วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
(เคยพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณ ตค.-ธค.๖๐)
การตีฝ่าวงล้อมทัพพม่าที่ล้อมกรุงของพระยาตากมุ่งไปทางหัวเมืองตะวันออก เป็นการวางการเดินทางที่มีเป้าหมายแน่ชัด เพราะหัวเมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันออกมีฐานของผู้คนเชื้อจีนทั้งที่เป็นไพร่และนาย มีขุนนางเชื้อสายจีนผู้กว้างขวางในหัวเมืองตะวันออกคือ หลวงพิพิธ หรือช่วงแรกออกนามว่า ขุนพิพิธวาที และเจ้าเขมรที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์กรุงศรีอยุธยากว่า ๑๐ ปีแล้ว คือ นักองราม ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสนับสนุนให้ขึ้นครองราชย์กรุงกัมพูชา เป็นองค์พระรามาธิบดีหรือสมเด็จพระรามราชา อยู่ที่ พุทไธเพชรหรืออุดงมีชัย เมืองหลวงเก่าใกล้กับกรุงพนมเปญในเวลาต่อมา

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินที่เมืองจันทบุรี
พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที นักองราม ท่านเหล่านี้น่าจะเป็นผู้กว้างขวางในหัวเมืองตะวันออก นอกจากนี้ยังมีขุนนางหนุ่มที่คุ้นเคยกันอยู่ทางหัวเมืองเหล่านี้ เช่น นายสุดจินดา มหาดเล็กหุ้มแพรหรือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่หนีออกจากกรุงมายังเมืองบางปลาสร้อย และคงผูกมิตรสนิทกับจีนเรือง คนท้องถิ่น ที่ต่อมาได้สถาปนาเป็นเจ้าราชินิกุลด้วยความดีความชอบด้านสงคราม เรียกว่าเป็นเจ้าบำเรอภูธรนาม กรมขุนสุนทรภูเบศร์ ต้นสกุล “สุนทรกุล ณ ชลบุรี” ซึ่งความตอนนี้ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับใด แต่มีหลักฐานการสืบเชื้อสายในชั้นหลังต่อมา และหลวงศักดิ์นายเวรหรือหลวงนายศักดิ์ ตำแหน่งมหาดเล็กที่ออกมาทำราชการเดินทางไปเก็บส่วยที่หัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก และติดค้างอยู่ในเมืองจันทบุรีขณะนั้น ต่อมาเป็น เจ้าพระยาจักรี (หมุดหรือแขก) ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งปรากฏเนื้อความใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ท่านถึงแก่อสัญกรรมราว พ.ศ. ๒๓๑๗ ในวันฝังศพที่สุสาน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จร่วมในพิธีฝังศพด้วย และโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินเพิ่มให้แก่มัสยิดต้นสน เป็นการตั้งมั่นและขยายชุมชนชาวมุสลิมจากกรุงเก่าที่กรุงธนบุรีมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้ที่กล่าวนามมาข้างต้น ล้วนเป็นข้าหลวงผู้มีความสำคัญต่อการกู้กรุง และการสงครามปราบปรามบ้านเมืองต่างๆ หลังสถาปนากรุงธนบุรีทั้งสิ้น
หัวเมืองตะวันออกในช่วงเสียกรุง
เมื่อพระยาตากตั้งทัพเข้ายึดเมืองระยองและตั้งค่ายได้แล้ว มีกองกำลังชาวจีนเข้ามาภักดีร่วมอยู่ในทัพมากขึ้น แม้จะมีการต่อต้านจากคนท้องถิ่น ทั้งบางปลาสร้อย บางละมุง ปากน้ำระยอง ย่านเมืองแกลง เมืองจันทบุรี และเมืองตราด ล้วนยังไม่เข้าร่วมเป็นพวก รวมทั้งพระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองปากน้ำพุทไธมาศที่เป็นเมืองท่าอิสระและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การเมือง ทางชายทะเลฝั่งตะวันออกกว่าหัวเมืองอื่นใดในช่วงสมัยปลายอยุธยา

แผนที่บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกที่พระเจ้าตากสินฯ มุ่งมารวบรวมกำลังพลเพื่อกลับไปกู้กรุงฯ
พระยาราชาเศรษฐีผู้นี้เคยแต่งทัพนำเสบียงมาช่วยกรุงศรีอยุธยาที่ถูกล้อมไว้ แต่ถูกทัพพม่าตั้งที่เมืองปากน้ำ สกัดจนต้องถอยกลับไป จึงคิดหวังจะขอความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองเปียม ซึ่งเป็นชาวจีนกวางตุ้งชื่อ มักเทียนตือ (Mặc Tein Tu) ผู้อุปถัมภ์นักองตนหรือสมเด็จพระอุไทยราชาที่หนีไปพึ่งพาและได้ยกให้เป็นพระบิดา และได้ชื่อว่านักองโสทัตหรือสมเด็จพระโสทัต มักเทียนตือเป็นผู้ที่มีอิทธิพลกว้างขวางสืบต่อจากมักกวื๋ว [Mạc Cửu] ผู้พ่อ ปกครองเมืองท่าเสรีอยู่บริเวณปากน้ำเมืองพุทไธมาศทางชายฝั่งอ่าวไทย ในเดือน ๔ พระยาตากจึงให้พระพิชัยซึ่งเป็นขุนนางเชื้อจีนและนายบุญมี นำจดหมายไปถึงพระยาราชาเศรษฐี ซึ่งได้ตกปากรับคำแบบขอไปที เพราะต้องการให้ทัพเรือใช้ลมแล่นใบในช่วงเดือน ๘ ถึงเดือน ๑๐ จึงจะนำกำลังไปช่วยได้
ส่วนบรรดาหัวเมืองทางตะวันออก แม้จะเกลี่ยกล่อมอย่างไรก็ไม่ยินยอมเข้าเป็นพวก โดยเฉพาะเมืองจันทบูรเคยให้ความช่วยเหลือรับรองกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่รวบรวมบรรดาเจ้าเมืองและผู้คนเพื่อสู้รบกับพม่ามาก่อนราว ๒-๓ ปี ใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกไว้ว่า หลังจากพระยาตากเข้าตีเมืองจันทบูรแล้ว พระยาจันทบูรและครอบครัวได้ลงเรือหนีไปพึ่งพามักเทียนตือ เจ้าเมืองพุทไธมาศ จึงเห็นว่าเมืองพุทไธมาศไม่ต้องการช่วยทัพพระยาตากอย่างแท้จริง และเมื่อไปตีเมืองตราดทั้งทางบกและทางน้ำ ต้องรบกับพ่อค้าชาวเรือสำเภาที่ลอยลำอยู่ครึ่งวัน จึงยึดเรือทั้งหมดได้ “จีนเจียม” ผู้เป็นนายเรือสำเภายอมสวามิภักดิ์ ซึ่งในเอกสารฉบับกล่าวว่าจีนเจียมเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว และได้รับบำเหน็จรางวัลเป็นปลัดจีนเมืองตราด และเกิดความสับสนว่าท่านเป็นคนเดียวกับหลวงพิพิธ ที่มีเอกสารกล่าวว่าน่าจะชื่อ “ตั้งเลี้ยง” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว และชื่อ “เจิ่นเลี้ยน (Trần Liên)” หรือ “เจิ่นเจียวขว้า (Trần Chiêu Khóa)” ในเอกสารเวียดนาม หลวงพิพิธนั้นเดินทางมาร่วมทัพพระยาตากนับแต่ช่วงแรกกับนักองราม จึงไม่น่าจะเป็นคนเดียวกับจีนเจียมที่ถูกกล่าวถึง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยาราชาเศรษฐี (จีน) ตำแหน่งเจ้าเมืองพุทไธมาศในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ปากน้ำจันทบุรีที่แหลมสิงห์ เรือที่จะเดินทางเข้าสู่เมืองจันทบุรีที่อยู่ภายในต้องใช้เวลาราวหนึ่งวัน ซึ่งค่อนข้างเป็นเมืองท่าภายในที่ระยะทางไกลกว่าเมืองอื่นๆ เช่นตราด ระยองหรือห่าเตียน
อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของกองกำลังพระยาตากที่กลับคืนไปกู้กรุง หลังจากใช้เวลาในการรวบรวมไพร่พลแล้ว มีขุนนางเก่าจากกรุงศรีอยุธยาเป็นกำลังสำคัญหลายท่าน รวมทั้งกองกำลังชาวจีนและพ่อค้าชาวเรือสำเภาจากเมืองตราดอีกกลุ่มใหญ่ ในช่วงนี้พระราชพงศาวดารบันทึกว่ายังไม่เห็นกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วที่เมืองจันทบูรแต่อย่างใด เพราะกลุ่มชาวจีนน่าจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและทำเหมืองพลอยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จากการเปิดโอกาสทางการค้าให้กับชาวจีนครั้งกรุงธนบุรีเป็นต้นมา
กองเรือสำเภาจีนจากเมืองตราดและเมืองท่าอื่นๆ และเรือรบที่ต่อขึ้นใหม่กว่าร้อยลำที่จันทบุรี สันนิษฐานว่านำโดยหลวงศักดิ์นายเวรที่ชำนาญการเดินเรือ ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาจักรี แม่ทัพเรือในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไพร่พลที่รวบรวมและเกิดขึ้นที่หัวเมืองท่าชายฝั่งตะวันออกนี้ เป็นกองกำลังสำคัญที่นำโดยพ่อค้าเรือสำเภาจีนและขุนนางมุสลิม เดินทางเลียบชายฝั่งตามความชำนาญกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยา
ความสัมพันธ์ของเมืองฮาเตียนกับหัวเมืองตะวันออก
เมืองพุทไธมาศอยู่ห่างจากปากแม่น้ำราว ๓๕ กิโลเมตร ตามลำน้ำเซิงทังห์ (Giang Thạnh) หรือแม่น้ำขามในภาษาเขมร ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ประเทศเวียดนาม แม่น้ำนี้เป็นแนวพรมแดนส่วนหนึ่งของเวียดนามและกัมพูชา โดยมีเมืองฮาเตียนตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำต่อกับทะเลอ่าวไทย เป็นเมืองท่าเสรีที่คล้ายกับเป็นรัฐอิสระ มีเจ้าเมืองชื่อ มักเทียนตื้อ หรือที่เขมรเรียกว่า พระโสทัต เป็นชาวจีนกวางตุ้ง ที่สืบทอดมาจากรุ่นพ่อคือ ม่อจิ่ว (หรือ “มักกวื๋ว” ตามการออกเสียงเรียกของชาวญวน) ขุนศึกชาวจีนที่ต่อต้านการยึดครองของราชวงศ์ชิง เมื่อพ่ายแพ้จึงหนีมาทางปลายแหลมญวนที่ต่อเนื่องกับอ่าวไทย และตั้งตนเป็นเจ้าเมืองในเส้นทางการเดินเรือเลียบชายฝั่ง จนสร้างเมืองฮาเตียนให้กลายเป็นเมืองท่าสำคัญ
ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา บริเวณขะแมร์กรอมซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Young delta) มีหลักฐานการอยู่อาศัยเบาบางเมื่อเทียบกับพื้นที่อันกว้างใหญ่ เพราะมีสภาพการขึ้น-ลงของระดับน้ำสูงและแผ่กว้างแบบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เป็นปากประตูใหญ่จากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยไปสู่ดินแดนภายในตามแม่น้ำโขง ไปจนถึงดินแดนที่ราบสูงและเขตภูเขา ชุมชนโบราณในแถบนี้มีอายุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ไปจนถึงยุคเริ่มแรกที่รับวัฒนธรรมอินเดีย แต่ไม่ได้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจดังเช่นบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทั่วไปในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ ดินแดนนี้กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำคัญที่นักรบหรือขุนนางที่พ่ายแพ้จากการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินจากราชวงศ์หมิงมาเป็นราชวงศ์ชิง ต่างแตกหนีมารวมตัว โดยมีความใฝ่ฝันเพื่อกู้แผ่นดินขึ้นใหม่ (พ.ศ. ๒๑๘๗) โดย “มักกวื๋ว” ผู้อพยพชาวจีนสามารถสร้างเมืองท่า (Port polity) เมืองฮาเตียนที่ปากน้ำเซิงทังห์ ซึ่งเป็นเมืองท่าเก่าแก่ที่สำคัญแห่งหนึ่งในเส้นทางการค้าข้ามภูมิภาคระหว่างตะวันตก-ตะวันออกบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย

แผนที่บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออก เขมรที่ฮาเตียนหรือปากน้ำพุทไธมาศไปจนถึงปลายแหลมญวน
นักวิชาการในปัจจุบันเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า Water frontier ซึ่งชาวญี่ปุ่น ให้นิยามอย่างกว้างว่าเป็น “ชายแดนผืนน้ำ” (ของจีน) ด้วยแนวคิด ๒ ประการคือ ๑) เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่เกิดขึ้นใหม่ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีชาวจีนเป็นผู้พัฒนา และเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เปิดกว้างสำหรับนักเผชิญโชคชาวจีน ๒) จากขอบเขตพื้นที่การค้าขายของจีนในยุครุ่งเรืองทางการค้าทางทะเล หมายถึงยุคสมัยที่ตลาดและการค้าได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบเครือข่ายการค้าและโครงสร้างของระบบรัฐมณฑล (Mandala state) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นการค้าแบบทางทะเลของจีน ที่ใช้เมืองในท้องถิ่นที่ชาวจีนมีบทบาท แต่ไม่ใช่การขยายอำนาจทางการเมืองของจีนเข้ามาครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะถึงยุคอาณานิคมที่ชาวตะวันตกเข้ามามีบทบาท
สมัยต้นราชวงศ์ชิงราว พ.ศ. ๒๒๒๒ ทหารอพยพจากราชวงศ์หมิงที่หนีออกมาจากเมืองจีนราว ๓,๐๐๐ คนแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มและถูกส่งมายังพื้นที่นี้ โดยขุนนางในราชวงศ์เหงวียน [Nguyễn dynasty] ที่เมืองเว้ เริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่อยู่อาศัยตามชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านตะวันออกของ Water frontier ตามเส้นทางจากปากแม่น้ำไซ่ง่อนที่เขมรเคยยึดครองเป็นที่แรกที่เข้ามา คือ เมืองเบียนฮหว่า (Biên Hòa) และกลายเป็นจุดที่มีพ่อค้าทั้งชาวจีน ยุโรป ญี่ปุ่น เข้ามาทำการค้า ชาวจีนเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งข้อมูลจากบันทึกของชาวญี่ปุ่นแบ่งกลุ่มความขัดแย้งในเขมรออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กษัตริย์แห่งน้ำ ครองพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในจังหวัดกำปงจามปัจจุบัน และอยู่ในการอุปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์เหงวียน มีศูนย์กลางอยู่ที่ไซ่ง่อน ส่วน กษัตริย์แห่งภูเขา ครองเมืองอุดงมีชัย มีความสัมพันธ์กับทางกรุงศรีอยุธยา โดยผ่านเมืองพระตะบองและบ้านเมืองในแถบที่ราบสูงโคราช ทั้งสองกลุ่มในราชวงศ์เขมรมีพรมแดนอยู่แถบพนมเปญ ซึ่งในช่วง พ.ศ. ๒๒๓๖ กษัตริย์จากอุดงมีชัยไม่สามารถควบคุมเมืองทางขะแมร์กรอมได้อย่างเด็ดขาด เพราะอยู่ในการดูแลของออกญาเจ้าเมืองเล็กเมืองน้อย
การขยายอาณาเขตเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงโดยราชวงศ์เหงวียนและสนับสนุนกษัตริย์เขมรนี้ เบื้องหลังคือการใช้กองกำลังทหารชาวจีนกวางตุ้งเข้ายึดครองและควบคุมศูนย์กลางเครือข่ายการค้าในลุ่มน้ำโขงทางเรือ จากพนมเปญไปยังไซ่ง่อน

ภาพเก่าภายในศาลประจำตระกูลมักที่เมืองท่าฮาเตียน
ในเวลาต่อมา ราชวงศ์เหงวียนมีความพยายามควบคุมพ่อค้าขุนศึกชาวจีนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ และสามารถแผ่ขยายพื้นที่ในดินแดนขะแมร์กรอมออกไปได้เรื่อยๆ จนถึงราว พ.ศ. ๒๒๙๖-๒๒๙๘ ญวนสามารถควบคุมไซ่ง่อนได้ โดยเป็นทั้งศูนย์กลางทางการเมืองและการทหาร ตลอดจนควบคุมเส้นทางการค้าในลุ่มน้ำโขงตอนบนได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การยึดครองทางทหารเหล่านี้ไม่ได้ทำให้การค้าแบบอิสระของชาวจีนกวางตุ้งที่มีศูนย์กลางแถบเมืองเบียนฮหว่าเดือดร้อน และอีก ๒ ปีต่อมา ญวนก็แสดงความจำนงว่าต้องการยึดครองบ้านเมืองของเขมรในแถบแม่น้ำโขงตอนล่าง ในเขตจังหวัดจ่าวิญ (Trà Vinh) และจังหวัดซ้อกจัง (Sóc Trăng) ในปัจจุบัน นับเป็นครั้งแรกที่ราชวงศ์เหงวียนเริ่มแผ่ขยายอาณาเขตมาชนพื้นที่อำนาจของเจ้าเมืองฮาเตียนที่ปากน้ำเมืองพุทไธมาศ
บริเวณปากน้ำเมืองพุทไธมาศเป็นเมืองท่าเก่าแก่ในการเดินเรือเลียบชายฝั่งที่สำคัญ ต่างจากเมืองริมฝั่งทะเลอื่นๆ เพราะสามารถติดต่อกับบ้านเมืองภายในเช่นพนมเปญได้ หลังจากญวนยึดทางออกทางทะเลแถบลุ่มน้ำโขงทั้งตอนบนและตอนล่างได้แล้ว เขมรภายในจึงใช้เส้นทางตามลำน้ำขามออกสู่ทะเลที่ปากน้ำเมืองพุทไธมาศได้สะดวกที่สุด
ซากุไร (Yumio Sakurai) นักวิชาการชาวญี่ปุ่นเห็นว่า ในยุครุ่งเรืองทางการค้านั้น เครือข่ายการค้าในเส้นทางการค้าเหล่านี้น่าจะอยู่ในมือของพ่อค้าชาวมาเลย์-บูกิสมาก่อนหน้าชาวจีน ซึ่งเข้ามามีบทบาทในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะทั้งชื่อลำน้ำและชื่อเกาะต่างๆ ล้วนเป็นภาษามาเลย์ เช่น “เกาะ” ใช้คำว่า “ปูเลา (Pulau)” “หมู่บ้านหรือชุมชน” เรียกว่า “กำปง (Kampung)” “ประแส” ซึ่งเป็นชื่อลำน้ำสายหนึ่งในอำเภอแกลงมาจากคำว่า “Pasir” ที่แปลว่าทราย เป็นต้น ในราว พ.ศ. ๒๒๓๐ บาทหลวงตาชาร์ดกล่าวว่า เจ้าเมืองจันทบุรีเป็นชาวมาเลย์ที่นับถือศาสนาอิสลาม รวมทั้งบันทึกจากเมืองตราดที่ตำแหน่งเจ้าเมืองก่อนหน้าได้รับราชทินนาม พระยาพิพิธฯ มีแขกหรือชาวมุสลิมเป็นเจ้าเมืองมาก่อน
เมื่อขุนศึกพ่อค้าชาวจีนกวางตุ้งและราชวงศ์เหงวียนเข้ายึดบ้านเมืองและเครือข่ายเส้นทางการค้าบริเวณปากแม่น้ำโขงและแม่น้ำไซ่ง่อนในพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ แล้ว ทำให้การค้าทางเขมรจำต้องหันมาออกทางทะเลที่ปากน้ำเมืองพุทไธมาศ ซึ่งเป็นเส้นทางติดต่อกับบ้านเมืองด้านในเพียงทางเดียว และทำให้เกิดการตั้งเมืองฮาเตียนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นเมืองท่าเสรีและมีการปกครองเช่นรัฐอิสระ โดยได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์กัมพูชา มีเมืองกำปอตที่เป็นเมืองท่าอยู่ในการดูแลของมักกวื๋วและตระกูลมัก (อดีตขุนศึกชาวจีนกวางตุ้งในราชวงศ์หมิง) และเมื่อต้องเผชิญกับอำนาจทางการเมืองของราชวงศ์เหงวียน ได้มีการส่งเครื่องราชบรรณาการไปสู่ราชวงศ์เหงวียนที่เมืองเว้ด้วยเช่นกัน
มักกวื๋วเสียชีวิตในปี พ.ศ. ๒๒๗๘ ต่อมาตระกูลมักต้องเผชิญกับกำลังทหารของญวนที่รุกคืบเข้ามาจนถึงเจาดก (Châu Đốc) และลงเซียน (Long Xuyên) มักเทียนตือครองเมืองฮาเตียนต่อมา และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมาก ถึงขนาดในเอกสารของญี่ปุ่นเรียกท่านผู้นี้ว่า กษัตริย์แห่งกัมพูชา หรือสมเด็จพระโสทัต ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๐๐ สมเด็จพระนารายน์ราชารามาธิบดี (นักองตน) รับมักเทียนตือเป็นราชโอรสบุญธรรม ส่วนในพงศาวดารไทยเรียกท่านว่า พระยาราชาเศรษฐี (ญวน) และบ้างก็เข้าใจผิดเรียกว่า องเชียงชุน ก็มี
ฮาเตียนเป็นเมืองท่าที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น จีนกวางตุ้ง ญวน ฯลฯ มีเรือสินค้าจากกวางตุ้งเฉลี่ยปีละ ๗ ลำเข้ามาจอดเทียบท่าทำการค้า มีการใช้เงินเหรียญจีนและเงินเหรียญสเปน รวมทั้งผลิตเหรียญกษาปณ์เป็นของตนเอง เมืองท่าแห่งนี้เป็นศูนย์กลางนำเข้าทองแดงคุณภาพดี ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญจากจีน เครื่องถ้วย เครื่องใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม เครื่องใช้ทำด้วยเหล็ก เครื่องเขิน ที่ทำกำไรจากการส่งไปเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยแก่บ้านเมืองภายในทั้งเขมรและสยาม ส่วนสินค้าส่งออกคือ หมาก กานพลู จันทน์เทศ ฝาง พริกไทย ดีบุก หวาย หนังกวาง กุ้งแห้ง ที่ผลิตขึ้นบริเวณเมืองชายฝั่งของเขมรและสยามเป็นหลัก
ในช่วงทศวรรษเดียวกันนี้ บ้านเมืองทางกรุงศรีอยุธยากำลังเผชิญศึกสงครามครั้งใหญ่ที่ราชวงศ์อลองพญาจากอังวะยกทัพมาทำศึก เพื่อควบคุมและแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา การที่พระยาตากมุ่งมาทางหัวเมืองตะวันออกเพื่อรวบรวมกองกำลังกลับไปกู้กรุงนั้น เมืองฮาเตียนจึงเป็นหัวเมืองใหญ่ที่อาจจะช่วยหรือไม่ช่วยในการทำศึกครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นคนเชื้อสายจีนเช่นกันก็ตาม
