์กลางในการปกครองบ้านเมืองต่างๆ บนเกาะสทิงพระ เรียกว่า เมืองพะโคะ โดยพระราชทานสมณศักดิ์เจ้าคณะลังกาชาด เป็นชั้นสมเด็จไม่ใช่เป็นพระครูธรรมดา คือ “สมเด็จพระราชมุนี” ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าน่าจะพระราชทานแก่หลวงพ่อทวด หรือที่ชาวบ้านเรียกท่านว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ”

คาบสมุทรสทิงพระหรือแผ่นดินบกมีสัญลักษณ์เด่นมาแต่โบราณคือต้น “ตาลโตนด” เป็นพืชสารพัดประโยชน์สำหรับชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เช่น น้ำตาลสด จากงวงตาล ซึ่งหากทิ้งไว้จะมีรสเปรี้ยวใช้แทนน้ำส้มสายชู หรือถ้านำไปเคี่ยวให้ข้นก็กลายเป็น “น้ำผึ้งโหนด” ทำเป็นน้ำตาลโตนด หากนำไปกลั่นจะได้สาโท ผลตาลอ่อนนำไปแกงเลียง แกงส้ม แกงคั่วหรือเป็นอาหารวัว ลูกตาลที่สุกหวานหอมก็นำไปทำขนมตาล ใบใช้มุงหลังคา ส่วนทางตาลใช้ทำรั้ว เป็นต้น

คำว่า ”โหนด นา เล” ที่มักใช้กันในการอธิบายความเป็นแผ่นดินบกจึงสื่อความถึงแบบแผนการใช้ชีวิตที่ผสมผสานกันในภูมินิเวศทั้งแบบทะเลใน ทะเลนอกและพื้นที่ราบ โดยเฉพาะกับชาวสทิงพระ มองผ่านสภาพแวดล้อมแบบผสมผสานระหว่างทิวตาลโตนด นาข้าวและทะเลแบบประมงพื้นบ้าน ภูมิทัศน์ของชุมชนบนแผ่นดินบกส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำการเกษตร นอกจากนาข้าวและตาลโตนดแล้วยังปลูกพืชพวกมะพร้าว หมาก ตาล สาคู ต้นไผ่ และไม้อื่นๆ ที่มีผลรับประทานได้ 

ที่คาบสมุทรสทิงพระ ทิวตาล และนาข้าวอุดมสมบูรณ์จนถือได้ว่าเป็นภูมิทัศน์แบบแผ่นดินบก ซึ่งมีนัยสะท้อนสภาพแวดล้อมแบบโบราณที่สัมพันธ์กับชีวิตของผู้คนแถบนี้มาอย่างยาวนาน

แผนที่แสดงศาสนสถานบริเวณฝั่งสทิงพระและท้องถิ่นต่างๆ รอบทะเลสาบสงขลา อ้างอิงจากสถาบันราชภัฎสงขลา

เขาคูหาใกล้เขาพะโคะ และถ้ำในเขาคูหาซึ่งเกิดจากการขุดปรับปรุงโดยมนุษย์ เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาฮินดูยุคแรกๆ ทางฝั่งสทิงพระ  

ทุ่งนาและดงตาลแถบภูมิทัศน์ของแผ่นดินบกหรือคาบสมุทรสทิงพระ

ผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลโตนดสทิงพระที่พะโคะ

ตำนานหลวงพ่อทวด 

มีตำนานหรือเรื่องเล่าสืบที่ต่อกันมาในแถบคาบสมุทรสทิงพระว่ากันว่า “หลวงพ่อทวด” เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ ปีมะโรง ตรงกับราว พ.ศ.๒๑๒๕ ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ณ บ้านสวนจันทร์ เมืองสทิงพระ มีชื่อว่า “ปู่” หรือ “ปู” บิดาคือ ตาหู มารดาคือ นางจันทร์ มีฐานะยากจน อาศัยปลูกบ้านในที่ดินเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ ปาน

ตาหูและนางจันทร์เป็นคนในอุปภัมถ์ของเศรษฐีปาน ระยะที่หลวงพ่อทวดเกิดนั้นเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในท้องนา พ่อกับแม่จึงต้องเอาท่านไปเกี่ยวข้าวด้วย จึงต้องผูกเปลให้ลูกนอนในร่มไม้ ทำงานไปก็คอยเหลียวดูอยู่ตลอด สักพักหนึ่งนางจันทร์สังเกตเห็นว่ามี “งูใหญ่” มาพันที่เปลลูกแล้วชูคอแผ่แม่เบี้ย นายหูและนางจันทร์ตกใจ จึงพนมมือบอกเจ้าที่เจ้าทางขออย่าให้ลูกน้อยได้รับอันตราย ด้วยอำนาจบารมีของเด็กน้อย งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกจากเปลแล้วเลื้อยหายไป

