วลัยลักษณ์  ทรงศิริ

(ปรับปรุงเพิ่มเติมจากฉบับพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ กค.-กย. พ.ศ. ๒๕๔๑)

ในการเตรียมการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่บ้านยี่สารอำเภออัมพวาจังหวัดสมุทรสงครามได้มีการศึกษาชุมชนแห่งนี้ในแง่มุมทางวิชาการต่างๆทั้งด้านนิเวศน์วิทยาระบบความเชื่อชีวิตความเป็นอยู่การประกอบอาชีพวัตถุทางวัฒนธรรมตลอดจนประวัติศาสตร์ความเป็นมา 

มูลนิธิประไพวิริยะพันธุ์ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาทางโบราณคดีโดยการขุดค้นหลุมทดสอบบริเวณเนินดินที่อยู่อาศัยสมัยโบราณใกล้วัดเขายี่สารบริเวณที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “อู่ตะเภา” ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ๆและมองเห็นความสัมพันธ์กับชุมชนต่างๆในเขตชายฝั่งทะเลและชุมชนภายในงานทางโบราณคดีเหล่านี้น่าจะนำไปสู่การสนับสนุนข้อมูลในการสร้างรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ของชุมชนที่ร่วมสมัยกับการเกิดขึ้นของราชธานีที่กรุงศรีอยุธยาได้เป็นอย่างดี

. สภาพทางภูมิศาสตร์

ตำบลยี่สารอยู่ในเขตการปกครองของอำเภออัมพวาจังหวัดสมุทรสงครามเป็นส่วนที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลที่ไม่ใช่สวนผลไม้เหมือนกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภออัมพวาดังที่คุ้นเคยกันมีคลองสายต่างๆทั้งที่เป็นคลองขุดและคลองธรรมชาติเชื่อมเส้นทางสู่ชุมชนภายนอกสู่พื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินและสู่ลำน้ำที่ใช้จับสัตว์น้ำคลองสายต่างๆคือหัวใจหลักในการคมนาคมในยุคเริ่มแรกและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยี่สารเป็นชุมชนการค้าในเขตป่าชายเลนมาตั้งแต่สมัยโบราณคนยี่สารเล่าว่าหากต้องการเดินทางออกนอกชุมชนจำเป็นต้องใช้ทางเรือเช่นเดินทางไปบ้านแหลมเพชรบุรีใช้ทางคลองขุดยี่สารออกปากอ่าวบางตะบูนเข้าปากน้ำเพชรบุรีหรือหากต้องการไปเพชรบุรีปากท่อแม่กลองหรือกรุงเทพฯต้องพายเรือเข้าคลองยี่สารไปจอดที่ใกล้ๆสถานีรถไฟวัดกุฏิแล้วขึ้นรถไฟต่อไปอีกทอดหนึ่ง

Microsoft Word - 39.doc

สภาพแวดล้อมแบบป่าชายเลนทำให้การอยู่อาศัยที่ยี่สารดูเป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้คนที่ไม่คุ้นเคยน้ำที่ใช้ต้องจ้างเรือไปล่มน้ำมาจากแม่น้ำเพชรบุรีจนกระทั่งปัจจุบันเพราะน้ำประปาหมู่บ้านซึ่งใช้การขุดเจาะน้ำบาดาลบางครั้งก็ไม่มีน้ำหรือถ้ามีก็กลายเป็นน้ำกร่อยส่วนน้ำดื่มต้องรองน้ำฝนเก็บไว้ใช้ให้ได้ตลอดทั้งปีดังนั้นภาชนะเก็บน้ำเช่นตุ่มขนาดใหญ่จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวบ้านตลอดมานอกจากนี้ยังมียุงชุมมากชาวบ้านต้องทำกับข้าวกันตั้งแต่เย็นก่อนเข้าไต้เข้าไฟและต้องสุมเปลือกมะพร้าวหรือไม้โกงกางไล่ยุงที่มีมากมายมหาศาลตลอดเวลาที่อยู่นอกห้องหรือนอกมุ้งอาหารการกินของชาวยี่สารขึ้นกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติอยู่มากเพราะนำพืชท้องถิ่นที่ขึ้นอยู่ในเขตน้ำกร่อยหรือป่าชายเลนมาดัดแปลงให้เป็นอาหารได้หลายชนิดชาวยี่สารไม่มีที่ทำนาปลูกข้าวแต่มีโรงสีสำหรับสีข้าวที่ต้องไปแบกเอามาจากแถวบางเค็มส่วนสิ่งของอย่างอื่นที่จำเป็นต้องใช้เพราะภายในท้องถิ่นไม่มีก็จะมีตลาดนัดทุกสัปดาห์หรือมีเรือนำเข้ามาขายและในปัจจุบันก็ยังเห็นอยู่มาก

