วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
(เคยพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ตค.-ธค. ๒๕๔๓)
ตำนานและเรื่องเล่าภายในชุมชนหรือท้องถิ่น คือส่วนหนึ่งของ ประเพณีบอกเล่า [Oral tradition] (๑) ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์จากภายในได้อย่างเด่นชัดที่สุด
การศึกษา ตำนานหรือนิทานปรัมปรา [Myth] (๒) และนิทานพื้นบ้าน [Folktale] (๓) สามารถชี้ให้เห็นถึงการแพร่กระจายทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์ในการศึกษาเรื่องตั้งถิ่นฐานและประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของผู้คนท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ
สำหรับในแถบภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีโครงเรื่องคล้ายกัน เริ่มด้วยเกิดปัญหาและความขัดแย้งของกลุ่มคนจบลงด้วยบูรณาการของผู้คนเหล่านั้น ซึ่งได้กลายมาเป็นประชากรพื้นฐานของสยามประเทศในปัจจุบัน สามารถแยกออกเป็น ๓ ประเภท (๔) คือ
๑. กลุ่มนิทานเกี่ยวกับน้ำเต้าปุง หรือตำนานกำเนิดมนุษย์ แพร่หลายในเขตล้านช้างและลุ่มน้ำโขง สะท้อนสำนึกของความต้องการสืบเผ่าพันธุ์ที่เป็นความคิดพื้นฐานของมนุษยชาติ ค่านิยมเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อสภาพแวดล้อม ผู้มีอำนาจ และอำนาจเหนือธรรมชาติ เน้นความสัมพันธ์ระหว่างเผ่าพันธุ์ต่างๆ ว่ามีความเป็นพี่น้องสืบเชื้อสายเดียวกัน ไม่รังเกียจชนต่างชาติและสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอื่นๆ ได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง
๒. ตำนานท้าวฮุ่งหรือขุนเจื๋อง เป็นเรื่องราวในเขตล้านนาทางตะวันออกจนถึงหลวงพระบางและเวียดนาม สะท้อนความขัดแย้งของกลุ่มชนต่างๆ แต่ท้ายสุดสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมีความรู้สึกยกย่องผู้นำที่เป็นวีรบุรุษร่วมกันคือ ขุนเจื๋อง
๓. กลุ่มคนที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นนิทานเกี่ยวกับพระเจ้าอู่ทอง ตาม่องล่ายและเรื่องราวเกี่ยวกับการค้าเรือสำเภาและการเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวต่างชาติ จากบริเวณลุ่มเจ้าพระยาไปจนถึงทางคาบสมุทรภาคใต้

ตำนานการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มใหม่ที่มากับเรือสำเภา
ตำนานใน“กลุ่มที่ ๓” ซึ่งอยู่ในบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างไปจนถึงคาบสมุทรในภาคใต้ กล่าวได้ว่ามีลักษณะที่เป็นตำนานการเริ่มต้นหรือกำเนิดการตั้งถิ่นฐานที่ใดที่หนึ่ง [Genesis myth] ในภาคกลางของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างและภาคใต้แถบชายฝั่ง มีนิทานที่แตกต่างไปจากกลุ่มคนทางตอนในของภูมิภาคดังที่กล่าวไปแล้ว
ตำนานและนิทานพื้นบ้านที่รวบรวมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งที่เป็นการบันทึกไว้จากการบอกเล่าและลายลักษณ์อักษร และบางเรื่องได้กลายเป็นพระราชพงศาวดารซึ่งเป็นบันทึกของรัฐส่วนกลาง มีรายละเอียดของแหล่งที่มาและแบบเรื่องสำคัญ ดังนี้
๑. พระเจ้าอู่ทอง จาก พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ.๒๑๘๒
