วลัยลักษณ์ ทรงศิริ.

เอกสารประกอบเสวนาสาธารณะของคนย่านเก่าเมืองกรุงเทพฯ เรื่อง “คนย่านเก่า ปัจจุบันและอนาคต รำพึงรำพัน..โดยคนบางลำพู” วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๙

คลองคูเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์รอบด้านในสุดขุดมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ปากคลองด้านทิศเหนือผ่านโรงไหมหลวงจึงเรียกว่า “คลองโรงไหม” และเมื่อมีการขุด “คลองหลอด” เป็นแนวตั้งเชื่อมกับคลองเมืองชั้นนอกก็เรียกคลองช่วงนี้ว่า “คลองหลอด” จากท่าช้างวังหน้าทางทิศเหนือไปออกที่ปากคลองตลาดทางทิศใต้ เมื่อย้ายพระนครมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาจึงกลายเป็นเส้นทางคมนาคมแทนที่คูเมืองและกำแพงป้องกันเมือง

คลองคูเมืองสายกลาง “คลองบางลำพู-โอ่งอ่าง” ขุดในสมัยแรกสร้างกรุงเทพฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ

ส่วนคลองคูเมืองสายนอกหรือคลองขุดใหม่หรือคลองผดุงกรุงเกษมขุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในยุคที่สยามเริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่สังคมของโลกสมัยใหม่

ชุมชนย่านเก่าของกรุงรัตนโกสินทร์ล้วนแรกสร้างและเติบโตรวมทั้งขยับขยายออกไปตามยุคสมัย ทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและย่านการค้าซึ่งถือเป็นรากเหง้าของความเป็นเมืองกรุงเทพฯ

คลองคูเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ “คลองบางลำพู-โอ่งอ่าง”
คลองคูเมืองเมื่อแรกสร้างกรุงฯ เริ่มจากทางทิศเหนือไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้บริเวณใกล้วัดสามปลื้ม ระยะทางราว ๓.๖ กิโลเมตร สร้างกำแพงอิฐแข็งแรง ป้อม และประตูเมืองไว้โดยรอบพระนคร บันทึกไว้ว่า มีประตูใหญ่ ๑๖ ประตู ประตูช่องกุด ๔๗ แห่ง และมีป้อมทั้งสิ้น ๑๔ ป้อม มีการเรียกชื่อคลองเส้นเดียวกันนี้แตกต่างกันไปตามย่านชุมชนหรือวัดคือ คลองบางลำพู คลองสะพานหัน คลองวัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข) คลองโอ่งอ่าง

พื้นที่ทั้งภายในกำแพงเมืองด้านเหนือมาจนถึงท่าพระอาทิตย์และป้อมพระสุเมรุปากคลองบางลำพูก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเจ้านายและขุนนางหนาแน่นกว่าที่อื่นๆ ริมคลองมีอาคารบ้านเรือนท่าน้ำและตลาดน้ำต่อเมื่อมีการรื้อกำแพงและประตูเมืองจึงปลูกตึกและอาคารสองฝั่งถนนมากขึ้น สองฝั่งคลองจึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนหนาแน่น

ชาวบ้านธรรมดาส่วนมากตั้งถิ่นฐานเรียงรายอยู่ทั้งสองฝั่งคลอง เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยและสร้างงานหัตถกรรมจนถึงอุตสาหกรรมในครัวเรือนหลายชนิด ตั้งแต่ต้นกรุงฯ ผู้คนที่อยู่อาศัยมีหลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น คนมอญแถววัดชนะสงครามถึงบางลำพู คนมุสลิมจากปัตตานีที่กวาดต้อนเข้ามาเป็นชุมชนที่มีมัสยิดเป็นศูนย์กลางและอยู่ไม่ห่างวัดชนะสงคราม เกิดแหล่งย่านการค้าทั้งขายส่งและขายรายย่อย ทั้งตลาดบกและตลาดน้ำทำให้มีกลุ่มคนจีนเข้ามาเช่าอาคารร้านค้าและตั้งชุมชนค้าขายจำนวนมาก เพราะเป็นคลองเมืองที่เชื่อมต่อกับคลองมหานาคที่สามารถเดินทางออกไปนอกเขตพระนครทางฝั่งตะวันออกได้

