วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ชื่อเสียงของ หลวงพ่อทวด ทุกวันนี้มักปรากฏคำต่อท้ายว่า วัดช้างไห้ หรือต่อด้วยเหตุสร้างอภินิหารจากการ เหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งเป็นเหตุแห่งอภินิหารและผู้คนนิยมบูชาวัตถุมงคลรูปเหมือนท่านั่งสมาธิต่างแสวงหาไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บูชามากกว่าเรื่องอื่นใด

น้อยคนนักที่จะทราบถึงความสำคัญของท่านในหน้าประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาและเรื่องราวที่บอกเล่าผ่านตำนานท้องถิ่นของบ้านเมืองแถบคาบสมุทรสทิงพระ

8

รูปปั้นหลวงพ่อทวดเดินธุดงค์ เป็นหนึ่งในรูปปั้นที่นิยมกันนอกจากรูปปั้นหรือรูปหล่อในท่านั่งสมาธิ

หลวงพ่อทวดได้รับสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จฯ จากราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเป็น “สมเด็จเจ้าพะโคะ” หัวหน้าคณะสงฆ์ลังกาชาดที่วัดพะโคะ โดยได้รับการกัลปนาที่ดินและผู้คนมาเป็นข้าพระโยมสงฆ์ปกครองท้องถิ่นและชุมชนในช่วงที่มีโจรสลัดจากปลายแหลมมลายูเข้าปล้นบ้านเมือง ถือเป็นพระสงฆ์ที่มีบทบาททางสังคมและความเชื่อในเขตปลายแดนรัฐสยามที่มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง

สำหรับชาวบ้านในท้องถิ่นทุกวันนี้ยังคงจดจำและดูแลรักษาสถานที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทวดไว้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง เช่น ทุ่งเปล สถานที่เกิดเหตุมีงูใหญ่มาพันรอบเปลที่แม่ผูกไว้ใต้ร่มไม้เมื่อต้องออกไปเกี่ยวข้าวครั้งเมื่อท่านยังเป็นทารก ต้นกร่างหรือต้นเลียบที่เชื่อว่าใช้ฝังรกของท่านเมื่อแรกเกิด แม้แต่สถานที่ตั้งเรือนของตระกูลที่ บ้านดีหลวง ก็ยังเป็นพื้นที่โล่งไม่มีใครเข้าไปบุกรุกสร้างบ้านซ้อนทับ รวมทั้ง วัดพะโคะ หรือวัดราชประดิษฐาน ซึ่งเป็นวัดหลวงและคงความสำคัญอย่างสืบเนื่องมาโดยตลอด

นอกเหนือจากที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณแล้วยังปรากฏแน่ชัดว่า ท่านเป็นผู้นำทางการปกครองผู้คนข้าพระซึ่งมีผู้สมัครใจเข้าร่วมเป็นชุมชนภายใต้บารมีของท่านเหนือผู้ปกครองฆราวาสในแถบคาบสมุทรสทิงพระและเรื่อยไปจนถึงอีกฟากฝั่งหนึ่งของทะเลสาบแถบพัทลุงด้วย

1

ทุ่งนาและดงตาลแถบภูมิทัศน์ของแผ่นดินบกหรือคาบสมุทรสทิงพระ

เหตุนี้ตำนานความอัศจรรย์ในชีวประวัติของหลวงพ่อทวด จึงมีอภินิหารปรากฏเป็นคำบอกเล่าในลักษณะของผู้มีบุญ มิใช่ผู้คนธรรมดา กลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ชื่อเสียงเลื่องลือไปจนถึงบ้านเมืองของชาวมลายูที่ปาตานี เพราะมีคนพุทธที่ปัตตานีศรัทธาตำนานจากท้องถิ่น วัดช้างไห้ ในอำเภอโคกโพธิ์ จากตำนานเรื่องเล่าในท้องถิ่นก็สร้างสมมติฐานจนเชื่อกันภายหลังว่าท่านจำพรรษาเป็นวัดสุดท้ายในช่วงปลายชีวิต

จึงเล่าลือกันว่าท่านออกเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนมลายทางรัฐปาตานีจนถึงทั้งฝั่งเคดาห์และกลันตันในดินแดนมาเลเซียปัจจุบัน เนื่องจากเชื่อว่าท่านไปสร้างวัดในหมู่ชาวพุทธไว้หลายแห่ง หลังจากที่หายตัวตนไปจากคาบสมุทรสทิงพระแล้ว