เจ้าอู่เชื้อสายเจ้าเมืองจีนได้กลายมาเป็นพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑) กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์แรก, ท้าวอู่ทองได้นางประคำทองธิดาเจ้ากรุงจีนเป็นมเหษี
๒. เชื้อสายพระเจ้าอู่ทอง จาก ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช
พระพนมทะเลฯ พระหลานพระเจ้าอู่ทองกษัตริย์กรุงเพชรบุรีพระราชทานฝางให้ขุนล่ามจีน, พระเจ้าร่มฟ้ากรุงจีนให้นางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีศรีทองสมุทรเป็นมเหษี ซึ่งเป็นลูกนางจันทรเมาลีศรีบาทนารถสุรวงศ์ ที่เกิดในดอกหมากและอยู่เมืองจำปาธิปบดี
๓. คุณปู่ศรีราชา จาก บ้านเขายี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสุมทรสงคราม
จีนพี่น้องสามคนโดยสารเรือสำเภาเพื่อมาค้าขาย เรือชนเขายี่สารแตก จีนขานคนกลางกลายมาเป็นคุณปู่ศรีราชา ผู้นำทางจิตวิญญาณของคนยี่สารในปัจจุบันและกลายเป็นคุณปู่ศรีราชา บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งชุมชนยี่สาร
๔.พระเจ้าสายน้ำผึ้ง จาก พงศาวดารเหนือ พระวิเชียรปรีชา(น้อย) รวบรวมเรียบเรียง พ.ศ.๒๓๕๐
พระเจ้าสายน้ำผึ้งได้รับการสนับสนุนจากเจ้าจีนให้แต่งงานกับธิดาหรือนางสร้อยดอกหมากซึ่งต่อมากลั้นใจตายด้วยความน้อยใจ ที่เผาศพจึงสร้างวัดพระเจ้าพะแนงเชิงเป็นอนุสรณ์
๕. เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หนังสือที่ระลึกงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าเล่งจูเกียง จังหวัดปัตตานี, มูลนิธิเทพปูชนียสถาน

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่ย้ายจากชายฝั่งเข้ามาประชิดมัสยิดกรือเซะ
การแต่งงานระหว่างลิ้มเต้าเคี่ยนและนางพญาปัตตานี โดยลิ้มเต้าเคี่ยนเปลี่ยนมานับถืออิสลาม ทำการหล่อปืนใหญ่ เมื่อลิ้มกอเหนี่ยวน้องสาวมาตามให้กลับเมืองจีนแต่ไม่ยอมกลับจึงเสียใจผูกคอตาย กลายเป็นเจ้าแม่ที่ศักดิ์สิทธิ์ นักเดินทางทางเรือและชาวบ้านนับถือกันมาก
จาก พงศาวดารเมืองปัตตานี,พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) เรียบเรียง
จีนเคี่ยมหรือหลิมโต๊ะเคี่ยม ได้ภรรยาชาวมลายู เปลี่ยนมานับถืออิสลามและเป็นผู้หล่อปืนใหญ่ถวายนางพญาปัตตานี เกาเนียวผู้เป็นน้องสาวมาตามแต่ไม่ยอมกลับจึงผูกคอตาย และกลายเป็นเจ้าแม่ที่ชาวเรือและผู้คนนับถือกันทั่วไป หลิมโต๊ะเคี่ยมเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านกรือเซะ
๖. มหาเภตรา สำนวนจาก “สมุดราชบุรี” บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙
เรือสำเภาบรรทุกผู้คนทั้งชาวพื้นราบและชาวเขามากับเรือสำเภา ภายหลังเรือสำเภาล่ม คนที่รอดตายกลายมาเป็นบรรพบุรุษตั้งถิ่นฐานที่เทือกเขาเจ้าลาย
๗. ตาม่องล่าย, เจ้ากงจีน และเจ้าลาย สำนวนจาก “สมุดราชบุรี” บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙
การยกขันหมากแย่งชิงลูกสาวเจ้าเขาตาม่องล่ายระหว่างเจ้ากรุงจีนและเจ้าลาย ผลปรากฏไม่มีใครได้ไป และต้องสูญเสียเข้าของสินสอด และกลายเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ ในอ่าวไทยตอนใน เมื่อน้ำทะเลแห้งหายไปแผ่นดินเริ่มปรากฏ เจ้าเขาทั้งหลายก็สืบทอดวงศ์วานของตนเองสืบมา

สำนวนจาก “นิราศตังเกี๋ย” ของหลวงนรเนติบัญชกิจ, พ.ศ.๒๔๓๐
