วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (เคยพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม)
ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖ อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ โดยใช้พงศาวดารพม่าฉบับหลวงเรียกว่า เรื่องมหาราชวงศ์ฉบับหอแก้ว ที่พระไพสณฑ์สาลารักษ์ได้สำเนามาจากพม่า ร่วมกับจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศและพระราชพงศาวดาร ประกอบขึ้นเป็นการอธิบายเรื่องสงครามระหว่างไทยกับพม่าตั้งแต่ครั้งแรกจนครั้งสุดท้าย
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ “พรรณนาการสงครามเป็นรายเรื่องโดยพิสดาร” ซึ่งหมายถึงทรงวินิจฉัย อธิบายความเพิ่มเติมจากข้อมูลต่างๆข้างต้น จนกลายเป็นเนื้อหาใหม่ของสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่ผ่านสายตาและการนำเสนอของนักประวัติศาสตร์ ดังนั้น นักเรียนประวัติศาสตร์จึงสามารถตรวจค้นตรวจสอบ หากมีข้อมูลหรือข้อเสนอใหม่ได้อย่างแน่นอน

เพราะอ่านพบพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า พ.ศ.๒๔๕๑ เมื่อถึงเมืองนครสวรรค์ได้ทอดพระเนตรชีวิตผู้คนและสภาพธรรมชาติตามลำน้ำแควใหญ่หรือแม่น้ำน่านเข้าไปตามลำน้ำเชียงไกร โดยมีพระบรมราชาธิบายว่า
“แม่น้ำเชียงไกรนี้ เป็นทางขึ้นไปแม่ยมไปสุโขทัย สวรรคโลกได้ ในพงศาวดารว่าเสด็จไปเชียงกราน คงไปทางลำน้ำนี้ แต่เมืองจะอยู่แห่งใดถามยังไม่ได้ความ เพราะผู้ที่อยู่ในที่นี้เป็นคนมาจากที่อื่น ได้ความแต่ว่า ถ้าจะไปบางคลานอำเภอเมืองพิจิตร คงจะถึงในเวลาพลบค่ำ ได้ทำคำสั่งเรื่องที่จะตรวจสอบแม่น้ำเก่า…”
ในพงศาวดารที่มีพระมหากษัตริย์เสด็จไปเชียงกราน คงมีเพียงสมเด็จพระไชยราชาธิราชตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า
“ศักราช ๙๐๐ จอศก (พ.ศ.๒๐๘๑) แรกให้พูนดิน ณ วัดชีเสียงใสเดือนหกนั้น แรกสถาปนาพระพุทธเจ้าและพระเจดีย์ ถึงเดือน ๑๑ ก็เสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน เถิงเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาค่ำประมาณยามหนึ่งเกิดลมพายุพัดหนักหนา และคอเรืออ้อมแก้วแสนเมืองมานั้นหัก และเรือไกรแก้วนั้นทลาย อนึ่ง เมื่อเสด็จมาแต่เมืองกำแพงเพชรนั้นว่าพระยานารายณ์คิดเป็นขบถ และให้กุมเอาพระยานารายณ์นั้นฆ่าเสียในเมืองกำแพงเพชร”
ซึ่งเหมือนกับพงศาวดารอื่นๆอีกหลายฉบับ ต่างกันแต่เพียงศักราช
ข้อความตอนสมเด็จพระไชยราชาเสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน ในพ.ศ.๒๐๘๑ กลายเป็นสงครามระหว่างไทยกับพม่าครั้งแรก โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายสอบค้นกับพงศาวดารพม่าและจดหมายเหตุของปินโตชาวโปรตุเกส ความว่า
