วลัยลักษณ์ ทรงศิริ   
มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

คาบสมุทรสยาม-มลายูเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินใหญ่ในภูมิภาคที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย นอกเหนือจากนี้คือภาคพื้นสมุทรที่เป็นหมู่เกาะต่างๆ อาณาบริเวณทางเหนือคือแผ่นดินใหญ่จีน ตะวันออกคือมหาสมุทรแปซิฟิค ทางใต้และตะวันออกคือมหาสมุทรอินเดียและแผ่นดินของบังคลาเทศและอินเดีย

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดทางภูมิศาสตร์เห็นได้ชัดว่าคาบสมุทรสยาม-มลายูที่มีรูปร่างคล้ายด้ามขวานระยะทางโดยประมาณกว่า ๑,๕๐๐ กิโลเมตรนี้ กั้นขวางการติดต่อทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียที่มีอนุทวีปอินเดียเป็นแหล่งอารยธรรมใหญ่ซึ่งสามารถเดินทางไปสู่ชายฝั่งแอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป กับผืนแผ่นดินใหญ่จีนที่เป็นแหล่งอารยธรรมทางตะวันออกและหมู่เกาะ จนทำให้ในยุคอาณานิคมถูกเรียกว่า “อินโดจีน” 

โดยเริ่มจากฝรั่งเศสที่เรียกอาณานิคมของตนว่าอินโดจีนของฝรั่งเศส [Indochine française] และได้สร้างความสำนึกในการศึกษาประวัติศาสตร์ส่งต่อมาว่า คาบสมุทรอินโดจีนที่เป็นส่วนยื่นออกมาจากแผ่นดินใหญ่ระหว่างจีนและอินเดียนี้รับอารยธรรมจากทั้งสองแผ่นดินนั้นมาเป็นของตน จนมีคำศัพท์ที่ใช้อธิบายความเป็นบ้านเมืองบริเวณนี้ว่าเป็นรัฐแบบอินเดีย [Indianized states] หรือรัฐแบบจีน [Sinizated States]  

วิธีคิดในช่วงอาณานิคมเช่นนี้ฝังรากลึกในสังคมไทย จนทำให้เข้าใจไปว่า บ้านเมืองและวัฒนธรรมของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเกิดขึ้นได้เพราะการรับเอาอารยธรรมที่เหนือกว่ามาเป็นของตนเอง 

ทั้งที่หลักฐานข้อมูลในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า มีชุมชนและบ้านเมืองตั้งมั่นอยู่แล้วในระยะที่มีการติดต่อของพ่อค้าและช่างฝีมือซึ่งเดินทางมาพร้อมกับแนวคิดหลักธรรมหรือนักบวชเพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาลจนถึงต้นคริสต์กาล โดยเข้ามาพร้อมกับกระบวนการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบและสินค้า 

ฐานทรัพยากรท้องถิ่นในคาบสมุทรที่สำคัญคือแร่ธาตุที่มีบทบาทในพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ที่ใช้โลหะ จนบริเวณคาบสมุทรสยาม-มลายูนี้ได้ชื่อว่าเป็น “แหลมทอง” [Golden Peninsula หรือ Khryse khersonesos ในภาษากรีก] จากแผนที่ของนักภูมิศาสตร์ยุคโบราณเมื่อต้นคริสต์กาล “ปโตเลมี” และโลหธาตุที่โดดเด่นในที่นี้คือ ดีบุก ตะกั่ว เหล็ก และทองคำ  นอกจากนั้นคือสินค้าของป่าที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ในตอนกลางของคาบสมุทร

แต่เมื่อราว ๑๐-๒๐ ปีที่ผ่านมามีการพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจำนวนมากและได้รับการวิเคราะห์ศึกษาจากนักวิชาการนานาชาติ จนทำให้เห็นร่องรอยใหม่ๆและย้ำเตือนสมมติฐานเดิมให้ชัดเจนได้มากขึ้น ในเรื่องการติดต่อกับแผ่นดินอนุทวีปอินเดียและบ้านเมืองทางทะเลจีนใต้ทั้งแผ่นดินใหญ่และชายฝั่งในช่วงต้นพุทธกาลที่เคยเป็นเรื่องเลื่อนลอยจากคัมภีร์มหาวงศ์ที่นักวิชาการในประเทศไทยจำนวนมากไม่ให้ความเชื่อถือ และนำมาซึ่งการทบทวนร่องรอยหลักฐานเพื่อนำเสนอความสำคัญในบริเวณที่มีเส้นทางเดินทางข้ามคาบสมุทรพาดผ่านและพบแหล่งโบราณคดีที่มีการอยู่อาศัยและผลิตสินค้าโดยช่างฝีมือผู้มีความเชี่ยวชาญขั้นสูง 

แผนที่ของคณะทูต เซอร์จอห์น ครอเฝิร์ด พ.ศ. ๒๓๗๑ ลากเส้นการเดินทางบริเวณปากน้ำกระสู่ปากคลองท่าตะเภา โดยระบุว่าการเดินทางข้ามช่องเขาบริเวณนี้ใช้เวลา ๔ ชั่วโมงเท่านั้น และบริเวณหน้าปากน้ำเมืองชุมพรก็มีเกาะใหญ่เป็นจุดสังเกตชัดคือ เกาะบาเดีย ที่ยังเขียน P.Badia ตามแผนที่โบราณอยู่ /Map from Embassy to the Courts of Siam and Cochin-China.John Walker - John Crawfurd: Journal of an Embassy from the Governor-General of India to the courts of Siam an Cochin China exhibiting a view of the actual state of these kingdoms London, Henry Colburn, 1828

การค้นพบที่สำคัญเหล่านี้น่าจะช่วยขยับขยายวาทกรรมคำว่า Indianization หรือ Indochina ที่เห็นแต่เพียงมิติคับแคบของการเป็นผู้รับความเจริญทั้งทางวัฒนธรรมทางศาสนาและการเมือง เพื่อนำไปสู่การศึกษาที่มุ่งเน้นทำความเข้าใจเครือข่ายการเชื่อมต่อการค้าทางทะเลทั้งทางตะวันตกและตะวันออกโดยมีชุมชนและบ้านเมืองในคาบสมุทร ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งตั้งอยู่ในรอยต่อสำคัญ เพื่อจะได้เห็นพัฒนาการทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงสหัสวรรษแห่งต้นพุทธกาล อันการศึกษาส่วนใหญ่ยังติดยึดอยู่กับกรอบเวลาที่เรียกว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่คนในท้องถิ่นนี้ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในสร้างบ้านเมืองของตน จนถึงช่วงรัฐแรกเริ่มในสมัยประวัติศาสตร์ที่รับอารยธรรมจากอินเดียตามเพดานเก่าสุดไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ เท่านั้น

บทความนี้จึงจะสำรวจข้อมูลทางโบราณคดีสำคัญในอาณาบริเวณที่เรียกว่า คอคอดกระ หรือ Kra Isthmus และนำเสนอสมมติฐานเครือข่ายทางการค้าและสังคมในเส้นทางติดต่อทางทะเลของโลกตะวันตกและตะวันออก ช่วงต้นพุทธกาล โดยที่บริเวณคาบสมุทรสยามเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพดังกล่าว

๑. เมืองท่าที่คลองท่อมและเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่คอคอดกระ

คาบสมุทรสยาม-มลายูที่ตั้งพาดขวางเส้นทางเดินเรือทะเลจากชายฝั่งอินเดียตะวันออกผ่านอ่าวเบงกอลไปยังทะเลจีนใต้หรือมหาสมุทรแปซิฟิค ชายฝั่งทะเลแถบนี้พบแหล่งโบราณคดีสำคัญหลายแห่งที่มีร่องรอยของการติดต่อระยะทางไกลกับผู้คนอีกฟากฝั่งหนึ่งทางอนุทวีปและทางแผ่นดินใหญ่รวมทั้งหมู่เกาะตะวันออก พบว่าในแหล่งโบราณคดีในกลุ่มนี้มีโบราณวัตถุหลายอย่างที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันโดยเฉพาะพวกลูกปัดหรือวัตถุสิ่งของอายุในราวระหว่างช่วงต้นพุทธกาลถึงต้นคริสต์กาล  

ส่วนแหล่งชุมชนโบราณเช่นที่ “ทุ่งตึก” ปากน้ำตะกั่วป่า และ “เขาเวียงหรือเขาพระนารายณ์” ในจังหวัดพังงา หลักฐานส่วนใหญ่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ หรือก่อนหน้านั้นจะไม่กล่าวถึงในที่นี้

“คลองท่อม” เป็นเมืองท่าการค้าสำคัญขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามันในจังหวัดกระบี่ ในเส้นทางการค้าทางทะเลกับทางอินเดีย อาหรับ และกรีกโรมัน มีการพบลูกปัดจำนวนมากบริเวณชุมชนชายฝั่งอันดามันที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่มานานแล้ว พระครูอาทรสังวรกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองท่อมผู้ล่วงลับได้เก็บรวมรวมและสร้างพิพิธภัณฑ์ไว้ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๙ ต่อมาทศวรรษที่ ๒๕๑๐ การศึกษาสำรวจเบื้องต้นและการขุดค้น โดยคณะจากกรมศิลปากร จากคณะวารสารเมืองโบราณ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พบลูกปัดจำนวนมหาศาล และจี้ห้อยคอ ตราประทับ แหวน หัวแหวน ต่างหู คันฉ่อง ปิ่นปักผม เครื่องสำริดต่างๆ รวมทั้งมโหระทึก รวมทั้งเหรียญเงินตราทั้งทำจากดีบุกและทองคำ และอยู่ในพื้นที่กว้าง และได้ผลสรุปแบบทั่วไปว่าบริเวณคลองท่อมคือแหล่งผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูงมีการอยู่อาศัยทั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓-๘ และต่อเนื่องกับราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๔ ด้วย ส่วนซากเรือจมกล่าวกันว่ามีอายุราว ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๘

ในราว ๒๐ ปีที่ผ่านมาทางคาบสมุทรพบลูกปัดทำจากหินคาร์เนเลียน อาเกต คริสต์ตัล หินรัตนชาติต่างๆ รวมทั้งลูกปัดแก้วกันอย่างมากมาย สืบเนื่องจากการเสาะหาและความนิยมในลูกปัดที่เป็นกระแสมาจากท้องถิ่นในภาคกลางเป็นสำคัญ เช่น บริเวณแหลมโพธิ อําเภอท่าชนะ เขาศรีวิชัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดอยู่ในสมัยศรีวิชัยและก่อนหน้านั้น บริเวณคอคคอดกระที่เขาสามแก้ว เขาเสกในอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ทางฝั่งอ่าวไทยที่อายุเก่ากว่า ส่วนทางฝั่งอันดามันพบลูกปัดจำนวนมากแถบทุ่งตึกและแถบคลองนางย่อนในอำเภอคุระบุรี ซึ่งน่าจะร่วมสมัยกับที่คลองท่อมและต่อเนื่องมาจนถึงสมัยศรีวิชัย มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่กลุ่มภูเขาทองซึ่งน่าจะเป็นเมืองท่าและมีความสำคัญไม่ได้ด้อยไปกว่าที่คลองท่อม 

ลูกปัดแก้วและหินพบที่เขาเสก อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งเชิงเขาติดลำน้ำหลังสวนที่ต่อมาจากลำน้ำพะโต๊ะ ซึ่งพบว่ามีลูกปัดทั้งแก้วและหินจำนวนหนึ่ง และเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรอีกจุดหนึ่งที่ต่อเนื่องจากบริเวณเขาสามแก้วและคอคอดกระ

การขุดตรวจและเก็บซากเรือจมที่ชายหาดที่ปากน้ำบางกล้วยในอําเภอสุขสําราญและการขุดค้นทางโบราณคดีที่ปากจั่น ในอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เป็นการทำงานทางโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ตโดย ร.อ.บุญฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ถือว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งแรกทางชายฝั่งอันดามันและมีความสำคัญจนกลายเป็นฐานข้อมูลอ้างอิงของนักวิชาการทั่วโลก นอกจากการอ้างอิงโบราณวัตถุจากแหล่งขุดค้นอย่างเป็นทางการได้แล้วยังมีการกำหนดอายุซากเรือจมไว้ที่ราวพุทธศตวรรษที่ ๕

ความสำคัญนี้สืบเนื่องมาจากการขุดค้นที่ภูเขาทองและกระบุรีพบหลักฐานสำคัญ เช่น ลูกปัดหินรูปสิงโตหมอบคล้ายลูกปัดรูปสิงโตหมอบพบจากการขุดค้นที่ดอนตาเพชร ตราประทับสลักบนเนื้อหินหัวแหวนรูปบุคคลแบบกรีก-โรมันที่เรียกว่า Intaglio เครื่องประดับแบบแกะสลักบนผิวที่เรียกว่า Cameo ชิ้นส่วนเครื่องประดับทองคํา เศษภาชนะดินเผาที่มีต้นทางจากอินเดียตอนใต้ ภาชนะดินเผาที􏰀มีจารึกอักษรพราหมี โบราณวัตถุจากการขุดค้นและสำรวจพบนี้ สัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีที่เขาสามแก้วและเขาเสกทางฝั่งอ่าวไทยในจังหวัดชุมพรที่ขุดศึกษาทางโบราณคดีโดยคณะฝรั่งเศสนำโดยเบลเลนิส เบเลนา [Bérénice Bellina] และโบราณวัตถุจำนวนมากทางฝั่งเกาะสอง เขตตะนาวศรี สหภาพเมียนมาร์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกระตั้งแต่เกาะสอง มะลิวัลย์ และเขมายี้ ที่มีโบราณวัตถุรูปแบบเดียวกับที่พบจากกลุ่มภูเขาทองในจังหวัดระนอง และคณะฝรั่งเศสที่เคยขุดค้นที่เขาสามแก้วกำลังดำเนินการศึกษาทางโบราณคดีร่วมกับนักวิชาการชาวพม่าในพื้นที่ดังกล่าว 

ตราประทับแบบโรมัน-กรีก พบที่เขาสามแก้ว ชายฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร สองชิ้นด้านบนเป็นตราประทับสลักบนเนื้อหินหัวแหวนรูปบุคคลแบบกรีก-โรมันที่เรียกว่า Intaglio ส่วนชิ้นขวาด้านล่างเป็นเครื่องประดับแบบแกะสลักบนผิวที่เรียกว่า Cameo

ที่สำคัญคือการพบต่างหูทองคำที่เปรียบได้กับหลักฐานสำคัญในการสันนิษฐานถึงรูปแบบการเข้ามาของพุทธศาสนาและระบอบราชามหากษัตริย์ที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมนำเสนอบทความการเข้ามาของพระพุทธศาสนา และระบอบราชามหากษัตริย์ในแดนสุวรรณภูมิ คล้ายกับต่างหูทองคำคู่หนึ่งจากเกาะชวา ในประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันเก็บไว้ที่ The Metropolitan Museum of Art นิวยอร์ค ประมาณอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๕  

