วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

บ้านเมืองในคาบสมุทรสยามกำเนิดจากการค้าข้ามภูมิภาคระหว่างสองฝั่งทะเลคือ “อันดามัน” ฟากตะวันออกและ “อ่าวไทย” ฟากตะวันตก ทิ้งร่องรอยในวัฒนธรรมทั้งความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้มาเยือนจากโพ้นทะเลทั้งทางฝั่งอินเดียไปจนถึงโรมันและชาวจีน ผ่านทางนักเดินเรือท้องถิ่นผู้ชำนาญรู้จักคลื่นลมทะเลมานานนับศตวรรษก่อนหน้านั้น เป็นทั้งพ่อค้าผู้สร้างเครือข่ายการกระจายสินค้าร่วมกับนำพานักบวชและความเชื่อจากอนุทวีปแพร่เข้าสู่ชุมชนต่างๆ จนมีพัฒนาการเกิดเป็นบ้านเมืองในระดับนครรัฐเกิดขึ้นหลายแห่ง

จากหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งปรากฎหลักฐานในช่วงหลังมานี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถกำหนดช่วงเวลาที่มีการเคลื่อนไหวของชุมชนโพ้นทะเลที่สัมพันธ์กับผู้คนท้องถิ่นในบริเวณคาบสมุทรสยามตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมาจนถึงสทิงพระทางฝั่งอ่าวไทยและกระบุรีไปจนถึงภูเก็ตและตรังทางฝั่งอันดามันตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว ๕๐๐ ปีก่อนคริสต์กาลหรือพุทธศตวรรษที่ ๑ ซึ่งเป็นอายุคาบเกี่ยวหรืออยู่ในช่วงร่วมสมัยกับยุคพุทธกาลก่อนหรือหลังสองสามร้อยปี 

บันทึกเอกสารจีนในยุคจักรพรรดิ์ฮั่นหวู่ตี้ (๑) ปกครองจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นช่วงพุทธศตวรรษที่ ๔ ผู้ครองราชย์อย่างยาวนานและทำสงครามสร้างความเป็นปึกแผ่นเปิดเส้นทางค้าขายหรือเส้นทางสายไหมติดต่อกับตะวันตกรวมไปถึงการบุกเบิกค้าทางทะเลในโดยมีบันทึกว่าส่งราชสาน์สไปถึงอินเดียหรือบ้านเมืองทางฝั่งอ่าวเบงกอลเพื่อเสาะหาสินค้ามีค่ามาขายในเมืองจีน เช่น ไข่มุกหรือเครื่องประดับแก้วหินมีค่าแบบโรมันหรือที่พบว่าผลิตขึ้นตามชุมชนชายฝั่งในยุคนี้หลายแห่ง เช่น ที่เขาสามแก้ว อำเภอเมือง ท่าม่วงในอำเภอท่าชนะ และเขาเสกในอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ทางฝั่งอันดามัน เช่น ควนลูกปัดที่คลองท่อม ภูเขาทองที่คลองบางกล้วยในจังหวัดระนอง ส่วนสินค้าของป่าจากเทือกเขาบริเวณใกล้เขตศูนย์สูตรถือเป็นสินค้าท้องถิ่น เช่น พวกกำมะถัน นอแรด ไม้กฤษณา ไม้ธูปหอม ขี้ผึ้ง เป็นต้น 

ตามแหล่งโบราณคดีในยุคแรกริ่มดังกล่าวนี้ก็พบภาชนะดินเผาแบบราชวงศ์ฮั่น (พุทธศตวรรษที่ ๔-๘) เครื่องปั้นดินเผาสีดำและแดงขัดมันแบบอินเดียในยุคก่อนประวัติศาสตร์แบบยุคเหล็ก และค่าอายุจากการกำหนดทางวิทยาศาสตร์ที่เขาสามแก้วอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑-๓ ถือได้ว่าอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงและสอดคล้องกัน ส่วนบ้านเมืองภายในทางตะวันตกของบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาทางแถบดอนตาเพชรและอู่ทอง รวมถึงชุมชนในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่มีอิทธิพลจากการค้าของกลุ่มพื้นเมืองจากชายฝั่งทะเลตอนกลางของเวียดนามที่เรียกว่าวัฒนธรรมแบบซ่าหวิงห์ [Sa Huỳnh] ซึ่งเป็นนักเดินเรือทะเลที่สำคัญซึ่งช่วงอายุโดยทั่วไปอยู่ที่พุทธศตวรรษที่ ๑-๓ เช่นกัน วัฒนธรรมเหล่านี้แพร่ไปถึงหมู่เกาะในฟิลิปปินส์และชายฝั่งคาบสมุทรสยามเช่นกัน 

รัฐฟูนันมีพัฒนาการช่วงกว้างๆ อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑-๑๑ [500BCE.-500CE.] บริเวณแผ่นดินภายในของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามในปัจจุบัน เช่นออกแอว ดงทาปและพบอีกกว่า ๘๐ แห่ง และที่บาพนม อังกอร์เบอเรย ในกัมพูชา อู่ทองและชุมชนบริเวณเกาะสุมาตราและคาบสมุทรสยาม-มลายู แต่จากการกำหนดอายุจากเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดค้นบริเวณอังกอร์เบอเรย (๒) การอยู่อาศัยที่อังกอร์เบอเรยนั้นกำหนดให้แคบลงคือช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑-๗ หลังจากนั้นคือช่วงเวลาของการค้าจากอินเดียในสมัยราชวงศ์ก่อนปัลลวะซึ่งมาพร้อมกับการเผยแพร่ศาสนาฮินดูและพุทธเถรวาท ต่อมาคือราชวงศ์ปัลลวะร่วมสมัยกับราชวงศ์ถังที่มีความชัดเจนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา เกิดบ้านเมืองที่เรียกว่าสมัยทวารวดีในบริเวณภาคกลางและภาคอีสานของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

ในขณะเดียวกันทางบริเวณคาบสมุทรสยามก็ปรากฎ “ตามพรลิงค์” นครรัฐที่ร่วมสมัยกับ “ไชยา” เป็นบ้านเมืองที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลักที่น่าจะเป็นรัฐฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในคาบสมุทร ซึ่งน่าจะเริ่มตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ สืบมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ พบหลักฐานโบราณศาสนาวัตถุที่เกี่ยวกับศาสนาฮินดูเป็นหลักแตกต่างไปจากนครรัฐที่ไชยาซึ่งปรากฎร่องรอยพุทธศาสนาแบบมหายานและฮินดูไปพร้อมกัน จนล่วงเข้าสู่ตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ก็เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนามหายานและเถรวาทแบบลังกาวงศ์ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐตามพรลิงค์เปลี่ยนมาเป็น “นครศรีธรรมราช”