หลังจากนั้นในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงได้ข่าวความเคลื่อนไหวจากเมืองปากน้ำพุทไธมาศจึงเตรียมพร้อมทำค่ายป้องกันทั้งปากน้ำพระประแดง ท่าจีน และแม่กลอง แม้ขณะนั้นทั้งทางราชวงศ์เหงวียนและฝ่ายเขมรจะยังไม่มีท่าทีต่อการสถาปนาอำนาจรัฐใหม่ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ตาม เชื้อพระวงศ์หลายพระองค์หนีไปทางตะวันออกและพึ่งพาอำนาจของกษัตริย์เขมร เช่น เจ้าศรีสังข์ พระโอรสเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ เจ้าจุ้ยโอรสเจ้าฟ้าอภัย มักเทียนตือจึงใช้ทัพเรือเข้ายึดเกาะต่างๆ ในอ่าวไทย เช่น เกาะกง เกาะกูด จนถึงเกาะคราม นับเป็นความพยายามในการขยายอำนาจทางฝั่งอ่าวไทยอย่างเด่นชัด
จนกระทั่งทัพจากฮาเตียนเข้าตีเมืองจันทบุรีและตราดในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ พงศาวดารญวน บันทึกไว้ว่า มีจีนแต้จิ๋วผู้หนึ่งชื่อเจิ่นเหลียน (Trần Liên) น่าจะเป็นขุนพิพิธวาทีหรือพระยาพิพิธ ผู้ต่อมาจะเป็นพระยาราชาเศรษฐี ครองเมืองฮ่าเตียน ราว พ.ศ. ๒๓๑๔-๒๓๑๖ หลังสงครามที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เสด็จมานำทัพเข้าตีเมืองฮ่าเตียนด้วยตนเอง ในครั้งนั้นเริ่มวางแผนจะเข้าโจมตีเมืองฮาเตียน โดยซ่องสุมกำลังผู้คนอยู่ที่เขาบั๊กหม่าซึ่งอยู่ละแวกแถบตะวันตกของเมืองฮาเตียน แต่มักเทียนตือได้ส่งทหารไปซุ่มโจมตีจนแตกหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองจันทบูร เหตุการณ์นี้ทั้งพงศาวดารญวนและเขมรกล่าวว่า มักเทียนตือให้หลานชายนำทัพบก ๕๐,๐๐๐ คน โจมตีเมืองทุ่งใหญ่และเมืองจันทบูร เมืองทุ่งใหญ่นี้น่าจะเป็นบริเวณที่ต่อเนื่องกับพื้นที่อำเภอขลุงจนถึงคลองบางพระ อันเป็นสาขาของแม่น้ำตราด หลังจากยึดเมืองได้เพียง ๒ เดือนก็เกิดโรคระบาด ทหารเสียชีวิตเหลือเพียงหมื่นคนเศษ มักเทียนตือจึงเรียกทัพกลับ
ในเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๑๔ หลังจากปราบศึกเหนือใต้สำเร็จไปมากแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงนำทัพไปตีเมืองฮาเตียน และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชยกทัพบกไปทางเมืองเขมร จาก จดหมายเหตุรายวัน ทัพเข้าตีฮาเตียนใช้เวลาเพียง ๓ วัน มักเทียนตือไม่สามารถต้านทานได้ และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทัพญวน จึงหนีไปยังเมืองเจาดกที่อยู่ภายใน และเป็นเมืองในอารักขาของราชวงศ์เหงวียน ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโกษาฯ หรือพระพิพิธขึ้นเป็นพระยาราชาเศรษฐี ตำแหน่งเจ้าเมืองปากน้ำพุทไธมาศหรือฮาเตียนแทน

แผนที่กรุงธนบุรีและชุมชนตามลำน้ำเจ้าพระยาพบที่พม่า ฝั่งตรงข้ามพระราชวังธนบุรีคือวังของพระมหาอุปราชและบ้านของพระยาราชาเศรษฐี (หมายเลข๒๑ และ ๒๐) ซึ่งตำแหน่งตรงกับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑
ส่วนมักเทียนตือนั้นไม่ได้กลับมาที่ฮาเตียน แต่ส่งบุตรชายมาขออยู่อาศัยต่อจากพระยาราชาเศรษฐี (พระยาโกษาฯ) ที่ทิ้งเมืองไปแล้ว ต่อมาตระกูลมักพยายามเข้าไปทำการค้าข้าวที่เกิ่นเทอ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะพื้นที่ถูกยึดครองและมีชาวเวียดนามเต็มไปหมด และเมืองฮาเตียนก็ไม่สามารถกลับมาเป็นเมืองท่าสำคัญได้อีก
ในปี พ.ศ. ๒๓๑๖ เกิดกบฏไต้เซินล้มราชวงศ์เหงวียน “องเชียงชุน” เชื้อพระวงศ์จากเมืองเว้หนีมาพึ่งลูกหลานมักเทียนตือที่เมืองปากน้ำพุทไธมาศ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ มักเทียนตือและองเชียงชุน รวมทั้งครอบครัวได้พากันหนีไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยกลุ่มญวนตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ย่านบ้านลาว (ถนนพาหุรัดในเวลาต่อมา) ส่วนมักเทียนตือตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตรอกพระยาไกร ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา และถูกไล่ที่ทำตลาดสำเพ็งเพื่อรองรับกลุ่มคนจีนที่ย้ายมาจากบริเวณที่จะสร้างพระบรมมหาราชวัง กระทั่งราว พ.ศ. ๒๓๒๓ มีโจทก์ฟ้องว่าพระยาราชาเศรษฐีหรือมักเทียนตือจะหนีไปเมืองพุทไธมาศ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงให้ประหารทั้งหมด รวมทั้งองเชียงชุนด้วย
หลังจากรัชกาลที่ ๑ ขึ้นครองราชย์แล้ว “องเชียงสือ” ผู้ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระจักรพรรดิยาลองและลูกหลานตระกูลมักกลับมายังกรุงเทพฯ หลังจากอยู่กรุงเทพฯ ได้ ๔ ปี องเชียงสือกับพรรคพวกจึงหนีออกไปกู้บ้านเมืองให้ราชวงศ์เหงวียน และติดตามกลับไปครองฮาเตียนตามเดิม จนราว พ.ศ. ๒๔๕๒ ราชวงศ์เหงวียนส่งขุนนางมาปกครองโดยตรง จึงเป็นการยุติบทบาทของตระกูลมักที่เมืองฮาเตียนโดยสิ้นเชิง
เมืองตราดและการสืบทอดความเป็นเมืองจีนสยาม
บทความนี้เป็นการนำเสนอว่าพ่อค้าสำเภาชาวจีนกลุ่มสำคัญที่อยู่ตามเมืองท่าในหัวเมืองชายฝั่งตะวันออก น่าจะตั้งอยู่ที่เมืองตราดมากกว่าที่เมืองจันทบุรี
เมื่อปรากฏชื่อหลวงพิพิธวาทีหรือพระพิพิธ ขุนนางเชื้อสายจีนที่ติดตามทัพพระยาตากมากับนักองรามในช่วงแรกๆ ที่ออกจากกรุง สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นขุนนางหนุ่มตำแหน่งไม่ใหญ่โตนักในกรุงศรีอยุธยา แต่มีความกว้างขวางหรือมีฐานะเป็นที่รู้จัก ทำราชการในหัวเมืองท่าทางตะวันออก หลายท่านสันนิษฐานว่าเป็นเจ้าเมืองจันทบุรีหรือเมืองตราด แต่ปรากฏว่าได้รับราชการศึกในช่วงต้นรัชกาลอยู่หลายครั้ง และมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยราชการโกษาธิบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญในขณะนั้น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สันนิษฐานว่า พระพิพิธท่านนี้เป็นพระคลังคนแรกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเป็นช่วงที่ราชสำนักจีนยังไม่รับเครื่องราชบรรณาการจากกษัตริย์พระองค์ใหม่ที่เพียรพยายามส่งไปหลายครั้ง เนื่องจากข้าหลวงแห่งเหลียงกว่างเสนอว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นกบฏต่อราชสำนักสยาม ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว พระองค์ต้องรีบสร้างความมั่นคงให้กับบ้านเมือง โดยการฟื้นฟูและเริ่มทำการค้ากับจีนขึ้นใหม่ เพื่อเป็นรายได้หลักในการใช้จ่ายรัฐที่ต้องดูแลราษฎรและขุนนางที่กำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะการส่งออกข้าวและซื้อพวกดินประสิว กระทะเหล็ก ปืนใหญ่ เครื่องทองแดงและเงิน เพื่อนำไปใช้ในการพระศาสนา ในกระบวนการสินค้าระบบบรรณาการ แม้ทางราชสำนักจีนจะรับคณะทูตและเครื่องราชบรรณาการอย่างเป็นทางการเพียงครั้งเดียว และเป็นครั้งสุดท้ายในรัชกาลของพระองค์ แต่ก็พบว่ามีการส่งออกข้าวและซื้อเครื่องถ้วยจากมณฑลฝูเจี้ยน โลหะ เช่น ทองแดง และเครื่องใช้จำพวกถาด ชาม และเชิงเทียนกลับไปยังสยามโดยพ่อค้าเรือสำเภาที่มาพร้อมกับคณะทูตทุกครั้ง