ปรากฏว่าเด็กชายยังคงนอนหลับสบายเป็นปกติ  แต่มีลูกแก้วกลมใสขนาดย่อมกว่าลูกหมากเล็กน้อยส่องเป็นประกายอยู่ข้างตัว ตาหูกับนางจันทร์มีความเชื่อว่าเทวดาแปลงกายเป็นงูใหญ่นำดวงแก้ววิเศษมามอบให้กับลูกของตน 

เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องจึงเอ่ยปากขอดวงแก้ว ซึ่งตาหูและนางจันทร์ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ไม่นานก็เกิดเหตุวิบัติต่างๆ กับครอบครัวของเศรษฐีอยู่เนืองๆ พอหาสาเหตุไม่ได้จึงนึกได้ว่าอาจจะเกิดจากดวงแก้วนี้ จึงนำไปคืนให้ตาหูและนางจันทร์ ทั้งสองเมื่อได้ดวงแก้วกลับคืนมาจึงเก็บรักษาไว้อย่างดี นับแต่นั้นมาฐานะความเป็นอยู่ของตาหูและยายจันทร์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

พอเด็กชายอายุได้ราว ๗ ขวบบิดามารดาพาไปฝากไว้กับ    สมภารจวง วัดดีหลวง เพื่อให้เรียนหนังสือ พออายุได้ ๑๔ ปี  สมภารจวง จึงบวชเณรให้แล้วพาไปฝากไว้กับ    พระครูสัทธรรมรังสี    วัดสีหยัง  เพื่อเรียนชั้นมูลกัจจายน์  เล่ากันว่า  ท่านพระครูรูปนี้คณะสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาส่งมาเผยแพร่ศาสนาและสั่งสอนธรรมะทางภาคใต้

เมื่อ “สามเณรปู่” ศึกษาได้ดีเห็นควรเล่าเรียนต่อไป ท่านพระครูจึงแนะนำให้ไปเรียนที่ สำนักพระครูกาเดิม วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช พออายุครบบวช ๒๐ ปี พระครูกาเดิม วัดเสมาเมือง ได้อุปสมบทและตั้งฉายาว่า “สามีราโม” หรือ ”สามีราม” กล่าวกันว่าการอุปสมบทนั้นใช้เรือ ๔ ลำ มาเทียบขนานเข้าเป็นแพโบสถ์น้ำ ณ คลองเงียบสงบแห่งหนึ่ง ต่อมาจึงเรียกคลองนี้ว่า “คลองท่าแพ” มาจนทุกวันนี้ 

เมื่อเรียนธรรมที่สำนักพระครูกาเดิม ๓ ปี พระสามีรามได้โดยสารเรือสำเภาของนายอินทร์ที่สทิงพระเพื่อเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาจะไปศึกษาพระธรรมเพิ่มเติม วันหนึ่งท้องฟ้าวิปริตเกิดพายุเรือจะแล่นต่อไปไม่ได้ จึงลดใบทอดสมอสู้คลื่นลมอยู่นานจนน้ำจืดบนเรือหมด เจ้าของเรือจึงให้พระสามีรามลงเรือเล็กหมายส่งขึ้นฝั่ง ขณะที่พระสามีรามลงนั่งอยู่ในเรือเล็ก ท่านได้ยื่นเท้าลงเหยียบน้ำทะเลแล้วบอกให้ลูกเรือตักมาดื่มกิน  ปรากฏว่าน้ำทะเลนั้นกลายเป็นน้ำจืด น้ำจืดนั้นมีบริเวณอยู่จำกัดเป็นวงกลมประมาณเท่าล้อเกวียนนอกนั้นเป็นน้ำเค็มตามธรรมชาติของทะเล ลูกเรือจึงตักน้ำในบริเวณตรงที่นั้นขึ้นบรรจุภาชนะไว้บนเรือจนเต็ม  

เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา พระสามีรามได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส นอกกำแพงเมือง ขณะนั้นเป็นรัชกาลพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยา มีตำนานที่ท่านแข่งแปลพระธรรมในเมล็ดทองคำ ๘๔,๐๐๐ เมล็ดและเรียบเรียงลำดับให้เสร็จภายใน  ๗  วันกับพระสงฆ์ที่พระเจ้ากรุงลังกาส่งมาและท่านชนะ  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ว่า  “สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์”

เมื่ออายุมากขึ้นและอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาจนพอสมควร ท่านจึงลากลับถิ่นกำเนิด โดยเดินทางบกและธุดงค์โปรดสัตว์เรื่อยมา เส้นทางที่เดินผ่านและพักแรม  ภายหลังกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่จดจำ ชาวบ้านในถิ่นนั้นได้ถือเป็นสิ่งเคารพบูชามาถึงบัดนี้ เช่น ที่ บ้านโกฏิ ในอำเภอปากพนัง ชาวบ้านชวนกันขุดดินพูนขึ้นเป็นเนินตรงกับที่ท่านพักแรมไว้เป็นที่ระลึก รอบ ๆ เนินดินมีคูน้ำล้อมรอบ ต่อมาท่านไปยัง หัวลำภูใหญ่ ในอำเภอหัวไทร เป็นสถานที่ซึ่งมีหาดทรายขาวสะอาด และต้นลำภูแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่นเย็นสบายก็ยังเป็นที่จดจำ เมื่อท่านจากหัวลำภูใหญ่ก็เดินทางไปบางค้อน จนกระทั่งถึง วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ อันเป็นวัดเก่าแก่แต่ทรุดโทรมด้วยไม่ได้บูรณะเป็นเวลานาน ท่านก็จำพรรษา ณ ที่แห่งนี้