บริเวณปากคลองฝั่งนอกมีวัดบางลำพูหรือวัดสังเวชวิศยารามเป็นศูนย์กลางของชุมชน ส่วนด้านในกำแพงเมืองเป็นย่านของวังริมป้อมพระสุเมรุและป้อมพระอาทิตย์ เป็นกลุ่มตระกูลของพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าย่านวัดสังเวชต่อวัดสามพระยายังมีบ้านครูดนตรีไทย เช่น บ้านบางลำพูของตระกูลดุริยประณีตที่ยังมีชีวิตชีวาจนถึงทุกวันนี้

นอกคลองเมืองชั้นในทางตอนเหนือมี “วัดชนะสงคราม” หรือ “วัดตองปุ” ซึ่งเป็นวัดเก่ามาก่อนการสร้างพระนคร มีชุมชนเก่าอยู่ก่อน ต่อมาเมื่อทางวังหน้าบูรณปฏิสังขรณ์วัดชนะสงครามขึ้นมาก็กลายเป็นวัดสำคัญของพระบวรราชวัง มีการนำคนมอญเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่โดยรอบสลับกับวังของเจ้านายฝ่ายวังหน้า

นอกเหนือจากเป็นแหล่งค้าขายตลาดต่างๆ ยังเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำใหญ่และชุมชนชาวสวนทางฝั่งธนฯ และในเขตอื่นๆ จึงมีชาวจีนเข้ามาค้าขายไม่น้อย เป็นอาคารร้านค้าชั้นเดียวบ้าง สองชั้นบ้าง และหันหน้าลงคลอง ยังคงพบอาคารเหล่านี้หลังตึกแถวที่เคยเป็นแนวกำแพงเมืองที่ถูกรื้อไปแล้ว ฝั่งตรงข้ามเป็นย่านบ้านเรือนและวังพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ต่อเนื่องกับย่านวัดตรีทศเทพ และต่อมากลายเป็นโรงไม้ที่ช่างจีนไหหลำทำโรงเลื่อยและรับทำงานไม้และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

ริมคลองบางลำพูเรื่อยมาจนถึงวัดรังษีสุทธาวาสที่รวมกับวัดบวรนิเวศภายหลังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงสร้างตั้งแต่สมัยรัชการพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เคยเป็นวัดที่มีมาก่อนสร้างวัดบวรนิเวศในครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และภายหลังจึงมารวมเป็นวัดเดียวกัน พื้นที่บริเวณนี้ยังอยู่ในอาณาบริเวณย่านวังหน้าในช่วงรัชกาลที่ ๒ และ ๓ ส่วนย่านที่ผู้คนอยู่อาศัยที่สำคัญคือ “ตรอกบวรรังษี” ที่อยู่อีกฝั่งคลองคั่นกับอาณาบริเวณวัดบวรรังษี

BL


แผนที่กรุงเทพมหานคร บริเวณย่านบางลำพู พ.ศ. ๒๔๗๕

ย่านเก่า “ตลาดบางลำพู”
ย่านบางลำพูทางทิศเหนือของพระนครจึงเจริญไม่แพ้ตลาดทางชานพระนครฝั่งตะวันออก เช่น สะพานหัน สำเพ็งไปจนถึงตลาดใหม่ที่นางเลิ้ง ย่านตลาดใกล้ปากคลองบางลำพูถือเป็นตลาดริมน้ำและท่าน้ำเพื่อการคมนาคม เป็นแหล่งขนถ่ายและแลกเปลี่ยนสินค้า พืชผักผลไม้จากย่านฝั่งธนฯ ก่อนจะพัฒนากลายเป็นตลาดบกที่สำคัญ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวหลังเสด็จประพาศยุโรปและเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๐ มีการสร้างพระราชวังดุสิตขึ้นทางตอนเหนือของพระนคร เกิดการตัดถนนหลายสายในพื้นที่บางลำพูเพื่อรองรับเครือข่ายถนนที่ตัดเชื่อมมาจากพื้นที่สามเสน ได้แก่ ถนนจักรพงษ์ ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ ถนนข้าวสาร ถนนรามบุตรี และถนนสิบสามห้าง ทำให้ย่านบางลำพูกลายเป็นตลาดทันสมัยในยุคสยามสมัยใหม่ที่อยู่ในพระนครด้านทิศเหนือ และควบคู่ไปกับตลาดนางเลิ้งที่กลายเป็นพื้นที่พัฒนาให้เป็นย่านอาคารตลาดสมัยใหม่แบบยุโรปทางด้านนอกพระนครด้านทิศตะวันออก ที่ต่อเนื่องมาจากการสร้างพระราชวังดุสิตและการเป็นย่านวังที่ประทับต่างๆ ของพระราชวงศ์ริมคลองผดุงกรุงเกษม

