วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

เคยพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณชื่อ ชุมชนโบราณในพื้นที่ “น้ำสำคัญ ป่าต้น” ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๓ (กค.กย. ๒๕๕๙)
* มาจากโคลงนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่ วรรคที่ว่า

๏ บูราณท่านว่าน้ำ     สำคัน

ป่าต้นคนสุพรรณ        ผ่องแผ้ว

แดนดินถิ่นที่สูพรรณ   ธรรมชาด มาศเอย

ผิวจึ่งเกลี้ยงเสียงแจ้ว  แจ่มน้ำคำสนองฯ

การสำรวจชุมชนโบราณในพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งติดต่อกับจังหวัดชัยนาทและอุทัยธานี ทางตะวันออกติดต่อกับจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันตกมีเทือกเขาตะนาวศรีที่ต่อเนื่องมาจากอุทัยธานีพาดยาวไปจนถึงจังหวัดกาญจนบุรีเป็นแนวพรมแดนขวางกั้นตามธรรมชาติระหว่างประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่าและไทย ส่วนทางทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม

มีแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านเป็นลำน้ำสายหลักของท้องถิ่น พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง แวดล้อมด้วยพื้นที่ราบลุ่มแบบหนองบึงทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณและที่ดอนสูงในแถบที่ราบชายเขาทางฝั่งตะวันตก เมื่อมีการพัฒนาระบบชลประทานเป็นโครงข่ายอย่างมากมาย จึงกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าพืชผลทางการเกษตร

การพัฒนาโครงสร้างการชลประทานในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างทำให้เกิดการเกษตรอุตสาหกรรมและการปฏิรูปการปกครองในระมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชการที่ ๕ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรเข้ามาตั้งบ้านเรือนเป็นตลาดเป็นเมืองค้าขายตลอดไปตามลำน้ำสุพรรณบุรีและบุกเบิกเข้าไปในเขตป่าเบญจพรรณที่ถนนและการชลประทานของรัฐมีส่วนทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนต่างๆ ไปจนเต็มทั่วทุกพื้นที่ แม้แต่เขตชายเขาตะนาวศรี เช่น อำเภอด่านช้างในทุกวันนี้

ภูมิศาสตร์ท้องถิ่นต้นน้ำสุพรรณ
สภาพภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นทางทิศเหนือของเมืองสุพรรณบุรีราว ๔๐ กิโลเมตร อยู่ในบริเวณ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่า [Old Delta] ของลำน้ำเจ้าพระยาเดิมและลำน้ำท่าจีน ความสูงโดยเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลจากทิศใต้สู่ทิศเหนือราว ๓-๑๐ เมตร พื้นที่ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่านี้มีความนิยมตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมาจนถึงบ้านเมืองที่เป็นนครรัฐและเมืองท่าภายในตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น เราจึงพบหลักฐานของชุมชนมนุษย์ต่างยุคสมัยในพื้นที่ตลอดสองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่เมืองสุพรรณบุรี พื้นที่ชายขอบของเทือกเขาตะนาวศรี ไปจนถึงบริเวณที่ปากน้ำสบกับแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยในเขตชัยนาท ซึ่งบริเวณนี้ก็เป็นรอยต่อของพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น [Undulating Terrace] ในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก ซึ่งมีการอยู่อาศัยของผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างชัดเจนและร่วมสมัยกับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในทางลุ่มน้ำสุพรรณ

ทิศตะวันตกของอำเภอสามชุกเป็น ที่ราบชายเขา [Foothill plain] ของแนวเทือกเขาตะนาวศรีที่สูงชันและสลับซับซ้อน ต่อเนื่องจากแนวเทือกเขาเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดที่ค่อยๆ ลาดเทมาทางทิศตะวันออกจนถึงแม่น้ำสุพรรณ ที่ราบแถบนี้ในอดีตเคยมีป่าไม้เบญจพรรณผืนใหญ่ที่มีไม้พวกเต็ง รัง มะค่าโมง มะค่าแต้ ชิงชัน ซาก ตะเคียนทองฯลฯ และมีลำธารเล็กๆ หลายสายไหลลงสู่ “ลำห้วยกระเสียว” ต่อมาบริเวณนี้มีการสร้างเขื่อนกระเสียวก่อสร้างเป็นเขื่อนดินเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ กั้นน้ำจากลำห้วยกระเสียว ใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรมของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว

5-2

แผนที่ชื่ออยุธยา-นครชัยศรี จังหวัดสุพรรณบุรี มาตราส่วน ๑ ต่อ ๕๐,๐๐๐ (๒ ซม.ต่อ ๑ กิโลเมตร) สำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ พิมพ์ที่กรมแผนที่ พ.ศ. ๒๔๗๓ ให้ข้อมูลถึงสภาพภูมินิเวศที่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานเบาบางและเต็มไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณ

ป่าไม้สมบูรณ์ในแถบนี้ รัฐให้ทำสัมปทานชักลากซุงมาแปรรูปในช่วงระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๙ มีโรงเลื่อยจักรที่รับเลื่อยไม้แปรรูป ป่าดงดิบ อยู่บริเวณด่านช้างและดงเชือก และหมดลงไปภายในเวลาไม่นานก็มีชาวบ้านเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำพืชไร่แทน นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้นราวทศวรรษที่ ๒๔๘๐ ยังมีกิจการการเผาถ่านในช่วงที่ผู้คนบุกเบิกลึกเข้าไปในดงในป่าทางฟากตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ โดยที่ตลาดสามชุกเป็นพื้นที่รับซื้อถ่านไม้สำหรับใช้ในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม

1

แผนที่แผนผังแสดงเขตสุขาภิบาลสามชุกในยุคแรกๆ จะเห็นตำแหน่งสถานที่สำคัญโดยรอบของสามชุกและลำน้ำสำคัญและการสร้างระบบชลประทานที่ซับซ้อนและอยู่ทางด้านเหนือขึ้นไป

ส่วนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ราบลุ่มและเป็นดอนบางส่วนเหมาะกับการทำนาและทำไร่ ส่วนด้านทิศเหนือติดต่อกับที่ราบและหย่อมกลุ่มเขาหลายลูกซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวช

1-2

แผนที่แสดงภูมิประเทศของสภาพแวดล้อมของสามชุกจากแผนที่ทหาร มาตราส่วน ๑ ต่อ ๕๐,๐๐๐ เมื่อราวๆ ๔๐ ปีที่ผ่านมา

บริเวณแนวกึ่งกลางของพื้นที่มีแม่น้ำสุพรรณไหลผ่าน ลำน้ำนี้แม้จะแยกออกมาจากแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านชัยนาทก็เรียก “ลำน้ำมะขามเฒ่า” ถึงสุพรรณบุรีเรียก “แม่น้ำสุพรรณ” เข้าเขตนครชัยศรีเรียก “แม่น้ำนครชัยศรี” จนถึงปากน้ำสมุทรสาครจึงเรียกว่า “แม่น้ำท่าจีน” และชื่ออย่างเป็นทางการในภายหลังคือ “แม่น้ำท่าจีน”

