วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

เคยพิมพ์ในจดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ  วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๑๐๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๗) 

ชาวอิฟูเกา [Ifugal] เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมในเขตที่สูงทางตอนเหนือค่อนไปทางตะวันตกของเกาะลูซอนที่ฟิลิปปินส์ เป็นกลุ่มคนที่บรรพบุรุษของพวกเขาสร้างนาขั้นบันได [Rice Terraces] จำนวนมากตามไหล่เขาและหุบเขา พวกเขาเคยอยู่กันเป็นชุมชนแบบเผ่า [Tribe] แยกกันอยู่เป็นกลุ่มๆ ก่อนที่ชาวเสปนจะเข้ามายึดครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคม 

คำว่าอิฟูเกา [Ifugal] มาจากคำว่า “i-pugo” คำว่า “i” หมายถึง “มาจากหรือคน” และ  “pugo” หมายถึง “ภูเขา” รวมกันเข้าจึงหมายความว่า “ผู้คนแห่งภูเขา” 

นาข้าวขั้นบันไดของชาวอิฟูเกา

ชาวอิฟูเกาพูดภาษาอิฟูเกาหรือภาษาบาตัดซึ่งอยู่ในกลุ่มออสโตรนีเชียนในตระกูลมลาโย-โพลีนีเซียน [Melaya-Polynesian] 

ในปัจจุบัน “อิฟูเกา” เป็นทั้งชื่อกลุ่มคนบนที่สูงและชื่อจังหวัดในเขตปกครองบนที่สูง [The Cordillera Administrative Region] ซึ่งประกอบไปด้วย ๖ จังหวัดทางตอนกลางและเหนือของเกาะลูซอนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มากมายรวมทั้งการใช้ภาษาอันหลากหลายอยู่อาศัยในเขตนี้ เศรษฐกิจในปัจจุบันถือเอาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งการทำเหมืองแร่ เช่น ทอง ทองแดง เงิน สังกะสี การเพาะปลูก เช่น ข้าวโพดและข้าว รวมทั้งการท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจในสภาพภูมิประเทศแบบเทือกเขาและวัฒนธรรมประเพณีที่จัดเฉลิมฉลองเป็นงานเทศกาลของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้สำคัญในปัจจุบัน

จังหวัดอิฟูเกามีประชากรที่เป็นชาวอิฟูเกาอยู่ราวๆ ๖๘ % นอกนั้นเป็นชาวอิโลคาโนส, กาลาฮัน และอยันกัน [Ilocanos, Kalahan, Ayangan] ในช่วงปี ค.ศ.๑๙๓๙ ประเมินว่ามีชาวอิฟูเกาอยู่ราว ๗๐,๐๐๐ คน และลดลงไปหลายหมื่นคนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งบริเวณนี้มีการสู้รบอย่างหนักของกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพสหรัฐอเมริกาและฝ่ายสัมพันธมิตร และประเมินว่าชาวอิฟูเกามีอยู่ราวกว่า ๑๙๐,๐๐๐ คนในปัจจุบัน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นาข้าวขั้นบันไดที่หมู่บ้านบาตัด ซึ่งเป็นสถานที่ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลก และเรียกว่าเป็น Ambi Theater

คนอิฟูเกากับวัฒนธรรมข้าวและการทำนาขั้นบันได

แม้จะมีนาขั้นบันไดหลายแห่งในเขตที่สูง [The Cordillera Administrative Region] แต่เฉพาะที่เมืองบานาเว่ [Banaue] ในจังหวัดอิฟูเกา นาขั้นบันไดที่นี่ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๕ เพราะถือเป็นความมหัศจรรย์สำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบันที่สามารถทำนาขั้นบันไดและระบบชลประทานจากยอดเขาจากแรงงานมนุษย์ บ้างก็ประมาณว่าตั้งแต่เมื่อราว ๒,๐๐๐ ปี

นาขั้นบันไดในเขตที่สูงถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของฟิลิปปินส์ นอกเหนือไปจากภูมิประเทศแบบที่สูง สร้างความสบายสายตาจากความเขียวชอุ่มของนาข้่วในหุบเขาแล้ว อากาศก็ยังเย็นสบายและฝนตกอยู่ตลอดทั้งปี

การปรับพื้นที่นาเพื่อทำนาแบบทดน้ำ [Wet Rice] โดยการใช้พื้นที่เชิงเขาทำเป็นที่ราบเล็กๆ ลดหลั่นกันลงไปตามความสูงของไหล่เขา สร้างคันนาจากหินก้อนใหญ่ๆ จากภูเขาที่ถูกทุบและจัดเรียงให้เป็นคันดินสูงและแนวคันนาพร้อมกัน บริเวณเทือกเขาสูงแถบนี้ไม่มีการทำเครื่องมือเหล็กเพราะไม่มีแหล่งแร่เหล็ก ดังนั้น ชาวอิฟูเกาจึงใช้เครื่องมือหินและไม้เหลาแหลมเป็นหลักในการปรับพื้นที่และเตรียมพื้นที่ทำนาโดยไม่ใช้ควายมาช่วยทุ่นแรง แต่ใช้แรงงานมนุษย์ทำแทบทุกขั้นตอน

