วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
(เคยตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมประจำเดือนกันยายน ๒๕๖๐)
จากการพิจารณาและสำรวจเส้นทางนำไพร่พล กองกำลังทหารหนุ่มของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ หลบหนีการล้อมกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เพื่อเดินทางไปสู่หัวเมืองภาคตะวันออกพบว่า มีข้อน่าสังเกตเรื่องเส้นทางเดินทางตั้งแต่บริเวณจุดเริ่มต้นภูมิภาคตะวันออก หลังการสู้รบแบบประจัญหน้าซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายกับกองกำลังพม่าจากปากน้ำเจ้าโล้หรือโจ้โล้ หลังออกจากกรุงศรีอยุธยาและสู้รบกับพม่ามาตามรายทาง ปากน้ำโจ้โล้ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ระบะทางจากท้องถิ่นนี้ไปจนถึงการตั้งทัพที่เมืองระยองนั้น ใช้การเดินทางทัพตามเส้นทางที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารตามข้อมูลเช่นนั้นจริงหรือ
จากพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งถือว่าเป็นพระราชพงศาวดารฉบับที่ได้รับความเชื่อมากกว่าฉบับอื่นๆ ถือว่าน่าจะเขียนขึ้นร่วมสมัยกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แม้จะอยู่ในช่วงปลายรัชกาล เช่นเดียวกับฉบับบริติช มิวเซียม ต่างจากฉบับอื่น เช่น ฉบับหมอบรัดเลย์และฉบับพระราชหัตถเลขาที่มีการขยาย ปรับเปลี่ยนถ้อยคำและข้อความในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในช่วงปลายแผ่นดิน กล่าวถึงชุมนุมพรรคพวกพลทหารไทยจีนประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ ประกอบด้วยขุนนางในตำแหน่งพระ หลวง ขุน หมื่น ร่วมเดินทัพออกจากกรุงฯ โดยมีกองทัพพม่าตามติดและรบกับทั้งพม่าและคนท้องถิ่นที่ไม่ร่วมด้วยไปตลอดทาง ในระหว่างนั้นก็รวบรวมขุนนางในท้องถิ่นร่วมทัพไปด้วย เช่น “ขุนชำนาญไพรสณฑ์” นายกองช้างที่ “บ้านนา” ซึ่งเป็นที่พักช้างหรือวังช้างต่อจากทางอีสานเพื่อรอเข้าไปทางเพนียดที่กรุงศรีอยุธยา
การตีฝ่าวงล้อมทัพพม่าที่ล้อมกรุงฯ มุ่งไปทางตะวันออก น่าจะเป็นการวางแผนเดินทางที่มีเป้าหมายแน่ชัด คือมุ่งสู่หัวเมืองชายฝั่งทะเลทางฝั่งตะวันออกที่มีฐานของผู้คนเชื้อจีนทั้งที่เป็นไพร่และนาย รวมทั้งอาจหวังความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองเปียมหรือเมืองปากน้ำพุทไธมาศ “มักเทียนตื้อ” (เมืองพุทไธมาศควรอยู่เข้าไปด้านในของลำน้ำ Giang Thanh หรือแม่น้ำขาม) โดยมีเมืองห่าเตียนหรือเมืองเปียมตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำต่อกับทะเล ที่น่าจะถือว่าเป็นเมืองท่าเสรี จนคล้ายเป็นรัฐอิสระที่มีเจ้าเมืองเป็นจีนฮกเกี้ยนสืบทอดกันจากรุ่นพ่อคือ “ม่อจิ่ว” ขุนศึกชาวจีนที่ต่อต้านการยึดครองของราชวงศ์ชิง เมื่อพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงจึงหนีมาทางปลายแหลมญวนที่ต่อเนื่องกับอ่าวไทย และตั้งตนเป็นเจ้าเมืองในเส้นทางการเดินเรือเลียบชายฝั่ง จนสร้างห่าเตียนให้กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ
แผนที่แสดงพื้นที่นับจากทัพพระเจ้าตากฯ เดินทางผ่านชายดงศรีมหาโพธิและรบกับทัพพม่าที่ขึ้นมาทางปากน้ำโจ้โล้ ถือเป็นการรบครั้งใหญ่กวาครั้งอื่นๆ ในเส้นทางเสด็จออกจากกรุงฯ สู่หัวเมืองภาคตะวันออก
โดยที่ทั้งทางฝ่ายอยุธยาและเขมรจนกระทั่งญวนก็ไม่สามารถปราบให้อยู่ภายใต้อำนาจของตนได้ อันเนื่องจากชัยภูมิที่หากมิใช่ผู้คนที่ตั้งอยู่ปากน้ำชายทะเลด้วยกันแล้วคงรักษาเมืองไว้ตลอดได้ยาก
อีกประการหนึ่งคือ มีขุนนางเชื้อสายจีนผู้กว้างขวางในหัวเมืองตะวันออกคือ “หลวงพิพิธ” หรือในช่วงแรกๆ ออกนามว่า “ขุนพิพิธวาที” และเจ้าเขมรที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์อยุธยากว่า ๑๐ ปีแล้วคือ “นักองราม” ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ สนับสนุนให้ขึ้นครองราชย์กรุงกัมพูชาในเวลาต่อมา และพระเชียงเงิน ซึ่งน่าจะถือได้ว่ามีวัยเดียวกันคืออายุราวต้นสามสิบและคุณวุฒิไม่ห่างกันนัก เลือกที่จะติดตามทัพพระเจ้าตากสินฯ มาด้วยกัน
