วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
บทความจากหนังสือเรื่อง “ความทรงจำในอ่าวปัตตานี” พิมพ์ครั้งแรก เมษายน ๒๕๕๓ (April 2010)
เมืองท่าภายในที่ยะรัง
เมืองที่รุ่งเรืองในยุคสหพันธรัฐเมืองท่าศรีวิชัย
ความสำคัญของบ้านเมืองบริเวณคาบสมุทรแถบนี้คือ มีเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่อยู่ในบริเวณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ห่างจากชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินราวๆ ๑๕-๑๖ กิโลเมตร เป็นเมืองสำคัญที่พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเป็นเมืองและพบศาสนาสถานจำนวนมาก อาจจะเป็นชุมชนโบราณที่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานที่ซับซ้อนและใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรมลายูทีเดียว
จากการศึกษาทางโบราณคดีในเขต “บ้านปราแวและบ้านวัด” ในอำเภอยะรัง รวมทั้งระบุถึงการกระจายของแหล่งศาสนสถานกว่า ๓๕ แห่ง ซึ่งผู้บุกเบิกเริ่มต้นศึกษาคือ นายอนันต์ วัฒนานิกร ปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดปัตตานี ได้ทำการศึกษาค้นคว้ามากว่า ๔๐ ปี แสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่และมีการสืบเนื่องที่เห็นได้ชัดเจนกว่าแห่งอื่นๆ ในดินแดนภาคใต้ทั้งหมด

แผนที่แสดงที่ตั้งของเมืองโบราณในลุ่มน้ำปัตตานีที่ยะหา, ยะรังและอ่าวปัตตานี
เมื่อตรวจสอบร่องรอยของลำน้ำก็พบว่า น่าจะมีร่องรอยของลำน้ำเก่าที่มาจากเขตบ้านกรือเซะหรือเมืองปัตตานีในสมัยอยุธยาเข้าถึงชุมชนโบราณในเขตอำเภอยะรังพบว่ามีร่องรอยทางน้ำที่ไปสัมพันธ์กับคลองตุหยงหรือคลองหนองจิกทางฝั่งตะวันตกด้วย แหล่ง แสดงให้เห็นว่าบริเวณชุมชนโบราณนี้คงติดต่อทางทะเลไปตามลำน้ำเก่าดังกล่าวทั้งที่บริเวณเมืองหนองจิกและอ่าวปัตตานีบริเวณบ้านกรือเซะอันเป็นบริเวณที่ตั้งของเมืองปาตานีในระยะต่อมา

แผนที่ตั้งบริเวณเมืองโบราณที่เรียกกันว่า “ลังกาสุกะ” ประกอบด้วย ๓ บริเวณ คือ ๑. บ้านวัด ๒. บ้านจาเละ และ ๓. บ้านปราแว
ชุมชนโบราณแบ่งออกเป็น ๓ บริเวณ มีลักษณะขยายตัวจากทิศใต้สู่เหนือ อาณาบริเวณทั้งสามเมืองอยู่ในพื้นที่ราว ๙ ตารางกิโลเมตร เรียงตามเมืองที่น่าจะมีอายุน้อยที่สุดทางด้านทิศเหนือไปสู่เมืองที่น่าจะมีอายุมากที่สุดต่ำลงมาทางทิศใต้ ได้แก่
– เมืองโบราณบ้านวัด มีการวางระเบียบผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ซับซ้อน ขนาดราว ๘๓๐ x ๘๕๐ เมตร ใช้คูเมืองแบ่งเป็นส่วนต่างๆ โดยกำหนดให้เมืองหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีการจัดแบ่งพื้นที่ค่อนข้างเด่นชัด เช่น ศูนย์กลางเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีกลุ่มโบราณสถานในเมืองและทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้และนอกเมืองกระจัดกระจายอยู่ราว ๒๕ แห่ง
– เมืองโบราณบ้านจาเละ มีลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดราว ๙๕๐x ๘๙๐x ๑๔๗๐ เมตร (ด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้)พบแนวคันดิน กำแพงเมือง คูน้ำด้านทิศเหนือขนานไปกับคูน้ำคันดินของเมืองปราแว ส่วนคูเมืองด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ขุดขึ้นตั้งฉากกับลำน้ำเก่าทางด้านทิศตะวันออก เมืองทั้งสองแห่งซ้อนและเชื่อมกันด้วยแนวลำน้ำ ๒ สาย แนวคูน้ำคันดินทั้งสองเมืองห่างกันราว ๑ กิโลเมตร ศูนย์กลางของเมืองมีสระน้ำขนาดใหญ่ ๑ แห่ง มีโบราณสถานภายในและภายนอกเมือง ๑๑ แห่ง และป้อมมุมเมือง ๒ แห่ง เมืองโบราณบ้านปราแวเชื่อมต่อเมืองโบราณบ้านจาเละด้วย
– เมืองโบราณบ้านปรแว ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดราว ๕๒๐x๕๖๐ เมตร มีแนวคูน้ำ คันดิน กำแพงล้อมรอบ และมีป้อมทั้ง ๔ มุมเมือง ภายในมีโบราณสถาน ๒ แห่ง และมีบ่อน้ำ ๗ แห่ง คำว่า ปราแว สันนิษฐานกันว่าหมายถึง พระราชวัง
ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ หนังสือราชอาณาจักรมลายูปัตตานี [Kerajaan Melayu Patani] โดย อิบราฮิม สุกรี ได้บันทึกเอกสารประวัติศาสตร์ว่า เนื่องจากพระราชวังและบ้านเมืองที่กรือเซะถูกทำลายจนย่อยยับแทบไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ตวนกูลามิเด็นจึงไปสร้างพระราชวังใหม่ที่ โกตาปราวัน บริเวณเมืองโบราณที่ปราแวในปัจจุบัน แม้ตวนกูลามีเด็นจะได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินสยามให้ปกครองปัตตานีก็ตาม แต่ก็ยังคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพของปัตตานีให้กลับคืนมา จึงมอบหมายให้ ดาโต๊ะ ปังกาลัน เป็นผู้ดูแลเมืองที่กรือเซะ รับผิดชอบดูแลกิจการท่าเรือที่ กาแลบือซา (ท่าเรือใหญ่) ใกล้อ่าวปัตตานี เมืองโบราณภายในจึงยังคงมีการอยู่อาศัยสืบเนื่องตลอดมา
กรมศิลปากรขุดแต่งโบราณสถานในกลุ่มโบราณสถานที่บ้านจาเละเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๓๑ กลุ่มที่เลือกศึกษาคือโบราณสถานหมายเลข ๓ เป็นศาสนสถานก่อด้วยอิฐ ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารตอนบนเป็นรูปกากบาท ภายในเป็นห้องขนาดใหญ่พบชิ้นส่วนของพระพิมพ์ดินดิบและสถูปจำลองดินเผาจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบสถูปนั้นไม่เก่าไปถึงสมัยทวารวดี แต่น่าจะร่วมสมัยกับยุคศรีวิชัย บางชิ้นปรากฏหลักฐานมีจารึกตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตที่กล่าวถึงถ้อยคำมงคลทางพุทธศาสนา เศษภาชนะดินเผาชนิดต่างๆ รวมทั้งเศษเครื่องถ้วยเคลือบสีฟ้าอมเขียวแบบเปอร์เซีย
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม พิจารณาหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ก็เชื่อว่า กลุ่มเมืองโบราณที่ยะรังคือเป็นเมืองปัตตานีเก่าและเป็นเมืองที่กล่าวถึงในตำนานมะโรงมหาวงศ์ที่ชื่อ “ลังกาสุกะ” ซึ่งเจริญขึ้นมาร่วมสมัยกับยุคสหพันธรัฐเมืองท่าศรีวิชัย โดยมีพื้นฐานบ้านเมืองแรกเริ่มเก่าไปถึงพุทธศตวรรษที่๑๒ ที่บริเวณเมืองโบราณบ้านวัด ( ศรีศักร วัลลิโภดม. “ปัตตานีในภาพประวัติศาสตร์ศรีวิชัย” เมืองโบราณ (๑๙, ๑) มกราคม-มีนาคม ๒๕๓๖ (๑๙-๓๔))
ดังนั้น “ลังกาสุกะ” คือบ้านเมืองซึ่งเป็นเมืองท่าภายในติดต่อกับโลกภายนอกในกลุ่มสหพันธรัฐศรีวิชัยในช่วงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา และมีความสำคัญต่อบ้านเมืองภายในด้วยกันโดยมีการแลกเปลี่ยนหรือซื้อสินค้าทรัพยากรของป่าและแร่ธาตุและสามารถติดต่อกับกลุ่มเมืองโบราณอีกฝั่งทะเลหนึ่งที่ “หุบเขาบูจัง” [Bujang Valley] ในรัฐเคดาห์หรือไทรบุรีและชุมชนโบราณอื่นๆ ในรัฐเประ โดยการใช้เส้นทางเดินทางข้ามคาบสมุทรผ่านช่องเขาและสันปันน้ำของเทือกเขาสันกาลาคีรี