10

ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณ ปากคลองบางลำพู ภาพถ่ายปีเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันท์ เมื่อหลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ เห็นแนวคลอง บางลำพูที่ยังไม่มีการสร้าง ประตูน้ำ

ตลาดบางลำพูที่เคยเป็นตลาดขายผลไม้และของสดต่างๆ ก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นการสร้างตึกแถวขึ้นริมถนนตัดใหม่เหล่านี้ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๔๕ จึงมีการจัดสร้างตลาดใหม่คือ “ตลาดบางลำพู” และ “ตลาดยอด” ทางฝั่งในเมือง “ตลาดทุเรียน” และ “ตลาดนานา” อยู่ฝั่งตรงข้าม โรงละคร โรงหนัง เช่น โรงหนังปีนัง โรงหนังศรีบางลำพู โรงหนังบุษยพรรณ โรงละครแม่บุนนาค และโรงลิเกคณะหอมหวล ร้านอาหารสารพัดชนิด จนกลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางการค้าและเป็นศูนย์รวมมหรสพแหล่งใหญ่ ถือเป็นแหล่งนัดพบและจับจ่ายซื้อหาสิ่งของที่คึกคัก จนเมื่อราว ๓๐-๔๐ กว่าปีที่ผ่านมาจึงโรยราลงตามลำดับ

“ตลาดยอด” ตั้งอยู่ใกล้สะพานนรรัตน์ฝั่งทิศใต้ บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งห้างนิวเวิร์ล พื้นที่กว้างขวางจากแนวถนนพระสุเมรุจนถึงถนนไกรสีห์ และบริเวณที่จอดรถของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เป็นตลาดใหญ่และมีความสำคัญของชุมชนบางลำพูในฐานะตลาดประจำย่านบางลำพู ปรับปรุงให้เป็นตลาดสดและค้าขายสินค้าต่างๆ ในช่วงรัชกาลที่ ๕ และรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงรัชกาลที่ ๗ ตลาดยอดมีสินค้าสารพัดชนิด เป็นตลาดที่เปิดทั้งวันทั้งคืน เพราะเช้าขายของสดพอเย็นค่ำจะเป็นอาหารการกิน จึงครึกครื้นมีชีวิตชีวา สินค้าสารพัดที่นำมาจำหน่าย เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน มาลัย แป้ง กระแจะ น้ำอบไทย เครื่องหอม ขนมไทยต่างๆ และบุหรี่ไทยประเภทยาใบบัว ยาใบตองอ่อน เป็นต้น ทั้งเป็นแหล่งเครื่องหนัง เสื้อผ้า ร้านอาหารมุสลิม ร้านเครื่องถ้วยชาม และห้างขายทองรูปพรรณต่างๆ ตลาดเช้าเต็มไปด้วยของสดนานาชนิดจนสายตลาดจึงวาย หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นตลาดขายผ้า ขายเสื้อและรองเท้า เครื่องหนังต่าง ๆ เมื่อตลาดแบบเก่าและร้านค้ารุ่นแรกๆ เริ่มซบเซาลง กิจการการค้ารูปแบบใหม่ได้เข้ามาแทนที่และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางกิจการมีฐานเติบโตมาจากกิจการเดิม เช่น ห้างแก้วฟ้าที่เติบโตจากร้านขายเครื่องหนัง, ห้างตั้งฮั้วเส็งและห่วงเส็ง มาจากร้านเล็กๆ เและเป็นพี่น้องกัน จำหน่ายพวกพวกอุปกรณ์การเย็บไหมพรม, ร้าน ต.เง็กชวน ขายและผลิตแผ่นเสียง ปัจจุบันคงเหลือเพียงห้างสรรพสินค้าตั้งฮั้วเส็งเท่านั้น

ตลาดยอดถูกเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ หลังจากไฟไหม้ในครั้งนั้นได้มีการสร้างตลาดใหม่แต่แผงเช่ามีราคาสูงขึ้น ทำให้พ่อค้าแม่ค้าสู้ราคาไม่ไหว จึงแยกย้ายกันไป เจ้าของพื้นที่ในช่วงนั้นจึงรื้อตลาดแล้วสร้างเป็นห้างสรรพสินค้านิวเวิร์ด ตลาดสดจึงหายไป

17

ปากคลองบางลำพูที่ต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ส่วนประตูน้ำอยู่ลึกเข้าไปเล็กน้อย

“ตลาดนานา” อยู่ฝั่งเหนือของคลองรอบกรุง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังริมคลองบางลำพู ชื่อของตลาดนานาเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อเจ้าของตลาด คือ คุณเล็ก นานา ชาวมุสลิมย่านคลองสาน ตลาดแห่งนี้ขายอาหารการกินและพืชผลทางการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ และของสดเป็นส่วนมาก นอกจากนี้ตลาดนานายังมีตลาดโต้รุ่งที่อยู่ใกล้กับโรงหนังบุษยพรรณ วัยรุ่นและคนวัยต่างๆ นิยมมาหาอาหารโต้รุ่งที่ขึ้นชื่อโดยเฉพาะในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ก่อนจะซบเซาลงในราว พ.ศ. ๒๕๒๙ และหายไปในที่สุด ต่อมาเจ้าของตลาดได้เปลี่ยนพื้นที่ตลาดให้เป็นโรงแรม

หลังจากตลาดและโรงหนังหายไปแล้ว บริเวณที่ต่อเนื่องกับตลาดนานาฝั่งตรงกันข้ามกับศาลาท่าน้ำวัดบวรนิเวศวิหาร ยังมีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่สร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้โดยพ่อค้าเชื้อสายจีนผู้ศรัทธาในสมเด็จพระเจ้าตากฯ ในย่านบางลำพู โดยเฉพาะเจ้าของร้านข้าวต้มวัดบวรฯ จึงไม่จำเป็นต้องไปสักการะทำพิธีกรรมกันถึงที่พระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่

“ตลาดทุเรียน” อยู่ฝั่งทิศใต้ของสะพานนรรัตน์ ฝั่งตรงข้ามกับตลาดนานา เป็นแหล่งชุมนุมขึ้นทุเรียนที่ชาวสวนและพ่อค้าคนกลางนำมาขาย นอกจากขายทุเรียนแล้ว พ่อค้าแม่ขายยังนำพืชพันธุ์การเกษตรมาขายเช่นเดียวกับตลาดนานา เช่น ผักผลไม้นานาชนิดที่ชาวสวนบรรทุกเรือมาจอดขาย แต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นตลาดขายเสื้อผ้า มุ้ง และของใช้ราคาถูก ก่อนจะกลายเป็นตลาดสดในปัจจุบัน เรียกกันว่า “ตลาดนรรัตน์”

ส่วน “ศาลเจ้าพ่อหนู” เกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์ไฟไหม้ เล่าต่อกันมาว่า วันหนึ่งมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยลอยน้ำมาติดที่ริมคลองบางลำพูฝั่งตลาดนานา และไม่ยอมลอยไปที่อื่น ชาวบ้านจึงอัญเชิญขึ้นมาบูชา และราว พ.ศ. ๒๕๐๓ ไฟไหม้บริเวณตลาดทุเรียนที่อยู่ฝั่งตรงที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหนูในปัจจุบัน มีชาวบ้านเห็นเด็กผู้ชายแต่งกายชุดสีชมพูยืนโบกธงเพื่อให้เพลิงสงบ จึงพร้อมใจกันขนานนามพระพุทธรูปนี้ว่า “เจ้าพ่อหนู” และมีการไหว้ขอพรแบบจีนเป็นประเพณีรวมทั้งการทำบุญที่คนในละแวกบางลำพูยึดถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนอย่างมั่นคงด้วย

