วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
จากหนังสือ “ผู้นำทางวัฒนธรรม” จัดพิมพ์โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, ๒๕๕๖
‘นางเลือดขาว’ คือ ตำนานเรื่องเล่าสืบต่อกันมาซึ่งผูกพันกับสถานที่สำคัญและประเพณี พิธีกรรมตามท้องถิ่นต่างๆของบริเวณคาบสมุทรทั้งสองฝั่งทะเล โดยบอกเล่าแบบมุขปาฐะ [Oral Tradition] แพร่กระจายทั้งที่เหมือนและต่างกัน กลายเป็นตำนานท้องถิ่นในแถบจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช ชุมพรสงขลา ตรัง ภูเก็ต และไปจนถึงเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย
ต่อมาก็ถูกจดจารโดยผู้รู้ลงใน ‘หนังสือเพลา’ รวมเอาตำนานความเป็นมาของวัดและท้องถิ่นในเอกสารตำราเพื่อการกัลปนาทั้งฉบับหลวงและฉบับคัดลอกต่างๆ
เพลา หรือ หนังสือเพลา หมายถึง สมุดข่อยหรือสมุดโผจีนเย็บสมุดแบบฝรั่ง และจารเรื่องราวของวัด ตำนาน สถานที่ พระกัลปนาวัดหรืออาจเป็นสมุดพระตำราหรือเพลาพระตำรา ซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชทานสำหรับวัดนั้นๆ คนทั่วไปจะนำหนังสือเพลาหรือกัลปนาวัดมาอ่านโดยพละการไม่ได้ ผู้ที่อ่านได้คือผู้ที่ถือเพลาหรือผู้รักษาเพลาซึ่งถือเป็นสายตระกูลสืบต่อมาเท่านั้น การอ่านเพลา ผู้อ่านต้องนุ่งขาวห่มขาว เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ในศีลธรรม ก่อนอ่านจะต้องจำลองรูปช้างเผือกขึ้นมา แล้วให้ผู้ถือเพลานั่งอ่านเพลาบนหลังช้าง การเก็บรักษาหนังสือเพลา นิยมเก็บรักษาไว้ในกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถป้องกันมดปลวกได้ดี ดูแลรักษาง่าย และสามารถสะพายติดตัวได้สะดวก ( http://kanchanapisek.or.th/kp8/ptl/ptl602.html )
เนื้อหาหลักของการบอกเล่าตำนานนางเลือดขาวกล่าวถึง การศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนาของนางเลือดขาวและกุมารผู้สามีที่ได้สร้างกุฏิ วิหาร อุโบสถ พระธรรมศาสนา พระพุทธรูป จนถึงพระมหาธาตุ ไว้ตามท้องถิ่นต่างๆ มากมาย จนเกิดคำร่ำลือถึงความดีงามในศรัทธาต่อพระศาสนาของเธอ เมื่อเดินทางไปที่ใดจึงมีเรื่องเล่าติดพื้นที่ในทุกแห่งที่นางเลือดขาวไปถึงและอุปถัมภ์พระศาสนา รวมทั้งถนนหนทาง ศาลา สร้างเพื่อเป็นสาธารณะส่วนรวมของท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ
ในเรื่องเล่าเกี่ยวกับนางเลือดขาว มีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่เนื้อเรื่องโครงเรื่องหลักก็จะคล้ายคลึงกันดังที่กล่าวข้างต้น ในบางท้องถิ่นเรียกว่าว่า ‘แม่เจ้าอยู่หัว’ หรือ ‘เจ้าแม่อยู่หัว’ และอาจแทนในรูปสัญลักษณ์ที่เป็นพระพุทธรูปบ้าง หรือสร้างห้องบูชาถือเป็นต้นเค้าบรรพบุรุษในพิธีตายายย่านบ้าง ซึ่งล้วนแสดงออกถึงความศรัทธาล้นพ้นของชาวบ้านรอบๆ ทะเลสาบสงขลาและทั้งสองฝั่งคาบสมุทร
ภาพซ้ายบน พระพุทธรูปทองคำปางสมาธิ ที่แม่เจ้าอยู่หัวสร้างถวายที่วัดท่าคุระ
ภาพขวาบนและภาพล่าง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ตัวแทนของแม่เจ้าอยู่หัวที่วัดท่าคุระ ในวันสมโภช มีชาวบ้านแห่แหนกราบไหว้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ยังสะท้อนบทบาทของนายกองจับช้างหรือหมอสดำที่ทำให้มีฐานะดีกว่าชาวบ้านทั่วไป เป็นคหบดีของท้องถิ่น แม้จะไม่ได้เป็นขุนนางหรือผู้ปกครองก็ตาม
ส่วนตำนานนางเลือดขาวที่ไปปรากฏในเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน คือเรื่อง ‘มะซูรี’ หญิงสาวจากภูเก็ตที่แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นทางแถบรอบทะเลสาบสงขลาเลยก็ตาม แต่ก็พูดถึงเรื่องราวของผู้หญิงที่มีเลือดเป็นสีขาวอันเป็นสัญลักษณ์แสดงความบริสุทธิ์ของเธอและคำสาปที่ตกแก่ท้องถิ่น กลายเป็นความเชื่อที่แม้แต่คนรุ่นปัจจุบันก็ยังนำมาปรุงแต่งจนกลายเป็นคำสาปอาถรรพ์ของเกาะที่ตั้งอยู่ใกล้กับทางเกาะตะรุเตานี้ โดยเชื่อว่าหลังจากหมดคำสาปแล้วจึงสามารถพัฒนาเกาะลังกาวีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ และรัฐท้องถิ่นของมาเลย์เซียก็ให้ความนับถือแก่ตำนานจนกระทั่งการไปสืบหาลูกหลานของนางมะซูรีจากภูเก็ตมาเชิดชูให้สอดคล้องกับตำนานความเชื่อท้องถิ่นด้วย (ตำนานเรื่องมะซูรีของเกาะลังกาวี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในรัฐเคดาห์ ของมาเลเซีย ซึ่งห่างเกาะตะรุเตา ราว ๘ กิโลเมตร ลังกาวี หมายถึงนกอินทรีย์สีน้ำตาลแกมแดง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเกาะแห่งนี้ ประมาณ ๒๐๐ ปีมาอล้ว นางมะซูรี เป็นหญิงงามที่สุดในเกาะลังกาวี ทำให้เจ้าชายวันดารุส โอรสแห่งลังกาวีตกหลุมรักและแต่งงานกัน มีบุตรชายชื่อ วันกาเฮม เมื่อ วันดารุสต้องไปออกรบปกป้องบ้านเมือง จากสงครามกับสยาม จึงต้องทิ้งเมียและลูกไว้ลำพัง กลุ่มผู้ไม่หวังดี กล่าวหาว่า มะซูรี มีชู้กับนักดนตรีพลัดถิ่นผู้หนึ่ง และถูกจับตัวไปประหารชีวิต แต่เพชรฆาตลงกริชที่ใช้ประหาร โลหิตที่หลั่งไหลลงมากลับเป็นสีขาวซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ และก่อนสิ้นใจ มะซูรี อธิษฐานว่าหากนางเป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้ใดที่อยู่บนเกาะลังกาวีจงประสบทุกข์เข็ญนานถึง ๗ ชั่วอายุคน ส่วนวันดารุส หลังกลับจากทำศึก เมื่อรู้เรื่องนี้จึงอพยพพร้อมบุตรชายไปอาศัยเกาะภูเก็ตของไทย หลายปีก่อนหนังสือพิมพ์มาเลเซีย ออกตามหาและพบกับทายาทรุ่นที่ ๗ ของมะซูรี จึงเชิญตัวทายาทรุ่นที่ ๗ ศิรินทรา ยายี ไปร่วมพิธีแก้คำสาปในสมัยนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ซึ่งเป็นคนที่รัฐเคดาห์เช่นกัน)
อย่างไรก็ตาม ในแง่มิติของเวลาซึ่งปรากฏในตำนานนั้น มักเกี่ยวพันอยู่กับเวลาในตำนานทางศาสนาที่ย้อนกลับไปไกลโพ้น ช่วงเวลาในตำนานเรื่องนางเลือดขาวที่เขียนไว้ในเพลา จึงเล่าเรื่องย้อนกลับไปถึงต้นพุทธกาล หลังจากสงครามที่พระเจ้าอโศกฆ่าฟันชาวชมพูทวีปจนทำให้ผู้คนในถิ่นนั้นอพยพหนีลงเรือมาตั้งบ้านเรือนในแถบคาบสมุทรเป็นอันมาก และการกล่าวถึงศักราชในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และการเกิดบ้านเมืองที่ฝั่งทะเลนอกเขตสทิงพระก่อนที่จะมีการตั้งมั่นบ้านเมืองที่พัทลุง
ทั้งนี้ เหตุการณ์และสถานที่ในตำนานนางเลือดขาวนั้น เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาเถรวาทที่ไปสืบมาจากลังกา ซึ่งเป็นเรื่องราวที่บอกถึงการตั้งมั่นของพระศาสนาวงศ์ลังกาที่พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและการสร้างพระพุทธสิหิงค์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ซึ่งร่วมสมัยกับศาสนาพุทธแบบลังกาวงศ์ที่แพร่เข้าสู่บ้านเมืองภายในหัวเมืองมอญ เช่น ที่สะเทิมและเมาะตะมะไปสู่แคว้น ‘สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย’ ในช่วงพญารามคำแหงและพญาลิไท
จะเห็นว่าที่พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กำหนดให้มีการตั้งคณะสงฆ์เฝ้าพระบรมธาตุรูปทรงแบบลังกาทั้ง ๔ ทิศ คือ คณะกาแก้ว คณะกาเดิม คณะกาชาด และคณะการาม อีกทั้งตำนานเพื่อการกัลปนาบำรุงวัดและพระสงฆ์ท้องถิ่นในยุคต่อมาก็รับอิทธิพลการจัดตั้งคณะสงฆ์์เช่นนี้ไปในบ้านเมืองต่างๆ ที่ตั้งมั่นคงแล้วในลุ่มทะเลสาบสงขลา เช่น ที่พัทลุง