อาชีพของชาวยี่สารส่วนหนึ่งคือการทำถ่านมีการสร้างเตาขนาดใหญ่และปลูกป่าโกงกางหมุนเวียนนอกจากนี้ยังมีอาชีพที่นิยมทำกันอีกคือการขุดบ่อเลี้ยงกุ้งก่อนการเข้ามาของความนิยมในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำและนายทุนที่เข้ามากว้านซื้อที่ชาวบ้านเลี้ยงกุ้งแชบ๊วยซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมมากนักหลังจากนั้นเมื่อป่าชายเลนกลายเป็นนากุ้งกุลาดำเมื่อกว่า ๑๐ ปีมานี้ก็ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมการทำมาหากินและการติดต่อกับชุมชนภายนอกแก่ชุมชนยี่สารอย่างมากพื้นที่ป่าชายเลนหายไปอย่างรวดเร็วมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งยังถูกทิ้งร้างในช่วงที่การทำนากุ้งตกต่ำกลายเป็นปัญหาวิกฤตทางสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

. ความเป็นมาของชุมชนโดยสังเขป

มีนิทานท้องถิ่นเกี่ยวกับกำเนิดของบ้านยี่สารที่ปรากฏเป็นเรื่องเล่าต่อกันมาว่าแต่เดิมเขายี่สารอยู่ติดทะเลมาก่อนและบริเวณหลังเขาในปัจจุบันเป็นที่จอดเรือสำเภาเรียกกันว่า “อู่ตะเภา” คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งหมู่บ้านเป็นชาวจีนซึ่งเดินทางเข้ามาทำการค้าในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่เกิดเหตุเรืออับปางทำให้พี่น้องสามคนพลัดหลงกันไปคนหนึ่งในจำนวนนั้นถูกน้ำพัดมาขึ้นบกที่เขายี่สารและกลายมาเป็นผู้บุกเบิกตั้งถิ่นฐานในที่นี้ชาวบ้านนับถือว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและทางวัฒนธรรมตั้งศาลพ่อปู่ศรีราชาเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่นับถือของคนในชุมชนส่วนอีก๒คนไปขึ้นฝั่งที่เขาตะเคราอำเภอเขาย้อยและอำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรีกลายเป็นผู้ก่อตั้งชุมชนในที่นั้นเช่นกันนิทานท้องถิ่นดังกล่าวเล่ากันโดยทั่วไปในเขตเขาย้อยบ้านแหลมและบ้านลาดในจังหวัดเพชรบุรี