เล่ากันว่าเมื่อเดินทางกลับเข้าไปเฝ้าพระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ท่านจึงได้ได้ศิลาแลงพร้อมด้วยนายช่างหลวงลงเรือสำเภามาบูรณะซ่อมวัดพะโคะ และได้พระราชทานที่ดินที่นาและข้าพระถวายเป็นกัลปนาขึ้นแก่วัดพัทสิงห์บรรพตพะโคะ  ถือเป็นหัวหน้าคณะสงฆ์คณะกาชาด

ตำนานกล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้นระยะหนึ่ง หลวงพ่อทวดได้หายไปจากวัดพะโคะ เมืองสทิงพระ แต่จะไปอยู่ที่ใดชาวบ้านในท้องถิ่นไม่มีผู้ใดทราบ คงเหลือดวงแก้วที่พระยางูใหญ่ให้ครั้งเป็นทารกอยู่ในเปล ๑ ดวง และรอยเท้าบนแผ่นหินให้ไว้เป็นที่สักการบูชาของชาวบ้านตลอดมา

ภายหลังมีตำนานจากต่างถิ่นว่า ท่านธุดงค์เข้าไปในเขตแดนเมืองไทรบุรี สร้างวัดไว้ที่นั่นหลายแห่ง คนทั่วไปเรียกว่าท่านลังกา และยังได้สร้างวัดช้างให้ขึ้นที่โคกโพธิ์ ปัตตานีอีกวัดหนึ่ง ท่านเดินทางไปมาระหว่างเมืองไทรบุรีกับวัดช้างให้ จนกระทั่งมรณภาพที่เมืองไทรบุรี เส้นทางที่นำรูปสังขารท่านกลับมาที่วัดช้างให้ชาวบ้านสร้างเป็นเครื่องหมายไว้กราบไหว้บูชาตลอดทางและยังมีเรื่องเล่าตกทอดสืบมาจนถึงทุกวันนี้

สถานที่เกิดที่บ้านดีหลวง ในปัจจุบันยังคงว่างเว้นพื้นที่ไว้ มีแต่ต้นไม้ต่างๆ โดยเฉพาะต้นมะพร้าวร่มครึ้ม
บริเวณท้องนาที่เล่ากันว่าพ่อและแม่ของหลวงพ่อทวดอธิฐานขอให้งูใหญ่เลื้อยจากไปจากบริเวณที่แขวนเปล ชาวบ้านรอบๆ ปั้นเป็นรูปปั้นเล่าเรื่องขนาดเกือบเท่าจริง
บริเวณวัดดีหลวง ซึ่งมีต้นเลียบหรือต้นกร่างสถานที่ฝังรกของหลวงพ่อทวด
รูปปั้นหลวงพ่อทวดเดินธุดงค์ เป็นหนึ่งในรูปปั้นที่นิยมกันนอกจากรูปปั้นหรือรูปหล่อในท่านั่งสมาธิ

สมเด็จเจ้าพะโคะ

“หลวงพ่อทวด” หรือ “สมเด็จเจ้าพะโคะ” ไม่ใช่เป็นเพียงตำนานเล่าขานกันในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ปรากฏในหลักฐานเอกสารที่ชาวบ้านเก็บรักษาไว้เรียกว่า “พระตำรา” เป็นเอกสารเก่าหนังสือสมุดไทยขาวเส้นหมึกหรือ หนังสือบุดและ หนังสือเพลา มีอายุตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องมีผู้ดูแลตามสายตระกูล ภายหลังในยุคสมัยกรุงเทพฯ มีการเก็บรวบรวมโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการหัวเมืองพัทลุง ทรงนำหนังสือบุดขาวและเพลาเหล่านี้ไปเก็บรักษาไว้ในหอสมุดวชิรญาณ และจัดพิมพ์ภายหลังในชื่อ ประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา สมัยอยุธยา