ภาพบนซ้ายและขวา แสดงภูมิประเทศรอบทะเลสาบสงขลาและบริเวณช่องเขาทางผ่านเทือกเขาบรรทัดี่อำเภอกงหราจากhttp://maps.google.co.th
ภาพล่างซ้ายและขวา เปรียบเทียบพระบรมธาตุเมืองนครกับพระบรมธาตุวัดเขียน บางแก้ว
การไปสืบทอดพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์โดยการอัญเชิญพระบรมธาตุ โดยการไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วโดยพระสงฆ์และคณะผู้มีจิตศรัทธาแรงกล้าในเขตคาบสมุทร ถือเป็นการปฏิบัติสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลหลังสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลงมา จนกลายเป็นคณะป่าแก้วขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง ดังที่พบการตั้งคณะป่าแก้วในหลายแห่ง เช่น ในสุโขทัย ล้านนาและกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา พระวันรัตนวัดป่าแก้ว เจ้าคณะสงฆ์ฝ่ายนี้ก็ปกครองคณะสงฆ์ไปถึงหัวเมืองปากใต้ทั้งหมดด้วย
เหตุการณ์และสถานที่ในตำนานยังปรากฏเป็นชื่อบ้านนามเมือง ตลอดจนการบอกเล่าสืบทอดแบบมุขปาฐะก็ได้สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้สถานที่ต่างๆรวมทั้งสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือ การบอกเล่าเส้นทางเดินทางสมัยโบราณ โดยบรรยายถึงสภาพแวดล้อมแบบป่าเขาที่มีการล้อมจับช้างป่ามาเป็นช้างใช้งาน ซึ่งเป็นการสร้างฐานะและอำนาจบารมีให้กับนายกองส่วยช้างผู้ทรงภูมิรู้จนกลายเป็นบุคคลสำคัญของสังคมในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบ (เรื่องการจับช้างป่าโดยนายกองช้าง และการค้าช้างในคาบสมุทร ถือเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจพื้นฐานของท้องถิ่นแถบนี้ ตั้งแต่แรกเริ่มจนเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ดังนั้น เราจึงพบชุมชนหลายแห่งที่มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับการจับช้างป่ามาฝึกส่งขายไปทั่ว เช่น ในงานศึกษาพื้นที่แถบเทือกเขาบรรทัดของสารูป ฤทธิ์ชูและคณะ “ตามรอยช้างแลใต้” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๓. หรือแม้แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจในเขตเมืองรามันในหัวเมืองมลายูในอดีตก็ขึ้นอยู่กับการจับช้างป่ามาขาย และผู้มีความรู้ในการจับช้างนี้เป็นตระกูลหมอช้างที่สืบสายตระกูลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน) ซึ่งการทำมาหากินและการนับถือผู้ที่ปฏิบัติงาม ประพฤติชอบ สนับสนุนสืบทอดพระพุทธศาสนา เกียรติยศตามคำร่ำลือดังกล่าว เมื่อไปปรากฏที่ใดก็มีแต่ผู้คนสรรเสริญและบันทึกไว้ในความทรงจำจนกลายเป็นคำบอกเล่าสืบต่อเรื่อยมา
สิ่งที่น่าสนใจใน “ตำนานนางเลือดขาว” คือ การสะท้อนถึงภูมิวัฒนธรรมของเส้นทางการเดินทางติดต่อกับบ้านเมืองต่างๆสมัยโบราณในคาบสมุทรสยาม-มลายูทั้งสองฝั่งทะเล ตลอดจนถิ่นที่อยู่ ผู้คน ญาติวงศ์และความศรัทธาในศาสนา โลกทัศน์ดังกล่าวนี้ หากวิเคราะห์ค้นหาความหมาย จะช่วยให้คนในยุคปัจจุบันเข้าใจความเป็นมาและการปรับตัวของมนุษย์เข้ากับสภาพภูมิศาสตร์แวดล้อม เข้าใจสังคม ขนบประเพณีในแถบคาบสมุทรรอบทะเลสาบเมื่อครั้งแรกเริ่มตั้งถิ่นฐาน เป็นบ้านเป็นเมือง จากตำนานดังกล่าว
‘นางเลือดขาว’ กับตำนาน
ตำนานนางเลือดขาวมีทั้งการบอกเล่าแบบมุขปาฐะและการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องเล่าของชาวบ้านในหลายพื้นที่สะท้อนความผูกพันกับสถานที่ที่สำคัญและประเพณีพิธีกรรมตามท้องถิ่นบริเวณคาบสมุทรทั้งสองฝั่งทะเล
สำหรับเรื่องเล่าถึงนางเลือดขาวในสถานที่ต่างๆ เช่น ในแถบจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา ตรัง ภูเก็ตไปจนถึงเกาะลังกาวี ในประเทศมาเลเซีย มีโครงเรื่องที่คล้ายกัน แต่แตกต่างในรายละเอียดซึ่งเกี่ยวโยงกับสถานที่หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นๆ
ส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษร เรียกชื่อหลายอย่าง เช่น เพลา ตำรา หรือ พระตำรา ซึ่งรวบรวมไว้ในชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา’ แต่มีสำนวนแตกต่างกันเพราะมีการคัดลอกต่อมาหลายฉบับ ถือเป็นเอกสารที่มีการลงตราประทับเพื่อยืนยันเอกสิทธิ์ทชุมชนต่างๆ ได้รับสิทธิการเป็น ‘ข้าพระโยมสงฆ์’ หรือ ‘ข้าโปรดคนทานพระกัลปนา’ โดยพระมหากษัตริย์พระราชทานเพื่อดูแลรับใช้วัดในท้องถิ่นนั้นๆ
“โดยไม่ควรมีผู้ใด ใคร แม้จะเป็นขุนนางหรือเจ้าเมือง ล่วงละเมิดถือสิทธิ์เพื่อประโยชน์ในชาวข้าพระส่วนตนมิได้ และในกาลต่อมา” (บทนำในหนังสือ ประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา สมัยอยุธยาภาค ๑ . คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดีกรุงเทพฯ สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๐)
เพลาหรือพระตำราต่างๆจะถูกส่งทอดเก็บรักษาไว้ในชุมชนต่างๆ คนทั่วไปจะนำหนังสือเพลาหรือกัลปนาวัดมาอ่านโดยพละการไม่ได้ ผู้ที่อ่านได้คือผู้ที่ถือเพลาหรือผู้รักษาเพลาเท่านั้น สำหรับการอ่านเพลา ผู้อ่านต้องนุ่งขาวห่มขาว และเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ในศีลธรรม จนเมื่อระบบการกัลปนาเริ่มหายไปจากสังคม ชาวบ้านผู้รักษายังคงปฏิบัติตามสายตระกูลและถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ตามที่เคยปฏิบัติมา เช่น ห้ามฝ่ายหญิงแตะต้อง หากจะนำมาเปิดต้องเป็นผู้ชายผู้เป็นที่เคารพ ในปัจจุบันชาวบ้านที่สืบเชื้อสายมาจากผู้รักษาเพลาในอดีตยังคงมีการจัดพิธีสมโภชเพลา หรือ ‘สมโภชทวดเพลา’ ในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี
ที่ถือว่าเป็นสำนวนสำคัญคือ ‘เพลานางเลือดขาว’ จากวัดเขียนบางแก้ว ที่ถูกนำมาเขียนขึ้นใหม่ในพงศาวดารเมืองพัทลุงเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา (พงศาวดารเมืองพัทลุง ฉบับ พ.ศ.๒๔๖๐, หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๕ : พงศาวดารเมืองพัทลุง พระนคร : ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, ๒๕๐๗) ต้นฉบับจากวัดเขียนบางแก้วนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ นำไปเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดวชิรญาณ หรือหอจดหมายเหตุแห่งชาติในปัจจุบัน
เพลานางเลือดขาวฉบับวัดเขียนบางแก้ว เป็นกระดาษเพลาจารหรือเขียนด้วยเส้นดินสอดำ อักษรไทยย่อและอักษรขอมภาษาไทย จำนวน ๓๐ หน้า ๑๗๑ บรรทัด ใช้คำประพันธ์ประเภทร้อยแก้ว น่าจะเริ่มบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในราวแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะ พระครูอินทเมาลี เจ้าคณะป่าแก้ว ได้บูรณะวัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง และวัดสทิงพระ ราวช่วง พ.ศ.๒๑๐๙-๒๑๑๑ และคงมีการคัดลอกต่อกันมาอีกหลายฉบับ จนฉบับสุดท้ายราว พ.ศ.๒๒๗๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน เนื้อหาแบ่งออกเป็นสองตอนคือ เล่าเรื่องนางเลือดขาวช่วงหนึ่งและตำนานพระราชูทิศของพระมหากษัตริย์ การกัลปนาอุทิศที่ดินไร่นา ถวายข้าพระโยมสงฆ์ให้เป็นประโยชน์ของวัดอย่างเด็ดขาดอีกเรื่องหนึ่ง