รศ.ศรีศักรวัลลิโภดมให้ความเห็นว่าชุมชนบ้านยี่สารเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นอ่าวบางตะบูนและเป็นจุดที่อยู่ในตำแหน่งการคมนาคมระหว่างปากน้ำแม่กลองและเมืองเพชรบุรีมีจดหมายเหตุและบันทึกการเดินทางที่อยู่ในนิราศเป็นจำนวนมากถึงท้องที่แถบบางตะบูนและบ้านยี่สารเมื่อมีการเดินทางจากอยุธยาไปเพชรบุรีหรือจากกรุงเทพฯไปเพชรบุรี  ทั้งได้พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการควบคุมเรื่องน้ำกินน้ำใช้ เช่นตุ่มใส่น้ำขนาดใหญ่จากเตาบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เมื่อพิจารณาร่วมกับนิทานท้องถิ่นและเรื่อง พระเจ้าอู่ทอง ที่เป็นลูกชายของกษัตริย์จีนเดินทางแสวงโชค เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นครศรีธรรมราชก่อนแล้วจึงมาที่กุยบุรีและเพชรบุรีตามลำดับ ทำให้เห็นภาพการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในเขตใกล้ทะเลใกล้กับปากแม่น้ำที่มีคนจีนมาค้าขายทางเรือสำเภา ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐  แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ตามริมน้ำ ซึ่งหมายถึงชุมชนที่บ้านยี่สารด้วย 

จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาเช่นจดหมายเหตุความทรงจำขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมหรือในภูมิสถานกรุงศรีอยุธยาพรรณนาถึงสถานที่และย่านต่างๆในกรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งกล่าวว่าอนึ่ง เรือปากหกศอกเจ็ดศอกชาวบ้านญี่สานบ้านแหลมบางทะลุ บรรทุกกะปิน้ำปลาปูเคมกะพงคุเราปลาทูกะเบนย่างมาจอดเรือขาย แสดงถึงการเป็นชุมชนการค้าที่นำของแห้งของเค็มจากชายทะเลบรรทุกเรือสินค้าขนาดย่อมๆ มาขายถึงพระนคร ซึ่งเป็นระยะทางไกลพอควรในเวลานั้น

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงการเดินทางของชาวต่างประเทศที่เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะเห็นว่าเป็นเดินทางโดยเรือกำปั่นขนาดใหญ่ที่มาเป็นกองเรือแล้วจอดไว้ที่ปากน้ำเจ้าพระยานั่งเรือเล็กใช้ฝีพายต่อมายังกรุงศรีอยุธยาส่วนหนึ่ง  และอีกทางหนึ่งคือเดินทางไปยังทวาย มะริด ตะนาวศรี ที่มีกองเรือจอดอยู่ที่เมืองท่าดังกล่าว จะใช้เส้นทางคลองด่านไปออกปากน้ำท่าจีน หรือตัดเข้าคลอง ออกปากน้ำแม่กลอง เลียบฝั่งเข้าแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นบกแล้วเดินทางข้ามช่องเขาสู่เมืองท่าเหล่านั้นอีกทางหนึ่ง เส้นทางนี้ดูจะเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา ดังเห็นได้จากแผนที่ของชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส และฮอลันดาในสมัยอยุธยาตอนกลาง

ยี่สารคงเป็นชุมชนการค้าภายในที่อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเล็กน้อยด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นที่ดอนมีภูเขาย่อมๆเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานในเขตป่าชายเลนจึงดึงดูดผู้คนให้เข้ามาอยู่อาศัยเป็นชุมชนหมู่บ้านที่มีความสำคัญจากการอยู่ระหว่างทางจากปากน้ำแม่กลองและปากน้ำเพชรบุรีดังปรากฏชัดเจนถึงที่ตั้งของบ้านยี่สารในแผนที่โบราณของคณะฑูตชาวอังกฤษจอนห์ครอฟอร์ดและเฮนรี่เบอร์นี่ที่เข้ามาราชอาณาจักรสยามเมื่อราวพ.ศ.๒๓๖๗ในสมัยรัชกาลที่๓แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และปรากฏอยู่ในบันทึกการเดินทางประเภทนิราศเช่นนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่นิราศเขายี่สารของกศร.กุหลาบในสมัยรัชกาลที่๕และยังปรากฏในนิราศบางเรื่องและบันทึกการเดินทางของเจ้านายบางพระองค์ที่เดินทางไปยังภาคใต้หากไม่ใช้เรือกลไฟขนาดใหญ่วิ่งเลียบชายฝั่งไปก็จะใช้เส้นทางเข้าคลองต่างๆผ่านยี่สารเลียบชายฝั่งไปได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นเมื่ออยู่ในเส้นทางผ่านระหว่างเมืองสำคัญอย่างอยุธยาและเพชรบุรีจึงไม่แปลกใจเลยว่าศาสนสถานที่วัดเขายี่สารและวัดน้อยที่เป็นวัดร้างอยู่ฝั่งคลองตรงข้ามจะมีอายุย้อนไปถึงในสมัยอยุธยาและมีความสัมพันธ์ทางศิลปกรรมอย่างเห็นได้ชัดกับรูปแบบสกุลช่างเมืองเพชรบุรีซึ่งเป็นแหล่งที่สืบทอดฝีมือช่างสมัยอยุธยาไว้ได้มากที่สุด

