วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ตลาดนางเลิ้งเกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ชานพระนครทางด้านตะวันออกที่ต่อเนื่องมาจากการสร้างพระราชวังและวังสวนดุสิตทางด้านทิศเหนือนอกพระนครที่อยู่ระหว่างคลองเมืองผดุงกรุงเกษมและคลองสามเสน ในช่วงทศวรรษที่ ๒๔๔๐ และเป็นตลาดบกแห่งใหม่ที่เป็นอาคารตึกของหลวงให้เช่าริมถนนและตลาดสดอาคารโถง ที่มีการมหรสพเสริมสร้างต่อเนื่องในระยะต่อมา ผู้ค้าขายส่วนใหญ่เป็นชาวจีนกลุ่มต่างๆ และเรียกตลาดบกแห่งใหม่ของพระนครทางฟากตะวันออกนี้ว่า “ซิงตั๊กลั๊ก” หรือ “ตลาดใหม่” ที่คู่กับตลาดเก่าเยาวราชย่านการค้าแต่เดิมของคนจีนที่สืบเนื่องมาจากตลาดสำเพ็งตั้งแต่ครั้งต้นกรุงฯ ส่วนชื่อที่ชาวพระนครเรียกกันโดยทั่วไปของตลาดแห่งนี้คือ “ตลาดนางเลิ้ง”
การขยายพื้นที่เมืองฝั่งตะวันออกในรัชกาลที่ ๕
ในรัชกาลที่ ๔ นอกจากโปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองเมืองรอบพระนครเป็นคลองชั้นนอก พระราชทานนามคลองขุดใหม่นี้ว่า “คลองผดุงกรุงเกษม” (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๓๙๕) ถือเป็นยุคสมัยที่ทำให้พื้นที่ชานพระนครกลายเป็นพื้นที่ในเมืองที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางรวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๓ ตารางกิโลเมตร นอกจากพื้นที่อยู่อาศัยของขุนนางข้าราชการทางฝั่งธนบุรีแล้วก็ได้เริ่มตัดถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร และถนนขวางหรือถนนสีลม (พ.ศ. ๒๔๐๔-๒๔๐๗) และชักชวนให้ผู้มีทรัพย์สร้างสะพานข้ามคลองที่มีชุมชนชาวต่างชาติและมีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่มากกว่าพื้นที่อื่น นับเป็นการขยายเมืองเพิ่มเติมเนื่องมาจากการขุดคลองแต่เดิม
ต่อมาคหบดีในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยใช้บริษัทขุดคลองและคูนาสยามที่ขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์ขุดคลองและตัดถนนเพื่อพัฒนาที่ดินทางตอนใต้ของพระนครสัมพันธ์กับถนนที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ แล้วถวายให้เป็นทางสาธารณะในช่วง พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๔๕๐ เช่น คลองและถนนสาทรของหลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) ถนนสุริวงศ์กับถนนเดโชของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ถนนสี่พระยาของคณะบุคคลที่นำโดยพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ม.ร.ว. ลพ สุทัศน์) ถนนรองเมืองของพระยาอินทราธิบดีฯ ถนนคอนแวนต์ ถนนสุรศักดิ์กับถนนประมวญของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) และถนนพิพัฒน์ของพระยาพิพัฒโกษา (เซเลสติโน ซาเวีย) เป็นต้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนครเติบโตขึ้นมากเมื่อมีการสร้างพระราชวัง วัง ขุดลอกคลองเดิม ขุดคลองใหม่เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคม สร้างสะพานข้าคูคลองต่างๆ สร้างสถานีรถไฟหัวลำโพงที่ด้านนอกเมือง ตัดถนนเพื่อเป็นย่านการค้า ย่านอยู่อาศัยและอำนวยความสะดวก
ในช่วงราว พ.ศ. ๒๔๔๑ ภายหลังจากเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรก จึงเริ่มมีการสร้างพระราชวังดุสิตในพื้นที่สวนและทุ่งนาบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นับจากคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนเพื่อเสด็จออกพักเป็นที่ประทับร้อน ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสามเสน, ถนนราชดำเนินใน, ถนนราชดำเนินนอก เพื่อเชื่อมต่อ “วังสวนดุสิต” เข้ากับพระบรมมหาราชวังและพื้นที่อื่นๆ และโปรดให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี มาสร้างที่วังสวนดุสิตและพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งวิมานเมฆ” เมื่อยังมีผู้คนตั้งบ้านเรือนไม่หนาแน่นนักจึงสามารถตัดถนนเพิ่มเติมได้อีกหลายสาย โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงโยธาธิการสร้างถนนอีกหลายสายทางด้านเหนือของพระนคร แต่ถนนในวังสวนดุสิตและถนนที่อยู่ใกล้วังเจ้านายบางพระองค์สร้างด้วยเงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กับเงินของท่านเจ้าของวังนั้นๆ รวมทั้งผาติกรรมวัดร้างและวัดดุสิตเดิมแล้วบูรณะปฏิสังขรณ์ให้เป็นวัดเบญจมบิตรในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๑
ชื่อถนนและสถานที่บางแห่งรอบพระราชวังดุสิตในเวลานั้นมีความหมายอันเป็นมงคลตามความเชื่อของชาวจีน จากลวดลาย “ฮก ลก ซิ่ว” ที่นิยมจัดเป็น “เครื่องโต๊ะกิมตึ๋ง” จึงกล่าวได้ว่าเป็นการสืบทอดธรรมเนียมการตั้งชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการประกาศเปลี่ยนนามถนน ๑๘ สายในพระนคร โดยถนนลกได้ชื่อว่าถนนพระรามที่ ๕ เพื่อระลึกถึงกษัตริย์ผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิต ส่วนถนนอื่นๆ โดยรอบก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเช่น ถนนซางฮี้เป็นถนนราชวิถี ถนนเบญจมาศเป็นถนนราชดำเนินนอก ถนนราชวัตเป็นถนนนครชัยศรี ถนนดวงตวันคือถนนศรีอยุธยา ถนนคอเสื้อคือถนนพิษณุโลก ถนนดวงดาวคือถนนนครราชสีมา ถนนดวงเดือนคือถนนศุโขทัย ถนนประแจจีนคือถนนเพชรบุรี ถนนใบพรคือถนนอู่ทอง (นอก) เป็นต้น
นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษที่ ๒๔๔๐ นั้น บริเวณสองฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมรวมถึงบริเวณย่านถนนหลานหลวงยังมีการสร้างวังพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอที่เริ่มสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ พระราชวงศ์และขุนนางอีกหลายแห่ง

พระตำหนักภายในพระราชวังดุสิต ในภาพคือพระตำหนักสวนหงส์ รัชกาลที่ ๕ พระราชทานแด่สมเด็จ พระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา)
เริ่มตั้งแต่ฝั่งนอกเมืองปากคลองผดุงกรุงเกษมมีวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถหรือ “วังเทเวศร์” บริเวณป้อมหักกำลังดัสกรเดิม ฝั่งในพระนคร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘, วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ใกล้เชิงสะพานฝั่งนอกพระนคร สร้างเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๐, วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี ฝั่งนอกพระนครที่ไม่เหลือร่องรอยพระตำหนักแล้ว ปัจจุบันเป็นบริเวณตลาดจันทร์ประวิตรและบางส่วนของลานจอดรถและทำการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์หรือ “วังลดาวัลย์หรือวังแดง” ฝั่งนอกพระนคร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙, วังจันทรเกษม ฝั่งนอกพระนคร พระราชทานที่ดินและเงินเพื่อสร้างวังที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร และหลังจากรัชกาลที่ ๕ สวรรคตแต่ก็ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ, วังนางเลิ้ง ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ฝั่งในพระนคร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓, วังไชยา ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส นอกพระนคร ฝั่งเยื้องกับวังนางเลิ้ง, วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรหรือวังสะพานขาว ฝั่งในพระนคร สร้างเมื่อ พ.ศ. , วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชหรือวังมหานาค ฝั่งในพระนคร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐, วังไม้ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร นอกพระนคร ฝั่งมาทางวัดเทพศิรินทร์
นอกจากนี้บริเวณฝั่งในพระนครใกล้สะพานขาวยังพระราชทานบ้านพร้อมที่ดินให้ขุนนางท่านหนึ่งคือ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เรียกว่าบ้านสุริยนุวัตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ส่วนวังวรดิศสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓
พระตำหนักและวังทั้งหลายที่สร้างในช่วงนี้ล้วนใช้ทีมสถาปนิกและวิศวกรที่เข้ามาทำงานประจำในกรมโยธาธิการเป็นส่วนใหญ่ และหากตลาดนางเลิ้งสร้างโดยกรมโยธาธิการก็อาจจะเป็นการออกแบบโดยสถาปนิกชาวต่างชาติในรุ่นเดียวกันนี้
ดังนั้นการสร้างตลาดบกที่นางเลิ้ง จึงเป็นส่วนหนึ่งของการขยายพื้นที่เมืองมายังฝั่งตะวันออกของพระนคร หลังจากขยายมาทางทิศเหนือที่มีการก่อสร้างพระราชวัง วัง และวัดอย่างขนานใหญ่ในช่วงราวทศวรรษ ๒๔๔๐
เมื่อก่อสร้างอาคารตึกสองชั้นทั้งสองฝั่งถนนนครสวรรค์ ตึกชั้นครึ่งที่ดูเหมือนจะสร้างไว้เพื่อเป็นโกดังให้เช่าเก็บเข้าของทั้งสามด้านที่ไม่น่าจะใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยได้สะดวกนักและอาคารโถงตลาดสดที่อยู่ตรงกลาง ตลาดนางเลิ้งอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดโสมนัสวิหารและฝั่งเดียวกับวัดแค นางเลิ้ง หรือวัดสุนทรธรรมทาน ในพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “ย่านสนามควาย”