ภาพซ้าย ห้องที่เก็บรักษาหนังสือเพลาของผู้สืบสายตระกูล “ผู้รักษาเพลา” แห่งวัดเขียน บางแก้ว ซึ่งสืบตระกูลทางฝ่ายหญิง หนังสือเพลานางเลือดขาวนี้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในหอสมุดวชิรญาณ
ภาพขวา ตายายผู้รักษาเพลา และเป็นทวดของผู้รักษาเพลาในรุ่นปัจจุบัน
เนื้อเรื่องในช่วงแรกกล่าวถึงเมืองพัทลุง ที่เริ่มต้นจากมีบ้านเมืองทางฝั่งตะวันออกฝั่งสทิงพระชื่อ ‘กรุงสทิงพาราณศรี’ เจ้าเมืองชื่อพระยากรงทอง มีตาสามโมกับยายเพชร สองสามีภรรยาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลปละท่า ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ที่เป็นบริเวณบ้านพระเกิด อำเภอปากพะยูนทุกวันนี้ เป็นหมอสดำหรือนายกองส่วยช้าง ต้องจับช้างส่งส่วยพระยากรงทองที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบทองปีละเชือก
วันหนึ่ง หมอช้างสองคนผัวเมียไปเจอเด็กทารกที่เกิดในกระบอกไม้ไผ่ เด็กชายได้จากไม้ไผ่เสรียง มีเลือดสีเขียว ขาว เหลือง ดำ แดง ส่วนเด็กหญิงได้จากไม่้ไผ่ตงเลือดสีขาว จึงเรียกกันว่านางเลือดขาว หมอช้างนำเด็กทั้งสองมาเลี้ยงจนโตได้แต่งงานอยู่กินกันสืบต่อมา หลังจากที่ตายายหมอช้างตายก็นำอัฐิไปไว้ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ เมืองพัทลุงปัจจุบันนี้
นางเลือดขาวและกุมารได้มรดกเป็นนายกองช้างแทนตาสามโมและยายเพชร มีฐานะดีมากขึ้น จึงเรียกบริเวณนั้นว่าที่ ‘พระเกิด’ และเป็น ‘ที่คช’ ต่อจากนั้น ทั้งคู่ก็อพยพผู้คนมาอยู่ที่ บางแก้ว สละทรัพย์สร้างพระพุทธรูปและพระอุโบสถไว้ที่วัดสทังและวัดเขียนบางแก้ว สร้างพระมหาธาตุ ที่วัดสทิงพระร่วม กับพระยากรงทองในเวลาเดียวกัน
นางเลือดขาวและพระกุมารยังได้จาริกแสวงบุญไปอีกหลายเมือง เช่น ที่เมืองตรังและนครศรีธรรมราช เมื่อเดินทางถึงที่ใดก็สร้างวัดที่นั่น และเมื่อครั้งเดินทางไปลังกากับคณะทูตเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่วัดเขียนบางแก้ว สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์ วัดพระงาม วัดถ้ำพระพุทธที่เมืองตรัง สร้างวัดแม่อยู่หัว ที่อำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช สร้างวัดเจ้าแม่ (ชะแม้) วัดเจดีย์งาม วัดท่าคุระ ที่ฝั่งทางทะเลในแถบสทิงพระ เป็นต้น
ในตำนานฉบับนี้กล่าวด้วยว่า ความใจบุญของนางร่ำลือไปถึงกรุงสุโขทัย กษัตริย์มีรับสั่งให้นำตัวนางเลือดขาวเข้าไปอยู่ในวัง แต่บังเอิญนางตั้งครรภ์เสียก่อนจึงไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสนม ต่อมาเมื่อนางเลือดขาวคลอดกุมารแล้ว เจ้ากรุงสุโขทัยขอกุมารนั้นไว้ นางจึงทูลลากลับมาอยู่กับกุมารผู้สามีดังเดิมจนถึงแก่กรรมเมื่อวัยชรา ภายหลังบุตรนางเลือดขาวได้กลับมาเป็นคหบดี อยู่ที่บ้านพระเกิด เมืองพัทลุง ชาวเมืองเรียกว่า ‘เจ้าฟ้าคอลาย’ เพราะสักแบบทางเมืองเหนือไปถึงคอ
เพลานางเลือดขาวฉบับวัดเขียนบางแก้วยังมีต่อว่า เมื่อเวลาผ่านไปกว่าพันปี วัดวาอารามต่างๆ ที่นางเลือดขาวสร้างไว้ก็ทรุดโทรม และกล่าวถึง ‘เจ้าอินท์’ ชาวบ้านวัดสทัง ที่ต่อมาเป็น ‘พระครูอินทเมาลี’ ผู้ดูแลวัดต่างๆ ในเขตรอบทะเลสาบ นครศรีธรรมราชไปจนถึงเมืองตรัง และกล่าวถึงการกัลปนาที่ดิน ผู้คน สิ่งของให้แก่วัดต่างๆ
ตำนานนางเลือดขาวถือเป็นหลักฐานจากคำบอกเล่า ถึงผู้ประพฤติตนดีงามและบำรุงพุทธศาสนา จนร่ำลือทั่วไปตลอดบ้านเมืองในคาบสมุทรและหัวเมืองใหญ่ในพระนคร สะท้อนถึงบ้านเมืองในยุคที่แรกตั้งบ้านเมืองริมฝั่งทะเลและมีชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา เมื่อเขียนบันทึกขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรก็เห็นความสัมพันธ์ของพระพุทธศาสนาที่ตั้งมั่นอย่างมั่นคงในบ้านเมืองรอบทะเลสาบ ซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจที่ศูนย์กลางคือกรุงศรีอยุธยาซึ่งได้อุทิศข้าพระกัลปนาผู้คนไม่ต้องส่งส่วยเกณฑ์แรงงาน เพื่อไว้เป็นเครื่องยืนยันว่าคนจะปฏิบัติรับใช้วัดสำคัญๆ ในท้องถิ่นต่างๆ ต่อไป
ประเด็นที่สำคัญจากเนื้อหาตำนานนางเลือดขาว คือ เมื่อนางเดินทางไปถึงท้องถิ่นต่างๆ จะมีเรื่องเล่าติดที่เกี่ยวพันกับนางเลือดขาวแตกต่างกันไปจนทำให้สามารถประติดประต่อร่องรอยของเส้นทางเดินทางสมัยโบราณทั้งทางบกและทางน้ำ มองเห็นบ้านเมืองในระยะใกล้เคียง หรือแม้แต่การเดินทางข้ามภูมิภาคในระหว่างสองฝั่งทะเลอย่างชัดเจน อีกทั้งยังทำให้เข้าใจสภาพแวดล้อมของบ้านเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยนาสวน ป่าเขา และการจับช้างที่มีวิชาจะเป็น ‘นายกองส่วย’ ซึ่งจะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีและเป็นที่เกรงใจจากอำนาจแบบทางการหรือรัฐอีกด้วย

วัดจะทิ้งพระ

คลองบางแก้วที่ไหลผ่านวัดเขียน เส้นทางคมนาคมสำคัญแต่โบราณ เชื่อมท้องถิ่นที่อู่ใกล้ทะเลสาบสงขลาและเขตภูเขาที่สูงในเทือกเขาบรรทัด

พระบรมธาตุที่วัดเขียนบางแก้ว ในอำเภอเขาไชยสน จังหวัดพัทลุงในปัจจุบัน
ภาพซ้ายบนและล่าง บริเวณโคกเมือง ซึ่งเป็นเนินบนสันทราย และเป็นแหล่งอยู่อาศัยมาแต่เดิม ไม่ห่างจากวัดเขียนนัก พบร่องรอยโบราณสถานและชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดง ในสมัยอยุธยา
ภาพขวา เสาไม้หลักเมืองที่ “โคกเมือง” เนินสันทรายเก่าในอาณาบริเวณของวัดเขียนบางแก้ว ที่กำลังถูกบุกรุกล้อมเข้ามาด้วยนาข้าวและนาปาล์ม



เมืองพัทลุงที่เขาเมือง บ้านเมืองเขตภายในห่างจากทะเลสาบสงขลา สร้างเพื่อเป็นเมืองป้อม ป้องกันโจรสลัดจากชายฝั่ง
ช่องเขาข้ามเทือกเขาบรรทัดที่กงหรา ที่จุดผ่านแดนมีศาลตั้งอยู่

บริเวณปากคลองระโนดในปัจจุบัน ในอดีตเป็นที่เดินทางผ่านข้ามทะเลสาบและค้าขายเป็นสถานที่คึกคักด้วยผู้คน
‘แม่เจ้าอยู่หัว’ ในตำนานหลากท้องถิ่น
ตำนานแม่เจ้าอยู่หัวมีเนื้อเรื่องหลักใกล้เคียงกับตำนานนางเลือดขาวจากวัดเขียนบางแก้วที่พัทลุง แพร่กระจายไปหลายแห่ง เช่น ที่เมืองนครศรีธรรมราช ภูเก็ต ตรัง เป็นต้น
นางเลือดขาวในอีกสำนวนหนึ่งคือมเหสีเอกของ ‘พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช’ มีตำแหน่งเป็น แม่เจ้าอยู่หัว (แม่อยู่หัว เป็นชื่อตำแหน่งสนมเอกหรือมเหสีรองของกษัตริย์ในวัฒนธรรมแบบอยุธยาตามที่ปรากฏใน พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ของกฎหมายตราสามดวงระบุว่า “นางท้าวสนมเอกทั้ง ๔ คือ ท้าวสุเรนทร ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวอินทรเทวี ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ซึ่งเรียกว่า “แม่อยู่หัว” หรือ “แม่อยู่หัวเมือง” หรือบ้างก็เรียก “แม่หยัวเมือง”) เป็นบุตรีของคหบดีย่านบ้านบ่อล้อ ปัจจุบันตั้งอยู่ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ เป็นหญิงที่เพียบพร้อมด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี อุปนิสัยเยือกเย็น สุขุม มีเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีจิตใจเป็นกุศล ชอบทำบุญทำทาน ช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลต่างๆ
