วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

(บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรื่อง “เรื่องเล่าจากหมู่บ้านเชิงเขาบูโดกรณีบ้านตะโหนด, พ.ศ. ๒๕๕๓)

เมืองภายในที่รุ่งเรืองจากแร่ดีบุก

บริเวณที่ตั้งของเมืองรามันอยู่ใกล้ลำน้ำสายบุรีที่ “กายูบาเกาะ” แล้วย้ายที่ตั้งเมืองไปอยู่ที่ “โกตาบารู” เชิงเขาบือมัง ใกล้กับเทือกเขากาลออันเป็นส่วนหนึ่งของ “สันกาลาคีรี” เมื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากหัวเมืองเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลเทศาภิบาล บริเวณนี้เคยเรียกชื่อว่าอำเภอโกตาบารู ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นชื่ออำเภอรามันเช่นเดิมและย้ายสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอกลับไปอยู่ใกล้ลำน้ำสายบุรีที่กายูบาเกาะมาจนถึงปัจจุบัน

แม่น้ำสายบุรีเกิดจากขุนน้ำของเทือกเขาสันกาลาคีรีที่สำคัญ ได้แก่ เขาบาตูตาโมง เขาโต๊ะมูเด็ง เขามาแรแต เขาบาเราะมาตอ เขาตีบุ เขากาลอ เขาลิจอ เขากูมากูลิง เขาน้ำค้างและเขาหินม้า บริเวณพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซียในอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาสและรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย ไหลขึ้นเหนือผ่านอำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ไปยังอำเภอรามัน จังหวัดยะลาและออกสู่ทะเลที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีความยาวตลอดลำน้ำราว ๑๘๖ กิโลเมตร ผ่านเขตการปกครองของสามจังหวัดรวม ๘๒ ตำบล ๔๗๐ หมู่บ้าน

1

แผนที่แสดงที่ตั้งของอำเภอรามัน (ภาพจาก Google Map, http://maps.google.co.th)

ลำน้ำสายบุรีมีความหลากหลายของชีวภาพสูง มีปลาราว ๑๐๓ ชนิดและเป็นแหล่งปลาหายาก เช่น ปลามังกร  (ปลามังกร เป็นปลาในตระกูลปลากินเนื้อ ชอบกินสัตว์ที่มีชีวิต เช่น แมลงสาบ ตะขาบ จิ้งจก ปลาเล็ก นิสัยดุร้าย บางแห่งเรียกว่าปลาตะพัด แต่ในเขต ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ชาวบ้านเรียกว่า ปลากรือซอ พบในลำน้ำสายบุรีโดยเฉพาะที่ บึงน้ำใส ตำบลตะโละหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดปลามังกรแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่ง ปลามังกรมีรูปร่างยาวเรียว ตัวแบน ๆ คล้ายปลากระบอก ขนาดโตเต็มที่ความยาวประมาณ ๒ ฟุตกว่า ลำตัวกว้างประมาณ ๑๐ นิ้ว เป็นปลาที่มีอายุยืน ขยายพันธุ์โดยการวางไข่ปีละครั้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี ช่วงหน้าฝน ปลากรือซอจะมาตามน้ำที่ล้นจากบึงน้ำใสออกสู่ท้องนาจำนวนมาก ชาวบ้านจับได้บ่อยโดยที่ไม่ทราบว่าเป็นปลาที่มีราคาสูงจึงนำมาบริโภคกันก่อนจะทราบ มีคนเชื่อกันว่าผู้ใดเลี้ยงปลามังกรแล้วจะโชคดี ชาวบ้านเชื่อกันว่า ปลาชนิดนี้เป็นของแสลงหากผู้ที่มีบาดแผลหรือเป็นโรคเกี่ยวกับผิวหนังกินเข้าไปหรือแม้แต่เดินข้ามเกล็ดปลานี้ จะทำให้บาดแผลอักเสบ เน่าเปื่อยหรือมีอาการคัน กลุ่มงาน ข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดยะลา (03/04/09), http://www.yala.go.th/perft/goodyala9.htm )  สัตว์ป่าอื่นๆ จำนวนมากชนิดเพราะมีลำน้ำสาขาที่ไหลมาจากเทือกเขาและที่สูงอื่นๆ ไหลมารวมกัน เช่นลำน้ำสายบุรีที่แยกออกไปทางอำเภอไม้แก่น เมื่อนับรวมกับสาขามีระยะรวมแล้วประมาณ ๑,๔๑๒ กิโลเมตร

บริเวณใกล้กับปากน้ำได้รับอิทธิพลของน้ำทะเลบริเวณนี้เป็นน้ำกร่อย ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้มีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ซึ่งกำหนดไว้แต่เดิมราว ๙๐๐ ไร่ และจำเป็นต้องใช้น้ำจืดจากแม่น้ำสายบุรีจำนวนมหาศาล

แม่น้ำสายบุรีมีสภาพภูมินิเวศที่น่าสนใจ เพราะไหลเชื่อมต่อกับพื้นที่พรุหลายแห่ง ที่สำคัญคือพรุลานควายหรือพรุบึงโต๊ะพราน มีพื้นที่นับหมื่นไร่อยู่ในอำเภอรามันและอำเภอทุ่งยางแดง ถือเป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่เป็นแหล่งปลาน้ำจืดจำนวนมากที่สุด เนื่องจากยังไม่มีเขื่อนกั้น ทำให้ในฤดูน้ำหลาก จะมีปลาและกุ้งก้ามกรามทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ ซึ่งเป็นช่วงฤดูที่ชาวบ้านจับกุ้งและปลาได้มาก ถือเป็นความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ แต่เมื่อโครงการพัฒนาพื้นที่พรุลานควายเข้ามาจัดการระบบการไหลเวียนของน้ำ หลากตามธรรมชาติเพื่อจัดการเก็บน้ำไว้คล้ายๆเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำตลอดทั้งปี ต่างจากเดิมที่มีน้ำขังเพียง ๓ เดือน จึงเป็นการตัดระบบนิเวศของพรุไปอย่างน่าเสียดาย ชาวบ้านรอบพรุที่ทำประมงและมีอาชีพหากินในระบบนิเวศดังกล่าวก็สูญเสียรายได้และต้องเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตไปตลอด ๒๕ ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงพรุลานควายที่ไม่ได้ศึกษาและให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศดังกล่าวอย่างรอบด้าน จึงสร้างปัญหาแก่ท้องถิ่นตามมาอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามสร้างเขื่อนสายบุรีในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างและโครงการพรุบาเจาะ-ไม้แก่น ในรูปแบบประตูระบายน้ำและทดน้ำบริเวณบ้านกะดูนง ในอำเภอสายบุรีเพื่อทดน้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาเข้าสู่คลองซอยและคลองแยกซอยไปยังพื้นที่เพาะปลูก อีกทั้งแก้ปัญหาพรุบาเจาะและไม้แก่นที่กรมชลประทานทำระบบนิเวศของพรุเสียหาย นาข้าวกลายเป็นดินเปรี้ยวใช้งานไม่ได้ จึงต้องการดึงน้ำจากแม่น้ำสายบุรีเข้าไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวและน้ำกร่อย ( ผศ.นุกูล รัตนดากุล “เขื่อนสายบุรี”: ฟื้นโปรเจ็คส์ใหญ่ท้าทายไฟใต้ (03/04/09) http://www.prachatai.com/journal/2008/05/16677 )

แม้จะมีการต่อต้านและหยุดระงับโครงการมานานหลายปี แต่โครงการนี้กำลังดำเนินการอีกครั้งหนึ่งในสภาพสังคมที่ตกอยู่ภายใต้ความรุนแรงของสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งคาดการณ์ไม่ได้ว่าชาวบ้านผู้คัดค้านเดิมอาจจะไม่มีพลังออกมาต่อสู้แต่สถานการณ์ความรุนแรงนั้นอาจทำให้โครงการนี้ไม่ประสบผลสำเร็จอีกครั้งก็เป็นไปได้

บ้านตะโหนดซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาครั้งนี้ แม้จะอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเคยขึ้นอยู่กับอำเภอตันหยงมัสหรืออำเภอระแงะในปัจจุบัน ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อมีการแยกเขตปกครองเป็นอำเภอต่างๆ แล้ว แต่เดิมนั้นขึ้นอยู่กับเมืองรามัน ที่ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดยะลา และเป็นพื้นที่ปลูกข้าวแบบทำนาทดน้ำ ซึ่งเจ้าเมืองรามันส่งคนเข้ามากำกับดูแลและต้องส่งส่วยข้าวแก่เจ้าเมืองทุกปี

2w


แผนที่แสดงเส้นทางแม่น้ำสายบุรีซึ่งมีต้นน้ำจากเทือกเขาสูงไหลผ่าน
อำเภอสุคิริน ศรีสาคร รามัน กะพ้อและสายบุรี (ภาพจาก Map magic Thailand)

