วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เคยพิมพ์ในจดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๑๐๒ เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๗
ในย่านเก่าปารี-อัน [Pari-an] ของเกาะเซบู บนถนนสายเงียบไม่พลุกพล่านเพราะเป็นวันอาทิตย์ มีโกดัง [Warehouses] ทึมๆ ขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บอุปกรณ์เครื่องจักรกลโรงงานอยู่หลายแห่ง ดูคล้ายย่านถนนขายอุปกรณ์ก่อสร้างที่เงียบเหงา และไม่มีอะไรน่าสนใจหรือแปลกตาไปจากสภาพถนนสายอื่นๆ ในเซบูที่เต็มไปด้วยตึกแถวธรรมดาๆ อาคารบ้านช่องรกๆ ไม่สวยงามแบบเมืองประวัติศาสตร์หรือย่านเก่าที่มีเอกลักษณ์ตามแบบบ้านเมืองอื่นๆ เอาเสียเลย
อยู่ๆ ไกด์หนุ่มใหญ่ชาวเซบูโน่ [Cebuano] ชวนพวกเราเดินเข้าประตูโรงงานที่ดูท่าจะปิดอยู่เป็นนิจ ด้านในของอาคารแบบโกดังสูง ร้อนและเต็มไปด้วยเครื่องจักรกลต่างๆ อุปกรณ์ก่อสร้างแขวนระเกะระกะและตั้งวางไว้ทั่วบริเวณ เดินข้ามกองเหล็กท่อเหล็กเส้นตามพื้นตามผู้นำทางเราไปเรื่อยๆ ก็พบกับทางเข้าที่แขวนโคมจีนสีแดงและมีโต๊ะไม้ให้นั่งพัก ด้านหน้าคือประตูไม้ปิดเปิดแบบบ้านคนจีนเก่าๆ เมื่อแหงนหน้าดู อาคารหลังนี้ถูกต่อเติมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโกดังโรงงานที่สร้างคลุมพื้นที่อีกชั้นหนึ่ง แม้จะมีบางส่วนที่ดูเป็นไม้ระแนงแบบอาคารเก่าอยู่บ้าง แต่ก็เห็นไม่ชัดนัก ยังคงเหมือนเดินเข้ามาในโกดังเก็บอุปกรณ์ก่อสร้างรกๆ อยู่เช่นเดิม
ที่นี่คือ “พิพิธภัณฑ์บ้านแห่งคณะเจซูอิต ๑๗๓๐”
เมื่อก้าวเท้าเข้าไปด้านในบานประตูไม้ ก็พบกับพื้นห้องและผนังปูนเก่าๆ ติดเครื่องปรับอากาศเพื่อให้ระบายอากาศสำหรับสถานที่ปิดทั้งหมดเช่นนี้ ภายในจัดแสดงนิทรรศการทั้งภาพและการจัดแสงสวยงามน่าตื่นใจทีเดียว
ใช่แล้ว… ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ “บ้านแห่งคณะเจชูอิต ๑๗๓๐” [๑๗๓๐ Jesuit House] ในย่านปาริ-อัน [Pari-an Barangay] ที่อยู่ตอนเหนือของเกาะเซบู เป็นท้องถิ่นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเกาะเซบูมาแต่แรกเริ่มเมื่อประเทศเจ้าอาณานิคมเริ่มเดินทางเข้ามาสู่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ และยึดครองไว้เป็นอาณานิคมในเวลาหลายร้อยปีต่อมา
ปาริ-อันในยุคที่สเปนครอบครองเคยมีกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่ทำการค้าเป็นส่วนใหญ่อาศัยอยู่โดยรอบ และเป็นย่านหัวใจทางเศรษฐกิจของเมืองเซบูและเกาะเซบู ราว ค.ศ. ๑๕๙๕ (พ.ศ. ๒๑๓๘) บาทหลวงคณะเจซูอิตถูกส่งมาในปาริ-อันช่วงสั้นๆ เพื่อโน้มน้าวคนเชื้อสายจีนเหล่านี้ให้เปลี่ยนหันมานับถือศาสนาคริสต์ โดยทำงานและอยู่ภายใต้การปกครองของบิชอปแห่งเซบู อาคารที่พักของคณะเจซูอิตนี้สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๗๓๐ (พ.ศ. ๒๒๗๓) ซึ่งยังคงมีป้ายปีก่อสร้างติดไว้ที่เหนือประตูแห่งหนึ่งของตึกเก่าหลังนี้ และเชื่อกันว่าเป็นบ้านพักของพระรองเจ้าคณะสังฆมณฑล จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์คณะเจซูอิตถูกไล่ออกไปจากศาสนจักรแห่งสเปนเมื่อ ค.ศ. ๑๗๖๘ (พ.ศ. ๒๓๑๑)