เล่ากันว่าสาเหตุที่มีพระนามว่า ‘พระนางเลือดขาว’ เนื่องด้วยโลหิตที่ไหลจากนิ้วชี้ของนางเมื่อคราวไปช่วยงานบวชนาคครั้งยังไม่ได้เป็นพระมเหสีเอกนั้น แทนที่จะเป็นสีแดงกลับเป็นสีขาว เมื่อเข้าวัยกลางคนก็ยังไม่มีโอรสธิดา จึงทูลลาออกจากตำแหน่งและตระเวณสร้างบุญกุศล อุทิศบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างวัดขึ้นมากมายทั่วเขตเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่จะสร้างทับลงในบริเวณที่เป็นเทวาลัยเก่าของศาสนาพราหมณ์ เช่น วัดแม่เจ้าอยู่หัว ที่บ้านเกิดในอำเภอเชียรใหญ่ วัดเขาพระทอง อำเภอชะอวด วัดถ้ำเขาแดง อำเภอร่อนพิบูลย์ วัดสระโนราห์ อำเภอทุ่งสง วัดพระนาง อำเภอท่าศาลา รวมทั้งวัดนางตราที่มาจากเรื่องเล่าว่าวัดนี้อยู่ใกล้แม่น้ำท่าสูง ในฤดูฝนน้ำจะท่วม นางจึงสั่งให้สร้างทำนบกั้นน้ำหรือพนังกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดพะนังตราหรือวัดนางตรา
ตำนานเรื่องเล่าในท้องถิ่นมักจะมีรายละเอียดที่สัมพันธ์กับสถานที่และสภาพแวดล้อมที่ผู้คนในพื้นที่นั้นๆ อยู่อาศัยเสมอ เช่น เรื่องที่ชาวบ้าน คลองฆ้อง (คลองฆ็อง) ซึ่งเคยเป็นคลองลึกและยาวผ่านอำเภอเฉลิมพระเกียรติไปจนถึงอำเภอร่อนพิบูลย์ สมัยก่อนมีเรือยนต์และเรือหางยาวรับผู้คนโดยสารและแม่ค้าแล่นผ่านวัดเป็นประจำ คนขับเรือทุกคนถือเป็นประเพณีว่า เมื่อขับเรือผ่านหน้าวัดจะชลอเครื่องเรือเพื่อสักการะต่อแม่เจ้าอยู่หัวและเพื่อขอพรให้ปลอดภัย ทำมาค้าขึ้น หากแม่ค้าผ่านไปไม่ชลอเครื่อง ไม่เคารพสักการะแม่เจ้าอยู่หัว มักจะเกิดเหตุร้าย เช่น เรือล่ม สิ่งของเสียหาย บางครั้งถึงแก่ชีวิต

เกาะสี่เกาะห้าในทะเลสาบสงขลา บนเส้นทางนางเลือดขาวที่ใช้เดินทางติดต่อระหว่างแถบเขาไชยสนและเมืองเก่าไชยบุรีและเมืองที่ลำปำ
ส่วนตำนานนางเลือดขาวที่เกี่ยวกับเมืองภูเก็ตนั้นเล่ากันว่า นางเลือดขาวเป็นมเหสีของเจ้าเมืองๆ หนึ่ง แต่ถูกเสนาบดีใส่ร้ายว่ามีชู้กับมหาดเล็กจึงถูกสั่งให้ประหารชีวิต แม้ว่านางจะแสดงความบริสุทธิ์อย่างไรก็ไม่เป็นผล ก่อนตายจึงขอให้ได้เดินทางไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่ลังกา และระหว่างทางในทะเลพบภัยอันตรายต่างๆแทบเอาชีวิตไม่รอด จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากมีบุญวาสนาได้ไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุอย่างที่ตั้งใจ กลับมาแล้วจะสร้างวัดก่อนที่จะรับโทษทัณฑ์ ในที่สุดก็ได้ไปถึงเกาะลังกา ขากลับแวะที่เกาะภูเก็ต เห็นเป็นชุมชนมีผู้คนอาศัย จึงสร้าง ‘วัดพระนางสร้าง’ ขึ้นเป็นแห่งแรก พร้อมทั้งปลูกต้นประดู่และต้นตะเคียนไว้เป็นเครื่องหมาย เมื่อกลับถึงบ้านเมืองของตน จึงได้รับข่าวการสูญเสียพระสวามีในการแย่งชิงราชสมบัติภายในเมือง นางจึงคิดจากไปโดยตั้งใจว่า ชีวิตที่เหลือจะสร้างวัดให้มากเท่าที่จะทำได้ แต่ยังไม่ทันหนีก็ถูกเจ้าเมืองใหม่จับไปประหารชีวิตเสียก่อน เลือดของนางที่ไหลออกมาเป็นสีขาวจึงเป็นที่มาของชื่อ ‘นางเลือดขาว’
ตำนานที่เกาะภูเก็ตนี้มีเค้าโครงคล้ายคลึงกับตำนาน ‘นางมะซูรี’ ที่เกาะลังกาวี เพียงแต่สลับเป็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาของเจ้าเมืองชาวมุสลิมและนางมะซูรีซึ่งเป็นคนภูเก็ต และเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงที่มีเลือดเป็นสีขาว
นอกเหนือจากนี้ ยังมีตำนานนางเลือดขาวที่บ้านท่าคุระ ในตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เล่ากันว่า นางเลือดขาวกับกุมารสามีไปเที่ยวเมืองสทิงพาราณสีทางเรือ โดยขึ้นฝั่งที่ บ้านท่าทองหรือบ้านท่าคุระ ในปัจจุบัน แล้วสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งคือ วัดท่าคุระและประดิษฐานพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัว ๑ องค์ ตามตำนานว่า หล่อขึ้นที่วัดท่าคุระ ตรงกับวันพุธแรกของเดือน ๖ ข้างแรม ซึ่งวันนี้ชาวบ้านท่าคุระถือเป็นวันรวมญาติ ชาวบ้านและผู้ที่ย้ายภูมิลำเนาไปยังถิ่นอื่นจะกลับมาชุมนุมพร้อมกันเพื่อร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เป็นวันชุมชาติหรือชุมนุมญาติและร่วมกันแสดงความกตัญญูต่อเจ้าแม่อยู่หัว ทำพิธีแก้บนต่างๆ ตามที่บนไว้ ซึ่งการแก้บนที่นิยมทำคือ บวชพระ บวชสามเณร หรือบวชชีถวาย นอกจากนี้ ยังมีการถวายข้าวตอก ดอกไม้ ปัจจัยไทยทาน และ ‘รำโนราถวายมือ’
การแสดง ‘โนรา’ มาจากการที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นการแสดงที่เจ้าแม่อยู่หัวโปรดปรานเป็นพิเศษ ในงานประเพณีตายายย่าน ทุกปีจะต้องมีการรำโนราโรงครู ต่อเนื่องกัน ๓ วัน ๓ คืน เริ่มวันพุธไปสิ้นสุดวันศุกร์ แต่งานประเพณีตายายย่านจะเสร็จตอนบ่ายวันพฤหัสบดี ชาวบ้านที่รำแก้บนก็เพียงแต่รำพอเป็นพิธี เช่น บนว่ารำเป็นตัวใดก็ให้รำตัวนั้นคนละท่าสองท่า มีธรรมเนียมของชาวบ้านท่าคุระว่า ลูกชายหัวปีของครอบครัวและมีอายุเกิน ๑๔-๑๕ ปี ต้องทำขนมโคมาถวายวัดและเลี้ยงญาติมิตร แต่ถ้าเป็นลูกสาวคนหัวปีต้องทำขนมพองหรือขนมลา แทน หากไม่ปฏิบัติตามแม่อยู่หัวจะให้โทษถึงเป็นบ้า ง่อยเปลี้ยพิกลพิการ หรือประสบทุกข์ต่างๆ
ตำนานนางเลือดขาวเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของชาวบ้านท้องถิ่นรอบทะเลสาบที่ยังเล่าลือถึงความดีงาม ความใจบุญมีกุศลในการบำรุงศาสนาของหญิงผู้มีบุญ โดยเปรียบเทียบความดีความบริสุทธิ์ของเธอกับการมีเลือดเป็นสีขาวแตกต่างจากผู้อื่น กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนหมู่บ้านและท้องถิ่นต่างๆ ตลอดทั่วคาบสมุทรภาคใต้ตอนกลางทั้งสองฝั่งทะเล
ภาพซ้าย งานตายายย่าน สมโภชแม่เจ้าอยู่หัวที่วัดท่าคุระ ภาพขวา งานแก้บนด้วยการรำโนรา ถือเป็นประเพณีสำคัญของลูกหลานแม่เจ้าอยู่หัว
ประวัติศาสตร์เมือง ‘พัทลุง’
ภูมิประเทศแบบคาบสมุทรที่มีเทือกเขาเป็นแนวกั้นกลางสองฝั่ง ทางฝั่งอ่าวไทยมีชายทะเลทอดยาวตั้งแต่บริเวณเมืองนครศรีธรรมราชไปจนจรดสงขลาบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ มีปากน้ำหรือเส้นทางน้ำที่ติดต่อระหว่างแผ่นดินภายในกับทะเลสาบเพื่อผ่านหรือเดินทางไปสู่แนวทิวเขา หากเดินทางข้ามผ่านช่องเขาก็จะไปสู่ชายทะเลทางฝั่งอันดามันที่มีท่าเรือที่ฝั่งทะเลเมืองตรัง ซึ่งสามารถเดินทางต่อไปยังเมืองท่าหรือสถานีการค้าชายฝั่งอันดามันอื่นๆ หรือไปยังชมพูทวีป ทำให้บริเวณนี้มีการตั้งถิ่นฐานมาแต่โบราณ เพราะเป็นจุดจอดเรือ พักเรือ อยู่ในเส้นทางการค้าทางทะเลทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ดังนั้น จึงเป็นพื้นที่แรกเริ่มในการรับอิทธิพลทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรมแรกเริ่มจากอินเดีย