ท้องถิ่นหรือชุมชนในลักษณะเดียวกับบ้านตะโหนดน่าจะมีอยู่หลายแห่งในเขตป่าและเทือกเขาเชิงเขาหรือพื้นที่อื่นๆ บริเวณใกล้เคียงเมืองรามัน เช่น บริเวณวังพญา เดิมชื่อว่า “ปากาซาแม” เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวของเจ้าเมืองรามันที่โกตาบารู เป็นรูปแบบการขยายพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นการขยายตัวของชุมชนเพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกินในป่าเขาห่างไกลและตอบสนองการเลี้ยงแรงงานเพื่อทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านบางแห่ง เช่น บ้านกือเม็ง เคยเป็นหมู่บ้านที่เลี้ยงช้างศึกม้าศึกของเจ้าเมือง รวมทั้งยังมีร่องรอยและเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวมลายู เช่น โนรามลายู มะโย่ง คำว่า “กือเม็ง” นั้นเป็นชื่อของสตรีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งงดงามและเก่งกล้า ชาวบ้านจึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านด้วยความภูมิใจ แต่ราชการกลับไปเปลี่ยนชื่อโดยพลการว่า “กาเม็ง” ที่แปลว่า “แพะ” โดยไม่รับรู้ว่ากาเม็งมีที่มาที่ไปอย่างไร เพียงเห็นว่าชาวบ้านเลี้ยงแพะมาก แต่ชาวบ้านไม่ชอบสร้างผลกระทบทางความรู้สึกต่อชาวบ้านตลอดมาจนถึงปัจจุบัน (รายการสารคดี “พันแสงรุ้ง” ตอนที่ ๕๔: กือเม็งแห่งรามัน ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ )

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “ไก่ชนเมืองรามัน” เพราะบุตรชายของเจ้าเมืองคนหนึ่งชื่อ หลงฆาฟาร์ ชอบเล่นไก่ชนกับชาวบ้านแบบไม่เอาเงินเดิมพัน หลงฆาฟาร์ นิยมผสมพันธุ์ไก่และฟักด้วยมือของตนเอง ไก่ชนเป็นพันธุ์เมืองรามันผสมกับเมืองสายที่มีชื่อเสียงโด่งดังขนาดนำไปให้เจ้าเมืองตรังกานูที่เดิมพันชนไก่เป็นเรือ ๗ ลำและสินค้าเต็มลำกับพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเมืองตรังกานู ไก่ชนจารามันก็สามารถเอาชนะไก่ชนจากบูกิสได้ (ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ. เล่าขานตำนานใต้, ศูนย์พัฒนาและศึกษาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๐ (หน้า ๑๐๗), การเลี้ยงไก่ชน นกเขาชวา แล้วนำมาแข่งขัน ล้วนเป็นกีฬาหรือความบันเทิงของผู้คนในวัฒนธรรมแบบชวา-มลายู ซึ่งมีความหมายมากกว่าความบันเทิง การพนันเพียงอย่างเดียว เช่น กรณีของบาหลี การชนไก่เคยเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมดั้งเดิมในการขับไล่วิญญาณชั่วร้าย )

ส่วนที่กล่าวว่าชื่อเมือง รามัน มาจาก รามัย ที่แปลว่าสนุกสนานรื่นเริง เป็นเมืองที่จัดจัดงานเลี้ยงขึ้นเสมอ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมชุมชนที่มีมหรสพหลายแขนงและมีชื่อเสียงรับรู้ตกทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนั้น สะท้อนให้เห็นว่ารามันมีชื่อเสียงแตกต่างจากเมืองอื่นๆ เพราะเป็นศูนย์กลางของการแสดงและการเละเล่นที่สัมพันธ์กับพิธีกรรม เป็นที่กำเนิดของดิเกฮูลูที่ปัจจุบันก็ยังขยายไปสู่รัฐมาเลเซียทางตอนเหนือและข้ามไปจนถึงสิงคโปร์ การเชิญช่างทำกริชจากชวาผู้มีชื่อเสียง คณะมะโย่งต่างๆ ซึ่งถือเป็นมหรสพที่ผ่านจากราชสำนักมาสู่ชาวบ้านรวมทั้งงานเชิงช่างชั้นสูงฝีมือระดับราชสำนัก สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เมืองรามันมีฐานะมั่นคงทั้งในทางการเมืองและทรัพย์สินโดดเด่นกว่าเมืองอื่นๆ ใน ๗ หัวเมืองจนสามารถสร้างสรรค์งานศิลปกรรมและมหรสพชั้นสูงที่ใช้ไหวพริบปฏิภาณเชิงวรรณศิลป์ ซึ่งภายหลังแพร่ไปสู่ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ อย่างกว้างขวางและทำให้เห็นว่าเมืองรามันนั้นมีความมั่นคงอันเนื่องมาจากภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ซึ่งการทำเหมืองแร่ดีบุกน่าจะเป็นปัจจัยหลักส่วนหนึ่งที่นำมาซึ่งฐานะอันมั่นคงเหล่านี้

กริชรามันของเดิมซึ่งเป็นของต่วนลือเบะ ลงรายา อดีตรักษาการเจ้าเมืองรามันคนสุดท้าย (ภาพของจำรูญ เด่นอุดม)

และกริชรามัน ที่ผลิตขึ้นใหม่และกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดยะลา

ทุกวันนี้ยังพบร่องรอยความรุ่งเรืองของเมืองรามันที่โกตาบารูซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางของเมืองรามันที่ประกอบด้วย กำแพงดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๓-๔ เมตร สูง ๒ เมตร ล้อมรอบพื้นที่ประมาณ ๒๕ ไร่ ส่วนของกำแพงยังพอเห็นเป็นแนวกำแพงอยู่ในสวนยางพาราของเอกชน วังเจ้าเมืองรามัน ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลเมืองโกตาบารู และสุสานเจ้าเมืองรามันที่เรียกว่า สุสานโต๊ะนิ ตั้งอยู่หลังตลาดโกตาบารูห่างจากกำแพงเมืองเก่าประมาณ ๑๐๐ เมตร รวมทั้งกลุ่มบ้านจือเบาะ ซึ่งเป็นเรือนแบบคหบดีราว ๔๐ ครัวเรือน อยู่ที่บ้านจือแร ตำบลกอตอตือระ อำเภอรามัน ทั้งหมดปลูกติดกันเป็นกลุ่มหลังคาถึงกันมีทางเดินเล็ก ๆ ลัดเลาะไปมาตามชายคาบ้าน พื้นที่ที่ปลูกบ้านเรือนอยู่รวมกันประมาณ ๑๐ ไร่ ชาวบ้านเล่ากันว่าแต่เดิมเป็นบ้านของภรรยาคนหนึ่งของเจ้าเมืองรามัน เจ้าเมืองรักมากจึงปลูกเรือนให้อยู่แล้วให้บริวารมาปลูกบ้านแวดล้อม
การเกิดขึ้นของเมืองรามัน

เมืองรามัน เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมีทั้งช้าง ป่าไม้และดีบุก เมืองรามันมีอาณาเขตกว้างขวางติดต่อกับเมืองสายบุรี เมืองยาลอ เมืองระแงะและเมืองเประ มีเจ้าเมืองปกครองติดต่อกันมาหลายคน แต่ที่สำคัญมีตำนานเล่าลือจนกลายเป็นคนสำคัญของท้องถิ่น [Culture hero] และเป็นที่นับถือของชาวพุทธและอิสลามและชาวจีน ทั่วทั้งท้องถิ่นที่เคยเป็นอาณาเขตของเมืองรามันอันหมายถึงในเขตพื้นที่ภายใน จนมีการสร้างศาลไว้สักการะ เช่น ที่เบตง คือ “โต๊ะนิจาแว” เรียกสั้น ๆ และเป็นที่รู้จักทั่วไปว่า “โต๊ะนิ”

5w

สุสานโต๊ะนิที่อำเภอรามัน มีความเชื่อว่าเจ้าเมืองรามัน “โต๊ะนิโต๊ะและห์” เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ หากบนบานขอความคุ้มครอง ไปที่ใดจะได้รับความปลอดภัย และมีงานฉลองโต๊ะนิทุกปี ทั้งจากคนเชื้อสายจีน ไทยและมลายูที่อำเภอเบตงซึ่งมีศาลปรากฏอยู่ด้วย (ภาพของ จำรูญ เด่นอุดม)

ชาวบ้านเล่าลือสืบต่อกันมาว่า เจ้าเมืองรามันชอบการเล่นกิจกรรมสนุกสนานและชอบสิละมาก เมื่อถึงวันสำคัญตามประเพณีก็จะมีการแข่งขันการรำและต่อสู้สิละ มีการใช้กริชรามันที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน      (มุจรินทร์ ทองนวล. สืบสานตำนานกริชรามัน สัมผัส ตีพะลี อะตะบู ราชันแห่งกริชชายแดนใต้ http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=3994&Itemid=86  (28/05/09)