กลุ่มชุมชนฮินดูในรัฐตามพรลิงค์

การทำงานทางโบราณคดีโดย ผู้สนใจ นักวิชาการทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร รวมทั้งนักวิชาการท้องถิ่นที่ศึกษาโบราณสถานโบราณวัตถุที่แถบนี้และเรื่องรัฐตามพรลิงค์มาตั้งแต่ครั้งปลายรัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน สรุปเป็นข้อมูลของกลุ่มพื้นที่ซึ่งมีเทวสถานหรือวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดูปรากฎอยู่ เช่น เทวรูป ศิวลึงค์ ฐานโยนิ ชิ้นส่วนเสาประดับกรอบประตูและฐานรองเสา ส่วนมากทำจากหินแกรนิต โบราณสถานบางแห่งมีการผสมผสานกับความเชื่อแบบพุทธมหายานหรือเถรวาทในเวลาต่อมา จากข้อมูลดังกล่าวทำให้แยกออกเป็นกลุ่มพื้นที่ได้ดังนี้ไนส์การทำงานทางโบราณคดีโดย ผู้สนใจ นักวิชาการทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร รวมทั้งนักวิชาการท้องถิ่นที่ศึกษาโบราณสถานโบราณวัตถุที่แถบนี้และเรื่องรัฐตามพรลิงค์มาตั้งแต่ครั้งปลายรัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน สรุปเป็นข้อมูลของกลุ่มพื้นที่ซึ่งมีเทวสถานหรือวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดูปรากฎอยู่ เช่น เทวรูป ศิวลึงค์ ฐานโยนิ ชิ้นส่วนเสาประดับกรอบประตูและฐานรองเสา ส่วนมากทำจากหินแกรนิต โบราณสถานบางแห่งมีการผสมผสานกับความเชื่อแบบพุทธมหายานหรือเถรวาทในเวลาต่อมา จากข้อมูลดังกล่าวทำให้แยกออกเป็นกลุ่มพื้นที่ได้ดังนี้

แผนที่แสดงที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีที่พบกลุ่มวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดู ในบริเวณซึ่งอนุมานว่าคือรัฐตามพรลิงค์

กลุ่มขนอม-สิชล

วัดเจดีย์หลวง ในอำเภอขนอมอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มและห่างชายฝั่งราว ๖ กิโลเมตร ซึ่งท่านพุทธทาสเคยมาสำรวจ พบฐานโยนีที่ชาวบ้านในท้องถิ่นกล่าวว่าถูกนำไปจากวัดเจดีย์หลวง อำเภอขนอม ปัจจุบันประดิษฐานไว้ที่วัดนันทาราม อำเภอปากพนัง แต่ข้อมูลจากวัดนันทารามกล่าวอ้างว่านำมาจากเทวสถานที่เขาคา และส่วนประกอบเทวสถานทั้งที่มีลวดลายบางส่วนและเรียบเกลี้ยงทำจากหินแกรนิตและหินปูนเป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนทำจากหินดินดานหรือหินเชล (Shale) ซึ่งแตกต่างไปจากกลุ่มโบราณแบบฮินดูส่วนใหญ่ 

ชิ้นส่วนคานแกะเป็นบัวหัวเสาทำจากหินแกรนิต ซึ่งพบมากเป็นส่วนประกอบของเทวสถานแบบฮินดูในบ้านเมืองแถบคาบสมุทรทั้งสองฝั่งทะเล อนึ่ง กลุ่มหินแกรนิตนี้มักพบร่วมไปกับสายแร่ดีบุกตามเทือกเขาชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน

เขาจอมทองและทุ่งพลีเมือง กลุ่มโบราณสถานในแถบนี้สัมพันธ์กับต้นน้ำคลองสิชลและลำน้ำสาขา โดยมีพื้นที่ราบลุ่มและภูเขาจอมทองเป็นจุดหมายสำคัญ ที่วัดจอมทองพบเทวรูปพระวิษณุสี่กรสวมหมวกแขกแบบลอยตัว สภาพแขนชำรุดอายุในรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ และพระพุทธรูปประทับยืนจีวรริ้วแบบอมราวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ กรอบธรณีประตูมีอักษรปัลลวะ พระพิมพ์ดินเผาจำนวนมาก นอกจากนี้บริเวณฝั่งตะวันออกของเขาจอมทองซึ่งเป็นเขาหินปูน ด้านทุ่งพลีเมือง มีถ้ำซึ่งพบศิวลึงค์ทองคำรองด้วยผอบเงินขนาดเล็กใส่ไว้ในแท่นหินและอิฐจำนวน ๔ องค์ โดยมีอิฐก่อหุ้มอยู่ รูปแบบทั้งการก่ออิฐหุ้มและศิวลึงค์ทองคำ คล้ายกับการประดิษฐานศิวลึงค์ทองคำภายในโบราณสถานที่ออกแอวในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งถือว่าเป็นเมืองในวัฒนธรรมแบบฟูนัน รวมทั้งพระพุทธรูปประทับยืนแบบอมราวดีในรูปแบบเดียวกันก็พบที่ออกแอวเช่นกัน

พระวิษณุขนาดเล็กและไม่ได้ถือสังข์ที่พระหัตถ์ซ้าย นุ่งผ้ายาวน่าจะได้รับอิทธิพลแบบคุปตะและหลังคุปตะ อายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เช่นกัน และเป็นงานท้องถิ่น พระวิษณุสวมหมวกแขกจากตำบลฉลองอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

วัดนาขอม (ร้าง) อยู่ใกล้ลำน้ำสาขาของคลองสิชล เคยเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มาก่อน กลางเนินโบราณสถานพบศิวลึงค์ถึง ๕ องค์ มีขนาดและรูปแบบต่างกัน รวมทั้งฐานพบโยนิ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เคยมาสำรวจเมื่อก่อน พ.ศ. ๒๕๑๑ กล่าวว่าเป็น “ดงศิวลึงค์” ต่อมาถูกทำลายทิ้งจนไม่เหลือสภาพ ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ตั้ง อบต.สิชล