วัฒนธรรมแบบฮินดูแต่แรกนั้น มักใช้ศาสนสถานที่อยู่ในธรรมชาติมากกว่าการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ โดยใช้ถ้ำในเทือกเขาหินปูนซึ่งมีโพรงถ้ำทั้งฝั่งสทิงพระและเขาในพัทลุง อีกทั้งในถ้ำต่างๆ เหล่านี้ก็พบหลักฐานเป็นพระพิมพ์แบบมหายานอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จนถึง ๑๖-๑๗ ซึ่งเป็นช่วงร่วมสมัยกับสหพันธรัฐศรีวิชัยซึ่งเป็นรัฐแบบการค้าทางทะเล [Port polity] และฮินดูในยุคหลัง เช่น ที่ถ้ำเขาคูหาบริเวณใกล้กับเขาพะโคะ ( “เมืองท่าทางการค้า” [Port polities] หมายถึงเป็น “สหพันธรัฐเมืองท่า” ที่มีหลายศูนย์กลางและเคลื่อนย้ายไปตามช่วงเวลา รวมถึงความสามารถของผู้นำของบ้านเมืองแต่ละแห่ง, เครือข่ายเมืองท่าหรือ Port polity ซึ่งแตกต่างจาก Port city หรือเมืองท่าโดยทั่วไป เพราะหมายถึง เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งคาบเกี่ยวกับทางการเมืองด้วย สามารถสร้างผลกำไรหรือผลประโยชน์ให้กับรัฐ [State] และแลกเปลี่ยนติดต่อทางการค้าและวัฒนธรรม ผู้ปกครองควบคุมสินค้าแลกเปลี่ยนต่างๆ ทั้งบ้านเมืองภายในและภายนอก ทำให้มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจอยู่ในมือด้วย รัฐศรีวิชัยคือเครือข่ายบ้านเมืองที่ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน อินเดีย กับเมืองท่าต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การค้าในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่ลักษณะทางศิลปกรรมในความเชื่อทางศาสนาพุทธแบบมหายานร่วมกัน แสดงออก ในหลายรูปแบบ เช่น การนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือการใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาสำคัญทางศาสนา เมืองท่าต่างๆ เหล่านี้ รวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่มีศูนย์กลางอยู่ในหลายแห่งตามเมืองสำคัญต่างๆ ทั้งในหมู่เกาะและคาบสมุทร )
บริเวณเมืองพัทลุงตั้งอยู่บนที่ราบใกล้ชายฝั่ง มีเขาหินปูนลูกโดดตั้งแต่เขาชัยสน เหนือขึ้นไปในอำเภอเมืองคือ เขาคูหาสวรรค์ เขาอกทะลุ ไปจนถึงเขาชัยบุรีทางตอนเหนือ บริเวณที่ราบดังกล่าวอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูก ทำนาทำสวน ได้ผลดีและกลายเป็นบ้านเมืองที่เริ่มเป็นปึกแผ่นมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ในช่วงที่พุทธศาสนาเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ลงหลักมั่นคงที่นครศรีธรรมราช ซึ่งตรงนั้นเป็นเมืองใหญ่กว่าและมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น
หลักฐานในตำนานนางเลือดขาวกล่าวว่า นางเกิดที่เมืองตรงฝั่งสทิงพระคือ เมืองสทิงพาราณสี ส่วนเมืองพัทลุงนั้นเป็นเมืองต่อช้างป่าและเลี้ยงช้างส่งส่วย จึงสันนิษฐานกันว่า ชื่อ ‘พัทลุง’ นั้น น่าจะมาจากคำว่า ‘เสาตลุง’ ซึ่งเป็นเสาไว้ล่ามช้างนั่นเอง
การสร้างชุมชนที่ชายฝั่งพัทลุงและฝั่งสทิงพระให้ความสำคัญกับพระสงฆ์และวัดเป็นอย่างมากจนเกือบไม่เห็นบทบาทของเจ้าเมืองนัก คณะสงฆ์ของเมืองพัทลุงนี้เลียนแบบคณะสงฆ์รักษาพระธาตุที่พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชที่มีการจัดคณะสงฆ์เฝ้าพระธาตุเป็น คณะกาแก้ว คณะกาเดิม คณะกาชาดและคณะการาม แต่ในพัทลุงปรากฏเพียงคณะกาแก้ว ปกครองทางฝั่งวัดเขียนและวัดสทัง ส่วนคณะกาชาดปกครองทางฝั่งพะโคะ สทิงพระ ซึ่งปรากฏชัดในช่วงรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานเรื่องการกัลปนาผู้คน สิ่งของ และที่นาให้กับวัดต่างๆ โดยมีพระบรมราชูทิศตรงมาจากราชสำนักในกรุงศรีอยุธยาให้ไม่ต้องขึ้นกับอำนาจที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งก็ทำให้เกิดความบาดหมางกับผู้ปกครองท้องถิ่นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เหตุหนึ่งที่ต้องมีการกัลปนานั้น สันนิษฐานว่า ในช่วงนี้ปรากฏมีโจรสลัดเข้ามาปล้นเมือง เผาวัดวาอารามหลายครั้ง เมื่อต้องฟื้นบ้านเมือง วิธีการกัลปนาอุทิศที่ดินข้าพระมาดูแลวัดก็ทำให้ผู้คนต้องการเข้ามาอยู่ร่วมกัน เพราะมีสิทธิที่ไม่ต้องเข้าเกณฑ์แรงงานแก่หลวงเป็นแรงงานไพร่ และสามารถทำมาหากินให้แก่วัดที่จะกลายเป็นชุมชนที่เป็นปึกแผ่น ทั้งทำให้ผู้นำเช่นพระสงฆ์มีบทบาทมากกว่าผู้ปกครองเมืองที่เป็นฆราวาส
ผู้ปกครองที่มีบารมีมากท่านหนึ่งคือ ‘หลวงพ่อทวด’ แห่งวัดพะโคะที่ลือเลื่องไปถึงชุมชนชาวพุทธในเขตหัวเมืองมลายูมุสลิม เช่น ที่วัดช้างให้ ปาตานี ในกลันตัน เป็นต้น บริเวณวัดพะโคะถูกเรียกว่าเป็น ‘เมืองพะโคะ’ ศูนย์กลางของชุมชนในฝั่งวัดเขียนจึงน่าจะโยกย้ายมาทางฝั่งสทิงพระในระหว่างนี้ ส่วนเมืองสงขลานั้นเกิดขึ้นโดยเอกเทศตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองลงมา และสัมพันธ์กับพ่อค้าชาวต่างแดน เช่น ชาวอิสลามเปอร์เซีย หรือพ่อค้าจีนเป็นเจ้าเมืองในยุคหลังๆ
ต่อมา ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศรับสั่งให้ พระยาราชบังสัน (ตะตา) (พระยาราชบังสัน (ตะตา) บุตรชายคนเล็กของ พระยาพัทลุง (ฮูเซน) เป็นหลานปู่ของ สุลต่าน สุลัยมาน ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก อยู่ในกองเรือกรมกลาโหม ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ.๒๒๕๑-๒๒๗๕) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงราชบังสันมหันตสุริยา ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕-๒๓๐๑) ก็ได้รับเลื่อน ยศเป็นพระยาราชบังสันมหันตสุริยา ตำแหน่งแม่ทัพเรือของกรุงศรีอยุทธยา ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๒๙๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงมีราชทินนามว่า พระยาแก้ว โกรพพิชัยภักดี บดินทรเดโชชัยอภัยพิริยาพาหนะ ศักดินา ๕,๐๐๐ ไร่ โดยทั่วไปเรียกว่าพระยา พัทลุง (ตะตา)) เชื้อสายสุลต่านสุไลมานเจ้าเมืองสงขลาในอดีต มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง แต่โดยตำแหน่งนี้เป็นแม่ทัพเรือของราชสำนักอยุธยา การส่งแม่ทัพเรือมาควบคุมหัวเมืองพัทลุงในระยะนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องการรับมือการรุกรานของโจรสลัดและการมีอำนาจทางทะเลและการค้าที่มากขึ้นของหัวเมืองมลายูมุสลิมเช่น ปาตานี
พระยาราชบังสัน (ตะตา) ได้เลือกตั้งเมืองที่ ‘เขาไชยบุรี’ ซึ่งอยู่ห่างชายฝั่งพอประมาณ โดยสภาพแวดล้อมเสมือนเป็นที่หลบภัยมากกว่าเมืองทางการค้า เพราะมีภูเขาโอบล้อม อีกทั้งมีกำแพงเมืองชั้นในอีกชุดหนึ่ง เมืองพัทลุงที่เขาไชยบุรีนี้เป็นเมืองพัทลุงแห่งสุดท้ายในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเจ้าเมืองพัทลุงยุคนี้สืบต่อมาเป็นต้นตระกูลของเจ้าเมืองพัทลุงในยุคกรุงเทพฯ ต่อมา
ในสมัยกรุงเทพฯ มีการย้ายเมืองพัทลุงจากเขาไชยบุรีมาอยู่ที่ปากคลองลำปำ ซึ่งมีทั้งวังเจ้าเมืองและวัดบางแห่งเป็นสัญลักษณ์ เติบโตเป็นชุมชนเมืองกินบริเวณตั้งแต่ชายฝั่งทะเลหลวง ปากคลองลำปำไปจนถึงเขาอกทะลุและเขาคูหาสวรรค์ ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟ ศูนย์กลางของเมืองและการค้าจึงย้ายมาอยู่ในพื้นที่ระหว่างเขาทั้งสองแห่งในภายหลัง
พุทธศาสนาและการกัลปนาจากตำนานนางเลือดขาว
พุทธศาสนาในตำนานนางเลือดขาวจากหลายท้องถิ่นสะท้อนถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธแบบเถรวาทลังกาวงศ์ที่เข้ามาตั้งมั่นที่เมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ อย่างชัดเจน และแม้ในตำนานจะกล่าวถึงอิทธิพลของพระเจ้าแผ่นจากสุโขทัย แต่ในความเป็นจริงคงมีอิทธิพลมาไม่ถึงกลุ่มบ้านเมืองทางแถบนี้แต่อย่างใด
เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว เมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ได้รับอิทธิพลพุทธเถรวาทแบบลังกาวงศ์ทั้งในช่วงพญารามคำแหงและพญาลิไทผ่านทางหัวเมืองมอญทางเมืองพัน ดังนั้น เป็นเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัยและความทรงจำทางพุทธศาสนาของบ้านเมืองที่นับถือพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มากกว่าจะมีเรื่องของอิทธิพลทางการเมืองแบบในตำนานนางเลือดขาว
