วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เมืองไทยหลังยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม
จากเหตุการเลือกตั้งครั้งที่กล่าวกันว่าสกปรกมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ การเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๙ และเกิดขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งถือเป็นช่วงการฉลองกึ่งพุทธกาล และจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยคือ ๘ สมัย เวลาทั้งสิ้น ๑๔ ปี ๑๑ เดือน ๑๘ วัน ประกาศจะจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้บริสุทธิ์ถวายเป็น “พุทธบูชา” ในวาระดังกล่าว แต่กลายเป็นว่ามีการข่มขู่สารพัดจากบรรดานักเลง อันธพาล ที่ทางรัฐบาลเรียกว่า “ผู้กว้างขวาง” และสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลคือ พรรคเสรีมนังคศิลาที่ตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อรองรับพรรคของนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ กล่าวกันว่ามีการใช้คนฝ่ายรัฐบาลเวียนเทียนกันลงคะแนน การใส่บัตรลงคะแนนเถื่อน แอบเปลี่ยนหีบเลือกตั้งในที่ลับตาคน รุนแรงถึงขนาดมีการฆาตกรรมคนที่สนับสนุนผู้สมัครบางคน และการนับคะแนนยังใช้เวลานับกันยาวนานถึง ๗ วัน ๗ คืน
ผลการเลือกตั้งฝ่ายรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับการเลือกตั้งชนะพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ผลการเลือกตั้งไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้
วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชน เดินขบวนประท้วงการเลือกตั้ง เริ่มที่ท้องสนามหลวง โดยมีทำเนียบรัฐบาลเป็นจุดหมาย มีการลดธงชาติครึ่งเสา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันเดียวกันนั้น ต่อมาเมื่อขบวนผู้ชุมนุมมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก กลับถอดหมวกโบกรับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยกล่าวว่าทหารจะไม่มีวันทำร้ายประชาชน ต่อมาได้ข้อสรุปว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์และจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ การชุมนุมวันนั้นจึงสลายตัว แต่ต่อมาเหตุการณ์บานปลายเป็นความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มทหารและตำรวจที่สนับสนุนจอมพลทหาร ตำรวจที่ต่างขั้ว จนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐
กระทำการรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงครามหลบหนีไปได้และขอลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น และสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ แต่ก็เป็นภายหลังที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
หลังช่วงเวลา พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา แม้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทีเดียว แต่เป็นนายพจน์ สารสิน และเมื่อมีการเลือกตั้งแต่ความขัดแย้งภายในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จึงร่วมกันทำรัฐประหารและเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๖ เมื่อถึงอนิจกรรมหนึ่งเดือนหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว จึงเกิดคดีฟ้องร้องมรดกมหาศาลซึ่งเป็นผลมาจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล
ในช่วงเวลานี้เองประเทศไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยได้รับผลกระทบจากการบริหารประเทศ ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างเต็มที่ นอกจากจะเป็นรัฐเผด็จการทหารโดยประกาศยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่างๆ ยังมีการวางแผนพัฒนาที่เน้นแต่เพียงเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นพื้นฐานของแผนพัฒนาเศรษฐกิจในระยะเวลาต่อมา สร้างสาธารณูปโภคสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้า, ประปา, ถนน กระจายไปทั่วทั้งในเมืองและชนบท ผลงานที่สำคัญ เช่น การออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด กฎหมายปราบปรามพวกนักเลง อันธพาล กฎหมายปรามการค้าประเวณี ที่รู้จักกันมากคือการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๗ หรือ ม. ๑๗ จัดการผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดจนเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ ปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ที่สร้างผลกระทบต่อนักศึกษาและปัญญาชนจำนวนมาก รื้อฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ, การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์, การประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น
ยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นจุดเริ่มของ “สงครามเย็น” ที่มีมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องมากมายและพื้นที่ทำสครามใหญ่นั้นอยู่ที่เวียดนาม โดยมีประเทศไทยเป็นฐานสำคัญให้กับสหรัฐอเมริกา สหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเวียดนามเพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเอเชีย ซึ่งมีจีนเป็นผู้นำรวมทั้งสหภาพโซเวียต
รัฐบาลไทยตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สนับสนุนให้สหรัฐเข้ามาป้องกันคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน เพราะช่วงเดียวกับเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยและเปลี่ยนรัฐบาลอันต่อเนื่องยาวนานจากจอมพล ป. พิบูลสงครามมาเป็นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในอีสานและการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ จนกระทั่งหลังการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ที่คณะทหารล้มล้างรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ผู้มีแนวคิดนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์มุ่งสู่ชนบทเพื่อหาแนวร่วมจากประชาชนระดับล่าง และเริ่มมีการจับอาวุธต่อสู้ในพื้นที่ภาคอีสานตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่งในช่วงนี้แม้จะมีการผลัดเปลี่ยนอำนาจ แต่ก็ขึ้นอยู่ในมือของทหารและผู้นำฝ่ายไทยนั้นฝักใฝ่และคาดหวังความช่วยเหลือด้านการทหารและอื่นๆ จากสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด
ในช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการพัฒนาเมืองชายทะเลในภาคตะวันออกเพื่อให้เป็นแหล่งบันเทิงและการท่องที่ยว และมีการสร้างถนนสายมิตรภาพสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและถนนสายยุทธศาสตร์เชื่อมต่อกับฐานทัพที่สัตหีบและสนามบินอู่ตะเภาที่เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ อีกด้วย ทำให้เกิดแหล่งบันเทิง บาร์ การขายบริการประเภทต่างๆ และชุมชนที่เติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว สหรัฐอเมริกาใช้ภูมิภาคตะวันออกเป็นฐานในการทำสงครามและมีทหารอเมริกันเข้ามาพักผ่อนจำนวนมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนามเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ จนถึงราวๆ พ.ศ. ๒๕๑๖-๘
ช่วงเวลาดังกล่าว นักเขียนอเมริกันสองท่านคือ วิลเลี่ยม เจ. เลเดอเรอ และ ยูยีน เบอดิค ร่วมกันเขียน The Ugly American ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ กล่าวถึงการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างในยุคสงครามเย็นที่โลกจับตามองมายังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากมีหลายประเทศพ่ายแพ้แก่ลัทธิคอมมิวนิสต์ทางอเมริกาจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะคานอำนาจทางการเมืองของโลกไว้โดยการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศแถบนั้น ทั้งทางลับและเปิดเผย สะท้อนความเป็นจริงที่น่าจะใช้สถานการณ์ที่สมมตขึ้นในประเทศไทย
ต่อมาราว พ.ศ. ๒๕๐๖ ถ่ายทำในประเทศไทยและมีมาลอน แบรนโดนำแสดง โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ร่วมแสดง อย่างไรก็ตาม กล่าวกันว่าภาพยนต์อเมริกันเรื่องนี้ไม่ได้รับความนิยมจากคนไทยทั่วไปเพราะช่วงนั้นกระแสวัฒนธรรมอเมริกันจับใจผู้คนโดยเฉพาะวัยรุ่น เนื้อหาการต่อต้านวิธีการทางการเมืองที่เข้าแทรกแซงของอเมริกันจึงไม่ได้รับการตอบรับจากคนไทยที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อทั้งจากรัฐบาล และจากหนังฮอลิีวู๊ดต่างๆ รวมทั้งเพลงตามสมัยนิยม เช่น เพลงของเอลวิส เพลสลี่ย์ เดอะบราเดอร์โฟร์ พอล แองก้า ฯลฯ
และคนไทยส่วนใหญ่นั้นเห็นว่าวัฒนธรรมอเมริกันในช่วงนั้นคือ “พระเอก” ไม่ใช่ผู้ร้ายเช่นในหนังสือและภาพยนต์ The Ugly American.
