วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เคยพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๔ เลขหน้า พ.ศ. ๒๕๕๘
ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือ Chaopraya Delta บริเวณภาคกลางของประเทศไทย เป็นแผ่นดินที่ราบต่ำซึ่งกำเนิดที่ปากแม่น้ำทั้งใหญ่หรือเล็กบริเวณปลายสุดของลำน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล ลักษณะทางกายภาพเป็นรูปพัดเพราะมีลำน้ำสาขาของลำน้ำใหญ่น้อยแผ่กระจาย นอกจากลำน้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักแล้ว ยังมีลำน้ำขนาบข้างคือแม่กลองและท่าจีนทางตะวันตก บางปะกงทางตะวันออก ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาทั้งสองฝั่ง
ในทางธรณีวิทยาสภาพแวดล้อมเช่นนี้คงมีอยู่อย่างน้อยตั้งแต่ยุคในทางธรณีวิทยาคือยุคโฮโลซีน อายุราว ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้วโดยประมาณ เราจำแนกสภาพทางธรณีของดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้เป็นเขตต่างๆ ได้แก่ ชายฝั่งทะเล [Coastal Zone] อยู่ใกล้ชายทะเลในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ มีลำน้ำสายเล็กๆ อยู่มากมาย ซึ่งกระแสน้ำขึ้นลงตามอิทธิพลของน้ำทะเล สามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ [Young Delta] ความสูงเฉลี่ยเพียง ๒.๕ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่า [Old Delta] อยู่ในบริเวณใกล้กับยอดของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ พื้นที่นี้มีระดับสูงกว่าและเป็นที่ราบลอนลูกคลื่น ความสูงต่างจากพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงราว ๔-๕ เมตร ที่ราบน้ำท่วมถึง [Floodplain] คือบริเวณพื้นที่ระหว่างเชิงเขา ซึ่งมีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน พื้นที่ขนานกับลำน้ำทั้งสองฝั่ง ภูเขาและแนวเชิงเขา [Mountain and Foothill] เป็นส่วนขอบปีกทั้งสองด้านของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
จากปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลมาจากที่สูงภายในเมื่อรวมกับน้ำฝนในช่วงฤดูฝน ทำให้บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ [Young Delta] มีปริมาณน้ำปกคลุมพื้นที่สูงราว ๕๐ เซนติเมตรเป็นเวลาหลายเดือนก่อนจะไหลลงทะเล แทบไม่มีแผ่นดินที่ดอนหรือที่สูงน้ำท่วมเต็มไปด้วยหนอง บึง แต่เมื่อคราวถึงหน้าแล้งก็แทบหาน้ำดื่มไม่ได้ สภาพภูมิประเทศแบบพื้นที่ชุ่มน้ำ มีแต่ทุ่งหญ้าและป่าชื้น ซึ่งนับเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับมนุษย์ที่จะปรับตัวและตั้งถิ่นฐานในสภาพแวดล้อมเช่นนี้
ภูมิภาคฝั่งตะวันตกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำนี้ มีการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยทวารวดีในสภาพภูมิศาสตร์บริเวณที่เป็นภูเขาและแนวเชิงเขา, ที่ราบน้ำท่วมถึงและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่า ซึ่งเป็นเขตที่สูงกว่าแนวชายฝั่งทะเลและเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่อันเป็นที่ลุ่มเต็มไปด้วยหนองบึงและน้ำท่วมอย่างยาวนานในช่วงฤดูฝน ไม่เหมาะจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่สามารถพัฒนาการขึ้นเป็นรัฐแรกเริ่มหรือนครรัฐได้ในช่วงเวลาตั้งแต่ราว ๒,๕๐๐ ปีลงมา เทคโนโลยีของการตั้งถิ่นฐาน เช่น การปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับสภาพลุ่มน้ำลำคลองเพื่อติดต่อค้าขายและการคมนาคม การคัดเลือกพันธุ์ข้าวสูงหนีน้ำ การทำสวนแบบยกร่องและปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ เป็นต้น เพิ่งประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนก็เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะตั้งอยู่ในขอบรอยต่อของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่าและใหม่นั่นเอง

แผนที่แสดงเส้นทางน้ำบริเวณเมืองนครปฐม สระโกสินารายณ์และพงตึก

แผนที่แสดงลักษณะภูมิประเทศดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา
มีการศึกษามนุษย์และชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคหินที่พบในเขตภูเขาและแนวเชิงเขาหลายแห่ง เช่นบริเวณต้นน้ำแควน้อยและแควใหญ่ที่กำหนดอายุตั้งแต่สมัยไพลสโตซีนราว ๒๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว จนถึงยุคโฮโลซีนที่เป็นยุคหินใหม่ราว ๔,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เรื่อยมาจนถึงสมัยยุคโลหะที่มีทั้งยุคสำริดและยุคเหล็กที่เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่กำหนดอายุไว้ตั้งแต่ราว ๔,๐๐๐-๒๕๐๐ ปีมาแล้ว และในยุคโลหะนี้เองที่เริ่มมีการติดต่อระยะทางไกลในการแลกเปลี่ยนวัตถุทางวัฒนธรรมหรือสินค้าต่างๆ จากโพ้นทะเลในแหล่งอารยธรรมทั้งทางตะวันตกและตะวันออกของแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเห็นได้ชัดและต่อเนื่องในยุคเหล็กตอนปลายเมื่อราว ๒,๕๐๐-๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว จนชัดเจนอย่างยิ่งในสมัยทวารวดี
พื้นที่ทางเศรษฐกิจและการค้าโพ้นทะเลโบราณ
มีรายงานการสำรวจและศึกษาทางโบราณคดีตลอดระยะเวลาเกือบ ๙๐ ปี หากนับเริ่มตั้งแต่มีการเริ่มขุดค้นที่พงตึก ริมแม่น้ำแม่กลองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ การสำรวจที่ผ่านมาพบแหล่งโบราณคดีในเขตภูเขาและที่ราบแนวเชิงเขาตามลุ่มน้ำใหญ่น้อยต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้มีการอยู่อาศัยอย่างเบาบางในช่วงยุคหินใหม่และมีการใช้เครื่องมือหินที่มีทั้งคล้ายคลึงและลักษณะเด่นเป็นขวานหินขัดเรียวยาวปลายตัดที่เรียกว่าขวานหินผึ่ง ซึ่งพบตลอดในแนวเทือกเขาตะนาวศรี รวมทั้งภาชนะแบบหม้อสามขา แต่ก็ยังไม่เห็นรูปแบบสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันตลอดจนเครื่องประดับต่างๆ ที่มีการนำเข้าจากดินแดนห่างไกลโพ้นทะเลได้มากเท่ากับชุมชนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือยุคเหล็กตอนปลายในช่วงเวลาตั้งแต่ ๒,๕๐๐ ปีลงมา

ภาชนะสำริดในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย พบที่อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม
วัตถุมีค่าที่ที่เป็นสำริดนำ เช่น มโหระทึก นำเข้ามาจากแหล่งวัฒนธรรมแถบชายฝั่งทะเลเวียดนามตอนกลางและทางตอนเหนือที่ต่อเนื่องถึงจีนตอนใต้อยู่ในช่วงวัฒนธรรมดงเซิน [Donson Culture] ที่สำคัญคือแบบเฮเกอร์ I อายุราว ๕๐๐ BCE- ๑๐๐ CE ซึ่งกระจายไปทั่วในเขตชายฝั่งทะเลและเดินทางข้ามภูมิภาคจากชายฝั่งทะเลเวียดนามได้ เช่นที่ภูมิภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคเหนือและภาคอีสานของไทย คาบสมุทรมลายู-สยาม และหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
กำไลหินเนฟไฟน์เนื้อกึ่งหยก และเครื่องประดับลายแฉกทำจากกระดองเต่า ขุดค้นพบที่โคกพลับ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี พื้นที่อยู่อาศัยในที่ลุ่มต่ำในช่วงยุคเหล็กตอนปลาย และตั้งอยู่ไม่ห่างจากเมืองนครปฐมโบราณเท่าใดนัก

เครื่องประดับ ลิง-ลิง-โอ ทำจากหินหยก
ในฝั่งตะวันตกของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหญ่นี้ มีรายงานว่าพบมโหระทึกแบบเฮเกอร์ I ที่ถ้ำองบะ อำเภอศรีสวัสดิ์ ใกล้กับต้นน้ำแควใหญ่ เขาสะพายแร้ง อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และภาพเขียนสีพิธีกรรมและการแห่มโหระทึกบนเผิงผาที่ถ้ำตาด้วง ช่องสะเดา อำเภอเมือง เขตจังหวัดราชบุรีมีที่ บ้านหนองวัวดำ อำเภอปากท่อ, เมืองคูบัว, ถ้ำเขาขวาก อำเภอโพธาราม นอกจากจะพบมโหระทึกเนื่องในวัฒนธรรมดงเซินแล้ว ยังพบพวกภาชนะสำริด [Bronze Urn] ชิ้นหนึ่งที่แถบอำเภอดอนตูม เหนือเมืองนครปฐมโบราณ และโถมีฝาปิดทำจากสำริดในลำน้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรีด้วย
ส่วนอิทธิพลจากวัฒนธรรมซาหวิ่งห์ [Sa Huynh Culture] ซึ่งพบอยู่ทั่วไปในแถบภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะ เพราะพบวัตถุสำคัญคือเครื่องประดับต่างหูมีปุ่ม ๓ ปุ่มและจี้ห้อยคอรูปสัตว์ ๒ หัวทำจากหินหยก (Bicephalous earring) ที่เรียกว่า “ลิง-ลิง-โอ” [Ling-Ling-O] ในภูมิภาคตะวันตกพบที่บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี และเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกัน โคกพลับที่อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นที่ดอนในรอยต่อของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่ากับพื้นที่ราบลุ่มต่ำเขตชุ่มน้ำใกล้ชายฝั่งทะเลที่พบเครื่องประดับทำจากหินหยกสีเขียว ลูกปัดแก้ว ลูกปัดทองคำ เครื่องประดับสำริดและกระดองเต่า ตลอดจนถึงจี้ห้อยคอทำจากกระดูกสัตว์ในยุคทวารวดีที่มีคำจารึกอักษรปัลลวะว่า “ศรีย” ด้วย ส่วนภาคใต้พบลิง-ลิง-โอที่เขาสามแก้วจังหวัดชุมพร และท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงอายุราว ๕๐๐ BCE- ๕๐๐ CE
บทความของปีเตอร์ เบลวู๊ด และคณะ [“Ancient jades map 3,000 years of prehistoric exchange in Southeast Asia” by Peter Bellwood and others, 2007] เป็นโครงการวิจัยที่ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์โดยวิเคราะห์ไมโครอิเล็กตรอนจากโบราณวัตถุพวกเครื่องประดับเนื้อหยกที่พบในแหล่งโบราณคดีต่างๆ รายงานผลว่า การกระจายของเครื่องประดับหินหยกสีเขียวที่เป็นทั้งเครื่องประดับต่างหู กำไล ลูกปัด เป็นเครือข่ายของการค้าทางทะเลที่กว้างขวางที่สุดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องประดับที่มีอัตลักษณ์อย่าง ลิง-ลิง-โอ ๒ อย่างคือ ต่างหูแบบลิงลิง-โอและจี้ห้อยคอรูปที่มีการอยหัวสัตว์ มีแหล่งวัตถุดิบที่อยู่ทางภาคตะวันออกของเกาะไต้หวัน พบกระจายตัวอยู่ทั่วไปในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ทางตะวันออกของมาเลเซียเวียดนามตอนใต้รวมทั้งกัมพูชาและคาบสมุทรทางภาคใต้ของประเทศไทย ต่างหูลิงลิง-โอที่มีปุ่ม ๓ ปุ่มทำจากหินหยกถือว่าพบกระจายตัวมากที่สุด ซึ่งมักมีรูปแบบและขนาดใกล้เคียงกันคือราว ๓๐-๓๕ เซนติเมตร ส่วนจี้ห้อยคอรูปสัตว์สองหัวก็มักพบในบริเวณเดียวกันแต่อาจจะผลิตได้ยากกว่าจึงพบจำนวนน้อยกว่า และจากค่าอายุอยู่ในราว ๕๐๐ BCE- ๕๐๐ CE. และมักจะพบร่วมสมัยกับโบราณวัตถุจากราชวงศ์โจวตอนปลายจนถึงราชวงศ์ฮั่น (๑,๐๔๕ BCE- ๒๕๖ BCE จนถึง ๒๐๖ BCE-๒๒๐ CE) และอยู่ในช่วงยุคแรกเริ่มเมื่อมีการค้าทางทะเลกับทางอินเดีย ก่อนที่ศาสนาหลักๆ จากอินเดียจะแพร่เข้ามา
หากหินในตระกูลหยก [Jade, Nephrite, Serpentine] เหล่านี้แพร่หลายมาจากทางแหล่งผลิตและรูปแบบอันเป็นอัตลักษณ์ทางฟากตะวันออกของเอเชียในเขตหมู่เกาะและเวียดนามตอนกลางในช่วงยุคเหล็กตอนปลาย ขณะเดียวกัน โบราณวัตถุที่พบร่วมกันในแหล่งชุมชนสมัยโบราณต่างๆ ก็บ่งชี้ว่ามีการติดต่อกับทางฟากตะวันตกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย เพราะพบลูกปัดรูปทรงต่างๆ ที่ทำจากหินอาเกตและคาร์นีเลียนจำนวนมากกว่าหินหยกอย่างเทียบไม่ได้ในภูมิภาคนี้เช่นกัน
แหล่งผลิตของลูกปัดหินดังกล่าวยังไม่สามารถระบุได้ว่านำทรัพยากรมาจากที่ใดกันแน่ แต่จากการพบปริมาณลูกปัดจำนวนมากตั้งแต่ในยุคเหล็กตอนปลายจนถึงสมัยทวารวดีในภูมิภาคตะวันตกที่สามารถใช้เส้นทางเดินทางข้ามภูมิภาคไปยังฝั่งทะเลอันดามัน เพราะพบในชุมชนโบราณ เช่น ดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีและปริมณฑล รวมทั้งแหล่งสำคัญในเขตเทือกและที่ราบเชิงเขาซึ่งเป็นแหล่งดีบุกในอำเภอสวนผึ้ง มีการอยู่อาศัยหลายยุคและบางแห่งจนถึงยุคทวารวดีและพบหลายแห่ง เขาจมูก อำเภอบ้านคาที่พบชิ้นส่วนภาชนะสำริดแลละมีส่วนผสมของดีบุกสูง [High Tin Bronze] แกะลวดลายเป็นรูปผู้หญิง และช้าง ซึ่งคล้ายกับที่พบบริเวณบ้านดอนตาเพชร และแถบบ้านปากบึง อำเภอจอมบึง ซึ่งนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ยังรายงานถึงลูกปัดหินคาร์นีเลียนฝังลายแบบ Etching หินอาเกต อมีทิสต์ ควอตซ์ หยก แกะเป็นตัวคนและรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกตีความว่าเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาฮินดูและพุทธ จำพวกสัตว์ต่างๆ ซึ่งก็พบวัตถุเช่นนี้ทางคาบสมุทรภาคใต้และทางฝั่งพม่า ซึ่งเป็นสมบัติของนักสะสมที่พบบริเวณบ้านปากบึงในอำเภอจอมบึง และยังรายงานว่าพบที่แถบอำเภออู่ทองด้วย (ภูธร ภูมะธน, บัญชา พงษ์พานิช. อู่ทอง…ที่รอการฟื้นคืนผ่านรอยลูกปัดและพระพุทธศาสนาแรกเริ่มในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน, ๒๕๕๘)
นอกจากนี้ ยังพบลูกปัดแบบ Etching ทำจากหินอาเกตและคาร์นีเลียนเขียนลาย ลูกปัดแก้วสีต่างๆ แบบที่เรียกว่าอินโด-แปซิฟิค ซึ่งก็พบทั่วไปจากเทคนิคการผลิตที่นำเข้ามาจากทางอินเดียใต้และชายฝั่งเบงกอล
ซึ่งบริเวณนี้คือแนวเทือกเขาตะนาวศรีที่น่าจะมีการข้ามไปยังฝั่งอันดามันทางฝั่งสหภาพเมียนมาร์ในปัจจุบัน ข้ามผ่านลำน้ำตะนาวศรีตัดข้ามเขาออกไปยังพื้นที่ชายฝั่งระหว่างทวายและมะริด หรือขึ้นเหนือไปตามลำน้ำตะนาวศรีและตัดข้ามเขาสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำทวายที่มีพื้นที่ราบเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานมากกว่าบริเวณอื่นๆ หรือลงใต้ไปยังแถบเมืองตะนาวศรีที่เป็นชุมชนภายในห่างชายฝั่งทะเลที่มะริดราว ๖๐ กิโลเมตรและเต็มไปด้วยแห่งแร่และหินกึ่งรัตนชาติที่อาจจะเป็นแหล่งหินคาร์นีเลียนและอาเกตจำนวนมากก็เป็นได้ (ข้อมูลสัมภาษณ์ Zaw Thura ผู้ศึกษางานโบราณคดีในพื้นที่เมืองทวาย, เมษายน ๒๕๕๘)
ช่วงเวลาที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนมากที่สุดน่าจะอยู่ในช่วงหลัง ๕๐๐ BCE- ๕๐๐ CE และปรากฏหลักฐานว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลออสโตรนีเซียนใช้การเดินเรือทะเลเลียบชายฝั่งเข้ามายังดินแดนทางภูมิภาคตะวันตกนี้ ในช่วงเวลาเดียวกับมีการติดต่อกับผู้คนในทางฝั่งตะวันตกทางงอ่าวเบงกอลและชายฝั่งอินเดียใต้เช่นกัน
เป็นช่วงเวลาก่อนพ่อค้าจากอินเดีย อาหรับ หรือจีน จะเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนพร้อมทั้งเผยแผ่ศาสนาหลักๆ จนทำให้เกิดสถานภาพทางสังคมและมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยี จนพัฒนาการเป็นรัฐแรกเริ่ม [Early State] ที่เริ่มรับทั้งศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา อันเป็นช่วงยุคเดียวกับที่เราเรียกว่าต้นพุทธกาลหรือในยุคเหล็กตอนปลาย นักเดินทางทั้งทางชายฝั่งทะเลฟากตะวันตกและตะวันออกสามารถเดินทางติดต่อเข้าสู่เขตชุมชนภายในภาคพื้นทวีปได้ไม่ยาก ดินแดนตั้งแต่ชายฝั่งทะเลที่สหภาพเมียนมาร์จนถึงภาคกลางของประเทศไทยและข้ามไปยังสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่มีศูนย์กลางที่ออกแอว จึงถูกเรียกจากนักเดินทางในช่วงต้นพุทธกาลนี้ว่า “สุวรรณภูมิ”
นครปฐมโบราณ : นครรัฐแห่งการค้า
ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองนครปฐมโบราณอยู่ในระหว่างชายขอบของพื้นที่ราบตะกอนรูปพัดและที่ราบขั้นบันไดและพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ซึ่งเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง ความสูงโดยเฉลี่ยของตัวเมืองราว ๗-๙ เมตรจากระดับน้ำทะเล เมืองนครปฐมโบราณมีขนาดคูน้ำล้อมรอบราว ๓,๗๐๐x๒,๐๐๐ เมตร จากการสำรวจโบราณสถานรอบๆ เมืองพบว่ามีการกระจายตัวห่างจากตัวเมืองในรัศมีเกือบๆ ๑๐ กิโลเมตรทีเดียว จึงถือว่าเป็นเมืองยุคทวารวดีที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่ง และอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่เดินทางจากปากแม่น้ำใหญ่และเล็กเข้าสู่คูเมืองที่ถูกปรับมาจากลำน้ำธรรมชาติและลำคลองที่ขุดขึ้นได้หลายสายหลายแห่ง ถือว่าเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทางน้ำ [Riverine Port City] ที่สามารถเดินทางจากแผ่นดินภายในและจากโพ้นทะเลได้อย่างสะดวกและชัดเจน พบโบราณวัตถุที่สำคัญจำนวนมาก ตลอดจนหลักฐานทั้งศาสนสถานและศาสนวัตถุเนื่องในความเชื่อทางพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู และในที่สุดคือการพบจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตบนเหรียญเงินคือ ‘ศฺรี ทฺวารวตีศฺวรปุณฺย’ หรือ ‘พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ’ จนถูกตีความว่าเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีมาโดยตลอด

ปูนปั้นที่เจดีย์จุลประโทน จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
แต่หากวิเคราะห์ว่าอำนาจทางการปกครองของรัฐในระยะเริ่มแรกบนแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นแบบเมืองแบบสหพันธรัฐที่ไม่มีศูนย์รวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่มีศูนย์กลางทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนการเมืองแบบ มณฑละ หรือ Mandala ซึ่งเต็มไปด้วยเมืองเล็ก เมืองใหญ่ในปริมณฑลต่างๆ และมีความเกี่ยวโยงจัดลำดับชั้นของเมืองไม่ชัดเจนนักแต่สัมพันธ์กันโดยการแต่งงานของผู้ปกครองและความเป็นเครือญาติที่ถือว่าเป็นรูปแบบสำคัญสำหรับการปกครองและการเมืองแบบมณฑละ
ซึ่งในกรณีของเมืองนครปฐมโบราณนั้น มีเมืองทวารวดีอีกจำนวนไม่น้อยทั้งที่อยู่ใกล้เคียงในแถบภูมิภาคตะวันตก เมืองขนาดใหญ่ เช่นอู่ทองที่เป็นเมืองท่าและอยู่ลึกเข้าไปภายในแผ่นดิน [Interport] ห่างจากเมืองนครปฐมโบราณในรัศมีกว่า ๖๕ กิโลเมตร เมืองคูบัวที่อยู่ในอีกลุ่มน้ำหนึ่งคือแม่กลองห่างไปราว ๔๕ กิโลเมตร เมืองกำแพงแสนอยู่ห่างราว ๒๐ กิโลเมตร