กว่า ๙ วัน “พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที นักองราม” จึงติดตามมาสมทบ แม้จะไม่กล่าวว่าหนีออกมาจากที่ไหน แต่สันนิษฐานได้ว่าทั้งสองสามท่านนี้ต่างเป็นผู้ชำนาญและกว้างขวางในเขตหัวเมืองตะวันออกแน่นอน และหลังจากข้ามแม่น้ำปราจีนบุรีหรือแม่น้ำบางปะกงมาบริเวณด่านกบแจะ ซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่ในแถบอำเภอประจันตคาม แล้วข้ามทุ่งซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำความสูงจากระดับน้ำทะเลราว ๔-๕ เมตร เกาะแนวชายขอบที่สูงแถบที่เรียกกันต่อมาว่า “ดงศรีมหาโพธิ์” และตั้งค่ายพักแรมใน “ป่า” ที่เรียกว่า “สำนักหนองน้ำ” คำว่า “สำนัก” นี้ยังใช้เรียกชุมชนบ้านห่าง [Homestead] ที่อยู่ในแถบป่าหรือสวนบ้านเรียกทั่วไปว่าดง ซึ่งยังพบอยู่มากเป็นคำนำชื่อชุมชนที่เคยอยู่ในป่าในดง เป็นแบบกลุ่มบ้าน และอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลหรือลำน้ำใหญ่ในเขตจังหวัดระยองและจันทบุรี
หากเราสันนิษฐานให้สำนักหนองน้ำอยู่บริเวณ “สระข่อย” ชายดงศรีมหาโพธิ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโบราณ และในรัศมี ๒-๓ กิโลเมตรมีหนองน้ำเป็นจำนวนมาก พระเจ้าตากฯ สั่งให้ “นายบุญมี” ขี่ม้าขึ้นสวนทางไปในระยะราว ๒๐๐ เส้นหรือประมาณ ๘ กิโลเมตรจึงพบกับกองทหารพม่าที่ยกขึ้นมาจากปากน้ำโจ้โล้ ซึ่งเป็นที่สบกันของ “ลำน้ำท่าลาด” ที่เป็นลำน้ำใหญ่และสำคัญสำหรับบ้านเมืองภายในป่าดงที่จะเข้ามาติดต่อกับชุมชนริมแม่น้ำบางปะกงทั้งทัพบกทัพเรือซึ่งมาขึ้นที่ “ท่าข้าม” ปัจจุบันน่าจะเป็นบริเวณย่านบ้านท่าข้ามน้อย ริมคลองคูมอญ สาขาของแม่น้ำบางปะกง ซึ่งมีร่องรอยของชื่อวัดที่กลายเป็นชื่อวัดทางข้ามน้อย ในเขตเมืองพนมสารคาม
ดังนั้นเส้นทางที่ทัพพม่ารุกไล่เข้ามาติดตามจึงน่าจะเดินทางออกมาจากที่ตั้งทัพใหญ่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ขึ้นเหนือมาตามลำน้ำบางปะกงและเข้าคลองคูมอญและข้ามลำน้ำที่ท่าข้าม ซึ่งในพระราชพงศาวดารกล่าวว่ามากันทั้งทางบกและทางน้ำ
การรบที่มีการยิงปืนใหญ่ใส่ทัพพม่าชุดใหญ่พร้อมทั้งตั้งปืนตับยิงต่อเนื่องอีก ๓ ครั้งนี้ จึงน่าจะอยู่เหนือจากแถบท่าข้ามและปากน้ำโจ้โล้ อันเป็นบริเวณที่มี “พงแขม” เป็นพืชที่ชอบขึ้นเป็นกลุ่มตามพื้นที่ชื้นแฉะชายน้ำ และอยู่ไม่ไกลจากชายดงที่สูง ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณที่ลุ่มระหว่างชายดงศรีมหาโพธิและบ้านดงน้อย ในอำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่ใช่การศึกที่รบกันบริเวณปากน้ำโจ้โล้ ซึ่งเป็นจุดที่ลำน้ำท่าลาดต่อกับแม่น้ำบางปะกง มีผู้ศึกษาเรื่องราวในท้องถิ่นทั้งสัมภาษณ์และใช้ข้อมูลอ้างอิงจนพบว่า เจดีย์ที่ปากน้ำโจ้โล้นั้นสร้างโดยคนจีนในย่านบางคล้าในช่วงเวลาหลังเหตุการณ์สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ในช่วงไม่น่าจะเกินรัชกาลที่ ๓ แต่ปัจจุบันจัดให้เป็นเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และจัดให้มีการสร้างอนุสรณ์สถานในบริเวณนั้น
จากนั้นพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศกล่าวถึงการเคลื่อนทัพไปทาง “บ้านทองหลาง” และ “ตะพานทอง” หรือ “พานทอง” ในฉบับบริติช มิวเซียม บางปลาสร้อยถึงบ้านนาเกลือซึ่งมีนายกล่ำคุมพลคอยสะกัดอยู่ที่นั่น ตรงนี้ที่จำต้องเริ่มตั้งข้อสังเกต เพราะระยะทางทั้งหมดที่กล่าวถึงในช่วงนี้ราว ๑๐๐ กิโลเมตรเศษ
ต่อจากนั้นรุ่งขึ้นจึง “ถึงพัทยา” ซึ่งฉบับบริติช มิวเซียมว่า “ถึงทัพ” จึงมีข้อสังเกตกันว่าใช่ตำแหน่งพัทยาหรือไม่ แล้วจึงยกมา “นาจอมเทียน” มาพักที่ “ทัพไก่เตี้ย” ที่ฉบับบริติช มิวเซียมว่าเป็น “ทุ่งไก่เตี้ย” ต่อมาจึงถึง “สัตหีบ” เลียบชายทะเลต่อมาจึงถึง “หินโด่ง” และ “น้ำเก่า” ที่ผู้รั้งเมืองระยองออกมาต้อนรับ
บ้านทองหลางในปัจจุบันน่าจะเป็นบริเวณที่เรียกว่า “ท่าทองหลาง” อนึ่ง ตามภูมิวัฒนธรรมที่เป็นชื่อสถานที่ต่างๆ ในภูมิภาคนี้มักจะเรียกบริเวณชุมชนที่อยู่ริมน้ำและใช้ท่าน้ำเดียวกันโดยขึ้นต้นด้วยคำว่า “ท่า” ตั้งแต่แถบปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ไปจนถึงจันทบุรีและตราดทีเดียว ต่อมาจึงปรับเป็นเรียกชื่อบ้านหากตั้งห่างลำน้ำออกมา “ท่าทองหลาง” ในปัจจุบันเป็นชื่อคลองท่าทองหลางที่แยกออกมาจากแม่น้ำบางปะกง ในอำเภอบางคล้า และอยู่ต่ำจากปากน้ำโจ้โล้ราว ๕-๖ กิโลเมตร