ในสงครามครั้งที่ ๑ ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ.๒๐๘๑ ว่ากองทัพพระเจ้าตะเบงชะเวตี้เมืองตองอูมาตีเมืองหงสาวดีและเมืองเมาะตะมะ จัดการรวบรวมหัวเมืองมอญในมณฑลนั้นแล้วจึงยกทัพมาตีเมืองเชียงกรานซึ่งเป็นหัวเมืองปลายแดนไทย เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๐๘๑
“เมืองเชียงกรานนี้มอญเรียกว่า เมืองเดิงกรายน์ ทุกวันนี้อังกฤษเรียกว่า เมืองอัตรัน อยู่ต่อแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พลเมืองเป็นมอญ แต่เห็นจะเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ทำนองพระเจ้าตะเบงชะเวตี้จะคิดเห็นว่าเป็นเมืองมอญ จึงประสงค์จะเอาไปเป็นอาณาเขต
เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้มาตีได้เมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชาธิราชครองกรุงศรีอยุธยา จึงเสด็จยกกองทัพหลวงไปรบพม่า ในหนังสือพระราชพงศาวดารมีปรากฏแต่ว่า “ถึงเดือน ๑๑ เสด็จไปเมืองเชียงกราน” เท่านี้ แต่มีจดหมายเหตุของปินโตโปรตุเกสว่า ครั้งนั้นมีพวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ๑๓๐ คน สมเด็จพระไชยราชาธิราชเกณฑ์โปรตุเกสเข้ากองทัพไปด้วย ๑๒๐ คน (เหตุด้วยพวกโปรตุเกสชำนาญใช้ปืนไฟ ซึ่งในสมัยนั้นชาวตะวันออกยังมิสู้จะเข้าใจใช้) ได้รบพุ่งกับพม่าที่เมืองเชียงกรานเป็นสามารถ ไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ได้เมืองเชียงกรานเป็นของไทยดังแต่ก่อน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับมาถึงพระนครทรงยกย่องความชอบพวกโปรตุเกสที่ได้ช่วยรบพม่าคราวนั้น จึงพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนที่แถวบ้านดิน เหนือคลองตะเคียน แล้วพระราชทานอนุญาติให้พวกโปรตุเกสสร้างวัดวาสอนศาสนากันตามความพอใจ จึงเป็นเหตุที่จะได้มีวัดคริสตังและพวกบาทหลวงมาตั้งในเมืองไทยแต่นั้นมา” (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖ เล่มที่ ๕ : ๒๕๐๖, หน้า ๑๑–๑๒)
การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นัง มังเดซ ปินโต ค.ศ.๑๕๓๗–๑๕๕๘ ตอนที่เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามไม่มีตอนใดที่กล่าวถึงการสงครามกับพม่า แต่เป็นสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเชียงใหม่ดังนี้
“เราไปถึงกรุงศรีอยุธยา [Odia] ข้าพเจ้าใช้เวลาหนึ่งเดือนเต็มที่นั่นใช้เงิน ๑๐๐ ดูกาต์ ที่เพื่อนให้ยืมมานั้นเพื่อซื้อสินค้าตั้งใจว่าจะเอาไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นขณะเดียวกันกับที่สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงทราบว่าพระเจ้ากรุงเชียงใหม่[Chiammay] อันเป็นพันธมิตรกับพวกทิโมกูโฮ [Timocouhos] พวกลาวและแกว ชนชาติซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศตอนเหนือเมืองกำแพงเพชร [Capimper] กับพิษณุโลก [Passiloco] ได้มาล้อมเมืองกีติรวัน [Quitirvan] อยู่ จึงโปรดฯให้ป่าวประกาศไปทั่วราชธานีว่า บุคคลใดที่ยังไม่แก่เฒ่าและไม่ง่อยเปลี้ยเสียขา ให้เตรียมพร้อมที่จะไปในกองทัพทุกคน ตลอดแม้คนต่างด้าวก็เช่นกัน นอกจากว่าจะเลือกเอาทางออกไปให้พ้นประเทศของพระองค์เสียภายใน ๓ วันเท่านั้น สำหรับชาวโปรตุเกสซึ่งได้รับความยกย่องในประเทศนี้เหนือกว่าชนชาติอื่นๆนั้น พระองค์ก็โปรดฯให้กรมพระคลัง [Combracalam] ผู้รักษาพระนครมาขอร้องให้ร่วมไปในกองทัพของพระองค์ด้วยความสมัครใจ โดยพระองค์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นกองร้อยรักษาพระองค์อันเป็นการบังคับเราอย่างยิ่ง กระทั่งว่าในจำนวนชาวโปรตุเกส ๑๓๐ คนนั้น ต้องโดยเสด็จงานพระราชสงครามด้วยถึง ๑๒๐ คน
กองทัพนั้นเคลื่อนที่ไปโดยทางชลมารคเป็นเวลา ๙ วัน จึงถึงเมืองหน้าด่านชื่อเมืองสุโรพิเสม [Suropisem] ห่างจากเมืองกีติรวันประมาณ ๑๒–๑๓ ลิเออ และพักอยู่ที่นั่นถึง ๗ วัน เพื่อรอขบวนช้างที่เดินมาโดยทางสถลมารค พอขบวนช้างมาถึงพระองค์ก็ทรงนำเข้าโจมตีพวกที่ล้อมเมืองอยู่ทันที เป็นผลให้ข้าศึกแตกพ่ายไปภายในไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงบังคับให้พระนางแห่งกีเบน [la reine de Guiben] ถวายเครื่องราชบรรณาการ เข้ายึดค่ายรอบทะเลสาบเมืองสิงกะปาโมร์ [Singapamor] หรือเชียงใหม่ได้ ๑๒ แห่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงศรีอยุธยา มีการฉลองชัยกันอย่างครึกครื้นถึง ๑๒ วันตามธรรมเนียมทางศาสนาของพวกนอกศาสนาเหล่านั้น” (การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นัง มังเดซ ปินโต ค.ศ.๑๕๓๗–๑๕๕๘ ,สันต์ ท. โกมลบุตร(แปล) : ๒๕๒๖ : หน้า ๖๕–๖๗)
พม่าย้ายศูนย์อำนาจทางการเมืองจากตอนเหนือของลุ่มอิระวดีสู่บริเวณหัวเมืองมอญแถบเมาะตะมะของกษัติรย์พม่าในราชวงศ์ตองอู เมื่อราว พ.ศ.๒๐๘๔ ซึ่งทำให้ควบคุมเมืองท่าการค้าในยุคเริ่มแรกของการค้าทางทะเลที่ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทได้ และเริ่มต้นทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองท่าเช่นเดียวกัน พม่าเข้าโจมตีที่พระนครศรีอยุธยาครั้งแรกคราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้างเมื่อพ.ศ.๒๐๙๑ และยึดเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ.๒๑๐๑ ก่อนจะถึงสงครามช้างเผือกและสงครามเสียกรุง ในพ.ศ.๒๑๐๖และ พ.ศ.๒๑๑๑ ตามลำดับ
แต่พงศาวดารพม่าก็ไม่มีเรื่องที่รบกับกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ชัยชนะเหนือเมืองเมาะตะมะเมื่อพ.ศ.๒๐๘๔ หลังจากสงครามเมืองเชียงกรานราว ๓ ปี (สุเนตร ชุตินธรานนท์ : พม่ารบไทย, ๒๕๓๗ หน้า ๑๔๖–๑๔๗)