วัยรุ่นเมื่อกึ่งศตวรรษและผลผลิตจากอิทธิพลวัฒนธรรมอเมริกัน
หลังช่วงเวลากึ่งพุทธกาล หรือหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กำลังครองอำนาจมีอิทธิพลเข้าแทนที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม สังคมไทยอยู่ในช่วงสงบจากการประท้วงภายในที่มีมาต่อเนื่องจากการเลือกตั้งที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน การรัฐประหาร ผ่านช่วงสมัยอันหวาดกลัวของประชาชนในรัฐตำรวจยุคอัศวินของอธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ (พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๐๐) “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ฯ” เป็นที่รับรู้ว่ากองปราบที่สามยอดในยุคนั้นเลี้ยงนักเลง อันธพาลเป็นลูกน้องด้วย การมีอิทธิพลที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายจนถึงปัจจุบัน เช่น กรณีสังหาร ๔ อดีตรัฐมนตรีอีสานที่ถนนพหลโยธิน การจับตัวและสังหารฮะยีสุหรง อับดุลย์การ์เดร์ และเป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรมที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกกลุ่มทหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารในที่สุด
หลังจากนั้น สังคมไทยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงมีการรับความช่วยเหลือและเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะจากวัฒนธรรมแบบอเมริกันที่กำลังเผยแพร่ไปทั่วโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และดำเนินเข้าสู่ยุคแห่งความตึงเครียดระหว่างลัทธิการปกครองแบบประชาธิปไตยและลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เรียกว่า “ยุคสงครามเย็น” ที่ต่อเนื่องมาจนเกิดสงครามเวียดนาม ที่ทำให้สหรัฐอเมริกาติดหล่มสงครามอย่างยาวนานและแทบจะกล่าวได้ว่าพ่ายแพ้ในทางนามธรรมแก่สงครามนอกประเทศครั้งนี้จนเกิดบาดแผลแก่ผู้คนในสังคมตลอดมา

สงครามเย็นและสงครามเวียดนามที่ติดตามมาด้วยสงครามในลาว การฆ่าล้างเผาพันธุ์ในกัมพูชาและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในประเทศจากการปราบปรามผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงกึ่งพุทธกาลเป็นต้นมาจนถึงราวปลายทศวรรษที่ ๒๕๒๐ ที่ค่อยๆ คลี่คลายไปพร้อมการเมืองที่มีเสถียรภาพ การถอนตัวของกองทัพและฐานทัพอเมริกันในภูมิภาคนี้ การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในประเทศรอบๆ เมืองไทย
สภาพสังคมไทยหลัง ๒๕๐๐ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลทีเดียว ในแง่มุมหนึ่งทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของชนบท การเคลื่อนย้ายแรงงานสู่เมืองหลวง เข้าสู่แรงงานข้ามชาติสำหรับผู้ชาย เกิดอาชีพที่เห็นกันดาษดื่นคือ “เมียเช่า” “พาร์ทเนอร์” และ “หญิงบริการ” ในยุคที่มีทหารอเมริกันตั้งฐานทัพอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ หลายแห่งในประเทศไทย รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีในกรุงเทพฯ ก็เฟื่องฟูมากมาย นอกเหนือจากแถบถนนราชดำเนิน บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงโรงแรมรอยัลหรือโรงแรมรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา ก็มีย่านเที่ยวต่างๆ ตามฐานะและวัยที่แตกต่างกัน เช่นที่พัฒน์พงศ์ เพชรบุรีตัดใหม่ เป็นต้น
สังคมที่รับวัฒนธรรมตะวันตกได้เร็วที่สุดคือสังคมวัยรุ่นและชุมชนผู้คนในกรุงเทพฯ ยุคสมัยหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ สภาพบ้านเมืองที่ต้องเรียบสงบและถูกควบคุมเคร่งครัด นักเลงอันธพาลถูกกำหราบหลังจากยุครัฐตำรวจอัศวินไปแล้ว
สถานที่เที่ยวทันสมัยที่สุดในยุคนั้นคือบริเวณ “หลังวัง” คนในรุ่นนั้นเรียกช่วงเวลาในการแสวงหาความบันเทิงของวัยรุ่นยุคนั้นว่า “ยุคโก๋หลังวัง” ก็มี ซึ่งทางตะวันตกจะเรียกวัยรุ่นที่นิยมกระแสแฟชั่นและเพลงแบบเอลวิส เพลสเล่ย์หรือร็อคแอนโรลล์ในช่วงเริ่มต้นสงครามเวียดนามว่ายุคซิกตี้ [60th] ประเทศไทยเริ่มได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างประเทศอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะวัฒนธรรมอเมริกัน ราชาร็อคแอนด์โรลอย่าง เอลวิส เพรสลีย์ และดาราดังข้ามโลก เช่น เจมส์ ดีน ล้วนเป็นแม่แบบของวัยรุ่นทั่วโลก และวัยรุ่นไทย ทั้งเรื่องเสื้อผ้า การแต่งกาย และทรงผม
ด้านตะวันออกของเมืองมีวังของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ตั้งอยู่หลายแห่งในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมีการสร้าง “วังบูรพาภิรมย์” ซึ่งเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ เป็นพระตำหนักใหญ่สูง ๒ ชั้น ประกอบด้วยอาคาร ๓ หลัง เนื้อที่กว้างขวางตั้งแต่ริมถนนจากป้อมมหาชัยไปจนถึงสะพานเหล็กหรือสะพานดำรงสถิต พื้นที่บริเวณนี้เคยมีวังเก่าตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งชาวลาวพวนที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยสงครามเจ้าอนุวงศ์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ ตั้งหลักแหล่งในย่านนี้ด้วย จนเรียกกันว่าบ้านลาว แม้แต่ชื่อถนนเจริญกรุงในช่วงจากสี่กั๊กพระยาศรีไปจนถึงกำแพงเมือง ตรงสะพานเหล็กก็เรียกกันว่าถนนบ้านลาวด้วย และนับจากถนนอุณากรรณอ้อมไปพาหุรัด หักเลี้ยวกลับมาถนนตีทองและวกเข้าด้านเจริญกรุง ตรงกลางเป็นเวิ้งว่าง ทำเครื่องสูบน้ำบาดาลอยู่ชิดตลาดมิ่งเมืองด้านพาหุรัดเรียกว่า สนามน้ำจืด เพราะเคยตั้งถังน้ำขนาดใหญ่สูบเอาน้ำบาดาลขึ้นมาเก็บไว้ บ่อน้ำบาดาลแห่งนี้เป็นแห่งแรกที่มีขึ้นในเมืองไทย ต่อมาจึงถมทำเป็นโรงภาพยนต์ศาลาเฉลิมกรุงที่สร้างขึ้นเมื่อมีการฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕
หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ทายาทของท่านให้เช่าเป็นที่ตั้งโรงเรียนสตรีภานุทัต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และหลังสงครามสงบลงจึงใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนพณิชยการพระนครต่อมา

ราว พ.ศ. ๒๔๙๕ ทายาทราชสกุลภาณุพันธุ์ได้ขายวังบูรพาฯ ให้เอกชน คือนายโอสถ โกศิน ในราคา ๑๒ ล้าน ๒ หมื่นบาท จึงรื้ออาคารต่างๆ ในวังออกเพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์สามแห่ง คือโรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์ควีนส์ และโรงภาพยนตร์แกรนด์ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ย่านวังบูรพาเมื่อรวมกับตลาดมิ่งเมือง ที่ปัจจุบันคือศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่าสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง
ตลาดมิ่งเมืองมีชื่อเสียงในฐานะแหล่งชุมนุมช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อรองรับลูกค้าที่มาซื้อผ้าที่ตลาดสำเพ็ง- พาหุรัด แล้วไม่มีเวลาไปหาร้านตัดเย็บ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า และเป็นการส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เมื่อซื้อผ้าแล้วมีแหล่งตัดเย็บอยู่ใกล้ๆ ก็ได้เสื้อกลับบ้านอย่างรวดเร็ว ตลาดแห่งนี้จึงได้รับความนิยมจากสุภาพสตรีเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ดารา นักร้อง จนถึงประชาชนทั่วไป
ตึกด้านนอกตรงหัวมุมสี่แยกพาหุรัดมีร้านรัตนมาลา เป็นร้านเก่าแก่ ขายสินค้านานาชนิด ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยก่อนก็คือตะเกียงเจ้าพายุ ถัดมาทางด้านถนนตรีเพชรเป็นร้านของแขก ขายภาชนะในครัวที่ทำด้วยอลูมิเนียม มีร้านขายยาแก้วเภสัช รวมทั้งร้านขายปืนที่มีอยู่หลายร้าน อีกส่วนหนึ่งของตลาดมิ่งเมืองเป็นอู่จอดรถโดยสารสำหรับผู้จะเดินทางไปต่างจังหวัด
ย่านวังบูรพาคือแหล่งรวมวัยรุ่นชายหญิงนำสมัยและทันสมัยแหล่งใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ช่วงเวลานั้นเพราะมีห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร ห้องอาหาร ร้านไอศครีม และโรงภาพยนตร์ ตู้เพลงซึ่งเป็นยังเป็นของใหม่และทันสมัยจนวัยรุ่นคลั่งไคล้ จังหวะเต้นรำที่เป็นที่นิยม คือ ร็อคแอนด์โรล และจังหวะทวิสต์ เกิดการทะเลาะวิวาทตามแบบวัยรุ่นทุกยุคได้ตลอดเวลาจนกลายเป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อถึงวัยรุ่นนักเที่ยวเล่นในสมัยนั้น แถวนี้เป็นย่านบันเทิงมีโรงหนังถึงสี่โรงคือ ศาลาเฉลิมกรุง แกรนด์ คิงส์ ควีนส์ นับว่าย่าน “วังบูรพา” นี้เป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น
วัยรุ่นที่เที่ยวย่าน “หลังวัง” และย่านการค้าอื่นที่รุ่งเรืองในช่วงร่วมสมัยกันคือ “บางลำพู” ต่างคบค้าเพื่อนในถิ่นตนเองและต่างถิ่นเพื่อเที่ยวและด้วยความเป็นวัยรุ่นจึงมีเรื่องชกต่อยฟันแทงและใช้อาวุธปืนหรือระเบิดกันบ้างประปราย จนกลายเป็น “ตำนาน” ของนักเลงวัยรุ่น วัยเกเร วัยเริ่มต้นชีวิตที่ถูกเล่าสืบทอดกันและถูกเขียนเป็นนวนิยายบ้าง สร้างเป็นภาพยนต์บ้างอยู่หลายเรื่องหลายครั้ง