แผนที่เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๗๔ แสดงบริเวณรอบๆ ตลาดนางเลิ้ง พื้นที่สีแดงแสดงถึงอาคารที่เป็นตึก ส่วนสีดำแทนอาคารไม้ จะเห็นตึกแถว สองฝั่งถนนนครสวรรค์ และขยายมายังริมถนนกรุงเกษมและทางฝั่งซ้ายของถนนศุภมิตร ตัวตลาด เป็นอาคารไม้และมีกากบาท และมีอาคารตึกแบบชั้นครึ่งที่เป็นโกดังรายรอบสามด้าน ส่วนอาคารสีดำทึบแสดงโรงหนังเฉลิมธานี เหนือฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมยังเห็นสภาพสมบูรณ์ของวังนางเลิ้งของ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ วังไชยา ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาสในฝั่ง ตรงข้าม
ตลาดนางเลิ้งเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด หนังสือพิมพ์บางกอกสมัย ฉบับวันที่ ๓๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๘ หรือ พ.ศ. ๒๔๔๓ กล่าวถึงการเปิดงานที่ตลาดนางเลิ้งว่าเป็นงานรื่นเริงผู้คนมากมาย แต่ดูว่าคนเที่ยวชมน่าจะมากกว่าคนมาจับจ่ายซื้อของ มีทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ก็พากันไปเที่ยวดูและเล่นการพนันเป็นกลุ่มๆ แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานก็ตาม (อ้างจากเอนก นาวิกมูล,ตลาดเก่าๆ, ๒๕๕๓)
สำหรับถนนที่ตัดผ่านนางเลิ้งนั้น ตามเอกสารสารบาญชีของกรมไปรษณีย์ยุคแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ เรียกถนนนครสวรรค์ว่าถนนสนามควาย แต่แผนที่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เรียกว่าถนนนครสวรรค์แล้ว ส่วนชาวบ้านแถบนางเลิ้งแต่เดิมเรียก “ถนนหน้าตลาด” แต่และในแผนที่นี้ยังไม่มีการสร้างถนนราชดำเนินที่สร้างใน พ.ศ. ๒๔๔๒ ถนนจากประตูพฤฒิบาศไปจรดยังสะพานเทวกรรมรังรักษ์ที่ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกตึกตลาดหรือตึกฝรั่งเพื่อให้ประชาชนเช่าทำการค้า โดยอาคารเหล่านี้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รูปแบบตึกแถวแบบฝรั่งริมถนนนครสวรรค์ สูงสองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว ง ชั้นบนเจาะห้องหน้าต่างชนิดบานคู่ เป็นไม้แบบลูกฟักกระดานดุน กรอบหน้าต่างเป็นกรอบปูนปั้นลวดลายสวยงาม และยังคงไม่พบนามของสถาปนิกผู้ออกแบบ
ตลาดใหม่ (ซิงตั๊กลั๊ก) / ตลาดนางเลิ้ง
ก่อนที่จะมีการสร้างตลาดนางเลิ้งเป็นตลาดบกค้าขายอาหารและสิ่งของต่างๆ ในย่านชานพระนครด้านทิศตะวันออก มีตลาดบกที่เปิดค้าขายอยู่แล้วที่ “ย่านสำเพ็ง” ซึ่งย้ายมาจากบริเวณที่สร้างพระบรมมหาราชวังในครั้งสถาปนากรุงเทพฯ เป็นพระนครหลังแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเป็นที่ดินของพระยาราชาเศรษฐีและบริวารโดยโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายชุมชนชาวจีนและตลาดการค้าไปอยู่ที่สวนทางทิศใต้ของพระนคร ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง (วัดปทุมคงคาฯ) และและสร้างชุมชนตลาดค้าขายต่างๆ เช่น ตลาดเก่า, ตลาดสะพานหัน, ตลาดน้อย, ตลาดสำเพ็ง, ตลาดวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) จนกลายพื้นที่ตลาดบกใหญ่และแออัดที่สุดของพระนคร

ถนนเยาวราช ถ่ายจากตึก ๙ ชั้น ไม่ทราบปีที่ถ่าย

สะพานมัฆวาน และคลองผดุงกรุงเกษม
ต่อมามีการตัดเส้นทางสำคัญคือ “ถนนสำเพ็ง” ปัจจุบันคือซอยวานิช ๑ ที่เริ่มจากถนนจักรเพชรในฝั่งพระนครข้ามสะพานหันเข้าตรอกหัวเม็ด ผ่านถนนราชวงศ์ออกถนนทรงวาด ผ่านวัดปทุมคงคา ถนนสายนี้กว้าง ประมาณ ๓ เมตร ยาวเกือบ ๒ กิโลเมตร รถแล่นผ่านไปมาไม่ได้ ทั้งสองข้างถนนเรียงรายไปด้วยร้านค้าขายของคนจีน มีสินค้าอุปโภคที่ขายส่งไปยังหัวเมือง เช่น หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยโถโอชาม ภาชนะและของกินเกือบทุกชนิด เช่น ผักผลไม้สด ผลไม้แห้ง ของดอง ยาจีน ผ้าแพรพรรณต่างๆ ทองรูปพรรณ เครื่องใช้ไม้สอยประเภทต่างๆเช่นเครื่องใช้ทำด้วยไม้ลงน้ำมัน เครื่องใช้ในการศึกษาเล่าเรียน เครื่องมือทำจากเหล็กและเครื่องยนต์เรือ เป็นต้น โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากเมืองจีน รวมทั้งเป็นตัวแทนขายส่งสินค้าจากต่างประเทศและภายใน เนื่องจากอยู่ในบริเวณท่าเรือสินค้าที่ตลาดน้อยและทรงวาดก่อนจะมีการสร้างท่าเรือคลองเตย ยังมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มีทั้งบ้านเรือนที่พักอาศัย โรงฝิ่น บ่อนการพนัน และโรงหญิงโสเภณีหลายสำนักจนคำว่า “สำเพ็ง” กลายเป็นคำด่าผู้หญิงที่ประพฤติไม่ดีในยุคสมัยนั้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการตัดถนนหลายสายผ่านบริเวณสำเพ็ง อันเนื่องจากความแออัดและเกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อยครั้ง การตัดถนนหลังจากเพลิงไหม้แต่ละครั้งช่วยทำให้มีการสร้างและจัดระเบียบอาคารร้านค้าริมถนนและตรอกซอกซอยมากขึ้นกว่าเดิมและช่วยทำให้เกิดย่านการค้าต่างๆ ที่สำคัญนอกเหนือจากถนนเจริญกรุง ส่วนถนนเยาวราชระยะทางเพียงราว ๑ กิโลเมตรก็ต้องใช้เวลานานถึง ๘ ปี จาก พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๔๓ และต่อมากลายเป็นศูนย์รวมการค้าขาย การธนาคาร แหล่งค้าทองคำ ร้านอาหารและการท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบัน
การขุดคลองเมืองชั้นนอกหรือคลองผดุงกรุงเกษมตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๓๙๕ โดยจ้างแรงงานชาวจีนขุด มีเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองขุดในต้นรัชกาลที่ ๔ นั้น สร้างพื้นที่ตลาดน้ำใหม่ๆ หลายแห่งแก่ชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป ซึ่งมีทั้งที่เดินทางมาจากทางในสวนผลไม้ทั้งทางฝั่งธนบุรีและทางเมืองนนทบุรี เพราะปากคลองผดุงกรุงเกษมที่ออกแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งทางวัดสมอแครงหรือวัดเทวราชกุญชร แถบเทเวศร์ ตัดผ่านคลองมหานาคทำให้เกิดสี่แยกมหานาคที่กลายเป็นตลาดค้าขายสารพัดและตลาดผลไม้ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้และไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้แถบสี่พระยา ริมคลองขุดใหม่หรือคลองผดุงกรุงเกษมนี้ทั้งทางปากคลองย่านวัดสมอแครงมีเรือนแพและเรือกระแชงบรรทุกสินค้าจากที่ต่างๆ จอดอยู่มาก ส่วนทางด้านในริมคลองฝั่งนอกเมืองก็มีโรงสีหลายแห่ง เรือข้าวเปลือกที่รับซื้อจากภายในแผ่นดินลึกเข้าไปตามลำน้ำสาขาและคลองเล็กคลองน้อยในเขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาต่างมาส่งซื้อขายข้าวเปลือกที่โรงสีต่างๆ อย่างมากมายหลังเมื่อขุดคลองเสร็จแล้ว และเป็นเส้นทางเดินทางและเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญของพระนคร
ในระยะต่อมาเป็นที่รู้กันว่าย่านตลาดบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมมีตลาดสินค้าประเภทต่างๆ มีเรือบรรทุกสินค้าจอดเทียบอยู่ริมคลองเป็นระยะๆ เช่นที่ปากคลองตอนเหนือ (บริเวณใต้วัดเทวราชกุญชร) ลงมาจนถึง สะพานเทวกรรมรังรักษ์ ย่านนางเลิ้ง เป็นตลาดข้าว อิฐ ปูนขาว และกระเบื้อง จากสะพานเทวกรรมรังรักษ์ลงมาผ่านคลองมหานาคจนถึงมัสยิดมหานาคหรือสะพานเจริญราษฎร์ ๓๖ มีการค้าขายสินค้าหลายประเภท เช่น ข้าว ไม้ เสา ไม้กระดาน บริเวณสี่แยกมหานาคมีตลาดผลไม้ บริเวณหน้าวัดเทพศิรินทราวาสและหัวลำโพงเป็นที่พักสินค้าจำพวกไม้เสา ปูนขาว และหิน ซึ่งบรรทุกรถไฟมาจากต่างจังหวัดเพื่อรอการบรรทุกลงเรือหรือรถยนต์ไปขายยังแหล่งอื่นๆ ถัดลงมาที่ สะพานพิทยเสถียรหรือสะพานเหล็กล่างมีสินค้าประเภทโอ่งและกระถาง มีโรงสี โรงน้ำแข็ง โกดังสินค้าต่างๆ ตั้งอยู่สองฟากคลองไปจนออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่สี่พระยา
ปัจจุบันแม้เส้นทางน้ำจะถูกปิดตายไปแล้วและการใช้เรือสัญจรก็ไม่มีปรากฏอีกต่อไป ริมคลองผดุงกรุงเกษมยังมีแหล่งค้าขายสำคัญที่กลายเป็นตลาดบนบกอย่างสิ้นเชิงแล้ว เช่น ตลาดเทเวศร์ ตลาดนางเลิ้ง และตลาดมหานาค ตลาดโบ๊เบ๊ เป็นต้น