นิทรรศการที่ชั้นล่างแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๒ ส่วนคือ ประวัติศาสตร์ของย่านเศรษฐกิจปาริ-อัน และในฐานะที่เป็นสถานที่พักอาศัยของพระเจซูอิตในอดีต จึงมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมและศาสนาที่คณะเจซูอิตมีต่อเกาะเซบู
(การจัดตั้งสมาคมเจซูอิตก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๑๕๓๔ เนื่องมาจากกระแส “การต่อต้านการปฏิรูปศาสนา” ของนิกายโปรเตสแตนต์ ผู้ก่อตั้งคือ นักบุญอิกนาทิอุส โลโยลา [St.Ignatius Loyola] ขุนนางชาวสเปน มีผลงานคือ จัดตั้งโรงเรียน การทำงานของคณะมิชชันนารีที่ทำเหมือนกองทัพหรือสมาคมทหารที่มีวินัยเคร่งครัด และจัดการ “สอดแนม” ซึ่งกันและกัน สมาชิกจะต้องเชื่อฟังโดยไม่โต้แย้ง และจัดการศึกษาแบบใหม่ที่เน้นการตั้งวิทยาลัยในสเปน อิตาลี โปรตุเกส และเยอรมนีทางตอนใต้เพื่อดึงดูดความสนใจจากบุตรของชาวคาทอลิกที่มีอิทธิพล และเปิดการสอนด้านอักษรศาสตร์และศาสนาแบบไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน รวมทั้งเป็นคณะที่ปรึกษาของเจ้าชายและขุนนางต่างๆ มิชชันนารีที่มีชื่อเสียงที่สุดของคณะเจซูอิตคือ คณะเซนต์ ฟรังซิส ซาเวียร์ [St.Francis Xavier] แต่ในระยะต่อมาสมาคมนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มศาสนาที่เกิดขึ้นก่อนเพราะไม่มีเครื่องแบบ และไม่ใช้วิธีการปกครองแบบสมาคมศาสนาทั่วไป ทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษจากพระสันตะปาปาทำให้สามารถรวมชาวคาทอลิกเป็นปึกแผ่นในเวลาต่อมา และความขัดแย้งในช่วงเวลาหนึ่งทำให้คณะเจซูอิตต้องถูกขับออกไปจากฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. ๑๗๖๗ จนเป็นสาเหตุต้องทิ้งอาคารเก่าที่ย่านปาริ-อันไปด้วย)
โกดังหลังนี้มีพื้นที่กว่า ๒,๐๐๐ ตารางเมตร และคลุมอาคารเดิมที่เป็นตึกเก่ารุ่นแรกๆ ที่สร้างขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์นี้ไว้กว่า ๔ ทศวรรษโดยไม่มีใครสนใจนัก สถาปนิกเชื้อสายจีนชาวเซบู จิมมี่ ไซ [Jimmy Sy] ผู้ซึ่งพ่อแม่ของเขาเป็นเจ้าของโกดังหลังนี้ เห็นภาพสเก็ตช์อาคารในยุคสมัยของคณะเจซูอิตในฟิลิปปินส์จากหนังสือของบาทหลวงท่านหนึ่งก็จำได้ทันทีว่าภาพหนึ่งในนั้นคือ อาคารที่อยู่ในโกดังที่บ้านของเขานั่นเอง
ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ โทนี่ อัลเบลกาสซ์ สถาปนิกเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ทำหน้าที่นำชมเฉพาะผู้ที่ติดต่อล่วงหน้า และพิพิธภัณฑ์ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๐
พ่อแม่ของจิมมี่ซื้อโกดังนี้มาจากครอบครัวอัลวาเรซ [Alvarez] ซึ่งมีเชื้อสายสเปนและออสเตรีย เมื่อราวต้นทศวรรษที่ ๑๙๖๐ เพื่อใช้สำหรับเก็บสินค้า เพราะบริเวณนี้ห่างจากย่านถนนโคลอน [Colon Street] ถนนที่ได้ชื่อว่าเป็นถนนที่เก่าที่สุดของประเทศฟิลิปปินส์ ชื่อมาจากถ่านหินที่เคยใช้กันมากสำหรับเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถไฟในยุคแรกๆ และมีเส้นทางน้ำที่เป็นคลองย่อยจากท่าเรือสำเภาจีนที่เข้ามาเทียบท่าขนส่งสินค้าที่เกาะเซบู ย่านนี้จึงเต็มไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจค้าขายสินค้าโดยมีคนจีนเป็นพ่อค้าคนกลาง และสามารถกุมเศรษฐกิจพื้นฐานของสังคมฟิลิปปินส์ได้มานานจนบัดนี้