ในหนังสือเพลาเรื่องกัลปนาวัดพะโคะกล่าวว่า เขาพะโคะเดิมชื่อ “เขาภีพัชสิง” หรือ “พิเพชรสิง” ต่อมามีการสร้างวิหารและสร้างรูปพระโคะหรือ “พระโคตรมะ” ขึ้น ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ จากนั้นมา ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าเขาพะโคะ บริเวณรอบเขาพะโคะเป็นชุมชนใหญ่มาแต่สมัยโบราณ เขาที่อยู่ต่อเนื่องจากเขาพะโคะคือเขาคูหาซึ่งมีหลักฐานของการขุดเจาะถ้ำเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเนื่องในศาสนาฮินดู โดยพบแท่นหินโยนีและศิวลึงค์อยู่ภายในคูหาถ้ำ มีท่าเรือที่สามารถติดต่อกับชุมชนรายรอบทะเลสาบและปากน้ำทางทะเลได้โดยไม่ยากนัก อยู่ในรัศมีไม่เกินหนึ่งถึงสองกิโลเมตรใกล้เคียงกับวัดพะโคะ บริเวณนี้มีการอยู่อาศัยสืบเนื่องจากเมืองสทิงพาราณสีในตำนานในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ลงมา และกลับมารุ่งเรืองในสมัยสมเด็จเจ้าพะโคะ

เนื่องจากบ้านเมืองแถบนี้ถูกโจมตีจากโจรสลัดมลายูหลายครั้ง วัดพะโคะก็เป็นแห่งหนึ่งที่ถูกปล้นและเผาบ้านเผาเมืองครั้งใหญ่ มีบันทึกไว้ว่าราวปลายสมัยสมเด็จพระนเรศวร บ้านเมืองระส่ำระสายไม่สามารถฟื้นตัวได้ ต่อมาเจ้าอาวาสวัดพะโคะหรือหลวงพ่อทวดซึ่งเคยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาและน่าจะเป็นพระสงฆ์ผู้มีบารมีพอสมควรในฐานะพระผู้ใหญ่ จึงขอพระราชทานการบูรณะวัดครั้งสำคัญในสมัยของพระเอกาทศรถ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๓ หรือในอีกราวกว่าสิบปีต่อมา

พระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาพระราชทานพระบรมราชูทิศกัลปนาวัดต่างๆ ตั้งแต่บริเวณปากทะเลสาบสงขลาที่หัวเขาแดงจนถึงเขาพังไกร ทั้งหมดราว ๖๓ วัด ขึ้นกับวัดพะโคะ จนกลายเป็นประเพณีที่วัดต่างๆ ในแถบนี้มักจะขอพระราชทานพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานที่ดิน ไร่ นา อันเป็นของหลวงให้วัดวาอาราม เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนารวมทั้งผู้คนเพื่อปรนนิบัติพระสงฆ์และทำไร่ทำนา การกัลปนาเหล่านี้ถูกบันทึกและยืนยันในสิทธิของวัดเหนือที่ดินและผู้คน ปรากฏอยู่ในเพลาพระตำรา ซึ่งมีการเก็บรักษาสืบทอดกันอีกหลายฉบับ

การขอพระราชทานเพื่อกัลปนาสิ่งต่างๆ ในวัดพะโคะสมัยนั้นคือ การบูรณะพระมาลิกเจดีย์ วิหารพระพุทธบาท และศาสนสถานอื่นๆ โดยได้รับพระราชทานยอดพระเจดีย์เนื้อเบญจโลหะ ยาว ๓ วา ๓ คืบ มาจากกรุงศรีอยุธยา

สาเหตุแห่งการกัลปนาครั้งยิ่งใหญ่แก่บ้านเมืองชายเขตพระนครครั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากความต้องกาสร้างชุมชนในเขตคาบสมุทรให้เข้มแข็งโดยการนำของพระสงฆ์  เพื่อปกป้องบ้านเมืองจากการปล้นสะดมเผาบ้านเมือง            

ของโจรสลัด การเข้ามามีอิทธิพลของชาวมลายูมุสลิมทางแหลมมลายู ท่านได้รับสมณศักดิ์ ให้เป็น  สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณปรมาจารย์ เจ้าคณะลังกาชาด         

อีกกว่าสิบปีต่อมา โจรสลัดจากปลายแหลมมลายูก็เข้าปล้นบ้านเมืองอีกครั้ง หลังจากนั้นไม่นานชาวบ้านร่ำลือว่าหลวงพ่อทวดปรากฏเป็นดวงไฟแล้วหายไปพร้อมกับสามเณรรูปหนึ่งมุ่งไปทางทิศใต้ จากนั้นก็ไม่เคยมีผู้ใดพบท่านที่คาบสมุทรสทิงพระอีกเลย