สำหรับนวนิยายที่โด่งดังที่สุดน่าจะเป็นการตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เรื่อง “เส้นทางมาเฟีย” โดยสุริยัน ศักดิ์ไธสง ที่โปรยหัวว่า เป็นเบื้องหลังเรื่องราวและยุทธการนักเลงแห่งกรุงเทพมหานครระหว่างปี ๒๔๙๘-๒๕๐๕ บันทึกโดยผู้ใกล้ชิด ผู้ร่วมสร้างตำนานในยุคนั้น เรื่องจริงที่อ่านสนุกระทึกใจไปกับเหตุการณ์จริงที่เป็นข่าวหน้าหนึ่งมาแล้ว การเขียนอย่างสมจริงดูจะเป็นเสน่ห์สำหรับคนรุ่นหลังไม่ใช่น้อยจึงถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ในเวลาต่อมาเรื่อง “๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง” และมีผู้จดจำเล่าขานจนเห็นวัยรุ่นในยุคนั้นเป็นทั้งนักเลงทั้งมาเฟียผู้ร้ายไปจนถึงฮีโร่และบุคคลที่วัยรุ่นอยากเอาเยี่ยงอย่างเพราะดาราที่นำแสดงนั้นช่างดูโดดเด่น เท่อย่างยิ่ง เรื่องราวของพวกเขา เช่น “แดง ไบเลย์, ดำ เอซโซ่, ปุ๊ ระเบิดขวด” ฯลฯ แพร่กระจายกลายเป็นเรื่องที่ถูกเชื่อว่าเป็นจริงไปทั่วทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเขียนเรื่องเล่าหรือประวัติศาสตร์ร่วมสมัยย่อไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างขึ้นมาโดยขาดการตรวจสอบ ยิ่งหากเรื่องราวเหล่านั้นยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตหรือประวัติศาสตร์สังคมที่เป็นความทรงจำร่วมกันของผู้คนร่วมสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ กลุ่มวัยรุ่นในยุคนั้นบางท่านซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ที่ถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรูปแบบต่างๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่จึงเริ่มบันทึกและเขียนออกมาเป็นหนังสือบันทึกความทรงจำในช่วงชีวิตของตน
ที่ควรกล่าวถึงและสามารถให้เหตุผลและสถานการณ์ตามสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงได้อย่างยิ่งคืองานเขียนของ “บรรเจิด กฤษณายุทธ” เรื่อง “เดินอย่างปุ๊” และ “เสื้อลายขวางกับหนังสือเดินทาง ๑/๒ เล่ม” โดยปุ๊ กรุงเกษม ถือเป็นการบอกเล่าเรื่องราวเดียวกันแต่แตกต่างในประเด็นสำคัญคือ การเน้นในเรื่องราวของวัยรุ่นที่ถูกขนานนามว่าเป็นมาเฟียหรือนักเลงที่กำลังไต่รุ่นสู่การเป็นอันธพาลที่ฟังดูมีความรุนแรงในการใช้ชีวิตหรือต้องเสี่ยงคุกตะราง ซึ่งบุคคลผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง บอกเล่าเรื่องราวอีกด้านหนึ่งที่แตกต่างไป เพราะกลุ่มวัยรุ่นในยุคนั้นเน้นในทางการเที่ยว ฟังเพลงจากตู้เพลงที่ของทันสมัยมากในเวลานั้น แต่งตัวเลียนแบบเจมส์ ดีน ฟังเพลงเอลวิส เพลสลีย์ ดูหนังฮอลลีวู้ด และหาเรื่องชกต่อยจนถึงใช้มีดหรือไม้เพื่อแสดงถึงนิสัยสู้คนหรือใจนักเลงและรักพวกพ้อง แต่ไม่ถึงกับเข้าไปอยู่ในวังวนของเส้นทางมาเฟียหรือผู้มีอิทธิพลปล้นฆ่า ตีรันฟันแทงกันหรือใช้อาวุธปืนใช้ระเบิด และอยู่ในแวดวงผิดกฎหมายดังเช่นในหนังสือหรือภาพยนต์ที่กลายเป็นภาพจดจำเมื่อกล่าวถึงวัยรุ่นในยุคนั้น
แต่แท้ที่จริงวัยรุ่นหรือนักเลงรุ่นเล็กในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่างตกอยู่ใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมแบบอเมริกันในยุคสงครามเย็น และค่อนข้างถูกควบคุมด้วยเจ้าหน้าที่ เช่น ตำรวจอย่างเข้มงวดทีเดียว นักเลงในรุ่นเก่าต่างถูกปราบปรามขึ้นบัญชีดำหรือถูกจับติดคุกลาดยาวกันไปมากมาย โรงฝิ่นถูกยกเลิก แหล่งอบายมุกถูกจำกัดพื้นที่ เป็นยุคที่ถูกกล่าวว่าเป็นการควบคุมพวกผู้มีอิทธิพลและอันธพาลจากยุครัฐตำรวจที่สร้างไว้อย่างแท้จริง
แต่นักเลงรุ่นเด็กหรือวัยรุ่นที่เริ่มเติบโตไม่ได้หายไปไหน การออกมามีเรื่องกันนั้นแทบจะเป็นปกติของการเที่ยวเตร่ การรักพวกพ้อง และการใช้ชีวิตแบบเพื่อน้ำมิตรที่มีฉากหลังการเลียนแบบดาราและวัฒนธรรมแบบฮอลลีวู้ด ในยุคสมัยที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวไปสู่ความทันสมัยแบบตะวันตกอย่างขนานใหญ่ และภายใต้การเมืองแบบเผด็จการที่เคร่งครัดในกฎระเบียบตามสมควร และอยู่ในการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องเป็นฝ่ายเลือกข้างเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในค่ายที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ
สังคมวัยรุ่นในกรุงเทพฯ ยุคนั้นจึงยังคงอยู่ในสังคมที่ยังคงรู้จักหน้ารู้จักพ่อแม่พี่น้อง รู้จักผู้ใหญ่ และสามารถไกล่เกลี่ยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหารุนแรงมากตามมาได้
วัยรุ่นจากที่ต่างๆ มีสถานที่ท่องเที่ยวและชุมชนที่อยู่จึงนิยมตั้งชื่อสมญานามตามสถานที่ต่างๆ หรือตามกลุ่ม ตามชุมชน กลายเป็นผู้นำในทางแฟชั่น ผู้นำในกลุ่มของความเป็นนักเลงแบบเก่าคือ การเป็นคนจริงและรักพวกพ้อง ความนิ่งและไม่รังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า จนกลายเป็นสัญลักษณ์และความทรงจำของยุคสมัยของนักเลงรุ่นเด็กๆ ในช่วงหลังกึ่งพุทธกาลกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
น้าเชษฐ : วัยรุ่นตรอกหลังวัดราชนัดดาฯ