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา คณะสงฆ์หัวเมืองภาคใต้ขึ้นกับพระวันรัตน คณะคามวาสีฝ่ายขวาหรือคณะป่าแก้วหรือวัดใหญ่ไชยมงคลทุกวันนี้ แต่การปกครองคณะสงฆ์ในเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง และเมืองไชยา มีลักษณะพิเศษกว่าหัวเมืองอื่น คือจะแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๔ คณะ ได้แก่ คณะป่าแก้วหรือคณะลังกาป่าแก้ว คณะลังการาม คณะลังกาชาด และคณะลังกาเดิม มีตำแหน่งพระครู ๔ รูป ได้แก่ พระครูกาแก้ว พระครูการาม พระครูกาชา ด และพระครูกาเดิม คำว่า ‘กา’ กร่อนเสียงมาจากคำว่าลังกา
หัวเมืองพัทลุงรับแบบอย่างการปกครองคณะสงฆ์มาใช้ตามแบบเมืองนครศรีธรรมราช แต่จากตำนานนางเลือดขาวและเอกสารกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงหลายฉบับพบว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาหัวเมืองพัทลุงหรือแถบรอบทะเลสาบสงขลา มีศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์เพียง ๒ คณะ คือ คณะกาแก้ว ศูนย์กลางอยู่ที่วัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง ส่วนทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาคือ คณะกาชาด หรือลังกาชาด ศูนย์กลางอยู่ที่วัดพะโคะหรือวัดราชประดิษฐานทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบ
จาก ‘เพลานางเลือดขาวฉบับวัดเขียนบางแก้ว’ ในช่วงที่ต่อเนื่องจากเรื่องราวของนางเลือดขาวยังมีพระบรมราชูทิศเพื่อการกัลปนากล่าวว่า ราวแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา พระครูอินทเมาลี ซึ่งเคยเป็นชาวบ้านตำบลวัดสทัง ทำความดีความชอบช่วยบ้านเมืองปราบปรามโจรสลัดจากทางปลายแหลมมลายู พระเจ้าแผ่นดินที่กรุงศรีอยุธยาจึงถวายข้าพระโยมสงฆ์เชิงกุฏิศีลบาลทานพระกัลปนาที่ภูมิทานและเรือสำเภา ๓ ลำ บรรทุกอิฐปูนรักทองออกมาช่วยบูรณะวัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง และวัดสทิงพระในช่วง พ.ศ.๒๑๐๙-๒๑๑๑ แล้วตั้งเป็นเจ้าคณะป่าแก้ว ดูแลวัดต่างๆ ในเขตหัวเมืองพัทลุงและรอบทะเลสาบ พระราชทานเอกสารตราแสดงการกัลปนาที่ดิน ผู้คน สิ่งของให้แก่วัดต่างๆ คณะป่าแก้วจึงมีศูนย์กลางที่วัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง มีความสำคัญในการปกครองคณะสงฆ์ในแถบทะเลสาบสงขลาในสมัยอยุธยาตอนปลายเรื่อยมา
รูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ของทางฝั่งกาแก้วที่วัดเขียนฯ นอกจากมีพระครูอินทเมาลีเป็นเจ้าคณะแล้ว ยังมีพระครูอันดับอีก ๖ รูป และมีขุนหมื่น สมุห์บัญชี นายประเพณีปกครองดูแลข้าพระโยมสงฆ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หมู่ข้าพระโยมสงฆ์มีสิทธิพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปไม่ต้องเสียส่วยอากร ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานจากรัฐ มีคดีความแพ่งอาญาทางวัดจะเป็นผู้ตัดสินกันเอง หากต้องทำเรือกสวนไร่นาบนที่ดินกัลปนาหรือทำงานวัดแทน เพื่อบำรุงรักษาวัดวาอารามไม่ให้ชำรุดทรุดโทรม
ในจำนวนเอกสารที่รวบรวมจากหัวเมืองใต้ทั้ง ๑๖ ฉบับ มีเพียงฉบับวัดเขียนบางแก้วฉบับเดียวที่เล่าเรื่องนางเลือดขาวและใช้ชื่อว่า ‘เพลานางเลือดขาว’ ส่วนเอกสารอื่นๆ ในกลุ่มนี้มีชื่อเรียกดั้งเดิมแตกต่างกันออกไป เช่น ‘พระเพลาตำรา’ หรือ ‘พระตำราพระเพลา’ เนื้อหาพระตำราเหล่านี้คือ พระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาข้าพระโยมสงฆ์ วัตถุสิ่งของ ที่ภูมิทาน
การกัลปนาทำให้วัดเกิดเป็นชุมชนหนาแน่น มีบ้านเรือนไร่นาขึ้นมาอีกรอบหนึ่งหากเกิดศึกสงครามหรือบ้านเมืองร้างไปเพราะโรคภัย ถือเป็นการขยายตัวของกลุ่มชนจากเล็กเป็นชุมชนใหญ่ อันเนื่องจากผู้คนที่เป็นข้าพระโยมสงฆ์จะได้รับยกเว้นการเสียส่วยและการถูกเกณฑ์แรงงานให้กับหลวงในระดับท้องถิ่นเองหรือส่วนกลาง ทำให้เกิดอำนาจของคณะสงฆ์ในท้องถิ่นได้กลายเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมมากกว่าผู้ปกครองอย่างเป็นทางการ
เอกสารซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ‘พระตำรา’ จึงเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งต่อชุมชน ชาวบ้านถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องเก็บไว้ เคารพบูชา เมื่อใดที่เอกสารชำรุดเสียหาย ชุมชนก็จะแต่งตั้งตัวแทนซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพระสงฆ์เดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอพระราชทานฉบับใหม่ โดยมีพระเถระผู้ใหญ่ในเมืองหลวงเป็นผู้พาไปเข้าเฝ้า ซึ่งในเพลานางเลือดขาวก็ปรากฏการร้องเรียนผู้นำท้องถิ่นว่าใช้อำนาจนำเอาข้าวัดที่เคยมีมาแต่เดิมไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงมีการส่งตัวแทนไปเฝ้าพระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อขอพระราชทานพระตำรายืนยันการเป็นชุมชนที่ได้รับการกัลปนามาก่อน
พระตำราที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน คือเอกสารประวัติศาสตร์ที่เป็นทั้งหลักฐานแสดงยืนยันสภาพสังคมท้องถิ่นและอำนาจบารมีของคณะสงฆ์รอบทะเลสาบสงขลาที่มีต่อผู้ปกครองท้องถิ่น และมีชุมชนที่เป็นข้าพระโยมสงฆ์จำนวนมากที่ได้รับการกัลปนาจากรัฐส่วนกลางจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อการเป็นไพร่ส่วยหรือถูกเกณฑ์แรงงานเช่นคนในชุมชนอื่นๆ จนมีสถานะและความมั่นคงของชุมชนและบ้านเมืองรอบทะเลสาบสงขลา อีกประการหนึ่งก็เสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้รับสืบทอดดูแลรักษาต้องระมัดระวังจนกลายเป็นมรดกสู่คนรุ่นหลังในยุคที่การกัลปนาหมดความศักดิ์สิทธิ์ลง พระตำราจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับและไม่นำออกมาสู่สาธารณะนอกจากเฉพาะในงานสมโภชเท่านั้น
‘ภูมิวัฒนธรรม’ ลุ่มทะเลสาบสงขลาจากตำนาน
ในตำนานนางเลือดขาวที่เล่าสืบต่อกันมาในท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมักกล่าวถึงวัด และหมู่บ้าน ที่แสดงถึงเส้นทางติดต่อต่างๆ ดังนั้น เมืองพัทลุงและเมืองสงขลาน่าจะนับเนื่องว่าเป็นเขตภูมิวัฒนธรรมเดียวกันได้ แม้จะอยู่คนละฝั่งของทะเลสาบ เนื่องจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่มีเทือกเขาบรรทัดอยู่ทางตะวันตกและทะเลสาบสงขลาทางตะวันออก ก่อนจะถึงชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย บริเวณเทือกเขาบรรทัดซึ่งเป็นเทือกเขาสูง มีช่องเขาตัดผ่านไปสู่บ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกติดกับฝั่งทะเลอันดามันผ่านคลองปะเหลียนออกทะเลที่ปากน้ำกันตัง ดังนั้น บ้านเมืองทั้งสองฝากฝั่งทะเลจึงสามารถติดต่อข้ามผ่านกันได้ โดยใช้ช้างเป็นพาหนะอย่างไม่ยากเย็นนัก
พื้นที่แถบจังหวัดพัทลุงและสงขลามีภูเขาหินปูนลูกโดดอยู่หลายแห่งและมีถ้ำซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของนักบวชทั้งในฮินดูและพุทธช่วงแรกๆ นอกจากนี้ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำท่าที่มีต้นน้ำจากเทือกเขาบรรทัดไหลผ่านทุ่งนากว้างใหญ่สู่ทะเลสาบสงขลา เกิดเป็นชุมชนที่อยู่ติดชายเขาและชุมชนที่อยู่ริมน้ำใกล้ทะเลสาบ ซึ่งมีชุมชนเก่าแก่หลายแห่ง