การผลิตกริชรามันยังมีความพยายามสืบทอดการทำกริชแบบดั้งเดิมที่บ้านตะโละหะลอ อำเภอรามัน  จังหวัดยะลา ชาวบ้านเล่าว่าสมัยก่อนชาวบ้านเมืองรามันจะต้องมีกริชใช้ถึง ๗ เล่มในแต่ละบ้าน ลวดลายบนหัวกริชรามัน เป็นลวดลายที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ” ดอกสิละ” เป็นลวดลายที่เป็นกระบวนท่าร่ายรำสิละ (กริชรามันถือกำเนิดจากความจำเป็นของเจ้าเมืองรามันที่ต้องใช้กริชในการพิธีขึ้นครองเมือง จึงขอความช่วยเหลือไปยังเมืองชวา เพื่อให้ส่งช่างทำกริชมาช่วย ช่างทำกริชที่เจ้าเมืองชวาส่งมาให้เจ้าเมืองรามัน จำนวน ๔ ท่าน คือ ท่านปันไดสาระ ท่านปันไดยานา ท่านปันไดซานะ และท่านปันไดนิรนาม ซึ่งเป็นช่างหลวง ซึ่งที่เมืองชวามีอยู่ ๕ คน ช่างหลวงทั้ง ๔ คนที่ส่งมานั้น ช่างที่มีบทบาทมากที่สุดคือ ท่านปันไดสาระ  เนื่องเพราะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการทำกริช รวมทั้งเป็นผู้ร่างจรรยาบรรณของช่างทำกริช อันเป็นแนวทางปฏิบัติของช่างทำกริชรามันมาจนถึงปัจจุบัน กริชตระกูลท่านปันไดสาระ เป็นกริชที่ได้รับการยอมรับในกลุ่มนักทำกริชหรือกลุ่มผู้นิยมกริชทั่วโลก เพราะเป็นกริชที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษกว่ากริชอื่น โดยเฉพาะใบกริชและหัวกริชเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นรูปหัวนกปือกากาหรือนกพังกระหรือนกกินปลาตามที่คนท้องถิ่นเรียก นกปือกากาเป็นนกในวรรณคดีที่มีความหมายว่า ผู้คุ้มครอง ซึ่งกริชรามันมักใช้หัวกริชเป็นรูปนกปือกากาแทบทั้งสิ้น )

กลางคืนจะมีการแสดงดีเกฮูลูในงานฉลองของเจ้าเมือง เล่ากันว่าลิเกฮูลู ถือกำเนิดที่เมืองนี้เป็นครั้งแรก (เล่ากันว่า ดีเกฮูลู เกิดขึ้นที่ บ้านกายูบอเกาะ ในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา “ดีเกฮูลู” บางคนแปลว่าการเล่นดีเกที่มาจากต้นน้ำหรือจากบ้านนอก จากคำแปลว่าฮูลู หรือบางคนแปลว่า ใต้ จึงสรุปกันว่า เป็นการละเล่นของคนจากทางต้นน้ำหรือจากบ้านนอกหรือจากทางใต้ ซึ่งก็คงหมายถึงที่ตั้งของเมืองรามันที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินเข้าไปในเขตเชิงเขาที่ใกล้กับต้นน้ำ ดิเกฮูลูเป็นมหรสพสำหรับพิธีกรรมใหญ่ๆ การโหมโรงเริ่มต้นใช้กลองรำมะนาหรือ “ตาโบ๊ะ” เล่นเพลงปันตง แล้วร้องเล่นเพลงอะไรก็ได้ที่สนุกสนาน มีการตอบโต้หรือ “กาโระ” เป็นเรื่องๆ แล้วจบด้วย “วาบูแล” คำว่า “วา” แปลว่า ว่าว คำว่า “บูแล” แปลว่า วงเดือน รวมกันแล้วแปลว่า ว่าววงเดือน ถ้าเพลงที่ร้องจบด้วยคำว่า “วาบูแล” เป็นอันว่าเพลงได้จบลงแล้ว ) ด้วยความที่มีงานรื่นเริงอยู่เสมอจึงได้ชื่อว่า โกตารามัย แปลว่าเมืองรื่นเริง อันเป็นที่มาของชื่อ “รามัน” แต่ชาวบ้านหลายคนกล่าวว่า ชื่อ รามัน มาจากภาษามลายูโบราณ “รือมันหรือเรอมัน” หมายถึงบริเวณที่มีน้ำขังเป็นพื้นที่กว้างแต่ตื้นหรือแหล่งน้ำที่มีน้ำค่อยๆ ไหล ( ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ. เล่าขานตำนานใต้, ศูนย์พัฒนาและศึกษาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๐ (หน้า ๑๐๖) ซึ่งสัมพันธ์กับสภาพภูมินิเวศทั่วไปของเมืองรามันคือ “พรุ” และโดยลักษณะการตั้งชื่อบ้านนามเมืองก็มักจะใช้ชื่อของพื้นที่อันเป็นลักษณะเด่นหรือชื่อของต้นไม้ที่พบอยู่มากหรือปรับเปลี่ยนมาเป็นชื่อของบุคคลสำคัญในท้องถิ่นก็พบอยู่ทั่วไป

เมืองปาตานีบริเวณริมฝั่งชายทะเลเกิดขึ้นและรุ่งเรืองในช่วงราชวงศ์ศรีวังสาปกครองรัฐปาตานีในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ เมื่อเปลี่ยนราชวงศ์ก็ถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุครุ่งเรืองทางการค้าในฐานะที่ปาตานีเป็นศูนย์กลางเมืองท่านานาชาติ หลังจากนั้น เมื่อมีการครองเมืองจากราชวงศ์อื่น เช่น จากกลันตัน เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้สร้างเสถียรภาพเช่นที่เคยเป็นมา เมืองปาตานียุคหลังนี้ทำศึกสงครามกับสยามมาโดยตลอด เนื่องจากความพยายามที่จะผนวกรวมเมืองปาตานีที่อยู่ชายขอบอำนาจทางการเมืองของสยามและเป็นรัฐที่อยู่ในระหว่างรัฐมลายูต่างๆ ที่อยู่ทางด้านใต้ลงไปในแหลมมลายู

เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ กองทัพสยามเข้ายึดครองเมืองปาตานีไว้แล้วส่งขุนนางมาปกครอง หลังจากนั้น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โต๊ะไซยิด ร่วมกับพรรคพวกก่อการต่อต้านการปกครองจากฝ่ายสยามอีกครั้ง หลังจากนั้น เจ้าเมืองสงขลาเสนอว่าควรให้เจ้านายหรือผู้ปกครองในท้องถิ่นปกครองตนเองตามเมืองที่แบ่งออกเป็น ๗ หัวเมือง และแต่งตั้งให้พระยาเมืองพร้อมกับพระราชทานเครื่องประกอบยศเจ้าเมืองด้วย ซึ่งเจ้าเมืองส่วนใหญ่ต่างสืบเชื้อสายมีความเป็นเครือญาติพี่น้องกัน (เจ้าเมืองทั้ง ๗ ให้มีบรรดาศักดิ์ตามแบบสยาม ดังนี้ เจ้าเมืองปัตตานี มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช” เจ้าเมืองยะหริ่ง มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม” เจ้าเมืองหนองจิก มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาเพชราภิบาลนฤเบศร์วาปี มุจลินท์นฤบดินทรสวามิภักดิ์” เจ้าเมืองรามัน มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยารัตนภักดีศรีราชบดินทร์ สุนทรทิวังษา” เจ้าเมืองสาย มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสุริยสุนทรบวรภักดีศรีมหารายาปัตตมอับดุลวิบูลย์ขอบเขตประเทศมลายูวิเศษวังษา” เจ้าเมืองระแงะ มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาตะปะงันภักดีศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา” (ต่อมาเปลี่ยนเป็นพระยาภูผาภักดีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา) เจ้าเมืองยะลา มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาณรงค์ฤทธิ์ศรีประเทศวิเศษวังษา” )

หัวเมืองทั้ง ๗ นั้นมีการสืบตำแหน่งเรื่อยมาและมีการจัดการปกครองภายในท้องถิ่นของตนเองตามอำนาจของเจ้าเมืองที่ค่อนข้างอิสระมาตามลำดับจนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หัวเมืองทั้ง ๗ ในคราวนั้น ได้แก่ เมืองปัตตานี มี “ต่วนสุหลง” เป็นเจ้าเมืองอยู่ที่กรือเซะ เมืองยะหริ่ง มี “นายพ่าย” เป็นเจ้าเมือง เมืองสาย มี “นิเดะ” เป็นเจ้าเมืองอยู่ที่ยี่งอ (คำว่า “ยี่งอ ” มาจากภาษามลายูว่า “ยือริงงา ” [Jeringa / Jerrenga / Jeringau] เรียกชื่อพืชชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายต้นกกจัดอยู่ประเภทว่านน้ำซึ่งใช้รากเป็นยาสมุนไพรและพบมากในพื้นที่) เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของเมืองสาย บริเวณเมืองยี่งอตั้งอยู่ใกล้คลองจาเราะกาแรซึ่งสะดวกต่อการคมนาคมทั้งทางน้ำและทางบก และห่างจากตัวเมืองนราธิวาสปัจจุบันราว ๑๔ กิโลเมตร กล่าวกันว่า “นิดะ” หรือ “นิอาดัส” สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ Paker Ruyong Minong Kaboo ทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย รวบรวมผู้คนมาสร้างเป็นเมือง เมื่อปาตานีแบ่งออกเป็น ๗ หัวเมือง นิอาดัสได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองสาย แต่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองยี่งอ เมื่อเสียชีวิตจึงถูกฝังไว้ ณ สุสานลางา ปัจจุบันอยู่หน้าสนามกีฬาเทศบาลตำบลยี่งอ ผู้สืบเชื้อสายจากนิดะใช้นามสกุลว่า “สุริยะสุนทร” และ “ราชมุกดา” ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๕ ย้ายไปสร้างเมืองใหม่ที่ตำบลตะลุบัน บริเวณอำเภอสายบุรีในปัจจุบันและตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า “สลินดง บายู ซามารัน บูลัน เปอร์มาตังดูวา” เรียกย่อๆ ว่า สลินดงบายู, (เอกสารประชาสัมพันธ์เทศบาลยี่งอ, ๒๕๕๑, ศรีศักร วัลลิโภดมและคณะ.เล่าขานตำนานใต้. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๐) เมืองหนองจิก มี “ต่วนหนิ” (สนิ) เป็นเจ้าเมือง เมืองระแงะ (เมืองระแงะอยู่ในเขตเทือกเขาภายใน เป็นเมืองที่สืบเนื่องมาเป็นเมืองนราธิวาสในภายหลัง เพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ มีการย้ายที่ว่าราชการเมืองระแงะจากบ้านตันหยงมัสมาตั้งที่บ้านมะนารอหรือบางนาคใกล้ชายฝั่งทะเล แล้วยกฐานะเป็นเมืองบางนรามีอำเภอในเขตปกครอง คือ อำเภอบางนรา อำเภอตันหยงมัส กิ่งอำเภอยะบะ อำเภอสุไหงปาดี กิ่งอำเภอโต๊ะโมะ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อเสด็จมาถึงเมืองบางนราทรงพระราชทานพระแสงราชศัตราแก่เมืองบางนราและเห็นว่าบางนรานั้นเป็นชื่อตำบลบ้านควรมีชื่อเมืองไว้เป็นหลักฐานสืบไป  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองบางนราเป็นเมืองนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ) มี “นิดะ” เป็นเจ้าเมืองที่ตันหยงมัส เมืองรามัน (http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/oldcity/yala5.htm (25/03/09) มี “ต่วนมาโซร์” เป็นเจ้าเมืองอยู่ที่โกตาบารู เมืองยาลอ หรือยะลาในภายหลัง มี “ต่วนยาลอ” เป็นเจ้าเมือง

