วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เขตที่สูงทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอ่งแม่เมาะ คือเส้นทางจากที่ราบลุ่มน้ำวังตัดเข้าสู่แอ่งที่ราบเมืองงาวก่อนมุ่งไปยังพะเยาและเชียงราย เคยเป็นเส้นทางลำเลียงกำลังพลสู่เมืองเชียงตุงในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาทั้งของกองทัพไทยและทหารญี่ปุ่น เคยเป็นเส้นทางสู้รบคราวกบฎเงี้ยวเมืองแพร่ เคยเป็นเส้นทางทัพที่ขุนนางพม่าใช้ปราบกลุ่มท้องถิ่นที่แข็งข้อช่วงปลายยุคพม่าปกครองล้านนา เคยเป็นเส้นทางไปสู่บ้านเมืองในแอ่งที่ราบเชียงราย-เชียงแสน แพร่-น่าน ตลอดจนชุมชนในลุ่มน้ำโขง เชื่อมต่อระหว่างล้านนาตะวันตกกับตะวันออก และเคยเป็นเส้นทางข้ามภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ไม่ว่าจะเป็นเมื่อหลายพันปีก่อนหรือในปัจจุบัน มนุษย์ยังคงเดินทางสายเดิม
ช่องประตูผาและถนนพหลโยธิน
เนื่องจากภูมิประเทศในเขตล้านนาประกอบไปด้วยแนวสันเขาสลับแอ่งที่ราบ ทำให้การติดต่อระหว่างชุมชนต่างๆ ทำได้ยากลำบากมากกว่าที่ราบลุ่มในภาคกลางหรือที่ราบสูงในเขตอีสาน ดังนั้น หลักฐานการตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มหมู่บ้านที่มีการติดต่อระหว่างชุมชนหรือวัฒนธรรมเฉพาะตัวในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จึงแทบไม่ปรากฏ เท่าที่พบมีเพียงลักษณะของชุมชนที่มีความโดดเดี่ยวไม่มีการเกาะกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเด่นชัดแต่อย่างใด
บริเวณที่ราบลุ่มน้ำวังของจังหวัดลำปาง เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถติดต่อกับบ้านเมืองต่างๆ ได้มากกว่าชุมชนอื่นๆ ในเขตล้านนา นับเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคก็ว่าได้ เพราะสามารถเชื่อมโยงเส้นทางเดินทางทั้งกลุ่มเชียงใหม่ กลุ่มพะเยา-เชียงราย-เชียงแสนไปจนถึงเชียงตุง กลุ่มเมืองน่านไปจนถึงหลวงพระบาง กลุ่มเมืองแพร่ไปจนถึงพิษณุโลกและต่อเข้าในไปในเขตอีสาน กลุ่มศรีสัชนาลัย-สุโขทัย กลุ่มเมืองตาก-กำแพงเพชรไปจนถึงพม่า
การเดินทางใช้ทั้งทางน้ำและทางบก ผ่านลำน้ำและช่องเขาหลายแห่ง แต่ละแห่งผ่านการรอนแรมของนักเดินทางมานับพันปีจนเป็นที่รู้กันว่าเส้นทางสายใดช่องเขาที่ไหน จึงจะเป็นจุดซึ่งสะดวกที่สุด
ร่องรอยของการเดินทางสามารถศึกษาจากเอกสารที่มีการจดบันทึกไว้ และมักจะเป็นเส้นทางเพื่อสู้รบทำสงครามระหว่างแว่นแคว้นตามสถานการณ์การเมืองในช่วงเวลาที่แตกต่างกันซึ่งเขียนไว้ในตำนานพื้นต่างๆ อีกอย่างหนึ่งคือ ระหว่างจุดผ่านแดนหรือเขตติดต่อในการเปลี่ยนเขตปกครอง ซึ่งมักจะเป็นจุดที่แบ่งตามภูมิประเทศ เช่น สันปันน้ำบริเวณยอดดอย ช่องเขา จุดสังเกตที่มีรูปร่างแปลกๆ บริเวณดังกล่าวจะมีศาลผีตั้งอยู่และกลายเป็นศาลเจ้าพ่อใหญ่โตเมื่อผ่านมาจนปัจจุบัน เช่น ศาลเจ้าพ่อขุนตานบริเวณรอยต่อระหว่างเขตเมืองลำปางและเมืองเชียงใหม่ – ลำพูน รวมทั้งศาลเจ้าพ่อประตูผาระหว่างลำปางและเมืองงาวก็อยู่ในกรณีนี้เช่นกัน