18-2

แผนที่แสดงภูมิประเทศ [Terrain] ที่ตั้งของท้องถิ่นสามชุก [Samchuk Locality] ซึ่งทิศตะวันตกคือเทือกเขาถนนธงชัยและมีอำเภอด่านช้างอยู่ติดกับแนวเขา มีลำน้ำกระเสียวซึ่งเคยเป็นลำน้ำสายใหญ่และสำคัญในอดีตเข้ามาสบกับแม่น้ำสุพรรณที่เหนือบริเวณสามชุกไม่ไกลนัก ทำให้บริเวณสามชุกมีความหลากหลายทางชีวภาพและถือเป็นแถบต้นน้ำจากเทือกเขาที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง

เมื่อไหลผ่านในอำเภอสามชุกก็มีลำน้ำสำคัญมาสมทบจากต้นน้ำสะสมจากเทือกเขาตะนาวศรีที่รวมเอาสายน้ำเล็กใหญ่จนกลายเป็น “ลำกระเสียว” ไหลจากแนวเทือกเขาตะวันตกแถบอำเภอด่านช้างมารวมกับแม่น้ำสุพรรณที่แถวๆ “บ้านทึง” ทุกวันนี้

แต่ในอดีต “ต้นน้ำสุพรรณ” สายหลักน่าจะเป็น “ลำกระเสียว” ที่ส่งน้ำให้แม่น้ำสุพรรณมาจากเทือกเขาตะนาวศรีเป็นสำคัญ หล่อเลี้ยงและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ลำน้ำสุพรรณหรือแม่น้ำท่าจีนที่มีชุมชนสำคัญมาแต่โบราณตั้งอยู่หลายแห่ง และเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมไปมากตั้งแต่ครั้งมีการสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่ตลอดมา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ลำน้ำกระเสียว ต้นแม่น้ำสุพรรณสายสำคัญที่มีต้นน้ำทางแถบเทือกเขาตะนาวศรี

ในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ เมื่อครั้งสภาพแวดล้อมยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงในแม่น้ำสุพรรณมีปลาชุกชุมอุดมสมบูรณ์มาก โดยกล่าวถึงชื่อปลามากมาย เช่น ปลาสลิด ปลาสลาด ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสีเสียด ปลากระสง ปลาเสือ ปลากริม ปลาตะกรับ ปลาแก้มช้ำ ปลาเนื้ออ่อน ปลานวลจันทร์ ปลาเค้า ปลาสวาย ปลาคางเบือน ปลากะโห้ ถึงบ้านสามเพ็งแถบอำเภอสามชุก ซึ่งเป็นที่สบกับลำกระเสียว ก็กล่าวชมปลาที่มีอยู่ในลำน้ำซึ่งขณะนั้นท้องน้ำยังเป็นพื้นหินทราย มีปลาประจำพื้นที่ เช่น ปลาชนางหรือปลานาง ปลาสร้อย ปลาซ่า ปลากด ปลาเพลี้ย ปลาไอ้บ้า ปลาซิว ปลาสูบ ปลาสีเสียด ปลากราย ปลาฝักดาบ ปลาตะเพียน ปลาเสือ ปลาหางไก่ เป็นต้น

ชุมชนโบราณบริเวณต้นน้ำสุพรรณบุรี
บริเวณต้นน้ำสุพรรณเป็นที่ดอนซึ่งเป็นบริเวณที่ราบเชิงเขา ต่อเนื่องกับเขตที่สูงของเทือกเขาตะนาวศรี บริเวณเหล่านี้พื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย มีหนองน้ำและลำห้วยสายเล็กๆ ไม่สามารถปลูกข้าวนาลุ่มแบบทดน้ำได้ แต่ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้ มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคหินใหม่ไปจนถึงยุคเหล็กนิยมในการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนหมู่บ้านขนาดเล็ก ดังที่พบในบริเวณนิคมกระเสียวซึ่งอยู่เหนือจากอ่างเก็บน้ำกระเสียวและติดกับเขตภูเขาสูงในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ชาวบ้านพบวัตถุโบราณจำนวนมาก เช่น ขวานหิน กำไลหิน และแกนเจาะ หม้อดินเผา หม้อสามขา เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดิน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่พบในแถบตำบลหนองราชวัตรที่อยู่ห่างไปราว ๕๐ กิโลเมตร

โบราณวัตถุที่พบถือเป็นเอกลักษณ์เด่นนั่นคือ ภาชนะแบบหม้อสามขา ซึ่งพบในเขตวัฒนธรรมหินใหม่ในประเทศจีน ไต้หวัน ในเมืองไทยพบแถบเทือกเขาทางภาคตะวันตกตั้งแต่กาญจนบุรี คาบสมุทรภาคใต้ เช่น ชุมพร พังงา กระบี่และสตูลไปจนถึงรัฐเคดาห์ ปะลิส สลังงอ ในมาเลเซีย

OLYMPUS DIGITAL CAMERAชิ้นส่วนของขา “หม้อสามขา” ที่พบในแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร

ภาชนะแบบสามขาเช่นนี้ เหนือจากบ้านเก่า ในจังหวัดกาญจนบุรีขึ้นมา ก็พบที่หนองราชวัตรและที่ด่านช้างในจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังพบขวานหินกะเทาะรูปใบมีดคมโค้งมีด้ามจับทำจากหินควอทซ์เนื้อดีและหินขัดขนาดต่างๆ กำหนดอายุแบบคร่าวๆ กันว่าน่าจะอยู่ในช่วงราว ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว [5,000 B.C.E.] และสภาพแวดล้อมดังกล่าวกลายเป็นผืนป่าตลอดมาโดยไม่มีการเข้าไปอยู่อาศัยทับซ้อนหลังจากหมดช่วงการตั้งถิ่นฐานสมัยหินใหม่และสมัยก่อนประวัติศาสตร์ลงมาแต่อย่างใด

ภาชนะดินเผารูปแบบเช่นนี้และเครื่องมือขวานหินขัดแบบใบมีด พบแบบคล้ายคลึงกันในแหล่งโบราณสมัยยุคหินใหม่เมื่อราว ๕,๐๐๐ ปีมาแล้วในแถบจังหวัดกาญจนบุรี

ท้องถิ่นทางตอนเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรีนี้ มีเส้นทางติดต่อในระหว่างบ้านเมืองยุคแรกเริ่มที่เมืองโบราณสมัยทวารวดีอู่ทองตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ และต่อเนื่องมาจนสมัยทวารวดีตอนปลายๆ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบศิลปกรรมเนื่องในพุทธศาสนามาเป็นแบบที่ได้อิทธิพลจากเมืองละโว้หรือลพบุรีอย่างเด่นชัด

จากการสำรวจของมนัส โอภากุลระบุว่า แหล่งชุมชนสมัยทวารวดีในเขตทางเหนือของตัวเมืองสุพรรณบุรี เช่นที่ บ้านดอนระกำ ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง ห่างจากตัวอำเภออู่ทองราว ๕-๖ กิโลเมตร ในอีกฟากหนึ่งของลำน้ำจระเข้สามพัน ชาวบ้านขุดพบกรุพระพุทธรูปสมัยทวารวดีในที่นาของตนเองไม่น้อยกว่า ๓๐ องค์ ถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนที่ บ้านดอนระฆัง ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง สุพรรณบุรี มีซากเจดีย์สมัยทวารวดีอยู่ ๓-๔ องค์ พบลูกปัดสีต่างๆ ด้วย บ้านหนองแจง ตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ บ้านหนองแจงเป็นโบราณสองยุคสมัยซ้อนกัน เพราะแนวคูเมืองชั้นในสมัยทวารวดี เมืองชั้นนอกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นเมืองในสมัยลพบุรี