เอกลักษณ์ของชาวอิฟูเกาก่อนที่คริสต์ศาสนาจะเข้ามาแทนที่พิธีกรรมและความเชื่อต่างๆ คือความเชื่อในผีต่างๆ [Spirits] และมีอยู่มากมายในอดีต ชีวิตที่ผูกพันอยู่กับการทำนาตลอดทั้งปีจึงมีวงจรชีวิตขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ฤดูกาล และประเพณีพิธีกรรมแบบสังคมชาวนาทั้งสิ้น ตามความเชื่อชาวอิฟูเกาแบ่งภูมิจักรวาลออกเป็น ๕ ส่วน คือ โลกมนุษย์ [pagao], โลกฟากฟ้า [kabunian], โลกใต้พิภพ [dalum], เหนือท้องน้ำและลำห้วย [lagod] และใต้ท้องน้ำและลำห้วย [daiga] แต่ละภูมิมีผีดูแลในพื้นที่แต่ละแห่ง และมีการบูชาผีต่างๆ ที่ค่อนข้างซับซ้อนแต่เป็นระบบ โดยมีชื่อและสถานที่ซึ่งสถิตย์อยู่ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ถึง ๓๕ กรณี เช่น ผีที่เป็นตัวแทนของวีรบุรุษผู้เป็นบรรพบุรุษ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ และจะทำพิธีบูชาผีและเทพเจ้านี้เป็นวาระ เช่น ในช่วงที่ได้ผลข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ การล่าสัตว์เพื่อหาอาหารได้ผลดี ในระหว่างพิธีกรรมก็จะมีการเข้าทรงผ่านผู้ทำพิธีกรรมซึ่งเป็นผู้ชายในการสอบถามทำนายเรื่องเรื่องต่างๆ และจะบูชาด้วยหมากพลู เหล้าและสัตว์เช่น ไก่ หมู เป็นต้น

และในขณะเดียวกัน หากเกิดภัยธรรมชาติผลผลิตไม่ได้ตามฤดูกาลจนถึงกับทำให้เกิดความอดอยากเกิดขึ้น ชาวอิฟูเกาในหมู่บ้านต่างๆ ก็จะทำพิธีกรรมล่าหัวมนุษย์ในหมู่ชนเผ่าอื่นๆ ที่อาจจะเป็นศัตรูกัน เพื่อนำมาทำพิธีกรรมบัดพลีแทนไก่ หมูหรือควาย แม้ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่ก็ทำให้กลายเป็นว่า พวกเขาได้ชื่อว่าเป็นชนเผ่าล่าหัวมนุษย์กลายเป็นที่โจษจรรย์กันมาจนถึงทุกวันนี้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นักรบในงานอิมบาย่าถือเทพเจ้าโบรูน สิ่งศักดิ์สิทธิ์และตัวแทนผีบรรพบุรุษที่คุ้มครองและบันดาลให้มีความอุดมสมบูรณ์

ส่วนพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายในอดีต เชื่อกันว่าวิญญาณของผู้ตายจะไปอยู่กับวิญญาณบรรพบุรุษ การทำพิธีจะชำระร่างกายและนั่งไว้ในเก้าอี้สำหรับผู้ตาย แต่ละคืนจะมีการจุดไฟรอบๆ และดูแลร่างกายอย่างระมัดระวังเป็นสัญลักษณ์ของการ “ตื่น” หากมีฐานะก็จะจัดไปราว ๑๓ วัน จะฝังร่างกายที่สุสานหรือใต้ถุนบ้าน และในบางกรณีก็จะฝังศพครั้งที่สองเมื่อเวลาผ่านไปราว ๓-๕ ปีต่อมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ที่ยังอยู่เจ็บไข้ได้ป่วย ชาวอิฟูเกาบางกลุ่มฝังศพผู้ชาย ผู้หญิงแยกออกจากกัน และมักจะฝังศพเด็กในไห