ถนนระหว่างลำปาง-งาว ช่องเขาที่ศาลเจ้าพ่อประตูผา พ.ศ. ๒๔๙๕ ภาพของบุญเสริม ศาสตราภัย จากเวบไซต์ภาพล้านนาในอดีตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ช่องประตูผาอยู่ระหว่างเทือกเขาด้านตะวันออกเฉียงเหนือของนครลำปางถัดที่ราบริมน้ำวังไปทางตะวันออก บริเวณนี้มีลำน้ำลำห้วยหลายสายไหลผ่านป่าใหญ่ซึ่งยังคงความสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธรรมชาติอันหลากหลาย ในอดีตคงเป็นดงทึบและเขียวชอุ่มอยู่ตลอดทั้งปี ลำน้ำสำคัญๆ เช่น น้ำแม่เมาะและน้ำแม่หวด ลัดเลาะผ่านเทือกเขาหินปูนลักษณะคล้ายกำแพงสูงทะมึนซึ่งมีอยู่หลายแห่ง เช่น ผาสัก ผาคอก ผาขวาง ผาก้าน ผาคัน ผาแดง และผาประตูผาลักษณะเป็นแนวเขาลูกโดดสองลูกต่อกัน ระหว่างกลางเป็นช่องแคบเล็กๆ คล้ายกำแพงที่มีช่องประตูอยู่หว่างกลางจึงเป็นที่มาของชื่อ “ประตูผา” นับเป็นจุดผ่านแดนซึ่งสะดวกและรวดเร็วที่สุดในการเดินทางผ่านไปยังที่ลุ่มเมืองงาว
คงมีผู้คนสืบเนื่องใช้ช่องประตูผาเดินทางข้ามภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังที่พบภาพเขียนและรอยประทับฝ่ามือบนชะง่อนผาหินปูนจำนวนมาก นับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการทำพิธีกรรมของชุมชนท้องถิ่นนี้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าบริเวณนี้คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันของชุมชนต่างๆ ที่เคยอยู่ในละแวกป่าเขาและดงดอยรอบๆ เมื่อหลายพันปีมาแล้ว
นอกเหนือจากเป็นเพิงผาที่มีภูมิประเทศสวยงามโดดเด่นแล้ว ช่องประตูผายังเป็นจุดแบ่งแดนอย่างชัดเจน มีการค้นพบจารึกบนแผ่นไม้ซึ่งอยู่ในถ้ำบริเวณเทือกเขาไม่ไกลกันนัก สมัยพระเจ้าติโลกราช วิเคราะห์โดยสรุปน่าจะกล่าวถึงการแบ่งเขตเก็บทรัพยากรของป่าระหว่างคนในบังคับของเมืองเชียงใหม่และเมืองเชียงแสนไม่ให้รุกล้ำแดนต่อกัน นั่นหมายถึงบริเวณนี้เป็นเขตรอยต่อระหว่างอำนาจของศูนย์กลางที่เมืองเชียงใหม่และศูนย์กลางที่เมืองเชียงแสน ในยุคที่ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาเจริญสูงสุดและอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ก็เข้มแข็งอย่างชัดเจน แต่คงไม่มากพอที่จะรวมเอาบ้านเมืองในล้านนาทั้งหมดอยู่ภายใต้ศูนย์รวมอำนาจเดียวกันที่เชียงใหม่หรือไม่ใช้วิธีรวมศูนย์ นับเป็นเรื่องควรพิจารณาต่อไป
เมื่อการปฏิรูปการปกครองได้ผนวกล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลเทศาภิบาล ก่อนหน้านั้น การติดต่อระหว่างภาคเหนือและภาคกลางใช้เส้นทางน้ำต่อด้วยขบวนช้างและม้าเป็นหลัก จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการรถไฟเริ่มกรุยทางจากสายสั้นๆ แล้วต่อเนื่องเป็นเครือข่ายทั่วภูมิภาค แต่ทางรถไฟสายเหนือทำมาถึงลำปางในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ เจาะผ่านดอยขุนตานถึงเชียงใหม่สำเร็จก็เมื่อกิจการรถไฟดำเนินไปได้ ๓๕ ปี ล่วงไปแล้ว (การรถไฟเริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๙ ทำทางมาถึงเชียงใหม่และเปิดให้ใช้ได้เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔) หลังจากนั้น การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในภาคเหนือก็มีเส้นทางรถไฟเป็นปัจจัยหลักอยู่เป็นระยะเวลานาน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช เสด็จเยี่ยมมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ และได้แต่งลิลิตพายัพไว้เป็นอย่างนิราศ อธิบายการเดินทางจากนครสวรรค์เสด็จทางชลมารคไปขึ้นบกที่อุตรดิตถ์ แล้วต่อด้วยขบวนช้างและม้าผ่านแพร่ ลำปาง จากจุดนี้เสด็จพระราชดำเนินผ่านบ้านแม่เมาะหลวง ปางจำปุย(ต่อมาคือบ้านจำปุย) และน่าจะผ่านช่องประตูผาแม้ไม่ได้กล่าวไว้ ผ่านปางหละ ออกเมืองงาว ไปพะเยา เชียงราย ล่องแม่กกเข้าแม่สรวย เวียงป่าเป้า ดอยสะเก็ด เข้าเชียงใหม่ แล้วเสด็จตามลำน้ำปิงกลับพระนคร