นักวิชาการรุ่นหนึ่งถกเถียงกันว่า ( นักวิชาการในรุ่นนี้มีแนวคิดที่เชื่อว่าศรีวิชัยเป็นอาณาจักรใหญ่โตที่ปกครองบ้านเมืองบริเวณคาบสมุทรและหมู่เกาะอย่างเบ็ดเสร็จ จึงพยายามค้นหาที่ตั้งของเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่ปรากฏชื่อในจดหมายเหตุต่างๆ และศาสนสถานรวมทั้งความรุ่งเรืองทางศิลปกรรมเพื่อจะยืนยันว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยนั้นอยู่ที่ใด ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดย์ สรุปว่าอาณาจักรเชลิโฟชิ ในจดหมายเหตุจีน หลวงจีนอี้จิง คือ อาณาจักรศรีวิชัยอันเป็นอาณาจักรหนึ่งที่มีอำนาจทางการเมืองมั่นคง มีอาณาเขตกว้างขวางครอบคลุมหมู่เกาะต่าง ๆ บริเวณตอนใต้ของคาบสมุทรมาเลย์ ตลอดขึ้นมาถึงดินแดนบางส่วนของคาบสมุทร โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็มีนักวิชาการ เช่น ราเมชจันทร์ มาชุมดาร์, ควอริทช์ เวลส์ และหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี มีความเห็นว่าศูนย์กลางของศรีวิชัยควรจะอยู่บนคาบสมุทรมาเลย์ โดยเฉพาะหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี มีความเห็นว่า จารึกที่กล่าวถึงอาณาจักรศรีวิชัยที่พบที่ไชยา สุราษฎร์ธานีนั้น เป็นจารึกภาษาสันสกฤตซึ่งตรงกับบันทึกของหลวงจีนอี้จิงในขณะที่จารึกที่พบบนเกาะสุมาตราเป็นภาษามลายูโบราณและการเดินเรือเพียง ๒๐ วัน ของหลวงจีนอี้จิง ควรถึงแค่เมืองไชยา สุราษฎร์ธานี และคงไม่ผ่านเส้นศูนย์สูตรไปถึงเกาะสุมาตราเนื่องจากอยู่ในเขตลมสงบ [Doldrum] รวมทั้งทางภาคใต้ของประเทศไทยก็ได้พบโบราณวัตถุ โบราณสถาน ซึ่งมีลักษณะที่เรียกว่าศิลปกรรมแบบศรีวิชัยมากกว่า ) ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ไหน ที่ปาเลมบังและจัมบีในเกาะสุมาตราหรือที่ไชยาในสุราษฎร์ธานีหรือที่เมืองอื่นๆ เพราะเชื่อกันว่า ศรีวิชัยเป็นอาณาจักใหญ่โต มีอำนาจทางการเมืองและการค้าครอบคลุมบ้านเมืองในหมู่เกาะและคาบสมุทรมลายู เพราะวิธีคิดของนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า อาณาจักรที่ใหญ่โตนั้นน่าจะมีเมืองที่เป็นศูนย์กลางซึ่งมีกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ปกครองอยู่ ขนาดของบ้านเมืองใหญ่โตและศาสนสถานของเมืองก็ใหญ่โตตามไปด้วย
แต่ในระยะหลัง ราวครึ่งหลังทศวรรษที่ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา มีผู้เสนอแนวคิดในการมองภาพศรีวิชัยใหม่ โดยเสนอว่า ศรีวิชัยคือเครือข่ายบ้านเมืองที่ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน อินเดีย กับเมืองท่าต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจการค้าในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่ลักษณะทางศิลปกรรมในความเชื่อทางศาสนาพุทธแบบมหายานร่วมกัน ซึ่งแสดงออกได้ในหลายรูปแบบ เช่น การนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือการใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาสำคัญทางศาสนา เมืองท่าต่างๆ เหล่านี้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่มีศูนย์กลางอยู่ในหลายแห่งตามเมืองสำคัญต่างๆ ทั้งในหมู่เกาะและคาบสมุทรในลักษณะ “เมืองท่าทางการค้า” [Port polities] ( เครือข่ายเมืองท่าหรือ Port polity ซึ่งแตกต่างจาก Port city หรือเมืองท่าโดยทั่วไป เพราะหมายถึง เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งคาบเกี่ยวกับทางการเมืองด้วย สามารถสร้างผลกำไรหรือผลประโยชน์ให้กับรัฐ [State] และแลกเปลี่ยนติดต่อทางการค้าและวัฒนธรรม ผู้ปกครองควบคุมสินค้าแลกเปลี่ยนต่างๆ ทั้งบ้านเมืองภายในและภายนอก ทำให้มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจอยู่ในมือด้วย ) ซึ่งหมายถึงเป็น “สหพันธรัฐเมืองท่า” ที่มีหลายศูนย์กลางและเคลื่อนย้ายไปตามช่วงเวลา ( แนวคิดเรื่องเมืองที่มีหลายศูนย์กลาง ซึ่งการเมืองของความสัมพันธ์นั้นเรียกว่าระบบมณฑล หรือ Mandala ซึ่งแตกต่างไปจากความสัมพันธ์ระหว่างเมืองใหญ่ที่ศูนย์กลางซึ่งปกครองเมืองขนาดเล็กๆ ให้ขึ้นตรงในลักษณะอาณาจักรที่มีกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เป็นผู้ปกครองเพียงองค์เดียว ความสัมพันธ์นี้เป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์แบบเครือญาติโดยใช้การแต่งงานทำให้เกี่ยวดองหรือเป็นญาติกัน หรือ Cognatic relationship ซึ่งเสนอโดยนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สำคัญผู้หนึ่งคือ ศ.โอ.ดับบิลยู. โวลเตอร์ส [Prof. O.W Wolters] โปรดดูใน History, Culture and Region in Southeast Asian Perspectives. Institute of Southeast Asian Studies, 1982. ) ลักษณะทางการค้าและความก้าวหน้าของการเดินทางติดต่อรวมถึงความสามารถของผู้นำของบ้านเมืองแต่ละแห่ง
ที่ตั้งของชุมชนโบราณที่บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านปราแว สะท้อนให้เห็นว่ามีลักษณะของการเป็นเมืองท่าที่อยู่เข้ามาในลำน้ำใหญ่ ไม่อยู่ติดชายทะเล การตั้งเมืองใหญ่เป็นเมืองท่าภายในเช่นนี้ มักพบเห็นได้ทั่วไปในช่วงระยะเวลานั้น เช่น ในกรณีเมืองท่าภายในสมัยทวารวดีในภาคกลางช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ลงมา เช่น เมืองคูบัว เมืองนครปฐมโบราณ เมืองอู่ทอง เมืองศรีมโหสถ เป็นต้น มักอยู่ริมลำน้ำใหญ่ห่างไกลเข้ามาในแผ่นดินมากพอสมควร ( เหตุผลมีหลายประการ เพราะบริเวณปากแม่น้ำพื้นดินมีลักษณะสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่น้ำมักท่วมในฤดูน้ำหลากและแห้งแล้งในฤดูร้อน การควบคุมการเพาะปลูก เช่น ข้าวยังทำไม่ได้มากนัก อีกทั้งตะกอนดินยังไม่สูงมากพอที่จะตั้งชุมชนขนาดใหญ่ ปากน้ำจึงเป็นเพียงสถานีการค้าย่อยๆ เท่านั้น การตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ภายในก็เหมาะสมต่อความมั่นคงจากผู้รุกรานทางทะเลหากเกิดสถานการณ์เช่นนั้น และเหตุผลที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ รูปแบบการค้าทางทะเลหรือการค้าเลียบชายฝั่งในยุคแห่งการค้านั้นเพิ่งเริ่มต้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ และรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ จึงเกิดเมืองท่าขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้หรือประชิดกับชายฝั่งทะเลเพื่อค้าขายตามชายฝั่งตลอดทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
เมืองโบราณที่ยะรังนี้ในภายหลังปรับเปลี่ยนลัทธิความเชื่อทางศาสนาจากพุทธมหายานและฮินดูมาเป็นอิสลามและเปลี่ยนศูนย์กลางของบ้านเมืองมาอยู่ที่เมือง ปาตานี ริมอ่าวใกล้ปากแม่น้ำปัตตานี บริเวณบ้านตันหยงลูโละ บานาและกรือเซะในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเมืองท่าสำหรับการค้าทางทะเลโดยตรงที่สืบเนื่องมาจากเมืองท่าภายใน ลังกาสุกะ ที่ยะรังนั่นเอง
“ปตานี” นครรัฐริมอ่าวชายฝั่งทะเล
“เส้นทางข้ามคาบสมุทรมลายู” มีอยู่ด้วยกันหลายสายและมีอายุเก่าแก่ไปจนถึงต้นพุทธศตวรรษ เพราะพบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็ก เส้นทางเหล่านี้เชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางติดต่อระหว่างแหล่งอารยธรรมของโลกสองเขต คือ กรีก โรมัน อินเดีย อาหรับทางตะวันตกและจีนทางตะวันออก การเดินเรือเลียบชายฝั่งในยุคเริ่มแรกนั้นเมื่อจะต้องผ่านคาบสมุทรมลายู การเดินทางในยุคแรกๆ นั้นใช้วิธีขึ้นบกแล้วเดินทางผ่านข้ามฝั่งมหาสมุทรจากอันดามันสู่อ่าวไทยและทะเลจีนใต้แล้วต่อเรือในอีกฝั่งหนึ่ง
