วลัยลักษณ์  ทรงศิริ

หากผ่านไปตามถนนสายลำปาง-งาว และไม่ได้สังเกตก็จะรู้ว่า บริเวณช่องเขาตรงประตูผา ในเขตอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จะมีภาพเขียนสีบนเพิงผาที่งามมหัศจรรย์เป็นกลุ่มใหญ่ซ่อนอยู่ ทั้งห่างจากศาลเจ้าพ่อประตูผาเพียงไม่กี่ร้อยเมตร จนมีการออกข่าวการค้นพบกันครึกโครม ผลที่สุด กรมศิลปากรได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอกรีน รับเหมาคัดลอกภาพเขียนและขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณพื้นดินใต้ชะโงกผาที่มีภาพเขียนจำนวนมากเหล่านั้นปรากฏอยู่ 

หลังจากได้ไปเห็นด้วยตาและอ่านรายงานเบื้องต้นการทำงานทางโบราณคดีของเฌอกรีนแล้ว ก็ตระหนักในความยิ่งใหญ่ของข้อมูล การค้นพบครั้งนี้น่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งของงานโบราณคดีในประเทศไทยที่ควรได้รับการกล่าวถึง หรือร่วมกันศึกษาจากสถาบันทางวิชาการหรือหน่วยงานทางวิชาการของรัฐ  

ประตูผา คือ ช่องเขาที่มีแนวเขาหินปูนล้อมรอบแอ่งที่ราบเล็กๆ อยู่ในเขตเทือกเขาผีปันน้ำซึ่งกั้นระหว่างที่ราบแม่วังในจังหวัดลำปางและที่ราบเชียงราย-พะเยา แอ่งประตูผามีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและเป็นที่รวมของธารน้ำเล็กๆ หลายสาย 

เพิงผาซึ่งมีภาพเขียน สูงจากพื้นที่ราบราวๆ ๔๐–๕๐ เมตร สามารถเดินขึ้นไปได้สบายๆ ลักษณะเป็นผาชะโงกเอียงเข้าด้านใน ดังนั้น พื้นผิวที่เขียนภาพและบริเวณพื้นดินซึ่งมีการฝังศพจึงเป็นสถานที่ปลอดภัยจากน้ำฝนและความชื้นได้ค่อนข้างดี ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการรักษาสภาพของภาพเขียนส่วนใหญ่ (นอกจากพวกมือบอนบางคนที่ไปเที่ยวแล้วเขียนข้อความฝากไว้) และสภาพของอินทรีย์วัตถุในหลุมฝังศพที่ยังคงสภาพอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในไทย เราแทบจะไม่เคยพบหลุมศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลือหลักฐานจากพิธีกรรมการฝังศพได้มากขนาดนี้ เท่าที่เคยพบและนึกออกก็คงมีเพียงเมล็ดข้าว เมล็ดพืช เศษผ้าทอเล็กๆ น้อยๆ ติดอยู่กับเครื่องมือสำริดหรือเหล็กเท่านั้น

ภาพเขียนในรายงานกล่าวว่ามีถึง ๗ กลุ่ม กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่มที่ ๑ พื้นที่การเขียนภาพของกลุ่มนี้ราวๆ ๓๐๐ ตารางเมตร  ทั้งนี้แนวของภาพเขียนรวมกันทั้ง ๗ กลุ่มยาวมากกว่า ๑๒๐ เมตร เรียงรายไปตามแนวเพิงผาหินปูนที่พื้นผิวค่อนข้างเรียบ นับจำนวนภาพ (ตามที่ผู้คัดลอกเห็น) ได้ราว ๑,๘๗๒ ภาพ ทั้งหมดเป็นภาพเขียนสีแดงที่ใช้เทคนิคทั้งเป็นลายเส้นและการลงสีทึบ พบว่าเป็นภาพมือรูปแบบต่างๆ ที่มีทั้งมือซ้ายและมือขวามากที่สุด นอกจากนี้ก็มีภาพของคน สัตว์ พืช เครื่องมือเครื่องใช้  ภาพเหตุการณ์ รวมถึงภาพกราฟฟิคด้วย

เพิงผาที่ช่องประตูผา จังหวัดลำปาง

ถ้าไม่นับความยิ่งใหญ่ของผาแต้มที่โขงเจียม ก็นับเป็นกลุ่มภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง  