เรื่องราวของ หลวงพ่อทวด หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ ไม่ใช่เป็นเพียงตำนานเล่าขานกันในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ปรากฏในหลักฐานเอกสารที่ชาวบ้านเก็บรักษาไว้เรียกว่า พระตำรา เป็นเอกสารเก่าหนังสือสมุดไทยขาวเส้นหมึกหรือ หนังสือบุด และ หนังสือเพลา ที่เป็นสมุดจีนสีขาว พระเพลาหรือตำราพระกัลปนาจากพระเจ้าแผ่นดินสยามที่กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น ชาวบ้านถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องมีผู้ดูแลตามสายตระกูล

14

ภาพแผนที่กัลปนาวัดในคาบสมุทรสทิงพระ

ภายหลังในยุคสมัยกรุงเทพฯ มีการเก็บรวบรวมเอกสารเก่าตามท้องถิ่นต่างๆ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการหัวเมืองพัทลุง ทรงนำหนังสือบุดขาวและหนังสือเพลาเหล่านี้ไปเก็บรักษาไว้ในหอสมุดวชิรญาณและจัดพิมพ์ภายหลังในชื่อ ประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา สมัยอยุธยา

ในหนังสือเพลาเรื่องกัลปนาวัดพะโคะกล่าวว่า เขาพะโคะเดิมชื่อเขาภีพัชสิงหรือพิเพชรสิงต่อมามีการสร้างวิหารและสร้างรูปพระโคะหรือพระโคตมะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ จากนั้นมาชาวบ้านจึงเรียกกันว่าเขาพะโคะ

บริเวณรอบเขาพะโคะเป็นชุมชนใหญ่มาแต่สมัยโบราณ เขาที่อยู่ต่อเนื่องจากเขาพะโคะคือเขาคูหา ซึ่งมีหลักฐานของการขุดเจาะถ้ำเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเนื่องในศาสนาฮินดู มีท่าเรือที่สามารถติดต่อกับชุมชนรายรอบทะเลสาบและปากน้ำทางทะเลได้โดยไม่ยากนัก อยู่ในรัศมีไม่เกินหนึ่งถึงสองกิโลเมตรใกล้เคียงกับวัดพะโคะ บริเวณนี้มีการอยู่อาศัยสืบเนื่องจากเมืองสทิงพาราณสีในตำนานช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ลงมา และกลับมารุ่งเรืองในสมัยสมเด็จเจ้าพะโคะอีกครั้ง

2

สถานที่เกิดที่บ้านดีหลวง ในปัจจุบันยังคงว่างเว้นพื้นที่ไว้ มีแต่ต้นไม้ต่างๆ โดยเฉพาะต้นมะพร้าวร่มครึ้ม

เนื่องจากบ้านเมืองแถบใกล้ชายฝั่งทะเลนี้ถูกโจมตีจากโจรสลัดมลายูหลายครั้ง วัดพะโคะและชุมชนโดยรอบก็เป็นแห่งหนึ่งที่ถูกปล้นและเผาบ้านเผาเมืองครั้งใหญ่ มีบันทึกไว้ว่าราวปลายสมัยสมเด็จพระนเรศวรบ้านเมืองระส่ำระสายไม่สามารถฟื้นตัวได้ ต่อมาเจ้าอาวาสวัดพะโคะหรือหลวงพ่อทวดซึ่งเคยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาและน่าจะเป็นพระสงฆ์ผู้มีบารมีในฐานะพระผู้ใหญ่ จึงขอพระราชทานการบูรณะวัดครั้งสำคัญในสมัยของพระเอกาทศรถ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๓ หรือในอีกราวกว่าสิบปีต่อมา

พระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาพระราชทานพระบรมราชูทิศกัลปนาวัดต่างๆ ตั้งแต่บริเวณปากทะเลสาบสงขลาที่หัวเขาแดงจนถึงเขาพังไกร ทั้งหมดราว ๖๓ วัด ขึ้นกับวัดพะโคะ จนกลายเป็นประเพณีที่วัดต่างๆ ในแถบนี้มักจะขอพระราชทานพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานที่ดิน ไร่นา อันเป็นของหลวงให้วัดวาอารามเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนารวมทั้งผู้คนเพื่อปรนนิบัติพระสงฆ์และทำไร่ทำนา การกัลปนาเหล่านี้ถูกบันทึกและยืนยันในสิทธิของวัดเหนือที่ดินและผู้คน ปรากฏอยู่ในเพลาพระตำรา ซึ่งมีการเก็บรักษาสืบทอดกันอีกหลายฉบับ