“เขมายี้” หรือ “บ้านเขมา” อยู่ในตำแหน่งที่อยู่เชิงเขาและกึ่งกลางแผ่นดินระหว่างชายฝั่งอันดามันและแม่น้ำกระ และเดินทางผ่านจากแม่น้ำกระไปสู่ลำน้ำหนูและอ่าวยี้ [Aw Ayi] ชายฝั่งอันดามันได้ และน่าจะอยู่ในเส้นทางข้ามคาบสมุทร “คอคอดกระ” แบบโบราณ 

พบชื่อสถานที่นี้ในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอธิบายเรื่องการเดินทางข้ามคาบสมุทรบริเวณนี้ จากปากน้ำชุมพรที่เข้ามาถึงคลองท่าตะเภาซึ่งเป็นชื่อเรียกลำน้ำบริเวณเขาสามแก้ว จากจุดนี้มีลำน้ำไปทางท่าแซะไปยังปะทิวที่มีเหมืองแร่ดีบุกและทองคำและเดินทางไปยังบางสะพานได้ ส่วนทางซ้ายไปทางลำน้ำรับร่อไปต่อกับแนวเขาที่กั้นเมืองกระ ส่วนลำน้ำอีกสายนับจากคลองท่าตะเภาเรียกว่าคลองชุมพร ปลายน้ำออกปากอ่าวสวีส่วนต้นน้ำไปถึงแนวสันปันน้ำที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหินสลักพระปรมาภิไธย จปร. จากนั้นใช้เรือไปยังคลองกระลี้หรือคลองหลีกไปยังลำน้ำปากจั่นที่ตั้งของเมืองกระโบราณ ผ่านตำบลน้ำจืดริมคลองกระซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่และเป็นที่ตั้งของอำเภอกระบุรี จนถึงปากคลองพระขยางและปากคลองเขมาที่อยู่ตรงข้ามกัน ส่วนปากคลองเขมายี้เป็นลำน้ำอยู่แถวกลุ่มเกาะกลางลำน้ำกระที่เกาะขวาง แถบละอุ่น และเสด็จต่อไปยังปลายแหลมเกาะสอง

บริเวณคอคอดของลำน้ำกระ [Kra Ithmus] น่าจะเป็นที่รู้จักของนักเดินทางตั้งแต่ต้นพุทธกาลว่าเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรในระยะทางที่ใกล้ที่สุดและไม่มีเทือกเขาสูงขวางกั้น สะดวกแก่การเดินทางมากกว่าบริเวณอื่น จากแผนที่เก่าของชาวตะวันตกโดยเฉพาะแผนที่ พ.ศ. ๒๓๖๓-๒๓๗๒ ของคณะทูตจอห์น ครอเฝิร์ด ในรัชกาลที่ ๓ ลงรายละเอียดในเส้นทางข้ามคาบสมุทรโดยขีดเส้นทางจากลำน้ำกระบุรีถึงปากน้ำชุมพรระบุว่า ใช้เวลาเดินทางในสมัยนั้นราว ๔ ชั่วโมง

ปากน้ำชุมพรที่มีเกาะที่ชื่อ Bardia ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินเรือในฝั่งอ่าวไทยทั้งที่เลียบชายฝั่งสู่แผ่นดินภายในสู่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาและการเดินทางที่มู่งสู่ปลายแหลมญวนในทะเลจีนใต้ที่สามารถเดินทางสู่เอเชียตะวันออกและหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เแผนที่สมัยอยุธยาชิ้นหนึ่งเรียกทั้งเกาะทั้งเมืองชุมพรในสมัยอยุธยาว่า Bardia

กัปตันเยรินี [Colonel CL.E Gerini] หรือพระสารสาสน์พลขันธ์ ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับแผนที่ของนักภูมิศาสตร์ปโตเลมี เขียนบทความอธิบายชื่อสถานที่ซึ่ง Pedro Teixeir นักเดินทางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ บันทึกไว้และกล่าวถึงข้อมูลของนักเดินเรือชาวฮอลันดา (ใน Narrative of a Residence in Siam. โดย Frederick A. Neale, เขียนปี ๒๓๘๕ พิมพ์ ปี ๒๓๙๕) ว่าน่าจะเป็นเอกสารฉบับท้ายๆ ที่ยังคงเรียกเกาะหน้าอ่าวชุมพรว่า “ปูโลบาเดีย” หรือเกาะบาเดียแบบนักเดินทางชาวตะวันตกยุคแรกๆ เรียกกัน และเยรินีสันนิษฐานว่าบาเดียน่าจะเป็นคำมลายูที่ใช้เรียกชื่อเกาะมาตราผิดไป คำมลายูปรากฎในเส้นทางการเดินเรือเลียบชายฝั่งมากมาย อาจมีนัยะที่แสดงถึงความชำนาญของนักเดินเรือชาวออสโตรนีเชียน [Austronesian] มีมีอิทธิพลครอบงำเส้นทางเดินเรือทะเลมาก่อนนักเดินเรือสำเภาจากจีน เขายืนยันจากคำพ้องเสียงว่าเป็นเกาะมาตราในขณะที่เขาอ้างว่านักเดินทางรุ่นเก่าเข้าใจว่าเป็น “เกาะเสม็ด” มากกว่า แต่ที่จริงเกาะหน้าเมืองชุมพรคือเกาะเสม็ด คำบรรยายของ Neale จึงถูกต้อง

เกาะบาเดียหน้าปากน้ำคลองท่าตะเภา จุดสังเกตสำคัญของนักเดินเรือและเป็นที่พักจอดก่อนนำเรือเล็กเข้าปากน้ำไปยังเขาสามแก้ว ปัจจุบันชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า เกาะเสม็ด

คำว่า Badia ค้นคร่าวๆ พบว่ารากศัพท์มาจากชื่อเจ้าชาย Badia โอรสแห่งกษัตริย์ Darius the great แห่งเปอร์เซียโบราณเมื่อราว ๕๐๐ BC. และ Bardia กลายเป็นชื่อที่นิยมตั้งชื่อเด็กชายในกลุ่มคนใช้ภาษาอารบิคหรือมุสลิมชาวอาหรับที่นำมาใช้ในกลุ่มมุสลิมอินเดียอีกที ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีความหมายเดียวกับชื่อเกาะหน้าเมืองชุมชนและปากน้ำชุมพรที่เป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรสำคัญในช่วงปลายศตวรรษที่ ๕๐๐ BC.-๒๐๐ BC. หากใช้หลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีของคณะฝรั่งเศสที่ผ่านมา

๒. การเดินทางสู่คาบสมุทรสยาม-มลายู และ “บาหลียาตรา” สู่เกาะสุมาตราและชวา

สิ่งที่น่าสนใจต่อเนื่องจากเส้นทางข้ามคาบสมุทรบริเวณแม่น้ำกระทางฝั่งอันดามันและอ่าวเบงกอลกับแม่น้ำชุมพรทางฝั่งอ่าวไทยก็คือ เส้นทางเดินเรือจากชายฝั่งอ่าวเบงกอลและอนุทวีปอินเดียมาสู่ดินแดนคาบสมุทรสยาม-มลายูและหมู่เกาะในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิค 

แผนที่แสดงที่ตั้งของเมืองศูนย์กลางทางพุทธศาสนา เมืองท่า และเมืองศูนย์กลางทางการค้า บริเวณชายฝั่งเบงกอล

นักวิชาการจากอินเดีย เช่น  [Sila Tripati, L. N. Raut., 2006 และ Duraiswamy Dayalan] ศึกษาเส้นทางเดินเรือเก่าและระบบลมตามธรรมชาติที่ช่วยพัดพาเรือสินค้าจากชายฝั่งอ่าวเบงกอลทั้งทางชายฝั่งเบงกอล โอริสสา อานธรประเทศ ทมิฬนาดูรวมทั้งเกาะศรีลังกามาสู่ดินแดนนี้ 

ระบบลมของโลกเป็นระบบเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อ ๙ ล้านปีก่อนและยังไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งกระแสน้ำที่ช่วยพัดพาอย่างสัมพันธ์กัน นักเดินเรือทางฝั่งตะวันออกของอินเดียโดยเฉพาะจากชาวกลิงคะที่ปัจจุบันคือรัฐโอริสสาและเบงกอลตะวันออกเป็นกลุ่มแรกของชาวอนุทวีปที่ใช้ความรู้เรื่องลมสินค้าในการเดินทางทะเลเพื่อการและกเปลี่ยนค้าขายตั้งแต่ราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว จากหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ รวมทั้งการศึกษาจากประเพณีพิธีกรรมที่สืบทอดมาจนทุกวันนี้พบว่า 

ช่วงเดือนตุลาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์คือฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวกลิงคะมีประเพณี Kartika Purnima คือเทศกาลพระจันทร์เต็มดวงในช่วงกฤติกามาศ คือเดือนทางจันทรคติราวเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม เรียกวันที่จัดเทศกาลเดินทางนี้ว่า “บาหลียาตรา” [Bali Yatra] หรือการเดินทางสู่บาหลี เพื่อขอให้เกิดความปลอดภัยในการออกเดินทางแก่พ่อค้านักเดินทางชาวเรือ โดยจะไปริมฝั่งลำน้ำต่างๆไม่จำเป็นจะต้องเป็นชายฝั่งทะเลเพื่อลอยเรือจำลองที่จุดประทีปวิงวอนขอให้คนที่อยู่บนเรือเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัยจากการค้า ปัจจุบันยังมีการจัดเทศกาลสืบทอดประเพณีนี้อยู่  

ราวเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน ชาวกลิงคะที่เดินเรือทะเลที่ไปค้าขายยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะกลับสู่มาตุภูมิด้วยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พอถึงเดือนกันยายนก่อนการมาถึงของกองเรือก็จะมีการจัดเทศกาล Khudurukuni Osha หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานรอคอยการกลับมาของเหล่าพี่ชายผู้มั่งคั่งร่ำรวยจากการค้า เป็นการจัดงานเฉลิมฉลองล่วงหน้าที่มีการบูชาพระอังคาร [Mangala] เพื่อให้เดินทางกลับมาอย่างปลอดภัยและสุขภาพสมบูรณ์ 

ภาพของเรือเดินทะเลในยุคนั้นสันนิษฐานจากเหรียญกษาปณ์รูปเรือใบสองเสากระโดงที่พบจากอานธรประเทศในสมัยราชวงศ์สาตวาหนะ [Satavahana] ในราวพุทธศตวรรษที่ ๔-๙ ว่าเป็นเรือที่ใช้ใบเรือและเสากระโดงอย่างน้อยสองเสา

เหรียญดีบุกรูปเรือสองเสาจากอินเดียใต้ พบที่คลองท่อม จังหวัดกระบี่

ศิลา ไตรปาฏิ [Sila Tripati] นักวิชาการจากศูนย์การศึกษาทางโบราณคดีทางทะเล สถาบันสมุทรศาสตร์แห่งชาติอินเดียหนึ่งในผู้เขียนบทความข้างต้นสันนิษฐานว่าท่าเรือนั้นออกจากเมืองท่าที่มีการตั้งมั่นทางพุทธศาสนาด้วย ตั้งแต่ลุ่มน้ำคงคาทางตอนเหนือมีศูนย์กลางทางการค้าที่ ตัมราลิปติ [Tamralipti] บริเวณลุ่มน้ำมหานาดีมีท่าเรือเช่น โกนาฆาร์ [Konark] ปุรี [Puri] ปาเลอ [Palur]  ศูนย์กลางทางการค้าที่ ศรีสุพัลการห์ [Sisupalgarh], มานิกะปัฏฏินะ [Manikapatna] และ ยอร์กาดา [Jaugada] ใต้ลงมาเลียบทางชายฝั่งเมือง กลิงคะปัฏฏินัม [Kalingapatnam], และ ธัปตะปุระ [Dabtapura] ท่าเรือที่ บิมลิปปัฏฏินัม [Bimlipatnam] และเมืองทางพุทธศาสนาที่ ปาสตาปูร [Pastapur] ใกล้ลำน้ำโคธาวารี [Godavari] ท่าเรือที่ลุ่มน้ำกฤษณา [Krishna] มีเมืองท่า มาสุลีปัฏฏินัม [Masulipatnam] ธารานิโกฏะ [Dharanikota] และ อมราวดี [Amaravati] แถบลุ่มน้ำฆาเวรี [Kaveri] มีศูนย์กลางทางพุทธศาสนาที่ มหาบาลีปุรัม  [Mahabalipuram] และ อะริกะเมฑุ [Arikamedu] และ ฆาเวรีปัฏฏินัม [Kaveripatnam] นาคปัฏฏินัม [Nagapatnam]  พร้อมเมืองท่าและเมืองโสปัฏมะ [Soptama]

การเดินเรือตัดข้ามอ่าวเบงกอลเรือจากโอริสสาหรือผู้ประสงค์เดินทางไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากที่อื่นใดจะต้องมาลงเรือที่เมืองท่ากลุ่มนี้ มีสองทิศทางคือ หนึ่งจากเมืองท่าตัมราลิปติและปาเลอ  แล่นเลียบชายฝั่งผ่านก้นอ่าวเบงกอล เลียบบังคลาเทศและอาระกันผ่านด้านเหนือของเกาะโคโค่และแวะพักที่หมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของย่างกุ้งในสหภาพเมียนมาร์เหนือเกาะอันดามันราว ๖๕ กิโลเมตร แล้วเลียบชายฝั่งทะเลอันดามันคาบสมุทรสยาม-มลายู ตัดลงสู่ช่องแคบมะละกา หรือตัดข้ามอ่าวใช้ช่องทางผ่านระหว่างหมู่เกาะโคโค่และเกาะอันดามันแล้วตัดสู่ช่องแคบมะละกา แล้วเดินทางเลียบชายฝั่งสู่อ่าวไทยและชายฝั่งทางเขมรและเวียดนามจนถึงจีนตอนใต้

ทิศทางที่สองคือเดินเรือเลียบจากเมืองท่าตัมราลิปติและปาเลอใช้เส้นทางเลียบชายฝั่งลงใต้แล้วเลียบเกาะศรีลังกาตัดข้ามอ่าวเบงกอลเข้าทางที่เรียกว่า “ช่อง ๑๐ องศา” ระหว่างเกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์เพื่อเดินทางแบบตัดอ่าวตรงไปยังคาบสมุทรสยาม-มลายูหรือช่องแคบมะละกาไปทางหมู่เกาะผ่านเหนือเกาะสุมาตราที่อาเจะห์แล้วจะไปยังคาบสมุทรมาเลย์หรือผ่านไปทางเกาะชวาและเกาะบาหลี หรือเลียบทางฝั่งใต้เกาะสุมาตรา เกาะชวาสู่เกาะบาหลี แล้วใช้ช่องแคบซุนดราเดินทางสู่เอเชียตะวันออกและหมู่เกาะต่างๆ ซึ่งมักใช้เป็นเส้นทางในช่วงที่ชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาในยุคอาณานิคมแล้ว

เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พระภิกษุอี้จิงบันทึกว่า จากเมืองท่าตัมราลิปติไปยังหมู่เกาะนิโคบาร์ใช้เวลาแล่นเรือ ๓๐ วัน จากศรีวิชัยไปยังประเทศจีนใช้เวลา ๒๐ วัน ต่อมาท่านบันทึกว่าใช้เวลาประมาณ ๓ เดือนเดินทางจากเกาะศรีลังกาไปยังชวาท่ามกลางอากาศที่เลวร้ายและหยุดพักเพื่อซ่อมแซมเรืือบนเกาะแห่งหนึ่ง และในทางกลับกันใช้เวลาเดินทาง ๒ เดือนจากศรีวิชัยไปยังเมืองท่านาคปัฏฏินัม โดยเดินทางผ่านทางทะเลอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ ส่วนพระภิกษุเหี้ยนจังใช้เส้นทางเดินเรือนี้เดินทางกลับสู่เมืองจีนจากอินเดีย คือจะต้องไปเกาะศรีลังกาก่อนจะเดินทางข้ามอ่าวและกลับในเส้นทางเดียวกัน 

ทางชายฝั่งอันดามันมีรายงานว่าพบซากเรือจมที่คลองท่อมขนาดปากเรือราว ๓ เมตรแต่ไม่มีรายงานการศึกษาจนมาถึงการทำงานทางโบราณคดีของกองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร สำหรับซากเรือที่ชายหาดต่อกับปากคลองบางกล้วย ภูเขาทองในจังหวัดระนอง โดยมีการตรวจค่าอายุและนำชิ้นส่วนเรือที่เหลือไปอนุรักษ์แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ค่าอายุคือ  ๒,๑๒๐ และ ๒,๑๔๐ ปีมาแล้วหรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๕

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจากอินเดียยังไม่ได้ศึกษาและกล่าวถึงเมืองท่าที่คลองท่อมและคอคอดกระที่ภูเขาทองในจังหวัดระนองเพื่อเดินทางข้ามคาบสมุทรในเส้นทางที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในการเดินทางไปยังภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะยังไม่เริ่มมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าพบโบราณวัตถุสำคัญจำนวนมากในบริเวณเส้นทางการข้ามคาบสมุทรในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา 

๓. ร่องรอยจากวัตถุ

วัตถุสำคัญที่ทำให้เห็นว่ามีการติดต่อของชุมชนในเส้นทางที่เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าจากโลกตะวันตกและตะวันออกเนื่องในวัฒนธรรมอินเดียและวัฒนธรรมทางชายฝั่งและหมู่เกาะทางฟากตะวันออกของคาบสมุทรสยามในช่วงต้นพุทธกาลในบริเวณคาบสมุทรสยาม มีทั้งที่เป็นสินค้าสูงค่า [Prestige goods] เครื่องประดับในชีวิตประจำวัน ภาชนะเครื่องใช้จากแดนไกล พบในบริเวณคลองท่อมและแถบคอคอดกระ [Kra Ithmus] คือบริเวณภูเขาทอง ปากจั่น ขะเมายี้ และเขาสามแก้ว เขาเสก ฯลฯ โบราณวัตถุที่พบนี้เป็นตัวแทนแสดงถึงการติดต่อเพื่อการค้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกโดยผ่านเส้นทางข้ามคาบสมุทรสยามที่กระในช่วงพุทธสหัสวรรษที่หนึ่ง โดยที่บทบาทของคนท้องถิ่นอาจจะยังไม่เห็นได้ชัดเจนนัก

กลุ่มภาชนะดินเผา

ภาชนะสีดำขัดมัน [Northern Black Polished Ware] เพราะพบตามแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในอินเดียทางชายฝั่งเบงกอลและมีการผลิตต้นทางจากทางเหนือ ตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนากำเนิดขึ้นราว ๒๐๐ ปี เรียกด้วยตัวย่อว่า [NBPW] ทำจากดินเผาเนื้อละเอียด เนื้อบาง เผาคุณภาพดีและมีการเคลือบน้ำเคลือบบางๆ ก่อนจะนำมาขัดมัน สีของผิวภาชนะมีตั้งแต่สีดำสนิท น้ำตาลคล้ำ เทา และแดง ถือเป็นภาชนะมีมูลค่าสูงของของชนชั้นนำ โดยสันนิษฐานอายุที่ปรากฏทางใต้ของอินเดียอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒ ถึง ๗ ทางอินเดียใต้พบว่าแหล่งโบราณคดีแทบทั้งหมดที่พบภาชนะสีดำขัดมันคือศูนย์กลางทางพุทธศาสนา  

ภาชนะแบบสีดำขัดมัน เนื้อดี น่าจะมีต้นกำเนิดการผลิตจากอินเดีย พบที่เขาสามแก้วสำหรับภาพแรก และพบที่เขาเสก อำเภอหลังสวน ทั้งสองแห่งอยู่ในจังหวัดชุมพร
ภาชนะแบบสีดำขัดมัน เนื้อดี น่าจะมีต้นกำเนิดการผลิตจากอินเดีย พบที่เขาสามแก้วสำหรับภาพแรก และพบที่เขาเสก อำเภอหลังสวน ทั้งสองแห่งอยู่ในจังหวัดชุมพร

ภาชนะตกแต่งโดยใช้วงล้อกดประทับเป็นรู [Rouletted Ware] การตกแต่งผิวด้วยวิธีใช้วงล้อขนาดเล็กมีปุ่มเคลื่อนตัวทำให้เกิดลายเป็นจุดเล็กๆ รูปทรงต่างๆ เป็นภาชนะสูงค่าน่าจะใช้ในกลุ่มผู้นำหรือชนชั้นสูงทางสังคม พบตามแหล่งโบราณคดีในอินเดียบริเวณบังคลาเทศ เบงกอลตะวันตก โอริสสา มหาราชสถานอุตตรประเทศ พิหาร อาธรประเทศ ทมิฬนาดูและเกาะศรีลังกา กำหนดอายุไว้ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๓ ถึง พุทธศตวรรษที่ ๙ ทั้งภาชนะแบบสีดำขัดมัน [Northern black polished ware] และแบบนี้กำเนิดแถบลุ่มน้ำคงคาเช่นเดียวกัน

ภาชนะลายกดประทับเป็นจุดและคดโค้งแบบคาลานาย-ซ่าหวิงก์ พบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร

ภาชนะทั้งสองประเภทนี้พบในคาบสมุทรสยามในกลุ่มคอคอดกระจำนวนมากและหลายแห่ง ทางฝั่งอันดามัน เช่น กลุ่มภูเขาทอง กะเปอปากจั่น ในจังหวัดระนองและเขาสามแก้ว ทุ่งตะโกในจังหวัดชุมพรทางฝั่งอ่าวไทย และมีชิ้นพิเศษพบที่ภูเขาทองซึ่งมีอักษรพราหมีประทับและสัญลักษณ์ที่พบในแหล่งโบราณคดียุคเหล็กในทมิฬนาดู 

ภาชนะแบบมีปุ่มด้านใน [Knobbed Ware] พบทั้งแบบดินเผาและสำริด ภาชนะแบบมีปุ่มเช่นนี้แพร่หลายในชุมชนที่นับถือพุทธศาสนาในลุ่มน้ำคงคา ยิ่งเน้นความสัมพันธ์ของพุทธศาสนาและกลุ่มพ่อค้าให้เด่นชัดขึ้น มีรายงานว่าภาชนะสำริดแบบมีส่วนผสมของดีบุกสูง [High-tin bronze knobbed wares] พบที่บ้านดอนตาเพชรเป็นจำนวนมากกว่า ๒๐ ชิ้น แถบเขาขวากที่ราชบุรี ถ้ำองบะที่กาญจนบุรี ในแหล่งก่อนประวัติศาสตร์แบบปลายบ้านเชียงที่โคกคอน สกลนคร บ้านเชียงและบ้านนาดี ในอุดรธานี และพบที่ถ้ำเสือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนองชายฝั่งอันดามัน และเขาสามแก้ว  

ภาชนะแบบมีปุ่มด้านใน [Knobbed ware] พบที่ถ้ำเสือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง  ซึ่งเป็นเส้นทางจากฝั่งอันดามันเดินทางผ่านช่องเขาเพื่ออกแถบเขาทะลุ จังหวัดชุมพร ปากภาชนะผายออก ลำตัวโค้งออกและสอบเข้า ก้นภาชนะมีลักษณะคล้ายถ้วยขนาดเล็กต่อลงมาด้านในของก้นมีปุ่มแหลม ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของภาชนะรูปแบบนี้การตกแต่งภาชนะด้านนอกมีการทาน้ำดินสีดำและบริเวณสันทานำดินสีน้ำตาลและขูดเป็นร่อง ๓ ร่อง ลำตัวภาชนะถูกหินปูนหุ้มไว้ ปัจจุบันรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง จังหวัดภูเก็ต

ภาชนะทั้งสามชนิดถือว่าเป็นภาชนะแบบพิเศษที่ต้องใช้การทำงานแบบช่างฝีมือขั้นสูงกว่าภาชนะทั่วไป และสันนิษฐานกันว่าน่าจะใช้สำหรับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาด้วย ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีอินเดียที่มีการตั้งมั่นทางพุทธศาสนา ส่วนในต่างแดนนั้นก็น่าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเส้นทางเครือข่ายทางการค้าที่ผ่านทางพ่อค้าทางฝั่งเบงกอล

-ภาชนะจากฝั่งทะเลจีนใต้คือ เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นแบบเนื้อดินและมีตราประทับลวดลายต่างๆ พบที่กลุ่มภูเขาทอง ปากจั่น เขาสามแก้ว เขาเสก และอีกหลายแห่ง

-ภาชนะแบบมีการตกแต่งลวดลายคดโค้งและกดจุดประทับ ซึ่งพบชุดแรกที่เกาะสมุย และพบในแหล่งเขาสามแก้ว เขาเสก ทางฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งนักโบราณคดีผู้ขุดค้นให้น้ำหนักว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่สัมพันธ์กับแบบเครือข่ายซ่าหวิงก์-คาลานาย [Sa Huynh-Kalanay-related ceramics] แต่จากการพิจารณาเห็นว่ารูปแบบลวดลายละเอียดมากขึ้น ภาชนะแบบคาลานายในฟิลิปปินส์และภาชนะแบบซ่าหวิ่งก์แล้วเห็นว่ามีรูปแบบลวดลายที่แตกต่างกัน เพราะแบบคาลานายนั้นคลื่นคดโค้งเป็นแบบที่พบในกลุ่มหมู่เกาะฮาวายและโพลีนีเชียนมากกว่า และลวดลายภาชนะที่พบจากเขาสามแก้วและเขาเสกก็ดูจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมซ่าหวิงก์ตอนใต้ที่มักพบตามลวดลายภาชนะแบบยุคสำริดในแหล่งโบราณคดีภาคกลางของประเทศไทย อย่างไรก็ตามภาชนะเช่นนี้รวมทั้งการพบหินหยกไต้หวันที่ใช้ทำเครื่องประดับชี้ว่ามีพ่อค้านักเดินทางที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเชียนซึ่งเดินทางไปยังเกาะไต้หวัน ถ้ำตาบน และปาลาวันในฟิลิปปินส์ ตอนเหนือของเกาะเบอร์เนียว ตอนใต้ของเวียดนาม คาบสมุทรสยามที่เขาสามแก้ว เป็นต้น ในช่วงยุคร่วมสมัยกับราชวงศ์ฮั่นโดยไม่น่าจะสัมพันธ์กัน แต่เป็นร่องรอยร่วมสมัยในยุคเหล็กตอนปลายที่นักเดินทางเรือเหล่านี้เข้ามายังเกาะต่างๆ ทางคาบสมุทรสยามแล้ว  

กลุ่มลูกปัดและเครื่องประดับในระบบสัญลักษณ์ทางศาสนาและจากเส้นทางการค้ากรีก-โรมัน 

ลูกปัดแก้วสีเดียวแบบอินโดแปซิฟิคหรือลูกปัดลมสินค้า [Indo-Pacific or Trade wind beads] พบเป็นวงกว้างตั้งแต่ทางตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียไปจนถึงจีนและญี่ปุ่นก็พบได้ทั่วไปตั้งแต่ในหลุมศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไปจนถึงแหล่งโบราณคดีในเมืองที่มีคูคันดินแบบทวารวดีและในชุมชนต่างๆ ในคาบสมุทรภาคใต้ การวิเคราะห์องค์ประกอบของเนื้อแก้วส่วนใหญ่จะเสนอว่าคล้ายคลึงกับที่พบในอินเดียใต้หลายแห่ง เช่น อาริกาเมดุ และมีการนำเข้าวัตถุดิบก้อนแก้วและเศษแก้วจากอินเดียมาหลอมหรือผลิตในท้องถิ่นต่างๆ ส่วนการหลอมจากทรายแก้วเพื่อผลิตเองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่พบแหล่งผลิตแม้จะมีแหล่งทรายแก้ว [Silica sand] ใกล้กับเขาสามแก้ว เช่นที่สนามบินปะทิว, บ้านทุ่งมะขามปากน้ำเมืองชุมพร, อ่าวครามใหญ่ ด่านสวี ซึ่งมีปริมาณมากกว่าที่อื่นๆ, ปากน้ำตะโก ในจังหวัดชุมพรก็ตาม 

ลูกปัดผลิตด้วยเทคนิคแบบโมเสค [Mosaic technique] โดยนำแก้วสีต่างๆ มาเรียงตามรูปที่ต้องการ หลอมด้วยความร้อนจนอ่อนตัวแล้วดึงยืดเป็นเส้นยาวแล้วตัดขวาง เช่น ใบหน้าคนในวงรัศมี รายงานการศึกษาองค์ประกอบของเนื้อลูกปัดแก้วแบบโมเสคจากแหล่งภูเขาทองให้ความเห็นว่าเหมือนกับองค์ประกอบแก้วโมเสคแบบโรมันเป็นแก้วแบบผสมตะกั่วมาก [Lead-based glass] และสีต่างๆ ได้จากองค์ประกอบของทองแดงและเหล็กอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม พบลูกปัดโมเสคเป็นรูปใบหน้าคนที่เขาสามแก้วด้วย 