การแย่งชิงนางโดย ลูกสาวตาบ้องไล่และยายรำพึง โดยเจ้ากรุงจีนและเจ้าลาย จบลงที่นางโดยถูกฉีกตัวแบ่งครึ่งด้วยความโมโหของตาบ้องไล่ สินสอดต่างๆ และตัวนางโดย นางรำพึง เจ้าลาย กลายเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ ในอ่าวไทยทั้งสองฝั่ง
๘. นางรุมสายสก ปิยะพร เรียบเรียง, ๒๕๓๒
เจ้าราชกุลแห่งเขาดงเร็กยกขบวนขันหมากทางเรือสำเภามาสู่ขอนางผมหอมธิดาเจ้าเมืองจันทบุรีหรือนางรุมสายสก นางจำปาผู้เคยเป็นเมียเก่าใช้จระเข้ทำลายขบวนขันหมาก ภายหลังน้ำทะเลแห้งลง จบลงด้วยการตายกลายเป็นภูเขาและชื่อสถานที่ต่างๆ ของพื้นที่ระหว่างชายแดนไทยและกัมพูชา
๙. นิยายพื้นเมืองลพบุรี จาก ลพบุรีที่น่ารู้, หวน พินธุพันธุ์ รวบรวม, ๒๕๑๕
การแย่งยกขบวนขันหมากของเจ้ากรุงจีนมาสู่ขอนางนงประจันคนรักเดิมแปลงกายเป็นจระเข้ทำลายขบวนเรือขันหมาก และของหมั้น จระเข้ นางนงประจันและสำเภาจีนกลายเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ แถบนั้น
๑๐. นิยายแถบนครสวรรค์และสุพรรณบุรี จากพระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ ,พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
นางคนหนึ่งบ้านอยู่ดอนคา มีคนมาสู่ขอแก่พ่อคนหนึ่งและแม่คนหนึ่ง ที่เขาพนมเสพ พ่อแม่จึงวิวาทกันนางตัดนมทิ้งข้างหนึ่งและไปบวชที่เดิมบาง จึงกลายเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ ในนครสวรรค์และสุพรรณบุรี
จากตำนานและนิทานพื้นบ้านทั้งหมด สามารถสรุปแบบเรื่องได้ ๔ ประเภท คือ
๑. บุคคลเชื้อสายเจ้าจีนหรือพ่อค้าเรือสำเภา ได้กลายมาเป็นผู้นำของบ้านเมืองในเขตคาบสมุทรชายฝั่งและลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
๒. การแต่งงานระหว่างผู้นำชาวพื้นเมืองและธิดาเจ้าจีน หรือการแต่งงานระหว่างชายจีนผู้มีความสามารถและหญิงชาวพื้นเมือง
๓. เจ้าจีน(ผู้มีสัมพันธ์กับกษัตริย์จีน) หรือพ่อค้าสำเภาชาวจีนผู้ร่ำรวยต้องการสู่ขอหญิงพื้นเมืองโดยการยกขันหมากมาแข่งขันกับชายคนรักชาวพื้นเมือง โดยขอผ่านฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่อย่างละคน จนเกิดการทะเลาะแย่งชิงกัน
๔. สำเภาชนเขาเรือแตกคนรอดตายกลายเป็นบรรพบุรุษของคนที่อาศัยในปัจจุบัน
การเปรียบเทียบหาความสัมพันธ์ของนิทานท้องถิ่นหรือตำนานในกลุ่มลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างและชายฝั่งทะเล
๑. นอกจากเรื่อง “มหาเภตรา” ที่แสดงถึงบูรณาการกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเขตเพชรบุรีว่า ทั้งคนชาวเขาและชาวพื้นราบต่างอาศัยเรือสำเภาลำใหญ่มหึมาด้วยกันทั้งสิ้น เป็นการแสดงออกทางนัยะถึงคำถามและคำตอบเกี่ยวกับการหาแหล่งที่มาของผู้คนในท้องถิ่นนั้นว่า “บรรพบุรุษของตนเคลื่อนย้ายมากับเรือสำเภา”
ก็ไม่มีความคิดหาเหตุผลเกี่ยวกับกำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ ในตำนานหรือนิทานท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดของกลุ่มคนในเขตผืนแผ่นดินภายใน (ดังตำนานในกลุ่มที่ ๑ และ ๒) แสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในแถบล่มเจ้าพระยาและชายฝั่งมีความเข้าใจและมีคำตอบดังกล่าวอยู่แล้วในระดับหนึ่ง
