วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (เคยพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๓๙)
เริ่มมีการสำรวจพบและรายงานเป็นครั้งแรก โดยผู้ช่วยศาสตาจารย์สำรวจ อินแบน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโครงการวิจัยเรื่อง “การสำรวจสภาวะทางเทคโนโลยีเซรามิคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” พบเตาเผาโบราณจำนวน ๑๗ เตา บริเวณที่เรียกว่า หนองกุดโง้ง ใกล้บ้านดงสาร เขตตำบลนาฮี อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร (สำรวจ อินแบน, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๗ (พฤษภาคม,๒๕๓๒). )
ต่อมาผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรัตน์ วรางครัตน์ หัวหน้าศูนย์วัฒนธรรมสหวิทยาลัยอีสานเหนือ จังหวัดสกลนคร และอาจารย์นิรสัย หินสอ อาจารย์ประจำศูนย์วัฒนธรรมไทยโย้ย โรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ได้สำรวจ กลุ่มเตาบริเวณบ้านท่าแร่ ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย และเก็บรักษาเครื่องปั้นดินเผาจากกลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งรับมอบจากชาวบ้านไว้ที่โรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา
พ.ศ.๒๕๓๔ – ๒๕๓๗ ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจแหล่งโบราณคดีกลุ่มเตาในลุ่มน้ำสงคราม และทำการขุดค้นเตาเผา ๑ เตา ซึ่งอยู่ริมฝั่งน้ำสงครามบริเวณบ้านท่าแร่ และได้เผยแพร่ผลการขุดค้นและการสำรวจกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาลุ่มน้ำสงครามอย่างเป็นทางการ (รักชนก โตสุพันธ์, “แหล่งเตาลุ่มน้ำสงคราม,” ศิลปากร ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๓ (พฤษภาคม – มิถุนายน,๒๕๓๖).)
โครงการศึกษาผลกระทบด้านโบราณคดีและศิลปวัฒนธรรม โครงการน้ำสงคราม ได้ทำการสำรวจกลุ่มเตาเหล่านี้เพิ่มเติมโดยละเอียด พบจำนวนกลุ่มเตาเพิ่มขึ้น และทำการวิเคราะห์เบื้องต้น ดังรายงานต่อไปนี้
“ลักษณะโดยทั่วไปของแม่น้ำสงคราม ประกอบไปด้วยภูมิประเทศที่แตกต่างกันตลอดความยาวของลำน้ำกว่า ๔๒๐ กิโลเมตร ในส่วนแม่น้ำสงครามตอนล่าง ซึ่งมีลักษณะคดเคี้ยวไปมาบ่งชี้ถึง การเป็นที่ลุ่มน้ำท่วม ที่ระดับตลิ่งของแม่น้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับน้ำท่วมถึง ในฤดูฝนเกือบทุกปีจึงมีเขตบริเวณที่น้ำท่วมกว้างอยู่เสมอ
ดินบริเวณแม่น้ำสงคราม เป็นดินที่พัฒนามาจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่เป็นตะกอนน้ำพา (Alluvial Sediments) ซึ่งกำเนิดจากหินตะกอนที่อยู่ในกลุ่มหินโคราช ที่เป็นหินเนื้อทรายและทรายแป้ง อีกทั้งบางแห่งยังเป็นหมวดหินที่มีเกลือปนอยู่ด้วย ดังนั้น ตะกอนในลักษณะต่าง ๆ ที่เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินต้นกำเนิดเหล่านี้ ซึ่งเป็นพื้นดินบริเวณริมแม่น้ำสงครามจึงเป็นพวกดินทรายและทรายแป้งอย่างเห็นได้ชัด (กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน. การศึกษาความเหมาะสมโครงการน้ำสงคราม รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน,๒๕๓๕)) และดินลักษณะนี้ มีความเหมาะสมที่จะนำมาทำเป็นภาชนะดินเผา”
กลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม
เตาเครื่องปั้นดินเผาลุ่มน้ำสงคราม มักตั้งอยู่ริมตลิ่ง หันปากเตาสู่แม่น้ำ เมื่อเวลาผ่านไปการขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำ กัดเซาะกลุ่มเตาจนเหลือแต่โครงผนังดินส่วนหลังคาหรือส่วนพื้นเตา มีจำนวนไม่น้อยที่แทบไม่เหลือร่องรอยปรากฏให้เห็น
เตาส่วนมากที่สำรวจพบเนื่องมาจากชายตลิ่งถูกกัดเซาะ จนทำให้เห็นรูปทรงของเตาซึ่งถูกกัดเซาะไปด้วยเช่นกัน ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงกลุ่มเตาบางแห่ง กล่าวว่า เตาเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ พบเห็นร่องรอยอย่างชัดเจนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะชายตลิ่งถูกกัดเซาะไปในช่วงน้ำท่วม