ราว พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๐ มีผู้ลักลอบขุดพบพระสมัยทวารวดีเนื้อชินปางปฐมเทศนาและพระพิมพ์ต่างๆ อีกมากมาย บ้านสำเภาล่ม ก็มีเมืองทวารวอยู่อีกแห่งหนึ่ง ตำบลนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช พบพระพิมพ์ดินเผาขนาดใหญ่มากราว ๒๐x ๑๔ เซนติเมตร ปางป่าเลไลยก์ กับปางมารวิชัย และ บ้านคูเมือง ตำบลทุ่งคลี อำเภอเดิมบางนางบวช ซึ่งอยู่ใกล้คลองสีบัวทอง ติดกับจังหวัดสิงห์บุรี (มนัส โอภากุล. พระพุทธรูปบูชาสมัยทวารวดีที่เมืองสุพรรณบุรี “ลานโพธิ์” , ๒๕๔๔)

เมืองโบราณไร่รถที่บ้านหนองแจง เป็นเมืองโบราณที่มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดีตอนปลายจนถึงสมัยลพบุรี ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีที่พบในเขตสามชุก ระยะทางห่างจากอำเภอสามชุกไปทางทิศใต้ราว ๓๐ กิโลเมตร อยู่ริมลำน้ำท่าคอยฝั่งตะวันตก มีการพบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ศิลปะลพบุรี เช่น พระโพธิ์สัตว์อวโลกิตศวร นางปัญญาปารมิตา พระปางประทานพร พระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้ว มีทั้งที่ประทับยืนและนั่ง นอกจากบนพระพุทธรูปศิลปะลพบุรีแล้ว ก็ยังพบพระพุทธรูปแบบทวารวดีและอู่ทองอีกเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีเครื่องเหล็กชนิดต่างๆ ถึงร้อยกว่าชิ้น ซึ่งเครื่องเหล็กเช่น มีด พร้า จอบ ขวานต่างๆ คีมขายาว กรรไกรหนีบหมาก เครื่องปั้นดินเผา เช่น ไหเคลือบสีน้ำตาลกับไหเคลือบสีเขียวและกระปุกใส่กระดูกคนตาย ในสมัยราชวงศ์ซุ้งหรือซ่งหรือซ้องที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙

2

ดอนทางพระหรือเนินทางพระ ศาสนสถานขนาดใหญ่ ริมคลองท่าว้า เส้นทางน้ำสำคัญในอดีต เป็นศาสสถานแบบพุทธมหายานเนื่องในอิทธิพลศิลปกรรมแบบลพบุรี และมิได้เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในจารึกปราสาทพระขรรค์แต่อย่างใด

ส่วนที่แหล่งศาสนสถาน “ดอนทางพระ” หรือ “เนินทางพระ” ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ห่างจากอำเภอสามชุกราวๆ ๑๐ กิโลเมตร ใกล้กับ “ลำน้ำท่าระกำ” ซึ่งเป็นเส้นน้ำสายเดียวกับ “ลำน้ำท่าคอย” ที่เมืองโบราณไร่รถ ชาวบ้านทราบว่าเป็นแหล่งโบราณคดีมานานแล้วและมีพื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่าที่พบเห็นในปัจจุบัน เพราะเมื่อราว พ.ศ.๒๕๑๑ ชาวสามชุกไปขุดเอาพระพุทธรูปนาคปรกแบบลพบุรีที่ดอนทางพระมาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดวิมลโภคาราม วัดใหม่ประจำเมืองของตลาดสามชุก และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ชาวบ้านขุดซากอาคารโบราณสถานในสมัยลพบุรี เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรจึงรีบไปขุดเอาโบราณวัตถุที่เหลืออยู่ และปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี

โบราณวัตถุที่พบแบ่งเป็น ๒ ประเภท ประเภทแรกเป็นพวกปูนปั้น ส่วนประเภทที่สองเป็นหินทราย พวกที่เป็นรูปปูนปั้นนั้นเป็นของที่ทำเพื่อประดับสถาปัตยกรรมโดยตรง จึงเป็นของซึ่งสร้างขึ้นในเวลาเดียวกันกับตัวศาสนสถาน มีรูปแบบฝีมือช่างท้องถิ่นผสมระหว่างแบบทวารวดีซึ่งสืบเนื่องอยู่ในท้องถิ่นนี้กับขอมแบบบายน ฝีมือประณีตงดงามมาก ได้แก่ เศียรเทวดา นางอัปสร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ลายเทพพนม เศียรอสูรขนาดใหญ่ รูปสัตว์ประดับศาสนสถาน พระพิมพ์เนื้อชินที่เป็นแบบพระพิมพ์ลพบุรี ส่วนโบราณวัตถุที่เป็นหินทราย เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประทับยืนมีรูปแบบเป็นแบบบายน แต่ดูเทอะทะไปบ้างไม่คล้ายคลึงกับงานช่างฝีมือแบบงานปูนปั้น หรือเศียรเทวดาที่ทำจากหินทรายฝีมือคล้ายช่างหลวงที่เมืองละโว้หรือลพบุรี
ศาสนาสถานแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินกลางทุ่งนาที่มีสระสี่เหลี่ยมโบราณอยู่ใกล้เคียง นอกจากนั้นก็ไม่พบศาสนสถานกลุ่มอื่นๆ แต่อย่างใด คงจะเป็นอาคารขนาดใหญ่เนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานที่ได้รับอิทธิพลจากกัมพูชาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา ในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี นอกเหนือจากที่เมืองอู่ทอง ซึ่งเป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว โบราณวัตถุที่เป็นพระพุทธรูปและพระพิมพ์ตามกรุวัดต่างๆ นั้นเกินกว่าครึ่งเป็นศิลปะเนื่องในสมัยลพบุรีและได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมทางศาสนาจากเมืองละโว้หรือลพบุรีโดยตรง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทำจากหินทราย พบที่สามชุก

เศียรปูนปั้นพระโพธิสัตว์และพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้วที่พบในเขตบ้านเมืองฝั่งตะวันตก เช่นที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี และปราสาทเมืองสิงห์ในรูปแบบเดียวกัน

ปูนปั้นแบบลอยตัวเพื่อประดับศาสนสถานเป็นรูปเศียรเทวดาในศิลปกรรมแบบลพบุรี

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

พระพุทธรูปนาคปรกหรือหลวงพ่อนาค จากเนินทางพระ ประดิษฐานที่วัดใหม่หรือวัดรัตนโภคารามหรือวัดวิมลโภคาราม ในตลาดสามชุก

ศาสนสถานในลัทธิมหายานแห่งนี้ มีอายุร่วมสมัยกับศาสนาสถานที่พบในเขตเมืองโบราณที่บ้านไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองโกสินารายณ์ ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี และที่วัดมหาธาตุเมืองราชบุรี ซึ่งสัมพันธ์กับอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบมหายานที่ส่งอิทธิพลจากเมืองนครธมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ผ่านมาจากเมืองละโว้หรือลพบุรีอย่างเด่นชัด