ตลาดนางเลิ้ง
การสร้างย่านการค้าแห่งใหม่ที่เป็นตลาดบกของพระนครในช่วงเวลานั้น เนื่องเพราะในย่านสำเพ็งต่างมีร้านค้าแออัดยัดเยียด ถนนเยาวราชยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ส่วนถนนราชวงศ์และทรงวาดก็เต็มไปด้วย่านการค้าต่างๆ การขยายเมืองมาทางฝั่งตะวันออกโดยการสร้างตึกร้านค้าให้เช่า ซึ่งปรากฏว่าผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแทบทั้งสิ้น จนกลายเป็นย่านการค้าใหม่หรือตลาดใหม่ที่ชาวจีนเรียกว่า “ซิงตั๊กลั๊ก” เป็นย่านการค้าของชาวจีนผู้ประกอบการแห่งใหม่ ที่มีย่านตลาดสำเพ็งและเยาวราชเป็นแหล่งการค้าแต่เดิม “เล่าตั๊กลั๊ก”
โดยมีรายละเอียดประกาศ ๓ ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ บอกการเช่าบนแผ่นประกาศของพระคลังข้างที่ติดไว้ตามตึกร้านค้าหลายแห่งในย่านนางเลิ้งดังภาพที่ปรากฏ
ที่มาของชื่อ “นางเลิ้ง”
จากคำบอกเล่าของย่าแห แก้วหยก ชาวมอญค้าขายทางเรือแห่งบ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานีที่เสียชีวิตไปแล้ว เล่าว่าครอบครัวคนค้าขายทางเรือใช้เรือกระแชงลำใหญ่รับเอาสินค้าเครื่องปั้นดินเผาจากเกาะเกร็ดและบางส่วนจากราชบุรี ขึ้นล่องไปขายในระหว่างพื้นที่ภาคกลางตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปจนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลกของที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องปั้นดินเผาและถ้วยชาม สินค้าอื่นๆ ก็มีปูนแดง เกลือ กะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลาเค็ม เต้าเจี้ยว ไตปลา ของแห้งต่างๆ ที่ใช้ในครัวเรือน ใส่เรือกระแชงชักใบล่องเรือไปขายคราวละไม่ต่ำกว่า ๓-๔ เดือน ปีละ ๒-๓ ครั้ง
เมื่อคราวคนรุ่นย่ายายยังสาว พวกเครื่องปั้นดินเผาจะไปรับของที่เกาะเกร็ดและบ้านหม้อที่คลองบางตะนาวศรีใกล้ๆ เมืองนนท์ฯ ส่วนสินค้าของแห้งจะไปจอดเรือแถบสามเสนหรือซังฮี้ แล้วว่าเรือเล็กเข้าไปซื้อแถวคลองบางหลวง ตลาดพลู หรือทางคลองโอ่งอ่างตามแต่แหล่งสินค้าขึ้นชื่อจะมีที่ใด นำไปขายตามรายทางจนถึงปากน้ำโพ เข้าแม่น้ำน่านไปแถวบางโพท่าอิฐที่อุตรดิตถ์ก็มี ส่วนแม่น้ำปิงท้องน้ำที่เต็มไปด้วยหาดทรายทำให้เดินเรือไม่สะดวกจึงไม่ขึ้นไป บางลำก็แยกที่อยุธยาเข้าไปทางป่าสักขึ้นไปจนถึงแก่งคอยและท่าลาน บางรายแยกไปทางลำน้ำลพบุรีเข้าบางปะหัน มหาราช บ้านแพรก บ้านตลุง ลพบุรี วิธีการค้าขายก็จะใช้สินค้าเหล่านี้แลกข้าวเปลือกเป็นหลัก ขากลับจะบรรทุกข้าวเปลือกมาเต็มลำเอาไปขายโรงสีแถวกรุงเทพฯ ในคลองผดุงกรุงเกษมที่มีอยู่หลายเจ้า

การค้าขายเช่นนี้เองที่คงทำให้ย่านริมน้ำบริเวณคลองผดุงกรุงเกษมแถบปากคลองเปรมประชากรที่เดินทางออกไปยังพื้นที่นอกเมืองได้สะดวก และอยู่ฝั่งตรงข้ามกับปากคลองวัดโสมนัสฯ และปากคลองจุลนาค ที่ใช้เส้นทางน้ำไปออกคลองมหานาคย่านเส้นทางเดินทางสำคัญเพื่อออกนอกเมืองทางฟากตะวันออกได้ เรื่อยมาจนถึงเชิงสะพานเทวกรรมฯ ซึ่งตุ่มอีเลิ้งคนในพระนครยังเรียกว่าตุ่มนครสวรรค์ ซึ่งน่าจะมาจากชื่อถนนนครสวรรค์ที่ต่อจากสะพานเทวกรรมฯ บริเวณนี้น่าจะเป็นย่านค้าขายเพราะมีปากคลองใหญ่น้อยที่พักจอดเรือและเป็นตลาดขึ้นสินค้าหรือจะหาสินค้าพวก “ตุ่มสามโคก” หรือ “อีเลิ้ง” ในภาษามอญ และภาชนะเครื่องปั้นดินเผาพวกโอ่งอ่างต่างๆ มาตั้งแต่เมื่อขุดคลองขุดใหม่เสร็จ ชุมชนแถบนี้เคยเป็นย่านที่อยู่ใหญ่ทั้งตึกชั้นเดียว บ้านชั้นเดียว ผู้คนย้ายมาจากหลายแห่งทั้งภายในพระนครและคนจากเรือมาขึ้นบกก็มีบ้าง และมาจากต่างจังหวัดที่ใช้เรือค้าขายรอนแรมมาจากท้องถิ่นอื่นๆ และบอกเล่าสืบกันมาว่าบ้างมีเชื้อสายมอญที่เคยมาค้าขายภาชนะต่างๆ ย่านนี้คือฝั่งด้าน ‘ตรอกกระดาน’ ต่อเนื่องมาจากริมคลองผดุงกรุงเกษมและอยู่ทางฝั่งเหนือตลาดนางเลิ้งและบริเวณตรงข้ามกับแถบตลาดนางเลิ้งบนถนนศุภมิตร แต่หลังจากการไล่ที่เพราะเจ้าของต้องการขายที่ไปเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๐ ผู้คนจากฟากย่านนางเลิ้งฝั่งที่ดินมีเจ้าของของเหนือของถนนศุภมิตรแตกสานซ่านกระเซ็นไปจนหมดแล้วจึงสร้างตึกขึ้นมาภายหลัง
“ตุ่มสามโคก” หรือ “ตุ่มอีเลิ้ง” ลักษณะปากและก้นแคบ ป่องกลาง เนื้อดินสีแดงใบไม่ใหญ่นักและมีขนาดเล็กใหญ่ต่างๆ กัน เพราะเคยปรากฎข้อความถึงการทำอาหารพวกน้ำยาเลี้ยงคนจำนวนมากก็ใส่อีเลิ้งหลายใบด้วยกัน เป็นของรุ่นเก่าที่เล่ากันว่าผลิตแถวสามโคกซึ่งยังหาร่องรอยไม่ได้ว่าผลิตขึ้นที่ใดและเลิกทำกันไปตั้งแต่เมื่อไหร่และแม้แต่เตาสามโคกที่วัดสิงห์ ก็ยังไม่พบร่องรอยการผลิตนั้น
จะมีเลียนแบบตุ่มสามโคกที่รู้จักแหล่งผลิตก็คือตุ่มปากเกร็ดที่รูปร่างคล้าย แต่คุณภาพและเนื้อดินแตกต่างและด้อยกว่า ผู้คุ้นเคยกับตุ่มสามโคกมองๆ ดูก็รู้ ตุ่มปากเกร็ดหรือโอ่งแดงเหล่านี้ปั้นขายกันแพร่หลายและก็เรียกกันต่อมาอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นตุ่มสามโคกเช่นเดียวกัน
ส่วนโอ่งมังกรที่เป็นแบบเคลือบและเนื้อแกร่งกว่า “อีเลิ้ง” น่าจะมีการผลิตขึ้นก่อนแถบริมคลองผดุงกรุงเกษม โอ่งรุ่นแรกจะเป็นแบบเรียบๆ ไม่มีลวดลาย ต่อมาจึงใส่ลายมังกรเข้าไปภายหลัง ที่วัดศาลาแดงเหนือมีโอ่งมังกรลายหมูป่าฝีมือดีอยู่ใบหนึ่งเขียนข้อความเป็นภาษาไทยตัวใหญ่ว่า “อยู่เย็นเป็นสุข” เขียนแหล่งผลิตเป็นภาษาไทยว่า “คลองขุดใหม่” และยี่ห้อภาษาจีน สันนิษฐานว่าเป็นโอ่งเคลือบแบบโอ่งมังกรมังกรรุ่นแรกๆ ที่ผลิตในประเทศไทยและศูนย์กลางแหล่งผลิตและย่านการค้าโอ่งมังกรแต่แรกคือแถบคลองผดุงกรุงเกษมหรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า คลองขุดใหม่ ส่วนโอ่งมังกรของราชบุรี ทำโดยช่างชาวจีนที่เลียนแบบโอ่งจากเมืองจีนน่าจะผลิตเมื่อราว ๗๐-๘๐ ปีมาแล้วนี่เอง

แจ้งความของพระคลังข้างที่
ตลาดนางเลิ้ง
ต่อมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพลแล้ว บางรายยังคงใช้เรือบรรทุกเฉพาะโอ่ง หม้อ ครก กระถางไปขายตามลำคลองแถบคลองรังสิต คลองบางซื่อ คลองผดุงกรุงเกษม คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ เป็นพ่อค้าเร่ทางเรือที่ไม่ไกลบ้านเหมือนในอดีต ซึ่งคนรุ่นพ่อแม่ของชาวบ้านศาลาแดงเหนือที่อายุราว ๕๐ ปีขึ้นไปวิ่งเรือไปเอาโอ่งมังกรโดยใช้เส้นทางคลองภาษีเจริญผ่านท่าจีน เข้าคลองดำเนินสะดวกออกแม่กลองที่บางนกแขวก แล้วล่องไปรับโอ่งมังกรที่ราชบุรี แต่ขากลับเรือที่เพียบแประต้องการพื้นน้ำที่ไม่วุ่นวายเหมือนเส้นทางที่ผ่านมาก็จะเข้าทางแม่น้ำท่าจีนขึ้นไปทางสุพรรณบุรี ผ่านประตูน้ำบางยี่หน ผ่านบางปลาหมอ มาออกบ้านแพน แล้วล่องแม่น้ำน้อยมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาแถวลานเท
การค้าหม้อค้าโอ่งทางเรือค่อยๆ เลิกรา เพราะคลองเริ่มเดินเรือไม่สะดวกและตลาดหรือที่ชุมชนไม่ใช่พื้นที่ริมฝั่งคลองอีกต่อไป สินค้าต่างๆ เปลี่ยนจากเรือมาเป็นรถกันตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๗
สมมตฐานเรื่องการค้าขายภาชนะเช่นตุ่มสามโคกหรือ “อีเลิ้ง” ของชาวเรือมอญจากแถบสามโคกก็พ้องกันกับเรื่องราวของชื่อ “นางเลิ้ง” ที่เปลี่ยนตามสมัยนิยมของคนมีการศึกษาในเมืองไทยที่ไปเข้าใจคำว่า “อี” ที่ใช้มาแต่เดิมแต่โบราณนั้นเป็นคำไม่สุภาพ จากคำเรียกภาชนะแบบทับศัพท์ภาษามอญที่ใช้มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่บันทึกว่าในย่านคลองสระบัว แหล่งทำภาชนะใช้ในครั้วเรือนสำหรับชีวิตประจำวันก็มีการทำภาชนะใส่น้ำแบบอีเลิ้งด้วย และคงมีการปั้นโอ่งหนือตุ่มรูปทรงนี้ต่อมาจนเข้าสู่สมัยกรุงเทพฯ จากภาชนะที่เรียกว่าอีเลิ้ง และเรียกย่านนั้นว่าอีเลิ้ง ก็กลายมาเป็นย่านนางเลิ้งตามจริตคนไทยให้ฟังดูสุภาพเสีย เพราะมีการเปลี่ยนชื่อเช่นนี้เสมอ เช่น หอยอีรมเป็นหอยนางรม, นกอีแอ่นเป็นนกนางแอ่น
หนังสือพิมพ์บางกอกสมัยฉบับวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปิดตลาดนางเลิ้งรวมทั้งงานรื่นเริงต่างๆ นั้น ก็เขียนถึงตลาดนี้ในชื่อว่า “ตลาดนางเลิ้ง” มาตั้งแต่ครั้งเริ่มทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว
คำว่า นางเลิ้ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๕ และ พ.ศ.๒๕๒๕ ว่า “นางเลิ้ง” และ “อีเลิ้ง” เป็นคำนามหมายเรียกตุ่มหรือโอ่งใหญ่ว่าตุ่มอีเลิ้งหรือนางเลิ้งหรือ “โอ่งนครสวรรค์” ก็เรียก และยังหมายเป็นนัยถึงใหญ่เทอะทะ
ปัจจุบันพบว่ามีความสับสนที่มาของชื่อ “นางเลิ้ง” ว่าเป็นชื่อมีที่มาอย่างไร สืบเนื่องจากมีการศึกษาชุมชนและตลาดนางเลิ้งในราว ๑๐ ปีหลังมานี้เป็นจำนวนมาก และอ้างอิงผลิตซ้ำคำอธิบายจาก “คำให้การผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมท้องถิ่น” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยอ้างอิงมาจากศูนย์วัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร ประวัติของชุมชนแต่เดิมในบริเวณนี้ก่อนการสร้างตลาดนางเลิ้งในสมัยัชกาลที่ ๕ โดยเสนอสมมิตฐานว่าเป็นคำที่สืบเนื่องจากภาษาถิ่นที่ใกล้เคียงกับภาษาเขมร ซึ่งเป็นชุมชนเขมรในพระนครที่เข้ามาพร้อมกับเชื้อพระวงศ์กษัตริย์เขมรเมื่อต้นรัชกาลที่ ๑