เมื่อเส้นทางข้ามคาบสมุทรหมดความสำคัญลงในเวลาต่อมา เพราะการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกานั้นสามารถทำได้ดีขึ้นหรือสะดวกกว่าในอดีตโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพาหนะแล้วต้องเดินทางบกข้ามเขามาตามลำน้ำซึ่งมีอันตรายและใช้เวลามาก คนในท้องถิ่นจึงใช้เป็นเส้นทางติดต่อภายในระหว่างชุมชนบ้านเมืองในคาบสมุทรและกลายเป็นเส้นทางภายในท้องถิ่นมากกว่าที่จะใช้เพื่อการค้าระหว่างภูมิภาคดังในระยะเริ่มแรก
อาคารโบราณสถานที่น่าจะเป็นฐานของสถูปเจดีย์เนื่องในพุทธศาสนาแบบมหายาน และชิ้นส่วนสถูปจำลองที่พบเป็นจำนวนมากในบริเวณใกล้เคียงและจากการขุดแต่งทางโบราณคดี
เมื่อเปรียบเทียบจากหลักฐานโบราณคดีก็พบว่า บริเวณเมืองท่าทางฝั่งอันดามันที่มีการติดต่อหรือการค้าลูกปัดและสินค้าอื่นๆ ในเส้นทางข้ามคาบสมุทรตอนบนนั้นมีความเก่าแก่กว่าเส้นทางในบริเวณเมืองไทรบุรีหรือเคดาห์ที่ข้ามมาสู่ที่ราบลุ่มปัตตานีอยู่มาก เพราะมีหลักฐานที่โยงไปถึงช่วงเวลาในต้นพุทธกาลและรูปแบบของลูกปัดที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าก็มีความหลากหลายในอิทธิพลทางวัฒนธรรมความเชื่อจากแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลก เช่น อียิปต์ กรีก โรมัน อินเดีย เป็นต้น ( ดูรูปแบบลูกปัดและโบราณวัตถุที่พบในคาบสมุทรภาคใต้ใน , บัญชา พงษ์พานิช. รอยลูกปัด สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพฯ ,๒๕๕๒)
ส่วนบริเวณเส้นทางข้ามคาบสมุทรตอนล่างบริเวณเคดาห์หรือไทรบุรีซึ่งปรากฏกลุ่มโบราณสถานและชุมชนที่หุบเขาบูจังในเทือกเขาเจไรใกล้ปากแม่น้ำเมอร์บก [Sugai merbok] ในเคดาห์ ผ่านต้นน้ำบริเวณสันปันน้ำของเทือกเขาสันกาลาคีรีเดินทางผ่านหุบเขาและที่สูงลงสู่ที่ราบลุ่มของลุ่มน้ำปัตตานีและสายบุรีมีหลักฐานพบจันทิในศาสนาฮินดูหลายแห่งและโบราณวัตถุในพุทธศาสนาคติมหายานตลอดจนเครื่องถ้วยแบบเปอร์เซียอาหรับซึ่งทำให้เห็นว่ามีการเดินทางติดต่อและค้าขายจากบ้านเมืองในอาหรับและอินเดียสู่เมืองท่าบริเวณนี้ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕
เมืองโบราณที่ยะรังซึ่งมีร่องรอยของการอยู่อาศัยในระยะเวลานานและมีการสร้างแนวกำแพงเมืองเหลื่อมหรือซ้อนทับในบางส่วน และย้ายตำแหน่งตัวเมืองในพื้นที่ราว ๙-๑๐ ตารางกิโลเมตรในช่วงเวลายาวนานก่อนเมืองโบราณริมชายฝั่งทะเลที่อ่าวปัตตานีจะเกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ มีแนวเส้นทางน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลแต่ถูกปรับเปลี่ยนทางเดินของน้ำจนเห็นว่าแม่น้ำปัตตานีในปัจจุบันนั้นอยู่ห่างกลุ่มเมืองโบราณที่ยะรังกว่า ๑๕-๑๖ กิโลเมตร
เมื่อภูมิภาคนี้พัฒนาจากยุคการค้าโบราณในสมัยศรีวิชัย ซึ่งมีการค้าขายกับหมู่เกาะต่างๆ และบ้านเมืองทางจีนและอินเดีย มาสู่ยุคการค้าทางทะเลในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ พื้นที่บริเวณต่ำกว่าจังหวัดสงขลาลงมาจนถึงตากใบ ในจังหวัดนราธิวาส มีลำน้ำหลายสาย ได้แก่ ลำน้ำ จะนะ เทพา หนองจิก ปัตตานี สายบุรี และโกลก แต่บริเวณปากน้ำปัตตานีที่มีอ่าวและแหลมยื่นออกไปกำบังลมทะเลมีภูมิสัณฐานดีกว่าในบริเวณปากน้ำทั้งหมดและมีทั้งพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงกว้างขวางเหมาะแก่การเพาะปลูก ในขณะที่ชายฝั่งทะเลมีทั้งบริเวณที่เป็นสันทรายเหมาะแก่การตั้งเมืองท่าริมทะเลโดยอาศัยเวิ้งอ่าวปัตตานีเป็นที่จอดพักเรือสินค้า ในเส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่งที่เป็นเส้นทางค้าสำคัญของภูมิภาคและของโลกในยุคนั้นก็ว่าได้
จึงไม่น่าแปลกแต่อย่างไร ที่บ้านเมืองบริเวณนี้จะมีพัฒนาการของเมืองท่าภายในซึ่งมีรากฐานมาจากการตั้งถิ่นฐานในระยะเริ่มแรกราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ แล้วมาเจริญสูงสุดในยุสหพันธรัฐเมืองท่าศรีวิชัยในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา จึงมีความร่ำรวยและน่าจะเป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญของบ้านเมืองในคาบสมุทรมลายูในยุคศรีวิชัยที่มีการเดินทางค้าขายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมข้ามภูมิภาคกันอย่างคึกคัก อีกทั้งเมืองลังกาสุกะที่ยะรังเป็นจุดเชื่อมต่อบ้านเมืองทั้งสองฝากฝั่งทะเลจากอันดามันถึงอ่าวไทย จนขยับขยายสร้างเมืองใหม่ที่ริมอ่าวใกล้ปากน้ำปัตตานีเป็นเมืองท่าชายฝั่งริมอ่าวอย่างสมบูรณ์ในยุคที่เรียกกิจกรรมหลักของบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยหนึ่งว่า “ยุคแห่งการค้า” เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓
รากฐานของบ้านเมืองที่เป็นปึกแผ่นต่อเนื่องนานหลายร้อยปีในสังคมของการนับถือพุทธศาสนาแบบมหายานและมีบางส่วนที่นับถือฮินดู ทำให้สถานะของผู้ปกครองค่อนข้างมั่นคง การปรับเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีความเชื่อว่าเกิดเพราะปัจจัยภายนอก คือ เรื่องของโต๊ะครู (จากตำนานดังกล่าวมีการบันทึกไว้ใน Hikayat Patani ยังมีการเล่าสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่ทำให้รายาอินทิราเปลี่ยนมานับถืออิสลามคือ แซะห์ ซาอิด ซึ่งเป็นโต๊ะครูจากเมืองปาไซ ซึ่งอพยพมาอยู่ที่เมืองปาตานี และยังมีหมู่บ้านปาไซอยู่จนทุกวันนี้ และยังมีกูโบร์ของ ชัยคฺ ซาอิด [Sheikh Said] หรือ โต๊ะปาไซ ) ผู้เข้ามารักษาโรคให้รายาและเมื่อหายก็ต้องรักษาคำพูดที่ว่าจะเปลี่ยนศาสนาในที่สุด
ซึ่งนักวิชาการ เช่น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอว่า ( นิธิ เอียวศรีวงศ์. “สังเขปประวัติศาสตร์ปัตตานี” ใน มลายูศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้, นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ, สำนักพิมพ์อมรินทร์, ๒๕๕๐) แสดงให้เห็นนัยะของการเข้ามาของผู้เผยแพร่ศาสนาที่เข้มแข็งซึ่งใช้ฐานจากชาวบ้านเป็นพื้นก่อน เพราะโต๊ะครูนั้นสามารถสื่อเข้าถึงคนหมู่มากได้โดยธรรมชาติ และเป็นธรรมชาติที่แตกต่างไปจากศาสนาพุทธมหายานหรือฮินดูที่ผู้ปกครองจะเป็นกลุ่มผู้รับศาสนาเริ่มแรกและอุปถัมภ์ศาสนสถานและนักบวชด้วยการสร้างศาสนสถานต่างๆ มากมาย ศาสนาอิสลามในบ้านเมืองแห่งใหม่นี้จึงเกิดขึ้นมาจากฐานของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งควรจะมีหลากหลายชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเนื่องจากลักษณะของการเป็นเมืองท่าก่อนที่ผู้ปกครองจะเปลี่ยนมารับศาสนาอย่างเป็นทางการ

แผนที่แสดงตำแหน่งของสถานที่สำคัญต่างๆ ของเมืองปตานีในยุครุ่งเรืองที่ริมอ่าวปัตตานีปัจจุบัน (ปรับจากต้นฉบับของดอเลาะ เจ๊ะแต นักวิจัยท้องถิ่นชาวบ้านดาโต๊ะ จังหวัดปัตตานี)
อาจารย์นิธิ ยังเสนอในบทความเดิมต่อไปอีกว่า ศาสนาอิสลามที่เริ่มเข้ามานี้ น่าจะได้รับอิทธิพลนิกายซูฟีที่ผ่านมาจากอินเดียหรืออาจจะมาจากทางจีนตอนใต้ เพราะเชื่อในการเข้าถึงในพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง มีการทำสมาธิและมีพิธีกรรมเกี่ยวกับศพมาก และนับถือหลุมฝังศพของโต๊ะครู คนศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านศรัทธา ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับความเชื่อท้องถิ่นทั้งทางพุทธศาสนาและความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษที่มีมาแต่เดิม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องแตกต่างไปจากความเป็นมุสลิมอาหรับทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้คนท้องถิ่นสามารถรับอิสลามได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนสังคมและวัฒนธรรมของตนเองมากนัก และปัจจุบันก็ยังพบว่ามีผู้เลื่อมใสในนิกายนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะชาวมุสลิมในสิงคโปร์ที่พบว่านิกายนี้เข้าถึงจิตใจผู้คนที่เป็นปัจเจกและเพิ่มจำนวนผู้นับถือมากขึ้นๆ ในทุกวันนี้