กลุ่มเตาเครื่องปั้นดินเผา กระจากตัวอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำสงคราม ทั้งสองฟาก เป็นระยะทางกว่า ๙๐ กิโลเมตร (เท่าที่สำรวจพบ) ตั้งอยู่ระหว่างพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ ๑๐๓ องศา ๕๙ ลิปดา ตะวันออก และ ๑๗ องศา ๔๖ ลิปดา ๘ พิลิปดา เหนือ จนถึง ๑๐๔ องศา ๑๗ ลิปดา ๑๗ พิลิปดา ตะวันออก และ ๑๗ องศา ๔๐ ลิปดา ๑๗ พิลิปดา เหนือ บางแห่งหลงเหลือเพียงไม่กี่เตา บางแห่งหลงเหลือเป็นจำนวนมาก มีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

๑. กลุ่มเตาหนองกุดโง้ง ใกล้บ้านดงสาร ตำบลนาฮี อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
พบเตาเครื่องปั้นดินเผาจำนวน ๑๗ เตา บริเวณที่เรียกว่า หนองกุดโง้ง ห่างจากบ้านดงสารราว ๒.๕ กิโลเมตร
สภาพเตา เป็นเตาทรงประทุน (คล้ายเรือประทุน) หันปากเตาสู่แม่น้ำ ขุดลึกเข้าไปในตลิ่ง พื้นปูด้วยหินกรวดแม่น้ำจับตัวกับพื้นทราย และพังทลายเนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะชายฝั่ง เท่าที่พบส่วนท้ายของเตา มีขนาดตัดขวางราว ๒.๕ เมตร
เศษภาชนะที่พบ คือภาชนะเนื้อแกร่งใช้ความร้อนในการเผาสูง ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนเคลือบด้วยตะกรันเหล็กซึ่งให้สีน้ำตาล เป็นภาชนะประเภทไหขอบปากสูง มีทั้งเคลือบและไม่เคลือบ ลวดลายที่พบเป็นลายขูดขีดด้วยหวีไม้,ลายปั้นแปะเป็นรูปขด หรือสัญลักษณ์ของหูไห, ลายนูนเป็นเส้นพันรอบไหล่
นอกจากนี้ จากการสำรวจของ ผศ.สำรวจ อินแบน ในโครงการวิจัยเรื่อง “การสำรวจสภาวะทางเทคโนโลยีเซรามิคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” พบว่า มีภาชนะซึ่งมีรูปแบบและเทคนิควิธีการผลิตภาชนะเช่นนี้ แพร่หลายอยู่ในแถบจังหวัดสกลนคร, หนองคาย,นครพนม,อุดรธานี,ร้อยเอ็ด,มหาสารคาม,ยโสธร และอุบลราชธานี นับเป็นข้อสังเกตประการหนึ่งในการหาขอบเขตการแพร่กระจายของภาชนะจากกลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม ( สำรวจ อินแบน, ศิลปวัฒนธรรม. ๒๕๓๒)
๒. กลุ่มเตาบ้านท่าแร่ ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
เตาเครื่องปั้นดินเผาตั้งอยู่ริมตลิ่งใกล้บ้านท่าแร่ สำรวจพบจำนวน ๑๑ เตา เป็นเตาที่ขุดเข้าไปในตลิ่ง และมีสภาพพังทลายจนมองเห็นรูปร่างได้ยาก นอกจากพื้นและผนังเตาซึ่งหักพังกระจัดกระจาย
ในบริเวณนี้กรมศิลปากรได้ทำการขุดทดสอบดูรูปแบบของเตาจำนวน ๑ เตา พบว่าเป็นเตารูปประทุน หันปากเตาลงสู่แม่น้ำ มีขนาดประมาณ ๒.๕ x ๕ เมตร ผนังเตาทำจากดินเผาไฟแกร่งหนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตร พื้นเตาปูด้วยหินกรวดแม่น้ำผสมกับทรายเป็นพื้นแข็ง
เศษภาชนะที่พบมีทั้งแบบภาชนะเนื้อแกร่งสีเทาไม่เคลือบ, เคลือบสีน้ำตาล และภาชนะประเภทเนื้อดินสีส้ม (รักชนก โตสุพันธุ์, “แหล่งเตาลุ่มน้ำสงคราม,” ๒๕๓๖)
รูปทรงของภาชนะที่พบ คือ ไหขอบปากสูงขนาดใหญ่, ไหหล่อน้ำ, ชามและถ้วย ลวดลายที่พบคือลวดลายขูดขีดด้วยซี่หวี,ลายปั้นแปะรูปขด และลายนูนเป็นเส้นคาดรอบไหล่
๓. กลุ่มเตาฝั่งตรงข้ามบ้านท่าแร่ ใกล้บ้านนาทม ตำบลนาทม อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม
พบเตาอยู่บริเวณฝั่งน้ำและอยู่ลึกเข้าไปจากชายฝั่งราว ๕๐ เมตร ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ พบปล่องเตาอยู่บนยอดเนิน ๒ ปล่อง น่าจะเป็นกลุ่มเตาที่มีสภาพสมบูรณ์จำนวน ๒ เตา สภาพของเนินดินยังไม่ถูกทำลายเพราะอยู่ห่างชายตลิ่ง พ้นจากการถูกน้ำกัดเซาะ และมีวัชพืชปกคลุมเนินดินอยู่
เศษภาชนะที่พบมีลักษณะและลวดลายคล้ายกับที่พบในกลุ่มเตาที่กล่าวมาแล้ว
๔. ดงเตาไห ใกล้กลุ่มเตาหนองอ้อ ตำบลนาทม อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม
ชาวบ้านเรียกเนินดินขนาดใหญ่,ขนาดเล็ก จำนวนหลายสิบเนินนี้ว่า ดงเตาไห อยู่บนชายตลิ่ง ปกคลุมไปด้วยวัชพืชและกอไผ่ บริเวณเนินดินพบเศษภาชนะดินเผาจำนวนน้อยมาก แต่ในระยะที่ห่างออกไปพบเศษภาชนะดินเผาในปริมาณที่มากกว่า
๕. กลุ่มเตาหนองอ้อ ใกล้บ้านท่าพันโฮง ตำบลนาทม อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม
พบร่องรอยของกลุ่มเตาเรียงรายอยู่ตามริมตลิ่งจำนวน ๒๘ เตา เป็นเตาทรงประทุนที่ขุดลึกเข้าไปในตลิ่ง และถูกน้ำกัดเซาะจนพังทลาย แต่ยังคงมีร่องรอยลักษณะของเตาอย่างชัดเจน พบว่า มีก้อนศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมวางตั้ง ๒ ข้างของปากเตาคล้ายเป็นช่องใส่ไฟและกันความร้อน พื้นเอียงลาดขึ้นเล็กน้อย ผนังส่วนบนของเตาถูกน้ำกัดเซาะจนปรากฏรูปทรงเตาเป็นรูปกลม ทำให้ไม่แน่ใจว่าเรื่องรูปทรงของเตาในแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง บริเวณชายตลิ่ง บริเวณนี้ถูกน้ำกัดเซาะจนมีลักษณะชันหน้าตัด ไม่มีชายหาด ชาวบ้านกล่าวว่า กลุ่มเตาเหล่านี้เพิ่งมีการสังเกตุเห็นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ หลังจากน้ำพัดเอาดินชายตลิ่งหายไปเรื่อย ๆ กลุ่มเตาจึงปรากฏขึ้น
เศษภาชนะดินเผาที่พบ ส่วนมากมีขนาดใหญ่ รูปทรงน่าจะเป็นพวกไหขอบปากสูง และไม่พบเศษภาชนะขนาดเล็ก เศษภาชนะเป็นพวกภาชนะเนื้อแกร่งสีเทาไม่เคลือบและเคลือบสีน้ำตาล รวมถึงภาชนะเนื้อดิน ลวดลายมีลักษณะเดียวกับภาชนะในกลุ่มเตาอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังพบก้อนดินรูปลิ่ม ขนาดต่าง ๆ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “กี๋” ที่ใช้รองภาชนะในเตาไม่ให้เอียงตามความลาดของพื้นเตาในขณะที่กำลังเผา
๖. กลุ่มเตาบุ่งอีซา ใกล้บ้านท่าพันโฮง ตำบลนาทม อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม
เป็นกลุ่มเตาที่พบเนื่องจากการทำทางขึ้นลงของรถบรรทุก เพื่อลงไปที่ชายหาด ทำให้เตาจำนวน ๔ เตาถูกไถจนเหนือแต่ร่องรอยของพื้นเตาและผนังเตาบางส่วน
เศษภาชนะที่พบเป็นจำพวก ภาชนะเนื้อแกร่งสีเทาไม่เคลือบและเคลือบสีน้ำตาล รวมถึงภาชนะเนื้อดิน
๗. กลุ่มเตาปากซาง เลยปากน้ำห้วยฮีจนเกือบถึงปากน้ำห้วยซาง ตำบลซาง อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย (ในรายงานของกองโบราณคดี (ดูรายละเอียดในรักชนก โตสุพันธุ์,เล่มเดิม) กล่าวว่าเป็นกลุ่มเตาห้วยฮีที่ถูกต้องควรเป็นกลุ่มเตา “ปากซาง” เพราะบริเวณปากห้วยฮีไม่มีกลุ่มเตา ต้องเลยมาจนถึงใกล้ปากห้วยซาง)
พบร่องรอยของกลุ่มเตาจำนวน ๑๓ เตา สภาพน้ำกัดเซาะชายตลิ่งจนพัง ทำให้เห็นร่องรอยของเตาได้ เตาบางแห่งพังทลายจนเกือบหมด หลงเหลือเพียงเศษผนังเตาที่ไหลลงสู่พื้นลำน้ำ
เศษภาชนะที่พบ เป็นจำพวกภาชนะเนื้อแกร่งสีเทาไม่เคลือบ, เคลือบสีน้ำตาลและภาชนะเนื้อดิน
๘. กลุ่มเตาปากบ่อควน ใกล้บ้านนาหวายและบ้านดงเสียว ตำบลท่าก้อน อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ถ้าทวนน้ำขึ้นมาตามแม่น้ำสงครามจากบ้านท่าพันโฮงเป็นระยะทางน้ำราว ๕ กิโลเมตร บริเวณที่พบกลุ่มเตามีลักษณะเป็นเกาะ มีลำห้วยล้อมรอบ เนินขนาดใหญ่รอบ ๆ เป็นเนินใช้ปลูกสับประรดเป็นไร่ใหญ่ และถูกปรับไถพื้นที่แล้ว ชาวบ้านเล่าว่า มีกลุ่มเตาบางส่วนที่ถูกปรับไถจนไม่เหลือร่องรอยซึ่งอยู่ทางชายตลิ่งถัดมา ส่วนกลุ่มเตาส่วนที่เหลือที่ไม่ถูกทำลาย ก็เพราะอยู่บนเกาะขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นเนิน การปรับไถคงเป็นไปได้ยาก
พบจำนวนร่องรอยกลุ่มเตาจำนวน ๑๖ เตา มีสภาพหักพัง ผนังเตากระจายหล่นลงสู่พื้นแม่น้ำ ลักษณะเป็นรูปทรงประทุน แบบเดียวกับที่พบในแหล่งเตากลุ่มอื่น ๆ
ภาชนะที่พบ ส่วนใหญ่เป็นภาชนะเนื้อแกร่งขนาดใหญ่, เคลือบสีน้ำตาลและไม่เคลือบ มีเขม่าไฟสีดำจับอยู่ที่เศษภาชนะและตัวเตาทั่วไป รวมทั้งพบ กี๋ ขนาดต่าง ๆ ด้วย
๙. กลุ่มเตาบ้านหาดแพง บริเวณขุมข้าว ตำบลหาดแพง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
อยู่ห่างจากลุ่มเตาที่กล่าวมาทั้งหมดค่อนข้างไกล เลยอำเภอศรีสงครามไปจนถึงบ้านหาดแพงกลุ่มเตาที่พบ อยู่บริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขุมข้าว” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน ริมฝั่งแม่น้ำสงคราม
ลักษณะของเตาเผาถูกปกคลุมด้วยรากไม้และวัชพืชคลุม จนแทบไม่เห็นร่องรอยของเตา เท่าที่สำรวจ พบจำนวน ๒ เตา ซึ่งน่าจะมีมากกว่านี้ เนื่องจากยังสำรวจไม่ได้ตลอดแนวชายตลิ่ง
ร่องรอยของเตามีเหลือไม่มากนัก พบเพียง เศษพื้นเตา, ก้อนแลง, ผนังเตา เศษภาชนะประเภทเนื้อแกร่งทั้งเคลือบและไม่เคลือบ ลักษณะของเตาน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับกลุ่มเตาที่สำรวจมาแล้ว (ดูรายละเอียดใน โครงการศึกษาผลกระทบด้านโบราณคดีและศิลปวัฒนธรรม โครงการน้ำสงคราม)