ยี่สารจึงเป็นชุมชนที่อยู่ในเส้นทางคมนาคมสำคัญทั้งการเดินเรือเลียบชายฝั่งระดับภูมิภาคและการเดินทางภายในที่ไปสู่เมืองสำคัญเช่นเพชรบุรีและเมืองสำคัญชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยหลายแห่งทั้งยังเป็นชุมชนที่เป็นศูนย์กลางการค้าจำพวกของทะเลกับชุมชนภายในเสมือนชุมชนเมืองท่าขนาดเล็กที่เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับนักเดินทาง

. การศึกษาแหล่งโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีที่ทำการศึกษาน่าเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวยี่สารมาแต่เดิมอยู่ใกล้บริเวณที่เรียกว่า “อู่ตะเภา” หลังวัดเขายี่สารในปัจจุบันในเขตบ้านของนายชอ้อนและนางทองปรุงดรุณศรีอยู่ในบริเวณที่ลำคลองเก่ามาตัดกันสองสายสายหนึ่งคือคลองยี่สารเดิมพุ่งตรงไปยังเขาอีโก้ซึ่งเห็นเป็นจุดสำคัญชัดเจนเมื่อมองจากอู่ตะเภาและอีกสายหนึ่งคือแพรกบางอีทอนเป็นลำคลองไปสู่บ้านต้นลำแพนเชื่อมต่อกับคลองไหหลำที่ไปออกคลองบางตะบูนได้

ลักษณะของแหล่งโบราณคดีเป็นเนินดินขนาดใหญ่สูงกว่าพื้นที่รอบๆราว ๒-๓ เมตรพื้นดินประกอบขึ้นจากอินทรีย์วัตถุที่เกิดจากการอยู่อาศัยของมนุษย์ดังนั้นบริเวณนี้จึงมีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นอยู่มากมายต่างจากพื้นที่อื่นในบ้านยี่สารที่ปลูกอะไรก็ไม่งอกงามดีเนื่องจากดินเค็มพบเศษภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆมีอยู่กระจัดกระจายค่อนข้างหนาแน่นทั่วทั้งเนินจนถึงริมน้ำ 