แม้ว่าในประเทศไทยจะพบแหล่งภาพเขียนสีอยู่มากมายและมีการพบมานานแล้ว แต่วิธีการศึกษามักจะพิจารณาเพียงรูปแบบเทคนิคการผลิตและ  style ของภาพ เช่น วัตถุดิบของสีที่นำมาใช้ทำจากอะไร เทคนิคการวาดภาพ เทคนิคการลงสีเป็นแบบลายเส้นหรือเงาทึบ ภาพนั้นน่าจะเป็นภาพอะไร ที่สำคัญวิธีการศึกษาเช่นนี้ เป็นวิธีพิจารณาภาพเขียนสีในฐานะเป็นเพียง งานศิลปะ ที่ขาดบริบทของกลุ่มสังคมของผู้วาดรองรับ ความหมายของภาพวาดที่เคยคงอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งจึงไม่ได้รับการกล่าวถึงเท่าใด และภาพเขียนสีก็เลยกลายเป็นงานของปัจเจกบุคคลที่มีอารมณ์อ่อนไหวกลายเป็นนึกอยากจะวาดก็วาดกันไป

หากมองภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ว่าเป็นภาษาอย่างหนึ่ง หรือเป็นระบบการสื่อสารร่วมกันของคนในสังคม โดยเฉพาะสังคมที่ยังไม่มีลายลักษณ์อักษร การวาดภาพลงบนพื้นหินในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นการยืนยันถึงตัวตนของผู้วาดต่อกลุ่มสังคมนั้น และภาพวาดจะมีโครงสร้างที่มีความหมายเป็นที่เข้าใจกันในระหว่างชุมชน

แม้หน้าที่และความหมายในอดีตได้สูญหายไปพร้อมๆ กับชุมชนเมื่อสองสามพันปีก่อนแล้ว แต่ก็น่าจะคิดไปถึงคนที่เคยใช้งานและได้ให้ความหมายกับภาพเขียนสีเหล่านี้อย่างไร การศึกษารูปแบบ, ใจความสำคัญ และความรู้หลังสุดที่สามารถหาหรือเปรียบเทียบได้เกี่ยวกับระบบสัญลักษณ์ ที่เป็น signs&symbols ซึ่งมีอยู่ในภาพจะมีประโยชน์มากกับการตีความแบบนี้

แม้จะไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า การศึกษาตีความตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเรื่องถูกต้องเพราะเป็นสังคมที่ตายไปแล้ว แต่ถ้าหากเราเริ่มทำก็จะเห็นหลักเกณฑ์บางอย่าง และแนวคิดซึ่งเป็นผลิตผลส่วนหนึ่งของระบบวัฒนธรรมและลักษณะทางกลุ่มสังคมที่ผู้วาดภาพดำรงอยู่ก่อนที่จะแสดงออกมาเป็นภาพเขียน

ทั้งนี้ก็น่าจะพบทางเลือกที่สามารถแจกแจงระบบสัญลักษณ์ที่ปรากฏ อธิบายถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาได้   

ในบทความนี้ อยากจะทดลองคิดในแนวทางข้างต้นว่าเราควรมองภาพเขียนที่ประตูผาให้มากกว่าเชิงเทคนิค ผู้คัดลอกภาพรายงานให้ทราบว่า รูปแบบของการวาดฝ่ามือมีจำนวนมากที่สุด(๙๕๐ ฝ่ามือ) ฝ่ามือที่พบมีทั้งซ้ายและขวา เล็กและใหญ่ มีวงกลมล้อมรอบฝ่ามือ มีลายจุดประล้อมรอบฝ่ามือ มีลายกากบาทล้อมรอบฝ่ามือ ในฝ่ามือหลายๆ แห่งยังมีร่องรอยของเส้นลายมือและลายนิ้วมือที่แตกต่างกันไปอีก ฝ่ามือจึงเป็นสัญลักษณ์ที่น่าจะแทนตัวตนของบุคคลแต่ละคนที่เคยอยู่ในสังคมนั้น การที่จะประทับฝ่ามือลงบนพื้นผนังได้คงไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้อย่างทันทีและเท่าเทียมกันทุกคน แต่อาจจะผ่านพิธีกรรมบางอย่าง เช่น พิธีแรกรับ เป็นต้น เพราะไม่ปรากฏว่ามีฝ่ามือของทารกในที่ใด 