ภูเขาที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากช่องประตูผา
เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เริ่มมีการทำถนนสายหลักจากลำปางไปเชียงราย หลักฐานส่วนหนึ่งคือภาพถ่ายของสมเด็จเจ้าพระยาวงษานุประพันธ์ (มรว.สท้าน สนิทวงศ์) ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงคมนาคมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ อยู่ในขบวนขี่ม้าไปตรวจราชการการสำรวจสร้างทางบริเวณช่องประตูผา จากทางเกวียนแคบๆ คงมีการระเบิดช่องเขาขยายให้เป็นถนนและเสร็จสิ้นในราว พ.ศ.๒๔๕๗
เส้นทางสายนี้เป็นถนนสายหลัก (หมายถึงสร้างไปพร้อมๆ กับการปักเสาโทรเลข) เป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างเมืองสายแรกที่ปรากฏในภาคเหนือ เริ่มทำก่อนที่ทางรถไฟสายเหนือจะมาถึงลำปางและเชียงใหม่หลายปี
สันนิษฐานถึงสาเหตุที่เลือกทำเส้นทางนี้ก่อนคงเป็นเพราะ ลำปางเป็นศูนย์กลางการค้าและการทำไม้สักแหล่งสำคัญในภาคเหนือช่วง พ.ศ.๒๔๓๐ – พ.ศ.๒๔๔๐ หลังทศวรรษนี้จึงได้ขยายพื้นที่ไปที่เมืองแพร่และเมืองน่าน กิจการสัมปทานทำไม้สักคงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งในการตัดถนนสายนี้ก่อน ขณะที่เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปสู่เชียงใหม่กำลังจะได้รับการเชื่อมต่อด้วยทางรถไฟจึงยังไม่จำเป็นต้องมีถนนเพิ่ม ส่วนเส้นทางจากเชียงใหม่ไปเชียงรายก็ใช้ประโยชน์จากทางสายลำปาง – เชียงรายนี้ได้เช่นกัน หรือไม่เช่นนั้นล่องลงลำน้ำกก แล้วต่อด้วยขบวนช้าง ม้า วัว ก็สามารถทำได้
มีหลักฐานในการตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนประชาธิปัตย์” แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่สองของประเทศไทย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพหลโยธิน” มาจนถึงปัจจุบัน
ถนนพหลโยธินได้ชื่อจากกรมทางหลวงในปัจจุบันว่า “ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑” เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายเอเชียที่เชื่อมต่อทวีปเอเชียทั้งทวีปเข้าด้วยกัน เพราะปลายทางสามารถต่อถนนกับพม่าที่แม่สายบริเวณท่าขี้เหล็กดังที่ทราบกันทั่วไป
เจ้าพ่อประตูผา
เจ้าพ่อประตูผาคือ “วิญญาณศักดิ์สิทธิ์” ของนักรบผู้กล้าหาญผู้หนึ่ง เรียกกันว่า “หนานข้อมือเหล็ก” ได้ต่อสู้กับทัพพม่าจนเสียชีวิต เล่ากันว่าแม้เมื่อเสียชีวิตแล้ว ด้วยความห่วงใยบ้านเมืองร่างของหนานข้อมือเหล็กยืนพิงผนังยกแขนสองข้างกำอาวุธขึ้นในท่าพร้อมสู้ ทำให้พม่ากลัวจนยกทัพกลับไปในที่สุด
หนานข้อมือเหล็กจึงกลายมาเป็น “เจ้าพ่อประตูผา” วีรบุรุษชาวลำปางผู้ปกป้องรักษาบ้านเมืองให้ดำรงสืบมาได้ในสายตาของคนรุ่นหลัง
ดังนั้น ริมถนนบริเวณช่องประตูผาจึงมีการสร้างศาลใหญ่ ผู้ที่รู้กิตติศัพท์และเดินทางผ่านเล่าลือกันไปต่างๆ ถึงอภินิหารของเจ้าพ่อประตูผา และนิยมบนบานเรื่องการสอบเข้าทหารและขอให้การทำงานสำเร็จ มีการแก้บนโดยนำตุ๊กตาช้าง ม้า ทำจากไม้ พร้อมทั้งศาลพระภูมิเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เป็นที่อยู่ของบริวาร เช่น พวกไพร่พลของเจ้าพ่อ จนบริเวณศาลไม่มีพื้นที่รองรับได้อีกต่อไป

ภาพเขียนสีที่เผิงผาของประตูผา