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของวัดพะโคะยังมีสืบเนื่องต่อมา โดยมีหลักฐานการบูรณะขึ้นใหม่และมีชื่อแบบเมืองหลวงว่า “วัดราชประดิษฐาน” ทั้งมีการขอกัลปนาไร่นาข้าพระขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยพบเอกสารที่ถูกรวบรวมไว้ที่หอสมุดวชิรญาณอีกเช่นกัน คือ แผนที่ภาพกัลปนาวัดพะโคะ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีขนาดยาวมากนับรวมได้ถึง ๓๘ คู่ หรือ ๗๖ หน้าสมุดข่อย แผนที่ฉบับนี้น่าจะเขียนขึ้นภายหลัง พ.ศ. ๒๒๒๓ แต่คงก่อน พ.ศ.๒๒๔๒ คือเขียนขึ้นหลังจากปราบขบถเมืองสงขลา  ได้แล้ว และเจตนาในการเขียนก็เพื่อบอกเขตหัวเมืองพัทลุงฝ่ายตะวันออก พร้อมกับบอกชื่อวัดที่ขึ้นกับวัดพะโคะ คณะลังกาชาด สมัยพระครูธรรมทิวากรวรมุนีศรีสัทธรรมมาทิพซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แผนที่นี้ทำให้เห็นความหนาแน่นของวัดวาอารามอันแสดงถึงความมั่นคงทางศาสนาและชุมชนที่เป็นอิสระจากรัฐท้องถิ่นและส่วนกลางมากพอที่จะมีอิสระในการทะนุบำรุงชุมชนหมู่บ้านและวัดของพวกตนให้รุ่งเรือง ดังภาพจิตรกรรมเพื่อการกัลปนานั้นแสดงไว้

ภาพแผนที่กัลปนาวัดในคาบสมุทรสทิงพระ
วัดพะโคะหรือวัดราชประดิษฐานในปัจจุบัน บนยอดเขาพะโคะหรือเขาพัทธสิงห์

วิหารธรรมศาลา เป็นอาคารศาสนสถานที่เหลืออยู่จากสมัยอยุธยาและมีตำนานเรื่องราวของหลวงพ่อทวดโดยละเอียดเล่ากันสืบมา

ภายในวิหารที่สร้างคลุมรอยเท้าบนพื้นหินที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรอยเท้าหลวงพ่อทวด ก่อนท่านหายตัวจากวัดไปโดยไร้ร่องรอย

พุทธศาสนาและการกัลปนา: ความมั่นคงของบ้านเมืองคาบสมุทร

สมเด็จ ๓ รูปในท้องถิ่นคาบสมุทรสทิงพระ คือ สมเด็จเจ้าพะโคะ สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ สมเด็จเจ้าเกาะยอ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้นำในท้องถิ่นแถบนี้ คือ พะโคะ เกาะใหญ่ และเกาะยอ ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก สามารถทำให้เห็นภาพของความสำคัญของพระสงฆ์ในแถบคาบสมุทรที่กลายเป็นผู้นำทั้งทางการปกครองและทางวัฒนธรรมของชุมชนและบ้านเมืองแถบรอบทะเลสาบสงขลาได้เป็นอย่างดี

การที่หัวเมืองปลายเขตแดนและอำนาจทางการเมืองของกรุงศรีอยุธยา หากได้รับการทะนุบำรุงเอาใจใส่ทั้งพระสงฆ์และข้าพระที่เป็นชาวบ้านให้มีความเป็นอยู่โดยไม่ต้องเข้าเกณฑ์แรงงานหรือส่งส่วยเหมือนกับท้องถิ่นอื่นๆ เช่นนี้ ก็สืบเนื่องมาจากการกัลปนาหรืออุทิศจากพระมหากษัตริย์ที่่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของบ้านเมืองในเขตนี้ โดยให้พระสงฆ์มีอำนาจบารมีในการปกครองดูแล แม้จะมีเจ้าเมืองประจำการอยู่ก็ตาม จึงพบว่าบารมีของพระสงฆ์ในแถบคาบสมุทรสทิงพระนั้นมีมากมาย มีสถานที่สิ่งก่อสร้างและเหตุการณ์ต่างๆ เล่าขานสืบเนื่องส่งต่อกันมาอย่างจริงจังเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าสี่ร้อยปี

เมื่อพ่อค้าชาวเปอร์เซียได้สร้างเมืองสงขลาอย่างเป็นเอกเทศ สถาปนาตนเองเป็นสุลต่านสุไลมาน ณ บริเวณหัวเขาแดง อันเป็นยุคหลังเมืองพัทลุงตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลงมา และมีการเข้ามาของพ่อค้าและบริษัทการค้าที่มีอำนาจทางการเมืองของชาติตะวันตกแล้ว การตั้งถิ่นฐานที่เสมือนสถานีการค้าพักสินค้าและเป็นท่าเรือที่เหมาะสม ทั้งยังสร้างป้อมปราการแข็งแรง จนสามารถแข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แม้ว่าปราบปรามได้ในภายหลัง 