กลุ่มเขาคา คลองท่าทน คลองท่าลาด และคลองกลาย

เทวสถานที่เขาคา นับว่าเป็นกลุ่มอาคารแบบฮินดูที่มีโครงสร้างของฐานอาคารขนาดใหญ่กว่ากลุ่มเทวสถานแบบฮินดูอื่นใดในนครรัฐตามพรลิงค์ มีจำนวนอาคารหลายหลังติดต่อกันตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดย่อมๆ ซึ่งมีการประดิษฐานรูปเคารพและแท่นรองเทวรูปหรือศิวลึงค์สำหรับทำพิธีกรรมพร้อมทั้งสระน้ำสำหรับเพื่อใช้ในพิธีกรรม โดยมีแท่นหินสำหรับอรรธจันทร์ เสาประดับกรอบประตู และฐานรองหลุมเสาทำจากหินแกรนิต แท่นรองศิวลึงค์แบบที่พบที่พระสยมและศิวลึงค์ทำจากหินปูน ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานทำจากอิฐดินเผา ส่วนชุมชนในอาณาบริเวณนี้น่าจะเป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นเมืองภายใต้การปกครองของรัฐตามพรลิงค์ที่สำคัญ โดยทางตอนเหนือมีกลุ่มชุมชนที่เขาพรงและคลองท่าทน บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับเขาคา กลุ่มคลองท่าลาด และกลุ่มชุมชนริมฝั่งคลองกลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะพบเนินโบราณสถาน ศิวลึงค์ เทวรูปพระวิษณุ และชิ้นส่วนฐานอาคารหรือเสาประดับกรอบประตูที่ทำจากหินแกรนิตและหินปูน

โบราณสถานบนเขาคา

ชิ้นส่วนประกอบศาสนสถาน เช่นหลุมรองเสา แท่นโยนิและศิวลึงค์ จากเขาคา

กลุ่มเทวสถานที่ท่าศาลา

บริเวณลุ่มน้ำคลองสูงใกล้กับปากน้ำที่ท่าศาลา พบกลุ่มอาคารที่น่าจะเคยเป็นเทวสถานมาก่อนที่ ศาสนสถานตุมปัง ปัจจุบันอยู่ในบริเวณของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นอาคารก่ออิฐจำนวน ๔ หลังล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและพบชิ้นส่วนเสากรอบประตูมีลวดลาย พระพุทธรูปสำริดในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ส่วนบนของเทวรูปที่กลายาเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ส่วนบริเวณเกาะพระวิษณุที่อยู่ไม่ไกลนั้น พบเทวรูปพระวิษณุ ๒ องค์ ขนาด ๖๘ ซม. และ ๕๒ ซม. ที่มีการกำหนดอายุแบบประเมินว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓   

โบราณสถานที่น่าจะเป็นเทวสถานมาแต่เดิมที่ตุมปัง และโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

อีกแห่งหนึ่งคือบริเวณใกล้กับปากน้ำพยิงห่างจากกลุ่มโบราณสถานที่ตุมปังมาทางใต้ราว ๑๐ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ ศาสนสถานโมคลาน ตั้งอยู่บนสันทรายเก่า ห่างจากปากพยิงซึ่งเป็นป่าชายเลนราว ๕ กิโลเมตร แต่เดิมน่าจะเป็นเทวสถานแบบฮินดู ต่อมาจากจึงถูกปรับให้เป็นพุทธสถานในช่วงต่อมา พบแนวเสาหิน หินแกะสลักรอบประตู อาคารธรณีประตูทำจากหินแกรนิตจำนวนมาก ชิ้นส่วนของโยนิ แท่นเทวรูป และศิวลิงค์  พื้นที่โดยรอบมีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ ๓ แห่ง และห่างไปราว ๑ กิโลเมตรบันทึกไว้ว่าพบเหรียญเงินแบบฟูนันที่น่าจะเป็นรูปพระอาทิตย์หรือศรีวัตสะจำนวนมาก น่าเสียดายที่ปัจจุบันสภาพของโมคลานไม่สมบูรณ์ดังที่เคยมีการบันทึกไว้ในเอกสารต่างๆ ถือเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่และคาดว่าน่าจะเป็นเมืองสถานีการค้าของรัฐตามพรลิงค์อีกแห่งหนึ่ง

กลุ่มเมืองพระเวียงและคลองท่าเรือ

ตามแนวสันทรายใหม่จากปากพยิงมาถึงเมืองพระเวียงและคลองท่าเรือศูนย์กลางของตามพรลิงค์ราว ๒๐-๒๕ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ราบลุ่มและพื้นที่น้ำท่วมถึง มีลำน้ำจากเทือกเขาหลวงไหลผ่านสันทรายมาออกทะเลหลายสาย ที่สำคัญเพราะต่อเนื่องมาจากช่องเขาแก้วและเมืองที่จันดี เป็นเส้นทางสินค้าข้ามช่องเขามาออกทะเล จากทิศเหนือลงมาคือ “คลองปากนคร” จากย่านเมืองไปออกทะเล “คลองบางใหญ่” ต่อจากคลองเขาแก้วผ่านลานสกามายังคลองท่าเรือไปออกทะเลและมีเส้นทางติดต่อกับคลองปากนคร มีร่องรอยของการขุดคลองซอยคลองลัดมากมาย

บริเวณเมืองพระเวียงแต่ดั้งเดิมน่าจะมีเทวสถานแบบฮินดูอยู่หลายแห่งจากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น แต่เมื่อมีการอยู่อาศัยหลายยุคสมัยจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นวัดทางพุทธศาสนา ส่วนหลักฐานสำคัญที่อยู่นอกเมืองใกล้กับพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชคือ “ฐานพระสยม” ที่เป็นเทวสถานฮินดูของของพระอิศวร พบฐานอาคารที่มีแท่นโยนิและศิวลึงค์รวมทั้งช่องน้ำโสมสูตร และแท่งหินประกอบอาคารทำจากหินแกรนิตจำนวนหนึ่ง ดูเป็นเทวสถานที่มีการใช้งานต่อเนื่องสืบมาจนกระทั่งเข้าสู่ความเป็นเมืองนครศรีธรรมราชที่มีการสร้างทั้งพระบมธาตุและเทวสถานสำคัญนอกเมือง และเมื่อมีการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นในระดับเมืองเจ้าพระยามหานครของกรุงศรีอยุธยาและเมืองเจ้าประเทศราชของกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับจึงมีการสร้างหอพระวิษณุและหอพระอิศวรตลอดจนการสร้างเสาชิงช้าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในงานพิธีกรรมและพระราชพิธีที่ปรากฏในตำแหน่งปัจจุบัน