๒. จากเนื้อเรื่องของตำนานพระเจ้าอู่ทองหรือท้าวอู่ทอง สามารถกำหนดเวลาในตำนานได้กว้างๆ ว่า อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ อันเป็นช่วงเวลาของการรวบรวมแว่นแคว้นในเขตลุ่มเจ้าพระยาก่อนเกิดศูนย์กลางการปกครองที่กรุงศรีอยุธยา และภายหลังจากความรุ่งเรืองของการค้าทางทะเลของจีนถึงขีดสุดในช่วงสมัยราชวงศ์ซุ้ง ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖–๑๙
๓. ทั้งสามกลุ่มแบบเรื่องแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เป็นเรื่องของ ความสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นเมืองที่มีอยู่เดิมกับคนกลุ่มใหม่ที่มาจาก “จีน” โดยใช้ “เรือสำเภา” เป็นพาหนะติดต่อระหว่างภูมิภาค กลุ่มคนจีนเหล่านี้ไม่ระบุว่ามาจากที่ใดของประเทศจีน แต่ควรจะเป็นบริเวณที่ติดทะเลทางใต้ซึ่งมีหลายแห่ง มักจะมีหัวหน้าหรือผู้นำที่มีเชื้อสาย “เจ้า” ที่มีความสามารถแต่ต้องพลัดบ้านพลัดเมืองมาหรือไม่ก็เป็นพ่อค้าสำเภาร่ำรวย อันเป็นเหตุผลที่ทำให้ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้นำชาวพื้นเมือง และในบางสำนวน เช่น พงศาวดารฉบับของวันวลิต ชาวจีนโพ้นทะเลนี้ได้กลายมาเป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรใหญ่ในเวลาต่อมา คือ กรุงศรีอยุธยา
ความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่งคือ การแต่งงานระหว่างกษัตริย์พื้นเมืองและธิดากษัตริย์จีน ซึ่งเป็นลักษณะการผนวกความสัมพันธ์ระหว่างของบ้านเมืองต่างๆ ในแถบนี้ อันเป็นประเพณีที่ได้รับการยอมรับมานานแล้ว
๔. ความคิดที่ปรากฏในตำนานให้คุณค่าของมนุษย์ที่วัตถุ อย่างมาก ลักษณะของผู้นำที่ปรากฏคือ มีความเก่งกล้า แต่ฉลาดแกมโกง ไม่ยึดถือคุณธรรม ความซื่อสัตย์ อันเป็นลักษณะของวัฒนธรรมพ่อค้ามากกว่าที่จะเป็นผู้นำแบบนักรบหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ
๕. การกระจายของนิทานท้องถิ่นในโครงเรื่องแบบที่ ๓ คือ การแข่งขันยกขันหมากทางเรือสำเภาของเจ้ากงจีนและชายชาวพื้นเมือง จนเกิดรบกันจนขบวนขันหมากกลายเป็นเกาะและภูเขาต่างๆ ในท้องถิ่น เป็นเรื่องที่แพร่หลายที่สุด
เรื่องตาม่องไล่ ที่เกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นอ่าวไทยภายใน ซึ่งเป็นเขตชายฝั่งทะเล พบว่าเล่ากันอย่างแพร่หลายจนกระทั่งปัจจุบัน พบว่ามีโครงเรื่องคล้ายกันนี้บริเวณภาคตะวันออกของไทยต่อกับเขตกัมพูชาใกล้เขตฝั่งทะเลเช่นกัน และภายในผืนแผ่นดินที่ท้องที่ในจังหวัดลพบุรี เขตนครสวรรค์ต่อกับชัยนาทและสุพรรณบุรี
บริเวณเหล่านี้มีภูเขาที่เหมาะแก่การเป็นจุดสังเกตในท้องถิ่นหลายแห่ง และเป็นบ้านเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี จนถึงสมัยอยุธยา ในบริเวณจังหวัดลพบุรี
ส่วนเขตนครสวรรค์ต่อกับชัยนาทและสุพรรณบุรีก็เป็นบริเวณที่มีลำห้วยลำคลองติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมในระหว่างแถบนครสวรรค์กับทางสุพรรณบุรี และเป็นบริเวณที่มีชุมชนสมัยทวารวดีอยู่ในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนไม่น้อย ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า พ.ศ.๒๔๕๑ กล่าวถึงทางน้ำเก่าในเขตอำเภอพยุหะคีรีในปัจจุบันว่า
“ลำน้ำเดิมในเขตต์สุวรรณภูมิ เห็นจะมาร่วมน้ำลพบุรีที่นครสวรรค์ซึ่งเป็นที่แอ่งลึก น้ำข้างตะวันออกและข้างตะวันตกกัดเข้ามาร่วมกันเป็นแม่น้ำเดียว กับที่มโนรมย์ก็มาร่วมกันอีกแห่งหนึ่ง ฝั่งตะวันออกเป็นฝั่งสูง ข้างตะวันตกเป็นท้องทุ่งที่น้ำหักออกมา แต่ก่อนคงจะลงมาจากกำแพงเพ็ชรถึงอุทัยธานีลงไปสุพรรณ ไม่มีนครสวรรค์ ไม่ถูกเมืองพยุหคีรี มโนรมย์ และชัยนาทเป็นคนละลำน้ำ”