แต่เมื่อคริสต์ศาสนาเข้ามากลายเป็นศาสนาหลักของชาวอิฟูเกา ผีต่างๆ ที่เป็นตัวแทนก็หายไป และกลายเป็นความเคร่งครัดในการเข้าโบสถ์วันอาทิตย์และถือพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธิลิคแทน ผู้ไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมชมหมู่บ้านชาวอิฟูเกาในปัจจุบันจึงเพียงพบเห็นแต่เทพเจ้าสำคัญคือ “เทพโบลูน” เทพที่ดูแลพิทักษ์พืชผลและเป็นตัวแทนของผีบรรพบุรุษ มักจะอยู่ในรูปของคนนั่งชันเข่าทั้งเพศหญิงและชาย แกะสลักจากไม้ที่พบเห็นได้ตามทางเข้าที่นาหรือตามบ้านทั่วๆ ไป และกลายเป็นหัตถกรรมของที่ระลึกไปเมื่อศาสนาเข้ามามีส่วนในชีวิตของชาวอิฟูเกาจนทำให้วิถีชีวิตแตกต่างไปจากเดิม 

เมื่อมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาอันเนื่องมาจากการได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ชาว อิฟูเกาที่มีการปกครองตนเองในส่วนภูมิภาคมาสักระยะและเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่ความเป็นพลเมืองชาวฟิลิปปินส์โดยทั่วไป ได้รับบูรณาการในเรื่องการศึกษา การมีโอกาสทำอาชีพต่างๆ นอกเหนือจากทำเกษตรกรรม ได้ทำให้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากชาวอิฟูเกาดั้งเดิมจนกลายเป็นชาวฟิลิปปินส์ทั่วไปแล้ว ก็สามารถจัดการการท่องเที่ยวด้วยองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น มีการนำเอาประเพณีพื้นบ้านของชาวอิฟูเกามาร่วมกันจัดงานที่เมืองบานาเว่ และเชิญชวนให้ชาวบ้านตามหมู่บ้านหรือบาลังไกวต่างๆ [Balagay] ออกมาเดินพาเหรดและแสดงกิจกรรมทางวัฒนธรรม 

และงานใหญ่ที่สุดจัดขึ้นในรอบสามปีต่อครั้งคืองาน “อิมบาย่า” [Imbayah] ซึ่งหมายถึง เหล้าที่ทำจากข้าวมีเหลือเฟือ เป็นงานเทศกาลที่ปรับมาจากงานประเพณีดั้งเดิมที่ชาวบ้านผู้มีฐานะดี ซึ่งประเมินจากการมีที่นาจำนวนมากและมีควายที่เลี้ยงไว้ ๔-๕ ตัว ก็จะจัดงานเลี้ยงเช่นนี้ในงานหลังจากฤดูเก็บเกี่ยว หรืองานแต่งงานและงานมงคลอื่นๆ เพื่อแบ่งปันให้คนที่มีที่นาน้อยได้ดื่มกินร่วมกันไปด้วย 

ในงานประเพณีนี้ขบวนพาเหรดจะตกแต่งประกวดกันแต่ละบาลังไกวที่มีทั้งประเพณีการเต้นรำแบบนักรบดั้งเดิมที่ใช้ฆ้องแผ่นเรียบเป็นเครื่องประกอบจังหวะหลัก และเต้นแบบก้นเตี้ยยกมือขึ้นร่ายรำเป็นจังหวะะซ้ำๆ ตลอดเวลา มือถือหอกหรือไม้ปลายแหลมเป็นอาวุธ ใส่เสื้อผ้าที่ทอกันเองในโทนสีแดงดำหรือสีเปลือกไม้น้ำตาลอ่อน ซึ่งคล้ายคลึงกับเสื้อผ้าของชนเผ่าในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนและออสโตรเอเชียติคดั้งเดิม เช่นในเวียดนาม ในลาวหรือแม้แต่ในไทย ที่หัวใส่หมวกขนนกที่มีกระโหลกของสัตว์ติดอยู่ ใส่เครื่องประดับเป็นสร้อยเขี้ยวหมูป่าหรือต่างหูทำจากเปลือกหอยทะเล เป็นต้น งานเทศกาลเหล่านี้จัดขึ้นทั้งเพื่อชาวอิฟูเกาได้ออกมาพบปะสังสรรและสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นับแต่จะมีมากเพิ่มขึ้นทุกปี

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ภาพการเต้นรำแบบนักรบของชาวอิฟูเกา  ภาพเก่าเห็นธงชาติสหรัฐอเมริกา จึงสันนิษฐานว่าจะอยู่ในช่วงฟิลิปปินส์ตกเป็นอาณานิคมราว พ.ศ. ๒๔๔๑-๒๔๘๓ ส่วนภาพปัจจุบันเป็นการเต้นรำที่แสดงในงานอิมบาย่า