ภาพของสัตว์ที่ปรากฏมีหลายประเภท เช่น วัว เต่า สัตว์ประเภทเก้งหรือกวาง นก สัตว์ประเภทกระรอกกระแตขนาดเล็ก นกยูง สัตว์เลื้อยคลานบางชนิด สัตว์ประเภทหนูหรือค้างคาว กระต่าย แต่ทั้งหมดนี้มีสัตว์จำพวก วัว เก้งหรือกวาง ที่มีรูปร่างชัดเจนมากจนมั่นใจว่าไม่ผิดเพี้ยน


ภาพเขียนสีแดงบนเพิงผาที่ประตูผา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปฝ่ามือสีแดง และที่สำคัญเห็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่าที่เป็นรูปควายหรือวัว และกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย

มีเหตุผลอย่างไรจึงต้องวาดภาพสัตว์ชนิดต่างๆ ไว้ในสถานที่พิเศษเช่นนี้ นอกจากอยากจะสื่อสารถึงความหมายที่อยู่ในตัวสัตว์ชนิดนั้น ในรูปแบบตัวตนของผู้วาด หากเราศึกษากลุ่มตระกูลในสังคมดั้งเดิมหลายแห่งก็จะพบว่า กลุ่มตระกูลของสังคมแบบเดิมบางแห่งเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนสืบเชื้อสายมาจากสัตว์ ต้นไม้ หรือ สิ่งของบางอย่าง และมีกฎที่จะไม่กินหรือแตะต้องสิ่งเหล่านั้น ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เช่น กลุ่มชาวเขมรที่สุรินทร์บางแห่งเชื่อว่าตะกวดคือบรรพบุรุษของตน หมู่บ้านนี้จึงมีตะกวดนอนตากแดดอย่างสบายบนคาคบรอบๆ หมู่บ้านโดยไม่มีใครรบกวน ดังนั้น การแสดงถึงตัวตนและสายตระกูลของผู้วาดภาพ โดยการวาดรูปสัตว์ที่เชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จึงน่าจะเป็นไปได้

ภาพที่เป็นรูปคนในท่วงทีลักษณะอาการเคลื่อนไหวต่างๆ และพอแบ่งได้ว่ามีทั้งเพศชายและเพศหญิง นุ่งห่มเครื่องแต่งกายต่างกัน และมีภาพเล่าเหตุการณ์กิจกรรมของกลุ่มมนุษย์อยู่หลายแห่ง ที่น่าสนใจและและโดดเด่นมาก คือภาพลายเส้นที่ไม่ได้ระบายสีทึบ แสดงถึงการล้อมจับวัวหรือควายป่าขนาดใหญ่สองตัว ด้วยคนเจ็ดคน สองในเจ็ดนั้นล้มลงนอนแผ่หราท่าทางคงบาดเจ็บ 

มีบางภาพที่ผู้คนแสดงอาการร่ายรำ ตำแหน่งที่แต่ละคนยืนน่าจะเป็นการล้อมวง ช่วงขาตรง มือที่ยกนั้นบ้างยกขึ้นเหนือหัวทั้งสองแขน บ้างแขนเดียว บ้างกางแขนออก แต่ก็อยู่ในอาการโค้งอ่อนมากกว่าอาการแข็งแกร่งและตั้งฉาก อย่างน้อยเราก็รู้สึกได้อย่างเลาๆ ถึงอาการร่ายรำของผู้คนดั้งเดิมในเขตนี้  

บางภาพแสดงอาการจับสัตว์ประเภทวัวควายด้วยอาวุธหลายชนิด มีทั้งต้องการเอาชีวิตและยังไม่ต้องการให้ถึงตาย อาจจะเป็นหอกปลายแหลม เชือกที่ถ่วงของหนัก เชือกที่ร้อยเป็นบ่วง กิจกรรมนี้มีฝูงสัตว์ล้อมรอบอยู่มากมาย นอกจากนี้มีภาพคนสองคนห้อยโหนกิ่งไม้หรือคานต่อกันในลีลาที่กำลังเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา เป็นต้น

กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ เห็นได้ชัดว่าต้องการสื่อความหมายในลักษณะการเล่าเรื่องที่ผ่านมาแล้วซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิต หรือเป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้จินตนาการขึ้นเอง  กิจกรรมแต่ละอย่างบ่งบอกถึงวิถีชีวิตส่วนหนึ่งที่สังคมนั้นมีอยู่ ในกรณีนี้ เราพบเหตุการณ์ช่วยกันล้อมจับสัตว์ขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นสัตว์ป่ารูปร่างเช่น วัวหรือควาย หลายแห่ง แต่คงไม่ด่วนสรุปไปได้ว่า รูปแบบทางสังคมนี้จะดำรงชีพด้วยการหาของป่าล่าสัตว์เป็นหลัก โดยไม่ทำการเกษตร แต่หากเรามองว่า การช่วยเหลือกันในกลุ่มร่วมกันล้อมจับสัตว์ป่าที่เป็นอันตราย อาจเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นบ่อยนัก ก็อาจเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับงานสำคัญหรืองานพิธีกรรม  อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีภาพเล่าเรื่องที่แสดงให้เห็นว่ามีการนำสัตว์มาใช้ทดแทนแรงงานในการเกษตร หรือมีฝูงสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหารจำนวนมากๆ แต่อย่างใด

มีความจำเป็นต้องอธิบายภาพเขียนบนพื้นหินให้มากกว่าลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏ และต้องพยายามหาหลักเกณฑ์รวมถึงโครงสร้างที่มีอยู่ในภาพเหล่านี้อย่างถี่ถ้วนกว่าในบทความนี้ อย่างไรก็ตาม นับเป็นโชคดีอย่างมหาศาลที่พื้นดินเบื้องล่างฝังศพมนุษย์ที่น่าจะมีช่วงชีวิตที่สัมพันธ์และร่วมสมัยกับภาพเขียนด้านบน นับเป็นแหล่งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกในเมืองไทยที่พบการฝังศพในบริเวณเดียวกัน

มีการฝังศพที่ใต้เพิงผากลุ่มที่ ๑ ซึ่งเป็นกลุ่มภาพเขียนที่ใหญ่ที่สุด พบโครงกระดูก ๖ โครง มีวิธีการฝังศพที่แตกต่างกันออกไป เช่น มีการมัดตราสัง มีการพันศพด้วยฟากไม้ไผ่ พบข้าวเมล็ดป้อมใส่ภาชนะสานวางไว้ที่ใกล้ใบหน้า เหนือหัววางภาชนะดินเผา และมีเครื่องมือหินขัดวางไว้ใกล้กัน  

มีการพบโครงกระดูก ๓ โครงที่ถูกฝังศพในคราวเดียวกัน โดยการขุดหลุมขนาดประมาณ ๐.๖ X ๑.๖ เมตร ลึกประมาณ ๐.๖ เมตร ปักเสาไม้ไผ่ที่มุมทั้งสี่ด้าน แล้ววางฟากไม้ไผ่ลงที่ก้นหลุม จุดกองไฟที่บริเวณกลางฟากไม้ไผ่นั้น แล้ววางศพแต่ละศพที่มัดตราสัง พันร่างด้วยผ้าที่ทำจากใยพืชประเภทปอแล้วพันห่อด้วยเสื่อที่สานอย่างประณีต บางโครงมีการโรยดินเทศสีแดง แล้วปิดทับด้วยฟากไม้ไผ่ มีเครื่องประกอบเป็นภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ บางใบมีช้อนไม้ที่กลึงเกลาวาดลายเส้นอย่างสวยงามบรรจุอยู่ แล้วใช้ก้อนหินขนาดเล็กวางเป็นขอบหลุม บางโครงที่พบยังคงมีเส้นผมหลงเหลืออยู่ 

ภาชนะที่พบกับหลุมฝังศพด้านล่างภาพเขียนสี ซึ่งไม่เคยพบหลุมฝังศพของมนุษย์มาก่อนในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นนี้ในแห่งโบราณคดีประเภทเดียวกันในที่อื่นๆ รูปแบบภาชนะและโบราณวัตถุบางชิ้นทำให้สันนิษฐานว่า แหล่งฝังศพนี้น่าจะมีอายุในราวยุคเหล็กตอนปลาย เมื่อราวเริ่มยุคพุทธกาลก่อนจะมีการรับพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนนี้

หลุมศพบางหลุมก็พบโลงไม้ไผ่ที่มีร่องรอยการเผากระดูกอยู่ภายใน แต่มีสภาพไม่สมบูรณ์นัก

อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ที่เชื่อว่าเป็นหลักฐานสำคัญยิ่งในการอธิบายถึงความคิดหรือรูปแบบการทำพิธีกรรมฝังศพ ตลอดจนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้น