บริเวณดังกล่าวน่าจะมีความสำคัญในอดีตเมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมและลักษณะทางกายภาพ “วัดเขายี่สาร” ในสมัยแรกเริ่มควรจะมีพื้นที่กิจกรรมการอยู่อาศัยและ “หน้าวัด” อยู่ในบริเวณนี้  เนื่องจากเป็นจุดที่มีลำคลอง ๒ สายมาสบกัน คือคลองที่ไปออกอ่าวบางตะบูนได้และคลองยี่สารที่ไปบางเค็มเห็นเขาอีโก้เป็นจุดสังเกตได้ชัดเจน เมื่อข้ามคลองอีกฝั่งหนึ่งก็มีวัดร้างที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดน้อย” เป็นวัดสมัยอยุธยาที่ยังมีซากฐานของพระอุโบสถ เสาไม้ ฐานหลักเสมา และเสมาหินทรายแดงลักษณะคล้ายคลึงกับเสมาหินทรายบนรอบพระอุโบสถที่วัดเขายี่สาร ปัจจุบันบริเวณวัดกลายเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำขัง ตั้งอยู่ใกล้กับศาลพ่อปู่หนุมานหรือพ่อปู่หัวละมานที่ชาวบ้านเรียก ซึ่งเป็นศาลสำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวยี่สาร นอกจากนี้ ยังมีผู้จำได้ว่า ศาลพ่อปู่ศรีราชาก่อนที่จะมีการย้ายศาลไปอยู่ด้านหน้าวัดในปัจจุบัน อยู่บริเวณเชิงเขาใกล้อู่ตะเภา ซึ่งสัมพันธ์กับตำนานเรือแตกของจีนสามพี่น้อง ที่คนหนึ่งว่ายน้ำมาขึ้นบกได้ที่ตรงอู่ตะเภา อีกทั้งหน้าวัดในปัจจุบันยังเป็นที่สำหรับฌาปนกิจศพมาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังมีศาลาตั้งศพขนาดใหญที่ตรงคอสองเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องนรกภูมิอยู่ทั้งสี่ด้าน  ดังนั้น ความสำคัญที่เรียกว่า หน้าวัด และการเป็นชุมชนแหล่งที่อยู่อาศัยแต่เดิมจึงควรจะอยู่ในบริเวณเนินดินเชิงเขาที่ทำการขุดค้นนั่นเอง

การเปลี่ยนบริเวณหน้าวัดเป็นหลังวัดไม่อาจบอกได้ว่าเกิดขึ้นในสมัยใดแต่น่าจะเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการขุดคลองยี่สารใหม่ที่เป็นคลองลัดขุดตรงไปออกคลองบางตะบูนและอ่าวบางตะบูนได้สะดวกซึ่งน่าจะขุดเมื่อราวสมัยต้นรัตนโกสินทร์เพราะจากประวัติศาสตร์บอกเล่ายังมีการจดจำถึงเรื่องราวการขุดคลองยี่สารในสมัยปู่ย่าตายายได้และในสมัยรัชกาลที่๕เมื่อก.ศ.ร.กุหลาบเดินทางมาที่วัดเขายี่สารบรรยายในนิราศว่ามาขึ้นเรือที่ท่าน้ำหน้าวัดซึ่งคือหน้าวัดในปัจจุบันดังนั้นการย้ายความสำคัญของหน้าวัดเป็นหลังวัดจึงควรจะเกิดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความสำคัญของเส้นทางน้ำของชุมชนเมื่อช่วงมีคลองขุดยี่สารแล้ว

หลุมขุดค้นขนาด ๓ x ๓ เมตรเลือกขุดในบริเวณที่เกือบจะเป็นจุดสูงสุดของเนินดินลักษณะของการวางตัวของเนินเอียงลาดไปทางทิศเหนือ-ใต้ความลาดเอียงต่างกันราว ๓๐ เซนติเมตรเนื้อดินที่บริเวณผิวดินเป็นฝุ่นแป้งปนกับรากไม้, ก้อนหิน, เปลือกหอยแครงและเศษภาชนะดินเผาประเภทต่างๆ

การขุดค้นใช้วิธีการขุดตามชั้นกิจกรรมและการเปลี่ยนแปลงตามลักษณะชั้นดินโดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กขูดลอกเนื้อดินทีละน้อยทำให้เห็นร่องรอยจากการใช้พื้นที่และการทับถมของอินทรีย์วัตถุในแต่ละช่วงเวลาความลึกของหลุมขุดค้นจากปากหลุมจนถึงชั้นกิจกรรมสุดท้ายราว ๒.๐๐- ๒.๒๐ เมตร 

ระยะเวลาที่ทำการขุดค้นคือช่วงเวลาตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมจนถึงกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๔๑

 