ชาวอิฟูเกาเคยอยู่ในสภาพสังคมชาวนาที่เคร่งครัดในการแบ่งกลุ่มชนชั้นทางสังคม โดยจะมี ๓ ระดับ คือชนชั้นร่ำรวย ชนชั้นกลางๆ และชนชั้นยากจน ผู้ที่มีมากจะปรับสมดุลย์กันในสังคมโดยการจัดงานอิมบาย่าที่ต้องเตรียมต้มเหล้าและเตรียมอาหาร เช่น ต้องฆ่าควายครั้งละ ๒-๓ ตัวไว้เลี้ยงดูและแบ่งปันกับคนในระดับชั้นที่ยากจนกว่า แต่ปัจจุบันการแบ่งสถานภาพดังกล่าวลดน้อยลงไปมากแล้ว คงเหลือเพียงคำบอกเล่าและการแต่งกายแบบประเพณีที่บ่งบอกสถานภาพทางชนชั้นทางสังคมเหลืออยู่บ้าง 

ด้วยเหตุนี้ชาวอิฟูเกาจึงรู้สึกภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองที่ไม่เคยมีผู้ใดอดอยากจนถึงต้องกลายเป็นขอทานเหมือนที่พบตามเมืองใหญ่ๆ เพราะมีการเฉลี่ยอาหารการกินแก่คนในสังคมด้วยวัฒนธรรมเช่นนี้เอง

ชาวอิฟูเกาปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยตามสภาพแวดล้อมและยังถือเครื่องรางเพื่อความโชคดีคือ “ลิงลิง-โอ” และจี้ห้อยคอสัญลักษณ์สัตว์สองเขา ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นเครื่องประดับมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และปรากฏอยู่ตามกลุ่มคนตั้งแต่ยุคเหล็กหรือช่วงก่อนประวัติศาตร์ตอนปลายในหลายๆ ท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะทีเดียว

เรือนของชาวอิฟูเกาถือว่าเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นทางวัฒนธรรม แม้ว่าปัจจุบันนี้บ้านเรือนเกือบทั้งหมดจะเปลี่ยนแปลงเป็นแบบบ้านสมัยใหม่ แต่เรือนดั้งเดิมบางหลังก็ยังถูกรักษาไว้หรือยังใช้สำหรับการอยู่อาศัยหรือเป็นที่พักค้างคืนสำหรับนักท่องเที่ยว ชาวอิฟูเกาสร้างบ้านหลังเล็กๆ มีเสาสูงสี่เสา ปลูกสร้างแข็งแรงโดยใช้ไม้จริงและไม้ไผ่ ไม่ใช้ตะปูแต่ใช้การผูกมัด หลังคามุงด้วยหญ้าคาทรงโดมกลมยอดแหลม ที่เสาต่อกับคานด้านบนทั้งสี่เสามีแผ่นไม้รองรับกันสัตว์เลื้อยคลานเลื้อยขึ้นบ้าน 

ภายในบ้านแบ่งเป็นสองชั้น ชั้นบนที่เป็นห้องใต้หลังคาใช้เก็บข้าวเปลือกที่ได้จากการทำนาสะสมไว้กินใช้ เครื่องเรือนไม่มีอะไรมากเพราะเป็นห้องรวมอยู่อาศัยในห้องเล็กๆ นี้ราวๆ ๖-๗ คน ชาวอิฟูเกาบอกว่าในสภาพภูมิประเทศเช่นนี้ การนอนรวมกันในบ้านหลังเล็กให้ความอบอุ่นดี

ส่วนพื้นใต้ถุนบ้านใช้ประกอบอาหาร ตำข้าว หรือกิจกรรมพักผ่อนอื่นๆ เสาหรือบ้านเรือนมักประดับหรือแกะสลักรูปเทพบอรูนหรือ สัตว์สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เช่นสัตว์เลื้อยคลาน กบ และมักประดับด้วยหัวควาย รูปแบบการตกแต่งบ้านเรือนเช่นนี้คล้ายคลึงกับศาลากลางบ้านที่ประกอบพิธีกรรมส่วนกลางของ “ชาวตะโอย” กลุ่มชาติพันธุ์ที่ที่พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมรหรือกลุ่มข่ากลุ่มหนึ่งที่แขวงสาละวันในประเทศลาวซึ่งมีทั้งสัตว์เลื้อยคลานและเต่า ล้วนแต่ใช้รูปสัญลักษณ์เดียวกันคือสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และความยั่งยืน

“ลิงลิง-โอ” เครื่องรางหรือเครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์