-ลูกปัดจากหินและรัตนชาติ มีความหลากหลายทั้งชนิดของหินและการทำเป็นเครื่องประดับ เช่น อาเกต-Agate, คาร์นีเลียน-Carnelian, นิลกาฬ-Onyx, โมรา-Jasper, อำพัน-Amber, Rock crystal-เขี้ย􏰁วหนุมาน, สีม่วงคืออมิทีสต์-amethyst, อความารีน-Beryl พบทั่วไปในคาบสมุทรสยาม แต่บริเวณแหล่งคลองท่อม ภูเขาทอง และเขาสามแก้วน่าจะเป็นแหล่งผลิตที่พบร่องรอย เช่น ก้อนแก้วหลายสี ลูกปัดที่ยังผลิตไม่เสร็จ และเศษหินอาเกตที่ยังไม่ได้ถูกกะเทาะขัดฝนและเผาสีเพื่อทำลูกปัดจำนวนไม่น้อย 

ก้อนแก้วที่เป็นวัตถุดิบขนาดและรูปแบบต่างๆ ที่นำเข้าอาจจะมาจากอะริกันเมฑุ เมืองชายฝั่งเบงกอล ดังที่นักวิชาการหลายท่านวิเคราะห์ไว้ และลูกปัดหินคาร์นีเลียนชำรุด รวมทั้งที่ยังไม่ได้หุงสี พบจำนวนมากที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตระดับเมืองท่าทางฝั่งอันดามัน

-ลูกปัดหินอาเกตและคาร์นีเลียนแบบฝังเส้นหรือเขียนสีขาว [Etched beads] ใช้วิธีที่อาจทำแบบฝังเส้นหรือเขียนลายด้วยลงบนเนื้อ􏰁หินอาเกตหรือคาร์นีเลียน ส่วนผสมทางเคมีของเนื้อลายสีขาวประกอบด้วยโปรแตสตะกั่วและยางไม้ ลูกปัดรูปแบบนี้มีต้นกําเนิดจากลุ่มน้ำสินธุแล้วแพร่หลายไปตามเส้นทางการค้าจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะฝั่งอ่าวเบงกอลทางตอนเหนือ ซึ่งพบในพม่าที่มีความหลากหลายมาก ส่วนในคาบสมุทรสยามและภาคพื้นพบไม่มากนัก  

ตราประทับหัวแหวนที่เรียกว่าอินทากิโอ-Intaglio ซึ่งแกะลงไปในเนื้อหินแบบสะท้อนกลับเพื่อใช้เป็นตราประทับ กำเนิดจากกรีกและโรมัน แต่ถ้าเป็นลายนูนเรียกว่า คามิโอ-Cameo  ลวดลายที่ปรากฏบนรูปสัตว์ เช่น ม้า ช้าง ไก่คู่ ฯลฯ

-ลูกปัดที่ทำเป็นรูปสัญลักษณ์และสัตว์ชนิดต่างๆ จากหินกึ่งรัตนชาติ ลูกปัดขนาดเล็กๆ แกะเป็นรูปสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ซึ่งบางสัญลักษณ์ก็อาจเห็นว่าเป็นการใช้ร่วมกันกับศาสนาฮินดูหรือเชน แต่จากการสังเกตหลักฐานข้อมูลต่างๆ ก็ประเมินได้ว่าสัญลักษณ์เหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องราง [Amulet]  ทำให้เห็นว่า ศาสนาจากอินเดียมีอิทธิพลส่งต่อมาสู่ดินแดนนี้มาก สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา เช่น ตรีรัตนะ พบว่าทำเป็นเครื่องประดับทองพบในช่วงพยู่ตอนต้น ในเมียนมาร์และชายฝั่งที่เขาสามแก้วทำจากหินกึ่งรัตนชาติ เช่น อมีทิสต์ คาร์นีเลียน พบที่ระนอง 

ลูกปัดหรือเครื่องประดับที่เกี่ยวเนื่องกับสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาพบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร เช่น ตรีรัตนะ ศรีวัตสะ สวัสติกะ พระจันทร์เสี้ยว กลีบดอกไม้ ดอกบัว สิงห์โต ปลาคู่ สังข์ อังกุศ จามร คทา ดาบวัชระ ตรีศูล ฯลฯ สัญลักษณ์เหล่านี้โดยพื้นฐานคือมงคล ๘ ประการที่พัฒนามาเป็นมงคล ๑๐๘ ประการ เดินทางมาพร้อมกับพ่อค้าและนักเดินทางจากศูนย์กลางทางความเชื่อในเมืองท่าทางพุทธศาสนา ระบบสัญลักษณ์เหล่านี้ถูกผลิตขึ้นที่คาบสมุทรสยามเพื่อส่งออกเป็นสินค้าในดินแดนที่รับพุทธศาสนาด้วย

-เครื่องประดับทำจากหินตระกูลหยก [Nephrite, Mica] บันทึกว่าเครื่องประดับจากกรีนไมกาเรียกว่าหยกมินโดโร โดยนักโบราณคดีฟิลิปปินส์ มีมากที่ฟิลิปปินส์ มาเลย์ตะวันออกและเวียดนามตอนใต้ จะอ่อนนุ่มกว่าหยกที่ไต้หวัน เขาสามแก้วเป็นแห่งแรกที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี  (Hung & Iizuka, 2013)  

กลุ่มจารึกตัวอักษรพราหมี

พื้นที่ซึ่งพบเจอจารึกมากที่สุดในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันและคอคอดกระคือที่ควนลูกปัดในอำเภอคลองท่อมพบว่ามีปะปนหลากหลายกลุ่มอายุและกลุ่มอักษรตั้งแต่อักษรพราหมีรุ่นเก่าและต่อมา กลุ่มอักษรแบบปัลลวะและหลังปัลลวะตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๘-๑๒ 

ตราประทับหินคาร์นีเลียนมีอักษรพราหมีรุ่นเก่า ภาษาปรากฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ มีรูปเต่าอยู่บนตัวอักษร จารึกมีความหมายว่า “ของพมฺหทิน”เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

หินรูปไข่แบบหัวแหวนที่เป็นตราประทับมีอักษรพราหมี เช่น กลุ่มตราประทับจากคลองท่อมที่มีจารึกอักษรพราหมีภาษาปรากฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๘ จารึกคำว่า รูชฺโช หมายถึง ทำลาย  ภาษาปรากฤตถูกแทนที่ด้วยภาษาสันสกฤตจนราวพุทธศตวรรษที่ ๙ พร้อมกับการเกิดขึ้นของราชวงศ์คุปตะซึ่งเป็นยุคทองของสันสกฤต และจารึกที่เป็นภาษาปรากฤตจึงค่อยๆ หายไป

ตราประทับทำจากหินคาร์นีเลียนอักษรพราหมี ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ี ๖-๗ คำว่า “เชตวฺยํ” คือ ควรชนะ ซึ่งเป็นคำที่พบซ้ำในตราประทับอีกหลายชิ้น นอกจากนี้มีคำว่า “ภกฺตวยํ” คือ ควรภักดี, ควรบริโภค กล่าวได้ว่าจารึกบนลูกปัดอักษรพราหมีที่คลองท่อมอายุอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๖-๙

ส่วนตราประทับที่มีอักษรพราหมี ๔ ตัวคือ ศ ฆ ย ศ ด้านล่างตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์รูป ตรีรัตนะ เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร ประเมินอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๔–๙

แม่พิมพ์หินหล่อเครื่องประดับแก้ว รูปลักษณ์ของแก้วที่หล่อเช่นนี้พบในแฟล่งโบราณห่างไกลออกไป เช่นที่บ้านเชียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น, นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับรูปสัตว์สองหัวทำจากหินหยกไต้หวัน หรือ Nephrite และตราประทับที่มีลายตรีรัตนะ และอักษรพราหมี พบที่แหล่งเขาเสก อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
กลุ่มเครื่องทองและตราประทับรวมทั้งเหรียญทอง

เครื่องทองต่างๆ ทั้งลูกปัด แหวน จี้ เครื่องประดับอื่นๆ แผ่นทอง ทองคำแท่งขนาดเล็กๆ เหรียญทองรูปใบหน้าบุคคลเลียนแบบเหรียญโรมัน เหรียญรูปสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา การทำทองในคาบสมุทรสยามนั้นเห็นได้ชัดจากหลักฐานที่คลองท่อมจำนวนมาก อายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๘ แต่เมื่อพบ

-ลูกปัดทอง พบทั้งที่คลองท่อม กลุ่มภูเขาทอง และเขาสามแก้ว และที่คลองท่อมทำเป็นสี่หลี่ยมที่มีการสลักลวดลายสัญลักษณ์ในพุทธศาสนา ๔ ด้าน

-เครื่องประดับต่างหูทองคำ ต่างหูชิ้นสำคัญพบที่เขมายี้ ขนาดราว ๔.๘ x๑.๙ เซนติเมตร หนัก ๔๔ กรัมซึ่งมีเทคนิคการทำและลวดลายที่พบก็ทำให้อายุของการทำทองและช่างทองที่เข้ามาสู่คาบสมุทรแห่งนี้น่าจะเก่าไปถึงช่วงราชวงศ์เมารยะ-ศุงคะ 

แอนนา เบนเนต [Anna Bennett] วิเคราะห์ว่าเป็นการทำด้วยเทคนิคแบบ Granulation คือการติดเม็ดทองกลมๆ เล็กๆ ลงบนผิวแผ่นทองบางๆ โดยใช้แป้งกาวที่ผสมกับทองแดงประสาน เมื่อผ่านความร้อนเนื้อทองแดงก็จะละลายเข้าเป็นเนื้อเดียวกับทองจนแทบไม่เห็นรอบต่อ ลูกทองกลมขนาดล็กๆ ทำเตรียมไว้ขนาดต่างๆ เพื่อนำมาติดแปะเป็นรูปร่างลวดลาย เทคนิคอันละเอียดปราณีตนี้เข้าสู่อินเดีย ผ่านทางวัฒนธรรมเปอร์เซียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ ในราชวงศ์เมารยะ-ศุงคะ (พ.ศ. ๒๒๑-พ.ศ. ๓๕๘, พ.ศ. ๓๕๘-๔๘๐) ที่ต่อเนื่องกับสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะ (พ.ศ. ๒๗๐-พ.ศ. ๓๑๑) เปรียบเทียบกับภาพสลักแบบนูนต่ำจักรวาทิน [Chakravarti] หรือพระจักรพรรดิราช เช่นที่ภาพนูนต่ำแบบอมราวดีจากอานธรประเทศ งานชิ้นนี้กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๕ [Anna Bennett, 2019] 

อย่างไรก็ตาม ไม่พบเครื่องทองต่างหูเช่นนี้ในอินเดีย พบแต่เพียงในฐานสลักนูนต่ำประดับไว้ แต่มาพบเครื่องทองจริงๆ ในอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรทางคาบสมุทรสยาม และยังพบชิ้นส่วนทองรูปพรรณเทคนิคแบบ Granulation ที่บริเวณเขมายี้ เขาสามแก้ว ภูเขาทอง และคลองท่อมเช่นเดียวกัน  

เครื่องประดับทองรูปพรรณจากเขาเสก พบว่าคล้ายคลึงกับที่พบจากเขาสามแก้วและภูเขาทอง 

-ตราประทับทองคำมีจารึก “พฤหัสปติศรมัน นาวิกะ” สันนิษฐานตัวอักษรที่ควรนำมาเปรียบเทียบเพื่อหาอายุ จากการเปรียบเทียบตัวอักษร และกำหนดอายุของจารึกนี้อยู่ในช่วงราชวงศ์สาตวาหนะในราวพุทธศตวรรษที่ ๓–๘ อุเทน วงศ์สถิตย์ อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก อธิบายคำว่า “พรหัสปติศรมัน” เกิดจากการสมาสกันของศัพท์สองศัพท์ คือ “พฺรหสฺปติ” หมายถึงพระพฤหัสปติ หรือ พระพฤหัสบดี ครูของเหล่าเทวดา ส่วนอีกศัพท์หนึ่ง คือ “ศรฺมนฺ” แปลว่าคุ้มครอง โดยกล่าวถึงธรรมเนียมการตั้งชื่อตามวรรณะว่าคนในวรรณะพราหมณ์ควรเริ่มต้นด้วยคำที่แสดงถึงเทพเจ้า, สติปัญญา, ความสงบ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของคนวรรณะนี้ และควรลงท้ายด้วยคำว่า “ศรมัน” ชื่อของคนวรรณะแพศย์ ควรแสดงความมั่งคั่ง, โภคทรัพย์, สมบัติ, เงินทอง และควรลงท้ายด้วยคำว่า “คุปตะ” 

ตราประทับทองคำมีจารึก “พฤหัสปติศรมัน นาวิกะ” พบที่ภูเขาทองชายฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง สันนิษฐานตัวอักษรที่ควรนำมาเปรียบเทียบเพื่อหาอายุ จากการเปรียบเทียบตัวอักษรและกำหนดอายุของจารึกนี้อยู่ในช่วงราชวงศ์สาตวาหนะในราวพุทธศตวรรษที่ ๓–๘

ข้อสังเกตที่สำคัญคือพรหัสปติศรมันเป็นนายเรือนั้นเป็นคนในวรรณะพราหมณ์ทำหน้าที่นายเรือและเกี่ยวข้องกับการค้า ซึ่งผิดข้อบัญญัติประจำวรรณะและจากการเปรียบเทียบตัวอักษรจึงกำหนดอายุของจารึกแผ่นทองนี้ให้อยู่ในช่วงระยะเวลาของราชวงศ์สาตวาหนะซึ่งมีอายุอยู่ในราว พุทธศตวรรษที่ ๓–๘ ซึ่งเก่าไปกว่าที่นักวิชาการอินเดียให้ไว้

-หินลองทอง [Touchstone] มีจารึกภาษาทมิฬอักษรพราหมี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อมอ่านว่า“perumpatan kal”-หินลองทองของ Perumpatan [Duraiswamy Dayalan, PLAQUE OF SOUTH INDIAN SHIPMAN IN THAILAND] ซึ่งคำแปลในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูเก็ตแปลว่า หินของช่างทองอาวุโส

-เหรียญทองคำและดีบุกที่คลองท่อม ในอานธรประเทศพบว่ามีการทำเหรียญโรมันรูปบุคคลต่างๆ อายุน่าจะอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗ หรือ ๘ ส่วนที่คลองท่อมนั้นพบแบบที่พบในอินเดียแต่น่าจะมีการผลิตที่นี่ เพราะพบแม่พิมพ์หินสำหรับหล่อเหรียญด้วย แต่วิธีการผลิตกล่าวว่าน่าจะต่างกันอยู่ อีกประการหนึ่งคือพบว่าเหรียญทำจากดีบุก ซึ่งดีบุกเป็นแร่หายากในอินเดียแต่ในคาบสมุทรสยาม-มลายูมีอยู่มากในระดับโลก และน่าจะผลิตเป็นก้อนแร่สำเร็จส่งออกกลับไปยังอินเดียด้วย เพราะพบ Ingot ที่มีตราสัญลักษณ์ประทับในบางชิ้น  