ในสงครามครั้งนั้น จึงเป็นการสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเชียงใหม่ในยุคที่กำลังอ่อนแอในเรื่องศูนย์อำนาจ พ.ศ.๒๐๘๑ที่เกิดสงครามเมืองเชียงกรานเป็นปีสุดท้ายของพระเมืองเกษเกล้า มหาเทวีจิรประภาครองเมืองชั่วคราวระหว่างพ.ศ.๒๐๘๘–๒๐๘๙ ก่อนที่พระไชยเชษฐาจากล้านช้างจะมาครองเมืองเชียงใหม่ และปล่อยให้พม่ายึดครองเชียงใหม่ในราวอีก ๑๐ กว่าปีต่อมา
เมืองเชียงกรานน่าจะอยู่บริเวณใกล้เคียงกับเมืองกำแพงเพชรและเมืองพิษณุโลก ในจดหมายเหตุลาลูแบร์การเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาถึงนครสวรรค์โดยทางเรือใช้เวลา ๒๕ วัน แต่ถ้ารีบเร่งอาจใช้เวลาเพียง ๑๒ วัน ปินโตชาวโปรตุเกสเล่าว่าใช้เวลาเดินทาง ๙ วันจึงถึงเมืองหน้าด่าน Suropisem ซึ่งน่าจะอยู่เหนือขึ้นไปจากนครสวรรค์ไม่ไกลนักเพื่อรอทัพทางบก แล้วรวมทัพทางบกต่อไปถึงเมืองเชียงกรานหรือ [Quitirvan] ที่ห่างไปราว ๕๐–๖๐ กิโลเมตร
บริเวณเมืองเชียงกรานจึงควรจะอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างอำนาจทางการเมืองของล้านนาและกรุงศรีอยุธยา เหนือกำแพงเพชรและพิษณุโลกขึ้นไปแต่ไม่น่าจะเข้าเขตทุ่งเสลี่ยมเมืองเถินเมืองลี้ซึ่งอยู่ในเขตล้านนา บริเวณที่ตั้งของเมืองเชียงกรานที่เหมาะสมคือ ในกลุ่มเมืองสุโขทัยและเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย ซึ่งระยะทางจากสุโขทัยถึงศรีสชันาลัยอยู่ในราวระยะ ๕๐–๖๐ กิโลเมตร เมืองเชียงกรานจึงน่าจะอยู่ที่ศรีสัชนาลัยมากที่สุด ซึ่งเป็นบริเวณเหนือปากน้ำโพขึ้นไป ลำเชียงไกรต่อกับแม่น้ำยมผ่านบริเวณกลุ่มเมืองเหล่านี้ ดังพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า
ปัจจุบันมีการเปลี่ยนชื่อลำน้ำและตำบลในแถบนี้เป็น แม่น้ำเกรียงไกรและตำบลเกรียงไกร ตามชื่อกำนันคือ ขุนเกรียงไกรกำราบพาล ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ปากน้ำเชียงไกรอยู่เหนือปากน้ำโพเล็กน้อย อยู่ฝั่งตรงข้ามและต่ำกว่าปากคลองบอระเพ็ดไม่มากนัก ปัจจุบันปากคลองแคบลงกว่าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์มาก ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกกันว่าปากคลองบางพระหลวงมากกว่าแม่น้ำเกรียงไกร และแทบไม่มีผู้ใดรู้จักในชื่อลำเชียงไกรแล้ว

ภาคผนวก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จประพาศต้นลำเชียงไกรและบึงบอระเพ็ด