น้าเชษฐ หรือ “พิเชษฐ ปัทมินทร” เพิ่งร้างตำแหน่งหน้าที่จาก สก. เขตพระนครไปหลังถึงยุครัฐบาลทหารของ คสช. แต่ก่อนหน้านั้น น้าเชษฐเกษียณราชการในยศนายร้อยตรีหน้าที่ “สารวัตรทหาร” รูปร่างสูงใหญ่ ยังแข็งแรงในวัย ๖๖ ปี
ช่วงวัยรุ่นของน้าเชษฐโชกโชน เพราะเติบโตในย่านเมืองเก่า กรุงเทพฯ บ้านน้าเชษฐอยู่บริเวณประตูหลังวัดราชนัดดาฯ เดินออกประตูไปก็ถึงพอดี มีคนเอาป้ายไปติดให้ว่าบ้านน้าเชษฐเป็นบ้านองุ่น และมีเถาว์องุ่นเลื้อยเห็นอยู่หน้าบ้าน บอกว่าพื้นที่แถวนี้ปลูกสวนอะไรได้มาตั้งแต่ต้นกรุงฯ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดอะไรอีก
แถวหลังวัดราชนัดดาฯ บริเวณริมคลองวัดราชนัดดา ซึ่งเป็นคลองท่อหรือคลองหลอดเชื่อมระหว่างคลองเมืองชั้นในที่ขุดสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและคลองโอ่งอ่าง-บางลำพูที่เป็นคลองเมืองชั้นกลาง ทำให้บริเวณคลองเชื่อมทั้งคลองวัดราชนัดดาฯ และคลองวัดราชบพิธทำหน้าที่ช่วยให้น้ำไหลผ่านได้เร็วขึ้น รักษาระดับการขึ้นลงของน้ำหมุนเวียน เมื่อไปถามทุกคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ริมคลองทั้งสองแห่ง ต่างก็พูดว่าเคยมีน้ำไหลและน้ำสะอาดมากทีเดียว
ย่านบ้านเรือนหลังวัดราชนัดดาฯ ตลอดไปจนริมคลองออกไปจนถึงหน้าถนนดินสอ ฝั่งตรงข้ามของถนนดินสอคือตรอกศิลป์และตรอกตึกดิน กลุ่มบ้านเหล่านี้มีทั้งพื้นที่ดินส่วนบุคคล ที่ดินวัด และที่ดินในส่วนทรัพย์สินฯ คละกัน บ้านน้าเชษก็อยู่ในที่ดินทรัพย์สินฯ รวมทั้งบ้านขุนวิจารณ์ฯ, บ้านคุณพระศรีฯ ที่เป็นบ้านไม้หลังใหญ่สองสามบ้าน หลังใหญ่และดูสวยมาก แต่ก็เสื่อมไปตามกาลเวลาคือบ้านพระศรี หรือพระศรีสาคร (ช้อย พันธุมสุต) ทำงานอยู่กระทรวงพระคลัง และเป็นคุณพ่อของน้าแพท แห่งลลนา (ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต) ที่เพิ่งสิ้นชีวิตไปไม่นาน
ส่วนบ้านน้าเชษฐ บ้านฝ่ายตายายที่อยู่ก็เป็นหนึ่งในที่ดินพระราชทานแต่เดิมฝ่ายแม่คือในตระกูล ณ ตะกั่วทุ่ง ซึ่งมาพบรักกับพ่อน้าเชษฐที่อยู่แถวแยกคอกวัวในตระกูลปัทมินทร
บริเวณกลุ่มบ้านหลังวัดราชนัดดายังมีคนเก่าๆ ที่เช่าที่ทรัพย์สินอยู่แบบเงียบๆ ส่วนใหญ่เคยเป็นลูกหลานข้าราชการ ที่ทำงานกรมอู่ทหารเรือก็มาก เคยเป็นตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ก็หลายคน บางคนแต่งงานกับคนใกล้ๆ ข้ามตรอกคนละฝั่งถนนก็มี
น้าเชษฐจบมัธยมที่วัดมกุฎกษัตริย์ เหมือนเด็กๆ แถวนี้หลายคน ในแวดวงวัยรุ่นจอมซ่าด้วยกัน น้าเชษฐบอกว่าได้ “เดินเที่ยว” กับพวก แดง ไบเล่ย์, พัน หลังวัง, ปุ๊ ระเบิด, ดำ เอสโซ่, จ๊อด เฮาดี้, แอ๊ด เสือเผ่น, เหลา สวนมะลิ และสารพัด แต่ละคนก็ตัวแสบๆ ในแถบถิ่นฐานบ้านช่องที่อยู่ เพราะจะมีฉายาถิ่นบ้านต่อท้าย
นักเลงสมัยนั้นออกแนวรื่นรมย์ ไปเที่ยวฟังเพลงฝรั่ง ร้อคแอนโรลและเอลวิส เพลสลีย์ ดูหนังฮอลลีวู้ด โดยเฉพาะคลั่งไคล้ เจมส์ ดีน อย่างมากเขม่นก็ตีกัน ส่วนน้าเชษแม้เป็นรุ่นน้องหลายปี แต่การได้เดินไปไหนมาไหนด้วย กับพี่ๆ เหล่านี้ออกจะเท่และรู้สึกว่าเจ๋งกว่าใครในรุ่นเอามากๆ
เด็กรุ่นๆและก๊วนแก็งค์มักจะใช้ร้านกาแฟโกยี บริเวณสี่แยกสะพานวันชาติที่เป็นร้านสะดวกซื้อทุกวันนี้ เป็นสถานที่นัดพบเพื่อรอเวลา ๑๑ โมงเช้า เพื่อไปดูวงดนตรีที่สวนอัมพร จะเต้นรำหรือไปต่อกันที่ไหน น้าเชษฐรอบรู้เรื่องกรุงเทพฯ ยุคต้นๆ กึ่งพุทธกาล รู้ละเอียดและจำได้ทุกย่านทุกตรอก ไปจนที่เที่ยวของหนุ่มๆ และรู้จักคุณหมอเพียร เวชบุล เป็นอย่างดี
น้าเชษฐเล่าว่า เด็กวัยรุ่นนักเลงแถวทั้งหน้าวัดและหลังวัดราชนัดดาฯ กลัวตำรวจแถวนั้นอยู่คนหนึ่ง ที่เป็นนักเขียนดังอยู่ สน.สำราญราษฎร์ กลัวขนาดถ้าเห็นต้องหลบ นักเขียนดังผู้เป็นนายตำรวจท่านนี้เคยใช้ปืนจุดสองสองยิงพวกนั่งราวสะพานข้ามคลองวัดราชนัดดาฯ ตกน้ำตกสะพานมานักต่อนักแล้ว เป็นนายตำรวจประเภทมือถึงตีนถึง งานเขียนทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาวบทความของท่านจึงมีข้อมูลจริงจังและโด่งดังพอๆ กับนักเขียนยุคทองในยุคฟ้าเมืองไทยคือ “พ.ต.อ. ลิขิต วัฒนปกรณ์”

ความเกเรดูจะเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กรุ่นๆ น้าเชษฐ บ้านอยู่ใกล้โรงหนังเฉลิมไทยก็ขายตั๋วผีหาเงินใช้ เดินตั๋วหนังที่โรงหนังบุษยพรรณ ตลาดนานาแถบบางลำพูก็ทำ ที่โรงหนังพาราไดซ์ที่เมื่อก่อนชื่อโรงหนังเฉลิมวันชาติก็เคยทำงานหารายได้พิเศษ จนกลิ่นอายธุรกิจภาพยนต์เข้าเส้น
เมื่อออกจากโรงเรียนในชั้นมัธยมปลายได้ก็อยากเป็นนักแสกงเพราะมีญาติผู้พี่ผู้น้องคือ “จุมพล ปัทมินทร” นายทหาร ดารานักร้องตลกรุ่นล้อต๊อก สมพงษ์ ก๊กเฮง ฯลฯ กับนักแสดงและผู้กำกับดังคือ เริงเมือง ปัมทมินทร สรุปว่าได้เข้าวงการนักแสดงในชื่อ “พร พิษณุ” เล่นหนังในรุ่นเดียวกับสรพงษ์ ชาตรี