เมื่อศาสนาอิสลามได้เผยแผ่ผ่านอินเดียเข้าสู่แหลมมลายู โดยพบหลักฐานเป็นศิลาจารึกสำคัญที่รัฐตรังกานู ซึ่งเป็นศิลาจารึกหลักเดียวที่เขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวีเป็นข้อความในกฎหมายอิสลามลงศักราชราว พ.ศ. ๑๘๔๖ และได้เผยแผ่เข้ามาที่ลังกาสุกะจนเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๓ เมื่อรายาอินทิราขึ้นปกครองที่เมืองท่าริมอ่าวปัตตานีและเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เปลี่ยนพระนามเป็น สุลต่าน อิสมาแอล ชาฮ์ กุโบร์ฝังศพของท่านยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันที่บ้านปาเระ มีหลักหินเหนือเนินดินหลุมศพใช้หินแกรนิตแกะสลักเป็นรูปก้อนเมฆไว้ที่ส่วนบน ส่วนกลางสลักด้วยอักษรอาหรับ
มีการบันทึกชื่อเมืองริมอ่าวปัตตานีให้เข้ากับศาสนาอิสลามในภาษาอาหรับในภายหลังว่า “ปาตานี ดารุสสาลาม” หรือ “ปาตานี นครแห่งสันติภาพ”
ดังนั้น การนับถือศาสนาอิสลามในบริเวณชายฝั่งทะเลฝากตะวันออกของคาบสมุทรมลายูจึงมีการบ่มฟักและมีอยู่กว้างขวางในหมู่ชาวบ้านชาวเมืองในช่วงเวลาเกือบสองศตวรรษ การรับศาสนาอิสลามในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สังคมของการเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์และเกิดขึ้นน่าจะพร้อมๆ กับการรับถืออิสลามของรายาผู้ปกครองสามารถบูรณาการผู้คน ความเชื่อและวัฒนธรรมให้เข้ามาอยู่ในระบบของเมืองใหญ่ทางการค้าได้เป็นหนึ่งเดียวและเป็นปึกแผ่นสูงสุดในยุคนี้ และเป็นจุดกำเนิดของบ้านเมืองที่ผู้คนที่มีรากเหง้าต่างๆ กัน นิยามตนเองว่าเป็น มลายูมุสลิม ในเวลาต่อม
เมืองในระยะแรกที่เรียกว่า โกตา มหลิฆัย ( อนันต์ วัฒนานิกร สันนิษฐานเหตุความเป็นมาของชื่อ โกตามหลิฆัย ที่น่ารับฟัง คือ โกตาหมายถึงเมืองหรือป้อมปราการและเป็นชื่อเมืองที่รัฐราชสถานทางตะวนตกเฉียงเหนือของอินเดียใต้ซึ่งมีกำแพงใหญ่ล้อมรอบและวัดมากมาย นอกจากนี้ โกตายังหมายถึงชนเผ่าหนึ่งในรัฐทมิฟนาดูทางอินเดียใต้ ส่วน มลิฆัย (maligei) หมายถึง เจดีย์หรือปราสาทราชวัง ซึ่งมีชื่อเป็นหลักฐานคือ เจดีย์มหลิฆัย ในนครศรีธรรมราช ทั้งสองคำเป็นภาษาทมิฬทางฝั่งอินเดียใต้ฝั่งตะวันออก ดังนั้น โกตามหลิฆัยจึงเป็นชื่อเมืองซึ่งเป็นคำยกย่องสรรเสริญบ้านเมืองยุคนั้นที่แสดงออกถึงการเป็นเมืองพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาจากอินเดียใต้ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นอิสลามในสมัยของรายาอินทิรา ) ซึ่งน่าจะอยู่บริเวณใกล้กับเมืองโบราณยะรังซึ่งมีหลักฐานร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนในระดับเมืองสืบเนื่องตลอดมา โดยไม่ได้ทิ้งร้างแต่อย่างใด แม้จะมีการย้ายเมืองมาอยู่ที่ริมอ่าวปัตตานีในระยะต่อมา หยั่งรากฐานเป็นปึกแผ่นบริเวณริมอ่าวปัตตานี ซึ่งก็คือบริเวณบ้านตันหยงลูโละและกรือเซะ ใกล้ตัวเมืองปัตตานีในปัจจุบัน
อนันต์ วัฒนานิกร ผู้บุกเบิกสำรวจเมืองเก่าปาตานีที่อ่าวปัตตานีบันทึกหลักฐานไว้ว่า เคยพบเห็นแนวกำแพงเมืองและเศษภาชนะดินเผาเคลือบที่เป็นของจีนและของต่างประเทศ เช่น ดัชท์จำนวนมากริมลำน้ำเก่าที่ผ่านท้ายเมืองในเขตบ้านกรือเซะไปออกทะเลที่ปากคลองปาเระพบร่องรอยของเตาเครื่องปั้นดินเผาทั้งแบบเผาแกร่งและแบบเคลือบที่มีอายุขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น จุดที่คลองปาเระร่วมกับคลองบ้านดีมีร่องรอยของเนินดินริมฝั่งน้ำที่เคยเป็นชุมชนดั้งเดิม พบเศษภาชนะดินเผาทั้งเคลือบและไม่เคลือบมากมาย ชนิดที่ไม่เคลือบนั้นเป็นภาชนะดินเผาที่มีลวดลายหลายรูปแบบที่เกิดจากการประทับด้วยแม่พิมพ์มีรูปลายแปลกกว่าที่อื่นและบริเวณที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะ บนพื้นดินมีเศษภาชนะดินเผาทั้งเคลือบและไม่เคลือบกระจายอยู่มากมาย โดยเฉพาะเครื่องเคลือบของจีนแบบราชวงศ์เหม็ง (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐) ลงมา ( อ้างใน บทความของศรีศักร วัลลิโภดม. “ปัตตานีในภาพประวัติศาสตร์ศรีวิชัย” เมืองโบราณ (๑๙, ๑) มกราคม-มีนาคม ๒๕๓๖ (๑๙-๓๔) ซึ่งได้รับการบอกเล่าจาก อนันต์ วัฒนานิกร)
ภูมิทัศน์ของเมืองปาตานีที่ตั้งอยู่บนแนวสันทรายริมอ่าวปัตตานีในปัจจุบัน ในบริเวณบ้านกรือเซะ-บานา-ตันหยงลูโละ-ปาเระ ในพื้นที่ผสมผสานระหว่างนิเวศภายในของที่ราบลุ่มริมฝั่งน้ำสามารถปลูกข้าวได้ตามฤดูกาลและนิเวศแบบน้ำกร่อยและชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นอ่าวและแหลมด้านหน้าเมือง ทำให้คลื่นลมสงบกว่าทะเลนอกเหมาะสำหรับเป็นอ่าวจอดเรือสินค้าขนาดกลางๆ โดยธรรมชาติรวมทั้งระบบนิเวศแบบน้ำกร่อยป่าชายเลนนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากสามารถเลี้ยงผู้คนได้จำนวนมาก ทั้งบริเวณนี้ยังมีฤดูกาลที่มีแดดและอุณหภูมิที่เหมาะสมจนทำให้สามารถทำนาเกลือได้ดีกว่าชายฝั่งอื่นๆ ในแหลมมลายู ความเป็นตลาดค้าเกลือนี้เองก็พอเพียงที่จะทำให้เมืองปาตานีกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วกว่าเมืองท่าใดๆ ในคาบสมุทร

สุสานพญาอินทิรา (กูโบรายามะรือเก๊าะ) ตั้งอยู่ที่บ้านปาเระ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
บันทึกของพ่อค้าชาวอังกฤษเมื่อราว พ.ศ. ๒๒๒๑ กล่าวถึงสภาพของเมืองในช่วงเวลานั้นว่า ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างราว ๘ ไมล์ (๑๒-๑๓ กิโลเมตร) ระหว่างปากแม่น้ำ ๒ แห่ง จึงมีลักษณะเหมือนเกาะและมีความลึกเข้าไปตอนใน ๑๒ ไมล์ (๑๙-๒๐ กิโลเมตร) ในสมัยก่อนเกาะนี้เป็นแหล่งการค้าแต่เพียงแห่งเดียวในย่านนี้ บนเกาะมีกำแพงเชิงเทินและคูน้ำล้อมรอบ ( ครองชัย หัตถา. ประวัติศาสตร์ปัตตานี, ๒๕๔๘, อ้างใน กรมศิลปากร. บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในศตวรรษที่ ๑๗ เล่ม ๒ , ๒๕๑๒) จากข้อมูลนี้ก็น่าจะเทียบเคียงได้ว่า พื้นที่เกาะดังกล่าวนั้นอยู่ระหว่างปากน้ำปัตตานีและปากน้ำยะหริ่งในปัจจุบันส่วนอาณาบริเวณที่ลึกเข้าไปในแผ่นดินก็ราวๆชุมชนโบราณที่ยะรัง ซึ่งแสดงว่า บริเวณเมืองเก่าบริเวณยะรังนั้นก็ไม่ได้ถูกทิ้งร้างไปแต่อย่างไร