และครั้งหนึ่งถูกนักวิชาการบางกลุ่มตีความว่าเมืองโบราณที่กล่าวถึงในภาคกลางเหล่านี้ คือบ้านเมืองต่างๆ ที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ไม่เห็นด้วยกับข้อสมมติฐานเหล่านั้น โดยสันนิษฐานว่า ปราสาทที่เนินทางพระน่าจะเป็นของพระมหากษัตริย์ในเขตแดน สุพรรณภูมิ ซึ่งรับนับถือพระพุทธศาสนามหายานแบบกัมพูชา ทรงสร้างขึ้นเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของพระองค์ในภูมิภาคนี้ โดยเสนอว่า

“การนำเอาแบบอย่างศิลปกรรมของบ้านเมืองที่เคยยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองมาก่อนมาเป็นแบบอย่างนั้น เป็นลักษณะที่เป็นธรรมดาของสังคมมนุษย์โดยทั่วไป เป็นเรื่องของการเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรม หาได้แสดงถึงความครอบงำของอำนาจทางการเมืองแห่งหนึ่งมายังอีกแห่งหนึ่งไม่”

ดังนั้น บริเวณสามชุกจึงถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญทางตอนเหนือของบ้านเมืองโบราณในเขตสุพรรณภูมิ ที่ทำให้พบศาสนสถานขนาดใหญ่ที่รับพุทธศาสนาแบบมหายานที่เนินทางพระบริเวณบ้านสระซึ่งอยู่ใกล้กับลำน้ำเก่าที่เป็นลำน้ำด้วนและคลองชลประทานในเวลาต่อมาและอยู่ห่างจากแพร่งสามแยกลำน้ำกระเสียวที่บ้านทึงในระยะทางราวๆ ๑๐ กิโลเมตร เส้นทางน้ำเก่าเหล่านี้สามารถเดินทางขึ้นไปยัง “เมืองแพรกศรีราชา” ซึ่งเป็นศูนย์กลางเมืองใหญ่สมัยลพบุรีและมีร่องรอยของศาสนสถานแบบสุพรรณภูมิในระยะทางราวๆ ๕๐ กิโลเมตร และไม่เป็นการยากที่จะเดินทางไปสู่เมืองละโว้หรือลพบุรี เมืองใหญ่ในอีกฝั่งหนึ่งของเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทางฝั่งตะวันออก

ซึ่งมีร่องรอยลำน้ำเก่าหลายแห่ง ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำสุพรรณคือเขตที่ราบสลับหนองบึงและที่ดอนซึ่งลาดเทจากที่ราบเชิงเขาทางตะวันตกไปทางที่ราบลุ่มในทางตะวันออก มีลำน้ำด้วนที่ไหลมาจากลำน้ำจระเข้สามพันซึ่งอยู่ในเขตที่สูงทางแถบอำเภออู่ทองต่อกับ ลำน้ำท่าว้า หรือลำน้ำท่าคอย หรือลำน้ำท่าระกำ ชื่อเปลี่ยนไปเมื่อไหลผ่านท้องถิ่นต่างๆ แต่ปรากฏชื่อในแผนที่ของกรมแผนที่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่า คลองจระเข้ เพราะมีต้นน้ำสายหนึ่งมาจากที่สูงทางแถบอู่ทองและแยกออกมาจากจากลำน้ำจระเข้สามพัน ซึ่งตามธรรมชาติน่าจะไหลจากใต้ขึ้นเหนือ ลำน้ำจึงสุดด้วนปลายน้ำเกือบถึง “บ้านท่าระกำ” แนวระนาบเดียวกับบ้านสามชุก ต่อมามีการขุดคลองชลประทานแล้วจึงขุดคลองท่าระกำนี้ไปต่อกับคลองชลประทานที่รับน้ำจากคลองกระเสียวซึ่งมีต้นน้ำจากเทือกเขาตะนาวศรีทางฝั่งตะวันตก

17

แผนที่จากการสำรวจของกรมศิลปากร แสดงเส้นทางน้ำบริเวณแม่น้ำสุพรรณ แม่น้ำท่าว้าไหลผ่านเมืองไร่รถ จนกลายเป็นแม่น้ำด้วนและไหลผ่านบ้านท่าระกำ โดยในแผนที่นี้เส้นทางน้ำขาดไป เส้นทางน้ำเส้นนี้มีชุมชนโบราณตั้งอยู่ทั้งสองฝั่ง ในขณะที่แม่น้ำสุพรรณในปัจจุบันน่าจะเป็นเส้นทางน้ำสายใหม่กว่า

คลองท่าระกำหรือแม่น้ำด้วนนี้จึงเส้นน้ำที่สำคัญ เชื่อมต่อบ้านเมืองสมัยทวารดีในเขตอู่ทอง เมืองในสมัยสุพรรณภูมิและลพบุรีที่เมืองสุพรรณต่อเนื่องกับเมืองไร่รถที่ดอนเจดีย์และเนินทางพระที่สามชุก ต่อเนื่องไปถึงชุมชนสมัยลพบุรีมีคูน้ำคันดินล้อมรอบที่บ้านโป่งแดง โดยมีชุมชนโบราณในสมัยปลายทวารวดีต่อเนื่องกับสมัยลพบุรีตั้งอยู่หลายแห่ง โดยแม่น้ำสุพรรณบุรีในปัจจุบันที่ห่างไปราว ๑-๒ กิโลเมตร ไหลขนานกันไปและน่าจะมีความสำคัญน้อยกว่าในยุคร่วมสมัย

จากแผนที่เก่าราว พ.ศ. ๒๔๖๐ บริเวณทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณนั้น ป่าไม้เบญจพรรณกินบริเวณลึกจากแทบเทือกเขามาจนใกล้ถึงแนวฝั่งแม่น้ำด้วนในระยะประมาณ ๒-๔ กิโลเมตร พวกย่านบ้านเก่าที่มีเรื่องเล่าสืบต่อมาและการพบโบราณวัตถุสถานตั้งแต่สมัยทวารวดีตอนปลายจนถึงสมัยลพบุรีก็อยู่ในแนวสองฝั่งของแม่น้ำด้วนนี้ไปไม่ไกลเช่นกัน บริเวณนี้มีการสำรวจว่าเป็นท้องถิ่นที่บุกเบิกทำนากันมากและมีน้ำตลอดทั้งปีแม้จะเป็นช่วงก่อนการมีโครงการชลประทาน จึงมีตำนานนิทานเรื่องย่านบ้านเก่าติดที่อยู่หลายแห่ง

กล่าวโดยสรุปคือ ชุมชนโบราณในบริเวณนี้เริ่มตั้งถิ่นฐานในสมัยยุคหินใหม่ที่สัมพันธ์กับชุมชนใกล้เขตเทือกเขาทางภูมิภาคตะวันตกอีกหลายแห่งที่พบภาชนะแบบสามขาและเครื่องมือหินต่างๆ ส่วนชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็กที่พบมากทางฝั่งตะวันออกของภาคกลางในลุ่มลพบุรี-ป่าสักนั้นไม่พบในบริเวณนี้