หลังจากคณะเจซูอิตถูกขับไล่ออกไปจากฟิลิปปินส์ อาคารหลังนี้ก็ร้างไปกว่า ๑๔๒ ปี จนตกไปอยู่ในมือนักธุรกิจท้องถิ่น ไม่มีใครรู้ว่าเป็นมาอย่างไร รู้แต่เพียงครอบครัวอัลวาเรซซื้ออาคารหลังนี้จากนักธุรกิจชาวสเปนซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทผลิตยาสูบเก่าแก่ที่สุดในโลก และเมื่อถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรก็มาแบ่งพื้นที่อาคารนี้ทำเป็นสำนักงานกับครอบครัวอัลวาเรซ และเมื่อชาวอเมริกันเข้ามาปลดปล่อยเกาะเซบู ออฟฟิศนี้ก็ถูกปล่อยทิ้งรกร้างอีกครั้ง
ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๕๐ ครอบครัวอัลวาเรซก็กลับมาใช้พื้นที่อีกครั้ง และหลังจากนั้นไม่นานจึงตกไปอยู่ในกรรมสิทธิ์ของนักธุรกิจชาวจีนพ่อของจิมมี่ทำเป็นสำนักงานใหญ่ของโหตงฮาร์ดแวร์ [Ho Tong Hardware] และครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านแห่งนี้มานับแต่นั้น
อาคารเก่านี้น่าจะสร้างโดยช่างชาวจีน เพราะมีการมุงหลังคาแบบจีนและโครงสร้างไม้บนอาคารชั้นที่ ๒ ก็เข้าไม้แบบช่างจีน ส่วนฐานรากที่ใช้ไม้ทั้งต้นทำเสาก็ถูกกัดกร่อนด้วยน้ำกร่อย เพราะอยู่ไม่ห่างไกลจากชายฝั่งทะเลนัก ด้วยการที่จิมมี่ ไซ เป็นสถาปนิก เขาจึงซ่อมแซมอาคารเก่าหลังนี้และเก็บรักษาสภาพการตกแต่งทั้งหน้าต่าง บานประตู พื้นผนังแบบเดิมๆ ที่ทำจากหินปูนที่ได้มาจากแนวเกาะปะการังริมชายฝั่งและเครื่องแต่งบ้าน เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้ไม้ ห้องครัว ห้องรับประทานอาหารแบบเดิมไว้อย่างสมบูรณ์
บนชั้นสองแสดงห้องต่างๆ ทั้งห้องนอน ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัวสำหรับครอบครัวใหญ่ที่ยังคงเครื่องตกแต่งบ้านเรือนที่เคยใช้ในชีวิตประจำวันอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และสามารถจินตนาการถึงชีวิตวัฒนธรรมของผู้เคยอยู่อาศัยเมื่อกว่าร้อยปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน
ต่อมาจิมมี่ ไซ จึงปรับภายในอาคารให้เป็นพิพิธภัณฑ์โดยมี โทนี่ อัลเบลกาสซ์ สถาปนิกเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนเช่นกันเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทำหน้าที่นำชมเฉพาะผู้ที่ติดต่อล่วงหน้า และเพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๐ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๒ ส่วนคือประวัติศาสตร์ของย่านเศรษฐกิจปาริ-อัน และในฐานะที่เป็นสถานที่พักอาศัยของพระเจซูอิตในอดีต จึงมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมและศาสนาที่คณะเจซูอิตมีต่อเกาะเซบูด้วย
นอกเหนือไปจากการจัดแสดงสภาพการอยู่อาศัยแบบคหบดีเชื้อสายจีนและครอบครัวแบบกึ่งตะวันตกที่มีฐานะของเกาะเซบูแล้ว อาจจะเป็นเพราะเจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถาปนิก การจัดแสดงเพื่อเสนอข้อมูลอันเกี่ยวกับโครงสร้างของอาคารในรายละเอียดที่น่าสนใจต่างๆ จึงถูกเก็บรายละเอียดและจะถูกนำมาจัดแสดงในส่วนต่อไป เช่น เรื่องพัฒนาการของสถาปัตยกรรมในยุคอาณานิคม ซึ่งจะนำเสนอการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบการอาศัยในอาคารแบบกระท่อมแบบพื้นเมือง [Bahay Kubo] มาเป็นบ้านที่ใช้หินเป็นฐานอาคารและผนัง [Bahay-na-bato]