6w

จอห์น เอล็กซานเดอร์ แบนเนอร์แมน ผู้ว่าการเมืองปีนัง (ค.ศ. ๑๘๑๗-๑๘๑๙)

เมื่อแบ่งแยกออกมาเป็น ๗ หัวเมือง จนเกิดเมืองรามันดูจะมีเรื่องราวบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทั้งหลักฐานจากชาวตะวันตกและหลักฐานจากคำบอกเล่าเป็นตำนานแบบมุขปาฐะในสังคมมลายู เมืองรามันเป็นเมืองที่ชาวยุโรปกล่าวถึงตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๑๘ (พ.ศ. ๒๓๖๑) เมื่อนายแบนเนอร์แมน [John A. Bannerman] ว่าว่าการรัฐปีนังขณะนั้น พยายามเซ็นสัญญาทางการค้ากับเจ้าเมืองโกระ [Kroh] ปัจจุบันคือเมือง Pengkalan Hulu ซึ่งอยู่ในอำเภอ Huku Perak ในปี ค.ศ.๑๘๒๔ (พ.ศ.๒๓๖๗) สองปีต่อมาในเอกสารของ เฮนรี่ เบอร์นี่ กล่าวว่า เมืองรามัน เป็นหนึ่งใน ๑๔ เมือง ที่ส่งรายได้ให้แก่สยามผ่านทางเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลาที่ดูแลหัวเมืองมลายู (Philip King. From periphery to centre: Shaping the history of the central peninsular. (หน้า ๘๓-๘๖)

เมืองรามันเป็นเมืองภายในแผ่นดินที่ไม่มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเล การแยกหัวเมืองจากศูนย์กลางริมชายฝั่งทะเลทำให้เกิดเมืองภายใน เช่นที่เมืองยาลอซึ่งเป็นจุดเริ่มการเดินทางจากพื้นที่ราบเป็นที่สูงใกล้ฝั่งน้ำปัตตานี เมืองระแงะที่ตันหยงมัสซึ่งอยู่กึ่งกลางของที่ราบระหว่างเชิงเขาบูโดและสันกาลาคีรีซึ่งยังไม่เคยมีหัวเมืองสำคัญใดตั้งขึ้นมาก่อนและเมืองรามันที่อยู่เชิงเขาใกล้กับลำน้ำสายบุรี ซึ่งต่อมากลายเป็นเมืองที่ถูกกล่าวขานและถูกจดจำจากผู้คนในท้องถิ่นกลายเป็นตำนานเรื่องราวต่างๆ จนทำให้เห็นว่า เมืองรามันในยุครุ่งเรืองนั้นมีอาณาเขตใหญ่โต เป็นต้นกำเนิดประเพณีและการละเล่นในราชสำนักมลายูแบบโบราณหลายเรื่องรวมทั้งมีผู้นำซึ่งผูกพันและใกล้ชิดกับชาวบ้านในหลายท้องถิ่นในการควบคุมแรงงานเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากร เช่น ช้างป่า การเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้งานเช่น ม้า วัว ควาย การทำนาแบบทดน้ำและการทำเหมือแร่ดีบุก

เจ้าเมืองรามันตั้งแต่แรกเริ่มตั้งเมืองจนถึงท่านสุดท้ายสามารถคุมอำนาจในการดูแลและทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในระยะนั้น ทำให้เจ้าเมืองมีฐานะและอำนาจจนมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าเมืองรามันทั้งเรื่องไปเที่ยวจับช้างป่าหรือออกรบกับเมืองไทรบุรีหรือส่งคนไปควบคุมการปลูกข้าวปรากฏตามท้องถิ่นต่างๆ ในแถบเทือกเขาบูโดและไกลไปจนข้ามสันปันน้ำในฝั่งรัฐเประของมาเลเซีย

7w

แผนที่แสดงที่ตั้งของเมืองเบตงหรือเมืองยะรมในเขตประเทศไทย เมืองโกระ [Kroh] หรือ Pengkalan Hulu ในปัจจุบันและเหมืองแร่ดีบุกที่เกลียน อินตัน [Intan] ในเขตประเทศมาเลเซีย  (ภาพจาก Google Map, http://maps.google.co.th)

เรื่องราวของเขตแดนแบบรัฐโบราณระหว่างเมืองรามันและเมืองเประนั้น มีปัญหามาโดยตลอด มีการกล่าวถึงว่า สมัยสุลต่านมันศูรชาห์แห่งเประ (พ.ศ.๒๐๙๒-๒๑๒๐) ประพาสป่าลึกจนถึง เมืองฮูลูเประ ซึ่งอยู่ดินแดนกับเมืองปาตานีและสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่า ตาปุง ซึ่งมีหินก้อนใหญ่ที่มีเล่าว่าถูกผ่าด้วยดาบ จึงยึดถือว่าเป็นเขตแดนที่แบ่งปันกับเจ้าเมืองปาตานี แต่ทางปาตานีไม่ยอมรับและถือว่าอยู่ในเขตปาตานีเท่านั้น จนกระทั่งมีการแยกออกเป็น ๗ หัวเมือง เมืองรามันซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับเประก็ยังถือว่าเมืองฮูลูเประนั้นเป็นของเมืองรามัน แม้ว่าจะอยู่นอกเขตสันปันน้ำก็ตาม เนื่องจากในอดีตก็ไม่ได้ยอมรับเรื่องของสันปันน้ำเป็นหลักสากลเหมือนเช่นทุกวันนี้ ในฝั่งของฮูลูเประนั้นมีเหมืองแร่ดีบุกหลายแห่ง จนปรากฏร่องรอยเกี่ยวกับเจ้าเมืองรามันมากมาย ทั้งชื่อท้องถิ่นซึ่งมีประวัติเกี่ยวกันกับทางเมืองรามันรวมทั้งบ้านพัก ทำนบ สุสานที่ฝังศพของเจ้าเมืองอยู่ที่ฮูลูเประด้วยเช่นกัน (ศรีศักร วัลลิโภดมและคณะ.เล่าขานตำนานใต้. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๐)

ดังนั้น ตั้งแต่ก่อนแยกออกเป็น ๗ หัวเมือง ผลประโยชน์ของการทำเหมืองที่ฮูลูเประซึ่งเมืองปาตานีถือเป็นเจ้าของ ในช่วงที่เส้นแบ่งพรมแดนยังไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นชัดเจน เมืองรามันก็ถือเอาการถือสิทธิเหนือดินแดนเหล่านั้นเช่นเดียวกับที่เมืองปาตานีเคยถือปฏิบัติตลอดมา (ในพงศาวดารเมืองปัตตานี ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓ กล่าวถึงเขตแดนเมืองต่างๆ ทั้ง ๗ หัวเมือง. “เขตรแดนเมืองรามันห์รอบตัว ฝ่ายเหนือปักหลักที่นาดำต่อพรมแดนเมืองยิริง เรียงไปต่อพรมแดนเมืองปัตตานี ตลอดไปถึงเขาปะราหมะต่อพรมแดนเมืองยะลา เรียงไปจนถึงปะฆอหลอสะเตาะเหนือกำปงจินแหร ปักหลักไปถึงบ้านกาลั่นอะหรอจดคลองใหญ่ท่าสาบไปตามลำคลองคนละฟาก ฟากเหนือเปนเขตรเมืองยะลา ฟากใต้เปนเขตรเมืองรามันห์จนถึงบ้านบะนางสะตา ฝ่ายตวันตกต่อพรมแดนเมืองไทรบุรี มีเขาสะปะเหลาะที่ขวางอยู่นั้นเปนเขตรแดนมีต้นไม้ใหญ่มีคลองน้ำมีเขาบ้าง ฝ่ายตวันตกเฉียงใต้ตลอดไปถึงเขามะนะเสาะ มีเขาเนื่องกันไปในที่ยารม มีห้วยน้ำแลต้นไม้ใหญ่ตลอดไปต่อพรมแดนเมืองแประ ฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่คลองน้ำเมืองแประ ตลอดไปคลองน้ำบะโลมจดตกหมกเหมืองทองแขวงเมืองระแงะ ฝ่ายตะวันออกตั้งแต่เขาหลิหยอลงมาปักหลักบ้างมีต้นไม้ใหญ่บ้าง จนถึงลำห้วยแบ๊หงอต่อพรมแดนเมืองระแงะ ปักหลักตลอดถึงบ้านสุเปะ บ้านปะฆะหลอจดคลองก่าบู ปักหลักไปจดเขามุโดเรียงลงมาฆอหลอกะปัดต่อพรมแดนเมืองสายบุรี ตลอดมาถึงบ้านตรังบ้านท่าทุ่งต่อพรมแดนเมืองยิริง สิ้นเขตรเมืองรามันห์”)