“ถนนสิบสามห้าง” ชื่อถนนสายสั้น ๆ ที่ตั้งขนานกับถนนบวรนิเวศ บริเวณย่านนี้ขายสินค้าที่ขายในสิบสามห้าง ได้แก่ อาหารจำพวกข้าวแกง อุปกรณ์เย็บเสื้อผ้า ด้าย กระดุม เป็นต้น ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สิบสามห้างเป็นที่ชุมนุมของวัยรุ่น เพราะมีร้านอาหารเปิดขายจนดึกถึงสามสี่ทุ่ม มีร้านขายไอศกรีมซึ่งเป็นของหากินยากในยุคนั้น บริการเปิดโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อบันเทิงที่เพิ่งเข้ามาในเมืองไทยให้ดู และมีตู้เพลงซึ่งเป็นที่นิยมของวัยรุ่น ย่านจึงกลายเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นในยุคต้นพุทธกาลอันโด่งดัง ถือกันว่าบางลำพูเป็นย่านที่ทันสมัยแห่งหนึ่ง นอกเหนือไปจากแถบหลังวังบูรพาฯ

ภาพซ้าย ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณวัดบวรนิเวศวิหารของปีเตอร์ วิลเลี่ยม ฮันท์ เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เห็นหลุมหลบภัยที่กลางถนน ฝั่งด้านซ้ายคือถนนสิบสามห้าง

ภาพขวา การแสดงลิเกหรือละครประยุกต์ น่าจะออกอากาศทางโทรทัศน์ คณะ ลิเกหอมหวล นาคศิริ เล่นเรื่องขุนช้างขุนแผน โดยหอมหวลแสดงเป็นขุนช้าง ยืนทางด้านขวามือ

เมื่อราว ๒๐ ปีก่อน ริมถนนรอบย่านบางลำพู เช่น ถนนไกรสีห์ ถนนตานี ถนนสิบสามห้าง เป็นตลาดขายเสื้อผ้า พ่อค้าแม่ค้านิยมเอาสินค้ามาลดราคาหน้าร้านหรือเลหลังขาย โดยจับจองพื้นที่ริมถนนเปิดเป็นแผงลอยจำนวนมาก การค้าเสื้อผ้าที่ขึ้นชื่อในย่านบางลำพูแต่ก่อน คือ เสื้อผ้าชุดนักเรียนที่บรรดาผู้ปกครองต้องพากันมาซื้อหาเมื่อถึงฤดูกาลเปิดเรียน

ร้านค้าเสื้อนักเรียนเปิดมากแถบถนนไกรสีห์และถนนตานีและยังคงเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อของ ทั้งอาหารการกิน สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์เย็บปักถักร้อย และย่านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปแหล่งสำคัญของกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน แม้การค้าขายจะมีปริมาณน้อยลงก็ตาม

ส่วนบริเวณ “ถนนข้าวสาร” ย่านใกล้เคียงกับบางลำพู เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของบรรดาขุนนางวังหน้า ที่ทำหน้าที่ช่างหลวงและช่างฝีมือของโรงกษาปณ์เป็นส่วนใหญ่ซึ่งถือว่ามีฐานะดี เช่น บ้านไกรจิตติของเจ้าพระยาอาทรธุรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร ณ อยุธยา) อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นเรือนหอคุณหญิงเชยเมื่อสมรสกับพระยากฤตราชทรงสวัสดิ์ ผู้มีเชื้อสายมอญ บริเวณใกล้เคียงแต่เดิมเป็นชุมชนมอญที่ค่อยๆ ย้ายออกไปจนหมดแล้ว และมีเรือนตึกแถวค้าขายแห่งแรกของประเทศไทยที่ริมถนนตะนาว ร้านสังฆภัณฑ์ที่โด่งดังมากคือ ร้าน “ส.ธรรมภักดี” สินค้าที่ชาวจีนย่านนี้นิยมค้าขายคือข้าวสาร จึงเรียกว่า “ตรอกข้าวสาร”
ย่านตรอกข้าวสารหรือถนนข้าวสารเปลี่ยนแปลงไปเป็นแหล่งที่พักราคาถูกของนักท่องเที่ยวเมื่อราว ๔๐ ปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดบริษัททัวร์ในชุมชน การสร้างห้องพักแบ่งให้เช่าจนถึงโรงแรมห้องแถวขนาดเล็กและสถานบันเทิงต่างๆ