เรื่องราวของหลวงพ่อทวดที่วัดพะโคะจึงสัมพันธ์กับการกัลปนาเพื่อบำรุงวัดและคณะสงฆ์ของทางกรุงศรีอยุธยาอันมีสาเหตุเนื่องมาจากป้องกันการโจมตีของกลุ่มโจรสลัดมลายู

อีกสาเหตุหนึ่งสันนิษฐานว่า บริเวณคาบสมุทรสทิงพระเป็นเขตต่อแดนระหว่างอำนาจทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยากับปาตานี ซึ่งเป็นรัฐอิสลามและมีความสำคัญในฐานะเมืองท่าทางการค้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสงขลาและนครศรีธรรมราช จึงมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมืองเป็นประจำจากการรบพุ่งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับฐานทางเศรษฐกิจของขุนนางและตระกูลใหญ่ต่างๆ ภายในด้วย

3

บริเวณท้องนาที่เล่ากันว่าพ่อและแม่ของหลวงพ่อทวดอธิฐานของให้งูใหญ่เลื้อยจากไปจากบริเวณที่แขวนเปล มีรูปปั้นเล่าเรื่องขนาดเกือบเท่าจริง

การเป็นเมืองชายขอบต่อแดนกับบ้านเมืองต่างศาสนาที่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ต้องมีการทะนุบำรุงคณะสงฆ์และฝ่ายศาสนาเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง การปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองโดยคณะสงฆ์ที่เข้มแข็งยังพ้องกับตำนานหลวงพ่อทวดในช่วงบั้นปลายชีวิตที่ท่านหายไปจากวัดพะโคะ แต่ไปปรากฏเรื่องราวและอภินิหารต่างๆ อยู่ที่วัดช้างไห้ ในอำเภอโคกโพธิ์ เขตเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นชุมชนพุทธในหัวเมืองมลายูมุสลิม อันอาจจะเป็นการออกเผยแพร่ศาสนาจาริกธุดงค์ของสมเด็จเจ้าพะโคะจนกลายเป็นตำนานที่รู้กันภายหลัง

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมสันนิษฐานว่า การเป็นเมืองที่ประชิดกับเขตแดนของชาวมลายูมุสลิม ทำให้ท่านออกธุดงค์เพื่อเผยแพร่ศาสนาพุทธไปในบ้านเมืองที่ชนชาวมลายูเป็นกลุ่มใหญ่ และการกระทำเช่นนี้อาจถือว่าเป็นการนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง การออกเผยแพร่ศาสนาในยุคนั้นก็คืออุดมการณ์เพื่อปรับเปลี่ยนผู้คนต่างศาสนาให้เป็นพุทธศาสนิก หลังจากที่ต้องต่อสู้กับการถูกโจรสลัดชาวปลายแหลมมลายูปล้นสะดมและเผาบ้านเผาเมืองหลายต่อหลายครั้ง

จากเรื่องเล่าของท่านที่หายตัวไปโดยไม่มีผู้ใดทราบและไร้ร่องรอย ทำให้ผู้คนในคาบสมุทรสทิงพระเชื่อว่า สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวดเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งลงมาโปรดบนโลกมนุษย์ชั่วคราว แล้วท่านก็นำดอกไม้ทิพย์พร้อมสามเณรขึ้นสวรรค์ไปพร้อมกัน ก่อนที่จะจากวัดพะโคะไปท่านได้ทิ้งสิ่งสำคัญไว้ที่วัดพะโคะ ๒ อย่างคือ ลูกแก้ววิเศษที่พญางูใหญ่ได้คายไว้ตั้งแต่ยังเป็นทารก และรอยเท้าที่ท่านเหยียบประทับไว้บนแท่นหินบนหน้าผาที่วัดพะโคะ กลายเป็นคำร่ำลือและเป็นสิ่งและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนในปัจจุบันยังนิยมไปกราบไหว้บูชา