แท่นหินปูนแกะสลักตอนพระพุทธเจ้าโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
และนอกเหนือจากนี้ยังมีเมืองทวารวดีในภาคกลางในเขตลุ่มแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงเมืองทวารวดีขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่เมืองลพบุรีและอีกหลายเมืองในลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก และมีเมืองทวารวดีขนาดใหญ่ที่เมืองศรีเทพ ตลอดจนทางฝั่งตะวันออกของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแถบลุ่มน้ำบางปะกงไปจนถึงต้นน้ำพระปรงแถบสระแก้ว ซึ่งมีเมืองศูนย์กลางที่เมืองศรีมโหสถ แต่ละแห่งจะมีเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าและอยู่ในเส้นทางการเดินทางสำคัญที่ติดต่อกับภูมิภาคอื่นได้สะดวกเป็นศูนย์กลาง ของมณฑละ [Mandala] แต่ละแห่ง ซึ่งเมืองทวารวดีในแต่ละมณฑละดังกล่าวนั้นล้วนต่างเติบโตกลายเป็นเมืองสำคัญของบ้านเมืองในยุคหลังๆ ลงมาทั้งสิ้น
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยการขุดคลองเจดีย์บูชา การทำทางรถไฟ การสร้างถนนเพชรเกษมที่ตัดผ่านกลางเมืองและการลบความสำคัญของเมืองแม่น้ำลำคลองออกไปจนหมดสิ้น และกลายเป็นเมืองเพื่อการอยู่อาศัยและการพานิชเช่นในปัจจุบัน เราจะเห็นร่องรอยแห่งความเจริญถึงขีดสุดของบ้านเมืองในยุครุ่งเรืองเมื่อราวพันสามร้อยกว่าปีมาแล้วอย่างชัดเจน และทำให้เห็นความสำคัญของการเป็นเมืองท่าการค้าที่มีนักเดินทาง พ่อค้า สมณะ พราหมณ์ นักบวช ผู้คนหลากกลุ่มชาติพันธุ์เดินทางไปมาหาสู่ยังเมืองนครปฐมโบราณแห่งนี้ จนสมด้วยปัจจัยต่างๆ ในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสังคมและความเชื่อทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทที่สืบรากเหง้ามาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคตะวันตกอย่างแน่นอน
เมืองนครปฐมโบราณไม่มีคันดินเช่นเดียวกับเมืองทวารวดีในพื้นที่อื่นๆ เพราะอยู่ในเขตลุ่มน้ำลำคลองทั้งธรรมชาติและการขุดปรับแต่งให้กลายเป็นคลองคูเมืองที่มีขนาดใหญ่จนเรือใบขนาดย่อมๆ ที่เป็นเดินเรือเลียบชายฝั่งทะเลสามารถเดินทางเข้ามาถึงได้ เพราะอยู่ในจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำสายใหญ่คือแม่น้ำแม่กลองและท่าจีนโดยใช้เส้นทางน้ำหลักเช่น คลองบางแขมที่ออกแม่น้ำแม่กลองทางท่าผาไม่ไกลจาก ‘พงตึก’ ที่เป็นชุมชนสถานีการค้าในเส้นทางสู่ชุมชนภายในทางลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่และเขตภูเขาที่สูงแถบเมืองกาญจนบุรีปัจจุบัน ลำน้ำทัพหลวงที่ไปออกแม่น้ำแม่กลองบริเวณอำเภอท่าเรือในปัจจุบัน คลองบางแก้วที่ไปออกแม่น้ำท่าจีนแถบเมืองนครไชยศรีในเวลาต่อมา
และยังมีคลองแนวตั้งที่ไปออกคลองจินดา โคกพลับที่บ้านแพ้ว ยกกระบัตรจนถึงคลองบางโทรัดและออกลำน้ำท่าจีนและชายฝั่งทะเลได้อีกหลายทาง

แผ่นอิฐขีดเขียนรูปใบหน้าชาวมุสลิมตะวันออกกลาง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
ปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ที่เมืองคูบัว รูปใบหน้าบุคคลมุสลิมชาวตะวันออกกลาง
จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
ตัวอย่างของสมมิตฐานดังกล่าวคือการพบเรือโบราณที่สันนิษฐานว่าเป็นเรือเดินทะเลเลียบชายฝั่งแบบอาหรับที่เรียกกันว่า “เรือพนมสุรินทร์” บริเวณใกล้คลองพันท้ายนรสิงห์ทางฝั่งขวาของลำน้ำท่าจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖ บริเวณเหล่านี้เป็นเส้นทางสู่ดินแดนภายในแต่โบราณเพราะมีลำน้ำธรรมชาติสายต่างๆ อยู่มากและสามารถลัดเลาะเข้าสู่แผ่นดินภายในโดยไม่ต้องใช้ลำน้ำใหญ่หรือเดินทางเลียบชายฝั่งออกทางปากอ่าว ซึ่งใช้กันเป็นปกติทั้งในอ่าวไทยและบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีใต้น้ำ, เอิบเปรม วัชรางกูร กล่าวว่า เป็นเทคนิคการต่อเรือเป็นแบบไคโรหรืออาหรับ โดยวิธีการต่อใช้การผูกเชือกยึดกง (โครงเรือ) กับกระดูกงูเข้าด้วยกันและยังคงพบเชือกที่ใช้ในการผูกเรืออยู่ด้วย รวมทั้งพบภาชนะดินเผาแบบ แอมโฟร่า [Amphora] เป็นไหก้นแหลมซึ่งเป็นไหรูปทรงที่แตกต่างไปจากภาชนะที่ผลิตกันในแถบนี้ และภาชนะแบบราชวงศ์ถังและแบบทวารวดี ซึ่งพบได้ทั่วไปในเขตชุมชนทวารวดีในเขตนครปฐมโบราณและลำน้ำแม่กลองใกล้กับอาณาบริเวณเมืองคูบัว

พระพุทธรูปแบบพระพิมพ์แต่แกะลงบนหินชนวน มีเสาธรรมจักรและสถูกจำลองขนาดย่อม
พบที่เมืองคูบัว จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี

พระโพธิสัตว์ปูนปั้นประดับศาสนสถานที่คูบัว จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี

พระพิมพ์ประทับนั่งปางประธานธรรมในซุ้มพุทธคยา พบที่พงตึก จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
ด้วยลักษณะที่ตั้งและกายภาพของเมืองโบราณนครปฐม ทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ใกล้ชายฝั่งทะเลมากกว่าบริเวณอื่นๆ เช่น เมืองคูบัวที่อยู่ใกล้เขตภูเขาและที่ราบขั้นบันได สูงจากระดับน้ำทะเลราว ๘-๑๐ เมตร และมีขนาดราว ๒,๑๐๐x๙๐๐ เมตร เป็นเมืองสำคัญขนาดเล็กว่าอีกแห่งหนึ่งที่สามารถเดินทางข้ามคาบสมุทรไปทางฝั่งอันดามันก็ได้ และเดินทางสู่เขตแผ่นดินภายในที่มีทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเราพบหลักฐานของการติดต่อผ่านเส้นทางแนวสันทรายเดิมที่เรียกว่าถนนท้าวอู่ทองไปจนถึงเขตเพชรบุรี พบหลักฐานศาสนสถานในถ้ำยายจูงหลานแถบอำเภอบ้านลาดและสถานีการค้าชายฝั่งทะเลที่เป็นจุดสังเกต [Landmark] ในการเดินเรือทะเลเลียบชายฝั่งที่ทุ่งเศรษฐี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ในช่วงสมัยทวารวดีนี้ การเดินทางข้ามผ่านที่ใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรแบบในช่วงยุคเหล็กตอนปลายนั้นอาจหมดความนิยมลงไป เพราะพบร่องรอยว่าในสมัยทวารวดีเป็นการเดินอ้อมแหลมมลายูกันเป็นพื้น จนปรากฏเมืองแบบทวารวดีเมืองใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรมลายู-สยามที่เมืองโบราณยะรัง ในจังหวัดปัตตานี ซึ่งร่วมสมัยกับการเติบโตของบ้านเมืองในสหพันธรัฐศรีวิชัย ซึ่งมีเมืองท่าในรูปแบบ Port City ที่อยู่บนคาบสมุทรมลายู-สยามและหมู่เกาะทางสุมาตราไปจนถึงบ้านเมืองแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการเติบโตร่วมสมัยกับเมืองในรูปแบบวัฒนธรรมแบบทวารวดี
ทั้งเมืองนครปฐมโบราณและเมืองคูบัว ต่างปรากฏร่องรอยของผู้คนจากต่างถิ่น เช่นชาวตะวันออกกลางที่อาจจะเป็นชาวอาหรับผู้เดินทางค้าขายและนับถือศาสนาอิสลามในรูปแบบปูนชั้นประดับฐานพระเจดีย์แบบทวารวดีหลายแห่งในและนอกตัวเมือง การพบลายปูนปั้นและเหรียญที่มีรูปเรือสำเภาจำนวนหนึ่ง การตั้งมั่นของพุทธศาสนาแบบเถรวาทรวมไปถึงมหายานตามเนื้อหาคัมภีร์ต่างๆ ที่ผสมผสานกันจนกลายเป็นพุทธศาสนาแบบทวารวดีที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน เช่น การจากรึกคาถาที่สรุปแก่นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้อย่างเรียบง่ายและรวบรัด เช่น อริยสัจ ๔, ปฏิจจสมุปบาท และที่พบมากที่สุดปรากฏในแผ่นดินเผา แผ่นอิฐ แผ่นหิน เสาหิน ฐานธรรมจักร หรือพระพิมพ์แพร่ไปตามศาสนสถานและแหล่งที่อยู่อาศัยในเมืองแบบทวารวดีต่างๆ คือ
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ
เตสํ เหตํ ตถาคโต พระตถาคต กล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ และความดับของธรรมเหล่านั้น
เอวํ วาที มหาสมโณ พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้
พุทธลักษณะที่ปรากฏในรูปเคารพ เช่น ใบหน้าและการครองจีวรที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปแบบคุปตะแะหลังคุปตะ จนถึงการเลือกพุทธประวัติในการแสดงมุทราแบบวิตรรกะหรือการแสดงธรรมเป็นพื้น ความนิยมสร้างพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทขนาดใหญ่ พระพุทธรูปยืนที่ทำจากหินปูน การสร้างเสาและธรรมจักรที่พบในบริเวณเมืองโบราณสมัยทวารวดีแทบทุกแห่ง รวมทั้งการใช้เหรียญเงิน ทอง หรือโลหะมีค่าชนิดอื่นๆ แสดงสัญลักษณ์มงคลต่างๆ เนื่องในรูปแบบการค้า เช่น ความโชคดี โชคลาภ ความร่ำรวย ความรุ่งเรือง รวมถึงที่มีจารึกข้อความว่า ‘ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺย’ แปลว่า ‘พระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ’ ซึ่งแพร่ไปทั่วที่มีชุมชนในสมัยทวารวดีปรากฎอยู่
สิ่งเหล่านี้คือการแพร่กระจายวัฒนธรรมทางความเชื่อที่หลั่งไหลไปพร้อมกับเศรษฐกิจการค้า รวมทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิตและอาจรวมถึงสถานภาพทางสังคมสู่บ้านเมืองร่วมสมัย โดยไม่อาจตีความไปได้ว่าเป็นตัวแทนอำนาจทางการเมืองจากวัตถุและแนวคิดทางวัฒนธรรมเหล่านี้
นอกจากนี้ ในอาณาบริเวณของเมืองนครปฐมโบราณนี้ยังพบฐานแท่นหินที่ประดิษฐานรูปเคารพเนื่องในศาสนาฮินดูจำนวนหนึ่ง อันแสดงถึงการเป็นเมืองที่เปิดพื้นที่ให้กับทุกศาสนา เช่นเดียวกับอาคารศาสนสถานแบบฮินดูที่พบบริเวณคอกช้างดิน นอกเมืองอู่ทอง
เมืองนครปฐมโบราณนี้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมความเชื่อ การค้าและเศรษฐกิจสืบเนื่องเรื่อยมาไม่แต่เฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ อันเป็นช่วงที่เริ่มปรากฏวัฒนธรรมแบบทวารวดีอย่างชัดเจนโดยมีการสันนิษฐานว่าน่าจะมีการติดต่อกับแหล่งอารยธรรมอินเดียก่อนหน้านั้นตั้งแต่ยุคอมราวดีในราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ นอกจากนั้นยังปรากฏหลักฐานร่วมสมัยกับวัฒนธรรมแบบศรีวิชัยที่มีการนำพระพุทธรูปแบบปาละในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ซึ่งเป็นช่วงรุ่งเรืองของวัฒนธรรมแบบศรีวิชัยที่มักพบพระพุทธรูปแบบมหายานที่มีทั้งพระโพธิสัตว์องค์ต่างๆ พระธยานิพุทธเจ้าในคติแบบมหายาน อิทธิพลศิลปะแบบปาละทั้งลายปูนปั้นรอบฐานเจดีย์จุลประโทน พระพุทธรูปและพระพิมพ์แบบที่นิยมสร้างปางสมาธิและมีสถูปจำลองใต้ซุ้มวงโค้งต่างๆ อันเป็นรูปแบบงานศิลปกรรมทางศาสนาที่แพร่กระจายไปพร้อมๆ กับการค้าทางทะเลซึ่งพบได้ตามเมืองท่าสำคัญๆ ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖ ในบ้านเมืองร่วมสมัยของสหพันธรัฐศรีวิชัย
ความสืบเนื่องเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างยาวนานของเมืองนครปฐมโบราณไม่หยุดอยู่เพียงนั้น เพราะพบร่องรอยรูปแบบศิลปกรรมในความเชื่อในอิทธิพลเขมรสมัยบายนและศิลปกรรมแบบลพบุรีที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ อีกด้วย ดังพบรูปปูนปั้นที่ประดับเจดีย์วัดพระเมรุ บางส่วนจากวัดพระประโทน ตลอดจนพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย บางองค์เป็นแบบทรงเครื่องในอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรแบบนครวัดและบางองค์เป็นแบบบายนลงมาแล้ว และยังมีพระพุทธรูปหินทรายแบบทรงเครื่องประทับยืนปางประทานอภัยแบบอิทธิพลศิลปะแบบบายน พระพิมพ์แบบอิทธิพลเขมรหรือที่เคยเรียกกันว่าแบบลพบุรี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่ตรงกลางและมีพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดเล็กขนาบข้างอีกสององค์ในซุ้มปราสาท ซึ่งกล่าวกันว่าขุดพบที่วัดพระเมรุ บางพิมพ์เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิใต้ซุ้มโพธิ์ ซึ่งเคยพบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ ราชบุรี ตลอดจนที่ปราสาทเมืองสิงห์เช่นกัน นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์ที่มีพระพุทธรูปนาคปรกด้านบนมีเหวัชระ เทพผู้พิทักษ์ ๘ พักตร์ ๑๖ กร ล้อมรอบด้วยนางโยคินี ๘ ตน ซึ่งพบทั้งที่เมืองนครปฐมและในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา โดยถูกกำหนดอายุไว้ในช่วงวัฒนธรรมเขมรแบบบายนในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๘
ความสืบเนื่องในการเป็นเมืองทางพุทธศาสนาในคติแบบเถรวาทปะปนกับคติแบบมหายานที่ได้อิทธิพลมาจากบ้านเมืองในระดับนครรัฐขนาดใหญ่ที่มีศูนย์กลางบริเวณเหนือทะเลสาบเขมร คือเมืองพระนคร โดยผ่านทางเมืองละโว้หรือลพบุรี ที่เป็นเมืองมาตั้งแต่ยุคสมัยทวารวดีและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความเชื่อในลุ่มลพบุรี-ป่าสักและอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน และมีความสัมพันธุ์ในทางเครือญาติกับกษัตริย์เมืองพระนครมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ (พ.ศ. ๑๕๔๕-๑๕๙๓) แล้ว เมืองนครปฐมโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นอย่างน้อยนี้จึงไม่ได้ร้างผู้คน แต่หากสืบต่อการเป็นเมืองใหญ่ในรอยต่อระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่กลอง และเป็นส่วนหนึ่งในมณฑละของบ้านเมืองที่รับอิทธิพลการสร้างเมืองรูปสี่เหลี่ยมและพุทธศาสนสถานแบบคติมหายานซึ่งรับมาอย่างชัดเจนจากเขมรสมัยบายนที่เมืองพระนคร ดังที่พบเมืองริมแม่น้ำแม่กลอง ห่างจากเมืองนครปฐมโบราณไปราวๆ ๒๕ กิโลเมตรที่โกสินารายณ์ซึ่งต่อเนื่องมาจากบริเวณเนินทางพระที่อำเภอสามชุกและเมืองไร่รถในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี บริเวณนี้สามารถติดต่อตัดผ่านแม่น้ำน้อยไปยังเมืองลพบุรีได้สะดวก โดยมีเมืองสุพรรณภูมิที่ตั้งอยู่บริเวณเมืองสุพรรณบุรีในปัจจุบันนี้เป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองในลุ่มน้ำท่าจีนฝั่งตะวันตกคู่ขนานไปกับเมืองละโว้หรือลพบุรีที่อยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ตลอดไปจนถึงพระมหาธาตุใกล้ลำน้ำแม่กลองที่เมืองราชบุรี วัดกำแพงแลงที่เมืองเพชรบุรี เมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ ตลอดจนเมืองครุฑที่ต้นน้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในภูมิภาคตะวันตกและเติบโตขึ้นมาจากการเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งสิ้น
พงตึกในมณฑละ [Mandala] ของเมืองนครปฐมโบราณ
ข้อความบางตอนจากหนังสือนิราศพระแท่นดงรัง ของสามเณรกลั่นที่เขียนไว้เมื่อเดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรักที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดกาญจนบุรีในปัจจุบัน โดยกล่าวถึงที่มาของคำว่า ‘พงตึก’ สรุปว่า เมื่อถึงคุ้งน้ำที่เรียกกันว่าคุ้งพงตึก กล่าวกันว่าเป็นตึกพราหมณ์ริมน้ำของแผ่นดินโกสินราย ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับเมืองและสระน้ำโกสินารายณ์ในสมัยลพบุรีที่อยู่บริเวณใกล้กันในระยะไม่เกิน ๗-๘ กิโลเมตร
พงตึกอยู่ห่างจากเมืองนครปฐมโบราณราว ๓๕ กิโลเมตร ยังคงเหลืออาคารศาสนสถานขนาดเล็ก ๒ แห่งและอยู่ในเส้นทางคมนาคมสำคัญริมน้ำแม่กลองของภูมิภาคตะวันตก โบราณสถานที่พงตึกถูกกล่าวถึงตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่มีการศึกษาทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ มีข่าวทางหนังสือพิมพ์ว่าชาวนาขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ฝังร่วมกับพระพุทธรูป จนราชบัณฑิตยสภาโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพรับสั่งให้ ศ.ยอร์ช เซเดส์ เดินทางไปสำรวจซึ่งพบพระพุทธรูปสำริดแบบคุปตะที่มีอิทธิพลแบบอมราวดีลักษณะชายจีวรเป็นริ้ว ถ้วยดินเผา ตะเกียงโรมันสำริดที่เลียนแบบตะเกียงโรมันแบบไบแซนไทน์
ต่อมาอีกราว ๑๐ ปีได้มีการค้นพบประติมากรรมเทวรูปพระวิษณุ ขนาดสูงจากพระบาทจนถึงพระเศียร ๘๐ เซนติเมตร เป็นพระวิษณุสี่กร ถือสังข์ จักร ธรณีหรือดอกบัวและคฑา พระเกศาที่ทำเป็นรูปดอกบัวแทนที่จะสวมหมวกทรงกระบอก ประมาณอายุไว้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ หรือ ๑๔ เทวรูปนี้เก็บรักษาไว้ที่วัดดงสักในปัจจุบัน พระวิษณุองค์นี้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นร่องรอยของศาสนาฮินดูที่ปรากฏในพื้นที่ภาคตะวันตกที่มีอายุร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีได้เป็นอย่างดี