แท่นโยนิและศิวลึงค์ที่พระสยม เมืองนครศรีธรรมราช

ต่ำจากเมืองพระเวียงมาทางใต้ราว ๓ กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากแถบเมืองจันดีและช่องเขาแก้วมายังลานสกา ไปยังคลองปากนครและออกสู่ปากน้ำชายฝั่งทะเล คลองท่าเรือนี้คงเป็นชุมชนสถานีการค้าสำคัญมาแต่ดั้งเดิม เพราะพบมโหระทึกที่บ้านเกตุกายและเครื่องถ้วยในยุคต่อๆ มาอีกจำนวนมาก รวมทั้งมีกลุ่มชุมชนฮินดูบริเวณสองฝั่งของคลองท่าเรือที่สำคัญ พบโบราณสถานส่วนประกอบของอาคารเทวสถานพวกหินกรอบประตู คานทับหลังที่สลักลวดลาย บัวหัวเสาแท่นฐานแกะประดับรูปบัวทำจากหินแกรนิต และบริเวณวัดเพรงที่อยู่ทางตะวันออกใกล้เชิงเขาหลวงและช่องเขาแก้วก็พบพระวิษณุองค์เล็กถือสังข์ที่สะโพกด้านซ้าย รูปแบบใกล้เคียงกับพระวิษณุที่พบจากวัดศาลาทึง ไชยา และชิ้นส่วนกรอบประตูทำจากหินแกรนิต  

ศิวลึงค์ขนาดเล็กทำจากทองคำบนแท่นฐานโยนิทำจากสำริดใส่ไว้ในผอบทำจากเงินแล้วก่อหุ้มด้วยอิฐ พบภายในถ้ำจอมทอง ทุ่งพลีเมือง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณอำเภอสทิงพระในจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นพื้นที่สันทรายเก่าฝั่งด้านนอกของทะเลสาบสงขลา แม้จะไม่สัมพันธ์กับภูมิศาสตร์สันทรายเดิมของตามพรลิงค์ แต่ก็อยู่ทางชายฝั่งอ่าวไทยและมีเส้นทางข้ามคาบสมุทรทางช่องเขาบรรทัดทางฝั่งพัทลุงสู่ชายฝั่งทะเลในจังหวัดตรัง สถานที่สำคัญใน คาบสมุทรสทิงพระ ที่เป็นศาสนสถานฮินดูคือ ถ้ำหินปูน “เขาคูหา” ที่ต่อเนื่องกับเขาพะโคะ เป็นถ้ำที่มีการขุดเพิ่มเติมขยายขนาดให้กว้างขึ้น ๒ ถ้ำเพื่อใช้ทำพิธีกรรม ภายในพบแท่นโยนิ และที่บ้านพังเภาก็พบฐานโยนิ พระคณปติหรือพระพิฆเนศ พระวิษณุสวมหมวกแขกแบบท้องถิ่น พระศิวะพระโพธิสัตว์ที่บ้านปะโอ ร่วมทั้งโบราณวัตถุอันแสดงถึงการเป็นแหล่งทำการค้าโพ้นทะเลอีกมาก เช่นเครื่องถ้วยและเหรียญอาหรับเป็นต้น จึงเป็นกลุ่มชุมชนใกล้ชายฝั่งทะเลในคาบสมุทรสทิงพระที่เป็นฮินดูกลุ่มใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ร่วมสมัยกับรัฐตามพรลิงค์และอาจจะอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐตามพรลิงค์ด้วย 

อัตลักษณ์ของพระวิษณุแห่งตามพรลิงค์

ในกลุ่มเทวรูปที่โดดเด่นและมีจำนวนมากกว่าเทพองค์อื่นในรัฐตามพรลิงค์คือ “พระวิษณุ” ซึ่งมีสี่พระกรโดยปกติแต่จะหักหายไปตามสภาพบ้าง นักวิชาการพิจารณาและลงความเห็นมานานแล้วว่าเทวรูปต่างๆ ที่ปรากฎในคาบสมุทรนั้นทำขึ้นในท้องถิ่น หมายถึงไม่ได้นำมาจากอินเดียแต่อย่างใด และแน่นอนได้รับอิทธิพลจากงานช่างร่วมสมัยหรือจากวัฒนธรรมของบ้านเมืองที่จากมา 

นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องเทวรูปฮินดูจากคาบสมุทรสยาม แสตนลีย์ เจ. โอ’คอนเนอร์ จูเนียร์ (๓) สรุปจากการศึกษาว่า เทวรูปในศาสนาฮินดูที่พบบริเวณคาบสมุทรสยามนี้ไม่น่าจะที่มีการนำเข้าจากอินเดีย โดยสรุปอาจแบ่งกลุ่มที่สำคัญหลักๆ อยู่ ๒ กลุ่มคือ

๑. พระวิษณุอันเป็นกลุ่มที่เป็นอัตลักษณ์พิเศษและพบจำนวนหลายองค์ในบริเวณคาบสมุทรสยาม ซึ่งไม่เข้าพวกกับพระวิษณุกลุ่มอื่นๆ เพราะมีองค์เล็กสูงในราวระหว่าง ๖๐-๙๐ เซนติเมตร และ “ถือสังข์ที่พระหัตถ์ซ้ายด้านล่างในระดับเอว” ส่วนด้านบนน่าจะถือไม่เป็นจักรก็เป็นดอกบัวหรือก้อนดินพระหัตถ์ขวาถือคทาและหัตถ์ด้านหน้าทำปางประทานอภัยที่เป็นรูปแบบมถุรา ที่โดดเด่นคือพระวิษณุจากวัดศาลาทึง ไชยา ที่สวมหมวกทรงสูงมีลวดลาย สวมเครื่องประดับต่างหูยาวเป็นพวง สร้อย และกรองศอและกำไลแขน นุ่งผ้านุ่งยาวและมีริ้วชายผ้าตกยาว คล้ายกับการนุ่งผ้าแบบอมราวดี มีผ้าคาดเอวและวงโค้ง ซึ่งโอ’ คอนเนอร์ประเมินว่าน่าจะเป็นพระวิษณุที่มีอายุเก่าที่สุดในคาบสมุทรสยาม อายุที่ประเมินไว้ไม่ต่ำกว่าคริสต์ศตวรรษที่ ๔ หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ รูปแบบเครื่องแต่งกายของพระวิษณุองค์นี้คล้ายคลึงกับพระวิษณุจากวัดพระเพรง เมืองนครศรีธรรมราช พระวิษณุที่หอพระนารายณ์และพระวิษณุจากท่าศาลา ซึ่งพบว่ารูปแบบและประติมานวิทยาของพระวิษณุในท่าทางถือสังข์ด้วยพระหัตถ์หน้าซ้ายและสวมผ้านุ่งยาวและสวมหมวกทรงกระบอกนี้คล้ายกับที่พบจากออกแอวในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และพระวิษณุจากตาแก้วในกัมพูชา

