วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
บึงบอระเพ็ด เป็นบึงน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ หากมองจากยอดเขากบหรือเขาหลวงจะเห็นบึงน้ำกว้างใหญ่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง มีอาณาเขตในระหว่างรอยต่อของสามอำเภอคือ ตำบลหนองกรดและตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง ตำบลเขาพนมเศษ อำเภอท่าตะโก และตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง
ลักษณะทางภูมิศาสตร์
ลักษณะทางธรณีสัณฐานบริเวณบึงบอระเพ็ด อธิบายได้ว่ามีความสัมพันธ์กับแนวรอยเลื่อนแม่น้ำปิงที่พาดจากแนวตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้และที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ซึ่งมีแม่น้ำไหลมารวมกันหลายสาย เกิดการทรุดตัวของบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนบนเป็นแอ่ง ภายหลังมีตะกอนทับถมจนกลายเป็นบึงในปัจจุบัน
เทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นขอบเขตด้านตะวันออกของที่ราบเจ้าพระยาตอนบน มีทางน้ำหลายสายไหลลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำยม ทำให้เกิดเป็นพื้นที่เนินตะกอนรูปพัด(เกิดจากการที่น้ำไหลพาตะกอนจากภูเขาลงมาตามหุบเขาแคบๆด้วยความเร็วสูง พอถึงบริเวณที่ราบความเร็วของน้ำลดลง ตะกอนน้ำพามาจึงตกทับถมแผ่กว้าง
ธรรมชาติในบึงใหญ่
แต่เดิมบึงบอระเพ็ดเป็นเพียงคลองสายใหญ่ ซึ่งรับน้ำจากเขตอำเภอท่าตะโก ต่อเขตแดนเพชรบูรณ์ ในอดีตชาวบ้านรอบๆ เรียกว่าคลองบอระเพ็ด และตั้งแต่สถานีรถไฟปากน้ำโพไปทางทิศตะวันออกจนถึงอำเภอท่าตะโก มีป่ามากมาย เป็นป่าที่มีหนองน้ำเป็นพันๆ หนอง ในลำคลองบอระเพ็ดมีแต่จระเข้ ตามลำคลองตามหนองมีปลามากมาย พวกผู้ร้ายเวลาปล้นจะมาเก็บตัวที่ในป่าก็ตามจับไม่ได้ เป็นแหล่งที่เคยมีมหิงสาหรือควายป่ามากที่สุด และมีพวกละมั่งมากมีต้นจิก ต้นกระทุ่มทึบไปหมดในปี พ.ศ.๒๔๗๐ Dr.Hugh McCormick Smith ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันที่รัฐบาลจ้างมาเป็นที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำของประเทศ แนะนำให้สร้างประตูระบายน้ำ ทำให้ที่ลุ่มกลายเป็นบึง กรมประมงได้ดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำและฝายน้ำล้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ที่ระดับ ๒๓.๘๐ เมตรจากระดับทะเลปานกลาง วัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และได้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ พ.ศ.๒๔๘๐ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตคุ้มครองของกรมประมง นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศให้บึงบอระเพ็ดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ ใน พ.ศ.