เรือมอญที่สืบทอดจาดเรือมอญขายอีเลิ้งในยุคที่ ๓จากบ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี บรรทุกโอ่งมังกรจากโรงโอ่งที่ท่าเสา ราชบุรี (ถ่ายภาพโดยมาณพ แก้วหยก, ๒๕๓๘)
ข้อมูลเหล่านี้ปรากฏทั้งในอินเตอร์เนตและการคัดลอกผ่านงานศึกษาวิจัยต่างๆ ว่าสมมติฐานหนึ่งมาจากคำว่า “ฉนัง” และคำว่า “เฬิง” ในภาษาเขมร โดยแปลรวมกันว่าเป็นภาชนะขนาดใหญ่ แม้จะกล่าวว่าทั้งคำว่า “ฉนัง” และ “เฬิง” นั้นปกติในภาษาเขมรก็ไม่ได้นำมารวมกัน
แม้จะมีหลักฐานว่าแต่เดิมเจ้านายเขมรนั้นพระราชทานที่ดินให้อยู่แถบตำบลคอกกระบือหรือแถบวัดยานนาวา ต่อมาราว พ.ศ. ๒๓๒๙ จึงสร้างวังพระราชทานให้ที่ริมคลองเมืองเยื้องปากคลองหลอดวัดราชนัดดา ฝั่งตรงข้ามวัดสระเกศซึ่งอยู่ภายในพระนครที่เรียกว่า “วังเจ้าเขมร” ส่วนครัวเขมรเข้ารีตราว ๔๐๐-๕๐๐ คนให้สร้างบ้านเรือนอยู่รวมกับชาวบ้านเชื้อสายโปรตุเกสที่มีศูนย์กลางของชุมชนคือวัดคอนเซ็ปชัญและบ้านญวนสามเสนที่มีวัดเซนฟรังซีสซาเวียร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอพยพเข้ามาภายหลังในราวรัชกาลที่ ๓ บริเวณนี้เป็นที่รวมของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิคหรือชาวคริสต์ตังและอยู่ต่อเนื่องสืบมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว จากนั้นมาบ้านโปรตุเกสที่นี่จึงถูกเรียกอีกชื่อว่าบ้านเขมรและวัดคอนเซ็ปชัญก็ถูกเรียกว่าวัดเขมร
ชุมชนบ้านเขมรริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถบวัดคอนเซปชัญนี้ มีนายแก้วที่เป็นผู้ชำนาญการวิชาปืนใหญ่ เนื่องจากเคยได้เรียนกับชาวโปรตุเกส ต่อมาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นที่พระยาวิเศษสงคราม รามภักดี จางวางกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแก้วเขมรนี้เป็นหัวหน้าดูแลชาวหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญด้วย ต่อมาบุตรหลานได้รับราชการสืบต่อมาเป็นลำดับ เชื้อสายสกุลพระยาวิเศษสงครามภักดี (แก้ว) ปรากฏอยู่คือ “วิเศษรัตน์” และ “วงศ์ภักดี” ในระหว่างรัชกาลที่ ๓ มีศึกสงครามรบกับญวนอยู่หลายปี มีชาวญวนเข้ารีตคริสต์ตังแถบเมืองเจาดกขอเข้ามาอยู่ในเมืองสยาม จึงนำมาอยู่เหนือบริเวณบ้านเขมร ภายหลังผู้คนในบ้านเขมรมีมากขึ้นดังจากเหตุดังกล่าว จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานขยายเขตหมู่บ้านเขมรออกไปอีก ทิศเหนือจรดวัดราชผาติการาม (วัดส้มเกลี้ยง) ทิศใต้จรดวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) ทิศตะวันออกติดถนนสามเสน ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพวกญวนขยับจากที่เดิมไปบ้านเรือนทางด้านเหนือและสร้างโบสถ์เซนฟรังซีสซาเวียร์เป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกแห่งหนึ่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๙๖ ในภายหลัง (ประวัติวัดและหมู่บ้านคอนเซปชัญ, รวบรวมจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองวัดคอนเซ็ปชัญครบ ๒๕๐ ปี, ห้องเอกสาร อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, คัดลอกจากอินเตอร์เนต ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๘)

หญิงสยามและการถ่ายแบบกับ “อีเลิ้ง”
จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวกับชุมชนเดิมที่นางเลิ้งสามารถเชื่อมโยงไปถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวเขมรบริเวณใกล้กับโบสถ์คอนเซ็ปชัญซึ่งเป็นชุมชนเขมรคริสต์ตังใหญ่ปนเปกับผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส ส่วนที่เป็นเชื้อพระวงศ์และได้รับที่ดินและวังพระราชทานบริเวณเยื้องปากคลองหลอดวัดราชนัดดา วังพระราชทานนั้นก็หมดสิ้นไปแล้วเมื่อมีการบันทึกสารบาญชีของกรมไปรษณีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และอาจเป็นเพียงการเข้าใจผิดในชื่อสถานที่แรกตั้งถิ่นฐานที่มีชื่อ “คอกกระบือ” แถบวัดยานนาวาที่อยู่นอกพระนครทางด้านใต้ พ้องกันกับแถบสนามกระบือทางด้านตะวันออกของพระนคร และการนำคำที่ปรากฏลากเข้าหาสมมติฐานที่ตนเองต้องการคือ “ฉนัง-เฬิง” ให้กลายเป็น “นางเลิ้ง” ดังกล่าว
ย่านตลาดนางเลิ้ง
ใน “นิราศชมพระราชวังดุสิต” ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเขียนขึ้นก่อนการสวรรคตของรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ซึ่งเนื้อหาบางส่วนพรรณนาถึงสวนต่างๆ ในพระราชวังดุสิตและการเดินทางจากย่านถนนตรีเพชรอาจจะเป็นสะพานหัน ผ่านไปยังพระบรมมหาราชวังและวังหน้าไปยังวัดชนะสงคราม ตลาดบางลำพูที่ขายอาหารต่างๆ และมีตึกอาคารเป็นย่านตลาดบกสำคัญอีกแห่งหนึ่งในพระนคร ซึ่งคงใช้เส้นทางถนนสามเสนไปยังพระราชวังดุสิต กล่าวถึงความงามของสวนต่างๆ ในพระราชวังดุสิตแล้วไปเที่ยวงานออกร้านในวัดเบญจมบพิตรฯ เข้ามาทางถนนคอเสื้อหรือถนนพิษณุโลกมาจนถึงสะพานเทวกรรมฯ
เมื่อลงสะพานเทวกรรมมาก็ถึงย่านการค้าใหญ่คือถนนนครสวรรค์ที่มีตึกแถวและตลาดนางเลิ้ง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ริมถนนบริเวณชานพระนครด้านตะวันออก
“…ลงสะพานมาในย่านทางถนน ประชาชนอึงอื้อเขาซื้อขาย
เช่าอยู่ห้องสองชั้นกั้นสบาย ทั้งหญิงชายขายค้าสารพัน
ถึงตลาดนางเลิ้งดูเวิ้งว้าง คณานางน่าชมช่างคมสัน
นั่งร้านรายขายผักน่ารักครัน ห่มสีสันแต่งร่างดังนางใน
พวกจีนไทยในตลาดก็กลาดกลุ้ม ทั้งสาวหนุ่มแซ่อยู่เด็กผู้ใหญ่
นั่งขายของสองข้างหนทางไป ล้วนเข้าใจพ้อตัดชัดชำนาญ….”
ย่านถนนนครสวรรค์ที่ต่อจากสะพานเทวกรรมฯ นั้นมีอาคารพานิชย์สองชั้นทั้งสองฝั่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าชาวจีนที่ขยายตัวออกมาจากทางแถบถนนเยาวราชและย่านสำเพ็ง ส่วนตลาดนางเลิ้งนั้นน่าจะเป็นตลาดสด ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ในนิราศชมพระราชวังดุสิต ก็กล่าวว่า “ตลาดนางเลิ้งดูเวิ้งว้าง..” และมีแผงขายผักเป็นั่งร้านทั้งสองข้าง ดูจะสอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้สูงอายุท่านหนึ่งที่สัมภาษณ์ในช่วงอายุราว ๙๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ (สง่า สัจจะพันธ์) โดยเล่าว่า
“ตลาดนางเลิ้งเมื่อก่อนเรียกอีกอย่างว่า ‘ตลาดกางมุ้ง’ ‘เพราะแผงขายเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อสัตว์ต่างๆ จะมีมุ้ง กันแมลง นอกจากนี้ตลาดก็จะมีการแบ่งเป็นส่วนต่างๆ เช่น ขายของสด ขายปลา ขายผัก แบ่งเป็นล็อคๆ ตามประเภท ที่สําคัญคือเวลาซื้อของจะต้องเข้าคิวรอ” (อ้างจาก นลินี ตันธุวนิตย์และคณะ, โครงการวิจัยและปฏิบัติการเรื่องพัฒนาชุมชนแออัดและองค์กรชุมชนแออัดในเมือง กรณีศึกษาชุมชนนางเลิ้ง, ๒๕๔๓.)
ตลาดนางเลิ้งที่เห็นสร้างเป็นการคารในพื้นที่กว้าง ปรากฏในแผนที่ราว พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งมีการสร้างโกดังชั้นครึ่งรอบทั้งสามด้าน และอาคารโถงคลุมพื้นที่ตลาดอยู่ตรงกลางอาคารตลาดในลักษณะสูงโปร่ง หลังคาสูงมุงด้วยกระเบื้อง น่าจะสร้างขึ้นใหม่หลังเกิดเพลิงไหม้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ปรากฏในหนังสือพิมพ์ศรีกรุงฉบับวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ว่า