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโลกทรรศน์ของผู้คนในปัจจุบัน ที่มีความเข้าใจอย่างเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับ การเชิดชูวีรบุรุษ การรักษาชาติบ้านเมือง และโกรธแค้นพม่าศัตรูถาวรของประเทศ จนสร้างภาพให้วีรกรรมของหนานข้อมือเหล็กกลายเป็น “เจ้าพ่อประตูผา” วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่ในระดับภูมิภาค ผสมผสานและเข้ากันได้พอดีกับแนวคิด “ชาตินิยม” เพื่อเชิดชูวีรบุรุษผู้รักษาบ้านเมืองหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในประเทศไทย
จึงไม่แปลกแต่อย่างใด เมื่อถึงเวลาเลี้ยงผีที่กลายเป็นงานพิธีใหญ่ประจำจังหวัด จากแต่เดิมที่ชาวบ้านบริเวณรอบๆ เป็นผู้กำหนดทำพิธี ก็กลายวันที่ ๒๒ เมษายนของทุกปี โดยทหารแห่งค่ายฝึกรบพิเศษประตูผาเป็นผู้กำหนดและรับผิดชอบจัดงาน
งานเลี้ยงผีจึงกลายเป็นงานชุมนุมร่างทรงมากกว่า ๒๐๐ ร่าง ลงทรงเทพต่างๆ และฟ้อนร่ายรำเพื่อสักการะเจ้าพ่อ ผู้คนมาจากทั่วสารทิศกว่า ๒,๐๐๐ คน ทั้งเป็นคนในจังหวัดลำปางและอยู่ในจังหวัดอื่นๆ เครื่องสังเวยเช่น บายศรี มะพร้าว เหล้า ยาสูบ หัวหมู ประเมินว่าน่าจะมีเหล้าเป็นหมื่นขวดและหัวหมูเป็นพันหัวทีเดียว
ลานกว้างบริเวณศาลเจ้าพ่อประตูผาใช้จัดงานรื่นเริง มีชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน ยิงปืน เธค มวย ประกวดธิดาเจ้าพ่อประตูผา กลายเป็นงานชุมนุมที่ไม่ต่างไปจากงานวัดในปัจจุบันอย่างไร

ทางเดินเข้าไปสู่เผิงผาที่ปรากฏภาพเขียนสีที่ยาวหลายร้อยเมตร
ปรากฏการณ์ดังกล่าว เพิ่มมากขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ สำหรับความต้องการที่พึ่งทางใจภาพพจน์นักรบของเจ้าพ่อประตูผาทดแทนความไม่มั่นใจตนเองของคนในสังคมยุคนี้ได้เป็นอย่างดี
จากศาลผีรักษาด่านบริเวณรอยต่อแดนบนเส้นทางระหว่างลำปางและเมืองงาว ศาลเล็กๆ ที่ชาวบ้านตั้งให้ตรงช่องเขาอันเป็นจุดสู้รบในตำนานที่ผ่านการบอกเล่าสืบต่อกัน ถึงปีก็จะมีชาวบ้านมาปัดกวาดทำความสะอาด เชิญไปลงผีที่งานเลี้ยงผีบ้านของหมู่บ้านรอบๆ ครั้งหนึ่ง เช่นที่บ้านดงจะทำกันในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ หรือเดือน ๙ เหนือ หมู่บ้านอื่นๆ ก็นัดทำเอาตามสะดวกของตน พิธีกรรมเช่นนี้ชาวบ้านทำส่งทอดกันมานานหลายชั่วคน
เจ้าพ่อประตูผา ชาวบ้านในแถบตำบลบ้านดงและแม่หวดเรียกว่า “ผีใหญ่” เพราะเป็นผีสำคัญกว่าผีบรรพบุรุษหรือหรือผีบ้านในชุมชนของตน การลงผี จะเชิญผีใหญ่หรือเจ้าพ่อประตูผาและบริวารมาเพื่อสอบถามดวงชะตาของหมู่บ้านและคนในหมู่บ้าน เช่น ฝนฟ้าจะตกต้องตามเกณฑ์หรือไม่ การทำไร่ทำนาจะได้ผลอย่างไร หรือถามถึงญาติพี่น้องที่ย้ายไปอยู่ต่างถิ่นว่าสุขสบายดีหรือไม่ โดยจะทำพิธีกันที่โหงบ้านซึ่งเป็นศาลาไม้อยู่ห่างบ้านเรือนติดกับไร่นา ร่างทรงมีทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่ไม่เกิน ๕ คน
นอกจากการลงผีใหญ่แล้วยังมีบริวารตนอื่นที่ชาวบ้านนับถืออีก เช่น เจ้าพ่อหัวเมือง พ่อหนานอินต๊ะควบโลก พ่อข้อมือเหล็ก พ่ออกเหล็ก พ่อพญาคูนหาน พ่อคำลือ (เป็นพ่อของพ่ออกเหล็กและพ่อข้อมือเหล็ก) พ่อโหงคงคำ (ผีรักษาไร่นา) พ่อหนานใจพระบาทพระธาตุ พ่อบุญต้น พ่อบุญยง เป็นต้น
ส่วนผีประจำหมู่บ้านแต่ละแห่งยังคงมีและทำหน้าที่เป็นผีบ้าน มีพิธีเลี้ยงผีเป็นประจำทุกปี เช่น เจ้าพ่อช้างเผือกผีประจำบ้านท่าสี เจ้าพ่อสันหนองบัวผีประจำบ้านดง เจ้าพ่อม่อนสุภาผีประจำบ้านหัวฝาย