“คนบางลำพู” โดยพื้นฐานเป็นช่างฝีมือที่มีทั้งคนเชื้อสายมอญ เชื้อสายมลายูที่เป็นคนมุสลิมและชาวจีน รวมทั้งนักดนตรีไทยที่มีอยู่ราว ๒๐ ตระกูล เช่น ดุริยพันธ์ เขียววิจิตร รุ่งเรือง โตสง่า พิณพาทย์ และเชยเกษ แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงตระกูลเดียวคือ “ตระกูลดุริยประณีต” ซึ่งยังคงมี “บ้านบางลำพู” ที่ยังคงเป็นสถานที่ฝึกซ้อมและสอนโดยมีการไหว้ครูและงานกิจกรรมต่างๆ เป็นประจำทุกปี ถือเป็นกลุ่มนักดนตรีที่มีอิทธิพลสูงสุดแห่งหนึ่งในด้านการบรรเลง ขับร้อง และการประชันดนตรีไทย สืบทอดความรู้และความชำนาญแบบดั้งเดิมไว้อย่างสำคัญ

“ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ฝั่งตรงข้ามกับศาลาท่าน้ำวัดบวรนิเวศฯ

ย่านที่พักเพื่อการท่องเที่ยวราคาถูก / หรือการสร้างพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ถนนข้าวสารเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อกลายสภาพเป็นย่านที่พักราคาถูกสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก และสามารถหาความบันเทิง อาหาร สินค้าราคาไม่แพงได้ที่ถนนข้าวสาร จากชุมชนที่เคยค้าขายอย่างเรียบๆ ก็กลายมีีสันฉูดฉาดทั้งกลางวันและกลางคืน การค้าขายเปลี่ยนรูปแบบ การเช่าห้องเปลี่ยนมือผู้เช่า เกสท์เฮาส์ ร้านค้าต่างๆ บาร์ ไนท์คลับแออัดยัดเยียด ขยายออกรอบด้านของบางลำพู เช่น ถนนรามบุตรีตลอดทั้งสาย ข้ามฝั่งมาด้านข้างวัดชนะสงครามและมัสยิดจักรพงษ์ซึ่งมีสถานบันเทิงต่างๆ รอบวัดและมัสยิด มีการเปิดโรงแรมขนาดเล็กและโฮสเทลไปจนถึงถนนพระอาทิตย์และถนนพระสุเมรุและข้ามฝั่งไปยังย่านโดยรอบวัดสังเวชฯ ถนนข้าวสารจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างชื่อให้กับชาวบางลำพู ในฐานะย่านที่พักราคาไม่แพงและอยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่า พระบรมมหาราชวัง ตลอดจนแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นหัวใจของเมืองไทย จึงเป็นที่พักอาศัยของนักท่องเที่ยวที่นิยมกันมาอย่างยาวนานหลายสิบปีแล้ว

dsas

ย่านถนนข้าวสาร แหล่งที่พักราคาถูกของ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่มีความนิยมขี่จักรยาน ทำให้เกิดการสร้างเลนจักรยานที่ห้ามการจอดรถในเขตที่มีเลนจักรยาน เช่นที่ย่านบางลำพู ซึ่งยังเป็นตลาดการค้าอยู่ ทำให้ไม่สามารถจอดรถยนต์หรือจักรยานยนต์ได้ในช่วงเวลาที่เคยจอด เช่น ในตอนกลางวันที่มีคนขี่จักรยานค่อนข้างน้อยจนถึงไม่มีเลยแต่จะนิยมขี่กันในช่วงกลางคืนมากกว่า หรืออาจจะสร้างเส้นทางอื่นที่เหมาะสมกว่านี้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

แต่รัฐโดยกรุงเทพมหานครก็ยังยืนยันจะทำให้เป็นเส้นทางจักรยานเช่นเดิม และเห็นว่าไม่ควรมีรถจอดกีดขวางจักรยาน สิ่งเหล่านี้แม้เป็นการมองต่างมุม แต่การทำลายสภาพย่านการค้าเก่าจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่สามารถไปด้วยกันได้กับผู้ถูกท่องเที่ยวหรือผู้ได้รับผลกระทบก็ยังไม่มีการคิดร่วมกัน หรือจัดการเพื่อการอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนแต่อย่างใด