๒๕๑๘ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดหรืออุทยานนกน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของบึงบอระเพ็ด ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของบึง ตามเส้นทางสายท่าตะโก เป็นที่ราบอยู่ริมบึงเป็นที่ตั้งของสำนักงานซึ่งมีเรือนรับรอง มีการเช่าเรือไปชมนกน้ำนานาชนิด โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีนกอพยพมามากที่สุด นกชนิดหนึ่งที่ค้นพบที่บึงบอระเพ็ดเป็นแห่งแรกในประเทศไทยคือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร โดยนายกิตติ ทองลงยา เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นนกหายากมากจนไม่มีผู้พบเห็นมาหลายปีแล้ว ปัจจุบันได้รับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๑

และใน พ.ศ.๒๕๓๕ กรมประมงสร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำใหม่ ทำให้กักเก็บน้ำไว้ได้เพิ่มขึ้นอีก ๒๐ เซนติเมตร เป็นโครงการบูรณะแหล่งน้ำโดยปล่อยน้ำออกจากบึงเพื่อซ่อมประตูระบายน้ำ สร้างเขื่อนหรือคันกั้นน้ำใหม่ ขุดลอกบึง ทำลายวัชพืช จนทำให้บึงบอระเพ็ดแห้งแตกระแหง กลายเป็นผืนดินกว้างใหญ่ก่อนจะปล่อยน้ำให้มีระดับสูงขึ้นกว่าเดิม มีพื้นที่เหนือผิวน้ำประมาณ ๑๓๒,๗๓๗ ไร่ มีความลึกเฉลี่ยราว ๒.๖๒ เมตร บริเวณกลางบึงมีความลึกมากที่สุด ๔.๓๘ เมตร
บึงบอระเพ็ดกักเก็บน้ำฝนจากธรรมชาติ และน้ำที่ไหลลงจากที่สูงทางทิศตะวันออก ไหลลงสู่บึงทางคลองท่าตะโก คลองสายลำโพง คลองบอน คลองห้วยหิน ในบึงบอระเพ็ดมีพันธุ์ปลาประมาณ ๒๐๐ สายพันธุ์ โดยเฉพาะปลาเสือตอที่กำลังสูญพันธุ์ ทางกรมประมงกำลังเพาะเลี้ยงกันอยู่
พรรณไม้น้ำทั้งสิ้น ๒๙ วงศ์ ๕๒ สกุล และมากกว่า ๗๓ ชนิด ในบึงมีพรรณไม้น้ำแบ่งออกตามลักษณะการขึ้นตามธรรมชาติ เช่น บริเวณพื้นน้ำ มีพืชจำพวกแนนหรือดีปลีน้ำ สาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายเส้นด้าย สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายฉัตร พืชลอยน้ำ เช่น จอกหูหนู แหน ผักตบชวา ผักแพงพวย กระจับ พืชพ้นน้ำ เช่น กกต่างๆ ปรือ ธูปฤาษี บัวหลวง หญ้าแพรกน้ำ แห้วทรงกระเทียม เอื้องเพ็กม้า เทียนนา พืชที่อยู่บนเกาะหรือชายฝั่งที่น้ำอาจท่วมในฤดูน้ำหลาก เช่น ลำเจียก อ้อ พงแขม หญ้าปล้อง สนุ่น หญ้าชันกาด หญ้าไทร หญ้านกขาว และโสนกินดอก
มีการสำรวจความหลากหลายของนกที่อาศัยบึงบอระเพ็ดในเวลาหนึ่งปีว่ามีราว ๑๑๐ ชนิด ๗๘ สกุล ๓๕ วงศ์ เป็นนกประจำถิ่นราว ๔๗ ชนิด เช่น นกเป็ดผีเล็ก นกกาน้ำเล็ก นกอีโก้ง นกกวัก นกกระแตแต้แว้ด เป็นต้น นกอพยพที่ย้ายถิ่นหนีหนาวลงใต้ ราว ๔๒ ชนิด เช่น นกยางดำ นกยางแดง นกปากห่าง เป็ดลาย เป็ดหางแหลม เหยี่ยวทุ่ง นกอินทรีย์ปีกลาย เป็นต้น และนกที่เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพราว ๒๑ ชนิด เช่น นกยางโทนใหญ่ นกยางกรอก เป็ดหงส์ เป็ดแดง นกอีล้ำ นกแซงแซวหางปลาเป็นต้น ซึ่งนกทั้งหลายจะมีจำนวนมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน
มีการบันทึกไว้ก่อนการประกาศเป็นเขตหวงห้าม เล่าถึงความชุกชุมของจระเข้ไว้ว่า ชาวบ้านรอบบึงจะได้ยินเสียงจระเข้หอนเพื่อหาคู่ พอจับคู่ได้ก็เริ่มวางไข่
ชุมชนโบราณรอบบึงบอระเพ็ด
เมืองนครสวรรค์มีฐานะเป็นเมืองประชุมพลและเดินทัพผ่าน เพราะจากพม่าเข้าทางด่านแม่ละเมาตัดเข้าระแหง กำแพงเพชร นครสวรรค์ใช้เพียงช่วงประมาณ พ.ศ.๒๑๐๖–๒๑๒๙ หลังจากนั้นใช้เส้นทางเดินทัพใหม่ทางด่านเจดีย์สามองค์ แต่ก็กลับมาใช้เส้นทางนี้เมื่อสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ นครสวรรค์ทำหน้าที่เป็นเพียงเมืองส่งกำลังบำรุงทัพหลวงที่ขั้นไปตั้งรับทัพพม่าในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเป็นเมืองพักทัพ
ชุมทางน้ำที่บึงบอระเพ็ด
การขนส่งสินค้าจากเหนือคือไม้สัก และข้าวซึ่งส่งมาทางแม่น้ำน่านโดยอาศัยเรือยนต์ ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟในสมัยรัชกาลที่ ๕ การขยายตัวของการค้ามีมากขึ้น มีชาวจีนมากมายเข้ามาอยู่อาศัย ประมาณกันว่า พ.ศ. ๒๔๔๗ มีชาวจีนในนครสวรรค์ถึง ๖,๐๐๐ คน ในขณะที่ชาวจีนในกรุงเทพฯมีราว ๑๐,๐๐๐ คน ชุมชนแต่เดิมอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำน่าน (แควใหญ่) เพราะข้าวถูกส่งมาทางลำน้ำน่าน ต่อมาตัวเมืองขยายมาทางตะวันตกความเจริญสูงสุดในรัชกาลที่ ๖ และต้นรัชกาลที่ ๗
บริเวณนครสวรรค์เป็นชุมทางการค้า เป็นที่ชุมนุมของเรือสินค้าที่ใหญ่ที่สุดนอกจากกรุงเทพฯ ไม้สักจากภาคเหนือเป็นจำนวนมาก จะถูกส่งมาตามแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านมารวมกันที่ปากน้ำโพก่อนจะแยกส่งไปตามที่ต่างๆ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการขยายเส้นทางรถไฟไปถึงเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๔๖๕
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้สร้างสถานีรถไฟหนองปลิง(สถานีนครสวรรค์) ทำให้ความสำคัญในบริเวณแควใหญ่และการใช้เส้นทางน้ำลดลง ประกอบกับมีการสร้างถนนและเปิดสะพานเดชาติวงศ์ใน พ.ศ.๒๔๙๓ นครสวรรค์ได้กลายมาเป็นเมืองผ่าน เพราะสินค้าต่างๆ ไม่ต้องมารวมที่นครสวรรค์
บึงบรเพ็ดที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดูนกในปัจจุบัน
เดิมทีเดียวฝั่งตรงข้ามกับวัดเกรียงไกรเหนือเป็นที่ตั้งของอำเภอ หน้าวัดจึงเป็นที่จอดแพของพ่อค้าวานิชที่มาจากเหนือและใต้ วัดนี้จึงเป็นศูนย์กลางการค้าที่เจริญที่สุดในสมัยนั้น ต่อมาความเจริญได้เลื่อนลงมาที่ลำน้ำน่านหรือแควใหญ่ และปากน้ำโพปัจจุบัน ส่วนที่ว่าการอำเภอย้ายขึ้นไปที่ชุมแสง และพระครูสวรรค์วิถีวิสุทธิอุตตมคณาจารย์สังฆปาโมกข์(หลวงพ่อครุฑ) เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ได้ย้ายไปประจำที่วัดจอมคีรีนาคพรตและวัดนครสวรรค์ตามลำดับ จึงทำให้วัดหมดความสำคัญตามไปด้วย