ชาวบ้านจึงนับถือผีควบคู่ไปกับการนับถือพุทธศาสนา และแบ่งชั้นผีได้หลายระดับดังที่กล่าวไว้แล้ว คือระดับ “ผีใหญ่” เช่น เจ้าพ่อประตูผาและบริวารเป็นผีของท้องถิ่น ต่อมาคือผีประจำหมู่บ้านหรือ “ผีบ้าน” มีศาลผีหรือตูบผีในหมู่บ้าน และผีปู่ผีย่าหรือ “ผีบรรพบุรุษ” ซึ่งเป็นผีประจำสายตระกูล ผีในธรรมชาติซึ่งจะดูแลรักษาลำห้วย หนอง ต้นไม้ ไม่ให้ชาวบ้านไปล่วงละเมิดสถานที่นั้นๆ หากเจ็บไข้ก็ต้องทำพิธีเสียเคราะห์ขอขมา จนกระทั่งถึงผีร้ายที่ให้โทษอย่างเดียวชาวบ้านก็จะไม่ทำพิธีเลี้ยงผีใดๆ ทั้งสิ้น
เล่าต่อกันมาว่า เจ้าพ่อประตูผาแต่เดิมเป็นคนบ้านต้า อำเภองาว จังหวัดลำปาง ได้ศึกษาคาถาอาคมจากสมภารวัดนายาง เขตอำเภอแม่ทะในปัจจุบัน จนมีอาคมสามารถใช้แขนแทนโลห์ได้ จึงเรียกกันว่า “หนานข้อมือเหล็ก”
เมื่อเกิดสงครามกับพม่า มีการรบกันที่ช่องเขาบริเวณประตูผา ใช้อาวุธทั้งดาบและปืน ชาวบ้านในปัจจุบันเล่าถึงการสู้รบครั้งนั้นอย่างเห็นภาพน่าสยดสยองว่า “ยิงกันเหมือนห่าฝน เลือดไหลนองท่วมพื้น” ฝ่ายทัพเมืองลำปางและหนานข้อมือเหล็กพ่ายแพ้และเสียชีวิตลง แต่ตายในท่ายืนพิงภูเขายกแขนสองข้างกำอาวุธขึ้นพร้อมต่อสู้ ทำให้พม่ากลัวจนยกทัพกลับไปในที่สุด
การสู้รบนี้พ้องกับเหตุการณ์ที่บันทึกในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ราว พ.ศ.๒๒๗๒-๗๓ ช่วงเวลาที่พม่าส่งขุนนางและบริวารมาปกครองเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ บ้านเมืองในล้านนาต่างระส่ำระสายเกิดศึกสงครามทั่วไป พระสงฆ์วัดนายางซึ่งเชื่อว่ามีฤทธิ์มีบุญบารมีเรียกกันว่า “ตนบุญ” ตั้งตนเป็นผู้นำมีคนเข้าร่วมฝากตัวเป็นจำนวนมาก สามารถปกครองเมืองลำปางแทนเจ้านายได้ เมื่อรู้ไปถึงเจ้าเมืองลำพูนจึงส่งท้าวมหายศนำทัพไปตีเมืองลำปาง ไล่ยิง “ตนบุญ” วัดนายางและพรรคพวกจนตายทั้งหมด
หลังจากนั้น ท้าวมหายศขูดรีดภาษีอย่างหนัก และออกอุบายซ่อนอาวุธเข้าไปเจรจากับขุนนางเมืองลำปางแล้วฆ่าฟันล้มตายกลางสนาม คนที่เหลือต้องหนีเข้าป่าเข้าดอย ท้าวลิ้นก่านพาผู้คนหนีไปที่เมืองต้าเมืองลองเมืองเมาะเมืองจาง เจ้าอธิการวัดชมภูซึ่งเป็นพระสงฆ์อีกเช่นกันเกิดความเวทนาจึงตั้งตนเป็นผู้นำให้นายทิพจักหรือหนานทิพย์ช้างนำพลเข้าต่อสู้ ลอดท่อน้ำเข้าไปยิงท้าวมหายศในวัดลำปางหลวง ทิพจักกลายเป็นเจ้าเมืองลำปางและเป็นต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตนผู้ครองนครต่างๆ ในล้านนาสืบมา
จะเห็นว่าไม่มีตอนใดในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงหนานข้อมือเหล็กและการสู้รบกับพม่าบริเวณช่องประตูผา แต่หากนำเรื่องที่ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า “หนานข้อมือเหล็ก” เป็นศิษย์ตนบุญวัดนายาง และถูก “ยิงราวห่าฝน” ก็น่าจะได้เค้าว่าหนานข้อมือเหล็กคือกลุ่มผู้ศรัทธาเลื่อมใสต่อตนบุญวัดนายาง ทั้งเคยบวชเรียนเป็นพระภิกษุมาก่อน (จึงได้ชื่อว่าหนาน) ร่วมกันสู้รบกับทัพของท้าวมหายศขุนนางจากเมืองลำพูน โดยไม่มีอาวุธปืน นอกจากมีด ดาบ และไม้เท่านั้น
และการสู้รบครั้งนี้ก็ไม่ได้สู้กับพม่าแต่อย่างใด