มีผู้ศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่มีต่อคนย่านบางลำพูพบว่า ทัศนคติของคนในชุมชนแบ่งออกได้ ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่เห็นด้วยกับการท่องเที่ยวและกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการท่องเที่ยว

กลุ่มที่เห็นด้วยกับการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เช่าพื้นที่ประกอบกิจการการค้าและหารายได้จากการท่องเที่ยว ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการท่องเที่ยวคือกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่

แต่นักท่องเที่ยวมีความคิดว่าไม่ต้องการให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะตอบสนองการท่องเที่ยว และเห็นว่าการค้าและบริการต่างๆ ในเขตพื้นที่บางลำพูมีมากแล้ว แต่ควรจะประกอบกิจการการค้าไปในลักษณะของการขายของที่ระลึก จัดแสดงศิลปกรรมไทย สร้างศูนย์สุขภาพสมุนไพรไทย จะสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของพื้นที่และเป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งอำนวยความสะดวกที่นักท่องเที่ยวและคนในชุมชนต้องการคือ การเพิ่มของถังขยะ ต้นไม้ ส่วนหย่อม ห้องน้ำสาธารณะ ป้ายบอกทาง เป็นต้น

IMG_0294

บ้านไกรจิตติ ถนนข้าวสาร

สำหรับคุณอรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพูผู้อาวุโสให้ความเห็นว่า

ในย่านบางลำพูควรจะรักษาพื้นที่หรือวัฒนธรรมไว้ เพราะวัฒนธรรมอยู่ที่คน อยู่ที่รากเหง้า หากไล่คนหรือย้ายผู้คนออกจากพื้นที่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด วัฒนธรรมไม่เหลือแล้ว บางลำพูคงเหลือแต่กลุ่มคนที่มาอาศัยอยู่ชั่วคราว เช่น คนม้งที่มาขายของ แรงงานรับจ้างชาวต่างชาติต่างๆ นอกจากไม่มีพื้นที่ไว้ให้ลูกหลานแล้ว การท่องเที่ยวจะมีความหมายอย่างไร ก็คงเป็นเช่นเดียวกับสถานที่อื่นๆ ที่ไม่มีประวัติศาสตร์หรือมีเพียวเรื่องเล่าในเอกสารหนังสือเท่านั้น

ดูตัวอย่างใกล้ๆ ก็คือแถบถนนราชดำเนิน น่าเสียดายมาก แต่ทางย่านบางลำพูยังมีวัฒนธรรมและรากเหง้าทางประวัติศาสตร์มากกว่าครึ่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวควรเห็นวัฒนธรรมของเราด้วย
การท่องเที่ยวทำได้เพราะว่าเรามีต้นทุนเยอะ แต่เราจะทำแบบไหน แต่ไม่ใช่อย่างแค่คิดจะทำเปลี่ยนแม่น้ำเจ้าพระยา เปลี่ยนถนนราชดำเนินเป็นแบบประเทศโน้น ประเทศนี้ อะไรที่เสียไปคุ้มไหม

ปัจจุบันและอนาคตคนบางลำพู
ความเปลี่ยนอย่างรวดเร็วนี้ทำให้ชาวบางลำพูบางส่วนตระหนักถึงรากเหง้าและความเป็นตัวตนที่เหลือเพียงเลือนรางในพื้นที่ให้พื้นกลับมาอีกครั้ง จึงมีการรวมตัวกันภายใต้แนวคิด “ประชาคมบางลำพู” ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๑ เป็นต้นมา เพื่อรักษาสืบทอดความเป็นย่านเก่า รักษาสภาพแวดล้อม เป็นปากเสียงให้กับย่านอาคารร้านค้าที่ยังคงเหลือ ตลอดจนพยายามมีส่วนในการกำหนดทิศทางของความเป็น “ย่านบางลำพู” อีกด้วย

ต่อมาเป็นการรวมตัวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องมาจากกรณีของโรงพิมพ์คุรุสภาเก่าที่เคยจะถูกรื้อทิ้ง แต่เนื่องด้วยเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความหมายต่อคนบางลำพูอย่างยิ่ง จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มและถือเป็นปัจจัยในเชิงสัญลักษณ์ในการก่อตัวของประชาคมบางลำพู จนกลายมาเป็นการจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังส่วนหนึ่งและนำเสนอความเป็นย่านเก่าของบางลำพูอีกส่วนหนึ่ง คือ “พิพิธบางลำพู” ในปัจจุบัน