เครื่องประดับต่างหูมีปุ่ม ๓ ปุ่มและจี้ห้อยคอรูปสัตว์ ๒ หัวทำจาก หินหยก [Nephrite] อันเป็นหินกึ่งรัตนชาติประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ลิงลิง-โอ” [LingLing-O] พบกระจายทั่วไปในเขตชายฝั่งและหมู่เกาะในบริเวณทะเลจีนใต้หรือแปซิฟิครวมทั้งในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในบริเวณชายฝั่งภาคกลางจนถึงภาคใต้ของเวียดนามและเป็นเครื่องประดับของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ซ่าหวิงห์” [Su Huynh Culture] ซึ่งร่วมสมัยกับการกระจายของกลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดองซอน [Dong Son Culture] อยู่ค่อนไปทางเหนือของเวียดนาม ในพื้นที่วัฒนธรรมซ่าหวิ่งห์มักจะอยู่ในบริเวณเดียวกับวัฒนธรรมของจามปา ซึ่งเป็นกลุ่มบ้านเมืองที่เริ่มรับศาสนาฮินดูมาเป็นศาสนาของรัฐและรับศาสนาอิสลามต่อมาในภายหลังอีกส่วนหนึ่ง 

สันนิษฐานกันว่าผู้คนในวัฒนธรรมซ่าหวิงห์และจามปาน่าจะเป็นกลุ่มคนที่สืบเนื่องและเป็นคนกลุ่มเดียวกัน และเป็นกลุ่มคนในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน [Austronesian] มีการสันนิษฐานจากหลักฐานทางโบราณคดีว่า เครื่องประดับในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ทำจากหยกเช่นนี้ มีแหล่งผลิตอยู่ที่เกาะไต้หวันและแพร่กระจายออกไปตามเส้นทางการเดินเรือเลียบชายฝั่งและข้ามหมู่เกาะในทะเลจีนใต้หรือมหาสมุทรแปซิฟิคและพบว่าคงเหลืออยู่เป็นเครื่องรางไว้ห้อยคอเพื่อความโชคดีและได้รับโชคลาภร่ำรวยในกลุ่มชาวอิฟูเกาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งชาวอิฟูเกาเปลี่ยนจากการแกะหินหยกที่มีค่าจากแดนไกลเมื่อในอดีต เป็นการหล่อจากโลหะผสม เช่น สำริด เงินหรือทองเหลือง ซึ่งก็เป็นวัตถุดิบในการผลิตที่หาได้ยากในท้องถิ่นของเขาเช่นกัน

งานวิจัยในบทความเรื่อง “แผนที่หยกโบราณ อายุ ๓,๐๐๐ ปี ที่แลกเปลี่ยนกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดย ปีเตอร์ เบลวู๊ดและคณะ [“Ancient jades map ๓,๐๐๐ years of prehistoric exchange in Southeast Asia” by Peter Bellwood and others, ๒๐๐๗] ถือว่าถอดรหัสความเข้าใจในแหล่งผลิตและการกระจายตัวของโบราณวัตถุในยุคเหล็กที่เป็น “ต่างหูลิงลิง-โอและจี้ห้อยคอรูปสัตว์สองหัว” ทั้งสองรูปแบบนี้ได้เป็นอย่างดี เป็นโครงการวิจัยที่ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์โดยวิเคราะห์ไมโครอิเลคตรอนจากโบราณวัตถุพวกเครื่องประดับเนื้อหยกที่พบในแหล่งโบราณคดีต่างๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าอายุราว ๓,๐๐๐ BC. จนถึงราว ๑,๐๐๐ AD.

8

แผนที่แสดงการกระจายตัวของเครื่องประดับหินหยกจากเกาะไต้หวัน พบว่าหยกสีเขียวมีแหล่งวัตถุดิบหลายแห่งในไต้หวันรวมทั้ง เฟงเทียน และทางเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค หมายถึงในจีน ไซบีเรีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวคาลิโดเนีย นิวซีแลนด์และบริทริชโคลอมเบีย ส่วนหยกสีขาวทีแหล่งที่จีน เกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ รัสเซียและเกาหลีแหล่งผลิตที่สำรวจและสันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากเกาะไต้หวันจากแหล่งเฟงเทียน [Fengtian] ซึ่งมีการผลิตโบราณวัตถุที่ทำจากหินหยกที่เป็นหินเนฟไฟน์ [nephrite artifacts]  แหล่งที่พบนอกไต้หวันกระจายอยู่บริเวณ เกาะโดยรอบไต้หวัน เกาะปาลาวันในฟิลิปปินส์ ถ้ำตาบนปาลาวัน ถ้ำในเกาะซาราวัก แหล่งที่กว่างนำ เวียดนามตอนกลาง โฮจิมินห์ แหล่งสำโรงเสนที่กัมพูชา อู่ทอง,บ้านดอนตาเพชร สุพรรณบุรี เขาสามแก้ว ชุมพร 