เกาะเซบูและชาวเซบูโน่แห่งฟิลิปปินส์
เกาะเซบูอยู่บริเวณตอนกลางของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งประกอบด้วยเกาะใหญ่เกาะเล็กกว่า ๗,๐๐๐ เกาะ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกสุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน [Ferdinana Magellan] ชาวโปรตุเกสได้เดินเรือมาถึงเกาะเซบู [Cebu] เพื่อแสวงหาเครื่องเทศ เมื่อแมกเจลแลนถูกฆ่าตายในการรบระหว่างชาวเกาะ ผู้ติดตามมาในขบวนเรือของเขาได้คุมเรือกลับไปสเปนในปี ค.ศ. ๑๕๒๒ ชาวสเปนจึงได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับหมู่เกาะนี้
อนุสาวรีย์ปาลู-ปาลู ชาวมัคตัน ผู้สังหาร “เฟอร์ดินาน แมกเจแลน” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่แมกเจลแลนได้เชื่อมสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์แห่งเกาะเซบูแล้ว ประเทศฟิลิปปินส์ถือว่าเขาคือวีรบุรุษคนแรกของประเทศ
ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๕๔๓ ชาวสเปนคนหนึ่งได้ให้ชื่อหมู่เกาะแห่งนี้เสียใหม่ว่า เฟลิปปินา [Felipina] ต่อมาเปลี่ยนเป็น Philippine เพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่เจ้าชายฟิลิป รัชทายาทแห่งสเปน แต่ชาวโปรตุเกสยังอ้างว่าหมู่เกาะฟิลิปปินส์เป็นของตน จึงรบกันจนในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. ๑๕๒๙ ทั้งสองประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาที่สเปนยกหมู่เกาะโมลุกกะให้โปรตุเกสและเงินจำนวนหนึ่ง และเสียสิทธิ์ในการแบ่งเส้นอาณานิคมทางตะวันออกของตนให้แก่โปรตุเกสส่วนหนึ่ง
เนื่องจากทั้งโปรตุเกสและสเปนต่างก็เป็นมหาอำนาจด้วยกันทั้งคู่ในสมัยนั้น เพื่อมิให้ทะเลาะวิวาทและบาดหมางกันเอง โลกใบนี้กว้างใหญ่ พระสันตะปาปา ALEXANDER VI จึงได้ออกกฤษฎีกา INTER CAETERA ในปี ค.ศ. ๑๔๙๓ แบ่งโลกออกเป็น ๒ ส่วน โดยซีกโลกตะวันตกมอบให้สเปน
ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๕๗๐ กองเรือสเปนเข้าโจมตีบริเวณเมืองมะนิลา เมืองท่าริมชายฝั่งซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของพวกโมโร [Moro] ที่นับถือศาสนาอิสลามบนเกาะลูซอน ในขณะนั้นมี ราชาโซลิมัน [Rajah Soliman] ปกครองอยู่ เมื่อได้มะนิลาแล้วก็ได้ประกาศตั้งให้เป็นเมืองหลวงของหมู่เกาะฟิลิปปินส์
ราชาฮูมาบน [Humabon] และราชินีฮูมาไล [Humalai] เมื่อรับเข้าพิธีแบ๊บติสต์เป็นคริสต์ศาสนิกชนแล้ว ได้รับชื่อใหม่ว่าพระราชาคารอสและพระราชินีจูเลียน่า แต่งตั้งโดยกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ ๕ แห่งสเปน