ต่อมาเดินทางผ่าน “ตะพานทอง” หรือ “พานทอง” พานทองเป็นชื่อของลำน้ำสำคัญสาขาหนึ่ง บริเวณสองฝั่งตั้งแต่ต้นน้ำที่อยู่ในเขตป่าดงพื้นที่สูงในอำเภอบ่อทองและอำเภอบ้านบึง ไหลมาทางตะวันตกผ่านที่ลุ่มต่ำแล้วไปออกแม่น้ำบางปะกงในบริเวณที่เป็นอำเภอพานทองในปัจจุบัน ซึ่งอำเภอพานทองนี้เพิ่งแยกขึ้นเป็นอำเภอจากอำเภอพนัสนิคมในช่วงรัชกาลที่ ๕ แต่บริเวณที่เป็นชุมชนเก่าสำคัญมาก่อนอยู่ที่บ้านท่าตะกรูดซึ่งเป็นจุดรวมสินค้าล่องมาจากเมืองพนัสนิคมตามลำน้ำพานทองที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่างๆ
ลุ่มน้ำพานทองเป็นท้องถิ่นสำคัญ มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายและก่อนหน้านั้นบริเวณโคกหรือที่ดอนกลางที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงและอยู่อาศัยใกล้ชายฝั่งอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญคือ โคกพนมดีและหนองโน ในเขตอำเภอพนัสนิคม ซึ่งอยู่เหนือลำน้ำพานทอง ส่วนโคกระกาและโคกฝรั่งในเขตอำเภอพานทองใกล้ับปากน้ำบางปะกง
ทางตอนเหนือของลุ่มน้ำพานทอง ซึ่งประกอบไปด้วยลำน้ำหลายสายก่อนจะไหลมารวมกันที่บ้านหน้าพระธาตุในบริเวณที่เรียกว่า “เมืองพระรถ” อันเป็นเมืองสมัยทวารวดี และเมื่อมีคนกลุ่มลาวเข้ามาอยู่อาศัยจึงสร้างตำนานและชื่อสถานที่ตามวัฒนธรรมของตนในภายหลัง เช่นชื่อเมืองพระรถจากปัญญาสชาดก ต่อมาตั้งชื่อเมืองว่าพนัสนิคม
ระยะทางจากท่าทองหลางมาที่ช่วงกลางลุ่มน้ำพานทองตรงบริเวณบ้านหน้าพระธาตุ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนเมืองพระรถเก่า เป็นที่รวมของลำน้ำหลายสาย โดยเฉพาะ “คลองหลวง” ซึ่งเป็นเส้นลำน้ำที่เป็นต้นน้ำคลองพานทอง บริเวณนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มของลำน้ำที่เรียกว่า “คลองพานทอง” ได้ ระยะทางจากท่าทองหลางถึงบริเวณนี้ราว ๓๐ กิโลเมตร
จากบริเวณนี้ถือเป็นจุดหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เกิดข้อสงสัยและสร้างสมมติฐานรองรับเพื่อค้นหาเส้นทางที่น่าจะเป็นไปได้ต่อไปในการศึกษาครั้งนี้
แผนที่แสดงเส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากฯ เปรียบเทียบจากข้อมูลในพระราชพงศาวดารและข้อมูลสันนิษฐานใหม่
ทัพที่หนีมาจากกรุงศรีอยุธยาจะเดินทางผ่านบางปลาสร้อยจากต้นคลองพานทอง บริเวณเมืองพระรถเก่าเพียงราว ๒๐ กิโลเมตรตามข้อมูลในพระราชพงศาวดารต่างๆ และน่าจะมีทัพพม่าตั้งควบคุมอยู่ที่ปากน้ำทุกแห่งในเขตลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื้อหาในพระราชพงศาวดารก็กล่าวผ่านๆ ไปที่บ้านนาเกลือเลยทีเดียว แต่เนื้อหาในพระราชพงศาวดารต่อมาให้ความสำคัญแก่เมืองบางปลาสร้อยตลอดช่วงเวลา ๗ เดือนของการทำศึกก่อนกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยาอย่างมากเพราะนับแต่เมืองบางปลาสร้อยไปจนถึงเมืองตราด เหตุการณ์จลาจลเมื่อเสียกรุงฯ นั้นสร้างความโกลาหลและไม่มีเจ้าเมืองหรือผู้รั้งเมืองใดในช่วงแรกยอมรับกองกำลังทัพของพระเจ้าตากฯ เลยแม้แต่เมืองเดียว มีนายทองอยู่ นกเล็กที่คบคิดกับกรมการเมืองระยองเข้าต้านกองกำลังของพระเจ้าตากสินฯ แล้วหนีไปตั้งมั่นอยู่เมืองชลบุรี “คอยทำร้ายข่มเหงอาณาประชาราฎรผู้หาที่พึ่งมิได้..เป็นเสี้ยนหนามคอยสะกัดตัดทางทางสัญจรคนทั้งปวง” จึงยกกองทหารจากเมืองระยองไปปราบนายทองอยู่ นกเล็ก ซึ่งน่าจะมีอำนาจควบคุมทั้งเมืองได้และต่อมาจึงตั้งเป็นเจ้าเมืองชลบุรีที่ “พระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุท” ซึ่งเป็นช่วงเวลาห่างจากเริ่มเดินทัพราว ๔ เดือน และน่าที่ทัพพม่าจะเริ่มเดินทางกลับไปทำศึกกับจีนทางตอนเหนือ และกองกำลังที่เฝ้าอยู่ ณ ปากน้ำหรือจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ คงเริ่มถอนกำลังออกไปจนพระเจ้าตากฯ สามารถขี่ช้างเลียบเมือง พำนักยังเก๋งจีน และสถาปนานายทองอยู่ นกเล็กและพรรคพวกเป็นเจ้าเมืองชลบุรีหรือบางปลาสร้อยได้ ซึ่งนายทองอยู่ นกเล็กนี้ ยังก่อความเดือดร้อนจนต้องปราบจับประหารในช่วงที่พระเจ้าตากสินฯ นำทัพเรือกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยา
เป็นที่ทราบดีแล้วว่า บริเวณย่านเมืองชลบุรีในเวลาต่อมานั้นมีเมืองสำคัญชายฝั่งทะเลอยู่ ๔ แห่งคือ “เมืองบางปลาสร้อย” ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมืองชลบุรีในปัจจุบันนี้ “เมืองบางพระเรือ” หรือ บางพระในย่านศรีราชาและเกาะสีชัง ซึ่งถือเป็นจุดพักสำคัญในการเดินเรือ “บางทราย” ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองศรีพโลที่น่าจะเก่าไปถึงสมัยอยุธยาตอนต้นๆ และ “บางละมุง” ซึ่งมีปากคลองยางใช้พักสินค้าต่อมาย่านชุมชนคือแถบบ้านนาเกลือ และเขาทัพพระยาจนกลายเป็นพัทยาในเวลาต่อมา เมืองทั้งสี่แห่งล่วนเป็นเมืองในจุดพักสินค้าและการเดินเรือทางทะเลที่เป็นการค้าสำเภา ใช้การเดินเรือเลียบชายฝั่งทั้งสิ้น และเป็นที่รู้จักกันดีในเส้นทางการเดินเรือมากกว่าการใช้เส้นทางบก