สิ่งมหัศจรรย์สำหรับการพบหลุมฝังศพในที่นี้คือ ร่องรอยของวัตถุที่เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมยังคงอยู่ ทั้งเสาไม้ไผ่ ฟากไม้ไผ่ เมล็ดข้าว ช้อนไม้ ผ้า เปลือกไม้ ใบไม้ เสื่อและตะกร้าเครื่องจักสานที่ทำจากเส้นหวายหรือไม้ไผ่ เส้นหญ้าทักหุ้มปากภาชนะดินเผา เส้นผม ทั้งที่ค่าอายุที่ทดสอบจากค่าคาร์บอน ๑๔ มีอายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้วหรือราว ๑,๐๐๐ BC. นับว่าโชคดีที่สภาพแวดล้อมและไม่มีสิ่งรบกวนจนทำให้หลงเหลือหลักฐานเช่นนี้

โบราณวัตถุที่พบในหลุมขุดค้นและบริเวณรอบๆ เช่น เครื่องประดับพวกลูกปัดหินสีเขียว กำไลหิน เปลือกหอยทะเล เครื่องมือหินขัดแบบมีบ่าและไม่มีบ่า ทั้งที่เป็นโกลนหินยังไม่ได้ขัดและที่ขัดแล้ว เครื่องมือหินเจาะรูสำหรับกระทุ้งให้ดินอัดแน่นในการปลูกพืชบนที่สูง เครื่องมือปลายแหลมที่ทำจากกระดูก เปลือกหอยน้ำจืด กระดองเต่า เขากวาง จะเห็นว่าวัตถุประเภทเครื่องประดับพบน้อยมาก และไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ

14

ภาพของภาชนะแบบจักสานที่ยังคงสภาพอยู่และปอยผมที่ยังคงเหลือ ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับแหล่งโบราณคดีประเภทนี้ในประเทศไทยและในโลกทีเดียว

เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งวัฒนธรรมในภูมิภาคอื่นๆ จะพบว่า ในภาคอีสานช่วงเวลา ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีการใช้โลหะพวกเครื่องมือสำริด และนำเข้าเครื่องประดับจากพื้นที่ห่างไกลเช่นชายฝั่งทะเล มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันอย่างกว้างขวาง ส่วนในภาคกลาง มีการใช้เครื่องมือโลหะสำริดเช่นกัน และมีการใช้เครื่องประดับทำจากเปลือกหอยทะเลอย่างมากมายจนอาจกล่าวได้ว่าถึงระดับฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ รูปแบบภาชนะดินเผาที่เป็นลายคดโค้งมีจุดประอยู่ด้านในหรือใช้เทคนิคไม้พันแกนเชือกแล้วทาบลงบนพื้นผิว ก็เป็นรูปแบบที่นิยมกันทั่วไปตลอดทั้งภูมิภาคตั้งแต่ในเขตหมู่เกาะ วัฒนธรรมซาหวิ่นในเวียดนาม เขตวัฒนธรรมในภาคอีสานตอนบน เขตวัฒนธรรมที่ราบลุ่มภาคกลาง ช่วงเวลากว้างๆ ที่ใช้อยู่ในราว ๓,๕๐๐ ปีจนถึง ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว

ภาชนะรูปทรงสามเหลี่ยม มีปากขนาดเล็กที่ด้านบนใบหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะลักษณะพิเศษ ไม่พบบ่อยนักในพื้นที่ประเทศไทย ก็ยังไปเหมือนกับภาชนะรูปทรงสามเหลี่ยมที่พบที่ถ้ำเขาสามเหลี่ยม จังหวัดกาญจนบุรี 

ไม่น่าแปลกใจที่ชุมชนในหุบเขาประตูผาของลำปาง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาผีปันน้ำทางตอนล่างที่อาจติดต่อกับที่ราบภาคกลางได้หลายทาง จะมีความคล้ายคลึงในเรื่องรูปแบบของเครื่องมือเครื่องใช้ อันแสดงถึงการเป็นส่วนหนึ่งในรูปแบบวัฒนธรรมกระแสหลักที่ครอบคลุมวัฒนธรรมในเขต Mainland Southeast Asia อยู่ แสดงถึงมีการติดต่อรับรู้เรื่องราวภายนอกในเขตวัฒนธรรมที่ไกลออกไป แม้ว่าชุมชนในระยะนั้นจะมีการติดต่อกันอย่างยากลำบากกว่าที่เราจะเข้าใจก็ตาม 