ส่วนกลุ่มเตาวัดดงเจ้าจันทร์ ที่กล่าวถึงใน “แหล่งเตาลุ่มน้ำสงคราม” (รักชนก โตสุพันธุ์: ศิลปากร,ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๓) เมื่อสำรวจอีกครั้งโดยการสอบถามชาวบ้านและสำรวจบริเวณชายตลิ่ง ไม่พบว่า มีเตาภาชนะดินเผาหรือเศษภาชนะแต่อย่างใด คงพบเพียงเตาเผาถ่านรูปทรงกลมบนตลิ่งที่เก่าร้างมานานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์ในสำนักสงฆ์ดงเจ้าจันทร์ ได้เก็บเศษภาชนะดินเผาและภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งทั้งเคลือบและไม่เคลือบชิ้นใหญ่ ๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งบอกเล่าว่า พบแถบชายตลิ่ง จึงอาจเป็นไปได้ที่มีเตาเผาภาชนะในบริเวณใกล้เคียง แต่ยังสำรวจไม่พบ
กลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม เท่าที่พบในปัจจุบัน มีไม่น้อยกว่า ๙๐ เตา สำรวจพบตั้งแต่บริเวณบ้านหาดแพง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ไปจนถึงบ้านนาหวาย อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เป็นระยะทางตามลำน้ำที่คดโค้งไปมาราว ๙๐ กิโลเมตร แบ่งเป็นกลุ่มเตากลุ่มใหญ่บริเวณ หนองกุดโง้ง-ท่าแร่-หนองอ้อ-ปากซาง เลยไปราว ๕ กิโลเมตร จากระยะทางน้ำ คือกลุ่มปากบ่อควน และ กลุ่มที่อยู่ไกลออกไปทางปากแม่น้ำสงคราม คือ กลุ่มบ้านหาดแพง
กลุ่มเตาตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ที่สำรวจพบเพราะเป็นเตาที่ขุดเข้าไปในตลิ่ง เมื่อมีการกัดเซาะจากน้ำ ทำให้พบเห็นร่องรอยของเตาที่พังลงสู่แม่น้ำ ดังนั้น จึงเป็นข้อสังเกตประการหนึ่งว่า อาจจะมีกลุ่มเตาตามชายฝั่งที่ยังไม่ถูกกัดเซาะตลิ่ง และมีพืชปกคลุม รวมถึงห่างไกลชุมชน (ชุมชนริมแม่น้ำสงคราม มีการอยู่อาศัยไม่หนาแน่น) ทำให้เป็นแหล่งโบราณคดีที่ยังไม่มีการค้นพบ



และเชื่อว่า น่าจะมีกลุ่มเตาภาชนะดินเผา กระจายอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสงครามมากกว่าที่สำรวจในปัจจุบันนี้
รูปแบบของการทำภาชนะแบบลุ่มน้ำสงคราม มีความคล้ายคลึงและเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มเตาในแถบนี้ คือการทำภาชนะเนื้อแกร่งขนาดใหญ่ เช่น ไห รูปทรงต่าง ๆ เป็นหลัก และตกแต่งลวดลายเพียงไม่กี่แบบ รวมถึงการเคลือบน้ำเคลือบสีน้ำตาล ที่อาจมีโทนสีต่างกันไปบ้างในแต่ละแห่ง
การทำภาชนะเนื้อดิน (Earthen Ware) น่าจะเกิดจากการวางภาชนะไว้ในที่ซึ่งห่างไกลความร้อนขณะกำลังเผา ความร้อนที่แตกต่างกันในการเผาคราวเดียวกัน ทำให้ได้ภาชนะที่มีความแกร่งแตกต่างกัน มากกว่าที่จะมีการตั้งใจผลิตเฉพาะภาชนะเนื้อดินเพียงอย่างเดียว โดยดูจากปริมาณภาชนะเนื้อดินที่มีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับภาชนะเนื้อแกร่ง
รูปทรงของภาชนะจากกลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม
จากการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะของภาชนะดินเผาที่เก็บรักษาไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยโย้ย โรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา และเศษภาชนะดินเผาที่เก็บตัวอย่างจากบริเวณกลุ่มเตา พบว่ามีรูปทรงลักษณะดังนี้ (ขจีพันธ์ เครือวรรณ, “การศึกษาแหล่งเตาในลุ่มแม่น้ำสงคราม : กรณีศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งเตาบ้านกรวด อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ (สารนิพนธ์ศิลปศาสตร์บัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๓๗))
๑. ไห เป็นภาชนะขนาดใหญ่ทรงสูง มีส่วคอแคบ ส่วนลำตัวป่องออก แล้วเรียวลงสู่ฐานที่แคบและไม่มีเชิง มีทั้งรูปทรงที่ส่วนคอสั้น และส่วนคอจนถึงขอบปาก สูง รัศมีขอบปากมีทั้งที่แคบกว่าและใกล้เคียงเส้นผ่าศูนย์กลางลำตัวของภาชนะเคลือบน้ำเคลือบสีน้ำตาลและไม่เคลือบเนื้อสีเทา มีการตกแต่งบริเวณไหล่ ด้วยหูหลอก หรือที่เรียกว่า “จีบแปะ”, ลวดลายขด, ลวดลายต่าง ๆ ด้วยเทคนิคอื่น ๆ อีกหลายแบบ

๒. ไหน้ำหล่อ เป็นไหที่มีขอบปากสองชั้น ที่พบเป็นจำนวนภาชนะเนื้อแกร่งไม่เคลือบ พบจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับภาชนะประเภทไหอื่น ๆ


๓. ถ้วย-ชาม ขอบปากของภาชนะประเภทนี้ มีทั้งที่เป็นแบบโค้งออกและแบบโค้งเข้า มีทั้งประเภทที่เคลือบและไม่เคลือบ ส่วนที่เคลือบก็มีทั้งแบบที่เคลือบเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง และเคลือบทั้งสองด้าน ขนาดของภาชนะเหล่านี้โดยประมาณคือ ชาม-เส้นผ่าศูนย์กลางปาก ๒๑ – ๒๑ เซนติเมตร,เส้นผ่าศูนย์กลางของก้น ๑๐ เซนติเมตร ถ้วย-เส้นผ่าศูนย์กลางของปาก ๑๐ เซนติเมตร, เส้นผ่าศูนย์กลางของก้น ๗ เซนติเมตร