โครงสร้างอาคารแบบไม้ตลาดนางเลิ้ง เมื่อกำลังรื้อซ่อมแซม
“มีคนร้ายจุดไฟเผาเมื่อเวลาประมาณ ๑๕.๒๕ ของวันที่ ๒๓ ได้เกิดไฟไหม้ของห้องแถวจีนมีชื่อคนหนึ่งใกล้กับบ้านของนายสง่า ในตรอกข้างโรงภาพยนตร์ ตำบลนางเลิ้ง พระนคร เพลิงได้ลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเวลา ๓๐ นาทีเศษ ก็ติดต่อเผาผลาญบ้านเรือนและห้องแถวในละแวกนั้นพินาศไปร่วมร้อยหลังคาเรือน และได้ไหม้แผ่ลุกลามไปอีก กองดับเพลิงและบริษัทไฟฟ้าได้ไปทำการดับเพลิงอยู่ราว ๕๐ นาทีเศษจึงสงบ บ้านเรือนของผู้มีชื่อต้องเพลิงไหม้ไปด้วย บ้านหลวงสมัคร บ้าน ร.อ.ทองอินทร์ บ้านนายสายลิเก และผู้มีชื่ออีกหลายหลัง” (อ้างจาก เอนก นาวิกมูล )
ในละแวกย่านนางเลิ้งก่อนการสร้างตลาดและอาคารสองชั้นริมถนนนครสวรรค์ในราว พ.ศ. ๒๔๔๓ แนวพื้นที่ของวัดแคหรือวัดสนามควายมุมวัดด้านหนึ่งเกือบจะประชิดแนวถนนนครสวรรค์ ตึกแถวอีกฝั่งหนึ่งติดกับวัดโสมนัสวิหาร ดังนั้นจึงน่าจะมีการใช้พื้นที่วัดแคส่วนหนึ่งมาทำตลาดนางเลิ้งด้วย ส่วนพื้นที่ซึ่งเป็นทุ่งนา เรือกสวนและคูคลองแบบชนบทก็กลายเป็นวังเจ้านายต่างๆ และบ้านเรือนขุนนางข้าราชการ
เมื่อตัดถนนหลานหลวงเชื่อมถนนพิษณุโลกมาจนถึงแยกผ่านฟ้าเชื่อมกับถนนราชดำเนินนอกและถนนนครสวรรค์ ตัดผ่านถนนจักรพรรดิพงศ์ที่ถนนเป็นแนววงแหวนเชื่อมถนนราชดำเนินนอกและแยกถนนบำรุงเมือง เนื่องจากมีพระราชดำริจัดสร้างโรงเรียนนายเรือและต้องใช้พระราชวังเดิมกรุงธนบุรีที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ทรงประทับอยู่เป็นโรงเรียนนายเรือ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๓ จึงพระราชทานที่ดินระหว่างถนนหลานหลวงและถนนดำรงรักษ์ หลังห้างแบดแมนมาจนจรดถนนจักรพรรดิพงศ์ สร้างวังประทานให้ ๖ วังแก่พระเจ้าหลานเธอทั้ง ๖ พระองค์ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถนนหลานหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังวรดิศ ริมถนนหลานหลวงฝั่งตรงข้ามกับวัดแค นางเลิ้ง และตรอกละคร แทนที่วังเดิมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่วังสะพานเหล็กเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชทานที่ดินและบ้านแก่ขุนนางคนสนิทอีกหลายแห่งในย่านรอบๆ ตลาดนางเลิ้งนี้ เช่น ทรงพระราชทานบ้านบรรทมสินธุ์หรือบ้านพิษณุโลกให้กับมหาดเล็กส่วนพระองค์ คือพลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระราชทานบ้านนรสิงห์หรือทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบันแก่พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้พี่ พระราชทานบ้านมนังคศิลาแก่พระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) รวมถึงพระราชทานบ้านพิบูลธรรม เชิงสะพานกษัตริศึก ยศเส แก่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) ในช่วงราว พ.ศ. ๒๔๕๖ และพระราชทานที่ดินแก่เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร) ราชองครักษ์ประจำรักษาพระองค์ตั้งแต่ครั้งเป็นมกุฎราชกุมารบริเวณฝั่งตรงข้ามกับวังวรดิศ แถบถนนพะเนียงและปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง และเป็นนำมาเป็นชื่อของถนนศุภมิตรในปัจจุบัน
โรงพักนางเลิ้งสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ เดิมเรียกว่า “สถานีตำรวจแขวงนางเลิ้ง” อยู่ริมถนนนครสวรรค์ ตรงข้ามตลาดนางเลิ้ง ใกล้วัดโสมนัสราชวรวิหาร แล้วจึงย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง
นอกจากนั้นยังสร้างสนามราชติณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้มาบำรุงพันธุ์ม้า ต่อมาจึงจัดการกิจการแข่งม้า ทำทะเบียนประวัติม้า เจ้าของและผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนการแข่งขันจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์ สลับกันกับราชกรีฑาสโมสรหรือเรียกกันทั่วไปว่าสนามฝรั่ง
อย่างไรก็ตาม ในตลาดนางเลิ้งนั้นมีโรงยาฝิ่นแถบซอยนางเลิ้ง ๑ ฝิ่นเป็นของต้องต้องซึ่งมีประกาศในครั้งรัชกาลที่ ๓ และเปิดให้มีโรงยาฝิ่นได้โดยต้องเสียอากรฝิ่นในครั้งรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีอยู่ในชุมชนชาวจีนหรือตลาดจีนหลายแห่งทั่วราชอาณาจักรสยาม และมาเลิกอย่างเด็ดขาดในครั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างเด็ดขาดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งในตลาดนางเลิ้งก็เลิกไปในครั้งนี้เช่นกัน
ในเวลาต่อมาก็มีการสร้างโรงภาพยนต์เฉลิมธานี ซึ่งทั้งสนามม้าและโรงภาพยนต์นี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “โรงหนังนางเลิ้ง” เป็นอาคารไม้สองชั้น เปิดฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ต่อจากตัวตลาดนางเลิ้ง และมีตรอกสะพานยาวต่อกับถนนพะเนียงซึ่งเป็นย่านอยู่อาศัยของคนละครบางส่วน ลิเกและลำตัด ผ่านวัดแค นางเลิ้ง และมีบ้านเรือนของผู้คนตั้งอยู่รายล้อมรอบวัดแค อาศัยเช่าที่วัดบ้างบางส่วน และเช่าที่สำนักงานทรัพยสินส่วนพระมหากษัตริย์บางส่วนบริเวณตรอกละครที่ติดถับถนนหลานหลวงที่ชาวบ้านละแวกนี้สืบมาจากไพร่หลวงเกณฑ์บุญอพยพโยกย้ายมาจากนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓
สนามราชตฤนมัยสมาคมหรือสนามม้านางเลิ้ง. โรงภาพยนต์ศาลาเฉลิมธานี
ภาพจาก wikimapia.org
ถนนพะเนียงตัดเพื่อเชื่อมกับถนนราชดำเนินนอก ผ่านถนนนครสวรรค์มาออกถนนหลานหลวง หัวถนนมีสนามมวยราชดำเนินที่สร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๘ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วงทศวรรษที่ ๒๔๙๐ สำนักงานทรัพย์สินฯ ก็สร้างตึกบนถนนจักรพรรดิพงษ์ทั้งสองฟากถนนและอยู่อาศัยตั้งแต่บัดนั้นมา แถวถนนจักรพรรดิพงษ์ก่อนสร้างมีแต่สวนกล้วย ดงกล้วย บ้านเรือนเก่าๆ ที่อยู่ริมถนนก็ต้องรื้อร่นเข้าไปติดคลองจุลนาค บริเวณทางโค้งของถนนจักรพรรดิพงษ์ มีตรอกไปออกยังข้างวัดแคได้เป็นย่านโคมแดงหรือซ่องโสเภณี ซึ่งเป็นที่แรกก่อนจะไปเฟื่องฟูที่ตรอกสะพานยาว ใกล้โรงหนังเฉลิมธานีบนถนนพะเนียงและบริเวณนี้มีร้านกล้วยแขกสูตรอร่อยดั้งเดิมที่ขายมาตั้งแต่ครั้งนั้นที่กล่าวว่าสูตรเดิมได้มาจากวังใดวังหนึ่งและสืบทอดจนมาเป็นกล้วยแขกเอี๊ยมสีในปัจจุบันด้วย การที่เป็นย่านโสเภณีขึ้นชื่อทั้งแถวดงกล้วยถนนจักรพรรดิพงศ์และย่านตรอกสะพานยาวทำให้คุณหมอเพียร เวชบุล ซึ่งเป็นหมอผู้หญิง สังกัดกรมควบคุมโรคกามโรคและคุดทะราดจึงมาตั้งคลินิคสุขศาลานางเลิ้งในย่านนี้ ในระหว่างช่วงทศวรรษที่ ๒๔๘๐-๒๔๙๐ ต่อมาตรอกสะพานยาวเป็นบ้านไม้และถูกไฟไหม้ไปจนหมดเมื่อราวๆ พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่ดินนั้นเป็นของวัดแค นางเลิ้ง ต่อมาจึงปลูกเป็นตึกแถวพานิชย์ให้เช่าและคงเหลือแต่ความทรงจำเท่านั้น (สัมภาษณ์ยานี สุนทรธรรม, ชุมชนจักรพรรดิพงศ์, อายุ ๗๔ ปี, กรกฏาคม ๒๕๕๘)
ร้านขายยาแบบยาจีนและยาแผนโบราณมีอยู่หลายแห่งในละแวกนี้ ร้านที่มีชื่อ เช่น ร้านขายยาจุลโมกข์ที่มียาแก้ริดสีดวงจมูกและยาแผนโบราณอื่นๆอีกมากในละแวกใกล้เคียง