แต่จุดเด่นในเขตภูมิวัฒนธรรมบริเวณตอนเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรีนี้คือ การอยู่ในเส้นทางติดต่อในระหว่างบ้านเมืองยุคแรกเริ่มในสมัยทวารวดีที่เมืองอู่ทองตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ และต่อเนื่องมาจนสมัยทวารวดีตอนปลายๆ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบศิลปกรรมเนื่องในพุทธศาสนามาเป็นแบบที่ได้อิทธิพลจากเมืองละโว้หรือลพบุรีที่ได้อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรสมัยบายนอย่างเด่นชัดในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ท้องถิ่นบริเวณตอนเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบันจึงเป็นซึ่งเส้นทางเชื่อมต่อและมีชุมชนโบราณในสมัยลพบุรีนี้เองที่ทำให้เห็นเส้นทางติดต่อของบ้านเมืองที่ละโว้ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ติดต่อกับบ้านเมืองใหญ่ทางฟากตะวันตกที่เมืองสุพรรณภูมิ บริเวณเมืองสุพรรณบุรี

ตำนานหรือนิทาน, ศาสนสถานและโบราณวัตถุที่สะท้อนความเป็นชุมชนเก่าแก่ของท้องถิ่น

บริเวณเหนือคลองท่าระกำขึ้นไป ชาวบ้านเล่าถึงนิทานท้องถิ่นเรื่อง “ท่าตาจวง” ที่บ้านท่าตาจวง ตำบลปงดอน ที่อยู่แนวเดียวกับบ้านวังหินและเยื้องกับบ้านย่านยาวไม่ไกลนัก โดยมีเรื่องเล่าว่า ชายคนหนึ่งชื่อว่า ตาจวง อาศัยอยู่เมืองอยุธยา มีวิชาแปลงตน มีเมียสองคน ชื่อนางอรุณเมียหลวงและนางสุวรรณเมียน้อย นางอรุณเมียหลวงแพ้ท้องอยากกินลูกสมอ ด้วยความรักเมียตาจวงจึงพาเมียทั้งสองเดินทางเข้าป่ามายังเขตเมืองสุพรรณ เมื่อเก็บลูกสมอได้แล้วก็เดินทางกลับอยุธยา แต่ระหว่างทางเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ทั้งสามวิ่งหลบฝนจนมาถึง คลองท่าระกำ ที่มีน้ำป่าไหลหลากไม่สามารถข้ามได้ ตาจวงจึงบอกกับเมียทั้งสองว่าจะแปลงร่างเป็นจระเข้ นอนขวางคลองไว้ เมื่อนางอรุณข้ามไปถึงอีกฝากหนึ่งก็ให้นางสุวรรณข้ามตามไป แล้วเอาน้ำมนต์ที่ทำขึ้น ราดบนหัวจระเข้ ร่างก็จะกลับมาเหมือนเดิม นางอรุณถือขันน้ำมนต์ข้ามไปถึงอีกฝากหนึ่งเหลือบเห็นดวงตาของจระเข้ใหญ่ เกิดความกลัวทำขันน้ำมนต์ตกลงพื้น จระเข้ตาจวงก็ไม่สามารถคืนร่างเป็นคนได้ แต่ด้วยความรักเมียทั้งสอง จระเข้ตาจวงจึงขุดถ้ำอยู่ริมสองฝังคลองนั้น ส่วนเมียทั้งสองก็อาศัยอยู่คนละฝากคลอง มีลูกมีหลานสืบเชื้อสายมาจนถึงทุกวันนี้

นิทานหรือตำนานในท้องถิ่น แม้จะเคยมีผู้จดจำเกี่ยวกับชื่อบ้านนามเมืองไว้ได้มาก แต่ปัจจุบันมีคนที่ทราบเรื่องเล่าในท้องถิ่นเหล่านี้น้อยลงเพราะการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เส้นทางน้ำและการเดินทางไปหมดแล้ว จึงแทบสูญหายไปจากความทรงจำ

เหนือขึ้นไปที่ วัดลาดสิงห์ ก็มีเรื่องเล่าสืบทอดกันว่าเคยเป็นที่พักทัพของสมเด็จพระนเรศวรฯ แต่เดิมภายรอบบริเวณวัดมีสระน้ำรายรอบ ปัจจุบันถมที่ดินไปแทบหมดแล้ว บริเวณบ้านลาดสิงห์ติดกับบ้านสระ ซึ่งพบศาสนสถานดอนทางพระ เล่ากันว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ช่างตัดผมที่ตลาดสามชุก ฝันเห็นสถานที่หนึ่งที่ดอนทางพระนี้จึงชวนกันไปทำพิธีบวงสรวงขอให้พบแล้วขุดไปพบพระพุทธรูปนาคปรกที่มีเดือยสำหรับเสียบบนแท่น รวมทั้งเทวรูปและพระพิมพ์ต่างๆ คณะจากสามชุกนำขึ้นมาได้ พบเดือยที่ฐานจึงใส่รถเข็นแล้วให้วัวลากมาประดิษฐานที่วัดใหม่คือ วัดรัตนโภคารามหรือวัดวิมลโภคาราม และกลายเป็นวัดประจำท้องถิ่นของคนในตลาดสามชุก ต่อมาชาวบ้านร้านตลาดจึงจัดพิธีเฉลิมฉลองกันใหญ่โต หลวงพ่อนาคปรกเป็นที่เคารพ นับถือของคนชาวตลาดสามชุก คนสามชุกที่ไปประกอบอาชีพต่างถิ่นเจริญรุ่งเรืองก็กลับมากราบพระทำบุญกันทุกครั้งที่กลับบ้านและในงานเทศกาลต่างๆ

ต่อจากบ้านสระคือ บ้านหนองโรง ที่วัดหนองโรงหรือ วัดหนองโรงรัตนาราม ในตำบลหนองผักนาก เดิมเป็นวัดร้างมีเจดีย์เก่าแบบอยุธยาองค์หนึ่ง ในวิหารมีพระพุทธรูปทำจากหินทรายบ้าง ปูนปั้นบ้างแบบอู่ทอง แต่ถูกตัดเป็นท่อนๆ อยู่ ๔ องค์

บ้านหนองผักนาก แต่เดิมชื่อบ้านดอนลาวแต่ไม่มีคนลาวอยู่แต่อย่างใด มีวัดโบราณและพระพุทธรูปที่เป็นพระประทานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง วัดนี้เป็นวัดใหญ่ที่มีโบสถ์หลังเก่าฐานตกท้องสำเภาซึ่งเป็นรูปแบบการก่อสร้างในสมัยอยุธยา การที่มีโบสถ์อยู่ที่วัดหนองผักนากและชาวบ้านผู้ใหญ่เล่ากันว่า วัดนี้เดิมชื่อ วัดหนองพักนาค เพราะในละแวกนี้มีวัดอยู่น้อยมาก ถึงจะมีก็เป็นวัดร้างและไม่มีพระอุโบสถให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรม โดยเฉพาะการบวชนาค จึงต้องมาบวชกันที่นี่แห่งเดียว โดยชาวบ้านในหมู่บ้านละแวกนี้จะบวชพร้อมกันที่อุโบสถวัดหนองผักนากทุกปี มีพิธีการแห่นาคมาจากบ้านกันใหญ่โต ให้นาคขึ้นบนหลังช้าง และมีคนขี่ม้าเป็นสิบๆตัว ผู้คนมากมายแห่ร่วมขบวนสนุกสนานครื้นเครงมาตลอดทาง พอมาถึงวัดก็หยุดพักที่ริมหนองน้ำหน้าวัด เตรียมแห่นาคเข้าโบสถ์ เมื่อนำนาคเข้าอุโบสถแล้วก็นำช้างและม้าไปเล่นกันที่ดอนแห่นาค ซึ่งอยู่ห่างจากวัดประมาณ ๑ กิโลเมตร เล่นล่อช้างให้ช้างไล่ม้าล้มลุกคลุกคลานกันไป