พระพิพิธจึงเป็นผู้ที่มีความชำนาญควบคุมการค้าและกรมท่าไปด้วยกัน ต่อมาจึงเป็นกำลังสำคัญไปตีเมืองฮาเตียน ด้วยอาจเคยเป็นขุนนางพ่อค้าผู้ชำนาญในหัวเมืองแถบนี้ เมื่อตีเมืองได้แล้ว จึงรับตำแหน่งพระยาราชาเศรษฐีแทนมักเทียนตือ
ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชาเศรษฐีกลับไปยังกรุงธนบุรี และได้ร่วมทัพไปในศึกอะแซหวุ่นกี้ โดยตั้งทัพอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ราว พ.ศ. ๒๓๑๘-๒๓๑๙ จากนั้นไม่พบชื่อพระยาราชาเศรษฐีผู้นี้ในพระราชพงศาวดารอีก จนกระทั่งในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ กล่าวถึงการสร้างพระบรมมหาราชวังและให้ย้ายบ้านเรือนของชาวจีนกลุ่มพระยาราชาเศรษฐีออกไปอยู่บริเวณที่สวน ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองสามเพ็ง รวมทั้งมีแผนที่สมัยกรุงธนบุรีแสดงตำแหน่งกลุ่มบ้านเรือน เรือนแพของชาวจีน และบ้านพระยาราชาเศรษฐีที่อยู่ในบริเวณเดียวกับวังของสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้าจุ้ย กรมขุนอินทรพิทักษ์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปรากฏเป็นข้อมูลเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากหนังสือ มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ โดย ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งถูกนำมาวิเคราะห์เรื่องราวของคนจีนที่มีบทบาทในช่วงเสียกรุงกันอย่างแพร่หลาย กล่าวถึงขุนนางพ่อค้าจีนชื่อ อ๋องเฮงฉ่วน ตำแหน่งพระคลังในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระว่าน่าจะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เพราะถือกำเนิดที่เมืองกวางหนำ ซึ่งอาจจะเป็นเมืองท่าฮอยอันทางตอนกลางของเวียดนาม และเคยทำงานในเรือค้าอิฐจากมณฑลฮกเกี้ยนภาคใต้มาก่อน มีพ่อค้าชาวฮกเกี้ยนตั้งหลักแหล่งในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ผู้สืบเชื้อสายต่อมาทำสำเภาค้าขายและได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัตนราชเศรษฐี ว่าที่กรมท่าซ้ายและเป็นเจ้าท่าเปิดระวางเรือสำเภาแต่ผู้เดียว และได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณคุ้งน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตรงข้ามกับกรุงธนบุรี และเป็นต้นตระกูลของเจ้าคุณจอมมารดาเอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือเจ้าคุณพระชนนี เมื่อพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ได้รับอุปราชาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้าองค์สุดท้าย) อีกทั้งยังกล่าวว่า จีนมั่วเส็ง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอภัยพานิช ทำการค้าเรือสำเภากับจีนอย่างน้อยปีละ ๑๐-๑๕ ลำ และสามารถต่อเรือสำเภาที่จันทบุรีได้ปีละ ๒ ลำ จีนเรือง เป็นหนึ่งในลูกหลานตระกูลนี้ และเป็นเศรษฐีเมืองบางปลาสร้อย จีนลินโหวง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระพิชัยวารี รับผิดชอบค้าขายและขนส่งสินค้าตลอดชายฝั่งตะวันออก รวมทั้งการค้าพริกไทย และ อู๋ยั่ง ชาวจีนฮกเกี้ยนผู้เก็บภาษีรังนกและได้เป็นเจ้าเมืองสงขลาในที่สุด
การอ้างถึงพระยารัตนราชเศรษฐีที่เป็นคนเดียวกับพระยาราชาเศรษฐีในหลักฐานอื่นๆ สันนิษฐานว่าเชื้อสายของพระยาราชาเศรษฐีนั้นอาจจะยังมีอยู่ และอาศัยอยู่แถบชุมชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบอาชีพรับราชการและเป็นพ่อค้าคหบดีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปได้อย่างยิ่ง เพราะหากพิจารณาจากสภาพแวดล้อมแล้ว การผลัดเปลี่ยนรัชกาลไม่ได้เกิดขึ้นอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน และสังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างระหว่างกลุ่มจีนตามสำเนียงภาษาแต่อย่างใด
แต่ไม่ปรากฏหลักฐานต่อมาว่าพระยาราชาเศรษฐีย้ายไปอยู่ที่สำเพ็งหรือไม่ และเป็นไปได้ว่ากลุ่มคนจีนที่เป็นฐานกำลังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งแต่ครั้งกู้กรุง ซึ่งเป็นกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วกลุ่มใหญ่ น่าจะถูกย้ายกลับไปอยู่ที่หัวเมืองภาคตะวันออกเช่นเดิม และสืบอาชีพเดินเรือสำเภาค้าขายซึ่งรุ่งเรืองมาจนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ และสมัยต้นรัชกาลที่ ๔ บางส่วนทำสวนและค้าขายภายใน การตั้งชุมชนค้าขายในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงทำให้หัวเมืองภาคตะวันออกมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมากขึ้น ต่างจากสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างเห็นได้ชัด
จากเอกสารของ ก.ศ.ร. กุหลาบ จีนทั้งหมดนี้มาจากตระกูลขุนนางพ่อค้าแต่เดิมของกรุงศรีอยุธยา และดูเหมือนจะมาจากตระกูลแซ่เดียวกันในระดับลูกหลานสายตรง ภายหลังถูกแบ่งออกเป็นจีนฮกเกี้ยน เป็นกลุ่มที่ผูกขาดการค้าสำเภา ซึ่งแตกต่างจากการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์พ่อค้าจีนในทางประวัติศาสตร์โดยทั่วไป ที่ชาวจีนแต้จิ๋วถูกเรียกว่า จีนหลวง และเชื่อว่าเป็นกลุ่มคนจีนที่มีอิทธิพลและบทบาทสูงในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มากกว่าชาวจีนฮกเกี้ยนและจีนกลุ่มอื่นๆ

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตราด อยู่ในตัวเมืองตราดหรือบ้านบางพระและไม่ไกลจากวัดโยธานิมิต