4

บริเวณวัดดีหลวง ซึ่งมีต้นเลียบหรือต้นกร่างสถานที่ฝังรกของหลวงพ่อทวด
ศาลตาหูยายจันทร พ่อและแม่ของหลวงพ่อทวดที่วัดดีหลวง

สำหรับตำนานทางบ้านเมืองต่างๆ ในเส้นทางที่หลวงพ่อทวดเดินธุดงค์ผ่านไปก็พบสัญลักษณ์หรือเรื่องเล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เมื่อครั้งเดินทางจากสทิงพระไปยังกรุงศรีอยุธยาด้วยเรือสำเภา ระหว่างทางเกิดคลื่นลมแรงเรือไปต่อไม่ได้ ต้องลอยลำอยู่กลางทะเลจนน้ำจืดหมด หลวงพ่อทวดได้แสดงอภินิหารเอาเท้าเหยียบน้ำทะเล กลายเป็นน้ำจืดดื่มกินได้ ให้ลูกเรือขนน้ำไปใช้ในระหว่างการเดินทาง ชาวบ้านให้ความเชื่อถือเมื่อพบว่ามี บ่อน้ำจืดอยู่กลางทะเลที่เกาะนุ้ย บริเวณอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้สร้างรูปบูชาหลวงพ่อทวดประดิษฐานไว้ที่เกาะนุ้ย เป็นต้น

5

ภายในวิหารที่สร้างคลุมรอยเท้าบนพื้นหินที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรอยเท้าหลวงพ่อทวด ก่อนท่านหายตัวจากวัดไปโดยไร้ร่องรอย

เรื่องราวเกี่ยวกับหลวงพ่อทวดแยกได้เป็นสองเรื่องราว

๑. ตามประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏนามว่า สมเด็จเจ้าพะโคะ

และ ๒. เรื่องราวตามตำนานเล่าขานสืบต่อมาซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
การผสมผสานระหว่างบันทึกทางประวัติศาสตร์และตำนานบอกเล่าทำให้เรื่องราวของหลวงพ่อทวดยังเป็นที่เล่าลือกันมาถึงทุกวันนี้ โดยสถานที่ที่ปรากฏในตำนานหลวงพ่อทวดได้รับการเก็บรักษาไว้โดยท้องถิ่นเป็นอย่างดี เช่น ต้นเลียบขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าฝังรกของหลวงพ่อทวดไว้ถือเป็นตัวแทนของหลวงพ่อทวด มีการสร้างศาลาตาหู-ยายจันทร์ โยมบิดามารดาของหลวงปู่ทวดไว้ในบริเวณใกล้เคียงกันมีสถูปสมภารจวง พระอาจารย์องค์แรกของหลวงปู่ทวดที่วัดดีหลวง สถานที่เหล่านี้ทำให้ตำนานของหลวงพ่อทวดยังคงโลดแล่นในความทรงจำ

วิหารธรรมศาลาเป็นอาคารศาสนสถานที่เหลืออยู่จากสมัยอยุธยาและมีตำนานเรื่องราวของหลวงพ่อทวดโดยละเอียดเล่ากันสืบมา

ตำนานหลวงพ่อทวดยังคงตอกย้ำเพื่อบอกเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ผู้หนึ่งอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ในบรรดาพระสงฆ์ซึ่งเป็นรู้จักกันดีในหมู่พุทธศาสนิกทั่วไปนั้น หลวงพ่อทวด แห่งคาบสมุทรสทิงพระ นับเป็นพระผู้ศักดิ์สิทธิ์และมีความหมายอย่างยิ่งต่อสังคมและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น สร้างศรัทธาแก่ชาวพุทธศาสนิกที่นิยมเลื่อมใสกลายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว จรรโลงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่สังคมไทยนับวันแต่จะขาดที่พึ่งมากยิ่งขึ้นในทุกวันนี้

อ้างอิง
ประวัติหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดและคุณอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ วัดช้างให้ ต้นฉบับ พ.ศ.๒๕๐๔ http://www.luangpohtuad.org
คณะกรรมการจดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และ โบราณคดี. ประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา สมัยอยุธยาภาค ๑ , กรุงเทพฯ สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๐
ชัยวุฒิ พิยะกูล. การปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทหนังสือบุดเรื่อง: กัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง, สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, ๒๕๕๓