แผนที่แสดงบริเวณลุ่มน้ำระยองหรือลุ่มน้ำคลองใหญ่ ที่มีบ้านค่ายและบ้านเก่ารวมทั้งชุมชนเก่าแก่อื่นๆ น่าจะอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางถึงปลาย เป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์กว่าลำน้ำสายอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออก และรูปแบบของบ้านเมืองดั้งเดิมนั้นมักจะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ภายใน ซึ่งในสมัยหลังที่ตั้งเมือง ซึ่งผู้รั้งเมืองมักจะเป็นคนจีนจะตั้งเมืองที่ใกล้กับปากน้ำเพื่อสะดวกในการทำกินชายฝั่งทะเลและค้าขาย
ดังนั้น หากจะเดินทัพผ่านไปยังบางปลาสร้อยและหัวเมืองชายฝั่งทะเล ซึ่งน่าจะมีประชากรอยู่ไม่มากและการเดินทางบกถือว่าห่างไกล แม้ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ ก่อนจะมีความนิยมการผักผ่อนตามชายหาดทะเล การที่ทัพพระเจ้าตากฯ จะเดินทางผ่านไปยังบางปลาสร้อยแล้วเลียบทะเลไปยังบ้านนาเกลือ พัทยา นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ แล้วเดินทางไปเมืองระยองที่ย่านปากน้ำระยองหรือคลองใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางบกแต่เลียบชายฝั่งทะเลในระยะทางทั้งสิ้นประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร
อีกทั้งระยะทางไปยังนาเกลือ นาจอมเทียน และสัตหีบ เขตเมืองบางละมุงแล้วจึงวกเลียบชายฝั่ง ผ่านบ้านพลา มาบตาพุดเข้ามายังเมืองระยองยังเป็นการเดินทางที่อ้อมไกล มีชุมชนเบาบาง เพราะไม่ใช่พื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารและแหล่งน้ำ และโดยปกติผู้คนทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่ใช้วิธีการเดินทางไกลเช่นนี้ และกล่าวถึงนายกล่ำหรือนายกลมที่เป็นหัวหน้าชุมชนที่อยู่ห่างไกลมีกำลังไม่มาก ออกต่อต้านแต่กลายมาเป็นพวกในภายหลัง นำพาไปจนถึงพัทยา นาจอมเทียนในระยะทางที่ห่างกันกว่า ๑๐ กิโลเมตรและเป็นเส้นทางเลียบชายฝั่ง จากนั้นไม่ปรากฎนามอีกเลย
หรือจะเลือกเดินทางตัดข้ามเขตป่าดงและที่สูงเข้าสู่แอ่งที่ราบคลองใหญ่หรือแม่น้ำระยองที่กว้างขวางกว่าแอ่งที่ราบอื่นๆ มีความอุดมสมบูรณ์ มีชุมชนผู้คนอยู่อาศัยกันหนาแน่นกว่าย่านบ้านเมืองอื่นๆ และที่สำคัญคือ พม่ายังไม่ได้เข้ายึดครอง
หลังจากเสร็จศึกใหญ่ในแถบย่านอำเภอราชสาส์นปัจจุบันกับพม่าที่ประจำคุมอยู่ ณ ปากน้ำโจ้โล้ ทัพจากกรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าตากสินฯ น่าจะเลือกเดินทางโดยใช้แนวคลองหลวงหรือลำน้ำพานทงอจากจุดที่เป็นต้นคลองพานทองที่เมืองพระรถในอำเภอพนัสนิคมปัจจุบัน ตัดไปยังชุมชนเก่าภายในอันเป็นเมืองสมัยทวารวดีเช่นกัน ซึ่งเส้นทางนี้เป็นเส้นทางท้องถิ่นเก่าแก่ที่ใช้เดินทางเข้าสู่ชุมชนภายในและผ่านไปยังหัวเมืองและชายฝั่งทะเลทางตะวันออกได้ไม่ยาก และคนในพื้นที่น่าจะรู้จักการเดินทางเข้าสู่ชุมชนภายในแผ่นดินนี้ ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า “เมืองพญาเร่” ในอำเภอบ่อทอง แล้วตัดลงบ้านค่ายที่เป็นอำเภอบ้านค่าย ในจังหวัดระยองปัจจุบัน
ที่อำเภอบ่อทองนี้มีศาลใหญ่นอกเมืองเรียกว่าศาลเจ้าพ่อพญาเร่ ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนอนุบาลบ่อทอง มีการบันทึกตำนานเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เจ้าพ่อพญาเร่ร่วมกับพรรคพวกเพื่อชายฉกรรจ์สมัครเป็นคนในกองทัพของพระเจ้าตากฯ และเสียชีวิตที่บริเวณนี้จึงมีการตั้งศาลให้ ซึ่งในแถบนี้ยังมีเรื่องเล่าคล้ายกันอีก คือเป็นทหารของพระเจ้าตากฯ ที่เสียชีวิตและได้สร้างศาลไว้อีกสถานที่หนึ่งคือ “ศาลเจ้าพ่อเขากา” ศาลเดิมเคยอยู่ในบริเวณบ้านท่าคานต้นลำน้ำสียัด ปัจจุบันถูกน้ำท่วมในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสียัด อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา
เจ้าพ่อพญาเร่ ซึ่งชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่าเป็นทหารของทัพพระเจ้าตาก มาเสียชีวิตแถบนี้ ศาลเจ้าพ่อพญาเร่ อยู่ในโรงเรียนอนุบาลบ่อทอง อยู่ติดกับเมืองโบราณยุคทวารวดี เมืองพญาเร่ อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี
สถานที่ทั้งสองแห่งถือเป็นความทรงจำติดสถานที่ซึ่งเป็นคำบอกเล่าของชาวบ้านนอกเส้นทางพระราชพงศาวดาร แต่อยู่ในพื้นที่ป่าดงในเขตภายใน และนึกหาสาเหตุไม่ได้เลยว่าทำไมจึงมีเรื่องเล่าเช่นนี้ติดสถานที่อยู่ในเขตป่าเขาห่างไกล มีชุมชนอยู่อาศัยตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่เมื่อไม่นาน ชาวบ้านกราบไหว้บูชาโดยเชื่อว่า “เจ้าพ่อ” [Guardian spirit] ทั้งสองนี้เคยเป็นทหารของทัพพระเจ้าตากฯ
ในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงจากสัตหีบแล้วเดินทางประทับที่ “หินโด่ง” รุ่งขึ้นประทับแรม “น้ำเก่า” ที่ซึ่งผู้รั้งและกรมการเมืองระยองออกมารับเสด็จ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าตากฯ ในท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยที่พยายามหาที่ตั้งของสถานที่ในเขตย่านเมืองระยองทั้งสองแห่งนี้ ล้วนไม่แน่ใจว่าทำไมจึงไม่เข้าเมืองระยองตามเส้นทางที่มาจากสัตหีบ หากออกมารับเสด็จจะขึ้นเหนือไปตามลำน้ำระยองทำไม เพราะควรจะออกไปรับทางฝั่งตะวันตกของเมืองที่ผ่านมาทางบ้านพลาและมาบตาพุด และนักศึกษาท้องถิ่นหลายท่านสันนิษฐานว่า “หินโด่ง” นั้นคือชื่อที่ชาวบ้านเรียกว่า “หินโค่งหรือโข่ง” หมายถึงหินก้อนใหญ่ บางท่านสันนิษฐานไปว่าน่าจะอยู่ “บ้านสะพานหิน” ใกล้บ้านทับมาทางตะวันตกของเมืองระยอง และ “น้ำเก่า” คือ “บ้านเก่า” ที่อยู่ทางเหนือของเมืองระยองไปราว ๘ กิโลเมตร ริมน้ำคลองใหญ่ ซึ่งดูจะรับกันได้ว่าบ้านสะพานหินอยู่ทางตะวันตกของเมืองระยองให้สัมพันธ์กับการเดินทัพมาทางสัตหีบ
แผนที่เก่ากำหนดชื่อเขาแห่งหนึ่ง สูงราว ๑๓๗ เมตรว่า “หินโข่ง” พบที่หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน [Library of congress] ซึ่งได้มาจากประเทศไทยเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๘ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นแผนที่การบินเฉพาะถิ่น ระวาง ระยอง ๑๐๒-๒๘๑ (๕๔) มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ กรมแผนที่ได้รวบรวมและเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗
แต่แผนที่เก่าซึ่งพบที่หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน [Library of congress] ซึ่งได้มาจากประเทศไทยเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๘ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นแผนที่การบินเฉพาะถิ่น ระวาง ระยอง ๑๐๒-๒๘๑ (๕๔) มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ กรมแผนที่ได้รวบรวมและเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ กำหนดชื่อเขาแห่งหนึ่ง สูงราว ๑๓๗ เมตรว่า “หินโข่ง” เป็นต้นน้ำของคลองหนองคล้าที่มารวมกับคลองช้างตายในย่านบ้านกระเฉด บริเวณเขาหินโข่งนี้สามารถเดินทางตัดลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว ๑๗-๑๘ กิโลเมตร อาจจะออกพื้นที่ราบลุ่มที่บ้านปากป่าก็จะถึง “บ้านเก่า”
จากหินโข่งหรือหินโด่ง พระราชพงศาวดารกล่าวถึงการประทับแรมที่ “น้ำเก่า” ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบริเวณ “บ้านเก่าและวัดบ้านเก่า” อยู่ริมลำน้ำคลองใหญ่ลงมาทางใต้ราว ๕ กิโลเมตร และอยู่เหนือจากเมืองระยองที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพลที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารมาตามลำน้ำราว ๑๑-๑๒ กิโลเมตร นักศึกษาเรื่องพระเจ้าตากฯ ในท้องถิ่นก็ลงความเห็นว่า “น้ำเก่า” คือ “บ้านเก่า” เช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นชุมชนเก่าและมีร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานขนาดใหญ่ริมลำน้ำแห่งหนึ่ง ที่น่าจะเคยเป็นชุมชนขนาดใหญ่พอกับทางวัดบ้านค่าย แต่จากซากฐานเจดีย์และรูปแบบพระอุโบสถและหอไตรกลางน้ำอาจจะไม่เก่ามากเท่า ซึ่งน่าจะร่วมสมัยกับวัดเก่าอื่นๆ ในเขตที่ราบลุ่มเมืองระยองอีกหลายแห่ง