1

ผู้อาวุโสของคนบางลำพู ประธานประธานประชาคมบางลำพู คุณอรศรี ศิลปี

หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในการจัดการเมืองของกรุงเทพมหานคร คลองบางลำพูเริ่มเน่าเสียอย่างหนัก เพราะกรุงเทพมหานครสร้างประตูกั้นน้ำที่ปากคลองและห้ามไม่ให้มีการใช้เส้นทางน้ำเพื่อการสัญจรอีกต่อไป และทำให้คลองคูเมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการระบายน้ำของเมืองในย่านเก่า ชาวบางลำพูจึงมีโครงการ “จักรยานน้ำบำบัดน้ำเสีย” ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากโครงการ “จักรยานเผินน้ำ” ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดยหวังจะมีส่วนช่วยบำบัดน้ำเสียและเป็นการออกกำลังกาย เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จึงร่วมกับตัวแทนจากกรมอู่ทหารเรือซึ่งให้ความอนุเคราะห์ในการออกแบบและจัดสร้าง และมีการเติมน้ำอีเอ็มเป็นระยะๆ น้ำในคลองบางลำพูจึงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

4

บ้านเรือนในตรอกไก่แจ้

การเกิดประชาคมชาวบางลำพู ทำให้คนบางลำพูมีความสัมพันธ์ สื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในชุมชน และในชุมชนใกล้เคียง ตลอดจนในระหว่างเขตการปกครองภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย ปัจจุบันนี้จึงเกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่างๆ มากมายหลากหลาย

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเยาวชน “ชมรมเกสรลำพู” เป็นการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนในย่านบางลำพู ที่มีความคิดอยากทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน โดยเริ่มต้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยรวมกลุ่มเด็กและเยาวชนเพืื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในชุมชนบางลำพู และพัฒนามาเป็นการจัดกิจกรรมในงานเทศกาล การแสดงศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กและเยาวชนในชุมชนบางลำพูเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ ชีวิตความเป็นอยู่เพื่อสร้างคุณค่าทางจิตใจ สร้างจิตสำนึกรักและภาคภูมิใจท้องถิ่นให้กับเยาวชน และสร้างจิตสำนึกเพื่อสาธารณประโยชน์

คุณสิทธิชัย ผลหิตตานนท์ หนึ่งในแกนนำของประชาคมบางลำพูกล่าวว่า สภาพชุมชนบางลำพูในปัจจุบัน กำลังตาย คนที่เคยอยู่ในชุมชนพอมีฐานะก็จะหนีชุมชนออกไป เหลือเฉพาะคนที่รักชุมชนจริงๆ กับกลุ่มคนส่วนใหญ่ไม่มีที่ไปและไม่มีฐานะเพียงพอที่จะย้ายออก กับคนที่เข้ามาหากินในชุมชน

2

คุณสิทธิชัย ผลหิตตานนท์

ในฐานะเป็นคนบางลำพูเห็นว่า หากคนนอกที่มาอยู่บางลำพู จะทำยังไงให้รักบางลำพู จะต้องได้รับประโยชน์ การที่จะสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวบางลำพูที่จะได้ประโยชน์ต้นๆ ก็คือคนที่เกิดพื้นเพบางลำพู อันดับสองคือคนที่เข้ามาหากินอยู่ในบางลำพู

พวกเราควรจัดการชุมชนและจัดการท่องเที่ยวเพื่อให้คนในบางลำพูจริงๆ อยู่รอด

อ้างอิง
ณรงค์ เขียนทอง. วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล. ๒๕๓๙.
นพรัตน์ ไม่หลงชั่ว. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. ๒๕๔๕.
ปิลันธน์ ไทยสรวง. พระนครบันทึก :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๘๙ (มี.ค.-เม.ย.๒๕๕๔)
แพรวพรรณ แย้มไทย. วิทยานิพนธ์หลักสูตรพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. พ.ศ.๒๕๔๔.