แม้จะมีการสืบค้นของนักวิชาการและนักเขียนผู้เป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายตระกูลขุนนางพ่อค้าในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หลายท่านลงความเห็นว่า กลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วเป็นกลุ่มพ่อค้าสำคัญในลุ่มน้ำจันทบูรและภาคตะวันออกที่เดินทางจากหัวเมืองมาตั้งถิ่นฐานและทำมาหากินในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแทนที่พ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยน แต่หลักฐานจากการแปลวรรณคดีสำคัญจากราชสำนักอย่างสามก๊กและเลียดก๊ก กลับบ่งบอกว่าใช้สำเนียงฮกเกี้ยนในการแปลเป็นไทย อย่างไรก็ตามได้มีการแถลงถึงความสับสนจากหลักฐานข้อมูลที่หลงเหลืออยู่ไม่มากนัก แม้จะเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าในสายตระกูล จนทำให้เกิดความงุนงงกับข้อมูลที่ปรากฏไม่น้อย
เมื่อพิจารณาหนังสือที่เขียนโดยลูกหลานในสกุลเศรษฐบุตร โปษยจินดา ประนิช ภิรมย์ภักดี และเสถบุตร ซึ่งต่างมาจากต้นธารเดียวกัน คือ พระประเสริฐวานิช (โป้) ขุนนางเชื้อสายจีน เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางท่านลงความเห็นว่าน่าจะเป็นตระกูลชาวจีนแต้จิ๋ว จากการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์แวดล้อมข้างต้น
แต่อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร สามารถหาหลักฐานได้ว่าบรรพบุรุษเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนแซ่เจิ้ง จากหมู่บ้านตงหยวน ตำบลไห่เจิ้ง เมืองจางโจว มณฑลฝูเจี้ยน มีภรรยาเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนเช่นเดียวกัน มีบุตร ๒ คนชื่อ อี๋กับโป้ ส่วนภรรยาอีกท่านหนึ่งเป็นคนญวน เมื่อคำนวณช่วงอายุแล้ว สันนิษฐานว่าเดินทางเข้ามาในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงธนบุรี แต่ไม่มีบันทึกว่าตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใดกันแน่
ต่อมานายโป้รับราชการเป็นพระประเสริฐวานิช สังกัดกรมท่าซ้าย และอาจมีนิวาสสถานอยู่แถบฝั่งธนบุรีแถวคลองราษฎร์บูรณะ เพราะท่านและเครือญาติมีฐานะร่ำรวยมากพอที่จะร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดประเสริฐสุทธาวาส แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ เมื่ออาจารย์นรนิติเดินทางไปสืบค้นร่องรอยของบรรพบุรุษที่ศาลเจ้าเต๋อชิงกวงในตำบลไห่เจิ้ง พบว่ามีการเขียนภาพลายเส้นสีดำลงบนผนังเป็นเรื่องสามก๊ก และสร้างในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔ ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าเต้ากวง ซึ่งรูปแบบการวางภาพและฝีมือช่างมีลักษณะเช่นเดียวกับภาพเขียนเรื่องสามก๊ก ณ วัดประเสริฐสุทธาวาสที่ปฏิสังขรณ์โดยพระประเสริฐวานิช (โป้)





พระอุโบสถวัดบุปผาราม เมืองตราด ภายนอกรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสมัยปลายอยุธยาหรือจะเป็นต้นรัตนโกสินทร์ และภายในพระอุโบสถวัดบุปผารามเปรียบเทียบกับภายในพระอุโบสถวัดประเสริฐสุทธาวาส
จิตรกรรมฝาผนังรูปเซียน ด้านบนเป็นรูปดอกไม้ในกรอบรูปเหลี่ยม บ้างมีรูปนกประกอบที่ประดับเต็มทุกผนัง และลายดอกไม้ร่วงที่มณฑปประดิษฐานพระนอน ภาพหงส์บินใต้รูปแปดเซียน ภาพกิเลน ซึ่งลวดลายประดับทั้งหมดนี้ล้วนเป็นลวดลายสิ่งมงคลตามความเชื่อในคติจีน
ด้านผนังสกัดเขียนเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิถือดอกบัว ซึ่งถือว่าไม่พบในที่อื่นๆ แสดงถึงคติพุทธศาสนมหายานแบบเซนอย่างชัดเจน
อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ ได้กล่าวถึงวัดประเสริฐสุทธาวาสไว้ในหนังสือศิลปกรรมเมืองบางกอกว่า “วิหารทรงแบบโบราณ แต่ปฏิสังขรณ์ใหม่แบบจีนล้วน ถือว่าเป็นต้นตอของศิลปะจีนผสมไทยที่วัดราชโอรส”



พระอุโบสถวัดประเสริฐสุทธาวาส แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร
จารึกนี้อยู่บนผนังด้านหลังพระประธาน ในอุโบสถวัดประเสริฐสุทธาวาส กล่าวถึงการบูรณะวัดโดยพระประเสริฐวานิช (โป้) ซึ่งเสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๓๘๑
ภาพเขียนในเส้นรงดำในกรอบรูปสี่เหลี่ยมเล่าเรื่องสามก๊กในพระอุโบสถวัดประเสริฐสุทธาวาส ซึ่งคล้ายกับภาพเขียนในเส้นรงดำที่ศาลเจ้าเต๋อชิงกวง ในตำบลไห่เจิ้ง มณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งการเขียนลายเส้นสีดำก่อนลงสีนี้ พบว่ามีการใช้เขียนลายดอกไม้ที่น่าจะเขียนซ่อมขึ้นภายหลังในผนังมณฑปหลังหนึ่งในวัดบุปผารามด้วย
อาคารทรงวิหารแบบโบราณที่วัดประเสริฐสุทธาวาส ไม่เหมือนกับศิลปะแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ เช่นวัดที่สร้างในช่วงครองราชย์นัก อาจารย์ประยูรจึงยกให้เป็นต้นแบบของศิลปะจีนผสมไทย ก่อนจะถูกปรับเปลี่ยนในระยะหลัง และยากจะหากลุ่มวัดที่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้
อีกทั้งมีหลักฐานว่าบุตรชายคนสุดท้องของพระประเสริฐวานิช (โป้) ที่ได้รับราชทินนามเดียวกันคือ พระประเสริฐวานิช (เสง) รับราชการในกรมท่าซ้าย มีรกรากหรือกิจการค้าที่เมืองตราด และเป็นผู้จับจองที่ดินบนเกาะหมากที่อยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด ก่อนที่จะขายให้กับหลวงพรหมภักดี ขุนนางปลัดจีนจากเมืองปัตจันตคีรีเขตร์ และมีลูกหลานในตระกูลตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองจันทบุรี

รูปถ่ายพระปราณีจีนประชา (เทียนจิ้น เศรษฐบุตร) ปลัดจีนเมืองตราด คู่กับ หลวงพิไชยวารี (เทียนสุย ประนิช) สวมเสื้อยศปลัดจีนเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จฯนิวัติพระนคร พ.ศ. ๒๔๕๐ บริเวณสะพานผ่านพิภพลีลา ถนนราชดำเนินใน (บรรยายภาพโดยเศรษฐพงษ์ จงสงวน)