เหนือขึ้นไปจากบ้านหนองผักนาก คือ บ้านโป่งแดง ที่อยู่ริมลำน้ำโป่งแดง ซึ่งเป็นลำห้วยขวางในแนวตะวันตกตะวันออก ในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่กล่าวว่าเลยจากบ้านโป่งแดงก็เป็นป่าที่มีสัตว์ร้าย เช่น เสือชุกชุมแล้ว หมู่บ้านนี้มีลำห้วย ๓ สาย ไหลมารวมกันคือ ห้วยวังโบสถ์ ห้วยหนองเกตุ และห้วยร่องขนาน กลายเป็นคลองโป่งแดง แล้วไหลสู่ลงแม่น้ำสุพรรณที่ปากคลองโป่งแดงเหนือวัดบ้านทึง

บ้านโป่งแดงเป็นเนินชุมชนโบราณรูปวงรีขนาดราว ๑ ตารางกิโลเมตร มีร่องรอยคูน้ำล้อมรอบ ทั่วบริเวณพบเศษภาชนะดิน ภาชนะแบบขันสำริด ลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ คำบอกเล่าของกำนันโป่งแดงท่านหนึ่งกล่าวว่าเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๒ มีชาวบ้านโป่งแดงไถนาแล้วไปพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระศิวะอิศวรและศักติ พระพุทธรูปปางทานอภัย ปางห้ามญาติ เนื้อสำริดจำนวน ๙ องค์ใส่ไว้ในภาชนะคล้ายโอ่ง เป็นศิลปกรรมแบบลพบุรี ต่อมามีผู้พบพระพุทธรูปปางห้ามญาติเนื้อสำริด พระพุทธรูปเนื้อทองคำ พระพิมพ์โมคคัลลาเนื้อดินเผา แบบพิมพ์พระ ๑๑ พี่น้อง แบบพิมพ์พระโมคคัลลาและพระเครื่องดินเผาพิมพ์ต่าง ๆ ในบริเวณที่ต่างกันซึ่งเป็นแบบลพบุรีทั้งสิ้น หลักฐานสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศิวลึงค์สูงราว ๑ เมตรเศษ ฐานเป็นรูป ๘ เหลี่ยมส่วนบนกลม ปัจจุบันไม่พบหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

ที่วัดโป่งแดง ยังเก็บรักษาพระพุทธรูปแบบอู่ทองปางมารวิชัยเนื้อหินทราย หน้าอุโบสถเก่ามีเจดีย์เดิมน่าจะสร้างในสมัยเดียวกัน มีผู้ขุดพบพระเครื่องแล้วใส่ไว้ในเจดีย์ และยังพบพระพิมพ์แบบลพบุรีและที่เรียกว่าพระร่วงนั่งเนื้อชิ้นดีบุกอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีตำนานเรื่องเล่าที่เป็นความเชื่อผ่านวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนย่างกุมารทอง ขณะขุนแผนต้องโทษหนีไปพึ่งโจรหมื่นหาญที่บ้านซ่องหรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านหนองบัวหิ่ง” อยู่ทางทิศตะวันตกห่างจากบ้านโป่งแดงราว ๔ กิโลเมตร เกิดรักใคร่กับนางบัวคลี่ ลูกสาวหมื่นหาญจนตั้งครรภ์ หมื่นหาญจึง คิดฆ่าขุนแผนแต่ขุนแผนรู้ตัวก่อน จึงหาอุบายฆ่านางบัวคลี่ แล้วผ่าท้องได้ลูกเป็นชาย หนีโจรหมื่นหาญเอาลูกไปย่างไฟที่โบสถ์วัดแห่งหนึ่งแล้วเรียกว่ากุมารทอง ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์อ้างว่าขุนแผนนำเอาลูกที่เกิดกับนางบัวคลี่ ไปย่างที่โบสถ์ “วัดโป่งแดง” จนกลายเป็นเรื่องร่ำลือและจดจำวัดโป่งแดงได้แต่เพียงเป็นสถานที่ย่างกุมารทองในตำนานจนละเลยความสำคัญในการเป็นเมืองโบราณในยุคลพบุรีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งไปเสีย

พื้นที่ดอนซึ่งเป็นพื้นที่ลอนลูกคลื่นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณนี้มีกลุ่มบ้านในแนวเดียวกันที่ต่อเนื่องกับบ้านโป่งแดงซึ่งอยู่ในเขตอำเภอหนองหญ้าไซที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในการปกครองของอำเภอสามชุก คือ บ้านสระ บ้านซ่อง บ้านบัวหิ่ง บ้านหนองด่าน บ้านสระแค บ้านบ่อใหญ่ บ้านดอนกระเบื้อง บ้านดอนสูง บ้านดงมืด บ้านหนองหลวง หมู่บ้านเหล่านี้พบโบราณวัตถุทางศาสนาแบบลพบุรีเช่นเดียวกับบ้านโป่งแดง

ที่ บ้านหนองโรง มีนิทานเรื่องเล่าการแข่งกันสร้างถนนไปสู่ขอหญิงสาวชื่อนางพิมบ้านหนองโรงของชายหนุ่ม บ้านขังขอม ที่ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น บ้านคลองขอม เพราะมีเรื่องเล่าว่าสถานที่นี้เคยเอาพวกขอมมาขังไว้ และในแผนที่เก่าของกรมแผนที่ทหารฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ก็ยังเรียกว่าบ้านขังขอม

ชาวบ้านเรียกว่า “ถนนด้วน” อันเป็นแนวถนนดินโบราณที่น่าจะสร้างขึ้นเพื่อใช้ในฤดูแล้งเดินทางติดต่อกับทางฝั่งแม่น้ำสุพรรณหรืออาจจะเป็นแนวทำนบเพื่อการชลประทานและการเดินทางในยุคลพบุรีก็เป็นได้ พวกบรรทุกเกวียนมาจากบ้านป่าแถบนี้จะใช้ถนนดินโบราณเป็นการสัญจร ผ่านหนองโขง บ้านชัฎหวายหรือชักหวาย ซึ่งในโคลงนิราศของสุนทรภู่เรียกว่า “ชัฎหอม” และบ้านโป่งแดง ผ่านบ้านดอนวิเชน บ้านดอนบ้าน ดอนแห่นาคที่บ้านหนองผักนาก ผ่านดอนกลางตรงไปสู่สำแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำสุพรรณที่บ้านขังขอม ซึ่งเยื้องต่ำกว่าตำแหน่งวัดบ้านทึงลงมาเล็กน้อย