แต่ในขณะเดียวกัน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่แสดงออกอย่างโดดเด่นในความเป็นท้องถิ่น นั่นคือ การไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะใช้เหมือนกับชุมชนในเขตวัฒนธรรมอื่นที่ร่วมสมัย การรับเทคโนโลยีและแหล่งวัตถุดิบที่เป็นโลหะธาตุน่าจะยังมีไม่เพียงพอในระยะนั้น  ศิลปะการกลึงช้อนไม้จากไม้ชิ้นเดียว โดยมีความงามทั้งรูปทรงและพื้นผิวการลงลวดลายที่โดดเด่น ก็ทำให้เห็นชัดเจนว่าช่างฝีมือในชุมชนนี้มีความชำนาญในงานไม้ระดับสูงทีเดียว

ส่วนวิธีการฝังศพหากเปรียบเทียบคงไม่ต่างจากการฝังเพื่อรอการเผาในอดีตที่ผ่านมาไม่นานเท่าใดนัก นั่นคือ ต้องมัดตราสัง ห่อศพด้วยฟากหรือเฝือกไม้ไผ่ จะแตกต่างกันก็ตรงที่ฝังเครื่องเซ่น สิ่งของอุทิศให้ศพ ซึ่งมีความชัดเจนว่าเป็นข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้ เช่น ขวานหินขัด เครื่องประดับ แต่จากข้อมูลที่พบนี้น่ายินดีที่เห็นกระบวนการในการเตรียมการฝังศพว่ามีขั้นตอนและใช้วัตถุสิ่งใดบ้างในพิธีกรรมนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างหลุมฝังศพและภาพเขียนสีที่อยู่ด้านบนจะสนับสนุนการค้นหาหลักเกณฑ์ในการศึกษาตีความแก่กันและกันได้อย่างดี อย่างน้อยก็พอจะรู้รูปแบบทางสังคมเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคนั้น ส่วนรูปแบบของกลุ่มสังคมทางการเมืองก็จำเป็นต้องหาข้อมูลในละแวกแอ่งประตูผาหรือแอ่งอื่นที่ใกล้เคียงมาเปรียบเทียบหาความสัมพันธ์ต่อกัน 

เท่าที่พบเห็นก็อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนแห่งนี้ ผู้คนรวมตัวกันเป็นกลุ่มในลักษณะแบบ  chiefdom ซึ่งมีหัวหน้ากลุ่มและกลุ่มสายตระกูลต่างๆ เลือกตั้งชุมชนในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ และเลือกใช้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีการทำพิธีกรรมที่สวยงามและเหมาะสมอย่างยิ่ง มีลำดับช่วงชั้นทางสังคมเพราะพบหลุมฝังศพจำนวนไม่มากนักในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ มีการเพาะปลูกพืชไร่บนที่สูงหรือที่ราบเชิงดอย ไม่น่าจะรู้จักระบบการทดน้ำ มีการแบ่งงานและช่างผู้ชำนาญงานฝีมือซึ่งชำนาญงานแกะกลึงไม้ งานจักสานงานถักทอ ใช้วัตถุดิบจากพืชพรรณทั่วไปที่ขึ้นในท้องถิ่น แต่ไม่พบแวที่ใช้ในการปั่นฝ้ายหรือทอผ้า ดังนั้นเครื่องนุ่งห่มของผู้คนในที่นี้จึงไม่น่าจะพัฒนาเท่าไหร่ ใช้เวลาส่วนหนึ่งในการจับสัตว์ป่าเพื่อใช้เป็นอาหารหรือสำหรับงานพิธีกรรม โดยไม่มีร่องรอยของการเลี้ยงสัตว์เป็นกลุ่มใหญ่ ผู้คนในกลุ่มนี้ มีการติดต่อสังสรรค์กับชุมชนอื่นๆ อาจจะเป็นโดยตรงหรือทางอ้อมก็ได้อย่างแน่นอน 

ผู้คนที่เคยเป็นเจ้าของวัฒนธรรมในแอ่งประตูผา แสดงออกถึงตัวตนของกลุ่มสังคมและตัวตนของปัจเจกบุคคลที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่นี้เมื่อเวลากว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้วอย่างชัดแจ้ง จนแทบไม่มีแหล่งโบราณคดีแห่งใดในประเทศไทยจะแสดงถึงตัวตนของมนุษย์ได้ชัดเจนกว่านี้