“รามัน” บ้านเมืองที่รุ่งเรืองจากแร่ดีบุก

สยามประเทศส่งออกแร่ดีบุกตั้งแต่สมัยอยุธยาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ให้ชาวยุโรปจากโปรตุเกสตั้งห้างรับซื้อจากทางใต้ และภูเก็ตกลายเป็นศูนย์กลางการผูกขาดการค้าดีบุกในสมัยต่อมาเมื่อการค้าทางทะเลเฟื่องฟูต่อเนื่องมาจนถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวได้ว่าบ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรติดกับทะเลอันดามันเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ดีบุก เจ้าเมืองหลายแห่ง เช่น ภูเก็ต ตะกั่วป่าและระนองสะสมทุนจากเจ้าภาษีนายอากรจนกลายเป็นเจ้าเมืองที่ดูแลชุมชนและแรงงานจีนและกลุ่มอื่นๆ ที่เข้ามาทำกิจการเหมืองแร่ ได้รับบรรดาศักดิ์และราชทินนามสร้างท้องถิ่นและชุมชนที่เป็นปึกแผ่นสืบมา (กิจการเหมืองดีบุกในประเทศไทยกลายเป็นผลผลิตสำคัญในการส่งออกสร้างรายได้มากมาย โดยมีการเริ่มนำเครื่องจักรกลมาช่วยในการทำเหมืองและเริ่มการขุดแร่ในทะเล พ.ศ.๒๔๕๐ กัปตันเอดวาร์ด ที. ไมล์ ชาวออสเตรเลีย ได้นำเรือมาขุดแร่ดีบุกเป็นครั้งแรกที่อ่าวทุ่งคา ทางด้านทิศใต้ของเกาะภูเก็ต นับเป็นการเปิดศักราชการทำเหมืองแร่ดีบุกสมัยใหม่ของไทย ผลผลิตแร่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ดีบุกกลายเป็นหนึ่งในสี่ของสินค้าส่งออกหลักของไทยนอกเหนือจากข้าว ไม้สักและยางพารา แต่ทั้งหมดส่งออกในรูปแร่ดิบ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ไทยมีโรงถลุงแร่ดีบุกที่ทันสมัยแห่งแรกที่ภูเก็ต จึงมีการนำแร่มาถลุงเป็นโลหะก่อนที่จะส่งออก ราคาแร่ในช่วงนั้นสูงจูงใจให้มีการสำรวจหาแร่ดีบุกกันอย่างกว้างขวางและสามารถค้นพบแหล่งแร่แหล่งใหม่ๆ ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ยังคงมาจากภาคใต้เช่นเดิม กิจการเหมืองแร่ดีบุกเริ่มซบเซาเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตแร่ดีบุกรายใหม่ คือ บราซิลและจีน เร่งผลิตแร่ออกขายในตลาดโลกมากจนล้นตลาด ทำให้ราคาแร่ในตลาดโลก ลดต่ำลงมากกว่าครึ่งภายในระยะเวลา ๑ ปี เหมืองดีบุกต้องปิดกิจการลงเป็นจำนวนมากจาก ๖๒๖ เหมืองเหลือเพียง ๒๙๒ เหมือง ในปี พ.ศ.๒๕๒๙และปัจจุบันเหลือเพียง ๒๙ เหมือง จนต้องนำเข้าแร่จากต่างประเทศเพื่อป้อนโรงถลุงที่ภูเก็ต, อ้างแล้ว)

สำหรับเหมืองแร่ดีบุกในเขตแนวฝั่งจังหวัดยะลาในปัจจุบัน เกี่ยวเนื่องกับการผูกขาดการค้าดีบุกซึ่งเป็นรายได้หลักของเจ้าเมืองรามันและเจ้าเมืองยาลอ ทั้งสองเมืองมีอาณาเขตกว้างขวางกินพื้นที่ภูเขาที่สูงซึ่งได้รับการกล่าวถึงว่ามีเหมืองแร่ที่สำคัญและติดต่อกับรัฐเคดะห์และเประ เหมืองแร่ที่สำคัญของเจ้าเมืองยะลาก็คือ เหมืองดีดะ เหมืองลาบู เหมืองบาเร๊ะ เหมืองบายอ และเหมืองแมะบุหลันซึ่งอยู่ในเขตตำบลบันนังสตาร์ในปัจจุบัน (เขตบันนังสตาร์และธารโตแวดล้อมด้วยภูเขาและป่าไม้ โดยเฉพาะบริเวณภูเขาหลายลูกมีการทำเหมืองแร่ดีบุก วุลแฟรม แมงกานีส และตะกั่ว รวมแล้วประมาณ ๓๐ เหมือง ตราประจำจังหวัดยะลาใช้เหมืองแร่เป็นสัญลักษณ์ ) ส่วนเหมืองแร่ดีบุกของเมืองรามันส่วนใหญ่อยู่ที่ เกลียนอินตัน โกระ กูบูกาแปะ ในเขตเมืองฮูลูเประ (ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ. เล่าขานตำนานใต้, ศูนย์พัฒนาและศึกษาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๐ (หน้า ๑๐๘)

8

แผนที่แสดงบริเวณที่มีแร่ดีบุกในคาบสมุทรสยาม-มลายู (ภาพจากหนังสือ The Golden Khersonese: studies in the historical geography of the Malay Peninsula before A.D. 1500.,1973)

เมืองรามันซึ่งมีเขตแดนกว้างไกลและบางครั้งไม่สามารถตกลงในเรื่องขอบเขตของผลประโยชน์และเหมืองแร่ดีบุกกับรัฐเประทางเหนือ เพราะเมืองรามันถือเอาดินแดนที่อยู่เลยสันปันน้ำเข้าไปในดินแดนของเประเสมอ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ดีบุกและสามารถส่งแร่ไปทางลำน้ำมูดาออกสู่ชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามันได้สะดวกกว่า และรัฐปาตานีแต่เดิมก็ถือว่าเขตแดนที่เป็นบริเวณเหมืองดังกล่าวนั้นเคยอยู่ในดินแดนปาตานีซึ่งเมืองรามันก็ถือตามนั้น และยังไม่กำหนดใช้เส้นเขตแดนแบบรัฐสมัยใหม่หรือรัฐอาณานิคมที่ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นกำหนดขอบเขตของบ้านเมือง

เหมืองแร่ทางเขตสันปันน้ำฝั่งเประ คือ เกลียนอินตัน บริเวณที่เรียกว่า ฮูลูเประ ในปัจจุบัน เหตุที่ตั้งชื่อเช่นนี้ก็เพราะมีตัวแทนของเมืองรามันที่ไปคุมการขุดแร่ดีบุกที่นั่นชื่อ วันฮีตัม ผู้คนจึงเรียว่า เกลียนวันฮีตัม หมายถึงเหมืองของวันฮีตัม คำว่า ฮีตัม แปลว่าดำ แต่เพื่อให้มีความหมายที่ดีจึงเปลี่ยนมาเป็น เกลียนอินตัน ซึ่งแปลว่าเหมืองเพชร

กล่าวกันว่าเจ้าเมืองรามันซึ่งมีเชื้อสายเป็นญาติกับเจ้าเมืองทางปัตตานีและยาลอมักไปดูเหมืองแร่บ่อยๆ เวลาไปแต่ละครั้งจะมีช้างหลายร้อยเชือก บางครั้งถึง ๓๐๐ เชือกก็มี จึงไม่มีที่อาบน้ำให้ช้าง วันฮีตันในฐานะเป็นตัวแทนของเจ้าเมืองรามันจึงได้ทำ ทำนบ เพื่อขังน้ำสำหรับให้เป็นที่ช้างอาบน้ำ จึงเรียกว่า ทำนบวันฮีตัน (อ้างแล้ว (หน้า ๑๐๗-๑๑๐)