อย่างไรก็ตาม สเปนผิดหวังที่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ไม่มีเครื่องเทศตามที่ตนคาดไว้ แต่รัฐบาลสเปนยังคงปกครองและปกป้องหมู่เกาะฟิลิปปินส์จากชาติอื่นๆ ที่เข้ามาล่าอาณานิคมเช่นกัน สเปนตั้งผู้สำเร็จราชการประจำ มีการเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกจนแพร่หลายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือแต่ก็ยังมีผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่ไม่น้อยทางมินดาเนา สันตะปาปาได้ตั้งมะนิลาเป็นศูนย์กลางของคณะบาทหลวงโดยตั้งอาร์ชบิชอป [Arch Bishop] เป็นประมุข
ในช่วง ๓๐๐ ปีที่เข้าครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์ กองทัพสเปนต่อสู้กับเหตุการณ์กบฏต่างๆ มากมาย ทั้งจากชนพื้นเมืองและจากชาติเจ้าอาณานิคมอื่นๆ เพื่อปกป้องดินแดนของตน เช่น อังกฤษ จีน ฮอลันดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และโปรตุเกส
จนสงครามสเปนกับสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. ๑๘๙๕ ที่คิวบา สนธิสัญญาปารีส ๑๘๙๘ [Paris Treaty ๑๘๙๘] ทำให้สเปนต้องมอบอิสรภาพให้คิวบาภายใต้การคุ้มครองของสหรัฐฯ โอนเปอร์โตริโกและฟิลิปปินส์ให้สหรัฐฯ ทั้งนี้สหรัฐฯ ยอมจ่ายเงิน ๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐให้สเปน
จนถึงปี ค.ศ. ๑๙๓๕ ฟิลิปปินส์ที่เริ่มปกครองตนเองได้เขียนรัฐธรรมนูญ และตั้งหมู่เกาะฟิลิปปินส์เป็นวงไพบูลย์ร่วมกัน [Common Wealth] มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแต่ยังคงปกครองภายใต้การควบคุมของข้าหลวงใหญ่สหรัฐอเมริกา และได้รับเอกราชเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
ฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมทั้งสเปนและสหรัฐอเมริการวมเวลากว่า ๔๐๐ ปี อิทธิพลทางวัฒนธรรม ภาษา ความเชื่อ ค่านิยม และการศึกษาของเจ้าอาณานิคมกลายเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของชาวฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน ฟิลิปปินส์จึงเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตก ก่อนจะได้มีโอกาสพัฒนาวัฒนธรรมของตัวเอง
หมู่เกาะฟิลิปปินส์ประกอบด้วยผู้คนที่มีภาษาพูดแตกต่างกันมากกว่า ๑๗๐ ภาษา และส่วนใหญ่อยู่ในตระกูลภาษามลาโย-โพลีนีเซียน ชาวเซบูโน่ [Cebuano] เป็นผู้คนที่อาศัยอยู่ในเกาะเซบูของประเทศฟิลิปปินส์ ถือเป็นกลุ่มที่พูดภาษาของตัวเองที่เรียกว่าแบบวิซายัน [Visayan] เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภาษาฟิลิปปินส์ตอนกลาง และยังเป็นกลุ่มคนที่มีมากเป็นอันดับ ๒ ในประเทศฟิลิปปินส์ สมาชิกของภาษาในกลุ่มนี้มีมากกว่า ๓๐ ภาษา ภาษาที่มีผู้พูดเป็นภาษาแม่มากที่สุดคือภาษาเซบูมี ๒๐ ล้านคน
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ รัฐธรรมนูญระบุให้ภาษาฟิลิปีโนและภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางราชการ ส่วนภาษาประจำชาติคือภาษาตากาล็อก แต่คนฟิลิปปินส์ใช้ภาษาที่เรียกว่า ทากรีส [Tagalog + English] คือพูดภาษาตากาล็อกปนภาษาอังกฤษผสมกันในประโยคสนทนา
ชีวิตวัฒนธรรมของชาวเซบูโน่ที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมสเปนและอเมริกัน ทั้งการดำเนินชีวิต ภาษาพูด การนับถือศาสนาคริสต์ และยังมีอิทธิพลในเรื่องอาหาร การแต่งกาย การเต้นรำ ดนตรี รวมถึงงานฝีมือ เช่น การผลิตกีตาร์ชนิดต่างๆ
เดิน-เที่ยวในย่านเก่าเมืองเซบู