ดังนั้น หากต้องการความจริงเกี่ยวกับเจ้าพ่อประตูผา คงไม่พบจากตำนานพื้นเมืองที่มีการคัดลอกเป็นฉบับต่างๆ และการจดบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นก็สรุปรวบรัด แต่หากใช้คำบอกเล่าที่สืบทอดกันมาของชาวบ้านในแถบเมืองงาว แม่เมาะ บ้านดง หนานข้อมือเหล็กเคยมีตัวตนอยู่จริง และเป็นคนเมืองงาวเป็นบรรพบุรุษของพวกตน การต่อสู้ที่ประตูผาก็เกิดขึ้นจริงจนจดจำกันต่อมาว่า มีการยิงปืนราวห่าฝนและเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งหนึ่ง ก็คงฝังใจอยู่ในความจดจำร่วมกันของผู้คนในท้องถิ่นนั้น
น่าแปลกที่ความสัมพันธ์ระหว่างตำนานท้องถิ่นและสถานที่จริงยังคงหลงเหลือและมีอยู่หลายแห่งในจังหวัดลำปาง ชาวบ้านได้ฟังเรื่องเล่าตกทอดกันมากลายเป็นประวัติศาสตร์ร่วมแสดงความเป็นตัวตนของคนลำปางได้อย่างชัดเจน เช่น กรณีของเจ้าพ่อประตูผาและช่องเขาศักดิ์สิทธิ์ระหว่างลำปางและเมืองงาว กรณีชาวบ้านวัดป่าตันกุมเหมืองที่ชาวบ้านสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการทำสงครามระหว่างลำปางและลำพูนไว้ที่วัด เพราะเป็นสถานที่ทำสงครามระหว่างตนบุญนายางและทัพเมืองลำพูน แม้กระทั่งช่องท่อน้ำริมกำแพงวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่อ้างว่าเป็นช่องที่หนานทิพย์ช้างมุดเข้าไปยิงท้าวมหายศก็ยังมีการจดจำ บอกเล่า และเก็บรักษาเอาไว้
ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ในอดีตและสำนึกตัวตนของคนลำปาง จึงเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่พบเห็นในท้องถิ่นอื่นๆ ได้ไม่มากนัก
ชุมชนในละแวกประตูผา
สภาพแวดล้อมของเมืองลำปางเต็มไปด้วยภูเขาและที่สูงสลับกับที่ราบเล็กๆ ในอดีตมีผืนป่าไม้สักขนาดใหญ่คุณภาพดี ทำให้บริษัททำไม้หลายแห่งเข้ามาขอสัมปทานป่าไม้จากเจ้าผู้ครองนครลำปาง เช่น บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา บริษัทบอเนียว บริษัทสยามฟอเรสต์หรือแองโกลสยาม ส่งไปขายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ
เดิมบริษัทจ้างคนพื้นเมืองเป็นผู้ตัดไม้และชักลาก แต่เนื่องจากขาดความชำนาญเพราะไม่เคยทำ บริษัทจึงนิยมจ้างชาวพม่าเป็นผู้รับเหมาต่อ เพราะบริษัทต่างๆ เหล่านี้เคยเข้าไปทำไม้ที่พม่ามาก่อน พวกพม่า ไทใหญ่จึงมีความชำนาญเป็นพิเศษสำหรับการเลือกตัดไม้และใช้ช้างชักลากออกจากป่า
ราว พ.ศ.๒๔๓๐ – พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นทศวรรษที่ลำปางกลายเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญและกิจการทำไม้สักก็รุ่งเรืองสูงสุด ทั้งเต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายที่เข้ามาทำธุรกิจและกิจการป่าไม้ เช่น การเสด็จลำปางของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กล่าวถึงฝูงคนที่มารับเสด็จว่า ประกอบด้วยคนจีน ม่านหรือพม่า และเงี้ยวหรือไทใหญ่ ตลอดจนคนพื้นเมืองในเวียงลำปางเต็มไปหมด
ที่ราบและดอยสูงของจังหวัดลำปาง จึงกลายเป็นพื้นที่ซึ่งรวมเอากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจในสมัยดังกล่าวเป็นสำคัญ
ประเพณีของคนบ้านดง ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับประตูผา แต่ได้รับผลกระทบจากโรงงานไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจแก่ชาวบ้านดง
บริเวณเหนือแอ่งแม่เมาะต่อกับเมืองงาวในสมัยนั้น มีหมู่บ้านเมาะหลวงเป็นหมู่บ้านใหญ่ เหนือขึ้นไปคือบ้านหัวฝายและบ้านดง ห่างออกไปติดกับถนนสายลำปาง-งาว คือบ้านท่าสี บ้านจำปุย ผ่านช่องประตูผาก็จะลงสู่บ้านปางหละและบ้านแม่หวดในเขตเมืองงาว