หลังจากเกิดการขัดแย้งต่อต้านรัฐสยาม ต่วนมันโซร์ หรือ ต่วนโต๊ะนิ หรือสำเนียงท้องถิ่นว่า ตูแวมาโซ เป็นเจ้าเมืองต่อไปและรายได้สำคัญที่สร้างความร่ำรวยให้แก่เจ้าเมืองรามันในขณะนั้น คือ “ดีบุก” โดยเฉพาะเหมืองแร่ที่ เกลียนอินตัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตรัฐเประ ผลประโยชน์จากแร่ดีบุกนี่เองทำให้เมืองรามันกับเประวิวาทกันจนถึงรบราฆ่าฟันเพราะสุลต่านเประส่งทหารไปยึดค่ายกูบูกาแปะห์ เกลียนอินตัน และกัวลากปายัง ต่วนโต๊ะนิ เจ้าเมืองรามันจึงเตรียมพลพรรคเพื่อยึดค่ายและเหมืองแร่ มีแต่กัวลา-กปายังที่ยึดไม่ได้เพราะกำลังทหารจากเประมีมาก แต่เมื่อยึดภาคเหนือของเประที่ฮูลูเประได้แล้ว เจ้าเมืองรามันก็ถอยกลับโดยตั้งลูกสาวชื่อว่า โต๊ะนังซีกุวัต เป็นผู้คุมเกลียนอินตันและโกระ ในราว พ.ศ.๒๓๗๙

เมื่อ ต่วนโต๊ะนิ เจ้าเมืองรามันสิ้นชีวิต ศพของท่านถูกฝังไว้ที่โกตาบารู มีตำนานเกี่ยวกับโต๊ะนิปรากฏตามท้องถิ่นต่างๆ ถือเป็นกูโบร์ศักดิ์สิทธิ์ของคนในหลายท้องถิ่นและหลายชาติพันธุ์ทั้งไทย จีนและมลายูซึ่งมีอยู่ ๓ แห่ง คือที่โกตาบารู ที่เบตงและที่โกระในฝั่งเประ

เจ้าเมืองรามันผู้นี้มีเรื่องเล่าลือสืบต่อกันมามากมาย เช่น โต๊ะนิ เลี้ยงช้างหลายร้อยเชือกและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้าง ขนาดช้างตกมันยังไม่กล้าทำร้ายและยังขึ้นไปขี่ได้อีก วิชานี้ถ่ายทอดไปถึงเจ้าเมืองระแงะคนสุดท้าย กล่าวกันว่าถ้าช้างป่าเข้าไปทำลายไร่สวนของผู้ใด ถ้านึกถึงโต๊ะนิแล้วช้างป่าโขลงนั้นจะไม่ทำลายไร่หรือสวนนั้นอีกเลย

เป็นเวลากว่า ๑๐ ปีที่เมืองรามันมีอำนาจเหนือฮูลูเประ ต่อมาทางเประพยายามยึดคืนก็ไม่ได้ เมืองรามันสามารถป้องกันแต่ก็มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากปรากฏเป็นกูโบร์ของทหารทั้งสองฝ่ายที่เขตต่อแดนระหว่างเมืองเประและรามันบริเวณใกล้ชายแดนในอำเภอเบตงในปัจจุบัน ซึ่งนักเดินทางชาวอังกฤษก็บันทึกถึงการเดินทางที่ผ่านกูโบร์ของนักรบจากสงครามที่ถูกจดจำได้ตลอดมา จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ฝ่ายเประไม่ได้ส่งคนไปรบกวนอีก แต่ตรงกันข้ามฝ่ายเมืองรามันรุกล้ำเข้าไปเขตเมืองเประเรื่อยๆ จนได้ครอบครองฮูลูเประเกือบทั้งหมด และมีหลักฐานของกูโบร์ที่ฝังศพแม่กองเดเลฮาจากการทำสงครามนี้และถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเบตงจนกระทั่งปัจจุบัน

หลังจาก ต่วนโต๊ะนิ สิ้นชีวิต ลูกชายคือ ต่วนนิฮูลู เป็นเจ้าเมืองแทน ซึ่งต่อมาท่านมีบุตรสองที่โดดเด่นสองท่านคือ ต่วนนิยากงหรือตงกูอับดุลกันดิสหรือพระยาจาวัง และ ต่วนนิลาบู ซึ่งเป็นหญิง ต่อมาเมื่อต่วนนิยากงเป็นเจ้าเมืองก็ส่งให้น้องสาวคือต่วนนิลาบู เป็นผู้ดูแลเหมืองแร่ต่างๆ ที่เกลียนอินตันแทนโต๊ะนังซีกุวัต ซึ่งเป็นบุตรสาวของต่วนโต๊ะนิ ซึ่งเป็นผู้ดูแลกิจการเหมืองมาก่อน

ร่ำลือกันว่า ต่วนนิลาบูเป็นหญิงที่เก่งกล้าสามารถมาก เป็นคนศักดิ์สิทธิ์เหนือคนธรรมดา ใครๆ ก็รังแกไม่ได้ แม้แต่สามีตนเอง เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ ต่วนนิลาบูกับบริวาร ๖ คน เป็นทูตนำสาสน์ของเจ้าเมืองรามันไปให้ข้าหลวงอังกฤษประจำเประ เธอได้เดินทางท่องเที่ยวไปดูกิจการความทันสมัยของเมืองไทปิง เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาล เรือนจำได้ขึ้นรถไฟพร้อมแขกผู้ทรงเกียรติ

ต่อมาภรรยาของต่วนนิยากงเจ้าเมืองรามันมีนามว่า เจ๊ะนีหรือเจ๊ะนิง เรียกตามภาษามลายูว่า รายาปรัมปูวัน เป็นผู้หญิงเก่งกล้าสามารถอีกเช่นกัน หลังจากสยามจัดระบบการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลและยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองต่างๆ เธอสูญเสียสามีและบุตรชายอันเนื่องมาจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้กรรมสิทธิ์เหมืองแร่ที่เกลียนอินตันเป็นของเธอ จึงพาบริวารอพยพจากโกตาบารูไปอยู่อาศัยที่เมืองโกระจนสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ (เอกสารที่ถูกอ้างอิงกันมากคือ Hulu perak Dalam Serajah หรือ “เประทางเหนือในประวัติศาสตร์” กล่าวถึงหมู่บ้านราโมงในเบตง ห่างจากค่ายกาแป๊ะ [Kapeh] ในเขตยารมของเมืองรามันราว ๓ ไมล์ และเป็นที่ฝังศพของ “รายา สาฮิด” [Raja Sahid] ซึ่งเป็นแม่ทัพของรัฐเปรัคเมื่อราว พ.ศ.๒๓๘๕ เป็นแม่ทัพที่ประจำที่ กัวลา กึปายัง [Kuala Kepayang] ถูกลวงให้เดินทางมาแต่งงานกับโต๊ะนางสีกูวัต [Tok Nang Sikuat] ธิดาของต่วน โต๊ะนิ โต๊ะและห์ [Tuan Tok nik Tok Lah] เจ้าเมืองรามันระหว่าง พ.ศ.๒๓๕๓-๒๓๗๙ ซึ่งอยู่ที่ค่ายกาแป๊ะ ถูกลวงไปแทงจนตายและฝังไว้ที่หมู่บ้านราโมง เหตุการณ์นี้กลายเป็นชนวนของสงครามรามัน-เประ ในปี พ.ศ.๒๓๙๕ และ ๒๓๙๗ ชาวบ้านราโมงในเขตอำเภอเบตงทุกวันนี้ไม่มีใครรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์เหล่านี้ เพราะอพยพย้ายมาจากปัตตานี คราวสงครามกับสยาม แต่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสถานที่ขลังศักดิ์สิทธิ์, รัตติยา สาและ. การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส, รายงานวิจัย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), ๒๕๔๐)

ดังนั้น ผู้ที่ดูแลเหมืองแร่ซึ่งเป็นเครือญาติและลูกหลานของเจ้าเมืองรามันจะตกอยู่ในอำนาจของฝ่ายหญิง ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดดูแลบริวารที่เป็นทั้งแรงงานจำนวนมากและต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก เพราะเหมืองแร่มักอยู่ท่ามกลางป่าเขา การไปดูแลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จนกระทั่งมีคำร่ำลือกันจนกลายเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีผู้ใดทำอันตรายได้ เป็นต้น

เมื่อเมืองรามันรุกล้ำเข้าไปในเประมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ สุลต่านเประจึงได้ร้องเรียนไปยังเมืองสยามผ่านทางเคดะห์ จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๕ โดยความร่วมมือของเจ้าเมืองสงขลาจึงมีการปักเขตแดนระหว่างเประกับรามันที่ บูเก็ตนาซะ ซึ่งอยู่ระหว่างกือนายัตกับตาวาย แต่หลังจากปักหลักเขตแล้วก็ยังมีการปะทะกันประปรายตลอดมา จนมีการทำสัญญากันระหว่างอังกฤษกับสยามใน พ.ศ.๒๔๕๒ ที่เรียกว่า Anglo-Siamese Treaty 1909 เหตุการณ์จึงสงบลง (ข้อตกลงจากสนธิสัญญาแองโกลสยามทำให้รัฐบาลสยามยอมยกเลิกดินแดนอธิปไตยเหนือดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูและเปอร์ลิส และอังกฤษให้สยามกู้ยืมเงินจำนวน ๔ ล้านดอลลาร์เพื่อนำไปพัฒนากิจการรถไฟ)

การทำสนธิสัญญาการปักปันเขตแดนระหว่างไทยและสหพันธรัฐมลายาของอังกฤษเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๒ ตกลงทำขึ้นที่เมืองโกระ ทำให้เขตแดนของเมืองรามันเหลือเพียงบริเวณ เบตงและยะรม ส่วน อินตัน โกรเน บาโลน และเซะหรือโกระ เป็นของสหพันธรัฐมลายา พิธีการมอบดินแดนตามสนธิสัญญานี้มีนายฮิวเบริต์ เบิกลีย์ [Hubert Berkeley] เป็นผู้แทนฝ่ายอังกฤษ (Phillip King. From periphery to centre, Shaping the history of the central peninsula University of Wollonggong, 2006)