ชาวเซบูโน่พื้นเมืองน่าจะมีการตั้งถิ่นฐานมาก่อนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ก่อนที่ชาวสเปนและโปรตุเกสจะเดินทางมาสู่ดินแดนนี้ มีบันทึกไว้ว่าชาวเซบูโน่ดั้งเดิมผู้ชายมักไว้ผมยาว สลวย และมีกลิ่นหอมด้วยน้ำมัน ตกแต่งร่างกายด้วยรอยสักทั้งหญิงและชาย ชาวเซบูโนเป็นนักเดินทางทางทะเลโดยใช้เรือที่มีการพยุงด้านข้างที่เรียกว่า “Karakao” ไปยังเกาะต่างๆ เพื่อค้าขายและจับคนมาเป็นทาส โดยมีการแบ่งสถานภาพทางสังคมเป็นลำดับชั้นอย่างชัดเจน
เพราะเกาะเซบูอยู่ในเส้นทางการค้าสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุคการค้าทางทะเลเฟื่องฟู ติดต่อการค้ากับญี่ปุ่น โอกินาวา อินเดีย จีน สยาม เวียดนาม ชวา มะละกา และอาหรับ ในช่วงกรุงศรีอยุธยาสินค้าที่ชาวเซบูโน่ค้าขายคือ ไข่มุก ปะการัง แลกกับผ้าไหม ทอง อาวุธ และเครื่องเทศต่างๆ
เหตุการณ์สำคัญสำหรับชาวเซบูโน่ คือการต่อสู้ที่เกาะมัคตัน ผู้นำชาวมัคตัน “ลาปู-ลาปู” ได้สังหาร “เฟอร์ดินาน แมกเจแลน” ชาวโปรตุเกสผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำกองเรือสเปนแล่นเรือรอบโลกได้สำเร็จเป็นคณะแรก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่แมกเจลแลนได้เชื่อมสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์แห่งเกาะเซบูแล้ว แต่ภายหลังเขาไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการรบที่มัคตันและเสียชีวิตในที่สุดเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๕๒๑ ชาวเซบูโน่ต่อต้านการล่าอาณานิคมจากสเปนเรื่อยมา แต่ในที่สุดสเปนก็สามารถครอบครองเกาะเซบูและหมู่เกาะฟิลิปปินส์ได้ทั้งหมด
มีการสร้างอนุสาวรีย์เป็นเกียรติแก่ลาปู-ลาปู และถือว่าเขาเป็นวีรบุรุษของประเทศฟิลิปปินส์คนแรก เมื่อมีงานฉลองก็มีการจัดแสดงละครแสงสีเสียงสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
ชาวเซบูโน่มีความเชื่อดั้งเดิมในการนับถือผีก่อนชาวสเปนจะนำศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมาเผยแผ่ในภายหลัง เพราะคนเซบูโน่มีเทศกาลสำคัญคือ เทศกาลซิโนลอก [Sinulog] ที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ที่ ๓ ในเดือนมกราคมของทุกปี เริ่มแรกเป็นการจัดพิธีเฉลิมฉลองที่ ราชาฮูมาบน [Humabon] และ ราชินีฮูมาไล [Humalai] แห่งเซบูทำพิธีแบ๊บติสต์รับเป็นคริสต์ศาสนิกชน โดยได้รับชื่อใหม่ว่าพระราชาคารอสและพระราชินีจูเลียน่า แต่งตั้งโดยกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ ๕ แห่งสเปน
ทุกวันนี้เทศกาลซิโนลอกจัดกัน ๙ วันเฉลิมฉลอง ซานโต นิโญ (พระเยซูเด็กแห่งเซบู-เชื่อกันว่าเป็นรูปเคารพที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์) จุดเด่นของงานคือการจัดขบวนพาเหรดไปตามท้องถนนในขบวนกลอง ทรัมเปต และฆ้องแบบวัฒนธรรมท้องถิ่น ผู้คนในขบวนพาเหรดต่างแต่งกายสีสันสดใสสวยงามจากชุมชนต่างๆ คล้ายกับเทศกาลเฟียสต้าต่างๆ บนถนนในแถบลาตินอเมริกา นับเป็นความเชื่อท้องถิ่นที่ผสมผสานกับความเชื่อในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
โบสถ์ซานโต นิโญ ที่ประดิษฐานพระเยซูเด็ก [Bacilica Minore del Sto.Nino de Cebu]