แต่กรณีดังกล่าวทำให้บ้านเมืองโดยรอบทะเลสาบสงขลากลายเป็นหัวเมืองที่สำคัญยิ่งในช่วงการค้าทางทะเลเฟื่องฟู เพราะทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสินค้าส่งออกสามารถทำรายได้ให้กับรัฐที่ควบคุมอย่างกรุงศรีอยุธยาได้อย่างมหาศาล บ้านเมืองแถบสทิงพระและทางฝั่งพัทลุงไปจนถึงเขาชัยบุรีเติบโตขยับขยายมากขึ้นกว่าแต่เดิมอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกันก็พบหลักฐานร่องรอยของการสร้างเมืองที่เขาชัยบุรีคล้ายเมืองป้อมค่ายที่อยู่ภายในเนื่องจากการมีเหตุปล้นสะดมของโจรสลัดมลายูในช่วงนี้  จึงทำให้บริเวณโดยรอบทะเลสาบสงขลา กลายเป็นบ้านเมืองที่มีฐานเศรษฐกิจสำคัญแห่งหนึ่งและเป็นที่หมายของกลุ่มโจรสลัดจนทำให้เกิดการปล้นบ้านปล้นเมืองเกิดขึ้นหลายครั้ง

กลุ่มโจรสลัดมลายูที่ปลายแหลมมลายูและในหมู่เกาะแถบสุมาตราก็คือ โจรสลัดอันเป็นที่รู้จักกันดีในช่องแคบมะละกา มีการกล่าวถึงกันมากและพบในหลายเอกสาร เช่น ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช เรียกว่า พวก  “อุยงตะนะ” ในบางแห่งก็เรียกว่า “อาจะอารู” ซึ่งเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม เมื่อปล้นทรัพย์สินแล้วก็มักจะเผาศาสนสถานวัดวาอารามและบ้านเมืองไปพร้อมกันด้วย  การปล้นสะดมเกิดขึ้นบ่อยครั้งและน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการปรับปรุงการปกครองให้เป็นลักษณะที่วัดและคณะสงฆ์มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามแทนฝ่าย    ฆารวาสเพียงฝ่ายเดียว เช่น ที่กรุงศรีอยุธยาให้อำนาจพระสงฆ์คณะลังกาชาดที่วัดพะโคะ เกณฑ์ชาวบ้านซึ่งเป็นข้าพระสู้ศัตรูได้อย่างเต็มที่ 

ดังนั้น เรื่องราวของหลวงพ่อทวดที่วัดพะโคะจึงสัมพันธ์กับการกัลปนาเพื่อวัดและพระสงฆ์ของทางกรุงศรีอยุธยาอันมีสาเหตุเนื่องมาจากป้องกันการโจมตีของกลุ่มโจรสลัดมลายู

อีกสาเหตุหนึ่งสันนิษฐานว่า บริเวณคาบสมุทรสทิงพระเป็นเขตต่อแดนระหว่างอำนาจทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยากับปาตานี ซึ่งเป็นรัฐอิสลามและมีความสำคัญในฐานะเมืองท่าทางการค้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสงขลาและนครศรีธรรมราชจึงมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมืองเป็นประจำจากการรบพุ่งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับฐานทางเศรษฐกิจของขุนนางและตระกูลใหญ่ต่างๆ ภายในด้วย 

การเป็นเมืองชายขอบต่อแดนกับบ้านเมืองต่างศาสนาที่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ต้องมีการทะนุบำรุงคณะสงฆ์และฝ่ายศาสนาเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง การปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองโดยคณะสงฆ์ที่เข้มแข็งยังจะอาจพ้องกับตำนานหลวงพ่อทวดในช่วงบั้นปลายชีวิตที่ท่านหายไปจากวัดพะโคะ แต่ไปปรากฏเรื่องราวและอภินิหารต่างๆ อยู่ที่วัดช้างให้ ในอำเภอโคกโพธิ์ เขตเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นชุมชนพุทธในหัวเมืองมลายูมุสลิม อันอาจจะเป็นการออกเผยแพร่ศาสนาจาริกธุดงค์ของสมเด็จเจ้าพะโคะจนกลายเป็นตำนานที่รู้กันภายหลัง

การที่มีโจรสลัดออกปล้นสะดมบ้านเมืองต่างๆ อย่างชุกชุมอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดการสร้างเมืองป้อมที่อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดินที่ “เขาไชยบุรี” ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และแต่งตั้งพระยาราชบังสัน (ตะตา) ผู้มีเชื้อสายสุไลมานและโดยตำแหน่งก็คือแม่ทัพเรือของกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นคนมุสลิมแทบทั้งหมด กลับมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงและสืบเชื้อสายต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนย้ายเมืองไปอยู่ที่ลำปำ

การมีเจ้าเมืองเป็นแม่ทัพเรือของรัฐแสดงถึงความไม่ปกติและสันนิษฐานได้ว่า ในเขตพัทลุงจนถึงฝั่งสทิงพระนั้นน่าจะมีเหตุการณ์สู้รบทางทะเลที่ต้องอาศัยความชำนาญของแม่ทัพเรือเพื่อเข้ามาควบคุมบ้านเมืองทางแถบนี้เป็นหลัก และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์โจรสลัดปล้นบ้านปล้นเมืองในแถบนี้