โบราณสถานที่พงตึก ริมน้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี

พระวิษณุพบที่พงตึก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดดงสัก พระพักต์และการหมุ่นมวยสูงที่เค้าแบบทวารวดี
ร่องรอยของชุมชนที่เป็นสถานีการค้าในเส้นทางเดินทางสำคัญยุคทวารวดีที่พงตึกนี้ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบชุมชนเมืองร่วมสมัยกับทวารวดีที่ใช้เส้นทางผ่านพงตึกขึ้นไปทางลำน้ำแควน้อย แล้วตัดผ่านไปยังที่ราบลุ่มลำน้ำทวายซึ่งมีเมืองโบราณธาการะ [Thagaya] เมืองรูปมนและมีคูน้ำคันดินชั้นในรูปเกือบเป็นสี่เหลี่ยมปรากฏอยู่ โดยนักโบราณคดีทางทวายพบหลักฐานเช่น แผ่นหินขนาดเล็กรูปคชลักษมี ลูกปัดแก้ว พระพิมพ์ปางสมาธิในซุ้มและมีสถูปจำลองแบบปาละที่กำหนดอายุร่วมสมัยกับพุกาม พระพุทธรูปสำริดประทับนั่งขนาดเล็ก ลูกปัดหินอาเกตและคาร์นีเลียน แต่ส่วนใหญ่พบลูกปัดแก้วสีต่างๆ ลูกปัดแบบดวงตาที่แพร่มาจากแถบตะวันออกกลางและพบน้อยมากในเขตไทย พบที่คูบัว ราชบุรีและเมืองอู่ทอง และเหรียญเงินสัญลักษณ์รูปศรีวัตสะและพระอาทิตย์ ซึ่งนักโบราณคดีทางฝ่ายทวายกำหนดให้อยู่ในยุคเพี่ยว [Pyu] และร่วมสมัยกับเมืองทวารวดีในยุคหลังๆ ลงมา อีกเมืองหนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือเมืองโมขติ [Mokti] ซึ่งพบการนับถือศาสนาแบบฮินดู มีชิ้นส่วนของเทวรูปทรงเครื่อง พระคเณศร์และพระนารายณ์ที่อาจปรับมาจากพระพุทธรูปประทับยืนบนฐานที่แกะเป็นรูปบุคคลนั่งพนมมือด้านล่าง เนื่องจากการถือสิ่งของในมือนั้นมีความต่างจากพระวิษณุโดยปกติ เมืองทั้งสองแห่งนี้ร่วมสมัยกับบ้านเมืองในอีกฟากฝั่งหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรีและมีการติดต่อสัมพันธ์ข้ามภูมิภาคกับเมืองต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตกของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเห็นได้ชัดโดยเส้นทางการเดินทางนั้นต้องผ่านสถานีที่พงตึกในช่วงเวลาดังกล่าวพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดเล็ก ทำจากสำริด พบที่เมืองธาคาระ ทวาย