๔. กระปุก เป็นผลิตภัณฑ์ทรงกระปุกขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนป่อง ส่วนคอแคบเล็ก ก้นตัด ปากผายออกเล็กน้อย ภาชนะประเภทนี้ มักจะเป็นภาชนะเนื้อแกร่ง ไม่เคลือ และไม่มีการประดับลวดลาย
ผลิตภัณฑ์จากเตาภาชนะดินเผาลุ่มน้ำสงครามส่วนใหญ่ คือไหขอบปากสูง (หรือบางแห่งเรียกว่าไหปากแตร) เนื้อแกร่งมากและมีขนาดใหญ่ แหล่งเตาบางแห่งไม่พบภาชนะขนาดเล็กเลย นอกจากกลุ่มเตาบ้านท่าแร่ ซึ่งพบภาชนะแบบกระปุก, ชามและถ้วย
กล่าวโดยทั่วไป ลักษณะเด่นของภาชนะแบบลุ่มน้ำสงคราม คือ ภาชนะขนาดใหญ่, เนื้อแกร่งมาก มีทั้งเคลือบสีน้ำตาล และไม่เคลือบเนื้อสีเทา ส่วนมากที่พบคือ ไหขอบปากสูง
ส่วนภาชนะแบบอื่น ๆ เป็นผลิตภัณฑ์อันดับรองลงมา

การตกแต่งผิวภาชนะและลวดลายที่พบ
๑. การตกแต่งผิวภาชนะด้วยการเคลือบผิว
สีของน้ำเคลือบภาชนะจากกลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม พบเพียงสีเดียวคือ สีน้ำตาล ในแต่ละกุล่มเตามีลักษณะเฉพาะของสีน้ำเคลือบต่างกันไป เช่น สีน้ำตาลอ่อน, สีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลไหม้, สีน้ำตาลอมแดง, สีน้ำตาลอมเขียว การทำเคลือบสีน้ำตาล น่าจะเป็นเพราะ การใช้สารประกอบออกไซด์ของเหล็กหรือตะกรันเหล็กหาได้ง่าย และเทคนิควิธีการเคลือบไม่ยุ่งยากซับซ้อน เหมาะที่จะใช้สำหรับภาชนะขนาดใหญ่
การเคลือบไห มักจะเคลือบเฉพาะด้านนอกจนถึงขอบปากด้านใน น้ำเคลือบไหลหยดเป็นทางและเกาะตัวกับผิวภาชนะได้ไม่ดี, ส่วนชามจะเคลือบเฉพาะด้านใน
๒. การตกแต่งผิวภาชนะด้วยลวดลายประดับ มีหลายวิธี คือ
– การใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นซี่หวี ขุดหรือขูดขีด ให้เป็นรูปเส้นขนาน หรือลายลูกคลื่น การตกแต่งประเภทนี้ จะพบบริเวณ ไหล่และลำตัว ของภาชนะทรงไห
– การทำเส้นนูนคาดโดยรอบ บริเวณไหล่ และส่วนลำตัวของภาชนะทรงไห,กระปุก
– การทำลายปั้นแปะ ติดที่ภาชนะ ลักษณะเด่นของภาชนะดินเผาจากกลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม คือมักจะมีการปั้นแปะ ด้วยลายรูปขด หรือลายตัว S ในแนวนอน (ภาพลายเส้นที่ ) ประดับไว้ที่ไหล่ภาชนะทรงไห และลายปั้นแปะที่เรียกว่า “หูหลอก” หรือ “ลายจีบแปะ” มีลักษณะเป็นหูขนาดเล็กจิ๋ว ใช้ประดับ (ภาพลายเส้นที่)
ลักษณะเนื้อดินของภาชนะลุ่มน้ำสงคราม
จากการวิเคราะห์เนื้อเซรามิค จากกลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม พบว่า เนื้อดินที่นำมาปั้นเป็นภาชนะดินเผา มีแร่เหล็กเป็นส่วนผสมในปริมาณสูง เนื้อดินมีความละเอียด การเรียงตัวของเม็ดแร่อยู่ในเกณฑ์ดี แสดงถึงกระบวนการในการนวดผสมเนื้อดินปั้น ให้เข้ากันได้ดี (รักชนก โตสุพันธ์, “แหล่งเตาลุ่มน้ำสงคราม,”๒๕๓๖)
เนื้อดินที่นำมาปั้น น่าจะมีการเตรียมดินและใช้ดินในละแวกชายฝั่งแม่น้ำสงคราม, แร่เหล็กจำพวกเเฮมาไทด์ ซึ่งเป็นส่วนผสมหนึ่งในเนื้อดิน น่าจะมีการนำมาจากบริเวณใกล้เคียง เช่น จากภูลังกา(ยังไม่มีการสำรวจหาแหล่งแร่เหล็กในบริเวณนี้อย่างละเอียด) ออกไซด์ของเหล็ก เช่นศิลาแลง เป็นส่วนหนึ่งของชั้นตะกอนที่ครอบคลุมบริเวณสองฝั่งลำน้ำสงคราม เป็นบริเวณกว้างโดยเฉพาะพื้นที่ราบขั้นบันไดแม่น้ำระดับสูง (High Terrace) และระดับกลาง (Middel Terrace) จะมีชั้นศิลาแลงหนาระหว่าง ๑ – ๐.๕ เมตรอยู่ด้วยเสมอ จึงไม่เป็นการยากที่จะหาศิลาแลงบริเวณนี้ และเนื้อดินที่มีปริมาณของซิลิเกตหรือทรายสูง
บริเวณริมแม่น้ำสงครามจึงเป็นสถานที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการเตรียมวัตถุดิบในการผลิตภาชนะดินเผผาเนื้อแกร่ง คุณภาพดี
เทคนิควิธีการผลิตภาชนะ
นอกจากการเตรียมดินที่ดี ได้ภาชนะเนื้อแกร่งแล้ว เทคนิควิธีการทำภาชนะเท่าที่สำรวจพบ ภาชนะส่วนมากคือไห มีการขึ้นรูปทรงโดยใช้แป้นหมุน ความหนาของภาชนะโดยเฉลี่ย ๐.๗ – ๑.๒ เซนติเมตร มีขนาดสม่ำเสมอ ใช้เส้นลวดตัดตรงส่วนก้นของภาชนะออกมา และรูปทรงงดงามดี แสดงถึงความชำนาญในด้านรูปทรงเฉพาะ
หลังจากนั้น จึงทำการตกแต่งลวดลาย บริเวณไล่ เช่นลายขูดขีด, ลายปั้นแปะ, ลายเส้นคาด