ส่วนลำน้ำที่แยกออกจากแม่น้ำสุพรรณบริเวณบ้านย่านยาวที่มีวัดบางขวาก มีเส้นทางน้ำแยกออกไปทางฝั่งตะวันออกในแผนที่เก่าเขียนว่า แม่น้ำวังลึก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มต่ำกว่าฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ มีบึงน้ำหนองน้ำหลายแห่ง บริเวณนี้น่าจะเป็นเส้นทางน้ำเก่าที่สามารถติดต่อกับชุมชนสมัยทวารวดีในเขตสิงห์บุรีและชัยนามที่อยู่ตามลำน้ำสีบัวทอง เขตนี้มีร่องรอยวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายแห่ง เช่น ที่วัดสำเภาล่ม ส่วนวัดนางพิมพ์ซึ่งเป็นวัดเก่านั้นอยู่ใกล้เส้นทางน้ำ มีหนองน้ำล้อมรอบอยู่หลายแห่ง เช่น หนองสัปปะโคน หนองปู่สาย หนองแฟบ หนองสองห้อง และเหนือวัดนางพิมพ์ไปราว ๕ กิโลเมตรคือ วัดวังลึก

เหนือย่านยาวขึ้นมาตามลำน้ำสุพรรณคือบริเวณ วัดสามชุก ซึ่งเป็นย่านบ้านสามชุก เล่าสืบกันมาว่า แม่น้ำสุพรรณตรงข้ามหน้าวัดสามชุกฝั่งตะวันตกมีท่าน้ำใหญ่สำหรับชาวบ้านนำโคกระบือลงน้ำ เกวียนล้อขึ้นลงได้สะดวก แต่ก่อนเรียกว่า “ท่ายาง” บริเวณสามชุกอยู่ทางตอนเหนือเมื่อถึงฤดูแล้งน้ำแห้งแม่น้ำขาดตอน การสัญจรทางเรือต้องรอให้ถึงหน้าน้ำเสียก่อน ชาวบ้านป่า คนลาว คนกระหรี่ยงที่อยู่ห่างจากฝั่งแม่น้ำ เอาข้าวของใส่เกวียนมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับเรือพ่อค้าทางใต้ที่ท่ายาง ซึ่งชื่อท่ายางนี้อาจจะมาจากท่าน้ำที่มีต้นยางหรือท่าน้ำที่ชาวกะเหรี่ยงหรือคนในท้องถิ่นเรียกพวกเขาว่า “ยาง” จึงกลายเป็นชื่อท่าที่ปรากฏสืบมา

คนที่ตลาดสามชุกเรียกกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณว่า “ชาวป่า” ที่ขนของป่ามาขาย หากขนข้าวมาขายก็เรียกว่า “ชาวนา” มักมาจากหนองผักนาก หนองหญ้าไซ โป่งแดง หนองราชวัตร ด่านช้างไปจนถึงบ่อพลอย เพราะในระยะเริ่มแรกเรียกบริเวณรอบนอกรวมๆ ว่าป่า เรียกชาวบ้านที่อยู่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณว่า “ชาวบ้าน” เรียกผู้ที่ที่มากับเรือ บนเรือจ้าง เรือโดยสารหรือเรือโยงว่า “ชาวเรือ” ส่วนคนในตลาดเรียกตัวเองว่า “ชาวตลาด” หรือ “คนตลาด” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีน ชาวบ้านรอบนอกก็มักเรียกว่า “เจ๊กในตลาด” โดยไม่ได้รู้สึกหรือคิดว่าเป็นการดูถูกทางชาติพันธุ์แต่อย่างไร

ถ้าครั้งใดมาถึงแล้วไม่พบกัน ฝ่ายที่มาก่อนก็ต้องรอแล้วขนถ่ายสินค้าลงกองไว้ ชาวบ้านเล่าตรงกันหลายท่านว่าเกวียนที่นำสินค้ามาขายมีมาก บางครั้งมีเกวียนมาจอดรอหลายเล่ม และหากถึงช่วงต้นหน้าฝนชาวนาไถ่นาหว่านข้าวขวางทางเกวียน คนเกวียนก็จำเป็นต้องเสียค่าเสียหายที่ทำให้นาข้าวที่หว่านไปแล้วเสียหาย ชาวบ้านป่าก็นำกระชุกซึ่งเป็นภาชนะรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดพอบรรทุกลงบนเกวียนได้ โดยทั่วไปหมายถึงภาชนะสำหรับบรรจุของ เช่น นุ่นหรือถ่านนับเป็นใบหรือลูก สานด้วยไม้ไผ่ใส่สินค้าที่นำมาเก็บไว้ในกระชุกของตนเพื่อรอค้าขายกับพ่อค้าทางเรือ จากกระชุกที่มีอยู่มากมายผู้ใหญ่หลายท่านจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่มาของชื้อบ้านว่า “สามชุก” นั่นเอง

ที่วัดสามชุกมีอาคารมณฑปเก่าประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสี่รอย หน้ามณฑปมีหงส์สัมฤทธิ์ ๑ คู่ ที่ถูกนำมาเก็บรักษาไว้แล้ว การปิดทองรอยพระพุทธบาทเป็นงานประจำปีของชาวบ้านสามชุก พระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาเคยอยู่ในมณฑปนั้น ต่อมาชาวบ้านจึงนำมาบูรณะเพื่อเป็นพระประธานบนศาลการเปรียญ หลวงพ่อธรรมจักร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่กับวัด มีผู้กล่าวเดิมหลวงพ่อธรรมจักรเป็นพระพุทธรูปที่พระอาจารย์ธรรมโชติวัดเขาขึ้น สร้างไว้แล้วย้ายมาอยู่ที่วัดสามชุก

ย่านบ้านสามชุกและวัดสามชุกนี้จึงน่าจะเป็นบ้านเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับทางวัดนางพิมพ์ทางฝั่งคลองบางขวากหรือคลองวังลึกและเหนือขึ้นไปที่บ้านทึง

ในแผนที่ซึ่งสำรวจในราว พ.ศ. ๒๔๖๐ ลงตำแหน่งไว้ว่า จากย่านบ้านสามชุกคือบ้านสามเพ็งซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอนางบวช ต่อไปคือบ้านชักหวาย วัดคลองขอม บ้านหินดาด ปากคลองบ้านโป่งแดง ฝั่งตรงข้ามที่เยื้องมาเล็กน้อยคือวัดบ้านทึง สลับกันฝั่งตรงข้ามคือปากน้ำของลำคลองกระเสียวที่มีบ้านโป่งแดง ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปตามลำน้ำและเหนือขึ้นไปตามลำน้ำในฝั่งเดียวกันคือวัดบางแอกและวัดโพธิ์ลังกา

วัดบ้านทึงเป็นย่านบ้านใหญ่และคงมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะทั้งตำนานเรื่องท้าวอู่ทองและศาสนสถานภายในวัดตลอดจนวัดร้างที่อยู่โดยรอบ เช่น วัดโพธิ์เงินโพธิ์ทองหรืออาจเป็นวัดโพธิ์ลังกา รวมทั้งวัดบางแอกที่อยู่ใกล้เคียงก็บ่งบอกถึงความเป็นมาดังกล่าว

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

วัดบ้านทึงใกล้กับปากน้ำกระเสียวที่ไหลมาจากที่สูงในเขตเทือกเขาตะนาวศรี เป็นที่มาของคำสำคัญในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่คือ “น้ำสำคัญ ป่าต้น คนสุพรรณ” อันหมายถึงย่านน้ำกระเสียวที่ไหลมารวมบริเวณปากน้ำที่ย่านบ้านทึง