การวิจัยได้ผลว่า เครือข่ายของการค้าทางทะเลที่กว้างขวางที่สุดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ดูจากกระจายตัวของลูกปัด ซึ่งหินหยกสีเขียวจากแหล่งวัตถุดิบที่อยู่ทางภาคตะวันออกของเกาะไต้หวันที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างเครื่องประดับที่โดดเด่นในยุคนั้น ๒ อย่างคือ ต่างหูแบบลิงลิง-โอและจี้ห้อยคอรูปหัวสัตว์ที่พบกระจายตัวอยู่อยู่ทั่วไปในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ทางตะวันออกของมาเลย์เซีย เวียดนามตอนใต้ รวมทั้งกัมพูชาและคาบสมุทรทางภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงอายุราว ๕๐๐ BC.- ๕๐๐ AD. ช่วงรัศมีกว่า ๓,๐๐๐ กิโลเมตรจากชายฝั่งทะเลจีนตอนใต้ 

และพบว่ามีการใช้หินหยกสีเขียวทำเครื่องประดับและลูกปัดมาแล้วในช่วงยุคหินใหม่และยุคสำริดและยุคเหล็กหลายแหล่งในประเทศจีน เขตหมู่เกาะไต้หวัน และบางส่วนของหมู่เกาะฟิลิปปินส์และทางตอนเหนือของเวียดนามก่อนยุคสมัยเหล็กด้วย

ต่างหูลิงลิง-โอที่มีปุ่ม ๓ ปุ่มทำจากหินหยกถือว่าพบกระจายตัวมากที่สุด ซึ่งมักมีรูปแบบและขนาดใกล้เคียงกันคือราว ๓๐-๓๕ เซนติเมตร ส่วนจี้ห้อยคอรูปสัตว์สองหัวก็มักพบในบริเวณเดียวกันแต่อาจจะผลิตได้ยากกว่าจึงพบจำนวนน้อยกว่า จากค่าอายุอยู่ในราว ๕๐๐ BC.- ๕๐๐ AD. ซึ่งอยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสต์ตอนปลาย ของภูมิภาคนี้ และมักจะพบร่วมสมัยกับโบราณวัตถุจากราชวงศ์โจวตอนปลายจนถึงราชวงศ์ฮั่นและอยู่ในช่วงยุคแรกเริ่มเมื่อมีการค้าทางทะเลกับทางอินเดียในช่วงก่อนที่ศาสนาหลักๆ จากอินเดียจะแพร่เข้ามา

7

หินหยกเขียวที่นำมาทำเครื่องประดับ [A-C] ต่างหูลิงลิง-โอที่มีปุ่มสามปุ่ม A จากโกมาวอย [Go Ma Voi], เวียดนาม B จากถ้ำอุยา [Uyaw] ที่แหล่งตาบน เกาะปาลาวัน ฟิลิปปินส์ C ถ้ำดุหยง [Duyong] แหล่งตาบน เกาะปาลาวัน, ภาพ D  จี้ห้อยคอหินหยกสัตว์สองหัวจากฟิลิปปินส์ ส่วนภาพ E-O เป็นการผลิตต่างหูลิงลิง-โอได้มาจากหลากหลายแหล่งเช่นจากทางตะวันออกของเกาะไต้หวัน ทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ โดยจัดเรียงไว้ตามรูปแบบการผลิตขั้นต่างๆ

แหล่งผลิต Fengtian Jade บนเกาะไต้หวันมีการนำวัตถุดิบจากที่นี่ไปใช้อยู่สองช่วง คือยุคหินใหม่ในไต้หวันราว ๓,๐๐๐-๕๐๐ BC. และยุคหินใหม่ ๒,๐๐๐-๕๐๐ AD. ในฟิลิปปินส์ และยุคเหล็กซึ่งพบว่าถูกข้ามภูมิภาคในเขตทะเลจีนใต้ไปตามหมู่เกาะและเมืองท่าของภาคพื้นทวีปต่างๆ ในช่วง ๕๐๐ BC.-๕๐๐ AD. การพบเนื้อหินหยกสีเขียวในหลายภูมิภาค ทำให้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการผลิตที่แหล่งนั้นๆ โดยการนำวัตถุดิบจากแหล่งเฟงเทียนในไต้หวันมาใช้ทำเครื่องประดับในชุมชนต่างๆ

มีการสันนิษฐานเบื้องต้นเป็นที่ยอมรับกันว่า กลุ่มมนุษย์ยุคหินใหม่น่าจะเดินทางจากไต้หวันเข้าสู่เกาะลูซอนทางตอนเหนือเมื่อราว ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว เพราะมีโบราณวัตถุที่มีอายุใกล้เคียงกัน 

ส่วนในช่วงเวลา ๕๐๐ BC. หยกจากไต้หวันถูกนำออกไปยังชุมชนชายฝั่งทะเลและผลิตที่แหล่งนั้นแก่ผู้มีฐานะ ซึ่งเป็นช่วงยุคการค้าระยะแรกๆ ที่เกิดขึ้นในเขตหมู่เกาะและเลียบชายฝั่งทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทีเดียว และช่วงเวลาที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนมากที่สุดน่าจะอยู่ในช่วงหลัง ๕๐๐ Bc. ลงมา