ส่วนภาชนะที่เคลือบ จะนำไปเคลือบในน้ำเคลือบที่ได้จ่าย สารประกอบของซิลิเกตผสมกับสารประกอบที่ช่วยทำให้หลอมละลายและออกไซด์ของเหล็ก เมื่อเผาแล้ว น้ำเคลือบจะรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน ให้สีน้ำตาลทึบแสงฉาบอยู่ที่ผิว
ลักษณะของเตาภาชนะดินเผาลุ่มน้ำสงคราม
ลักษณะของเตาบริเวณลุ่มน้ำสงคราม คือ เตาที่ขุดเข้าไปในตลิ่ง (Inground Bank Kiln) ซึ่งเป็นเตาทรงประทุนที่มีรูปทรงยาวขนานกับฟื้น หลังคาโค้งตลอดจนถึงปล่องไฟ ส่วนเตาที่ไม่ได้ขุดเข้าไปในชายตลิ่ง เท่าที่พบขณะนี้คือ กลุ่มเตาตรงข้ามบ้านท่าแร่ และกลุ่มดงเตาไห ซึ่งยังไม่ทราบว่า มีเทคนิควิธีการสร้างเตาเช่นไร
ลักษณะของเตาภาชนะดินเผาแบบโบราณ มีรายละเอียดต่าง ๆ ตามลักษณะภูมิประเทศ, เทคนิควิธีการผลิตที่แตกต่างกันออกไป
จากการขุดค้นของกองโบราณคดี กรมศิลปากร บริเวณกลุ่มเตาบ้านท่าแร่ พบว่า “เตาเป็นรูปทรงประทุน ก่อด้วยดิน แล้วเผาไฟจนเนื้อแกร่ง ปล่องไฟเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมบน หันปากเตาลงสู่แม่น้ำ เตามีขนาดโดยประมาณ ๒.๕ x ๕.๐ เมตร ผนังเตาหนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตร พื้นปูลาดด้วยหินกรวดแม่น้ำ ผสมกับเนื้อดินทรงจนพื้นแข็ง พบก้อนศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ตรงที่เป็นปากเตาทั้งสองข้าง” น่าจะเป็นส่วนที่เป็นช่องใส่ไฟและกันไฟ จากการขุดค้นและการสำรวจไม่แน่ใจว่า จะมีส่วนของห้องไฟและคันกันไฟ ที่ลดระดับจากส่วนที่วางภาชนะ เช่นเดียวกับเตาทรงประทุนอื่น ๆ หรือไม่ เพราะส่วนนี้มักถูกทำลายจากการถูกน้ำกัดเซาะ และต้องอาศัยการขุดตรวจที่ละเอียดถี่ถ้วนอีกมาก ส่วนของหลังคาหักพังยุบลงไปที่พื้นเตา และสำรวจพบว่า เตาบางแห่งมีการสร้างทับซ้อนของเดิมด้วย
พื้นเตาน่าจะมีความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อการกระจายความร้อนที่เหมาะสม และปูด้วยหินกรวดแม่น้ำ เพื่อเพิ่มความขรุขระ ป้องกันไม่ให้ภาชนะเลื่อนไหล นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “กี๋” (กี๋ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรองภาชนะขณะกำลังเผา โดยเฉพาะภาชนะเคลือบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเคลือบไหลติดกับภาชนะชิ้นอื่น กี๋มีรูปแบบต่าง ๆ ตามลักษณะของการใช้งาน เช่น กี๋เม็ด, กี๋ท่อ, กี๋รูปร่างแบนมีฐาน, กี๋รูปฐานบาตร, กี๋กลิ่งดิน เป็นต้น) สำหรับช่วยรองก้นภาชนะให้อยู่ในแนวระนาบ มีลักษณะเป็นก้อนดินรูปลิ่ม ขนาดเล็ก-ใช้รองภาชนะในจุดที่พื้นลาดเอียงเล็กน้อย (ใกล้บริเวณปล่องไฟ) และขนาดใหญ่-ใช้รองภาชนะในจุดที่พื้นลาดเอียงมาก (ใกล้บริเวณปากเตา) นอกจากนี้ ขนาดของกี๋ ยังน่าจะขึ้นอยู่กับขนาดของภาชนะอีกด้วย
การใช้กี๋รูปลิ่ม นับว่าเหมาะสมสำหรับการวางภาชนะขนาดใหญ่ ซึ่งไม่น่าจะมีการวางซ้อนกันในเตาเผาที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก และไม่พบว่ามีการใช้กี๋รูปลิ่มเช่นนี้ ในเตาภาชนะดินเผาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย, ในล้านนา, ในภาคอีสาน, หรือในภาคกลาง แต่พบในกลุ่มเตาที่เวียงจันทน์ กลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม จึงน่าจะสัมพันธ์กับกลุ่มเตาที่เวียงจันทน์ทางใดทางหนึ่ง (Don Hein, An Excavation at Sisattanak kila Site Vientiane,Lao PDR (Research Institute for Asia and the Pacific : University of Sydney,1992)
ลักษณะของเตาลุ่มน้ำสงคราม มีลักษณะเด่นคือ เป็นกลุ่มเตาที่ใช้วิธีการขุดเข้าไปในตลิ่ง,มีขนาดใกล้เคียงกันแทบทุกเตา, พื้นปูด้วยหินกรวดแม่น้ำเหมือน ๆ กัน,มีช่องใส่ไฟทำด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกัน, ใช้กี๋รูปลิ่มเหมือนกันและผลิตภาชนะขนาดใหญ่ เช่น ไห รูปทรงต่าง ๆ เป็นผลิตภัณฑ์หลัก

การสร้างเตาที่ขุดลึกเข้าไปในชายตลิ่ง เป็นเทคนิควิธีการที่พบเห็นได้จากหลายแห่ง เช่น ในกลุ่มเตารุ่นแรก ๆ ที่ศรีสัชนาลัยและในกลุ่มเตาล้านนา เนื่องจาก ไม่ต้องอาศัยเนินดิน ซึ่งต้องขุดเจาะเข้าไปให้เข้ากับรูปทรงของเตา แต่ใช้ความลาดเอียงของชายตลิ่งแทน ในขณะที่เตาซึ่งห่างไกลเส้นทางน้ำ ใช้เนินดินธรรมชาติและเนินดินที่สร้างขึ้นเองจากการถมดิน (สายันต์ ไพรชาญจิตร์และคณะ, แหล่งเตาล้านนา (กองโบราณคดี กรมศิลปากร,๒๕๓๓).)