ก้อนแร่ดีบุกและตะกั่วที่เป็นวัตถุดิบ [Ingot] พบที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ในรูปลักษณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นก่อนเหลี่ยม แผ่นม้วน เส้นลวด ฯลฯ ผลิตเพื่อส่งออกทั้งภายในภาคพื้นและแดนไกล ดังที่พบจากแหล่งโบราณคดีในภาคกลางหลายแห่ง

เหรียญทองคำและดีบุกเหล่านี้คือจี้สำหรับห้อยคอ เพราะมีการทำห่วงติดสำหรับร้อยสายไว้ ทั้งที่แม่พิมพ์ก็พบการทำห่วงคล้องด้วยวิธีการทำจี้เหล่านี้น่าจะฝึกฝนมาจากอินเดียใต้ ในรูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้า การใส่จี้เหรียญทองเลียนแบบเหรียญโรมันนี้น่าจะผลิตขึ้นในคาบสมุทรสยาม เพื่อเป็นเครื่องประดับสำหรับบุคคลในการบ่งบอกสถานภาพทางสังคม ที่คลองท่อมน่าจะเป็นแหล่งผลิตเหรียญทองและดีบุกห้อยคอเลียนแบบเหรียญโรมัน ซึ่งสันนิษฐานจากวัตถุระบุว่าน่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘-๑๑  [Brigett Borell, 2017] 

-มโหระทึกแบบเฮเกอ I พบที่เขาสามแก้วจากการดูดทราย ซึ่งมีลวดลายที่โดดเด่น และพบจากเนินเขาที่ ๑ ทั้งที่เป็นใบใหญ่สมบูรณ์และใบขนาดเล็ก รวมทั้งชิ้นส่วนมโหระทึกพบที่เนินเขาลูกที่ ๔ จากรายงานทางโบราณคดีของคณะฝรั่งเศส อายุโดยเฉลี่ยคือพุทธศตวรรษที่ ๑-๕  

-ภาชนะสำริดแบบสัดส่วนดีบุกสูง [High tin bronze] หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ที่มีส่วนผสมดีบุกในปริมาณสูงถึง ๒๓ % จึงทำให้สีเนื้อภาชนะคล้ายสีทอง และยังมีความบางเป็นพิเศษ บ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญในการหล่อและผลิต ภาชนะที่การดุนลวดลายที่เป็นรูปร่างคล้ายกับหญิงชาวอินเดียพบในการขุดค้นทางโบราณคดี เป็นการอุทิศให้ผู้ล่วงลับที่บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี และคล้ายกับที่พบพบภาชนะเต็มใบที่เขาสามแก้ว และยังพบชิ้นส่วนที่เขาเสก นอกจากนี้ยังพบที่เขาจมูก ราชบุรีด้วย

๔. สถานีการค้าและผลิตที่เขาสามแก้ว 

มีการสำรวจที่เขาสามแก้วเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๗ จนเมื่อศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส [CNRS], สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ [EFEO], สำนักวิจัยทางธรณีวิทยาและแร่ธาตุ (ฝรั่งเศส) [BRGM] และมหาวิทยาลัยศิลปากรเริ่มร่วมกันขุดค้นศึกษา (พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๒) และมีผลสรุปรายงานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐ [Berenice Bellina, 2017]

ข้อมูลโดยสรุปคือจากการขุดหลุมทดสอบขนาด ๒x๒ เมตร ราว ๑๓๕ หลุมตลอดทั่วเนินเขาที่กำหนดว่าเป็น ๔ เนิน ในพื้นที่ราวๆ ๒.๖-๒.๗ ตารางกิโลเมตร และแต่ละเนินเขามีช่องเขาที่ลุ่มคั่น ๓ แห่ง ทุกแห่งถูกลักลอบขุดในพื้นที่กันมานาน โดยให้เนินหมายเลข ๑ คือบริเวณที่ผลิตน้ำประปาในปัจจุบัน คั่นด้วยร่องเขาหมายเลข ๑ และเนินหมายเลข ๒ และ ๓ ซึ่งหมายเลข ๒ เป็นเนินเขาที่เตี้ยกว่า ส่วนเนินหมายเลข ๔ คือเนินที่มีการตัดส่วนที่สูงสุดของเนินเขาออกเพื่อนำดินไปถมที่และกรมศิลปากรให้ยุติ เนินสุดท้ายนี้เป็นเนินสูงที่สุด โดยมีพื้นที่ทางทิศตะวันออกสูงเสมอกับถนนที่ตัดผ่านรวมทั้งมีชุมชนอยู่อาศัยและหน่วยงานราชการต่างๆ แต่เมื่อพิจาณาโดยละเอียดได้ข้อสันนิษฐานต่างไปจากงานศึกษาของคณะศึกษา เพราะเห็นว่าเนินขนาดใหญ่เป็นพื้นที่กลางคือเนินหมายเลข ๒ และ ๓ คือเนินเขาเดียวกัน เพียงแต่มีร่องเขาที่เป็นช่องเล็กและสั้นกว่ารวมทั้งมีโบราณวัตถุที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอยู่  

เนินแต่ละแห่งพบว่ามีการทำคันดินที่มีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อใช้ในการชะลอน้ำและแบ่งพื้นที่ จากการศึกษาแบ่งออกเป็น ๒ ช่วงเวลา คันดินนี้ถูกทำขึ้นทั้งสองช่วงเช่นกัน โดยมีโครงสร้างทางกายภาพของคันดินเท่าที่พบคืออัดด้วยทรายเป็นหลักและมีร่องน้ำขนานไปกับคันดินในบางแห่ง และวิเคราะห์จากการสรุปงานศึกษานี้ว่าคันดินเหล่านี้คือตัวบ่งชี้ความเป็น “เมืองท่า” รุ่นแรกๆ   

แต่จากการพิจารณาภาพแผนที่ของคณะผู้ศึกษา ผู้เขียนแยกร่องรอยคันดินตามหน้าที่ออกได้ดังนี้คือ

แผนผังความสูงของแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว ที่เสนอต่างไปจากการวิเคราะห์ของนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเล็กน้อย เพราะเห็นว่าพื้นที่เขาช่วงกลางหรือหมายเลข ๒ น่าจะเป็นพื้นที่กิจกรรมเดียวกัน ในการอยู่อาศัยและการผลิต

คันดินที่ขวางเนินเขาในแนวเหนือใต้ มี ๒ เนินคือ เนินที่ ๑ และ ๒ ระบุว่ามี ๒ ช่วงเวลา ขุดเป็นคันดินขวางทั้งเนิน จากการสำรวจพบว่าใช้เป็นแนวกั้นพื้นที่เพราะไม่สามารใช้เป็นคันกักหรือชะลอน้ำ ขนาดของคันดินกว้างราว ๙-๑๐ เมตร และสูงตามคำบอกเล่าคือ ๑.๕๐ เมตร ปััจจุบันหมดสภาพแล้วเกือบทั้งหมด

-คันดินที่ขวางในแนวเหนือใต้เพื่อการเชื่อมพื้นที่และเป็นคันกั้นน้ำจากที่สูง มีแห่งเดียวคือเนินเขาสุดท้ายที่คณะให้เป็นหมายเลข ๔ กับ ๓ ในพื้นที่ช่องเขาที่ ๓ แนวนี้สร้่างคันดินถมเชื่อมปลายร่องเขาด้านในสุดเพื่อติดต่อกับเนินเขาลูกสุดท้ายที่สูงที่สุดในกลุ่ม

-คันที่ใช้กั้นขอบกันดินถล่ม ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดเกือบสูงสุดของเนิน คันกั้นเหล่านี้ทำจากหินก้อนใหญ่ที่ต้องไปเสาะหามาจากพื้นที่อื่นเพราะชาวบ้านละแวกนี้ไม่เคยเห็นต้นทางของหินกรวดแม่น้ำก้อนใหญ่ขนาดดังกล่าวแถบนี้แต่อย่างใด ที่ปรากฎชัดคือเนินเขาที่ ๓ และพบว่ามีอยู่มากที่สุดเพียงแห่งเดียว ซึ่งคณะผู้ศึกษาสันนิษฐานว่าในช่วงแรกน่าจะเป็นการทำคั้นกั้นนี้รอบเขาและแยกออกเป็น ๒ เนินสองส่วนทีเดียว ส่วนเนินที่ ๔ พบเป็นแนวสั้นๆ ซึ่งถ้ายังเหลือร่องรอยเพราะถูกไถพื้นที่ไปราว ๑๕ ปีมาแล้ว

ด้านตะวันตกซึ่งเป็นที่ราบเนินเขาติดกับลำน้ำท่าตะเภานั้น มีพื้นที่ราบมากพอสมควร แต่มีการดูดทรายและกัดเซาะแนวตลิ่งทำให้แผ่นดินหายไปมากบริเวณนี้จึงไม่ได้ทำงานแม้จะแจ้งไว้ว่ามีร่องรอยคันดิน แต่ก็ได้สันนิษฐานพื้นที่สองฝั่งลำน้ำท่าตะเภาด้านหน้าเนินเขาทางทิศตะวันตกว่าเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและการเพาะปลูก พื้นที่นี้เมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่เก่าแล้วจะเห็นว่าเป็นพื้นที่ราบขนาดกว้างขวาง บางส่วนต่อเนื่องกับแนวร่องเขาระหว่างเนินเขาช่องแรกซึ่งเป็นพื้นที่เก็บน้ำและชาวบ้านสันนิษฐานและมีเรื่องเล่าว่ามีเรือสำเภาเข้ามาจอดได้ตามความเข้าใจและคณะศึกษากล่าวว่ามีคันดินล้อมรอบและน่าจะเป็นอู่จอดเรือ และพื้นที่นี้ก็เป็นแอ่งน้ำกว้างใหญ่และเป็นที่ลุ่มกว่าทางร่องเขาตอนเหนือ ส่วนร่องเขาด้านเหนือหรือหมายเลข ๓ ของคณะศึกษาเห็นว่าเพื่อกันน้ำเพื่อให้ไหลไปางตะวันตกที่เป็นพื้นที่แห้งและสูงกว่า

กลุ่มโบราณวัตถุจากเนินเขาที่สามซึ่งมีการขุดปรับพื้นที่ทำให้พบชิ้นส่วนมโหระทึก และหินกลมที่อักษรพราหมีปรากฎบนผิวหินกลมนั้น รวมทั้งคำบอกเล่าของชาวบ้านที่กล่าวถึงฐานอาคารก่ออิฐที่ด้านในมีเถ้าผงอยู่จำนวนมาก และอิฐขนาดใหญ่ดังภาพ ก่อนจะถูกปรับไถทิ้งทั้งหมด ส่วนมโหระทึกสองใบที่ปรากฎเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร และได้มาจากเนินดินแรก ซึ่งชาวบ้านกล่าวว่ามีการฝังศพแบบนอนเหยียดยาวในบริเวณนี้ ส่วนเครื่องมือเหล็กพบในบริเวณเขาสามแก้ว เป็นแบบเครื่องมือเหล็กที่พบได้ทั่วไปในภาคพื้นแผ่นดินภายใน เทคนิคการตีขึ้นรูป และเศษแก้วที่น่าจะเป็นวัตถุดิบนำมาผลิตที่เขาสามแก้ว

ที่สำคัญกว่านั้นคือพื้นที่ราบเหล่านี้ ในทางการอยู่อาศัยทางโบราณคดี น่าจะเป็นพื้นที่เหมาะสมกว่าเพราะพบแนวร่องน้ำและเนินดินหลายแห่งรวมทั้งมีรายงานการค้นพบสิ่งของสำคัญจากการดูดทรายชายตลิ่ง เช่น ขันสำริดมีลวดลายอย่างอินเดียแบบ High tin Bronze ทั้งการอยู่บนเนินเขาที่มีความสูงและเต็มไปด้วยก้อนหินกรวดแม่น้ำเต็มพื้นที่ อีกทั้งชื้นแฉะยามหน้าฝนที่น้ำจะไหลลงจากที่สูงเป็นจำนวนมากกว่าปกติจนกระทั่งต้องทำขอบกั้นดินถล่มตามแนวความลาดเอียงที่สูงชัน แต่ก็ยังมีการพบลูกปัดเป็นจำนวนไม่น้อยอยู่บนเนินเขาโดยเฉพาะเนินหมายเลข ๓ ของคณะศึกษา ส่วนเนินหมายเลข ๑ หรือเนินแรก เคบพบมโหระทึกใบใหญ่และใบเล็กอยู่ใกล้กับแนวคันดิน และชาวบ้านกล่าวว่าพบหลุมฝังศพแบบเหยียดยาวอยู่ในบริเวณนี้ด้วย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะพบว่าในช่วงที่เขาสามแก้วเป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญเพื่อแลกเปลี่ยนและค้าขายอยู่นั้น ผู้คนมีทั้งที่ประกอบพิธีทำศพแบบเผาแล้วเก็บอัฐิธาตุใส่หม้อกระดูก ร่วมกับผู้คนที่มีพิธีกรรมในการใช้มโหระทึกสำหรับตีในงานพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์รวมทั้งการฝังศพด้วย ซึ่งเป็นการแยกกลุ่มคนได้ค่อนข้างชัด 

พบบ่อน้ำที่เชิงเนินเขาที่ ๒ หนึ่งแห่ง ลึกราว ๓ เมตร ปากบ่อกว้างราว ๙๐-๙๕ ซม. มีหินกรวดเล็กๆ ถมรอบขอบปากบ่อ ค่าอายุได้ราว 4th-3rd BC. และบริเวณปลายเนินเริ่มจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเนินเขาที่สองและบริเวณเนินเขาที่หนึ่งในจุดที่ใกล้เคียงกันและมีขนาดเล็กๆ ผู้ศึกษากล่าวว่าเป็นพื้นที่ผลิตลูกปัดแก้วเป็นส่วนใหญ่รวมทั้งหินกึ่งรัตนชาติที่พบบางชิ้นและขยายตามแนวชายเนินไปจนจรดด้านทิศเหนือของเนิน เป็นหินคาร์นีเลียนเสีย ๘๐ % ที่เหลือคือโมรา อมีทิสต์ การ์เนต เขี้ยวหนุมาณ ส่วนเนินที่ ๓ และ ๔ พบการทำลูกปัดจากหินกึ่งหยกคือเนฟไฟต์และไมกาเขียว ซึ่งเนฟไฟต์แหล่งกำเนิดนั้นนำมาจากไต้หวัน ส่วนไมกาเขียวมีแหล่งกำเนิดจากฟิลิปปินส์ ส่วนเศษขี้แร่จากการถลุงโลหะก็พบอยู่ทั่วไปในชั้นดินแทบจะทุกหลุมขุดทดสอบ 