ส่วนคนจีนในฟิลิปปินส์เข้ามาที่เกาะเซบูเช่นเดียวกับดินแดนอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะ ในระยะเริ่มแรกน่าจะมากับการค้าสำเภาที่คล้ายคลึงกับเมืองท่าทั่วไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน แต่คนจีนยุคปัจจุบันนั้นสืบต้นตระกูลอย่างเป็นหลักฐานได้คล้ายๆ กับในสยามคือ อพยพจากเมืองจีนขนานใหญ่ราวๆ ร้อยถึงสองร้อยปีมานี้ และคนจีนกลุ่มใหญ่เหล่านี้เป็นคนฮกเกี้ยนหรือจากทางมณฑลฟูเจี้ยน ตั้งถิ่นฐานอยู่แถบย่านการค้าที่ติดกับชายฝั่งหรือท่าเรือในย่านเก่าของเมืองเซบู ซึ่งรวมตัวทำการค้า มีอาคารเก็บสินค้าเก่าเหลืออยู่หลายแห่งในเขตปาริ-อัน
คนจีนในฟิลิปปินส์สืบสายเลือดในการทำการค้าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คนเชื้อสายจีนจำนวนมากเป็นเจ้าของกิจการและทรัพย์สินสำคัญของประเทศ ในมะนิลาแม้มีย่านไชน่าทาวน์ แต่ถนนหนทางทั่วไปความเป็นวัฒนธรรมจีนนั้นดูจะถูกกลืนกลายเป็นคนฟิลิปปินส์ทั่วไปที่อยู่ในอาณานิคมของสเปน คนส่วนใหญ่จึงมีชื่อและนามสกุลแบบสเปน หรือเนื่องในศาสนาคริสต์กันแทบทั้งหมดไปแล้ว
กิจกรรมเดินทัวร์เมืองในย่านเก่าของเมืองเซบูที่จัดโดยคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวเซบู ร่วมกับองค์กรด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ องค์กรผู้หญิง สมาคมแกลลอรีและพิพิธภัณฑ์แห่งวิซายันที่ส่วนใหญ่เป็นของเอกชนกว่า ๓๐ แห่ง จัดเส้นทางเดินชมย่านเก่าและมีข้อมูลที่น่าสนใจ
แม้สภาพแวดล้อมของย่านเก่าเมืองเซบูจะดูไม่น่ารื่นรมย์มากเหมือนกับย่านเก่าของเมืองการค้าอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นัก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอาคารหรือไม่ได้ซ่อมแซม ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากภัยพิบัติธรรมชาติที่เซบูเผชิญอยู่บ่อยครั้ง เช่น พายุไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหวที่ครั้งล่าสุดทำเอาโบสถ์และอาคารโบราณหลายแห่งได้รับผลกระทบจนต้องซ่อมแซมหรือปิดไม่ให้เข้าชมทีเดียว
สถานที่เดินชมเมืองนั้นอยู่ทางตอนเหนือของเกาะเซบู ย่านที่เป็นเขตชาวสเปนอยู่อาศัย มีทั้งโบสถ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในระดับประเทศทีเดียว และย่านการค้าที่เคยเป็นเขตเศรษฐกิจ ก่อนที่เกาะเซบูจะมีผู้คนอยู่อาศัยกระจายไปทั่วและมีย่านศูนย์การค้าใหม่ๆ อีกมากมายในปัจจุบัน เพราะกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลและรองรับการเข้ามาเรียนภาษาอังกฤษของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเกาหลีและญี่ปุ่นเป็นหลัก ดังนั้นเราจึงเห็นป้ายภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น และร้านอาหาร โรงเรียนสอนภาษาอยู่ทั่วไปทั้งเกาะ
แผนที่เดินชมย่านเมืองเก่าของเกาะเซบู จัดทำโดยองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นและภาคีกรรมการอีกหลายกลุ่ม