ซึ่งพ้องกับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มบ้านเมืองสมัยก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองที่ปรากฏหลักฐานในจารึกหลักที่ ๑ กรุงสุโขทัย จะสัมพันธ์ติดต่อกับทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน จากสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย สู่เมืองแพรกศรีราชา สุพรรณบุรี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช แนวทางการติดต่ออยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน
มีข้อน่าสังเกตว่า โครงเรื่องแม้จะเกิดเหตุขึ้นในทะเล มีขบวนเรือสำเภาเป็นองค์ประกอบหลัก แต่การแพร่กระจายของเรื่องเล่าประเภทนี้ก็เกิดขึ้นในแผ่นดินภายในด้วย ทำให้ทราบว่ามีร่องรอยของการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในท้องถิ่นภายในกับนักเดินทางหรือชาวเรือในอ่าวไทยที่ต้องเดินเรือเลียบชายฝั่งทั้งตะวันตกและตะวันออกของอ่าวไทย ที่อาจกล่าวได้ว่า ย้อนกลับไปได้ถึงสมัยทวารวดีจนถึงสมัยลพบุรีเป็นต้นมา
๖. ตำนานในเนื้อหาที่เกี่ยวกับ วีรบุรุษทางวัฒนธรรม [Culture hero] จัดเอากลุ่มเรื่องเจ้าอู่หรือท้าวอู่ทองเป็นผู้นำคนสำคัญ ส่วนผู้นำทางวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่นหรือชุมชนได้แก่ ตำนานคุณปู่ศรีราชา และทั้งสองเรื่องเริ่มต้นจากเป็นพ่อค้าจีนหรือนักผจญภัยที่มากับเรือสำเภา
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท้าวอู่ทองที่เป็นพ่อค้าเดินทางรอนแรมไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น ที่สามโคก บริเวณวัดมหิงสารามซึ่งเป็นวัดร้าง เหนือบ้านสามโคกราว ๓-๔ กิโลเมตร ห่างจากฝั่งน้ำเจ้าพระยาราว ๒ กิโลเมตร บริเวณนี้ปรากฏหลักฐานโคกเนินและเศษภาชนะดินเผาหลากแหล่งที่มาและมีอายุเก่าไปถึงราชวงศ์ซุ้งและราชวงศ์หยวน
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตเท้าอู่ทองหนีโรคห่ามา ได้อพยพคนผ่านแถวนี้ ใกล้ค่ำเกวียนที่บรรทุกสำภาระเข้าของเงินทองชำรุดลง ต้องใช้เครื่องมือซ่อมให้ทันการ จึงออกปากหยิบยืมเครื่องมือจากชาวบ้านแถบนั้น แต่ไม่มีผู้ใดให้ความช่วยเหลือ ท้าวอู่ทองโกรธมาก คืนนั้นจึงแอบฝังทรัพย์สมบัติทั้งเล่มเกวียนไว้ในบริเวณวัด และสาบแช่งไม่ให้ผู้ใดในได้สมบัติไปได้เลย เล่ากันว่าในสระใหญ่ข้างโบสถ์วัดมหิงสารามในวันดีคืนดี จะมีผู้พบเห็นเป็ดเงินเป็ดทองมาว่ายอยู่ในสระ แต่ก็ไม่สามารถจับได้ (๕)

ตำนานนี้ สุนทรภู่เมื่อเขียน นิราศวัดเจ้าฟ้า เดินทางผ่านสามโคกก็กล่าวถึงไว้ว่า
พอเลยนาคบากหน้าถึงสามโคก เป็นคำโลกสมมุติสุดสงสัย
ถามบิดาว่าผู้เฒ่าท่านเล่าไว้ ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์
หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ
พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง
ส่วนเรื่องเล่าถึงท้าวอู่ทองที่คลองบางขนุน ต่อกับคลองแม่น้ำอ้อมซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ก็มีเรื่องราวคล้ายๆ กันว่าท้าวอู่ทองหนีภัยโรคห่ามาสร้างวัดไว้ เช่น ที่วัดยาง เมื่อท้าวอู่ทองไปถึงได้ประกอบพิธีโสกันต์พระธิดาวัดนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดยั้ง เล่ากันว่ามีเนินดินที่เป็นโคกใช้ประกอบพิธีโสกันต์อยู่ และยังปรากฎในนิราศพระประธม ของสุนทรภู่ว่า