แต่ฝ่ายญาติๆ เห็นไม่น่าจะมั่นคงจึงติดต่อให้ไปรับราชการทหาร ที่กองพันสารวัตรทหาร และอยู่มาจนเกษียณอายุ แต่น้าเชษฐก็ยังเล่นหนังไปถึง ๓๐๐ เรื่องได้ โดยเฉพาะเรื่องชุดทหารเกณฑ์ ดูจะเข้ากับชีวิตจริง
น้าเชษฐในปัจจุบันไม่มีลูก แต่เลี้ยงลูกแมวที่เก็บจากข้างทางอย่างรักใคร่ ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก วันนี้อยู่เงียบๆ ที่บ้านซึ่งตนเองเกิดหลังวัดราชนัดดาฯ และคุยสนุกสนานสมเคยเป็นวัยรุ่นชาวพระนครรุ่นใหญ่ตัวจริง
เบี้ยว ตรอกพระยาเพ็ชรฯ / กบ ป้อมมหากาฬ
หากใครยังไม่เคยเห็นกรุงเทพฯ ครั้งที่ยังมีเสน่ห์และชีวิตยังเนิบช้าเมื่อเกือบศตวรรษที่แล้ว ลองไปยืนริมถนนมหาไชย ฝั่งวัดราชนัดนา แล้วเงยหน้าสูงๆ เพื่อมองไปที่ยอดกำแพงที่มีใบเสมาและหมู่ยอดไม้ใหญ่สูงลิ่วเป็นทิวแถวด้านหลังกำแพง ยามเย็นลมพัดจนยอดไม้ใหญ่เอนไหวพลิ้วตามแรงลม ทำจิตสงบนิ่งสักพักก็คงระลึกชาติได้
บริเวณนี้อีกเช่นกัน พวกเราคนกรุงเทพฯ เกือบจะเป็นพยานให้เกิดการทำลายพื้นที่ชานพระนคร พื้นที่อยู่อาศัยสำคัญของคนกรุงเทพฯ ย่านประวัติศาสตร์ที่หากหายไปเป็นสนามหญ้าเสียแล้ว ก็คงจะเรียกทุกอย่างให้กลับคืนไม่ได้ตลอดกาล
ชาวบ้านที่อยู่หลังกำแพงนั้นเอง พวกเขาช่วยกันเก็บพื้นที่สำคัญเหล่านี้ไว้ให้พวกเรา นับแต่พระราชกฤษฎีกาเวนคืนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ ถึงวันนี้ก็ ๒๓ ปี รัฐท้องถิ่น ผู้จัดการพื้นที่ ยังไม่สามารถทำให้บริเวณริมน้ำตรงนี้กลายเป็นสนามหญ้า สวนสาธารณะเหมือนที่อื่นๆ ตามการออกแบบของคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ได้ พวกเราก็เลยยังคงได้เห็นภาพและชื่นชมชีวิตและสภาพเป็นพระนครแบบเดิมๆ ของเราจากบริเวณส่วนที่ถูกเรียกว่า “ชุมชนป้อมมหากาฬ”
พี่กบชื่อจริงคือ “ธวัชชัย วรมหากุล” อายุเข้า ๕๗ ปีแล้ว ร่องรอยความเก๋าอยู่ที่ทรงผมตัดเกรียนรอบศีรษะ แต่ไว้ยาวที่ด้านบน ไว้หนวด ดูเหมือนนักรบชาวบ้านในหนังพวกบางระจันทำนองนั้น มักใส่กางเกงขาก๊วย เสื้อผ้าฝ้ายแขนยาวสีเข้มและหากเพ่งใบหน้าดีๆ จะพบว่ามีรอยแผลเป็นยาวที่หน้าสองสามแห่ง อันหมายถึงคงผ่านช่วงสมรภูมิวัยรุ่นมาไม่น้อยแน่นอน
ตรงบ้านพี่กบ เคยเรียกกันว่า ‘ตรอกพระยาเพ็ชร’ ก็มาจากพระยาเพ็ชรปราณี ข้าราชการกระทรวงวังที่เริ่มตั้งวิกคณะลิเกเล่นอยู่ที่หน้าวัดราชนัดดาในสมัยรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเขียนบันทึกไว้ว่ากำเนิดลิเกเป็นอย่างไร จนเกิดเป็นวิกลิเกที่ถือว่าโด่งดังมากในสมัยนั้น
บ้านพี่กบก็อยู่ในตรอกนี้ คลองเมืองหรือคลองโอ่งอ่างอยู่ด้านหลัง ด้านหน้าก็คงเป็นวิกลิเกพระยาเพ็ชรตั้งแต่สมัยโบราณ พี่กบเล่าว่า บ้านนี้เป็นของทวด พ่อของตา เกินกว่านั้นก็สืบไม่ไหวแล้ว แต่ที่แน่คือ ที่บ้านพี่กบตาอู๋สืบวิชาทำปี่พาทย์ ทำกลองทัด กลองแขก ไปจนถึงกลองเพลตามวัด งานที่ไว้ชื่อลือชาก็คือขุดกลองเจ้าพ่อหอกลองที่นำไปไว้บนชั้น ๓ เมื่อสัก พ.ศ. ๒๕๐๙ คุณทวดของพี่กบคงเป็นคนดนตรีระดับครูในแถบนี้ตั้งแต่แรกมา
ตาอู๋นอกจากเป็นช่างทำปี่พาทย์และถ่วงตะกั่วปี่พาทย์ฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งแล้ว ก็ยังขุดกลองขึงหนึงทำตะโพนไทยมอญ ใช้ลานบ้านและบ่อน้ำทำเองเป็นสถานที่ผลิตเครื่องดนตรีอย่างพิถีพิถัน พี่กบบอกว่าคนมาหาตาทั้งวัน หรือไม่ตาก็ออกไปหาอุปกรณ์พวกหนังวัวแถวคลองเตยบ้าง คนมาหาจากนอกเมืองพวกอยุธยา อ่างทองก็มี มาถึงก็ผูกเรือกับลำไม่รวกที่ปักข้างคลองเดินทางกันแบบนี้เข้ามาหาตากันแบบปากต่อปาก บ้างก็เอาไม้มาให้พร้อม ตามีผู้ช่วยแค่คนเดียว อยู่กันในบ้านนี้เองและบอกสูตรลับทั้งพวกการเคี่ยวรัก การถ่วงตะกั่วให้หมด พี่กบเล่าว่าของพวกนี้เป็นความลับ ขนาดปิดห้องทำกันทีเดียว แม้แต่คนในครอบครัวก็ไม่เคยได้รู้
พี่กบเล่าว่าช่วงเวลาที่คุณตาเสียชีวิต คงเป็นครูที่มีลูกศิษย์มาก คนดนตรีมากันมากมาย ที่พี่พบจำได้ก็มีมาจากทั้งดุริยประณีต เช่น นฤพล หรือครูแจ้ง ก็เคยเห็นมาหากัน พี่กบยังเด็กๆ ไม่ได้อะไรทางดนตรีมาจากตาอู๋เลย ได้แต่ใจนักเลง ช่างคิดและดูเป็นศิลปินหน่อยๆ โตมาในยุคที่เอลวิสกำลังเฟื่อง แถมย่านบางลำพูยังเป็นสวรรค์ของนักเที่ยวทั้งกลางวันกลางคืน
พอถามเรื่องบ้านพี่กบเป็นยังไงหลังคุณตาคุณยายสิ้นแล้ว พี่กบตอบว่า
ไม่รู้สิ ผมไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ออกไปกับแก๊งค์เพื่อน ที่บ้านเป็นยังไงบ้างช่วงนั้นก็จำไม่ค่อยได้แล้ว ..เพราะพี่กบเริ่มได้ฉายาจากเด็กวัยรุ่นทั้งหลายที่เรียกพี่ว่า “ไอ้เบี้ยว ตรอกพระยาเพ็ชร” ประมาณนั้น พอเริ่มเป็นหนุ่ม ชีวิตพี่กบมีแต่แสงสี รอบๆ บ้านที่ตรอกพระยาเพ็ชรก็มีแต่ย่านเริงรมย์ สนุกในวัยหนุ่มเพราะที่เที่ยวที่เล่นสนุกเยอะแยะ เต็มไปด้วยสีสันมากมาย