ส่วนบริเวณที่เป็นเขตเมืองชั้นใน กำแพงทำด้วยซุงเรียงกันเหมือนเสากระโดงเรือ ประตูวังมี ๒ แห่ง คือ ประตูช้างด้านทิศตะวันออก ด้านหน้าคือ กูโบร์บาราโหม ซึ่งเป็นสุสานหลวง บริเวณนี้จะพบว่ามีกูโบร์ของรายาของปัตตานีหลายองค์ คือ รายาอินทิรา รายาบีรู รายาฮิเยา และรายาอูงู ปากลำน้ำกัวรารูยังมีร่องรอยเป็นซากไม้ชาวบ้านสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นด่านสำหรับเก็บภาษีการค้า ตรงกันข้ามคลองกัวรารูคือบ้านกะดีและใกล้ๆ กันที่แหล่งเตาเครื่องปั้นดินเผาของเมืองปัตตานี ข้ามฝั่งคลองมาก็คือหมู่บ้านจีนและบริเวณที่ต่อเนื่องเข้ามาด้านใน คือ กาแลบือซา หรือท่าเรือใหญ่ที่เรือสำเภาสามารถเข้าถึงได้ ส่วน ประตูฮังตูวะห์ อยู่ด้านตรงข้ามทางฝั่งด้านทิศตะวันตกใช้คลองกรือเซะเป็นคูน้ำธรรมชาติ ด้านหน้าเป็นลานหน้าเมืองและตลาด มีมัสยิดประจำเมืองอยู่ด้านหน้าพระลาน บริเวณนี้มีบ่อน้ำจืดที่สำคัญเพราะชาวเมืองใช้สำหรับบริโภคหลายบ่อ ที่สำคัญๆ ก็คือ บ่อ “ฮังตูวะห์” [Hang Tuah] ซึ่งเป็นวีรบุรุษในตำนานของชาวมลายูเป็นแม่ทัพชาวมะละกาที่รบชนะไปทั่วร่วมกับเพื่อนอีก ๔ คนและมีตำนานว่าเดินทางเข้ามาถึงปาตานี บ่อเชค ดาวุด (หรือบ้างออกเสียงว่า ชัยคฺ ดาวุด) ใน หมู่บ้านปาเระเชค ดาวุด ผู้เป็นนักการศาสนาคนสำคัญชาวปัตตานีที่มีอายุระหว่างช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์และแต่งหนังสือสำหรับไว้มากมาย ทางด้านนี้มีกูโบร์สำคัญอีกแห่งคือ กูโบร์ดาแฆ ซึ่งเป็นกูโบร์ของพวกพ่อค้า

บ่อน้ำจืด “เชค ดาวุด” อยู่ในหมู่บ้านปาเระ เชค ดาวุด เป็นนักการศาสนาคนสำคัญของชาวปตานี
กำแพงเมืองด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง สร้างเป็นเนินดินขนานกับชายฝั่งระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร ส่วนภายในกำแพงไม้ซุง คือ พระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีสระน้ำอยู่ภายใน บริเวณใกล้เคียงสามารถกำหนดพื้นที่ได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่หล่อปืนใหญ่ ส่วนพื้นที่โดยรอบก็น่าจะเป็นบ้านเรือของขุนนางและบุคคลสำคัญที่มีฐานะทางสังคม ดังนั้น เมื่อมีการทำถนนสายปัตตานี-นราธิวาสหรือที่เรียกในยุคแรกๆว่า “ถนนเกาหลี” ได้ตัดผ่านตัวเมืองปาตานีเก่าและเชื่อว่าน่าจะทำลายร่องรอยของซากโบราณสถานวัตถุที่เกี่ยวข้องกับเมืองปาตานีในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ ไปมากทีเดียว ( ประมวลจากเอกสารของครองชัย หัตถาที่อ้างถึงแผนที่แสดงบริเวณวังปัตตานีและสถานที่สำคัญในพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ Bougus, Wayne A. Patani Selama Pemerintahan Raja Ijau (1584-1616 A.D.) 1988 และคำบอกเล่าจากแผนที่ของชาวบ้านในพื้นที่)
ปาตานีจึงมีรากฐานมาจากการเป็นเมืองท่าภายในอยู่เป็นเวลานาน จนกลายเป็นรัฐริมอ่าวบริเวณชายฝั่งที่เจริญทางด้านเศรษฐกิจ มีการค้าขายทางทะเล มีอ่าวจอดเรือได้ดี มีลำน้ำยาวลึกเข้าไปจนจรดเทือกเขาสูง บริเวณสองฝั่งน้ำมีที่ราบลุ่มให้ตั้งชุมชนบ้านเมืองได้หลายแห่ง ทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับกลุ่มคนที่อยู่ภายใน เพราะมีป่าเขาเป็นแนวยาวพาดผ่านซึ่งเป็นที่มาของสิ่งที่เป็นสินค้าป่าและแร่ดีบุก หากเดินทางข้ามเทือกเขาตามเส้นทางติดต่อภายในภูมิภาคก็จะลงสู่ฝั่งทะเลด้านตะวันตก ซึ่งเป็นบ้านเมืองในเขตแดนของไทรบุรีและเประ
เมืองปาตานีในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ ซึ่งอยู่ในช่วงราชวงศ์ศรีวังสาที่มีรายาเป็นหญิงถึง ๔ องค์ก่อนจะเปลี่ยนเป็นราชวงศ์กลันตันนั้น มีชื่อเสียงด้านความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจสูงสุดในฐานะเมืองท่าค้าขายนานาชาติในคาบสมุทรมลายูทางตอนเหนือควบคู่กับเมืองมะละกาทางฝั่งตะวันตกทางตอนใต้
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเผชิญกับความเป็นเมืองกึ่งกลางทั้งอำนาจรัฐที่ขนาบจากอยุธยา โดยมีนครศรีธรรมราชและพัทลุงเป็นศูนย์กลาง และมะละกาซึ่งเป็นสถานีการค้าใหญ่ที่ถูกช่วงชิงโดยชาวตะวันตกและทางการเมืองภายใน รวมทั้งการแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบทางการค้าของผู้ปกครองจากนครอื่นๆ ทำให้เกิดการขัดแย้งต่อสู้ รวมทั้งระบบการเมืองระหว่างขุนนางและรายาผู้ปกครองภายในก็ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ รัฐปาตานี ไม่มีเสถียรภาพมากพอที่รายาผู้ปกครองจะสร้างสถาปนาเครือข่ายอำนาจและการเมืองได้เช่นเดียวกับเมืองท่าร่วมสมัยอื่นๆ เช่น ที่อยุธยา อังวะและสะเทิมในลุ่มอิรวดี
รัฐปาตานีในเวลาต่อมาจึงลดความสำคัญลงเนื่องจากปัญหาดังกล่าว ในขณะที่การค้าทางทะเลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังดำเนินอย่างต่อเนื่องและขยับขยายสร้างเครือข่ายเมืองท่าการค้าใหม่ๆ ต่อไป
ลักษณะการเป็นศูนย์กลางทางการค้าสำคัญของบ้านเมืองในคาบสมุทรมลายูดำรงอยู่ในช่วงเกือบสองศตวรรษ ทั้งมะละกา ยะโฮร์ และปาตานีรวมถึงเมืองท่าที่เป็นสถานีการค้าระดับใหญ่ต่างๆ ก็เผชิญปัญหาหลายประการ ทั้งจากปัญหาภายในของการต่อสู้รบพุ่งของสุลต่านเจ้าผู้ครองนครรัฐต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาการสืบทอดอำนาจ โจรสลัดในน่านน้ำและช่อแคบที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่เรือสำเภาการค้า การเมืองจากภายนอกของบริษัทการค้าของชาวตะวันตกที่ทำให้เกิดระบบผูกขาดสินค้าและยึดครองเมืองท่าหลายแห่ง ตลอดจน การเมืองในระบบประเทศราชที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นจากอำนาจของสยามที่เปลี่ยนศูนย์กลางจากอยุธยามาอยู่ที่กรุงเทพฯ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุทำให้บ้านเมืองต่างๆ ในคาบสมุทรมลายูไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การปกครองและรักษาสถานภาพการเป็นเมืองท่าการค้าได้โดยตลอด
เมื่อมีการครอบครองของอาณานิคม ทำให้เกิดการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อแบ่งแยกและปกครองบ้านเมืองกึ่งกลางทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายูที่ต่อเนื่องกับคาบสมุทรสยาม โดยไม่ได้นำเอาปัจจัยความเหมือนหรือความต่างจากภายในเข้ามาคิดคำนึง นอกจากผลประโยชน์ในทางการเมืองและในเชิงเศรษฐกิจที่ที่ปรึกษาชาวตะวันตกเสนอให้เห็นรวมทั้งปัญหายืดเยื้อของบ้านเมืองผู้ปกครองชาวมลายูที่ต่อต้านกับอำนาจรัฐของสยามตั้งแต่เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ลงมา ทำให้เห็นว่าเป็นการไม่สะดวกหากสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ จะรักษาบ้านเมืองที่เประ เคดาห์ กลันตันและตรังกานูไว้ในราชอาณาจักรสยาม แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่สามารถปล่อยให้ปาตานีแยกตัวออกไปอย่างเด็ดขาด เนื่องจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ถูกผนวกเข้ามาอยู่ในอารักขาของบ้านเมืองในคาบสมุทรไทยนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องหลายศตวรรษ รวมทั้งผลประโยชน์จากเจ้าเมืองจากสงขลาที่ส่งคนไปดูแลหัวเมืองทั้ง ๗ ก็มีผลประโยชน์อย่างยิ่งกับสัมปทานการค้าแร่ธาตุภายใน เหมืองดีบุกและเหมืองทองคำยังเป็นทรัพย์สินที่ศูนย์กลางอำนาจการปกครองที่กรุงเทพฯ ยังไม่สามารถหาเหตุผลใดที่จะยอมละทิ้งไปเสีย แม้จะมีเหตุความวุ่นวายทางการเมืองปรากฏขึ้นมาเป็นระยะๆ ก็ตาม
การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ที่ขีดเส้นแบ่งแยกประเทศตามลักษณะภูมิศาสตร์และการเมืองมากกว่าจะคำนึงถึงอาณาบริเวณทางวัฒนธรรม การขีดเส้นดังกล่าวทำให้คนในรัฐกลันตัน เคดาห์ ปะลิสที่เคยมีความสัมพันธ์ทางการเมืองและทางสังคมกับรัฐสยามมากกว่าบ้านเมืองอื่นๆ ในการปกครองของอังกฤษรู้สึกตื่นตระหนกในระยะแรกและพยายามปรับตัวจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมลายาและเป็น “ชาวมลายูทางเหนือ” ของประเทศมาเลเซียหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษอย่างเต็มภาคภูมิ