หรือจากหินโข่งอาจจะตัดเข้าสู่บ้านค่ายที่บ้านตีนเนิน บ้านท่าฉนวนเข้าสู่บ้านค่ายที่อยู่เหนือขึ้นไปตามลำน้ำคลองใหญ่หรือลำน้ำระยองจากบ้านเก่าราว ๑๐ กิโลเมตร ในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ทั้งสองคำคือ “บ้านไข้” ตามสำเนียงคนระยองแถบนี้ และมีการกล่าวถึง “นายชื่น บ้านค่าย” ที่เป็นนายชุมนุมในย่านหัวเมือง ทั้งเป็นเพื่อนกับ “นายบุญมา แขนอ่อน และนายทองอยู่ นกเล็ก” บ้านค่ายเป็นวัดเก่าแก่อาจจะเก่าที่สุดในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำระยองนี้น่าจะเป็นสถานที่ตั้งของเมืองระยองเก่าที่อยู่เข้าไปภายใน ซึ่งหัวเมืองชายฝั่งมักจะมีรูปแบบของเมืองที่อยู่ภายในซึ่งมีอายุเก่ากว่าและเมื่อมีการค้าทางทะเลและมีกลุ่มคนจีนเข้ามาค้าขายก็มักจะตั้งเมืองใหม่ย้ายไปอยู่ที่ปากน้ำโดยเฉพาะในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย
วัดบ้านค่ายนี้พบโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูปยืนทำจากหินทราย ใบเสมาหินทรายที่น่าจะมีอายุไปถึงสมัยอยุธยาตอนต้นหรือกลางและดูจะเก่ากว่าย่านชุมชนหรือวัดดั้งเดิมอื่นๆ ในที่ราบลุ่มเดียวกันรวมทั้งวัดในย่านเมืองระยองปากน้ำที่มีอายุอยู่ในช่วงอยุธยาตอนปลายทั้งสิ้น และยังพบว่ามีศาลเจ้าแม่หลักเมือง ซึ่งเป็นศาลหลักเมืองแบบเก่า ก่อนที่จะมีความนิยมสร้างศาลหลักเมืองแบบจีนและมักจะเรียกว่าเจ้าพ่อหลักเมืองกันเสียมากกว่า นักวิชาการเช่นอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม สันนิษฐานว่า ศาลหลักเมืองที่เป็นเพศหญิงนี้น่าจะเป็นการแสดงถึงกลุ่มชุมชนดั้งเดิมที่เป็นกลุ่มเก่าคือ “ชาวชอง” ที่นับถือให้ความสำคัญทางฝ่ายหญิง เช่นเดียวกับศาลเจ้าแม่กาไวที่เมืองเพนียด ในจังหวัดจันทบุรี
ภาพซ้าย. โบราณวัตถุพระพุทธรูปหินทราย ปางขัดสมาธิ อายุสมัยน่าจะอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่วัดบ้านค่าย จังหวัดระยอง
ภาพขวา. ใบเสมาหินทรายที่วัดบ้านค่าย
ทั้งสามสถานที่ในย่านนี้คือ บ้านละหาร วังสามพญา และหนองน้ำขาวที่บ้านค่ายล้วนมีเรื่องเล่าติดสถานที่เกี่ยวกับการยกทัพมาถึงของพระเจ้าตากสินฯ ทั้งนั้น คนบ้านค่ายจัดสร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้วตามตำนานความเชื่อที่สืบทอดตกกันมา แม้จะไม่มีบันทึกถึงการเดินทัพผ่านเส้นทางนี้เลยในพระราชพงศาวดารก็ตาม ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ในปัจจุบันตั้งอยู่ใกล้กับแนวทำนบเก่าที่แทบไม่มีร่องรอยหลงเหลือแล้ว สอบค้นได้ว่าเป็นแนวทำนบเพื่อจัดการน้ำทางการเกษตรที่ชาวบ้านและข้าราชการการปกครองร่วมกันสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕
อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ในท้องถิ่นมักจะหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงการเสด็จมาของสมเด็จพระเจ้าตากฯ ที่บ้านค่ายตามความเชื่อที่ตกทอดกันมาของคนท้องถิ่น เพราะเป็นตำแหน่งที่ไม่พ้องกับเส้นทางในพระราชพงศาวดาร
เมืองระยองถือว่าเป็นที่ตั้งสำคัญที่พระเจ้าตากฯ ตั้งค่ายรวบรวมผู้คนและใช้ยุทธวิธีต่างๆ ทั้งการปราบด้วยกำลัง การเกลี้ยกล่อมให้อ่อนน้อม การหว่านล้อมกึ่งร้องขอ เช่น ส่งนายบุญมี นายบุญรอด แขนอ่อน นายบุญมา น้องเมียพระยาจันทบูรไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองจันทบูรให้ร่วมเป็นพวก นายบุญเมืองผู้้รั้งเมืองบางละมุงและเป็นมหาดเล็กเดิม ซึ่งชอบพอคุ้นเคยกับพระยาจันทบูร รับหนังสือจากฝ่ายพม่าที่โพสามต้นเพื่อจะส่งไปให้พระยาจันทบูรเข้าไปสวามิภักดิ์ จึงจับตัวไว้และส่งคืนพระยาจันทบูรโดยไม่ได้ทำอันตราย เป็นการชักชวนเกลี้ยกล่อมพระยาจันทบูรให้เข้าเป็นพวกอีกทางหนึ่ง อนึ่ง เมืองบางละมุงนี้อยู่ต่อแดนกับเมืองบางพระและเมืองบางปลาสร้อย บ้านบางละมุงอยู่ทางเหนือ ทั้งบ้านนาเกลือ พัทยา และบ้านนาจอมเทียนรวมถึงสัตหีบที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารต่างอยู่ในเขตการปกครองของเมืองบางละมุง จากเหตุการณ์นี้จึงถือได้ว่าทั้งเจ้าเมืองบางปลาสร้อยและเจ้าเมืองบางละมุงต่างอยู่ใต้การควบคุมของพม่าและต่อต้านทัพพระเจ้าตากฯ แน่
ในช่วงเวลาที่ตั้งค่ายอยู่เมืองระยองนี้ยังให้พระพิชัยและนายบุญมีเดินทางไปเมืองปากน้ำพุทไธมาศหรือฮ่าเตียน เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือเพื่อจัดทัพเข้าไปกู้กรุงฯ จากพระยาราชาเศรษฐี (ญวน) หรือ “มักเทียนตื้อ” ออกไปปราบ “นายทองอยู่ นกเล็ก” ที่เมืองชลบุรี รวมทั้งนำกองทหารไปปราบผู้ที่ไม่เข้าร่วมทัพในรัศมีของเมืองระยองทั้งที่ “บ้านค่าย” ที่ยังเขียนว่า “บ้านไข้” ซึ่งเป็นการเขียนที่คงตามเสียงคนท้องถิ่นที่สืบเนื่องมาจนถึงในเอกสารเมื่อราวรัชกาลที่ ๕ ย่านชุมชนสำคัญใกล้ชายฝั่ง บ้านกร่ำ (เอกสารเก่าเขียนว่า บ้านกล่ำ) บ้านแกลงไปจนถึงย่านชุมชนแถบริมน้ำประแส ซึ่งเสด็จไปด้วยตนเอง