ราวๆ ต้นๆ ทศวรรษที่ ๒๕๑๐ รุ่นพี่กบนั้นสิงอยู่แถวตลาดนานา นั่งราวสะพานคอเอียงๆ คอยดูว่ามีใครจะกล้าสบตาบ้าง หยอดเหรียญเล่นตู้เพลงหน้าโรงหนังบุษยพรรณ เพลงที่ฟังก็ต้องเพลงฝรั่งอย่างเดียว จะมีใครมาเปิดเพลงลูกทุ่ง เพลงอีสานอะไรที่ไหน พี่กบกล้าลบทิ้ง ให้รู้บ้างถิ่นใคร หลายคนก็คงไม่มีใครอยากมีเรื่องกับแกจริงๆ
พี่กบไปเรียนมัธยมที่วัดมกุฎฯ จนถึงม.ศ. ๔-๕ แม้จะใส่ขาสั้น แต่เรื่องตีกันทั้งช่างกลอุเทนถวายฯ ช่างก่อสร้างดุสิต ฯลฯ ก็ไปรบมาแล้วอย่างโชกโชน ในแก๊งค์ที่มีลูกน้องเดินตาม แต่พี่กบไม่เคยไปยุ่งกับยาเสพติดขนาดผงขาว แม้จะเห็นๆ กันอยู่ เพื่อนๆในกุล่มแก๊งค์ก็ไม่มีใครเอา เพราะแกไม่เอาขนาดนั้นและห้ามทุกๆ คนเสียด้วย
วัยรุ่น วัยร้อนสมัยมักถูกตำรวจเรียกตรวจขากางเกง ถ้าเอาลูกปิงปองยัดใส่ขากางเกงไม่ได้ก็ถูกต้อนขึ้นรถโดนข้อหาเป็นภัยสังคมกันไป ตำรวจกับเด็กวัยรุ่นไม่ชอบหน้ากันมานานแล้ว
นักเลงยุคนั้นไม่มีปืน ไม่มีระเบิด ตีกันอย่างมากก็มีดและไม้ พี่กบบอกว่าที่ชอบไปบางลำพู เพราะมีเพื่อนเยอะมาจากชุมชนรอบๆ บางลำพู ทั้งทางวัดสามพระยา วัดอินทร์ฯ ตรอกไก่แจ้ ตรอกมะยม วัยรุ่นมุสลิมแถวจักรพงษ์มักนุ่งโสร่งมาเที่ยวกัน แต่บางคนในโสร่งก็มีไม้คมแฝกซ่อนไว้ บางคนก็ขึ้นชื่อว่า “ดุ” จนมีชื่อ ไม่มีใครข้ามเขตใคร โดยเฉพาะถ้ามีใครมาจีบสาวๆ แถวบ้านแถวถิ่น แบบนี้ก็มีเรื่องกัน พี่กบเล่าไป หันรอยแผลที่คงเย็บไปเป็นร้อยเข็มให้ดูไป เพราะโดนตีหัวสลบ แกเล่าว่าประเภทสลบหมดสติไปฟื้นที่โรงพยาบาล หรือไปฟื้นอีกวันหนึ่งก็หลายรอบอยู่
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่อาการหนักเกือบตาย เพราะไปโดนแทงเลือดตกในมาจากแถวๆ ตลาดสามยอด พอมาถึงแถวๆโรงหนังคิงส์ย่านที่บอกว่ามันเปรอะเลอะรุงรังสารพัดอย่างก็เจอคนรู้จัก พ่อมีร้านขายหมูพอเห็นแท่งลับมีดปลายแหลมก็คว้าเอามาแทงพุงตัวเองจนเลือดที่คั่งพุ่งออกมาได้ รอดตาย แต่ก็สลบไม่ฟื้นไปเป็นวันๆ
พี่กบใช้ชีวิตแบบนี้จนเริ่มจะเรียนจบ ม.ปลาย ก็คิดอยากเป็นตำรวจ อยากสอบเข้านายร้อยตำรวจสามพราน พอเรียนจบก็ไปบอกแม่ว่าอยากเป็นตำรวจจริงๆ แม่ก็พาไปหา พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุคงชื่น อธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้น เพราะเคยเป็นลูกบุญธรรมของคุณตาอู๋ ปรากฏว่าสอบอะไรก็ผ่าน แต่พอสอบว่ายน้ำเท่านั้นเอง แกว่ายไปได้ครึ่งสระก็เกือบจมน้ำตาย ครูฝึกครูคุมสอบต้องกระโดดไปเอาตัวขึ้นมา เพราะหมดแรง เพราะไม่ค่อยได้พักผ่อน ไม่ได้หลับ อาหารการกินไม่ได้ดูแลตัวเอง เสียใจมาก คิดว่าไม่น่าพลาด แต่มาเป็นเสียแบบนี้
ปีที่สองเตรียมตัวใหม่ เปลี่ยนแปลงตัวเอง ทั้งฟิตร่างกาย ทั้งกินอาหารบำรุง ออกไปวิ่งแทบทุกเช้าคิดว่าอย่างไรเสียก็ไม่ควรจะพลาด ปีนั้นพี่กบผ่านรวดทั้งข้อเขียนทั้งสอบพละ แต่พอมาตรวจร่างกาย เมื่อเขาให้แบมือหงายคว่ำ เท่านั้นเองชีวิตพี่กบกับอนาคตการเป็นนายตำรวจก็ดับวูบลงทันที
ในแก๊งค์วัยรุ่นของพี่กบ ใครอยู่ในแก๊งค์ก็ต้องไปสักพระพิรอดที่กระเดือก ใครๆ ก็สักกระเดือก แต่พี่กบเปลี่ยนมาสักที่ข้อมือ ไม่น่าเชื่อ รอยสักเล็กๆ สัญลักษณ์พระพิรอดที่ข้อมือทำให้ชีวิตเปลี่ยน กว่าจะกล้าบอกแม่ที่นึกและหวังว่าพี่กบจะสอบได้ก็สองวัน พี่กบก็เสียใจแทบไม่เป็นผู้เป็นคน หลังจากนั้นก็ไปเรียนรามฯ เรื่อยๆ ได้ไม่เกินสองปี พี่กบจึงเลิกเรียนไปเด็ดขาด เรื่อยเปื่อยไปจนเกณฑ์ทหารออกมาแล้วทีนี้ก็ได้พบคนรัก คนที่มาเปลี่ยนแปลงชีวิตพี่กบจนไม่เหลือคราบนักเลงหัวไม้อะไรอีก
หลังบ้านหันลงคลองเมืองหรือคลองโอ่งอ่างได้ วันหนึ่งแกพายเรือจะไปจอดพักไว้แถวๆ ทางขึ้นตลาดนานา ก็เห็นหญิงสาวคนหนึ่งหน้าตาน่ารัก ออกมาทำกับข้าวอยู่หลังบ้านตรงข้าม ขายพวกประตูหน้าต่าง วงกบ แกชะเง้อมองเป็น “รักข้ามคลอง” หลังจากแต่งงานแล้วพี่กบบอกว่า พี่กับภรรยาไม่เคยแยกห่างกันอีกเลย
พี่กบเริ่มชีวิตใหม่หลังแต่งงานเมื่ออายุราว ๒๕ ปี ไปเป็นพนักงานขายห้างเซนทรัลชิดลม แต่เงินเดือนน้อยนิด ทำอยู่ราว ๒ ปี หลังจากนั้นก็ไปเป็นพนักงานขายอยู่โชว์รูมรถยนต์นิสสัน และอยู่ยาวจนเป็นผู้จัดการโชว์รูม ชีวิตมนุษย์เงินเดือนของพี่กบมาสะดุดเอาตอนปี ๔๐ เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตกรอบแรก พี่กบได้เงินชดเชยมา ๖ เดือน ก็เป็นอันจบชีวิตชายหนุ่มมนุษย์เงินเดือนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ชาวบ้านที่ป้อมมหากาฬ เริ่มเข้าสู่ช่วงสภาพวิกฤตขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าไม่อยากย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ เช่น ถนนฉลองกรุงอะไรแบบนั้น ชาวบ้านมีแต่อดตาย ผู้คนที่เคยข้าขายในย่านสถานที่สังคมแบบเมืองจะไปปรับตัวอยู่แฟลตหรืออยู่ห่างไกลกันได้แบบนั้นได้อย่างไร