ยุคเหล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้; ความรุ่งเรืองของนักเดินทางทางเรือ [Sea Farer] 

ภาษากลุ่มออสโตรนีเซียนเป็นตระกูลภาษาที่มีผู้พูดกระจายตามหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก หากแต่พบไม่มากนักในเขตภาคพื้นทวีปจะมีอยู่ก็เช่น ภาษามาเลย์และภาษาจาม 

สมาชิกของตระกูลภาษานี้นี้มีถึง ๑,๒๖๘ ภาษา หรือประมาณ ๑ ใน ๕ ของภาษาที่รู้จักกันทั่วโลก นักภาษาศาสตร์วิจัยว่าจุดเริ่มต้นของภาษานี้น่าจะอยู่ในไต้หวันหรือเกาะฟอร์โมซา เพราะพบว่ามีความแตกต่างของภาษาตระกูลนี้มากที่สุดโดยมีถึง ๙ จากทั้งหมด ๑๐ สาขา ทั้งนี้ถือว่าจุดกำเนิดของภาษาจะอยู่ในที่ซึ่งมีความแตกต่างของภาษากลุ่มนั้นๆ มากกว่าที่อื่น กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนโดยใช้หลักฐานทางพันธุศาสตร์พบว่าจุดกำเนิดนั้นน่าจะอยู่ในผืนแผ่นดินของทวีปเอเชียและสันนิษฐานว่าผู้พูดภาษานี้อพยพไปจากจีนตอนใต้สู่ไต้หวันเมื่อราว ๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว จากนั้นจึงอพยพโดยทางเรือไปยังหมู่เกาะต่างๆ เมื่อราว ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว การแพร่กระจายจากแหล่งกำเนิดของภาษาถือว่ากว้างไกลมากเริ่มตั้งแต่เกาะมาดากัสการ์ไปจนถึงหมู่เกาะฮาวายทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก

การกระจายตัวตามบริเวณที่มีการกระจายตัวของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเชียนช่วงต้นยุคประวัติศาสตร์ (เช่น คนดั้งเดิมชาวเกาะฟอร์โมซาหรือไต้หวัน คนฟิลิปปินส์ คนจาม คนดายักที่เบอร์เนียว) น่าจะสัมพันธ์กับการกระจายตัวในการพบหินหยกสีเขียวที่ใช้ในการผลิตเครื่องประดับมีค่าตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งทางตอนเหนือของเวียดนามแม้จะใกล้กับเกาะไต้หวันแต่ก็ไม่พบกลุ่มคนพูดภาษาออสโตรนีเซียนในบริเวณนี้ ดังนั้นกลุ่มคนที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนจึงเกี่ยวข้องกับพ่อค้านักเดินทางทางทะเลที่ใช้เรือเดินทางไปทั่วหมู่เกาะต่างๆ ในแถบทะเลจีนใต้จนถึงคาบสมุทรในอ่าวไทย

ซึ่งทั้งหมดอยู่ในยุควัฒนธรรมซ่าหวิงห์ (๕๐๐ BC.-๑๐๐ AD.) ทางชายฝั่งเวียดนามตอนกลางและตอนใต้ และสัมพันธ์กับการฝังศพครั้งที่ ๒ เครื่องประดับสำริด กระดิ่งและภาชนะสำริด ลูกปัดแก้วและหินคาร์นีเลี่ยน ซึ่งก็สัมพันธ์กับวัฒนธรรมการฝังศพครั้งที่ ๒ ในฟิลิปปินส์และทางตอนเหนือของเกาะเบอร์เนียว

นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่าวัฒนธรรมซ่าหวิ่งห์เป็นต้นเค้าของวัฒนธรรมจามที่เป็นกลุ่มคนออสโตรนีเชียนในยุคประวัติศาสตร์ ในขณะที่วัฒนธรรมดองซอนสัมพันธ์กับคนพูดกลุ่มภาษาตระกูลไต-กะไดและมอญ-เขมรซึ่งอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติค

กรณีเขาสามแก้วที่จังหวัดชุมพรพบว่ามีภาชนะที่พบคล้ายคลึงกับชิ้นของหยกที่พบที่เกาะมินโดโรในฟิลิปปินส์ ส่วนภาชนะคล้ายกับที่พบที่เกาะสมุยซึ่งเป็นของยุคเหล็กและภาชนะแบบคาร์ลาไนย์ [Kalanay Cave] ที่ฟิลิปปินส์ตอนกลาง (แต่ก็เริ่มพบเช่นกันว่าลิงลิง-โอและจี้รูปสัตว์สองหัวซึ่งพบในเวียดนามตอนกลางไม่ได้ทำมาจากหินหยกจากแหล่งที่เกาะไต้หวันเพียงแหล่ง และอาจจะใช้หินหยกจากในเวียดนามเองและการหลอมด้วยแก้วเพื่อเลียนแบบเครื่องประดับล้ำค่าชนิดนี้)