บางขนุนขุนกองมีคลองกว้าง ว่าเดิมบางชื่อถนนเขาขนของ
เป็นเรื่องหลังครั้งคราวท้าวอู่ทอง แต่คนร้องเรียกเฟือนไม่เหมือนเดิม
ทั้งบริเวณที่วัดมหิงสาราม เขตสามโคก และบางขนุนบางขุนกอง แถบคลองแม่น้ำอ้อม ต่างก็เป็นชุมชนเก่าแก่ซึ่งอยู่ในเส้นทางน้ำเก่าซึ่งใช้เดินทางสมัยโบราณ
นอกจากนี้ ยังมีแนวคันดินโบราณ ซึ่งเป็นแนวสันทรายเดิมที่เรียกว่า ถนนท้าวอู่ทอง เริ่มจากเมืองคูบัวตรงมาจนเกือบถึงเมืองเพชรบุรี ทั้งมีชุมชนเล็กๆ สมัยทวารวดีในบริเวณใกล้เคียง เป็นแนวคันดินโบราณ และมีเรื่องเล่าประกอบที่ชาวบ้านในละแวกนั้นยังพอจดจำได้
เรื่องราวของท้าวอู่ทอง มักจะมีการกล่าวถึงห่าลงหรือโรคระบาดติดต่อเป็นสาเหตุให้เกิดการอพยพมาสร้างชุมชนขึ้นใหม่ อาจเป็นโรคระบาดที่เป็นสาเหตุในการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มใหม่ที่อพยพเข้ามาก็เป็นได้
๗. เรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าสายน้ำผึ้งและนางสร้อยดอกหมากกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและลิ้มเต้าเคี่ยน เรื่องแรกแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดพนัญเชิง หรือที่ชาวจีนผู้นับถือผูกเรื่องเล่าและเรียกหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงกันว่า ซำปอกง หรือ ซำปอฮุดกง (๖) ที่ตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงนางสร้อยดอกหมากธิดาเจ้าจีน แม้เรื่องหลังคือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจะสามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในราวสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯและสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่ก็ได้กลายเป็นตำนานที่มีความศักดิ์สิทธิ์และมีหน้าที่ทางสังคมอย่างชัดเจน
หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง
ทั้งสองเรื่องแสดงถึง ความสัมพันธ์อันดีระหว่างชนชาวพื้นเมืองไม่ว่าจะเป็นในระดับผู้นำท้องถิ่นหรือชาวมุสลิมแถบคาบสมุทรและชาวจีนผู้เข้ามาใหม่
กล่าวได้ว่าชุมชนในเขตลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างและแถบคาบสมุทรเกิดขึ้นจากการการผสมกลมกลืนของชาวพื้นเมืองและการเข้ามาเผชิญโชคของชาวจีนชายฝั่งทางตอนใต้หลายยุคหลายสมัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนชายฝั่งทะเลตลอดไปจนถึงคาบสมุทรภาคใต้ มีความเคลื่อนไหวในการผสมผสานของผู้คนต่างกลุ่มต่างชาติพันธุ์มาโดยตลอด นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์บันทึกผ่านกระบวนการบอกเล่าในตำนาน จนถึงการบันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ผู้คนทั้งหลายในแถบภูมิภาคนี้เกิดการผสมผสานตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนจนเป็นพลเมืองของสยาม และกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทต่อการค้าภายในตลอดจนการค้าอย่างเข้มข้นเพื่อการส่งออกในยุคสมัยต่อมา
การเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยาในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สัมพันธ์กับตำนานเรื่องเล่าดังที่กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการมีอิทธิพลของคนกลุ่มใหม่ นั่นคือ ชาวจีน ที่เคลื่อนย้ายอพยพเข้ามากับเรือสำเภา ประกอบกับเหตุการณ์ของบ้านเล็กเมืองน้อยในยุคนั้นที่พัฒนาเข้าสู่การแสวงหาศูนย์กลางแห่งใหม่ระดับนครรัฐ ที่สามารถรองรับคลื่นของพัฒนาการการเป็นเมืองท่า [maritime state] จากอิทธิพลของการค้าทางทะเลที่เริ่มจะมีบทบาทสูงต่อนครรัฐต่างๆ ในภูมิภาคนี้
การสังสรรค์ทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม ผ่านการผสมผสานจากกลุ่มคนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะคนจีนผู้มาใหม่กับคนพื้นเมืองผู้อยู่มาก่อน คือรากฐานของวัฒนธรรมบ้านเมืองในเขตลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจรัฐมาจนทุกวันนี้
เชิงอรรถ
(๑) ประเพณีบอกเล่า หรือ oral tradition เป็นแหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอดีต ได้แก่ คำบอกเล่าลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำนาน นิทาน ความทรงจำเกี่ยวกับสายตระกูล ความเชื่อ พิธีกรรม ซึ่งเป็นประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของสังคมที่ยังไม่มีภาษาเขียน หรือมีภาษาเขียนแต่ยังคงมีการถ่ายทอดประเพณีเช่นนี้อยู่
(๒) ตำนาน [Myth] เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนในสังคมให้ความเคารพยำเกรง มักจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตและถูกเล่าจนแตกต่างไปในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายทอดจากปากสู่ปากก่อนที่จะเริ่มมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้เนื้อเรื่องเปลี่ยนแปลงไปได้จนมีหลายสำนวนแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน
(๓) ส่วนนิทานพื้นบ้าน [folktale] แม้จะมีกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม แต่ก็ไม่ได้เป็นตัววางหลักเกณฑ์ทางสังคมเช่นตำนาน นิทานพื้นบ้านแสดงให้เห็นการแพร่กระจายของวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่วัฒนธรรมหนึ่ง จึงปรากฏว่าตำนานของอีกวัฒนธรรมหนึ่งได้กลายเป็นนิทานพื้นบ้านของอีกวัฒนธรรมหนึ่งก็เป็นไปได้
(๔) ปรานี วงษ์เทศ. “สำนึกเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ของชาวอุษาคเนย์” สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์: ๒๕๔๓, หน้า ๒๘๔-๓๑๔
(๕) วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย, ท้าวอู่ทองที่สามโคก เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนในพื้นที่ ตำนานนี้จึงบันทึกจากคำบอกเล่าจากย่าของตนเองในวัยเด็ก
(๖) เรื่องเกี่ยวกับซำปอกง หรือหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงมีรายละเอียดว่าเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ มีชื่อและตำนานต่างๆ กัน เช่นในราชวงศ์ซ่งมีชื่อว่า ตูกง [Du Gong] ชาวเรือจะสวดมนต์ขอให้เทพเจ้าตูกงคุ้มครองให้การเดินเรือปลอดภัย ส่วนชื่อ นากง [Na Gong] เกิดขึ้นในราชวงศ์หมิงถึงชิง เนื่องจากมีความเชื่อว่าเทพองค์นี้เป็นกลาสีเรือชาวฟูเจี้ยน ธรรมดา ตาปอกง [Da Bo Gong] จะมีลักษณะเป็นคนแก่ใจดีเคราขาว หรือหัวล้านสายตาอ่อนโยนแก้มแดง มือซ้ายถือเงินหรือทอง มือขวาถือไม้เท้า