พี่กบเริ่มเข้ามาสู้กับปัญหาอย่างเต็มตัว ย้ายไปไหนก็คงยากแล้ว คนในชุมชนตามที่มีเจ้าของยี่สิบกว่าแปลงถูกจัดการเรียบร้อย แต่คนที่อยู่อาศัยไม่ทราบเรื่องรายละเอียด ส่วนใหญ่ไม่ได้เงินชดเชยจากการปลูกสร้างอาคารเพราะความสับสนดังกล่าว แต่ที่แน่นอนคือเจ้าของที่ตามสิทธิส่วนใหญ่มอบที่ให้ กทม. ไปแล้ว
ราวๆ ปี ๒๕๔๒-๔๓ พี่กบแทบจะเลิกออกไปขายเสื้อยืดสกรีน ครอบครัวเริ่มไม่คุยกันเพราะไม่เข้าใจ ภรรยาพี่กบไม่เห็นด้วยเลย กว่าจะเข้าใจกัน ก็เกือบจะทำให้ครอบครัวแตกกันไปทั้งที่อยู่ไม่เคยห่างและพื้นฐานความรักแน่นหนา
คนหนุ่มสาวในหมู่บ้านหลังกำแพงเมืองหลายคนมีประสบการณ์เดียวแบบพี่กบ บางคนเมื่อต้องมีเวรยามเฝ้าทั้งกลางวัน กลางคืนในช่วงวิกฤต เพราะกลัวทั้งไฟไหม้ และบางครั้งต้องปิดทางเข้าออกตามประตูช่องกุด เหลือเพียงหัวป้อม ท้ายป้อม เมื่อต้องเฝ้าเวรยามขนาดนี้ หลายคนต้องทิ้งงานประจำไปโดยปริยาย คนที่ป้อมมหากาฬสูงวัยขึ้นมา เติบโตขึ้นมาพร้อมกับสถานการณ์เช่นนี้ บางคนเรียนกฎหมาย ไม่ได้ต้องพึ่งนักวิชาการที่ไหนหรือนักพัฒนาเอกชนที่ไหน
จากเด็กหนุ่มเบี้ยวทุกคนเป็นชีวิตจิตใจมาสู่ชีวิตที่ใช้เพื่อการทำงานแข็งขันอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งที่จริงก็คือตรอกพระยาเพ็ชรปราณี ในบ้านที่เป็นสมบัติตกทอดมาจากรุ่นคุณทวดและแหล่งกำเนิดลิเกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ พี่กบและคนหลังกำแพงที่ป้อมมหากาฬ ปรับตัวเอง พัฒนาตนเอง แทบไม่ได้การสนับสนุนอย่างจริงจังจากที่ใด หรือจากองค์กรใดๆ หลายคนพัฒนาตัวเองกลายเป็นองค์กรชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายเรื่องที่อยู่อาศัยที่ถูกไล่รื้อจากทั่วประเทศ พี่กบไม่ได้โดดเดี่ยวแต่กลับมีเพื่อนจากท้องถิ่นต่างๆ ที่เผชิญปัญหาเดียวกันทั้งประเทศและขยายไปสู่เครือข่ายในประเทศอื่นๆ ด้วย ประสบการณ์จากปัญหาของตนเองถูกนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นๆที่กำลังบีบคนจนให้อยู่ยากขึ้น แย่ขึ้นไปจากที่เป็นอยู่และจะทวีความรุนแรงขึ้นเท่านั้นเอง
วันวานยังหวานอยู่ วันนี้ยังมีความทรงจำ
จิ๊กโก๋ยุคหลังกึ่งพุทธกาล หวีผมเรียบแปล้ ไว้จอน ใส่เสื้อลายดอกพับแขนกับขาเดฟ รองเท้าส้นตึก ส่วน “จิ๊กกี๋” มัดมวยผมสูง นุ่งกระโปรงสุ่มไก่ ใส่รองเท้าส้นสูง เลียนแบบดาราฮอลลีวูดในยุคนั้น นั่งรถรางมานัดพบกันที่ “ย่านวังบูรพา” บ้าง “ตลาดสิบสามห้าง ตลาดนานา โรงหนังบุศยพรรณ บางลำพู ฯลฯ เป็นภาพของวัยรุ่นในกรุงเทพฯ ยุคหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ในช่วงที่กำลังรับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่
และแม้แต่ในกลุ่มที่เรียกว่าเพื่อนในวงนักเลงรุ่นเล็กสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มาจนถึงยุคฐานทัพอเมริกันเต็มบ้านเต็มเมืองในยุคสงครามเวียดนาม ทุกวันนี้ยังมีการติดต่อพบปะพูดคุยกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงวันสงกรานต์ที่มารวมตัวกันทำบุญให้ผู้ล่วงลับไปแล้วที่วัดตรีทศเทพอย่างสม่ำเสมอมานานหลายปีแล้ว
รายชื่อทุกคนในกลุ่มแก็งค์ถูกจารึกไว้ในบันทึกความทรงจำในฐานะของเพื่อนน้ำมิตรที่รอดชีวิต รอดคุกตะรางมาด้วยกัน รอดชีวิตจากวงเด็กเกเร วงนักเลงมาเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบทั้งตนเองและครอบครัว หลายท่านเป็นผู้มีชื่อเสียง หลายท่านมีฐานะและการงานอันมั่นคงในกาลต่อมา
เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนจนกลายเป็นมหานครเช่นทุกวันนี้ วัยรุ่นก็ยังไม่เลิกมีเรื่องระรานกันหากเกิดการเขม่น แต่การทะเลาะวิวาทดูจะรุนแรงและเป็นเรื่องใหญ่โตที่มีการใช้อาวุธเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ทั้งปืนและความรุนแรงอื่นๆ ซึ่งทำให้เสียชีวิตกันมากมาย การตั้งเป็นแก๊งค์ต่างๆ ดูจะกลายเป็นกลุ่มอาชญกรรมมากกว่าการรวมกลุ่มเพื่อเที่ยว สนุกสนานตามประสาวัยรุ่น
การห้ามปรามดูแลให้อยู่ในขอบเขตของผู้ใหญ่ในชุมชนต่างๆ การไม่รังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า การรักพวกพ้องในระดับเพื่อนน้ำมิตรที่คบกันไปจนวันตายเช่นนี้ ดูจะหายเลือนไป พร้อมๆ กับการหายไปของชุมชนดั้งเดิมในพระนครกรุงเทพฯ ของเรา
บรรณานุกรม ปราณี กล่ำส้ม. จากพาหุรัดถึงตลาดมิ่งเมือง. วารสารเมืองโบราณ ฉบับที่ ๓๑.๒ ปี ๒๕๔๘ ปุ๊ กรุงเกษม. เดินอย่างปุ๊, สำนักพิมพ์ H.A พิมพ์ครั้งแรก, มีนาคม ๒๕๔๖. ปุ๊ กรุงเกษม. เสื้อลายขวางกับหนังสือเดินทาง ๑/๒ เล่ม (เดินอย่างปุ๊ ๒) สำนักพิมพ์ H.A พิมพ์ครั้งแรก, กันยายน ๒๕๔๖. สุริยัน ศักดิ์ไธสง. เส้นทางมาเฟีย, สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๐.