การที่มีรายได้จากค่าสัมปทานการทำเหมืองแร่ ทำให้เจ้าเมืองรามันและยาลอซึ่งตั้งเมืองใหม่ที่อยู่ลึกเข้ามาภายในแผ่นดินและอยู่ในเส้นทางการเดินทางขนส่งสินค้าโดยเหมาะการทำเหมืองแร่ดีบุกมีบทบาทอาจจะมากกว่าหรือเทียบเท่าเจ้าเมืองที่อยู่ทางฝั่งทะเลซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ดั้งเดิมของรัฐปาตานี

เส้นทางแม่น้ำปัตตานี เมื่อจะไปออกปากอ่าวหรือชายฝั่งทะเล เรือแพที่ขึ้นล่องค้าขายกับเมืองยะลาและรามันต้องผ่านด่านภาษีของเจ้าเมืองหนองจิก เพราะเส้นทางออกทะเลสายเดิมนั้นออกที่ปากน้ำบางตะวาเมืองหนองจิก โดยเฉพาะภาษีดีบุก ทำให้เมืองปัตตานีขาดผลประโยชน์ไปมาก “ตนกูสุไลมาน” เจ้าเมืองปัตตานี (พ.ศ.๒๔๓๓-๒๔๔๒) จึงขุดคลองลัดหรือคลองสุไหงบารูหรือคลองใหม่ จากหมู่บ้านปรีกี มายังหมู่บ้านอาเนาะบูลูดหรือชาวบ้านเรียกว่าอาเนาะบูโละ อยู่ในอำเภอยะรัง ยาว ๗ กิโลเมตร ในเขตของเมืองปัตตานีโดยไม่ต้องผ่านเมืองหนองจิกอีกต่อไปและทำให้เมืองหนองจิกที่เคยอุดมสมบูรณ์ต้องกลายเป็นพื้นที่นาร้างเพราะน้ำกร่อยเนื่องจากลำน้ำขาดเป็นช่วงๆ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ นี่เอง
ดังนั้น การเมืองระหว่างเจ้าเมืองหนองจิกและเจ้าเมืองปัตตานีจึงเป็นการแย่งชิงค่าภาคหลวงอากรดีบุกที่ปากน้ำซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีผลประโยชน์ที่แย่งชิงกันจากดีบุกนั้นมีมูลค่ามหาศาล (หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ศิลปกรรม จังหวัดยะลา.จังหวัดยะลา ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดยะลา, ๒๕๔๘)

หลังจากสนธิสัญญาแองโกลสยาม พ.ศ.๒๔๕๒ เป็นต้นมา ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ก้าวเข้ามามีบทบาทรับสัมปทานการทำเหมืองแร่ดีบุกในเขตแดนเมืองยะลาแทนที่กลุ่มเจ้าเมืองรามันที่สูญเสียเหมืองแร่ไปให้ทางฝั่งเประแล้ว คือ ตระกูลชาวจีนที่มี ปุ่ย แซ่ตัน หรือ ตันปุ่ย ภูมิลำเนาเดิมอยู่ในตำบลเจี๋ยะ แม้ ขึ้นสำเภามาอยู่ที่จังหวัดสงขลา ขายของชำเป็นอาชีพได้ร่วมเป็นอาสารบกับพวกไทรบุรีและกลาย เป็นคนสนิทของเจ้าเมืองสงขลาซึ่งมีเชื้อสายจีนอยู่แล้ว เมื่อบ้านเมืองที่ปัตตานีเรียบร้อยดีแล้ว เจ้าเมืองสงขลาจึงให้ย้ายมาอยู่ที่เมืองตานีเป็น “กัปปีตันจีน” ปกครองผู้คนฝ่ายจีนรวมทั้งเป็นนายอากรเก็บส่วยภาษีโรงฝิ่นบ่อนเบี้ย ส่งไปให้เจ้าเมืองสงขลา

9 2w

ตันปุ่ยต่อมาเลื่อนยศเป็น  “หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง” กัปปีตันจีนผู้ปกครองผู้คนฝ่ายจีนรวมทั้งเป็นนายอากรเก็บส่วยภาษีโรงฝิ่น บ่อนเบี้ยส่งเจ้าเมืองสงขลา ต้นตระกูลคณานุรักษ์ “

หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง” ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ใกล้แม่น้ำปัตตานีที่เรียกว่าหัวตลาดหรือตลาดจีน ต่อมาได้ขอสิทธิ์สัมปทานเหมืองแร่ดีบุกในเมืองยะลาหลายแปลงหลายตำบล เช่น เหมืองถ้ำทะลุ เหมืองบู้ลัน เหมืองมายอบน เหมืองฮ่วนหนาสั้ว (นาเระ) เหมืองปินเหย๊าะ เหมืองนางมุโม เหมืองดีโปะ เหมืองใหม่ เหมืองแมหอ เหมืองหาดทราย และเหมืองปลีกย่อยอีกหลายแปลง เหมืองเหล่านี้มาถึงชั้นคุณพระจีนคณานุรักษ์ผู้เป็นบุตรชายได้คัดเลือกถือสิทธิ์สัมปทานไว้เพียง ๔ แปลง คือ เหมืองถ้ำทะลุ เหมืองบู้ลัน เหมืองมายอบน เหมืองฮ่วนหนาสัว (นาเระ) นอกจากนั้นได้สละสิทธิ์ทั้งหมด ต่อมาเหมืองปินเหย๊าะมีผู้ขอสัมปทานและขายให้แก่บริษัทฝรั่งนับเข้าเป็นเหมืองดีชั้นเยี่ยม ทั้งนี้เนื่องจากวิธีทำผลิตแร่ทันสมัยซึ่งฝรั่งนำมาใช้ แต่เมื่อสมัยก่อนผลิตแร่ไม่ได้ผลดีเพราะใช้แรงงานคนที่เรียกกันว่าเหมืองหาบเป็นหลัก

นายปุ่ยมีหลักฐานดีขึ้นเพราะผลประโยชน์จากการทำแร่และไม่มีปัญหากับผู้ใดจนอายุ ๗๓ ปี จึงถึงแก่กรรมด้วยโรคชราเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ บุตรหลานก็ได้ทำฮวงซุ้ยบรรจุศพไว้ที่หมู่บ้านปะกาฮะรัง (จากเวบไซต์ http://www.kananurak.com/mcontents/marticle.php?Ntype=0&id=74167 (30/11/51)

ส่วนบุตรชาย คือ นายจูล่าย แซ่ตัน ช่วยงานราชการของบิดาจนภายหลังได้แต่งตั้งเป็น “กัปตันจีน” แทนและดูแลปกครองคนจีนในเมืองปัตตานี เป็นผู้ควบคุมธุรกิจการค้าและการขนส่งซึ่งรวมธุรกิจหลายอย่าง เป็นผู้บัญชาการขนส่ง เป็นผู้จัดการเก็บภาษีขาเข้าและขาออกจากต่างประเทศและเป็นตุลาการมีอำนาจเต็มที่ในการตัดสินความซึ่งเกิดขึ้นระหว่างชาวจีนด้วยกัน ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “หลวงจีนคณานุรักษ์” ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าฯ และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระจีนคณานุรักษ์ กรมการพิเศษเมืองปัตตานี” ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (สำหรับเหมืองแร่ที่เคยสัมปทานในสมัย หลวงสำเร็จกิจกรจางวางผู้บิดา มีนายจูเม้งพี่ชายเป็นผู้สืบทอดกิจการแทนบิดาและเล่ากันในตระกูลของกัปตันจีนว่า การเดินทางจากปัตตานีไปเหมืองถ้ำทะลุที่บันนังสตาร์ซึ่งไม่มีถนนอย่างปัจจุบัน จึงใช้เรือหรือแพถ่อไปตามลำน้ำปัตตานี ผ่านท่าสาป จนกระทั่งถึงบันนังสตาร์ ที่เหมืองแร่มีบ้านพักพระจีนคณารักษ์ และกงสีคนงาน คนงานส่วนใหญ่เป็นชาวจีนซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานชาวจีนจำนวนมาก เพราะวิธีขุดแร่ต้องให้คนงานใช้ไม้กระดานปูเป็นรางที่ริมลำธาร น้ำจะพัดพาเอาดินผ่านเข้ามา จากนั้นใช้จอบเกลี่ยดิน เมื่อได้ดีบุกแล้วก็นำไปหลอม จำนวนคนงานซึ่งเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มีเป็นจำนวนมากจึงต้องปกครองอย่างเชี่ยวชาญเพราะมีการอั้งยี่เกิดขึ้นได้เสมอ อาศัยความชำนาญและความอดทนในการทำธุรกิจสูงจนชื่อของกัปตันจีนถูกบันทึกไว้ในเอกสารของชาวต่างชาติที่เข้ามาสำรวจและทำการค้าในปัตตานีและบริเวณใกล้เคียงในยุคนั้น)