(จดหมายเหตุระยะทางพิษณุโลก) ร.ศ.๑๒๐ ๒๔๔๕ ไปดูที่ปากน้ำโพ มีหมู่บ้านร้านตลาดตั้งอยู่เป็นอันมาก ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง(แควน้อย) ร้านตลาดกำลังรื้อกจุกกจุยแลสร้างใหม่ด้วยพระยาราชพงษาจัดการขยายถนนเป็นสี่วา กลับมาพักที่บ้านจีนสมบุญ เปนพ่อค้ารับสินค้าระหว่างกรุงเทพฯกับมณฑลพายัพตั้งอยู่หน้าวัดโพธารามที่หัวแง่ปากน้ำทีเดียว ลงเรือไปดูลำแควใหญ่มีแพจอดอยู่มากแต่ข้างฝั่งตะวันตกมีแพมากบนตลิ่งไม่มีบ้านเรือนนักเพราะพื้นดินต่ำ ข้างฝั่งตะวันออกเรือนแพน้อยแต่บเานเรือนมากเพราะเป็นท้องคุ้งน้ำแรงแลที่ดินพื้นสูง ในที่นี้ความหนาแน่นของบ้านเรือนพวงแพดูคล้ายคลองบางกอกน้อยเว้นแต่กว้างกว่าคลองบางกอกน้อยหน่อย น้ำในแควใหญ่นี้ลึกแลไหลอ่อนแต่น้ำในแควน้อยตื้นแลไหลแรง ดูลำน้ำไปถึงเกือบถึง ปากน้ำเชิงไกร
ถึงวัดสิงหนารายณ์ใกล้ปากน้ำเกยไชยแวะขึ้นดูไม่มีอะไรเป็นรศ แล้วลงเรือเล็กไปขึ้นวัดบรมธาตุที่ปากน้ำเกยไชย ไม่มีอะไรเป็นรศเหมือนกัน เหตุที่แวะสองวัดนี้เพราะพระยาไชยนาทบอกว่า เสนาบดีมหาดไทยเสด็จมาทอดพระเนตรโปรด ….ที่จริงก็เก่าจริงแต่เก่าไปเก่ง บ้านพิกุลเกือบปลายเขตนครสวรรค์
ชาวจีนที่เข้ามาในนครสวรรค์ มีชาวจีนไหหลำมากที่สุด เข้ามาแถวๆอำเภอเก้าเลี้ยวและบ้านมะเกลือก่อน ต่อมาพวกแต้จิ๋วก็อพยพเข้ามาค้าขายพวกผ้า เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ส่วนพวกจีนแคะและจีนกวางตุ้งนั้นมักเข้ามาทำโรงงานศูนย์กลางการค้าในจังหวัดนครสวรรค์ทางน้ำในอดีตมี ๓ ทางคือ
๑. การค้ากับชุมชนทางเหนือขึ้นไป เช่นกำแพงเพชร เชียงใหม่ ตาก ชาวนครสวรรค์เรียกว่าเป็น พวกลาว สินค้าคือการล่องซุงไม้สัก และสินค้าพื้นเมืองเช่น หวาย ชัน น้ำมันยาง สีเสียด เปลือกไม้ น้ำผึ้ง สีผึ้ง ขากลับบันทุกข้าว เกลือ ตลาดนี้เรียกว่า ตลาดลาว นอกจากนี้ยังมีพวกมอญจากบ้านแก่งเอาโอ่งมาขายด้วย
๒. การค้ากับผู้คนต่างอำเภอ เช่น อำเภอโกรกพระ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอบรรพตพิสัย อยู่บริเวณ สะพานดำ จะนำสินค้าพวกข้าว สัตว์ป่า ของป่ามาขาย
๓. ศูนย์กลางการค้าข้าวกับจังหวัดรอบๆ เช่น พิจิตร ตาก กำแพงเพชร อยู่บริเวณ ท่าซุด พ่อค้าข้าวจะมาซื้อข้าวที่นี่แล้วค่อยสั่งลงกรุงเทพฯ ขากลับจะบันทุกเกลือ มะพร้าว น้ำตาลปี๊บขึ้นมาขาย
ความเจริญของนครสวรรค์แต่เดิมจะอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ตัวเมืองเก่าลงมาประมาณ ๘ กิโลเมตร คือในแควใหญ่ตั้งแต่สถานีรถไฟปากน้ำโพ ลงมาถึงท่าปากน้ำโพ เพราะต้องอาศัยการขนส่งทางน้ำและรถไฟไปกรุงเทพฯ ส่วนตลาดปากน้ำโพฝั่งตะวันตกยังไม่เจริญ เราะพวกฐานะดีทั้งพ่อค้าชาวจีนและนายห้างฝรั่งจะอยู่บนแพทางฝั่งตะวันออก

ท่าเรือสถานีรถไฟปากน้ำโพ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอเมือง
ปากน้ำโพเป็นที่ชุมนุมของพ่อค้าไม้ที่ล่องมาจากภาคเหนือ จะมีบริษัทของชาวต่างชาติ เช่น บริษัทเบอร์เนียวจำกัด ตั้งบริษัทอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ใต้วัดไทรทองใต้ เหนือตลาดปากน้ำโพราว ๒ กิโลเมตร บริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงตอนใต้ของวัดคงคา เหนือตลาดปากน้ำโพราว ๑ กิโลเมตร บริษัทแองโกล มิสหลุยส์และบริษัทอีสเอเชียติก อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านใต้สถานีรถไฟปากน้ำโพใกล้ๆ วัดตะแบก(วัดปากน้ำโพใต้) และยังมีบริษัทต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก จนมีโรงเลื่อยอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนบริเวณเกาะยมมีโรงเรียน และส่งสินค้าให้ตลาดฝั่งตะวันตก
ตัวเมืองนครสวรรค์ทางฝั่งตะวันตกเริ่มมีความเจริญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้ย้ายตัวเมืองจากฝั่งตะวันออกมาทางฝั่งตะวันตก โดยแบ่งการปกครองเทศาภิบาล มณฑลนครสวรรค์ครอบคลุม ตาก กำแพงเพชร อุทัย และชัยนาท และการขนส่งทางน้ำได้ลดบทบาทลง มีการลาดยางถนนโกสีย์ซึ่งเป็นถนนสายแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ มีทางหลวงเชื่อมระหว่างอำเภอ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการสร้างสถานีรถไฟใหม่ที่ตำบลหนองปลิงซึ่งเป็นสถานีของจังหวัด เนื่องจากสถานีปากน้ำโพถูกระเบิดจนไม่อาจซ่อมแซมได้ดี พ.ศ. ๒๔๙๐ เกิดไฟไหม้ใหญ่ที่ตลาดปากน้ำโพ ความสำคัญในแควใหญ่ลดลง ความเจริญมาอยู่ทางฝั่งตะวันตกเต็มที่ พ.ศ. ๒๔๙๓ สร้างสะพานเดชาติวงศ์เสร็จ ทำให้มีการขนส่งระหว่างกรุงเทพฯ-นครสวรรค์สะดวกขึ้น การขนส่งทางน้ำลดความสำคัญลง
บรรณานุกรม
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.จดหมายเหตุเสด็จประพาศต้นในรัชกาลที่ ๕
นริศรานุวัดติวงศ์,กรมพระยา,สมเด็จเจ้าฟ้า.จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก โรงพิมพ์พระจันทร์, กรุงเทพฯ ๒๕๐๖
สุจินดา เจียมศรีพงษ์. ชุมชนชาวจีนและการเติบโตทางการค้าในจังหวัดนครสวรรค์ นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง สุภรณ์ โอเจริญ บรรณาธิการ อมรินทร์กรพิมพ์ กรุงเทพฯ, ๒๕๒๘
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. ธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ ด่านสุทธาการพิมพ์ กรุงเทพฯ, ๒๕๓๘
ปราโมทย์ ไวทยกุล. การศึกษาความหลากชนิดของนกบึงบอระเพ็ด สถาบันราชภัฏนครสวรรค์, ๒๕๓๗
วิเชียร อขิโนบุญวัฒน์. ภูมินามจังหวัดนครสวรรค์ สวรรค์วิถีการพิมพ์ ,นครสวรรค์, ๒๕๓๖
อูลีด้า. การกลับมาของจอมบึง สารคดี ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๑๗, พฤศจิกายน ๒๕๓๗
อนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม, หน่วย. แหล่งศิลปกรรมจังหวัดนครสวรรค์, สวรรค์วิถีการพิมพ์. นครสวรรค์
อนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม, หน่วย. สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมจังหวัดนครสวรรค์, เอกสารโรเนียว