ด้วยเหตุดังกล่าวมาข้างต้น เราจึงพบหลักฐานมากมายเกี่ยวคณะสงฆ์และการกัลปนาที่ดินและผู้คนเพื่อเป็นข้าพระโยมสงฆ์ทั้งทางฝั่งสทิงพระ ระโนดและฝั่งวัดเขียนจนถึงเมืองพัทลุง 

เจดีย์ที่วัดเขาเมืองเก่า เขาเมืองไชยบุรี เมืองพัทลุงใหม่ที่อยู่ในตำแหน่งเหนือกว่าเมืองพะโคะในคาบสมุทรสทิงพระ
บ้านเจ้าเมืองที่ลำปำ เมืองใหม่ริมปากน้ำลำปำต่อกับทะเลสาบสงขลา
บริเวณที่ราบท้องทุ่งสลับกับเทือกเขาลูกโดดของเมืองพัทลุง มองจากเขาเมืองไชยบุรี

พลังศรัทธา

บทบาทของหลวงพ่อทวดในฐานะผู้นำทางศาสนาและชุมชนคงมีมากมายจนปรากฏเป็นเรื่องเล่าและตำนานหลายประการด้วยกัน จนกระทั่งเลื่องลือไปถึงปัตตานีและไทรบุรีหรือเคดาห์ในปัจจุบัน

ในขณะที่สมเด็จเจ้าพะโคะหายไปจากวัดพะโคะ แต่ก็มีตำนานเล่าเรื่องพระภิกษุชรารูปหนึ่งปรากฏตัวขึ้นที่เมืองรัฐไทรบุรี พระภิกษุรูปนี้เป็นปราชญ์ทางธรรมและเชี่ยวชาญทางอิทธิปาฎิหาริย์เป็นที่ศรัทธาของชาวเมืองที่นับถือพุทธ  ต่อมาท่านก็ได้เป็นสมภารเจ้าวัดแห่งหนึ่ง เรียกกันว่า “ท่านลังกาองค์ดำ” สร้างวัดไว้ที่เมืองไทรบุรีหรือเคดาห์หลายแห่ง และสร้างวัดช้างให้ขึ้นที่ปัตตานีอีกวัดหนึ่ง

นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า การเป็นบ้านเมืองที่ประชิดกับเขตของชาวมลายูมุสลิม ทำให้ท่านออกธุดงค์เพื่อเผยแพร่ศาสนาพุทธไปในบ้านเมืองที่ชนชาวมลายูเป็นกลุ่มใหญ่ และการกระทำเช่นนี้อาจถือว่าเป็นการนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง การออกเผยแพร่ศาสนานั้นในยุคนั้นก็คืออุดมการณ์เพื่อปรับเปลี่ยนผู้คนต่างศาสนาให้เป็นพุทธศาสนิก หลังจากที่ต้องต่อสู้กับการถูกโจรสลัดชาวปลายแหลมมลายูปล้นสะดมและเผาบ้านเผาเมืองหลายต่อหลายครั้ง

จากเรื่องเล่าของท่านที่หายตัวไปโดยไม่มีผู้ใดทราบทำให้ผู้คนในคาบสมุทรสทิงพระท้องถิ่นของท่านเชื่อว่า สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวด เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งลงมาโปรดบนโลกมนุษย์ชั่วคราว แล้วท่านก็นำดอกไม้ทิพย์พร้อมสามเณรขึ้นสวรรค์ไปพร้อมกัน ก่อนที่ท่านจะจากวัดพะโคะไปโดยไม่มีร่องรอย ท่านได้ทิ้งสิ่งสำคัญไว้ที่วัดพะโคะ ๒ อย่างคือ ลูกแก้ววิเศษที่พญางูใหญ่ได้คายไว้ตั้งแต่ยังเป็นทารก และรอยเท้าที่ท่านเหยียบประทับไว้บนแท่นหินบนหน้าผาที่วัดพะโคะ กลายเป็นคำร่ำลือและเป็นสิ่งและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมไปกราบไหว้บูชา

สำหรับตำนานทางบ้านเมืองต่างๆ ในเส้นทางที่หลวงพ่อทวดเดินธุดงค์ผ่านไปก็พบสัญลักษณ์หรือเรื่องราวต่างๆ เล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เมื่อครั้งเดินทางจากสทิงพระไปยังกรุงศรีอยุธยาด้วยเรือสำเภา ระหว่างทางเกิดคลื่นลมแรงเรือไปต่อไม่ได้ ต้องลอยลำอยู่กลางทะเลจนน้ำจืดหมด หลวงพ่อทวดได้แสดงอภินิหารเอาเท้าเหยียบน้ำทะเล กลายเป็นน้ำจืดดื่มกินได้ ให้ลูกเรือขนน้ำไปใช้ในระหว่างการเดินทาง ชาวบ้านให้ความเชื่อถือเมื่อพบว่ามีบ่อน้ำจืดอยู่กลางทะเลที่เกาะนุ้ย บริเวณอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้สร้างรูปบูชาหลวงพ่อทวดขนาดหน้าตัก ๓๖ นิ้ว อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่เกาะนุ้ย  บ่อน้ำจืดปกติจะยังใช้ไม่ได้ต้องรอน้ำทะเลลดประมาณห้าโมงเย็น  