นอกจากนี้ การใช้วิธีการสร้างเตาโดยการขุดลึกเข้าไปในชายตลิ่ง ยังเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการลำเลียงสินค้าทางน้ำ กรณีของแม่น้ำสงครามนั้น จากการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ชุมชน (สุรัตน์ วรางรัตน์และคณะ, การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในชุมชนลุ่มน้ำสงครามตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบัน (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ,๒๕๓๐).) พบว่า การเดินทางที่สะดวกที่สุดคือการเดินทางทางน้ำ โดยเฉพาะจากบ้านท่ากกแดง อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย ไปจนถึงปากน้ำสงครามและแม่น้ำโขง เป็นเส้นทางติดต่อ,ขนส่งสินค้าในอดีตที่สะดวกที่สุด การติดต่อขนส่งทางบกในสภาพภูมิประเทศแถบนี้เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง
ความสะดวกในการขนส่งทางน้ำ จึงควรเป็นสาเหตุหนึ่งในการสร้างเตา บริเวณชายตลิ่งดังกล่าวด้วย
แม้ว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำสงคราม จะมีน้ำท่วมอยู่เสมือในฤดูน้ำหลาก และท่วมตลิ่งในปีที่ฝนตกหนัก ความสะดวกในการหาวัตถุดิบและการขนส่งน่าจะทำให้ผู้ผลิตยังคงใช้บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสงครามทำภาชนะต่อไป โดยที่ทำการเผาภาชนะเป็นช่วง ๆ หยุดพักในฤดูน้ำหลาก และทำการเผาภาชนะในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งน้ำในแม่น้ำสงครามมักจะลดลงจนเกือบถึงพื้นท้องน้ำ ดังนั้น เตาภาชนะดินเผาริมฝั่งน้ำสงคราม จึงต้องมีวิธีการเก็บรักษาให้พ้นจากความเสียหายที่อาจเกิดจากภาวะน้ำท่วมอีกด้วย
ส่วนในรายละเอียด เช่นวิธีการขุดอุโมงค์, การทำผนังเตาที่มีความแกร่งมาก, ชื้อเพลิงที่ใช้ในการให้ความร้อนสูงมากกว่า ๑๓๐๐ องศา ขึ้นไป, การควบคุมความร้อนและระยะเวลาที่ใช้ในการเผาแต่ละครั้ง รวมถึงวิธีการนำภาชนะเข้าและออกจากเตาเผา ซึ่งมีขนาดเล็กจนไม่น่าสะดวกที่คนจะมุดเข้าไป(ในกลุ่มเตาล้านนาที่มีเตาขนาดใกล้เคียงกัน มีการสันนิษฐานว่า ต้องพังผนังเตาบางส่วนออก หรือเจาะช่องสี่เหลี่ยมที่ส่วนหลังคา เพื่อนำภาชนะไปวางและนำภาชนะออกมา)
จากลักษณะรูปแบบเตา,เทคนิควิธีการผลิตภาชนะดินเผา รวมถึงหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ นำมาใช้ศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อประมาณอายุของแหล่งผลิตนี้ได้ว่าควรอยู่ในช่วงใด
ขนาดรูปทรงของเตา และการสร้างเตาที่ขุดเข้าไปในชายตลิ่ง เป็นเทคนิควิธีการผลิตที่มีความคล้ายคลึงกับกลุ่มเตาลักษณะเดียวกัน ในศรีสัชนาลัยและกลุ่มเตาบางแห่งในล้านนา (จารึก วิไลแก้ว, เตาแม่น้ำน้อย ๒ (กองโบราณคดี กรมศิลปากร,๒๕๓๓).) ซึ่งมีอายุโดยประมาณราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๒
ในขณะที่อุปกรณ์เช่น “กี๋” มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับกลุ่มเตาที่เวียงจันทน์ ซึ่งมีการกำหนดอายุโดยประมาณราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (Don Hein, An Excavation at Sisattanak kila Site Vientiane,Lao PDR.)
แหล่งโบราณคดีบริเวณใกล้เคียง ริมแม่น้ำสงครามและที่อยู่ลึกเข้าไป เช่น บ้านเสาสัด, บ้านบะมะเกลือ พบเศษภาชนะดินเผาจากกลุ่มเตาล้านนาและเครื่องถ้วยจีนปะปนอยู่ไม่น้อย
บ้านยางงอยพบเศษภาชนะจากกลุ่มเตาล้านนาและเศษเครื่องถ้วยจีน จำนวนหนึ่ง (สำรวจ อินแบน, ศิลปวัฒนธรรม.)