พระวิษณุที่เป็นอัตลักษณ์พิเศษองค์เล็กสูงในราวระหว่าง ๖๐-๙๐ เซนติเมตร “ถือสังข์ที่พระหัตถ์ซ้ายด้านล่างในระดับเอว” ส่วนด้านบนน่าจะถือไม่เป็นจักรก็เป็นดอกบัวหรือก้อนดินพระหัตถ์ขวาถือคทาและหัตถ์ด้านหน้าทำปางประทานอภัยที่เป็นรูปแบบมถุรา ด้านซ้ายคือพระวิษณุจากวัดศาลาทึง ไชยา ด้านขวาจากคือพระวิษณุจากวัดพระเพรง เมืองนครศรีธรรมราชอายุที่ประเมินไว้ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑  
พระวิษณุถือสังข์ที่พระหัตถ์ซ้ายด้านล่างในระดับเอวอันเป็นอัตลักษณ์รูปแบบเดียวกัน ด้านซ้ายพบที่หอพระนารายณ์ นครศรีธรรมราช ด้านขวาพบที่วัดตาเณร (ร้าง) อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระวิษณุถือสังข์ที่พระหัตถ์ซ้ายด้านล่างในระดับเอว ด้านซ้ายพบจากตาแก้วในกัมพูชา และด้านขวาพบที่ออกแอวในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

โอ’คอนเนอร์ ให้ความเห็นโดยการเปรียบเทียบพระวิษณุจากไชยากับรูปแบบเทวรูปแบบมถุราในราชวงศ์กุษาณะ ที่วางพระหัตถ์แบบปางประทานอภัย ซึ่งน่าจะเก่ากว่าพระวิษณุที่พบในนครศรีธรรมราชที่ถือดอกบัวหรือก้อนดิน และพระวิษณุที่เยลสวรัม [Yelesvaram หรือ Elesvaram] ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลของรัฐอานธรประเทศถือสังข์ด้วยพระหัตถ์ซ้ายด้านหน้าที่เอว พระหัตถ์ขวาทำปางประทานอภัยแบบมถุราและนุ่งผ้ามีชายห้อยโค้งคล้ายกันกำหนดอายุอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๔-๕ นั้นมีรูปแบบคล้ายคลึงกับพระวิษณุจากนครศรีธรรมราชมากที่สุด

พระวิษณุที่เยลสวรัม [Yelesvaram หรือ Elesvaram] ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลของรัฐอานธรประเทศถือสังข์ด้วยพระหัตถ์ซ้ายด้านหน้าที่เอวและนุ่งผ้ามีชายห้อยโค้งคล้ายกันกำหนดอายุอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๔-๕ นอกจากนี้ทางภาพกลางพระหัตถ์ซ้ายด้านหน้าที่เอวพระหัตถ์ขวาทำปางประธานอภัยแบบมถุรา เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งโอคแลนด์และขวาเป็นพระวิษณุจากอานธรประเทศ ความสูง ๗๙ เซนติเมตรเก็บรักษาไว้ที่ The Avery Brundage Collection, ซานฟรานซิสโก

๒. กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบคุปตะและหลังคุปตะ ซึ่งเป็นพระวิษณุที่นุ่งผ้านุ่ง (สมพตหรือโธฏี) ยาว อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ (โดยประมาณจาก ค.ศ. ๖๕๐-๘๐๐) เช่น พระวิษณุแบบลอยตัวพบจากเขาพระเหนอ ตะกั่วป่าที่สูงกว่า ๑๘๐ เซนติเมตร แกะสลักลอยตัวสวยงาม สวมหมวกแขกหรือกีรีฏิมกุฏทรงสูงหรือทรงกระบอก สะท้อนให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบคุปตะแหลังหลังคุปตะ และไม่น่าจะนำเข้าในช่วงในราชวงศ์ปัลลวะเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ แต่ได้พัฒนาและปรับให้เป็นงานช่างท้องถิ่นในระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ โดยการใช้รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงการนุ่งผ้านุ่งยาว และพบได้ในวัฒนธรรมแบบฟูนันและพนมดาหลายแห่งในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ซึ่งคล้ายกับเทวรูปพระวิษณุที่พบที่เขาศรีวิชัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพระวิษณุที่อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี พระวิษณุพบที่เวียงสระ สุราษฎร์ธานี และพระวิษณุพบจากสทิงพระ ซึ่งนุ่งผ้านุ่งยาว อายุสมัยน่าจะร่วมกับพระคเนศที่ประมาณอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ และพระวิษณุพบจากเทวสถานที่เพชรบุรีทั้งสององค์

กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลแบบคุปตะและหลังคุปตะ ซึ่งเป็นพระวิษณุที่นุ่งผ้านุ่งยาว อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ภาพบนขวาและซ้าย พระวิษณุสวมหมวกแขกจากวัดธ่อ จังหวัดเพชรบุรี, ภาพด้านล่างซ้าย พระวิษณุจากเขาพระนารายณ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ภาพด้านล่างขวา พระวิษณุจากเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ภาพด้าขวา พระวิษณุลอยตัวจากเขาพระเหนอ จังหวัดพังงา

นอกจากนี้ยังพบรูปแบบคล้ายคลึงกันกับพระวิษณุองค์เล็กพบที่ตำบลฉลองในอำเภอสิชลมีฐานรองรับและพระหัตถ์ด้านหน้าต่อกับฐานช่วยพยุงน้ำหนักที่แกะเป็นคทาส่วนหนึ่ง นุ่งผ้านุ่งยาว สวมหมวกทรงกระบอกสูง  

อย่างไรก็ตาม พระวิษณุองค์เล็กซึ่งพบที่สิชลนี้มีความคล้ายคลึงกับพระวิษณุองค์เล็กที่พบยังปรากฏเทวรูปพระวิษณุที่เมืองท่าภายในแอผ่นดินใหญ่ของประเทศไทยในช่วงฟูนันและทวารวดี คือที่พบที่เมืองอู่ทอง ปัจจุบันเรียกว่าเจ้าพ่อพระยาจักร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทอง และที่ศาลหลักเมืองสุพรรณบุรีซึ่งปรากฎสององค์ และพบอยู่ที่โบราณสถานเก่าที่ถูกทำลายไปแล้วน่าจะเป็นเทวสถานริมแม่น้ำสุพรรณใกล้กับแหล่งเตาบางปูน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดชีสุขเกษม

นอกจากนี้ยังพบเทวรูปพระวิษณุรูปแบบเช่นนี้ที่เมืองละโว้ บริเวณศาลพระกาฬและที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนารายณ์ด้วย

พระวิษณุขนาดเล็กและไม่ได้ถือสังข์ที่พระหัตถ์ซ้าย แต่มีความคล้ายคลึงกับที่พบในคาบสมุทรในรัฐตามพรลิงค์ น่าจะสัมพันธ์กับการแพร่กระจายเครือข่ายทางการค้าและศาสนา พบที่ศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรีทั้งสององค์
พระวิษณุขนาดเล็กและไม่ได้ถือสังข์ที่พระหัตถ์ซ้าย พบในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี จากซ้ายที่ศาลเจ้าพ่อพระยาจักร อู่ทอง, สององค์ด้านกลางพบที่ศาลหลักเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และองค์ด้านขวานำมาจากศาสนสถานริมแม่น้ำสุพรรณ ใกล้เตาบางปูน ปัจจุบันเก็บไว้ที่วัดชีประเสริฐ

ซึ่งก็น่าจะอยู่ในกลุ่มของพระวิษณุที่แพร่มาจากรัฐตามพรลิงค์และบ้านเมืองในคาบสมุทร ที่สัมพันธ์กับการค้าทางทะเลระยะทางไกลทั้งในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและเมืองท่าภายในที่เกี่ยวข้องกับบ้านเมืองในสหพันธรัฐฟูนัน-ทวารวดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒  

รัฐตามพรลิงค์

อาณาบริเวณโดยประมาณของบ้านเมืองที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่บนแนวสันทรายชายฝั่งทะเลเดิมทั้งสันทรายเก่าและสันทรายใหม่ ตั้งแต่อำเภอขนอม สิชล ท่าศาลา เมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง ไปถึงชะอวด ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และที่ราบลุ่มเหล่านี้รองรับลำน้ำสายใหญ่น้อยที่ไหลมาจากเทือกเขาหลวง จนทำให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ และมีบริเวณที่ราบลุ่มปากลำน้ำที่เป็นป่าชายเลนอันเป็นแหล่งอาหารสำคัญและท่าเรือสู่ชายฝั่งของอ่าวไทย ต่อเนื่องไปถึงบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและทะเลสาบสงขลาในจังหวัดพัทลุงและสงขลา ด้านตะวันตกเกือบกึ่งกลางคาบสมุทรมีแนวเขาหลวงที่เริ่มตั้งแต่อำเภอขนอมขนานชายฝั่งทะเลไปจนถึงอำเภอควนขุนต่อกับเทือกเขาบรรทัดที่ผ่านจังหวัดพัทลุงไปต่อกับเทือกเขาสันกาลาคีรีทางฝั่งสตูล มีช่องเขาที่เปิดพื้นที่ให้มีการเดินทางข้ามช่องเขาตามธรรมชาติหลายแห่ง ทำให้มีการติดต่อระหว่างชุมชนและบ้านเมืองทั้งสองฝั่งทะเลที่เรียกว่า “เส้นทางข้ามคาบสมุทร”

การเดินทางจากสองฝั่งทะเลผ่านช่องทางข้ามคาบสมุทรในช่วงสมัยของรัฐตามพรลิงค์ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมให้ความเห็นจากการเดินทางสำรวจว่ามีเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากจุดที่พบโบราณสถานและโบราณวัตถุจากโพ้นทะเลที่เกาะคอเขาและเมืองตะกั่วป่า ซึ่งเป็นเมืองท่าภายในที่สำคัญที่พบทั้งลูกปัด เศษภาชนะจากจากเมดิเตเรเนียนและเศษภาชนะจีนในช่วงราชวงศ์ถังและสุ้ง ข้ามเทือกเขาสกอันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรีแล้วเดินทางผ่านช่องเขาหลวง รวมทั้งที่บริเวณคลองท่อมในอ่าวกระบี่และพังงาซึ่งทั้งสองแห่งเป็นท่าจอดเรือสำคัญอ่าวกระบี่และอ่าวพังงาที่ตัดลงผ่านช่องเขาบรรทัดและเทือกเขาหลวงเช่นกัน จากจุดนี้จะมีลำน้ำที่มาสบกับต้นน้ำตาปีที่มีเมืองเวียงสระ ซึ่งพบหลักฐานสำคัญเป็นเทวรูปรุ่นเก่าตั้งอยู่ และลำน้ำตาปีนี้มาสบกับลำน้ำจันดีที่ไหลมาจากเทือกเขาหลวงทางฝั่งตะวันตกข้ามช่องเขาหลวงที่เรียกว่าช่องเขาแก้ว จากบริเวณนี้จะสามารถเดินทางไปลานสกา เข้าสู่เมืองนครศรีธรรมราชและบริเวณปากน้ำชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยได้สะดวกกว่าช่องทางอื่นๆ 

ช่องเขานี้มี “เมืองจันดี” ซึ่งน่าจะมีแนวคันดินรูปเหลี่ยมขนาดย่อมๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำจันดีเป็นจุดพักสินค้าหรือชุมชนในระหว่างเส้นทางข้ามคาบสมุทรสู่ช่องเขาแก้วที่สามารถเดินทางสู่ชายฝั่งอันดามันของเทือกเขาหลวงนี้สันนิษฐานว่าเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรช่องทางสำคัญของรัฐตามพรลิงค์

นอกจากเมืองจันดีที่เป็นจุดแวะพักสินค้าขนาดไม่ใหญ่โตนัก เชิงเทือกเขาหลวงฝั่งตะวันตก ไปตามลำน้ำจันดีที่ต่อกับสาขาของแม่น้ำตาปีทางตะวันตกเฉียงเหนือก็มี “เมืองเวียงสระ” ซึ่งมีคูคันดินสองชั้นรูปสี่เหลี่ยมขนาดย่อม ติดกับลำน้ำตาปีและคลองสาขาของแม่น้ำตาปีเป็นแนวคูเมือง จากเวียงสระสามารถเดินทางออกสู่ชายฝั่งทะเลทั้งสองฝั่งคือทางคลองท่อมผ่านทางจันดีและแยกไปทางตามพรลิงค์หรือจะไปทางแม่น้ำตาปีสู่อ่าวบ้านดอนได้เช่นกัน ซึ่งโบราณวัตถุที่พบนั้นมีทั้งที่เป็นพระวิษณุสวมหมวกแขกและแบบโจฬะกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และ ๑๖ ตามลำดับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระพุทธรูปหินทรายแดงแบบไชยา