ตำนานบางสำนวนยังกล่าวถึง ชาวชมพูทวีปที่เดือดร้อนจากการสงครามสมัยพระเจ้าอโศกหนีมาทางสุวรรณภูมิ บางส่วนขึ้นฝั่งที่ ท่าประตูทะเลหรือท่าประตูเล ในอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง แล้วเดินทางข้ามช่องเขาบรรทัดผ่าน เมืองตระหรือบ้านในตระ ฝั่งปะเหลียน ช่องเขานี้ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า ‘ช่องรูตู’ หรือประตูนั่นเอง แล้วแยกย้ายเป็น ๒ สาย สายหนึ่งแยกไปทางทิศใต้จนถึง เขาปัจจันตระหรือเขาจันทร์ แล้วร่องเรือลงตาม ลำน้ำฝาละมี มาพักอยู่ที่ ท่าเทิดครู หรือบ้านท่าเทิดครู ตำบลหารเทา อำเภอปากพะยูนในปัจจุบัน สายที่สองแยกไปทางทิศเหนือเลียบเชิงเขาจนถึงที่โมชฬะหรือที่ปราโมทย์ ต่อมาเพี้ยนเป็นบ้านโหมดหรือ บ้านตะโหมด


ช่องเขารูตู หรือช่องประตู ทางเดินข้ามคาบสมุทรมาแต่โบราณและปัจจุบันชาวบ้านในอำเภอกันตังและกงหราตลอดจนถึงตะโหมดก็ยังใช้อยู่
ส่วนตาสามโมกับยายเพชร อยู่บริเวณปละท่า ทิศตะวันตกของทะเลสาบสงขลาคือ บ้านพระเกิด ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ตาสามโมเป็นหมอสดำหรือหมอช้างขวา ผู้มีหน้าที่จับช้างป่ามาฝึกสำหรับส่งไปให้เจ้ากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสี ปีละ ๑ เชือก เรียกสถานที่นั้นว่า ‘ที่คช’
ตายายเดินทางไปจับช่างป่าแถบเชิงเขาบรรทัด เลยไปถึงถิ่นปราโมทย์จึงพบชาวชมพูทวีป ตรงนี้บางตำนานว่าพบกุมารีและกุมารจากกระบอกไม่ไผ่ แต่บางตำนานว่าชาวที่นั้นยกบุตรีให้ตายายและนำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านพระเกิด ให้ชื่อว่า นางเลือดขาว เพราะเป็นผู้ที่มีผิวขาวกว่าชาวพื้นเมือง อยู่ไม่นานตายายคิดว่าควรหาบุตรชายไว้สักคนหนึ่งเพื่อเป็นคู่ครองของนางเลือดขาวในเวลาต่อไป จึงเดินทางไปขอกุมารจากชาวชมพูทวีปที่อาศัยที่ถ้ำไม้ไผ่เสรียงให้ชื่อว่า กุมารหรือเจ้าหน่อ
ต่อมาตาสามโมกับยายเพชรเดินทางไปที่ คลองบางแก้ว ก็ไปพบช้างพังนอนทับขุมทรัพย์ไว้ เมื่อบุตรทั้งสองมีอายุ ๑๙ ปี ตายายจัดพิธีให้นางเลือดขาวกับกุมารแต่งงาน แล้วจึงย้ายจาก บ้านพระเกิด ไปยัง บ้านบางแก้ว ตาสามโมกับยายเพชรก็ถึงแก่กรรม กุมารกับนางเลือดขาวฌาปนกิจศพเสร็จแล้วจึงนำอิฐไปฝังไว้ใน ถ้ำคูหาสวรรค์ เมืองพัทลุงปัจจุบันนี้
แต่บางตำนานกล่าวว่า นางเลือดขาวได้โดยสารเรือสำเภาผ่านเข้ามาทาง คลองฝาละมี เรือได้อับปางลงใกล้ๆ กับสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สวนจีน นางเลือดขาวขึ้นบกเดินทางต่อไปจนได้คลอดบุตรเป็นหญิงให้ชื่อว่า ‘นางพิมพ์’ พร้อมกับได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งเรียกว่า วัดพระเกิด ซึ่งหมายถึงที่เกิดหรือที่คลอดบุตรนั่นเอง
กุมารกับนางเลือดขาวได้รับมรดกเป็นนายกองส่วยช้าง ปรึกษาตกลงกันว่าควรนำทรัพย์สมบัติมาสร้างบุญกุศลขึ้นในพระพุทธศาสนา เพื่ออุทิศให้ตายายทั้งสองที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งสองจึงได้นำบริวารทำการถากถางป่าบริเวณริมคลองบางแก้ว สร้างเป็นกุฏิ วิหาร อุโบสถ พระธรรมศาสนา พระพุทธรูป เสร็จแล้วเจ้ากรุงทองได้เดินทางมาร่วมกันสร้างพระมหาธาตุ ขึ้นที่ วัดเขียนบางแก้ว
เจ้ากรุงทอง กุมาร และนางเลือดขาว ร่วมกันสร้าง ถนนจากบ้านบางแก้วถึงบ้านสทังและได้สร้างวัดสทังใหญ่ ขึ้นอีกวัดหนึ่ง มีพระมหาธาตุ อุโบสถ วิหารและพระพุทธรูป เมื่อเสร็จแล้วจึง สร้างวัดสทิงพระ ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลามีพระพุทธไสยาสน์ พระมหาธาตุเจดีย์ ทำการฉลองทั้ง ๓ อาราม แล้วจารึกลงในแผ่นทองคำแล้วให้จารข้อความลงใน ‘เพลานางเลือดขาว’ หรือ ‘เพลาวัดบางแก้ว’ หรือ ‘เพลาเมืองสทิงพระ’
บ้านบางแก้ว กลายเป็นชุมชนใหญ่ที่พ่อค้าวาณิชเดินทางมาค้าขาย กุมารกับนางเลือดขาวจึงสร้าง เมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมือง ทางทิศเหนือของวัดเขียนบางแก้ว ทั้งสองได้ปกครองเมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมือง ต่อมากุมารกับนางเลือดขาวทราบว่า พระยาศรีธรรมโศกราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจะส่งทูตไปสืบหาพระบรมสารีธาตุที่เกาะลังกา ทูตจากเมืองนครศรีธรรมราชขี่ช้างไปทาง ห้วยยอดเมืองตรัง แล้วลงเรือที่แม่น้ำยัง ท่าเรือกันตัง กุมารกับนางเลือดขาวจึงขี่ช้างจากบางแก้วไปยังสถานที่แห่งหนึ่งพบ เมืองร้องอยู่ จึงเรียกที่นั้นว่า ‘บ้านทะหมีร่ำ’ (ทะ คือ พบ, ร่ำ คือร้อง) คือ บ้านท่ามิหรำ อำเภอเมืองพัทลุงในปัจจุบัน เมื่อถึงเมืองตรัง กุมารกับนางเลือดขาวได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ชื่อว่า ‘วัดพระงาม’ แล้วไปลงเรือทูตเมืองนครศรีธรรมราชที่ท่าเรือกันตังแล่นเรือไปเกาะลังกา
ขากลับจากเกาะลังกา กุมารกับนางเลือดขาวและทูตเมืองนครศรีธรรมราชได้นำพระบรมสารีริกธาตุกับพระพุทธสิหิงค์มาด้วย โดยขึ้นฝั่งที่ปากน้ำเมืองตรังแล้วเดินทางไปพักแรมค้างคืน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ได้สร้างวัดหนึ่งชื่อว่า ‘วัดพระพุทธสิหิงค์’ และยังได้จำลองรูปพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัด ๑ องค์ (ปัจจุบันเพิ่งถูกขโมยไปได้ไม่กี่ปีที่ผ่านมา) ก่อนเดินทางกลับเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวยังได้สร้างพระนอนไว้ที่วัดถ้ำพระพุทธ ตำบลหนองบัว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ๑ องค์ แล้วจึงเดินทางกลับบางแก้ว กุมารกับนางเลือดขาวได้นำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว และยังได้สร้างวัดขึ้นที่ชายหาดปากบางแก้ว ก่อพระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ อุโบสถ วิหาร ให้ชื่อว่า วัดพระนอน หรือวัดพระพุทธไสยาสน์ ทำการฉลองพร้อมกับ วัดพระพุทธสิหิงค์หรือวัดหิงค์ที่เมืองตรัง
เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวเดินทางไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช พักอยู่ที่บ้านหนองหงส์ อำเภอทุ่งสง เป็นเวลาหนึ่งคืน แล้วเดินทางต่อไปบูชาพระอัฐิธาตุของพระยาศรีธรรมโศกราชองค์ก่อน รวมทั้งยังได้สร้างสาธารณะประโยชน์ไว้หลายตำบล เช่น ขุดสระน้ำที่วัดเขาขุนพนม ๑ แห่ง เป็นต้น
เมื่อข่าวความดีงามของนางเลือดขาวลือเข้าไปถึงกรุงสุโขทัย เจ้ากรุงสุโขทัยได้โปรดเกล้าให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์คุมขบวนเรือนางสนมออกไปรับนางเลือดขาวถึงเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อจะนำไปเป็นมเหสี ส่วนกุมารก็เดินทางกลับมาอยู่บ้านพระเกิด
นางเลือดขาวไปถึงกรุงสุโขทัย เจ้ากรุงสุโขทัยไม่ได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นมเหสีหรือสนมเพราะมีสามีและมีครรภ์ติดมา จนนางคลอดบุตรเป็นชาย เจ้ากรุงสุโขทัยทรงขอบุตรนั้นเลี้ยงไว้ นางเลือดขาวทูลลากลับ เจ้ากรุงสุโขทัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์นำนางเลือดขาวไปส่ง ขบวนเรือแล่นเข้าทาง แม่น้ำปากพนัง นางเลือดขาวได้พักอยู่ บ้านค็อง หลายวัน สร้าง วัดคลองค็อง เรียกชื่อว่า ‘วัดแม่อยู่หัวเลือดขาว’ ตำบลแม่อยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ในปัจจุบัน แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองพัทลุง หลังจากนางเลือดขาวกลับจากกรุงสุโขทัยแล้ว คนทั่วไปมักเรียกนางว่า ‘เจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว’ หรือบางครั้งเรียกว่า นางพระยาเลือดขาวหรือพระนางเลือดขาว เพราะเข้าใจว่าเป็นมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน
บางตำนานเล่าว่า นางเลือดขาวกับบริวารออกเดินทางไปสร้างพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช บรรทุกทรัพย์สมบัติมากับกองเกวียนและได้เดินทางมาถึงเขาลูกหนึ่งในเขตตำบลท่าแค ก็ทราบว่าพระบรมธาตุที่เมืองนครฯสร้างเสร็จแล้ว จึงให้กองเกวียนลากทรัพย์สมบัติไปฝังไว้ที่เชิงเขาแห่งนั้น และมีรอยที่เชื่อกันว่าเป็นรอยเท้าโคและล้อเกวียนอยู่ ชาวบ้านเรียกเขาลูกนี้ว่า ‘เขาโคเกวียน’ ภายหลังเสียงเพี้ยนเป็น ‘เขาคูเกวียน’ หรือ ‘ภูเกียง’
ช่วงนั้น เมืองพัทลุงที่โคกเมือง บางแก้วมีพวกแขกมลายูมาประชิดเมือง นางเลือดขาวจึงไปหลบภัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกว่า ‘บ้านหลบภัย’ เสียงเพี้ยนมาเป็น ‘บ้านลับภัย’ ในตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จนกระทั่งนางเสียชีวิต ศพของนางถูกฝังไว้ทางทิศตะวันออกของวัดอภัยยาราม มีเนินดินและหลักไม้ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ชาวบ้านเรียกตรงนั้นว่า ‘ที่ศพ’ และเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ชาวบ้านตำบลท่าแคโดยเฉพาะคณะโนราและคนทรงครูหมอโนราเชื่อว่า นางเลือดขาวคือคนคนเดียวกับแม่ศรีมาลา แต่เป็นคนละภาค การที่นางเลือดขาวต้องมาเสียชีวิตที่บ้านท่าแคก็เพราะต้องการอยู่ใกล้ชิดกับบุตรชายคือเทพสิงหรหรือขุนศรีศรัทธาซึ่งมาตั้งบ้านเมืองและตั้งโรงฝึกหัดการรำโนราอยู่ที่โคกขุนทา บ้านท่าแค คณะโนราจึงนับถือ นางเลือดขาวเป็นครูโนรา ด้วย
ล่วงเลยมาหลายปีนางเลือดขาวกับกุมารเดินทางท่องเทียวไปยังเมืองสทิงพาราณสีโดยทางเรือ ขึ้นฝั่งที่ บ้านท่าทอง (ท่าคุระ) ได้สร้าง วัดท่าคุระหรือวัดเจ้าแม่อยู่หัวหรือวัดวัดท่าทอง ขึ้นวัดหนึ่ง และยังได้สร้างพระพุทธรูปไว้ที่วัด เรียกว่า เจ้าแม่อยู่หัว แล้วจึงเดินทางต่อไปสร้าง วัดนามีชัย (วัดสนามชัย) วัดเจ้าแม่ (วัดชะแม้) วัดเจดีย์งาม วัดเถรการาม วัดเหล่านี้ปัจจุบันอยู่ในอำเภอสทิงพระและอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
กุมารกับนางเลือดขาวได้ปกครองเมืองพัทลุงเรื่อยมาจนแก่ชรา ชาวบ้านชาวเมืองจึงจัดงานทำบุญรดน้ำแก่นางเลือดขาวโดยจัดขบวนแห่จากเมืองพัทลุงผ่านแหลมจองถนนไปตามเส้นทางเลียบฝั่งทะเลสาบจนถึงบ้านพระเกิด ถนนสายนี้ชาวบ้านเรียกว่า ‘ทางพระ’ หรือ ‘ถนนพระ’ หรือ ‘ถนนนางเลือดขาว’ เส้นทางนี้สิ้นสุดที่ บ้านหัวถนน ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน สถานที่ร่วมกันรดน้ำแก่นางเลือดขาว เรียกว่า ทุ่งเบญจา
กุมารกับนางเลือดขาวแก่ชราภาพมากแล้ว ฝ่ายกรุงสุโขทัยได้ส่งคืนบุตรของนางกลับมาเป็นคหบดีปกครองอยู่ที่บ้านพระเกิด ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า เจ้าฟ้าคอลาย เพราะเข้าใจว่าเป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดินและตามร่ายกายได้สักลวดลายเลขยันต์ตามคตินิยมของชาวเมืองเหนือ
กุมารกับนางเลือดขาวอายุได้ราว ๗๐ ปีเศษก็ถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าคอลายผู้บุตรจัดการทำพิธีศพบิดามารดา โดยจัดขบวนแห่ศพจากเมืองพัทลุงไปตามถนนนางเลือดขาว นำศพมาพัก ที่ศพนางเลือดขาว อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านบางม่วง ตำบลฝาละมี ขณะที่พักศพอยู่ในนั้นได้นำไม้คานหามปักลงในบริเวณใกล้ๆ ต่อมาคามหามงอกงามขึ้นเป็นกอไม้ไผ่ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ชาวบ้านพากันมาในขบวนแห่ได้นำฆ้องใบหนึ่งไปแขวนไว้ที่กิ่งมะม่วงเพื่อตีบอกเวลาที่นั้นเรียกว่า มะม่วงแขวนฆ้อง ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของบ้านบางม่วง ตำบลฝาละมี จนถึงบ้านพระเกิด จึงฌาปนกิจศพที่ วัดพระเกิด ส่วนเจ้าฟ้าคอลายเมื่อจัดการเผาศพบิดามารดาเสด็จก็นำอัฐไปไว้ที่บ้านบางแก้ว ต่อมาเจ้าฟ้าคอลายเป็นเจ้าเมืองพัทลุงตั้งเมืองที่โคกเมืองบางแก้ว
แม้เราจะไม่อาจหาข้อเท็จจริงได้จากตำนานนางเลือดขาว แต่สิ่งที่อยู่ในตำนานคือการสะท้อนสภาพแวดล้อมและการตั้งถิ่นฐานของผู้คนแต่แรกเริ่มได้อย่างเห็นภาพ เพราะอ้างอิงอยู่กับสถานที่จริงซึ่งมีการบอกเล่าของผู้คนในท้องถิ่นสืบต่อมาด้วย ทั้งยังทำให้เข้าใจและเห็นความเคลื่อนไหวติดต่อของบ้านเมืองทั้งสองฝากทะเลและสองฝากเขาในอดีตอันห่างไกลของบ้านเมืองทั้งที่คาบสมุทรสทิงพระต่อเนื่องจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช และแผ่นดินภายในใกล้เทือกเขาบรรทัดของเมืองพัทลุงได้อย่างชัดเจน
‘นางเลือดขาว’ ตำนานและภูมิวัฒนธรรมของคนคาบสมุทร
ความสำคัญของตำนานนางเลือดขาวที่นอกเหนือไปจากประเด็นทางการเมืองในการเป็นพระตำราหรือพระเพลาซึ่งหมายถึง เอกสารกัลปนาที่ดินและผู้คนเพื่อเป็นข้าพระโยมสงฆ์ ของหัวเมืองภาคใต้แล้ว
เนื้อหาและชื่อบ้านนามเมืองยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อม เส้นทางโบราณ และการตั้งถิ่นฐานของผู้คนแต่แรกเริ่มของบ้านเมืองทั้งสองฟากมหาสมุทรและสองฟากเขา หรือตั้งแต่คาบสมุทรสทิงพระไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช และจากแผ่นดินภายในใกล้เทือกเขาบรรทัดของเมืองพัทลุงไปจนจรดฝั่งทะเลเมืองตรังในอีกฝั่งหนึ่ง ได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ตำนานนางเลือดขาวยังผูกพันอยู่กับความทรงจำและเรื่องเล่าในท้องถิ่นต่างๆ จนเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของชาวคาบสมุทรที่บูชาความดีงาม ความใจบุญ มีกุศลในการบำรุงศาสนาของหญิงผู้มีบุญโดยเปรียบเทียบความดี ความบริสุทธิ์ของเธอกับการมีเลือดเป็นสีขาวให้แตกต่างไปจากผู้อื่น จนถูกนับถือเสมือนบรรพบุรุษและกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนหมู่บ้านและท้องถิ่นต่างๆ ตลอดทั่วคาบสมุทรภาคใต้ตอนกลางทั้งสองฝั่งทะเล
ในยุคสมัยของบ้านเมืองที่สับสน และการโหยหาผู้นำที่มีความดีงามน่าศรัทธาได้ยกย่องนางเลือดขาวหรือแม่เจ้าอยู่หัวเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมสตรีที่ไม่เคยเลือนรางไปจากความเชื่อความศรัทธา และทรงจำของผู้คนตลอดทั่วคาบสมุทรภาคใต้ตอนกลางทั้งสองฝั่งทะเล.
_________________________________
เอกสารอ้างอิง กฤษฎ ธนกิตติธรรม. ตำนานนางเลือดขาวที่พบในภาคใต้ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/390083? page=1 กฤษฎ ธนกิตติธรรม. ตำนานนางเลือดขาว เรื่องเล่าพลัดถิ่นแห่งแดนใต้ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/ 386461 ชัยวุฒิ พิยะกูล การศึกษา “เพลานางเลือดขาว” ฉบับวัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครทรวิโรฒ, ๒๕๓๘ ชุลีพร วิรุณหะ เพลานางเลือดขาว http://downtoearthsocsc.thaigov.net/index.php? option=com_content&task=view&id=170&Itemid=2 ข้อมูลสัมภาษณ์ พระครูกาเดิม ฐานภทฺโท (เจ้าอาวาสวัดเขียน บางแก้ว) ธรรมรงค์ อุทัยรังสี อาจารย์โรงเรียนสตรีพัทลุง