พระพิมพ์ที่นักโบราณคดีท้องถิ่นกำหนดว่าเป็นแบบพุกาม พบที่เมืองธาคะระ ทวาย

พระวิษณุแบบท้องถิ่น พบที่เมืองโมขติ ทวาย

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองธาคะระ ที่นักโบราณคดีชาวทวายกำหนดอายุไว้ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔
โกสินารายณ์ เมืองในวัฒนธรรมเขมรบนเส้นทางการค้าข้ามภูมิภาค
บริเวณที่เรียกว่าสระโกสินาราย์ ซึ่งเป็นสระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางด้านเหนือของเมืองที่มีคันดินรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่าขนาดราว ๙๖๐x๙๖๐ เมตร คันดินสูงจากพื้นราว ๖๐ เซนติเมตรกว้างราว ๑๐ เมตร มีแนวคันดิน ๓ ด้าน ด้านตะวันตกถูกลบไป อาจจะตอนญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟจากหนองปลาดุกไปเมืองกาญจน์ เนื่องจากมีผู้แจ้งว่าขุดพบอาคารโบราณสถานและโบราณวัตถุ กรมศิลปากรจึงสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ และขุดค้นในปี ๒๕๐๙ ในขณะนั้นพบทรากสถานขนาดใหญ่ชาวบ้านเรียกว่า “จอมปราสาท” ขนาด ๘๕ เมตร x ๑๐๐ เมตร และยังมีเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ ๒ เนิน ขนาด ๓๐x๓๐ เมตร ห่างจากสระโกสินารายณ์ไปทางตะวันตกเล็กน้อย ภายในเมืองมีสระหลายแห่ง เช่น สระจระเข้ สระนาค สระจอก สระแก้ว สระนาคมีลำคลองเล็กๆ ขุดแยกออกมาจากลำน้ำแม่กลอง และพบฐานเจดีย์ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐทั้งในและนอกเมือง
จากการขุดค้นพบว่ามีลายปูนปั้นแบบลพบุรีจำนวนมาก กลีบขนุนปรางค์ทำจากหินทรายมีพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้ว แท่งหินทรายสีแดง ขุดพบพระกรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหินสีเขียว ๘ กร เปล่งรัศมี ถือคัมภีร์ ลูกประคำ และดอกบัว กับพระบาทของพระโพธิสัตว์คู่หนึ่ง ปัจจุบันร่องรอยและหลักฐานทางโบราณคดีถูกลบไปแทบจะไม่เหลือร่องรอย นอกจากจอมปราสาทและสระจระเข้ที่ตั้งอยู่ภายในโรงงานกระดาษของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด แม้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เช่นเทศบาลท่าผาจะจัดพื้นที่ติดกับสระโกสินารายณ์ให้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่นำเอาของจำลองมาจัดแสดงและสร้างถนนคนเดินเพื่อการท่องเที่ยว แต่ผู้เยี่ยมชมน้อยคนที่จะมีโอกาสได้เข้าไปสำรวจภายในเมืองโกสินารายณ์ที่อยู่ภายในบริษัทฯ
ชิ้นส่วนปูนปั้นต่างๆ ที่พบนั้นมีร่องรอยคล้ายคลึงและรูปแบบเช่นเดียวกับปูนปั้นรูปบุคคลที่พบบริเวณฐานเจดีย์วัดพระเมรุ เมืองนครปฐมโบราณ หรือที่พบบริเวณปราสาทเมืองสิงห์ รูปบุคคลบริเวณเนินทางพระที่สามชุก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นงานศิลปกรรมในกลุ่มช่างฝีมือรุ่นราวคราวเดียวกันภาพถ่ายทางอากาศและแผนผังเมืองโกสินารายณ์เมื่อกว่า ๕๐ ปีล่วงมาแล้ว ปัจจุบันร่องรอยความเป็นเมืองโบราณเปลี่ยนสภาพไปเกือบหมดสิ้น