หรือกรณีพายุที่พัดหนักเมื่อปลายปี ๒๕๕๓ ทำให้ชาวบ้านในเขตชายฝั่งของแถบสทิงพระบ้านเรือนเสียหายเกิดความหวาดหวั่นขวัญหาย เมื่อพายุจัดพัดหนักมาก ก็ร่วมกันเดินทางเข้ามาพักอาศัยที่วัดพะโคะเพื่อหาที่พึ่งหนีพายุและพึ่งทางใจ เนื่องในความศรัทธาต่อหลวงพ่อทวด

แต่สำหรับปัจจุบัน ตำนานหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วประเทศเกิดขึ้นจากการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดเพื่อไว้กราบไหว้บูชา โดยนายอนันต์ คณานุรักษ์  ชาวเมืองปัตตานี ที่ให้สร้างพระเครื่องรางเป็นรูปภิกษุชราขึ้นแทนองค์ของท่าน นายอนันต์นมัสการพร้อมทั้งปรึกษาท่านอาจารย์ทิมเจ้าอาวาสวัดช้างให้ เพื่อทำพิธีปลุกเสกเบ้าและพิมพ์พระเครื่องหลวงพ่อทวดรุ่นแรกได้ ๖๔,๐๐๐ องค์ ทั้งที่ตั้งใจจะพิมพ์ให้ได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ เพื่อใช้สมทบทุนสร้างอุโบสถวัดช้างให้

จนทุกวันนี้พระเครื่องหลวงพ่อทวดกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนต่างหามากราบไหว้บูชา กลายเป็นเครื่องรางของขลังมีมูลค่าราคาไม่น้อย และทำให้หลวงพ่อทวดเป็นที่รู้จักจากผู้คนภายนอกที่วัดช้างให้เสียมากกว่าที่วัดพะโคะอันเป็นถิ่นเกิดและมีตำนานบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรสทิงพระมากมาย

“สมเด็จเจ้าพะโคะ”ผู้นำทางวัฒนธรรมแห่งเมืองใต้

เรื่องราวเกี่ยวกับหลวงพ่อทวดคงสามารถแยกได้เป็นสองเรื่องราว คือ ตามประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏนามว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ” และเรื่องราวตามตำนานเล่าขานสืบต่อมาซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด”

การผสมผสานระหว่างบันทึกทางประวัติศาสตร์และตำนานบอกเล่าทำให้เรื่องของหลวงพ่อทวดยังเป็นที่เล่าลือกันมาถึงทุกวันนี้ โดยสถานที่ที่ปรากฏในตำนานหลวงพ่อทวดได้รับการเก็บรักษาไว้โดยท้องถิ่นเป็นอย่างดี เช่น ต้นเลียบขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าฝังรกของหลวงพ่อทวดไว้ถือเป็นตัวแทนของหลวงพ่อทวด มีการสร้างศาลาตาหู-ยายจันทร์ โยมบิดามารดาของหลวงปู่ทวดไว้ในบริเวณใกล้เคียงกันมีสถูปสมภารจวง พระอาจารย์องค์แรกของหลวงปู่ทวดที่วัดดีหลวง สถานที่เหล่านี้ทำให้ตำนานของหลวงพ่อทวดยังคงโลดแล่นในความทรงจำ

เรื่องราวของหลวงพ่อทวดยังคงเป็นตำนานการบอกเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ผู้หนึ่งอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่หลวงพ่อทวดยังคงเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน เมื่อเขาเหล่านั้นได้รับความทุกข์ยากและไม่ได้รับการเยียวยาจากใคร เชื่อมโยงให้คนทั้งหมดในท้องถิ่นให้มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะตั้งรับแรงปะทะใหม่ๆจากภายนอกในอนาคตได้อย่างมีสติและไม่หลงทางไปกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว.

ศาลตาหูยายจันทร์ พ่อและแม่ของหลวงพ่อทวดที่วัดดีหลวง
ลุงเชือบกับภรรยา ชาวบ้านที่เชิงเขาพะโคะผู้เล่าเรื่องราวต่างๆ ของหลวงพ่อทวดและศรัทธาอย่างสุดจิตสุดใจ
ชาวบ้านที่เดินทางมาทั่วสารทิศ กราบไหว้บูชาหลวงพ่อทวดที่วัดพะโคะ
สัมภาษณ์ 
เชือบ คงธรรม (ไวยาวัจกรวัดพะโคะหรือวัดราชประดิษฐาน ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลา)
เอกสารอ้างอิง
ประวัติหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดและคุณอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ วัดช้างให้ ต้นฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๔   http://www.luangpohtuad.org
ชัยวุฒิ พิยะกูล. การปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทหนังสือบุดเรื่อง: กัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2553