จากการขุดค้นทางโบราณคดีมีผลสรุปถึงอายุการอยู่อาศัยในแต่ละชั้นวัฒนธรรมได้ดังนี้

ระยะที่   าวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙

เริ่มมีการอยู่อาศัยน่าจะไม่ใช่การอยู่อาศัยที่ถาวรเพราะพบโบราณวัตถุน้อยมากและไม่พบภาชนะขนาดใหญ่สำหรับเก็บน้ำมีแต่เครื่องถ้วยจีนและหม้อดินเผาประดับลวดลาย  เนื้อดินเป็นเศษเปลือกหอยชนิดต่างๆ ป่นละเอียด ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขี้กะซ้า” เปลือกหอยแครงและเปลือกหอยทะเลหลายประเภท พบเป็นจำนวนน้อย พื้นดินชุ่มน้ำและเป็นชั้นที่น้ำท่วมขัง

ระยะที่   ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐

มีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นและยาวนานกว่าระยะอื่นเพราะพบปริมาณเศษภาชนะดินเผาทุกประเภทจำนวนมากกว่าชั้นอื่นๆทุกชั้นพบสัตว์ประเภทวัว-ควายกวางหมูสัตว์เลี้ยงพวกสุนัขและกระดูกปลาจำนวนมากมีเศษภาชนะใส่น้ำขนาดใหญ่จากแหล่งเตาบ้านบางปูนสุพรรณบุรีเพียงระยะนี้เท่านั้นนอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาหลากหลายจากจีนและเวียดนามที่น่าสนใจคือพบชิ้นส่วนชามจากแหล่งเตาสันกำแพงในเขตจังหวัดเชียงใหม่และคอน้ำต้นที่ฝังเส้นคาดสีขาวจากแหล่งเตาหริภุญไชยยุคหลังรวมอยู่ด้วย  และพบก้อนอิฐจากสิ่งก่อสร้าง น่าจะมีการสร้างวัดแล้วในระยะนี้

ระยะที่   ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๑

มีการใช้พื้นที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจนเพราะพบร่องรอยหลุมเสาหลุมเตาและขี้เถ้าตลอดจนกระดูกสัตว์กระดูกสันหลังและก้างปลาจำนวนมากวัว-ควายหมูกวางรวมถึงสัตว์เลี้ยงประเภทแมวด้วยภาชนะใส่น้ำเป็นสิ่งจำเป็นและพบเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาต่างๆทั้งจีนสุโขทัยเวียดนาม 

ระยะที่   ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๒

พื้นที่ยังคงใช้เพื่อการอยู่อาศัยอย่างเห็นได้ชัดเปลือกหอยแครงที่ทับถมโดยธรรมชาติและนำมาใช้บริโภคมีการนำเปลือกหอยแครงมาทำเป็นปูนขาวใส่ภาชนะที่เป็นหม้อดินขนาดเล็กเครื่องถ้วยก็ยังปรากฏเป็นเครื่องถ้วยจีนญี่ปุ่นสุโขทัยเวียดนามพบสัตว์ประเภทกวางวัว-ควายหมูและกระดูกปลา

ระยะที่   ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔

พบภาชนะประเภทต่างๆอยู่ทั่วไปในรูปแบบหลากหลายเนื้อดินเป็นฝุ่นที่ยังไม่เกาะตัวแน่นเปลือกหอยแครงและเศษภาชนะปะปนกันหนาแน่นพบเขี้ยวและฟันของสัตว์จำพวกหมูและกระดูกปลาจำนวนมาก

บริเวณผิวดินมีเครื่องถ้วยอายุสมัยต่างๆจากแหล่งเตาในเวียดนามญี่ปุ่นจีนที่มีอายุสมัยหลากหลาย  นอกจากนี้ยังมีเครื่องถ้วยจีนที่มีอายุในพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ปะปนอยู่เช่นกัน 