การขุดค้นที่บ้านท่าบ่อ พบเศษเครื่องถ้วยจีน ที่ประมาณอายุไว้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาล้านนา จำนวนหนึ่ง
และแหล่งโบราณคดีบริเวณใกล้เคียงกลุ่มเตาศรีสัตตนาคในเวียงจันทน์ พบเศษภาชนะดินเผาจากกลุ่มเตาในล้านนา และเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง
อายุของแหล่งเตาล้านนา โดยทั่วไปประมาณไว้ราว พุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒
กลุ่มเตาในลุ่มน้ำสงครามจึงควรร่วมสมัยกับกลุ่มเตาในล้านนาและมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเตาในเวียงจันทน์ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
โดยที่ไม่มีความต่อเนื่องหรือสัมพันธ์กับกลุ่มเตาที่บุรีรัมย์ ( ขจีพันธ์ เครือวรรณ,“การศึกษาแหล่งเตาในลุ่มแม่น้ำสงคราม : กรณีศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งเตาบ้านกรวด”.) ตามที่เคยมีความสับสนสำหรับเศษภาชนะเคลือบสีน้ำตาล และภาชนะทรงไห เคลือบสีน้ำตาล ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ
การผลิตภาชนะดินเผาขนาดอุตสาหกรรมระดับนี้ ควรจะอยู่ในช่วงที่บ้านเมืองในลุ่มน้ำโขงแถบนี้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ซึ่งควรอยู่ในรัชกาล พระเจ้าไชยเชษฐา (พ.ศ.๒๐๙๑ – พ.ศ.๒๑๑๕) จนถึงรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมมิกราช (พ.ศ.๒๑๘๑-๒๒๓๘) (มหาสิลา วีรวงศ์. ประวัติศาสตร์ลาว (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,๒๕๓๕) แปลโดย สมหมาย เปรมจิตต์.)
อายุสมัยที่สามารถประเมินจากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว กลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม ควรมีอายุอยู่ระหว่าง พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑
ซึ่งเป็นช่วงเวลาร่วมสมัยกับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปั้นดินเผาในสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย, ล้านนา และเวียงจันทน์
สรุป
กลุ่มเตาสุ่มน้ำสงคราม มีลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ การทำภาชนะเนื้อแกร่ง ประเภทไห ขอบปากสูงและเคลือบสีน้ำตาล ซึ่งไหลักษณะนี้ มีการสำรวจพบเป็นจำนวนมากในชุมชนโบราณต่าง ๆ ในแอ่งสกลนคร ที่ระบุว่าเป็นชุมชนลาว (Laotian Site) (Srisakara Vallibhotama, Archaeologic Study of the Nam Songkhram Basin (Department of Anthropology Silpakorn University,1982).)
ซึ่งใช้เป็นไหใส่กระดูกมนุษย์ ที่นำไปฝังในท้องไร่ท้องนาบ้าง ชายเนินดินที่เป็นชุมชนบ้าง ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนว่า มีการฝังบริเวณใด ไหเหล่านี้ มักจะถูกขุดพบโดยบังเอิญ โดยชาวบ้านที่ทำการขุดดินเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ขอบปากส่วนมากแตกหักเสียหาย
นอกจากจะพบไหลักษณะนี้บริเวณชุมชนเก่าริมน้ำสงคราม และชุมชนในแอ่งสกลนครแล้ว ยังมีรายงานว่าพบแพร่หลายในแถบจังหวัดร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, ยโสธรและอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนตะวันออกของอีสาน ตั้งแต่แม่น้ำสงคราม, น้ำชีและน้ำมูลตอนล่าง
จึงอาจกล่าวได้ว่า ผลิตภัณฑ์จากแม่น้ำสงคราม ส่วนใหญ่ ทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย เป็นภาชนะที่มีค่า สำหรับใส่กระดูกแล้วฝัง ในชุมชนที่พบภาชนะใส่กระดูกลักษณะนี้ จึงเป็นชุมชนที่ร่วมสมัยกับระยะที่อาณาจักรลาวเข้มแข็ง ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ ซึ่งสามารถดูการกระจายตัวของชุมชนในระยะนี้ได้จาก การกระจายตัวของวัฒนธรรมไหใส่กระดูก ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากเตาลุ่มน้ำสงคราม
และที่ทำให้แน่ใจว่า ภาชนะเนื้อแกร่งจากกลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม เป็นภาชนะที่มีค่า เพราะ การขุดค้นที่วัดศรีสงคราม บ้านท่าบ่อ ทำให้ทราบว่า ภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน คือ ภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthen Ware) คุณภาพต่ำ ซึ่งผลิตขึ้นได้เองในชุมชน
เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเตาที่พบในเวียงจันทน์ ซึ่งมีลักษณะและรูปแบบของเตาที่แตกต่างกัน และภาชนะที่ผลิตส่วนใหญ่ คือ ภาชนะเนื้อแกร่งไม่เคลือบ และภาชนะเคลือบสีเขียวขนาดเล็ก จำพวก ถ้วย-ชาม , กล้องยาสูบดินเผา, ตุ้มถ่วงแห ฯลฯ (Don Hein, An Excavation at Sisattanak kila Site Vientiane,Lao PDR.) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นกลุ่มเตาที่มีหน้าที่การผลิต ที่แตกต่างจากกลุ่มเตาลุ่มน้ำสงครามอย่างชัดเจน
ความแตกต่างของลักษณะการผลิตเหล่านี้ ทำให้เห็นว่ามีการเลือกสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการผลิตแต่ละแห่ง ในขณะที่กลุ่มเตาเวียงจันทน์ ผลิตภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก กลุ่มเตาในลุ่มน้ำสงคราม ผลิตภาชนะที่ใช้ในพิธีกรรมเนื่องในการตายเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเตาทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์กับความรุ่งเรืองของอาณาจักรลาว ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