เจดีย์จอมปราสาทในพื้นที่บริษัทกระดาษปูนซีเมนต์ไทย จำกัด
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ขุดค้นพบที่จอมปราสาท ศาสนสถานใหญ่ในเมืองโกสินารายณ์ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
ปูนปั้นที่พบจากการขุดค้นที่จอมปราสาท เป็นรูปหน้าบุคคลที่คล้ายชาวจีนและการสวมเทริดที่คล้ายกับปูนปั้นใบหน้าคนที่พบจากเนินทางพระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี และปูนปั้นรูปบุคคลพนมมือ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
การพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ซึ่งพบที่ปราสาทเมืองสิงห์ในศาสนสถานขนาดใหญ่ในพื้นที่ต้นน้ำแควน้อยด้วยเช่นกัน และยังพบรูปเคารพที่เป็นพระโพธิสัตว์อื่นๆ รวมทั้งนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งบางองค์น่าจะนำมาจากเมืองพระนครในช่วงเวลาร่วมสมัยและบางส่วนน่าจะสร้างขึ้นที่ละโว้หรือลพบุรี ซึ่งละโว้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับศิลปกรรมจากเมืองพระนครมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ แล้ว
จากจารึกปราสาทพระขรรค์ที่นักวิชาการชาวฝรั่งเศสและชาวไทยหลายท่านได้ชี้ว่า หัวเมืองทางฟากตะวันตกที่พบหลักฐานโบราณสถานและวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาแบบมหายานเป็นส่วนหนึ่งของเมืองในราชอาณาจักรของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โดยจากรึกปราสาทพระขรรค์กล่าวถึงในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มีการประดิษฐานพระพุทธรูปพระนาม ‘พระชัยพุทธมหานาถ’ จำนวน ๒๓ องค์ และยกตัวอย่างชื่อเมืองลโวทยปุระ ศัมพูกปัฏฏนะ สุวรรณปุระ ชัยราชปุระ ศรีวัชระปุระ ศรีชัยสิงหปุระ ว่าเป็นเมืองในภาคกลางตามชื่อเมืองที่สันนิษฐานคือ ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรีและเมืองสิงห์ตามลำดับ โดยสันนิษฐานตามชื่อเมืองที่น่าจะเป็นและมีการก่อสร้างศาสนสถานและมีรูปเคารพต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากเขมรสมัยบายน โดยสันนิษฐานว่าศัมพูกปัฎฎนะคือเมืองโกสินารายณ์
แต่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เห็นว่าการที่นำเอาชื่อเมืองที่คล้ายคลึงกันในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปเปรียบเทียบกับบรรดาเมืองในเส้นทางคมนาคมในจารึกปราสาทพระขรรค์อย่างง่ายๆ เช่นนั้น เพราะรูปแบบอาคารเนื่องในศาสนาเช่น อโรคยศาลและธรรมศาลาที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สร้างไว้ตามสถานที่ต่างๆ ล้วนอยู่ในเขตเขมรสูงและบริเวณใกล้เคียงเมืองพระนคร ไม่พบรูปแบบศาสนสถานใดเลยในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางที่จะมีแบบแผนเดียวกันกับที่ปรากฏในพื้นที่เหล่านั้น
ในทางตรงกันข้าม หลักฐานทางศิลปกรรมแบบบายน เช่น อาคารปรางค์หรือปราสาท ๓ หลังบนฐานเดียวกัน หรือการสร้างปราสาทหรือศาสนสถานที่บรรจุรูปเคารพ ๓ องค์ตามคติรัตนตรัยมหายานที่นิยมการบูชา พระพุทธรูปนาคปรกอยู่ตรงกลาง ด้านขวาคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ด้านซ้ายคือ นางปรัชญาปารมิตา ซึ่งอาจจะพบทั้งสามองค์หรือบางองค์ ก็พบในบริเวณเนินทางพระ เมืองโกสินารายณ์ และปราสาทเมืองสิงห์เช่นเดียวกับที่พบพระพุทธรูปนาคปรกเป็นที่นิยมสร้างในเมืองลพบุรีและสุพรรณบุรี ซึ่งทำจากหินทรายและสำริด รวมทั้งพระพิมพ์ทั้งสามองค์หรือมากกว่าทำจากดินเผาและสำริด พระพิมพ์แบบองค์เดียวก็พบมาก ซึ่งเรียกกันว่าพระพิมพ์แบบลพบุรี
ปูนปั้นพระพทธรูปในซุ้มและภาพบุคคลสวมเทรด พบที่เนินทางพระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พบที่เนินทางพระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี
วัดมหาธาตุ ราชบุรี และซุ้มพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางสมาธิ แบบลพบุรีประดับบนกำแพงแก้ว
วัดมหาธาตุ ราชบุรี
อิทธิพลทางศิลปกรรมทางศาสนาแบบเขมรเข้ามาสู่บ้านเมืองต่างๆ ในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ และเป็นการเข้ามาแบบผสมผสานกับศิลปกรรมที่มีอยู่เดิม ดังที่กล่าวไปแล้วว่าพบปูนปั้นที่วัดพระเมรุ วัดพระประโทนที่มีอิทธิพลแบบเขมรในเมืองนครปฐมโบราณ
เมืองโกสินารายณ์นั้นอยู่ในปริมณฑลของเมืองนครปฐมโบราณ ซึ่งไม่ได้รุ่งเรืองดังเช่นเมื่อแรกเริ่มแล้ว เพราะมีหัวเมืองอื่นๆ เกิดขึ้นตามลำดับเวลา เช่นหัวเมืองศรีสัชนาลัย-สุโขทัย ที่อยู่ในเส้นทางการเดินทางตะวันตก-ทางพุกามและทางตะวันออกไปทางอีสานและลาวทางฝั่งหลวงพระบางในลุ่มน้ำโขงและบ้านเมืองทางเหนือ, เมืองสุพรรณภูมิที่บริเวณเมืองสุพรรณบุรีในปัจจุบัน ซึ่งสัมพันธ์กับเมืองละโว้ที่ลพบุรี อโยธยาศรีรามเทพนครฝั่งตรงข้ามกับกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา เมืองราชบุรีที่สืบเนื่องมาจากเมืองคูบัว เมืองเพชรบุรีที่เป็นจุดสำคัญที่มีทรัพยกรทั้งทะเลและของป่าและเป็นจุดเริ่มต้นเดินทางสู่หัวเมืองในคาบสมุทรหรือปากใต้และการเดินทางข้ามคาบสมุทร ส่วนเมืองสิงห์ที่อยู่ต้นน้ำแควน้อยนั้นเป็นหัวเมืองเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ใกล้ชิดเขตที่ราบเชิงเขาใกล้กับเทือกเขาตะนาวศรี และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างตัวของนครรัฐที่กำลังเกิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกที่จดหมายเหตุราชวงศ์หยวนในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เรียกว่า ‘เสียน’ ที่น่าจะมีศูนย์กลางที่เมืองสุพรรณภูมิที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับผู้ปกครองในราชวงศ์ของสุโขทัย และเรียกเมืองละโว้ทางฝั่งตะวันออกว่า ‘หลอหู’
และอยู่บนเส้นทางการค้าข้ามภูมิภาคที่เดินทางขึ้นเหนือไปยังต้นน้ำแควน้อยที่ปราสาทเมืองสิงห์ได้ ไปยังเมืองราชบุรี เพชรบุรีและนครปฐมได้ เดินทางไปยังเมืองสุพรรณภูมิ เมืองไร่รถและเนินทางพระ แล้วตัดข้ามไปยังเมืองลพบุรีได้ ร่องรอยเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของการก่อเกิดนครรัฐขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนครรัฐขนาดใหญ่เพื่อแทนที่ศูนย์กลางบ้านเมืองที่โรยราไปแล้ว เช่นเมืองนครปฐมโบราณและเมืองร่วมรุ่นทวารวดีสมัยอื่นๆ ในเขตภาคกลางในรูปแบบสหพันธรัฐทวารวดี ตลอดจนเมืองในวัฒนธรรมเขมรคือ ‘เมืองพระนคร’ เหนือทะเลสาบเขมร
พื้นฐานทางเศรษฐกิจและมีเส้นทางการค้าที่สำคัญทั้งทางบกแบบข้ามภูมิภาคและทางทะเลในการเดินเรือเลียบชายฝั่งของบ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยานี้เอง ที่เป็นพื้นฐานการสถาปนานครรัฐขนาดใหญ่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ คือ ‘กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา’ ในเวลาต่อมา
บรรณานุกรม
ยอร์ช เซเดส์. ตำนานอักษรไทย ตำนานพระพิมพ์ การขุดค้นที่พงตึก และความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สมัยโบราณ แห่ง ประเทศไทย ศิลปไทย สมัยสุโขทัย ราชธานีรุ่นแรกของไทย, พระนคร, องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๐๗
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานบริเวณสระโกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี. พระโพธิสัตว์ เปล่งรัศมีและศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ของ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล. กรุงเทพฯ, 2509
ศรีศักร วัลลิโภดม. “โบราณคดีนอกระบบ” และความเข้าใจต่อพัฒนาการของสังคมยุคเหล็กในดินแดนประเทศไทย. งานวิจัยใน โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. พ.ศ.๒๕๔๐ รายงานเบื้องต้นเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๐.
สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. พัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองนครปฐมโบราณในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 = The cultural development of ancient Nakhon Pathom prior to the 14th Century A.D. ดุษฎีนิพนธ์ (ปร.ด. (โบราณคดีสมัย ประวัติศาสตร์)).มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๓.
Bellwood, Peter and others. “Ancient jades map 3,000 years of prehistoric exchange in Southeast Asia”, 2007
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2148369/
Takaya, Yoshikazu. [Translated by Peter Hawkes] Agricultural Development of a Tropical Delta, A Study of the Chao Phraya Delta. University of Hawall Press, Homolulu,1987