ชั้นดินแต่ละชั้นพบว่ามีลักษณะของการอยู่อาศัยอย่างชัดเจนจัดเป็นแหล่งโบราณคดีประเภทที่อยู่อาศัยซึ่งพบทั้งภาชนะต่างๆที่ใช้ในการประกอบอาหารเช่นหม้อก้นกลมประดับลวดลายโดยใช้ไม้ตบประทับขนาดต่างๆชิ้นส่วนของเตาเชิงกรานภาชนะจำพวกถ้วยชามทั้งเครื่องกระเบื้องและเซลาดอนโดยเฉพาะจากจีนเป็นจำนวนมากที่สุดไหเนื้อแกร่งขนาดต่างๆที่ใช้ใส่น้ำดื่มน้ำใช้เศษภาชนะดินเผาที่พบมีความหนาแน่นมากน้ำหนักของเศษภาชนะดินเผาทุกชั้นดินรวมกันราว๘๐๐กิโลกรัมกองขี้เถ้าเศษฟืนและกองถ่านตลอดจนหลุมดินที่ใช้ทำเตาไฟกระดูกสัตว์ประเภทต่างๆเช่นวัว-ควายสัตว์ประเภทหนูสัตว์ประเภทแมวกระดูกปลาจำนวนมาก  หลุมเสาจำนวนหนึ่งซึ่งมีอยู่หลายช่วงเวลา หอยเบี้ยหลายพันตัวที่ใช้แทนเงินตรา

ยี่สารเป็นชุมทางการค้าของทะเลที่รวบรวมนำมาขายในกรุงศรีอยุธยาอีกต่อหนึ่งผู้คนที่นี่นิยมการใช้เครื่องถ้วยชามที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าทางทะเลไม่ว่าจะเป็นสุโขทัยศรีสัชนาลัยบางปูนที่สุพรรณบุรีแม่น้ำน้อยที่สิงห์บุรีจีนตอนใต้เวียดนามญี่ปุ่นกล่าวได้ว่าทุกแห่งที่มีการทำเครื่องถ้วยและนำออกขายโดยใช้เส้นทางทางทะเลรวมไปถึงหม้อก้นกลมประดับลวดลายที่รู้จักกันว่า “หม้อทะนน” คือภาชนะเนื้อดินที่ใช้ไม้ตีลายประทับรอบภาชนะที่มีรากฐานความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับการค้าทางทะเลก่อนจะแพร่หลายไปสู่ชุมชนภายในจนกลายเป็นรูปแบบภาชนะที่ใช้กันทั่วไปในสมัยอยุธยาจนกระทั่งปัจจุบันซึ่งเห็นอย่างชัดเจนว่าแพร่หลายเนื่องมาจากการค้าทางทะเลอีกเช่นกัน

ปริมาณเปลือกหอยจำนวนมากที่พบที่มากที่สุดคือเปลือกหอยแครงส่วนหอยประเภทเดียวกันที่พบเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกันคือเปลือกหอยครางซึ่งมีขนาดใหญ่มากรวมถึงเปลือกหอยสองฝาอีกหลายชนิดปะปนอยู่ไม่มากนักปริมาณของเปลือกหอยทุกระดับชั้นดินรวมกันได้ราว๑,๖๐๐กิโลกรัมการใช้เปลือกหอยในการทำกิจกรรมของมนุษย์นี้เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตได้หลายประการเนื่องจากเปลือกหอยดังกล่าวอยู่ปะปนกับสิ่งของเครื่องใช้ในการทำกิจกรรมประจำวันของมนุษย์อีกทั้งระดับชั้นดินล่างสุดก็ไม่ใช่ลักษณะการถับถมของเปลือกหอยตามธรรมชาติเพราะเป็นเนื้อดินที่เกิดจากการทับถมของเปลือกหอยป่นจนคล้ายเนื้อทรายมีเปลือกหอยแครงปะปนบ้างเล็กน้อยดังนั้นข้อสันนิษฐานสำหรับการพบเปลือกหอยแครงเป็นจำนวนมากเช่นนี้อาจจะเกิดเนื่องจากการนำหอยแครงมาบริโภคส่วนหนึ่งเนื่องจากมีเป็นจำนวนมากเกินไปกว่าที่จะบริโภคได้ทั้งหมดดังนั้นจึงสันนิษฐานว่ามีการใช้เปลือกหอยแครงโดยการนำมาจากที่ต่างๆสำหรับทำปูนขาวเพราะเปลือกหอยแครงนำมาทำปูนขาวได้ดีและเราพบหลักฐานของภาชนะที่เป็นหม้อก้นกลมขนาดเล็กใส่ปูนขาวจำนวนหนึ่งและเศษภาชนะที่มีปูนขาวติดอยู่แม้จะไม่พบเปลือกหอยแครงที่มีร่องรอยของการเผาไหม้เลยก็ตามนอกจากนี้ในชั้นดินระยะที่๕ได้พบชั้นของเปลือกหอยแครงจับตัวอย่างหนาแน่นเป็นแผ่นแข็งทั่งทั้งหลุมขุดค้นด้วย