“ลำน้ำเชียงไกร วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ตุลาคม รศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) เวลาเช้า ๑ โมง ได้ลงเรือครุฑเหิรเห็จ ขึ้นไปทางแควใหญ่ แล้วไปทางลำน้ำเชียงไกร ลำน้ำนี้ยังกว้าง น้ำก็ลึก เรือพายม้าเดินได้ในฤดูแล้งตลอดปี สองข้างเป็นป่าไม้กะเบาเป็นพื้น มีเรือขึ้นล่องเนืองๆ บ้านเรือนรายกันไป ได้ผ่านบ้านขี้ฑูตที่จะเป็นตำบลที่พวกโรคเรื้อนอาศัยอยู่ ก่อนมีบ้านเรือนหลายหลัง ต่อไปจนถึงตำบลบ้านพระหลวง มีบ้านเรือนมากขึ้นหน่อย อยู่แพกันเป็นพื้น ได้แวะที่วัดพระหลวง วัดนี้ก็อยู่บนแพ มีแพโบสถ์หลัง ๑ แพการเปรียญหลัง ๑ แพกุฎี ๓ หลัง ที่นั้นน้ำลึกกว่าทุกแห่ง เดี๋ยวนี้ถึง ๑๑ ศอก เป็นที่ประชุมปลาอาศัยมาก มีปลาเทโพตัวใหญ่ๆ ในฤดูนี้ แต่เมื่อถึงฤดูปลาขึ้นเหนือ ปลาเทโพขึ้นไปเหนือ ปลาม้าเข้าอยู่แทน เพราะเป็นที่พ้นอันตราย ไม่มีใครไปทำร้าย มีพระสงฆ์อยู่ ๖ รูป เป็นพวกข้างเหนือ ๖ รูป มาแต่กรุงเทพฯ ๑ แต่อุโบสถไม่ได้ทำเพราะไม่มีผู้สวดปาฎิโมกข์ได้ พระสงฆ์ลงไปทำอุโบสถที่วัดปากน้ำในแควใหญ่ วิธีจองกฐินของเขาชอบกล เขียนลงในกระดาษปิดไว้ที่เสาแพการเปรียญว่า ผู้นั้นจองกฐินจะทอดกลางเดือน ๑๒ ไตร ๓ บริขารสำรับ ๑ อันดับองค์ละ ๔ บาท ถ้าผู้ใดจะถวายมากกว่านี้ เชิญท่านทอดเถิด ตามัคทายกแกบอกว่า ทำเช่นนี้ไม่เป็นการขัดลาภสงฆ์ มัคทายกผู้นี้คือ นายดัด เป็นชาวเมืองอ่างทอง ขึ้นมาตัดฟืนแล้วเลยจอดแพอยู่ที่นี่
การหากินทำปลาเป็นพื้นของพื้นที่ เหตุด้วยในลำน้ำนี้มีปลาชุม ส่วนผู้อื่นที่ขึ้นมาหากินในที่นี้ตัดฟืนเป็นพื้น การตัดฟืนใช้จ้างลูกจ้างจากลาวเหมาปีละชั่ง กินอยู่เป็นของผู้จ้าง แต่ถ้าอยู่ไม่ครบปีไปเสียก่อนไม่ต้องให้อะไรเลย ได้ฟืนเปล่า จึงเป็นอันได้ความว่า ด้วยเหตุนี้นี่เองเป็นเรื่องให้พวกลาวละทิ้งการรับจ้างทำนาที่คลองรังสิต ด้วยเจ้าของนาหรือนายกองนาคิดอ่านโกงพวกลาว ค่าจ้างไม่ได้จ่ายให้เป็นเดือนๆ ต่อครบปีจึงจ่าย ชั่ง ๑ ทีเดียว เมื่อทำงานมาหลายเดือนจวนสิ้นปีแล้ว กวนให้พวกลาวนั้นได้รับความลำบากเบื่อหน่ายละทิ้งงานไปเสีย ก็ไม่ต้องให้ค่าจ้าง หรืออีกอย่างหนึ่งถึงกำหนดแล้วก็ผัดไป เมื่อลาวไม่ได้เงินก็ไปไม่ได้ ครั้นเบื่อหน่ายเข้าต้องละทิ้งไป ผู้จ้างก็ยิ่งได้กำไรมากขึ้น ผู้ที่ทำการโดยซื่อตรงเช่นตาดัด อ้างว่าตัวเป็นคนซื่อตรง ว่าพวกลาวเหล่านี้ทำงานแข็งแรงและอยู่ด้วย ๓ ปี จึงกลับไปบ้านครั้งหนึ่ง อยู่บ้านเดือนเดียวก็กลับมาใหม่ ไม่ยากในการที่จะหาจ้าง ฟืนขายราคาที่ในลำน้ำนั้นพันละ ๗ บาท ๘ บาท ถ้าต้องล่องลงมาส่งข้างนอกขึ้นเป็นพันละ ๑๐ บาท
ได้เรียกลาวมาพูดด้วย ๔ คน มาจากเขมราฐ ๒ คน อุบลคน ๑ ศีรษะเกษคน ๑ ถามได้ความว่า หากินอะไรไม่สู้เป็นลูกจ้างทำทางรถไฟได้ถึงเดือนละ ๒๕ บาท ได้เสมอ จึงได้ถามว่าเหตุใดไม่ทำงานทางรถไฟต่อไป บอกว่าได้มากก็จริงแต่มีที่เสียมาก อยู่ด้วยกันมากๆ อดเล่นคู่คี่ไม่ได้เก็บเงินไม่อยู่ ที่หลีกหามากินเช่นนี้ เมื่อได้เงินคราวเดียวมากก็ได้กลับไปบ้าน เจ้านี้อยู่กันมา ๒ ปีแล้ว ปีหน้าจะไปบ้าน การที่ไปบ้านนั้นชั่วแต่เอาเงินไปให้ บิดา-มารดา บุตร ภรรยา ที่จะไปหากินในเมืองลาวไม่ใคร่ได้อะไร ลำบากมาก รับยืนยันว่านายดัดเป็นคนซื่อตรงให้เงินจริงๆ ฟืนนั้นโดยมาตัดลงไว้ก่อนน้ำมา เมื่อน้ำมาแล้วจมอยู่ในน้ำต้องนำขึ้นมารอนเป็นขนาดดุ้นฟืน ถ้าหากว่ารอนหมดในฤดูน้ำ ก็ไปตัดได้ทั้งฤดูน้ำ