การเกิดขึ้นของบ้านเมืองในระดับนครรัฐที่ไชยาและตามพรลิงค์นั้น สัมพันธ์กับชุมชนที่เป็นแหล่งผลิตลูกปัดแก้วและหินมีค่าฝีมือดีมาตั้งแต่ต้นพุทธกาลแล้ว และยังมีสินค้าป่าจากเทือกเขาหลวง เทือกเขาบรรทัด และตะนาวศรีเป็นผลผลิตสำคัญและยังอยู่ในพื้นที่การติดต่อในเส้นทางการค้ากับบ้านเมืองทั้งสองฝั่งอารยธรรมที่สะดวก

พ่อค้าผู้มีอิทธิพลในทางการค้าโพ้นทะเลชาวอินเดียใต้คือกลุ่ม Manigramam กลุ่มพ่อค้ากลุ่มใหญ่นี้พบบันทึกถึงครั้งแรกในบริเวณเมืองแถบชายฝั่งเกรลา [Kerala] (ชายฝั่งตะวันตกของอินเดียใต้) ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๔ ช่วงรุ่งเรืองอยู่ในช่วงราชวงศ์ปัลลวะและโจฬะในแถบทมิฬนาดู (รุ่งเรืองในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ และจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๕) จนเข้ามามีบทบาทการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางฝั่งตะวันออกก็พบภาชนะดินเผาแบบราชวงศ์ถัง (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕) ปรากฎตามเมืองท่าชายฝั่งเหล่านี้

ทางฝั่งทะเลอันดามันปรากฎชุมชนระดับเมืองเล็กๆ ของชาวทมิฬผู้นับถือฮินดูที่มาทำการค้า มีพราหมณ์ ทหาร และชาวบ้านชาวไร่ชาวนา จากการพบจารึกภาษาทมิฬโบราณที่เขาพระนารายณ์ ตะกั่วป่ากล่าวถึงเมืองชื่อ “นังคูร” ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และเมืองท่าที่ปากน้ำตะกั่วป่าก็อยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ เป็นเมืองที่มีโบราณสถานเป็นกลุ่มใหญ่และพบหลักฐานของการเป็นเมืองท่าค้าขายจำนวนมาก ส่วนบริเวณคลองท่อมก็ถือว่าเป็นสถานีการค้าสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองแห่งเป็นแหล่งผลิตและค้าขายทั้งวัตถุดิบและผลผลิตจากการทำลูกปัดแก้วเทคนิคต่างๆ รวมทั้งลูกปัดหินมีค่าตั้งแต่ครั้งต้นพุทธกาลมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และหรือหลังจากนั้น 

แม้จะเห็นชัดว่ารัฐตามพรลิงค์ได้รับอิทธิพลทางศาสนาฮินดูจากอินเดียใต้ โดยใช้ช่องทางติดต่อผ่านทางเมืองท่าชายฝั่งอันดามันหลายแห่ง แล้วใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรเผยแพร่วัฒนธรรมแบบฮินดูสู่บ้านเมืองชายฝั่งทางอ่าวไทย ในขณะเดียวกัน เส้นทางและชุมชนภายในที่ปรากฎชัดที่เขาช่องคอยที่ใกล้กับช่องเขาหลวงระหว่างอำเภอร่อนพิบูลย์และทุ่งสงที่สามารถเดินทางสู่คลองท่อมได้สะดวกเช่นกัน ก็พบว่าไม่เพียงแต่จะมีการนับถือศาสนาฮินดูเป็นหลักเท่านั้นแต่ก็ไม่ปิดโอกาสให้กับศาสนาพุทธแบบมหายานที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองไชยา ในทางตรงกันข้าม เมืองไชยาที่ถือเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาแบบมหายานในของรัฐศรีวิชัยในคาบสมุทรก็มีร่องรอยของการนับถือศาสนาฮินดูที่ชัดเจนเช่นกัน ถือเป็นการแบ่งปันแนวคิดหรือปรัชญาและการปฏิบัติร่วมกันทั้งสองศาสนาความเชื่อ

ปรากฎในจารึกวัดมเหยงค์ นครศรีธรรมราช หลักที่ ๒๗ อักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต อายุประเมินราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เมื่อพิจารณาแล้วอาจกล่าวถึงการปฏิบัติในพิธีกรรมความเชื่อเรื่องการทำบุญกุศลสำหรับคณะสงฆ์และบุคคลต่างๆ ทั้งในพุทธศาสนาและฮินดูโดยกล่าวถึง ..เครื่องบูชา อาหารเครื่องบํารุงคณะพราหมณของพระอคสติมหาตมัน..ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคณะพราหมณ์ผู้ทำพิธีกรรมร่วมอยู่ในการทำบุญ

ซึ่งพบ “พระวิษณุพระหัตถ์ด้านซ้ายถือสังข์ที่สะโพกหน้า” องค์ที่เก่าที่สุดที่ไชยารวมทั้ง “มุขลึงค์” ที่มีความคล้ายคลึงกับชิ้นที่พบที่อู่ทองและออกแอว

เมื่อพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ [Rajendra Chola I] มหาราชแห่งราชวงศ์โจฬะในอินเดียภาคใต้ ส่งกองทัพข้ามมหาสมุทรไปพิชิตเมืองในคาบสมุทรและหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสหพันธรัฐศรีวิชัยก่อน พ.ศ. ๑๕๗๓-๑๕๗๔ ซึ่งเป็นช่วงที่จารึก ในบัญชีรายชื่อเมืองต่างๆ สันนิษฐานว่ามีเมืองตามพรลิงค์ปรากฎด้วย หลังจากถูกกองทัพจากอินเดียใต้ควบคุม ผลกระทบต่อรัฐตามพรลิงค์และเมืองท่าต่างๆ ในสหพันธรัฐศรีวิชัยบนคาบสมุทรและหมู่เกาะน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่จะทำให้ฮินดูมีบทบาทมากขึ้นในบ้านเมืองนั้นก็น่าจะไม่มากเพราะหลักฐานในการมีอยู่ของชุมชนแบบฮินดูก็มีอายุเก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อยู่แล้ว แต่การยึดครองในช่วงนั้นอาจนำไปสู่การสิ้นสุดของรัฐตามพรลิงค์สิ้นและถือกำเนิดบ้านเมืองใหม่ที่กลายมาเป็นเมืองนครศรีธรรมราชในเวลาต่อมา 