นอกจากนี้เมื่อมีการตั้งตำแหน่งปลัดจีนเมืองตราดในราชทินนาม พระปราณีจีนประชา คนในตระกูลรุ่นหลานของพระประเสริฐวานิช (โป้) คือ พระปราณีจีนประชา (เทียนจิ้น) ได้ดำรงตำแหน่งปลัดจีนเมืองตราดในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังนั้นเชื้อสายของพระประเสริฐวานิช (โป้) จึงมีความสัมพันธ์กับเมืองตราดอย่างมาก และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นวัฒนธรรมจีนสยามที่เมืองตราดและธนบุรี เพราะภายในโบสถ์วัดบุปผารามในตัวเมืองตราด มีลักษณะคล้ายกับวิหารวัดประเสริฐสุทธาวาส คือเป็นต้นแบบของศิลปะจีนผสมไทยมากกว่าศิลปะแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ แม้จะไม่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องสามก๊กด้วยหมึกดำ และรูปทรงอาคารต่างจากรูปแบบในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่มีการสืบเนื่องมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
นอกจากนี้ศิลปกรรมที่แสดงถึงความเชื่อแบบจีน เช่น ภาพเขียน ๘ เซียน ภาพประดับลวดลายจีนต่างๆ ภาพดอกไม้ร่วงในวงล้อมรูปเหลี่ยมที่ปรากฏเต็มทุกผนัง เพื่อไม่ให้เกิดพื้นที่ว่าง พบเห็นได้จากลวดลายเครื่องถ้วยในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และภาพพระพุทธรูปปางสมาธิถือดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาแบบเซนหรือแบบจีนที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่เหมือนงานศิลปกรรมแบบจีน-ไทยหรือจีนสยามในที่อื่นๆ ความใกล้เคียงกันนี้ ชวนให้คิดได้ว่าผู้ที่บูรณปฏิสังขรณ์วัดบุปผารามอาจเป็นเจ้าสัวชาวจีนกลุ่มเดียวกัน รวมทั้งศาลหลักเมืองที่อยู่ใกล้กับวัดโยธานิมิต ที่ชาวบ้านเชื่อว่าสร้างในเวลาไล่เลี่ยกัน น่าจะเป็นศาลเจ้าเก่าแก่กว่าท้องถิ่นอื่นในเขตเมืองท่าชายฝั่ง ทั้งจันทบุรีและระยอง ซึ่งไม่มีร่องรอยของคนจีนอยู่อาศัยเก่าไปกว่าเมืองตราด
จากข้อเสนอข้างต้น เมืองตราดน่าจะเป็นเมืองท่าชั้นรองจากเมืองท่าสำคัญที่ฮาเตียน ซึ่งเป็นเมืองท่าเสรี ส่วนเมืองตราดและเมืองจันทบุรีที่อยู่ไม่ไกลกันนั้น เป็นเมืองท่าภายในที่อยู่เข้ามาตามลำน้ำ โดยเป็นเมืองท่ารุ่นเก่าที่ไม่ได้อยู่บริเวณปากน้ำเช่นเมืองพุทไธมาศ แต่สินค้านำเข้าและส่งออกอาจไม่แตกต่างกันนัก และมีศูนย์กลางเมืองท่าอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ความเป็นเมืองท่ามีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ การแบ่งแยกว่าเมืองท่าใดขึ้นอยู่กับจีนกลุ่มไหน จึงไม่สามารถกำหนดได้อย่างแน่ชัด
ในสมัยกรุงธนบุรีซึ่งอยู่ในภาวะต้องรีบฟื้นการเดินเรือค้าสำเภา ยังคงใช้ฐานกลุ่มขุนนางจีนสยามรุ่นเก่าซึ่งเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วที่มีบทบาทต่อเนื่องมาถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองตราดจึงเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญและมีกลุ่มคนจีนทำสำเภาสืบเนื่องมาโดยตลอด
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ตำแหน่ง พระพิพิธ น่าจะเป็นราชทินนามสำหรับเจ้าเมืองตราดโดยเฉพาะ ต่างจากหัวเมืองในแถบเดียวกัน นอกจากนี้พระพิพิธหรือพระยาราชาเศรษฐียังไม่ปรากฏชื่อในปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และไม่อยู่ในรายชื่อขุนนางผู้ใหญ่ที่ถูกประหารเมื่อผลัดแผ่นดิน จากข้อความใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ให้กลุ่มชาวจีนเหล่านี้ย้ายไปอยู่บริเวณสำเพ็ง โดยไม่ได้กำหนดว่ากลุ่มชาวจีนที่เป็นข้าหลวงเดิมและเป็นขุนนางคนสนิทอย่างพระยาราชาเศรษฐี จะยังอาศัยอยู่ในพระนครในเวลาต่อมา หรือย้ายกลับไปยังถิ่นฐานเดิมในหัวเมืองตะวันออก
ประวัติศาสตร์เมืองตราด ที่เขียนขึ้นโดยพระบริหารเทพธานี (เฉลิม กาญจนาคม) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๘) อ้างถึงทำเนียบหัวเมืองในสมัยนั้น มีชื่อเมือง “ตราด” ปรากฏอยู่แล้ว เอกสารบางฉบับกล่าวถึงเมืองตราดในชื่อ “เมืองทุ่งใหญ่” ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อจากเมืองขลุง ผ่านปากน้ำเวฬุมายังพื้นที่ราบแถบเมืองตราด บ้างกล่าวถึง “บ้านบางพระ” เพราะอยู่ริมลำน้ำบางพระที่เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำตราด เรื่องเล่าในท้องถิ่นที่ไม่มีการบันทึกเป็นเอกสารเล่าว่า ทัพของพระยาตากพักไพร่พลอยู่ที่วัดโยธานิมิต (วัดโบสถ์) ริมลำน้ำบางพระ เมื่อเข้ายึดเมืองตราดและยิงปืนใหญ่ยึดเรือสำเภาจีนในลำน้ำแล้ว ก็ไม่มีบันทึกถึงเมืองตราดในระยะต่อมามากนัก


ภาพซ้าย พระอุโบสถแบบเมืองระยองและส่วนที่ต่อกับเมืองจันทบูร วัดบ้านแลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
ภาพขวา พระอุโบสถวัดไผ่ล้อม จันทบุรี ศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ ที่น่าจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์จากเดิม ภายในมีภาพจิตรกรรมที่ดูเป็นแบบไทยประเพณีที่แทรกภาพชีวิตซึ่งมีชาวจีนปะปนอยู่บ้าง


พระอุโบถที่วัดโยธานิมิตหรือวัดโบสถ์ จังหวัดตราด ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากพระอุโบสถในท้องถิ่นภาคตะวันออกอย่างชัดเจน น่าจะเป็นรูปแบบอิทธิพลวิหารแบบเชียงแสน-ล้านช้างก็เป็นได้
จากการสำรวจเมืองตราดซึ่งเป็นเมืองติดลำน้ำบางพระและไม่มีแนวคูน้ำคันดินเหลืออยู่ พบวัดหลายแห่งที่มีร่องรอยของโบราณวัตถุในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น วัดโบสถ์หรือวัดโยธานิมิตซึ่งเป็นวัดสำคัญภายในเมืองตราด ลักษณะโบสถ์มีความแตกต่างจากโบสถ์และวิหารของวัดในแถบภาคตะวันออกในช่วงกรุงศรีอยุธยา ที่มักจะเป็นอาคารขนาดเล็ก ส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ เช่นวัดบางแห่งในจังหวัดระยองและจันทบุรี
วิหารของวัดโบสถ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ศิลปะเชียงแสน-ล้านช้าง ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานคู่บ้านคู่เมือง มีทางเข้าออก ๒-๓ ด้าน หลังคาซ้อนชั้นไม่สูงและไม่เตี้ยแจ้จนเกินไปนัก ซึ่งนับว่าแปลกที่ปรากฏอาคารรูปทรงเช่นนี้ในวัดสำคัญของเมืองตราดที่อยู่ชายฝั่งทะเลตะวันออก สันนิษฐานได้ว่าอาจมีการนำกลุ่มคนจากวัฒนธรรมเชียงแสน-ล้านช้าง มาอยู่ที่เมืองตราดในสมัยกรุงศรีอยุธยาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