เวลาที่ไปนี้มีแต่ลาว ๔ คนกับผู้ใหญ่ ๓ คน นอกนั้นลงไปอยู่ที่เขาบวชนาคซึ่งยังคงเหลือคนอยู่ เพราะเหตุที่กำลังทำธรรมาสน์จะมีมหาชาติเทศซ้อน แต่ยังมีความปราถนาเป็นอันมากที่จะเห็นฟ้า และบอกให้อนุโมทนาในเรื่องที่ได้ออกเงินหล่อรูปฟ้าพรรณนาถึงบุญคุณของฟ้าที่มีแก่ราษฎรเป็นอันมาก และการที่ได้ออกเงินหล่อรูปท่านไว้คงจะได้บุญมากและจะมีความจำเริญแก่ตัว ความปราถนามีอย่างเดียวแต่จะใคร่เห็นตัวฟ้า กรมหลวงดำรงเห็นบ่นคร่ำครวญนัก จึงชี้ตัวฟ้าให้เป็นที่ชื่นชมยินดีต้องไปหาธูปมาบูชาและรีบพาเด็กมารับเสมา คุยเด็ดว่าดีกว่าพวกที่ลงไปถึงเขาบวชนาค เพราะเหตุที่ตัวมุ่งหมายจะทำบุญกุศลส่งให้ฟ้าขึ้นมาถึงที่ได้เห็นสมประสงค์ ได้แจกเงินพระและให้เงินสำหรับซื้อไม้ยัดแพต่างหากอีก ๘๐ บาท แล้วล่องกลับลงมาจอดที่หน้าวัดเขา ซึ่งราษฎรมาประชุมกันอยู่ที่นั้น น้ำท่วมสะพานหมดไม่มีที่จะยืนต้องจอดเรืออยู่ แต่ราษฎรแข่งเรือกันสนุกสนานมาก การแข่งเรือที่นี่มาแต่เช้า แข่งเรือกันทอดหนึ่งแล้วขึ้นไหว้พระทักษิณแล้วกลับลงมาแข่งเรืออีดทอดหนึ่ง ค่อยๆโรยกันไปตามบ้านไกลบ้านใกล้ พวกที่ทวนน้ำก็ไปก่อนพวกที่ตามน้ำไปทีหลัง ไม่มีเรืออยู่เกินบ่าย ๓ โมง
แม่น้ำเชียงไกรนี้ เป็นทางขึ้นไปแม่ยมไปสุโขทัย สวรรคโลกได้ ในพงศาวดารว่าเสด็จไปเชียงกราน คงไปทางลำน้ำนี้ แต่เมืองจะอยู่แห่งใดถามยังไม่ได้ความ เพราะผู้ที่อยู่ในที่นี้เป็นคนมาจากที่อื่น ได้ความแต่ว่า ถ้าจะไปบางคลานอำเภอเมืองพิจิตร คงจะถึงในเวลาพลบค่ำ ได้ทำคำสั่งเรื่องที่จะตรวจสอบแม่น้ำเก่า”…..
“บ่าย ๕ โมงที่เขาบวชนาค พระยาไกรเพชรรัตนสงครามเลี้ยงน้ำชาเป็นการต้อนรับชายบริพัตรที่วัดนั้น พระครูสวรรค์นคราจารย์(ครุธ) เป็นผู้จัดการปฏิสังขรณ์ มีอุตสาหะมากอยู่ สร้างศาลาน้ำหลังใหญ่และพูนดินถนนสูงสัก ๖ ศอกเศษ ทำตะพานยาวมากข้ามที่แผ่นดินซึ่งน้ำท่วมคั่นเป็นมาบไปจนถึงชานเขา ทางซึ่งขึ้นเขาก็ซ่อมแปลงขึ้นได้สะดวก วิหารใหญ่ซึ่งถูกเพลิงไหม้ก็ปฏิสังขรณ์มุงหลังคาแล้วเสร็จ ช่อฟ้าใบระกามีพร้อมแล้วแต่ยังไม่ได้ยก ที่บนเขานั้นแลเห็นภูมิฐานเมืองนครสวรรค์ได้ตลอดหลายด้าน ตามเขานั้นก็ปลูกต้นไม้สักไว้มาก