ลูกปัดทำจากหินกึ่งรัตนชาติต่างๆ ที่มีแหล่งกำเนิดนอกคาบสมุทร น่าจะนำเข้ามาเพื่อให้กลุ่มช่างฝีมือกลุ่มใหญ่นอกอนุทวีปผลิตที่เขาสามแก้ว และน่าสังเกตว่า ลูกปัดรูปสัตว์ขนาดเล็กๆ นี้ไม่ใช่สัตว์มงคลในทางพุทธศาสนา แต่อาจจะเป็นสัตว์ประจำตระกูลในลักษณะ Totemism หรือในบางชิ้นน่าจะใช้สำหรับกลุ่มคนพื้นเมืองหรือชาวหมู่เกาะ ซึ่งเป็นไปได้มากเพราะมีการติดต่อกับชาวเรือจากหมู่เกาะนักเดินทางที่นำสินค้ามาแลกเปลี่ยนดังที่พบหลักฐานปรากฎอยู่

เศษภาชนะที่พบผู้ศึกษาแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มคือ เศษภาชนะที่นำเข้าจากแดนไกล ได้แก่ กลุ่มภาชนะเนื้อดีสีดำและแดง [Fine ware] ซึ่งอาจจะเป็นแบบอินเดีย [NBPW] หรืออาจจะมีเทคนิคจากท้องถิ่นที่เข้ามาผสมก็ได้ เศษภาชนะในจีนในราชวงศ์ฮั่น ซึ่งพบว่าในพื้นที่ใกล้เคียงมีเศษภาชนะที่กดลายประทับด้วย เศษภาชนะที่สัมพันธ์กับทางชายฝั่งและหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ที่มีลวดลายกดจุดและขีดเป็นลายคลื่น ซึ่งสัมพันธ์กับเศษภาชนะในฟิลิปปินส์ที่คาลานาย ซึ่งมีการศึกษาว่าอาจจะได้รับแรงบันดาลใจในลวดลายจากภาชนะแบบวัฒนธรรมซ่าหวิงห์จึงเรียกทั่วไปว่ากลุ่มซ่าหวิงห์-คาลานาย [Sa Huynh-Kalanay] ถือว่ามีประมาณ ๒๕ % ของเศษภาชนะที่ได้จากหลุมขุดค้น ส่วนที่เหลือเป็นเศษภาชนะที่ผลิตในท้องถิ่น

สิ่งค้นพบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการศึกษาทางโบราณคดีนี้คือ การพบรูปแบบพิธีกรรมการฝังศพ ๔ จุด กล่าวว่าน่าจะอยู่ร่วมกับพื้นที่อยู่อาศัยทั้งหมดใส่อยู่ในหม้อกระดูกที่มีการเผามาก่อน ๒ จุดที่หาค่าอายุไม่ได้ จุดหนึ่งค่าอายุในช่วง 4th BC. ในร่องหุบเขาที่ ๓ เป็นกระดูกชิ้นกระโหลกศรีษะของเด็กอายุ ๑๑-๑๕ ปี และทารกไม่เกิน ๒ ปี อีกจุดหนึ่งบริเวณเชิงเขาที่ ๑ ค่าอายุไกลไปถึง 5th-7th BC. และยังสันนิษฐานเพิ่มเติมอีกว่า ดูเหมือนทางฝั่งตะวันออกของเนินเขาที่ ๒ น่าจะเป็นพื้นที่การฝังหม้อกระดูกที่ผ่านการเผาแล้ว พบวัตถุสิ่งของที่มีค่าอบู่ใกล้เคียงและพบหม้อที่มีเถ้ากระดูกอย่างเดียวบ้างซึ่งบางครั้งก็มีเครื่องประดับชิ้นเล็กชิ้นน้อยแบบสูงค่าร่วมใส่ในภาชนะประเภทนี้ด้วย ซึ่งก็คล้ายคลึงกับคำบอกเล่าของชาวบ้านในละแวกนั้นที่สันนิษฐานว่าบริเวณเนินเขาที่สองซึ่งไม่ใช่เนินเขาสูงและควรเป็นเนินเขาเดียวกับเนินที่สามนั้นพบหม้อใส่เถ้ากระดูกและสิ่งของชิ้นเล็ก เช่น ลูกปัดต่างๆ ที่ประณีตสวยงามกว่าพื้นที่อื่นๆ เช่นกลุ่มที่เป็นลูกปัดแบบตราประทับ Intaglio และแบบ Cameo ตราสัญลักษณ์ เช่น ตรีรัตนะ ศรีวัตสะ สวัสติกะ หรือพวกสัตว์ เช่น สิงโต เสือ กบ นกยูง เต่า ฯลฯ ส่วนลูกปัดชนิดอื่นๆ ที่เหลือคณะศึกษากล่าวว่าเป็นของพื้นเมืองทำหยาบๆ พบได้ตามแหล่งโบราณคดีในภาคกลางหรือแถวเนินอุโลก

แต่จากการบอกเล่าและเหลือร่องรอยเป็นเพียงอิฐดินเผารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเนื้อแน่นค่อนข้างแกร่งขนาดใหญ่ราว ๓๐x๑๘x๖ ซม. ซึ่งพบบนยอดเนินที่ ๔ หรือเนินสุดท้าย ด้านในคือผงฝุ่นจำนวนมาก กองเนินอิฐนี้ก่อคลุมอยู่ บริเวณนี้พบลูกปัดแบบโมเสคที่เป็นใบหน้าผู้หญิง และพบก้อนหินกลมเกลี้ยงขนาดใหญ่มีสีแทรกไม่ทราบว่าทำด้วยวิธีใด และมีอักษรพราหมีที่ยังสันนิษฐานไม่ได้ชัดเจน รวมทั้งมโหระทึกสำริดแบบดงเซิน ซึ่งหากกองอิฐนี้เป็นศาสนาสถานหรือที่เก็บธาตุฝุ่นและกระดูกของผู้เสียชีวิต ที่มีลูกปัดแบบโมเสคอยู่ร่วมด้วยก็สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างของเขาสามแก้วที่มีอายุยุคเดียวกับทางคลองท่อม ตะกั่วป่า และไชยา ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ ได้ด้วย

พบว่ามีการบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก มีข้าวฟ่างหางกระรอกหรือข้าวฟ่างหางหมาซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้นกำเนิดมาจากเอเชียใต้ รวมทั้งถั่วเขียวและดีปลี 

มีการถลุงโลหะทองแดงเพื่อทำสำริดเพราะพบเบ้าหลอม ส่วนการทำเหล็กพบเพียงเศษเหล็กหยาบๆ ที่เป็นการตีง่ายๆ และกล่าวว่าคงรับมาจากอินเดียตั้งนานมาแล้ว

ข้อมูลของการกำหนดอายุใช้วิธีกำหนดจากค่าไอโซโทป Carbon-14 และค่า AMS จำนวน ๑๕ ตัวอย่าง กำหนดได้ตั้งแต่ [late 5th-2nd BC.] และค่า Radiometric dating กำหนดได้ ๒ ช่วงอายุ คือ [6th -1st BC.] และช่วงที่มีการอยู่อาศัยมากที่สุดคือ [4th BC.-2nd AD.] และเศษภาชนะที่ขุดค้นได้เป็นเศษภาพชนะจากแดนไกลราวๆ ๒๐ % นอกจากนั้นเป็นภาชนะเนื้อดินธรรมดา

คณะวิจัยโดยเฉพาะเบเลนิส เบลิน่ากล่าวโดยสรุปว่า เขาสามแก้วคือต้นทางของเมืองในระดับสากลที่ต่อมาเรียกว่าเป็นเมืองท่า [Port city] ที่ปรากฏอยู่ทางแถบทะเลจีนใต้  ชุมชนที่เขาสามแก้วเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒–๕ และโดดเด่นอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕-๗ ในช่วงที่การเดินทางอ้อมแหลมมะละกายังไม่พัฒนาใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรและเป็นพื้นที่ผลิตระดับอุตสาหกรรม มีความเป็นชุมชนนานาชาติที่ผสมผสานทั้งช่างฝีมือผู้ชำนาญทั้งศิลปะและเทคโนโลยี มีเครือข่ายเชื่อมโยงในทะเลจีนใต้ การตั้งถิ่นฐานและการสร้างกำแพงล้อมรอบที่เขาสามแก้วทำให้เป็นศูนย์กลางการค้าในระดับนครรัฐแต่จะเป็นนครเดี่ยวหรือมีเครือข่ายก็ยังไม่ชัดเจน ก่อนลดบทบาทลงเมื่อศูนย์กลางไปอยู่แถบท่าชนะและไชยา

จะเห็นได้ว่าเป็นข้อสรุปที่ค่อนข้างรวบรัดและมุ่งเน้นให้ความสำคัญของการสร้างแนวคันดินและกำแพงโดยนำไปเปรียบเทียบกับเมืองในยุคสำริดที่มีป้อมปราการขนาดใหญ่มากที่โก๋ลวา [Go Val] ในฮานอย 

เท่าที่พอเข้าใจข้อสรุปของคณะคือ เป็นชุมชนของคนในท้องถิ่นที่อาจจะเลียนแบบโมเดลโครงสร้างทางสังคมแบบอินเดียและมีกลุ่มผู้อยู่อาศัยนานาชาติในระดับเมืองขนาดใหญ่เป็นต้นแบบให้กับพัฒนาการเป็นเมืองท่าชายฝั่งทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภาคพื้นทวีป คาบสมุทร และหมู่เกาะทีเดียว  

เส้นทางเดินเรือจากโอริสสาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๕. ในจุดที่โลกจากอ่าวเบงกอลและทะเลจีนใต้พบกัน 

เครือข่ายเส้นทางการค้าและความเชื่อสู่พัฒนาการของรัฐแรกเริ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

จากหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่กล่าวมาข้างต้น สามารถกำหนดออกได้เป็น ๒ ช่วงเวลาคือ  

๑. ราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๘ การค้าจากอนุทวีปปรากฎชัดที่เมืองท่าทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของคาบสมุทรสยาม เพราะดินแดนแห่งนี้เป็นแหล่งฐานทรัพยากรทางธรรมชาติจำนวนมาก มีทั้งแร่ดีบุกมหาศาลในระดับโลก แร่ตะกั่ว แร่อื่นๆ ที่ใช้เป็นโลหะผสมหล่อขึ้นรูป แม้จะไม่พบทองแดง แต่บริเวณพื้นที่ภาคกลางในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งทองแดงจำนวนมากและพบชุมชนที่ผลิตทองแดงอาจจะอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวหรือก่อนหน้าช่วงเวลาเหล่านี้ แร่เหล็กเพื่อการตีขึ้นรูปทำเครื่องมือกสิกรรม แร่ทองคำที่เป็นแร่มีมูลค่าสูงสุดแล้วในยุคสมัยนี้ เห็นได้ชัดจากแหล่งที่คลองท่อม ซึ่งอยู่ถัดจากชายฝั่งเข้าไปใกล้กับแนวเทือกเขา ที่เป็นแหล่งผลิตดีบุกและตะกั่วและแร่อื่นๆ โดยเฉพาะดีบุกและตะกั่วนั้นพบว่ามีก้อนโลหะที่ถลุงแล้ว [Ingot] ในรูปแบบต่างๆ จำนวนมากทั้งยังมีตราประทับระบุผู้ผลิตในบางก้อนอีกด้วย และทรัพยากรจากป่าเขาดิบชื้นที่มีเครื่องเทศหรือสมุนไพรหายากที่ใช้ทำยารักษาโรคและการบริโภค ตลอดจนชายฝั่งทะเลที่มีหอยมุกอันเป็นเครื่องประดับสำหรับชนชั้นสูง ในยุคสมัยที่โลกกำลังแสวงหาแหล่งทรัพยากรและสร้างฐานการผลิตโดยช่างฝีมือในสังคมที่ซับซ้อนและต้องการสิ่งของประณีตเพื่อเสริมสถานภาพทางสังคมที่ทางอนุทวีปอินเดียใช้ระบบราชามหากษัตริย์ [Kingship] และเข้าสู่สังคมของความเป็นเมืองที่มีชนชั้นและโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนแล้ว แต่ทางคาบสมุทรสยามที่เป็นสถานีการค้าหรือเมืองขนาดใหญ่ที่เป็นทั้งแหล่งผลิตและที่อยู่อาศัยนี้ยังไม่เห็นร่องรอยของการเป็นเมืองหรือนครรัฐชัดเจน ผู้ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นช่างฝีมือที่น่าจะมาจากแดนไกล ส่วนชนท้องถิ่นอาจจะเป็นแรงงานขนส่งสินค้าข้ามคาบสมุทรเป็นสำคัญ 

เมื่อการเดินเรือเลียบชายฝั่งมาจากอ่าวเบงกอลผ่านบังคลาเทศและตัดข้ามอ่าวเมาะตะมะสู่คาบสมุทร หรือหากมาทางตอนเหนือตัดข้ามอ่าวแล้วแวะพักที่หมู่เกาะกลางอ่าวเบงกอล หรือหากเป็นเมืองท่าชายฝั่งทางใต้หรือเกาะศรีลังกาก็ตัดข้ามอ่าวเบงกอลมาโดยตรง โดยแวะพักที่หมู่เกาะนิโคบาร์หรือเกาะอันดามัน แม้สามารถเดินทางตัดตรงเข้าสู่ชายฝั่งบริเวณเมืองทวายในปัจจุบันได้แต่ก็ไม่พบการเป็นพื้นที่แหล่งผลิตในช่วงหลังพุทธกาลเช่นทางคอคอดกระเป็นเพียงชุมชนที่เป็นรัฐเกี่ยวเนื่องกับยุคสมัยพยู [Pyu period] ราวพุทธศตวรรษที่ ๘ เป็นอย่างสูง 

แต่ใช้การเดินเรือสู่เมืองท่าชายฝั่งอันดามันที่แถบอ่าวหนูและลำน้ำหนู ผ่านทางสถานีการค้าและแหล่งผลิตที่เป็นฐานการผลิตของพ่อค้าชาวอินเดียที่เขมายี้สู่ลำน้ำเขมายี้และเข้าสู่ลำน้ำกระเพื่อใช้เส้นทางลำน้ำหลีกข้ามสันปันน้ำลงสู่คลองชุมพรหรือเดินบกข้ามแนวสันเขาเตี้ยๆ สู่คลองรับร่อและคลองท่าตะเภา เดินทางสู่เมืองท่าภายในบริเวณเขาสามแก้วที่เป็นสถานีการค้าขนาดใหญ่ อันเป็นทั้งแหล่งผลิตวัตถุดิบ แหล่งผลิตสินค้า เช่นเครื่องประดับจากหินกึ่งรัตนชาติและเครื่องทอง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ามีการอยู่อาศัยที่เขาสามแก้วอยู่นับร้อยปี แต่เราไม่เห็นความสัมพันธ์ของผู้คนในฐานที่จะสร้างความเป็นเมืองแบบท้องถิ่นหรือเริ่มมีระบบความเชื่อที่ตั้งหลักปักฐานหรือโครงสร้างทางสังคมในประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายให้เห็นชัดเจนในระดับของความเป็นเมือง [Urbanism] แต่อย่างใด 