นอกจากนี้ ย่านบ้านทึงยังใกล้กับปากลำน้ำกระเสียวที่ไหลมาจากที่สูงในเขตเทือกเขาตะนาวศรีอันเป็นเส้นทางติดต่อทางน้ำที่สำคัญสู่ชุมชนบ้านป่าในเขตภายใน และเป็นที่มาของคำสำคัญในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่คือ “น้ำสำคัญ ป่าต้น คนสุพรรณ” อันหมายถึงย่านน้ำกระเสียวที่ไหลมารวมบริเวณปากน้ำที่ย่านบ้านทึงนี่เอง

นิทานที่บ้านทึงในนิราศสุพรรณเล่าถึง ท้าวอู่ทองใช้เกวียนเดินทางมาถึงทุ่งบ้านทึง เกวียนแอกหักก็มาขอเชือกหนังเพื่อซ่อมแอกแต่ชาวบ้านไม่ยอมให้ ขอฟางข้าวให้วัวกินชาวบ้านก็ไม่ยอมให้อีก ท้าวอู่ทองจึงเรียกพวกบ้านขี้ทึ้ง ที่น่าจะแปลว่าขี้เหนียว ต่อมาเรียกเป็น “บ้านทึง” ส่วนตำนานที่เล่ากันติดที่ในท้องถิ่นมีอยู่ว่า ท้าวอู่ทองนำขบวนเกวียนผ่านมายังวัดบ้านทึง แอกเกวียนหักลงจึงหยุดพักไปขอฟางมาให้วัวกินและขอหนังควายแห้งมาซ่อมแซม แต่คนที่บ้านนี้ไม่ให้ ท้าวอู่ทองเลยอธิฐานขอให้นกกระจอกและอีกาไม่มากินข้าวของพวกบ้านขี้ทึ้งนี้อีกต่อไป คงให้สมกับเป็นบ้านคนขี้เหนียวจนแม้แต่นกกาก็ยังเงียบเสียงเพราะไม่มีความเมตตาเผื่อแผ่ผู้ใด

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“วัดบางแอก” ร้าง มีตำนานเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับ้าวอู่ทอง พ่อค้าเกวียนที่ทำแอกเกวียนหักที่บ้านทึง

บริเวณที่แอกมาหักลงเรียกว่า “วัดบางแอก” และสร้างวัดขึ้นอีกวัดชื่อ “วัดรอ” เหนือวัดบ้านทึงขึ้นมาเล็กน้อย ปัจจุบันทั้ง ๒ วัดกลายเป็นวัดร้างเหลือแต่รากฐานอาคาร วัดบางแอกเมื่อจะขยายถนนสี่เลนสาย ๓๐๔ กำหนดให้ต้องไถวัดร้างบางแอกนี้ทิ้งไปก็พบหางเสือเรือสำเภาขนาดย่อมๆ ที่เก็บรักษาไว้ที่สำนักงานชลประทานประตูน้ำชลมาร์คพิจารณ์ อีกทั้งมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดอุบัติเหตุแก่คณะทำทางจนต้องบวงสรวงและตัดถนนเบี่ยงแนวเดิม ทุกวันนี้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนิยมมาบนบานขอพรด้วยหาบขนมจีนและไหว้พระพุทธรูปที่ขุดได้จากวัดบางแอกกันใหญ่โต

ชาวบ้านเล่าว่าเดิมบริเวณพื้นที่วัดบ้านทึงมีวัดร้างอยู่สองวัดต่อกันคือ วัดโพธิ์เงินและวัดโพธิ์ทองหรืออาจจะเป็นวัดโพธิ์ลังกาในแผนที่เก่าครั้ง พ.ศ.๒๔๖๐ ภายในวัดบ้านทึงที่ไปจนถึงถนนใหญ่และแม่น้ำสุพรรณ มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์หรือพระนอน วิหารโบราณและหอไตรสมัยอยุธยา ซึ่งมีรูปแบบอาคารขนาดเล็กที่นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยาตอนปลาย พบเห็นในแถบสิงห์บุรีและอ่างทอง เช่น ที่พระตำหนักคำหยาดในอำเภอแสวงหา วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติที่บางระจัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกุฏิไม้อายุกว่า ๑๐๐ ปี หลายหลัง สภาพแวดล้อมสงบร่มรื่น มีต้นไทรใหญ่ ต้นกร่าง ต้นลั่นทมอายุมากสมกับที่เป็นวัดโบราณของท้องถิ่น
จากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่บริเวณบ้านทึงเป็นจุดเชื่อมต่อกับคลองกระเสียว จึงเป็นสามแยกที่รวมเอาผู้คนและตลาดการค้าไว้ในบริเวณนี้มาแต่โบราณ เพราะเส้นทางที่ติดต่อกับพื้นที่ใกล้เชิงเขานั้นใช้ลำคลองกระเสียวที่สบกับแม่น้ำสุพรรณบริเวณบ้านทึงในระยะทางประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านเชิงเขา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ถือว่าเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติและของป่า นับเป็นเส้นทางค้าขายสำคัญมาแต่โบราณ นอกจากนี้ ยังมีลำน้ำลำห้วยสายเล็กสายน้อยไหลจากเขตที่สูงทางเทือกเขาฝั่งตะวันตกไหลมาลงแม่น้ำสุพรรณโดยเฉพาะบริเวณเหนือบ้านทึงขึ้นไป

ตำนานเรื่องท้าวอู่ทองนั้น ปรากฏอยู่ทั่วไปในเขตที่ราบภาคกลาง มักสัมพันธ์อยู่ในเส้นทางเดินทางทั้งทางบกและทางน้ำในช่วงยุคสมัยอยุธยาลงมาที่มีการติดต่อค้าขาย และตำนานเรื่องท้าวอู่ทองในหลายแห่งก็มักสัมพันธ์กับการค้าขาย คนจีนและการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายการค้าระยะทางไกล

อีกทั้งในบริเวณท้องถิ่นย่านนี้ไปจนจรดเขตชัยนาทและลพบุรีจะมีนิทานท้องถิ่นทำนองเรือสำเภาล่มหรือการแข่งขันกันสร้างทางเพื่อแห่ขันหมากขอลูกสาวชาวบ้าน ซึ่งปรากฏเป็นตำนานเมืองละโว้หรือลพบุรีด้วย ตำนานหรือนิทานประจำถิ่นที่เกี่ยวกับภูมิวัฒนธรรมของบ้านเมืองและภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนนั้นเป็นเนื้อเรื่องหลักแบบนิทานตาม่องล่ายทางแถบชายทะเลในอ่าวไทย

ถือเป็นตำนานนิทานที่เกี่ยวพันกับการเข้ามาของคนกลุ่มใหม่ที่ถูกมองว่าเป็นคนจีนจากโพ้นทะเลและการเดินทางค้าขายไปยังสถานที่ต่างๆ ในนามของท้าวอู่ทอง การใช้เรือสำเภา และการสู่ขอหญิงสาวชาวบ้านหรือการแข่งขันกันระหว่างชายหนุ่มในท้องถิ่นและชายพ่อค้า เป็นต้น

โดยเนื้อเรื่องเหล่านี้มักปรากฏในท้องถิ่นที่มีการตั้งถิ่นฐานชุมชนมาตั้งแต่สมัยลพบุรีต่อกับยุคต้นกรุงศรีอยุธยา และดังที่พบในท้องถิ่นสามชุกนี้นั่นเอง