ในขณะที่ชาวปาตานีใน ๗ หัวเมืองต่างต้องประสบปัญหาทางอัตลักษณ์ของคนมลายูในวัฒนธรรมไทยในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจนต่อเนื่องไปถึงการจัดรูปแบบขบวนการแบ่งแยกดินแดนจนถึงกระบวนการก่อความรุนแรงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิม
ความทรงจำที่ถูกละทิ้ง
ความเป็น “คนตานี” ซึ่งก็คือชาวมลายูมุสลิมแห่งเมืองปาตานี ทั้งผู้คนและมรดกทางวัฒนธรรมเป็นที่รู้จักแพร่หลายสำหรับผู้คนและวัฒนธรรมที่ศูนย์กลางในภาคกลางมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่มีการกวาดต้อนคนตานีมาตั้งถิ่นฐานในพระนครและถิ่นที่อยู่ต่างๆ ใกล้กรุงเทพฯ แม้คนในท้องถิ่นกรุงเทพฯ จะไม่เคยทราบเลยว่า รากเหง้าแต่ดั้งเดิมนั้นถือกำเนิดที่ “เมืองปาตานี” ในยุครุ่งเรืองด้วยศิลปะวิทยาการ ประเพณีและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาก่อน
แต่ในสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของวัฒนธรรมของปาตานีเองในทุกวันนี้นั้น มีปัญหาเกี่ยวกับการยอมรับประเพณีดั้งเดิมที่เป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่น เนื่องจากเริ่มมีความเชื่อเป็นที่แพร่หลายว่า สิ่งเหล่านี้ขัดกับหลักคำสอนในศาสนาอิสลาม
ในอดีตนั้น ดินแดนเหล่านี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนของสรรพสิ่งในธรรมชาติ ป่าเขาในเขตป่าชื้น การเกิดโรคระบาดในเขตชุมชนเมืองบ่อยๆ เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมีความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติและอำนาจที่มีคุณและโทษจากผีหรือวิญญาณผู้ล่วงลับไปแล้วมากกว่าหรืออาจจะพอๆ กับความเชื่อในหลักคำสอนทางศาสนาอิสลามที่ต้องเรียน ต้องฝึกฝนเขียนอ่านท่องจำเพื่อให้เข้าใจความหมายหรือเนื้อหาในหลักคำสอนและต้องพึ่งพาผู้ชี้แนะให้เกิดความกระจ่าง ซึ่งก็คือโต๊ะครูผู้รู้ศาสนาที่มักจะเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาเดินทางมาจากถิ่นอื่นๆ ดังนั้น เราจึงพบว่า ผู้รู้ทางศาสนาหลายท่านที่มาจากท้องถิ่นที่ได้รับการศึกษาศาสนาดีกว่า เช่น เมืองปัตตานีมักจะได้รับการต้อนรับในหมู่บ้าน มีการแต่งงานกับผู้มีฐานะหรือผู้ใหญ่ที่ได้รับการนับถือและสนับสนุนให้มีบ้านช่องที่ดินทำกินจนกลายเป็นคนตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งของหมู่บ้านนั้นๆ
ในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้ การติดต่อเดินทางในอดีตนั้นไม่สะดวกแต่อย่างใดและเพิ่งมีการสร้างเส้นทางคมนาคมติดต่อได้ในทุกท้องถิ่นในเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี่เอง ดังนั้น กว่าหลักการคำสอนในศาสนาอิสลามที่ถูกเผยแพร่ไปโดยโต๊ะครูหรือผู้รู้ทางศาสนาจะเข้าไปถึงในหมู่บ้านห่างไกลอย่างทั่วถึงก็ใช้เวลาอยู่นานเช่นกัน
สังเกตได้จากผู้ที่เป็น “หะยี” ซึ่งเป็นผู้ผ่านพิธีฮัจจ์มาแล้วในอดีตนั้นมีอยู่น้อยมาก เพราะการเดินทางในแต่ละครั้งอาจใช้เวลาหลายปี ผ่านความยากลำบาก และมีหลายคนที่เดินทางไปแล้วไม่ได้กลับมา เพราะอาจจะเสียชีวิตไปก่อนหรือไม่ต้องการกลับมาอีก ผิดกับในปัจจุบันที่มีผู้เดินทางไปทำพิธีฮัจจ์ได้โดยไม่ลำบากเท่าใดนัก เพราะมีศรัทธาต่อความยากลำบากอยู่แล้ว ที่เหลือก็เพียงหาทุนทรัพย์ในการเดินทางให้ได้เท่านั้น
ประเพณี วัฒนธรรมและพิธีกรรมของคนปาตานีดั้งเดิมที่สืบทอดมาโดยตลอดจึงเริ่มลดความจำเป็นและหยุดลงอย่างสังเกตได้ชัดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมของชาวมลายูมุสลิมเอง ซึ่งมีผู้รู้ทางศาสนามากขึ้นและการเผยแพร่คำสอนได้ขยายไปอย่างทั่วถึง สิ่งที่เจือปนด้วยความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติเกี่ยวกับภูติผีวิญญาณจึงลดลงและถูกทำให้หายไปโดยตั้งใจ
สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความสับสนในการดำรงชีวิตของคนเชื้อสายมลายูผู้นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ในปัจจุบันที่มีแนวโน้มว่าจะใช้หลักคำสอนทางศาสนามาดำเนินชีวิตเป็นหลัก หรือจะใช้พื้นฐานทางวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิมที่ถ่ายทอดส่งต่อกันมาอันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมและเคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเป็นพื้น
และการจะดำเนินชีวิตโดยการประนีประนอมและใช้แนวทางทั้งสองแบบไปด้วยกันนั้นทำได้อย่างไร
วัฒนธรรม ประเพณีบางอย่างกลายเป็นสิ่งที่ถูกตัดขาดออกไปจากชีวิตปกติของชาวบ้าน เพราะพบเห็นได้บ้างในการแสดงของสถาบันการศึกษาหรือคณะละครที่แทบจะไม่มีผู้ว่าจ้างแล้วเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในท้องถิ่น พิธีกรรมบางอย่างเกี่ยวกับการรักษาโรคและความเชื่อเฉพาะเรื่องผีร้ายที่ช่วยรักษาอาการทางจิตใจของผู้ที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลหรือเป็นความเชื่อเฉพาะตัวคน กลายเป็นสิ่งที่ต้องแอบซ่อนทำกันและเป็นสิ่งที่ถูกลืม เพราะไม่พบว่าในปัจจุบันของสังคมของคนปัตตานีหรือสามจังหวัดภาคใต้มีคนพูดถึงกันเท่าไหร่นักหรือมักจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดต่อหน้าผู้อื่นตรงๆ
กลุ่มวัยรุ่นที่มีใจรักในดิเกร์ ฮูลู จากหมู่บ้านดาโต๊ะ กำลังประชันกับวัยรุ่นจากหมู่บ้านตันหยงลูโละ
ในขณะที่ภาพรวมของสังคมทั่วโลกในปัจจุบัน เช่น ในสังคมไทยภูมิภาคอื่นๆ กำลังมีกระแสการฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมความเชื่อท้องถิ่นให้ฟื้นขึ้นมาทำหน้าที่เชื่อมโยงพื้นฐานและโครงสร้างทางสังคมในอดีตกับการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาในชุมชนหรือในท้องถิ่นต่างๆ และเป็นที่นิยมมากที่สุดคือการนำเสนอและสร้างประเพณีพิธีกรรมเหล่านี้เพื่อรองรับการท่องเที่ยว เสมือนขายอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแก่คนทั่วไป
อีกส่วนหนึ่งที่ต้องการพัฒนาทางความรู้และการศึกษาเพื่อให้เห็นรากเหง้าดั้งเดิมของตนเองก็จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือการสร้างการเรียนการสอนนอกระบบให้แก่เยาวชนและคนทั่วไปให้เรียนรู้อดีต ประเพณีวัฒนธรรมซึ่งเป็นของตนเอง โดยชูว่านี่คือการสร้างความมั่นคงของสังคมในชุมชนและท้องถิ่นผ่านอัตลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่จะทำให้เกิดการรองรับกระแสพัฒนาอย่างเข้มแข็งและสามารถเลือกรับหรือปฏิบัติโดยการปรับรับความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่เข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ายอมรับให้สังคมและวัฒนธรรมของตนเองถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ได้ฉุกคิดถึงฐานทางวัฒนธรรมและคำนึงถึงการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองแต่อย่างใด