สุขศาลานางเลิ้ง ก่อตั้งโดยคุณหมอเพียร เวชบุล
นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงเรียนทั้งโรงเรียนวัดที่วัดสิตารามที่ชาวบ้านทั่วไปเรียนกันในระดับประถม โรงเรียนชั้นดีเป็นของเอกชนที่โรงเรียนสตรีจุลนาคของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ริมถนนหลานหลวง สอนทั้งระดับประถมและมัธยม ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ต่อมาก็มีโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง เช่น โรงเรียนประเสริฐวิทยา โรงเรียนจีนลิ้มเจี่ยสอนเป็นภาษาจีน ซึ่งเป็นโรงเรียนของคนในตลาดที่ไม่ต้องส่งลูกหลานไปเรียนไกล เพราะต้องค้าขายกันแต่เช้ามืด เมื่อเติบโตในระดับมัธยม โรงเรียนของชาวนางเลิ้งที่ไปเรียนกันประจำก็มีวัดมกุฎกษัตริย์ เทพศิรินทร์ สายปัญญา สตรีวิทยา เป็นต้น (สัมภาษณ์วรรณชัย วราศิริกุล, อายุ ๕๙ ปี, สิงหาคม ๒๕๕๘)
คนนางเลิ้ง / ตลาดนางเลิ้ง / การต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของความเงียบในปัจจุบัน
ตลาดนางเลิ้งเป็นโครงสร้างรูปแบบใหม่ที่ตั้งใจจะให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าใหม่ในแถบชุมชนดั้งเดิมที่กำลังขยายตัวของความเป็นเมืองจากเขตศูนย์กลางภายในพระนคร อันเป็นเมืองหลวงของประเทศในระยะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สร้างแหล่งการค้าแบบตลาดตึกแห่งใหม่ นอกเหนือไปจากย้านการค้าเดิมๆ แถบสำเพ็ง พาหุรัด เยาวราช หรือ บางลำพู ฯลฯ เป็นตลาดทางบกที่รองรับการตัดถนนและสร้างความเจริญแบบอย่างตลาดการค้าบนบกดังในต่างประเทศบางแห่งที่พระองค์เสด็จประพาสเป็นต้นเค้า

ศาลเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ ที่ตลาดนางเลิ้ง
นางเลิ้งเป็นย่านกิจกรรมคนเมืองอย่างแท้จริงมาตั้งแต่เริ่มพัฒนาเป็นพื้นที่ตลาด มีการคมนาคม มีรถรางเดินทางสะดวกแก่คนไปมาสัญจร คนมาซื้อของที่นางเลิ้งทั้งตลาดสดและตลาดอาหารร้านค้า ไม่ใช่เป็นตลาดของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่เป็นของเมือง รองรับตลาดเก่าเยาวราชที่ขยายมาทางฝั่งคลองขุดใหม่อีกแห่ง ก็ที่ตลาดใหม่ ตึกแถวที่ปลูกให้เช่า ส่วนใหญ่มีแต่ชาวจีนโพ้นทะเลแทบทั้งนั้น หลายบ้านอยู่มาตั้งแต่เริ่มเช่าครั้งแรกในครั้งรัชกาลที่ ๕ และอีกกลุ่มที่เป็นกลุ่มใหญ่ไม่น้อยคือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อประเทศจีนเปลี่ยนไปอยู่ในมือพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว

หลังคาเดิมก่อนการรื้อซ่อมแซม
เมื่อสร้างตลาดก็สามารถดึงดูดคนจีนโพ้นทะเลสารพัดกลุ่มเข้ามา เพราะคนจีนในพระนครมีจำนวนมากเป็นทั้งพ่อค้าใหญ่น้อยจนถึงกุลีลากรถ ส่วนใหญ่เข้ามาเป็นระลอกๆ และมาอยู่กับญาติตนเองก่อน บ้างก็ไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วจึงย้ายเข้ามาในเมือง ซึ่งที่ตลาดนางเลิ้งก็พบการเคลื่อนย้ายในลักษณะนี้จำนวนมาก
ความชำนาญในการทำอาหารที่ปรับให้ถูกปากชาวบ้านและชาวเมืองที่อยู่แทรกๆ ปะปนกัน แตกต่างไปจากในหลายสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แยกกลุ่มอยู่อาศัยไม่ปะปนกันมากนัก วัฒนธรรมในเรื่องอาหารการกินก็ปรับปรนเข้าหากันมากเสียจนอาหารไทยกลายเป็นอาหารอร่อย และอาหารจีนก็กลายเป็นอาหารอร่อยนอกบ้านของชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป

หลังคาเดิมก่อนการรื้อซ่อมแซม
ในตลาดนางเลิ้งนั้นยิ่งล้อมรอบไปด้วยทั้งชาวบ้านและ ‘ชาววัง’ เป็นคนจีนหลายกลุ่มปะปนกัน และมีอาหารอร่อยขึ้นชื่อของตนเองที่นำเอาความชำนาญถ่ายทอดติดตัวกันมาจากเมืองจีนบ้าง เรียนรู้จากคนที่อยู่เดิมที่มาจากหมู่บ้านเดียวกัน เมืองเดียวกัน หรือเป็นญาติกันบ้าง อาหารอร่อย เช่น อาหารกว้างตุ้ง แคะ แต้จิ๋ว และเปิดแผงขายหมูสด ผักสด เนื้อ ปลา คนกลางเหล่านี้สร้างเส้นเลือดใหญ่ให้ชีวิตในตลาดนางเลิ้ง
ตลาดนางเลิ้งในระยะแรกจึงตั้งอยู่ท่ามกลางวังน้อยใหญ่และต่อมาคือบ้านขุนนางคนสนิทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลต่อมา จึงเป็นบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ถ่ายเททั้งย่านค้าขายและคนจีน บ้านเรือนขุนนาง ทั้งเล็กและใหญ่โต วังใหญ่น้อยต่างๆ และหลังช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เปลี่ยนเป็นสถานที่ราชการจำนวนมาก มีข้าราชการทุกระดับชั้นมาทำงานกันตลอดระยะเวลาหลายสิบปี วัดทั้งวัดราษฎร์และวัดหลวง มีอาหารและสินค้าที่ตอบสนองการดำรงชีวิตของผู้คนทุกระดับชนชั้นจนถึงระดับชั้นในเวลาต่อมา
คนเชื้อสายจีนในตลาดนางเลิ้งรุ่นแรกส่วนใหญ่ทำตามประเพณีจีนอย่างเคร่งครัด เมื่อเสียชีวิตแล้วก็นำร่างไปฝังยังสุสานต่างๆ แรกๆ ก็เป็นสุสานจีนในย่านกรุงเทพมหานคร ต่อมาก็เป็นตามจังหวัดต่างๆ แต่ภายหลังเมื่อวิถีชีวิตประสานกันทางวัฒนธรรมมากขึ้น คนเชื้อสายจีนจากตลาดนางเลิ้งไม่น้อยใช้วิธีเก็บอัฐิไว้ที่วัดแค นางเลิงและวัดโสมนัสวิหาร รวมทั้งมีประเพณีการไหว้เจ้าที่ลดลงกว่าแต่เดิมและใช้วิธีการทำบุญตามประเพณีไทยที่สัมพันธ์กับทางวัดแค นางเลิ้งมากกว่าบรรพบุรษรุ่นก่อนๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่ทำให้กลายเป็นคนพุทธและทำตามธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยพุทธที่แวดล้อมตนเอง ซึ่งแน่นอนได้รับอิทธิพลความเป็นคนท้องถิ่นอาจจะมากกว่ามากกว่าคนเชื้อสายจีนทางด้านถนนเยาวราช
ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างศาลเจ้าในตลาดนางเลิ้ง เนื่องจากเป็นคนเชื้อสายจีนที่ย้ายมาจากแถบเยาวราชที่มีวัดและศาลเจ้าจำนวนมาก เมื่อถึงเวลาไหว้หรือมีพิธีต่างๆ ก็ต้องกลับไปทำพิธีกรรมที่เยาวราชแหล่งเดิม จึงมีความคิดว่าควรสร้างศาลของคนนางเลิ้งเองกลุ่มแกนนำจัดตั้งศาลเจ้า ซึ่งเป็นเหล่าตั่วหรือพี่ใหญ่ที่เข้ามาค้าขายรุ่นแรกๆ เป็นคิดร่วมกันว่าน่าจะทำศาลเจ้าหรือมีศาลเจ้าในพื้นที่ชุมชนของเราเอง ไม่ต้องเดินทางไปไหว้เจ้าที่เยาวราชหรือที่ไกล ๆ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน จึงเริ่มตั้งชมรมของคนจีนโพ้นทะเลขึ้นแล้วเอาผงธูปจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้าที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ มาบูชา และบริเวณรอบนางเลิ้งมีวังค่อนข้างเยอะ เสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เป็นที่เคารพรักของคนจีนนางเลิ้งหรือกล่าวกันว่าแม้แต่พวกอั้งยี่ คนรุ่นนั้นเสด็จเตี่ยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เพราะคนจีนรักท่าน จึงไปอัญเชิญพระบรมรูปจำลองมา เพราะองค์จริงที่ศาลท่านซึ่งเคยอยู่บริเวณปั๊มน้ำมันริมถนนนครสวรรค์ตรงข้ามวังไชยาถูกรื้อไปแล้ว ได้อัญเชิญเสด็จเตี่ยเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ มาที่ศาลในตลาดนางเลิ้งและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจชาวนางเลิ้งนับแต่นั้น แต่ในศาลก็ยังมีเทพองค์อื่นด้วยเช่นกัน (สัมภาษณ์วรรณชัย วราศิริกุล, อายุ ๕๙ ปี, สิงหาคม ๒๕๕๘)
การสร้างโรงยาฝิ่น โรงแรมสำหรับผู้เดินทางพักแรมที่ไม่ใช่ชั้นดีนัก และโรงหนังที่เมื่อแรกสร้างจนถึงราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ น่าจะเป็นสถานที่จัดมหรสพทันสมัยในยุคนั้น เพราะสามารถแสดงลิเกและดนตรีสดประกอบหนังเงียบได้ด้วย หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงหนังไม้แห่งนี้ก็เริ่มกลายเป็นโรงหนังชั้นสอง ฉายหนังในราคาถูกกว่าโรงหนังทันสมัยกว่าในขณะนั้น และคนที่ขายอาหารอยู่ด้านข้างโรงหนังก็กลายเป็นผู้เช่าระยะยาวอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งหมดสัญญากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทายาทที่รับสืบต่อคือ คุณสมพงษ์ โชติวรรณ ความชำนาญในการจัดการเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์ทำให้กลายมาเป็นอาชีพคุณสมพงษ์ในการเป็นสายหนังภาคตะวันออก และไปทำสวนอยู่ที่ระยองจนคิดค้นระบบน้ำหยดผลิตขายได้เอง ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตหลังอายุ ๗๐ ปีที่นางเลิ้งแบบพร้อมทำงานให้ชุมชน
อย่างไรก็ตาม เวลาที่เปลี่ยนแปลงไปและสภาพสังคมที่ใกล้ชิดในทางวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้คนจีนเปลี่ยนแซ่นามสกุลและชื่อ คนจีนในรุ่นถัดๆ ไป เช่น คนไหหลำมักเรียนหนังสือเก่งจนเติบโตทางการงานอาชีพ กลายเป็นแพทย์ วิศวกร หรือเจ้าหน้าที่ในระดับใหญ่ของรัฐเป็นส่วนใหญ่ คนแต้จิ๋ว คนกวางตุ้ง กลายเป็นคนไทยไปจนแทบจะเหลือเพียงการไหว้เจ้าตามเทศกาลที่ก็ไม่เคร่งครัดนักเท่านั้น ประเพณีการตายหรืองานไหว้เล็กๆ น้อยๆ ในรอบปี ภาษาพูด ชื่อแซ่ แทบจะไม่แตกต่างไปจากคนไทยชาวพุทธอื่นๆ แล้วในปัจจุบัน ดังนั้นเราจึงเห็นว่าคนในตลาดและคนรอบวัดแค แม้จะต่างกลุ่มพื้นเพทางวัฒนธรรม แต่ก็เข้ากันได้โดยดี และเขตพรมแดนตามธรรมชาติก็แทบจะไม่ปรากฏแล้ว ดังนั้น เราจึงมักได้ยินชื่อ การจัดงานต่างๆ เรียกรวมๆ กันไปเช่น ‘งานวัดแค-ตลาดนางเลิ้ง หรืองานตลาดนางเลิ้ง-วัดแค’ ปนๆ กันไป
ตัวอย่างของกรณีความสัมพันธ์ต่างพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจคือกรณีของ “ป้าพวงเพชร เสือสง่า” แห่งร้านนางเลิ้งอาร์ต อายุราว ๘๔ ปี ป้ากำเนิดจากการเป็นลูกสาวชาวจีนแต้จิ๋วที่โพธาราม อายุเพียงสองเดือน คณะลิเกดอกดิน เสือสง่า ไปแสดงที่โพธารามก็รับลูกสาวชาวจีนเป็นหลานบุญธรรม ‘แม่ละออง’ เลี้ยงป้าพวงเพชรมาแต่นั้น ป้าเติบโตอยู่ในโรงลิเก แน่นอนย่อมกลายเป็นนางเอกลิเก ได้วิชาความรู้ เพลงราชนิเกลิงจากตาดอกดินและใช้ชีวิตแบบคนไทยๆ ในสังคมแวดล้อมแบบคนลิเก หลังจากย้ายมาอยู่ที่แถบถนนพะเนียงก็พบพ่อม่ายอายุมากกว่าสิบกว่าปี เป็นคนจีนเชื้อสายแคะที่มีฝีมือและทำร้านถ่ายรูปนางเลิ้งอาร์ต ชีวิตความเป็นอยู่ของป้าที่ใช้ชีวิตเป็นคนไทยพื้นบ้านมากกว่าคนเชื้อสายจีน อีกทั้งสามีป้าก็ไม่นิยมไหว้เจ้า ป้าทำบุญตักบาตร ร้องลิเกระดับนางเอกทั้งๆ ที่ป้าและครอบครัวรูปลักษณ์ภายนอกดูเป็นคนเชื้อจีนเต็มขั้น
สามีของป้ารับสืบทอดร้านนางเลิ้งอาร์ตมาจากเครือญาติและมีวิชาการทำล็อกเกตหินภาพลงสีสวยงาม เป็นงานฝีมือปราณีตที่คู่ควรกับงานช่างฝีมือทำกรอบเงินทองหรือล้อมเพชร ชิ้นหนึ่งๆ แพงสมควรกับฝีมือ และยังเป็นรายได้สำคัญของร้านที่สืบฝีมือกันภายในครอบครัว จนทำให้ทุกวันนี้ร้านนางเลิ้งอาร์ตยังคงเปิดร้านได้เสมอๆ ไม่มีอะไรต้องร้อนใจแม้สภาพแวดล้อมและสังคมเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว แต่งานช่างฝีมือล็อกเกตหินยังคงมีผู้สั่งทำอยู่เรื่อยๆ
เจ้าของร้านชื่อนายหม่อยหยุ่น แซ่เหงี่ยว เป็นชาวจีนที่ไปเติบโตที่เกาะมาริตัส แถบแอฟริกา จึงมีความรู้ภาษาอังกฤษดี เมื่อเข้ามาอยู่เมืองไทยก็ได้โอนสัญชาติและเปลี่ยนชื่อเป็นนายอาจ ศิลปวณิช เคยเป็นลูกจ้างร้านทองมาก่อน แล้วจึงได้ออกมาเปิดร้านถ่ายรูปตามความสนใจของตัวเอง ในสมัยนั้นล๊อคเกตเป็นเครื่องประดับที่กำลังเป็นที่นิยม แต่ต้องส่งไปทำที่ต่างประเทศ เขาจึงเริ่มต้นศึกษาวิธีการทำอย่างจริงจังจนเป็นผลสำเร็จ และหลานของท่านนี้ก็คือสามีป้าพวงเพชรนี่เอง ทุกวันนี้ป้าพวงเพชรรวมทั้งลูกๆ ยังใช้นามสกุล เสือสง่า สืบมา