เส้นทางเดินชมย่านเก่าในเกาะเซบูเริ่มจาก “ป้อมซานเปรโด” [ Fort San Pedro] ในย่านท่าเรือเก่า และถือว่าเป็นป้อมที่เล็กที่สุดแต่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ สร้างด้วยหินจากแนวปะการัง ด้านหน้าเป็นสวนสาธารณะ มีอาคารหลายหลังที่เคยเป็นที่ทำการรัฐของเกาะเซบู และติดต่อกับ ไม้กางเขนแมกเจนแลน [Magellan’s cross] เชื่อว่าเป็นไม้กางเขนที่แมกเจนแลนนำมาปักไว้ที่เกาะเซบู และถือเป็นสัญลักษณ์ของการลงหลักปักฐานของคริสต์ศาสนาที่เซบู
ใกล้ๆ กันมีโบสถ์ที่ประดิษฐานพระเยซูเด็กหรือซานโต นิโญ [Bacilica Minore del Sto.Nino de Cebu] ซึ่งแมกเจนแลนนำมาถวายราชาและราชินีแห่งเซบูก่อนที่จะทำพิธีแบ๊บติสต์เปลี่ยนมารับศาสนาคริสต์ และมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บเครื่องประดับ ของเล่น และของขวัญที่อุทิศให้กับซานโต นิโญนี้ด้วย
โบสถ์แห่งนครเซบู [Metropolitan Cebu Cathedral] กำลังบูรณะจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปีที่แล้ว
โบสถ์แห่งนครเซบู [Metropolitan Cebu Cathedral] เริ่มสร้างมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๕๙๕ ด้วยไม้ ไม้ไผ่ และหลังคามุงจาก จนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอีกหลายครั้ง จนปัจจุบันรูปทรงภายนอกนั้นเป็นงานในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เคยเป็นอาคารเก่าของพระในคริสต์ศาสนา เป็นอาคารรุ่นเก่าที่ใช้หินจากซากปะการังมาทำรากฐานและมีการขุดค้นแสดงให้ดูด้วย
นอกเหนือจากบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของที่ทำการรัฐ และอาคารศาสนสถานของเมืองแล้วก็เป็นย่านการค้าเรียกว่า ถนนโคลอน [Colon Street] ได้ชื่อว่าเป็นถนนสายเก่าแก่ที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในยุคที่สเปนปกครองสองฝั่งถนนเป็นอาคารร้านค้า สินค้าส่วนใหญ่นำมาจากท่าเรือที่ปาริ-อันซึ่งนำมาขายโดยพ่อค้าคนจีน แต่ทุกวันนี้ก็ไม่มีอาคารสมัยอาณานิคมเหลือให้เห็นแต่อย่างใด
ส่วนย่านการค้าปาริ-อัน เป็นพื้นที่ค้าขายของคนเชื้อสายจีนและลูกครึ่งชาวจีน มีอาคารบ้านเรือนไม่กี่แห่งที่สืบอายุว่าเก่าไปถึงสมัยเป็นอาณานิคมของสเปน ต่อมาคือบ้านโบราณของชาวจีนชื่อ ยัป ซานดิเอโก กล่าวกันว่าน่าจะปลูกสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งก็ยังน่าสงสัยในเรื่องอายุอยู่มาก เป็นบ้านของผู้ที่อยู่อาศัยในย่านปาริ-อันและลูกหลานจึงจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน เก็บข้าวของน่าสนใจหลายอย่างในชีวิตประจำวัน เป็นสถานที่ซึ่งถือว่ามีผู้เข้าชมไม่น้อยตลอดทั้งวัน
นอกจากนี้ก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ของผู้คนที่มีฐานะในอดีต และมีการจัดการเพื่อจัดแสดงสภาพความเป็นอยู่ของบุคคลอีกฐานะหนึ่งซึ่งในอดีตเคยเป็นบิชอปแห่งเซบู
และพิพิธภัณฑ์ที่จัดได้น่าสนใจมากที่สุดในเซบูคือ “พิพิธภัณฑ์บ้านแห่งคณะเจซูอิต ๑๗๓๐”
ในย่านที่แม้แต่จะคิดก็ยังแปลกใจว่า มีพิพิธภัณฑ์ทันสมัยและเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายอยู่ในโกดังเก่าที่มีคนงานพลุกพล่าน และเต็มไปด้วยเครื่องจักรกลหนักเบาทั้งหลายเช่นนี้…ได้อย่างไร
ภาพประกอบ
๑.
๒.
๓. กางเขนที่แมกเจนแลนมอบให้กษัตริย์แห่งเซบู กำลังบูรณะเนื่องมาจากแผ่นดินไหวเมื่อปีที่แล้ว
๔.
๕.
๖.
๗.-๘.-๙
๑๐.-๑๑.
๑๒.