ในจารึกหลักที่ ๒๓ พบที่วัดเสมาเมือง ซึ่งยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นจารึกของเมืองตามพรลิงค์หรือของเมืองไชยา แม้จะมีหลักฐานว่าเคยเก็บรักษาไว้ที่วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช แต่หากเนื้อหานั้นสัมพันธ์กับการปรากฏอยู่ของกลุ่มศาสนสถานที่เมืองไชยา ด้านหน้ากล่าวถึงการสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของพระเจ้ากรุงศรีวิชัย มีพระบรมราชโองการให้พระเถระนามว่าชยันตะสร้างปราสาทอิฐ ๓ หลัง ต่อมาลูกศิษย์ของท่านคืออธิมุกติเถระ ได้สร้างปราสาทอิฐขึ้นอีก ๒ หลังใกล้กัน ส่วนด้านที่ ๒ นั้น กล่าวว่า พระเจ้ากรุงศรีวิชัยพระองค์นี้ พระนามว่า “ศรีมหาราชา” โดยอ้างถึงการสืบเนื่องหรือเป็นเครือญาติของมหากษัตริย์ในไศเลนทรวงศ์จากสหพันธรัฐศรีวิชัยในกลุ่มหมู่เกาะ เปรียบได้ดั่งพระวิษณุองค์ที่ ๒ ส่วนด้านหลังกล่าวถึงชื่อศรีมหาราชา กำเนิดแห่งไศเรนทรวงศ์เช่นกัน ศักราช พ.ศ. ๑๓๑๘ เป็นพระราชาธิราชผู้ได้รับขนานนามว่าเป็นพระวิษณุองค์ที่ ๒ (๔) 

ส่วนจารึกหลักที่ ๒๔ วัดหัวเวียง ไชยา ๑ จารึกอักษรกวิ (อักษรที่พัฒนามาจากอักษรจากอินเดียใต้และใช้ในรัฐชวาโบราณรวมทั้งในหมู่เกาะต่างๆ) ภาษาสันสกฤต ตรงกับพ.ศ. ๑๗๗๔ กลับกล่าวถึงกษัตริย์ของบ้านเมืองที่ชื่อตามพรลิงค์ ผู้สืบจากราชวงศ์ปทุมวงศ์ที่พระมหากษัตริย์ผู้เป็นราชาธิราชคือ “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” และมี “พระยาจันทรภาณุศรีธรรมราช” ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา (๕)

จารึกทั้งสองแห่งนี้ (หลักที่ ๒๓ และ ๒๔) อาจจะสลับตำแหน่งที่ปรากฎอยู่ในภายหลัง แต่ทำให้เห็นว่าเมืองใหญ่ทางคาบสมุทรฝั่งอ่าวไทยทั้งสองแห่งคือไชยาและตามพรลิงค์ คือหัวเมืองใหญ่ในสหพันธรัฐศรีวิชัยที่มีความใกล้ชิดและสืบเนื่องร่วมสมัยกัน มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนในตลอดช่วงเวลาตั้งแต่แรกเริ่มซึ่งอาจประเมินได้จากกลุ่มเทวรูปพระวิษณุองค์เล็กถือสังข์ที่สะโพกด้านซ้ายที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ ซึ่งพบพระวิษณุทั้งสองแห่งที่คล้ายคลึงกันคือจากวัดศาลาทึง ไชยา และวัดพระเพรง นครศรีธรรมราช จนกระทั่งถึงช่วงที่เมืองไชยาเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาก็พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เช่น ที่พบที่วัดพระเพรงเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปหินทรายแบบสกุลช่างไชยาพบที่ระเบียงรอบพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เมื่อย่างเข้าสู่ปลายยุคสมัยศรีวิชัยที่เริ่มติดต่อกับบ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยาที่อาจเรียกว่าช่วงสมัยอโยธยาหรือในห้วงเวลาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ซึ่งตามพรลิงค์เปลี่ยนเป็นเมืองนครศรีธรรมราชและมีเมืองบริวารที่เรียกว่าเมืองสิบสองนักษัตร เมืองไชยากลายเป็นเมืองบริวารที่เรียกว่า “เมืองครหิ” 

กล่าวได้ว่าอิทธิพลทางศาสนาทั้งฮินดูและพุทธแบบมหายานและเถรวาทในภายหลัง ต่างแลกเปลี่ยนผสมผสานตามกลุ่มผู้คนที่น่าจะมีอิสระในความเชื่อของเมืองในสหพันธรัฐศรีวิชัยทั้งสองแห่ง คือไชยาและตามพรลิงค์

เชิงอรรถ
(๑). Stanley J. O'Connor, Jr. Hindu Gods of Penninsular Siam. (pp.14) อ้างถึงข้อมูลของเส้นทางที่ปรากฏและวิเคราะห์ใน Wang Guogwu, The Nanhai Trade: A Study of the Early History of Chinese Trade in the South China Sea: Journal of the Malaysian Branch of the Royal Asiatic Society  voLXXXI, 2 (1958), pp.19-22.  
(๒)  Miriam T. Stark & Shawn Fehrenbach. Earthenware Ceramic Technologies of Angkor Borei, Cambodia. ใน Journal of Khmer Studies, 2019 กำหนดอายุเครื่องปั้นดินเผาจากการขุดค้นที่อังกอร์เบอเรยไว้ที่ 500 BCE-200 CE. สืบค้นวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒. https://www.academia.edu/39765862/Stark_and_Fehrenbach_2019_Earthenware_Ceramic_Technologies_of_Angkor_Borei_Cambodia20190706_33811_1tjdx9p?source=swp_share
(๓) Stanley J. O'Connor, Jr. Hindu Gods of Penninsular Siam. (pp.43) 
(๔) จารึกหลักที่ ๒๓ วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช คำแปลจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สืบค้นวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/323
(๕) จารึกหลักที่ ๒๔ จารึกวัดหัวเวียงเมืองไชยา ด้านที่ ๑ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/507 และ จารึกวัดหัวเวียงเมืองไชยา ด้านที่ ๒ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/509 สืบค้นวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒

บรรณานุกรม

Stanley J. O’Connor, Jr., Hindu Gods of Penninsular Siam, Ascona, Artibus Asiae, 1972

Wannasarn Noonsuk. Tambralinga and Nakhon Si Thammarat : Early Kingdom on the Isthmus of Southeast Asia. Second Edition,, 2018

ดร. จีราวรรณ แสงเพ็ชร์. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยเทวรูปพระวิษณุในประเทศไทยจากหลักฐานโบราณคดีและประวัติศิลปะในประเทศไทย, กรกฎาคม ๒๕๖๐,สืบค้นเมื่อ ๑๐ กค. ๒๕๖๒, http://research.crma.ac.th/wp-content/uploads/2019/02/RDG58A0020V04_full.pdf