ในกรณีวัดบุปผารามที่มีตำนานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง นับว่ามีความเป็นไปได้ เพราะในช่วงเวลานั้นบริเวณหัวเมืองภาคตะวันออก เช่น จันทบูร มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองท่าของกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับเมืองตราดที่ต่อเนื่องไปจนถึงเมืองท่าอิสระที่ฮาเตียน พบพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสุโขทัย ที่เก็บรักษาไว้ในวัดบุปผาราม สันนิษฐานว่านำมาจากศูนย์กลางบ้านเมืองทางภาคกลาง หรือชื่อวัดบุปผารามที่ละม้ายว่าจะได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาลังกาวงศ์ เช่นเดียวกับวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ที่อาจสืบเนื่องมาจนถึงเมืองตราด
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองตราดเป็นหนึ่งในหัวเมืองที่ขึ้นต่อกรมท่า กระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีการศึกกับลาว เขมร และญวนติดต่อกันยาวนาน เมืองตราดและจันทบุรีเป็นฐานทัพสำคัญที่เข้าร่วมในการศึก นำทัพโดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปรบกับญวน ได้กล่าวถึงพระยาตราดว่ามีความชำนาญด้านการต่อเรือ ซ่อมแซมเรือ และพระปลัดเมืองตราดเป็นบุตรชายของพระยาจันทบุรี โดยไม่ได้กล่าวถึงราชทินนามของทั้งสองท่าน
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการให้เมืองเกาะกง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองตราดมาก่อนขึ้นเป็นเมืองใหม่ พระราชทานนามเมืองนี้ว่า เมืองปัตจันตคีรีเขตร์ เมื่อเสด็จไปยังเมืองตราด ปรากฏชื่อพระยาพิพิธสมบัติ (ทองสุก) หรือเจ้าคุณเฒ่า อดีตข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ มาเป็นเจ้าเมืองตราด และเป็นบิดาของเจ้าจอมมารดาจันทร์ ผู้มีมารดาเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนในเมืองตราด เจ้าจอมมารดาจันทร์เป็นเจ้าจอมมารดาของพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ สืบเชื้อสายราชสกุลวงศ์ “ศุขสวัสดิ” และ “เกษมศรี”
เมืองตราดในสมัยนั้นมีกรมการเมือง ๔ คน คือ เจ้าเมือง ปลัดเมือง ปลัดเมืองฝ่ายจีน (ปลัดจีน) และยกกระบัตรเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งและแปลงนามเจ้าเมืองกรมการเมืองตราด จาก พระยาพิพิธสมบัติ เป็น พระยาพิพิธฤทธิเดชวิเศษสิงหนาท พระยาพิพิธภักดีศรีสมบัติ และ พระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ ตามลำดับ และตั้งตำแหน่ง ปลัดจีน ขึ้นใหม่ในราชทินนาม พระปราณีจีนประชา
จากข้อมูลในหนังสือ ประวัติศาสตร์เมืองตราด จะเห็นได้ว่าเจ้าเมืองตราดนั้นมีราชทินนามว่า พระพิพิธหรือ พระยาพิพิธ มาโดยตลอด ก่อนหน้าพระพิพิธสมบัติ (ทองสุก) คือพระพิพิธวัตร ทั้งสองท่านน่าจะเป็นเจ้าเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนก่อนหน้านั้นเจ้าเมืองเป็นแขกหรือชาวมุสลิม ๒ ท่าน แต่จะเป็นช่วงเวลาใดไม่แน่ชัด พบเพียงหลักฐานเป็นไม้ปักหลุมฝังศพ เล่ากันว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจมาก จนภายหลังราษฎรฟ้องร้องไปยังกรมท่าที่กำกับราชการเมืองตราด ราว พ.ศ. ๒๔๐๑ บุตรชายของพระยาพิพิธสมบัติได้เป็นพระยาพิพิธฤทธิเดชวิเศษสิงหนาถ ต่อมาคือพระยาพิพิธพลรักษ์ (อิน) พระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ (เอี่ยม) พระยาพิพิธไสยสุนทรการ (?) และพระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ (สุข ปรัชญานนท์) เป็นผู้ว่าราชการเมืองจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๗
นับเป็นการสืบต่อราชทินนาม “พระยาพิพิธ” ที่มีความสืบเนื่องกับ “พระพิพิธ” ขุนนางเชื้อสายจีนผู้กว้างขวางในหัวเมืองตะวันออก ผู้อาจเคยเข้าร่วมทัพกู้กรุงกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชาเศรษฐีและพระคลังในรัชกาลนั้น
บรรณานุกรม
จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระบาทสมเด็จพระ. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๒. กรุงเทพฯ :
องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๖.
นรนิติ เศรษฐบุตร. สู่สยามนามขจร. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น, 2550
นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๒๙.
พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. สำเภาสยาม : ตำนานเจ๊กบางกอก, กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, ๒๕๔๔.
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จดหมายเหตุรายวันทัพ อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่น.
กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, ๒๕๕๑
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พิมพ์เป็นที่ระลึกใน งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค) วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ วัดประยุรวงศา วาส. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๗๗.
ศานติ ภักดีคำ และนวรัตน์ ภักดีคำ. “จารึกการบูรณะวัดประเสริฐสุทธาวาส,” ใน วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๙ เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๖.
สมาคมชาวตราด ราษฎรชาวจังหวัดตราด และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ตราษบุรีศรีสมุทรเขตต์.
พิมพ์ถวายเป็นที่ระลึกในการบำเพ็ญกุศล ๘๐ ปี สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต). ๒๕๕๙.
สารสิน วีรผล, จิ้มก้องและกำไร การค้าไทย-จีน พ.ศ. ๒๑๙๕-๒๓๙๖/ค.ศ.๑๖๕๒-๑๘๕๓ (๖๐๐ ปีซำปอกง/เจิ้งเหอกับอยุธยา), กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, ๒๕๔๘.
Yumio Sakurai, “Eighteen century Chinese pioneers on the water frontier of Indochina,” in Water Frontier : Commerce and the Chinese in the Lower Mekong Region, 1750-1880, 2004.