untitled-7

แม้เปลือกหอยอาจเกิดขึ้นโดยการทับถมโดยธรรมชาติแต่เห็นได้ชัดว่ามนุษย์นำมาใช้ทำกิจกรรมต่างๆตลอดช่วงระยะเวลาที่มีการอยู่อาศัยดังนั้นเปลือกหอยประเภทหอยแครงจึงน่าจะเป็นดรรชนีชี้ให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยกับการนำหอยแครงและเปลือกหอยแครงมาใช้ทำประโยชน์ในพื้นที่การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในป่าชายเลน

ดังนั้นเราสามารถกล่าวได้ว่ามีการอยู่อาศัยโดยตลอดตั้งแต่เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จนถึงปัจจุบันในช่วงเวลาไม่ต่ำกว่า ๗๐๐-๘๐๐ ปีโดยไม่ขาดตอนหรือมีการทิ้งร้างเป็นชุมชนที่ร่วมสมัยกับการกำเนิดอยุธยาเป็นราชธานีและสัมพันธ์อย่างแนบแน่นในการเป็นชุมทางการคมนาคมที่มีเส้นทางการเดินทางผ่านทั้งจากภายนอกและภายในคือการเดินทางเลียบชายฝั่งของนักเดินทางในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนเส้นทางภายในคือ จากกรุงศรีอยุธยาไปสู่เพชรบุรี ปราณบุรี และกุยบุรี ข้ามเขาไปสู่มะริดและตะนาวศรีได้ รวมทั้งการเดินเรือเลียบชายฝั่งไปสู่หัวเมืองชายฝั่งทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก

การศึกษาทางโบราณคดีที่บ้านยี่สารยังสามารถตรวจสอบรายละเอียดและศึกษาประเด็นทางโบราณคดีได้อีกหลายแง่มุมเช่นเส้นทางการเดินทางสมัยโบราณที่ยี่สารเป็นชุมชนการค้าแห่งหนึ่งอยู่ในเส้นทางจากพระนครศรีอยุธยาท่าจีนแม่กลองเพชรบุรีจนกระทั่งถึงภาพของการเป็นชุมชนร่วมสมัยกับการเกิดขึ้นของราชธานีกรุงศรีอยุธยาชุมชนโบราณกลางป่าชายเลนแห่งนี้จะเป็นรอยต่อให้เห็นการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยาที่สัมพันธ์กับการค้าทางทะเลการเข้ามาของคนกลุ่มใหม่จากจีนตอนใต้และการควบคุมหัวเมืองชายฝั่งทางปากใต้หลังจากที่ผนวกเอาสุพรรณภูมิลพบุรีและสุโขทัยได้แล้ว

อ้างอิง
ศรีศักร วัลลิโภดม. พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  สัมมนาเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ๒๕๔๐
พระยาโบราณราชธานินทร์. ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา
ก.ศ.ร.กุหลาบ. นิราศยี่สาร. โครงการรักเมืองไทยกับยางสยาม, ๒๕๔๐