ซึ่งในประเด็นหลังนี้ มีข้อเปรียบเทียบที่พิสูจน์ได้ว่า การรื้อฟื้นและการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นทั่วไปไม่เว้นแม้แต่รัฐมุสลิมที่กลันตัน ซึ่งจัดสร้างพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในเมืองโกตาบารู โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์แห่งนครซึ่งรวบรวมเอาประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวประวัติบุคคลสำคัญ ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่หายไปจากสังคมโดยบันทึกรวบรวมและจัดแสดงไว้ได้อย่างละเอียด
ในสังคมไทยดั้งเดิมคุ้นเคยกับคำว่า “ผ้าจวนตานี” เพราะพบในคำเก่าตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาในบทละครเรื่องดาหลังหรืออิเหนาใหญ่ ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ ผ้ายกตานี เป็นผ้าที่ทอด้วยไหมจากประเทศจีน และใช้เส้นลวด เงิน จากอินเดีย เปอร์เซีย ทอด้วยฝีมือช่างชั้นดี จึงเป็นที่นิยม และทอกันอยู่แถวบ้านกรือเซะ บ้านตันหยงลูโละ ซึ่งคงสืบทอดมาจากชุมชนเก่าแก่ของเมืองปัตตานีในอดีต เมื่อขาดวัตถุดิบที่ราคาแพงและพ่อค้าคนกลางขายเอาเปรียบ ชาวบ้านที่เคยทอผ้ายกตานีจึงเลิกทำ (“ผ้ายกตานี นุ่งพุ่งทอง สอดสองซับสีดูสดใส กรองบอกดอกฉลุดวงละไม เส้นไหมย้อมป้องเป็นมันยับ” (ขุนช้างขุนแผน) ผ้าจวนตานี เป็นผ้าด้ายแกมไหม เดาไปต่างๆ ในบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ว่า “ผ้าจวนเป็นผ้าไหมที่มีสีสันแซมริ้วอย่างคชกริชไปตามยาวของผืนผ้า” ผ้ายกตานี เป็นผ้าที่ทอด้วยไหมจากประเทศจีน และใช้เส้นลวด เงิน จากอินเดีย เปอร์เซีย ทอด้วยฝีมือช่างชั้นดี จึงเป็นที่นิยม และทอกันอยู่แถวบ้านกรือเซะ บ้านตันหยงลูโละ บริเวณท่าเรือเมืองปัตตานีในอดีต แต่ขาดวัตถุดิบที่ราคาแพง พ่อค้าคนกลางขายเอาเปรียบ จึงเลิกทำ (อนันต์ วัฒนานิกร) และในปัจจุบันมีการรื้อฟื้นทำผ้าจวนตานีเป็นงานอาชีพเสริมของกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดปัตตานี ในโครงการศิลปาชีพในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ) ศิลปะของการทอผ้ายกซึ่งเป็นงานหัตถกรรมชั้นสูงที่มักเริ่มขึ้นจากราชสำนักจึงกลายเป็นความทรงจำประการหนึ่งของคนปัตตานี
ที่รู้จักแพร่หลายอีกอย่างคือ น้ำมันตานี (น้ำมันตานี คือน้ำมันมะพร้าว ผสมปูนขาวและเขม่าไฟ แล้วมาอบกับดอกไม้หอม เช่น มะลิ พิกุล จำปาและปาหนัน ทำให้ทรงผมจับตัวอยู่ทรง มีทั้งแบบน้ำมันและแบบครีม (มุหน่าย) ก็เป็นของที่ใช้ในอยุธยาและกรุงเทพฯ )ใช้ตกแต่งทรงผมคนในอดีตให้จับอยู่อยู่ทรง และกลายเป็นคำที่เรียกน้ำมันแต่งผมแม้จะไม่ได้ผลิตที่เมืองตานีหรือปาตานีในอดีตก็ตาม
สิ่งเหล่านี้แพร่เข้ามาสู่สังคมที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์และทำให้คำว่า “ตานี” เป็นที่รับรู้และเข้าใจทั่วกันว่า ใช้ประกอบคำที่แสดงถึงการมีที่มาจากหัวเมืองมลายูทางคาบสมุทรทางใต้นั่นเอง
การทำให้รัฐสยามกลายเป็นรัฐไทยหรือประเทศไทยทุกวันนี้ คือ การจำกัดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในนามชื่อประเทศที่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นแผ่นดินของชาวไทยซึ่งถูกอุปโลกขึ้นมาว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่มีอำนาจสิทธิเด็ดขาดและเป็นตัวแทนของแผ่นดินสยามในอดีต ทำให้เกิดปัญหาของอัตลักษณ์ในผู้คนกลุ่มต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ความสับสนนี้เกิดจากการปฏิเสธความเป็นสังคมพหุลักษณ์ที่เคยมีอยู่ในสังคมดั้งเดิมของสยามประเทศ ซึ่งมีกระบวนการทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ได้โดยไม่ต้องบีบคั้นหรือใช้ภาวะกดดันทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ถือปฏิบัติโดยราชการจนถึงทุกวันนี้
กระบวนการทำให้คนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมไทยที่ถูกกดดัน จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สับสนโกลาหลวุ่นวายต่อต้านอำนาจรัฐและสร้างปัญหาแก่ดินแดนกึ่งกลางในอาณาบริเวณเมืองปาตานีเก่าที่กลายมาเป็นพื้นที่ในสามจังหวัดภาคใต้จนทุกวันนี้ และมีทีท่าว่าจะไม่จบสิ้นหากประเทศไทยซึ่งผู้คนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศรวมทั้งคนผู้มีเชื้อสายมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามและผู้ปกครองที่ใช้อำนาจรัฐยังไม่เข้าว่า
จะสร้างสรรค์สังคมแบบพหุลักษณ์ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ซึ่งมีความเชื่อถือศรัทธา อุดมการณ์ในการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน ให้มีความเคารพสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญเดียวกันได้อย่างไร
การแสดงท้องถิ่นในสังคมเกษตรกรรมที่ใช้เวลาว่างจากฤดูกาลเพาะปลูก ใช้พื้นที่ลานกว้างของชุมชนจัดมหรสพการแสดงอยู่เสมอๆ และส่วนใหญ่มักว่าจ้างคณะแสดงเนื่องในงานแก้บนของชาวบ้าน และในการแสดงบางครั้งก็เพื่อแก้บน เป็นการประกอบพิธีกรรมแก่ชาวบ้านไปพร้อมกันและหายไปกว่า ๔๐ ปีแล้ว
ความแตกต่างของประเพณีและพิธีกรรมที่กำลังสูญหายไปจากสังคมของคนปัตตานีและสังคมของชาวบ้านในภูมิภาคอื่นๆ ก็คือ การสร้างประเพณีขึ้นใหม่โดยใช้ฐานประเพณีเดิมจะเพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์รากเหง้าทางวัฒนธรรมหรือจะเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวก็ตาม สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นในท้องถิ่นของปัตตานี มีเพียงการต่อต้านที่รู้สึกได้บ้างเท่านั้นเมื่อได้เข้าไปสังเกตการณ์
การละทิ้งความรู้สึกรื่นเริงในเทศกาล ความรู้สึกตื่นเต้นในจังหวะการแสดง ความรู้สึกสนุกสนานไปกับเรื่องเล่าของนายหนังวายังที่สอดแทรกการขัดเกลาความผิดชอบชั่วดี ความรู้สึกอ่อนช้อยงดงามเมื่อเห็นการร่ายรำในรองเง็งและเสียงไวโอลินทำนองเพลงพื้นบ้านที่หวานเสนาะหู ความตื่นเต้นเมื่อเห็นการรำมโนรา หรือพละกำลังในการต่อสู้แบบสิลัต ความหวาดกลัวในอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติและความปลอดโปร่งเมื่อทำพิธีกรรมเสร็จสิ้น ความโล่งใจในพิธีกรรมร่วมกันของชาวบ้านที่ร่วมกันลอยเคราะห์และร่วมกันนำอาหารมากินที่ชายหาด ความรู้สึกตื่นเต้นในความสง่างามของหญิงสาวที่ทูนเครื่องไปบนศีรษะและความทรงจำในขบวนแห่นกที่ยิ่งใหญ่ของชาวปัตตานี ความงดงามของผืนผ้าทอยกตานีที่วิจิตรบรรจง
สิ่งเหล่านี้เหลือเพียงร่องรอยแห่งความทรงจำ
เมืองท่าภายในที่ปาตานี คนในปัจจุบันมักเรียกว่า “เมืองลังกาสุกะ” อยู่ภายในแผ่นดินเข้ามาที่อำเภอยะรังต่อเนื่องกับอำเภอเมืองปัตตานี ในทางการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณของบ้านเมืองในคาบสมุทรโดยชาวต่างชาติและนักวิชาการจากส่วนกลางก็ทำความเข้าใจและเขียนเรื่องราวของนครรัฐขนาดใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรแห่งนี้ได้อย่างกว้างขวาง แม้การศึกษาโบราณวัตถุสถานจะทำได้ไม่ได้ทุกแห่งหรือมีความก้าวหน้าเพิ่มเติมจากเดิม เนื่องจากเหตุผลของการทำงานล่าช้าและการเกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งทำให้การศึกษาหลักฐานเหล่านั้นเป็นไปได้ยากขึ้น
อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้คนในปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญของกลุ่มโบราณสถานเหล่านั้น เพราะเกรงว่าจะผิดหลักศาสนาหากจะต้องเกี่ยวข้องกับศาสนาที่มีรูปเคารพและศาสนสถานอื่นนอกเหนือไปจากอิสลาม ทำให้ชาวบ้านโดยรอบและคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เองให้ความสำคัญกับเมืองลังกาสุกะนี้ไม่มากนัก เพราะเป็นประวัติศาสตร์ โบราณคดีในอดีตที่ไกลโพ้น และยังอยู่ในช่วงการนับถือพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาแบบรูปเคารพ ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและความนึกของชาวมลายูมุสลิมในปัจจุบันได้ อาจจะมีผู้สนใจก็อยู่ในกลุ่มศึกษากลุ่มเล็กๆ เช่น นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผู้สนใจงานโบราณคดีบางท่านเท่านั้น
ประวัติศาสตร์ยุคโบราณในท้องถิ่น ถึงแม้จะเป็นบริเวณที่สำคัญของคาบสมุทรแต่ก็ขาดความรับรู้ในอดีตที่ห่างไกล อันหมายถึง ชาวปัตตานีนั้นไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับ “ลังกาสุกะ” แต่อย่างใด
แต่ในขณะเดียวกัน หากพูดถึง “ปาตานี ดารุส สาลาม” นครรัฐปาตานีแห่งสันติภาพในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ ร่องรอยบ้านเมือง การบอกเล่าสืบเนื่องกันมา และประวัติศาสตร์ที่ถูกกดขี่ที่เล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกในกระบวนการแบ่งแยกทางความคิดต่อรัฐไทยก็เป็นองค์ประกอบที่ทำให้นครรัฐปาตานีถูกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่า “ลังกาสุกะ” อย่างแน่นอน
ในกระบวนอบรมเยาวชนเพื่อเป็นแนวร่วมในการก่อเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ การให้สัมภาษณ์ของแนวร่วมในขบวนการ R K K [Runda Kumpulan Kecil] ที่เปลี่ยนใจและเล่าคล้ายๆ กันหมดทุกคนว่า หลังจากเข้าพิธีซูเปาะห์หรือสาบานตนก็จะเริ่มฝึกหลักสูตรซึ่งมี ๘ ขั้น และขบวนการในขั้นแรกที่เรียกว่า ตาระห์ ผู้อบรมจะพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี แล้วจึงฝึกร่างกาย ฝึกการประกอบอุปกรณ์ก่อการร้ายต่างๆ
เนื้อหาที่บรรยายคือการปลุกเร้าให้มีความรู้สึกว่า บรรพบุรุษเคยอยู่ในดินแดนที่ยิ่งใหญ่แต่ถูกบีบคั้นนำมาสู่การสูญเสียเอกราชและความเจ็บปวดของคนปาตานี เมื่อสยามยึดครองก็จับชาวมลายูปัตตานีไปเป็นเชลย พาไปขุดคลองแสนแสบด้วยมือเปล่าที่กรุงเทพฯ ถูกเจาะเอ็นร้อยหวาย เจาะหู เจาะเท้า แล้วล่ามเชือกเดินไปกรุงเทพฯ มีการทรมานจนตายแล้วเอาศพไปทิ้งไว้ที่คลองแสนแสบจนกลายเป็นชื่อคลอง ( ข่าวการจับกลุ่มแนวร่วม RKK ที่ปฏิบัติการในพื้นที่ต่างจำนวนหลายคน ให้การถึงหลักสูตรการอบรมในเวลาราวๆ หนึ่งเดือนในรูปแบบเช่นเดียวกัน ศูนย์ข่าวอิสรา http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content§ionid=4&id=75&Itemid=86&limit=50&limitstart=100)
ความรู้สึกต่อคำบอกเล่าเรื่องการทารุณกรรมของชาวสยามที่ทำต่อชาวมลายูมุสลิมในอดีตเมื่อปนเปกับความรู้สึกขัดแย้งในปัจจุบันที่เห็นความไม่ยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีต่อชาวบ้านจึงเป็นแรงจูงใจนำไปสู่ความเคียดแค้นชิงชัง ทำร้ายชีวิตของผู้บริสุทธิ์ ทำลายทรัพย์สินและทำให้เกิดความรุนแรงโดยมีความคับแค้นเป็นแรงกระตุ้น
การรับรู้ทางประวัติศาสตร์ของคนในพื้นที่จนถึงทุกวันนี้ถูกอธิบายในเชิงย้อนยุคไปสู่ความยิ่งใหญ่ในอดีตและนำมาสู่การสูญเสียเอกราชและความเจ็บปวดของคนปัตตานี มีการอธิบายถึงภาพความสวยงามของมัสยิดและปราสาทราชวังของชาวปาตานีที่นำมาจากจดหมายเหตุบ้างหรือคัดลอกต่อๆ กันบ้าง ผู้สังเกตการณ์หลายท่านกล่าวว่า หมู่บ้านโซนสีแดงซึ่งหมายถึง หมู่บ้านที่รัฐเข้าถึงได้น้อยและมีกลุ่มปฏิบัติการที่เป็นแนวร่วมอยู่มักจะได้รับรู้ประวัติศาสตร์เฉพาะทางแบบนี้
ประวัติศาสตร์เพื่อปลุกระดมดังกล่าว เป็นการบอกเล่าที่เกิดขึ้นจากความรู้สึก โดยนำข้อมูลบางส่วนมาจากการเขียนประวัติศาสตร์จากภายนอกโดยนักประวัติศาสตร์ทั้งชาวตะวันตกและชาวมลายูเอง โดยคัดเลือกเฉพาะเรื่องเฉพาะประเด็นมาใช้อ้างอิงว่าคือประวัติศาสตร์ของคนปาตานี
จึงเป็นการสร้างความทรงจำใหม่ที่ขาดวิ่นและมุ่งหมายเพื่อชวนเชื่อ สร้างความรู้สึกสะเทือนใจ มากกว่าที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้และตั้งคำถาม ซึ่งถือเป็นปรัชญาของการศึกษาประวัติศาสตร์ ดังนั้น การกล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีตเช่นนี้จึงไม่ใช่เป็นการยกการศึกษาทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาเป็นเหตุผล หากแต่เป็นกระบวนการอบรมเรื่องเล่าจากอดีตที่เจือปนด้วยความรู้สึกและอคติเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ผู้เข้าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องเล่าหรือความเชื่อของคนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งที่นำมาใช้ต่อสู้กับการสร้างประวัติศาสตร์จากอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์กลางอำนาจ
ความทรงจำทั้งสองรูปแบบที่สุดขั้วและเป็นเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกัน จะนำไปสู่การทำความเข้าใจท้องถิ่นในสามจังหวัดภาคใต้นั้นได้อย่างไร นอกเสียจากช่วยกันศึกษาสร้างเรื่องราวของท้องถิ่นให้ตรงกับความเป็นไปที่ชาวบ้านชาวเมืองมีความคิดต่ออดีตหรือความทรงจำร่วมกัน โดยไม่ผูกขาดเรื่องเล่านั้นอยู่เพียงแต่บทเรียนในหนังสือเรียนที่รัฐบาลเสนอเขียนและสร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพทางประวัติศาสตร์ จนไม่ยอมรับความหลากหลายของประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
หรือประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นจากความรู้สึกและอคติของผู้ก่อการที่ต้องการสร้างความรุนแรง อันเป็นการนำเรื่องของอดีตบางส่วนมาสร้างความเชื่อเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจรัฐและคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่พวกตนอย่างสุดขั้ว เป็นการสร้างอุดมการณ์ภายใต้การนำเหตุการณ์อดีตมาร้อยเรียงเป็นเหตุผลหลักในการเคลื่อนไหวหาแนวร่วมจากชาวบ้านโดยการทำให้เชื่อมากกว่าที่จะคิดอย่างอิสระ
ความทรงจำของบ้านเมืองในลักษณะที่เป็นข้อสรุปจากทั้งฝ่ายก่อการและฝ่ายรัฐ จึงไม่ใช่คำตอบสำหรับการสร้างความเข้าใจในตนเอง ในท้องถิ่น เพื่อสร้างอัตลักษณ์และความเข้าใจต่ออดีต ปัจจุบันและอนาคตร่วมกันของผู้คน
ผมก็มาเป็นเจ้าหน้าที่ในพื้น อ.ยะรัง ก็มีความสนใจ และ สังเกตุได้ว่าเป็น พื้นที่มีความ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและมรความหลากหลายของผู้คน เชื้อชาติ และมีความคิดส่วนตัว
ลึกๆ จากประสบการณ์ที่นี่ และคำบอกเล่าจากผู้คนในพื้นที่ เมืองยะรัง ว่ายังมีอะไรที่ยัง ฝั่งลึกอยู่ในใจของคนและในพ่้นแผ่นดิน ถ้าหากมีเทคโนโลยี นักวิชาการด้านสำรวจประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจิและผู้ที่ต้องการจะให้ ผู้ทั่วโลกเข้าค้นคว้า ศึกษา หาความรู้ แลนด์บริดจ์แก่ง ยุคที่ทั่วโลคเริ่มมีการต่อไปมาหาสู่กัน ค้าขาย เผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่ว โลก ผมคนหนึ่งยินให้ความร่วมมือที่จะ เกิด เมืองแห่ง ความทรงจำเกิดขึ้นมาในยุคปัจจุบัน เพื่อผู้คนในพื้น ได้มีจุดยืน และมีความสุขสันติสุขอย่างแท้จริง
ถูกใจถูกใจ