การสิ้นสูญของเมืองรามัน

หลังการทำสนธิสัญญาระหว่างสยามและอังกฤษเรื่องเขตแดนแล้ว อีกราว ๒๐ ปีต่อมา เจ้าเมืองรามันก็ถึงคราวหมดอำนาจลงอย่างสิ้นเชิง เพราะรัฐสยามจัดการรวบอำนาจของเจ้าเมืองท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลางรวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่เจ้าเมืองเคยได้รับทั้งหมดด้วย จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่ถูกเจ้าเมืองและคนท้องถิ่นลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐบาลที่รัฐเรียกว่าการกบฎทั่วพระราชอาณาเขต

ภรรยาของ ต่วนนิยากง เจ้าเมืองรามันซึ่งมีฐานะเรียกตามภาษามลายูว่า “รายาปรัมปูวัน” ที่แปลว่ากษัตริย์หรือราชินี มีบุตรธิดา ๓ คน บุตรคนที่ ๓ คือ ต่วนลือเบะ เป็นคนหนุ่มหน้าตาดีฉลาดและเก่ง เป็นที่รักของบิดามารดามาก จึงแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าเมืองเรียกว่า รายามูดาแห่งเมืองรามัน บางทีเรียกว่า รายามูดาบาก๊อก (บางกอก) ที่ถูกเรียกเช่นนี้เพราะ ต่วนลือเบะ หรือ หลวงรายาภักดี เคยถูกทางฝ่ายสยามจับตัวไปอยู่กรุงเทพฯ เป็นตัวประกันเพื่อมิให้เจ้าเมืองรามันคิดกบฏ เมื่อเห็นว่าเจ้าเมืองรามันไม่คิดเป็นกบฏ ฝ่ายเมืองสยามก็ปล่อยตัวเป็นอิสระและให้กลับไปเป็นรายามูดาเมืองรามันตามเดิม

ไม่ทันที่ต่วนลือเบะจะได้เป็นเจ้าเมืองต้องถูกกล่าวหาว่าสมคบกับ ตนกูอับดุลกาเดร์ เจ้าเมืองปัตตานีจะก่อการกบฏเสียก่อน เนื่องจากปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ที่รัฐบาลสยามตราขึ้นโดยขัดขวางไม่ให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้ามาเก็บภาษีอากรในท้องที่เมืองปัตตานี และได้เดินทางไปยังสิงคโปร์ เพื่อขอร้องให้ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ช่วยเหลือ พร้อมทั้งเสนอให้อังกฤษยึดปัตตานีเป็นเมืองขึ้น ต่อมารัฐบาลกักตัวตนกูอับดุลกาเดร์ไว้ที่สงขลา ประกาศถอดยศแล้วส่งไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลก หลังจากนั้น เมื่อถูกปลดปล่อยแล้วท่านจึงเดินทางไปอยู่ที่รัฐกลันตันจนสิ้นชีวิต

ข้อมูลจากทางรามันกล่าวว่า ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ขณะที่ต่วนลือเบะอยู่ที่โกระ ทางการสยามเรียกไปที่โกตาบารู เมื่อไปถึงก็ถูกควบคุมตัวและส่งไปยังสงขลาหลังจากนั้นก็หายสาบสูญไป มีข่าวลือกันว่าถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา ๒๐ ปี บ้างว่า ๒๕ ปี บ้างก็ว่าถูกส่งไปยังกรุงเทพฯ กับเรือที่ชื่อ “จำเริญ” แล้วเรืออับปางกลางทะเล บ้างก็ว่าถูกโยนทิ้งลงทะเลแต่ก็ไม่มีเบาะแสข้อมูลของการสูญหายดังกล่าว

แต่เรื่องนี้รัฐสยามต้องการปราบปรามเจ้าเมืองที่เข้าใจว่าเป็นกบฏ จึงต้องเข้าควบคุมอำนาจของเจ้าเมืองทั้งหลายไว้ โดยกล่าวว่า ต่วนลือเบะ ถูกชาวบ้านร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าเมืองและญาติพี่น้องใช้อำนาจกดขี่ราษฎรด้วยการเกณฑ์แรงไปทำงานส่วนตัวเป็นระยะเวลานาน จนไม่มีเวลาทำไร่นาของตน ส่วนตัวต่วนลือเบะชอบประพฤติผิด ฉุดคร่าอนาจารหญิงและให้บ่าวไพร่ยึดครองเรือกสวนที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว จนราษฎรพากันอพยพหนีไปอยู่ที่เมืองเประในความปกครองของอังกฤษและเมืองปัตตานี (อนันต์ วัฒนานิกร. ประวัติเมืองลังกาสุกะ เมืองปัตตานี. โรงพิมพ์มิตรสยาม กรุงเทพมหานคร, ๒๕๓๑)

บางกระแสก็ว่าต่วนลือเบะถูกข้อหาฆาตกรรม เมื่อสารภาพผิด ศาลได้ตัดสินให้ลงโทษจำคุก ๒๐ ปี แล้วให้ส่งตัวขึ้นมาขังในเรือนจำที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ปรากฏว่าท่านสูญหายไปอย่างไร

แต่เป็นที่แน่นอนว่าทัศนคติของรัฐสยามนั้นเห็นว่า ต่วนลือเบะหรือหลวงรายาภักดีบุตรเจ้าเมืองรามัน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐในยุคนั้น ดังที่พระยาสุขุมนัยวินิตข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราชในขณะนั้นแสดงความเห็นว่าต่วนลือเบะนั้น “มีราษฎรยำเกรงมากกว่าอับดุลกาเดร์ วิชิตภักดี เพราะเป็นคนใจนักเลง กว้างขวาง ใช้สอยเงินทองฟูมฟาย ให้ปันอยู่เสมอ ถ้าหากว่าจะเที่ยวเกะกะก่อการวุ่นวายอยู่ตามชายแดนแล้วจะเป็นที่ลำบากแก่เจ้าพนักงานเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นการที่เอาตัวมาเสียได้เช่นนี้ เป็นพระเดชพระบารมีไม่ใช่อื่นใด นับว่าหมดเสี้ยนหนามแผ่นดินไปได้อีกคนหนึ่ง” (เตช บุนนาค. พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ ร.ศ.๑๒๑ ใน ขบถ ร.ศ. ๑๒๑, พิมพ์ครั้งที่ ๔ กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๑)

ดังนั้น การสาบสูญไปครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการกระทำของรัฐสยามที่มุ่งจำกัดอำนาจเจ้าเมืองที่เชื่อว่าน่าจะมีอิทธิพลในท้องถิ่น โดยเฉพาะตระกูลของเจ้าเมืองรามันที่มีฐานะร่ำรวยและถือว่าแข็งแกร่งที่สุดในตระกูลเจ้า ๗ หัวเมืองทั้งหมด

ต่อมาเจ้าเมืองรามันถึงแก่อนิจกรรมหลังต่วนลือเบะสาบสูญไปไม่กี่อาทิตย์และปกครองเมืองรามันเกือบ ๕๐ ปี หลังจากนั้นก็ไม่มีการสืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองรามันอีก

ซ้าย ต่วนลือเบะ ลงรายาหรือหลวงรายาภักดี
ขวา เสื้อของต่วนลือเบะ เขียนอักขระภาษาอาหรับด้านใน ด้วยความเชื่อว่าสามารถป้องกันภัยอันตรายได้

การสิ้นชีวิตของเจ้าเมืองรามันเกือบจะพร้อมกับการสูญหายไปของต่วนลือเบะและการสิ้นชีวิตของต่วนนิลาบู ทำให้กิจการเหมืองแร่ที่เกลียนอินตันเป็นกรรมสิทธิ์ของ รายาปรัมปูวัน ภริยาของเจ้าเมืองรามันคนสุดท้ายซึ่งเป็นผู้หญิงเก่งและติดตามความเคลื่อนไหวของบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลาและเลือกที่จะอยู่ในเขตแดนของสหพันธรัฐมลายูมากกว่าที่จะกลับไปอยู่ที่เมืองรามัน เธอถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ อายุประมาณ ๗๐ ปี ถูกฝังไว้ที่เมืองโกระหรือเมืองเปงกาลัน ฮูลู [Pengkalan Hulu] รัฐเประ ประเทศมาเลเซีย (บทที่กล่าวถึงเมืองรามัน ใน ศรีศักร วัลลิโภดมและคณะ. เล่าขานตำนานใต้ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๐)

จากนโยบายการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางจากการ ประกาศกฎข้อบังคับสำหรับปกครอง ๗ หัวเมืองมลายู ร.ศ.๑๒๐ เป็น มณฑลปัตตานี อยู่ภายใต้ข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ สิ่งที่ทำให้เกิดการต่อต้านมากที่สุดคือ การปลดตำแหน่งเจ้าเมืองมลายูทั้งหลายจากตำแหน่งและรับเพียงเบี้ยบำเหน็จบำนาญเสมือนข้าราชการทั่วไป

การทำเหมืองแร่ดีบุกในเขตเทือกเขาระหว่างพรมแดนเประและรามันกลายเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทำให้เมืองรามันแข็งแกร่งในฐานะทางเศรษฐกิจและกำลังรบ จนทำให้รัฐสยามระแวงจนต้องกำจัดต่วนลือเบะ รายามูดาแห่งเมืองรามัน จนสูญหายไปโดยไร้ร่องรอยและสาเหตุ และตระหนักว่าในกลุ่มเจ้าเมืองทั้งหมดนั้น เมืองรามันคือกลไกที่อันตรายที่สุดซึ่งมีอิทธิพลมากเสียยิ่งกว่าเจ้าเมืองปัตตานีผู้ถูกเพ่งเล็งจากรัฐสยามเสียอีก