บริเวณนี้เป็นผืนป่าไม้สักสัมปทานเช่นกัน บ้านหัวฝายเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มากกว่าแห่งอื่น มีร่องรอยว่าเป็นชุมชนชาวไทใหญ่มาแต่เดิม เป็นหมู่บ้านที่มีการรับเหมาช่วงทำไม้สักให้บริษัทฝรั่ง ต้องเลี้ยงช้างและซื้อช้างมาไว้ลากซุงออกจากป่าแล้วส่งล่องแพลงไปกรุงเทพฯ บางครั้งช้างที่ใช้ต้องสั่งซื้อมาจากที่ไกลๆ แถวอุบลราชธานีก็มี
ชาวบ้านหัวฝายบางกลุ่มจึงมีหลักฐานมั่นคงเนื่องเพราะการทำไม้ในอดีต
ชาวบ้านหัวฝายบางกลุ่ม เป็นคนที่อพยพมาจากบ้านเมาะหลวง ซึ่งเวนคืนที่เพื่อทำเหมืองถ่านลิกไนต์ หมู่บ้านเมาะหลวงแต่เดิมต้องย้ายแยกเป็นสองแห่ง ไปอยู่ที่บ้านเมาะหลวงใหญ่ที่ปัจจุบันกลายเป็นอำเภอแม่เมาะ และบ้านเมาะพัฒนาที่ชาวบ้านเรียกว่าบ้านเมาะเสรีอีกที่หนึ่ง หลักฐานก็เนื่องมาจาก เมื่อถึงคราวไหว้ผีบรรพบุรุษ หลายตระกูลที่บ้านหัวฝายเคยไปไหว้ผีร่วมกับญาติที่บ้านเมาะหลวงเดิมในเขตโรงไฟฟ้าและบ้านเมาะทั้งสองแห่งอีกด้วย
นอกจากนี้ ทั้งบ้านหัวฝายและบ้านดงยังมีคนเชื้อสายขมุอยู่รวมกันในหมู่บ้านจนผสมกลมกลืนไปมากแล้ว ขมุจากซำเหนือเข้ามาเป็นลูกจ้างชักลากไม้ร่วมกับคนลาวและกะเหรี่ยงหลังจากเลิกกิจการป่าไม้ คนงานขมุจำนวนมากก็อาศัยอยู่ต่อไป ในปัจจุบันบ้านกลางใกล้กับบ้านจำปุยมีกลุ่มคนเชื้อสายขมุรวมตัวอยู่กันมากที่สุด
บ้านท่าสีเกิดขึ้นจากการตัดถนนผ่านช่องประตูผาในช่วงทศวรรษ พ.ศ.๒๔๕๐ ลูกจ้างสร้างทางจากแพร่ น่าน คนจากอีสาน หรือแม้แต่คนกรุงเทพฯ รวมตัวสร้างเป็นชุมชนริมทาง จึงมีทั้งขมุ และเย้าที่อพยพเข้ามาไม่นาน ที่บ้านท่าสีจึงมีพื้นที่ราบเพื่อเพาะปลูกน้อยเพราะเป็นชุมชนที่เกิดภายหลัง
บ้านจำปุยอยู่ติดถนนเช่นกัน ในอดีตเคยเป็นปางไม้มาก่อน ปัจจุบันประกอบไปด้วยคนหลายกลุ่ม เช่น คนพื้นถิ่น กะเหรี่ยง ขมุ เย้า เหนือจากบ้านจำปุยเข้าไปเป็นเขตเทือกเขา ไม่มีพื้นที่ราบ จะมีหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ชาวบ้านกลุ่มอื่นเรียกพวกเขาว่ายางแดงอยู่มาแต่ดั้งเดิมนานหลายร้อยปีทำไร่เพาะปลูกบนเขา และอยู่ห่างไกลจากชุมชนอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว ชาวกะเหรี่ยงไม่ปรากฏว่านิยมมาเป็นลูกจ้างทำไม้ในอดีตหรือติดต่อกับหมู่บ้านอื่นๆ หรือชาวเมืองในปัจจุบันแต่อย่างใด
ชาวเย้าอพยพมาจากฝั่งลาวเมื่อมีการสู้รบเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในลาวและเวียดนามกระจัดกระจายไปอยู่หลายแห่ง เย้ากลุ่มนี้มาพร้อมกับการจัดตั้งกองพันฝึกรบพิเศษค่ายประตูผาของกองทัพภาคที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณบ้านแม่หวดและบ้านแม่ส้าน อำเภองาวอย่างหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีที่บ้านหมู่บ้านท่าสีด้วย เย้านับถือคริสต์จากการเผยแพร่ของมิชชันนารีเมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว ถึงแม้จะถือคริสต์และเข้าโบสถ์แบบชาวคริสต์ในวันอาทิตย์ แต่ชาวเย้าก็ยังคงนับถือผีดั้งเดิมของตนเองและยังรักษาประเพณีพิธีกรรมของตนเองไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม คนในหมู่บ้านแถบบ้านดงก็มีอคติกับพวกเย้าในเรื่องความสกปรกและการค้ายาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าที่กำลังแพร่ระบาดหนักอยู่ในปัจจุบัน
ชุมชนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากกิจการทำไม้ในยุครุ่งเรืองของลำปาง หลังจากนั้นก็อยู่อาศัยสืบเนื่องกันเรื่อยมา อาศัยการเพาะปลูกทำนา ทำไร่ปลูกถั่ว ข้าวโพด อ้อย สับประรด หาของป่า
จากการสำรวจของกรมรถไฟเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ – พ.ศ.๒๔๖๕ เพื่อหาแหล่งเชื้อเพลิงแทนฟืน ได้พบแหล่งถ่านหินจำนวนมากที่บ้านแม่เมาะ หลังจากเปิดให้เอกชนเช่าสัมปทานในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๔๗๐ มีพระบรมราชโองการสงวนแหล่งถ่านหินไว้เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการเท่านั้น
ในราว พ.ศ.๒๔๙๗ เริ่มตั้งโรงงานไฟฟ้าจากถ่านลิกไนต์และเปิดเหมืองอย่างจริงจัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นองค์กรที่รับผิดชอบในเวลาต่อมาเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินที่สำรวจพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกมาก
ถึงแม้จะมีมาตรการป้องกันมลพิษเป็นหลักการก็ตาม แต่ชุมชนหมู่บ้านในเขตบ้านหัวฝาย บ้านดง ไปจนถึงท่าสี ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา จนบรรเทาลงบ้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๑ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๐ คน
ชาวบ้านเล่าว่า น้ำฝนที่ตกลงมานั้นไม่สามารถดื่มกินได้เพราะเป็นกรด ชาวบ้านจะเรียกกันว่าฝนเหลือง หญ้าตามพื้นดินตายหมด ต้นไม้ใบร่วง พืชผักเหมือนโดนน้ำร้อนลวก ช่วงหน้าแล้งและหน้าหนาว ที่บ้านหัวฝายซึ่งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้ามากที่สุดจะมีฝุ่นปกคลุมหมู่บ้านตลอดเวลา ชาวบ้านหัวฝายทิ้งบ้านไว้ให้ร้างและอพยพออกไปจากหมู่บ้านมากกว่า ๑๐๐ หลังคาเรือนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่ยอมรับว่าเป็นจริง และได้ให้ความช่วยเหลือเป็นการรักษาโรคทางเดินหายใจให้ฟรี แจกทุนการศึกษา สร้างลานกีฬาสำหรับเยาวชน และรับชาวบ้านส่วนหนึ่งเข้าไปทำงานเป็นลูกจ้างและแคดดี้ในสนามกอฟล์ ทั้งนี้มีการแบ่งรายได้ค่าภาคหลวงให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ ที่อยู่ในอำเภอแม่เมาะปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนเงินที่สูงมากทีเดียว
คงมีแต่ชาวบ้านสูงอายุเท่านั้นอยู่ทำไร่ทำนาในหมู่บ้าน บางแห่งต้องถูกเวนคืนที่ทำกินในบริเวณป่าเขาและที่สูงเนื่องจากการปลูกสร้างสวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ การใช้พื้นที่ร่วมกันสำหรับฝึกรบพิเศษของทหารจากค่ายประตูผา หากวันใดที่ทหารต้องฝึกใช้กระสุนจริงก็จะประกาศไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำไร่
หนุ่มสาวส่วนใหญ่เข้าไปเรียนหนังสือบ้าง เข้าไปหางานทำในเมืองบ้าง เพราะไม่สามารถสร้างอาชีพอยู่ได้ในหมู่บ้านของตน รวมไปถึงปัญหามลภาวะจากโรงไฟฟ้าด้วย ชาวบ้านฐานะไม่ดีนักจึงต้องลักลอบตัดไม้อยู่หลายรายกลายเป็นเรื่องปกติของคนในหมู่บ้านโดยรอบประตูผา
บริเวณแอ่งที่ราบแม่เมาะไปจนถึงดอยประตูผาเป็นพื้นที่สำคัญของเมืองลำปางมาโดยตลอด การค้นพบภาพเขียนสีบนผนังเพิงผาที่ยาวที่สุดในประเทศไทยคงจะไม่เป็นที่เข้าใจนัก หากไม่ได้ศึกษาและรับรู้ถึงบริบทแวดล้อมต่างๆ ที่ทำให้เกิดชุมชนในบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนมาปัจจุบัน
และเมื่อถึงเวลาต้องดูแลมรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้ไว้ให้อยู่คงสืบไป เราควรปฏิบัติอย่างไรจึงเห็นทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่ตั้งหวังกันเอาไว้