ช่วงเวลาที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนมากที่สุดน่าจะอยู่ในช่วงหลัง ๕๐๐ Bc. ลงมา กลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลออสโตรนีเซียนใช้การเดินเรือทะเลเลียบชายฝั่งมาก่อนที่ชาวจีน ชาวอินเดีย หรืออาหรับจะเข้ามาสู้เส้นทางการค้าในภูมิภาคนี้และลงหลักปักฐานเผยแพร่ศาสนาหลักๆ จนทำให้เกิดสถานภาพทางสังคมและมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีจนเกิดกลุ่มผู้ชำนาญพิเศษในการนำทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญจากต่างแดนเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนจนกลายเป็น “รัฐแรกเริ่ม” [Early State] หลายๆ แห่งที่เริ่มรับทั้งศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา

อันเป็นช่วงยุคเดียวกับที่เราเรียกว่าต้นพุทธกาลหรือในยุคเหล็กที่บ้านเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในเขตภาคกลางของประเทศไทยและบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงตลอดจนชายฝั่งตอนกลางของเวียดนามที่สามารถเดินทางติดต่อเข้าสู่เขตชุมชนภายในภาคพื้นทวีปได้ไม่ยากและถูกเรียกจากนักเดินทางในช่วงต้นพุทธกาลนี้ว่าดินแดน “สุวรรณภูมิ”

ร่องรอยจากชาวอิฟูเกา

เมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวในบานาเว่ที่มีชุมชนชาวอิฟูเกาทำนาขั้นบันไดอยู่ในเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทางตอนเหนือของเกาะลูซอนในฟิลิปปินส์ จึงทำให้เข้าใจและต่อภาพร่างในการนำฐานข้อมูลทางโบราณคดีในเขตภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบในประเทศไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนามในช่วงรอยต่อสมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกับยุคต้นหรือยุครัฐแรกเริ่มในช่วงประวัติศาสตร์ ก่อนที่ศาสนาใหญ่ๆ จากวัฒนธรรมอินเดียจะเข้ามาอย่างขนานใหญ่

ผู้คนที่อยู่ตามหมู่เกาะต่างๆ ต่างเดินทางติดต่อสัมพันธ์ ลงหลักปักฐานตั้งเป็นชุมชนและค้าขายสืบเนื่องกันมานานก่อนหน้านั้นนานแล้ว และพวดเขายังคงสืบทอดประเพณี พิธีกรรม ผ่านบางส่วนในช่วงชีวิตที่ทำให้เกิดการศึกษาเปรียบเทียบแบบการศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดีได้

ข้อมูลหลักฐานจำนวนมากทำให้ราบว่า มนุษย์ในอดีตน่าจะมีสภาพสังคมและความเป็นอยู่อย่างไร และทำไมกลุ่มชนเผ่าในเขตที่สูงของเวียดนามตอนกลาง บางกลุ่มชนในเขตลาวใต้ที่ยังคงนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้สังคม บ้านเมืองและชีวิตของผู้คนอยู่ปกติสุข สร้างความอุดมสมบูรณ์เป็นหลักประกันในชีวิต และการสร้างบ้านเรือนในรูปแบบที่ทำให้เกิดความเข้าใจในสังคมแบบชนเผ่ากึ่งสังคมชาวนาในอดีตว่าควรเป็นอย่างไร

ตลอดจนทำให้เห็นความเกี่ยวเนื่องกับบ้านเมืองในยุคเหล็กต่อเนื่องกับยุครัฐเริ่มแรกในประเทศไทยว่ามีการติดต่อกับกลุ่มคนที่เข้ามาค้าขายและแลกเปลี่ยนจากพื้นที่ห่างไกลเช่นนี้ได้อย่างไรและเส้นทางใด ซึ่งมีความหมายอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีในภูมิภาคนี้ที่ค่อยๆ เด่นชัดขึ้น

อ้างอิง

Ifugao – Religion and Expressive Culture.  http://www.everyculture.com/East-Southeast-Asia/Ifugao-Religion-and-Expressive-Culture.html

Ancient jades map ๓,๐๐๐ years of prehistoric exchange in Southeast Asia” by Peter Bellwood and others, ๒๐๐๗.  http://www.pnas.org/content/104/50/19745.full