ป้าพวงเพชร เสือสง่า
บางทีอาจจะมีบ้านเมืองเพียงไม่กี่แห่งเช่นในกรุงเทพฯ หรือเมืองไทย ที่ผู้คนต่างชาติพันธุ์ถูกหลอมรวมจนกลายเป็นคนสยามหรือคนไทยได้อย่างน่าทึ่ง
ชุมชนที่นางเลิ้งถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ต่างๆ ตามแผนที่ทางการที่รัฐจัดให้ คือ ชุมชนศุภมิตร ๑, ชุมชนศุภมิตร ๒ ส่วนบริเวณย่านถนนพะเนียงรอบวัดแค นางเลิ้งเป็นอีกแห่งหนึ่ง คือ ชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง) ซึ่งมักถูกมองจากภายนอกว่าเป็นพื้นที่เดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาทางวัฒนธรรมและภูมิหลังก็จะแยกกลุ่มผู้อยู่อาศัยตามธรรมชาติได้ระหว่างชาวบ้านรอบวัดแคที่มีอาชีพรับจ้าง ขายของบ้างและอยู่ในย่านละคร และชาวตลาดที่มีอาชีพค้าขายและส่วนใหญ่เชื้อสายจีนที่มีธรรมเนียบปฏิบัติในประเพณี พิธีกรรมและชีวิตที่ค่อนข้างแตกต่างกันมากทีเดียว
ชุมชนนางเลิ้งในปัจจุบันก็เหมือนชุมชนเมืองอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ที่ถูกการจัดการพื้นที่แบบแบ่งเขต แล้วสร้างชุมชนเสมือนจริงขึ้น จัดวางลำดับเป็นองค์ต่างๆ และมีการแต่งตั้งและเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย และภายหลังโครงสร้างแบบนี้ก็รองรับนักการเมืองในระดับท้องถิ่นที่กลายเป็นเครือข่ายของนักการเมืองระดับประเทศ จนกลายเป็นปัญหาส่วนหนึ่งและขาดความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดทั้งๆ ที่เป็นชุมชน [Community] แบบธรรมชาติแต่เดิมที่ยังมีบทบาทหน้าที่ได้ดีอยู่ เพราะแต่เดิมนั้นชุมชนทั้งในเมืองและชนบทมีความสัมพันธ์ต่อกันในระดับผู้คน มีความเชื่อและศรัทธาร่วมกัน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของแผ่นดินหรือกลุ่มบ้านหมู่บ้านร่วมกัน ความสัมพันธ์ในเมืองอยู่ในพื้นที่แบบที่แบ่งกันเป็นย่านๆ แล้วแบ่งตามธรรมชาติ เป็นถนน เป็นตรอกต่างๆ
ดังนั้นแต่เดิมโดยธรรมชาตินั้น คนในตลาดนางเลิ้งเป็นกลุ่มคนเดียวกัน ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนกลุ่มต่างๆ มีคนท้องถิ่นเข้ามาค้าขายปะปนอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก คนในตลาดและตามตึกแถวเริมถนนทั้งสองฝั่งเป็นคนค้าขาย ส่วนด้านเหนือติดกับถนนศุภมิตรและถนนกรุงเกษมที่เรียกว่าชุมชนศุภมิตร ๑ ในปัจจุบัน เคยเป็นโรงน้ำแข็งที่มีขี้เลื่อยเพื่อรักษาอุณหภูมิจึงเรียกตรอกขี้เลื่อย เรื่อยมาจนถึงหลังชุมชนศุภมิตร ๒ ในปัจจุบันบ้านเรือนแออัดมาก ฟากด้านเหนือของถนนสุภมิตรเคยเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ และถูกไล่ที่ไปแล้วสร้างตึกอาคารพานิชย์ขึ้นแทน คนส่วนหนึ่งทางฝั่งฟากตลาดนางเลิ้งนั้นเป็นพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ จึงไม่ได้ถูกไล่และยังคงสภาพบ้านเรือนแบบเดิมๆ อยู่มาก และผู้คนส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการและทำงานอื่นๆ ที่ไม่ได้ค้าขายเป็นหลักเช่นชุมชนศุภมิตร ๒ ที่ส่วนใหญ่เป็นในตลาดและค้าขาย
ต่อมาบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่นางเลิ้งค่อนข้างหนาแน่น ทำให้ผู้คนต่างทยอยออกไปอยู่ข้างนอก นอกจากนี้วังของเจ้านายต่างๆ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น วังกลายเปลี่ยนเป็นสถานที่ราชการ ต่อมาโรงหนังแบบเดี่ยวๆ ก็พบกับทางตัน และในปีพ.ศ. ๒๕๓๖ โรงภาพยนตร์เฉลิมธานีก็ปิดลง กลายเป็นพื้นที่เช่าเก็บของ รวมระยะเวลาที่ฉายหนังยาวนานกว่า ๗๕ ปี