วันที่ ๑ พฤศจิกายน เวลาเช้า ๑ โมงเศษ ลงเรือประทีปทัศนาการขึ้นไปจนถึงปากคลองบอระเพ็ดในลำน้ำแควใหญ่ ถ่ายลงเรือกลไฟเล็กเพราะคลองนั้นถึงว่าน้ำลึกถึง ๓ วา ก็คดมากเข้าไปไกลอยู่จนถึงบึงๆนี้ใหญ่มาก และเป็นทางที่จะไปได้หลายทางไม่มีกรุยก็หลง ถ้าจะถึงคลองบุษบงที่บางมูลนาคก็ไปได้ เวลาหน้าแล้งเป็นลำน้ำตลิ่งสูงเรือเดินเข้าออกตลอดปี มีคนอยู่ในนั้นมาก แต่เพราะเวลาหน้าน้ำๆท่วมเหลือเเกินนักจึงไม่ได้ปลูกเรือนปักเสาได้เลยอยู่แพทั้งสิ้น และท่าจะจอดแพอยู่ในที่ว่างๆก็ไม่ได้ ต้องเข้าแอบอยู่ตามพุ่มไม้ด้วยพายุจัด ต่อถึงฤดูแล้งจึงจะลงจอดอยู่ในลำคลอง มีแต่วัดๆเดียวซึ่งได้ใช้ปักเสากุฎี และบึงนี่เรียกชื่อว่าบึงบอระเพ็ดนั้น เฉพาะตัดลำคลองเข้าไปหน่อยหนึ่งเท่านั้น ต่อเข้าไปข้างในก็มีชื่อเป็นตำบลต่างๆ คนที่อยู่ในนั้นก็ทำปลาทั้งสิ้น นับว่าเป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งสนุกและงาม ข้างเมืองเหนือนี้ เขาผูกแพเล็กๆไว้สำหรับให้หยุดพักเป็นที่เลี้ยงกรมการและพวกพ่อค้าลงเรือมาเลี้ยงและได้แจกเสมาในที่นั้นด้วย”
ภาคผนวก ลำเชียงไกรและตำบลเกรียงไกร
เนื่องจากประมาณ พ.ศ.๒๔๗๓–๗๔ นายทัย สุวรรณกนิษฐ์ ได้เป็นกำนันในแถบลำเชียงไกร รับพระราชทานนามเป็น “ขุนเกรียงไกรกำราบพาล” ด้วยเหตุนี้ตำบลจึงเปลี่ยนเป็นตำบลเกรียงไกร ส่วนปากน้ำเกรียงไกร หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ปากน้ำน่านฝั่งตะวันออก มีวัดเกรียงไกรกลางตั้งอยู่ เดิมเรียกว่า “วัดปากน้ำ” ส่วนวัดเกรียงไกรกลาง เดิมเรียกกันต่างๆ คือ วัดเชียงกายหรือวัดเชียงกรายหรือวัดเชียงไกร ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวัดปากน้ำหรือวัดใหญ่ เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จทางชลมารคทอดพระเนตรเห็นว่าวัดนี้ถูกน้ำท่วมหมด
ที่วัดเกรียงไกรกลางมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่น เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ น่าจะมีอายุราวรัชกาลที่ ๕ น่าจะเป็นช่างกลุ่มเดียวกับวัดบางมะฝ่อ ลวดลายแบบลายดอกไม้ที่นิยมเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการเขียนในระยะใกล้ไกลตามแบบตะวันตก และลายรดน้ำที่ตู้พระธรรมเล่าเรื่องรามเกียรติ์ หนองราชมนต์เป็นสระน้ำที่วัดเกรียงไกรกลาง เดิมใช้เป็นที่ประกอบกิจของสงฆ์หรือโบสถ์น้ำ
วัดเกรียงไกรเหนือ เดิมชื่อว่า วัดบอระเพ็ด พ.ศ.๒๔๗๐ ทางราชการให้ประชาชนอพยพออกจากบึงบอระเพ็ดไปรวมกันที่หมู่บ้านท่าดินแดง วัดบอระเพ็ดถูกย้ายมาเรียกว่า วัดท่าดินแดงนอกหรือวัดท่าดินแดง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดเกรียงไกรเหนือ
วัดเกรียงไกรใต้ เดิมชื่อว่าวัดชุมนุมสงฆ์หรือวัดชุมสงฆ์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก โบสถ์ สร้างในสมัยอยุธยา วิหารประดิษฐานหลวงพ่อธรรมมูลและรอยพระบาทจำลองที่เก่าแก่และสวยงาม มณฑปเก่า ซากหักพังอยู่ด้านหน้าของวิหาร ศาลาการเปรียญทรงปั้นหยาที่สวยงาม