จากข้อความนี้จึงเห็นได้ว่าพระเจ้าตากฯ เสด็จผ่านเส้นทางระหว่างเมืองระยองไปจนถึงชุมชนในย่านลำน้ำประแส เป็นการใช้เส้นทางท้องถิ่นอย่างน้อยสองสามเที่ยว ทั้งในครั้งนี้และการเสด็จทางบกไปยึดเมืองจันทบูร โดยใช้กำลังเข้าปราบปรามพวกกรมการเมืองระยองที่หนีออกจากเมืองไป เช่น พวก “ขุนราม หมื่นซ่อง” ซึ่งหนีออกจากเมืองระยองไปอยู่ ณ บ้านแกลง บ้านกร่ำจนถึงประแส และในนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่กล่าวว่าเมืองแกลงหรือบ้านแกลงอยู่ก่อนถึงบ้านกร่ำ
บัลลังก์ที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์นำมาไว้ที่หอสมุดวชิรญาณ กรุงเทพฯ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ
ตั่งวางเท้าที่ไม่ได้นำไปด้วย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดราชบัลลังก์ฯ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ซึ่งจากบ้านกร่ำไปจนถึงประแสมีชุมชนบ้านเก่าหลายแห่งและใช้เส้นทางติดต่อที่เป็นทางเกวียนและลำน้ำสาขาของแม่น้ำประแส ชุมชนเก่าที่ทะเลน้อยคือวัดทะเลน้อยหรือวัดราชบัลลังก์ปฏิฐาวราราม ซึ่งเป็นนามที่ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์” (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์-ซึ่งต้นราชสกุลท่านมีเชื้อสายสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กล่าวกันว่าท่านได้รับมรดกตกทอดมาจากต้นตระกูลท่านเป็นตั่งหินอ่อนและสิ่งของอีกหลายชิ้นที่ยังเก็บรักษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศฯ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระสุคุณคณาภรณ์ ผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรีและเจ้าคณะมณฑลจันทบุรี เสด็จตรวจราชการการศึกษาในมณฑล เดินทางด้วยเรือรบหลวง สำรวจพบแท่นบัลลังก์แกะสลักลวดลายแบบจีนและไทย ดูฝีมือช่างเป็นของหลวง และได้รับการบอกเล่าจากพระสงฆ์ในพื้นที่ว่า เป็นแท่นที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ประทานมาให้ จึงขอนำไปเก็บรักษายังหอสมุดวชิรญาณ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งชาวบ้านทะเลน้อยยังจำคำบอกเล่าสืบกันมาว่านำพระแท่นบัลลังก์นี้ไปขึ้นเรือรบนำไปกรุงเทพฯ ตามบันทึกคือ เรือกลไฟหลวงชื่อ “กันยาประเวศน์” โดยท่านลืม “ตั่ง” เล็กสำหรับวางเท้าไว้ไม่ได้นำไปด้วย ดังทางวัดราชบัลลังก์ฯ ในปัจจุบันจึงยังเก็บรักษาตั้งขนาดเล็กสำหรับวางเท้าไว้ที่วัด ซึ่งลวดลายนั้นเป็นฝีมือช่างเดียวกัน วันที่เสด็จตรวจราชการมายังวัดต่างๆ ในเมืองแกลงคือวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ และตั้งชื่อวัดทะเลน้อยเป็นนามใหม่ที่มีคำ “ราชบัลลังก์” ที่ตั้งอยู่ในอารามอันดีงามในชื่อวัดคราวนั้นด้วย
โบสถ์เก่าที่แปลงเป็นวิหารในปัจจุบันที่วัดราชบัลลังก์ปฏิฐาวราราม รูปแบบวิหารเช่นนี้ถือว่าเป็นรูปแบบเอกลักษณ์ของชุมชนในเขตลุ่มน้ำระยองจนถึงแม่น้ำประแสทีเดียว
อนึ่ง วัดราชบัลลังก์ฯ นี้เมื่อตรวจสอบโบราณวัตถุต่างๆ ที่อยู่ในวัดพบว่ามีเครื่องถ้วยและเข้าของเครื่องใช้สำหรับวัดที่เป็นสิ่งของนำเข้าจากเมืองจีนจำนวนมากจนถือได้ว่าเป็นวัดที่ร่ำรวยวัตถุแห่งหนึ่งทีเดียว เช่น เครื่องถ้วยมีฝาเบญจรงค์ก็เป็นของรุ่นอยุธยาตอนปลาย และเครื่องถ้วยลายครามจากเตาฟู้เจี้ยน ซึ่งน่าจะต่อเนื่องมาจนถึงอายุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภาชนะสำริดและทองเหลืองก็เป็นของรุ่นเก่าและมียี่ห้อภาษาจีนกำกับ
เครื่องถ้วยแบบมีฝาปิดที่นิยมกันในสมัยปลายอยุธยาและสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเครื่องถ้วยจากมณฑลฟูเจี้ยนเป็นส่วนใหญ่
และนามเต็มที่ตั้งชื่อไว้คือ “วัดราชบัลลังก์ปฏิฐาวราราม” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตและปรากฎอยู่ในแผนที่เก่า ต่อมาน่าจะถูกแปลงเป็นบาลีคือ “วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาวราราม” ในปัจจุบันชาวบ้านคงไว้เพียงชื่อ “วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม”
กระโถนแบบไทยที่สั่งผลิตเป็นลายครามแบบจีน