สมพงษ์ โชติวรรณ
และจากนโยบายการเปลี่ยนเอาสถานที่ราชการออกไปนอกเมือง ซึ่งดึงเอาคนออกไปนอกเมืองด้วย เช่น ที่ถนนแจ้งวัฒนะ อาคารสำนักงานที่เคยอยู่ใกล้เคียงก็ทยอยย้ายออกไปเรื่อยๆ ปัจจุบันสภาพของนางเลิ้งเปลี่ยนแปลงไปเพราะสภาพแวดล้อมแบบเมืองนั้นเปลี่ยนอย่างขนานใหญ่ภายในเวลากว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา ตลาดนางเลิ้งจึงเหลือแค่เพียงเป็นโรงอาหารกลายๆ และขายได้แค่สายๆ จนถึงพักเที่ยง ส่วนตลาดสดนั้นที่เป็นเป็นตลาดหลักก็เหลือพื้นที่เพียงไม่มาก เพราะรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนในเมืองเปลี่ยนไปหมดรวมถึงคนในเมืองเองก็ย้ายออกจากเมืองในย่านพระนครไปจนแทบจะเป็นเมืองร้างเสียแล้วในทุกวันนี้
ครอบครัวที่ขยายตัวจึงเปลี่ยนแปลงย้ายออกไปทั้งหมดก็มาก ออกไปซื้อบ้านชานเมืองให้ลูกหลานก็มากและมีคนสูงวัยยังคงอาศัยอยู่เนื่องจากความเคยชิน ห้องแถวที่เป็นร้านค้าแต่ละหลังเปิดขายของทุกห้อง ส่วนพักอาศัยในบ้านจึงมีพื้นที่น้อยมาก ต่อมารุ่นลูกออกไปเรียนหนังสือก็ย้ายออกไปทำงานนอกชุมชน บางบ้านต้องการที่จอดรถและพื้นที่มากขึ้นก็ย้ายออกไปอยู่ชานเมือง บางห้องก็ปิดเงียบ แม้จะมีคนอยู่อาศัยแต่ก็ไม่เปิดค้าขายอีกต่อไปแล้ว สภาพเป็นเช่นเดียวกับครอบครัวในย่านตลาดหรือเมืองเก่าในหลายๆ แห่ง ของกรุงเทพมหานคร
มีความพยายามฟื้นตลาดนางเลิ้งในหลากหลายโครงการและรูปแบบ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ สำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ปิดซ่อมอาคารตลาดนางเลิ้งทั้งโครงสร้างและรายละเอียดเป็นเวลากว่า ๕ เดือน เมื่อเปิดมาใหม่
บรรยากาศตลาดแบบเดิมๆ หายไปมาก และอยู่ก้ำกึ่งระหว่างตลาดสดและตลาดขายอาหารแบบธรรมชาติที่มีคนเดินตลาดหาซื้อของใช้และของกินในชีวิตประจำวันกับตลาดเพื่อการท่องเที่ยว และปัจจุบันก็ยังดำรงสภาพกึ่งๆ เช่นนั้นอยู่
ผู้คนที่นางเลิ้งเรียนรู้ที่จะอาสาทำงานให้ชุมชนในหลายรูปแบบ เช่น ป้าเมาที่เป็นสาวโสดและทำงานเป็นประธานชุมชนตลาดนางเลิ้งทางศุภมิตร ๒ มาหลายปี เริ่มจากการแต่งตั้งและงานอาสาสมัครสาธารณสุขต่างๆ คนจีนที่นางเลิ้งเป็นสาวโสดกันมาก ทั้งๆ ที่หน้าตาสวยงามทั้งนั้น วัฒนธรรมในการเลี้ยงดูแบบเดิมที่ค่อนข้างเคร่งครัดและความขัดสนต้องทำมาหากินก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ไม่ได้ออกเรือน
ป้าเมาหรือวนาพร บุญญานุวัตร อาศัยอยู่กับพี่สาว ที่เรือนแถวของสำนักงานทรัพย์สินฯ เที่เพิ่งซ่อมหรือสร้างใหม่เสร็จไม่นาน ป้าเป็นผู้เช่าอยู่เก่า ทั้งคู่อายุเจ็ดสิบกว่าใกล้แปดสิบปีแล้ว อยู่อาศัยและเกิดที่ห้องแถวหลังเล็กๆ นี้ เตี่ยและแม่ที่มาจากเมืองจีนก็ตายที่นี่ ความทรงจำจึงอบอวลในพื้นที่เล็กๆ ป้าทำงานให้ชุมชนในช่วงอายุมากแล้ว เลิกจากงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่เคยทำ มีลูกค้าเป็นข้าราชการที่เดี๋ยวนี้ย้่ายไปจนเมืองแทบร้าง
สำนักงานทรัพย์สินฯ ที่มีข่าวมาหลายปีว่ามีปัญหากับผู้เช่าแต่เดิมและทำงานโดยไม่เข้าใจชุมชนตลอดมา เช่นชุมชนนางเลิ้งที่ไม่สามารถ ขยายชุมชนหรือต่อเติมอาคารบ้านเรือนได้ เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ มีกฎระเบียบต่างๆ ในการซ่อมแซม แต่เมื่อผ่านมาหลายปีแล้ว เสียงหลายส่วนทีเดียวที่เปลี่ยนไป จากความขัดแย้งก็เริ่มเห็นในความเข้าใจและความพยายามของเจ้าหน้าที่และบทบาทที่มีต่อชุมชนและผู้เช่า หลายคนในตลาดนางเลิ้งเริ่มมองในภาพพจน์ที่ดีขึ้นตามลำดับ

ป้าเมา วรรณพร บุญญานุวัตร
ป้าเมาเล่าถึงบรรยากาศสงคราม เล่าถึงคณะลำตัด โรงหนัก และ “ตรอกสะพานยาว” ย่านโคมเขียวขึ้นชื่อ จนต้องมีการสร้างสุขศาลาเพื่อโรคที่ต้องถึงมือ หมอเพียร เวชบุล และหากมีโอกาสก็ยังคงทำบุญให้วิญญาณสัมภเวสีทุกสงกรานต์ตลอดช่วงเวลาที่ทำงานให้ชุมชน ป้าเมายังนึกถึงเหล่าผู้หญิงเหล่านั้นที่เคยทำแท้งที่แถวตรอกสะพานยาว ก่อนที่ไฟจะไหม้ใหญ่จนบ้านโคมเขียวหายไปตลอดกาลเมื่อ ราว พ.ศ. ๒๕๑๖
คุณสมพงษ์ โชติวรรณและครอบครัวก็กลับนางเลิ้งมาเพื่อตั้งใจทำงานให้ส่วนรวมและร่วมพัฒนาชุมชน หลังจากที่ไปใช้ชีวิตอยู่ระยองนานหลายปี
คุณวรรณชัย วราศิริกุล ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานให้ชุมชน และเป็นกรรมการศาลเจ้าไปจนถึงไปเป็นสมาชิกสภาเขตและประธานสภาเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มองเห็นปัญหาของนางเลิ้งได้กว้างและลึก เห็นปัญหาเรื่องคนทำงานชุมชนและปัญหาในระดับโครงสร้างและระดับบุคคลได้ดีคนหนึ่ง และเป็นกำลังสำคัญในความพยายามสร้างกลุ่มและคนรุ่นใหม่เพื่อจัดการปัญหาของตลาดนางเลิ้งที่มีอยู่มากและเร่งวันเวลาที่รอวันแก้ไข เพราะคนในตลาดนางเลิ้งแทบทุกคนมองว่า ปัญหาของตลาดนางเลิ้งเช่นนี้ หากแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อให้มีทิศทางเดินไปทางใดทางหนึ่งไม่ได้แล้ว
“ตลาดนางเลิ้งก็อาจจะสูญสลายลงไปภายใน ๑๐ ปีนี้”

วรรณชัย วราศิริกุล
ในขณะนี้ที่ผู้คนในนางเลิ้งส่วนใหญ่ดูเหมือนจะถอดใจกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป พร้อมๆ กับความเงียบเหงาของตลาดที่ดูเหมือนจะยังไม่มีทางออก เมืองเก่าของเราและคนที่เหลืออยู่ ต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ต้องใช้วิธีคิดและการนำเสนอใหม่ที่แตกต่างไปจากตลาดในรูปแบบร้อยกว่าปีที่เพิ่งเริ่มสร้าง หรือช่วงยุครุ่งเรืองจนเข้าสู่ยุคร้างโรยไป ตลาดที่เหลืออยู่ก่อนจะล้มหายตายจากไปก็คงเป็นตลาดเมืองอีกรูปแบบหนึ่งที่ยังไม่มีใครสามารถจัดการรูปแบบใหม่นี้ได้ ครั้งหนึ่งที่เราบอกว่าบ้านดีเมืองดี เพราะเราเคยมีชุมชน เราเคยชีวิตเนิบช้า เราเคยมีร้านค้าเต็มถนน เต็มบ้านเต็มเมือง และมีชีวิตอันแสนอุดมสมบูรณ์ด้วยชุมชนและผู้คน และมีตลาดรองรับความเป็นย่านบ้านเมืองของพวกเรา
ทุกวันนี้ ประเทศของเราไม่สามารถทำการค้าแบบร้านเล็กร้านน้อยเกินสองรุ่น และกิจการของครอบครัวที่มักมีความรู้ประสบการณ์ส่งตรงเช่นนี้หลายๆ ร้านก็คงหมดไปกับคนรุ่นที่สามทั้งนั้น คิดเล่นๆ แบบวิเคราะห์ไปด้วยก็เหมือนว่า กิจการส่วนใหญ่ในร้านค้าปลีกพวกทำอาหาร เครื่องดื่ม หรืองานฝีมือก็ได้ มักเป็นคนจีนที่ส่วนใหญ่เห็นคุณค่าของการศึกษาอันเป็นช่องทางในการปรับตัวเข้าสู่ชนชั้นอื่นๆ ในสังคม ชนชั้นที่นำไปสู่ฐานะในทางเศรษฐกิจและสังคม เมืองไทยไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ ก็สามารถเลื่อนสถานะตนเองกันได้เสมอๆ ถ้ามีความสามารถและเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ ซึ่งแตกต่างจากการจัดลำดับทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศอื่นๆ หรือเพื่อนบ้านเรานี่ค่อนข้างมาก
ร้านขายปลีกของเรา รัฐและพ่อค้ารายใหญ่อื้อกันเสียจนร้านค้าปลีกที่เป็นชีพจรเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมได้ ร้านเล็กๆ ที่เราเห็นการประคับประคองและสร้างเศรษฐกิจการเงินหมุนเวียนในชุมชนโดนลบไปพร้อมๆ กับความไม่เข้าใจว่าชุมชนคืออะไร ปัจจุบัน ผังเมืองเปลี่ยนแปลงมา และเป็นโครงสร้างที่ดึงคนออกไป
คนย้ายออกไปก็ว้าเหว่ ไปอยู่บ้านในตึก ในหมู่บ้านที่ไม่มีตลาด ไม่มีวัดให้เข้า ไม่มีคนให้คุย และตายคนเดียวถ้าไม่มีใครเห็น.
บรรณานุกรม
กัณฐิกา ศรีอุดม. “พร” ของพระนครในสมัยรัชกาลที่ ๕. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙)
นลินี ตันธุวนิตย์และคณะ, โครงการวิจัยและปฏิบัติการเรื่องพัฒนาชุมชนแออัดและองค์กรชุมชนแออัดในเมือง กรณีศึกษาชุมชนนางเลิ้ง. ๒๕๔๓.
เอนก นาวิกมูล. ตลาดเก่าๆ. กรุงเทพฯ, แสงดาว, ๒๕๕๓.
ข้อมูลสัมภาษณ์
สมพงษ์ โชติวรรณ
วรรณชัย วราศิริกุล
พวงเพชร เสือสง่า
วนาพร บุญญานุวัตร
รักษมล แซ่เฮ้ง
เอมอร วัชกะพงศ์, อายุ ๘๐ ปี ชุมชนศุภมิตร ๒