แต่สถานีการค้าในระดับเมืองท่าที่เขาสามแก้วนี้แตกต่างจากที่คลองท่อมที่ต้องถือว่าเป็นสถานีและแหล่งผลิตสำคัญทางฝั่งอันดามันที่มีขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่าที่เขาสามแก้วแต่ไม่ได้ตั้งอยู่ในจุดที่เป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรสำคัญเช่นคอคอดกระ ถือได้ว่าคลองท่อมเป็นสถานีการค้าหรือเมืองท่าขนาดใหญ่ที่ผลิตสินค้าพวกลูกปัดแก้วและหินจำนวนมากและต่อเนื่องยาวนานกว่าทางแถบคอคอดกระ ไม่ว่าจะที่เขมายี้ ภูเขาทอง กระบุรี เขาสามแก้ว เขาเสก ซึ่งเป็นชุมชนที่ต่อเนื่องอยู่ในเส้นทางคอคอดกระในจุดที่การเดินทางสะดวกที่สุดในคาบสมุทรสยาม-มลายู

เขาสามแก้วถือได้ว่าเป็นสถานีการค้าและการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณอ่าวเบงกอลต่อเนื่องกับทะเลจีนใต้ที่ไม่ต้องเดินเรืออ้อมแหลมมะละกา และเห็นร่องรอยการติดต่อของผู้คนจากบ้านเมืองโพ้นทะเลทั้งทางฝั่งอนุทวีปและทางหมู่เกาะและชายฝั่งไปถึงจีนตอนใต้ ซึ่งอยู่ในเส้นทางการค้าในสมัยราชวงศ์ฮั่นต่อกับอินเดียที่มีการค้าและติดต่อเกี่ยวเนื่องอยู่กับทางทะเลแดงต่อทะเลอาราเบียและชายฝั่งแอฟริกาอยู่แล้ว

เราสามารถกล่าวได้ว่า ร่องรอยของพุทธศาสนาที่มาพร้อมกับพ่อค้าและนักเดินทางในยุคนี้ คือร่องรอยของการค้าแร่ธาตุต่างๆ ส่งออกจากแผ่นดินที่เรียกว่าสุวรรณภูมิหรือแหลมทองในบันทึกความทรงจำต่อมา (โปรดดูรายละเอียดเรื่องราวบทบาทของพ่อค้าและสมาคมพ่อค้าในอนุทวีปใน ธิดา สารยา. ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย, ๒๕๕๕)

เขาสามแก้วเป็นเมืองท่าการค้าที่ใหญ่กว่าสถานีทางการค้าอื่นๆ ในคอคอดกระและชุมชนที่อยู่ริมฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เป็นสถานีเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าจากพ่อค้าและนักเดินทางทางทะเล [Sea farers] ที่คงจะเป็นชาวออสโตรนีเชียนจากหมู่เกาะในฟิลิปปินส์และเกาะไต้หวัน ชาวจามทางเวียดนามหรือพ่อค้านักเดินเรือ ชาวจีนใต้จากราชวงศ์ฮั่นล้วนเคยมาทำการค้าและแวะพักก่อนจะใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรในจุดที่แคบที่สุดนี้เป็นทางผ่านเพื่อลดเวลาการเดินทาง 

ในขณะเดียวกันเส้นทางข้ามคาบสมุทรในเส้นทางอื่นๆ ก็ยังใช้ติดต่อกัน เช่นทางเขาเสกผ่านลำน้ำหลังสวนสู่พะโต๊ะแผ่นดินภายในลงสู่ลุ่มน้ำตาปีและฝั่งอันดามันภูเขาทองและคลองบางกล้วย หรือทางท่าชนะผ่านเขาทะลุสู่ละอุ่นและกะเปอร์ฝั่งอันดามัน ซึ่งล้วนต้องผ่านชุมชนในเทือกเขาที่มีกลุ่มผู้คนท้องถิ่นที่มีสังคมแบบดั้งเดิมที่ยังมีพิธีกรรมฝังศพนิยมใช้ภาชนะเด่นคือหม้อสามขาและแลกเปลี่ยนสินค้าจากทางชายฝั่งด้วยทรัพยากรภายในของตน รวมทั้งอาจจะเป็นแรงงานสำหรับการขนส่งสินค้าในการเดินทางข้ามคาบสมุทรแต่ละเส้นทางด้วย  

เขาทะลุ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งพบชุมชนภายในที่ใช้พิธีกรรมการฝังศพบริเวณเพิงผาหน้าถ้ำ และมักพบร่วมกับภาชนะสามขาและลูกปัดที่กล่าวกันว่าเป็นลูกปัดแก้วและหินกึ่งรัตนชาติเช่นที่พบจากแหล่งผลิตบริเวณชายฝั่ง

๒. ราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๑๑ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ มีร่องรอยของพ่อค้าและนักเดินทางจากทางเมดิเตอร์เรเนียนเดินทางเข้าสู่ตะวันออกทางแผ่นดินใหญ่จีนโดยผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยตนเอง เช่น การพบเหรียญกษาปณ์รูปกษัตริย์วิคโตรินุสจากโรมันที่อู่ทอง หลังจากก่อนหน้านั้นเข้ามาเพียงอนุทวีปอินเดีย ซึ่งทำให้มีการทำเหรียญกษาปณ์จำลองจนผลิตเลียนแบบเช่นที่พบแหล่งการผลิตที่คลองท่อม ซึ่งกลายเป็นทั้งเมืองสถานีการค้าใหญ่รวมทั้งแหล่งผลิตที่ต่อเนื่องยาวนานกว่าที่เขาสามแก้วและกลุ่มภูเขาทอง พบเหรียญโลหะส่วนใหญ่ทำด้วยดีบุกและทองคำ การหลอมดีบุกที่เป็นก้อน [Ingot] และมีตราประทับสัญลักษณ์ต่างๆ  ทำให้เห็นว่ามีการถลุงดีบุกเพื่อการค้าส่งออกด้วย เครื่องประดับทำด้วยดีบุก สำริด และทองคำ เช่น กำไล ตุ้มหู พ่อค้าชาวอินเดียและพวกช่างทองจะเดินทางไปยังสยามเพื่อเสาะหาแร่ทองคำเพื่อนำมาทำทองรูปพรรณ แร่ดีบุก ตะกั่ว และอื่นๆ คาบสมุทรสยามถือว่าเป็นดินแดนแห่งแร่ธาตุหรือสุวรรณภูมิอย่างชัดเจนที่สุดในยุคนี้

จากนั้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ แผ่นดินภายในก็เกิดการก่อรูปของสหพันธรัฐทวารวดีเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่และเป็นเมืองท่าภายใน เช่น เมืองนครปฐมโบราณ เมืองอู่ทอง เมืองศรีมโหสถ เมืองศรีเทพ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมืองนครปฐมโบราณนั้นศาสนสถานแทบทั้งหมดคือเมืองพุทธศาสนา ในขณะที่เมืองอื่นๆ ที่ร่องรอยของศาสนสถานฮินดูแบบเก่าที่รับโดยตรงจากอนุทวีปโดยไม่ผ่านสหพันธรัฐฮินดูจากเขมรและบ้านเมืองทางสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

น่าพึงพอใจว่าการศึกษาเท่าที่ประมวลมานี้ ทำให้เห็นหลักฐานชัดเจนมากขึ้นกว่าเมื่อราว ๒๐ ปีที่ผ่านมา เพราะพบร่องรอยเครือข่ายทางการค้าและศาสนาระหว่างคาบสมุทรสยามและบ้านเมืองในอนุทวีปชายฝั่งอ่าวเบงกอลตั้งแต่ตอนเหนือถึงตอนใต้ ซึ่งน่าจะเริ่มในช่วงราชวงศ์โมริยะ [Maurya] ราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ และช่วงที่ติดต่อสูงสุดของการผลิตและการค้าอยู่ระหว่างราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะ ในแถบอินเดียตะวันออกตอนเหนือราวพุทธศตวรรษที่ ๔-๗ และราชวงศ์สาตวาหานะในอานธรประเทศตอนใต้และอินเดียตอนกลางราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๔-๘ เป็นการเชื่อมต่อการค้าข้ามภูมิภาคอย่างน้อยตั้งแต่ยุคเหล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งร่วมสมัยกับในระหว่างวัฒนธรรมดงเซิน [Dong Son] ตอนปลายในเวียดนามตอนเหนือและตอนกลางและวัฒนธรรมแบบซ่าหวิงก์ [Sa hyunh] ทางเวียดนามตอนกลางและตอนใต้ กลุ่มผู้ผลิตหินกึ่งรัตนชาติหยกไต้หวัน [Nephrite] จากเกาะไต้หวัน รวมถึงวัฒนธรรมแบบชาวหมู่เกาะที่มีลวดลายเครื่องปั้นดินเผาแบบคาลานาย [Kalanay] จากหมู่เกาะฟิลิปปินส์ อาทิ มโหระทึกสำริด เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องประดับที่มีต้นทางจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ ต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีอายุโดยรวมในราวพุทธศตวรรษที่ ๑-๗

จะเห็นว่าในช่วงต้นพุทธกาลคลื่นแห่งการแสวงหาทรัพยากรและเครือข่ายทางการค้าแลกเปลี่ยนจากอนุทวีป เริ่มเข้ามาเชื่อมต่อกับดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเข้มข้นแล้ว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเผยแพร่พุทธศาสนาจากทางเมืองท่าและเมืองศูนย์กลางทางพุทธศาสนาที่อยู่ในบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกันแถบชายฝั่งอ่าวเบงกอล จากโบราณวัตถุที่คล้ายกันและเป็นเอกลักษณ์เด่นของชุมชนที่นับถือพุทธศาสนาระยะต้นพุทธกาลที่เด่นชัดเช่น ชิ้นส่วนของภาชนะดินเผาแบบลายกดประทับเป็นรอยขีดแบบสม่ำเสมอ [Rouletted wares] แบบเนื้อละเอียดสีดำแดง [Fine wares] แบบสีดำขัดมัน [Northen black polished wares] ภาชนะสำริด-ดินเผาแบบมีปุ่มด้านใน [Knobbed wares] ลูกปัดและเครื่องประดับในระบบสัญลักษณ์ทางศาสนาและจากเส้นทางการค้ากรีก-โรมันทำจากหินและรัตนชาติ ซึ่งพบตามแหล่งโบราณคดีที่เป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนารวมถึงเมืองท่าตามชายฝั่งทั้งอันดามันและอ่าวไทยในคาบสมุทรสยาม 

รวมทั้งการพบลูกปัดหรือเครื่องประดับที่เกี่ยวเนื่องกับสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาที่พบเป็นจำนวนมาก เช่น ตรีรัตนะ ศรีวัตสะ สวัสติกะ พระจันทร์เสี้ยว กลีบดอกไม้ ดอกบัว สิงห์โต ปลาคู่ สังข์ อังกุศ จามร คทา ดาบวัชระ ตรีศูล ฯลฯ ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ปรากฎที่สถูปทางพุทธศาสนา เช่น ที่สาญจี ปารหุต อมราวดี และรอยพระพุทธบาทสัญลักษณ์เหล่านี้โดยพื้นฐานคือมงคล ๘ ประการที่พัฒนามาเป็นมงคล ๑๐๘ ประการ และตามที่เราคุ้นเคยจากรอยพระพุทธบาทต่อมา แม้ในรากฐานจะเป็นการใช้ร่วมกันในทุกศาสนาทั้งฮินดู เชน และพุทธ แต่ก็เห็นว่าที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องทางพุทธศานสนาที่วัฒนธรรมในระบบสัญลักษณ์เพื่อการประดับนี้ เดินทางมาพร้อมกับพ่อค้าและนักเดินทางจากศูนย์กลางทางความเชื่อในเมืองท่าทางพุทธศาสนาอย่างสำคัญ และสามารถยืนยันมากไปกว่านี้คือ ระบบสัญลักษณ์เหล่านี้ถูกผลิตขึ้นที่คาบสมุทรสยามเพื่อส่งออกเป็นสินค้าในดินแดนที่รับพุทธศาสนาด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่าในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์โมริยะทรงส่งสมณทูตไปเผยแพร่พุทธศาสนาโดยแบ่งเป็น ๙ สาย สายที่ ๘ มาเผยแพร่ที่ “สุวรรณภูมิ” โดยพระโสณะและพระอุตระเป็นสมณทูต น่าจะโดยสารกองเรือที่มีภารกิจในการเผยแพร่ศาสนาความเชื่อไปสู่บ้านเมืองต่างๆ ตามบันทึกเรื่องมหาวงศ์เป็นเหตุการณ์ยุคต้นของศรีลังกาที่นำเอาคำบอกเล่า พงศาวดารและตำราวัดต่างๆ มาเขียนขึ้นใหม่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๕ อันเป็นช่วงพ้นสมัยไปจากยุคพระเจ้าอโศกฯ แต่มีหลักฐานจารึกตราประทับอักษรพราหมี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๓ พบที่อนุราธปุระโดยพ่อค้าชาวทมิฬก็คือชาวเรือผู้สร้างพระสถูปบรรจุเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าในดินแดนที่พวกเขาต้องการมาทำการค้า เขียนว่า ถ้ำแห่งผู้ครอบครอง วิสาขา, พ่อค้าชาวทมิฬ, ถ้ำนี้สำหรับพระสงฆ์ในพุทธศาสนา แต่ในประเทศไทยนักวิชาการไทยบางส่วนยังเห็นว่าเรื่องราวในมหาวงศ์นี้เป็นเรื่องแต่งขึ้นภายหลังและไม่ให้น้ำหนักแก่การเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่ามีสมณทูตจากอนุทวีปมาเผยแพร่พุทธศาสนายังสุวรรณภูมิเพราะมหาวงศ์เป็นเรื่องแต่งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๕ เท่านั้น

นักวิชาการชาวอินเดียให้ข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาวทมิฬและดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานทั้งทางความเชื่อศาสนา การค้า และวัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อเกิดศรีวิชัยก็ยังเพิ่มในเรื่องการเมืองเข้าไปอีก เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มสมาคมพ่อค้าจากทมิฬกัมหรือแผ่นดินของชาวทมิฬ [Tamilakam] ที่รวมเอาพื้นที่เกรราลาและบางส่วนของคาร์นาตากะและอานธรประเทศที่ไปตั้งมั่นอยู่ในเมืองท่าการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทางจีนตอนใต้อยู่หลายกลุ่มซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการเผยแพร่พุทธศาสนาในรัฐทมิฬนาดูและนอกอินเดีย [Duraiswamy Dayalan, Interaction between Tamilagam and Southeast Asia Perspective, Archaeological survey of India]  