ทัพพระเจ้าตากฯ ใช้เวลาพักรอ เกลี้ยกล่อม ปราบปราม รวมรวมไพร่พลอยู่ที่เมืองระยองก่อนที่จะรวบรวมไพร่พลสรรพกำลังก่อนตัดสินใจเข้าตีเมืองจันทบูรโดยใช้เวลากว่า ๔ เดือน นานกว่ารอการต่อเรือที่เมืองจันทบูรหลังเข้าตีจันทบูรและตราดได้แล้ว โดยพระราชพงศาวดารที่ชำระขึ้นภายหลัง เช่น ฉบับพระราชหัตถเลขาว่าใช้เวลาราว ๓ เดือน นั่นหมายถึง “เมืองระยอง” เป็นจุดยุทธศาสตร์และฐานที่มั่นสำคัญในการตั้งทัพอยู่ในหัวเมืองภาคตะวันออก
การนำเสนอข้อมูลและการวิเคราะห์จากการสำรวจในพื้นที่ตามเส้นทางเดินทัพเหล่านี้ ล้วนเป็นข้อสังเกตถึงความน่าจะเป็น ซึ่งมีข้อสังเกตว่าเนื้อหาการบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แม้จะมาจากฉบับที่เชื่อถือกันมากที่สุดคือ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งวิเคราะห์กันมากว่าน่าจะเขียนพระราชพงศาวดารนี้ขึ้นในช่วงปลายรัชกาลราว พ.ศ. ๒๓๒๐ เป็นต้นไป เวลาห่างจากเหตุการณ์กว่า ๑๐ ปี ส่วนไพร่พลที่เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จะร่วมให้ปากคำรายละเอียดของข้อมูลอย่างถูกต้องมากน้อยเท่าใดนั้นประเมินได้จากการเขียนรายละเอียดต่างๆ ซึ่งในช่วงระยะแรกมีการบันทึกวันเวลาค่อนข้างละเอียด ตำแหน่งของบ้านหรือชุมชนที่เดินทัพผ่านค่อนข้างแม่นยำ ส่วนในระยะหลังความถูกต้องของวันเดือนปีหายไปจนต้องคาดเดาหลายแห่ง
เครื่องเบญจรงค์เขียนลายเทพพนมและนรสิงห์ น่าจะผลิตขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
แต่ที่น่าสังเกตและสงสัยก็คือ หลังจาก “ตะพานทอง” หรือ “พานทอง” ที่น่าจะเป็นบริเวณชุมชนเมืองพระรถในอำเภอพนัสนิคมในปัจจุบัน พระเจ้าตากฯ ท่านเลือกเสด็จโดยเส้นทางใด จะไปทางบางปลาสร้อยแล้วเลียบชายฝั่งทะเล จากจุดนี้ถึงเมืองระยองตามระยะทางประมาณไม่เกิน ๑๒๐ กิโลเมตร หรือเลือกเดินทางแบบเก่าเข้าไปทางชุมชนภายในที่มีย่านชุมชนรุ่นเดียวกับเมืองพระรถที่เมืองพญาเร่หรือบ่อทอง ซึ่งอยู่ในเขตป่าเขาแล้วตัดเข้าสู่เมืองระยองใช้ระยะทางสั้นกว่าเกือบ ๓๐ กิโลเมตร โดยไม่ต้องหลบหนีทัพพม่าที่อาจจะตั้งสะกัดอยู่ ณ บริเวณจุดยุทธศาสตร์ เช่น บางปลาสร้อยหรือทางใกล้กับปากน้ำบางปะกง ต้องเสี่ยงปะทะเจ้าเมืองบางปลาสร้อยที่ไม่ใช่นายทองอยู่ นกเล็ก และอาจจำเป็นต้องสมยอมกับทัพพม่าแล้วในช่วงเวลานั้น ซึ่งทัพพระเจ้าตากฯ ที่เพิ่งรบพม่าอย่างหนักจะคิดเสี่ยงเดินทางเข้าไปในพื้นที่ซึ่งไม่น่าไว้วางใจในทางยุทธศาสตร์หรือไม่ และจะยอมเสียเวลาไปทางสัตหีบเพื่อเหตุใด เพราะไม่เห็นเหตุผลสำคัญในการนำทัพเสด็จไปมรเส้นทางนี้แต่อย่างใด
ในทัพพระเจ้าตากฯ ซึ่งท่านเองเป็นผู้นำที่ชาญฉลาดในการรบ เป็นผู้นำที่เด็ดขาด และมีกำลังพลที่เป็นขุนนางจากเมืองต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งขุนพิพิธวาทีหรือพระพิพิธ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นขุนนางผู้กว้างขวางในเขตหัวเมืองชายทะเลทางตะวันออก ติดตามมาด้วยในภายหลังและจะกลายเป็นขุนนางผู้มีบทบาทสูงในสมัยกรุงธนบุรี และเป็นเจ้าเมืองผู้นำทั้งเมืองจันทบุรี เมืองตราด ไปจนถึงพุทไธมาศหรือฮ่าเตียน น่าจะคิดพิจารณาเลือกเส้นทางอย่างผู้รู้จักท้องถิ่นและพื้นที่ รวมทั้งการเดินทางแบบทัพกองกำลังขนาดเล็กที่ยังต้องคิดหลบหนีทัพพม่าเพื่อไปตั้งหลักรวมรวมผู้คนมากู้กรุงฯ อีกด้วย
การใช้เส้นทางตามในพระราชพงศาวดารทั้งเสี่ยงอันตรายจากทัพพม่า ทั้งเลียบชายฝั่งทะเลที่ชุมชนเบาบางและชาวบ้านไม่นิยมใช้เส้นทางบกเดินทาง ทั้งระยะทางไกลกว่าเส้นทางที่นิยมใช้เดินทางกันภายใน
เหตุใดจึงต้องใช้การเดินทัพในเส้นทางนี้ นอกเสียจากผู้เขียนพระราชพงศาวดารนี้จะคุ้นเคยกับเส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่ง อันเป็นเส้นทางปกติในการเดินทางสมัยนั้น และบันทึกด้วยเข้าใจผิดไป?
บรรณานุกรรม
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). จดหมายเหตุรายวันทัพ, อภินิหารบรรพบุรุรษ และเอกสารอื่น. พิมพ์ครั้งที่ ๑, กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, ๒๕๕๑.
ศรีศักร วัลลิโภดม และ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การสำรวจเส้นทางเดินทัพและรวบรวมไพร่พลเพื่อกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากพระนครศรีอยุธยาจนถึงเมืองตราด. เอกสารอิเลกทรอนิกส์. http://www.lek-prapai.org/home/view.php?id=5123
ขอบคุณครับ..เป็นการใช้หลักฐานท้องถิ่นที่น่าสนใจ อีกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ชาติ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้ชัดเจนและน่าสนใจมากครับ..
ถูกใจถูกใจ