และยังให้ข้อมูลต่อว่าเป็นธรรมเนียมที่พุทธสถานตามเมืองสำคัญและเมืองท่าต่างๆ มักได้รับการอุปถัมภ์จากชุมชนและสมาคมพ่อค้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าหรือกษัตริย์จากต่างแดนที่เข้ามาติดต่อการค้ายังอนุทวีป เช่น กรณีวิหารทางพุทธศาสนาที่อุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห่งศรีลังกา และกษัตริย์ไศเลนทรจากศรีวิชัยซึ่งเชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มสมาคมพ่อค้าชาวทมิฬ จนถึงสมาคมพ่อค้าชาวฮินดูในช่วงหลังที่ปรากฎจากจารึกเขาพระนารายณ์เมืองตะกั่วป่ากล่าวถึง Manigramam (มณิคราม) ที่เป็นกลุ่มพ่อค้าสำคัญจากทมิฬนาดูและเกรลาร่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๙

สุนิล คุปตะ นักวิชาการชาวอินเดีย [Sunil Gupta. The bay of Bengal interaction sphere (1000 BC–AD 500)]เสนอแนวคิดที่น่าสนใจเพราะสะท้อนให้เห็นปัญหาในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศว่า การใช้วิธีศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะโดยเชื่อมโยงศิลปะเข้ากับการเมืองได้สร้างความคิดเบ็ดเสร็จว่า รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อมีผู้ย้ายถิ่นในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ แต่ทฤษฎีเรื่องการค้าระหว่างอนุทวีปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เน้นเรื่องกระบวนการ Indianization แต่เป็นผลมาจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการค้าและศาสนาซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ต้องการการศึกษาเชิงพื้นที่ในช่วงเวลาต่างๆ อย่างละเอียดมากขึ้น… 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นเพียงการส่งผ่านมาทางอุดมคติทางการเมืองและวัฒนธรรมสู่ชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาว่าชุมชนท้องถิ่นจะพัฒนาการเป็นรัฐซับซ้อนขึ้นมาได้จากการค้าลูกปัดหรือเครื่องทองชิ้นเล็กๆ กลายมาเป็นรูปเคารพและศาสนสถาน การก่อสร้างที่ใหญ่โตและโครงสร้างสังคมอันซับซ้อน และเห็นได้ชัดการศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในเมืองไทยยังยึดติดตามเพดานแรกรับศาสนาพุทธไว้ที่ยุคสมัยแบบทวารวดีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ช่วงราชวงศ์คุปตะและหลังคุปตะเป็นต้นมา

แต่การค้นพบเหล่านี้ทำให้ต้องพิจารณาใหม่ในช่วงระยะเวลารอยต่อระหว่างยุคที่เรียกว่าก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็กในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันที่ยังไม่เห็นภาพร่างในการเกิดขึ้นของรัฐขนาดใหญ่ที่นับถือพุทธศาสนาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ แต่อย่างใด เป็นไปไม่ได้เลยที่จู่ๆ จะมีรัฐหรือนครรัฐในสมัยทวารวดีเกิดขึ้นได้ทันทีโดยไม่มีพัฒนาการมาจากสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ดูจะมีความพร้อมโดยวิเคราะห์กันโดยทั่วไปว่าอยู่ในระดับรัฐแรกเริ่ม [Early states] ความพร้อมเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและมีโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างไรบ้าง ความไม่ชัดเจนเหล่านี้กำลังเริ่มคลี่คลายจากหลักฐานที่พบในช่วงหลังมานี้

บรรณานุกรม
ธิดา สาระยา. ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย. สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.
ผาสุข อินทราวุธ, “การใช้ตราประทับ (Seals) เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร,” ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๔๒.
นฤมล กางเกตุ. เครื่องประดับที่พบในแหล่งโบราณคดีภูเขาทองและบริเวณใกล้เคียง􏰂ในจังหวัดระนอง วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒ [ระบบออนไลน์, ที่มา, http://www.thapra.lib.su.ac.th/thesis/showthesis_th.asp?id=0000003880 ,เข้าถึง (4/Jan/2020)].
ศาห์นาจ ฮุสเน จาฮัน : Shahnaj Husne JAHAN. เส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างไทยและเบงกอล Maritime Trade between Thailand and Bengal. วารสารวิจิตรศิลป์ ปีที่ ๓ ฉบับท่ี ๒ กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๕[ระบบออนไลน์, ที่มา, https://www.academia.edu/38368790/Maritime_Trade_between_Thailand_and_Bengal.pdf, เข้าถึง (4/Jan/2020)].
อุเทน วงศ์สถิตย์. จารึกแผ่นทองตราประทับบ้านบางกล้วย จังหวัดระนอง : หลักฐานใหม่การค้าในคาบสมุทรมลายู [ระบบ ออนไลน์, ที่มา https://www.academia.edu/11099214/จารึกแผ_นทองตราประทับบ_านบางกล_วย_จ._ระนอง_หลักฐานใหม_การค_าในคาบสมุทรมลายู , accessed (4/Jan/2020)].
Anna Bennet. Suvanabhumi ‘Land of Gold’ in Suvanabhumi : The Golden Land, First Edition June 2019, Published by GISTDA and BIA.[On-line. Available from Internet, http://www.bradley.edu/campusorg/psiphi/DS9/ep/503r.html, accessed  (4/Jan/2020)].
Colonel Cl. E Gerini. Some unidentified toponyms in the Travels of Pedro Teixeira and Tavernier, Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland for 1904. [On-line. Available from Internet, https://ia800207.us.archive.org/8/items/journalroyalasi67irelgoog/journalroyalasi67irelgoog.pdf (4/Jan/2020)].
Bérénice Bellina. Was there a late prehistoric integrated Southeast Asian maritime space? Insight from Settlements and Industries, Bullentin of the Indo-Pacific Prehistory Association 25, 2005, (pg. 21-30)  [On-line. Available from Internet, https://www.researchgate.net/publication/323901246_6_Was_There_a_Late_Prehistoric_Integrated_Southeast_Asian_Maritime_Space_Insight_from_Settlements_and_Industries_Cultural_Transfers_in_Early_Monsoon_Asia , accessed (4/Jan/2020)].
Bérénice Bellina. Development of maritime Trade Polities and diffusion of the “South China Sea Sphere of Interaction pan-regional culture”: The Khao Sek excavations and industries’ studies contribution. Archaelogical Research in Asia, Elsevier, In press, 10.1016 [On-line. Available from Internet, https://www.researchgate.net/publication/318444180_Development_of_maritime_Trade_Polities_and_diffusion_of_the_South_China_Sea_Sphere_of_Interaction_pan-regional_culture_The_Khao_Sek_excavations_and_industries'_studies_contribution, accessed  (4/Jan/2020)].
Bérénice Bellina (ed.). Khao Sam Kaeo. An early port-city between the Indian Ocean and the South China Sea . Mémoires Archéologiques 28 . 2017. Paris: École française d’Extrême-Orient, [On-line. Available from Internet, https://www.academia.edu/33657183/Khao_Sam_Kaeo._An_Early_Port-City_between_the_Indian_Ocean_and_the_South_China_Sea._Edited_by_Bérénice_Bellina, accessed  (4/Jan/2020)].
Brigitte Borell.Gold Coins from Khlong Thom, Journal of the Siam Society 105, 2017, [On-line. Available from Internet, https://www.academia.edu/40029209/Gold_Coins_from_Khlong_Thom, accessed  (4/Jan/2020)].
Brigitte Borell. The Power of Images – Coin Portraits of Roman Emperors on Jewellery Pendants in Early Southeast Asia. ZEITSCHRIFT
FÜR ARCHÄOLOGIE AUSSEREUROPÄISCHER KULTUREN BAND 6, 2014,[On-line. Available from Internet, https://www.academia.edu/12682533/The_Power_of_Images_Coin_Portraits_of_Roman_Emperors_on_Jewellery_Pendants_in_Early_Southeast_Asia , (4/Jan/2020)].
Brigitte Borell. Gemstones in Southeast Asia and Beyond: Trade along the maritime networks, gemstone in the first Millennium AD. Mines, Trade, Workshops and  Symbolism, International Conference, October 20th - 22nd, 2015, [On-line. Available from Internet,  https://www.academia.edu/40029207/Gemstones_in_Southeast_Asia_and_Beyond_Trade_along_the_Maritime_Networks , (4/Jan/2020)].
Duraiswamy Dayalan, Interaction between Tamilagam and south-east Asia in archaeological perspective, Archaeological Survey of India, [On-line. Available from Internet, https://www.academia.edu/36115685/INTERACTION_BETWEEN_TAMILAGAM_AND_SOUTH-EAST_ASIA_IN_ARCHAEOLOGICAL_PERSPECTIVE, (4/Jan/2020)].
Duraiswamy Dayalan. Role of archaeology in the study of maritime Buddhism in India. Archaeological Survey of India, [On-line. Available from Internet, https://www.academia.edu/19992743/Role_of_Archaeology_on_Maritime_Buddhism
Duraiswamy Dayalan. Ancient seaports on the eastern coast of India: The hub of the maritime silk route network [Published in the ACTA VIA SERICA, Vol. 4. Number 1. June 2019, pp. 25-69], [On-line. Available from Internet, https://www.academia.edu/40704995/ANCIENT_SEAPORTS_ON_THE_EASTERN_COAST_OF_INDIA_THE_HUB_OF_THE_MARITIME_SILK_ROUTE_NETWORK (4/Jan/2020)].
Praon Silapanth. Knobbed Ware from Archaeological Sites in Thailand:  An evidence of Early Exchange between  South Asia and Southeast Asia, Faculty of Archaeology,  Silpakorn University, Thailand, Thammasat Review 2018, 21(1): 131-151, [On-line. Available from Internet, http://tujournals.tu.ac.th/thammasatreview/detailart.aspx?ArticleID=2245 (4/Jan/2020)].
Sila Tripati. Early Maritime Activities of Orissa on the East Coast of India:Linkages in Trade and Cultural Developments , Marine Archaeology Centre, National Institute of Oceanography, Man and Environment XXVII (1) - 2002, [On-line. Available from Internet, https://www.academia.edu/24623858/Early_maritime_activities_of_Orissa_on_the_east_coast_of_India_Linkages_in_trade_and_cultural_development (4/Jan/2020)].
Sila Tripati. Management of Ports and Maritime Trade of Orissa and Andhra Pradesh during the Historical Period, Marine Archaeology Centre National Institute of Oceanography Council of Scientific & Industrial Research Dona Paula, Goa 403 004, India.Man Environ., vol.34 (2) ; 2009; 77-90, [On-line. Available from Internet, https://www.academia.edu/24623859/Management_of_ports_and_maritime_trade_of_Orissa_and_Andhra_Pradesh_during_the_historical_period, (4/Jan/2020)].
Sila Tripati and L. N. Raut. Monsoon wind and maritime trade: a case study of historical evidence from Orissa, India [from CURRENT SCIENCE, Vol. 90, No. 6, 25 March 2006], [On-line. Available from Internet, https://www.researchgate.net/publication/27666817_Monsoon_wind_and_maritime_trade_A_case_study_of_historical_evidence_from_Orissa_India, (4/Jan/2020)].
Sila Tripati, Sunil Kumar Patnaik and Gopal Charan Pradhan. Maritime Trade Contacts of Odisha, East Coast of India, with the Roman World: An Appraisal, Chapter 9 From Imperial Rome, Indian Ocean Regions and Muziris, New Perspectives on Maritime Trade,  edited by K.S. Mathew. First Published 2015, [On-line. Available from Internet, https://www.researchgate.net/publication/285009602_Maritime_Trade_Contacts_of_Odisha_East_Coast_of_India_with_the_Roman_World_An_Appraisal, (4/Jan/2020)].
Sunil Gupta. The bay of Bengal interaction sphere (1000 BC–AD 500) , Allahabad Museum, Allahabad, India. [On-line. Available from Internet, https://www.academia.edu/4777021/The_Bay_of_Bengal_Interaction_Sphere_1000_BC_-_AD_500_ (4/Jan/2020)].
Hsiao-chun Hung, Kim Dung Nguyen, Peter Bellwood, and Mike T. Carson.Coastal Connectivity: Long-Term Trading Networks Across the South China Sea, Journal of Island & Coastal Archaeology, 8:384–404, 2013. [On-line. Available from Internet, https://www.researchgate.net/publication/271625536_Coastal_Connectivity_Long-Term_Trading_Networks_Across_the_South_China_Sea , (4/Jan/2020)].
Wilhelm G. Solheim II.Further Relationships of the Sa-Huynh-Kalanay Pottery Tradition, Asian Perspectives (8,1964) [On-line. Available from Internet, https://pdfs.semanticscholar.org/0496/69270d3bbafe746364ece0fb9ea1b0b791d1.pdf, (4/Jan/2020)].
Hsiao-chun Hung & Yoshiyuki Iizuka. Nephrite and Mica Industries: A Link towards the Austronesian World, III. Study of Socio-Technical Systems Stone Corpus. [On-line. Available from Internet, https://www.academia.edu/37303846/2017_Nephrite_and_Mica_Industries_A_Link_towards_the_Austronesian_World , (4/Jan/2020)].
Hsiao-chun Hung1 & Chin-yung Chao2 . Taiwan’s Early Metal Age and Southeast Asian trading systems, Antiquity Publications Ltd, 2016. [On-line. Available from Internet, http://dx.doi.org/10.15184/aqy.2016.184  https://www.academia.edu/30568698/2016_Taiwans_Early_Metal_Age_and_Southeast_Asian_trading_systems ,(4/Jan/2020)].
Hsiao-Chun Hunga, Yoshiyuki Iizukac, Peter Bellwoodd, Kim Dung Nguyene, Be´ re´ nice Bellinaf, Praon Silapanthg, Eusebio Dizonh, Rey Santiagoh, Ipoi Datani, and Jonathan H. Manton.Ancient jades map 3,000 years of prehistoric exchange in Southeast Asia, PNAS  December 11, 2007  vol. 104  no. 50, [On-line. Available from Internet, https://www.researchgate.net/publication/5800301_Ancient_jades_map_3000_years_of_prehistoric_exchange_in_Southeast_Asia , (4/Jan/2020)]. 
Y. Thongkam, W. Dhammanonda, J. Dutchaneephet, T. Kamwanna, S. Intarasiri, S. Tancharakorn, W. Tanthanuch, P. Dararutana. Characterization on mosaic glass excavated from Phu Khao Thong (Ranong), Thailand, Physics Procedia 48 (2013) 30 – 37, The XIII International Conference on the Physics of Non-Crystalline Solids, [On-line. Available from Internet, https://www.researchgate.net/publication/259166702_Characterization_on_Mosaic_Glass_Excavated_from_Phu_Khao_Thong_Ranong_Thailand , (4/Jan/2020)].